Toyota เป็นผู้ผลิตรถยนต์ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 85 ปี แน่นอนว่า บริษัทขนาดใหญ่ ที่เดินทางผ่านกาลเวลามายาวนานขนาดนี้ ย่อมต้องมีช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในวาระพิเศษต่างๆ มากมาย

ย้อนกลับไปในปี 1996 เนื่องในโอกาสที่ Toyota ฉลอง การเริ่มต้นผลิต Toyota AA รถยนต์คันแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ใและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผลิตในญี่ปุ่นเอง คันแรก ในปี 1936 ครบรอบ 60 ปี  ดังนั้น Toyota จึงคิดจะสร้างรถยนต์รุ่นพิเศษขึ้นมาเพื่อร่วมระลึกถึงวาระพิเศษนี้ สักรุ่นหนึ่ง ภายใต้เทคโนโลยี และงานวิศวกรรมของรถยนต์ในยุคสมัยปี 1995 – 1996

นั่นคือ จุดกำเนิดของ Toyota Classic ยานยนต์ Retro บนพื้นฐานรถกระบะ Hilux Mighty X คันนี้

บริษัท Toyota Technocraft Co., Ltd., ซึ่งรับหน้าที่ เป็นผู้ผลิตและดัดแปลงรถยนต์รุ่นปกติ ให้มีความพิเศษ ทั้งรูปลักษณ์และอุปกรณ์ เพื่อความเหมาะสมในแต่ละความต้องการและกำลังทรัพย์ของลูกค้าที่แตกต่างกันไป ในรูปแบบที่เรียกว่า Coachbuilder ถูกเรียกใช้บริการ มารับงานดังกล่าว หลังพินิจพิเคราะห์และประชุมกันไปมาหลายรอบ ทาง Toyota Technocraft เลยตัดสินใจ สร้างรถยนต์รุ่นใหม่ขึ้นมา ภายใต้แนวคิดว่า “ถ้า Toyota AA ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ในปี 1996 มันควรจะมีรูปร่างหน้าตา และ Function การใช้งานภายใน รวมทั้งโครงสร้างวิศวกรรมต่างๆ เป็นอย่างไร ถึงจะใกล้เคียงกับรถยนต์ AA รุ่นดั้งเดิมให้ได้มกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Toyota Technocraft นำรถคันนี้ ไปพัฒนาต่อ ภายใต้โครงการ Toyota Excellent Conversion Series (TECS) โดยพวกเขาเลือกใช้พื้นฐานงานวิศวกรรม และ Frame Chassis ของ Toyota Hilux รหัสรุ่น YN86 (หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อรุ่น Mighty X) รหัสรุ่น GA-YN86-PRQDE มาดัดแปลงและต่อยอด ให้มีรูปร่างในสไตล์ย้อนยุค โดยใช้รหัสรุ่น GA-YN86-VPPDTC

เหตุผลที่พวกเขาเลือก Toyota Hilux ในตอนนั้น ก็เพราะว่า เมื่อยอนกลับไปดูข้อมูลพิมพ์เขียวในอดีต จะพบว่า Toyota AA มีขนาดตัวรถ ใกล้เคียงกับ Toyota Hilux YN86 ณ เวลานั้น มากที่สุด อีกทั้ง ยังใช้โครงสร้างตัวรถดั้งเดิม แบบ Body on Frame เหมือนกันอีกด้วย

ตัวรถมีความยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,850 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,375 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง 1.390 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 190 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,480 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุก จะอยู่ที่ 1,755 กิโลกรัม ถังน้ำมัน ความจุ 52 ลิตร

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นการนำ Toyota Hilux Double Cab 4 ประตู โฉม Mighty X (1989 – 1997) มาดัดแปลงใหม่ ให้ชวนระลึกถึง Toyota AA รถยนต์รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของ Toyota ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจาก รถยนต์อเมริกัน อย่าง Chrysler Airflow พ่นสีตัวถังภายนอก ด้วยสีดำ ทั้งคัน คาดด้านข้าง ด้วยสีแดงเลือดนก เต็มพื้นที่ครึ่งคันล่าง มีสัญลักษณ์ Toyota 3 ห่วง ติดตั้งเป็น Ornament บนฝากระโปรงหน้า ชุดกระจังหน้าโครเมียมสไตล์ย้อนยุค ชุดไฟหน้าแบบ Halogen  ไฟเลี้ยว ชุดไฟท้าย  และไฟถอยหลัง ถูกแยกติดตั้งออกมาเหมือนรถยนต์โบราณ กระจกมองข้าง อยู่ในกรอบโครเมียม ปรับระดับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า มีแผงทับทิมสีแดงสะท้อนแสงขาดเล็ก ติดตั้งที่กันชนหลังทั้งฝั่งซ้าย และขวา มีบันไดด้านข้าง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการก้าวเข้า – ออกจากห้องโดยสาร ส่วนยางอะไหล่ ถูกเก็บไว้อยู่ในกล่องวงกลมสีแดง ติดตั้งบนฝาท้าย

ภายในห้องโดยสาร ถูกปรับปรุง โดย เน้นการตกแต่งด้วยการหุ้มหนังสังเคราะห์สีแดง บริเวณ คันเกียร์ แผงประตูทั้ง 4 บาน เบาะนั่งคู่หน้า แบบแยกชิ้น (ซึ่งยกมาจาก Hilux Double Cab 4 ประตู เวอร์ชันญี่ปุ่น) รวมทั้งเบาะนั่งด้านหลังแบบยึดตายตัว พร้อมพนักศีรษะแบบฝังตัวไปพร้อมกับพนักพิงหลัง และพนักวางแขนแบบพับเก็บได้

นอกจากนี้ ยังมีการประดับ Trim ลายไม้เคลือบแลคเกอร์ ขึ้นเงา ซึ่งเป็น การตกแต่งภายในรถ ที่ได้รับความนิยมของลูกค้าในยุค ปลายทศวรรษ 1990 จนถึง ปี 2000 และสะท้อนถึงการตกแต่งภายในรถยนต์ ช่วงทศวรรษ 1930 โดย Trim ลายไม้ดังกล่าว ถูกติดตั้ง บริเวณ แผงหน้าปัด และแผงควบคุมกลาง  ท่อนบนของแผงปะตูทั้งคู่หน้า และคู่หลัง ไปจนถึง ฐานคันเกียร์ คั่นกลางระหว่างผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย ส่วนพรมปูพื้นห้องโดยสาร เป็นพรมสีแดง แบบเดียวกับที่เคยใช้อยู่ใน Toyota Crown Royal Saloon ปี 1987 – 1991 หรือ Toyota Hiace Wagon ปี 1991

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายใน อาจดูหางไกลจากรถยนต์ยุคสมัยปัจจุบันไปพอสมควร แผงหน้าปัดสีเทา ยกชุดมาจาก Hilux Mighty X แต่ประดับตกแต่งด้วย Trim ลายไม้ พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ทำจากเหล็ก โดยมีวงพวงมาลัยเป็นไม้ ผลิตโดย NARDI ของ Italy

ชุดมาตรวัด มีแค่มาตรวัดความเร็ว มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง Trip Meter สัญญาณไฟเตือนต่างๆ และสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่มีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์มาให้ เพราะ รถยนต์ในยุคทศวรรษ 1930 ส่วนใหญ่ ก็ไม่มีมาตรวัดรอบฯ เนื่องจาก ผู้คนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับรอบเครื่องยนต์ มากขนาดนั้น ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ก็มีมาให้ ทั้ง เครื่องปรับอากาศจาก DENSO วิทยุ AM แบบ 1 ลำโพง…ย้ำว่า ลำโพงเดียวจริงๆ มีกระจกหน้าต่างไฟฟ้า และกระจกมองข้างปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้ามาให้

เครื่องยนต์ เป็นรหัส 3Y-E เบนซิน 4 สูบ OHV 8 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square) กำลังอัด 8.8 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีด EFI กำลังสูงสุด 97 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.3 กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที

ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1 …………………. 2.826
เกียร์ 2 .………………… 1.493
เกียร์ 3 …………………. 1.000
เกียร์ 4 ………………… 0.688
เกียร์ R ..………………. 2.703
อัตราทดเฟืองท้าย…… 4.556

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Ball and Nut พร้อมระบบผ่อนแรง Power Steering ด้วยไฮโดรลิค ด้าน ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมคาน Torsion Bar ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Leaf Spring (ตับแหนบ) ระบบห้ามล้อ คู่หน้าเป็น ดิสก์เบรก คู่หลัง เป็น ดรัมเบรก Leading Trailing  กระทะล้อ ขนาด 14 นิ้ว สวมด้วยยาง P205/75R14 (มียางอะไหล่ ขนาด 185R14-8PRLT มาให้ที่ด้านหลังรถ)

ด้านความปลอดภัย สำหรับรถยนต์ที่ออกสู่ตลาด ในปี 1996 นั้น ถุงลมนิรภัย อาจเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Toyota รุ่นอื่นๆ ที่มีจำหน่ายในญี่ปุ่น ณ ช่วงเวลาเดียวกัน แต่สำหรับ Toyota Classic แล้ว ความพยายามตกแต่งรถให้ดูคล้ายคลึงกับรถยนต์ร่วมยุคสมัยเดียวกัน อย่าง Chrysler Airflow ทำให้วิศวกร ตัดสินใจ ไม่ติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้เลย แม้แต่ใบเดียว มีเพียงแค่การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้สำหรับผู้ขับขี่ ผู้โดยสารด้านหน้า และผู้โดยสารด้านหลัง รวม 4 ตำแหน่ง รวมทั้งเข็มขัดนิรภัยแบบคาดเอว 2 จุด สำหรับผู้โดยสารตรงกลางเบาะหลัง เท่านั้น

ท้ายที่สุด Toyota เลือกตั้งชื่อรุ่น ว่า Toyota Classic เพื่อแสดงออกถึงเส้นสาย และรูปลักษณ์ของตัวรถที่ดัดแปลงออกมาแล้วจนเสร็จสมบูรณ์ ในสไตล์ Retro ย้อนยุค เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย Toyota ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ เผยโฉม Toyota Classic อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1996 โดยจัดจำหน่าย ผ่านเครือข่ายจำหน่าย Toyota Channel และ Toyopet Channel สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ในจำนวนจำกัด เพียงแค่ 100 คัน ติดป้ายราคาขาย สำหรับลูกค้าใน Tokyo อยู่ที่ 8,170,000 Yen ส่วนลูกค้าใน Nagoya จะถูกลดค่าขนส่งลง 10,000 Yen เหลือ 8,160,000 Yen แต่สำหรับลูกค้าใน Osaka ราคาจะรวมค่าขนส่ง อยู่ทีี่ 8,164,000 Yen (ราคาในปี 1996)

ปัจจุบัน ในตลาดรถมือสองของญี่ปุ่น  Toyota Classic มีทั้งอยู่ในสภาพดั้งเดิม และถูกดัดแปลงไปจนไกลเกินจินตนาการ ราคาในตลาด อยู่ในช่วงระหว่าง 2,980,000 – 5,000,000 Yen ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวรถ เป็นหลัก และกลายเป็นรถยนต์แปลกระดับ Super Rare item ที่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นมีคุณค่าในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับใครที่ชอบรถยนต์แนวโบราณย้อนยุค ในสไตล์เดียวกับที่ผู้ผลิตอย่าง Mitsuoka ชอบทำออกมาขายนั้น Toyota Classic ถือว่า น่าจะโดนใจผู้ใช้รถกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย

———————–///———————-