โลโก้ของ Neta Auto ที่สำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ถูกถอดออกในช่วงกลางดึก สร้างความสงสัยในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเผยภาพคนงานใช้เชือกและเครื่องมือขูดรื้อโลโก้ออกจากตึก จนเหลือเพียงรอยจางๆ บนผนัง บริษัทออกมายืนยันภายหลังว่าเหตุผลมาจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อเดือนก่อน และอยู่ระหว่างการเตรียมย้ายสำนักงานแต่ยังไม่เปิดเผยที่อยู่ใหม่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง โดยมีรายงานว่าผู้ถือหุ้นภาครัฐของบริษัทแม่ Hozon New Energy Automobile เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อปลด Fang Yunzhou ผู้ก่อตั้ง Neta ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและ CEO สถานการณ์บ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการล่มสลายของหนึ่งในสตาร์ทอัพยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน


Fang ก่อตั้ง Hozon เมื่อปี 2014 และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ Neta ในฐานะผู้บริหารหลัก ทว่าในช่วงหลัง เขาตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้ถือหุ้นรัฐซึ่งเคยสนับสนุนเขา หลังบริษัทสะสมผลขาดทุนสูงกว่า 18,300 ล้านหยวน (ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีอัตราส่วนหนี้สินพุ่งแตะ 217% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ถือหุ้นรัฐรายหนึ่งกำลังผลักดันให้ Hozon เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างล้มละลาย
ปัญหาการเงินยังส่งผลต่อการดำเนินงานอย่างหนัก แหล่งข่าวภายในเผยว่าบริษัทมีหนี้ค้างจ่ายต่อซัพพลายเออร์กว่า 6,000 ล้านหยวน (ประมาณ 27,163,182,000 บาท) จนทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่อย่าง CATL หยุดส่งมอบสินค้า ส่งผลให้การผลิตในประเทศต้องหยุดชะงัก และคำสั่งซื้อต่างประเทศล่าช้า แม้บริษัทจะได้วงเงินสินเชื่อ 2,150 ล้านหยวน (9,733,695,000 บาท) ในประเทศไทย


Neta กำลังเข้าสู่ภาวะขาลงอย่างชัดเจน พิจารณาจากยอดส่งมอบรถยนต์ที่เคยแตะระดับสูงสุด 152,000 คันในปี 2022 ลดลงเหลือ 127,500 คันในปี 2023 และร่วงลงเกือบครึ่งในปี 2024 จนเหลือเพียง 64,549 คันเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีข่าวการปลดพนักงานจำนวนมาก การปิดโชว์รูม และการประท้วงของซัพพลายเออร์อย่างต่อเนื่อง
โครงสร้างการถือหุ้นแบบผสมผสานระหว่างทุนเอกชนกับรัฐซึ่งเคยเป็นจุดแข็งกลับกลายเป็นจุดอ่อน เมื่อรัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงและการบริหารความเสี่ยงระยะยาว ขณะที่ Fang เน้นกลยุทธ์การขยายตัวอย่างดุดัน โดยเฉพาะการรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตั้งเป้าการทำกำไรภายในปี 2026


หลังจากที่ Fang กลับมานั่งเก้าอี้ CEO อีกครั้งในช่วงปลายปี 2024 ต่อจาก Zhang Yong ที่ได้ประกาศเป้าหมายการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขยายธุรกิจระดับโลกและทำกำไรขั้นต้นภายในปี 2025 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเป้าหมายใดที่เป็นจริง ขณะที่สถานะทางการเงินก็ยิ่งสั่นคลอน ข้อเสนอการแปลงหนี้เป็นทุนเพื่อคลี่คลายภาระซัพพลายเออร์ก็ประสบความล้มเหลว
ในขณะที่คณะกรรมการบริษัทเตรียมลงมติปลด Fang และรัฐอาจเดินหน้าสู่การล้มละลาย อนาคตของ Neta ก็เข้าสู่จุดที่ไม่แน่นอนอย่างยิ่ง หากการลงมติดังกล่าวผ่าน Fang อาจต้องสูญเสียอำนาจในการควบคุมบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมากับมือ
ที่มา: Carnewschina