แต่ละค่ายรถยนต์ ก็ต้องถูกก่อตั้ง บ่มเพาะ และสืบทอดโดยกลุ่มคนบ้ารถยนต์อยู่แล้ว แต่สำหรับค่าย Nissan
แบรนด์รถยนต์อันดับสามในญี่ปุ่น กลับไม่ค่อยมีใครได้รู้จักกับบุคคลเหล่านั้นมากนัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ กลับจะไป
นึกถึง Carlos Ghosn ชายชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งมีบทบาทสำคัญกับนิสสันในช่วงปี 2000 เสียมากกว่า

แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่ามีบุรุษผู้หนึ่งที่มีความสำคัญกับแบรนด์ Nissan มาก ตั้งแต่การผลิตชิ้นโฆษณาโปรโมตรถยนต์ยุคแรกๆ
ไปจนถึงผลักดันให้ Nissan ลืมตาอ้าปากในเมืองลุงแซมได้ และปัจจุบัน เขาก็ยังมีชีวิตอยู่ กลายเป็นบุคคลในตำนานของ
Nissan ที่ยังยืนหยัดอยู่ในปัจจุบัน

alt

เขาคนนี้ คือ Yutaka Katayama หรือที่นักเลง Z จะรู้จักเขาในนาม Mr. K บุคคลผู้ชื่นชอบรถยนต์เข้าเส้น
สร้างผลงานชิ้นโบว์แดง(และอาจจะมีขลิบทองในบางชิ้น) ให้ Nissan มาหลายต่อหลายยุค และเมื่อเร็วๆนี้
เขาเพิ่งให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราว Nissan ในยุคต่างๆอย่างละเอียด ด้วยวัย 105 ปี!

Katayama เกิดในปี 1909 โดยมีชื่อเดิมว่า Yutaka Asoh และเข้าทำงานกับ Nissan ในปี 1935 ซึ่งตำแหน่งงานแรกที่
เขารับผิดชอบคือตำแหน่ง Administration Department ซึ่งในสมัยนั้น คือแผนก PR และ Marketing ของแบรนด์
ที่มีหน้าที่เกี่ยวการออกสื่อและผลิตชิ้นโฆษณาเพื่อโปรโมตตัวรถนั่นเอง ภายในเวลาต่อมา เขาก็สมรสกับ Masako Katayama
ในปี 1937 และเปลี่ยนนามสกุลตามภรรยา เนื่องจากครอบครัวของ Masako นั้นไม่มีบุตรชายเลย

ผลงานเด่นของเขาในตำแหน่งงานแรกๆ คือการริเริ่มถ่ายทำหนังโฆษณาในรูปแบบสีเป็นชิ้นแรกๆ ตั้งแต่โฆษณารถยนต์
Datsun ไปจนถึง การบันทึกภาพการแข่งขันรถยนต์แบบรอบโลก ซึ่งการถ่ายงานในรูปแบบสีนั้นถือว่าเป็น
เรื่องใหม่และใหญ่ในสมัยนั้นเลยทีเดียว

ในปี 1954 ซึ่งญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงที่เริ่มฟื้นสงคราม ผู้คนเริ่มกล้าที่จะใช้เงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับ
อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ของญี่ปุ่นเองที่กำลังพัฒนาให้ทัดเทียมกับยุโรปและอเมริกา เขาได้ทำเรื่องสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยการเชิญตัวแทนฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดจากบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นๆมาคุยกัน และวางแนวคิดให้เลือกสถานที่ซึ่ง
บรรดาค่ายต่างๆสามารถเอารถที่ตัวเองขายมาจอดโชว์รวมกัน เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเลือก เปรียบเทียบ
และซื้อรถยนต์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น และนี่ก็คือสิ่งที่วิวัฒนาการมาเป็น Tokyo Motor Show ในปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากนี้ Katayama ยังมีความเข้าใจในทัศนคติของผู้บริโภคเหนือกว่านักการตลาดคนอื่นๆ เขาทราบดีว่า
การสร้างความศรัทธาให้กับแบรนด์นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้ราคาที่ถูกเป็นตัวล่อเพียงอย่างเดียว ในปี 1958
เขาผลักดันให้มีการส่งรถของ Datsun เข้ารายการแรลลี่ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็คือรายการ Australian Mobil
Gas Endurance ซึ่งทางค่ายตัดสินใจส่ง Datsun 210 เข้าแข่งสองคัน เส้นทางแข่งคือวิ่งจากซิดนีย์ไปเมลเบิร์น..
บางคนอาจจะบอกว่าใกล้ แต่เขาวิ่งโดยการวนลูปทวนเข็มนาฬิการอบทวีป ทำให้ต้องใช้เวลาแข่งอย่างทรหดถึง 19 วัน
และ Datsun 210 สองคันนั้นก็คว้าชัยอันดับ 1 และ 2 ในคลาสของมัน เป็นการกำชัยชนะครั้งแรกของรถจากญี่ปุ่น
ในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ

 alt

ต่อมาในปี 1960 ชื่อเสียงของ Katayama เริ่มโด่งดัง ไม่เว้นแม้แต่ภายในองค์กรด้วยกันเอง วันหนึ่งเมื่อมาถึงที่ทำงาน
เขากลับพบว่าตัวเองถูกส่งไปอเมริกา โดยที่แทบไม่มีเวลาตั้งตัว และไม่มีเวลาในการหาคำตอบว่าเพราะอะไร แต่ Katayama
ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายไปอยู่ในอเมริกา โดยในวันที่จะเดินทางจากญี่ปุ่นนั้น พี่ชายของเขาได้มอบธง Z ซึ่งเป็นธงที่ใช้เป็น
สัญลักษณ์การเปิดสงครามทัพเรือซูจิม่าในอดีต เป็นการให้กำลังใจ มาถึงจุดนี้แล้ว “ต้องสู้เท่านั้น”

Katayama เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เขาทำการสำรวจตลาด และพบว่าผู้คนในอเมริกายังให้การยอมรับ Datsun น้อยมาก
เขาจึงครุ่นคิดจนพบปัญหาเริ่มต้นว่าเพราะคุณสมบัติของรถที่ดูเล็กและใช้เครื่องขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีใครสนใจ เมื่อไม่มีใครสน
ก็ไม่มีคนที่อยากขาย Katayama ได้รับการปฏิเสธจากดีลเลอร์รถอเมริกันใหญ่ๆมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้พบกับ
พ่อค้ารถมือสองซึ่งยินยอมให้โอกาสในการนำรถของ Datsun มาวางขายควบคู่กับรถมือสองของเขา

ในช่วงนี้เอง Katayama ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานของ Nissan ประจำสหรัฐอเมริกา นอกจากการพัฒนาเรื่องเครือข่าย
จัดจำหน่ายแล้ว Katayama ก็รุกคืบด้วยการสร้างภาพลักษณ์บริการที่ดีเลิศ เขาเชื่อว่าเมื่อลูกค้ามีความไว้ใจว่าพวกเขาจะ
ไม่ถูกทางบริษัททอดทิ้ง ลูกค้าก็จะไม่ทอดทิ้ง Datsun การบริการของทางค่ายจึงมีการเอาอกเอาใจลูกค้าชนิดเปรียบได้กับ
รถหรูชั้นเลิศหรือเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ แบรนด์ Datsun จึงได้รับความนิยมสูงขึ้นจนผลงานที่สร้างได้ ทำให้ Katayama
เริ่มมีความสำคัญในสายตาบอร์ดผู้บริหาร เมื่อ Datsun เปิดตัวรุ่น 510 เขาขอให้นำรถรุ่นนั้นมาขายในอเมริกาโดยไม่รีรอ
และขอให้อัพเกรดเครื่องยนต์เป็น 1.6 ลิตร (L16) เนื่องจากเข้าใจดีว่าลูกค้าอเมริกาต้องการเครื่องที่มีพละกำลังมากกว่า
ตลาดญี่ปุ่น

แต่ในใจของ Katayama มีรถสปอร์ตอยู่เสมอ เขาพยายามขอให้ทาง Nissan พัฒนารถสปอร์ตตามแนวคิดของเขา
เพราะเชื่อว่าต้องใช้รถประเภทนี้เท่านั้น ที่จะยกระดับ Brand Recognition ของประชาชนเมืองลุงแซมอย่างได้ผลที่สุด
โชคดีที่จังหวะประจวบเหมาะซึ่ง Katayama เดินทางกลับไปญี่ปุ่น และได้พบกับดีไซน์เนอร์หนุ่มหัวคิดใหม่ไฟแรงแต่
ดื้อรั้นอย่าง Yoshihiko Matsuo ซึ่งได้นำรถต้นแบบมาโชว์ Katayama รู้สึกประทับใจกับเส้นสายของรถที่มีความ
สวยงาม “ใช่! นี่มันใช่! รถที่ฉันฝันถึงมาตลอด” เขาจึงให้คำมั่นกับดีไซน์เนอร์หนุ่มเป็นประโยคสั้นๆว่า

“เธอสร้างมันออกมา..แล้วฉันจะเป็นคนทำให้มันขายได้เอง!”

Matsuo และทีมวิศวกรญี่ปุ่นผ่านเวลาอย่างยากลำบาก และบางครั้งก็ต้องอาศัยพลังเสียงของ Katayama ในการ
ผลักดันโครงการให้เป็นความจริง จนในที่สุด Fairlady  ก็ถือกำเนิดขึ้น แต่ Katayama นั้น แม้จะพอใจ
ในทุกอย่างของตัวรถ แต่พอทราบว่าผู้บริหารบังคับให้ใช้ชื่อ Fairlady ตามละครเวที My Fairlady เช่นเดียวกับที่เคย
ตั้งชื่อรถ “Cedric” ตามตัวละคร..Katayama ถึงกับเงิบ และหัวเสียไปพักใหญ่ “ชื่อแบบนี้คนอเมริกันด่าตายแน่ๆว่ะ”
ว่าแล้วเขาก็ลุกขึ้นสู้เพื่อให้รถสเป็คที่ส่งอเมริกานั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “240Z” และในที่สุด Z ของเขาก็ได้เปิดตัว
ในปี 1970 ในอเมริกา และเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาลูกค้าชาวอเมริกันอย่างมาก

แม้จะมีการเขียนถึงจากสื่อมวลชนในเชิงดูถูกเล็กๆ อย่างสมัยเปิดตัว Datsun 510 ก็มีคนเรียกว่า “Poor man’s BMW”
หรือ BMW ของคนจน เมื่อเปิดตัว 240Z ไปได้สักพัก ก็มีคนขนานนามว่าเป็น Jaguar ของคนจน หรือ
Porsche ของคนจน แต่ Mr. K ของเราก็ตอบอย่างเรียบง่ายแค่ว่า “เรื่องพวกนั้นไม่ได้ทำให้ผมใจฝ่อหรอก..ในเมื่อ
ความตั้งใจของผมคือการสร้างรถสปอร์ตที่สวย มีสมรรถณะที่ดี และมีราคาถูก ถูกจนคนเพิ่งจบและเพิ่งเริ่มทำงาน
ก็สามารถซื้อหามาได้ ผมก็ทำได้บรรลุเป้าหมายแล้วนี่” 

Katayama หรือ Mr. K เกษียณอายุการทำงานในปี 1977 และปัจจุบันได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในประเทศญี่ปุ่น
ในวงการรถยนต์ถือว่าเขาเป็นบุคคลในวงการรถยนต์ที่สร้างประวัติศาสตร์มายาวนานที่สุดคนหนึ่ง โดยเขาถูกบรรจุชื่อใน
American Automotive Hall of Fame เมื่อปี 1998 ในฐานะบุคคลที่มีส่วนช่วยพัฒนาตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา
รวมไปถึง Japan Automotive Hall of Fame ในฐานะบุรุษคนสำคัญของวงการรถยนต์ญี่ปุ่น ในช่วงที่ Carlos Ghosn
เข้ามาบริหารงานนั้น Katayama คือหนึ่งในบุคคลที่เข้าพบเพื่อร้องขอให้ฟื้นคืนชีพให้กับรถตระกูล Z อีกครั้ง
เขากลายเป็นคุณปู่ในหมู่แฟนคลับคนรัก Z ที่ยังดีใจเมื่อคุณปู่ตอบตกลงมาร่วมงานมีตติ้งใหญ่ตามที่ต่างๆ และให้ความ
เคารพอย่างอบอุ่นเป็นกันเองกับคุณปู่ “บิดาแห่ง Z” ผู้นี้เสมอมาและตลอดไป 

(สำหรับคลิปวิดิโอสัมภาษณ์ สามารถคลิปชมได้ในเสียงภาษาญี่ปุ่น ที่นี่, ที่นี่ และ ที่นี่)