อุตสาหกรรมรถจีน… เป็น​ไปอย่าง​ที่ฉันคิด และน่ากลัวกว่าที่คิด ! 

เพิ่งวางสายจากพี่สาวสุดเลิฟท่านหนึ่ง​ ซึ่งไปเยือนจีนมา การได้คุยกับคนจีนและชาวต่างชาติ​ในอุตสาหกรรม​รถยนต์​ของจีนโดยตรง หลายๆคน ยืนยันความจริงที่ฉันรับรู้​มาตลอด…

เศรษฐกิจ​จีน จากปากของคนในประเทศ​เขาเองตอนนี้ แย่มากๆ คนตกงานเพียบ เริ่มประหยัดมัธยัสถ์​ ไม่ค่อยใช้จ่าย อย่าง​ที่ทุกคนรู้ดีว่ามันก็มีปัจจัย​จากหลายด้าน โดยเฉพาะ​ภาคอสังหา​ ที่มีการประกาศล้มละลายของ 3 บริษัท​ยักษ์​ใหญ่​ต่อเนื่อง​กันมา

จริงอยู่​ว่า พฤษภ​าคมที่ผ่านมา เราเพิ่งกลับจากจีน เราเห็นสัดส่วนรถจีน บนท้องถนน ทั้งใน เซี่ยงไฮ้ และเมืองรองๆ เยอะขึ้นมาก เมื่อเทียบ​กับรถญี่ปุ่น​ ยุโรป อเมริกา​ ที่เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้​ก็เพราะรถจีน แข่งขันกันสูง เลยต้องดัมพ์​ราคาขายแข่งกัน จนถึงขั้น Tesla ก็ต้องทำกับเขาด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้น​ของหายนะ… ของทุกคน

ปี 2018 จำนวนแบรนด์รถจีน มีกว่า 400 ราย มาวันนี้​ หายไปเหลือแค่ 100 กว่าราย และมันจะค่อยๆน้อยลงไปเรื่อยๆอีก ถ้ารายไหนสายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องเจ๊งไป มันคือสถานการณ์​เหมือนธุรกิจ​รถยนต์​ในสหรัฐ​อเมริกา​ หลังเกิดวิกฤติ​ตลาดหุ้น ปี 1927 ชัดๆ จำนวนบริษัท​มากมาย ทะยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้​ ในจีน มีเพียง BYD, Li Auto และอีก 1-2 รายเท่านั่น ที่มีกำไร นอกนั้น อยู่​ในสภาพ “อ่วม” และ “น่วม” ขนาด Zeekr แบรนด์​ในเครือ Geely ที่มีทุนหนา ก็ยัง “ตาเหลือกตาถลน” กันเลย

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

รัฐบาล​จีน มองว่า สถานการณ์​แบบนี้ สภาพเศรษฐกิจ​แบบนี้ ถ้าผู้ผลิตชาวจีน จะสู้ต่อในประเทศ​ อาจไม่ไหวจนถึง​ขั้นเจ๊ง ก็เป็นได้ และอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ​ในภาพรวมมากกว่านี้ รัฐบาล​จีน จึงยอม ให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ อย่าง Changan GAC ขยายการลงทุน​มาเมืองไทย เพราะหวังจะให้ไทย เป็น Hub อุตสาหกรรม​รถยนต์​ไฟฟ้าของจีน ใน การขยายตลาดมายัง ASEAN นั่นเอง… พูดง่ายๆคือ เป็นวิธีหนีตาย จากการแข่งขัน​ที่รุนแรงในบ้านเกิดตัวเองด้วยนั่นแหละ!

นี่คือตัวอย่าง​ของการทำธุรกิจ​ โดยเน้นแต่จะทำสงครามราคา เหมือน​อย่างที่เราเคยเรียนรู้​กันมาตลอด เมื่อต้นทุน​การพัฒนา​แบ็ตเตอรี และตัวรถ เพิ่มขึ้น​เรื่อยๆ ผู้บริหารก็มองแค่ว่าจะขายรถยังไงให้เพิ่มขึ้น​ สุดท้าย ก็ลดราคา ทำกันทุกเจ้า ปริมาณ​รถแบรนด์​จีนบนถนนเมืองจีนเลยเพิ่มขึ้นไง แต่กำไรต่อคัน ลดลงหมด แม้แต่ Tesla ก็ด้วย

เริ่มรู้ซึ้งแล้วใช่ไหมว่า ธุรกิจรถยนต์​หนะ มันไม่ง่าย… หาใช่นึกแต่จะทำอะไรชุ่ยๆออกมาขายแล้วคนจะแห่ซื้อ ไม่เลย ไม่เป็น​เช่นนั้น

ปัญหา​ต่อมา คนไทยเราสมัยนี้ วิธีคิดเปลี่ยนไปเยอะ (เฉพาะคนในหัวเมืองใหญ่​ๆ หรือยู่​ใกล้ความเจริญ)​ คนที่เข้าถึงสื่อได้เยอะขึ้น ความรู้​เยอะขึ้น แต่ความผูกพันกับแบรนด์​ลดลง อาจเพราะเบื่อหน่ายความจำเจเดิมในวิธีทำตลาดของผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น​ ยุโรป และอเมริกัน ก็เลยหันไปอยากลองของใหม่ จากจีนดู เห็นว่า รถสวย ราคาดี ออพชันล้ำๆครบๆ ดูสมราคาที่จ่าย ไม่เหมือนรถญี่ปุ่น​ที่ คนบางกลุ่มมองว่า กั๊กออพชัน เอากำไรเยอะ รถจีน เลยเริ่มได้พื้นที่​ทั้งบนถนนในไทยและในใจผู้บริโภค​บ้านเราไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ

ญี่ปุ่น​ ปรับตัวช้า เห็นปรากฏการณ์​ดังกล่าวแล้ว และผู้บริหารชาวญี่ปุ่น​ทุกค่าย กำลังตกใจอยู่​ว่า มันเกิดอะไร​ขึ้น​กับเมืองไทย เราได้แต่บอกว่า ถ้าญี่ปุ่น​ยังคิดช้า ปรับตัวช้า ลงมือช้า ไปกว่านี้ ต่อให้มีจุดเด่นเรื่องความละเอียดถ้วนถี่ ก่อนเดินหน้าทำอะไรทุกอย่าง​ มันจะช้าเกินจีน ซึ่ง​ มักมีนิสัย ปุ๊บปั๊บ​ทำเลย แล้วค่อยไปแก้ปัญหา​เอาดาบหน้า หรือไม่ก็ซุกพรมกันไปเงียบๆ มันเป็นเรื่องความแตกต่าง​ในวัฒนธรรม​และวิธีคิดของชนชาติขัดๆ!

กระนั้น ความน่ากังวลของจีนก็คือ ถ้าธุรกิจ​ไปไม่รอด ญี่ปุ่น​ จะพยายามหาทางประคับประคอง​ให้มันรอดให้ได้จนกว่าเลือดบูชิโดหยดสุดท้ายจะถูกเค้นออกมา อเมริกัน​ ทำงาน วางแผน 3 ปี รอดก็ไปต่อ ถ้าไม่รอด ก็ถอนตัว​ออกอย่าง GM Chevrolet แต่ยังเผื่อระยะเวลาให้ปรับตัว และมีแผนรองรับ Soft landing กับทุกฝ่าย แต่จีน… ถ้าจะเลิก คือเลิกเลย ไม่แคร์​สี่แคร์แปดใดๆทั้งสิ้น!

เพราะจีนเอง เวลาขายรถที่นั่น เขาไม่สนใจเรื่องบริการ​หลังการขายกันเลย วิธีใช้รถของคนจีน คือมองว่าเป็น “just a tools” เป็นแค่ของใช้ชิ้นหนึ่งในชีวิตประจำวัน​ พังก็ทิ้ง ซื้อใหม่ แต่เรื่องหน้าตาทางสังคม​ในหมู่บริวารญาติมิตร ต้องมาก่อน รถตอนซื้อต้องดูแกรนด์​ แต่พอซื้อแล้ว ใช้ไปแบบไม่ค่อยดูแล ไม่ทะนุถนอม บริการหลังการขาย จึงเป็นเรื่องที่ถูกละเลย ในสายตาชาวจีนส่วนใหญ่​ทั่วไป (ที่ไม่ได้ซวยจนเจอรถมี defect)

วิธีคิดแบบนี้ เลยลามมาถึงเมืองไทยด้วย ทุกครั้งที่ผู้บริหารคนจีนจากทุกค่าย ให้สัมภาษ​ณ์สื่อ ก็จะมีแต่ คำว่า “เราจะมีรถใหม่เข้ามา เราจะลงทุนตั้งโรงงาน​ในไทย เราจะขยายตัวแทนจำหน่าย​ในไทย” แต่พอถามถึง​แผนเรื่องบริการ​หลังการขาย มีแต่ตอบอ้ำๆอึ้งๆ เพราะพวกเขาไม่คิดมาก่อนไงว่า บริการ​หลังการขาย และความเชื่อมั่น​ในแบรนด์​คือสิ่งสำคัญ​ที่สุดในการทำธุรกิจ​รถยนต์​ในประเทศ​ไทย ซ้ำร้าย ผู้ผลิตบางราย อย่าง GAC ยังจะเอาโมเดลการตลาดแบบแปลกๆ มาใช้กับเมืองไทย และวิธีทำตลาดแบบที่พยายามคิดว่า จะเอาใจคนไทย แบบนี่แหละคนไทยน่าจะชอบ แต่พอออกมาจริง คนไทยพากันร้องยี้ เบือนหน้า​หนี และกลายเป็นดับอนาถตั้งแต่เปิดตัว ข่าวร้ายยิ่งกว่าคือ ในอนาคต แบรนด์​จีนที่จะเข้ามาบ้านเราหลังจากนี้ ก็มีแนวโน้ม​ไม่ฟังคนไทย และจะเปิดตลาดบ้านเราด้วยวิธีคล้ายๆกัน…

ยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าคนจีนจะเข้าใจอย่าง​ถ่องแท้ ว่าลูกค้าชาวไทย ไม่ใช่ “เซียมตือ” (หมูสยาม)​ อย่าง​ที่คิด ทั้งหมดที่เล่ามานี้ สิ่งที่ผมอยากจะบอก คือ

  1. สภาพเศรษฐกิจ​จีนตอนนี้ หนักหนากว่าที่เห็นในข่าว และแบรนด์​รถจีน ต่างบาดเจ็บสาหัส​จากการแข่งกันดัมพ์​ราคาในบ้านตัวเองช่วงที่ผ่านมา
  2. การแห่มาลงทุน​ในไทย ส่วนหนึ่ง​ก็เพราะ ต้องเอาตัวรอด รักษา​บริษัท​ให้ยังอยู่รอด รัฐบาล​จีนเลยยอมให้ขยายการลงทุน​มาไทย แต่จะคุ้มหรือไม่ ผลลัพธ์​อาจไม่คุ้มกับทุกฝ่ายอย่างที่คิด
  3. ถ้าจีนเจ้าไหนอยากจะรอดในเมืองไทย อย่าทำอย่าง MG หรือ GWM แต่ให้ดู คุณพกและ BYD เป็นตัวอย่าง
  4. ญี่ปุ่น​ต้องคิดเยอะเหมือนเดิม แต่ต้องคิดและลงมือทำให้ไวกว่านี้ มิเช่นนั้น จะไม่รอด เพราะจาก Preview Lineup ของทุกค่ายที่จะโชว์​ใน Japan Mobility Show สัปดาห์​หน้า บอกเลยว่า “ยังไม่เพียงพอ”
  5. 5.จะค้าขายอะไร อย่าแข่งกันตัดราคา ไม่งั้น พังกันทั้งอุตสาหกรรม​รวมทั้งตัวคุณเอง

ตามนี้ครับ

——————————-//——————————-