BYD เปิดตัวแคมเปญลดราคาครั้งใหม่ในประเทศจีนครอบคลุมรถยนต์ 22 รุ่นหลัก ภายใต้ตระกูล Dynasty และ Ocean โดยมีการลดราคาสูงสุดถึง 53,000 หยวน (ประมาณ 241,033 บาท) ทำให้รถยนต์รุ่นยอดนิยมราคาจับต้องได้ง่ายอย่าง BYD Seagull ลดราคาลงเหลือเพียง 55,800 หยวน (ประมาณ 253,766 บาท) ส่วนรถ Hybrid ยอดนิยมอย่าง Seal 07 DM-i ก็ถูกปรับราคาจนทำให้หลังจากหักเงินอุดหนุนจากภาครัฐและบริษัท เหลือเพียง 102,800 หยวน (ประมาณ 467,513 บาท) เท่านั้น

นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือนที่ BYD เปิดฉากลดราคาอย่างรุนแรง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการระบายสต็อกจำนวนมหาศาลและยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่เริ่มอิ่มตัว

 

หลังการประกาศของ BYD ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายต่างตอบโต้กลับด้วยกลยุทธ์ลดราคาของตนเอง อย่างเช่น Geely ที่ได้ปรับราคารถ EV รุ่นเริ่มต้น Geome Xingyuan ลงมาเหลือ 59,800 หยวน (ประมาณ 271,958 บาท) ซึ่งตั้งเป้าชนกับ BYD Seagull และ Dolphin โดยตรง ขณะที่ Chery ใช้งบอุดหนุนมหาศาลถึง 10,000 ล้านหยวน (ประมาณ 45,477,940 บาท) เพื่อทำให้สามารถลดราคา Tiggo 3X ลงเหลือเพียง 34,900 หยวน (ประมาณ 158,718 บาท) รวมไปถึงค่าย GM-SAIC ที่ปรับราคาขายของ Buick Envision และ LaCrosse เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (CAAM) และกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ได้ออกคำเตือนต่อปรากฏการณ์ “สงครามราคาที่ไร้ระเบียบ” โดยระบุว่าอัตรากำไรขั้นต้นของอุตสาหกรรมตกลงจาก 4.3% ในปี 2024 เหลือเพียง 3.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการแข่งขันที่ไม่ยั่งยืน

 

สื่อของรัฐอย่าง People’s Daily ยังเตือนอีกว่าหากปล่อยให้การแข่งขันด้านราคาดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง อาจซ้ำรอยความล้มเหลวของอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์จีนที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์ ก่อนจะถูกบีบให้ออกจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากกลยุทธ์ราคาที่ไม่ยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่เสียงวิจารณ์จากภาคเอกชนอื่นๆ ก็เริ่มหนาหูเช่นเดียวกัน เริ่มต้นด้วยประธาน Great Wall Motors ได้เปรียบสงครามราคานี้ว่า “Evergrande แห่งวงการยานยนต์” โดยชี้ว่า BYD กำลังใช้กลยุทธ์การกู้เงิน และกดราคาซัพพลายเออร์เพื่อให้สามารถลดต้นทุนได้

ด้านประธาน Chery ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมสงครามราคาครั้งนี้แบบถูกบังคับขณะที่ Geely ได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่าการแข่งขันควรมุ่งเน้นที่ “คุณค่า” แทนที่จะเป็น “ราคา” พร้อมแสดงความกังวลว่าอาจมีการลดคุณภาพชิ้นส่วน เช่น เหล็กตัวถังหรือระบบความปลอดภัยพื้นฐานอย่าง ABS/ESP เพื่อให้สามารถจำหน่ายรถในราคาต่ำลง เป็นต้น

 

เมื่อพิจารณาปัจจัยรอบด้านจะพบว่า BYD มีข้อได้เปรียบเชิงต้นทุนอยู่หลายด้าน เช่น อัตราการผลิตแบตเตอรี่ภายในเครือกว่า 90% รวมถึงราคาธาตุลิเธียมคาร์บอเนตที่ลดลงจาก 600,000 หยวน เหลือเพียง 60,000 หยวนต่อเมตริกตัน ทำให้สามารถลดราคาขายโดยยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ประมาณ 20%

ยิ่งไปกว่านั้น BYD ยังตั้งเป้าขายรถให้ได้ 5.5 ล้านคันในปี 2025 แต่ในความเป็นจริงกลับทำยอดขายได้เพียง 1.38 ล้านคัน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี ขณะที่ตลาดหุ้นก็สะท้อนความผันผวนอย่างชัดเจน สังเกตได้จากราคาหุ้นของ BYD ตกลงกว่า 10% ในวันที่ 23–24 พฤษภาคม ทำให้มูลค่าตลาดหายไปกว่า 100,000 ล้านหยวน 

แม้สงครามราคาจะยังไม่จบง่าย ๆ แต่ MIIT ได้ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มควบคุมการแข่งขันที่เกินขอบเขต พร้อมคาดการณ์ว่าในอนาคตตลาดจีนจะเหลือแบรนด์หลักเพียง 5–7 รายเท่านั้น และชี้แนะว่าในระยะยาว ตลาดอาจเปลี่ยนผ่านจาก “สงครามราคา” ไปสู่ “การแข่งขันแบบสร้างความแตกต่าง” โดยมีเทคโนโลยีและการขยายตลาดต่างประเทศเป็นสมรภูมิใหม่ของผู้เล่นระดับแนวหน้า

ที่มา: Carnewschina , Autoblog