[รูปในบทความนี้ คัดมาเฉพาะบางส่วน สำหรับท่านที่ต้องการโหลดรูปภาพ ขอเชิญลิงค์ที่ท้ายบทความได้เลยครับ]


HEADLIGHTMAG presents ” TNGA Challenge Your Soul “

ในโลกของรถยนต์ การจะมัดใจลูกค้าให้ได้ยาวนาน นอกจากจะต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไว้ใจได้เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยแล้ว ประสิทธิภาพของมันก็ต้องพัฒนาไปในทิศทางที่สามารถมัดใจลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้ แต่หากอยู่มาวันนึง ผู้บริหารและวิศวกรอยากจะ “Rebel Assault” ด้วยการทำสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า “ไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนซื้อจริงเขาสน” แต่ก็ยังอยากจะทำ ทำเพียงเพื่อให้โลกรู้ว่า “ไม่ใช่ว่าข้าทำไม่เป็น!”

อย่างรถ Toyota เราทราบกันดีว่า คนที่ซื้อส่วนมาก ไม่ได้คาดหวังเรื่องช่วงล่างและการขับขี่ ต่อให้ Toyota ไม่คิดจะปรับปรุงเรื่องนี้ รถของพวกเขาก็ขายได้ แต่พออยู่บนโลกออนไลน์ การขับขี่ของรถจาก Toyota เป็นสิ่งที่โดนค่อนขอดเสมอมา..แล้ววันหนึ่ง พวกเขาก็คิดจะเปลี่ยนนิสัยให้รถตัวเอง

นึกภาพท่านประธานอากิโอะ โตโยดะ ทุบโต๊ะ ฟันธงว่า ครั้งนี้ ผมต้องการ Toyota สายพันธุ์ครอบครัวที่ขับดีช่วงล่างเป๊ะ ฝ่ายวิศวกร ไปทำรถให้ขับได้ดีแบบนั้น ส่วนฝ่ายบัญชีและฝ่ายจัดซื้อกับทางโรงงาน คุณต้องไปคิดวิธีมาว่าทำยังไงให้มันบรรลุประสงค์นี้ได้แล้วยังทำราคาให้สามารถแข่งขันได้เหมือนสมัยก่อน จงไปคิดและทำให้สำเร็จ แล้วจากนั้นทุกคนก็เอาสเปรย์โครเมียมพ่นหน้าแล้วแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตน

ความจริงก็คือ Toyota ทนมานานแล้วกับสิ่งที่ประชาชนพูดถึงรถของพวกเขาในแง่การขับขี่ที่แสนน่าเบื่อ และอันที่จริงรถที่พัฒนามาบนพื้นฐานของ TNGA (Toyota New Global Architecture) ก็ไม่ใช่รถรุ่นแรกของค่ายที่ช่วงล่างดี เพราะว่าเราเคยชินกันแต่รถที่ขายในไทยน่ะสิครับ ซึ่งในบรรดารถเหล่านั้นก็เห็นจะมีแต่ Soluna VIOS โฉมที่ Britney Spears เป็นพรีเซนเตอร์ที่ขับดีจริง แต่ในต่างประเทศ Toyota มีช่วงล่างถุงลมที่นุ่มนวลเกาะถนน มีโช้คปรับไฟฟ้า TEMS ใช้ตั้งแต่ยุค 80s หรือถ้าลองไปดูงานวิศวกรรมช่วงล่างของ Lexus GS นั่นก็ถือว่าเป็นของดีของเขา

แต่นั่นมันรถเศรษฐี..ในขณะที่รถ TNGA ยุคใหม่ที่เป็นรถเก๋ง (ไม่นับ TNGA ของรถเพื่อการพาณิชย์อย่าง Commuter) จะเป็นรถแบบที่ชนชั้นกลางซื้อขับได้ โดยมีหัวใจของการพัฒนาอยู่ที่

  • การปรับปรุงโครงสร้างตัวถังให้แข็งแรง ทนต่อแรงหักแรงบิดแรงกระทำต่างๆเวลาขับแบบโหดๆ ซึ่งพอตัวถังเหนียว ส่วนที่ขยับจริงก็จะเหลือแค่ช่วงล่าง วิศวกรสามารถเอาพลังสมองไปจูนช่วงล่างได้เต็มที่โดยไม่ต้องคิดเผื่อเรื่องตัวถังบิด
  • การปรับลดจุดศูนย์ถ่วง โดยวางตำแหน่งเครื่องและเกียร์ให้ต่ำลง
  • ช่วงล่างหลังที่เปลี่ยนจากคานบิด ทอร์ชั่นบีม ไปเป็นแบบอิสระ Double wishbone ซึ่งลดอาการโคลงบนพื้นที่ระนาบซ้าย/ขวาไม่เรียบ ตลอดจนให้อิสระในการคำนวณองศาแคมเบอร์เทียบกับการยวบ/ยกตัวของล้อ
  • การปรับแต่งการตอบสนองของพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า ให้หักเลี้ยวได้คล่องตัวขึ้น ตอบสนองไวขึ้น
  • และอื่นๆ เช่นการใช้วัสดุเหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบในจุดสำคัญ การพยายามออกแบบเสา A-pillar ให้ขวางตาน้อยลง และส่งผลให้สามารถมองเห็นได้ง่ายขึ้นเวลาเลี้ยวรถในที่แคบๆ

พวกเราทีม Headlightmag ได้ลองขับลองจัดหนักกับรถที่ใช้โครงสร้าง TNGA มาแล้วครบทุกรุ่นทุกแบบ และยืนยันได้ว่าทั้ง C-HR และ Camry รุ่นปัจจุบัน ถือเป็นบทพิสูจน์ของการพลิกบุคลิกการขับขี่ จากเดิมที่เอาใจคุณลุงคุณป้า เปลี่ยนเป็นรถแบบที่หนุ่มสาวเท้าหนักจะชอบ ปัญหาก็คือ การที่จู่ๆมีคนแค่กลุ่มเดียวออกมาบอกว่า “มันเปลี่ยนไปแล้วนะ” เป็นเรื่องที่ดูค่อนข้างจะเชื่อยาก เหมือนคนที่ดูดบุหรี่มา 30-40 ปีบอกว่าเลิกดูดแล้ว มันต้องมีคนที่ไม่เชื่อบ้าง ก็ไม่แปลก

ทางคุณ J!MMY จึงได้เปรยกับทาง Toyota Motor ประเทศไทยว่า ถ้ามีโอกาสให้ชาวเว็บเราได้ลองสัมผัสด้วยตัวเองบ้างก็น่าจะเป็นการดี ซึ่งทาง Toyota ก็รับฟัง และในที่สุดก็ให้การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรม Headlightmag presents TNGA-Challenge Your Soul โดยส่งรถมากมายเข้ามาให้คนอ่านของเราได้ทดลองขับ อันประกอบไปด้วย

  • Toyota C-HR 1.8 เครื่องยนต์เบนซิน
  • Toyota C-HR Hybrid High
  • Toyota Camry 2.5 G 8AT
  • Toyota Camry Hybrid HV Premium

ซึ่งต้องขอขอบพระคุณบริษัท Toyota Motor ประเทศไทย ไว้ ณ ที่นี้ สำหรับการให้รถจำนวนมากมาโดยที่ทราบอยู่แก่ใจว่านี่ไม่ใช่กิจกรรมประเภทสร้างยอดขาย (ไม่มีการนำเซลส์จากโชว์รูม มาฝากในงานเลยแม้แต่คนเดียว มีแต่ผู้บริหารที่มาร่วมสนุกและเจ้าหน้าที่ซึ่งให้เกียรติมาร่วมพูดคุยและตอบคำถามกับผู้เข้าร่วมงาน)

แต่ลำพัง ทีม Headlightmag มีไม่กี่คน ก็คงทำงานนี้ไม่สำเร็จ ดังนั้น เราจึงมีทีมผู้จัดงานอย่างบริษัท WIN WIN WIN Everything (Triple WIN) นำโดยพี่กรณ์พิทักษ์ และทีมงาน ซึ่งต้องบอกก่อนว่าผู้คนเหล่านี้ก็คือเบื้องหลังความสำเร็จของกิจกรรมที่เราจัดหลายต่อหลายครั้ง ด้วยประสบการณ์จากที่ทีมงานหลายท่านเป็นสื่อมวลชนเอง และยังเป็นผู้จัดทริปทดสอบขับให้กับสื่อมวลชนไทยให้กับบริษัทรถยนต์หลายแห่ง ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงในความสนุกที่ทุกคนจะได้รับ บางคอร์สที่จัด ก็เป็นแบบเดียวกับที่จัดให้สื่อมวลชน ผู้เข้าร่วมงานก็จะได้ลิ้มลองเสี้ยวชีวิตหนึ่งของชาวสื่อฯ ไปด้วย

ในครั้งนี้ ทั้งพวกเราและทีมพี่กรณ์ตกลงเลือกจัดงานที่สนามพีระเซอร์กิต ด้วยเล็งเห็นว่ารถบางรุ่น โดยเฉพาะ Camry มีขนาดและพละกำลังที่คงไม่เหมาะถ้าจะใช้สนามขนาดเล็ก เราจึงเลือกสนามที่นับเป็น “Heritage Circuit” ของประเทศ ซึ่งมีความปลอดภัยและสามารถวางคอร์สให้รองรับกับทักษะในการขับขี่หลายระดับของผู้เข้าร่วมงาน

ซึ่งที่บอกว่า ทักษะต่างกันหลายระดับนั้น มันอาจจะมากกว่าที่คุณคิดด้วยซ้ำ จากผู้สมัคร 750 คนโดยประมาณ โควต้าของเรารับได้เพียง 100-120 คนเท่านั้น หากมากกว่านี้จัดสองวันไม่จบเพราะต้องเผื่อเวลาเดินทางอีกไป/กลับราวสี่ชั่วโมงไว้ด้วย ในบรรดาคนที่เราคัดเลือกนี่ พูดง่ายๆว่าทุก 7 คนจะเลือกได้คนเดียว เป็นเรื่องยากมาก และยังต้องกระจายคุณลักษณะผู้เข้าร่วมให้ครอบคลุมที่สุด

เราจึงมีทั้งกลุ่มวัยรุ่นรถคันแรก, กลุ่มคนที่กำลังจะเริ่มชีวิตครอบครัว, ไปจนถึงวัยที่ผมน่าจะเรียกว่าคุณพ่อได้แล้วแต่ใจยังแซ่บอยู่ นอกจากนี้ ยังมีอาชีพและพฤติกรรมการขับที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่นบางท่านก็เป็นเจ้าของรถ Toyota รุ่นเก่าก่อน บางท่านมีรถยุโรปเช่น Volvo S60, Mercedes-Benz C-Class, BMW 3-series, VW Golf/Scirocco ซึ่งรถที่พวกเขาใช้จะเป็นตัวเทียบวัดได้ว่า TNGA cars ดีขึ้นจริงมั้ย และประสิทธิภาพของมันเทียบวัดกับรถยุโรปได้แล้วหรือยัง

ถ้าอยากให้งานออกมาดูดีมากๆ พวกเราทำงานง่ายมาก ก็แค่เลือกคนที่ขับแต่รถญี่ปุ่นมาตลอด..แต่ถ้าทำแบบนั้นก็ไม่สนุกซีครับ

นอกจากเรื่องอายุ กับรถที่ใช้แล้ว ประสบการณ์ในการขับก็กระจายแตกต่างกันไป เพื่อให้เราสามารถรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนแต่ละแบบ เรามีคนใช้รถแบบปกติ มีคนที่ขับรถเร็ว เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อประกอบอาชีพ มีคนที่เป็นนักแข่งสมัครเล่นที่ขับจริงบนสนามพีระฯมาแล้ว (หนึ่งในนั้นเป็นนักขับหญิงที่เรียนวิศวกรรมเครื่องกล อันนี้เด็ด) มีนักขับรุ่นพี่ยุคบุกเบิกจากคลับอันเป็นที่รู้จักในยุคที่ผมยังใช้ล็อกอิน “V.Putin” ในพันทิพโต๊ะรัชดา ทำไมต้องเลือกให้หลากหลาย? เราจะได้ดูความเห็นที่แตกต่างกันไปด้วย ระหว่างคนที่ใช้ประสิทธิภาพรถไม่ถึง 50% กับคนที่ดึงตึง 100% เกือบตลอด

ลักษณะของคอร์ส

เราแบ่งการจัดออกเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่

  • Driving Course รอบสนาม
  • Challenge Course รอบบ่าย
  • Drive show โดย Instructor พาวนรอบแทร็ค

บางท่านอาจจะสงสัยว่าเราเอารูปมาผิดงานหรือเปล่า..ขอบอกว่ามิใช่ครับ ใน Driving Course ภาคเช้า เราให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสิทธิภาพของช่วงล่าง โดยเริ่มจากการนำ Toyota Corolla Altis ซึ่งเป็นรถที่ริเริ่มพัฒนาทางวิศวกรรมมาก่อนที่ Toyota จะคิดค้น TNGA ได้ เอามาให้ลองกันเพื่อเทียบให้เห็นไปเลยว่า ก่อน TNGA กับ หลัง TNGA มันต่างกันยังไง ซึ่งผมในฐานะสื่อมวลชนบอกเลยว่า มีโอกาสน้อยครั้งมากที่บริษัทรถยนต์จะเอารถเก่ารถใหม่มาเทียบกันในลักษณะนี้ อย่างมากก็แค่จอดข้างกัน ไม่ใช่ให้ขับเทียบกันตรงๆ

รถ Altis ส่วนมากจะเป็นรุ่น G ที่ใช้ล้อ 16 นิ้ว แต่ก็มีรุ่น ESport ชุดแต่งพิเศษมาด้วย เพราะเราทราบกันว่า ESport คือรุ่นที่ได้โช้คและสปริงแบบหนึบกว่าปกติ แล้วอย่างนี้ TNGA cars จะยังต่างได้อีกมั้ย

ความซวยอยู่ที่ว่า เราควบคุมเรื่องสภาพอากาศไม่ได้ครับ ดังนั้น ผู้ร่วมงานของวันเสาร์เลยต้องเจอกับฝนที่ตกลงมาชนิดที่ว่าต้องหยุดการขับกันไปชั่วครู่หนึ่ง และต้องมีการปรับเปลี่ยนตารางกิจกรรมกันพอสมควร ผมกลัวมากว่าทุกคนอุตส่าห์มาขับแล้วจะต้องผิดหวังกลับบ้านกันไป แต่ทีมพี่กรณ์ปรับตารางนิดหน่อย และออกสำรวจแทร็คเป็นระยะ หลังจากนั้นก็คอนเฟิร์มว่าเราทำกิจกรรมต่อได้ ผู้เข้าร่วมงานรอบนี้บางท่านกลับชอบ เพราะได้ลองรถในสถานการณ์เหมือนวันฝนตกของจริง อาจจะได้รับรู้ประสิทธิภาพช่วงล่างน้อยลง แต่ก็ได้เห็นการทำงานของระบบรักษาการยึดเกาะแบบที่หลายคนคงไม่กล้าทำบนถนนจริง

  

อย่างไรก็ตามคอร์สของวันเสาร์และอาทิตย์ ต่างก็ได้มีโอกาสลองรถกันทั้งสองรุ่น โดยที่ทีมพี่กรณ์ได้วางสนามให้ไม่อันตรายเกินไปสำหรับผู้ขับปกติ แต่ก็ไม่น่าเบื่อเกินไปสำหรับคนที่คุ้นเคยกับสนามพีระฯ แล้ว

  • มีจุดที่วางไม้แบนเล็ก ให้ทดสอบการซับแรงสะเทือนของตัวถัง
  • เมื่อเข้าสู่สนาม ในโค้ง U-turn แรก มีกรวยเตือนระยะเบรกและกำกับไลน์ แต่เปิดโอกาสให้ Exit โค้งได้แรงตามเท่าที่ฝีมือจะไป ในโค้งนี้จะได้ทดสอบการเข้า/ออกโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ
  • U-turn ที่สอง วางกรวยบังคับให้เกาะไลน์ในโค้ง โดยทางตรงช่วง Apex กรวยจะบีบแคบจนเหลือพื้นที่ไม่มากและวางทั้งระนาบซ้ายขวา เพื่อให้สังเกตทัศนะวิสัยหน้ารถว่าสามารถเข้าโค้งไปได้โดยที่ยังมองเห็นหัวกรวย (กรวยครับกรวย) ได้ทุกโคน
  • พ้นโค้ง U-turn มาสามารถบี้คันเร่งได้เต็มระยะหนึ่งก่อนถึงด่าน Lane change ซึ่งสามารถโยกเข้าออกที่ 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ ทดสอบการยุบตัวของช่วงล่าง และการตอบสนองของพวงมาลัย
  • จากนั้น โค้ง 100R มีแค่กรวยกำกับไลน์วิ่งให้ถูกต้อง แต่เปิดช่องกว้างพอให้เลือกแต่งรถเข้าได้บ้าง ทดสอบการเกาะถนนในโค้งแบบกว้าง คล้ายโค้งตามทางด่วนบางช่วง
  • ลงจาก 100R กดคันเร่งเต็ม มายก โยก หักอีกทีที่โค้ง S1 และ S2 ซึ่งก็มีลักษณะคล้าย Lane change แต่มาด้วยความเร็วสูงกว่ามาก แทนการทดสอบหักหลบรถตัดหน้าที่ความเร็วสูง
  • โค้ง Honda เป็นโค้งมุมแคบหักคอห่าน ซึ่งถ้ามาเร็วไป ระบบช่วยเหลือฯ ทำงานแน่นอน ก็ให้เลือกว่าจะเข้าเร็วแล้วเชื่อระบบหรือจะลองเข้าแบบพอดีๆ
  • จากนั้นเป็นโค้งขวาทิ้งยาว แต่ก่อนเส้นชัย เราวางกรวยดักเอาไว้ให้สลาลอมเล่นก่อน เพื่อดูว่ารถคุมอาการของช่วงล่างได้มากแค่ไหนเมื่อเจอแรงเหวี่ยงซ้าย/ขวา สลับแบบต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ อาศัยประสบการณ์ของทีม WIN WIN WIN ซึ่งจัดงานให้เรามาหลายครั้ง และยังเป็นผู้วางเส้นทาง อำนวยการทดสอบสำหรับสื่อมวลชนรถยนต์ในหลายโอกาส ผมบอกได้เลยว่าคอร์สลักษณะนี้วางมาแบบเดียวกับงานทดสอบรถของสื่อมวลชนหลายที่ แต่ให้เปิดไลน์ซัดเต็ม 180 ก็คงไม่ได้ครับ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาทักษะของผู้ขับแต่ละคนได้เลย และที่ความเร็วระดับนั้น ถ้าพลาด เจ็บ ตาย ไม่คุ้มกับที่เราต้องเสีย

Challenge Your Skill!

รอบบ่าย เราจับคนอ่านเป็นคู่ แล้วให้แต่ละคู่ลอง Challenge ทักษะการขับของตัวเอง หลังจากที่ได้ลองทั้ง C-HR และ Camry รอบสนามมาแล้ว คราวนี้เราเปิดเฉพาะ Section ของสนามบริเวณหน้าพิท โดยมีสิ่งกีดขวางทั้งที่เป็นสแตนดี้รูปรถคันเท่าจริง และกรวยวางบังคับทิศทาง และวางเป็นกล่องพร้อมต่อท่อนไม้ยาวให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะต้องขับผ่านสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ไปตามช่องที่ทีมงานสร้างขึ้นมา

โดยนักขับมือแรก จะขับจากทางทิศเส้นชัย มุ่งย้อนขึ้นไป ผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ แล้วเมื่อถึงปลายทางก็ต้องหักเลี้ยวกลับ จากนั้น นักขับมือ 1 กระโดดลง นักขับมือที่ 2 สลับมาขับแทน โดยมีการใช้เครื่องจับเวลาแบบเดียวกับที่ใช้ในการแข่งขันจิมคาน่าด้วย โดยมี Instructor ขับให้ดูก่อนรอบนึง และเซ็ตเวลาไว้ 51 วินาที แถมประกาศด้วยว่าใครเร็วกว่า Instructor ได้นี่มีเฮ อาจจะได้เป็นดาวรุ่งมือขับ

ถ้าคุณชนกรวยหรือสิ่งกีดขวาง ก็จะโดน Penalty 2 วินาที แต่ถ้าคุณไม่วิ่งตามเส้นทางกำหนด หรือวิ่งเลยกรวย/กล่องที่กำหนดให้เข้า ก็จะถือว่า Disqualify ไปเลย

คุณเอ้ย งานนี้ในฐานะผู้ชม ผมขอบอกว่าลุ้นหนักกว่าตอนขับรอบแทร็คเสียอีก เพราะผู้เข้าแข่งแต่ละคู่เขาก็งัดเทคนิคส่วนตัวมาใช้กันหลากหลาย มีทั้งแบบที่เน้น Slow but sure กับแบบที่โชว์พลังสุดทุกโค้ง บางคู่ทำยังกะขับ World Rally คนขับก็ใส่สุดฤทธิ์ คนนั่งก็เป็นเนวิเกเตอร์ชี้ทาง ยิ่งตอนสลับที่นั่งบางคนวิ่งแทบจะชนกันตายแต่ไปช้าตรงที่ดึงเข็มขัดมารัดเร็วไป เข็มขัดก็ล็อค สนุกจนบางท่านนั่งจิบกาแฟอยู่บนห้องแอร์ชั้นบนก็ลุกมาดู เพราะทั้งลุ้นทั้งฮาไปพร้อมๆกัน บางท่านคิดขนาดว่า ยอมชนกรวย 1 อัน บวก 2 วิแต่ทำสปีดโดยรวมได้เร็วขึ้น สุดยอดครับ

สถิติเวลาที่เร็วที่สุด คือ 48 วินาทีในรอบวันเสาร์ และ 55 วินาทีในรอบวันอาทิตย์ บอกเลยว่าไม่ธรรมดาครับ ให้ผมขับแล้วทำเวลาระดับนี้ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะได้หรือเปล่า

หลังจากนั้นเราเคลียร์กรวยและอุปกรณ์ต่างๆทิ้งหมด เหลือแต่ชุดสลาลอมหน้าแทร็ค เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานแต่ละท่านได้ลองนั่งรถที่มี Instructor ของทีม WIN WIN WIN เป็นผู้ขับ ซึ่งแต่ละท่านที่มาขับให้นั้นพี่กรณ์คัดมาเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ในการขับบนสนามทางเรียบและจิมคาน่า อีกทั้งก่อนวันงานยังมีการนำรถลองวิ่งซ้อมกันก่อนจนสามารถใช้ความเร็วสูงและประชิดรถคันหน้าได้มาก

ที่เราให้มีโอกาสแบบนี้ เพราะบางท่านที่ขับวนรอบแทร็ค อาจรู้สึกเกร็ง ไม่กล้าไปเร็ว จึงใช้ความสามารถรถไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นเพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของรถว่าจริงๆแล้วมันสามารถทำอะไรได้บ้าง การให้นักขับมืออาชีพที่เจนศึกมาเปิดโลกทัศน์ให้ ก็ได้ทั้งความมันส์ และความปลอดภัย ตลอดสองวันงานไม่มีอุบัติเหตุใดๆ นอกจากชนกรวยซึ่งสองสามตัวในนั้นก็ฝีมือผมเองแหละ

ส่วนมาก พอได้วนแทร็คกันสนุกสนานแล้ว พอลงมาจากรถก็ยิ้ม หรือไม่ก็ทำหน้างงๆ ก็จริงอยู่ที่เขาว่ารถจะไปได้เร็วแค่ไหน คนที่อยู่หลังพวงมาลัยนั่นแหละสำคัญ พวกคนที่ขับสนามจนชินก็บอกว่าเออ เกาะดี แต่คนที่เป็นผู้ใช้รถแบบปกติมักจะลงมาพร้อมกับบอกว่า “รถมันทำแบบนั้นได้ด้วยเหรอ (วะ)”

บางช่วง มีเวลาเหลือ พี่กรณ์ก็ประกาศว่า “มีใครอยากเบิ้ลมั้ยครับ” หรือ “ใครที่เป็นผู้ติดตามแล้วอยากลองนั่งบ้าง มีมั้ยครับ” ภาพที่ตามมาคือคุณจะเห็นคนวิ่งกรูแย่งกันลงไปที่พิท จนทีมงานคุมแทร็คเห็นแล้วยังแอบขำ ขอยกเครดิต Section นี้ให้ทีมขับของเราครับ

 

ก่อนจบกิจกรรม

เรามีการแจกรางวัลกันเล็กๆน้อยๆ หนึ่งในรางวัลนั้นก็คือกระเป๋า Adidas แบบเดียวกับที่เขาเอาไว้มอบให้กับลูกค้าที่สั่งจอง C-HR และรับรถ นี่ก็เป็นอีกอภินันทนาการหนึ่งจาก Toyota Motor ประเทศไทยที่ได้กรุณาช่วยสนับสนุนของรางวัล โดยเรามีการมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับยอด Like จากการ Post ลง Facebook หรือ Instagram โดยเปิดโพสท์เป็น Public และให้ติดแฮชแท็ก #headlightmagTNGA ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นโพสท์แบบไหน บางท่านเน้นรูปสวย บางท่านเน้นรีวิวรถแบบเนื้อๆ โดยคนที่ได้มากที่สุดคือ 661 Likes เป็นน้องผู้ชายวัยรุ่น ผมงี้ขนลุก น้องเค้าเป็นใครอ่ะ..มาจากไหนอ่ะ

บางท่านก็โพสท์หลายอัน และมีใจดี เขียนรีวิวให้อย่างละเอียดหลังจากกลับไปถึงบ้านอีกด้วย ผมขอขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

ส่วนรางวัลอีกแขนง คือ รางวัลคู่หูยอด Skillz จากด่านขับ C-HR ฝ่ากรวยนั่นเองครับ ถ้าท่านอยากดูหน้าว่าคู่ไหนที่ได้ 48 วิ scroll ขึ้นไปข้างบนหาคนที่ป้ายคล้องคอหมายเลข 6 นั่นแหละมันครับ

นอกจากนี้ รางวัล Surprise ก่อนกลับบ้านอีกอย่าง เป็นการจับสลากแบบดื้อๆเลย 2 รางวัล ต่อรอบ โดยได้กระเป๋ากลับไปกอดที่บ้านแล้วยังได้นั่ง Camry หรือ C-HR ที่ผมและพี่ J!MMY เป็นผู้ขับรอบสนามแบบฟรีสไตล์ จัดไลน์เอง แหกเอง จริงๆผมบอกผู้โชคดีไปแล้วว่าผมขับยังไงก็ไม่เร็วเท่า Instructor ครับ แต่เห็นคุณผู้อ่านยิ้มผมก็จัดให้เต็มความสามารถ..ดีดกรวยไปด้วยตัวนึง

*****FEEDBACK จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม*****

เช่นเดียวกับงานที่จัดโดย Headlightmag ทุกครั้งที่ผ่านมา เราจะขอความร่วมมือ (บางครั้งก็ขู่เข็ญ) ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยออกความเห็น ทั้งในแง่ดี และส่วนที่รถคันนั้นๆ ยังไม่น่าพอใจในสายตาของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องไปอ้างอิงอะไรจากรีวิวของ Headlightmag

ผมชอบจุดนี้ ที่เราได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา (และไม่หยาบ เลี่ยนหรือเกรียนเกินเหตุ) เหมือนมีคนช่วยคิดวิธีให้กับการทำรีวิวของเราในอนาคต นอกจากจะมีการทำ Survey แล้ว เรายังมีการถามแบบออกไมค์ได้ยินกันทั้งงาน นั่งคุยกันเป็นการส่วนตัว ตลอดจนรีวิวตามที่คุณสามารถค้น “#headlightmagTNGA” บน Facebook ดูได้อีกด้วย

 

ตัวอย่าง Comment อย่างทางผู้อ่าน จากสัมภาษณ์ และ Facebook Post

“Headlightmag ดูเหมือนจะชอบ Camry มากกว่า แต่พอผมได้มาขับเองจริง ผมกลับรู้สึกว่า Camry มันใหญ่ๆยังไงบอกไม่ถูก แต่ C-HR นี่ขับสนุกเกินคาดครับ ความที่รถมันเล็กแต่ช่วงล่างมันดี สาดโค้งแล้วท้ายสไลด์ตามหน้า ผมชอบรถนิสัยแบบนี้มากกว่า ถือว่าทำได้ดีกว่าที่ผมคาด”


“งานนี้ทำให้เราได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของการพัฒนา TNGA จริงๆ โดยมีการทดลองขับเปรียบเทียบ Altis ตัวเก่าที่ยังไม่ใช้ TNGA เทียบกับ Camry และ C-HR ทื่เป็น TNGA เพื่อให้ทราบถึงความแตกต่างที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับควบคุมที่ดีขึ้น สนุกขึ้น รวมทั้งโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง ทนต่อการบิดตัวได้มากขึ้น ทำให้ภาพรวมของรถ Toyota ที่สร้างบนโครงสร้าง TNGA เป็นรถที่ขับสนุกเอาใจคนขับมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถือเป็นการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมากครับ”


CH-R ทำได้ดีกว่ารถทรงสูงทั่วๆ ไป เพราะในการจิกเข้าโค้ง การหักพวงมาลัยให้เกาะโค้ง หรือสลาลม (โยกซ้ายขวาไปตามกรวย) ทำได้ดี ทำให้ผมมั่นใจ กล้าเข้าโค้งด้วยความเร็วและการคอนโทรลพวงมาลัยในแบบที่ไม่กล้าทำกับ HR-V (จริงๆ ก็ทำได้แหละ แต่จะเสียวกว่าหน่อย)

รอบสุดท้าย CAMRY 2.5 Hybrid สีแดงจอดรออยู่ ผมขึ้นไปเจอ instructor คนเดิมที่ขับรอบ Altis มาด้วยกัน น้องเขาคุ้นเคยกับฝีมือขับรถผมแล้ว ก็เลยยุให้ลองพละกำลังของระบบไฮบริดของ CAMRY ใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากรุ่นเดิมที่เคยเป็นไฮบริดแบบ ถ้าเร่งเร็วก็ตัดกำลังแบตเตอรี่ ใช้แค่เครื่องยนต์ สำหรับ CAMRY ไฮบริดใหม่ ทั้งแบตและเครื่องยนต์จะทำงานร่วมกัน ส่งม้า 200 กว่าตัวลงยางหมดเลย

มันมากครับ สำหรับการขับ CAMRY จริงอยู่ ในการทดสอบโดยผู้ใช้แบบนี้ ไม่มีที่ไหนให้เหยียบ 200 ก.ม.ต่อชั่วโมงแน่ แต่ระยะสั้นๆ ที่ได้ลองสาดโค้ง ลองเติมคันเร่งแบบดุดัน ก็พอให้รู้สึกได้ว่า ทุกองค์ประกอบในรถตอบสนองอย่างถวายชีวิต ให้เราแอบได้ฟิลชูมาร์คเกอร์นิดๆ

พอลงรถมาก็นึกในใจว่า เออ โตโยต้า ยอมว่ะ นายทำได้…


เริ่มที่เรื่อง Body roll หรือเวลาเลี้ยวแรงๆ หรือขับเร็วๆ แคมรี่ทำได้ดีมากสำหรับจุดนี้ เกาะ ศูนย์ถ่วงต่ำ ความเร็วปานกลางและสูงทำได้ดี ไม่กระด้าง ไม่ย้วย CHR ทำตรงนี้ได้ไม่ดีเท่าแคมรี่ อาจจะเป็นเพราะฐานล้อ และความกว้างฐานล้อ รวมถึงความสูงตัวรถที่มากกว่าแคมรี่ อัตราเร่งก็ปกติทั่วไปของโตโยต้า เหมือนหลอกคันเร่งกับทำกล่องเกียร์มาใหม่ ฉลาดขึ้น แต่ยังไงอย่าคาดหวังความแรงแบบรถสปอร์ตจากรถแบรนด์นี้


“ตอนทดสอบก็กล้าๆกลัวๆที่จะใส่เต็มนะ เพราะค่อนข้างฝังใจกับโฉมก่อนๆมาพอสมควร แต่พอลองขับไปหลายๆรอบ เอ้ย นี่มันดีกว่าที่คิด อะงั้นไหนลองหักให้เสียอาการสักทีนึงซิ รถจะไปในทิศทางไหน แต่ปรากฎว่า เบากว่าที่คิดค่ะ ซึ่งถือว่าผู้บริโภคได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ เลย เพราะเวลาเลี้ยวกระทันหันแบบนี้ รถเสียอาการน้อยกว่าโฉมก่อนๆมากถึงมากที่สุดจริงๆ

เคยอคติมากกับช่วงล่างรถบ้านค่ายนี้มาก่อน แต่พอได้มาลองขับช่วงล่างในแบบที่เทคโนโลยีเขาปรับปรุงมาใหม่ ทำให้ทัศนคติกลับกลายเป็นด้านบวกกับค่ายนี้มากขึ้น และกล้าที่จะแนะนำให้คนที่มาปรึกษาเรื่องรถซื้อรถที่ใช้เทคโนโลยีนี้โดยที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองนั้นทำบาปเลย 55555”

“เห็นบอกว่าเบาะหลัง C-HR จริงๆนั่งสบาย แค่หน้าต่างมันแคบ แต่ผมว่าหน้าต่างก็มีผลนะทำให้ไม่รู้จะมองอะไร ตอนผมขับเองมันก็สนุก แต่พอย้ายไปนั่งหลังแล้ววิ่งรอบสนาม จริงๆแล้วก็เกือบอ้วกเหมือนกันเพราะบรรยากาศมันดูอึดอัด ไม่มีมือจับด้านหลังให้เหนี่ยวด้วย ส่วน Camry ผมว่าไม่มีปัญหาอะไร ชอบทั้งตอนนั่งตอนขับ รู้สึกเหยียบแล้วพุ่งดี พลังดี อัตราเร่งทันใจ ผมขับตัว Hybrid นะ”


“ได้ขับ C-HR Hybrid อันนี้ รู้สึกยังไม่พอ ส่วนตัวอยากได้อัตราเร่งแรงๆกว่านี้ พอย้ายมาขับ Camry 2.5 G ปุ๊บ จบ ต้องใช้คำว่ารถบ้านแซ่บได้ แรง ช่วงล่าง พวงมาลัย ไปด้วยกันได้ดี อันนี้ไม่ได้อวย ผมทำเตนท์ จับรถมาทุกชาติ ตอนนี้ขับ E55 W210, 190E วางเจ, Honda Jazz แต่งวิ่งจิมฯ บอกเลย ถ้าไม่ไปเอาพวกที่เป็นยุโรปช่วงล่างจูนมาสปอร์ตจ๋าจริงๆมาเทียบ พวกรถ AMG แท้ พวก M Sport อะไรงี้ Camry สู้ได้แน่นอน มันอาจจะไม่ได้แบบ ทั้งหรู แรงดึงดี เกาะด้วย นุ่มด้วย หนึบด้วย แต่เห้ยนี่มันรถล้านห้า มันก็ตามราคา แต่เรื่องช่วงล่างนี่ยอมรับว่าเจ๋ง ดีกว่าที่คาด เดี๋ยวเจอกันตอนมือสองเหอะพูดเลย”


“ตอนแรก ผมว่าเสากับกระจกมองข้าง (C-HR) มันบังทัศนะวิสัย ขับแล้วไม่ถนัด มันบังสายตายังไงชอบกล ผมสูง 180 เวลาเลี้ยวโค้งรู้สึกว่าไม่ถนัด ต้องโย้ตัวไปมา แต่พอรอบ Challenge ตอนบ่าย ผมเพิ่งรู้ว่าเบาะมันปรับลงต่ำได้อีก ตอนแรกนึกว่าปรับสุดแล้ว พอพี่ Instructor ช่วยแนะนำวิธีการปรับให้ขับขี่ได้ดี เออ คราวนี้ดีขึ้น กลายเป็นมองเห็นถนัดขึ้น เออ เพิ่งรู้ว่าเราใส่ใจกับการปรับเบาะนิดเดียวผลมันต่าง แต่ตอนขับ Camry ผมไม่มีปัญหาเรื่องทัศนะวิสัย สงสัยผมอาจจะกลับกับคนอื่นเขา 55”

บทสรุปของกิจกรรม HEADLIGHTMAG presents TNGA-Challenge Your Soul

ถ้าหากใช้คำแบบวัยรุ่นนิยม เราต้องบอกว่าครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการ “ป้ายยา” น้อง พี่ น้า อา หลายต่อหลายท่าน

เพราะหลังจากที่แอบตามส่องใน Facebook ท่านที่มาร่วมงาน ทุกคนมีแนวทางความคิดที่คล้ายกันคือ TNGA ได้เปลี่ยนความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากการขับ Toyota จากเดิมที่ดูเหมือนไม่ใช่รถที่มีจุดเด่นด้านช่วงล่างเลย กลายเป็นรถที่ขับสนุกและมั่นใจมากขึ้น เมื่อถามวัยรุ่น ส่วนมากก็ชอบ เมื่อถามคนที่เป็นผู้ร่วมงานรุ่นน้ารุ่นพ่อเรา ก็ไม่มีใครบ่นว่าแข็งกระด้างเกินไป มันคือจุดที่ Toyota ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในการปรับปรุงพัฒนาตัวเอง

แม้ว่าความเห็นเรื่องดีไซน์ อุปกรณ์ หรือราคารถ จะมีความหลากหลายในแง่มุม แต่ในเรื่องนั้น ผมคิดว่า เราปล่อยให้คนอ่านแสดงความคิดของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา ซึ่งจะดีหรือร้ายอย่างใด ผมคาดว่าใน Survey ที่ผู้ร่วมงานกรอกและส่งคืนให้กับ Toyota น่าจะช่วยเป็นทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เจนเนอเรชั่นถัดไปได้อีก

ถามว่า Toyota ได้อะไรจากงานของเรา ทั้งที่งานนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดยอดขายอย่างเป็นรูปธรรม มีค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมที่สูง ผมขอเรียนตามตรงว่า ถ้านับความคุ้มค่าเป็นเม็ดเงินแล้ว เราขาดทุนย่อยยับ แต่ถ้านับจากความพึงพอใจและความสนุกสนานที่ได้ มันอาจจะคุ้ม ผมเห็นคนของ Toyota ยิ้มเมื่อเขามองคุณผู้อ่านทำหน้าอึ้งๆ งงๆ อุทานเป็นคำที่สื่อถึงกิจกรรมใต้เข็มขัด ขณะที่พวกเขาก้าวลงจากรถที่ทีม Instructor พาไปบินรอบสนามมา..ฝรั่งเขามีคำสำหรับความรู้สึกนี้ว่า “Priceless” ไม่ใช่ว่ามันแพง แต่มันมีค่าเกินกว่าจะตีเป็นเงินได้

ต้องขอบคุณทั้งผู้อ่านที่ยังติดตามเรามาตลอด 1 ทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มก้าวเล็กๆของเรา และขอบคุณบริษัทรถที่สนับสนุนการจัดกิจกรรมนี้

ในแง่มุมของเรา สปิริต และน้ำใจคนที่ทำหน้าที่คนละอย่าง แต่ตักน้ำดื่มจากบ่อเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ Priceless เช่นกัน

—-////—-


***LINK ดาวน์โหลดรูปภาพกิจกรรม***

** รูปทั้งหมด สงวนสิทธิ์โดยทีมช่างภาพ WIN WIN WIN / Toyota Motor ประเทศไทย / Headlightmag อนุญาตให้โหลดไว้ดูเล่นได้ แต่ไม่ยินยอมให้มีการนำไปใช้ในเชิงการค้าขาย พาณิชย์ ธุรกิจอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สงวนสิทธิ์ทั้งสามฝ่าย หากไม่แน่ใจ หลังไมค์มาถามที่เพจ Facebook ของ Headlightmag ก่อนได้ **