งานสัมมนาใหญ่ประจำปี The NEXT Thailand’s Future เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวว่า เนื่องจากมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ มีค่ายรถอีกหลายค่ายที่สนใจเข้าไปลงทุน แต่สมัครเข้าร่วมการส่งเสริมแพ็คเกจอีวี ไม่ทัน จึงมีการปรับมาตรการพิเศษเพิ่มเติม แต่จะได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากับมาตรการเดิม ซึ่งมาตรการพิเศษจะครอบคลุมระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมในปี 2567 – 2568

ล่าสุด มีความชัดเจนขึ้นอีกขั้นหลังจากที่ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ได้เผยร่างมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV Subsidy Package (EV 3.5) ที่งาน Thailand Focus 2023 ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดอีวีเป็นที่เรียบร้อย และจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้น

 

ร่างมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV Subsidy Package (EV 3.5) มีรายละเอียดสิทธิประโยชน์เบื่องต้น ดังต่อไปนี้

รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Cars) ราคาไม่เกิน 2,000,000 บาท

  • เงินสนับสนุน 50,000 บาท/คัน สำหรับรถยนต์ที่มีความจุแบตเตอรี่ 10 kWh ไม่เกิน 50 kWh
  • เงินสนับสนุน 100,000 บาท/คัน สำหรับรถยนต์ที่มีความจุแบตเตอรี่ 50 kWh ขึ้นไป
  • ลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
  • ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40%

รถกระบะ (Pick-up Trucks) ราคาไม่เกิน 2,000,000 บาท

  • เงินสนับสนุน 100,000 บาท/คัน สำหรับรถยนต์ที่มีความจุแบตเตอรี่ 50 kWh ขึ้นไป
  • ลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 10% เหลือ 0%
  • อากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) 0% (เท่ากับ ไม่ลด)

รถมอเตอร์ไซค์ (Motorcycle)

  • ไม่มีการสนับสนุน

ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมจะต้องผลิตรถยนต์ภายในประเทศ เพื่อชดเชยกับจำนวนรถยนต์ที่นำเข้าทั้งคัน 2 เท่า ภายในปี 2567 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2568

 

เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV Subsidy Package (EV 3.0) พบว่ามาตรฐาน EV 3.5 มีการปรับลดเงินสนุนสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และกระบะ จาก 70,000 – 150,000 บาท เหลือ 50,000 –  100,000 บาท และยกเลิกเงินสนับสนุนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อัตราส่วนของรถยนต์ที่ต้องผลิตภายในประเทศเพื่อชดเชยกับจำนวนรถยนต์ที่นำเข้าทั้งคัน ยังเพิ่มขึ้นจาก 1 – 1.5 เท่า เป็น 2 – 3 เท่าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2567 จะยังมีค่ายรถยนต์อีกหลายรายที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐบาลไทย เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในด้านการผลิตและการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการผลิตออกจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ในระแวกใกล้เคียง

ที่มา : BOI