15.40 น. วันที่ 12 กรกฎาคม 2012

ลิฟต์ ความเร็วสูง พาผมขึ้นมาถึงชั้น 41 ของอาคาร All Season ถนนวิทยุ พอประตูลิฟต์เปิดออก นอกจาก
จะพบ น้องในฝ่ายการตลาดคนหนึ่งของ Toyota แฟนประจำบทความของ Headlightmag.com ที่รู้จักมักจี่
กันดี บังเอิญ เดินมาปะหน้ากันในจังหวะที่เหมาะเหม็งพอดีแล้ว “พี่ป๊อก” จาก Lexus Division ก็เดินออกมา
สมทบกันโดยมิได้นัดหมายในจังหวะนั้นพอดีเป๊ะ! ราวกับว่าเป็น มาฆฤกษ์ (ฤกษ์ที่ทำให้พระสงค์ประชุมร่วมกัน
1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย)

ผมส่งคืนกุญแจของ Lexus GS450h ให้พี่ป๊อกไป ตามกำหนด เมื่อถูกถามว่า “แล้วคิวต่อไปที่จะรีวิว
เป็นรถอะไร ผมก็ตอบไปเลยว่า “Avanza ครับพี่”

ทั้ง 2 คน ก็ยิ้มเลย แน่ละ ขับรถคันละ 7 ล้าน 7 แสน กว่าบาทอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนมาขับรถที่มีราคาถูกกว่าเหลือ
เพียงแค่ 7 แสน บาท เท่านั้น มันช่างเป็นเรื่องที่ทำให้ผมบรรลุสัจธรรมชีวิตไปอีกขั้นกันเลยทีเดียว (ฮา)

การกลับไปขับ Avanza อีกครั้ง นั่นทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผม พบเจอพี่ป๊อก เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่
11 ตุลาคม 2006 ไม่ต้องถามหรอกครับว่า ทำไมผมจำได้ละเอียดขนาดนั้น มันแค่เป็นเรื่องโชคดี ที่ผม
บันทึกวันดังกล่าวไว้ ในบทความ Full Review ของ Avanza รุ่นแรก โฉม Minor Change
ที่ อัมพวา ในทริปซึ่ง Toyota จัดขึ้น ณ ตอนนั้น

วันเวลาผ่านไป พี่ป๊อก ก็ถูกชักชวนไปอยู่แผนก Lexus Division ซึ่งทำให้ห่างหายจากการข้องเกี่ยว
กับรถยนต์รุ่นเล็ก ผลิตผลนำเข้าจากโรงงานของ Toyota และ Daihatsu ในอินโดนีเซียคันนี้ไป

แต่สำหรับผม ยังมีเหตุให้ต้องมาข้องแวะกับ เจ้าหวังซ่า รุ่นใหม่ล่าสุดนี้อยู่ เช่นในตอนนี้ ที่จะต้องรีบขึ้น
รถไฟฟ้าไปลงสถานี BTS แบริ่ง แล้วจับ Taxi พุ่งไปยังสำนักงานใหญ่ของ Toyota ที่สำโรง ให้ทันก่อน
5 โมงเย็น เพื่อที่จะรับรถจาก พี่เอก ฝ่าย PR ที่นั่น มาลองขับ และทำรีวิวให้คุณๆได้อ่านกัน

เพราะเชื่อว่า ไม่ใช่แค่ผมหรอก แต่น่าจะยังมีคุณผู้อ่านอีกหลายคนที่อยากรู้ว่า 6 ปีผ่านไป นับจากวันแรกที่ผม
มีโอกาสลองขับ รถรุ่นแรก มาวันนี้ พัฒนาการของ เจ้าหวังซ่า มันจะดีขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน ยังคงความ
เป็นรถยนต์สำหรับบรรทุก อากง อาม่า ไปที่ยว หรือไปหาหมอ ทุกสัปดาห์ อยู่หรือเปล่า และมันจะทำหน้าที่
ได้ดีแค่ไหน หากต้องบรรทุก บรรดา หมีควายหลายๆตัว น้ำหนักรวมกันแล้ว 681 กิโลกรัม เดินทางไกล ไป
ตามทางหลวงแผ่นดินของบ้านเรา ด้วยกัน (เช่นที่คุณควรจะรอดูได้จากใน คลิป ของเรา)

แต่ก่อนอื่น…เช่นเคย…เรามาย้อนกลับไปดูอดีตกันสักหน่อยว่า 10 ปี ที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นบนกระดาษเปล่า
Avanza เดินทางมาอย่างไร จนสามารถทำยอดผลิตและขาย สะสมได้มากถึง 1 ล้าน คัน ทั่วโลก!!!!!!!!

Toyota Avanza รุ่นแรก เป็นรถยนต์นั่งแนวใหม่ Compact Multi Purpose Vehicle สร้างขึ้นภายใต้
โครงการ U-IMV  (Under IMV) อันเป็นชื่อย่อของ โครงการพัฒนารถยนต์นั่งอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ซึ่งมี
ขนาดตัวรถทั้งคันเล็กกว่า รถยนต์ 7 ที่นั่งจากโครงการรถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ IMV 1 (Hilux)
ซึ่งก็คือ KIJANG รุ่นใหม่ ที่ต้องถูกยกระดับขึ้นมาเป็น INNOVA ในปัจจุบันนั่นเอง)

เหตุผลที่ Avanza ถือกำเนิดมา ไม่มีอะไรมากครับ ในเมื่อ Kijang จะต้องถูกยกระดับไปเป็น INNOVA
ค่าตัวจะต้องแพงกว่าเดิมไปพอสมควร ดังนั้น ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ราคาถูกใน อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาด
กลุ่มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด จะเกิดสูญญากาศ ดังนั้น Toyota จึงต้องหาทางผลิตรถยนต์ขึ้นมาสักรุ่น เพื่อ
ตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวอินโดฯ กลุ่มใหญ่นี้

ดังนั้น Toyota จึงเริ่มต้นเดินหน้าโครงการนี้ ในช่วงประมาณ ปี 2000 – 2001 โดยชวนให้ บริษัทลูก
ของตนซึ่งชำนาญการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก อย่าง Daihatsu มารับหน้าที่ในฐานะ แม่งานหลัก ของ
โครงการ พวกเขา เลือกใช้พื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรมแบบรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง จาก Daihatsu
Terios ซึ่งต้องถือว่าเป็นแนวทางแปลกๆ ที่ผู้ผลิตจอมลดต้นทุนอย่าง Toyota ตัดสินใจยอม พัฒนารถยนต์
รุ่นนี้ ในรูปแบบเครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ครั้งแรกในรอบเกินกว่า 10 ปี

และในที่สุด พวกเขาได้เลือกใช้ชื่อรุ่นว่า Avanza ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Avanzato ในภาษาอิตาเลียน แปล 
เป็นภาษาอังกฤษว่า Advance หรือความล้ำหน้า ล้ำไปข้างหน้า ล่วงไปข้างหน้า  เป็นชื่อที Daihatsu เคย
ใช้มาแล้ว กับ รถยนต์ Hatchback 3 ประตู พิกัด K-Car 660 ซีซี Turbo 64 แรงม้า (PS) ตัวเจ็บ 
Daihatsu Mira TR-XX Avanzato สำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ในช่วงรุ่นปี 1990 – 1997

ยังจำได้ว่า ในครั้งนั้น ข้าพเจ้านี่แหละ ที่มีโอกาสได้เผยแพร่ข่าวความคืบหน้า และรูปโฉมในแบบกราฟฟิก
ของรถรุ่นแรก ลงในนิตยสาร THAIDRiVER ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2003 เป็นรายแรกในไทย

และหลังจากนิตยสารฉบับนั้น วางแผงไปยังไม่ทันจะพ้น 1 สัปดาห์ Toyota ก็จัดการปล่อยภาพถ่ายชุดแรก
ของ Avanza ครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2003 โดยขึ้นสายการผลิต ที่โรงงาน
P.T.Astra Toyota ในอินโดนีเซียเองนั่นแหละ

ในเมื่อผลิตออกมาแล้ว จะขายแค่ในประเทศของเขาเอง ก็คงไม่ค่อยคุ้มค่า Jig และ Mold ชิ้นส่วนเท่าไหร่
อีกทั้งในเมื่อ Toyota Motor Thailand ส่งออก สารพัดรถยนต์นั่ง และรถกระบะที่ประกอบในเมืองไทย
ไปขายยังตลาดต่างๆทั่วโลก รวมถึง อินโดนีเซีย แล้ว เพื่อให้ยังคงมิตรภาพกันดีกับทาง P.T. Toyota Astra
และเพื่อใช้ประโยชน์จากเตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ในตอนนั้น ให้เต็มที่

Toyota บ้านเรา จึงต้องสั่งนำเข้า Avanza มาขายในเมืองไทย โดยจัดงานเปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่
13 กรกฎาคม 2004 โดยมี ดาราหน้าใหม่ จีน มหาสมุทร บุญญะรัตพันธ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ภาพยนตร์
โฆษณา ที่ไปถ่ายทำกันถึงเมืองจีน

แต่ก่อนจะเปิดตัวในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ Toyota ก็เลือกใช้วิธีเรียกน้ำย่อย ด้วยการนำไป
อวดโฉม ในงาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2004 แต่ดันกั้นคอก
ไม่ยอมให้ลูกค้าเข้าไปเปิดดู

ผมจำความเรื่องนี้ได้ดี เพราะการที่ผม อธิบาย เล่าสาเหตุว่า ทำไม Toyota ถึงไม่อาจเปิดให้ดูได้
กลายเป็นว่า ผมโดนพวก คนเล่น Pantip.com ห้องรัชดา ในยุคสมัยนั้น ด่าเปิงเละเทะ ทั้งที่
ผมเอง ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด และนั่นคืออีกสาเหตุหนึ่งที่สะสมกันเข้า หลายปีเข้า จนทำให้ผม เบื่อ
และต้องออกมาจากสังคมคุณตะพาบแบบนั้น ในปี 2009 เพื่อมาเปิดเว้บไซต์แห่งนี้เอง ในทุกวันนี้

ตลอดอายุตลาด 7 ปี Avanza โดยได้รับความนิยมจากลูกค้า มียอดขายสะสมจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่
24,133 คัน (ยอดจำหน่ายตั้งแต่เปิดตัวปี 2004 – เดือนพฤศจิกายน 2011) แม้จะต้องใช้เวลานาน
กว่า 7 ปีในการทำตัวเลขยอดขายได้ถึงระดับนี้ และทำได้เพียงเท่าที่เห็น

แต่ในอินโดนีเซีย Avanza (และฝาแฝดร่วมโครงการในชื่อ Daihatsu Xenia) ควงแขนกันครองแชมป์
รถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ขายดีที่สุดในอินโดนีเซีย แบบไม่ต้องคิดมาก (เมื่อรวมยอดขายสะสมตลอด
อายุตลาด) เพราะรถถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าชาวอินโดนีเซีย ซึ่งมักเดินทางไปไหน
มาไหนกันทั้งครอบครัวอย่างแท้จริง แถมมีราคาถูก ใครๆก็ซื้อหามาขับใช้งานได้

ถ้านึกภาพไม่ออกว่า รถแบบนี้ มันขายในไทยยังขายไม่ค่อยจะออกเลย มันจะขายดีในประเทศอื่นได้อย่างไร?
เอาอย่างนี้ดีกว่า มาดูข้อมูลในโลกความจริงที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนกันเถิด ในเดือนตุลาคม 2011 ที่
ผ่านมา ขณะที่ หลายคน กำลังหนีน้ำท่วม หาที่อยู่ ตุนเสบียงกันจ้าละหวั่นนั้น P.T.Astra Toyota ที่อินโดฯ
เขาฉลองยอดผลิตและจำหน่าย Avanza รุ่นแรกครบ 1 ล้านคัน!!!! (รวมตัวเลขยอดส่งออก 113,000 คัน
ไปยัง Brunei, Bangladesh, Egypt, Lebanon, Mexico, Pakistan, Philippines, South Africa,
Sri Lanka และประเทศไทยของเรา

พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับว่า นี่มันเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลยนะ!

คราวนี้ เมื่อถึงเวลาที่้ต้อง พัฒนาเจเนอเรชันใหม่ Toyota ยังคงเลือกที่จะสร้าง Avanza บนโครงสร้างงาน
วิศวกรรม ของรถรุ่นเดิม เพื่อให้ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันจะช่วยให้ลดต้นทุน
ทั้งในการพัฒนา และการผลิตลง จนสามารถขายในราคาถูกอย่างนี้ต่อไปได้ และนั่นจึงทำให้ เรายังไม่อาจ
เรียก Avanza ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่แบบ Full Model Change ได้เต็มปากนัก แม้แต่คนใน Toyota
ยังเรียก Avanza ใหม่ว่าเป็นรุ่น ปรับโฉมขนานใหญ่ Big Minor Change

Avanza เจเนอเรชัน 2 เปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในกรุง Jakarta นครหลวงของ Indonesia
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมา และได้รับกระแสเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม จากชาวเมืองอิเหนา

สำหรับตลาดบ้านเรานั้น ในตอนแรก Toyota Motor Thailand เตรียมสั่งเข้ามาเปิดตัวกลางงานแสดง
รถยนต์ Motor Expo ที่ Challenger hall เมืองทองธานี เดือนธันวาคม 2011 แต่เนื่องจากเมืองไทย
เกิดเหตุมหาอุทกภัยในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่อยู่ใน
สภาพพร้อมซื้อรถยนต์ ทำการตลาดไปก้ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น การเปิดตัวจึงถูกเลื่อนออกไป

จนกระทั่ง ล่วงเข้าปีใหม่ ได้ 10 วัน Toyota จึง ส่งแถลงข่าว มาถึงเรา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2012
ว่าได้สั่ง Avanza ใหม่เข้ามาขายแล้วนะ เพียงแต่คราวนี้ ออกจะมาในมาดแปลกหูแปลกตาไปสักหน่อย
เพราะไม่จัดงานเปิดตัว อย่างยิ่งใหญ่ เหมือนสมัยร่นแรกอีกแล้ว มากสุดที่จะมีก็คือ ทำกิจกรรมการตลาด
ในระดับ “พอเป็นพิธี”

ด้วยเหตุที่ Toyota เองก็รู้ดีว่า ข้อเสียของรถรุ่นที่แล้ว มีตั้งแต่เรื่องคุณภาพงานประกอบที่ไม่ได้เรือง ทำให้
Toyota ต้องปรับคุณภาพ รถนำเข้าจากอินโดนีเซียทุกคัน ก่อนส่งมอบรถให้กับดีลเลอร์ รวมทั้งสมรรถนะ
การเกาะถนนขณะแล่นด้วยความเร็วสูงที่ไม่ดีเท่าที่ควร ฯลฯ อีกมากมาย

ในรุ่นใหม่นี้ Toyota เลยพยายามแก้จุดบกพร่องเหล่านั้น ให้ลดลงเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้
Avanza ใหม่ ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าหลักของ Avanza ใหม่ ซึ่งยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มดั้งเดิม นั่นคือ
คนหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 25-35 ปี เพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ใช้เหตุผลในการใช้จ่าย และมองหาความ
คุ้มค่าเป็นหลัก มากยิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายยอดขายช่วงเปิดตัว 3 เดือนแรก รวม
500 คัน ให้ได้

มาวันนี้ ตัวเลขดังกล่าว มันเลยเถิดไปไกลกว่านั้นมากแล้วครับ

Avanza ใหม่ มีความยาวทั้งคัน 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,660 มิลลิเมตร สูง 1,695 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,655 มิลลิเมตร หากเปรียบเทียบกับรถรุ่นเดิมแล้ว จะพบว่า ตัวรถมีความยาวเพิ่มจาก
รุ่นเดิม 20 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 30 มิลลิเมตร แต่ยังคงความสูง และระยะฐานล้อเอาไว้เท่าเดิม

รูปลักษณ์ภายนอก ออกแบบขึ้นใหม่ เน้นให้เส้นสายตัวถังมีลวดลายกราฟฟิกเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อน
เพื่อสร้างความแตกต่าง ในบุคลิกที่โฉบเฉี่ยวขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่บริเวณมือจับประตู ซึ่งก็
เปลี่ยนมาเป็นแบบ Grip Type ยังมีการเล่นลวดลายลงบนตัวถังให้ดูอีกด้วย

ทุกรุ่น ติดตั้งโคมไฟหน้าและชุดไฟท้ายแบบ Multi Reflector และกระจังหน้าสีเดียวกับตัวรถ
ตกแต่งด้วยโครเมี่ยม ชวนให้นึกถึง Toyota Camry Hybrid พิกล ในรุ่น 1.5 S ตันที่นำมา
ทดลองขับ จะติดตั้งเปลือกกันชนหน้า-หลังและ สเกิร์ตข้าง แนวสปอร์ต สีเดียวกับตัวรถ เพิ่ม
ไฟตัดหมอกหน้า  และสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรก LED

ล้ออัลลอยติดรถทุกรุ่น มีขนาด 5Jx15 นิ้ว 4 รู สวมเข้ากับยาง Bridgestne B250 ขนาด
185 / 65 R15 ซึ่งเหมาะสมกับสมรรถนะของ Avanza เพราะยางรุ่นนี้ มีไว้แค่ กลิ้ง กล่กๆ ไป 
ตามเรื่องตามราวของมันเท่านั้น ถ้าอยากได้ความมั่นใจเพิ่มขึ้น และยางชื่นชอบใน Bridgestone
คงต้องหันไปหา Turanza AR10 ซึ่งถ้าจำไม่ผิด จะมีขนาดยางที่เข้ากับ Avanza ได้

ในรุ่น 1.5 S คันที่มาทดลองขับนั้น นอกจากจะใช้กุญแจไขเข้ารถ เหมือนเช่นรถยนต์รุ่นเก่าๆแล้ว
ยังมีรีโมทคอนโทรล สั่ง ปลด หรือล็อกประตูทั้ง 5 บาน (รวมประตูห้องเก็บของ) พร้อมระบบล็อก
การติดเครื่องยนต์ ถ้ารหัสไม่ตรงกัน Immobilizer มาให้อีกด้วย ซึ่งจริงๆแล้ว ควรจะติดตั้งกุญแจ
แบบฝังรีโมทคอนโทรในตัว มาให้จากโรงงานในอินโดนีเซีย ตั้งแต่แรก ก็สิ้นเรื่อง จะได้ไม่ต้องมานั่ง
แยกกุญแจ แยกรีโมท ออกจากกัน แล้วมาห้อยรวมกันเป็นพวงแบบนี้

การเข้า-ออกจากประตูคู่หน้า ยังคงก่อปัญหาให้ผมเหมือนรุ่นก่อน เพราะถ้าไม่ก้มหัวลงไปมากกว่าปกติ
หัวของผม จะโขกกับโครงเสาหลังคา ดัง “โป๊ก” เนื่องจาก เสาหลังคามีความลาดเอียง เป็นแนวเส้นสาย
เกือบเป็น One-Motion Form เพื่อให้ตัวรถ ดูมีบุคลิกเป็นรถเก๋ง มากกว่าจะเป็นรถตู้ขนคน

ตั้งแต่รับรถคันนี้มาอยู่ด้วย หัวของผม โดนไปแล้ว 2 โป๊ก! และคาดว่าจะมีอีกสัก 2 โป๊ก! ก่อนคืนรถ
โดนเข้าไปแต่ละทีนี่ เป็นช่วงเล่นทีเผลอทั้งนั้น เลยเจ็บหัวมากหน่อย…

แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งด้วย ผ้าสีดำ สากๆ และ แผ่นพลาสติกลวดลาย ประหลาด แต่สวย ซึ่งเป็น
ลวดลายที่ผมชื่นชอบมากๆ เพราะมันดูเท่ และช่วยให้ทั้งแผงประตูด้านข้าง กับแผงหน้าปัดดูดีขึ้น
จากเดิมมาก ส่วนด้านล่างของแผงประตูคู่หน้า จะมีช่องใส่ของอเนกประสงค์ ใส่ได้ทั้งขวดน้ำ หรือ
สมุด หนังสือ แผนที่ มีขนาดใหญ่โตพอสมควร ชวนให้นึกถึง แผงประตูของรถตู้ยุคใหม่ๆ บางรุ่น

เบาะนั่งคู่หน้า ผมว่ามีพนักพิงที่เล็กไปหน่อย สำหรับคนสรีระใหญ่ปานกลางอย่างผม มันรองรับ
แผ่นหลังพอใช้ได้ แต่มันไม่รองรับไหล่ของผมเอาเสียเลย กลายเป็นว่า ไหล่นั้น เป็นพื้นที่เปิดโล่ง
ไปโดยปริยาย และถ้าผมต้องการให้พนักศีรษะ รองรับหัวของผมพอดี ผมต้องยกพนักที่ว่านี้ขึ้น
มาจากเดิม (ติดพนักพิงหลัง) อีกราวๆ 2-3 แกร๊ก จึงจะพอใช้งานได้

ส่วนเบาะรองนั่ง ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป สำหรับคนที่มีช่วงขาพอดีๆอย่างผม ถือว่า รองรับใช้ได้
เพราะมันก็ยาวพอกันกับเบาะนั่งของ Toyota รุ่นใหม่ๆคันอื่นๆ นั่นแหละ แต่ถ้าคนที่มีช่วง
ต้นขายาว อาจจะมองว่า เบารองนั่งสั้นไปหน่อย อยากให่้ลองนั่งแล้วตัดสินใจกันเอาเอง ว่าคุณ
ชอบมันหรือไม่?

ใต้เบาะนั่งฝั่งซ้าย จะเป็นที่หลบซ่อนตัวของทั้งแม่แรงยกรถ และเครื่องมือประจำรถสำหรับ
ถอดเปลี่ยนยางอะไหล่ (ส่วนยางอะไหล่ ติดตั้งไว้ ใต้ท้องรถ แบบรถกระบะ)

อีกปัญหาหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจเลยก็คือว่า ทำไมเบาะคนขับจึงไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้
เสียที เพราะมันคือสาเหตุที่ทำให้หัวของผม โขกกับขอบประตูรถ บ่อยๆ อีกทั้งตำแหน่งนั่งขับ
มันสูงจนชวนให้นึกถึงเบาะหน้าของ Honda FREED จนต้องเตือนตัวเองว่า กำลังขับรถตู้
ไม่ใช่รถเก๋ง

เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสาร ไม่สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ดังนั้น
มันจึงล็อกตายตัว ให้พอดักับตำแหน่งเบาะคนขับทื่ไม่อาจปรับสูง-ต่ำได้เช่นกัน

พื้นที่เหนือศีรษะนั้น ไม่ใช่ปัญหาของรถรุ่นนี้ มาตั้งแต่รุ่นที่แล้ว มาถึงรุ่นใหม่นี้ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม
ต่อใหคุณจะตัวสูงระดับยีราฟเรียกพี่ หรือเตี้ยม่อต้อ ระดับตอม่อ เรียกอาซิ่ม คุณจงมั่นใจได้เลยว่า
พื้นที่เหนือศีรษะของ Avanza รองรับได้อย่างสบาย โปร่งโล่ง ไม่มีอะไรมาติดขัดใจทั้งสิ้น

การเข้า-ออกจากประตูคู่หลังนั้น กลับเป้นเรื่องสบาย ง่ายดายยิ่งกว่าเบาะคู่หน้า เพราะบานประตู
ยาวกำลังดี เปิดโล่ง และช่วยให้การเข้า ออก ทำได้สะดวกมากๆ เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในรุ่นก่อน

แผงประตูคู่หลัง ตกแต่งทิศทางเดียวกับบานประตูคู่หน้า พื้นที่วางแขน ยังวางได้สบายและถูกหลัก
สรีระศาสตร์ มีช่องใส่ขวดน้ำขนาดใหญ่ และหนังสือขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ค ใช้งานได้อเนกประสงค์
ไม่แพ้กัน กระนั้น กระจกหน้าต่าง จะเลื่อนลง ไปได้ไม่สุดบานประตู. เหมือนกับรถรุ่นเดิมนั่นละ

เบาะแถว 2 มีพนักพิงที่แบนราบเสียจนแทบไม่เหลือการรองรับซัพพอร์ตแผ่นหลังกับหัวไหล่
เอาเสียเลย แต่มันยังคงนั่งสบายพอใช้ได้ ฟองน้ำนุ่มๆนิ่มๆ หยุ่นๆ ส่วนเบาะรองนั่ง ก็ไม่ได้
แตกต่างไปจากรุ่นก่อนเลย คือ นั่งได้ แม้จะสั้น และอาจต้องนั่งชันขานิดๆ ก็ตาม ยังคงเป็น
ตำแหน่งเบาะนั่งสบายที่สุด ในบรรดา 3 แถวของรถคันนี้

นอกจากนี้ เบาะแถวสองยังสามารถปรับเลื่อนถอยหลัง และเลื่อนขึ้นหน้าได้ในระดับที่เห็นอยู่นี้
พนักพิงสามารถพับลงไปได้อีกจนสุด เหมือนเช่นรูปข้างล่าง ปรับเอนลงไปได้มากพอให้นอน
สบายๆ พนักพิงศีรษะ ก็ต้องยกขึ้นมาใช้งานอยู่ดี ถ้าไม่อยากให้ทิ่มตำต้นคอกัน เข็มขัดนิรภัย
เป็นแบบ ELR 3 จุด 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา ส่วนตรงกลางจะเป็นแบบ NR 2 จุด คาดเอว

การเข้า – ออก เบาะแถว 3 จะใช้วิธี ดันก้านปรับที่ข้างพนักพิง เพื่อพับพนักพิงหลังลงมา ก่อนจะ
ยกชุดเบาะหงายไปข้างหนย้าอย่างที่เห็นในรูป เป็นกลไกการพับเบาะที่ลูกค้าในรถรุ่นก่อน คุ้นเคย
กันมาแล้วอย่างดี นี่คือ รูปแบบมาตรฐานสำหรับการเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 ของรถยนต์ที่ถูก
ออกแบบมาในลักษระนี้อยูู่แล้ว การขึ้น – ลง ถือว่า ทำได้สะดวกสมขนาดตัว

เบาะนั่งแถวหลังสุด ยังคงเป็นพื้นที่ ซึ่งพอจะพึ่งพาได้สำหรับคนที่มีความสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร
ถ้าคุณนั่งแบบไม่เต็มก้น หัวของคุณจะไม่ชนเพดาน แต่ถ้า คิดจะนั่งเต็มก้น บั้นท้ายชิดพนักพิงเบาะ
(ซึ่งมันก็แบนราบพอกับพนักพิงเบาะแถว 2 นั่นแหละ) หัวผมก็จะชนติดกับเพดานพอดีเป๊ะ

พนักศีรษะ สามารถยกขึ้นมาได้แค่เพียงจังหวะเดียว และถึงแม้จะอยู่สูงแล้ว แต่ขอบล่างสุด ยังคง
ทิ่มต้นคอผมอยู่ดี พอจะวางศีรษะได้ แต่ยังไม่สบายดีเท่าที่ควร

ส่วนพื้นที่วางขา มีเยอะกว่าที่คิด ไม่แตกต่างไปจาก Avanza รุ่นเเดิม เอาขาสอดเข้าไปใต้
ชุดเบาะแถว 2 ก็ได้อีก นั่งชันขาไม่มาก พอไหว พอให้เดินทางได้ในระยะทางไม่ไกลมาก ถ้าหาก
เกินกว่า 100 กิโลเมตร ก็ควรจะหยุดพักกล่างทางกันบ้าง ไม่เช่นนั้น คงต้องใช้รถตัก Caterpillar
งัดออกมาจากรถ

ยืนยันว่า เบาะแถว 3 เป็นสถานที่ ซึ่งเหมาะกับเด็ก และพี่เลี้ยงเป็นหลัก พอจะเดินทางได้ในระยะทาง
ไม่ไกลนัก มีเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง และมีช่องวางแก้ว ขนาดใหญ่ แต่ไม่มี
พื้นที่วางแขนที่ดีพอ มีเพียงแค่ ที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ในรูปแบบ มือจับเหนือกระจกหน้าต่าง มีทั้ง แถว
2 และแถว 3

และเช่นเดียวกันกับเบาะแถว 2 เบาะแถวหลังสุด สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่ม
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ถือเป็นอีกการปรับปรุงที่เพิ่มเข้ามา จากเดิมที่ต้องพับพนักพิงทั้งชิ้นลงไป
ตอนนี้ แบ่งแยกพับได้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่น่าเสียดาย ที่ชุดเบาะรองนั่ง ยังต้องยกขึ้นพร้อมกันหมดทั้งชิ้น
หากต้องการเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะไม่ได้ออกแบบมาให้ถอดยก
เบาะแถว 3 ออกจากรถได้ หากไม่พึ่งพาเครื่องมือถอดยกออกมาทั้งชิ้น ซึ่งก็ยากจะติดตั้งกลับเข้าไป
ใหม่อีกต่างหาก เห็นพรมปูพื้นถอดออกได้ ที่เซาะร่องเอาไว้ สำหรับสลักยึดเบาะกับพื้นรถแล้ว เซ็งมาก

ประตูบานหลังสุด เปิดยกขึ่้นจนสุดด้วยช็อกอัพค้ำยัน 2 ชิ้น ไม่มีมือจับสำหรับดึงฝาปิดลงมา บริเวณ
กระจกบังลมด้านหลัง มีทั้งใบปัดน้ำฝน จังหวะเดียว พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก จากด้านบนสุดเหนือ
กระจกบังลมลงมา และมีไล่ฝ้าไฟฟ้า มาให้

หากบรรทุกผู้โดยสาร 7 คนเต็มพิกัด ยังพอจะเหลือพื้นที่วางกระเป๋าเดินทางแบบ กระเป๋านักกีฬา
เทนนิส ได้อีก ราวๆ 2-3 ใบ ซ้อนกัน ดังนั้น สูตรสำเร็จในการเดินทางไกล ที่เหมาะกับ Avanza
นั่นคือ เดินทางกันไปไม่ควรเกิน ผู้ใหญ่ 4 หรือ 5 คน กับ เด็ก 1 หรือ 2 คน แล้วพับพนักพิงเบาะ
แถวหลังสุด ลงมาสักฝั่งหนึ่ง ไว้เป็นพื้นที่วางกระเป๋าสัมภาระล้วนๆ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ งานออกแบบแผงพาสติกภายในทั้งหมด โดยเฉพาะ แผงหน้าปัด ซึ่งมี
ความร่วมสมัยมากขึ้น และใช้พลาสติกที่ดูดีขึ้น เพียงแต่ อย่าได้ไปเคาะแผงควบคุมกลางเลยละ
เพราะเสียงมันยังคงให้สัมผัสได้ว่า เป็นพลาสติกแบบบาง ใกล้เคียงกับ ที่ใช้ทำกล่องใส่แผ่น CD

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา มีการเปลี่ยนวัสดุบุเพดานใหม่หมด จากเดิมที่ใช้ไวนีล ขึงพืดจนโดนผม
ด่าไว้ว่า มันช่างเหมือนกับ Corolla KE-30 ปี 1974 ไม่มีผิด

มาคราวนี้ Toyota  ถอดมันทิ้งซะ แล้วออกแบบเพดานหลังคา ขึ้นรูปด้วยวัสดุ Recycle ซึ่งดูดี
ร่วมสมัย ติดตั้งเข้าไปให้ทดแทน แต่แผงบังแดด ยังคงใช้หนังสังเคราะห์หยาบๆ หุ้มฟองน้ำบางๆ
ตามเคย การใช้งานต้องระวังมือจะไปกดจนมันบุ๋มเสียรูป มีกระจกแต่งหน้ามาให้เฉพาะฝั่งผู้โดยสาร
ด้านญซ้าย และไม่มีฝาปิดกระจกมาให้ ส่วนไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร มี 2 ตำแหน่ง ซึ่งสว่างแค่
พอประมาณเท่านั้น คือ บริเวณ เหนือกระจกมองหลัง และกลางเพดานหลังคา เหนือศีรษะผู้โดยสาร
แถว 2

พวงมาลัยเป็นแบบยูริเทน 3 ก้าน ออกแบบใหม่ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมการตกแต่ง
ภายในห้องโดยสาร ในรุ่น 1.5 S คันนี้ พิเศษกว่ารุ่นอื่น ตรงที่ มีสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และ
พลาสติก Trim สีเงิน เมทัลลิก ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ที่บริเวณก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ปรับระดับ
สูง – ต่ำ ได้ไม่มาก แต่แกนพวงมาลัยนั้น ยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ก้านสวิชต์ชุดไฟหน้า ไฟสูง ไฟเลี้ยว และไฟตัดหมอก อยู่ฝั่งขวา ก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝนอยู่ฝั่งซ้ายของ
คอพวงมาลัย สวิชต์ เปิด-ปิด ใบปัดน้ำฝนหลัง เป็นแบบหมุน อยู่ที่ก้านสวิชต์ฝั่งซ้ายนั่นแหละ

แป้นคันเหล็กเป็นแบบเหล็ก ติดตั้งไว้ในตำแหน่ง่ที่ผมอยากให้เลื้่อนไปทางขวาอีกนิด ส่วนแป้นเบรก
ติดตั้งตรงกลางพอดี เมื่อยบ้างเหมือนกัน ถ้าจะต้องสลับจากแป้นเบรกกับคันเร่ง บ่อยๆ ขณะรถติด

ตำแหน่งนั่งขับอยู่สูง และทำให้พวงมาลัยอยู่ในมุมเงยแบบแปลกๆ ที่คนขับรถเก๋งทั่วไปจะไม่คุ้นนัก
อย่างไรก็ตาม การออกแบบให้ถูกต้องตามหลักสรีรศาตร์ คือสิ่งที่ Toyota และ Daihatsu
พยายามกันอย่างเต็มที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การออกแบบให้ แผงควบคุมกลาง ใกล้ผู้ขับขี่มากขึ้น
และสามารถเอื้อมไปกดสวิชต์ต่างๆได้ ขณะขับชี่ ใกล้เพียง 1 คืบเท่านั้น สะดวกต่อการใช้งาน

มาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด พื้นสีดำ เล่นกราฟฟิกสีแดง
แต่แสงสว่างยามค่ำคืน กลับเป็นสีเหลืองอำพัน ชวนงงงัน ว่าคิดไดอย่างไร เพิ่มจอแสดงผลข้อมูลการ
ขับขี่ (Multi Information Display) แสดงข้อมูล ทั้ง ระยะทางรวมที่ยังแล่นได้อีก จากน้ำมันที่
เหลือในถัง อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย และความเร็วเฉลี่ย อ่านง่าย ลดเวลาในการละสายตา
จากถนน มาอ่านข้อมูลได้นิดนึง

สิ่งที่คงต้องตำหนิก็คือ อุตส่าห์มีไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย กับไฟเตือนปิดประตูไม่สนิทมาให้ แต่
ดันไม่ทำสัญญาณร้องเตือนลืมปิดไฟหน้า สิ่งที่เกิดขึ้น็คือ ผมไปกินข้าวกับ The Coup Team
นานกว่า 2 ชั่วโมง โดยที่ลืมปิดไฟหน้า กลับมา รถสตาร์ตไม่ติด และต้องพ่วงแบ็ตเตอรีกันเลยทีเดียว
จึงจะติดเครื่องยนต์กันได้อีกครั้ง ถือว่าแย่นะครับ เรื่องพื้นฐานแบบนี้ ไม่ควรละเลยนะ

แผงควบคุมกลาง ยังคงวางตำแหน่ง ช่องแอร์ วิทยุ  และสวิชต์เครื่องปรับอากาศ ไว้เหมือนรุ่นก่อน
ไม่มีผิดเพี้ยน ยกเว้นสวิชต์ไฟฉุกเฉิน  ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และติดตั้งในตำแหน่งที่สะดวกต่อการหา
เพื่อใช้งานในยามฉุกเฉินจริงๆมากขึ้น

ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/ MP3/WMA 1 แผ่น และมี
ช่องเสียบ AUX กับ USB มาให้ที่ช่องวางของ ใกล้คันเกียร์ พร้อมลำโพง 4 ชิ้น คุณภาพเสียง
พอไปวัดไปวาได้ไม่เลวร้าย เสียงเบสบวมแน่นอน ถ้าแผ่น CD ถูก ปรับแต่ง Mix มาให้มี
เสียงเบสหนากว่าปกติ เสียงใส ถือว่ากำลังดี เสาอากาศยังเป็นเสา เก็บได้ แปะไว้เหนือเสาหน้าฝั่งขวา

สวิชต์เครื่องปรับอากาศ มีมให้เท่าที่จำเป็น เหมือนเช่นรุ่นก่อน คือ มีแค่ สวิชต์พัดลมฝั่งซ้าย และ
สวิชต์ปรับคอมเพรสเซอร์ แบบมือบิด และสวิต์ ปรับเปิด-ปิดช่องรับอากาศจากภายนอกรถ ซึ่ง
เป็นแบบมือหมุนขนาดใหญ่ ซ้อนกับมือบิดตรงกลางอีกที

ขนาดของสวิชต์ ชวนให้นึกถึง ฝากระบอกน้ำในตู้เย็น หรือสวิชต์เครื่องซักผ้ารุ่นโบราณๆ ขนาดใหญ่
แต่แน่นอนว่า มี Toyota รุ่นไหนบ้าง ที่แอร์ไม่เย็น ถ้ามันไม่เสีย? Avanza ก็เช่นกัน แอร์เย็นฉ่ำ
สะใจมาก จนกล้องถ่านรูปของผมนี่ ฝ้าขึ้นแล้วขึ้นอีก ขนาดปรับแค่พัดลมเบอร์ 1 กับคอมเพรสเซอร์
แอร์ มาทางฝั่งซ้ายสุดแล้วนะ ก็ยังอุตส่าห์จะเย็นยะเยือกอีก

ถัดลงไป เป็น ช่องเขี่ยบุหรี่ พร้อมฝาปิด และไฟส่องสว่างสีเหลืองอำพัน เหมือนไฟแผงมาตรวัด
ฝาปิด ดึงออกยากมาก เกือบทำเอามือผมไปกระแทกกับคันเกียร์อยู่ 2-3 หน จะพับเก็บ ก็ต้อง
ออกแรง และต้องระมัดระวัง กลัวจะหนีบมือเลือดกระฉูดเอาได้ดื้อๆ

กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด บริเวณผู้โดยสารฝั่งซ้าย (Glove compartment)
มีขนาดพอดีๆ สำหรับใส่คู่มือการใช้รถ และเอกสารประจำรถต่างๆ แต่ยังมีขนาดไม่ใหญ่พอให้
ใส่สารพัดข้าวของจุกจิกลงไปโดยไม่จำเป็น

ด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า แทนที่จะทำกล่องคอนโซลมาให้ กลับมีเบรกมือแบบ
ม่าตรฐาน พร้อม ถาดอเนกประสงค์แบบเปิดโล่ง ในตัว จะวาง CD ในแนวตั้งก็ย่อมได้ น่าจะมี
ที่วางแขน แบบพับเก็บได้ ติดตั้งข้างเบาะคนขับ มาให้ เหมือนอย่างใน Honda Jazz น่าจะ
ช่วยให้ผู้ขับขี่ สบายขึ้นได้มากกว่านี้

มองขึ้นไปบนเพดาน มีเครื่องปรับอากาศแยกชุด สำหรับผู้โดยสารแถวกลางและหลังมาให้เช่นกัน
คอนเฟิร์มเลยว่า เย็นฉ่ำสะใจมากๆ เย็นจนหนาวสั่นกันไปข้างหนึ่ง แค่เพียงเปิดพัดลมเบอร์ 1
ก็หนาวจนต้องถามว่า นี่ตูนั่งอยู่ใน Avanza หรือ Alaska กันแน่? ยกชุดมาจากรุ่นเดิมนั่นละ

สำหรับใครที่ยังคุ้นชินกับการขับรถแบบที่ต้องเห็นฝากระโปรงหน้าสักนิดแล้วจะสบายใจละก็ ข่าวดีก็คือ
ทัศนวิสัยด้านหน้า มองเห็นพื้นที่ด้านหน้ารถได้อย่างดี และยังพอมองเห็นฝากระโปรงหน้าเป็นบางส่วน
แต่ต้องทำใจกับระดับของชุดมาตรวัด ซึ่งต่ำไปหน่อย ทำใจเพราะตำแหน่งของพวงมาลัย ก็มีมุมองศา ที่
เงยในแบบรถตู้ ดังนั้น ตำแหน่งพวงมาลัย และชุดมาตรวัด จึงจำเป็นต้องติดตั้งในระดับที่เห็นอยู่นี้

มองไปทางขวามือ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ไม่ก่อให้เกิดจุดบอดในการมองเห็นมากนัก
ยังพอจะเห็นรถคันที่แล่นสวนมา จากทางโค้งขวา บนถนนแบบสวนกัน 2 เลนได้อยู่

มองไปทางซ้าย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ก็ไม่มีการบดบังในขณะเลี้ยวกลับรถ ตำแหน่งของ
กระจกมองข้งทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งไว้ เหมาะสมดีแล้ว และไม่มีการบดบังอะไรมากนัก

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ค่อนข้างกว้าง และเปิดโล่งกว่ารถรุ่นเดิมนิดนึง การกะระยะขณะถอยหลัง ไม่ใชี่
เรื่องยากอีกต่อไป เพราะมุมมองกระจกหน้าต่างรอบคัน ช่วยให้ถอยรถเข้าซองได้ง่ายๆ แถมยังมีการ
ติดตั้ง เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลังมาให้ ในรุ่น 1.5 S อีกด้วย ทีนี้คุณผู้หญิง ก็ไม่ต้องกลัวเวลาถอยจอด
กันอีกต่อไป

********** รายละอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้ในตลาดส่งออก และ อินโดนีเซียเอง Avanza จะมีเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร กับ 1.3 ลิตรให้เลือกด้วย
แต่หลังจากที่ยอดขายรุ่นแรก ในบ้านเรา ย่ำแย่ เข็นกันแทบกระอักเลือด Toyota เลยเปลี่ยนมาใช้
เครื่องยนต์ 3SZ-FE 1.5 ลิตร ที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น และช่วยเรียกลูกค้า เดินเข้าโชว์รูม Toyota
มาดูรถคันนี้มากขึ้นพอสมควร

นั่นจึงทำให้ ขุมพลังของ Avanza ใหม่ เวอร์ชันไทย จึงมีให้เลือกเพียงแบบเดียว ต่อเนื่องจากรุ่นก่อน
นั่นคือ ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดิม รหัส 3SZ-FE บล็อก 4 ส บ DOHC 16 วาล์ว 1,495 ซีซี ความสูง
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.0 x 91.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ 
EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคชาฟท์ ฝั่งไอดี VVT-i  

ตัวเลขพละกำลังสูงสุด ลดลงนิดหน่อยเหลือ 101 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดก็
ลดลงเหลือ 133 นิวตันเมตร  หรือ 13.5 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที เพราะ ต้องเซ็ตและปรับจูน 
เครื่องยนต์ให้ผ่านมาตรฐานมลพิษ Euro-IV ที่จะเริ่มบังคับใช้ในบ้านเรา ปีนี้เป็นปีแรก

ส่งกำลังขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT พร้อมระบบอิเล็กโทรนิกส์ ให้ความนุ่มนวล
ระหว่างเปลี่ยนเกียร์ (ในรุ่น 1.5S A/T และ 1.5G A/T) และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด (ในรุ่น 1.5E M/T)
โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไส้ในทั้งหมดข้างในแต่อย่างใด อัตราทดเกียร์ ก็ยังเหมือนรุ่น Minorchange 
ที่เพิ่งตกรุ่นไป ดังนี้
               
                    อัตโนมัติ            ธรรมดา
เกียร์ 1              2.731            3.769
เกียร์ 2              1.526            2.045
เกียร์ 3              1.000            1.376
เกียร์ 4              0.696            1.000
เกียร์ 5                 –                0.838
เกียร์ถอยหลัง       2.290            4.128
เฟืองท้าย            5.125            4.625

เรายังคงจับเวลา หาตัวเลขอัตราเร่งกันในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน โดยมีผม 
และคุณกล้วย BnN จาก The Coup Channel ของเรา มาช่วยจับเวลาให้ตามเคย ผลการทดลอง
เมื่อเปรียบเทียบกับรถรุ่นก่อน มีดังนี้

0-100 กิโลเมตร / ชั่วโมง

                    MY2012          MY2006        

ครั้งที่ 1             13.34            15.67    วินาที
ครั้งที่ 2             13.26            15.35    วินาที
ครั้งที่ 3             13.26            15.55    วินาที
ครั้งที่ 4             13.50            15.53    วินาที

เฉลี่ย                13.34            15.52    วินาที

80-120 กิโลเมตร / ชั่วโมง

                    MY2012          MY2006        

ครั้งที่ 1             10.91            13.44    วินาที
ครั้งที่ 2             10.99            13.35    วินาที
ครั้งที่ 3             10.99            13.25    วินาที
ครั้งที่ 4             10.84            13.06    วินาที

เฉลี่ย                10.93            13.27    วินาที

ความเร็วที่เกียร์ 4 อันเป็นเกียร์สูงสุด (กิโลเมตร/ชั่วโมง @ รอบ/นาที)

                                        MY2012                MY2006        

  80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       2,500 รอบ/นาที       2,500 รอบ/นาที
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       2,900 รอบ/นาที       3,100 รอบ/นาที
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       3,200 รอบ/นาที       3,400 รอบ/นาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ (กิโลเมตร/ชั่วโมง @ รอบ/นาที)
(รุ่นเดิม MY2006 มีโอกาสวัดมาได้แค่เกียร์ 1 และ 2)

                           MY2012              MY2006   

เกียร์ 1                50 @ 6,300         50 @ 6,500
เกียร์ 2                92 @ 6,300         90 @ 6,500
เกียร์ 3              142 @ 6,300
เกียร์ 4              161 @ 4,800

ความเร็วสูงสุด  161 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4

ตัวเลขที่ออกมา อาจเป็นเหมือน เรื่องประหลาด ในสายตาของคุณผู้อ่าน…
แตสำหรับผม มันไม่ใช่เรื่องแปลกครับ

สงสัยใช่ไหมละ ว่าทำไม เครื่องยนต์ ก็เหมือนกัน เกียร์ลูกเดียวกัน อัตราทดเหมือนกัน แต่ทำไมตัวเลข
อัตราเร่งที่ทดลองได้ มันต่างกัน?

สาเหตุที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ สภาพการทดลองเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราใช้น้ำมันเบนซิน 95 ของ Esso ใน
การทดลองครังนั้น แต่เราไม่รู้ว่า ในในถังของรถคันสีเขียวที่เรายืมมาทอดลองนั้น เป็นน้ำมันอะไรกันแน่?
และเป็นการทดลองที่ต้องทำต่อเนื่องจากทริปทดลองขับของสื่อมวลชน เวลาทุกอย่าง กระชั้นชิด ทำให้ได้
ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็น และกลายเป็นว่า มันแย่กว่าความจริงที่คาดว่าน่าจะเป็น

ประการต่อมา การทดลองในรถรุ่นเดิม เมื่อ 6 ปีก่อน ครั้งนั้น ทำในช่วงบ่ายโมงกว่าๆ ซึ่งอุณหภูมิร้อนมาก
และรถเอง ก็ติดเครื่องยนต์ แล่นมาตั้งแต่ช่วงเช้า ไม่ได้พักเลย ผิดกับการทดลองในรถรุ่นใหม่ ซึ่งเราใช้เวลา
กลางคืนในการทดลอง ตัวแปรต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานการทดลองที่เราทำกันมาตลอดอย่างแท้จริง อีกทั้ง
น้ำมันในถัง เป็นเบนซิน 95 Techron ของ Caltex ล้วนๆ เพราะทาง Toyota ทำตามความประสงค์ของผม
ว่า ไม่ต้องเติมน้ำมันมาให้ทางพี่เอก PR ของ Toyota เลยส่งรถมาให้ โดยมีน้ำมันอยู่ 3 ขีด และผมเองก็
ใช้งานไปจนเหลือแค่ ขีดล่างขีดเดียว ก่อนจะเริ่มเติมน้ำมัน ดังนั้น ปริมาณของน้ำมันในถัง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน
อะไรก็ตาม นั่นจะไทม่มีผลกระทบต่อตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ได้ แต่อย่างใด ดังนั้น ตัวเลขที่ได้ จึงสะท้อน
ภาพที่แท้จริงของสมรรถนะที่ควรเป็นออกมาให้เราได้เห็น

อัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Avanza ใหม่ อยู่ที่ 13.2 -13.3 วินาทีนั้น ถือว่า “อืด”
ถ้าเทียบกับรถยนต์ทั่วไปในพิกัดเดียวกัน แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงออกตัว จาก 0 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
เครื่องยนต์พยายามทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุดแล้ว คือเร่งเค้นจนเสียงดังสนั่น ลอดเข้ามาในห้องโดยสาร
และการทะยานออกรถนั้น พุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตามสมควร การได้อัตราทดเฟืองท้ายที่ค่อนข้างจัด
ถึงระดับ 5.125 : 1 มาช่วยนั้น ก็เพื่อให้ตัวรถยังมีกำลังในช่วงออกตัว แต่ก็ต้องแลกกับความประหยัดน้ำมัน
ที่จำเป็นต้องหดหายไปด้วย

ส่วนตัวเลขอัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ทำได้ 10.9 วินาที ก็ต้องถือว่า แม้จะอืดอาด แต่ก็
ไม่เลวพอจะยอมรับได้ เพราะตัวเลขก็ไล่เลี่ยพอกันกับ ECO Car 1.2 ลิตร บางคัน ที่มีน้ำหนักตัวเบากว่า
อีกทั้งขึ้นอยู่กับว่า ในจังหวะนั้น สมองกลของเกียร์ เลือกจะตัดเปลี่ยนเกียร์อะไรให้คุณ ระหว่างเกียร์ 2 หรือ 3

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น ไม่ต้องสืบครับ เหยีบบจมมิด เค้นให้ตาย เข็มวัดความเร็ว ก็ขึ้นมาได้เพียงแค่นี้ คือ
161 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ไม่ขึ้นไปมากกว่านีแล้ว ไม่แนะนำให้ไปลองทำนะครับ อันตรายมาก ไม่ควรเสี่ยง
ชีวิตมาทำแบบผม เด็ดขาด ผิดกฎหมาย อีกด้วย

ในการใช้งานจริง อัตราเร่งที่มีมาให้นั้น ไม่เพียงพอเท่าไหร่ ผมต้องเหยียบคันเร่งจมมิด เพื่อจะเร่งแซงใน
ภาวะปัจจุบันทันด่วน อยู่เสมอ โชคดีที่ คันเร่งตอบสนองไว ในช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง จนถึงช่วงความเร็ว
ปานกลาง ทำให้ แม้จะอืดอาด เมื่อดูนาฬิกาจับเวลา แต่ความรู้สึกขณะขับขี่ บอกว่า ยังพอทน พอรับได้

แต่การออกตัวนั้น คันเร่งที่ตอบสนองไว บางครั้งก็ทำให้ผมหน่ายได้เหมือนกัน เพราะบางครั้ง แค่ต้องการ
แตะให้รถค่อยๆเคลื่อนตัวออกไปเบาๆ แต่เอาเข้าจริง Avanza กลับออกอาการพร้อมพุ่งไปข้างหน้า
อยู่ตลอเวลา ทั้งที่ตัวของมันเองก็รู้อยู่่ว่า ตนก็ไม่ได้แรงพอจะซัดกับใครเขาได้นัก

อีกประเด็นที่อยากจะบันทึกเอาไว้ก็คือ การทำงานของเกียร์นั้น น่ารำคาญ พอกับเกียร์อัตโนมัติของเจ้า
Ford Fiesta ตอนที่ยังไม่ได้ Update Firmware ของสมองกลเกียร์ กันเลยทีเดียว คือต้องลากรอบ
ไปจนถึง 2,000 รอบ/นาที ก่อนที่เกียร์จะยอมเปลี่ยนขึ้นเป็นเกียร์ 2 ให้ และนี่จะเป็นอีกเหตุผล ที่ทำให้
กินน้ำมัน ขณะขับขี่ในเมืองโดยไม่จำเป็น เพร่าะถ้าคุณต้องการขับในเมืองให้ประหยัด ต้องใช้ความเร็ว
30 กิโลเมตร/ ชั่วโมง คือ ต้องขึ้นเกียร์ 2 ไปแล้ว รอบเครื่องยนต์ จึงจะลงมาเหลือ 1,200 รอบ/นาที
กลายเป็นว่า ถ้าต้องการประหยัดน้ำมันในเมือง ขณะคลานๆ ไปตามสภาพการจราจร คุณต้องใช้ความเร็วแถวๆ
30 กิโลเมตร/ชัวโมง ต่อเนื่อง เลยนะนั่น! ใครมันจะไปทำได้ในสภาพรถติดกลางกรุง ตอน 5 โมงเย็นกันละ?

เอาน่า อย่างน้อย อัตราเร่ง ก็ไม่ได้อืดอาดอย่าง ECO Car 1.2 ลิตร บางรุ่น ก็แล้วกัน แค่ว่าไม่ได้ดังใจ
แต่ก็ไม่ถึงกับน่ารำคาญ ถ้าไม่ใช่คนที่เท้าขวาหนักตลอดเวลา คุณก็ใช้ชีวิตกับรถคันนี้ได้อยู่แล้ว

กระนั้น เรื่องที่ผมว่า น่าอัศจรรย์ก็คือ ในวันที่เรา ถ่ายทำคลิปวีดีโอ Check Check Out กันนั้น เราแบก
ผู้โดยสารไปด้วยกันมากถึง 7 คน แต่น้ำหนักที่แบกนั้น ปาเข้าไปถึง 681 กิโลกรัม! หุ่นระดับน้องๆหมีควาย
ทั้งนั้น และ Avanza ก็ยังแบกน้ำหนักบรรทุกดังกล่าว ทะยานขึ้นไปอย่างช้าๆ ถึงความเร็ว 140 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ได้อย่างสบายๆ ไม่มีติดขัด!! ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดเลยทีเดียว เครื่องยนต์มีเรี่ยวแรงพอจะทำเช่นนี้ได้

การเก็บเสียงลมนั้น ทำได้ดีจนถึงความเร็ว 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น เสียงลม เสียงเครื่อง
และสารพัดสรรพเสียง จากยางบดกับพื้นถนน ฯลฯ จะเริ่มดังเข้ามาเรื่อยๆ ตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปอยู่
ในช่วง 140 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงก็จะยิ่งดังกระหึ่มเอาเรืองเลยทีเดียว เป็นเรื่องปกติของรถยนต์
ประเภทนี้

ระบบบังคับเลี้ยวมีการเปลี่ยนแปลง แม้จะอยู่บนพื้นฐานของ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ฟันเฟืองตัวหนอน
อยู่เช่นเดิม แต่มีการเปลี่ยนระบบผ่อนแรงเพาเวอร์ จากไฮโดรลิกล้วน มาเป็นแบบ ไฮโดรลิก ควบคุมด้วย
ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) ดังนั้น การบังคับเลี้ยว ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะ
หนืดขึ้น มีน้ำหนักดี มั่นใจได้ ในแบบที่ผมชอบ แต่สุภาพสตรีหลายๆคน คงต้องออกแรงเพิ่มขึ้นมาก เพราะ
ความหนืดของพวงมาลัยนั้น มันใกล้เคียงกับพวงมาลัยของ Chevrolet Optra ที่เคยได้ชื่อว่า หนืดและ
หนืดสุดในตลาด ดังนั้น การจอดรถ หรือเลี้ยวไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ จะเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น สำหรับ
ผู้ชายที่ชอบขับรถ แต่จะเป็นเรื่องที่ไม่สนุกนัก สำหรับคุณผู้หญิงที่ไม่ได้เข้าฟิตเนสเป็นประจำ

แต่ในช่วงความเร็วสูง แม้ว่าพวงมาลัยจะมีความนิ่ง ใช้ได้ แถมน้ำหนักกำลังดี ระยะฟรี ก็เหมาะสม ทว่า
หากเจอกระแสลมมปะทะด้านข้าง ตัวรถก็จะยังมีอาการวูบวาบให้เห็นอยู่ดี ปัญหานี้ ยังไม่อาจดีขึ้นได้
เพราะ Avanza ใหม่ ยังคงสร้างขึ้นจากโครงสร้างวิศวกรรมของรถรุ่นเดิม ในแนวทาง ที่เรียกว่า
Re-Engineering ใหม่ทั้งคัน ดังนั้น แม้จะขยายความกว้างช่วงล่อหน้าเพิ่มขึ้นนิดนึง แต่ในเมื่อ
ความกว้างตัวถังยังคงอยู่ที่ 1,660 มิลลิเมตร เท่าเดิม กอปรกับ พืนที่ด้านหน้ารถค่อนข้างสั้น เพราะ
ล้อคู่หน้าถูกดันเข้ามาให้อยู่ใกล้กับมุมตัวรถค่อนข้างมาก ทำให้ Down Force ค่อนข้างน้อย และ
ส่งผลต่อการทรงตัวของรถ ขณะแล่นด้วยความเร็วเกินกว่า 110 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปชัดเจน
และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวรถมีอาการวูบวาบไปมาบ้างเล้กน้อย ถ้าลมปะทะไม่เยอะ แต่ถ้าคุณจะขับรถคันนี้
บนทางยกระดับบูรพาวิถี ในช่วงกลางวัน บ่าย ขอแนะนำว่า ไม่ควรใช้ความเร็วเกิน  100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จะปลอดภัยที่สุด และไม่ควรแล่นบนทางยกระดับบูรพาวิถี ในวันที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า เป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็น
แบบ โฟร์ลิงค์คอยล์สปริง พร้อมคานควบคุมการบิดตัวแนวขวาง พยายามช่วยเหลือให้ Avanza
ทรงตัวได้ดีสุดความสามารถของมันแล้ว แต่ด้วยการออกแบบให้เน้นความนุ่มสบายขณะเดินทางไกล
ทว่า มีระยะยุบตัวช่วง Short Storke ส้ั้น ขณะขับขี่ผ่าน หลุมบ่อ เนินลูกระยาด หรือแม้แต่รอยต่อถนน
บนทางด่วน ค่อนข้างน้อยมาก ทำให้สัมผัสได้ถึงอาการกระเด้ง อย่างชัดเจน แข็งในความเร็วต่ำ แต่
นุ่มในความเร็วสูง แม้จะมีแก้มยางติดรถ Bridgestone B250 รับหน้าที่ ซับแรงสะเทือนให้แล้ว
ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังแข็งกระเด้งไปอยู่ดี ยิ่งถ้าเจอถนนเป็นลอนคลื่น รถจะยวบยาบตามพื้นถนนชัดเจน

อย่างว่าครับ รถยนต์ประเภท People Mover จะเซ็ตช่วงล่างให้แข็งมาก มันก็ไม่ได้ เพราะลูกค้า
คงจะบ่นกันหูตูบ หนักหนากว่านี้ การเซ็ต่วงล่าง เลยจำใจต้องปล่อยออกมาให้เป็นแบบนี้กัน กระนั้น
ถือว่า หากเทียบกับ Avanza ตัวเก่า ผมสัมผัสได้ว่า มันดีขึ้นกว่าเดิมนะ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
เพียงแต่ มันยังดีไม่พอให้ผมมีความสุขที่จะใช้ความเร็วบนทางด่วนเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบห้ามล้อ ยังคงเป็นแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม เหมือนเดิม แต่เฉพาะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ทั้ง S และ G
ที่จะติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) พร้อมระบบกระจายแรง
เบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distributor) มาให้จากโรงงาน
อันที่จริงแล้ว น่าจะติดตั้งมาให้กับรุ่นถูกสุด เกียร์ธรรมดาด้วยได้แล้ว ส่วนจานเบรกคู่หน้า และ
ดุมเบรกล้อหลัง ก็มีขนาดกระทัดรัดจริงๆ เมื่อมองด้วยสายตาเปล่าๆ

การตอบสนองของแป้นเบรก Linear ต่อเนื่องดีขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ คุณอาจต้องเหยียบเบรก
ลงไปถึงเกือบครึ่งหนึ่งของระยะแป้นเบรก เพื่อจะสัมผัสถึงการทำงานในระดับที่ทำให้รถ เริ่มหน่วง
ความเร็วลงมาอย่างชัดเจน น้ำหนักของแป้นเบรก ทำได้ดีขึ้น การชะลอรถให้หยุดในขณะคลานไป
ตามสภาพการจราจร นุ่มนวลดี แต่ถ้าจะหน่วงความเร็วลงมา จากระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป
อาจต้องใช้ความระมัดระวัง และไม่ควรเหยียบเบรกกระทันหัน เพราะอาจเสียการทรงตัวได้ แต่ควร
ค่อยๆพิ่มน้ำหนักการเหยียบเบรกลงไป จะเหมาะม และปลอดภัยกว่า

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

Toyota เคลมว่า หลังจากปรับปรุงเครื่องยนต์ 3SZ-FE ใหม่แล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะดีขึ้น
(ว่าง่ายๆคือ ประหยัดขึ้น) กว่า Avanza รุ่นเดิมน้ำมันเชื้อเพลิง เติมได้ทั้งน้ำมัน เบนซิน 95 เบนซิน 91
แก็สโซฮอลล์ ทั้ง 95 กับ 91 และ รองรับถึงแก็สโซฮอลล์ได้ถึงระดับ E20

แต่มันจะเป็นจริงหรือไม่ ได้เวลาที่เราจะมาพิสูจน์กันละครับ

เรายังคงทำการทดลองกัน ตามมาตรฐานดั้งเดิม คือ นำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการ
น้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นทุกคันที่เรานำมาทำบทความรีวิว

แต่ในคราวนี้ ในเมื่อ Avanza เป็นรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์เบนซิน ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ราคาอยู่ในระดับ
ที่ประชาชน ซื้อหามาขับได้ และตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มักเป็นคำถามแรกๆ ที่เราได้ยินเมื่อพูดถึงรถยนต์
ในลุ่มนี้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมานั่งขย่ม และเขย่ารถกันอีกแล้ว อัดกรอกน้ำมันลงไป เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าไป
แทนที่อากาศในถังให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำเช่นนี้ ทั้งขาไป และขากลับ

สักขีพยาน ยังคงเป็น น้อง โจ๊ก V10ThLnD หนึ่งในผู้ช่วยของผม จาก The Coup team ของเราตามเคย

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ ออกรถ มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ หน้าปากซอย
อารีสัมพันธ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน สาย
อุตราภิมุข หรือเส้น เชียงรากไปจนถึงปลายสุดด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม

ตลอดเส้นทาง ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม เป๊ะ!

พอลงทางด่วน ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน อีกครั้ง เลี้ยวกลับที่หน้า
โชว์รูมเบนซ์ ราชครู แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex
ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม เหมือนเช่นเคย

และเราก็ยังต้องเขย่า ขย่ม รถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันให้ไหลลงไปจนแน่นได้ขนาดนี้

เอาละ มาดูตัวเลขผลลัพธ์กันดีกว่าครับ
ระยะทางที่แล่นไปทั้้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter A อยูที่ 93.9 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.24 ลิตร

หลังหารตัวเลขออกมาแล้ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.96 กิโลเมตร/ลิตร

หากเปรียบเทียบตัวเลขกับ Avanza 1.5 ลิตร รุ่นเดิม ซึ่งแล่นไปทั้งหมด 90.2 กิโลเมตร
เติมน้ำมันกลับเข้าไป 7.252 ลิตร และได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.43 กิโลเมตร/ลิตร นั้น
ดูเพียงผิวเผิน ก็เหมือนว่า Avanza ใหม่ จะประหยัดขึ้นนิดนึง เป็นไปตามที่ Toyota แจ้งมา

แต่ถ้าพิจาณากันให้ดีๆ จะพบว่า ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมกลับเข้าไปนั้น มันก็พอกันกับรถรุ่นเดิม
เพียงแต่ว่า เราใช้ระยะทางที่ไกลขึ้นจากเดิมอีกราวๆ 2 กิโลเมตร เลยทำให้ตัวเลขอัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง
เฉลี่ย ออกมาดีขึ้นกว่าเดิมนิดนึง

แต่ ถ้าสงสัยว่า แล้วการใช้งานจริง มันจะกินน้ำมันมากน้อยแค่ไหน เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ดูรูปข้างบนนี้
ก็แล้วกัน ผมใช้ระยะทางแล่นไปทั้งหมด 374 กิโลเมตร น้ำมันยังเหลือ 2 ขีด ดังนั้น คาดว่า น้ำมัน 1 ถัง
ความจุ ตามสเป็ก ลิตร ไม่รวมคอถัง น่าจะแล่นได้ราวๆ 450 -500 กิโลเมตร ไม่เกินนี้ ผมถือว่า จัดอยู่
ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป พอกันกับรถกระบะรุ่นใหม่ๆ และ SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานรถเก๋ง

********** สรุป **********
ถึงจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังคงเป็น Avanza คันเดิม ที่เหมาะจะพาอากงอาม่า ไป รพ.อยู่ดี

ผมเคยเขียนไว้ในที่แห่งหนึ่ง นานมาแล้วว่า ความจริง Toyota Avanza เป็นรถที่มีอนาคตสดใสมากๆ
และอย่างแน่นอน เพราะถูกสร้างขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค ASEAN ซึ่ง
ต้องการรถยนต์ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ราคาประหยัด เพื่อเป็นพาหนะประจำบ้าน ในการ
เดินทางเป็นหมู่คณะ ได้อย่างดี

เพียงแต่ว่า ในรุ่นก่อน การสร้างรถอย่างลวกๆ โดยใช้งานวิศวกรรมของ Daihatsu Terios Mini-SUV
รุ่นเดิม มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับต้นทุน ทำให้ตัวรถออกมาเต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมายก่ายกอง

มาวันนี้ ด้วยการปรับปรุงทุกข้อด้อย ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ผลงานที่ออกมา ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจนแล้ว
ว่า ถ้า Toyota คิดจะทำ Avanza ให้มันดีเด่นไปเลยนั้น พวกเขาก็ทำได้ แม้ในต้นทุนและอุปสรรค
ที่มีอยู่จะขัดขวางแค่ไหนก็ตาม

รถรุ่นใหม่ ออกมา บังคับควบคุมได้มั่นใจขึ้นมาอีกนิด ให้บรรยากาศการเดินทางที่ดูดีมีสไตล์ขึ้น เพิ่ม
อุปกรณ์ชั้นดีเข้าไป ร่วมสมัย จนตัวรถ ดูน่าใช้ยิ่งกว่าเดิมมาก และกลายเป็นตัวเลือกที่คุ้มราคาในระดีบ
ที่มันควรเป็น

โดยเฉพาะ สำหรับครอบครัวในชุมชนเมือง ที่ มีสมาชิกราวๆ 4 – 5 คน พ่อบ้าน หรือแม่บ้าน เป็นผู้นำ
มีอากง หรือ อาม่า ที่ต้องพาไปพบหมอที่โรงพยาบาล ทุกสัปดาห์ มีบุตรหลาน ที่ต้องไปรับ – ส่ง จาก
โรงเรียนอนุบาล แถวบ้าน ในบางครา อาจอยากไปเที่ยว บางแสน หรือหัวหิน ขับรถกินลม ไปเรื่อยๆ
ไม่เร่งร้อน เป็นคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องรถมากนัก แต่ต้องการ รถป้ายแดง 7 ที่นั่ง หรือมีพื้นที่มากพอ
ให้ใช้งานอเนกประสงค์ คุ้มกับเงินที่จ่ายออกไป

Avanza คือรถที่เกิดมาเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากรถรุ่นเดิม ที่ยังปรากฎอยู่ในรถรุ่นนี้ ยังคงมีให้เห็น และเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ
เพราะในเมื่อ Avanza รุ่นที่ 2 ถือเป็นการปรับปรุง แบบ Big-Minorchange
หาใช่การเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน Full Model Change แบบที่เราเข้าใจกันตั้งแต่แรกไม่

อาการวูบไปมา ซ้าย – ขวา ขณะใช้ความเร็วแล้วมีลมปะทะด้านข้าง อันเกิดจาก มี Down Force
บริเวณพื้นที่ด้านหน้ารถ ไม่พอจะกดให้หน้ารถทิ่มลง เพื่อช่วยเพิ่มให้การทรงตัวดีขึ้นกว่านี้ ตัวรถสูง แต่
ไม่กว้างพอ ทั้งที่ความกว้าง น่าจะอยู่ในระดับ 1,695 มิลลิเมตร เท่าๆกับความสูงของตัวรถ (ซึ่งก็สูงไป
สักหน่อย) ได้แล้ว รวมทั้งระบบกันสะเทือนที่ยังมีอาการกระเด้งกระเทือน จากสภาพพื้นผิวถนนทุกแบบ
ช็อกอัพ ทำงานได้ราวกับว่า ไม่ครบ Loop วงจรของมัน โครงสร้างตัวถังยังไม่แน่นหนาพอ ยังพบ
อาการ Body Roll อยู่ รวมทั้งเครื่องยนตฺ์ที่ควรมีพละกำลังมากกว่านี้ และทำอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน
ประหยัดกว่านี้ ทั้งหมดนี้ เป็นปัญหา ซึ่งอาจต้องรอการแก้ไข ในรถรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน ต่อไป

และนั่นคงจะไม่ใช่ปี 2014 หรือ 2015 แต่อาจต้องรอกันไปไกลถึงปี 2016 เลยด้วยซ้ำ เท่ากับว่า 
ซื้อตอนนี้ ยังไม่ต้องกลัวตกรุ่นไปอีกหลายปีแน่ๆ

นอกเหนือจาก Avanza แล้ว มีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมอีกไหม ในระดับราคราพอๆกัน?

คำตอบก็คือ “ไม่มี”  Your Choice is “NO CHOICE”

ถ้ามีเงินไม่เกิน 7 แสนบาท แต่อยากได้รถยนต์ 7 ที่นั่ง และไม่อยากได้รถมือสอง นี่คือตัวเลือก
เพียงรุ่นเดียว ที่เหลืออยู่ในตลาดตอนนี้ ไม่มีคู่แข่งตรงๆโดยสิ้นเชิง เว้นเสียแต่ว่า คุณจะยอม
เพิ่มงบประมาณขึ้นไปเป็น ช่วงไม่เกิน 850,000 บาท มี Honda FREED ที่ให้พื้นที่ของ
ห้องโดยสาร ยาวสบาย เด็กเดินในรถพอได้ และเหมาะกับการขับขี่ในเมือง แถมยังประหยัด
น้ำมันกว่า ในค่าตัว 820,000 บาท แต่ออพชัน ก็ตัดซะแทบไม่เหลือไว้เท่าไหร่เลย

หรือจะให้หันไปหา Proton Exora ก็ยังไม่น่าไว้ใจ แม้รุ่นปรับโฉมใหม่ Minor Chenge
จะมีเครื่องยนต์ Turbo 136 แรงม้า (PS) ส่งมาให้ได้สัมผัสกันแล้ว แต่การบริการหลัง
การขาย ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ถ้าตราบใดที่ Proton Thailand ยังไม่เข้ามาดูแลเองเต็มตัวเสียที

แต่ถ้าคิดว่ายังไม่รีบ และรอได้ คู่แข่งที่แท้จริงของ Avanza คลอดออกมาแล้วในต่างประเทศ
ทั้ง Chevrolet Spin และ Chevrolet Ertiga และทั้งคู่ มีกำหนดจะเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย
ช่วงปี 2013 นี้ ถือเป็นเคร่ื่องยืนยันได้ว่า ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ Sub-Compact Minivan
7 ที่นั่ง ราคาถูก กำลังจะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ทั้งในเมืองไทย และ ASEAN

แล้วถ้าถามว่า จะเลือก Avanza รุ่นย่อยไหนจึงจะคุ้มค่ากว่ากันละ?

ในเมืองไทย Avanza เจเนอเรชัน 2 มีให้เลือกเป็นเจ้าของทั้งหมด 3 รุ่นย่อย เริ่มจาก
รุ่นถูกสุด 1.5 E เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 569,000 บาท แน่นอนว่าเป็นเพียงทางเลือกเดียว
สำหรับใครที่ยังรักในสัมผัสของการเขปลี่ยนเกียร์เอง บนเส้นทางลาดชัน เพื่อลากกำลังเครื่อง
ส่งให้รถพุ่งขึ้นเขาต่อไปได้ง่ายขึ้น เหมาะกับลูกค้าในต่างจังหวัด ที่ต้องการแค่รถใช้งานขำขำ
ไว้รับส่ง อากงอาม่า ไปเที่ยว ไปโรงพยาบาล แต่ยังไม่คุ้นเคยกับการขับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ

สิ่งที่คุณจะต้องทำใจว่ามันจะขาดหายไปแน่ๆ คือ จอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID สเกิร์ตข้าง
สปอยเลอร์หลัง ไฟตัดหมอกหน้า ไฟเบรกดวงที่ 3 ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และระบบ ABS กับ EBD
รวมทั้งสัญญาณกะระยะถอยหลัง ซึ่งผมมองว่า รถยนต์สมัยนี้ ถุงลมนิรภัยกับ ABS + EBD
ควรติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถทุกคันได้แล้ว ความน่าใช้จึงขาดหายไปอย่างช่วยไม่ได้

ส่วนรุ่นกลาง 1.5 G เกียร์อัตโนมัติ ราคา 659,000 บาท ได้ถุงลมนิรภัยเพิ่มเฉพาะฝั่งคนขับ
และได้ข้าวของที่ขาดหายไปแทบทั้งหมดจากรุ่น E กลับคืนมา (ยกเว้นถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร
กับสัญญาณกะระยะถอยหลัง และสปอยเลอร์หลัง ) จึงทำให้รถรุ่นนี้กลายเป็นรุ่นที่คุ้มค่าพอรับได้

ส่วนรุ่นท็อป 1.5 S เกียร์อัตโนมัติ ราคา 699,000 บาท ถึงจะดูน่าสนใจที่สุด เพราะการจ่ายเงิน
เพิ่มอีก 40,000 บาท แล้วได้ ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารเพิ่ม กับสัญญาณกะระยะตอนถอยหลัง และ
เปลือกกันชนหน้า กับสเกิร์ตข้าง แบบสปอร์ต เฉพาะรุ่นย่อย กลับเข้ามาด้วย ดูจะเป็นอีกรุ่นที่ได้รับ
ความนิยมสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การคำนวนเงินผ่อนแต่ละเดือนนั้น คือตัวแปรสำคัญ ดูให้ดีๆ สำหรับใครที่คิดจะเลือก
รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ถ้าคุณรับภาระการผ่อนส่งต่อเดือนเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยได้ คุณจะได้รถรุ่นท็อป
ที่ดูดีกว่า แต่ถ้าคิดว่า ทั้งหมดทื่เพิ่มมา มันไม่จำเป็น ก็เล่นรุ่น 1.5 G ไป เพียงพอแล้ว ส่วนพวก
เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลังนั้น ให้ขอเป็นของแถมจากพนักงานขายยังได้เลย

ท้ายสุด สิ่งที่อยากจะฝากไว้ให้กับ ชาว Toyota ผู้เกี่ยวข้องกับ Avanza ได้รับฟังกัน
สักหน่อย คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า กำลังใจที่อยากมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรืออินโดฯ

มันไม่เข้าข่ายตบหัวแล้วลูบหลังหรอกครับ เพราะรู้ว่า การทำงานภายใต้ข้อกำหนดที่กดทับไว้อยู่
มันยาก เอาเรื่องเลยแหละ และไอ้ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ติเพื่อก่อ ล้วนๆ ไม่มีอะไรแอบแฝง

ผมยังเชื่อว่า Avanza เป็นรถที่ยังมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่ ได้แต่ฝากความหวังไว้ว่า ใน
รุ่นต่อไป ช่วยสร้างให้ดีๆ ไปเลย เพราะในต้นทุนที่จำกัด พวกคุณได้พิสูจน์แล้วว่า ทำ Avanza
ใหม่ ให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเก่าได้ และทำได้ดีสมตัวซะด้วย

ดังนั้น รุ่นต่อไป ก็ได้เวลาจัดเต็ม เพื่อรักษาฐานที่มั่น ความเป็นผู้นำยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ มิให้
ทั้ง Suzuki Ertiga และ Chevrolet Spin มาแย่งชิงไปได้ง่ายๆ

2 คันนั้น เขาพร้อมจะท้าชิงตำแหน่งจากคุณอยู่นะ!

—————///—————-

ขอขอบคุณ
คุณบุญชวน วิภูษณวนิช , คุณสมบูรณ์ มูลหลวง , คุณมหาสมุทร สายสวรรค์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
18 กรกฎาคม 2012

Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
July 18th,2012  

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! please Click here!