ความน่านับถือของค่ายรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เราต้องยกนิ้วให้คือความพยายามอย่างยิ่งยวดในการท้าทายความเปลี่ยนแปลงและยอมรับว่าพวกเขาใช้ความพยายามอย่างสูงมากกว่าจะผลักดันรถยนต์รุ่นสำคัญหลายรุ่นให้เป็นที่นิยมให้ได้แม้ต้องใช้เวลานานมากถึง 20 ปีหรือล้มแล้วล้มอีกก็ตาม

 

 

ค่าย Honda จัดเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีความพยายามสูงมาก ๆ ค่ายหนึ่งที่เราเคยเห็นมา ทีมงานมีความใฝ่ฝันพัฒนารถเพื่อต่อต้านข้อจำกัดของตนเองหลายต่อหลายรุ่น ตัวอย่างความสำเร็จระดับโลกที่ชัดเจนมากคือการพัฒนา Honda Jazz ท้าทายทุกข้อจำกัดของรถซับคอมแพคท์ยุค 2000 ด้วยการย้ายถังน้ำมันไปไว้ใต้ห้องโดยสารตอนหน้าและจัดการวางผังพับเบาะใหม่กลายเป็นรถที่โดดเด่นที่สุดแทบทุกด้าน หลังจากพยายามพัฒนา City ช่วงต้นยุค 90 ในญี่ปุ่นจนถึงรุ่น Logo ปี 1996 ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

หรือยกอีกตัวอย่างหนึ่งคือความสำเร็จของ Honda Freed ที่พยายามลบข้อผิดพลาดจาก Honda Mobilio ใหม่ทั้งหมด แต่ใช่ว่า Honda จะยิ้มย่องกับความสำเร็จเพียงชั่วครู่เท่านั้น เพราะพวกเขายังมีภาระกิจกอบกู้ยอดขายรถที่ไม่ได้รับความนิยมกันต่อไป

Honda Airwave คือรถแวกอนระดับคอมแพคท์ถูกสร้างบนพื้นฐาน Fit/Fit Aria แทนที่รถตระกูล Orthia (ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐาน Honda Civic เจเนเรชั่นที่ 6 รหัส EK) ในช่วงปี 2005 เน้นจับกลุ่มแม่บ้านในญี่ปุ่นที่ชอบรูปลักษณ์แบบสปอร์ตแต่การขับขี่เน้นความนิ่มนวลยิ่งกว่า Fit หนำซ้ำ Honda ยังส่งเวอร์ชันเพื่อการพาณิชย์ไม่เน้นความสวยงามในชื่อ Partner อีกด้วย

 

 

ช่วงแรกของการขาย Honda Airwave ถือว่าทำได้ดีในระดับ 3,500-5,000 คันต่อเดือนไม่ตกหล่นภายในปี 2005 แต่พอขึ้นปี 2006 เป็นต้นมายอดขายรถแวกอนทรงสวยคันนี้กลับแผ่วลงจนบางเดือนไม่ติด 1 ในรถยอดนิยม 30 รุ่นเสียด้วยซ้ำ หลังจากนั้นเป็นต้นมายอดขายก็กู่ไม่กลับอีกต่อไป

ถ้าพิจารณาตามเนื้อผ้าในตลาดญี่ปุ่นกลุ่มรถยนต์ตลาดแวกอนสำหรับครอบครัวก็ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับกลุ่มตลาดประเภทรถตู้หรือมินิแวน, รถแฮทช์แบคหรือแม้แต่รถซีดานเลย ดังนั้น Honda จึงพิจารณากาพัฒนา Airwave รุ่นต่อไปว่าจะให้มันยืนอายุต่อไปหรือจับยุบรวมกับรถรุ่นดังของตนเอง

จากเหตุผลดังกล่าว Honda จึงเลือกยุบชื่อ Airwave ทิ้งเสียและอาศัยบารมีความโด่งดังของรถเล็กตระกูล Fit แทน อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ Honda วางกลยุทธ์การตลาดได้ง่ายกว่าและน่าจะใช้งบประมาณการทำตลาดน้อยกว่าการแยกชื่อรุ่นออกไป เพราะไหน ๆ ยอดขายรถแวกอนคอมแพคท์ก็น้อยจนพึ่งอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

เพื่อเป็นการยืนยันว่า Honda เลือกเดินทางสายนี้จริง เรามีภาพหลุดโบรชัวร์ Honda Fit Shuttle ให้ได้ชมกัน

ความจริงแล้วชื่อ Shuttle เคยถูกใช้เรียกชื่อ Honda Odyssey สำหรับตลาดยุโรปช่วงปี 1995-2002  และ Honda Civic ตัวถังแวกอนช่วงปี 1983-1991 มาก่อนแล้วตามธรรมเนียมของ Honda ที่มักนำชื่อรถรุ่นเก่าที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังกลับมาใช้อีกรอบจนได้ดิบได้ดีเป็นบางรุ่น ดังนั้น การนำชื่อ Shuttle มาห้อยท้ายชื่อ Fit เพื่อบ่งบอกว่ามันเป็นรถสไตล์แวกอนจึงไม่เป็นความผิดอันใหญ่หลวงนัก

ดีไซน์ของ Honda Fit Shuttle เล่นง่ายมากด้วยดัดแปลงแค่บั้นท้ายให้เป็นรถแวกอนที่มองบั้นท้ายชวนให้นึกถึง Airwave ผสมกับบั้นท้าย Honda Fit รุ่นปัจจุบัน แต่ยังคงรักษาโครงสร้างตัวถังตั้งแต่ด้านหน้าสุดจนไปถึงประตูคู่หลังทุกประการไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ใช่ว่า Honda จะเล่นง่ายจนลืมนึกถึงความแตกต่างระหว่างตัวถังแวกอนและรุ่นพื้นฐาน Honda จึงจัดการเปลี่ยนรูปโฉมด้านหน้าให้แตกต่างจาก Fit รุ่นมาตรฐานเล็กน้อยด้วยขอใช้ไฟหน้าจาก Fit รุ่นก่อน Minorchange, กระจังหน้าสำหรับรุ่นเครื่องยนต์สันดาปออกแบบดูคล้าย Nissan Murano รุ่นปัจจุบัน ส่วนรุ่น Hybrid จะได้กระจังดูคล้าย ๆ Fit Hybrid และกันชนหน้าเพิ่มระยะยื่นหน้าพอสมควร

น่าเสียดาย Honda Fit Shuttle กลับไม่มีกระจกหลังคาพาโนรามาเหมือนกับ Honda Airwave ซึ่งเคยเป็นจุดเด่นของรถคันนี้

ขุมพลังของรถคันนี้จะมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซินมาตรฐาน 1.5 ลิตรและขุมพลัง IMA Hybrid พ่วงเครื่องยนต์สันดาปภายใน 1.3 ลิตรกับมอเตอร์ไฟฟ้าในตัว

กำหนดการเปิดตัวน่าจะได้เห็นภายในไตรมาสนี้ในตลาดญี่ปุ่น สำหรับตลาดอื่น ๆ น่าจะเป็นไปได้ยากที่จะเห็น Fit Shuttle