สำหรับหลายๆคนที่ชื่นชอบรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจ การได้ขับรถยนต์รุ่นสุดยอดหรือได้สัมผัสรถใหม่ก่อนใคร อาจเป็นความฝันอันเป็นหมุดหมายที่แสดงถึงการประสบความสำเร็จของตัวเองได้

แต่สำหรับผมแล้ว การได้ไปฟัง พูดคุย และร่วมตั้งคำถามกับบุคคลผู้ออกแบบรถยนต์ ถือว่าเป็นหนึ่งในความฝันที่สักวันหนึ่งอยากทำให้สำเร็จ เพราะจะได้ฟังที่มาที่ไป ความคิดเบื้องหลังงานดีไซน์รถยนต์ที่เราๆได้ใช้กันทั่วไป หรือกำลังจะได้ใช้ในอนาคต เพราะส่วนตัวของผมนั้นเชื่อมาตลอดว่า คุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจากงานออกแบบที่ถูกต้องและเหมาะสม มีการผสมผสานระหว่างเหตุผลและอารมณ์อย่างลงตัว นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ผมให้ความสนใจกับการออกแบบรถยนต์ก็เป็นได้

นั่นทำให้เมื่อผมทราบว่า นิสสัน มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้เชิญ มร.อัลฟอนโซ อัลบายซา (Mr. Alfonso Albaisa) รองประธานอาวุโส ส่วนงานออกแบบของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ดูแลงานออกแบบของ Nissan Group ทั้งหมดไปหมาดๆเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อมาบรรยายถึงหลักปรัชญาเบื้องหลังงานออกแบบของรถยนต์นิสสันในอนาคต ผมจึงขออาสาทีมงาน Headlight Magazine เพื่อเข้าร่วมฟังในทันที

แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผมแอบดูงานออกแบบรถยนต์นิสสันอยู่ห่างๆ (แต่ไม่เคยได้สัมผัสใช้งานจริง) Nissan Cefiro (A31) คือนิสสันที่เตะตาผมมากที่สุดในสมัยเด็ก ด้วยเส้นสายที่เรียบง่ายไม่ยุ่งเหยิง(เหมือนรถในปัจจุบัน) แต่สามารถแสดงออกถึงพลังและความเหนือกาลเวลา แม้ปัจจุบันจะมา 30 ปี ก็ยังดูไม่ล้าสมัย …ดูทันสมัยกว่ารถยนต์นิสสันหลายๆรุ่นที่เปิดตัวตามหลังมาด้วยซ้ำไป

นิสสันอีกรุ่นที่มีดีไซน์ที่ผมชอบมากที่สุด จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก Nissan 350Z (Fairlady Z) ที่ถูกออกแบบเส้นสายและสัดส่วนมาได้อย่างลงตัวทั้งคัน


16 กุมภาพันธ์ 2561

13.00 น.

ผมกำลังเดินเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถานที่ในการจัดเสวนาครั้งนี้ ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายในห้องประชุมขนาดกลาง

มร.อัลฟอนโซ เดินเข้าห้องประชุมพร้อมทีมงาน เขาดูตัวสูงและสุขุมกว่าที่ผมคิดเอาไว้ แต่บุคลิกของเขาแสดงออกให้เห็นได้ชัดว่าคนๆนี้ มีความคิดที่สดใหม่และพร้อมเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆแน่นอน เขาเริ่มบรรยายทันทีเมื่อพรีเซนเทชั่นถูกเซ็ตให้พร้อมเรียบร้อย

การออกแบบรถยนต์แต่เดิมนั้นจะคำนึงถึงตำแหน่งของผู้ขับขี่ก่อน เริ่มจากส้นเท้า อันเป็นตำแหน่งสำคัญเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวรถ ตั้งแต่สมัยแรกที่รถยนต์ถูกสร้างขึ้นมา นอกจากหลักสรีระศาสตร์ของผู้ขับขี่แล้ว ยังต้องคำนึงถึงแพคเกจจิ้ง (Packaging) ของตัวรถ ประกอบไปด้วย เครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และล้อ นั่นเป็นที่มาของรูปทรงรถยนต์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน มันถูกกำหนดรูปทรงมาจากคนขับและระบบขับเคลื่อนนั่นเอง

ในอนาคต ทิศทางการทำรถยนต์กำลังเปลี่ยนไป เมื่อการขับเคลื่อนตัวรถไม่จำเป็นต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว พลังไฟฟ้ากำลังเข้ามามีบทบาทในรถยนต์มากขึ้น

เมื่อใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน นั่นหมายถึงส่วนประกอบหลักของรถยนต์เหลือเพียง ‘ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า’ และ ‘แบตเตอรี่’ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเครื่องยนต์อย่างเห็นได้ชัด ทำให้แพคเกจจิ้งตัวรถมีขนาดเล็กลง ไม่จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่สำหรับเครื่องยนต์ เพลาขับ หรือห้องเกียร์ขนาดใหญ่อีกต่อไป

เทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น ทำให้การออกแบบรถ มีอิสระและความเป็นไปได้อีกไม่รู้จบ เราสามารถคำนึงถึงแง่มุมอื่นๆที่ช่วยให้การขับขี่ดีขึ้น เช่น ทิศทางการไหลของกระแสลม ซึ่งจะช่วยให้รถทรงตัวและประหยัดพลังงานให้ดีขึ้น หรือคำนึงถึงรูปแบบการใช้งานใหม่ๆได้ จากการผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ากับงานออกแบบตัวรถ

เราอาจจะออกแบบรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้ขนส่งผู้คน โดยมีส่วนที่ขนจักรยานสำหรับการใช้งานแบบ Ride-sharing พ่วงเข้าไปด้วยได้

ทำให้ผมอดคิดถึงรถยนต์ต้นแบบของแบรนด์พี่น้องนิสสันอย่าง Renault EZ-GO Concept ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ เป็นตัวอย่างของการออกแบบรถยนต์ที่เราอาจจะเจอในอนาคตอันใกล้ได้อย่างดี เมื่อรูปแบบการใช้งานตัวรถ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรงกล่อง มีเบาะนั่งจัดวางเป็น 2 ตอน และมีประตู 4 บานเสมอไป แต่คิดใหม่ด้วยแพคเกจจิ้งตัวรถที่เล็กลง จนเสมือนเป็นห้องขนาดย่อมที่เคลื่อนที่ได้

มร.อัลฟอนโซ เริ่มพูดถึงลูกชายคนล่าสุดของเขา ‘Nissan xMotion Concept’ รถยนต์ต้นแบบที่เป็นตัวแทนของรถยนต์นิสสันในอนาคตได้ดีที่สุด แต่เขาอุบเงียบไม่บอกว่า มันคือร่างทรงของนิสสันรุ่นใดในอนาคตหรือไม่?

งานออกแบบเริ่มต้นจากแนวคิด ‘พละกำลัง x เทคโนโลยี’ รูปลักษณ์ภายนอกมาในแนวครอสโอเวอร์ อันเป็นเทรนด์ที่จะต่อเนื่องความนิยมในอนาคต มีระยะโอเวอร์แฮงค์หน้า-หลังที่สั้น อันเป็นผลประโยชน์จากการใช้ขุมพลังไฟฟ้า เน้นเส้นสายที่ผสมความเหลี่ยมสันสื่อถึงความหนักแน่น แต่ยังให้ความสะอาดตา ไม่ยุ่งเหยิง

การออกแบบรถยนต์ในอนาคต จะเน้นไฮไลท์ที่การออกแบบภายใน ซึ่งสามารถสร้างจินตนาการได้กว้างไกลจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น พื้นห้องโดยสารเรียบทั้งฟลอร์ เน้นหน้าจอแสดงผลที่คิด User Interface แบบใหม่ เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตอยู่กับ Interface บนหน้าจอตั้งแต่เกิด

อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่เพิ่มความเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อการใช้งานได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องคำนึงถึงอุโมงค์กลางตัวรถ หรือพื้นตัวรถอีกต่อไป สามารถทำคอนโซลกลางจากวัสดุไม้จริงทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

จบการบรรยายที่มาที่ไปของงานออกแบบ Nissan xMotion Concept ไปแล้ว เห็นได้ชัดเลยว่าจากช่วงปี 2010-2017 ที่ผ่านมา รถยนต์นิสสันจะเน้นเส้นสายอ่อนช้อย พลิ้วไหว จนทำให้หลายคนรู้สึกดูอนุรักษ์นิยม ทั้งหมดนี้จะหายไปในรถยนต์นิสสันตั้งแต่ปี 2017 ไปแน่นอน

ดีไซน์ของรถยนต์ Nissan ยุคใหม่ มีปรัชญาชัดเจนว่า จะนำแนวคิดผนวกเทคโนโลยีเข้ากับพละกำลังเข้ามาใช้มากขึ้น ตัวอย่างแรกที่เราจะได้เห็นกันคือ Nissan Altima/Teana โฉมใหม่ ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆนี้ (ซึ่ง ณ วันที่กำลังเขียนบทความ ดูเหมือนว่านิสสันถอดใจการทำตลาด Nissan Teana ใหม่ ในไทยไปเรียบร้อยแล้ว)

ส่วนความแตกต่างระหว่างแต่ละแบรนด์ Datsun-Nissan-Infiniti นั้น Datsun จะเน้นนำเทคโนโลยีเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างและง่ายขึ้น ส่วน Infiniti จะเพิ่มอารมณ์ในงานออกแบบ ยกระดับความรู้สึกให้มากขึ้น อันเป็นผลพวงจากระบบขับเคลื่อนที่มีขนาดเล็กลงเช่นกัน ทำให้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆได้ดีกว่าเดิม

มาเข้าเรื่องที่จับต้องได้ง่ายมากขึ้นกับรถยนต์ที่กำลังจะทำตลาดกันดีกว่า อย่างที่ทราบกันดีจากทั้งการประกาศ(อย่างอ้อมๆ)ของนิสสันเอง และกระแสข่าวจากคนรอบตัวผมมากมาย Nissan LEAF เจเนอเรชั่นที่ 2 กำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยภายในปีนี้แล้ว

รถยนต์รุ่นนี้ ถือเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญของ Nissan ยุคใหม่ และสำหรับวงการรถยนต์โดยรวมด้วยเช่นกัน ฟังดูยิ่งใหญ่แต่เป็นเรื่องจริง ตรงที่ Nissan LEAF คือรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตออกมาสำหรับคนส่วนใหญ่ ด้วยรูปทรง สมรรถนะ และที่สำคัญคือ ป้ายราคาที่เอื้อมถึงได้ไม่ยากเหมือนรถไฟฟ้าคันอื่นในตลาด

มร.อัลฟอนโซ เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว เริ่มมีการพูดถึงโครงการทำ Nissan LEAF ในองค์กร ตอนนั้นไม่มีใครพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตจริงเลย แต่ LEAF คือรถยนต์ที่เปลี่ยนความคิดของผู้คน ด้วยการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพิสัย 160 กิโลเมตร/ชาร์จ โดยสารได้ 5 คนได้อย่างสบายๆ ในราคาที่ไม่แพงกว่ารถคอมแพคท์ทั่วไปมากนัก

การออกแบบ Nissan LEAF จึงเน้นหนักที่การเป็นมิตรต่อผู้คน เข้ากับทุกเพศทุกวัย โดยที่ไม่ทำให้คนกลัวกับความล้ำยุค แต่ยังคงมีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะเป็นรถยนต์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สุดท้ายแล้ว Nissan LEAF จึงออกมาในรูปทรงที่มีความโค้งมัน ดูเป็นมิตร แต่โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ด้านหน้าที่ไม่เหมือนใคร พร้อมโคมไฟหน้าที่ถูกออกแบบให้ช่วยเรื่องอากาศพลศาสตร์ของตัวรถ

Nissan LEAF กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลกไปในทันที โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิด พร้อมจุดประกายให้คู่แข่งในตลาดเริ่มส่งรถไฟฟ้าราคาจับต้องได้ออกสู่ตลาดด้วย

สำหรับเจเนอเรชั่นที่ 2 นั้น ทีมได้ออกแบบ Nissan LEAF ให้เป็นตัวแทนนิยาม ‘Intelligent Mobility’ ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าใหม่ที่ทรงพลังและวิ่งได้ไกลกว่าเดิม รวมถึงอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ทั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ ProPILOT, Nissan Connect รุ่นใหม่ และนวัตกรรมแป้นเหยียบไฟฟ้า E-Pedal

งานออกแบบ จึงไม่จำเป็นต้องแนะนำความเป็น ’LEAF’ สู่สายตาคนทั่วไปแล้ว สามารถนำเอาเอกลักษณ์งานออกแบบใหม่ของนิสสันตบกลับเข้าไปได้ มร.อัลฟอนโซ จึงให้ทีมออกแบบ ใส่ความแข็งกร้าวเข้าไปมากขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากลูกศรธนู เน้นเส้นแนวนอน ด้านหน้า-ด้านท้าย ออกแบบให้รู้สึกกว้าง หนักแน่นกับพื้นถนน ทำให้แสดงถึงจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ และโดยรวมแล้วต้องให้ความรู้สึกสนุกในการขับขี่

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม Nissan LEAF โฉมใหม่ จึงมีสัดส่วนไม่ต่างจากรุ่นเดิม แต่มีเส้นสายที่พลิกจากเดิมมาก ถึงแม้ว่าจะถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเจเนอเรชั่นแรก แต่ก็สามารถแสดงออกถึงปรัชญาการออกแบบใหม่ของนิสสันได้เป็นอย่างดี

ก่อนจากกัน มร.อัลฟอนโซ​ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถามคำถามกับเขา ทำให้ยิ่งรู้ลึกไปอีกว่า Nissan มีเป้าหมายอยากจะเป็นแบรนด์รถยนต์พร้อมระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่มีจำนวนมากที่สุดบนถนน เดาไม่ยากเลยว่าต่อไปนี้ ระบบ ProPILOT จะเข้าไปเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถนิสสันยุคใหม่มากขึ้นอย่างแน่นอน

ผมได้ทิ้งคำถามไว้กับ มร.อัลฟอนโซ ในมุมมองที่ตัวเองเป็นคนที่ชอบเรื่องรถยนต์ สนใจงานออกแบบรถเป็นพิเศษ รวมถึงยังสนใจเรื่องเทคโนโลยีทั่วไปด้วย

ในยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เทคโนโลยีแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังถูกพัฒนาขึ้นมาจนมีความสามารถที่มากขึ้นกว่าเดิมจนเพียงพอต่อการใช้งานของคนส่วนใหญ่ ทำให้เกิด Startup ที่ทำรถยนต์รูปแบบใหม่มากมาย เช่น Faraday Future, LeEco, NIO ฯลฯ ที่ต่างนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าดีไซน์ใหม่ เน้นประสบการณ์การใช้งานที่แบรนด์รถยนต์เดิมๆไม่เคยให้ได้มาก่อน

แล้ว Nissan เอง ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก ได้เตรียมอะไรไว้รับมือบ้างไหม ?

มร.อัลฟอนโซตอบอย่างมั่นใจว่า Nissan ติดตามเหล่า Startup ที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆมาสักพักใหญ่แล้ว และตอนนี้ Nissan เตรียมพร้อมด้วยการตั้งหน่วยงานเพื่อให้ทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี และมีดีไซน์สตูดิโอใน Silicon Valley (ย่านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในบริเวณใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา) เพื่อออกแบบเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงอินเตอร์เฟซใหม่ๆ ให้กับรถยนต์ Nissan ในอนาคต

การเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ มันไม่เพียงทำให้ผมเห็นภาพรถยนต์ Nissan ในยุคต่อไป หากแต่ทำให้ผมได้คิดต่อไปถึงอนาคตของวงการรถยนต์ เราอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป รถยนต์ในอนาคตอาจจะมีความนึกคิดและหน้าที่ของมัน เราอาจจะเป็นแค่งานๆหนึ่งที่มันต้องพาเราเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งก็ได้ และเมื่อจบงานให้เราแล้ว มันก็อาจจะมีงานอื่นๆที่ต้องทำให้คนอื่นต่อไปก็เป็นได้

นั่นก็ทำให้ผมตื่นเต้นไม่น้อย ว่านิยามคำว่า”รถยนต์”ในยุคต่อไป จะเป็นยังไงกันแน่?

Nissan เอง น่าจะเป็น 1 ในแบรนด์รถยนต์ที่ช่วยกำหนดนิยามนั้นได้ดี

ผมเชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้น


ขอขอบคุณ / Special Thanks :

ทีมงาน Nissan Motors (Thailand) จำกัด สำหรับโอกาสในการเข้าร่วมเสวนาครั้งพิเศษครั้งนี้


TOYD
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต//เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 26 มีนาคม 2018

Copyright (c) 2011 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com on 26 March 2018


แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> community.headlightmag.com/64386.0