ตลาดมินิแวนในอาเซียนยุคนี้เป็นยุคแห่งรถยอดนิยมเลยก็ว่าได้โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและมาเลย์เซียที่ได้รับความนิยมมากเสียจนรถเก๋งบางประเภทอาจไม่ได้แจ้งเกิดเลยก็ได้หากไม่สามารถดึงจุดเด่นให้ลูกค้าจดจำ มาเลย์เซียถึงรถเก๋งยังได้รับความนิยมอยู่เหมือนเดิมแต่ตลาดมินิแวนกลับเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคู่แข่งจุดประกายการแข่งขันให้รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อ Toyota ส่ง Avanza และ Innova,Suzuki ส่ง APV รวมทั้ง Nissan เองก็ส่ง Grand Livina ซึ่งประสบความสำเร็จมากในอินโดนีเซียลงมาแข่งขันกันด้วย ยังไม่นับรวม Honda Freed และ Perodua Minivan ที่นำโฉมหน้า Toyota Passo Sette มาประกอบขายด้วย แล้ว Proton ยักษ์ใหญ่แห่งมาเลย์เซียจะนิ่งเฉยอยู่หรือไร

 

แน่นอนคงไม่หยุดเป็นเป้านิ่งในสายตาคู่แข่ง เตรียมซุ่มพัฒนากว่า 3 ปี โดยเฉพาะช่วงที่เคาะแบบเสร็จเรียบร้อยตอนสิงหาคม-กันยายน ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ค่อย ๆ ถาโถมเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่พัฒนาก็หมั่นเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดยอดนิยมทั้ง Avanza และ Grand Livina ว่ารถของตนจะมีจุดเด่นความอเนกประสงค์เหนือชั้นกว่า Proton คาดหวังกับโปรเจคท์มินิแวนคันนี้มากถึงขั้นวางแผนการตลาดปล่อยทีเซอร์สร้างการรับรู้เนิ่น ๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพื่อรอการเปิดตัววันที่ 15 เมษายนปีนี้ จงอย่าแปลกใจว่าเป็นเกมการตลาดแบบใหม่แต่เคยทำมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งแล้ว

เมื่อเกมส์การตลาดสร้างจุดสนใจเพื่อชะลอการซื้อรถคู่แข่งก็ต้องนำเสนอความเหนือชั้นกับลูกค้าตลอด ได้แก่ ขนาดตัวถังที่ใหญ่ที่สุดในตลาด ใหญ่กว่า Toyota  Innova และ Kia Rondo ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่ใหญ่กว่าอีกด้วยความยาว 4,592 มม. กว้าง 1,809 มม. สูง 1,691 มม. ฐานล้อยาว 2,730 มม. น้ำหนักเบากว่าประมาณ 1,422-1,442 กิโลกรัม

ดีไซน์ภายนอกก็ดูใหญ่กว่าคู่แข่งอย่างชัดเจนด้วยดีไซน์ที่ดูทึบกว่าไม่เน้นความปราดเปรียวหรือโค้งมนมากเกินไป ดูเผิน ๆ ละม้ายคล้าย Toyota Wish และ Mitsubishi Spacewagon มารวมกันกลายเป็นทรงมาตรฐานมินิแวนยุคปัจจุบัน ถูกวางบนแพลทฟอร์มยุคใหม่ของ Proton ที่พัฒนาร่วมกับ LG CNS ด้านหน้าแมคเฟอสันสตรัท ด้านหลัง ทอร์ชันบีมเพื่อเพิ่มเนื้อที่ห้องโดยสารมากกว่ามัลติลิงค์ ยืนยันว่าจะนำไปใช้กับรถยนต์ทุกประเภทตั้งแต่รถเล็ก 1.3 ลิตรไปจนถึงรถใหญ่เครื่อง V6

Exora ให้พละกำลัง 1.6 ลิตร 125 แรงม้า 150 นิวตันเมตรสร้างความกังขาว่าจะมีแรงวิ่งไหวไหม? เพราะอัตราพละกำลัง/น้ำหนักมากกว่าคู่แข่ง จับคู่กับเกียร์ชุดเดียวกับ Waja ที่มีอัตราทดเหมือนเดิม แต่ปรับอัตราทดเกียร์ขั้นสุดท้ายให้ดียิ่งขึ้น เคลมว่าวิ่งที่ความเร็ว 80 กม./ชม.ใช้รอบที่ 2,400 และความเร็ว 110 กม./ชม. ใช้รอบที่ 3,000
ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 9.2 ลิตร/100 กม.

ห้องโดยสาร Proton เคลมว่าใหญ่ที่สุดในคลาสโดยเฉพาะแถวที่ 3 ผู้โดยสารสูง 182 ซม.นั่งได้สบาย ๆ ทั้งยังติดตั้งช่องแอร์ให้พร้อมทั้ง 3 แถวสู้อากาศเมืองร้อนมาเลย์เซียได้ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกชนิดที่คู่แข่งต้องเหลียวหลังได้แก่ Criuse Control,เครื่องเล่น DVD พร้อมจอ LCD บริเวณเพดานตอนหน้า ,ติดตั้ง GPS ระบบสัมผัส ใช้ชิปเซ็ตของ Atmel ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดอัพเดทแผนที่ผ่านศูนย์บริการได้

ไม้ตายสุดท้ายที่น๊อกคู่แข่งทั้งหมด อาศัยความได้เปรียบเป็นรถยนต์แห่งชาติที่เสียภาษีต่ำกว่ารถยนต์ต่างชาติมาก ๆ ตั้งราคาต่ำที่สุดในตลาดเริ่มต้นที่ 69,548 ริงกิตราคานี้เพียงแค่เพิ่มเงินจาก Gen 2 รุ่นท๊อปสุดแค่ไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น ถ้าอยากได้รุ่นสูงสุดรุ่น High Line ราคาแค่ 75,548 ริงกิต

คุณสมบัติรถที่ตรงกระแสและราคาจะทำให้ Proton กวาดยอดขายรถรุ่นนี้ไม่น้อยนักแต่แผนระยะยาวก็คือการส่งออกรถรุ่นนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ อีกด้วย เดือนกรกฏาคมนี้จะส่งออกที่อินโดนีเซีย ไตรมาสสุดท้ายจะส่งไปยังประเทศไทย ปีหน้าจะส่งไปตะวันออกกลาง

ใช่ว่าจะกวาดยอดขายไปอย่างสบาย ๆนักเพราะคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Perodua ที่ Daihatsu มีหุ้นส่วนอยู่เตรียมส่งมินิแวนที่เป็นโฉมเดียวกับ Toyota Passo Sette/Daihatsu Boon Luminas มาจำหน่ายเร็ว ๆ นี้ถึงรถจะเล็กกว่าแต่เชื่อว่าคุณภาพการขับขี่คาดว่าน่าจะดีกว่า ขอให้จับตาศึกมินิแวนในมาเลย์เซียจะปะทุร้อนแรงเพียงไหน