หลังจากที่ได้เปิดตัว bZ3 รถ EV ที่พัฒนาร่วมกับ Build Your Dreams (BYD) และ First Automobile Works (FAW) ตัวถัง Sedan 4 ประตู ท้ายลาดไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมานี้ ซึ่งยังคงเป็นรุ่นที่ทำตลาดเฉพาะประเทศจีน โดยยังคงยึดแนวทางการออกแบบมาจากรุ่นพี่ bZ4X ที่ใช้คนละ Platform ก่อนที่ Toyota เตรียมเปิดตัวรถ EV รุ่นต่อๆ ไป หลังจากนี้

แต่ทว่า ยังมีรถรุ่นหนึ่งซึ่งสร้างชื่อให้กับ Toyota ในฐานะรถไฮบริดรุ่นแรก ตั้งแต่ปี 1997 นั่นก็คือ Prius เป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์พ่วงระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และเดินทางมาถึงรุ่นปัจจุบันที่เปิดตัวในฐานะรถยนต์นั่ง Platform TNGA-C รุ่นแรก เมื่อปี 2015 ซึ่งไม่ได้มาทำตลาดในประเทศไทย

ถึงแม้จะเคยมีข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านี้ว่าทางค่าย อาจยอมจำนนกับรถยนต์รุ่นนี้และเปลี่ยนรูปแบบตัวถังเนื่องจากยอดขายและรุ่นปัจจุบันที่ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนรุ่นก่อนๆ แต่ Toyota ก็ตัดสินใจกลับมาลุกขึ้นสู้กับรถ Hybrid รุ่นสร้างชื่อของค่าย ด้วยการพัฒนาพื้นฐานโครงสร้าง TNGA รุ่นที่ 2

2.0 Plug-in hybrid

กันชนหน้าติดตั้งช่องรับลมขนาดใหญ่ เส้นสายของไฟหน้าแบบ C-shaped ลวดลายของกันชนหน้า อ้างอิงจากธีมงานออกแบบของ bZ-series แต่ทว่า มาในรูปแบบตัวถัง Fastback หรือ Sedan ท้ายลาดแต่มีฝากระโปรงท้ายแบบ Hatchback มือเปิดประตูหลังย้ายไปอยู่ที่เสา C ยิ่งไปกว่านั้นยังหยิบยกงานออกแบบมาจาก Crown ที่ผันตัวเป็นรถ Sedan Crossover ซึ่งเปิดตัวและทำตลาดที่ทวีปอเมริกาเหนือไปก่อนหน้านี้

2.0 Full hybrid

ด้านข้างมาพร้อมเส้นสายที่พลิ้วไหว ที่ลดทอนความยุ่งเหยิงจากรุ่นที่ 4 ในส่วนของด้านท้ายก็ยังมีความแปลกใหม่แตกต่างจากทุกรุ่นที่ผ่านมา ด้วยไฟท้ายแบบยาวตลอดความกว้างตัวรถ ไฟ LED tube แบบเดียวกับ Crown รุ่นใหม่ พร้อมติดตรารุ่น Prius โดดเด่นที่ฝากระโปรงท้าย

 

งานออกแบบภายใน ภายใต้แนวคิด “island architecture” อ้างอิงจาก bZ4X ทั้งพวงมาลัยและหน้าจอมาตรวัดแบบดิจิตอล 7 นิ้ว โดยลดทอนความหวือหวาจากรุ่นก่อนๆ โดยได้เพิ่มเติมระบบเรืองแสง Ambient light ที่ผูกเข้ากับระบบความปลอดภัยของรถ ยามเกิดเหตุฉุกเฉินนอกเหนือจากเสียงเตือน

 

พร้อมนำเสนอทางเลือกขุมพลังที่หลากหลายมากที่สุด ตามแบบฉบับรุ่นพี่โฉมที่ 3 และ 4 ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกจะมีทั้งแบบ Plug-in hybrid และ Full Hybrid เครื่องยนต์ 1.8 และ 2.0 ลิตร

รุ่น 1.8 Hybrid

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.8 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 140 แรงม้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ E-CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ E-FOUR

รุ่น 2.0 Hybrid 

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 196 แรงม้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ E-CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ E-FOUR (รุ่น E-FOUR กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นเป็น 199 แรงม้า)

รุ่น 2.0 Plug-in hybrid

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตรแบบ Atkinson เทคโนโลยี Dynamic Force ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ CVT มอเตอร์ ไฟฟ้า 2 ตัว ให้กำลังสูงสุดรวมกว่า 223 แรงม้า (PS) แบตเตอรี่แบบลิเที่ยมไออนขนาด 13.6 kWh ติดตั้งที่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง เพื่อจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า ซึ่งใหญ่กว่ารุ่นก่อนหน้า 8.8 kWh ทำให้รุ่นนี้สามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางไกลสูงสุดเป็นระยะทาง 87 กิโลเมตร (มาตรฐาน WLTC) ซึ่งมากกว่ารุ่นเดิมถึง 50%

  • สามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 6.7 วินาที

2.0 Plug-in hybrid

2.0 Full hybrid

 

ระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense รุ่นล่าสุด ติดตั้งกล้อง Monocular ที่ด้านหน้า และกล้องตวจจับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ระบบ Toyota Teammate หรือ ระบบช่วยจอด Advanced Park ที่สามารถควบคุมรถให้เข้า-ออก ช่องจอดได้อย่างสะดวกสบายผ่านรีโมท

นอกจากนี้ยังมาพร้อมกล้องบันทึกภาพหน้ารถที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์เดียวกับรถ บันทึกภาพลงใน ECU ไม่ใช่ SD card แบบทั่วไป และอยู๋ในโมดูล ไร้สายระโยงระยางให้เกะกะสายตา

ด้วยแนวทางของค่ายที่ยังคงนำเสนอขุมพลังให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ผูกขาดไว้ที่ระบบไฟฟ้าล้วนเท่านั้น นั่นหมายความว่า พื้นที่ของรถยนต์ขุมพลังไฮบริดยังคงยืนหยัดต่อไป อย่างน้อย 4-5 ปีนี้ สำหรับตลาด รถยนต์ในหลายประเทศที่ยังไม่มีความพร้อม ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ตลอดไปจนถึงที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับการใช้งานรถ EV

สำหรับความคืบหน้าการทำตลาดในประเทศไทย  Headlightmag จะนำมารายงานให้ทราบอีกครั้ง

ที่มา: Toyota