ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแดนอิเหนา รถยนต์ค่าย Toyota ดูจะผูกขาดกับผู้คนในนั้นไปเสียแล้ว เพราะรถ Toyota โดย
เฉพาะ Kijang (หรือ Innova ในบ้านเรา) รถยนต์อเนกประสงค์เน้นการบรรทุกคน 7 ที่นั่ง กลายเป็นรูปแบบรถยนต์
ที่ทำออกมาได้โดนใจชาวอินโดนีเซียมาเป็นเวลาช้านาน และสร้างยอดขายอันดับ 1 ติดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ไม่แปลกใจ
เลยที่ในปัจจุบัน Toyota และ Daihatsu ขยายเครือข่ายดีลเลอร์ได้มากถึง 450 แห่ง และกินส่วนแบ่งตลาดรถยนต์
ทั้งหมดได้มากถึง 54% ในระยะเวลาเพียง 40 ปี

ในขณะเดียวกัน General Motors ที่อยู่มานาน 75 ปี กลับสร้างส่วนแบ่งตลาดได้เพียง 0.7% ในปัจจุบัน นั่นทำให้
GM ต้องตื่นตัวเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ของตนในอินโดนีเซียให้ดีขึ้นโดยเร็ว

alt

อันที่จริงแล้วในตลาดโลก General Motors เองก็มียอดขายเป็นรอง Toyota อยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ GM เพ่งเล็ง
ตลาดอินโดนีเซียเป็นพิเศษ เพราะประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มตลาดที่
สำคัญที่สุดในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ เพราะมีการคาดการณ์ว่า กลุ่มตลาดเกิดใหม่จะสร้างยอดจำหน่ายรถยนต์ได้ถึง
2 ใน 3 ของรถยนต์ทั่วโลก ภายในปี 2020

นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นไม่น้อยหน้าจีนด้วยตัวเลขถึง 240 ล้านคน
และในปีที่แล้วอินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์ทั้งหมด 1 ล้านคัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

และในขณะนี้ หมากตัวสำคัญของ Chevrolet ที่จะใช้รุกตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ Chevrolet Spin รถยนต์โดยสาร
7 ที่นั่ง ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะ และเป็นประเภทรถยนต์ที่ถูกใจกับรสนิยมชาวอินโดนีเซีย
ซึ่ง Dan Akerson หัวเรือใหญ่ GM คาดหวังกับรถยนต์รุ่นนี้ไว้มาก ว่าจะสามารถช่วยให้ Chevrolet เพิ่มส่วนแบ่ง
ในตลาดได้ 7-10% ภายในปี 2020 พร้อมกับการส่ง Marcos Purty นักบริหารคนเก่งของ GM ให้เป็นผู้เดินเกม
ในครั้งนี้โดยเฉพาะ

ส่วน Toyota และแบรนด์ลูกอย่าง Daihatsu เอง ในนามบริษัท Toyota-Astra Motor และ Daihatru-Astra Motor
ทราบถึงการเริ่มต้นรุกหนักของ GM อยู่แล้ว จึงเตรียมตั้งรับเต็มที่ด้วยการร่อนสัญญาให้ดีลเลอร์โตโยต้าและไดฮัทสุ
ทั่วประเทศอินโดนีเซีย เซ็นผูกมัดในการทำธุรกิจกับ Toyota และ Daihatsu เพียงผู้เดียว

สำหรับ General Motors นั้น แม้จะเข้าไปฝังตัวในอินโดนีเซียนานกว่า Toyota แต่วิกฤตฟองสบู่เศรษฐกิจแตก
เมื่อปี 1997 ทำให้ GM ต้องสะดุดขาล้ม และลุกกลับขึ้นมาสู้ได้อย่างลำบากในอินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์
ในประเทศก็มีความระอุไม่น้อย ในขณะที่ Toyota สามารถหาคู่ร่วมธุรกิจเป็น Astra และทำตลาดรถยนต์ตัวเองต่อไปได้
อย่างสวยงาม GM ต้องจับมือกับ Isuzu และพาร์ทเนอร์ในประเทศ พัฒนารถยนต์สำหรับตลาดอินโดนีเซียโดยเฉพาะ
โดยเป็นการนำเอาพื้นฐานของ Chevrolet Blazer รุ่นปี 1996 มาพัฒนาต่อ ออกมาเป็น Chevrolet Blazer Montera
รถยนต์ SUV ที่เปิดตัวในปี 1999 แต่กลับถูก Toyota Kijang ทิ้งห่างยอดขายไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ปัจจุบัน Marcos Purty พยายามปรับภาพลักษณ์แบรนด์ Chevrolet ในอินโดนีเซียใหม่ เริ่มต้นด้วยการเสนอรถยนต์
ประเภทใหม่ รุ่นใหม่ สู่ตลาดอินโดนีเซียมากขึ้น เพื่อลบภาพลักษณ์แบรนด์รองในตลาด โดยในปีที่แล้วคนอินโดนีเซีย
ได้ใช้รถ Chevrolet เพิ่มถึง 4 รุ่น 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Colorado, Trailblazer, Captiva และ Aveo
(หรือ Sonic ในไทย)

อย่างไรก็ตาม Spin เป็นรถยนต์ที่ Chevrolet ให้ความสำคัญมากที่สุดสำหรับตลาดอินโดนีเซียในปัจจุบัน โดยวางเป้าจำหน่ายถึง
40,000 คันในปีนี้ และรุกหนักด้านราคาขายปลีก ด้วยการผลิตชิ้นส่วนตัวรถในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้ตั้งราคา
ได้ต่ำเพียง 139.7 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 4.4 แสนบาทเท่านั้น นอกจากนี้ GM ยังเตรียมเพิ่มดีลเลอร์ของตนให้มี 50
แห่งภายในปีนี้อีกด้วย จากในปัจจุบันที่มีเพียง 34 แห่ง ทั่วประเทศ

ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าความพยายามของ General Motors ในครั้งนี้ จะสามารถจุดระเบิดตัวเองในตลาดอินโดนีเซีย
ได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งกว่าจะเห็นภาพความสำเร็จ อาจต้องรอดูถึงปี 2020 นี้เลยก็เป็นได้ครับ

ที่มา : Automotive News