ความในใจเบื้องต้นของ HOMY DEMIO

HOMY DEMIO คือสิ่งมีชีวิตที่ชอบรถยนต์จนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ
Headlightmag.com ในปี 2009 ในตอนแรกก็ไม่ได้หวังว่ามันจะกลายเป็น
เว็บไซต์ความรู้รถยนต์ลำดับต้นของเมืองไทยและไม่ได้หวังว่าจะได้รับโอกาสดี ๆ
มากมายขนาดนี้ ที่ทำไปเพราะมีโอกาสได้รับเชิญจากพี่ J!MMY ให้มาเป็น
กองบรรณาธิการรับเชิญและความชื่นชอบของทีม The Coup ที่มาบรรจบ
กันจากทางเดินที่แตกต่างตามสายแยกต่าง ๆ จนสุดท้ายก็เป็นความสนุกที่ได้
เผยแพร่ข่าวสารในวงการที่ตนเองรักที่อยากให้ทุกคนได้มองโลกยานยนต์
อันกว้างใหญ่ไพศาลนี้พร้อมกัน

ปกติครับเว็บไซต์ Headlightmag.com มันก็มีอุปสรรคให้พวกเราฝ่าฟัน
กันมาตลอดเรื่อยมาและมันก็จะต้องมีตลอดมา ถ้าไม่มีปัญหาอะไรเลย
มันก็คือเว็บที่ตายไปแล้วนะครับ ดังนั้น ขอมีปัญหาและอุปสรรคให้แก้ไข
จะดีกว่า จะได้สนุกกับคุณผู้อ่านไงครับ เอิ๊ก

ยิ่งนานวันเว็บก็เริ่มเติบโตขึ้นและแน่นอนเราก็ต้องเติบโตขึ้นทุกวัน เราก็
ต้องมีพัฒนาการทั้งด้านการทำงานและโอกาสในการทำงานที่เพิ่มขึ้น
ยิ่งเซลล์ในร่างกายเสื่อมลงไปทุกวัน ๆ เราก็ต้องยิ่งไขว่คว้าโอกาสที่กำลังผ่าน
ตรงหน้าให้ดีที่สุด จริงไหม?

จนกระทั่งช่วงหนึ่งในเดือนกันยายน 2013 จำวันไม่ค่อยจะได้ ผมก็ลองออด
อ้อนพี่ J!MMY ดูสักครั้งสารภาพแบบแมน ๆ ว่าอยากไป Tokyo
Motorshow 2013 น่ะ ถ้ามีโอกาสขอสักครั้งได้ไหม อยากไป๊ อยากไป
จริง ๆ ครับ เพียงแต่ไม่ออกอาการอ้อนจนกวนอวัยวะเบื้องล่างให้เป็นพิธี

อันที่จริงแล้วพี่ J!MMY เองก็อยากจะให้กระผมมีโอกาสได้ไปงานแสดง
รถยนต์ต่างประเทศหรืออย่างน้อย ๆ ก็น่าจะได้ไปร่วมงานกับค่ายรถใน
ต่างประเทศกับเขาบ้าง นี่คือนิมิตรหมายที่พี่เขาตั้งใจเอาไว้อยู่แล้วครับ
ถึงไม่มีโอกาสในวันนั้นแต่วันหน้าใช่จะไม่มีโอกาส!

บรรทัดนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณพี่ J!MMY ที่ให้โอกาสที่ดีมากให้แก่
ผมนะครับ _/l\_ (กราบสวยเลยทีเดียวเชียว)

และแล้วเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อลืมตาปุ๊บ โอกาสนั้นก็มาถึงครับ

วันหนึ่ง ผมได้ยินเสียงโทรศัพท์กริ๊งกร๊างจากเบอร์นิรนาม คุยไปคุยมาก็พอ
ได้ศัพท์ว่า ผมได้รับโอกาสพิเศษจาก Nissan Motor ประเทศไทยในการ
เข้าร่วมชมงาน Tokyo Motorshow 2013 รวมไปถึงเยี่ยมชมโรงงานผลิต
เครื่องยนต์ที่โยโกฮามะ ยังไม่พอเราก็จะต้องไปสวัสดีคุณปู่รถ
Datsun/Nissan  Heritage DNA Garage อันเป็นสถานที่พี่ J!MMY
เคยไปเยี่ยมชมมาแล้วในช่วงต้นปี 2013 ที่ผ่านมา

ในช่วงแรกที่ได้รับการเชื้อเชิญโดยคุณสุภาวดี ศรีโรจนภิญโญ ผู้จัดการส่วน
ประชาสัมพันธ์แห่ง Nissan ประเทศไทย (เรียกกันเล่น ๆ ว่าพี่เกตุ ซึ่งจะกลาย
เป็นซือเจ๊ประจำกรุ๊ปทัวร์นี้กันเลยทีเดียว) ก็เคยบอกว่า ผมอาจจะมีโอกาส
ได้ทดลองขับ All New Nissan X-Trail ด้วย ในตอนนั้น  ผมก็ แอบ
ฮูเร่ฮาฮาในใจอยู่นิดหน่อยจนถึงขั้นวางแผนจะเช่ารถ X-Trail
รุ่นเหลี่ยมถึกที่ขายในปัจจุบันมาทดลองขับเพื่อเทียบฟีลลิ่งอะไรบาง
อย่างกันเลยทีเดียว

แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาพี่เกตุก็โทรมาแจ้งว่าพวกเราไม่ได้ขับ X-Trail รุ่นใหม่แล้ว
เพราะไม่มีรถเตรียมมาให้ทดสอบ  ตอนนั้นก็มีเสียง ปิ้ว ๆ อยู่ในใจเบา ๆ
ผมเรียนตามตรงว่าเสียดายมาก ๆ ถ้าได้ทดลองขับจริงแล้วผมก็อยาก
จะเมาท์ให้ผู้อ่านฟังอย่างเมามันแน่นอนครับแต่บังเอิญว่าอด เอาเป็นว่ารอ
1st Impression ในประเทศไทยจากเว็บของเราจะดีกว่าครับ

เอาน่า แต่อย่างน้อยก็ได้เปิดประสบการณ์ชีวิตในโตเกียวกับ Nissan Motor
ประเทศไทยก็นับว่าโชคหล่นทับยิ่งกว่าถูกสลากกินแบ่ง 2 ตัวท้ายเสียอีกครับ

ที่สำคัญ ณ ช่วงเวลาที่เราไปนั้นเป็นช่วงเวลาการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปีแบรนด์
Nissan อีกด้วย ก็คาดว่าทริปที่ไปคงจะไม่ธรรมดาแน่

กำหนดการที่ผมจะต้อง Take Off จากเมืองไทยไปสู่สนามบินนาริตะ คือ
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2013 เพื่อน ๆ พี่ ๆ ผู้สื่อข่าวรวมแล้ว 6 ชีวิตจะต้อง
รวมตัวกันที่สนามบินสุวรรณภูมิราว 5.30 น. ระหว่างที่จะถึงวันนั้นทุกคน
ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมตังค์ไปช๊อปปิ้งกัน

การเตรียมตัว – ทุกคนต้องเตรียมตัวนำเครื่องนุ่งห่มมากชิ้นเพื่อต้านลมหนาว
ตอนกลางวัน 17 องศาเซลเซียส และตอนตะวันตกดินที่จะมีอุณหภูมิราว
10 องศาเซลเซียส ฟังแล้ว โอ๊ะ ๆ จะหนาวจับใจหรือเปล่านะ ไม่สนล่ะ
HOMY DEMIO ก็รุดหน้าไปซื้อเสื้อแนบเนื้อลองจอห์นและผ้าพันคอมาเล้ย

แต่พอเอาเข้าจริงก็เสื้อกันหนาวสุดโปรดของน้องสาวที่ผจญลมหนาวจากจีน
ก็สามารถต้านลมหนาวระดับ 10-17 องศาฯ ได้สบายมาก ของที่
ซื้อมากลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับห้องไปซะงั้น แต่ก็นะถ้าไม่ประมาท
การเตรียมตัวเอาไว้ก็คงไม่ผิดใช่ไหมครับ เผื่อจู่ ๆ เกิดหนาวกะทันหัน
ใครจะไปช่วยเราไหวล่ะ

เตรียมปลั๊กเสียบ 2 ตาแบบหัวเหลี่ยมไว้ให้ดีด้วยนะครับเพราะช่องเสียบ
ปลั๊กของที่นู่นจะไม่รองรับหัวกลมเด็ดขาด ส่วนความกังวลเรื่องของหัวแปลงกำลังไฟ
นั้นอาจไม่ต้องกังวลมากนัก เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบจะทุกชนิดก็รองรับการใช้งานได้สบาย ๆ ครับ
เว้นเสียแต่ว่าคุณจะแบกเอาเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท เตารีด, ไมโครเวฟ 
จากไทยไปใช้งาน

การเตรียมใจ – เอ ข้อนี้ไม่น่าจะโผล่ในทริปการท่องโตเกียวครั้งนี้เลยนะฮะ
เอาเป็นว่าทำใจให้สบายเก็บหอมรอมริบและเก็บข้าวของที่จำเป็นดีกว่า

เตรียมสตางค์ – ในทริปของค่ายรถส่วนใหญ่มักจะมีสวัสดิการให้ผู้สื่อข่าว
ตลอดเส้นทางอยู่แล้วครับ ดังนั้น เราจึงควรต้องเตรียมเงินแยกออกมาสำหรับ
ใช้จ่ายฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็น (เช่น แอบดอดไปเที่ยวตามลำพัง)
และไปซื้อของฝาก Duty Free ครับ

cover1

ก่อนที่จะขึ้นทริปท่องเที่ยวนั้นผมอยากจะขออภัยกับภาพประกอบ
ทริปครั้งนี้ด้วย บางภาพอาจจะมัวกันสักเล็กน้อยเพราะ
HOMY DEMIO เป็นคนมือไม่ค่อยจะนิ่งมาก อีกทั้งบางสถานที่ก็มี
เวลาจำกัดดังนั้น จึงทำให้บางภาพค่อนข้างมัว แต่ ก็จะพยายามปรับความ
คมชัดของภาพผ่านโปรแกรมตกแต่งภาพแล้วครับ

นี่คือบทความตะลุยเมืองและตึก Nissan Guest Hall & Nissan Engine Museum
ณ โรงงาน Yokohama ตอนแรกเท่านั้น ส่วนตอนต่อไปจะเป็นการเจาะลึกการสร้าง
เครื่องยนนต์ Nissan GT-R VR38DETT และท่อง Heritage DNA Garage
ซึ่งก็ต้องติดตามชมกันต่อไปครับ

19 พฤศจิกายน 2013

ยังไม่ทันจะบินออกจากสยามผมก็ต้องเสียเงินไปแล้วถึง 510 บาท!!? ไม่ใช่
เงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษอะไรหรอกครับ แต่เป็นค่า Taxi จากฝั่งธนไปสู่ห้วย
หนองงูเห่าที่เริ่มรู้สึกว่าแพงมหาโหดเหมือนกันอย่างว่าครับระยะทางไกลซะ
ขนาดนั้น ยิ่งรวมค่าทางด่วนด้วยผลก็คือเราต้องจ่ายเงินเหนาะ ๆ
แล้วถึง 510 บาท ท่องไว้ ๆ เงินแค่นี้เองเมื่อเทียบกับโอกาสที่ไปโตเกียว
แล้วก็คุ้มมาก ๆ

เวลา 5.30 น.นี่คือเวลาที่ผมไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิจริง ๆ และน่าจะถึงก่อน
คนอื่นสักเล็กน้อย เพราะไม่เห็นคนคุ้นหน้ากันเลย อ๊ะ หลายคนคงสงสัยว่า
ในเมื่อผมไม่เคยเห็นพี่ ๆ นักข่าวมาก่อนเลยแล้วผมจะคุ้นหน้าได้อย่างไร
ก็เพราะก่อนวันเดินทางไม่กี่วันทีมพีอาร์จะต้องนัดนักข่าวที่จะไปโตเกียวทาน
ข้าวก่อนเพื่อให้คุ้นหน้าคุ้นตากันก่อนนั่นเอง

ในเมื่อไม่เจอใครก็เลยต้องโทรหาพี่เกตุ PR สาวสุดสวยหมวยสะท้านโลกันต์
(ที่ถึกและอึดกว่าที่คิดมาก)ซะหน่อยเห็นพี่เขานัดหน้าเช็คอิน C แต่กลายเป็น
ว่าต้องหอบหิ้วร่างกายและสัมภาระไปหน้าเช๊คอินช่อง J ระหว่างเดิน
ผมก็เหลือบไปมองกลุ่มนักข่าวกลุ่มใหญ่มากที่ไปกับ Toyota ทราบทีหลังว่า
ไปกันมากกว่า 40 ชีวิตรวมแขกกิตตมศักดิ์อย่างคุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์
ดูจากภายนอกแล้วท่าทางจะสนุกสนานและเฮฮาไม่น้อยเหมือนกันนะ

รอสักพักใหญ่ผู้สื่อข่าวทั้งหมดและยังมีพี่ตุ๊ก พีอาร์ Nissan (ที่แวะมาเยี่ยม
ส่งเฉย ๆ) ก็มาถึงสุวรรณภูมิหนองงูเห่ากันครบแล้วก่อนเดินทางก็ต้องกินกัน
ที่ร้าน S&P กันก่อนขอบอกเลยว่ารออาหารนานมากกกกกกกกก จริง ๆ

ในระหว่างที่ทุกคนคุยกันในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่สนุกสนานเท่ากับ
กลุ่มใหญ่ของยี่ห้ออื่น ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าพอถึงเวลาจริงแล้วกลุ่มเล็ก ๆ นี่ล่ะ
กลับรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินกว่าไปกลุ่มใหญ่เสียอีก

ช่วงเวลาสัก 7 โมงปลาย ๆ เราก็ต้องไปถึงหน้างวงช้างให้ทันให้ได้มิเช่นนั้น
จะตกเครื่องกันพอดี พอไปถึงปุ๊ปก็มองเห็นกลุ่มนักข่าวที่ไปกับ Toyota
กลุ่มใหญ่มากก็ทำให้เราเข้าใจว่าพวกเราทุกคนก็ต้องนั่งเครื่องบินเที่ยว
TG676 Airbus A380 พร้อมกันถึงสนามบินนาริตะด้วยกัน
นั่นเอง มองไปมองมาก็เห็นคุณดอม เหตระกูลมาร่วมทริป Toyota ด้วยแฮะ

nissan tokyo pt1 2

ความในใจของคนพื้น ๆ แบบผมที่ไม่ค่อยมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็
ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการนั่งเครื่องบินซะเท่าไรนัก มันก็ดูน่าสนุกสนานดีนะเมื่อ
ล้อวิ่งพ้นแผ่นดินใจก็ตุ๊บ ๆ หูก็ตึ๊บ ๆ อยู่ร่ำไป การไปครั้งนี้ผมถือว่าเป็นการ
ไปที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้นสักเล็กน้อยครับ อย่างน้อย ๆ ก็ได้สำรวจ
เครื่องบิน Airbus ลำยักษ์รอบ ๆ ตัวกันได้

Airbus A380 ชั้นประหยัด Economy Class มี Legroom พอให้นั่งได้
แต่ขอโทษเถอะเนื้อที่วางสัมภาระใต้เบาะหน้าน้อยไปหน่อย ครั้นจะไปยัด
ข้าวของบนห้องเก็บของเนื้อศีรษะก็เกรงว่าของที่ยัดกันเข้าไปจะระเบิด
พุ่งเป็นโกโก้ครันช์เสียเปล่า ๆ ผมจึงต้องเก็บ Notebook ไว้ใต้ที่
นั่งหน้าจะดีกว่า เพียงแต่ต้องหาวิธีที่จะยัดใต้ล่างให้ได้ก็แค่นั้น

นอกจากนี้ยังมีความบันเทิงเต็มพิกัดผ่านหน้าจอ “จิก”สัมผัส เพราะหน้าจอ
พี่แกใช้ระบบที่สั่งการช้าเสียเหลือเกิน ถ้าอยากจะเอาเร็ว ๆ หน่อยก็ต้อง
กดจากรีโมตที่ซุกซ่อนไว้ใต้หน้าจอที่เขาตระเตรียมมาให้หน้าจอที่มี
วอลเปเปอร์ม่วง ๆ สวย ๆ นี้จะมีให้เลือกทั้งดูหนังฟังเพลงที่ผ่านกลั่นกรองมา
อย่างดีจากการบินไทย ผมไม่ค่อยชอบดูหนังบนเครื่องบินเท่าไรนักก็เลย
นั่งฟังเพลงจะดีกว่าก็พบ list อัลบั้มเพลง สดใส รุ่งโพธิ์ทอง
รักน้องพรไว้ในคลังด้วย!? เข้าใจว่าอยากจะเผยแพร่เพลง
พรจ๋าพร คืนนี้พี่ขอนอนบ้านพรได้ไหม

นั่งไปนั่งมาก็เหลือบเห็นโลโก้เบาะนั่งเครื่องบิน Recaro ก็อย่าเพิ่งไปคิดล่ะว่า
ได้นั่งเบาะรถสปอร์ตนะ เพราะต่างกันแบบคนละเรื่องเลยจริง ๆ พับผ่า

nissan tokyo pt1 3

การเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสู่สนามบินนาริตะใช้เวลาประมาณ
5.50 ชั่วโมง ถึงที่นั่นซะประมาณ 15.50 น.ตามเวลาท้องถิ่นในญี่ปุ่น
พอถึงสนามบินปุ๊บพวกเราก็ต้องนั่งเพลิดเพลินกับด่านตรวจคนเข้าเมืองที่
ใช้เวลาสแกนกรรมจากลายนิ้วมือและดวงตาอันชอบธรรมของคนขาจรเสีย
ก่อน อินเตอร์เฟซการใช้งานรองรับชาวไทยเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ เพราะมี
ภาษาไทยขึ้นหน้าจอให้เราทำอะไรด้วย ก็แหงแซะประเทศญี่ปุ่น เป็น
ประเทศต้น ๆ ที่คนไทยชอบไปมากที่สุดนี่นา ยิ่งปลอดวีซ่า คนไทยก็ยิ่งเที่ยว
สบายใจแฮภายใน 15 วัน

หลังจากสนุกสนานกับโดนสแกนทั้งนิ้วและสายตาแล้วก็ต้องมาดูกระเป๋า
สัมภาระผ่านสายพาน ขอบอกเลยว่า ข้าวของมันเยอะมากจนต้องรอนานเกือบ
ชั่วโมงกว่าจะได้กระเป๋า Samsonite ดีไซน์ที่ขุดจากซากยุค 90s มาเหน็บกับตัวได้

เอาล่ะทุกคนพร้อม! ก็ลากกระเป๋ากันมาถึงทางออกผู้โดยสารขาเข้าพวกเรา
ก็ต้องเจอเจ้าหน้าที่ต้อนรับจาก Nissan Motor ประเทศญี่ปุ่น ที่มา
ต้อนรับท่ามกลางอากาศเย็นราว 10 องศา เหตุที่เจ้าบ้านต้องมาต้อนรับเพราะ
เขาจะต้องให้พวกเขาขึ้นรถบัสบริการจากสนามบินนาริตะ ส่วน
เรื่องค่าใช้จ่ายทีมงาน Nissan ได้จ่ายค่างวดกันให้เรียบร้อยแล้ว

nissan tokyo pt1 4

ระหว่างที่รอรถก็ต้องแวะซื้ออะไรกินระหว่างทางเสียหน่อย กรุ๊ปของเราก็เล่น
หวดน้ำ หวดขนมไปหลายกระบุง ที่น่าลองหน่อยคือ Calpis กับพวกชาเขียว
ต่าง ๆ ว่าจะอร่อยดีกว่าบ้านเราไหมผมขอเลือกชิม Calpis ดูว่าจะอร่อยกว่า
หรือเปล่า ลองดื่มไปซะเฮือกใหญ่ก็พบว่าของเขาจะจืดกว่า ของเราพอสมควร
นอกนั้นก็ไม่แตกต่างจนเป็นนัยยะสำคัญ ก็แสดงว่าพวกเครื่องดื่มแบรนด์
ญี่ปุ่นลงหลักปักฐานในไทยรสชาติจะไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนะฮะ

nissan tokyo pt1 5

โอย หิว ๆ ก็ต้องฟาดนี่เลยครับ “แฮมชีสหุ้นด้วยแป้งเหนียวหนึบ” รสชาติ
ซอสข้างในให้รสชาติแบบอาหารอิตาลี 100% ไม่มีการดัดแปลงและเจือปน
พร้อมกับชีสที่หยาดเยิ้มมาก ๆ จนมารู้ตอนหลังว่า PR พี่เกตุสุดสวย
ของเราชอบทานชีสมาก เอิ่ม ไม่บอกก็ไม่ทราบเช่นกันนะเนี่ย
ถ้าใครชอบทานพวกลาซานญ่า, พิซซ่าน่าจะชอบทาน Fast Food
สไตล์นี้แน่ ๆ

ถึงเวลาเกือบ 6 โมงกว่าก็ได้เวลาขึ้นรถบัสจากสนามบินนาริตะ เมืองชิบะ
ไปยังโรงแรม Royal Park Hotel The Shiodome เมืองโตเกียว
ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงกว่า ไกลใช่ย่อยเลยนะนั่น

nissan tokyo pt1 6 nissan tokyo pt1 7

ที่ตกตะลึงมากหน่อยคือรถบริการส่งจะมีการบุ๊คหมายเลขกระเป๋าตาม
หมายเลขตั๋ว พร้อมมีเจ้าหน้าที่มาช่วยกันจัดเรียงกระเป๋าสัมภาระให้ด้วย
ใครลงก่อนก็จะอยู่หน้าสุด บริการทุกระดับประทับใจมาก
ถือว่าเป็นระบบการทำงานสำหรับรถบัสที่ดีนะ พี่ไทยน่าจะเอา
ไปเลียนแบบบ้างก็ดีทั้งความเต็มใจในการให้บริการและระบบระเบียบ
แต่อย่างว่ารายได้ของชาวญี่ปุ่นมันสูงกว่าคนไทยอยู่แล้ว พวกเขาจึงสามารถ
ทำหน้าที่ของพวกเขาได้น่าเต็มใจมากกว่าด้วย

ตอนที่กำลังจะขึ้นรถบัสนั้นบรรยากาศภายนอกก็เริ่มหนาวเหน็บมากและ
พระอาทิตย์ก็ลาลับเร็วตามประสาเมืองอากาศหนาว ส่วนรถบัสที่นั่งเดินทาง
ผมจำยี่ห้อไม่ได้ รู้แต่ว่ามันใช้เบาะผ้าเนื้อนิ่มนั่งสบายระดับหนึ่ง ช่วงล่างรถก็รับรู้
ถึงความนิ่มนวลที่หาได้ยากจากรถบัสบ้านเรา สาเหตุส่วนหนึ่งที่วิ่งแล้ว
รู้สึกนิ่มคงเพราะถนนบ้านเขาราบเรียบราวกับฉาบปูนไว้ตลอดเวลา

พอถึงโรงแรม Royal Park Hotel The Shiodome ทุกคนก็จะได้รับห้องพัก
ส่วนตัวคนละห้องนอนแอ้งแม้งได้สบายใจพอสมควร อีกทั้งยังมีบริการ
พิเศษจาก Nissan Hospitality ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สื่อข่าว
จากเอเชียที่พักในโรงแรมแห่งนี้อย่างถ้วนทั่ว (ส่วนสื่อฝรั่งจะได้นอนพัก
ที่โรงแรม Conrad ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม)

เจ้าหน้าที่ก็จะมอบขวัญถุงให้คนละใบข้างในก็จะมีแผนที่เส้นทางรถไฟฟ้าทุกสาย,
Press Kit งาน Tokyo Motorshow 2013 และขนมนมเนยอย่างละอันพัน
ละน้อยที่ขอบอกเลยว่าอร่อยมากกันทุกอันเชียวล่ะ

nissan tokyo pt1 8

เมื่อเข้ามาห้องพักส่วนตัวแล้ว มันก็ดูไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจมาก 
แต่ทั้งหมดก็ดูจัดวางให้อย่างเรียบร้อยและน่าอยู่อาศัย แต่ไหน ๆ ก่อนที่จะ
ต้องลงมารวมตัวกันในตอน 1 ทุ่มที่ชั้น 24 อันเป็นชั้น Lounge หลักของโรงแรม
เราลองมาสำรวจข้าวของประจำการในห้องพักของเราเสียหน่อย

nissan tokyo pt1 11

เข้ามาในห้องก็จะเห็นโทรทัศน์สีนอกนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรเด่นมากนัก
หลังจากนั้นเราก็เห็นโต๊ะวางของหัวเตียงรื้อ ๆ ชัก ๆ ก็เจอแล้วของเล่นใหม่นั่นก็คือ
ตู้เซฟที่สามารถเข้ารหัสดิจิตอลได้โดยง่ายนั่นเอง วิธีใช้ก็ง่ายมาก ๆ นำข้าวของ
ที่ต้องการเก็บเอาไว้ อ้อ มันไม่สามารถใส่ Notebook ลงในตู้เซฟนี้ได้นะครับ
เพราะความกว้างของเครื่องไม่สามารถเข้าไปได้เลยหลังจากนั้นกดรหัส 4 ตัว
แล้วกดปุ่ม Lock ส่วนวิธีการปลดล๊อกน่ะหรือง่ายมาก ก็เพียงแค่
คุณใส่รหัส 4 ตัวที่เคยตั้งไว้นั่นยังไงล่ะ

ลองสำรวจในห้องน้ำกันหน่อย อื้อหือ ไม่นึกว่าจะจัดเต็มด้วยโถส้วมแบบ
ฉีดก้นดิจิตอล มีให้เลือกทั้งฉีดประตูหน้าและประตูหลัง ตามแต่ธุระพึงประสงค์
ของแต่ละท่าน ความแรงของมันอาจจะแรงน้อยกว่าหัวฉีดเครื่องยนต์
สันดาปขืนแรงกว่านี้อาจจะระคายเคืองต่อผิวหนังอันบอบบางได้

nissan tokyo pt1 9 nissan tokyo pt1 10 nissan tokyo pt1 12

อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในห้องน้ำมีให้ครบครัน ตั้งแต่มีดโกนหนวดพร้อม
ครีมโกนหนวด Gatsby, หวีแปรงผม, ไดร์เป่าผม, แปรงสีฟันและยาสีฟัน
ขนาดมินิที่ใช้เสร็จก็ทิ้งได้เลย ไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงที่ทางโรงแรมได้ใช้ชุดแชมพู,
ครีมนวดผมและครีมอาบน้ำ Shiseido Amenity หรือเป็นไลน์ผลิต
ที่ Shiseido ผลิตสำหรับโรงแรมหรือห้องพักอาศัย ไม่มีวางขายตามท้องตลาด
ถึงกระนั้นมันก็ใช้ดีมากเกินกว่าที่คาดคิด ทั้งเส้นผมและตัว
หอมและนุ่มนิ่มกันตลอดวันเลย ของเขาดีจริง ๆ

1 ทุ่มตรงทุกคนต้องมารวมตัวกันเพื่อจะต้องไปรับประทานอาหารเย็น
“มื้อแรก”ของการท่องเที่ยวในครั้งนี้ ทีมงาน Nissan ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่น
ต่างก็พาพี่ ๆ นักข่าวมารับประทานอาหารในละแวกRoyal Park Shiodome
Tower พวกเราเดินลงมามุดใต้พื้นดินกันเพื่อจะไปทะลุอีกฝั่งหนึ่งของตัวตึก
อยู่ไม่ไกลมากนักครับก็จะเจอกับร้านนี้ Yokatai

PR สาวไทยก็พยายามขุดวิชาภาษาญี่ปุ่นที่เคยร่ำเรียนกันมาใช้ให้เป็น
ประโยชน์แต่ดูเหมือนว่าการสื่อสารจะยากลำบากเสียหน่อยเพราะไม่สามารถ
อ่านตัวอักษรคันจิได้หมดทุกตัว จึงใช้ภาษามือและภาษาภาพในการสื่อสาร
กันบ้าง ไฮ๊ ๆ เดสก๊ะ ถูไถกันไปตามยถากรรม

nissan tokyo pt1 13

อาหารที่จะเรารับประทานเป็นมื้อแรกก็คือรวมมิตรอาหารย่างทั้งหลายเด้อ
แต่ก่อนจะถึง Main Course เราจะต้องรับประทานสลัด (ชาวญี่ปุ่นจะเรียก
ทับศัพท์ว่า สะละดะ ตามตัวอักษรทะคะทะนะ) เพื่อช่วยกระบวน anti-oxidant
ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง (เข้าทำนองกินฟรียังคิดมาก เอิ๊ก)

พอสลัดมาถึงสื่อไทยก็โอ้โหว มือหนึ่งก็ซับน้ำลายกันไป อีกมือหนึ่งก็ร้อง
Big Salad อะไรมันจะใหญ่ปานนี้

ภาพในจานที่เห็นอยู่นี้ก็จะมีผักนานาชนิดซึ่งกระผมชอบทานผักกาดแก้ว
มากที่สุดโรยด้วยปลาดิบ, ข้าวเกรียบกุ้ง ราดน้ำซอสสลัดญี่ปุ่นและเพิ่มรส
อูมามิด้วยสาหร่ายทอดกรอบ ขอบอกเลยว่าสื่อไทยและ PR สาวของเราต่าง
พากันชมเปาะว่ามันอร่อยจริง ๆ แตกต่างจากสลัดฝรั่งที่จะออกเลี่ยน ๆ มากกว่า

ระหว่างกินไปสมองก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุของความอร่อยนั้นคง
จะเกิดจาก น้ำซอสสลัดที่ไม่เลี่ยนเลยและสาหร่ายกรอบแห้งที่จะช่วยเพิ่ม
รสชาติ “นัว” เข้าไปอีก ก็น่าคิดว่าถ้าใครอยากควบคุมน้ำหนักจริง ๆ
ลองหันมาทำสลัดแนวญี่ปุ่นน่าจะถูกปากคนไทยมากกว่า

nissan tokyo pt1 14

ฟาด Big Salad ซะขนาดนี้ทุกคนก็อาจจะเผื่อแผ่ให้อาหารจานอื่นได้น้อยลงบ้าง
เมนูต่อมาคือชุดปลาดิบที่ทุกคนกินกันแบบไม่รู้จักเบื่อ ยิ่งคลุกกับซอสผสม
วาซาบิแล้วจี๊ดอย่าบอกใครครับ เราจึงเข้าใจว่าชุดปลาดิบนั้นน่าจะเป็น
อาหารยังชีพของชาวไทยได้ทุกศกแน่นอน

nissan tokyo pt1 15 nissan tokyo pt1 16

เมนูต่อมาคือ Medley ของปิ้งย่างได้แก่ ไก่หมักย่าง, ไก่ทอดแบบแปลก ๆ,
ปลาหิมะ, หัวใจ ตับย่างแต่ดูเหมือนทุกคนจะชอบไก่ย่างออริจินัลที่เสิร์ฟมา
เป็นจานแรกเสียมากกว่าครับ อ้อ น้ำซุปมิโซะที่ญี่ปุ่นนี่ทานแล้วชื่นใจกว่า
ร้านอาหารญี่ปุ่นเมืองไทยเยอะ เพราะต้นทุนปลาป่นของที่ญี่ปุ่นคงจะ
ต่ำกว่าบ้านเราเยอะทีเดียว

อิ่มแปล้กันเรียบร้อยแล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจไปงาน
Tokyo Motorshow 2013 ในวันรุ่งขึ้นกัน

20 พฤศจิกายน 2013 : Welcome 2 Tokyo Motorshow 2013

เราต้องยอมรับว่าเมื่อคืนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2013 เป็นคืนแรกของการ
เหยียบญี่ปุ่นที่มีความสุขมากสุขใจแบบแปลก ๆ อาจจะเพราะเราไม่ค่อย
จะไปต่างถิ่นบ่อยก็เป็นได้ ประกอบกับเราก็ชอบญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ด้วยก็เหมือนเป็นการสานฝันตัวเองว่าอยากจะไปญี่ปุ่นสักครั้งหนึ่งของชีวิต

สาเหตุหนึ่งที่นอนหลับอย่างมีความสุขก็คงเพราะอุณหภูมิแอร์ที่ทางโรงแรมตั้ง
ค่าเอาไว้อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสอุ่นกว่าข้างนอกราว 10 องศาเซลเซียส
อันเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการนอนมาก

nissan tokyo pt1 17

6.00 น. อันเป็นเวลาที่ทุกคนจะต้องตื่นทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อยแล้ว
ลงมารับประทานอาหารเช้ากันที่ Lounge ชั้น 24 กัน เวลาเปิดทำการ
อาหารเช้าจะอยู่ในระหว่าง 6.00 – 9.00 น.มีตั้งแต่สลัดญี่ปุ่น, ไข่รวน,
ขนมปัง, ไส้กรอก, เบคอน, ซุปครีมข้าวโพดที่อร่อยมาก, ซุปมิโซะสุดโปรด
,ผลไม้ รวมไปถึงโยเกิร์ตหมักรสชาติคล้าย ๆ เมจิ บัลแกเรีย

ทุกคนจะต้องรับประทานอาหารเช้าภายในไม่เกิน 7.30 น. เพราะรถบัสของ
Nissan จะจอดรอรับสื่อมวลชนชาวเอเชียถึงแค่ 7.30 น.เท่านั้น ถ้าหาก
พลาดไปก็ต้องรอรถคิวถัดไป 8.30 น. ในวันนั้นก็อีรุงตุงนังบ้าง บางคนหา
ทางออกลงไปชั้น Ground ของโรงแรมไม่เจอเพราะโดนหลอกด้วยป้ายบอก
ชั้นผิดคิดว่าเป็นร้านดอกไม้จริง ๆ แต่อ่านดี ๆ ก็คือชั้น Ground นั่นแหล่ะ

nissan tokyo pt1 18 nissan tokyo pt1 19

รถบัสจะนำพวกเราไปยัง Tokyo Big Sight ภายใน 30 นาทีจากโรงแรม
ระหว่างทางเจ้าหน้าที่จะแจกบัตร Press และคูปองรับประทานอาหารคนละ
2,000 เยนหรือประมาณ 630 บาทไม่น้อยเลยทีเดียวเพียงแต่ว่าคุณจะต้อง
รับประทานอาหารในโซน Tokyo Big Sight นี้เท่านั้น  ถ้าหากอยากจะ
กินอะไรคุณไม่ต้องคิดมากหรอกครับ ส่วนใหญ่ร้านอาหารในญี่ปุ่นมักจะ
อร่อยกันเป็นปกติกันอยู่แล้ว มีน้อยมากที่จะเสี่ยงดวงกับอาหารไม่อร่อย
เปรียบเสมือนเมืองโตเกียวก็คงเหมือนเมืองตรัง ในไทยที่เจออาหารอร่อยง่ายมาก

ระหว่างทางบนท้องถนน เราก็พบว่าถนนของเขาสะอาดและเป็นระเบียบมาก
ช่วงไหนที่มีการปรับปรุงถนน พวกเขาก็จะตั้งป้ายไฟและตั้งกรวยให้เป็นระเบียบ มอง
เห็นได้ชัดเจน บางทีก็อยากให้พี่ไทยเลียนแบบค่านิยมระบบระเบียบอันดีงาม
ของบ้านเขา อย่าเลียนแบบความคิกขุแต่เปลือกเพียงเท่านี้

ถึงหน้างานก็ราว 8.00 น. ที่นี่เขาเปิดงานกันตั้งแต่เช้าเลยซึ่งก็ต้องเข้าใจกัน
ว่างานนี้มีสื่อมวลชนทั่วโลกร่วมงานมากกว่าสื่อในงานโชว์รถเมืองไทย ถึง 3
เท่าตัว และแน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากจะมางานวันแรกเพื่อเก็บไฮไลต์สำคัญ
ก่อนใครในโลก

ระหว่างเดินเข้าไปในฮอลล์ก็พบแต่รถยุโรปจอดเรียงรายกันเต็มลานจอดรถไปหมดทั้ง
แบรนด์ Volkswagen และ Renault เราก็ตาดีไปเจอ Renault Lutecia
โฉมใหม่ที่จะเปิดตัวในงานนี้และ Renault Megane Sport 3 ประตูสวยเฉี่ยว

งานในวันแรกก็พยายามหาห้องล๊อกเกอร์ให้เจอซึ่งอยู่ในโซนเชื่อมระหว่าง
โซน West และ East ดูลึกลับซับซ้อนและไกลค่อนข้างมากพอสมควร
เราก็สามารถจองล๊อกเกอร์ได้เพราะมากันเช้าตรู่ซะขนาดนี้

nissan tokyo pt1 22

พี่เกตุ PR สาวก็ปล่อยให้สื่อชาวไทยเดินเล่นกันในงานก่อนที่จะต้องมา
โคจรเจอกันในบูธ Nissan ราว 10.00 น.พร้อมเพรียงกันเพื่อรอการ
แถลงข่าวบูธโดย Carlos Ghosn วันนั้นเราก็แอบทราบมาว่า
จะมีรถต้นแบบเปิดตัวใหม่อีก 2 คัน ส่วนใหญ่สื่อก็ล้วนแต่คาดเดาว่า
น่าจะเป็นต้นแบบ FairladyZ ใหม่หรือเปล่านะ?

nissan tokyo pt1 23 nissan tokyo pt1 24

แต่เปล่าเลย กลับกลายเป็นว่า มันเป็น Nissan IDx Freeflow และ IDx Nismo
รถต้นแบบที่ผ่านการคิดค้นร่วมกับลูกค้าที่เกิดมาในยุค 90s
ผลจึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น ฟีดแบ็กส่วนใหญ่ตอบรับในทางบวกทีเดียวเชียว

ถึงเที่ยงแล้วเรามาฝากท้องกันกับร้านโซบะ/อูด้งชั้น 2 กัน ด้วยความเร่งรีบ
ทำให้เราคิดเมนูไม่ออกจึงสั่งโซบะเป็ดด้วยความหวังว่ามันจะอร่อยมาก
กว่าที่เคยกินมาก แถมยังแพงเกือบจะที่สุดในร้าน

แต่พอออกมาปุ๊บก็มีหน้าตาอย่างที่เห็น แลดูออพชั่นน้อยมากขณะ
ที่ของคนอื่นเป็นโซบะแบบอื่นเพิ่มเครื่องเพิ่มหน้านู่นนี่นั่นจนน่ากินกว่า
ของกระผมเสียอีก

nissan tokyo pt1 25 nissan tokyo pt1 26

รสชาติของโซบะที่นี่เส้นจะแข็งกว่าบะหมี่สูตรจากจีน เพียงแต่ไม่ดูดน้ำซุป
เหมือนบะหมี่จีน เห็นอย่างนี้แค่โซ้ย 1 ชามก็ไปต่อไม่ไหวแล้วล่ะครับ
อาหารของที่นี่ดีจริง ๆ 1 สำหรับทานได้พอดีโดยไม่ต้องสั่งต่อเลย

หลังจบมื้อเที่ยงทุกคนสามารถแยกย้ายกันทำงานได้ หากใครอยากจะ
สัมภาษณ์ มร.มาโมรุ อาโอกิ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบประจำ
Nissan Global Design Center ก็ต้องรีบมาบูธ Nissan
อีกครั้งในช่วงหลังเที่ยงเศษ ๆ

Mr.Mamoru Aoki : Executive Design Director, Nissan Global Design Center,
Nissan Motor Co.,Ltd ผู้อำนวยการบริหารงานออกแบบ แห่งศูนย์การออกแบบรถยนต์สำหรับ
ตลาดทั่วโลก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด รับหน้าที่ออกแบบ Nissan BladeGlider อันลือลั่นและ

Nissan X-Trail โฉมใหม่ที่จะมาทำตลาดในบ้านเรากลางปีหน้า แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้อ่านอยากรู้มากที่สุด
ก็คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ 
Nissan X-Trail รุ่นใหม่นั่นเอง

ก่อนที่จะสัมภาษณ์เขา พวกเราชาวสื่อไทยก็ต้องเตรียมคำถามที่จะต้อง
ถามเขาเป็นชุด เราสามารถสรุปได้ใจความดังนี้

nissan tokyo pt1 28

Nissan X-Trail รุ่นใหม่เป็นเอสยูวีรุ่นใหม่ที่ผสานคุณสมบัติจุดดี-จุดเด่น
ของรถ 3 รุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ Nissan Rogue ซึ่งจำหน่ายในตลาด
ประเทศสหรัฐอเมริกาและ Nissan Qashqai+2 ซึ่งจำหน่ายในยุโรป
เข้ากับความเป็น Nissan X-Trail ใหม่ที่ทำตลาดในแถบเอเชีย

ผลลัพธ์คือ Nissan X-Trail ใหม่จะมีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วยห้อง
โดยสารที่มีพื้นที่เหนือศีรษะเพิ่มขึ้นถึง 10 เซนติเมตรและจะต้องมีที่นั่ง 3 แถว
โดยที่ยังคงสมรรถนะที่โดดเด่นของ X-Trail ไว้ เห็นหน้าตาติ๋มเพรียวขึ้นแบบ
นี้อย่าเพิ่งปรามาสไป

ว่าง่าย ๆ X-Trail ใหม่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่บนผิวทางที่ไม่เรียบ (ถนนสภาพแย่)
ได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม (ที่ยังเป็นทรงเหลี่ยมถึก) อีกด้วย!!! นอกจากนี้ยังให้
ความนุ่มนวลในการขับขี่เมื่อสภาพถนนแย่ครับ

สรุปได้ว่า Nissan X-Trail โฉมใหม่คือเอสยูวีระดับ Global อย่างแท้จริง
เพราะทุกวันนี้ มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับรถ การเลือกซื้อ รีวิว ฯลฯ กันทั่วโลก
ผู้บริโภค (ลูกค้า) ทั่วโลกมีความสนใจและความต้องการที่คล้ายคลึงกันใน
เรื่องสมรรถนะของรถ ความสะดวกสบาย และรูปลักษณ์ที่จะต้องโฉบเฉี่ยว
การออกแบบผลิตภํณฑ์ที่ทำตลาดได้หลายประเทศจึงเป็นวิธี
หนึ่งที่ช่วยควบคุมต้นทุนในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

สุดท้ายนี้ HOMY DEMIO ก็ยิงคำถามไปว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน Nissan
ได้เปิด Qashqai โฉมใหม่ก็อยากจะทราบว่ามันแตกต่างจาก X-Trail ใหม่ยังไง?
กลุ่มลูกค้าล่ะเป็นใครกัน?

มร.มาโมรุ อาโอกิ ก็ตอบว่า Qashqai รุ่นใหม่มีบุคลิคที่สปอร์ตโฉบเฉี่ยวกว่า X-Trail
ด้วยเส้นบ่าข้างที่เฉียงตวัดชึ้น ขนาดตัวรถมีขนาดเล็กกว่าจนสามารถดึงกลุ่มลูกค้าที่คิด
จะซื้อรถ C-Segment แบบเดิม ๆ ในยุโรปมาได้

ส่วน X-Trail ใหม่จะมีความแข็งแกร่งในด้านการออกแบบภายนอกมากกว่า
มีความอเนกประสงค์และความสะดวกสบายที่เหนือชั้นกว่า Qashqai เพราะมีความสูงตัว
รถมากกว่า Qashqai ราว 10 มิลลิเมตรที่สำคัญ X-Trail ใหม่เป็นรถ
7 ที่นั่งอีกด้วย

หลังจากนั่งสัมภาษณ์ มร.มาโมรุ อาโอกิ กันเรียบร้อยแล้ว ถ้านักข่าวคนใด
ที่อยากจะสัมภาษณ์ผู้บริหาร Nissan แบบโต๊ะกลม (เอาเข้าจริงแล้วไม่มีโต๊ะกลม
แต่ให้นั่งเรียงกันเป็นตับ ๆ เหมือนห้องประชุมทั่วไป) ก็ต้องวิ่งไปหอประชุม
ชั้น 7 ผ่านบันไดเลื่อนที่ยาวและสูงมาก ๆ ภายในบ่าย 1 โมงกว่าสูงขนาด
ที่แอบคิดเล่น ๆ ว่าทางนางร้ายช่อง 3/5/7 ผลักนางเอกตกบันได
ก็อาจมีเสียชีวิตกันได้เชียวล่ะ

สำหรับผมขึ้นมาฟังได้แค่คุณ Carlos Ghosn แค่คนเดียวเท่านั้น แถมยัง
มาเลตเพราะต้องวิ่งจากบูธ Nissan อีกฟากมาหอประชุมที่ไกลโพ้น
เล่นเอาพวกเราขาลากกันเป็นแถบ ๆ นี่แหล่ะคือความอึดและถึก
ในเบื้องต้นของพี่เกตุ PR สาวของเรา 

ผมคงสรุปคำถามและคำตอบของสื่อมวลชนทั่วโลกในรอบคุณ Carlos Ghosn
ดังต่อไปนี้ดังนั้น ผมจึงขออธิษฐานจิตขออนุญาตนำคำถามของสื่อต่างชาติ
มาลงไว้ในบทความนะครับเพื่อเป็นกุศลแก่ผู้อ่านและเราก็ต้องขอบคุณ
พี่เกตุ PR สาวอย่างสูงมากที่แปลสนทนาถามตอบนี้อย่างละเอียดด้วยครับ

nissan tokyo pt1 29

1. ทำไม Nissan จึงไม่ผลิต Nissan ลีฟ รุ่นไฮบริด

ตอบ: Nissan ต้องการมุ่งสู่เป้าหมาย “ยานยนต์ไร้มลพิษ 100%”
(Zero Emission) ซึ่งNissan Leaf ทำได้แล้วโดยการใช้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อน
ด้วยพลังงานไฟฟ้า ขณะที่เครื่องยนต์ไฮบริด ก็ยังสร้างมลพิษอยู่เพราะเป็น
การผสมผสานระหว่างพลังงานไฟฟ้ากับเชื้อเพลิง ซึ่งยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่

2. คุณ Ghosn รู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร Nissan – Renault ที่เกิดขึ้น

ตอบ: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับผู้บริหาร สะท้อนถึงความสอดคล้อง
และความเหมาะสมต่อนโยบายของบริษัท กลยุทธ์การดำเนินงาน
ทิศทางธุรกิจที่Nissan จะเดินหน้าต่อไป ตลอดจนการสร้างความสามารถ
ในการแข่งขันในอุตสาหกรรม

สำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่เกิดขึ้นกับ Renault นั้น เป็นเรื่องที่จำเป็น
ต้องเกิดขึ้นเนื่องจากผู้บริหารท่านเดิมได้ลาออกไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงตัว
ผู้บริหารของ Nissan เป็นสิ่งที่ดำเนินไปเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนและ
การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจาก Nissan มุ่งเน้นการบรรลุ
ความสำเร็จตามเป้าหมายมากกว่าการวางแผนเพียงอย่างเดียว และเรายัง
ต้องการให้ทั้งNissan และ Renault มีการทำงานที่เข้าขากันได้ดี
ส่งเสริมให้ทั้งสองบริษัทเติบโตพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

3. Nissan มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยฟิวเซลล์ (Fuel Cell)
บ้างหรือไม่ เพราะว่าขณะนี้ Toyota, Honda ล้วนมีการผลิต
รถยนต์ฟิวเซลล์กันแพร่หลาย

ตอบ: Nissan เป็นพันธมิตรกับเดมเลอร์ และฟอร์ด ในการร่วมผลิตรถยนต์
ฟิวเซลล์ ซึ่งการสร้างรถต้นแบบนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ยาก คือ การผลิต
จำนวนมากเพื่อทำตลาด Mass market ได้ เช่น สำหรับตลาดประเทศจีน
ซึ่งมียอดขายเป็นพันๆ ล้านๆ คัน นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอีกเล็กน้อยใน
เรื่องของสถานีเติมไฮโดรเจน เพราะว่าการสร้างสถานีไฮโดรเจนนั้น
ต้องใช้งบฯ ลงทุนมหาศาล มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่จะคิดลงทุนมาก
ขนาดนั้น แตกต่างจากสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีการขยายการลงทุน
อย่างต่อเนื่องในประเทศต่างๆ

4. Nissan ตั้งเป้ายอดขายรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงงานไฟฟ้า (Nissan Leaf) อย่างไร

ตอบ: Nissan ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน
ไฟฟ้าที่ร้อยละ 10 ซึ่งในแต่ละประเทศอาจมีส่วนแบ่งการตลาดไม่เท่ากัน
เช่น ในนอร์เวย์ Nissan มีส่วนแบ่งตลาดที่ราวร้อยละ 7 แล้ว ขณะที่ใน
ประเทศจีนก็อยู่ระหว่างการพัฒนาตลาด สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้ม
ไปได้ดี และตลาดยุโรปก็อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานให้พร้อมรองรับการขยายตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

5. Nissan มีผลการดำเนินงานอย่างไร ในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา
และรายได้จะยังเติบโตหรือเป็นขาขึ้นไปอีกนานเท่าไหร่

ตอบ: Nissan มีส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 10 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้า
เทียบกับคู่แข่งหลักจะพบว่า Nissan มีฐานผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาด
ได้กว้างมากพอๆ กับ Toyota (ซึ่งเป็นคู่แข่งหลัก) และ Nissan มีส่วนแบ่ง
ตลาด ราวๆ ร้อยละ 50 ของ Toyota ซึ่งก็คือประมาณ ร้อยละ 7 ของตลาดโดย
รวมทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเราดูทิศทางตลาดในตอนนี้ Nissan ก็น่าจะสามารถ
ก้าวไปถึงส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 10 ได้ตามเป้าหมาย เรามั่นใจว่าทำได้แน่ๆ
เพราะเรามีวินัยในการดำเนินงาน และมีกลยุทธ์ธุรกิจที่ดี ถึงแม้ว่าเราอาจจะ
ไม่สามารถกล่าวได้ว่า เราจะมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ (ยอดขายสูงทำลายสถิติ)
ได้ทุกปี แต่เราก็ยังแข็งแกร่งอยู่ และพยายามต่อไป

ในเม็กซิโก Nissan มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง ร้อยละ 25 ขณะที่ในประเทศจีน Nissan
นับเป็นรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น หมายเลข 1 ในจีน

6. ทำไมรถรุ่นใหม่ๆ ของNissan (รถต้นแบบ) จึงมุ่งเน้นเอาใจแต่กลุ่ม
วัยรุ่นที่อายุไม่มาก

ตอบ: คนรุ่นใหม่ ยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดรถ ซึ่งผู้บริโภคใน
ตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) กับตลาดที่อิ่มตัวแล้ว (Mature market)
มีลักษณะ ความชอบ และความต้องการแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น

– ตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) ผู้บริโภคมองหาความเป็นอิสระ (Freedom)
ความประหยัดคุ้มค่า (Economy) และสไตล์ที่โดดเด่น (Style)
– ตลาดอิ่มตัว (Mature market) ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ที่ให้ความตื่นเต้นเร้าใจ
(A car that excites us)

7. จะมีการผลิตรถยนต์ Infiniti (อินฟินิที) ที่โรงงานในเม็กซิโก บ้างหรือไม่

ตอบ: ทุกปี Nissan มีการประเมินโรงงานรวม 40 กว่าแห่งทั่วโลกอยู่แล้ว
และโรงงานที่เม็กซิโกนี้ ก็ติดอันดับ Top 5 ในด้านความทันสมัยมาโดยตลอด
ดังนั้น ก็จะมีโอกาสผลิตรถยนต์ Infiniti (อินฟินิที) ได้

คำถามและคำตอบนี้ทำเอาคนในห้องก็หัวเราะก้อติกกันใหญ่ อาจเพราะ
ด้วยความเป็นกันเองของคุณ Ghosn ที่เดินเข้ามาตบบ่านักข่าวชาวเม็กซิกัน
คนนั้น และส่งสายตานัย ๆ ว่า It’s Possible

8. เป้าหมายของ Renault-Nissan สำหรับปี 2014 เป็นอย่างไร

ตอบ: เราจะมีการรวมพลังมากกขึ้น (Synergy) ไม่ใช่ด้านแบรนด์
แต่เป็นด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ด้านโมโนซูกุริ (Monozukuri)
หรือกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงโลจิสติกส์ และงานจัดซื้อ เป็นต้น

9. เป้าหมายของเรโนลต์-Nissan สำหรับปี 2014 เป็นอย่างไร

ตอบ: เราจะมีการรวมพลังมากกขึ้น (Synergy) ไม่ใช่ด้านแบรนด์ แต่เป็น
ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ด้านโมโนซูกุริ (Monozukuri)
หรือกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงโลจิสติกส์ และงานจัดซื้อ เป็นต้น

10. มร. กอส์น มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนารถยนต์
Nissan สำหรับโลกยุคอนาคต

ตอบ: Nissan ก่อตั้งขึ้นนับตั้งแต่ปี 1933 (พ.ศ. 2476) และได้สร้างสรรค์
ยานยนต์หลากหลายรุ่นภายใต้ 3 แบรนด์ ได้แก่ ดัทสัน (Datsun) นิสสัน (Nissan)
และอินฟินิที (Infiniti) โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพเป็นที่
เชื่อถือไว้วางใจของผู้ขับขี่ มีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย และจำหน่ายในราคาที่ผู้
คนสามารถเป็นเจ้าของได้

จวบจนถึงปัจจุบัน Nissan ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์รถยนต์ที่ให้ความตื่นเต้น
เร้าใจในการขับขี่ และผลักดันให้นวัตกรรมที่จินตนาการไว้นั้นกลายเป็นจริงได้
(Nissan is turning “what if … into what is.”) อาทิ การสร้างสรรค์
เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Drive) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี
เพื่อความปลอดภัย ลดอัตราการตายให้เป็นศูนย์ (Zero Fatalities)
อันเกิดจากการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุขณะ
ขับขี่รถยนต์ได้ เมื่อสังคมโดยรวมกำลังมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
(ซึ่งอาจจะมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับรู้น้อยลง เคลื่อนไหวได้ช้าลง
ไม่กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วอย่างคนรุ่นหนุ่มสาว)

ดังนั้น เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติจึงมีประโยชน์มาก และมีประโยชน์
ในวงกว้าง ครอบคลุมไปถึงผู้พิการอีกด้วย ทั้งนี้ Nissan วางเป้าผลิต
รถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2020 และ
ภายใน 2 วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle)

สำหรับเป้าหมายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตื่นเต้นเร้าใจในการขับขี่และ
เป็นเจ้าของ รถยนต์ต้นแบบที่เผยโฉมเป็นครั้งแรกบนเวที โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2013
นี้ เป็นยนตรกรรมที่สะท้อนถึง DNA ของ Nissan ได้ดีที่สุด ทั้ง “ 
เบลดไกลเดอร์” (BladeGlider) และ “ไอดีเอ็กซ์ ฟรีโฟลว์”
(IDx Freeflow) ซึ่งนับเป็นการฉีกกรอบและแหวกกฎเกณฑ์
ในการออกแบบรถยนต์อย่างสิ้นเชิง

“เบลดไกลเดอร์” (BladeGlider) เป็นรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อน
ด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่ท้าทายความสามารถของวิศวกรและดีไซเนอร์ในการ
ผสานเทคโนโลยีเข้ากับรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวโดดเด่นได้อย่างลงตัว
โดยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) นั้น
แท้จริงแล้วมีความยืดหยุ่นในการออกแบบมาก… Nissan จึงได้ออกแบบ
เบลดไกลเดอร์ให้เป็นรถยนต์สไตล์สปอร์ต 3 ที่นั่ง โดยได้รับแรงบันดาลใจ
จากเครื่องบินสไตล์ปีกลู่ Swept-Wing ซึ่งเป็นรูปทรงที่ลู่ลม มีสมดุลดี
จึงมีสมรรถนะเชิงอากาศพลศาสตร์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ การที่ตำแหน่งคนขับ
สามารถมองเห็นได้รอบทิศ 360 องศา ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนขับรถแข่ง
เลยทีเดียว สมกับนิยามในการออกแบบเบลดไกลเดอร์ที่เน้นความเรียบง่าย
สไตล์สปอร์ต มีน้ำหนักเบา ขับเคลื่อนคล่องตัว และขับสนุก

nissan tokyo pt1 30

สำหรับ “ ไอดีเอ็กซ์ ฟรีโฟลว์” (IDx Freeflow) ได้รับการสร้างสรรค์
ขึ้นเพื่อให้โดนใจคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่น “วัยดิจิตอล” (Digital Natives)
ซึ่งเกิดหลังปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ซึ่งในกระบวนการออกแบบนับ
ตั้งแต่ต้นจนจบ มีการจัดกลุ่มโฟกัสกรุ๊ปเพื่อศึกษาความต้องการ
ที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ นับเป็นผลงานชิ้นเอกที่เกิดจากการร่วมสร้างสรรค์
(Co-creation) ระหว่างผู้บริโภค วิศวกร และดีไซเนอร์ ที่สะท้อนรูปลักษณ์
ที่เรียบง่าย สะอาดตา และแฝงความเท่ในตัว โดยได้รับการต่อยอดสู่การสร้างสรรค์

รถต้นแบบอีก 1 รุ่น ได้แก่ “ไอดีเอ็กซ์ นิสโม” (IDx NISMO) ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้
มีแพลทฟอร์มในการออกแบบเหมือนกัน แต่เมื่อเติมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
ที่แตกต่างกันลงไป ก็ได้ผลลัพธ์เป็นยนตรกรรมที่มีรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยว
ไม่แพ้กันมาถึง 2 คัน เลยทีเดียว

ในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้ง Nissan นับเป็นวาระสำคัญของ
การเฉลิมฉลองความทุ่มเทมุ่งมั่นของทีมงาน Nissan ในทุกมุมโลก
ซึ่งเปี่ยมด้วยกำลังใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความมานะ
บากบั่นอย่างไม่ท้อถอย และความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อ
การขับขี่ในยุคอนาคต

จบแต่เพียงเท่านี้ เต็มอิ่มจริง ๆ

ถึงพวกเราจะเข้าสนทนาโต๊ะกลมไม่เต็มเวลาแต่ได้ข้อมูลระดับนี้ก็นับว่า
คุ้มค่ามากกับการศึกษาและจารึกประวัติศาสตร์ยานยนต์ให้คนรุ่นหลัง
ได้เรียนรู้กันต่อไปอันที่จริงยังมีการสัมภาษณ์ผู้บริหาร Nissan ท่านอื่น ๆ
อีกแต่ด้วยเวลาที่ชนกันกับการ Present รถยนต์รุ่นใหม่ทำให้ผมต้อง
แยกตัวจากสื่อไทยและ PR สาวจากกันเพื่อที่จะได้เก็บภาพ “สด ๆ “
ในงานมาถ่ายทอดลงในแฟนเพจ Headlightmag ครั้งแรกในเมืองไทย

ถึงจะเหนื่อยแต่ก็น่าสนุกดีนะครับ

ในวันนั้นผมเองก็เปรี้ยวกับ PR สาวและกลุ่มสื่อไทยด้วยการขอกลับโรงแรมเอง
ฟังดูน่ากลัวมากสำหรับคนที่ไม่ค่อยท่องต่างแดน แต่ถ้าเรารู้ช่องทางในการกลับห้อง
และตรงต่อเวลา ชีวิตของคุณจะไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอนครับ

กลุ่มสื่อไทยขอกลับห้องตอน 4 โมงเย็นเพื่อให้พวกพี่ ๆ ได้ปั่นงานกันใน
ห้องพัก  ส่วนของผมก็ต้องลั้ลลาในงานต่อไป ลั้ลลาไปมาก็ต้องกลับ
6 โมงเย็นด้วยการขึ้นรถบัสที่ Nissan ตระเตรียมมาให้สำหรับส่งสื่อมวลชน
ทั่วโลกเข้าที่พักของตนเอง แถมอากาศในวันนั้นเย็นมากและก็มืดมากเหมือน 2 ทุ่ม
ของบ้านเราเชียวล่ะ

nissan tokyo pt1 31 nissan tokyo pt1 32

แต่ก่อนจะกลับข้าพเจ้าก็แรดตระเวนหาของกินเล่นโดยใช้คูปองฟรีที่ร้าน Pronto ร้านของว่าง
ชื่อดังของที่นั่น นึกอะไรไม่ออกก็สั่งเค้กญี่ปุ่นและสตรอเบอรี่มิลค์เชคจ่ายไปซะ 300 กว่าเยน
ที่โปรดปรานมากที่สุดคงจะเป็นสตรอเบอรี่มิลค์เชค นมและเนื้อสตรอเบอรี่เนียนเข้ากันดี
ไม่เปรี้ยวไม่หวานแหลมอาจจะจืดไปนิดสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ สำหรับเค้กญี่ปุ่นรสชาติ
มาตรฐานที่เราเคยกินกันมา เมืองเค้กญี่ปุ่นที่ทำในเมืองไทยเปี๊ยบ

1 ทุ่มท้องร้องจ๊อก ๆ ก็ต้องทานอะไรซะหน่อย พวกเราจึงเฮโลยังชั้น 42
ของอาคาร Royal ParkShiodome Tower เพื่อขึ้นไปร้านอาหารมีชื่อ
ประจำตึก ร้านนี้มีชื่อว่า En พอไปถึงร้านปุ๊บ พวกเราก็เหมือนโดนตัดเข้าโหมด
ธรรมชาติยังไงไม่ทราบ เพราะร้านนี้เขาจะตกแต่งด้วยหินธรรมชาติ
และมีบ่อน้ำจำลอง แหน่ะ ยังมีบริการตู้เก็บรองเท้าประจำลูกค้าอีกด้วยครับ
เก็บรองเท้าเสร็จเราก็จะเจอโต๊ะที่มีหลุมวางเท้าตามสไตล์ญี่ปุ่นขนานแท้ครับ

nissan tokyo pt1 33 nissan tokyo pt1 34

พอเข้าถึงที่นั่งประจำแทบจะทุกคนก็เฮโลไปยังหน้าต่างร้านเพื่อ
ถ่ายบรรยากาศเมืองโตเกียวยามค่ำคืน บ้านเมืองเขาเรียงตึกกันแน่น
ขนัดทุกตารางเมตรเลยครับ

nissan tokyo pt1 35 nissan tokyo pt1 36

ไฮไลต์ของร้านนี้คืออาหารเตาร้อน, ปลาดิบ, เทมปุระทอดต่าง ๆ ที่มีสายสืบ
จากเมืองไทย Confirm แล้วว่าอร่อยแน่นอน ในค่ำคืนนี้ก็ต้องเปิปชุดปลาดิบ
อีกแล้วครับท่าน และที่เก๋ไก๋มากคือ พวกเราต้องขูดรากวาซาบิกินกันเอง
ออกแรงขูดมากยิ่งได้มาก แต่เหมือนยิ่งขูดยิ่งติดเนื้อไม้ขูดยังไงไม่ทราบ
ขูดเสร็จก็กินได้ละ กินไปกินมา อ้าว ดันเจอวาซาบิสำเร็จรูปแอบซ่อนไว้
ข้างจานเสียอย่างนั้น

nissan tokyo pt1 37

จานเด็ดที่สุดเลยคือเนื้อย่างบนเตาถ่าน เขาย่างมาให้สุกพอประมาณหนึ่ง
ถ้าใครอยากจะรับประทานสุก ๆ ดิบ ๆ ก็โซ้ยได้เลย ถ้าใครอยากจะขอสุกนิด ๆ
ก็พลิกไปมาให้ทั่วก่อน เหตุผลที่อยากสั่งเนื้อย่างเตาถ่านเพราะมีเพื่อนคนหนึ่งคอยยุ
ว่าไปถึงญี่ปุ่นต้องไปกินเนื้อให้ได้ เพราะเนื้อของเขาเทพจริง ๆ ต่างจากบ้าน
เราที่เป็นเหมือนเนื้อเศษเดนกันเลย

ขนาดนั้นเลยหรอ?

หยิบ 1 คำเข้าปากลิ้นก็แตะรสชาติเนื้อย่างอย่างละมุน ยิ่งเคี้ยวก็ยิ่งให้ความ
รู้สึกเนื้อยิ่งละลายเข้าไปทุกอณูต่อมรับรสกันเลย คือมันนุ่มมากและมีชั้น
ไขมันแทรกบาง ๆ พอให้สัมผัสถึงความนุ่ม ไม่แข็งกระด้างแบบเนื้อวัว
บ้านเราจริง ๆ

ที่ชอบกินต่อมาคือปลาหมึกชุบแป้งเทมปุระโรยด้วยเกลือญี่ปุ่น เมนูนี้สื่อ
ท่านอื่นแลจะไม่โปรดปรานเท่าไรนัก แต่สำหรับผมและ PR ก็ชอบทาน
เมนูนี้น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ทานแกล้มเบียร์มากกว่าครับ

nissan tokyo pt1 38

ตบท้ายด้วยของหวานรวมเหล่าเบอร์รี่ทั้งหลายผสมกับกล้วยและราดด้วย
น้ำเชื่อมรสเชอรี่ ความเด็ดอยู่ตรงที่ทางร้านได้คั้นนำเบอร์รี่และน้ำทับทิม
แช่แข็งและปั้นเป็นเกล็ดหิมะ ให้รสชาติเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ เย็น ๆ
ฟินถึงสมองกันเลยทีเดียว

21 พฤศจิกายน 2013

ขอบอกไว้เลยว่าทริป Nissan ครั้งนี้ ไม่ได้มีตารางเดินทางที่แน่นเอี๊ยดมาก
จึงทำให้พวกเราพอขยับตัวท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่ทีมงานจัดเอาไว้ให้ได้ครับ
ตื่นเช้ามาเราก็จะต้องมีแผนไปเที่ยวศาลเจ้าเมจิ(Meiji Jimgu Shrine)
ด้วยการขึ้นรถไฟฟ้าสาย JR Yamanote Line

การเดินทางไปยังชานชาลา ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเพราะโรงแรม Royal Park
Hotel The Shiodome อยู่ใกล้ศูนย์รวมชานชาลารถไฟฟ้าหลายสายเยอะมากครับ

nissan tokyo pt1 39

ในช่วงเช้าของ สถานีต้นทาง Shimbashi ก็ดูจะวุ่นกันเล็ก ๆ เพราะเวลา
ที่เรากำลังจะไปเที่ยวนั้นเป็นเวลา Rush Hour ของคนทำงานที่นั่นครับ
ผู้คนจึงขวักไขว่ตามภาพที่เห็นเพียงแต่ไม่ได้เดินเบียดเดิน
เสียดกันเป็นว่าเล่น แค่ซอยเท้าให้เร็วขึ้นเท่านั้นเองครับ

nissan tokyo pt1 40

จุดหมายปลายทางของเราจะอยู่ที่สถานี ฮาราจุกุ แหล่งรวมความเก๋ของ
วัยรุ่นญี่ปุ่น แต่เราไม่ได้มาเดินแอ๊บแบ๊วใส่นะครับ เรามาท่องเที่ยว
ศาลเจ้าเมจิกัน

การเดินทางเท้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับหน้าศาลเจ้าใช้เวลาไม่นานเลย
พักนึงก็เดินถึงหน้าทางเข้าศาลเมจิกันแล้วล่ะครับ ถึงตรงนี้หลายคนก็เก็บ
บรรยากาศกันหน้าประตู Torii ตรงนี้เลย แสดงให้เห็นว่าฉันมาถึงแล้วนะ

ก่อนที่จะเราเข้าไปเยี่ยมชม หลายคนก็ต้องขอขมาลาโทษแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ของที่นั่น ไหว้ 1 ครั้งเพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าไม่ได้มีเจตนาลบหลู่

nissan tokyo pt1 41

ความมหัศจรรย์ของศาลเจ้าเมจิคือความเงียบสงบ, ความร่มรื่นและ
ความเป็นธรรมชาติสูงเสมือนเรามาเทือกเขาเขตต่างจังหวัดทั้ง ๆ
ที่ศาลแห่งนี้อยู่กลางเมืองขนาดใหญ่ มันก็แสดงให้เห็นถึง
ความเคารพต่อบรรพบุรุษ, เคารพต่อรากฐานเดิม และการเห็น
แก่ส่วนรวมของชาวโตเกียวและชาวญี่ปุ่น

ประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าเมจิคือเป็นศาลเจ้าชินโตที่สร้างขึ้นในปี 1920
เพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณพระจักรพรรดิเมจิที่สวรรคตเมื่อปี 1912
และจักรพรรดินีโชเคนที่สวรรคตเมื่อ 1914

ชินโตคืออะไร?

ชินโตเป็นลัทธิตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นโบราณจนเป็นรากฐาน
หยั่งลึกในวิถีดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่น ชินโตไม่มีศาสดา, ไม่มีคัมภีร์
และไม่มีแนวคิดวิถีปฏิบัติ เน้นการนับถือเทพเจ้าเป็นหลัก ดังนั้น คุณค่าของชินโต
คือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและคุณธรรมอย่างกลม
กลืนจึงใช้คำนิยาม Magokoro ที่แปลว่าจริงใจ

nissan tokyo pt1 42

ที่พวกเราเห็นต้นไม้ถูกปลกคลุมอย่างหนาแน่นเช่นนี้ก็เพราะมีผู้นับถือ
และเลื่อมใสพระจักรพรรดิเมจิบริจาคพันธุ์ไม้ 100,000 กว่าต้นทั้ง
ในประเทศญี่ปุ่นและจากต่างประเทศสำหรับไว้ปลูกรอบศาลเจ้าแห่งนี้
เพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุข ถือเป็นความศรัทธาที่น่าทึ่งมากครับ

ระหว่างทางเดินก็จะเห็นถังสาเกและถังไวน์สองฝั่งข้างทาง ถังสาเกลายสวย ๆ
นี้เป็นของผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาคให้แก่ศาลเจ้าเพื่อนำไปใช้ประกอบ
พิธีกรรมต่าง ๆ

nissan tokyo pt1 43 nissan tokyo pt1 44

ส่วนถังไวน์อีกฟากหนึ่งก็แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของพระจักรพรรดิเมจิ
ในการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม
ถังไวน์ที่เห็นอยู่ในขณะนี้ได้รับมาจากโรงกลั่นไวน์ Burgundy ตอนกลางฝรั่งเศส

ก่อนที่จะเข้าไปในเขตศาล พวกเราจะต้องล้างไม้ล้างมือและล้างปากที่ซุ้มนี้ก่อน
เพื่อเป็นการบอกท่านว่าพวกเราได้ผ่านการชำระล้างให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งใจ
และร่างกายแล้วนั่นเอง

nissan tokyo pt1 45 nissan tokyo pt1 46

ระหว่างล้างหน้าล้างตาก็เหลือบไปมองเห็นบรรดา J-Girl แต่งตัวเกือบ
ขั้น Cosplay ก็มาเที่ยวศาลในวันเดียวกับเรา แต่ผมไม่กล้าถ่ายรูปหรอกนะ
เดี๋ยวอาจจะโดนหาว่าละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลได้

nissan tokyo pt1 47

และแล้วก็มาถึงศาลเจ้าหลักกันแล้ว ถึงตรงนี้เราต้องมาสักการะอธิษฐาน
กันก่อน ขั้นตอนง่าย ๆ คืออธิษฐานขอพรอะไรก็ว่ากันไป จากนั้นจึงโยน
เหรียญ 5 เยนลงในกล่องให้เสียงดังก้องมากที่สุด เคล็ดลับง่าย ๆ
คือโยนเหรียญให้มีวิถีไซด์โค้งมากที่สุดนั่นแหล่ะครับ ต่อมาคำนับโค้งสองครั้ง
ปรบมือสองครั้งให้เสียงดังเข้าไว้และโค้งคำนับหนึ่งครั้ง

ขอสารภาพว่าความจริงเขาให้โยน 2 เหรียญกันแต่ข้าพเจ้าโยน
เหรียญเดียว แบบมึน ๆ งง ๆ

nissan tokyo pt1 48

บรรยากาศรอบ ๆ ศาลเจ้าก็จะเห็นผักผลเบ้อเริ่มวางกระจัดกระจายซึ่ง
เราไม่แน่ใจว่าจะมีพิธีกรรมอะไรบางอย่างหรือเปล่านะครับ แต่สังเกตว่าผัก
ของบ้านเขาใหญ่เบิ้มเอามาก ๆ ชนิดประเทศเกษตรกรรมบ้านเรา
ต้องอายม้วนเหมือนกันไม่น้อย

เดินไปเดินมาก็คิดว่าที่นี่คือประเทศไทยเลยนะ เพราะเราได้ยินเสียงสนทนา
ภาษาไทยกันเต็มบริเวณศาลเจ้ากัน ถือเป็นการยืนยันว่าที่นี่ฮิตจริงใน
หมู่ชาวไทยมาก

มุมยอดฮิตของผู้เข้าเยี่ยมชมคือมุมป้ายขอพรใต้ต้นไม้ยักษ์ ผมลองแอบ
อ่านป้ายเล่น ๆ ก็พบว่าพวกเขาเขียนขอพรเทพเจ้าให้ปกปักษ์รักษาคนในครอบครัว
คนที่รักและตนเองเสียส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสถานที่คนไทยฮิตมาก
เราก็เห็นป้ายเขียนด้วยภาษาไทยก็ไม่น้อย
หากอยากจะอธิษฐานขอพรก็จงไปซื้อแผ่นไม้ 500 เยนเสียก่อนครับ

nissan tokyo pt1 49

เคารพสักการะเสร็จแล้วจึงออกมาทางออกเดิมครับ นั่งจิบน้ำหวานแก้เหนื่อย
คราวนี้เราดันไปเหลือบเห็น เตาผิงให้ความอบอุ่น แต่ขอโทษทีนะ
ที่เห็นอยู่นี้ไม่น่าจะเรียกเตาผิงแล้วล่ะ น่าจะเป็นเตาย่างขาหมูคากิเสียมากกว่า
เห็นไฟแลบออกขนาดนั้น เราก็ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าใครมือบอนเผลอจับ
เข้าไปคงมีหวัง..เกรียม

nissan tokyo pt1 50

ดังนั้น มันจึงกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ชาวไทยพากันฮือฮากันมาก
จนคนญี่ปุ่นแอบพากันงงว่าพวกนี้จะกรี๊ดอะไรกันนักหนานะจ๊ะ

ความจริงแล้วศาลเจ้าเมจิมีมุมให้น่าท่องเที่ยวอีกหลายจุดแต่ด้วยเวลาอันจำกัด
ของทีมงานที่จะมีคิวไปช๊อปปิ้งกันต่อที่ย่านชินจุกุ จึงอยู่ต่อนานกว่านี้
ไม่ได้

และบังเอิญว่าผมต้องขอแยกตัวกับทีมงานเพื่อแอบไปแวะงาน
Tokyo Motorshow 2013 แบบเดี่ยว ๆ รอบที่สอง
เพราะงานรอบสื่อวันแรกยังสัมผัสรถไม่จุใจ
เอาเสียเลย วันนั้นก็เลยได้สัมผัสรถเต็ม ๆ ครับ

ค่ำวันนั้น 19.00 น. เราจะต้องเข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับสื่อมวลชนที่
โรงแรม Conrad Hotel เยื้องกับโรงแรมที่พวกเราพักกัน แค่เดินไป
สักประมาณ 10 นาทีก็ถึงจุดมุ่งหมายได้แล้ว

บรรยากาศในงานเลี้ยงสื่อมาในแบบ Buffet ยืน ในใจก็นึกพลางบ่น โอ้ย
เดินมาทั้งวันน่าจะมีเก้าอี้เสียหน่อยจะดีไหม แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว
เราต้องรับทุกวิถีการดำรงชีพให้ได้จึงต้องยืนกินกันต่อไป

ในงานก็จะมีการแนะนำเว็บไซต์ Press Media ระดับโลกพร้อมเปิดคลิป
GT-R ให้เพลิดเพลินจรุงจิต ส่วนอาหารในงานก็จะมาแนว East Meets West
มีทั้งอาหารญี่ปุ่นและฝรั่งผสมเข้าด้วยกัน

nissan tokyo pt1 51

เรียนตามตรงว่าตอนนั้นเบื่ออาหารญี่ปุ่นมาจากเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เราจึงขอเลี่ยงไปรับประทานโซบะจีนกันดีกว่า กัดคำแรกรู้สึกว่า มันเจ๋งเป้งมาก
เนื้อบะหมี่แบบเนื้อจีนเลย พร้อมน้ำซุปสไตล์ราเมนนิด ๆ คือผ่านการเคี่ยวพอ
สมควรพร้อมใส่หมูสับละเอียดเพื่อให้เนื้อมันเข้ากับน้ำ

การละเล่นคลายเครียดก็มีดื่มสาเก 3 แก้วจะได้รถจำลอง Tamica, ยิงเป้า
เพื่อให้ได้รถ Tamica, ตู้หยิบตุ๊กตาและรถจำลองจาก Nissan Motor
พร้อมทั้งมีการแข่งรถบังคับวิทยุกัน ดู ๆ แล้วสื่อก็ขะมักเขม้นกับการเล่น
เพื่อชิงรางวัลอย่างจริงจังมาก ส่วนสื่อพี่ไทยเราก็กวาดของมาไม่น้อยเลย
เช่นกันอย่างผมก็ได้ตุ๊กตา 3 ตัว, ได้รถ Tamica และได้รถจำลอง
Datsun 12 Pheoton ปี 1933 มาคันหนึ่งด้วย

nissan tokyo pt1 52

โอย เมื่อยและปวดหลังมาก ผมจึงต้องขอคุณเกตุ PR สาวเข้าพักผ่อนใน
โรงแรมตามลำพังและขอปฏิเสธการดู Robot Show ที่มีคนยืนยันแล้วว่า
ขนลุก เจ๋งมาก เจ๋งสุด ๆ จะว่าไปก็เสียดายเล็กน้อย แต่เราขอเลือกที่จะ
ปั่นงานก่อนดีกว่า ถ้ามีโอกาสครั้งหน้าเราก็คงจะไม่พลาดการแสดงครั้งนี้แน่

ระหว่างทางเดินกลับ เราก็สำรวจบรรยากาศรอบ ๆ Shiodome กันเสียหน่อย
ความสะดวกสบายของที่นี่คือมีทางเชื่อมต่อระหว่างตึกไปมาเหมือนใยแมงมุม
เชื่อมต่อกับสถานี Shiodome ด้วย

nissan tokyo pt1 53 nissan tokyo pt1 54

เหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุขมาก หลับฝันดีไป 1 คืนครับ

22 พฤศจิกายน 2013

หลานเอ้ย ตื่นได้แล้ว เอ๊ะ เสียงจากความฝันหรือเปล่านะ? อ้อ วันนี้เรามี
นัดกับคุณปู่ คุณทวดDatsun/Nissan ที่ Nissan Heritage Collection
DNA Garage แล้วสินะ แต่ขอโทษคุณปู่ คุณทวดด้วยนะครับที่วันนี้หลาน
จะต้องไปเยี่ยมชมโรงงาน Yokohama Plant กันก่อน  
หวังว่าคุณปู่ คุณทวดจะไม่โกรธนะครับ

nissan tokyo pt1 55

9.00 น. คือเวลาที่เราจะต้องไปถึงโรงงาน Yakohama ใช้เวลาจากที่พำนัก
ประมาณชั่วโมงหนึ่งกว่า ๆ เห็นจะได้ เมื่อมาถึงเราต้องเข้าอาคารพิพิธภัณฑ์
ที่จัดแสดงเครื่องยนต์และความเป็นมาเก่า ๆ ของที่นี่ อาคารแห่งนี้เขาเรียกกันว่า
Guest Hall & Engine Museum อันเป็นอดีตสำนักงานใหญ่เก่าในอดีต

แค่เปิดประตูเข้ามาปุ๊บเจอ
Nissan Leaf สีฟ้ารอต้อนรับหน้าทางเข้ากันแล้ว แต่เราจะมาเดิน
ชมนกชมไม้ไม่ได้เลยนะ เราต้องรีบขึ้นไปชั้น 2 เพื่อแนะนำโรงงานแห่งนี้กัน

ก่อนที่เราจะไปทัวร์โรงงาน Yokohama เราต้องมานั่งฟังเกริ่นนำจาก
ผู้จัดการโรงงานกันก่อน ฟังไปฟังมาสรุปใจความได้ว่า ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิด
แบรนด์ Nissan ขนานแท้เลยก็ว่าได้ ทั้งเป็นสถานที่ริเริ่มก่อตั้งโรงงาน
และสำนักงานใหญ่เป็นที่แรก

ดังนั้น สถานที่แห่งนี้ถือเป็นอนุสรณ์สถานที่บ่งบอกความเป็นมาของ Nissan
ครบรอบ 80 ปีอย่างแท้จริง

ภายในพื้นที่โรงงาน Yokohama มีพนักงานเกือบ 2,000 คนจะเน้นการ
ผลิตเครื่องยนต์ 5 แบบหลัก แน่นอนว่าต้นกำเนิดขุมพลัง VR38DETT
ที่วางไว้ในสุดยอดรถสปอร์ต Nissan GT-R ก็มาจากแหล่งผลิตที่นี่ที่เดียวในโลก
ด้วยกรรมวิธีในการที่ไม่ธรรมดาเหมือน Mass Production
งานนี้ต้องใช้วิทยายุทธระดับช่างฝีมือ

โรงงาน Yokohama Plant ได้ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกในปี 1933 ภายใต้พื้น
ที่ทั้งหมด 540,000 ตารางเมตรเริ่มแรกเคยเป็นโรงงานผลิตรถยนต์แบบ
รวมศูนย์คือตั้งแต่การประกอบชิ้นส่วนเล็ก ๆ แล้วรวมร่างให้กลายมาเป็น
รถสำเร็จรูป ถือเป็นโรงงานที่ผลิตในระบบ Mass Production
แห่งแรกในญี่ปุ่น

ปัจจุบัน โรงงาน Yokohama Plant จะผลิตแต่เครื่องยนต์, ชิ้นส่วนเครื่องยนต์,
อุปกรณ์มอเตอร์สำหรับรถไฟฟ้า/Hybrid, ชิ้นส่วนช่วงล่าง, การตีขึ้นรูป,
การหล่ออลูมิเนียม, การเชื่อม, การปั๊มขึ้นรูป และชิ้นส่วนแคตตาไลติก
คอนเวอร์เตอร์ ภายใต้การควบคุมการผลิตด้วยโปรแกรม Nissan Production
Way ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตอย่างสูง

ข้อมูลพอสังเขปโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตเครื่องยนต์ได้ถึงปีละ 566,000 เครื่อง
และมอเตอร์ไฟฟ้าปีละ 27,000 ชุดในช่วงปีงบประมาณ 2011 อ้างอิงข้อมูลจาก
สูจิบัตรที่แนบมาให้ ในวันนี้คาดว่าน่าจะผลิตชุดเครื่องยนต์ได้มากกว่าเดิม

nissan tokyo pt1 56 nissan tokyo pt1 57 nissan tokyo pt1 58

อาคารที่พวกเรากำลังนั่งฟังบรรยายอยู่ขณะนี้คืออาคาร Guest Hall and Nissan
Engine Museum (มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Nissan Yokohama Bldg. No.1)
สำหรับต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับการเชื้อเชิญจาก Nissan Motor เพื่อให้
มาศึกษาประวัติความเป็นมาของโรงงานแห่งนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งยังได้รับชมประวัติศาสตร์เครื่องยนต์มาตั้งแต่กาลเก่าอีกด้วย

อาคาร Guest Hall นี้มันเคยเป็นอาคารสำนักงานใหญ่เมื่อครั้ง Nissan
ก่อตั้งขึ้นและได้ผ่านการบูรณะให้มีสภาพใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด
(จะแตกต่างจากบ้านเราตรงที่มักชอบรื้อ, ทุบและดัดแปลงจนไม่เหลือคราบ
ของเดิมแม้แต่น้อย) วัสดุรอบตัวอาคาร (ยกเว้นอุปกรณ์จัดแสดง)
จะยังคงอ้างอิงจากสมัยที่ก่อตั้งครั้งแรก ไม่มีการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลง
ชนิดวัสดุอย่างใด อาคารแห่งนี้ยังถูกออกแบบให้รองรับภัยธรรมชาติ
ในเบื้องต้นได้ ที่สำคัญอาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารแห่งประวัติ
ศาสตร์ประจำเมืองโยโกฮาม่าตั้งแต่ปี 2002

เรามา Flashback กันในสมัยปี 1933 กัน ดูกันซิว่าสมัยนั้นอาคาร
Nissan Yokohama Bldg. No.1 หรือ Guest Hall ที่พวกเรายืนกัน
อยู่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

nissan tokyo pt1 59 nissan tokyo pt1 60

ภาพที่ทุกท่านเห็นอยู่ในขณะนี้คือโมเดลจำลองของสำนักงานใหญ่ Nissan
ในยุคนั้นในสมัยนั้นยังไม่ใช่ยุคสังคม Motorization เราจึงเห็นเส้นทางรถไฟวิ่ง
ตัดผ่านหน้าอาคาร Nissan Yokohama Bldg. No.1 แห่งนี้

ขณะนี้เราอยู่ชั้น 2 ของอาคาร Guest Hall พร้อมกับสื่อมวลชนชาวสิงคโปร์
และอาเซียนเพื่อชมนิทรรศการความเป็นมาของโรงงาน Yokohama Plant
กันก่อนที่พวกเราจะตะลุยไลน์การผลิตเครื่องยนต์ Nissan GT-R

ประวัติความเป็นมาแบรนด์ Nissan มีที่มาอย่างไร?
เราจะขอยกประวัติความเป็นมาจากบทความ
“บุกรัง Nissan Heritage Collection DNA Garage ยลโฉม 400 Classic Car ที่ญี่ปุ่น”
มาถ่ายทอดลงในบทความนี้อีกครั้งหนึ่ง และอาจจะมีการเสริมเติบแต่งบ้าง

nissan tokyo pt1 61

ทุกอย่าง เริ่มต้นขึ้นใน Yokohama ช่วงทศวรรษ 1910
ในยุค Meiji และ Taisho อันเป็นยุคหลังจากการเปิดประเทศญี่ปุ่น และเป็นยุค
ที่ความเจริญจากโลกตะวันตก มีผลอย่างมาก กับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆของ
ญี่ปุ่น ในสมัยนั้น รถยนต์บนถนนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีแต่ Mercedes-Benz
GM และ Ford เหมือนเช่นประเทศอื่นๆในย่านเอเซีย อาคเนย์ ตอนนั้นเริ่มมี
คนญี่ปุ่น คิดว่า พวกเขา น่าจะเริ่มลองสร้างรถยนต์ แล้วผลิตออกขายดูบ้าง

ความเป็นมาของ บริษัทนี้ ถ้าจะย่อให้เข้าใจง่ายๆ ต้องแยก ออกเป็น 3 สาย

สายแรก
Masujiro Hashimoto ก่อตั้งบริษัท Kwaishinsha Motor Car Works ในปี 1911 เพื่อ
จะผลิตรถยนต์ ออกขาย พอปี 1914 ก็เริ่มออกรถต้นแบบ DAT Model 41 ซึ่งเป็นรถยนต์
ตัวถังเดี่ยว ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ แบบแรกของญี่ปุ่น ออกมา โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษ จากคำ
นำหน้าชื่อ นายทุนของบริษัท ทั้ง 3 ในภาษาอังกฤษ ได้แก่ Kenjiro Den (D)
Rokuro Aoyama (A) และ Aketaro Takeuchi (T)

ในปี 1918 บริษัท Kwaishinsha Motor Car Co.,Ltd กำลังเติบโตจนมีเงินทุนหมุนเวียน
6 แสนเยน มีพนักงานประจำการ 60 ชีวิต พร้อมที่จะผลิต DAT Model 41 คันจริง
ภายในปีนั้น โดยมีจุดเด่นเป็นรถยนต์เครื่องยนต์ 4 สูบที่หล่อขึ้นรูปเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น

สาย 2
William G. Gorham วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์ รถยนต์สามล้อ ในปี 1919 ตั้งใจ
จะร่วมธุรกิจ ทำโรงงานรถยนต์ ในเมือง Osaka สมัยนั้น ถือเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดใน
ญี่ปุ่น เพราะเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม สั่งนำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งบริษัท Jitsoyo Jidosha
จำกัด (Jidosha ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า Automobile หรือรถยนต์ นั่นเอง)

สาย 3
Yoshisuke Aikawa เกิดในจังหวัด Yamaguchi เพิ่งเรียนจบ มหาวิทยาลัย Tokyo
Imperial (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัย Tokyo) พอไปอยู่สหรัฐฯ ก็เก็บเกี่ยวการทำงาน
ในโรงงาน ได้ประสบการณ์ กลับมาญี่ปุ่น เปิดโรงงาน Tobata Casting ในปี 1910

ต่อมา ทั้ง 3 สาย จะเริ่มเกี่ยวดอง ผสานเข้าด้วยกัน ตามลำดับดังนี้

สายแรก กับสาย 2 รวมเข้าด้วยกันในช่วงปี 1925 – 1926 กลายเป็นบริษัท DAT
Jidosha Seizo ต่อมา ทั้ง สายแรก และสาย 2 ก็โดน สาย 3 คือ Tobata Casting
ฮุบกิจการไปอยู่ในมือ ในปี 1931

nissan tokyo pt1 62

ในขณะนั้นปี 1931 บริษัท DAT Jidosha Seizo ก็ได้พัฒนารถคอมแพคท์ความจุ
กระบอกสูบ 495 ซีซี ภายในปี 1932 บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Datson
ความหมายของ Datson เกิดจากนำตัวย่อของนายทุนสามตัวหลักบวกเข้ากับ
คำว่า Son ที่แปลว่าลูกชายซึ่งรวมกันแล้วหมายถึง บุตรชายของนายทุนทั้งสาม

แต่ทว่าในตอนหลังต้องเปลี่ยนจาก Datson เป็น Datsun แทน เพราะความหมายของคำว่า
Son ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า การขาดทุน, ไม่ประสบผลสำเร็จ (ภาษาปากเรียกว่า เจ๊ง นั่นแล)

พอปี 1933 Tobata Casting ก็ตั้งแผนกรถยนต์ ในบริษัทขึ้นมา และเริ่มผลิตรถยนต์
จากทุนที่มีอยู่ในเดือนตุลาคม ปีนั้นเอง บนพื้นที่ของโรงงาน Yokohama ในปัจจุบัน

ช่วงนั้นเอง Aikawa สาย 3 และนายทุน แบบ Holding Company ที่ชื่อ Nihon Sangyo
ก็ร่วมกันตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ Jidosha Seizo เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1933

พอปี 1934 พวกเขาเลยเปลี่ยนชื่อบริษัท ตามชื่อ Nihon Sangyo เป็น Nissan
นั่นคือที่มาของชื่อยี่ห้อที่คนไทยรู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง
ในปี 1935 Nissan ได้ออกรถยนต์ Datsun 14 ซึ่งนอกจากจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้น
แบบ Mass Production แบบแรกของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ
ในภูมิภาค Asia อีกด้วย ขายดิบขายดีกันใหญ่

หลายคนคงสงสัยว่า ชื่อ Nissan กับ Datsun เกี่ยวข้องกันยังไง ?

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงปี 1981 ชื่อ DATSUN จะถูกใช้กับรถยนต์ขนาดเล็ก
และรถกระบะส่วนรถยนต์ ขนาดใหญ่ จะใช้ชื่อยี่ห้อ Nissan กฎเกณฑ์นี้ ใช้ทั้งใน
ญี่ปุ่นและตลาดโลกด้วย

แต่เพื่อลดความสับสน และสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน พอพ้นปี 1981 มา
พวกเขาเลยตัดสินใจ เปลี่ยนการเรียกชื่อ ให้เป็น Nissan ทั้งหมด
มีแคมเปญโฆษณา เรื่องนี้ ในทั่วโลกไม่เว้นกระทั่งในเมืองไทย

คราวนี้เรามาดูประวัติการก่อตั้งโรงงานและอดีตสำนักงาน Yokohama กัน

ในเดือนธันวาคมปี 1933 ได้เริ่มดำเนินก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ No.1
(Headquater) ในเขตโรงงาน Yokohama แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ปี 1934

ในปี 1935 ก็ได้ทำคลอดรถยนต์คอมแพคท์คันแรกที่ขึ้นสายการผลิต
ในโรงงาน Yokohama ภายใต้ชื่อแบรนด์ Datsun

ป้ายนิทรรศการที่นี่ก็สร้างความน่าสนใจด้วยการนำเหตุการณ์ครั้งสำคัญ
มาประกอบ Timeline การก่อตั้งโรงงานและอดีตสำนักงานใหญ่ Yokohama

nissan tokyo pt1 63

ปี 1937 ได้มีการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตจาก Graham Paige
เพื่อเตรียมการผลิตรถยนต์ Nissan ขนานใหญ่ พร้อมกันนี้ยังได้ขยายโรงงาน
ใน Area 2 ส่วนสายการผลิตเครื่องจะสามารถผลิตได้อย่างสมบูรณ์ในปี 1942

ปี 1941 ก็ได้คลอด Nissan Truck 180 รถกระบะใหญ่เป็นครั้งแรก เน้นการใช้
งานที่ทนทานจนได้รับความนิยมในสมรภูมิ โดยใช้เวลาพัฒนา,ออกแบบ,
โปรโตไทป์ภายในแค่ 6 เดือนเท่านั้น

ปี 1943 โรงงาน Yakohama และโรงงาน Yoshiwara ก็ได้รับเกียรติให้
ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินฝึกสอน HAA7 บล็อก 4 สูบ 100 แรงม้า
มีกำลังการผลิตรวมกัน 1,500 เครื่องจนกว่าจะสิ้นสุดสงคราม

ปี 1945 กองกำลังพันธมิตรได้เข้ามายึดโรงงาน Yokohama มากกว่าครึ่งหนึ่ง
พร้อมมีคำสั่งให้ผลิตรถกระบะสำหรับใช้ทางการทหาร จนทำให้การผลิตที่
เกี่ยวข้องรถยนต์ Datsun ต้องย้ายไปที่โรงงาน Yoshiwara

nissan tokyo pt1 64 nissan tokyo pt1 65

ปี 1953 ได้ขึ้นสายการผลิต Austin A40 ในท้องถิ่นเป็นคันแรก
โดยนำเข้าชิ้นส่วนทั้งหมดจากต่างประเทศยกเว้นล้อ, แบตเตอรี่และแผ่นกระจก
มีการผลิตจนถึงปี 1956

ปี 1955 ได้ทำคลอดรถกระบะขนาดกลาง Nissan Junior ที่พัฒนาโดย
แผนก Nissan อันเป็นแผนกที่ทำรถใหญ่และ Datsun อันเป็นแผนกที่
เน้นทำรถคอมแพคท์ ส่วนชื่อรุ่นนั้นได้มาจากไอเดียจากเหล่าพนักงาน

ปี 1960 ได้ทำคลอด Nissan Cedric รถยนต์นั่งขนาดกลาง ณ เวลานั้น
ในเดือนมีนาคมเป็นรถคันแรกที่ได้ซึมซับเทคโนโลยีต่าง ๆ จาก Austin
พร้อมกันนี้ยังได้ทำคลอด Nissan Bluebird รุ่นแรก หลังจากเปิดตัวต่อ
สาธารณะชนในเดือนกรกฎาคม ปี 1959

หลังจากที่พอทราบประวัติของโรงงานนี้พอสังเขปเราก็นำพาเรือนร่างลง
มาชมนิทรรศการเครื่องยนต์แห่งประวัติศาสตร์กันดีกว่าครับ

nissan tokyo pt1 66

ลงมาปุ๊บก็จะเจอรถโบราณที่มีนามว่า Datsun Model 15 Roadster
สภาพสีแดงเลือดหมูเงางาม วิทยากรเสียงอาโนเนะบอกให้พวกเราสังเกต
กันดูว่ามันขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง บางคนก็พอดูออกว่าไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยว
แล้วคนสมัยก่อนเขาแสดงสัญลักษณ์ยังไงล่ะ?

nissan tokyo pt1 67

คำตอบก็คือตัวรถติดตั้งอุปกรณ์บอกสัญญาณการเลี้ยวอยู่ตรงเสา A นี่เองครับ
ราคาค่างวดตัวรถสมัยนั้นจะตกอยู่ที่ 1,750 เยน สมัยนั้นถือว่ามีราคาสูง
กว่าค่าครองชีพของชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยกว่า 20 เท่า ถือเป็นรถที่คนญี่ปุ่นทั่วไป
ไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้แน่นอน

nissan engine 1

เครื่องยนต์แรกที่นำมาจัดแสดงคือเครื่องรหัส D10 ปี 1950 ซึ่งวิทยากร
อธิบายว่าเป็นเครื่องที่ได้รับการพัฒนามา 2 ทอด ทอดแรกเป็นเครื่อง 4 สูบ 495 ซีซี
ดั้งเดิมที่พัฒนาและผลิตโดยบริษัท DAT Automobile ปี 1929 ต่อมาจึง
ขยายขนาดกระบอกสูบเป็น 722 ซีซีรหัส D7 ต่อมาก็ขยายความจุกระบอกสูบ
เป็น 860 ซีซี ติดตั้งในรถยนต์ Datsun และ Datsun Truck

nissan engine 2

เครื่องยนต์ NB ปี 1953 ความจุ 3,670 ซีซี 95 แรงม้า (PS) เป็นเครื่องที่
ได้รับเทคโนโลยีจาก Graham-Paige Motor สหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมาก็ช่วยทำให้
 Nissan สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เป็นของตัวเองได้

nissan engine 3 1

เครื่องยนต์ C ปี 1957 เป็นเครื่องที่ได้รับเทคโนโลยีมาจาก Austin สเปคเบื้องต้น
เป็นเครื่องบล๊อก OHV  ติดตั้งลงใน Datsun Model 210
สภาพที่เห็นอาจจะบุโรทั่งไปนิด ต้องทำใจว่าเครื่องมันเก่าเอามาก ๆ แล้วครับ

nissan engine 4

เครื่องยนต์ H20 ปี 1965 เป็นเครื่องที่พัฒนาจากเครื่องยนต์ Model G
บล็อก OHV 4 สูบ 1.5 ลิตร 71 แรงม้าก็อัพเกรดให้แรง 92 แรงม้า (PS)
ตัวเลขม้าสูงไม่แพ้เครื่อง1.5 ลิตรในยุค 90s กันเลยทีเดียว

nissan engine 5

เครื่องยนต์ W64 ปี 1967 เป็นเครื่องยนต์ชนิดพิเศษที่ติดตั้งลงใน
Nissan Prince Royal Model A70 สำหรับรับใช้ท่านจักรพรรดิ ฮิโระฮิโตะ
มายาวนานถึง 40 ปี ถือเป็นเกียรติอันสูงส่งของ Nissan ในสมัยนั้นสเปค
เบื้องต้นจะเป็นบล็อก V8 OHV 6,373 ซีซี ไม่ระบุกำลัง

nissan tokyo pt1 68

มาคั่นกลางด้วยรถยนต์รุ่นเก่าดีกว่าครับ ภาพที่เห็นขณะนี้คือ
Nissan Bluebird 1300SS Model P411 ซึ่งเป็นเจเนเรชั่นที่ 2 ของตระกูล
นกสีฟ้าที่พัฒนาขึ้นในปี 1963 พร้อมเปิดตัวปี 1966 ตัวรถถูกออกแบบโดย
Pininfarina ทำให้ดีไซน์มีกลิ่นอายความเป็นอิตาเลียนสูง

nissan engine 6

กลับมาดูเครื่องยนต์ในประวัติศาสตร์กันต่อกับเครื่องยนต์ U20 ปี 1967
เป็นเครื่องที่พัฒนาต่อยอดมาจาก U20 ที่สามารถเอาชนะเครื่องยนต์รถ
สปอร์ตจากยุโรปได้ แต่นำมาโมดิฟายด์ให้เน้นความแรกงมากขึ้นสำหรับติดตั้งลงใน
Datsun Roadster (FairladyZ ในญี่ปุ่น) สำหรับทำตลาดในสหรัฐอเมริกา

nissan engine 7

เครื่องยนต์ A10 ปี 1966 ถือเป็นเครื่องยนต์ Masterpiece ที่พัฒนาขึ้นสำหรับ
รถคอมแพคท์ในช่วงกลางยุค 60s มีพละกำลังสูงแต่ประหยัดน้ำมัน โดยใช้เทคนิค
พิเศษ High Cam สำหรับติดตั้งลงใน Nissan Sunny B10

nissan engine 8

เครื่องยนต์ G7 ปี 1967 เป็นเครื่องพัฒนาพิเศษสำหรับซีดานขนาดใหญ่บล็อก 6 สูบแถวเรียง
ในช่วงแรกถือกำเนิดขึ้นในปี 1963 ติดตั้งลงใน Nissan Gloria ปี 1963 ต่อมา
ก็ได้อัพเกรดด้วยการติดตั้งคาร์บิวเรเตอร์ Weber 3 ตัวสำหรับ Skyline GT
ต่อมาก็พัฒนามาเป็น 105 แรงม้าสำหรับติดตั้งใน Nissan Gloria A30 ปี 1967

nissan engine 9

เครื่องยนต์ L18S ปี 1976 เป็นเครื่องที่เกิดมาในยุค Motorization อย่างเต็มตัว
แรกเริ่มเดิมทีเครื่องบล็อก L บล๊อก 4 สูบเริ่มติดตั้งลงใน Bluebird 510 ปี และได้ส่งออก
เครื่องยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกาปี 1967 นับแต่นั้นมาเครื่องบล็อกนี้มีอายุในการทำตลาด
ยาวนาน 20 ปี

เครื่องยนต์บล๊อก L 4 สูบเวอร์ชันสุดท้ายได้ติดตั้งลงใน Bluebird 810
สเปคเครื่องบล็อก 4 สูบ ความจุ 1,770 ซีซี 105 แรงม้า (PS)ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 15.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,600 รอบ/นาที

nissan engine 10

เครื่องยนต์ L20ET ปี 1979 บล็อก 6 สูบที่แตกต่างจากบล็อก L 4 สูบที่เอ่ยก่อน
หน้านั้นมากเครื่องรหัส L บล็อก 6 สูบเริ่มกำเนิดขึ้นในปี 1969 เน้นพละ
กำลังสูงสุดไว้สำหรับรถยนต์ที่ทำตลาดอเมริกาเหนือ 

ในปี 1979 เครื่องตัวนี้จำเป็นต้องติดตั้งเทอร์โบเพื่อให้เข้ากับกฎหมายมลพิษในยุค 70s นั้นได้
ส่งผลให้ไอเสียน้อยลง, ประหยัดน้ำมันขึ้นสำหรับติดตั้งลงใน Cedric Model 430
ความจุกระบอกสูบ 1,988 ซีซี 145 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 21.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,200 รอบ/นาที

nissan engine 11

เครื่องยนต์ S20 ปี 1969 เป็นเครื่องที่ต่อยอดเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์ GR8
ที่ติดตั้งลงในรถแข่งปี 1965 มาก่อน เครื่อง S20 เป็นเครื่องบล็อก 6 สูบแถวเรียง
DOHC 4 วาล์วต่อสูบ คาร์บิวเรเตอร์ Solex 3 ตัว เครื่องตัวนี้เปิดตัวครั้งแรกใน
Skyline GT-R ปี 1969 Model PGC10 ความจุกระบอกสูบ 1,990 ซีซี
160 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิด 18.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 5,600 รอบ/นาที

nissan engine 12

เครื่องยนต์ Y44E ปี 1975 เป็นเครื่องยนต์พที่พัฒนามาจากเครื่อง Y40
อันเป็นเครื่องบล๊อก V8 เครื่องแรกที่กำเนิดขึ้นมาสำหรับติดตั้งลงใน
Nissan President โดยเฉพาะ จากนั้นเมื่อ President ปรับโฉมในปี 1973
ก็ได้ขยายความจุกระบอกสูบเป็น 4.4 ลิตร พร้อมเปลี่ยนรหัสเป็น Y44 ต่อมาก็ได้ริเริ่มติดตั้ง
หัวฉีดอิเล็กทรอนิคส์และแคตตาไลติก 3 ทิศทางในปี 1975 จนมีรหัส Y44E

ในปี 1978 ก็มีการปรับปรุงค่าไอเสียให้น้อยลง
สเปคเบื้องต้นของ Y44E เป็นเครื่องบล็อก V8 OHV 4,414 ซีซี 200 แรงม้า (PS)
ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิด 38.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,200 รอบต่อนาที

nissan engine 13

เครื่องยนต์ VG30DETT ปี 1989 เป็นเครื่องที่ต่อยอดจากเครื่อง VG มาตรฐาน
ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ V6 เครื่องแรกในญี่ปุ่นที่กำเนิดในปี 1983 ที่เน้นสมรรถนะสูง,
กะทัดรัด, น้ำหนักเบา

เครื่อง VG30DETT ที่เห็นอยู่นี้เป็นเครื่อง V6 DOHC 3.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ติดตั้งลงใน
Nissan Fairlady Z ในปี 1989 ให้กำลังสูงสุด 280 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที
แรงบิด 39.6 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,600 รอบต่อนาที

เครื่องยนต์บล๊อกต่อไป น่าจะคุ้นตาสำหรับ
คนเล่นรถรุ่นเดอะซะหน่อยครับ

nissan engine 14

เครื่องยนต์ RB26DETT เครื่องบล็อกนี้คนรักรถตัวจริงต้องรู้จักแน่นอนเป็นเครื่อง
ที่กำเนิดขึ้นในปี 1999 เป็นเครื่องบล็อก 6 สูบแถวเรียง DOHC 2,568 ซีซี เทอร์โบคู่ 280 แรงม้า(PS)
ที่ 6,800 รอบ/นาที แรงบิด 40,0 กิโลกรัม-เมตรที่ 4,400 รอบ/นาที

แรกเริ่มเดิมทีบล็อกเครื่อง RB 2.6 ลิตรเคยติดตั้งลงใน Skyline GT-R R32
จนได้ขนานนามว่าเป็นรถ GT ที่ดีที่สุดในโลกเมื่อปี 1989 และมีการพัฒนาต่อ
เนื่องสำหรับสวมลงใน GT-R รุ่น R34 ในปี 1999

nissan engine 15

เครื่องยนต์ SR20DET ปี 1991 สำหรับติดตั้งลงใน Nissan Pulsar GTi-R N14
สเปคเป็นบล็อก DOHC 4 สูบ 1,998 ซีซี เทอร์โบระบายความร้อนด้วยน้ำ
ให้กำลังมากกว่า 300 แรงม้าที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิด มากกว่า 38.0 กิโลกรัม-เมตร
ที่ 4,800 รอบ/นาที

แรกเริ่มเดิมทีเครื่องบล็อกนี้ได้พัฒนาขึ้นสำหรับ Nissan Primera ในปี 1989
สำหรับวิ่งบน Autobahn ในยุโรปโดยเฉพาะ

nissan engine 16

คราวนี้เรามาดูหมวดเครื่องยนต์ที่เน้นความประหยัด, ไอเสียสะอาด
และเป็นช่วงที่ยุคเครื่องดีเซลที่ให้พละกำลังดีแต่ประหยัดน้ำมันกำลังมา
เครื่องดีเซลบางรุ่นจะใช้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ร่วมกับเครื่องบล๊อกเบนซินหลายชิ้น

เครื่องยนต์ดีเซล TD27ETi ปี 1995 ติดตั้งลงใน Nissan Terrano R50
เครื่องยนต์บล๊อกนี้แรกเริ่มเคยติดตั้งลงใน Terrano ปี 1986 ซึ่งเป็นบล็อก TD27 ธรรมดา ๆ

จนกระทั่งได้ติดตั้งระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิคส์และเทอร์โบในปี 1995 พร้อม
เปลี่ยนเป็นรหัส TD27ETi จึงทำให้มีพละกำลังและประหยัดน้ำมันที่ดีในตัว
ให้กำลัง 230 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 28.4 กิโลกรัม-เมตร
ที่ 2,000 รอบ/นาที

nissan engine 17

เครื่องยนต์ CD20 ปี 1991 สำหรับติดตั้งลงใน Serena C23
โดยมีปณิธานให้เป็นเครื่องดีเซลขนาดกะทัดรัดสำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องด้านหน้า
ขับเคลื่อนล้อหน้าโดยเฉพาะ ความพิเศษของเครื่องนี้คือสามารถขึ้นสายการผลิตร่วมกับเครื่อง
เบนซินรหัส CA ได้ ในช่วงแรกจะมีเครื่องรหัส CD20 และ CD20T เทอร์โบ
ออกมาพร้อมกัน ในตอนหลังก็จะแตกตัวออกเป็นเครื่อง CD17 สำหรับติดตั้งใน
Sunny

เครื่อง CD20 เป็นเครื่องบล็อก SOHC 4 สูบ 1,974 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ
76 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิด 13.5 กิโลกรัม-เมตรที่ 2,400 รอบ/นาที

nissan engine 18

เครื่องยนต์ LD28 ปี 1979 เครื่องดีเซลที่สำหรับติดตั้งในรถยนต์นั่ง
ออกมาในช่วงที่เป็นวิกฤตราคาน้ำพุ่งสูงพอดี และยังสามารถขึ้นสายการผลิต
ร่วมกับเครื่องยนต์เบนซินบล็อก L ได้ พร้อมกันนี้ยังได้ติดตั้งเทคโนโลยี
ล้ำสมัยมากในขณะนั้นคือการใช้ปั๊มฉีดจ่ายน้ำแบบ VE จาก Bosch

สเปคเป็นบล็อก SOHC 6 สูบแถวเรียง 2,792 ซีซี 91 แรงม้า (PS) ที่ 4,600 รอบ/นาที
แรงบิด 17.3 กิโลกรัม-เมตรที่ 2,400 รอบ/นาที ติดตั้งใน Cedric Model 430

nissan engine 19

เครื่องยนต์ QG18DE ปี 2000 เครื่องที่ชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดีใน Sunny NEO
เครื่องรุ่นนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 1998 มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้สูง
หัวเทียนอยู่ตำแหน่งตรงกลางห้องเผาไหม้ ทำให้ประหยัดน้ำมันและ
สมรรถนะที่ยอดเยี่ยม

เครื่องที่เห็นอยู่นี้คือเครื่องรุ่นปี 2000 ที่ติดตั้งตัวกรองไฮโดรคาร์บอนสำหรับ
Nissan Sentra ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา จึงทำให้เครื่องรุ่นนี้เป็น
เครื่องที่สะอาดที่สุดในโลก ณ ตอนนั้น

ความจุ 1,796 ซีซี 126 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 17.5 กิโลกรัม-เมตร
ที่ 4,400 รอบ/นาที

ส่วนประสิทธิภาพจริงในการใช้งาน ลองถามหนุ่มสาว Sunny Neo 1.8 ดูนะครับ

nissan engine 20

เครื่องยนต์ VG33E เป็นเครื่องที่มาทดแทนเครื่องบล็อก L รุ่น 6 สูบแถวเรียง
คราวนี้วางเลย์เอาท์เป็นเครื่อง V6 เครื่องแรกของ Nissan พร้อมพกพาขนาดเครื่องที่เล็กลง
เหมาะสำหรับติดตั้งในรถยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้ายุคใหม่โดยเฉพาะ

เครื่อง VG ติดตั้งครั้งแรกใน Cedric ปี 1983 ต่อมาจึงติดตั้งลงในเอสยูวี
สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ

เครื่องที่เห็นอยู่นี้ได้ติดตั้งใน Terrano/Pathfinder R50 ในปี 1995
เบนซิน V6 SOHC 3,247 ซีซี 170 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที
แรงบิด 27.1 กิโลกรัม-เมตรที่ 2,800 รอบ/นาที

nissan engine 21

เครื่องยนต์ MA10ET เป็นเครื่องที่มาจากรากฐานเครื่อง MA สำหรับติดตั้งลงใน
March รุ่นแรก น้ำหนักเบาและเป็นเครื่องแรกที่มีการหล่อเสื้อสูบอลูมิเนียม

รุ่นเครื่องเทอร์โบแนะนำในปี 1985 ความจุ 988 ซีซี เทอร์โบระบายความร้อน
ด้วยน้ำ 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 12.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 4,400
รอบ/นาที

nissan engine 22

เครื่องยนต์ E15S เป็นเครื่องยนต์ที่รองรับรถยนต์คอมแพคท์วางเครื่องหน้า
ขับเคลื่อนล้อหน้าอย่างสมบูรณ์แบบซึ่งจะช่วยเพิ่มเนื้อที่ห้องโดยสารอันเป็น
เทรนด์ที่ก่อกำเนิดในยุค 80s เป็นต้นไป 

เครื่องบล็อก E เครื่องแรกได้รับการแนะนำในปี 1981 ใน Nissan Pulsar
และ Sunny FF แน่นอนล่ะว่าลูกค้าชาวไทยรุ่นเดอะจำนวนไม่น้อย
ก็คงจะคุ้นชินกับเครื่องบล๊อกนี้อย่างแน่นอน

E15S เป็นเครื่องบล็อก SOHC 1,487 ซีซี 85 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิด 12.3 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,600 รอบ/นาที

nissan engine 23

เคริ่อง Z18E นั้นคือเครื่องยนต์ที่นำเครื่องยนต์ตระกูล L 4 สูบ
มาปรับปรุงใหม่ด้วยการติดตั้งปลั๊กจุดระเบิดคู่เพื่อให้การเผาไหม้
มีความเสถียรเพียงพอและติดตั้ง EGR ขนาดใหญ่เพื่อลดก๊าซไนโตรเจน

สมัยนั้นเครื่องตระกูล Z เปิดตัวในปี 1977 ก่อนที่มาตรการบังคับ
ค่ามาตรฐานไอเสีย Showa 53 จะเริ่มขึ้นในปี 1978
ต่อมาก็ได้มีการปรับช่องทางเดินอากาศและติดตั้งแคตตาไลติค

เครื่อง Z18E ที่เห็นอยู่ขณะนี้ติดตั้งลงใน Bluebird 810
SOHC 4 สูบ 1,770 ซีซี 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิด 15.5 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,600 รอบ/นาที

nissan engine 24

หมวดเครื่องยนต์ที่เป็นที่สุดของที่สุดกัน เพราะมันคือเครื่องยนต์
ที่ติดตั้งลงในรถแข่งความเร็วสูงมาก

เครื่องยนต์ VRH50A เป็นเครื่องบล็อก DOHC V8 4,997 ซีซี ไร้ระบบ
อัดอากาศใด ๆ ให้กำลังมากกว่า 620 แรงม้าที่ 7,200 รอบ/นาที
แรงบิดมากกว่า 65.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 6,000 รอบ/นาที
ติดตั้งลงในรถแข่ง Nissan R391 สำหรับการแข่ง
ในสนาม Le Mans 24 ชั่วโมงในปี 1999

nissan engine 25

เครื่องยนต์ VRT35 บล็อก DOHC V12 ความจุ 3,499 ซีซี ให้กำลัง
มากกว่า 630 แรงม้าที่ 11,600 รอบ/นาที แรงบิดมากกว่า
40.0 กิโลกรัม-เมตรที่ 9,200 รอบ/นาที ติดตั้งลงในรถแข่ง
Model NP35 Group C สำหรับการแข่งขัน World Sport Car
Championship ในปี 1992

nissan engine 26

เครื่องยนต์ VRH35Z บล็อก DOHC V8 ความจุ 3,496 ซีซี ให้กำลัง
มากกว่า 680 แรงม้าที่ 7,200 รอบ/นาที แรงบิดมากกว่า
80.0 กิโลกรัม – เมตรที่ 5,600 รอบต่อนาทีติดตั้งลงในรถแข่ง
Model R91CP Group C แม้จะได้ที่ 5 ในสนาม Lemans ปี 1990
แต่สามารถคว้าชัยชนะมาได้ในสนาม Daytona Race 24 ชั่วโมงในปี 1991

nissan engine 27

เครื่องยนต์ GRX-II บล็อก DOHC V12 ความจุ 5,954 ซีซี
ให้กำลัง 592 แรงม้าที่ 6,400 รอบ/นาที
แรงบิด 64.2 กิโลกรัม-เมตรที่ 5,600 รอบ/นาที
ติดตั้งลงในรถแข่ง Model R382
เครื่องยนต์วางกลางสำหรับการแข่งขันใน Japanese Grand Prix ปี 1969
ความเร็วสูงสุดทำได้ 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง

nissan engine 28

เครื่องยนต์ GR8 บล็อก DOHC 6 สูบแถวเรียง 1,996 ซีซี ให้กำลัง
มากกว่า 220 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาทีแรงบิดไม่ได้ระบุ

สมัยนั้น Prince Motor ได้พัฒนารถแข่ง Model R380 แล้วนำเครื่อง GR8
เพื่อหวังจะชนะการแข่งขัน Japanese Grand Prix เมื่อปี 1965

แต่บังเอิญ Japanese Grand Prix ในปี 1965 งดการแข่งขันเลยต้องไป
วิ่งแข่งในสนาม World Speed Record แทน หลังจากนั้นจึงได้
คว้าชัยชนะ Japanese Grand Prix ในปี 1966

เครื่องที่เห็นอยู่ขณะนี้เป็นเครื่องยนต์ที่ได้มีการปรับปรุงระบบฉีดจ่าย
น้ำมันสำหรับปี 1968

มุมต่อมาเป็นมุมที่ถือเป็นการสร้างเกียรติประวัติให้ Nissan Motor
ได้จนถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือเครื่องยนต์ตระกูล VQ ที่ได้รับรางวัล
10 Best Engine Award จากนิตยสาร Ward’s
ต่อเนื่องหลายปีมาตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2008
(ส่วนปี 2012 ได้รับการคัดเลือกอีกครั้ง
แต่เป็นขุมพลัง Hybrid ที่จับคู่เครื่องยนต์ VQ 3.5 ลิตรกับมอเตอร์ไฟฟ้า)

nissan engine 29 1 nissan engine 29 2

แน่นอนว่า ชาวไทยแทบทุกหมู่เหล่าล้วนคุ้นเคยเครื่องยนต์ตระกูลนี้กันดี
มาตั้งแต่ Nissan Cefiro A32 จนถึง Nissan Teana J32 ที่เพิ่งตกรุ่นไปไม่นานนี้

เครื่องที่ทุกท่านเห็นในขณะนี้คือเครื่อง VQ37VHR ที่ติดตั้งในรถยนต์ infiniti
และ 370Z เป็นหลัก

เขยิบมาโซนเครื่องยุคใหม่ล่าสุดกันบ้างครับ

nissan engine 30

เครื่องยนต์ MR20DD เครื่องหัวฉีดตรงที่ติดตั้งใน Nissan Serena
และไม่แน่ใจว่าจะมีแผนติดตั้งในรถยนต์ Nissan รุ่นอื่น ๆ ในอนาคตหรือไม่
ให้กำลัง 147 แรงม้า (PS)ที่ 6,600 รอบ/นาที
แรงบิด 21.4 กิโลกรัม – เมตรที่ 4,400 รอบ/นาที

อ่านจากป้ายบอกได้ว่าเครื่องยนต์บล็อกตระกูล MR เริ่มกำเนิดขึ้นในปี 2004
มีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 1.6 – 2.0 ลิตร ขนาดกะทัดรัด, น้ำหนักเบา,
บล็อกลูกสูบและหัวลูกสูบหล่ออลูมิเนียม, ท่อไอดีร่วมทำจากวัสดุพลาสติก

nissan engine 31

เครื่องยนต์ VK50VE ติดตั้งครั้งแรกใน infinit FX50 ในปี 2008 เป็น
เครื่องที่ดัดแปลงจากพื้นฐานเครื่องยนต์ VK45DE V8 4.5 ลิตรที่เคยติดตั้งใน
infiniti FX45 ด้วยการขยายความจุกระบอกสูบเป็น 5.0 ลิตรหรือ 5,026 ซีซี
พร้อมระบบวาล์วแปรผัน VVEL 380 แรงม้า (PS) ที่8,500 รอบ/นาที
แรงบิด 500 นิวตันเมตรที่ 4,400 รอบ/นาที

nissan engine 32

เครื่องยนต์ VR38DETT เครื่อง Nissan GT-R ติดตั้งเทอร์โบ IHI ให้กำลัง 530 แรงม้า (PS)
ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิด 62.5 กิโลกรัม-เมตรที่ 3,200-6,000 รอบ/นาที
เครื่องตัวนี้ล่ะครับที่พวกเรากำลังจะได้เข้าไปเจาะถึงถิ่นฐานการผลิตเครื่อง
ถึงบ้านเกิดกัน

nissan engine 33

เครื่องดีเซล YD25DDTi เครื่องรหัส YD นี้ชาวไทยต้องคุ้นเคยกันอย่างมากแน่นอน
เพียงแต่เครื่อง YD25DDTi เป็นเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งใน Nissan Murano Z51
ตัวถังปัจจุบันในตลาดยุโรปซึ่งการปรับปรุงหัวฉีดจ่ายน้ำเชื้อเพลิงตรงด้วยแรงดัน 2 พันบาร์
จากเดิม 1,800 บาร์เปลี่ยนเทอร์โบ VNT ที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิคส์
ที่ตอบสนองไวกว่า และยังติดตั้ง Particle filter เพื่อให้ไอเสียสะอาด

เครื่องรุ่นนี้ให้กำลัง 180 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิด 45.8 กิโลกรัม-เมตรที่
1,400-3,200 รอบ/นาที

nissan engine 34

เครื่องยนต์ QR25DE เครื่องตระกูล QR เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
ส่วนใหญ่มักติดตั้งลงในรถยนต์ขนาดกลางทีทำตลาดในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
เป็นเครื่อง 4 สูบที่ขึ้นหล่อบล็อกด้วยอลูมิเนียมแรงดันสูง และมีการปรับปรุง
เครื่องอีกครั้งในปี 2007 ซึ่งถือเป็นเจเนเรชั่นที่ 2 ของเครื่อง QR

QR25DE ให้กำลัง 170 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 23.6 กิโลกรัม-เมตร
ที่ 4,400 รอบ/นาที

ปัจจุบันเครื่องยนต์ QR25DE เจเนเรชั่นใหม่ได้สืบสานตำนานเครื่องยนต์
VQ25DE ในตลาดโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยเหตุผลของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ที่ดีกว่า ภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูงขึ้นไปกว่าเดิม

nissan engine 35

เครื่องยนต์ MR16DDT เครื่องที่หลายคนใฝ่ฝันพอสมควรว่าอยากจะได้ใช้
ในเมืองไทยกับเขาบ้าง เครื่องตัวนี้ให้กำลัง 190 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิด 24.5 กิโลกรัม-เมตรที่ 2,000-5,200 รอบ/นาที

วนมาถึงส่วน Entrance Hall ก็จะเห็น Nissan Cedric Y34 รุ่นปี 1999-2004
ถูกจับเปลือยให้เห็นถึงเนื้อแท้วงจรรถยนต์รอบคัน โดยมี Video Present หลักการทำงาน
ภายในว่าเป็นอย่างไร

nissan tokyo pt1 69 nissan tokyo pt1 70 nissan tokyo pt1 71 nissan tokyo pt1 72

โซนต่อมาก็จะโชว์ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในเครื่องยนต์ โดยส่วนใหญ่จะมี
ชิ้นส่วนถึง 300 ชิ้นมากสุดก็ราว 500 กว่าชิ้นแล้วแต่รุ่น และนอกจากนี้ยังมีการสาธิต
การขยับเคลื่อนไหวหุ่นยนต์โรงงานประกอบเครื่องยนต์ให้วาดรูปเหมือนตามต้นฉบับได้

nissan tokyo pt1 73 nissan tokyo pt1 74 nissan tokyo pt1 75

มันก็วาด 370Z ได้อย่างสวยงามเลยเหลือบไปเห็นก็มีภาพการ์ตูน Carlos Ghosn
นายใหญ่ Nissan ประดับด้วยเช่นกันแอบน่ารักนะครับ

เสร็จจากการเยี่ยมชมใน Guest Hall และ Nissan Engine Museum
กันเรียบร้อยแล้วเราก็ต้องนั่งรถเข้าไปในเขตโรงงาน Yokohama ซึ่งเป็น
เขตแดนที่มีความลับในการผลิตเครื่องยนต์มากมาย

แต่ช้าแต่ครับ เราขอ STOP ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน
คราวหน้าเรามาติดตามชมตอนต่อไป
ตอน ไขเคล็ดลับประกอบเครื่อง GT-R ด้วยมือและ
เยี่ยมคุณปู่ Nissan ครับ


ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motor (ประเทศไทย) จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อในการเดินทางครั้งนี้

HOMY DEMIO
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่าย โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
7 ธันวาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part
or in whole without permission is prohibited.
First published in www.Headlightmag.com
December 7, 2013