เดือนมีนาคม 1990 สุโกศล มาสด้า (Sukhosol Mazda) ผู้จำหน่าย รถยนต์ สร้างความฮือฮา ให้กับลูกค้าและผู้บริโภคแดนสยาม ด้วยการเปิดตัวรถยนต์ Mazda 323 ASTINA ในประเทศไทย กลางงาน Bangkok International Motor Show ควบคู่กับ Mazda 323 รุ่น Sedan 4 ประตู

แม้ว่า 323 ASTINA เวอร์ชันไทย จะมีเพียงรุ่นย่อยเดียว และมีราคาขายถึง 720,000 บาท แต่ด้วยจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะจาก เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร 140 แรงม้า (PS) บวกกับช่วงล่างสไตล์รถขับสนุกแบบที่ Mazda เป็นมาตลอด แถมยังมีรูปลักษณ์ ที่สามารถใช้คำว่า “โฉบเฉี่ยว” ได้อย่างเต็มปาก อีกทั้งยังมีไฟหน้า Pop-up เป็นรายแรก และรายเดียว ในประวัติศาสตร์ รถยนต์นั่งพิกัด C-Segment ประกอบในประเทศไทย ทำให้ 323 ASTINA กลายเป็นรถยนต์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงเป็นอันมาก ขายดิบขายดี ใครซื้อมาขับ รับรองว่า โดนมองจนเหลียวหลัง จากเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน และคนทั้งป้ายรถเมล์

ท่ามกลางความสำเร็จของ Famila/323 Astina ในเมืองไทย เชื่อเถอะว่า ยังมีนักเลงรถสายลึกอีกจำนวนมาก ที่ไม่เคยรู้เลยว่า ก่อนหน้าการมาถึงของ Astina นั้น Mazda เคยทดลองนำรถยนต์รุ่นหนึ่ง ออกสู่ตลาด เพื่อชิมลางในตลาดญี่ปุ่น ด้วยแนวคิดใหม่ “สร้างความแตกต่าง ด้วยความสบายๆ”

เรื่องตลกก็คือ แม้แต่คนของ Mazda จำนวนมาก ทั่วโลก ก็ยังไม่รู้มาก่อนเลยว่า มันมีรถยนต์รุ่นนี้อยู่บนโลกด้วยเหรอ? เพราะมันไม่ใช่รถที่โด่งดัง แถมยังขายไม่ออกในตลาดบ้านเกิดตัวเองด้วยซ้ำ และต้องม้วนเสื่อกลับไปหลังออกจำหน่ายได้เพียงแค่ 2 ปี เท่านั้น!

ชื่อของรถคันนี้คือ Mazda Étude (อ่านว่า เอ-จูด)

อย่าอ่านว่า “อี ตูด” นะครับ นั่นดูเลวร้ายไปหน่อย!

ทศวรรษที่ 1980 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ชาวญี่ปุ่น นอกจากจะสยายปีก ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วยแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ ทุกค่าย เปิดศึกห้ำหั่นกันในตลาดบ้านตัวเองกันสุดๆ ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งการนำระบบอัดอากาศ Turbocharger มาใช้ในรถยนต์ตั้งแต่รุ่นแพงสุดยันรุ่นถูกสุด เริ่มใส่ระบบหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ แทนที่คาร์บิวเรเตอร์แบบดั้งเดิม เพิ่มระบบควบคุมการทำงานของตัวรถในด้านต่างๆ ด้วย Micro Processor หรือ Computer ไปจนถึงการใช้วัสดุที่ดีขึ้น ก้าวล้ำมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มความหรูหราพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกรูปแบบใหม่ๆ ให้กับตัวรถ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับตลาดกลุ่ม C-Segment Compact Class นั้น ในขณะที่เจ้าตลาดอย่าง Toyota Corolla มีฝาแฝดชื่อ Toyota Sprinter ส่วนคู่รักคู่แค้นอย่าง Nissan มี Sunny/Sentra B12 รวมทั้งรุ่น Coupe อย่าง RZ-1 และ รุ่น Hatchback ท้ายตัด 303 กับ 305 ก็ยังมีฝาแฝดคือ ตระกูล Nissan Pulsar ข้ามไปดูย่าน Aoyama ฝั่ง Honda มีฝาแฝด ของ Civic ในชื่อ Ballade พร้อมตัวถัง Coupe ในชื่อ Ballade Sport CR-X แม้แต่ Mitsubishi Motors ซึ่งมี Lancer อยู่แล้ว ก็ยังมี Mirage Cyborg ออกมาแข่งกับเขาด้วย

ชาว Hiroshima อย่าง Mazda นอกจาก Familia 323 แล้ว ณ ตอนนี้ พวกเขาไม่มีรถยนต์รุ่นอื่นเลย หากเป็นปลายทศวรรษ 1970 ยังพอมี Mazda Savanna RX-3 กับ 808 ไว้เอาใจลูกค้าสายครอบครัว ที่ต้องการความแตกต่างจาก Familia 323 GLC ขับล้อหลังรุ่นสุดท้ายอยู่บ้าง แต่ ณ ปี 1985 – 1987 พวกเขา มีแค่ Familia / 323 Sedan Hatchback 3 กับ 5 ประตู Station Wagon และ เปิดประทุน Cabriolet (ครับ อ่านไม่ผิด มีจริงๆ!!)

เท่ากับว่า Mazda ในตอนนั้น ไม่มีรถยนต์ ที่จะทำตลาดแทรกกลางระหว่าง Familia / 323 และ Capella / 626 เลย ซึ่งออกจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่จะต้องพลาดการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่ม C-Segment ไป แน่นอนว่า Mazda เอง ก็ตัดสินใจว่า Generation ต่อไปของ Familia พวกเขาจะต้องสร้างความแตกต่าง ในตลาด ด้วยการซุ่มพัฒนา Mazda Familia ASTINA ออกมาให้ได้

ระหว่างนั้น ก่อนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1989 อันเป็นช่วงเวลาที่ Familia 323 ใหม่ และ ASTINA จะพร้อมเปิดตัว ยังเหลือเวลาอีกหลายปี Mazda จะทำอย่างไร?

คำตอบก็คือ พวกเขา ตัดสินใจ สร้างรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง เป็นตัวถัง Hatchback 3 ประตู บนโครงสร้างวิศวกรรม BF Platform รวมทั้งเครื่องยนต์กลไก ระบบส่งกำลัง ระบบพวงมาลัย ช่วงล่าง และระบบห้ามล้อ จาก Mazda Familia / 323 รุ่นปี 1985 นั่นแหละ แต่มีการออกแบบเปลือกตัวถังภายนอกใหม่ทั้งหมด จนไม่สามารถถอดสลับสับเปลี่ยนกับ Familia Hatchback เดิม ได้เลย แม้แต่ชิ้นเดียว

ตำแหน่งทางการตลาดของรถยนต์รุ่นใหม่ ถูกวางไว้ให้เป็น Personal Coupe เป็นรถยนต์สำหรับผู้หญิง หรือผู้ชาย วัย 25 – 26 ปี ที่โสด หรือเพิ่งมีแฟน แต่ยังไม่มีครอบครัว มีรสนิยมแบบ Sensible People ต้องการรถยนต์ที่มีงานออกแบบแตกต่าง ดู Premium ขึ้น เพื่อขับขี่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และมองว่า “รถยนต์ ก็เป็น Fashion อีกรูปแบบหนึ่ง” ได้เช่นกัน ดังนั้น การปรับจูนต่างๆ จะเน้นความนุ่มนวลกว่า Mazda รุ่นปกติทั่วไปซึ่งเน้นบุคลิกการขับขี่แบบ Sport แบบรถยุโรป มาแต่ไหนแต่ไร

และนั่นคือที่มาของ Mazda Étude ซึ่งมีชื่อรุ่น เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “การศึกษา”

Mazda Étude ถูกเปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 1987 มีเฉพาะตัวถัง Hatchback 3 ประตู เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี และทำตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ตัวรถมีความยาว 4,105 มิลลิเมตร กว้าง 1,645 มิลลิเมตร สูง 1,355 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,400 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า 1,390 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง 1,415 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นใต้ท้องรถ จนถึงพื้นถนน Ground Clearance 150 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า มีตั้งแต่ 920 – 950 กิโลกรัม

แนวคิดในการพัฒนารถคันนี้ ก็คือ ความพยายามในการนำความหรูหรา Premium แบบ Personal Specialty Car ในรถยนต์รุ่นใหญ่กว่า ทั้งจาก Mazda Cosmo 2nd Generation ไปจนถึง Mazda Capella / 626 Coupe 2 ประตู และ Mazda Savanna RX-7 FC ปี 1985 มาดัดแปลง และติดตั้งเข้าไปในรถยนต์ ขนาดตัวถัง เท่ากับ Familia / 323 Hatchback 3 ประตู

จุดเด่นบนเรือนร่างของ etude ที่แตกต่างจาก Familia 323 ในยุคเดียวกัน มีทั้งชุดไฟหน้าแบบ Halogen ทรงเรียว พร้อมไฟตัดหมอกสีเหลือง ติดตั้งเชื่อมต่อกันกับกระจังหน้าสไตล์เรียบหรู ซึ่งต่างจากรถยนต์ทั่วไปที่มักแยกไฟตัดหมอกไปไว้ที่เปลือกกันชนหน้าด้านล่าง ประการต่อมา คือ การออกแบบให้ กระจกหน้าต่างคู่หลัง เชื่อมต่อกันเป็นแนวเดียวกับ กระจกบังลมหลัง และซ่อนเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar เอาไว้ด้านหลังบานกระจกทั้ง 3 ชิ้น ในลักษณะที่เรียกว่า Wrap Around ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบที่ผู้ผลิตรถยนต์ในยุคนั้น เริ่มมาใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Toyota Celica ขับเคลื่อนล้อหน้า ไฟหน้า Pop-up ปี 1985 ไปจนถึง Oldsmobile Cutlass Supreme ในปี 1988

ขณะเดียวกัน งานออกแบบฝาท้าย เป็นแบบ Terrace Back คือ มีตูดเป็ด ยื่นออกมาเป็นระเบียงเล็กๆ ทำหน้าที่เป็นสปอยเลอร์ด้านหลังขนาดเล็กในตัว สำหรับจัดการกับกระแสลมหมุนเวียนด้านท้ายรถ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติกับรถยนต์ท้ายตัด Hatchback

โดยรวมแล้ว รูปลักษณ์ภายนอกของ etude ดูเรียบง่าย สะอาดตาและมีเส้นสายไม่รกรุงรัง แต่ในทางกลับกัน เส้นสายของ Étude กลับไม่ได้ให้ความรู้สึกหวือหวา สดใหม่ หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ทีมออกแบบของ Mazda เอง มักนำเสนองานรังสรรค์เส้นสายตัวรถที่มี “สไตล์ละเอียดอ่อนแต่มีความสวยงามซ่อนอยู่” นั่นอาจเป็นสิ่งที่ Mazda ต้องการตั้งแต่แรกเริ่ม

ขณะที่ภายนอกดูเรียบง่าย และแปลกตาไปจาก Familia รุ่นปกติ ทว่า ภายในห้องโดยสาร กลับดูไม่แตกต่างจาก Familia มากนัก แม้ว่า Theme การออกแบบของ etude คือ “พื้นที่ส่วนตัวที่กว้างขวางและเพียบพร้อม” ก็ตาม

แผงหน้าปัด Dashboard ดูคล้ายกับจะยกมาจาก Familia 1985 ทั้งยวง แต่ถ้าพินิจดูดีๆ จะพบว่า งานออกแบบแผงควบคุมตรงกลาง ถึงจะวางตำแหน่งช่องแอร์ สวิตช์เครื่องปรับอากาศ ลิ้นชักเขี่ยบุหรี่ และอุปกรณ์อื่นๆ เหมือนกันเป๊ะ แต่งานออกแบบมีความแตกต่างกัน พื้นผิวของแผงหน้าปัดครึ่งท่อนบน จะคลุมด้วยวัสดุผ้า มาในสไตล์ เรียบง่าย ติด Sport และดู Hi-Tech เมื่อเทียบกับยุคสมัยของตัวรถ เพดานหลังคา ก็บุด้วยผ้าแทนการใช้แผงวีนีลขึงยาวๆ

เบาะนั่งคู่หน้า แตกต่างกันตามแต่ละรุ่นย่อย หากเป็นรุ่น Li กับ Si จะเป็นเบาะนั่ง Bucket Seat แบบปกติ คล้ายกับ Familia 323 เวอร์ชันไทย (รุ่น หน้าปัด จอ Redar ปี 1986) และมีโทนสีของผ้าหุ้มเบาะ ตัดสลับกับหนังสังเคราะห์ ให้เลือกดังในภาพประกอบด้านล่างสุดของบทความนี้ ส่วนรุ่น Gi อันเป็นรุ่น Top of the Line จะถูก Upgrade มาเป็นเบาะนั่งทรง Sport Bucket Seat หุ้มด้วยผ้าสีดำ ตัดสลับกับสีเทาอ่อน ผ้าลายเดียวกันนี้ยังถูกนำไปบุแผงประตูด้านข้าง และแผงพลาสติกสำหรับพนักวางแขนผู้โดยสารด้านหลังอีกด้วย

พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อเนื่องกัน ในลักษณะ Wrap Around เพื่อให้สอดดรับกับรูปลักษณ์ของท้ายรถ เบาะนั่งด้านหลังถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานของผู้โดยสาร 2 คนได้สบายๆ (แต่ถ้า 3 คน อาจจะต้องนั่งเบียดกันสักหน่อย) ตัวพนักพิงหลัง แบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 ในลักษณะแบนราบ เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บขอบด้านหลังรถ

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เด่นๆ ได้แก่ หลังคา Sunroof แบบ ยกขึ้น Tilt-up และเลื่อนไปทางด้านหลังได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า (หลังคาด้านบน ไม่ใช่กระจก เป็นแผ่นเหล็กสีเดียวกับตัวรถ) พวงมาลัย 3 ก้าน ทรงคล้ายกับพวงมาลัยแบบ Sport ของ MOMO พร้อมระบบผ่อนแรง Power Steering และปรับระดับสูง-ต่ำได้ (หรือถ้าอยากได้พวงมาลัยแบบ Sport 4 ก้าน จาก MOMO แท้ๆ รุ่น Olympic ทาง Mazda ก็มีให้เลือกสั่งซื้อเป็น Option พิเศษ) , กระจกหน้าต่างไฟฟ้า Power Windows , กระจกมองข้างปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และระบบล็อกประตู Power Door Lock (Central Lock) ทั้ง 2 ฝั่ง เสาอากาศไฟฟ้า Power Antenna , วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น Cassette Tape จาก ALPINE

นอกจากนี้ รุ่นย่อย Top อย่าง Gi จะเพิ่มความพิเศษด้วย ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Auto Speed Control (ปัจจุบัน คือ Cruise Control แต่ในยุคนั้น ระบบนี้ของ Mazda จะทำงานเฉพาะช่วงความเร็วตั้งแต่ 40-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น) และ ก้านยกปรับระดับเบาะคนขับ สูง-ต่ำ Seat Lifter ซึ่งอุปกรณ์มาตรฐานทั้งหมดนี้ ถือว่า Mazda จัดเต็มให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นพอสมควร แม้แต่รถญี่ปุ่นในพิกัดเดียวกัน ช่วงยุคปี 1985 – 1990 รุ่นอื่นๆ ก็มักจะติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่น Top of the line เท่านั้น

ช่วงแรกที่เปิดตัว Mazda etude มีขุมพลังมีให้เลือก เพียงแบบเดียว เท่านั้น โดยเป็นเครื่องยนต์ ที่ยกมาจาก Mazda Famila / 323 เวอร์ชันญี่ปุ่น อยู่แล้ว นั่นคือ เครื่องยนต์ รหัส B6D เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.4 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EGI (Electronic Gasoline Injection) พร้อมระบบปรับความตึงสายพาน Direct HLS (Hydraulic Lash Adjuster) ระบบ VICS (Variable Inertia Charging System) รวมทั้งยังมีระบบ ISC (Idle Speed Control)

กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า เพียงอย่างเดียว แต่เลือกระบบส่งกำลังได้ ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง แบบ Hydraulic รัศมีวงเลี้ยว 4.7 เมตร ด้านระบบกันสะเทือน ด้านหน้า และด้านหลัง เป็นแบบ Strut ทั้ง 4 ล้อ พร้อมช็อกอัพ แบบ SS : Self Stabilizing มีการออกแบบและปรับปรุง ปีกนกตัวล่าง Low Arm เพื่อเน้นการเข้าโค้งที่เป็นกลางมากที่สุด แต่ยังคงความนุ่มสบายในการขับขี่ไว้

ด้านระบบห้ามล้อ ติดตั้ง Disc Brake มาให้ทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า มีครีบระบายความร้อน Ventilated Front Disc Brake ถือว่า ให้ข้าวของสเป็กดีมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ญี่ปุ่นพิกัด C-Segment ในยุคเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ ต่อให้เป็นรถยนต์สำหรับตลาดบ้านเกิดตัวเอง ก็ยังให้มาแค่ ดิสก์เบรกคู่หน้า ดรัมเบรกคู่หลัง กันทั้งนั้น

Mazda Étude มีให้เลือก 3 ระดับการตกแต่ง รวม 6 รุ่นย่อย คือ Li, Si และ Gi โดยเริ่มจากต่ำสุด Li เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ราคาอยู่ที่ 1,380,000 Yen จนถึง 1,654,000 Yen ในรุ่น Gi เกียร์อัตโนมัติ ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่างแต่ละเกรดคืออุปกรณ์ ซึ่งก็ต่างันไม่มากนัก กระนั้น Mazda ตั้งใจใส่ข้าวของมาให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นมาก ถึงขนาดยอมติดตั้ง พวงมาลัย Power และกระจกไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แม้จะเป็นรุ่น Li ที่มีราคาถูกสุดก็ตาม

ช่วงแรกที่ออกสู่ตลาด etude มีสีตัวถังให้เลือก 6 สี เริ่มจากสี ขาว Noble White ตัดกับ Langcaster Silver Metallic เป็น Two-tone  อันเป็นสีโปรโมท ที่ใช้ในงานโฆษณา กับสี Prestige Silver Metallic ตัดกับ Langcaster Silver Metallic แบบ Two-Tone สีขาว Noble White เพียวๆ สีเงิน Fine Silver Metallic สีดำ Super clean Black Metallic และสีแดง Sunday Red

ภาพยนตร์โฆษณา ในญี่ปุ่น ช่วงเดือนมกราคม 1987 – มีนาคม 1988

งานโฆษณาของ Mazda Étude ในญี่ปุ่น นั้น ทีมงานยกโขยง บินไปถ่ายทำกันที่สหรัฐอเมริกา โดยทั้งภาพยนตร์โฆษณา ทางโทรทัศน์ ภาพโปสเตอร์โฆษณา ไปจนถึง Print Ad. สำหรับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แค็ตตาล็อก และ บัตรโทรศัพท์ ถูกกำหนดให้นำเสนอออกมาในทิศทางเดียวกัน คือนำเสนอตัวรถ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต หญิงสาวโสดที่มีความมั่นใจในตนเองสูง เป็นคนคิดเยอะ อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และต้องการความแตกต่างในทุกรายละเอียด

ดังนั้น สโลแกน ของการโฆษณารถยนต์รุ่นนี้ นั่นคือ คำว่า “URBAN TUNED” ซึ่งเป็นการนำเสนอว่า รถยนต์คันนี้ ถูกปรับจูน มาเพื่อรองรับกับชีวิตคนเมือง ใช้งานในเมือง เป็นหลัก สอดคล้องกับการเลือกใช้ เพลงประกอบภาพยนตร์โฆษณา ชื่อเพลง On the beach เป็นผลงานของศิลปินชื่อดังอย่าง Chris Rea (เกร็ดความรู้เล็กน้อยก็คือ เพลงนี้ เคยถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์โฆษณา ห้าง ATM สรรพสินค้าผ้า ย่านพาหุรัด ในเมืองไทย เมื่อช่วงปี 1989 – 1990 อีกด้วย)

 

ปฏิกิริยาจากสื่อมวลชนในญี่ปุ่น สมัยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มกันที่ นิตยสาร Car Graphic ฉบับเดือนเมษายน 1987 สรุปไว้ดังนี้

“เครื่องยนต์ทำงานอย่างราบรื่น ต่อเนื่องจนถึงขีด Red Line บนมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ที่ 7000 รอบ/นาที และการเข้าเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ นั้นเหมาะสมทั้งในเมือง และบนเนินเขา อย่างไรก็ตาม เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ยังมีความล่าช้าบ้างตอนออกตัวและมีเสียงรบกวนมาก ดังนั้นผมจึงอาจจะผิดหวังแม้ว่าจะมีความคาดหวังสูงก็ตาม การเซ็ตช่วงล่างที่นุ่มนวลกว่า Mazda Familia Sport 16 (ญาติผู้พี่ร่วม Platform เดียวกัน) นั้น เป็นข้อดีอีกประการหนึ่ง เพราะช่วยให้การตอบสนองนุ่มนวลขึ้น เมื่อต้องขับรถลัดเลาะไปตามแนวถนนที่คดเคี้ยวของฮาโกเน่ (Hagone) ไม่เพียง แต่จะไม่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเท่านั้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นสูงและช่วยให้คุณเพลิดเพลินกับการเข้าโค้งในตำแหน่งบังคับเลี้ยวที่เกือบจะเป็นกลาง”

ขณะเดียวกัน นิตยสาร NAVI ฉบับเดือนมีนาคม 1987 กล่าวว่า

“รูปลักษณ์ภายนอกนั้น ถึงแม้ว่าตัวรถจะถูกออกแบบให้กระจกหน้าต่าง มีลักษณะ Wrap Around ซ่อนเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ไว้ด้านหลัง เพื่อให้รูปลักษณ์ของรถดูสวยงามกลมกลืน แต่ก็ยังดูเหมือนกับ Mazda Familia ปี 1985 อย่างชัดเจนเมื่อมองจากด้านหน้ารถ กระนั้น เป้าหมายของ Mazda คือการทำให้มันดูเหมือน Familia เมื่อมองจากด้านหน้า แต่เมื่อคุณขับผ่านไป คุณจะพบว่า งานออกแบบบั้นท้าย มันทำให้ตัวรถแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง!”

“หาก Familia เป็นรถยนต์ ที่เหมาะกับการไปเล่น Surfboard กับเพื่อนๆ etude ก็เป็นรถยนต์ซึ่งเหมาะกับ คนที่ทำงานเป็น บรรณาธิการนิตยสาร ที่อาศัยอยู่ในเมือง อยากจะขับเล่นใช้งานไปรอบๆ ตั้งแต่หัวค่ำถึงกลางดึก อาจดูเป็นรถที่หลบๆ ซ่อนๆ บ้าง เมื่อเราดูการเจริญเติบโตของสังคมรถยนต์ก็น่าสนใจที่จะเห็นว่า etude จะได้รับการยอมรับจากตลาดหรือไม่”

ถึงแม้จะให้อุปกรณ์ มาค่อนข้างดี ตัวรถดูสวยงามเรียบๆ มีลูกเล่นในงานออกแบบอยู่พอสมควร ทว่า ยอดขายกลับทำได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร Mazda ตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้ที่ระดับ 2,000 คัน/เดือน ทว่า ตลอดอายุตลาด 11 เดือน ในปี 1987 Mazda ผลิตและส่งมอบ Étude ไปได้เพียงแค่ 6,000 คัน เท่านั้น จากผลวิจัยตลาด พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ อยากได้เครื่องยนต์ที่เล็กลงมา พละกำลังไม่ต้องมานัก เพราะไม่ได้ขับรถเร็ว แต่ควรมีอุปกรณ์มาตรฐาน เยอะมากพอกับรุ่นรอง Top อย่าง Si ในราคาที่สมเหตุสมผลขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้แผนการทำตลาดจากเดิม ที่จะมีแต่รุ่นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี เท่านั้น ไม่น่าจะเพียงพออีกต่อไป ดูเหมือนว่า Mazda จำเป็นต้องกระตุ้นตลาด สักครั้ง เพื่อหวังจะทำยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกสักหน่อย

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1988 Mazda ส่งรุ่นย่อยใหม่ “Mazda Étude 1500 Sa” ออกสู่ตลาด ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ เทียบเท่ากับรุ่น Si เพียงแต่ว่า เปลี่ยนจากล้ออัลลอย มาเป็นกระทะล้อเหล็ก ขนาด 5J x 13 นิ้ว สวมด้วยยางขนาด 175/70 R13 พร้อมฝาครอบกระทะล้อแบบเต็มวง

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสีตัวถังใหม่ อีก 2 เฉด ได้แก่ สีน้ำเงินเข้ม และ สีเหลือง Bean Yellow ตัดกับสีเทา Langcaster Silver เป็น Two-tone เป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าที่อยากได้ความฉูดฉาดเพิ่มเติม

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้ทำราคาขายได้ถูกลง และง่ายต่อการเป็นเจ้าของมากขึ้น รุ่น Sa ยังเป็นรุ่นเดียว ที่จะถูกติดตั้งขุมพลังทางเลือกใหม่ เป็นเครื่องยนต์ รหัส B5 เบนซิน 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย Caburator พร้อมระบบ DICS (Dual Induction Control System) ที่มีกำลังลดลงเหลือ 76 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าพียงอย่างเดียว แต่เลือกระบบส่งกำลังได้ ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ นอกนั้น ระบบพวงมาลัย ช่วงล่าง SS-Sus และระบบห้ามล้อ เหมือนรุ่น 1,600 ซีซี ทุกประการ

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นตลาดด้วยรุ่น 1500 Sa ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างที่คิดเลย แถมยอดขายตลอดทั้งปี 1988 ก็ลดลงเหลือเพียง 3,000 คันเท่านั้น และนั่นทำให้ Mazda ตัดสินใจ ยุติบทบาท และการผลิตของ etude ลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 1989 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ การเผยโฉมของ Mazda Familia / 323 รุ่นใหม่ ทั้ง Sedan , Hatchback 3 ประตู และ Hatchback 5 ประตู “ASTINA” ออกมาพร้อมๆกัน

เท่ากับว่า หากนับรวม รถยนต์ที่มีอายุตลาดสั้นที่สุด และขายไม่ดี อย่าง Mazda Roadpacer AP แล้ว Étude กลายเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ของ Mazda รุ่นที่ 2 ในรอบ 13 ปี (นับถึงขณะนั้น) ที่มีอายุตลาดเพียงแค่ 2 ปี ก็ต้องถอนตัว ออกจากโชว์รูมไป ทั้งที่ยอดขายในภาพรวม ไม่ถึง 10,000 คันด้วยซ้ำ!

เหตุผลที่ทำให้ Étude ไม่ประสบความสำเร็จนั้น Akira Tanuma นักเขียนจากนิตยสารรถยนต์ NAVI ในญี่ปุ่น ให้คำจำกัดความไว้ว่า “แม้ว่าตัวรถจะดู น่ารัก และมีความเท่ อยู่บ้าง แต่ Etude ก็ดูธรรมดา เรียบๆเกินไป จริงอยู่ว่า “ความสบายๆ เป็นแบบสุภาพและเท่” เราพอจะเข้าใจได้ในทางทฤษฎี แต่สุดท้ายแล้ว รถคันนี้ มันดู “สบายๆ เกินไปหน่อย” ไม่ได้ดูโฉบเฉี่ยว หวือหวา น่าค้นหา และเข้าถึงลูกค้าได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ก่อนจะถูกกลืนหายไปจากตลาด แม้ว่าตัวรถจะถูกรังสรรค์ให้ดูร่วมสมัย (ในยุคนั้น) แต่ในสายตาของผู้บริโภค มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนจากกางเกงยีนส์ มาเป็น กางเกง Chino” (แบบที่มีขายใน Uniqlo – ผู้เขียน)

หลังจากยุติบทบาทไป Mazda ยังคงนำชื่อ Étude ไปใช้กับ Mazda 323 สำหรับตลาด South Africa อีกหลายปี ก่อนที่ชื่อนี้จะค่อยๆเลือนหายลับไปกับกาลเวลา

————————–///—————————-

J!MMY Thanesniratsai
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด มาจาก Catalog
โดย Mazda Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
28 กุมภาพันธ์ 2024

Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
February 28th,2024