หลังจากที่สื่อมวลชนสายยานยนต์ในประเทศไทยได้รับเชิญไปทดสอบรถกลุ่ม Pre-production ที่เหมืองหิน จังหวัดพังงา ทางฝั่งโรงงานของ Ford ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ก็ได้ทำพิธีเปิดไลน์การผลิตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมทำตลาดในประเทศไทยและส่งออกไปยังตลาดใหญ่ที่เป็นฐานการวิจัยและพัฒนาของ Ranger ที่ประเทศออสเตรเลียในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

Ford Ranger ประสบความสำเร็จในตลาดออสเตรเลียจนขึ้นแท่นเบอร์ 2 รถกระบะขายดีรองจาก Toyota Hilux ในขณะที่บ้านเรานั้นมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4

 

Ranger ใหม่มาพร้อมทางเลือกขุมพลังหลากหลาย ตั้งแต่ เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.0 ลิตร เทอร์โบเดี่ยวและเทอร์โบคู่ เครื่องยนต์ดีเซล V6 3.0 ลิตร เทอร์โบ และเครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 ลิตร เทอร์โบคู่ที่ประจำการอยู่ในรุ่น Raptor

ตลาดออสเตรเลียให้การตอบรับกับเครื่องยนต์ดีเซล V6 3.0 ลิตร เทอร์โบ หรือ TDV6 มากที่สุด จนถึงเป็นสัดส่วนถึง 70% ของยอดจองทั้งหมด ซึ่งมีให้เลือกทั้งรุ่นย่อย Wildtrak Sport และ XLT

ในขณะที่ Raptor จะเริ่มผลิตตามหลังรุ่นธรรมดา จนพร้อมส่งมอบให้กับตลาดออสเตรเลียช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การขาดแคลนชิปอย่างหนักหน่วงในวงการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน ทำให้ทาง Ford ได้แจ้งไปยังดีลเลอร์ในประเด็นนี้ ซึ่งอาจทำให้การส่งมอบล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม ถึงขั้นว่าต้องรอรถนานถึง 5-7 เดือน หากจองในเดือนพฤษภาคมนี้

 

ในส่วนของโรงงานที่ประเทศไทยได้เดินหน้าการผลิตอย่างเต็มกำลัง ท่ามกลางวิกฤตการณ์เช่นนี้ โดยเพิ่มเป็น 2 กะ เพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ

อีกหนึ่งสาเหตุที่โรงงานของ Ford สามารถดันยอดผลิตเพิ่มได้ เนื่องจากไม่ต้องแบ่งพื้นที่ให้กับการผลิต Mazda BT-50 ดังเช่นโฉมก่อน เนื่องจาก Mazda หันไปจับมือกับ Isuzu และใช้งานวิศวกรรมร่วมกับ D-max แทน
Ford และ Mazda ได้ยุติความร่วมมือการวิจัย พัฒนาและการผลิตรถกระบะร่วมกัน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว และนับเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี ที่ทั้ง 2 แบรนด์ร่วมใช้งานวิศวกรรมเดียวกันสำหรับรถกระบะ 1 ตัน ที่ทำตลาดในประเทศไทย

นอกจากนี้ Ford ยังได้ลงทุนกว่า 900 ล้านเหรียญออสเตรเลีย รวมทั้งเพิ่มตำแหน่งงานอีกกว่า 1,250 ตำแหน่ง รวมเป็น 9,000 ตำแหน่งที่อยู่ในสายงานการผลิต พร้อมทั้งติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

โดยเฉพาะในส่วนงานตัวถังและพ่นสี หุ่นยนต์จำนวนกว่า 365 ตัว ได้เพิ่มอัตราส่วนงานที่เกิดขึ้นจากระบบ Automation จาก 34% เป็น 80% ในส่วนงานตัวถัง และ 69% ในส่วนงานพ่นสี

 

อีกหนึ่งไฮไลท์ก็คือเครื่อง Scanbox ที่ Ford เคลมว่าเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกในไทยที่เริ่มใช้เครื่องจักรนี้ ทำให้สามารถลดเวลาการตรวจสอบคุณภาพตัวถังลงได้ถึง 5 เท่า

อีกทั้งยังปรับปรุงไลน์การผลิตใหม่ ให้สามารถคละประเภทตัวถังได้ระหว่าง single-cab open-cab และ double-cab ในไลน์การผลิตเดียวกันได้ เพื่อให้ปรับตัวได้ความต้องการของยอดจอง และลดเวลาการรอของรถบางตัวถังลงได้

สำหรับรายละเอียดการทดสอบของ Ford Ranger ใหม่ รอติดตามชมได้ที่ Headlightmag เร็วๆ นี้

ที่มา: Drive.au