Hyundai Pony : The First of Many for South Korean Automotive Industry

ถ้าหากพูดถึง Hyundai Motor Company ในปัจจุบัน เราก็จะนึกถึง ผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการยกย่องถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดดมากที่สุดในปัจจุบัน รถยนต์รุ่นใหม่ๆของพวกเขา มีความโดดเด่นมากมาย อาทิเช่น ดีไซน์ภายนอก/ภายใน ที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง พอเห็นแล้วรู้ทันทีว่าคือรถเกาหลี นอกจากนั้น คุณภาพของวัสดุและงานประกอบ ก็สามารถบอกได้ว่าทัดเทียมกับรถจากชาติอื่นในระดับเดียวกันได้

แบรนด์ Genesis สำหรับรถยนต์หรู และ Ioniq สำหรับรถไฟฟ้า สองแบรนด์ที่ถูกก่อตั้งขึ้น ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการชื่นชมในฐานะผู้สร้างรถยนต์ที่มีความโดดเด่นในคลาสรถยนต์นั้น ๆ และเริ่มกินส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ ได้มากขึ้นทุกวัน

ด้านงานวิศวกรรม เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของ Hyundai รุ่นใหม่ๆในระยะหลังๆมานี้ ก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก ทั้งในด้านความแรงและความประหยัดน้ำมัน ขณะเดียวกัน พวกเขาไปดึงตัว Albert Biermann ผู้ซึ่งเป็นอดีตวิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังรถประสิทธิภาพสูงของ BMW Motorsport มาร่วมงานในฐานะหัวหอกในการพัฒนา ระบบกันสะเทือน เพื่อช่วยทำให้ Handling Dynamics ของตัวรถในภาพรวม ดีขึ้นจนผิดหูผิดตา แม้ปัจจุบันนี้ เขาจะเกษียณจากตำแหน่งแล้ว แต่ยังคงฐานะที่ปรึกษาเอาไว้ นี่ยังเป็นการบ่งบอกว่า Hyundai พร้อมที่จะต่อสู้กับโลกภายนอกในการทำรถให้ได้รับการยกย่องในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์

ขณะเดียวกัน แบรนด์ Genesis ที่ทำตลาดรถยนต์ระดับหรู และ Ioniq สำหรับรถไฟฟ้า สองแบรนด์ที่ถูกก่อตั้งขึ้น ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการชื่นชมในฐานะผู้สร้างรถยนต์ที่มีความโดดเด่นในคลาสรถยนต์นั้น ๆ และเริ่มกินส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ ได้มากขึ้นทุกวัน ด้วยคุณภาพการขับขี่ คุณภาพวัสดุที่ใช้ และราคาที่สมเหตุสมผล

ทั้งหมดนี้ อาจทำให้คนในปัจจุบันลืมกันไปแล้วว่า ถ้าหากเราพูดถึงรถยนต์ที่ Hyundai สร้างขึ้นในยุค 1990 และ 2000 หลายคนก็อาจจะถึงขั้นเบือนหน้าหนีไม่อยากรับรู้

ทุกอย่างที่ Hyundai สามารถก้าวขึ้นมาเป็นได้ในปัจจุบัน ย่อมต้องมีจุดเริ่มต้นเหมือนกับทุกสิ่งบนโลกนี้ และจุดเริ่มต้นนั้น ก็มาจากรถเพียงคันเดียว ที่พวกเขาพัฒนาขึ้น จนถูกเปิดตัวและวางจำหน่ายในเดือน ธันวาคม 1975 โดยในความเป็นจริง มันก็เป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนเหลือใช้ ที่ถูกนำมาดัดแปลงหลอมรวมเป็นรถยนต์ครอบครัว C-Segment ราคาประหยัด แต่เจ้ารถคันนี้ มันกลับสร้างยอดขายได้อย่างถล่มทลาย อีกทั้งยังถูกส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างประสบความสำเร็จ ปูทางให้รถเกาหลีใต้รุ่นอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นมาได้

มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้สวยหรู แต่ถ้าหากไม่มีมันอยู่ วันนี้ชื่อของ Hyundai ก็จะไม่มีความหมายในอุตสาหกรรมยานยนต์แต่อย่างใด

นี่คือเรื่องราวของ เจ้าม้าน้อยตัวแกร่งแห่งคาบสมุทรเกาหลี รถยนต์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่คนเกาหลีใต้ลืมกันไปนาน แต่เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของเขาพัฒนามาไกลถึงขนาดนี้ ก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะกลับมาจดจำและรำลึกถึง

 

Hyundai Pony นับได้ว่าเป็นรถยนต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งอุตสาหกรรม และสังคม รวมไปถึงวัฒนธรรมของคนเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ท่านอาจจะสงสัย ว่ามากแค่ไหนกัน?

ในจุดสูงสุดของยอดขาย Hyundai Pony มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก นับเป็น 4 ใน 10 ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่จำหน่ายในเกาหลีใต้ 

ถ้าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ในปี 2022 ประเทศไทยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่งไปรวมทั้งสิ้น 849,388 คัน ถ้าหากจะมีรถรุ่นใดทำส่วนแบ่งการตลาดได้เท่า Hyundai Pony จะต้องขายได้เกือบ 339,800 คัน ในความเป็นจริง รถที่ขายดีที่สุดในไทยในปีนั้น คือรถ Isuzu D-Max (ไม่รวม Isuzu MU-X) ก็ทำยอดได้แค่ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น

ทั้งหมดนั่นทำให้เกิดคำถามถัดมาคือ แล้วเหตุใด Hyundai Pony จึงแทบจะครองตลาดรถยนต์นั่งในเกาหลีใต้ ในระดับที่เรียกว่าผูกขาดได้เลย?

Hyundai Motors ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของเกาหลีใต้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1955 ที่รถคันแรกถูกผลิตขึ้นในเกาหลีใต้ เป็นรถยนต์ที่เรียกว่า Sibal และเป็นการนำเอา Jeep ทหารช่วงสงครามโลกมาแปลงตัวถังใหม่ และรถ Sibal ก็ทำยอดขายในช่วงหลังสงครามเกาหลีที่ทำให้ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน ได้ดีพอสมควร เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถไปต่อได้

ในปี 1962 รัฐบาลเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ ซึ่งนำโดย ปาร์ค จุงฮี ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี 1961 ได้เริ่มต้นนโยบายในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ โดยรถยนต์ก็เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่รัฐบาลจะสนับสนุน จึงออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Automobile Industry Promotion Policy หรือนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์

นโยบายดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากพอสมควร ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนมาตลอดหลายสิบปี แต่ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ Hyundai Pony คือ ข้อจำกัดที่ว่า รถยนต์ที่วางจำหน่ายในเกาหลีใต้ ทุกรุ่น ทุกคัน จะต้องถูกนำเข้ามาจำหน่ายผ่านความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ กับบริษัทภายในเกาหลีใต้เอง นอกเหนือจากนั้น การนำเข้ารถยนต์จากต่างชาติ จะถูกจำกัดเอาไว้อย่างเข้มงวด ในระดับที่ว่าถ้าหากไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง มีอำนาจ และมีความร่ำรวยมาก ก็จะไม่สามารถเป็นเจ้าของรถนำเข้าได้เลย

ในช่วงแรก บริษัทที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทเกาหลีใต้ มักจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น ตามภูมิรัฐศาสตร์ Mazda เข้ามาร่วมมือกับ Kia ในส่วน Nissan และ Toyota เข้ามาจับมือกับ Shinjin Motors ซึ่งภายหลัง แยกออกเป็นสองบริษัท คือ General Motors Korea ซึ่งกลายมาเป็น Daewoo และอีกส่วนหนึ่งถูกยุบรวมกับ Dong-A ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบจนภายหลังกลายมาเป็น Ssangyong ส่วน Fiat เข้ามาจับมือกับ Asia Motors และภายหลังถูกยุบรวมกับ Kia

แล้ว Hyundai ละ?

Hyundai Motors Company ถูกก่อตั้งในปี 1967 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Ford กับ Hyundai Group ซึ่งในขณะนั้นได้กลายมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสาธารณูปโภค รวมไปถึงโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นทั้งหมดของเกาหลีใต้ รถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางธุรกิจที่ Hyundai มองเห็น และมองว่าเป็นส่วนสำคัญ โดยผู้บริหารเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากเปรียบเทียบประเทศเป็นร่างกายมนุษย์ รถยนต์ก็เป็นเหมือนกับโลหิตที่เดินทางไปบนถนน ที่เปรียบได้กับเส้นเลือดนั่นเอง

 

ในช่วงแรก Hyundai ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ประกอบชุด Complete Knockdown Kit ของ Ford เพื่อทำตามข้อกำหนดของรัฐเท่านั้น โดยมีการนำรถ Ford Cortina Mk.2 และ Ford Granada Mk.1 จากอังกฤษ และ Ford 20M จากเยอรมนี เข้ามาวางจำหน่าย โดยรถเหล่านี้ติดโลโก้ของ Ford แต่มีการระบุว่าผู้ประกอบคือ Hyundai

โดย Hyundai ประกอบรถของ Ford ต่อเนื่องมาจนถึง Ford Cortina Mk.5 และ Ford Granada Mk.2 จนเลิกทำการผลิตไปในช่วงปี 1983 และ 1985 ตามลำดับ แทนที่ด้วยรถที่พัฒนาขึ้นเองอย่าง Hyundai Stellar และ Hyundai Grandeur

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะ Hyundai มีแผนต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นเพียงแค่ผู้ประกอบชุด CKD ขายเท่านั้น

Hyundai ต้องการจะสร้างรถที่พัฒนาขึ้นเอง ในประเทศเกาหลีใต้

อุปสรรคสำคัญในการพัฒนารถของ Hyundai เองนั้น คือการที่แม้ Ford จะส่งชุด CKD เข้ามาให้ประกอบ แต่ในด้านเทคโนโลยีแล้วนั้น Ford ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอะไรให้กับบริษัทเกาหลีใต้ทราบมากมายนัก

โปรเจคที่กลายมาเป็น Hyundai Pony ถูกเริ่มต้นในปี 1973 โดยในเดือนกันยายนของปีนั้น มีการว่าจ้างสำนักออกแบบสัญชาติอิตาลี่ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1968 ชื่อว่า Italdesign Giugiaro เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับทั้งงานออกแบบ ตั้งแต่การร่างแบบ ต่อเนื่องมายังการสร้างโมเดลดินเหนียว และการเตรียมการสร้างโมเดลสำหรับขึ้นแม่พิมพ์ผลิตตัวถัง

หลายท่านอ่านชื่อก็คงจะร้องอ๋อ เพราะมันคือบริษัทที่ Giorgetto Giugiaro ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในฐานะนักออกแบบอิสระ หลังจากที่เคยทำงานกับบริษัทดั้งเดิมอย่าง Bertone และ Ghia นั่นเอง 

เกร็ดเล็กที่หลายท่านอาจจะไม่ทราบ บริษัทที่รับจ้างออกแบบรถยนต์อย่าง Italdesign ในอดีต มักจะรับเตรียมการทำ Productionisation หรือการทำให้ดีไซน์สามารถถูกนำไปขึ้นเป็นรถเวอร์ชั่นผลิตจริงได้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักจะมีประสบการณ์ในการสร้างรถตัวถังพิเศษอยู่แล้ว และสามารถจัดการเตรียมผลิตรถยนต์ตั้งแต่ปริมาณน้อยมาก จนถึงระดับ Mass Production แต่ในปัจจุบัน ขั้นตอนการออกแบบ มักจะถูกทำการโดยบริษัทรถยนต์เอง ด้วยเหตุผลเรื่องกฎเกณฑ์ความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น รวมไปถึงการที่บริษัทรถยนต์ส่วนมากในปัจจุบันมักจะตั้งแผนกออกแบบของตัวเอง บริษัทเหล่านี้จึงถูกลดความสำคัญลงไป

ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 Hyundai ได้ทำการดึงตัว George Turnbull ผู้บริหารบริษัทรถยนต์สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการบริหารของ British Leyland ในขณะนั้น เพื่อมาควบคุมและกำกับดูแลการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะ

การดึงตัว George Turnbull มาครั้งนี้ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากกิจการของ Hyundai แต่เดิมนั้น เป็นเพียงบริษัทประกอบรถยนต์เท่านั้น แต่ถ้าหากพวกเขาจะสร้างรถยนต์ของตัวเองขึ้นมา กิจการจะต้องถูกขยับขยายในหลายภาคส่วนมาก นั่นทำให้การดึงผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานของอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และในขณะนั้นเอง British Leyland ก็กำลังประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ข้อเสนอของ Hyundai ทำให้ Turnbull ย้ายมาอยู่ที่เกาหลีใต้เพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่น

ขั้นตอนการพัฒนานั้น ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะมีการดัดแปลงใช้ชิ้นส่วนของ Ford Cortina เป็นต้นแบบ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในแบบที่ British Leyland เคยใช้มาผสมร่วม นั่นทำให้ขั้นตอนการพัฒนาสามารถทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งนี่ยังเป็นช่วงที่ Hyundai เริ่มต้นไปขอความร่วมมือทางเทคโนโลยีจาก Mitsubishi Motors ของประเทศญี่ปุ่น อันส่งผลทำให้รถ Hyundai ที่ตามมาภายหลังหลากหลายรุ่นใช้เครื่องยนต์ของ Mitsubishi รวมไปถึงการได้รับรถบางโมเดลมาผลิตเองด้วย

ชื่อของ Hyundai Pony เกิดจากการระดมหารือกันด้วยการตั้งแบบสอบถามจากผู้ถือหุ้นของบริษัท Hyundai Motor หลังจากที่มีการเปิดทำ IPO ในปี 1974

ในเดือนพฤศจิกายน 1974 Hyundai ได้นำรถต้นแบบ Hyundai Pony ไปจัดแสดงที่งาน Turin Motor Show โดยรถคันนั้นถูกออกแบบและสร้างขึ้นโดย Italdesign Giugiaro

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในบูธจัดแสดงนั้น นอกเหนือจาก Hyundai Pony Sedan ยังรถต้นแบบอีกคันซึ่งใช้พื้นฐานร่วมกับเวอร์ชั่นจำหน่ายจริง ที่ใช้ชื่อว่า Hyundai Pony Coupe และมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นรถต้นแบบที่เครื่องยนต์กลไกนั้นเป็นของจริง ถูกติดตั้งและสามารถขับขี่ได้จริง Hyundai เองแอบมีแผนที่จะจำหน่าย Hyundai Pony Coupe นี้ แต่ว่าไม่เป็นผลสำเร็จ พวกเขาตัดสินใจที่จะมุ่งหน้าให้ความสำคัญกับเวอร์ชั่น Sedan อันเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเสียก่อน ความฝันในการสร้างรถสปอร์ต 2 ประตูทรงเฉี่ยว คงต้องเก็บไว้เป็นเรื่องของอนาคต

 

ระหว่างที่ Hyundai Pony อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา อีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ คือความสามารถในการผลิตรถรุ่นนี้ในปริมาณที่มากพอ นั่นทำให้ Hyundai เริ่มต้นขยายโรงงานผลิตรถยนต์ที่ตั้งอยู่ในเมือง Ulsan ให้กลายมาเป็นโรงงานผลิตรถยนต์เต็มรูปแบบ ก่อนหน้านี้โรงงานแห่งนี้เป็นเพียงโรงงานประกอบรถยนต์ CKD ในแบบที่ถ้าหากเปรียบเทียบกับโรงงาน ธนบุรีประกอบรถยนต์ หรือโรงงานของตันจงในมาเลเซีย ก็คงไม่ผิดนัก

โรงงาน Ulsan “Plant 1” ขยับขยายเตรียมความพร้อมในการผลิต Pony เสร็จสิ้นในปี 1975 โรงงานแห่งนี้ในภายหลังถูกขยับขยายต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จนในปัจจุบัน มันคือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นฐานที่มั่นของ Hyundai Group และเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีแม้กระทั่งสถานีดับเพลิง และโรงพยาบาลของตัวเองอยู่ในเขตพื้นที่

 

วันที่ 26 มกราคม 1976 Hyundai Pony ตัวถัง Sedan ก็ได้ถูกวางจำหน่ายจริง และส่งมอบถึงมือลูกค้าเป็นครั้งแรก โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 2,289,200 วอน และในทันทีทันใด รถรุ่นนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในเกาหลีใต้ จนสามารถกินส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ทั้งหมดในเกาหลีใต้ได้ถึง 43.5% ภายในปี 1976 นั้นเอง

หลังจากนั้น ด้วยความสำเร็จของ Hyundai Pony Sedan จึงมีการเปิดตัวรุ่นตัวถังอื่น ๆ ตามมา ทั้งแบบ Station Wagon 5 ประตู แบบกระบะขนาดเล็ก 2 ประตู และแบบ Hatchback 3 ประตู ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของคนที่เห็นงานดีไซน์ด้านท้ายของรุ่น Sedan 4 ประตู แล้วคิดว่ารถรุ่นนี้ควรจะมีตัวถัง Hatchback ที่ท้ายเปิดกว้างได้

นี่คือเรื่องราวการพัฒนา Hyundai Pony รถรุ่นแรกที่พัฒนาขึ้นมาโดยเกาหลีใต้ คำถามที่ท่านอาจจะสงสัยในตอนนี้คือ แล้ว Hyundai Pony มันเป็นรถอย่างไรกันแน่?

รายละเอียดทางวิศวกรรม

มิติตัวถัง

  • ความยาว: 3,970 มิลลิเมตร
  • ความกว้าง: 1,558 มิลลิเมตร
  • ความสูง: 1,360 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ: 2,340 มิลลิเมตร
  • ความกว้างฐานล้อหน้า: 1,278 มิลลิเมตร
  • ความกว้างฐานล้อหลัง: 1,248 มิลลิเมตร

*รุ่น Station Wagon 5 ประตู ความยาวตัวถังรวม 3,998 มิลลิเมตร

 

Hyundai Pony 1200 (รุ่นย่อยในเกาหลีใต้ GTS) ใช้เครื่องยนต์ Mitsubishi “Saturn” รหัส 4G36 เป็นแบบ เบนซิน 4 สูบเรียง OHC 8 วาล์วขนาด 1.2 ลิตร (1,238 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 74.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 :1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ 2 ลิ้น กำลังสูงสุด 80 แรงม้า (PS) (55 DIN PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 106 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

ในปี 1980 Hyundai ได้ทำการเพิ่มรุ่น Pony 1400 (รุ่นย่อยในเกาหลีใต้ GNS) ใช้เครื่องยนต์ Mitsubishi “Saturn” รหัส 4G33 เป็นแบบ เบนซิน 4 สูบเรียง OHC 8 วาล์วขนาด 1.4 ลิตร (1,439 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9.0 :1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ 2 ลิ้น กำลังสูงสุด 92 แรงม้า (PS) (68 DIN PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 122 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

นอกเหนือจากนี้ ในบางตลาดที่เน้นพละกำลัง ยังมีการจำหน่าย Pony 1600 (ไม่มีจำหน่ายในเกาหลีใต้) ใช้เครื่องยนต์ Mitsubishi “Saturn” รหัส 4G32 เป็นแบบ เบนซิน 4 สูบเรียง OHC 8 วาล์วขนาด 1.6 ลิตร (1,597 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 77.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 :1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ 2 ลิ้น กำลังสูงสุด 74 แรงม้า (SAE HP) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 126 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

*แรงม้าของรุ่น 1600 น้อยกว่า เพราะหน่วยวัดคนละมาตรฐานกับรุ่น 1200 และ 1400 โดยใช้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากกว่า ถ้าหากเปรียบเทียบกันโดยตรง ตัวเลขแรงม้าของรุ่น 1200 จะมี 55 แรงม้า และรุ่น 1400 จะมี 68 แรงม้า

 

ทุกรุ่น จับคู่กับระบบเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ พร้อมซิงโครเมชในทุกเกียร์เดินหน้า

  • อัตราทดเกียร์ 1: 3.525:1
  • อัตราทดเกียร์ 2: 2.193:1
  • อัตราทดเกียร์ 3: 1.442:1
  • อัตราทดเกียร์ 4: 1.000:1
  • อัตราทดเกียร์ R: 3.867:1
  • อัตราทดเฟืองท้ายสำหรับรุ่น 1200: 4.222:1
  • อัตราทดเฟืองท้ายสำหรับรุ่น 1400: 3.909:1

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลือกเกียร์อัตโนมัติ AISIN 3 จังหวะให้เลือก โดยมาพร้อมกับการเปิดตัวรุ่น 3 ประตู Hatchback และมีให้เลือกเฉพาะรุ่น 1400 และ 1600 เท่านั้น

  • อัตราทดเกียร์ 1 (L): 2.450:1
  • อัตราทดเกียร์ 2 (L): 1.450:1
  • อัตราทดเกียร์ 3 (D): 1.000:1
  • อัตราทดเกียร์ R: 2.220:1

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ MacPherson Strut ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบคานแข็ง รองรับน้ำหนักด้วยสปริงแหนบ Semi Elliptical Leaf Spring

 

Hyundai Pony เจเนอเรชั่นที่ 1 ถูกผลิตจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1982 โดยยอดผลิตรวม ณ ขณะนั้น ทำได้ 297,930 คัน และถูกแทนที่ด้วยรุ่นปรับโฉม Big Minorchange ที่ใช้ชื่อว่า Hyundai Pony II แต่แม้ว่าจะถูกเปิดตัวไปแล้ว Pony รุ่นแรกก็ถูกผลิตต่อเนื่องไปในฐานะ Special Order สำหรับตลาดรถแท็กซี่ในเกาหลีใต้โดยเฉพาะ


 

 

Hyundai Pony II

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1982 Hyundai ประกาศเปิดตัว Hyundai Pony II ในตลาดเกาหลีใต้ แม้จะถือว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของ Pony แต่ในความเป็นจริง นี่คือการปรับโฉมแบบ Big Minorchange เท่านั้น โดยเป็นการนำเอารถรุ่นเดิมมาปรับปรุงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ ตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า

ความเปลี่ยนแปลงหลักนั้นอยู่ที่ชิ้นส่วนตัวถังภายนอก ซึ่งถูกปรับให้มีความเหลี่ยมขึ้น ไฟหน้าเปลี่ยนจากแบบ Sealed Beam เป็นแบบดวงแก้ว Reflector พร้อมไฟเลี้ยวแบบ Wrap Around แก้มข้าง กันชนหน้าหลังถูกเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นแบบพลาสติกครอบ แม้ว่าจะยังคงแยกกับตัวถังอยู่

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของภายนอก คือการลดทอนชนิดตัวถังให้เหลือเพียง 2 แบบ โดยสำหรับรุ่นหลักนั้น มีการเปลี่ยนจากตัวถัง Sedan 4 ประตู ให้มาเป็น Hatchback 5 ประตู ส่วนอีกตัวถังที่ยังคงเหลือ คือรุ่นกระบะ 2 ประตู ส่วนรุ่นอื่น ๆ ที่ยอดขายไม่ดี ก็ถูกยกเลิกทำตลาดไป

ในส่วนของภายในนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่คอนโซลหน้า แผงหน้าปัด เรือนไมล์ แผงประตูข้าง ฯลฯ รวมไปถึงเบาะหน้าและเบาะหลัง โดยในที่สุดแผงประตูก็เป็นแบบปิดทึบจนไม่เห็นเหล็กตัวถัง ซึ่งนับได้ว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีความหรูหราสำหรับรถราคาประหยัดในยุคสมัยนั้น

มิติตัวถังของ Hyundai Pony II

  • ความยาว: 4,029 มิลลิเมตร
  • ความกว้าง: 1,566 มิลลิเมตร
  • ความสูง: 1,327 มิลลิเมตร
  • ระยะฐานล้อ: 2,340 มิลลิเมตร
  • ความกว้างฐานล้อหน้า: 1,298 มิลลิเมตร
  • ความกว้างฐานล้อหลัง: 1,288 มิลลิเมตร

*สำหรับรุ่นกระบะ 2 ประตู ความยาวตัวถังอยู่ที่ 3,998 มิลลิเมตร และสำหรับรุ่นกันชนใหญ่ Big Bumper ความยาวตัวถังจะขยับไปที่ 4,184 มิลลิเมตร ที่เหลือเท่ากันทั้งหมด

 

ในส่วนของเครื่องยนต์กลไก และช่วงล่างนั้น แม้ว่าจะมีการปรับปรุงในเรื่องชิ้นส่วนหลายจุดเพื่อเสริมคุณภาพ แต่โดยพื้นฐานแล้ว ก็ยังคงมีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 แบบ ตั้งแต่ 1.2 1.4 และ 1.6 ลิตรตามเดิม แรงม้าเท่าเดิม และช่วงล่างก็ยังคงเป็นแบบ MacPherson Strut หลังคานแข็งสปริงแหนบ เหมือนเดิม

Hyundai Pony II ตัวถัง Hatchback ถูกผลิตจนถึงเดือนเมษายน 1988 และตัวถังกระบะถูกผลิตมาจนถึงเดือนมกราคม 1990 รวมยอดการผลิตทั้งหมด 363,589 คัน


Pony Export Version

หลังจากที่เปิดตัวในปี 1976 ไปได้ไม่นานนัก Hyundai ก็เริ่มทำการส่งออก Pony ยังจำหน่ายยังประเทศอื่น ๆ นอกเกาหลีใต้

สิ่งหนึ่งที่บริษัทรถยนต์เกิดใหม่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะจากประเทศใดก็ตาม ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก และต้องทำควบคู่กับการพัฒนารถคันแรกนั้นคือ การสร้างตลาดที่ใหญ่มากพอ เพื่อที่จะทำให้ต้นทุนการพัฒนารถยนต์ที่ค่าใช้จ่ายสูง สามารถคืนทุนได้ นั่นทำให้ไม่มีรถจากประเทศใดที่สามารถอยู่รอดได้ด้วยการจำหน่ายเพียงแค่ในประเทศ

โดยประเทศแรกที่ Pony ถูกส่งออกไปจำหน่าย คือประเทศ Ecuador โดยรถล็อตแรกนั้นมีเพียงจำนวน 5 คัน แต่ใช้เวลาไม่นานนัก Hyundai Pony ก็สามารถครองตลาดกำลังพัฒนาที่ต่าง ๆ ได้ และในประเทศอย่าง Ecuador รวมไปถึงประเทศแถบอเมริกาใต้ ก็เริ่มใช้รถ Pony เป็นแท๊กซี่ เหมือนกับในเกาหลีใต้

 

ไม่เพียงแค่ตลาดกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ Hyundai Pony ยังถูกส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปตะวันตกด้วย โดยเริ่มจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ก่อนที่จะถูกขยับขยายตลาดไปในประเทศกลุ่ม EEC (European Economic Community) ที่ไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเองหลากหลายแห่ง แน่นอนว่าในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว Hyundai Pony ถูกวางตำแหน่งการตลาดเป็นรถยนต์ราคาประหยัด เทียบได้กับรถจากยุโรปตะวันออกอย่าง Lada หรือ Skoda (ยุคก่อน VW)

ในปี 1984 Hyundai Pony II ซึ่งถูกปรับปรุงให้สามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานอื่น ๆ ก็ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศ Canada กลายมาเป็นรถราคาถูกที่สุดในตลาด ณ ขณะนั้น โดยรถสเปคแคนาดานั้นแตกต่างจากรถสเปคอื่น ด้วยการติดตั้งกันชนหน้า Big Bumper และไฟหน้ากลับไปใช้แบบ Sealed Beam

Hyundai Pony II ไม่ถูกส่งไปทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ต้องรอจนถึงการมาของ Hyundai Pony Excel ซึ่งเป็นตัวแทนของ Pony II

ถ้าหากบอกว่า Hyundai Pony ทั้งเจนแรก และเจนสอง เป็นรถที่ปูทางให้ Hyundai เริ่มต้นตีตลาดรถยนต์นั่งทั่วโลกได้ ก็ไม่ผิดนัก โดยในที่สุด มันถูกส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ถึง 60 ประเทศด้วยกัน ก่อนที่รถรุ่นอื่น ๆ จะมาแทนที่ และต่อยอดสิ่งที่ Pony ริเริ่มเอาไว้นั่นเอง


Replacing the Pony

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1985 ได้มีการเปิดตัว Hyundai Excel หรือชื่อในบางตลาด Hyundai Pony Excel ซึ่งถือได้ว่าเป็นรถที่มาแทนที่ Hyundai Pony II อย่างเป็นทางการ

Hyundai Excel ใช้พื้นฐานแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และมีการปรับเครื่องยนต์มาใช้เป็นแบบ 4G13 และ 4G15 ซึ่งใหม่กว่าเครื่องของ Pony จึงสามารถผ่านมาตรฐานมลพิษของตลาดต่าง ๆ ได้ รถรุ่นนี้จึงถูกส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ มากกว่า Pony เสียอีก

 

แม้แต่ในประเทศไทยเอง Hyundai Excel เจเนอเรชันที่ 2 ก็ยังถูกนำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน จากเกาหลีใต้ โดย กลุ่ม พระนครยนตรการ ภายใต้ชื่อบริษัท ยูไนเต็ด โอโต้ เซลส์ จำกัด (United Auto Sales) เพื่อเข้ามาเปิดตลาดแบรนด์ Hyundai ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ร่วมกับ Hyundai Elantra รุ่นแรก และ Sonata รุ่นที่ 2 การเปิดตัวสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก เกิดขึ้นในงาน มหกรรมยานยนต์ (ปัจจุบันคือ Motor Expo) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1992 ณ Bangkok Convention Center Central ลาดพร้าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Excel จะถูกเปิดตัวมาแล้ว Hyundai Pony II ก็ยังคงถูกจำหน่ายต่อเนื่องไปจนปี 1990 ตามที่บอกไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งชื่อของ Pony ก็ยังคงถูกใช้ในตลาดบางแห่ง ที่มีความคุ้นเคย ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อ Hyundai เลิกผลิตรถ Ford Cortina ก็มีความพยายามสร้างรถรุ่นที่ 2 ของตนเองขึ้นมา โดยเป็นรถที่มีขนาดใหญ่กว่า และหรูหรากว่า โดยใช้พื้นฐานจาก Ford Cortina Mk.4/5 ผสมกับเครื่องยนต์ของ Mitsubishi จนออกมาเป็น Hyundai Stellar ในปี 1983 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้ในฐานะรถครอบครัวที่มีขนาดใหญ่กว่า ในสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และรถรุ่นนี้ก็ถูกส่งออกไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่ง Cortina ถูกแทนที่ด้วย Ford Sierra ที่ถูกกังขาเรื่องดีไซน์ที่โค้งมน Hyundai Stellar จึงเป็นทางเลือกในแบบดั้งเดิม และทำตลาดได้ดีพอสมควรในกลุ่มคนที่ชอบดีไซน์อนุรักษ์นิยม

ส่วนของ Hyundai Ford Granada หลังจากเลิกทำการผลิต ก็มีการแทนที่ด้วยรถที่เกิดจากความร่วมมือกับ Mitsubishi อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่ง Mitsubishi มามีส่วนสำคัญมากกว่า นั่นคือ Hyundai Grandeur ซึ่งเปิดตัวในปี 1986 อันเป็นการพัฒนาร่วมกับ Mitsubishi Debonair เจเนอเรชั่นที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้เป็นรถสำหรับขนส่งผู้คนในงานโอลิมปิกฤดูร้อน ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล ในปี 1988

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้เพราะความสำเร็จของ Hyundai Pony นั่นเอง


บทสรุป

เมื่อเราพูดถึง Hyundai Pony เราก็ต้องพูดถึงความจริงที่น่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่ง คุณเคยสงสัยไหมครับว่าประเทศพัฒนาแล้วบนโลกประเทศใด ที่การหารถเก่าวิ่งตามท้องถนนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด? จะเป็นประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ที่ระเบียบการตรวจสภาพรถนั้นใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งยังเข้มงวดตรวจผ่านยาก? หรือสิงคโปร์ ที่การมีทะเบียนรถจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ผ่านการประมูลทุก ๆ 10 ปี? หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนที่การใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายเป็นสิ่งใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่เกิน 35 ปีเท่านั้น?  หรือคุณอาจจะเดาได้ เพราะเรากำลังพูดถึงรถที่ถูกสร้างขึ้นในเกาหลีใต้อยู่…

ในปี 2007 ผู้จัดทำภาพยนตร์ชื่อเรื่องว่า May 18 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาติเกาหลี เกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เมืองกวางจู เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ในการที่จะสร้างบรรยากาศของเกาหลีใต้ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ทีมผู้จัดจึงออกตามหารถตรงยุค ที่มีปริมาณอยู่มากบนท้องถนนมาประกอบฉาก ซึ่งก็หนีไม่พ้นเจ้า Hyundai Pony ที่เป็นรถยอดนิยมในขณะนั้น โดยจะต้องใช้จำนวนทั้งสิ้น 4 คัน 

สุดท้ายแล้ว ทีมผู้สร้าง ไม่สามารถที่จะหา Hyundai Pony ในคาบสมุทรเกาหลี แม้แต่คันเดียว

สาเหตุก็เพราะเกาหลีใต้นั้นมีวัฒนธรรมที่มองว่า ของใหม่นั้นเป็นของที่ดีกว่า ในระดับที่รุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้คนส่วนมากเปลี่ยนรถใหม่บ่อย ๆ โดยไม่ต้องมีแรงจูงใจอื่นใด และผู้คนที่คิดจะเก็บรถยนต์เก่าต่อไปนั้น มีอยู่จำนวนน้อยนิดมากไม่เหมือนกับประเทศอื่น

นั่นทำให้แม้ว่า Hyundai Pony จะเป็นรถที่มีความแพร่หลายมากในอดีต แต่ในปี 2007 หลังจากผ่านไปเพียงแค่ประมาณ 25 ปี นับจาก Hyundai Pony เจเนอเรชั่นแรกถูกเลิกจำหน่ายไป ปริมาณรถที่หลงเหลืออยู่ในเกาหลีใต้นั้น มีเพียงแค่ 1 หรือ 2 คัน ซ่อนอยู่ตามโรงรถที่ถูกลืม หรือพิพิธภัณฑ์ที่ไม่อนุญาตให้กองถ่ายนำออกมาใช้

 

โชคยังดี ที่รถรุ่นนี้ถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ประเทศอย่าง Ecuador ที่ซึ่งวัฒนธรรมการใช้รถ ทำให้รถเก่า ๆ ยังคงมีวิ่งอยู่ตามท้องถนนบ้าง จนทำให้สุดท้าย ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง May 18 สามารถหา Hyundai Pony จำนวน 4 คันนั้นได้เจอจากประเทศ Egypt และส่งกลับมายังเกาหลีใต้เพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ ในตอนนี้ รถเหล่านั้นยังอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทให้เช่ารถยนต์เก่าแห่งเดียวในเกาหลีใต้ ถ้าหากคุณดูภาพยนตร์ย้อนยุค ประมาณช่วง 1970-1980 ของเกาหลีใต้ แล้วคุณเห็น Hyundai Pony มีโอกาสสูงมากที่มันคือรถคันเดิมไม่กี่คันที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ

ในภายหลัง มีการพบ Hyundai Pony ตามที่ต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงในเกาหลีใต้เอง แต่ปริมาณรถที่เหลืออยู่โดยรวม ก็ยังไม่เกิน 10 คัน โดยจำนวนหลายคันก็อยู่ที่ Hyundai เอง ผู้ซึ่งซื้อมาเก็บไว้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ของชาติเกาหลีใต้

ส่วน Hyundai Pony II ปริมาณรถที่หลงเหลืออยู่นั้นมีมากกว่าพอสมควร แต่ก็ไม่ได้มากในระดับที่จะหากันได้ง่าย ๆ

ทั้งหมดนี้ บ่งบอกว่า ถ้าจะบอกว่า Hyundai Pony เป็นรถที่ถูกลืม ก็ไม่ผิดนัก แม้แต่คนเกาหลีใต้เองยังไม่ได้ให้ความสนใจที่จะเก็บรักษามันเลย

แต่เมื่อเราข้ามมาสู่ช่วงปัจจุบัน ซึ่งชาติเกาหลีใต้มีการพัฒนามามากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้คนคิดจะหวนย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาในอดีตที่ดูน่าหลงใหล รถ Hyundai Pony จึงถูกให้ความสนใจมากขึ้น อย่างที่เห็นได้จากการที่ Hyundai นำเอาดีไซน์ของมันมาปรับใช้เป็นแรงบันดาลใจแก่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ Ioniq 5 

 

Hyundai เอง ยังคงใส่ใจในการนำแรงบันดาลใจจาก Pony มาผสมผสานกับโลกยุคปัจจุบันไว้ ด้วยการเปิดตัวรถต้นแบบ Hyundai Pony EV Concept ซึ่งเป็นการนำเอาตัวถังของ Pony 3 ประตู มาใส่รายละเอียดและขุมพลังแห่งอนาคต กลายเป็นรถสไตล์ Cyberpunk ดูย้อนยุคและล้ำหน้าในเวลาเดียวกัน เผยโฉมครั้งแรกในโลก เมื่อ 18 เมษายน 2021 รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ CLICK HERE

 

ล่าสุด รถต้นแบบ Hyundai Pony Coupe ที่ถูกสร้างโดย Italdesign ในปี 1974 ก็ได้รับการบูรณะใหม่หมด และอีกไม่ช้า ก็จะมีรถสปอร์ตที่ได้แรงบันดาลใจจากมันเปิดตัวขึ้น โดยเห็นได้จากรถต้นแบบ Hyundai N Vision 74 ซึ่งชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าได้แรงบันดาลใจจากอะไร

 

จากรถที่ถูกลืม กลายมาเป็นรถที่ถูกยกย่องว่าคือจุดกำเนิดของการสร้างชาติ รถที่เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถจะแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ต้นกำเนิดเล็ก ๆ ที่พัฒนามาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าหลายเท่าตัว