ในอดีต Esso ถือเป็นแบรนด์น้ำมันชั้นนำของไทย และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีสำหรับชาวไทย โดยเฉพาะคนที่เกิดและโตมาในช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หลายคนคุ้นหูกับประโยค “จับเสือใส่ถังพลังสูง” อันเป็นสโลแกนที่เกิดจาก มาสคอตเสือ ซึ่งฝ่ายสื่อสารองค์กรของแบรนด์ในขณะนั้นต้องการให้ผู้คนทั่วไปสามารถจดจำได้ง่ายขึ้นในฐานะ “ปั๊มเสือ” เช่นเดียวกับคู่แข่งอย่าง Shell ซึ่งมีรูปหอยเชลล์เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะเรียกติดปากว่า “ปั๊มหอย”

แม้ว่า Esso จะเป็นชื่อที่หลายคนรู้จักตั้งแต่ช่วงปี 2510 ภายหลังจากที่ได้เข้าซื้อโรงงานจาก บริษัท ยางมะตอยไทย เพื่อจัดตั้ง โรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา และเริ่มต้นทำธุรกิจนำ้มันในไทยอย่างครบวงจร ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน คลังนำ้มัน รวมถึงสถานีบริการนำ้มัน ทว่าจุดเริ่มต้นของ Esso ในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2437 โดยมีประวัติคร่าวๆ ดังนี้…

บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมานานเกือบ 130 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นและค้าน้ำมัน รวมถึงเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งฐานธุรกิจหลักประกอบไปด้วย โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เครือข่ายคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

ธุรกิจของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย

  • โรงกลั่นน้ำมันระดับมาตรฐานโลก ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และมีกำลังการผลิตสูงสุด 174,000 บาร์เรลต่อวัน
  • หน่วยผลิตสารทำละลาย ซึ่งมีกำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี
  • เครือข่ายสถานีบริการเอสโซ่มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันประมาณ 820 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565)
  • ช่องทางพาณิชยกรรม ครอบคลุมการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้าส่ง ตลอดจนลูกค้าในอุตสาหกรรมการบินและการเดินเรือ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ค้าส่ง ประกอบด้วยก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ยางมะตอย และน้ำมันหล่อลื่น

 

ไทม์ไลน์การดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิล รวมถึง Esso ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2437 มีดังนี้ 

 

พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก เปิดสาขาในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี

 

พ.ศ. 2474 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก และบริษัท แว๊คคั่มออยล์ ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นตรา “การ์กอยส์”

 

พ.ศ. 2476 ร่วมทุนกับบริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด ใช้เครื่องหมายการค้า “ม้าบิน”

 

พ.ศ. 2490 รับชื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการ

 

พ.ศ. 2505 เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2505 และเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าจาก “ตราม้าบิน” มาเป็น “ตราเอสโซ่” ในวงรีรูปไข่

 

พ.ศ. 2508 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด

 

พ.ศ. 2510 ซื้อโรงงานจาก บริษัท ยางมะตอยไทย เพื่อจัดตั้ง โรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา และเป็นปีที่เริ่มต้นทำธุรกิจนำ้มันในไทยอย่างครบวงจร ทั้งโรงกลั่นน้ำมัน คลังนำ้มัน รวมถึงสถานีบริการนำ้มัน

 

พ.ศ. 2514 ขยายโรงกลั่นครั้งแรก เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 35,000 บาร์เรลต่อวัน

 

พ.ศ. 2515 ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเลขที่ 1016 ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี

 

พ.ศ. 2519 ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรล ต่อวัน

 

พ.ศ. 2522 จัดตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ โดยได้รับสัมปทาน การสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายหลัง บริษัทฯ เปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์

 

พ.ศ. 2528 ขยายโรงกลั่นเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 63,000 บาร์เรลต่อวัน

 

พ.ศ. 2534 ได้รับการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชาเป็น 185,000 บาร์เรลต่อวัน ร่วมมือกับบริษัทน้ำมันชั้นนำต่างๆ จัดตั้ง บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เพื่อวางท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นศรีราชาไปยังลำลูกกา ดอนเมือง และสระบุรี

 

พ.ศ. 2539 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราครุฑ แก่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเริ่มการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ศรีราชา

 

พ.ศ. 2544 ได้มาซึ่งกิจการของบริษัท โมบิลออยล์ไทยแลนด์ จำกัด และดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

พ.ศ. 2545 จัดตั้งบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

 

พ.ศ. 2546 จัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพอย่างเป็นทางการ

 

พ.ศ. 2551 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

พ.ศ. 2554 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฉลองความสำเร็จ โครงการน้ำมันสะอาด ด้วยเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท

 

พ.ศ. 2557 ดำเนินกิจการในประเทศไทยครบรอบ 120 ปี และปรับโฉมสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่

 

พ.ศ. 2562 เปลี่ยนชื่อ ศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพ เป็น ศูนย์บริการธุรกิจระดับโลก ฉลองการดำเนินกิจการในประเทศไทย ครบ 125 ปี

 

ตำนาน 129 ปี ของปั๊มเสือในไทยดำเนินมาใกล้จุดสิ้นสุด หลังจากวันที่ 12 มกราคม 2566 เอ็กซอนโมบิล ได้บรรลุข้อตกลงกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขายหุ้น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,283,750,000 หุ้น หรือคิดเป็น 65.99% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของเอสโซ่ จาก เอ็กซอนโมบิล อันประกอบด้วย โรงกลั่นศรีราชา คลังน้ำมันบางแห่ง และเครือข่ายสถานีบริการตราเอสโซ่

ต่อมาบางจากได้รายงานความคืบหน้าการเข้าซื้อกิจการ เอสโซ่ ระบุว่า บริษัทจะดำเนินการซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวจากผู้ขายในมูลค่า 22,605,926,000 บาท หรือคิดเป็นราคา 9.8986 บาทต่อหุ้น และชำระราคาค่าหุ้นสามัญให้กับผู้ขาย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการซื้อขายเสร็จสิ้นว่า “หลังปิดดีลซื้อกิจการเสร็จสิ้นแล้ว ปั๊มน้ำมันของเอสโซ่จะทยอยเปลี่ยนมาเป็นปั๊มภายใต้แบรนด์ของบางจากทั้งหมด โดยมีระยะเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เสร็จภายใน 2 ปี”

นั่นเท่ากับว่าในอนาคต บางจากจะมีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมเพิ่มขึ้นเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน มีเครือข่ายคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ภายในวันที่ 1 กันยายน 2568 เราจะได้เห็นปั๊มน้ำมันบางจากในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราวๆ 2,160 สถานี (บางจาก 1,340 สถานี + เอสโซ่เดิม 820 สถานี) ใกล้เคียงกับ ปตท.

ขอบคุณข้อมูลจาก Esso Thailand


รวมหนังโฆษณา Esso ในอดีต

 

ขอบคุณคลิปวีดีโอจากช่อง Youtube The Leo Burnett Group Thailand Mighty Plus Channel Anusorn Channel Official คัลเลอร์ วัน (Color One Official) Ton Ladprao