UBER แอพพลิเคชั่นและผู้ให้บริการรถโดยสารส่วนตัวจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเปิดบริการในไทยเมื่อต้นปี 2014
และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ในฐานะทางเลือกสำหรับการนั่งรถโดยสารส่วนตัวที่เน้นการบริการที่สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไปในไทย
แต่เพิ่งเป็นประเด็นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากบริการ Uber X ที่ให้บริการในราคาที่ย่อมเยากว่ารถแท็กซี่ทั่วไป
จากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลป้ายทะเบียนขาว-ดำในการบริการ จนเกิดกระแสทั้งด้านลบและบวกไปตามๆกัน

alt

กระแสด้านลบ คงจะหนีไม่พ้นจากฝั่งผู้ประกอบการรถยนต์แท็กซี่และบรรดาโชเฟอร์ที่ต่างเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ
บริการ Uber X อย่างละเอียด เพราะการให้บริการในรูปแบบนี้ ถือว่าขัดต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ ปีพ.ศ. 2522
ที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบกของประเทศไทย เพราะชัดเจนว่า การนำรถป้ายทะเบียนขาวดำมาให้บริการนั้น
เป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภท อีกทั้งผู้ขับขี่รถยนต์ของ Uber X ไม่มีการใช้ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ และอัตราค่าโดยสาร
ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางรัฐกำหนด

ด้วยเหตุนี้เอง ทางกรมขนส่งทางบกของไทย จึงออกคำสั่งให้ UBER หยุดให้บริการ Uber X ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมเป็นต้นมา
แต่อย่างไรก็ตาม บริการ Uber Black ยังสามารถให้บริการได้ แต่จากการที่ Uber Black ใช้รถยนต์ป้ายสีเขียว
จึงสามารถให้บริการได้เฉพาะพื้นที่สนามบิน โรงแรม หรือเพื่อการทัศนาจร นำเที่ยว เท่านั้น

alt

อย่างไรก็ตาม ต้องอธิบายกันก่อนว่า จุดเริ่มต้นของบริการ UBER ในสหรัฐอเมริกา เป็นผลผลิตจากความเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ต
จนก่อให้เกิดยุคพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ที่เริ่มมีโมเดลธุรกิจใหม่ๆออกมา ในกรณีนี้คือ Sharing Economy หรือการแบ่งปัน
ทรัพยากรเพื่อก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ (ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันคือ Airbnb หรือบริการให้เช่าห้องพักชั่วคราวจากคนในพื้นเมือง
ซึ่งกำลังแย่งส่วนแบ่งจากธุรกิจโรงแรมเช่นกัน) ซึ่งในกรณีของ Uber X คือการเปิดโอกาสให้คนที่มีรถอยู่แล้วได้นำรถยนต์ของตนเอง
ออกมาให้บริการเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้รถ ผ่านระบบสมาชิกและการจ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิตของ UBER

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าบริการ UBER จะเกิดข้อขัดแย้งต่อกฏหมายในประเทศต่างๆทั่วโลก และในไทยไม่ได้เป็น
ประเทศเดียวที่เกิดปัญหาของบริการนี้ขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าความตั้งใจของบริการ UBER จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจอันดีที่มอบ
บริการที่ยกระดับสูงขึ้นกว่าบริการแท็กซี่ทั่วไปมาก และช่วยพัฒนาระบบคมนาคมในสังคมให้มีความเกื้อกูลกันมากขึ้น
แต่เชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ข้อกฏหมายถูกแก้ไขเพื่อสอดรับกับยุคเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังเติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน(และจะใหญ่ขึ้นในอนาคต)
เมื่อถึงเวลานั้น UBER จะสามารถให้บริการได้อย่างถูกต้องตามข้อกฏหมายได้อย่างเต็มที่ แน่นอนครับ

ในข่าวที่ใกล้เคียงกัน แอพพลิเคชั่น Grab Taxi และ Easy Taxi ยังคงสามารถใช้บริการในไทยได้เหมือนเดิม
เพราะเป็นการใช้บริการเรียกรถแท็กซี่ปกตินั่นเอง

แม้ UBER จะถูกออกคำสั่งให้งดบริการ Uber X ไปแล้ว แต่ขณะที่กำลังเขียนข่าวนี้ (10 ธันวาคม 2557) พบว่า
ยังสามารถเรียกใช้บริการ Uber X จากแอพพลิเคชั่น UBER ได้ตามปกตินะครับ