ดูผิวเผิน หลายๆคนอาจคิดว่า วิกฤติการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยปีนี้ ส่งผลถึงผู้ผลิตรถยนต์แค่ Honda เพียง
รายเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิตแทบทุกรายที่ตั้งโรงงานในเมืองไทย ต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด
ถ้วนหน้ากัน ไม่เว้นแม้แต่ Toyota ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 จากญี่ปุ่น ที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากเหตุการณ์
แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา

แต่ ปัญหามันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น มันกระจายตัวไปไกลถึงยังสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก!


(ภาพจาก www.NationMultimedia.com)

เว็บไซต์ Just-auto.com รายงานวันนี้ (31 ตุลาคม 2011) ว่า Toyota ยังจำเป็นต้องหยุดพักสายการผลิต
ในสหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ เป็นสัปดาห์ที่ 4 หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย เช่นเดียวกัน
กับโรงงานทั้ง เกตเวย์ บ้านโพธิ์ และสำโรง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันมากถึง 650,000 ต่อปี ของไทย ที่ยังคง
หยุดพักไปจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ หลังจากนั้น จะมีการทบทวนสถานการณ์อีกครั้ง ว่าจะกลับ
เข้าสู่สภาวะปกติ ได้เมื่อใด

วิกฤติการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนใน
อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ในส่วนของ Toyota เอง มีชิ้นส่วนกว่า 100 รายการ ที่ประสบปัญหาขาดแคลน
เพราะแทบทั้งหมดนั้น ผลิตจากโรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย ซึ่งจมไปกับสายน้ำเรียบร้อยแล้ว

คุณวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธาน บริษัท Toyota Motor (Thailand) กล่าวกับสำนักข่าวในประเทศว่า
ได้ย้ายชิ้นส่วน CKD สำหรับการผลิตรถกระบะ รวมทั้งรถกระบะดัดแปลง จากสำโรง ไปไว้ที่โรงงาน Gateway
จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งมีความสูงระดับ 44 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการใช้ถุงทราย
ก่อเป็นคันกั้นน้ำ ไว้รอบโรงงาน รวมทั้งเครื่องจักรในโรงงาน ได้ถูกผนึก และเก็บไว้ในที่สูงแล้วเช่นกัน

ไม่เพียงแค่ Toyota ที่ได้รับผลกระทบ Daihatsu Motor ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในเครือของ Toyota แถลง
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า จำเป็นต้องลดการผลิต รถยนต์ขนาดเล็ก ของตน 2 รุ่น ที่พัฒนาร่วมกันกับ Toyota
ในโรงงานที่ญี่ปุ่น ถึง 2 แห่ง จนถึงสัปดาห์หน้า จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากเมืองไทย และ Daihatsu
คาดว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อชิ้นส่วนสำหรับการผลิตรถยนต์ของตน
ทั้งในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างน้อย จนถึงเดือนพฤศจิกายน

และด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ยังทำให้ ปริมาณชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับผลิตรถยนต์ เริ่มไม่เพียงพอ
จน Toyota ต้องประกาศ ยกเลิก การทำงานล่วงเวลา (OT , Overtime) ในโรงงานที่ญี่ปุ่น ทุกแห่ง ซึ่งหาก
นับถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา Toyota ในญี่ปุ่นจะสูญเสียโอกาสในการผลิตรถยนต์มากถึง 7,000 คัน

นอกจากนี้ Toyota ยังตัดลดเวลาทำงานใน อินโดนีเซีย เวียตนาม และฟิลิปปินส์ ในสัปดาห์นี้ รวมทั้ง หยุด
การผลิตในโรงงาน Indiana และ Kentucky ในสหรัฐอเมริกา โรงงานผลิตเครื่องยนต์ใน West Virginia
รวมทั้ง โรงงานทั้ง 2 แห่ง ใน Ontario ประเทศ แคนาดา ส่วนแอฟริกาใต้ จะเริ่มลดเวลาทำงานในวันจันทร์
(31 ตุลาคม) เพื่อให้ยังพอมีชิ้นส่วนอะไหล่ เพียงพอสำหรับช่วงเวลาลดการผลิต ระหว่างที่ยังไม่สามารถ
หาชิ้นส่วนอะไหล่ จากผู้ผลิตรายอื่นได้

โฆษกของ Toyota กล่าว กับสำนักข่าว รอยเตอร์ ว่า บริษัทยังไม่ทราบถึงตัวเลขกำลังการผลิตทั้งหมด ว่า
จะลดลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

แต่ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก Toyota Mr. Mamoru Katoh นักวิเคราะห์ ทางสถาบันวิจัย
Tokai Tokyo Research คาดการณ์ว่า อย่างน้อยๆ Toyota จะต้องสูญเสียกำลังการผลิตรถยนต์ไปมากถึง
5,000 คัน/วัน หากคิดเฉพาะตัวเลขกำไรที่จะหายไป ประมาณคันละ 300,000 เยน หรือ 4,000 เหรียญสหรัฐฯ
เท่ากับว่า Toyota จะสูญเสียกำไรไปมากถึง 1.5 พันล้านเยน หรือ 19.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯในแต่ละวัน!!

หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น Chunichi Shinbun อ้างถึงแหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของ Toyota กล่าวว่า สถานการณ์
น่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งได้ในเดือนธันวาคม หรือล่าช้ากว่านั้น ขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน

—————————–///—————————–