ผมจงใจจะเว้นช่วงจากการทดลองขับ 9-3 แอโร ให้นานเล็กน้อย
ก่อนจะรายงานการทดลองขับซาบ 9-5ทั้งซีดานและแวกอน

เพราะขืนรายงานติดกันในสัปดาห์ก่อนๆ ผมว่ามันจะถี่เกินไปสักนิดในความรู้สึกหลายๆท่าน
และอาจทำให้หลายๆท่านพาลคิดไปว่า ผมมีนอกมีในกับออโต้เทคนิก (ประเทศไทย)หรือเปล่า

คำตอบก็คือไม่มีละครับ
เพียงแต่ว่าถ้าผมมีโอกาสยืมรถมาทดลองขับ
เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้ขับอะไรไปเท่าใดนัก
ดังนั้น เลยถือโอกาส ลองขับติดๆกันให้ได้มากรุ่นที่สุดเท่าที่ทำได้ไปเลย

 

 

 

ถ้าเอาเข้าจริงแล้ว ซาบที่มีขายในเมืองไทยตอนนี้ ว่ากันที่รุ่นหลัก ทั้ง 9-3 และ  9-5 ผมก็ทดลองขับหมดแล้ว
จะเหลือก็แค่ 9-3 195 แรงม้า ซึ่งจะว่าไปก็ไม่จำเป็นเท่าใดนัก อีกอย่างนึงคือ 9-3 150 แรงม้า นี่ก็ขับมาแล้ว
และ 9-3 เปิดประทุน ซึ่ง ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ลองขับหรือไม่ เพราะได้ยินว่าตอนนี้มีสั่งเข้ามา 1 คัน แล้ว
เป็นสีเขียวมะนาว ถ้าใครอยากซื้อก็ต้องไปสั่งจองแล้วก็รออีกสักพัก

อันที่จริง 9-5 เครื่องยนต์ 2.3T ตัวใหม่ ก็ใกล้จะเข้าเมืองไทยแล้ว
แต่ในเมื่อรุ่นเดิมจะยังมีขายอยู่ ดังนั้นเราก็หาโอกาสลองรุ่นเดิมๆกันให้จบก่อนเลยน่าจะดี

 

 

9-5 เปิดตัวในตลาดโลกมาตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 1998
ขณะที่รุ่นแวกอน ตามออกมาในปี 2000

และหลายๆท่าน ก็คงจะทราบกันดีว่า 9-5 ถือเป็นรถยนต์ พรีเมียมซีดาน ขนาดกลาง
ที่เข้าทำตลาดแทน ซาบ 9000 รถยนต์ ซาลูนขนาดกลาง ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1985

 
เป็นปกติของซาบที่มักเปิดตัวรถใหม่ ช่วงเดือนพฤษภาคม

ธรรมเนียมนี้ปัจจุบัน เปลี่ยนผันไปบ้างตามกาลเวลา

 

 

มาถึงวันนี้ เส้นสายของ 9-5

ยังคงเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของตัวเอง คือ มีความเฉียบคม

ไม่ลอกแบบใคร และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สมกับบุคลิกของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระดับนักบริหาร ที่คิดอะไรแตกต่างจากชาวบ้าน

 

 

 

และมุมนี้ ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความภูมิฐาน แต่เฉียบคม มองไกล ของ ผู้เป็นเจ้าของรถ ได้อย่างดี

 

 

มาดูรุ่นแวกอน กันบ้าง

 

 

9-5 แวกอน ถือเป็นรถยนต์ สเตชันแวกอน รุี่นแรกของซาบ ในรอบกว่า 50 ปี และเป็นรุ่นที่ขายดีรุ่นหนึ่ง ในบรรดาซาบทุกรุ่น 

 

 

 และจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วถึง 10 ปี นับจากวันเปิดตัว แต่ งานออกแบบ ยังคงร่วมสมัย และเพิ่งจะเริ่มดูเป็นรถรุ่นเก่า เมื่อ 2-3 ปีมานี้เอง

 

 

 

 

 

 

 

 

รุ่นใหม่ ไฟหน้าเป็นแบบ Bi-Xenon ครับ แต่คันที่ผมขับมานี้

รถมันรุ่นปีเก่าแล้วละครับ เลขไมล์ ปาเข้าไป 5 หมื่นกว่ากิโลเมตร ตอนที่ตกมาถึงมือผม อย่าคาดหวังสภาพมากมายนัก

 

 

ภายในห้องโดยสาร มี 2 โทนสีตามแต่ละรุ่น คือทั้งสีเบจ โทนสว่าง

 

 

และโทนสีดำ ขรึม ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกได้ถึงความร้อน เมื่อจอดตากแดดนานๆ เพราะทุกรุ่น ใช้หนังแท้ เป็นวัสดุหุ้บเบาะ 

 

 

เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า ทุกรุ่น สวิชต์เปิด-ปิดกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน อยู่ที่ คอนโซลกลางถัดจาก สวิชต์กุญแจ และที่วางแขน

พนักศีรษะนั้น ไม่ค่อยสบายสำหรับผมมากนัก  การที่มันยื่นออกมาจากชุดเบาะมากไป ค่อนข้างชวนให้เกิดความหงุดหงิดได้เรื่อยๆ 

 

 

ดูจากภาพนี้ รู้สึกได้ถึงความเป็นรถยนต์สำหรับนักบริหาร ที่ควรนั่งด้านหลังมากกว่าด้านหน้า

แต่ความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ คุณควรสัมผัสประสบการณ์เร้าใจ จากเบาะนั่งคนขับมากกว่า

 

 

 เบาะนั่งด้านหลังของรุ่นซีดาน นัี่งสบายแต่ว่า ตำแหน่งเบาะรองนั่ง เตี้ยไปนิดนึง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ 3 จุดทุกที่นั่ง 

 

 

 มีที่วางแขน พร้อมที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง พับเก็บซ่อนไว้ตรงกลาง เบาะรองนั่งยกขึ้นมา เพื่อให้ัพับพนักพิงเบาะหลัง ทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลังได้

 

 

ประตูทางเข้าห้องโดยสารด้านหลัง ของรุ่นแวกอน เปิดได้กว้างพอกับรุ่น ซีดาน พื้นที่เหนือศีรษะ เหลือเยอะก็จริงอยู่

แต่นั่นมาจาก ตำแหน่งเบาะรองนั่งที่เตี้ยลงไป และความใหญ่ของห้องโดยสาร

 

 

 เบาะหลังของรุ่นแวกอน นั่งค่อนข้างสบาย เบาะรองนั่ง ยาวกำลังดี แต่เตี้ยไปนิด หนังชั้นดี ควรจะดูแลรักษาให้ดีๆ มิเช่นนั้น จะเสื่อมสภาพเร็วนิดนึง

 

 

เบาะหลัง ของรุ่้นแวกอน พับได้ และมีที่วางแขน พร้อมที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง แอบซ่อนอยู่ 

 

 

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังของรุ่นซีดาน นั้น ก็เป็นอย่างที่เห็น

 

 

 ความกว้างขวาง และใหญ่โตนั้น อยู่ในระดับพอประมาณ แต่ ผมคงไม่ต้องลงไปนอนวัดขนา่ดให้ได้ชมกัน มุขแบบนั้นใช้บ่อยไป ก็เฝือได้

 

 

 ส่วนรุ่นแวกอนนั้น ความกว้าง อาจจะพอๆไล่เลี่ยกับ วอลโว V70 รุ่นปัจจบัน แต่ถ้าเป็นความสูงแล้ว ทางเข้าของ 9-5 สูงกว่านิดนึง 

 

 

 

พื้นห้องเก็บของด้านหลัง สามารถยกขึ้นมา เป็นที่ซ่อนเอกสาร หรือข้าวของที่มีความสูงไม่มากนัก อันที่จริง ควรจะทำได้ลึกกว่าีนี้สักนิด

 

 

แผงหน้าปัดคือส่วนหนึ่งที่ยังทำให้ผมนึกถึง 9000 ซีรีส์ ได้อย่างแม่นมั่น
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของซาบที่หลายคนยังชื่นชอบ
ขณะที่บางคนไม่ชอบ เพราะมันดูพราวเป็นหน้าปัดเครื่องบิน

แผงหน้าปัดของทุกรุ่น หน้าตาเหมือนกัน เรียง รูปแบบ และตำแหน่งสวิชต์ ให้พร่างพราวไปทั้งแผง ยามค่ำคืน

ตกแต่งด้วยลายไม้ อย่างดี ไม่ได้ดูกระจอกอย่างที่คิด มีสวิชต์ตัดระบบ Traction Control (TCS) ใต้ช่องแอร์กลาง 

พวงมาลัย 4 ก้าน เป็นแบบ Multi Function ควบคุมทั้งชุดเครื่องเสียง และ ระบบ Cruise Control

มีจอ Multi Information Display เหนือวิทยุ แสดงการทำงานของระบบต่างๆในรถ

แต่ผมชอบ แม้จะไม่ชอบที่สุดก็ตาม

จับคันเกียร์ทีไร ผมมักจินตนาการไปที่ “หัวงูเห่า”

ผมกลัวมากๆ เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนเกลียดงูชนิดที่อย่าได้มาอยู่ใกล้เชียวนะ
แค่เป็นสิ่งพิมพ์ก็ไม่ได้ ขนาด Thaidriver มีบางเล่ม ที่มีโฆษณารูปงูเห่าอยู่ในนั้น
ผมก็ยังสะดุ้งทุกทีที่เปิดเจอ และพยายามไม่แตะ TD เล่มนั้น เท่าที่จำเป็น…

พาลทำให้ไม่กล้าแตะต้องคันเกียร์โดยไม่จำเป็น ไม่สลับจาก D <–> N หรือ บ่อยๆยามรถติด (ฮา)

ปุ่มบนหัวเกียร์ รูปตัว S หรือโหมด Sport
กดเข้าไป เกียร์ก็จะตัดเปลี่ยนเกียร์ ช้าลง เพื่อให้คนขับได้ลากเกียร์มากขึ้นอีกนิด

 

 

 ชุดมาตรวัด เต็มไปด้วยไฟเตือนมากมาย รายล้อมรอบ มาตรวัดความเร็วตรงกลาง มาตรวัดรอบฝั่งซ้าย

มาตรวัดอุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำ วัดบูสต์เทอร์โบ และวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง รวมทั้งไฟบอกตำแหน่งเกียร์ บนหน้าปัด

ถึงแม้จะดูรายพร้อยไปหมด แต่มีเพียงสิ่งที่สำคัญๆ เท่านั้น ซึ่งจะปรากฎอยู่บน ชุดมาตรวัด

 

 

เวอร์ชันไทย ทุกรุ่น จะตกแต่งในระดับ Linear

มีระบบแจ้งสถานะของระบบต่างๆให้เลือกเล่น 10 ฟังก์ชันโดยประมาณ

สวิชต์กุญแจอยู่ตรงคันเกียร์ เป็นเอกลักษณ์ของซาบ

เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ ACC (Automatic Climate Control) แยกฝั่งได้ทั้งซ้ายขวา
พร้อมเครื่องฟอกอากาศในรถ

ชุดเครื่องเสียง ให้กำลังเสียงดีใช้ได้แต่ยังอยู่ในระดับกลางๆ

 

เอกลักษณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปอย่างหนึ่งของ ซาบคือ 

การติดตั้งชุดสวิชต์กุญแจ ติดเครื่องยนต์ ไว้ด้านข้างคนขับ และเบรกมือ

 

 

 

คอนโซลกลาง มาพร้อมที่พักแขน เลื่อนขึ้นหน้า ได้ แต่อาจไม่ถึงกับพอดีแขนของผมมากนัก
เนื่องจากช่วงแขนจากไหล่ถึงข้อศอกของผม สั้น

มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังทุกรุ่น

 

 

 

แต่ถ้ารู้สึกว่า แผงหน้าปัดจะพราวมากไป ลองกดปุ่ม Black Panel เมื่อไหร่ มาตรวัดต่างๆจะดับวูบ เหลือแค่มาตรวัดความเร็ว แสดงแค่ 140 กม./ชม.
และจะมีไฟเตือนในกรณีที่ระบบใดๆเกิดความผิดปกติ และ หลัง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป ตัวเลขความเร็วจะขยับเข้ามาใกล้ๆกัน

เหตุผลของซาบคือ ในขณะที่คุณใช้ความเร็วระดับนั้น โอกาสที่คนขับจะเหลือบลงมามองหน้าปัดคงจะน้อยลง เพราะต้อง ใช้สมาธิกับการควบคุมรถมากกว่านั่นเอง

ด้านความปลอดภัย มีครบทั้ง พนักศีรษะ SAHR (Saab Active Head Restraint)
ถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบ Adaptive SRS
ถุงลมด้านข้างอีก 2 ใบ รวมเป็น 4 ใบ
จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX
กุญแจอิมโมบิไลเซอร์
เสาหลังคากลาง B-Pillar มีช่องตาข่ายสำหรับใส่ของต่างๆ

รายละเอียดอื่นๆ เปิดดูเอาได้ตามสะดวกนะครับที่ http://www.saab.com

จุดทที่ควรปรับปรุงคือ ที่เปิดประตูจากในรถ และแผงพลาสติกที่บุประตูทั้ง 4 บาน
ดูมีราคาถูก (Look  cheap) ไปหน่อยแต่เข้าใจดีว่า ต้องทำให้ลาดลง
เพื่อให้กระแสเลือดไหลเวียนไปถึงปลายนิ้วของผู้โดยสาร ขณะนั่งอยู่เฉยๆระหว่างเดินทางนั่นเอง

 

 

***รายละเอียดด้านวิศวกรรม***

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเล็กน้อยครับ

9-5 ที่ทำตลาดในไทยตอนนี้ เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16  วาล์ว บล็อกเดียวกัน
มี 2 ระดับความแรงให้เลือก

สเป็กจากโรงงานซาบสวีเดนระบุไว้ว่า

รุ่น 2.0t (ทีเล็ก)

1,985 ซีซี
ช่วงชัก 90 x 78 มิลลิเมตร
150 แรงม้า (BHP) แรงบิดสูงสุด 24.45 กก.-ม.

 

 

และ 2.3t  (ทีเล็กอีกเช่นกัน)
2,290 ซีซี
ช่วงชัก 90 x 90 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square)
185 แรงม้า (BHP) แรงบิดสูงสุด 28.535 กก.-ม.

อัตราส่วนกำลังอัด 9.3 : 1 ทั้งคู่

 

 

แต่หากคุณมีโอกาสเปิดดูใบสเป็กที่แนบมาพร้อมกับโบรชัวร์ 9-5 เวอร์ชันไทย
คุณจะพบตัวเลขที่แปลกตาไป ระบุไว้พร้อมดอกจันท์ตัวเล็กๆ ดังนี้

“Equipped with tuning kit increasing power by *60 BHP / **35 BHP based on Saab  tune-up technology

นั่นหมายความว่า…ซาบเมืองไทย ใช้วิธีนำรถเข้ามา ขาย โดยเป็นเวอร์ชันมาตรฐาน
แล้วนำมาอัพเกรดเทอร์โบ + อินเตอร์คูลเลอร์ เอาเองภายหลัง เพื่อให้สมรรถนะออกมา คุ้มกับราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายไป

ผมไม่แน่ใจจริงๆครับว่า ใช้เทอร์โบของ Garette หรือ มิตซูบิชิ ใครทราบ แจ้งมาด้วยจะขอบคุณมากครับ

 

 

นั่นหมายความว่า รุ่น 2.0t จะแรงขึ้นเป็น 210 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม.ทื่ รอบตั้งแต่ 2,300-4,000 รอบ/นาที
เพิ่มขึ้นไป 60 แรงม้า

 

 

ขณะที่รุ่น 2.3t  ขยับขึ้น 35 แรงม้า เป็น 220 แรงม้า (BHP) ที่ 5,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 34.64 กก.-ม.ที่ 2,100-3,600รอบ/นาที

ทั้งคู่ใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า ใส่ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วมาให้จากโรงงานทั้งคู่

 

 

เราทดลองหาอัตราเร่งกันโดยมีผมและเพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน นั่นก็คือ
นายหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ เจ้าเก่านั่นเอง
รวมเป็น 2 คน น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม เปิดแอร์ไปด้วย
อุณหภูมิขณะทดสอบ 32 องศาเซลเซียส

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.
 มีดังนี้ครับ

ครั้งที่         2.3t Sedan           2.0t Wagon
1                    8.1                     9.2  วินาที
2.                   8.2                     9.5  วินาที
3.                   8.4                     9.2  วินาที
4.                   8.6                     9.7  วินาที

เฉลี่ย              8.32                   9.4  วินาที

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่ผมใช้วัดประสิทธิภาพการเร่งแซง
เริ่มกดคันเร่งจนสุด เมื่อเข็มความเร็วชี้ที่ระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเข็มวัดรอบชี้ที่ 1,750 รอบ/นาที ในรุ่น 2.0 แวกอน
และ 1,600 รอบ/นาที ในรุ่น 2.3 ซีดาน

ครั้งที่       2.3t Sedan            2.0t Wagon
1                    6.1                   7.2  วินาที
2.                   6.1                   7.1  วินาที
3.                   6.0                   6.9  วินาที
4.                   5.9                   6.6  วินาที

เฉลี่ย              6.025              6.95 วินาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ อ่านตัวเลขจากมาตรวัด
รอบเครื่องยนต์ตัดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ที่ระดับ 5,900 รอบ/นาที

                  2.3t Sedan                                 2.0t Wagon
เกียร์ 1                  60                                 60  กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 2                  90                                 90  กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 3                145                               150  กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 4                200                               200  กิโลเมตร./ชั่วโมง
(รอบตัดขึ้นเกียร์ 5 ณ 5,200 รอบ/นาที)     (ตัดขึ้นเกียร์ 5  ณ 5,000 รอบ/นาที)

ความเร็วสูงสุดอยู่ที่เกียร์ 5

2.0 t  Wagon   220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,400 รอบ/นาที
2.3 t Sedan     240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,900 รอบ/นาที

ทั้งที่โบรชัวร์เวอร์ชัน International ภาษาอังกฤษ ของซาบ ระบุไว้ว่าความเร็วสงสุดอยู่ที่ 235 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

 

ผมชอบการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ที่ซื่อตรงดี Shift Pattern ว่าไงก็เปลี่ยนเกียร์ตามนั้น
ไม่พยายามทำตัว Fuzzy เพื่อจะเรียนรู้สไตล์การขับ แล้วเปลี่ยนเกียร์เอาใจคนขับแต่ประการใด

พวงมาลัยมีน้ำหนักเบากว่าที่คิดไว้เล็กน้อย ช่วยให้บังคับรถง่ายขึ้น ปรับความหนืดได้ตามรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น
พอจะมีระยะฟรีอยู่บ้าง

ระบบกันสะเทือนของ 9-5 มาเป็นคนละแนวกับ 9-3 Aero โดยสิ้นเชิง

เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า 9-5 ถูกออกแบบให้ตอบสนองกับลูกค้าระดับผู้นำครอบครัว เจ้าของกิจการ
วัย 40-50 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 60 ปี ที่สนุกกับการขับรถเอง ดังนั้นฟิลลิงของรถจะออกมาในโทนนุ่มเอาใจผู้ใหญ่
มากกว่าจะมาจี๊ดจ๊าดกันแบบ 9-3

ถือว่านุ่มนวลดี และมีความยืดหยุ่นสูง แน่นอนละว่า ยังคงให้ความมั่นใจได้ดี แม้จะเป็นช่วงคอสะพานถนนบางนา-ตราด

การเปลี่ยนเลนกระทันหัน เป็นไปในแนวนุ่มนวล รับรู้ได้ถึงแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นตามปกติของรถขนาดใหญ่

 

 

 

ทุกรุ่นติดตั้งแทร็กชันคอนโทรลTCS ไว้ป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัว แถมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP
(Electronic Stability Program) ไว้ช่วงเหลือยามเข้าโค้งแล้วเสียการทรงตัว ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมABS+EBD
ช่วงยกระจายแรงเบรกสู่ล้อที่ต้องการอย่างเหมาะสม

คันที่ผมขับอยู่นี้  มีปัญหาต่างๆเล็กๆน้อยๆ ค่อยๆผลุบๆโผล่ๆ ให้กวนใจเล่นๆ พอให้ชีวิตได้มีลุ้นมีเสียวกับเขาบ้าง
นัยว่า ทางซาบคงนึกว่าชีวิตผมทำไมมันช่างสุขอุราเช่นนี้ มีรถมาให้ลองขับไม่ซ้ำหน้า
ดังนั้น แกล้งจิมมี่เล่นๆ ดีกว่า ท่าจะสนุก คิก ๆ ๆ ๆ

คือรู้ละครับว่าซาบไม่ได้แกล้งผมแน่ๆ ไม่มีใครเขาแกล้งเขาจงใจหรอก

แต่ผมเขียนแหย่เล่นๆให้เป็นสีสัน พอได้ลิ้มรส แล้วค่อยเล่าความจริงกันต่อในบรรทัดข้างล่าง

ระบบเบรก เป็นแบบ  ดิสก์ 4 ล้อ ซึ่งจะมีอาการ เฟดสะท้อนขึ้นมาเป็นอาการสั่นของพวงมาลัยเฉพาะตอนเบรกแรงๆ หลังจากขับขี่ด้วยความเร็วสูงอยู่บ้าง
เปลี่ยนผ้าเบรกแล้วน่าจะดีขึ้น
ในรถทดลองคันแวกอนนั้นเมื่อกดเบรกอยู่ดีๆ จนสุดรถหยุดแล้ว จะมีสัญญาณไฟเตือนรูป เครื่องหมายตกใจ
พร้อมกับเครื่องหมายระบบเบรก แดงวาบ พร้อมกันสัญญาณเตือนดัง “ติ๊ ง ต่ อ ง”
แล้วมันก็ดับไป

ขับๆไป เหยียบเบรก พอรถหยุดแล้ว มันก็โผล่มา “ติ๊ ง ต่ อ ง” อีกละ

จากนั้น

ติ๊งต่อง อีกละ

อีกละ

และ อีกละ

เฮ้ยยยยยย! มันจะ “ติ๊งต่อง ติงต๊อง” อะไรกันนักหนาวุ้ย!

ตอนเอารถไปคืน ก็แจ้งอาการให้กับทางผู้รับรถ ดูเหมือนว่าจะชื่อพี่เอก ให้ได้ทราบ

แต่พอคราวนี้ มีโอกาสได้เปิดอ่านคู่มือประจำรถของซาบ ที่มีติดรถทดสอบคันซีดาน มาให้เสียที (ดีใจจังวุ้ยยย! ปิดซอยเลี้ยงฉลองดีกว่า)

ได้ถึงบางอ้อว่า ถ้าไอ้เจ้า “ติ๊งต่อง” มันโผล่มาแบบนี้ รับประกันได้เลยครับพี่น้องว่า
ปริมาณน้ำมันเบรกในระบบมันพร่อง ซึ่งนั่นหมายความว่า อาจมีการรั่วซึมเกิดขึ้นได้ในระบบ
ทางทีดี พารถเข้าพบแพทย์..เอ้ย ช่างในศูนย์บริการของซาบโดยเร็ว (คือพอจะขับใช้ได้สัก 2-3 วันละ
หลังจากนั้น ถ้ามีเวลาก็ช่วยๆเข้าไปหน่อยนะครับ เพื่อชีวิตของท่านเอง)

ขณะที่รุ่น 2.3 แล่นมาน้อยกว่า ปัญหานี้จึงไม่มีในรถคันที่ทดลองขับ

 

 

 

*** การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ***

ตอนแรกผมทดลองขับ 9-5 แวกอน 2.0t นั้นคืนวันนั้นเป็นคืนที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้น
พอไปเติมปั้มน้ำมันบางจากขาประจำ น้ำมัน 95 ที่เคยมี กลับหมดเกลี้ยงไปเสียนี่

ทำอย่างไรได้ นอกจากผมต้องขับย้อนกลับไปเติมน้ำมันที่ปั้มเอสโซ แล้วค่อยๆแล่นกลับมาขึ้นทางด่วน
เส้นพระราม 6  เช่นเดิม แล่นฝ่าสายฝนด้วยความเร็ว 110 กม./ชม.(ทำได้เพราะถนนโล่ง แต่โดยปกติ
ไม่ควรทำนะครับ) เปิดครุยส์คอนโทรลเอาไว้ซึ่งครุยส์คอนโทรลของ ซาบนั้นผมชอบที่ว่า
ค่อนข้างนิ่งมาก ความเร็วเท่าไหร่ก็ตามนั้น แม้จะขึ้น-ลงสะพาน เสียงเครื่องยังคงบอกว่า
รถยังคงรักษาความเร็วในระดับนั้นได้อย่างดี

ซึ่งไม่เหมือนกับครุยส์คอนโทรลของ  ฮอนด้า CR-V 2.4  ลิตร ที่พยายามจะรักษาความเร็วมาก
เสียจนต้องเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำขึ้นทันทีที่เจอเนิน ผมไม่ค่อยชอบเท่าใดนัก

พอขับมาใกล้ถึงด่านงามวงศ์วาน ….. ภาระกิจใกล้สำเร็จ….

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด!
ผมลืมเซ็ต 0 บนหน้าปัด!!!

ทำอย่างไรดี?

สิ่งที่ผมทำได้ มีเพียงจดบันทึกปริมาณน้ำมันที่เติมกลับเข้าไป
ส่วนมาตรวัดระยะทาง ผมตัดสินใจว่า ยกเลิก และรอใช้ตัวเลขระยะทางจาก รุ่นซีดานที่จะยืมในสัปดาห์ถัดไปแทน

ผมแก้ปัญหาด้วยวิธีการขับรุ่นซีดาน ย้อนรอยเส้นทางทดสอบเดียวกันกับการทดลองขับรุ่นแวกอน
คือ แวะเติมน้ำมันที่ปั้มเอสโซ่ แล่นตรงมาขึ้นทางด่วนพระราม 6  เปิดครุยส์คอนโทรล จ่ายตังค์ ด่านพื้นราบ 10 บาท
แล้วดิ่งยาวไปที่บางปะอิน

ระยะทางที่แล่นไป 90 กิโลเมตรวัดจากมาตรวัดของ 9-5 Sedan

ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมเข้าไป

9-5 Sedan 2.3t = 6.688 ลิตร
9-5 Wagon 2.0t = 8.217 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง


9-5 Sedan 2.3t = 13.456  กิโลเมตร/ลิตร
9-5 Wagon 2.0t = 10.952  กิโลเมตร/ ลิตร

ตัวเลขออกมาแตกต่างกันชัดเจนเลยทีเดียว

ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ผมคงต้องบอกไว้ก่อนว่า เป็นการทดลองตามสภาพใช้งานจริง
ทดลองกันช่วงกลางคืน อุณหภูมิจากมาตรวัดในรถอยู่ที่ระดับ 32-34 องศาเซลเซียส
ดังนั้นผมถือว่าเป็นค่าประมาณเท่านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ
คันซีดาน เป็นรถทีแล่นใช้งานมา 3 หมื่นกิโลเมตร
ขณะที่แวกอน ใช้งานมาแล้ว 5 หมื่นกิโลเมตร
และมีน้ำหนักตัวมากกว่าซีดานเล็กน้อย

ดังนั้น
รุ่น 2.0 ผมจะไม่ขอถือเป็นตัวเลขที่อ้างอิงได้เลยนะครับ เนื่องจากสภาพรถค่อนข้างผ่านมาหลายเท้าเหลือเกิน
แต่รุ่น 2.3 ผมจะถือว่าเป็นตัวเลขที่มีน้ำหนักต่อการอ้างอิงพอจะได้อยู่

 

 

 

********** สรุป **********
9000 ซีรีส์ เวอร์ชันปี 1998 ที่ถูกปรับปรุงใหม่ใน 2003

จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังงงอยู่ว่า ตำแหน่งการตลาดของ 9-5 ต้องประกบเปรียบเทียบกับใครกันแน่

เพราะในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ ในสมัยก่อน ที่ซาบ 9000 ยังอยู่ในตลาด คู่ประกบสำคัญคือ วอลโว 900 ซีรีส์ ทั้ง 940 และ 960 นั่นละ
แต่ซาบจะอยู่ในตำแหน่งที่เน้นไปทางการขับขี่มากว่าเพียงนิดเดียว คือเหลื่อมล้ำกันอยู่หน่อยๆ

แต่เมื่อวอลโว ออก S60 V70 และ S80 รุ่นปัจจุบันมา
ผมก็งงไปเลย เพราะวอลโวเลือกจะลดบทบาทรุ่นแวกอนไว้ให้เหลือสูงสุดแค่ V70 โดยไม่มี V90 หรือ 960 เอสเตทออกมาต่อไป

แล้วทีนี้ ซาบ 9-5 จะแข่งกับใครดี

กลายเป็นว่า 9-5 แวกอนนั้น ถ้าจะเทียบกกับ V70 ถือได้ว่าเป็นคู่เปรียบเทียบที่เหมาะสมเลยทีเดียว
แต่พอเป็น คู่ของ 9-5 จะให้เปรียบกับ S60 บอกตามตรงว่า ผมยังไม่รู้สึกสนิทใจนัก

S60 ถึงจะเป็นรถยนต์ซีดานสำหรับนักบริหาร แต่ทั้งการออกแบบ การปรับแต่งระบบกันสะเทือน
และการออกแบบภายในโดยเฉพาะตำแหน่งคนขับ ผมว่า มันควรจะเป็นรถที่ไปเทียบชั้นกับ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 มากกว่า

ซึ่งหน้าที่นี้ 9-3 ใหม่ เขาทำอยู่แล้ว! ดังนั้น ผมเลยจำต้องสอด 9-5 เอาไว้ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง S60 กับ S80
ไปอย่างช่วยไม่ได้

 

 

ซาบทั้ง 3 รุ่น 3  คันที่ได้ลองขับมานั้น มีจุดหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ

เมื่อใดก็ตามที่คุณตกอยู่ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน
ในภาวะที่การตัดสินใจของคุณมีค่าต่อทุกเสี้ยววินาทีที่ผ่านไป

ถึงตอนนั้น ถ้าคุณอยากจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาอย่างฉุกเฉินนั้น
รถทั่วไป
จากประสบการณ์ที่ผมลองรถมาหลายต่อหลายคัน

ซาบเป็นรถที่ช่วยผู้ขับในสภาวะการณ์แบบนี้ได้อย่างดี!

นี่คือสิ่งที่ทำให้ซาบแตกต่างจากรถทั่วๆไป
และมีรถเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้นในโลกที่จะให้คุณได้ใกล้เคียงอย่างที่ซาบมีให้

 

 

 แต่กับ 9-5 นั้น ผมไม่แปลกใจที่หลายๆคนจะเรียกมันว่า “ซาบแท้ๆรุ่นสุดท้าย”
เพราะเมื่อได้ทดลองขับเข้าจริงๆแล้ว มันคือการนำ ซีดานขนาดกลางค่อนข้างใหญ่รุ่น 9000
ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1984 มาพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นเวอร์ชันปี 1998 และปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2003 นั่นเอง
แคแรคเตอร์ของ 9000 ยังคงเด่นชัดในทุกท่วงท่าของ 9-5 กันเลยทีเดียว

ความรู้สึกที่สัมผัสได้จากท่านั่งในการขับขี่ ตำแหน่งการจัดวางอุปกรณ์บนแผงหน้าปัด การบิดตัวของโครงสร้างตัวถัง (พอมีให้สัมผัสได้บ้างแต่น้อยมาก) ฯลฯ
แทบจะถอดแบบมาจาก 9000 ซีรีส์ ไม่มีผิด จะต่างก็ตรงที่ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี โครงสร้างตัวถังที่ลดการบิดตัวลง
และการปรับปรุงระบบกันสะเทือนที่ให้ทั้งความนุ่มนวลมากขึ้น และเฟิร์มขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน รวมทั้งระบบห้ามล้อก็ถูกปรับปรุง
ให้มีความมั่นใจในการเหยียบเบรกแต่ละครั้งมากขึ้น

 

 

 

ค่าตัว 3,180,000 และ 3,940,000 บาท แพงไปสักหน่อย แต่ถ้าไม่คำนึงราคาขายต่อ น่าเล่นครับ
สำหรับคนที่เข้าใจในแคแรคเตอร์ และอากัปกกิริยาของรถอย่างซาบ ดีแล้ว

แต่ถ้าคำนึงขายต่อ หรือคิดแต่จะเอาความ “คุ้มค่า” เป็นหลัก ก็มองหารถยี่ห้ออื่นเถอะครับ

เพราะผมกำลังจะบอกถึง สิ่งที่น่้าเสียดาย ซึ่งเกิดขึ้นมาได้พักนึงแล้ว

ความน่าเสียดายที่ว่าคือ ทุกวันนี้ ออโต้เทคนิค ยุติการทำตลาด และนำเข้ารถยนต์ ซาบ มาขายในเมืองไทยได้สัก 1-2 ปีแล้ว

คงเหลือเอาไว้เพียงแต่ ศูนย์บริการ และศูนย์อะไหล่ ที่ยังคง สั่งชิ้นส่วนมารองรับความต้องการของลูกค้าอยู่เช่นเดิม

แถมสถานการณ์ของบริษัทแม่เอง ก็ไม่สู้จะดีนัก เพราะ ในตลาดโลก ซาบเอง ก็ อยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม GM เองก็กำลังอยากจะขายแบรนด์นี้ทิ้งเต็มแก่้

ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้สัมผัสรถยนต์สมรรถนะดีๆ แบบนี้

 

ก็คงจะเลือนลาง เหมือนสายตาอันพร่ามัวของผู้บริหาราวฝรั่งมังค่า และชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งนั้น

 

 

ขอขอบคุณ
พี่นพ LongHorn Said SO

บริษัท ออโต้เทคนิก (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อรถยนต์ทดสอบทั้ง 3 คันครับ

 

 

 —————————///————————–

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.pantip.com ห้องรัชดา 18 กรกฎาคม 2005

ดัดแปลงแก้ไข เพื่อนำมาเผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com

15 มีนาคม 2009