นับจากที่บ้านเราเริ่มมีการจัดประกวดการออกแบบรถยนต์ ขึ้นเมื่อ 5-6 ปีก่อนที่ผ่านมา ด้วยเจตนาดีของผู้จัดที่อยากจะช่วยพัฒนาเด็กไทยให้มีโอกาสแสดงความสามารถสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้นแต่มีหลายคำถามที่เกิดขึ้นตามมา ตั้งแต่มาตรฐานคุณภาพในการจัดงานของผู้จัดว่ารู้จริงในเรื่อง การบริหารจัดการ และความเอาจริงเอาจังกับการจัดแค่ไหน? กรรมการตัดสินนั้นมีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้โดยเฉพาะแค่ไหน? ศักยภาพของผู้เข้าประกวดว่ามีเท่าใด?

 

(ภาพผลงานการออกแบบ ของ  Oskar Johanson ชาวนอร์เวย์ )

 

                จริงๆ แล้วการจัดการประกวดออกแบบรถยนต์ในต่างประเทศนั้นน่าจะเริ่มมาจากการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาที่มีการสอนด้านการออกแบบรถยนต์โดยตรงที่นักศึกษาจะต้องสร้างผลงาน ตั้งแต่ภาพ สเก็ตช์ หุ่นจำลอง (Model) ขนาดย่อส่วน การเขียนแบบจากสัดส่วนที่แน่นอน และภาพ Rendering ที่จะเห็นรายละเอียดของรถที่ออกแบบได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้นักศึกษาทุกคนจะต้องทำออกมาแล้ว พรีเซ้นท์ต่ออาจารย์ผู้สอนเมื่องานทั้งหมดเสร็จสิ้นซึ่งจะใช้เวลา 1 เทอม (3 เดือน) ในการทำงาน การตัดสินนั้นจะทำโดย อาจารย์หรือคณะอาจารย์ผู้สอนผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญมากที่สุดในสาขาวิชานี้

 

                และแล้วเมื่อการประกวดออกแบบรถยนต์ถูกจัดขึ้นสำหรับบุคคลภายนอกทั่วไปความยากในการควบคุมนั้นจึงเกิดขึ้น เนื่องจากมาตรฐานของผลงานที่ถูกส่งข้ามานั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างเทียบกันได้ยาก ตั้งแต่แบบมืออาชีพที่เคยเรียนออกแบบรถยนต์มาจนถึงเด็กๆ ที่เพิ่งหัดวาดรูป ถามว่าแล้วจะตัดสินกันอย่างไร?

 

องค์ประกอบและคุณสมบัติของการจัดประกวดออกแบบรถยนต์

 

                1.ผู้จัด

ต้องมีความเข้าใจในการจัดงานลักษณะนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าจัดเพื่อหาสปอนเซอร์

 

                2.กรรมการ

 กรรมการทุกคนควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบรถยนต์โดยตรง (เท่านั้น) และอยู่ในวงการการออกแบบรถยนต์มาเป็นเวลานาน เพราะจะได้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้อย่างเต็มที่ (เห็นงานมามากซึ่งจะทราบว่างานนั้นๆ Copy มาหรือคิดขึ้นใหม่)

 

                3.กฎ กติกา

ควรตั้งโจทย์ให้เหมาะกับผู้เข้าประกวดในท้องถิ่นนั้นๆ และจะต้องมีมาตรฐานของชิ้นงานที่เหมือนกันตั้งแต่ขนาดของภาพและขนาดของโมเดล

 

เกณฑ์การให้คะแนนอาจแบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆได้ดังนี้

1.ความคิดสร้างสรรค์ (Original Idea)

2.เทคนิคการพรีเซ็นต์ที่ออกมาชัดเจนสวยงามและประณีตบนพื้นที่ๆเท่ากัน

 

ปัญหาของการให้คะแนน

                ผลงานที่ถือว่าผ่านมาตฐานนั้นย่อมจะต้องมีเทคนิคการพรีเซนต์ที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถึงแม้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะดีเลิศเพียงไร แต่ถ้าเจ้าของผลงานไม่สามารถถ่ายทอดไอเดียนั้นออกมาให้เป็นรูปธรรมได้ ความคิดที่ดีเลิศนั้นก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

                จากประสบการณ์ที่ผมเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินมาหลายปีพบว่า มาตรฐานงาน (ทั้งทางด้านเทคนิค ฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์) ของผู้ส่งเข้าประกวดส่วนใหญ่นั้นยังไม่ผ่าน แม้กระทั่งงานชิ้นที่ดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่ด้วยกติกาที่จำเป็นจะต้องมอบรางวัลให้กับผู้ที่ได้ที่ 1, 2, 3 และชมเชย (เพราะสปอนเซอร์ให้เงินมาแล้ว) ทำให้กรรมการต้องจำใจให้รางวัลในทุกครั้งไปซึ่งมาตรฐานงานที่เห็นนั้นมันควรจะได้เต็มที่แค่รางวัลชมเชยเท่านั้น!

 

                สิ่งที่ตามมาคืออะไร? ผู้จัดและสปอนเซอร์คงจะไม่ได้คิดอะไรมาก จัดแล้วก็แล้วกัน แต่ที่มีผลโดยตรงก็คือตัวเจ้าของผลงานที่จะมีความปลื้มปิติ ดีใจ ภูมิใจ ถึงขั้นหลงตัวเองได้เลย เพราะเขาสามารถเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดการออกแบบระดับประเทศได้! แต่ในความเป็นจริงแล้วผลงานของเขานั้น ถ้าต้องให้เป็นคะแนนก็จะให้ได้ไม่เกิน 6 ใน 10 คะแนนเท่านั้น ซึ่งผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ว่าการทำงานในชีวิตจริงของพวกเขาจะทำอย่างไรในเมื่อฝีมือหรือมาตรฐานความสามารถของเขายังมีไม่เพียงพอ แต่กลับได้รับการสรรเสริญกันอย่างยิ่งใหญ่เกินจริง

 

การประกวดออกแบบรถที่เป็นไปได้สำหรับบ้านเราก็น่าจะเป็นการพรีเซนท์แค่ภาพก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องปั้นโมเดลให้ยุ่งยากเพราะเราไม่ใช่นักศึกษาที่เรียนด้านออกแบบรถยนต์โดยตรง หลักสูตรออกแบบรถในมหาวิยาลัยของบ้านเรานั้นส่วนใหญ่เป็นเพียงวิชาเลือกทำให้นักศึกษาจะต้องทำงานของวิชาอื่นอีกหลายวิชา (สำหรับหลักสูตรของเมืองนอกนั้นจะเรียนแต่การออกแบบรถอย่างเดียวทั้งเทอม) ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเวลามาทำงานส่งประกวดอย่างเต็มที่และจริงจัง คุณภาพงานที่ส่งประกวดจึงออกมาแบบไม่มีคุณภาพอย่างที่เห็นๆ กัน

 

                การจัดประกวดออกแบบรายการใหญ่ๆ ของโลกในปัจจุบันนั้นก็จะรับเป็นภาพสเก็ตช์ และ Rendering เท่านั้นก่อน เพราะจะตัดสินกันที่ไอเดีย โดยภาพ  Rendering นั้นก็มักจะสร้างมาจากโปรแกรม 3D ที่สามารถ Rendering ภาพออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนในทุกมุมมองอยู่แล้ว แต่ถ้ารายการใดที่อยากจะทำต่อก็สามารถคัดเอางานที่ดีที่สุดส่งให้นักสร้างโมเดลมืออาชีพทำขึ้นมาก็ได้เพื่อการโชว์ออกสู่สาธารณชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือจะให้ดีที่สุดก็นำแบบที่ชนะเลิศนั้นมาสร้างเป็นต้นแบบเท่าคันจริงเพื่อโชว์ในงาน Motorshow เหมือนกับการประกวดของเปอโยฒ์ดีไซน์คอนเทสต์เมื่อหลายปีก่อน แต่สำหรับบ้านเรานั้นที่เหมาะสมที่สุดจริงๆ ก็คือกำหนดพื้นที่ของภาพที่จะ Present ลงบนบอร์ดขนาดเท่าๆ กันทุกคนอาจจะเป็นขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตรก็ได้ แล้วสร้างภาพและจัดองค์ประกอบการพรีเซนท์ลงบนบอร์ดแล้ว Print Inkjet สีออกมา ซึ่งจะต้องเห็นรายละเอียดของรถได้อย่างชัดเจนในทุกมุมมอง การประกวดแบบนี้จะเน้นที่ไอเดียล้วนๆ ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง เวลาก็ใช้น้อยกว่าการที่จะต้องปั้นโมเดลทั้งคันมาก (การปั้นโมเดลเป็นการฝึกทักษะในการปั้นไม่ใช่การโชว์ไอเดีย) ตัวอย่างของการประกวดแบบนี้ถูกจัดขึ้นทุกปีที่งาน La. Autoshow ที่เขาจะเชิญบรรดา Studio ออกแบบรถยนต์จากทุกบริษัทแข่งขันกันออกแบบรถแห่งอนาคตตามโจทย์ที่จะตั้งขึ้นในแต่ละปี

                อาจจะสรุปได้ว่า การจัดการประกวดออกแบบรถยนต์ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีความเข้าใจในการจัดงานที่เพียงพอ โดยเฉพาะศักยภาพและสภาพความเป็นจริงของผู้ส่งเข้าประกวดดังนั้นถ้าจะพัฒนาความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ ก็ควรจะใช้วิธี การพรีเซนท์ด้วยภาพนั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องปั้นโมเดลให้เสียเวลาอีกต่อไป

 

 

 

——————————///—————————–

 

ทัศไนย ไรวา่

ลิขสิทธิ์ของบทความนี้ เป็นของผู้เขียน

เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.headlightmag.com 

7 มีนาคม 2009