นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่มีประเด็นเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยซึ่งผลิตโดยบริษัท Takata เกิดปัญหาของสารทำระเบิดที่ไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายกรณี โดยที่สาเหตุไม่ได้มาจากอุบัติเหตุ แต่มาจากถุงลมนิรภัยของ Takata โดยปัญหาของถุงลมนิรภัยนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ถุงลมไม่กาง แต่เป็นการที่สารทำระเบิด ซึ่งใช้ในการกางถุงลมขณะเกิดอุบัติเหตุนั้น ไม่มีเสถียรภาพ หรือถ้าจะอธิบายให้ง่ายคือ อัดแรงเกินไป จนทำให้มีชิ้นส่วนโลหะกระเด็นมาถูกผู้โดยสาร จนทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเศษโลหะนี้ก็แทบจะไม่ต่างอะไรจากสะเก็ดระเบิดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของสภาองค์กรผู้บริโภค พบว่า ยังมีรถยนต์กว่า 6 แสนคัน ที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยตามโปรแกรมนี้ แม้ว่าการดำเนินการนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงบริษัทรถก็ดำเนินการส่งจดหมายเรียกเจ้าของรถไปแล้ว แต่ก็ยังมีรถจำนวนมากที่ตกหล่นอยู่ ทางสภาองค์กรผู้บริโภค จึงออกมาเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำนวนทั้งสิ้น 8 แห่ง ซึ่งใช้ถุงลมนิรภัย Takata ทำการดำเนินการเรียกรถยนต์ซึ่งอยู่ในรายการที่พบปัญหา กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัย อันประกอบไปด้วย Honda, BMW, Nissan, Toyota, Mitsubishi, Mazda, Chevrolet และ Ford

โดยทางเจ้าของรถเอง สามารถที่จะตรวจสอบว่ารถของท่านอยู่ในข่ายที่ได้รับการเปลี่ยนหรือไม่ โดยการตรวจสอบรุ่นว่าอยู่ในข่ายหรือไม่ตามตารางที่ให้เอาไว้ ก่อนนำเลขตัวถัง (VIN) ไปตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของสภาองค์กรผู้บริโภค www.tcc.or.th หรือเว็บไซต์ที่ถูกจัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะ www.checkairbag.com หรือถ้าหากต้องการความแน่นอน ก็สามารถติดต่อศูนย์บริการรถยนต์ของท่านได้ทุกแห่ง

รถในประเทศไทยที่พบเจอว่าอยู่ในข่าย มีจำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน ดำเนินการเปลี่ยนไปแล้ว 1,045,336 คัน แต่ยังเหลือ 680,480 คัน ที่ยังไม่ได้ทำการเปลี่ยน ซึ่งก็นับเป็นจำนวนเกือบ 40% เลยทีเดียว

หลังจากนี้ จะมีการออกนโยบายซึ่งทำร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อที่จะตรวจสอบว่ารถซึ่งชำระภาษีประจำปีนั้น อยู่ในข่ายรถที่ติดตั้งชิ้นส่วนซึ่งมีปัญหา และได้ดำเนินการเปลี่ยนชิ้นส่วนไปแล้วหรือไม่ เพื่อแจ้งเตือนให้เจ้าของรถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

ที่มา : TCC