Introduction

ครั้งที่แล้ว ผมได้เขียนให้ผู้อ่านได้แชร์เรื่องราวของ Mercedes-Benz W124 กันไปแล้วในรอบปฐมทัศน์ของ Headlightmag.com จนกระทั่งมีผู้อ่านบางท่านแนะนำมาว่าไหนๆก็มาถึงเยอรมันแล้ว ก็อยากจะให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับรถเยอรมันอีกสักรุ่น ที่นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์นักเลงรถในประเทศไทย

มันคือ BMW 3-Series E30 นั่นเอง…ดูเหมือนโจทย์จะง่ายมาก แต่ผมกลับมีความหวั่นใจอยู่นิดหน่อย

เหตุผลก็คือผมไม่ได้มีประวัติส่วนตัวร่วมกับ BMW มากนัก ที่บ้านเคยใช้ 5-Series E12 520 สีเขียวตองอ่อนในเวลาสั้นๆซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายในด้านการซ่อมบำรุงในยุคที่หูตาผู้บริโภคยังไม่กว้างไกล คันที่สองคือ E34 525i ซึ่งเป็นรถที่คนใกล้ตัวของพ่อเอามาจำนองค้ำเงินกู้ไว้ และรู้สึกว่าจะจอดค้ำโรงรถเอาไว้หลายเดือน และเป็น BMW คันแรกที่ทำให้ผมเริ่มสนใจรถจากค่ายนี้

ส่วน E30 นั้นไม่เคยได้เข้ามาในบ้าน แต่เติบโตมากับมันพร้อมกับเสียงเพลง Careless Whisper ของ WHAM! ผมไม่เคยมีความรู้สึกว่ามันเป็นรถที่พิเศษอะไรเพราะผมยังเป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องรถ และรูปทรงของ E30 ก็ไม่ใช่รถที่ทรงเฉี่ยวอะไร สมัยนั้นถ้า E30 กับ Mazda Astina วิ่งผ่าน ผมมอง Astina ก่อนทุกครั้ง

แต่พออายุมากขึ้น คนรอบตัวผมก็พาไปรู้จักกับมันมากขึ้น ผมจำได้ว่าสมัยอยู่มัธยมปลาย มีรุ่นพี่ 2 คนที่ยังไม่มีใบขับขี่ แต่ขับ E30 มาโรงเรียน แม้ฝ่ายปกครองจะไม่ชอบนัก แต่ในสายตาของทะโมนบอย นี่เป็นเรื่องที่เท่ห์ที่สุด โดยเฉพาะในสมัยนั้น E30 วาง 1G-GTE ก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้วสำหรับเด็กอายุ 17 แล้วพอมาอยู่มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ประธานปี 2 ขับ E30 วาง 1JZ-GTE โมดิฟาย เป็นรถ 13 วิที่วิ่งทางตรงได้เร็วมาก แต่เจ้าของบอกว่า “อย่าเลี้ยวนะมึง”

ที่เด็ดสุดคืออาจารย์ของผมสมัยมหาวิทยาลัย ดร. Charles Freeland ผู้ซึ่งมีความรอบรู้ในประวัติศาสตร์กรีกโบราณแถมยังมีฝีมือถ่ายรูปดีอันดับต้นๆของช่างภาพที่ผมเคยรู้จัก ก็ใช้ E30 แต่ตรงกันข้ามกับ E30 คันอื่นๆที่ผมเคยเจอมา E30 คันนี้สภาพเดิม 100% แต่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีผิดปกติ เบาะหนังไม่มีรอยปริร้าว ผ้าหลังคาไม่หย่อน เสียงเครื่องยนต์ไม่ดังไปกว่ารถใหม่ป้ายแดงหลายๆคัน ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า BMW สภาพเดิมๆเก่าๆน่าใช้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ เขารักษามันดีขนาดนี้ได้อย่างไร? สงสัยคงเอาเข้าห้องนอนด้วยทุกคืนแน่ๆ

พอผมจบจากมหาวิทยาลัย รุ่นน้องจะซื้อรถ ก็ให้ผมไปช่วยดู E30 วาง SR20DET ให้และคันนี้แหละที่ทำให้ผมเกือบลงข้างทางเพราะพรมวางเท้าผืนยักษ์ไปดันคันเร่งจนรถเร่งไม่ยอมหยุด

ดังนั้น จึงต้องกลั่นเอาความจำอันย่ำแย่ของตัวเองมาเขียนเรื่องในวันนี้ โชคดีที่วิทยาการโลกก้าวไกล มีเว็บไซต์ให้ผมได้เข้าไปค้นคว้าหาความรู้ โชคดีที่พออยากจะหารูปถ่าย E30ดีๆ ก็ได้พบกับชาว E30clubThailand และ BMWCCTH ที่งานมอเตอร์โชว์ไบเทค แล้วแถมพอจะค้นหาข้อมูล E30 ในประเทศไทย ก็ได้รับความช่วยเหลือจากคุณต้น RETROSPEC จาก rcweb และน้อง Tee@Abuser ซึ่งยกหนังสือรถเก่าๆปี 1977-1988 ให้ผมฟรีๆลังนึง ดังนั้น Rewind ฉบับนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือของทุกท่านครับ

ขอบคุณครับ


E30-ภาคต่อแห่งความสำเร็จ

หลังจากที่ 3-Series รุ่นแรกในตัวถัง E21 ออกจำหน่ายมาได้นานแล้ว และประสบความสำเร็จในการเปิดเซกเมนท์รถยนต์นั่งระดับหรูแต่ตัวเล็ก BMW จึงต้องการสานต่อด้วยการทำ 3-Series รุ่นใหม่ออกมาตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดของแท้อีกครั้งหนึ่ง แต่มันจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ Mercedes-Benz ได้เห็นความสำเร็จของ E21 และพยายามสร้างรถขึ้นมากลบความดังของ BMW ตัวเล็กให้มิด

เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการก้าวสู่ยุคใหม่บอร์ดบริหารของ BMW ได้ฟันธงเปรี้ยงลงมาว่า BMW ในยุคต่อไปจะต้องมีรูปทรงที่ละทิ้งความเป็นอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม หันมาหารถที่มีสไตล์ตัวถังปราดเปรียวยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมอบงานดีไซน์ ให้เป็นของ Claus Luthe ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของ BMW ในการออกแบบซีรีส์ 5 E28 ซึ่งถูกบังคับด้วยงบประมาณจำกัด (แต่ภายหลังก็แหกงบอยู่ดี)

Luthe ต้องการให้รถคันใหม่นี้มีภาพลักษณ์ที่คล่องแคล่วมีชีวิตชีวา เน้นแอโร่ไดนามิคส์ที่ดีขึ้น และล้มภาพการออกแบบที่เน้นความคลาสสิคตามธรรมเนียมนิยมของ BMW ออก และยังกำหนดให้ 3-Series รุ่นนี้สร้างพื้นฐานของดีไซน์ที่ใช้กำหนดรูปร่างและแนวทางของรุ่นพี่ที่จะมาใหม่อย่าง 7-Series และ 5-Series ตัวถังถูกออกแบบให้สั้นลง แต่กลับมีพื้นที่ความยาวของห้องโดยสารเพิ่มขึ้นอีก 4 ซ.ม.อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาลงกว่ารุ่นเดิม 30 ก.ก.

รุ่นสองประตูที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจาก E21 ถูกกำหนดให้เปิดตัวก่อนเป็นอันดับแรก และด้วยความที่ทราบข่าวการมาของเบบี้เบนซ์ W201 190E ซาลูน อยู่แล้ว BMW จึงเตรียมรับมือไว้ด้วยการแนะนำรุ่น 4 ประตูเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้ชนกับเบนซ์ได้ตรงพิกัดพอดี

การผลิตตัวรถเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมของปี 1981 แต่กว่าตัวรถจะมาถึงโชว์รูมให้ลูกค้าได้ซื้อหากันนั้นก็ต้องรอจนเข้าปี 1982 โดยรุ่น 2 ประตูเปิดตัวนำไปก่อนและรุ่น 4 ประตูก็ตามมาทีหลังในปี 1983 ในระยะแรกนี้จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกสองบล็อค คือ M10 สี่สูบ 8 วาล์ว และ M20 6สูบเรียง 12 วาล์ว โดยเมื่อซอยออกเป็นรุ่นอย่างละเอียด จะมีให้เลือกตามทรัพย์ในกระเป๋าดังนี้

316 1.6 – ขนาดความจุ 1.6 ลิตร จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้า 75 แรงม้า
316 1.8 – เพิ่มขนาดเป็น 1.8ลิตร จ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน มีกำลัง 90 แรงม้า
318i      – เป็นเครื่องตัวเดียวกับบล็อคตะกี้ แต่เปลี่ยนมาใช้หัวฉีด Bosch L-Jetronic แทนจนได้กำลัง 105 แรงม้า
320i      – ตัวนี้จะเป็น 6 สูบ 2.0 ลิตร 125 แรงม้า
323i      – เป็นเครื่อง 6 สูบแต่ขยับพิกัดความจุขึ้นเป็น 2.3 ลิตร 150 แรงม้า

รถที่ใช้เครื่อง M10 สี่สูบจะมีระบบส่งกำลังให้เลือก 3 แบบคือเกียร์ธรรมดา 4 สปีดและ 5 สปีด กับเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีดจาก ZF รุ่น 3HP22 ส่วนรถที่ใช้เครื่องแบบ M20 จะมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 4 สปีดจาก ZF รุ่น 4HP22

เพียงแค่ปีแรกของการเปิดตัว 3-Series E30 ตัวถังสองประตูนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว 233,781 คัน (แต่ไม่ได้แจ้งมาว่ากว่าจะขายหมดนี่นานเท่าไหร่)

และหลังจากที่เบนซ์เปิดตัว 190E ในเดือนธันวาคม 1982 BMW ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจพอข้ามปีไม่ทันไรก็ส่งเวอร์ชั่น 4 ประตูซาลูนของ 3-Series มาชนกันตัวต่อตัว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในปี 1983 นี้เอง BMW ก็จัดแจงส่ง E30 ไปถึงฝั่งสหรัฐอเมริกาโดยส่งรุ่น 318i ไปก่อนเป็นอันดับแรก แต่เนื่องจากราคาที่ตั้งไว้ 18,000 ดอลลาร์ในสมัยนั้นถือว่าสูงเอาการ รวมทั้งการที่ไม่มีเวอร์ชั่น 4 ประตูให้เลือกดังนั้นในปีต่อมา BMW North America จึงได้นำรุ่น 4 ประตูเข้ามาขาย พร้อมกับการเปิดตัว “325e”ลงสู่ตลาดอเมริกาเหนือ (และยุโรปบางประเทศ)

ถึงแม้ชื่อจะแปลก แต่จริงๆแล้ว 325e มีเครื่องยนต์ที่แปลกยิ่งกว่าชื่อซะอีก เพราะมันคือการนำเอาบล็อค M20 มาขยายความจุเป็น 2.7 ลิตร ฟังดูน่าจะแรงขนหัวลุก แต่กลับกลายเป็นว่า BMW ตั้งใจทำเครื่องบล็อคนี้ให้ออกมาเป็นเครื่องที่เน้นความประหยัดเชื้อเพลิง (2.7??? ประหยัด????) ตัวอักษร “e” ท้ายชื่อรุ่นนั้นแทนอักษรภาษากรีก “eta” ที่สื่อถึงคำว่า “efficiency” คือใช้เชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่านั่นเอง (แล้ว 4สูบมันเสียหายตรงไหนฟระ) เครื่องยนต์รหัส M20 B27 นี้ใช้สปริงวาล์วอ่อนพิเศษและแบริ่งรองเพลาลูกเบี้ยว 4 ตัว (ปกติจะเป็น 7ตัว) ใช้ฝาสูบที่ยกมาจาก 320i รวมถึงมีองศาแค็มชาฟท์ที่ต่ำมาก ผลก็คือเครื่องโตขนาดนี้ แต่มีม้าให้ใช้เพียง 121 แรงม้า เรดไลน์อยู่ที่ 4800 รอบต่อนาที (สาบานว่านี่เครื่องเบนซิน) ดูแล้วช่างไม่เข้ากับภาพพจน์รถขับสนุกของ BMW ซะเลย นอกจากนี้รถ 325e ยังใช้เฟืองท้ายเบอร์ยาวพิเศษเพื่อให้เดินทางไกลด้วยรอบเครื่องยนต์ต่ำ แม้จะสู้เครื่อง 6 สูบฝั่งเยอรมันไม่ได้ แต่มันก็วิ่งควอเตอร์ไมล์ได้ภายใน 16.6 วินาที..เร็วกว่า 318iเยอะละกัน

ปี 1985 ทางเบนซ์เห็น 3-Series ไปได้ดีกับเครื่อง 6 สูบเรียงก็คงทนอยู่เฉยๆไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศแล้วแท้ๆว่า 190E นั้นจะไม่มีการทำรุ่น 6 สูบออกมา แต่ในที่สุดก็จัดแจงปล้ำเอาเครื่อง M103 6 สูบจาก W124 ใส่ลงไปใต้ฝากระโปรง 190E 2.6 และเตรียมเปิดตัวที่งาน Frankfurt Motorshow

สงครามจิตวิทยาระหว่างสองค่ายนี้เป็นไปอย่างเผ็ดมันมาตลอดอยู่แล้ว ในเมื่อเบนซ์เอา 166 แรงม้ามากลบ 150 ม้าของตัวเอง BMW ก็แก้ลำคืนด้วยการเอาเครื่อง M20B25 ขนาด 2.5ลิตรมาใส่ โดยใช้ชื่อรุ่นว่า 325i และเข้ามารับหน้าที่ในการเป็นจ่าฝูง 3-Series แทน 323i อาจจะดูเหมือนว่าไม่มีอะไรมากเพราะแค่เอาเครื่อง M20 มาขยายความจุ แต่จริงๆแล้วเครื่องยนต์ที่ใช้กับ 325i นั้นใช้ฝาสูบซึ่งออกแบบมาใหม่ให้มีพอร์ทและวาล์วโตขึ้น รวมถึงห้องเผาไหม้และดีไซน์หัวลูกสูบใหม่เพื่อให้สามารถเค้นแรงได้มากขึ้นกว่าเดิม ควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย Bosch L-Jetronic จนสามารถให้แรงม้าได้ 171 ตัว และแรงบิดระดับ 226Nm

325i ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างมากสำหรับการนำรถยนต์ที่ขนาดและน้ำหนักกำลังพอเหมาะ มารวมเข้ากับเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าสูง แรงบิดสูง ขับสนุกและสั่งได้ ที่อเมริกานั้น 325i ถูกขนานนามว่าเป็น “BMW ที่มีบุคลิกสปอร์ต” คันแรกนับตั้งแต่วันที่ 2002tii เลิกขายไป ด้วยอัตราเร่งควอเตอร์ไมล์ระดับ 15.6 วินาที และความเร็วสูงสุด 217ก.ม./ช.ม.

 

แต่ปี 1985 นี่ BMW ไม่ได้ปล่อยเพียงแค่ 325i รุ่นเดียว เพราะเมื่องาน Frankfurt Motorshow เริ่มขึ้น BMW ยังมีการแสดงรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อที่ชื่อ 325iX ด้วยอีกรุ่น โดยนำ 325i รุ่นปกติมาจับคู่กับระบบส่งกำลังขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา มีชุด Center Diff เพื่อทดความต่างการหมุนระหว่างล้อคู่หน้าและหลังเพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านบิดเพลา แบ่งการกระจายกำลังขับไปทางด้านหน้าและหลังในอัตราส่วน 37:63 ทำให้มันเป็นรถเก๋งขับสี่ขนาดเล็กที่ขับไปบนถนนลื่นๆได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งยังมีระบบ ABS มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งในภายหลังมันได้รับรางวัลเกียรติยศจากสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ฝรั่งเศสจากการคิดค้นรถยนต์ที่สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย

ไพ่ใบที่สองในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนั้นก็คือการเปิดตัวรุ่นเปิดประทุน Cabriolet 325i ที่มาพร้อมกับหลังคาผ้าใบสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดหลังคาท้าแดดและฝน 325i Cabriolet นับเป็นรถเปิดประทุน 4 ที่นั่งคันแรกของเยอรมันในรอบ 6 ปี

ไพ่ใบที่สาม เป็นของคนรักความประหยัดตัวจริงโดย BMW นำเสนอรุ่น 324d ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแบบ 6 สูบเรียงเช่นเดียวกับ 524td เพียงแต่ว่าพอมาอยู่ใน 3-Series เลยโดนถอดเทอร์โบออก ทำให้มีแรงม้าลดลงเหลือ 86 ตัว ซึ่งก็น่าจะเพียงพอสำหรับคนรักรถประหยัดน้ำมัน และถ้าตั้งใจเหยียบให้มิด BMW ก็เคลมว่า 324d สามารถวิ่งได้ 165 ก.ม./ช.ม. เอาเป็นว่าโลดแล่นไปบนเอาโต้บาห์นได้ไม่โดนรถบรรทุกบีบแตรไล่ละกัน

จุดเริ่มต้นตำนาน M3

ไพ่ใบสุดท้าย เป็นคนละเรื่องกับตัวตะกี้เลยเพราะมันคือการเผยโฉมหน้ารถโมเดล M และนี่คือ M3 รุ่นที่เป็นปฐมบทแห่งตำนานรถยนต์เพื่อความบันเทิงในการขับขี่ที่แท้จริง

เรื่องของเรื่องคือ BMW คงเริ่มเซ็งจิตที่เห็นเบนซ์ออกอาละวาดปาดหน้าชาวบ้านด้วยรุ่น 190E 2.3-16 ที่โยนเครื่อง M102 ธรรมดาๆส่งให้ทางสำนัก Cosworth ปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนฝาสูบเป็นทวินแคม 16 วาล์ว แถมยังแรงจัดถึง 185 แรงม้า ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้เราคงต้องโทรเรียก BMW Motorsport Division เข้ามาช่วยกันหน่อยแล้ว

เพื่อที่จะเข้าแข่งขันในระดับ Group A ทัวร์ริ่งคาร์ได้ กติกาคือรถยนต์รุ่นที่จะเข้าแข่ง ต้องมีการผลิตออกมาให้ได้ 5,000 คันเสียก่อน และรถเวอร์ชั่นที่ขายจะแต่งมีโครงสร้างและกลไกพื้นฐานของตัวรถเหมือนกับตัวแข่งด้วย

ตัวถังรถถูกเพิ่มความแข็งแกร่งเข้าไปในหลายจุด แก้มหน้าและซุ้มล้อหลังมีการทำโป่งออกมาเพื่อยืดรับกับล้อขนาดด 15 นิ้วที่ยึดด้วยน็อต 5 ตัว (E30 รุ่นปกติจะใช้ล้อ 14นิ้ว ยึดด้วยน็อต 4 ตัว) ตัวถังขยายความกว้างจาก 1,645ม.ม. เป็น 1,679ม.ม. เสา C-Pillar มีลักษณะที่ลาดเอียงมากขึ้น ฝากระโปรงท้ายมีลักษณะยกตัวขึ้นจนเห็นได้ชัดทำให้ท้ายรถดูเหมือนยกสูงกว่า E30 ทั่วไป เรียกได้ว่าถ้าไม่นับชิ้นฝากระโปรงแล้ว ส่วนอื่นของรถนั้นแทบไม่มีชิ้นไหนที่สามารถใช้ร่วมกันกับ 3-Series รุ่นปกติได้เลย

จุดที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับ M3 มากที่สุดคือเครื่องยนต์ แม้ว่า BMW จะมี 6 สูบแรงๆให้ใช้อยู่แล้ว แต่ในเมื่อ M3 คือร่างจำแลงของรถแข่งเซอร์กิตที่ต้องแรงแถมยังต้องหักเลี้ยวได้อย่างคล่องตัว BMW Motorsport จึงตัดสินใจใช้เครื่องยนต์ 4 สูบที่มีน้ำหนักเบากว่าเพื่อสร้างการกระจายน้ำหนักที่ดีขึ้น หน้าที่ในการคิดค้นเครื่องยนต์บล็อคใหม่ตกเป็นของวิศวกรมือเอกอย่าง Paul Rosche ที่ฝากผลงานไว้กับเครื่องยนต์ F-1ของ BMW

ภายใต้เวลาและงบประมาณที่จำกัด Paul Rosche สร้างเครื่อง 4 สูบขึ้นมาใหม่โดยนำเสื้อสูบจากเครื่องยนต์ M10 ที่ใช้ใน BMW 2002 มาขยายขนาดกระบอกสูบและช่วงชักจนได้เป็นความจุ 2.3 ลิตร ส่วนฝาสูบนั้นก็เอาของเครื่องยนต์ 6 สูบเรียงทวินแค็ม 24วาล์วรุ่น M88 (ซึ่งใช้อยู่ในรุ่น M1 สปอร์ตเครื่องวางกลางลำ) มาแล้วดัดแปลงจนเหลือแค่ 4 สูบ จากนั้นนำมาประกอบเข้าด้วยกันจนได้เครื่องยนต์ S14 ที่แม้จะเล็กด้วยความจุ 2.3ลิตรแถมลูกสูบโตเพราะมีแค่ 4 ลูก แต่กลับสร้างแรงม้าได้น่าประทับใจระดับ 200 ตัวที่ 6,750 รอบต่อนาที แรงบิด 230Nm ก็ยังมากกว่า 325i ซะด้วยซ้ำ

พละกำลังทั้งหมด ส่งผ่านไปยังเกียร์ธรรมดา 5 สปีด Getrag 265/5 BMW เคลมอัตราเร่ง 0-100 ไว้ 6.9 วินาที
และฟลอร์มิดคันเร่งไปบนเอาโต้บาห์นก็จะได้ความเร็วท้อปสปีดระดับ 235 ก.ม./ช.ม. ถามว่าแรงหรือไม่ ตอบได้เลยว่าแรง แต่ไม่ได้ร้ายเป็นปิศาจบ้าพลัง เพราะในไลน์อัพของ BMW ก็มี M5 ตัวแรก ที่ม้าเยอะกว่ากันอยู่ 86 ตัวแถมยังเร่งได้เร็วกว่าเกือบจะทุกช่วง แต่กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของ M3 อยู่ที่สมดุลย์ที่ราบรื่นระหว่างพลัง ช่วงล่างและการบังคับควบคุม

 

M3 เป็นรถที่หนักแค่ 1.2 ตัน มันสามารถขับโลดแล่นไปตามทางคดเคี้ยวได้อย่างรวดเร็วด้วยพวงมาลัยอัตราทดพิเศษที่ไวกว่า 3-Series รุ่นธรรมดา หากขับแบบบันยะบันยัง ช่วงล่างก็จะให้ความปลอดภัยในการยึดเกาะที่สร้างความมั่นใจ แต่ถ้าอยากสนุก ขอเพียงใส่ความกล้าเข้าไปเต็มพิกัด อยากจะดริฟท์สวยๆก็ทำได้ ดังนั้น M3 จึงกลายเป็นที่ต้องการของนักขับจำนวนมาก แม้ว่าจะผ่านมาอีก 23 ปี ก็ยังมีหลายคนที่ยกย่อง M3 E30 ว่าเป็นรถตระกูล M ที่ดีที่สุดเพราะไม่มีระบบไฟฟ้าแสนกลใดๆมาทำลายอารมณ์ร่วมระหว่างคุณและตัวรถโดยเด็ดขาด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างที่บอกไว้ว่า M3 แนะนำตัวให้รู้จักกันครั้งแรกในปี 1985 แต่การผลิตเพื่อการขายจริงนั้น เริ่มต้นเอาเดือนมีนาคมปี 1986 มันสามารถทำยอดขายทะลุเป้า 5,000คันได้อย่างรวดเร็ว และได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันทัวร์ริ่งคาร์ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันนี ออสเตรีย อังกฤษ M3 การเป็นนักล่ารางวัลมือหนึ่งของ BMW ที่กำชัยชนะหลายต่อหลายครั้ง และถ้านับกันเป็นรายโมเดล (ตัวถังเดียวโมเดลเดียว) M3 E30 คือรถที่ครองแชมป์ European Touring Car Championship มากครั้งที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกเหนือไปจาก M3 แล้ว ผมมีตัวแรงที่หลายท่านซึ่งไม่ใช่แฟน BMW ขนานแท้อาจจะงงว่ามันมีรุ่นนี้ด้วยหรือวะเนี่ย?

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อันนี้เป็นภาพจากเว็บไซต์www.dtmpower.net นะครับ

333i – 3What?

ที่จริงแล้วในปี 1986 นี้ยังมี 3-Series พันธุ์หายากอีกรุ่นที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อเน้นความแรงโดยเฉพาะ แต่จะพบได้ก็ต้องไปที่ประเทศแอฟริกาใต้โน่นแน่ะ

333i คือเวอร์ชั่น 2 ประตูของ E30 ที่ถูกนำมากระทำชำเราขืนใจยัดเอาเครื่อง 3.2 ลิตร M30 ที่ยกมาจาก 7-Series ใส่ลงไป แรงม้าก็มีอยู่ 197ตัวพอๆกับ M3 แต่ความที่ขนาดความจุโตกว่ากันมากทำให้มันมีแรงบิดถึง 285Nm จัดว่าเป็น E30 สเป็คโรงงานที่มีแรงบิดมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา แต่อัตราเร่งและความเร็วสูงสุดของมันก็เหนือชั้นกว่า 325i อย่างมาก (0-100 7.4วิ ตีนปลาย 228) แต่ก็ยังไม่สามารถไล่ M3 ได้ทัน อย่างไรก็ตามแต่ต้องขอปรบมือให้ BMW South Africa ที่อุตส่าห์จับมือกับค่าย Alpina ในการรังสรรค์รถรุ่นพิเศษหายากนี้ออกมา เพราะทั้งโลกนี้มีอยู่เพียงราว 200 คันเท่านั้น และลูกค้าที่ซื้อก็จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะเอาแอร์หรือจะเอาพวงมาลัยเพาเวอร์ เพราะขนาดของเครื่อง M30 นั้นใหญ่โตคับห้องมาก ถ้าติดตั้งอุปกรณ์ทั้งสองอย่างก็จะวางเครื่องลงไปใต้ฝากระโปรงนั้นไม่ได้

ปรับโฉมขนานใหญ่

ปี 1987 E30 สิ่งที่สำคัญสองอย่างที่เกิดขึ้นก็คือการเปิดตัว 3-Series Touring ซึ่งนำรุ่น 4 ประตูมาพัฒนาจนกลายเป็นรถทรงสเตชั่นแวก้อนเพื่อจับตลาดลูกค้าที่หัวใจยังมีไฟ ชอบรถขนาดเล็ก แต่อยู่ในวัยที่กำลังเริ่มมีครอบครัว หรือไม่ก็พวกที่บ้าหอบฟางชอบขนของเยอะๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ E30 ทุกรุ่นยกเว้นตัวถังเปิดประทุน และโมเดล M3 ยังได้รับการปรุงแต่งโฉมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จุดที่สังเกตได้จากภายนอกคือกันชนหน้าและช่องรับลมที่ออกแบบให้สามารถรับแรงกระแทกที่ 3 ก.ม./ช.ม.ได้โดยไม่เกิดความเสียหาย และถ้าชนที่ความเร็ว 15 ก.ม./ช.ม.ล่ะก็จะมีแต่ส่วนกันชนที่ต้องเปลี่ยน แต่ตัวถังจะไม่เป็นไร เอกลักษณ์กระจังหน้าฟันหนูยังคงเหมือนเดิม แต่ไฟหน้าได้รับการเปลี่ยนมาใช้ไฟใหญ่แบบ Elipsoidal ซึ่งถ้ามองดูจะเห็นเส้นครึ่งวงกลมด้านล่างเข้มขึ้นชัดเจน จุดเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดคือไฟท้าย ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการเรียงลำดับไฟท้ายใหม่ มีลอนตรงกลางเพิ่มขึ้นมาอีกลอนหนึ่ง

ส่วนทางด้านรุ่นและเครื่องยนต์ต่างๆมีความเปลี่ยนแปลงดังนี้

316 – ยกเลิกการผลิต และเป็นการปิดฉาก 3-Series ที่ใช้คาร์บูเรเตอร์ (อย่างไรก็ตามในประเทศแอฟริกาใต้ยังมีการผลิต 316 ขายต่อมาอีกเป็นเวลานานพอสมควร)
316i- จริงๆเดิมมันก็คือ 318i เครื่อง M10 หัวฉีดนั่นเอง ที่ต้องตั้งชื่อใหม่ ก็เพื่อจะหลีกทางให้กับรุ่นถัดไปนี่ล่ะ
318i- เมื่อก่อนเป็นเครื่อง M10 แต่คราวนี้ BMWนำเครื่อง M40 ซึ่งมีลักษณะเป็น 4 สูบเรียง 2 วาล์วต่อสูบแค็มแท่งเดียวเหมือนกับ M10 แต่ M40 จะขับเคลื่อนแค็มชาฟท์ด้วยสายพาน และจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย Bosch Motronic 1.3 ความจุกระบอกสูบต่างกันเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ที่ 1.8 ลิตรเช่นเดิมโดยเครื่อง M40 จะมีปากกระบอกสูบแคบกว่า แต่ช่วงชักยาวขึ้น มีกำลังเพิ่มอีก 10 แรงม้า เป็น 115 แรงม้า (หรือ 113 ถ้าติดเครื่องกรองไอเสีย)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนรุ่น 6 สูบเรียงยังประกอบด้วย 320i และ 325i เช่นเดิมแต่อัพเกรดชุดควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Bosch L-Jetronic เป็น Bosch Motronic 1.3 นอกจากนี้ รถ 6 สูบทุกรุ่นจะได้ถังน้ำมันที่ขยายเป็นพิเศษจาก 55 ลิตร เป็น 63 ลิตร และทุกรุ่นที่เป็นเครื่องเบนซินจำหน่ายในเยอรมันจะมีเครื่องกรองไอเสียเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

320i – แรงม้าเพิ่มจาก 125 เป็น 129 ตัว
325i – คราวนี้แรงม้าหายไปตัวนึง กลับมาเหลือที่ 170 ตัว แรงบิดลดลงเหลือ 222Nm

ส่วนเครื่องดีเซล จากเดิมที่มีแค่ 324d รุ่นธรรมดา ในปีนี้ BMW ตัดสินใจเอาเครื่องดีเซลเทอร์โบจาก 5-Series มาใส่ลงใน E30 ด้วย กลายเป็น 324td ที่แรงม้าสูงถึง 115 แรงม้า ทำให้เป็นรถดีเซลที่ขับสนุกได้ด้วยแรงบิดที่เกือบจะเท่ากับ 325i แต่ใช้เชื้อเพลิงต่อระยะทางน้อยกว่า

320iS โชคดีในความโชคร้ายของบางประเทศ

ที่ต้องจั่วหัวอย่างนี้เพราะประเทศอิตาลี และโปรตุเกสนั้นมีการคิดภาษีรถยนต์ที่มีความจุเกิน 2,000ซี.ซี.เอาไว้สูงมาก ทำให้การทำตลาดด้วย 325i หรือ M3 นั้นจะต้องเสียภาษีสูงกว่าปกติถึงร้อยละ 20 ครั้นจะเอา 320i เป็นตัวชูโรง 129ม้าก็ทำอะไรไม่ได้มาก ดังนั้นคนที่ต้องการใช้รถแรงๆแต่งบน้อยจึงด้อยโอกาสในการสัมผัสความแรง นี่คือโชคร้าย

ส่วนโชคดีน่ะ..ไอ้นี่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพจากwww.folxam.com

BMW เห็นโอกาสในการทำตลาดตรงนี้ จึงสั่งทำรุ่นพิเศษให้กับตลาดสองประเทศนี้โดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า 320iS ที่มีจำหน่ายทั้งในแบบสองและสี่ประตู รูปทรงของรถภายนอกดูเผินๆก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ 3-Series ที่สั่งใส่ออพชั่นชุดแต่ง ยิ่งถ้าเป็นรุ่น 4 ประตูบางล็อตนั้นจะดูธรรมดาแทบไม่ต่างอะไรกับ 318i เลย แต่ถ้าเปิดฝากระโปรงหน้าเมื่อไหร่ จะเจอเครื่องยนต์พะโลโก้ “M-Power” หน้าตาเหมือนของ M3 เป๊ะ เพราะจริงๆแล้วมันก็คือเครื่อง S14 แบบเดียวกับที่ M3 ใช้นั่นเอง แต่ถูกเอามาลดระยะชักจาก 84 เหลือ 72.6 มิลลิเมตร ทำให้ความจุกระบอกสูบลดลงมาเหลือ 1,990 ซี.ซี. แต่ยังมีฤทธิ์เดชส่งม้ามาให้กระทืบเล่นได้ถึง 192 ตัว (เกือบ 100ม้า/ลิตร ในรถบ้านปี 87:ก่อนที่ VTEC ตัวจี๊ดจะเกิดซะอีก) แถมขยับเฟืองท้ายให้จัดขึ้นจากเบอร์ 3.15 เป็น 3.46 โดยยังใช้เกียร์ทดชิดจาก Getrag แบบเดียวกับ M3 อีกด้วย

ผลงานที่ออกมาก็คือ 0-100 ใน 7.5 วินาที (ช้ากว่า M3 แค่เพียงนิดเดียวเท่านั้น) Auto Motor und Sport ได้ลองทดสอบ 320iS แข่งกับ M3 แล้วให้ผลในด้านความรู้สึกเหมือนเกือบจะแรงเท่ากัน โดยมีแต่ช่วงหลัง 200ก.ม./ช.ม.ไปเท่านั้นที่ M3 แสดงพลกำลังที่เหนือกว่าออกมาอย่างเห็นได้ชัด นอกจากแรงและขับสนุกแล้ว ยังสามารถเลี่ยงอัตราภาษีที่แพงกว่าปกติได้ แต่ถ้าวัดจากยอดขายแล้วคงไม่ได้ถือว่าประสบความสำเร็จอะไรนักเพราะทั้งโลกใบนี้มี 320iS E30 อยู่ไม่ถึง 4,000คันและตอนนี้คงเหลือน้อยกว่านั้นมาก

1988 และหลังจากนั้น

ไล่มาทีละปี E30 ก็เริ่มเลยวัยกลางคนและหันเข้าสู่ช่วงปลายของอายุการตลาด แต่เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงได้เปิดตัวเวอร์ชั่นเปิดประทุนของ M3 ออกมา ซึ่ง M3 Convertible นี้ใช้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังแบบเดียวกับรุ่นสองประตู แต่ตัวถังของมันนั้นมีพื้นฐานมาจาก 325i เปิดประทุนที่เอามาเสริมโครงสร้างตัวถังให้แข็งแกร่งต้านทานการบิดงอได้ดีขึ้น ความพิเศษของมันอยู่ที่หลังคาผ้าใบที่เปิดปิดได้ด้วยระบบไฮโดรลิค (ซึ่งกลายเป็นตัวกินเงินเจ้าของรถเพราะมันเสียง่าย) อีกทั้งยังต้องแบกน้ำหนักตัวถังมากกว่าเวอร์ชั่นสองประตูอยู่ถึง 160 ก.ก. สมรรถณะจึงถดถอยไปบ้าง แต่ดูเหมือนลูกค้าฟากยุโรปบางกลุ่มจะไม่แคร์ เพราะอย่างน้อยก็จำหน่ายออกไปได้ (ตั้ง) 786 คัน

นอกจากนี้ M3 เวอร์ชั่นสองประตูก็ได้มีการเพิ่มรุ่นพิเศษ M3 Evolution II ที่มีการปรับตั้งแค็มชาฟท์ฝั่งไอเสียใหม่ และเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัดแถมยังถอดเอาเครื่องกรองไอเสียทิ้ง ทำให้แรงม้าพุ่งจาก 200 ไปอยู่ที่ 220 ตัวที่ 6,750 รอบต่อนาทีเท่าเดิม รุ่นพิเศษจำนวนจำกัดนี้ขายอยู่เป็นเวลาสั้นๆระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. ปี 1988นี้เท่านั้นและไม่ได้ส่งออกไปขายที่อเมริกา

ส่วนคนรักความประหยัดก็จะชอบ 316i ที่พอมาปีนี้ ยกเครื่อง M10 1.8 ออกแล้ววาง M40 ขนาด 1.6 ลิตรลงไปแทน (จะได้ความจุตรงกับชื่อรุ่นจริงๆซะทีวุ้ย) ถึงแม้เป็นรุ่นเล็ก แต่ก็มี 102 แรงม้าให้พอไหว้วานได้ เพียงพอสำหรับการขับล่องไปตามเมืองหรือเดินทางไกลได้บ้างเหมือนกัน

ปี 1989 มีการเพิ่มอีก 2 รุ่นคือ 318iS เห็น S แล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นเครื่อง M..ไม่ใช่ มันคือรุ่นพิกัดเล็กเช่นเดียวกับ 318i ธรรมดา แต่ตัวนี้จะใช้เครื่อง M42 ที่เป็นฝาสูบแบบทวินแค็ม 16 วาล์ว ทำให้รอบจัด เรียกแรงม้าได้ 140 ตัว มีความแรงยิ่งกว่า 320i ซะอีกแต่ประหยัดน้ำมันกว่าด้วยน้ำหนักที่เบาและเทคโนโลยีของเครื่องที่นับได้ว่าทันสมัยที่สุดในหมู่ E30 ด้วยกัน

และท้ายสุดในปี 1990 BMW เตรียมการเปิดตัว 3-Series E36 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่นาน แต่ยอดขายของ E30 ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร มันยังสามารถขายได้ปีละกว่า 200,000 คันถึงจะไม่ได้มากเท่าในช่วงปี 85-87 ก็ตามที แต่ครั้นจะลาจากกันด้วยอารมณ์เหี่ยวเฉาก็กระไรอยู่ BMW เลยสั่งลาด้วยการผลิต M3 รุ่นพิเศษ Sport Evolution (Evo III) ออกมาในปี 1990 ด้วยจำนวนจำกัดแค่ 600 คัน เป็นความพิเศษที่ต้องแย่งกันจับจองหน่อยเพราะมันคือ 3-Series E30 ที่เร็วและแรงที่สุดเท่าที่โรงงานจะผลิตออกมาขาย เครื่อง S14 ถูกขยายความจุออกเป็น 2.5 ลิตร แรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 238 ตัว ไม่สามารถค้นหาข้อมูลมาได้ว่ารุ่นพิเศษนี้มีความแรงขนาดไหน แต่เดาเอาจากสมรรถณะของรุ่นธรรมดาที่มี 200 แรงม้าแล้ว พอจะคาดการณ์ได้ว่าตีนปลายตัวนี้อาจจะมีลุ้นแตะๆ 250ก็เป็นได้

หลังจากที่หมดรุ่นพิเศษนี้ M3 ก็ถูกปลดออกจากสายการผลิต หลังจากนั้นรุ่นสองประตู และสี่ประตู ก็ปิดสายการผลิตลงในปี 1991 เพื่อเปิดทางให้กับการมาของ E36 3-Series รุ่นใหม่ ส่วนรุ่นเปิดประทุนยังมีขายอยู่ไปเรื่อยๆจนถึงปี 1993 และปิดท้ายด้วยรุ่น Touring ที่ยกเลิกไปในปี 1994 ตัวถังสองแบบหลังนี้มีอายุการตลาดยืนยาวกว่าก็เนื่องจากว่า BMW ในขณะนั้นยังไม่พร้อมเปิดตัว E36 เปิดประทุนและแวก้อน จึงยอมขาย E30 รุ่นเดิมไปพร้อมๆกันถึงแม้ในปีหลังๆนี้จำนวนยอดผลิตลดลงจากสองแสนขึ้นจนเหลือเพียงแค่ไม่กี่หมื่นคันต่อปีเท่านั้น

ตลอดอายุการตลาดที่ยืนยาวถึง 14 ปีของ E30 มันได้กลายเป็นรถที่สร้างยอดขายและกำไรให้กับ BMW อย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นผู้เล่นหมายเลขหนึ่งที่แสดงทักษะในการทำรถหรูขนาดเล็กได้ถูกใจคนเกือบทั่วทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย ยอดขายรวมทั้งโลกสามารถทำได้เกินกว่า 2.3 ล้านคัน และเอาชนะคู่แข่งอย่าง 190E ที่ขายได้ 1.8 ล้านคันไปอย่างสวยงาม
E30 ในแดนสยาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บริษัทยนตรกิจได้แนะนำตัว E30 อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 5 ที่สวนอัมพร เดือนพ.ค. ปี1984 โดยลงชิมตลาดเป็นครั้งแรกด้วยรุ่น 316 เครื่อง M10 คาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้า กระจกมือหมุน และไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์ โดดเด่นด้วยชุดไฟแจ้งเตือนการเข้ารับบริการ SI (Service Interval Indicator) ที่จะสว่างขึ้นทีละดวงจนครบระยะเข้าศูนย์บริการ E30เปิดตัวโดยมีบอดี้ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าจะเอาแบบ 2 ประตูดั้งเดิม หรือ 4 ประตูที่พึ่งมาใหม่ โดยตั้งราคาเอาไว้ที่ 519,000 บาทสำหรับรุ่น 2 ประตู และ 549,000บาทสำหรับรุ่น 4 ประตู อาจจะนึกไม่ออกว่าถูกหรือแพงก็ต้องลองยกตัวอย่างมาให้เทียบกัน สมัยนั้น Toyota ที่แพงที่สุดคือรุ่น Crown มีราคาอยู่ที่ 638,000บาท และรถยนต์นั่งทั่วไปอย่าง Mitsubishi Lancer มีราคาอยู่ที่ 300,000บาทโดยประมาณ ส่วนมาสด้า 626 ก็อยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท

ด้วยระดับราคาที่ถูกกว่า 5-Series แต่ได้ภาพลักษณ์ที่หรูหรามีระดับโดยที่มีขนาดตัวกระทัดรัดเพียงพอต่อการใช้งาน E30 จึงเป็นภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จสำหรับวัยหนุ่มสาวที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัวรถมีความน่าสนใจอยู่ที่การออกแบบภายในของรถ แผงแดชบอร์ดสวยงามทันสมัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการออกแบบให้ส่วนแผงควบคุมกลางหันเข้าหาคนขับตามเอกลักษณ์ของ BMW  เบาะนั่งหนังสีดำที่สามารถปรับทุกส่วนสัดให้เข้ากับสรีระได้แม้กระทั่งบริเวณรองน่อง ซึ่งทุกวันนี้จะหารถตลาดราคาไม่โหดที่ไหนทำแบบนี้ได้ยากเต็มทน ช่วงล่างสำหรับประเทศไทยนั่นถูกเซ็ตมาให้มีความนุ่มนวล แต่ยังให้การขับขี่ที่ดีที่ความเร็วสูง หากเอารถญี่ปุ่นที่ตัวเท่ากันมาเทียบแล้วเรียกได้ว่าไม่มีใครจะให้ความแน่นและมั่นคงไปพร้อมกับความสบายได้อย่างนี้อีกแล้ว (ภาพข้างล่างเป็นโฆษณาสื่อพิมพ์ของโชว์รูม M-ONE)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น้ำหนักตัวระดับ 1 ตันกับเครื่องยนต์ 1.8ลิตร 90 แรงม้าที่ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 4 สปีดนั้นให้อัตราเร่งในระดับพอเพียงต่อการใช้งานแต่ไม่ได้จัดจ้านหรือเน้นความสนุกจากการห้ำหั่นบนท้องถนนแข่งกับคนอื่น จริงอยู่ว่าย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อนรถบ้านขนาดกลางต่างก็มีแรงม้าอยู่ 80-90 ตัว แต่รถส่วนมากน้ำหนักเบากว่า E30 อยู่โข  แถมหลัง E30 เปิดตัวได้ไม่นาน Mitsubishi ก็มี Lancer 1600Turbo 120 แรงม้า Nissan มี Bluebird Turbo 135แรงม้า แม้แต่ Volvo ก็ยังมีรุ่นเทอร์โบที่พละกำลังปาเข้าไป 143 แรงม้า เป็นรถประกอบในประเทศที่แรงม้าเยอะสุดในตอนนั้น ดังนั้นใครก็ตามที่รัก BMW แต่อยากแรงก็คงต้องหาทางจูนเครื่องกันใหม่เอาเองหรือถ้าไม่งั้นก็หาชุดแต่งสวย เอาความเท่ห์ก็ได้ ดูอย่างภาพข้างล่างที่ผมตัดมาจากหนังสือในยุคนั้นครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ 316 ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความแรงไม่ใช่บทชี้แพ้ชนะ เพราะทันทีที่มันออกจำหน่าย ก็กวาดยอดจองชนิดประสบความสำเร็จล้นหลาม โรงงานผลิตไม่ทัน ก็คิดดูเอาละกันว่ายอดขาย 3 ไตรมาสของ BMW ในปี 1983 (ก่อน E30 เปิดตัว) ทำได้แค่ 716 คัน แต่พอ E30 เปิดตัวปุ๊บ ยอดขายเดือน ม.ค.-ก.ย. 84 ของ BMW ก็พรวดขึ้นเป็น 1,963 คัน หรือเติบโตกว่ากันอยู่ตั้ง 175% เป็นความสำเร็จที่ลูกหลานยุคใหม่คงไม่รู้ว่าในปี 1984 นั้นยอดขายของ BMW ชนะ Toyota! เพราะยุคนั้นเป็นช่วงแรกที่ Corolla เปลี่ยนจากระบบขับเคลื่อนล้อหลังมาเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ด้วยรูปทรงที่เปลี่ยนสไตล์จากสปอร์ตมาเป็นทรงป้อมและสั้น ทำให้ลูกค้าลังเลที่จะซื้อ แม้จะชูเทคโนโลยี 12 วาล์ว และเคลือบกันสนิม CAT-ION EDP ด้วยแล้วก็ตาม

ในปี 1985 ช่วงกลางปี BMW จัดการเปลี่ยนระบบส่งกำลังให้กับ E30 โดยหลังจากที่ปล่อยให้รถญี่ปุ่นล้อเลียนมานาน ก็นำเอาเกียร์ธรรมดา 5 สปีดมาใส่ซะที และก็เพิ่มราคาเป็น 539,000-569,000บาท ในปีนี้ยอดขายของ E30 ยังคงพุ่งแรงชนิดที่เรียกได้ว่ารถยุโรปกลายเป็นแชมป์ยอดขายนำรถญี่ปุ่น ในปี 1985 นั้น E30 เป็นรถที่ขายดีที่สุดในตลาดเป็นอันดับสองรองจาก Peugeot 305GL

หลังจากนั้นอีก 1 ปีต่อมาก็รุกต่อไปสู่ตลาดที่เน้นความเป็นสปอร์ตมากขึ้นด้วยการแนะนำรุ่น 318i สองประตูลงขาย ความพิเศษของรถรุ่นนี้ก็คือเครื่องยนต์รหัส M10 ที่เปลี่ยนระบบจ่ายเชื้อเพลิงจากคาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นหัวฉีดไฟฟ้า ของ Bosch รุ่น L-Jetronic แทน ทำให้สามารถจ่ายน้ำมันได้แม่นยำขึ้น ส่งผลเรื่องความประหยัดน้ำมัน และทำให้แรงม้าเพิ่มเป็น 105 แรงม้า

มันสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 ก.ม./ช.ม. ได้ภายในเวลา 10.8 วินาที และทำควอเตอร์ไมล์ได้ภายใน 18.2 วินาที เริ่มมีความดุดันในอัตราเร่งมากกว่าเดิมแล้วทีนี้ นอกจากเรื่องสมรรถณะแล้ว 318i ยังได้รับการตกแต่งภายนอกด้วยชุดแต่ง M-Technic ที่มีกันชนสไตล์สปอร์ตและสปอยเลอร์หลังอีกด้วย สำหรับภายในก็มีพวงมาลัยสปอร์ต 3 ก้านมาให้ สำหรับความปลอดภัยก็ไม่ละเลย ให้เข็มขัดนิรภัยมาครบทุกจุด ย้ำว่าครบทุกจุดจริงๆ เพราะแม้จะเป็นรถสองประตู แต่เบาะหลังก็มีเข็มขัดนิรภัยมาให้ถึง 3 ตำแหน่ง รถคูเป้หลายคันที่ใหม่กว่านี้ยังเหนียวไม่ยอมติดมาให้กันเลย ทั้งหมดนี้เป็นของคุณในราคา 595,000 บาท ซึ่งถึงแม้จะแพงแต่ก็กลายเป็นความฝันของวัยรุ่นและวัยทำงานไปพักใหญ่ สมัยนั้นใครเรียนมหาวิทยาลัยแล้วขับเจ้านี่ไปเรียนถือว่าโก้ไม่ธรรมดา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในช่วงเวลานี้ E30 กลายเป็นรถที่สร้างชื่อในวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยด้วย เรียกได้ว่าหากพูดกันว่ามีรายการแข่งที่ไหน ต้องได้เจอ BMW 3-Series โป่งใหญ่ๆ หางหลังโตใช้บังแดดได้วิ่งขับเคี่ยวไปกับบรรดา Toyota Corolla และ Bluebird Turbo ทั้งหลาย บริษัทผู้แทนจำหน่ายเองก็ทำรถแข่งลงมาเล่นกับเขาด้วยภายใต้ชื่อทีมแข่ง “ยนตรกิจมอเตอร์สปอร์ต” มีนักแข่งในสังกัดเช่นคุณฐิติ เกิดรพ ที่คว้าแชมป์รุ่น Expert โอเวอร์ 1,600ซี.ซี.ในการแข่งโมบิลกรังด์ปรีซ์ที่สนามพีระเซอร์กิต ที่จริงแล้วทีมยนตรกิจส่งรถเข้าแข่งขันในหลายคลาส และในรุ่นที่เน้นความแรงกันสุดๆ จะใช้เครื่องสเป็คตัวแข่งขนาด 2.0 ลิตร ซึ่งปั่นม้าจี๋ได้ 300 ตัว แค่ราคาเครื่องยนต์อย่างเดียวก็ซื้อ 316 ธรรมดาได้ครึ่งคันแล้วครับ

ราคาของ E30 มีการปรับอีกครั้งในช่วงปี 1987 ตามยุทธวิธีการขายของยนตรกิจในสมัยนั้น กล่าวคือเมื่อรถมันขายดีมากนัก ก็ปล่อยให้ขายไปเรื่อยๆจนหมดสต็อค ก็กักไม่ปล่อยรถมาขายพักใหญ่ๆจนลูกค้าเริ่มงอแงอยากได้ ก็จะปล่อยรถออกมาขายโดยมีการปรับราคาขึ้น แถมขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละที่ เปิดหนังสือรถดูว่าราคาเท่าไหร่ ของจริงอาจจะต่างกันมากมาย ราคาของ E30 อย่างในรุ่น 318i ก็โดดจากไม่ถึง 6 แสนมาอยู่ที่ 690,000 บาท แต่ก็ยังทำยอดขายได้ดี เพราะความต้องการของผู้ซื้อมีอยู่สูง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปี 1988 มีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ตามเมืองนอก โดยจุดที่สังเกตได้ชัดที่สุดคือไฟท้ายซึ่งเปลี่ยนจากไฟถอยหลังที่อยู่ชิดขอบใน และมีลอนพาดตามแนวนอน (คนจึงเรียกชื่อเล่นกันว่า “รุ่นไฟท้ายสองชั้น”) มาเป็นไฟท้ายที่ดูไฮเทคขึ้น มีลอนพาดผ่านเพิ่มมาอีกหนึ่ง ทำให้รุ่นนี้ได้ชื่อว่าไฟท้ายสามชั้น เครื่อง M10 หัวฉีดก็ถูกยกมาวางในรถตัวถังสี่ประตู และจำหน่ายในชื่อ 316i (ถึงแม้ความจุจริงจะเป็น 1.8 ลิตร) แต่แม้จะมีการปรับโฉมอย่างที่ว่า รุ่นคูเป้ก็ยังจำหน่ายในโฉมเดิมอยู่ ต้องรอจนถึงปี 1989 จึงได้รับการปรับโฉมตามรุ่นซาลูนไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปี 1989 นี่ E30 ยังได้เครื่องยนต์ใหม่รหัส M40 มาแทนเครื่อง M10 แบบเดิม ถึงแม้รูปแบบของเครื่องยนต์ยังเป็น 4 สูบ 8 วาล์วอยู่ แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแค็มชาฟท์จากโซ่มาใช้สายพาน และจ่ายน้ำมันผ่านระบบหัวฉีดของ Bosch Motronic 1.3 มากับความจุ 2 ขนาด เครื่อง M40B16 วางในรุ่น 316i 4ประตู เป็นเครื่องขนาด 1.6ลิตร 102 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีดเพียงอย่างเดียว และ M40B18 วางในรุ่น 318i 2 ประตูและ 4ประตู ความจุ 1.8ลิตร ให้กำลัง 115 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีดและในช่วงที่เขยิบเข้าใกล้บั้นปลายอายุการตลาด ก็มีรุ่น 318iA ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดมาให้เลือก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เครื่อง M40 นี้ถึงแม้จะมีแรงม้ามากกว่า M10 1.8หัวฉีดอยู่ 10 ตัว แต่อัตราเร่งและความเร็วก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก รุ่นเกียร์ธรรมดายังเร่งจาก 0-100 ได้ภายใน 10.4 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 189 ก.ม./ช.ม. แม้ว่าบนถนนจริงจะมีการเคลมว่าทะลุตัวเลขนี้ได้สบายๆก็ตาม

หลังจากที่เป็นขวัญใจคนไฟแรง และเป็นตัวทำเงินเข้ากระเป๋าให้กับ BMW มานาน 8 ปี ผ่านยุคสมัยที่พลเอกเปรมยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผ่านยุคแห่งการรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่สมรภูมิร่มเกล้า มาจนเข้าสู่ยุค “เปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้า” ของนายกชาติชาย ชุณหะวัน ในที่สุด E30 ก็ถึงวาระที่มันจะต้องเปิดทางให้กับผู้มาใหม่ นั่นก็คือ E36 ซึ่งเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 1992 และแม้ว่ายังมี E30 จำนวนหนึ่งที่ขายเคียงคู่กับ E36 ต่อมาอีกนานพอสมควร ปี 1992 ถือว่าเป็นปีที่ถือเป็นการสิ้นสุดอายุการตลาดของ E30 ในไทยอย่างเป็นทางการ ราคาตามป้ายของมันในช่วงสุดท้ายนี้ลาจากกันด้วยตัวเลข 960,000 บาทสำหรับ 318i และ 990,000 บาทสำหรับ 318iA

เป็นความบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ปีสุดท้ายของ E30 เป็นปีเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเป็นปีที่คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งไทยตลอดกาลของเราสิ้นลมหายใจ

แต่นั่นคงไม่เกี่ยวอะไรกับ E30 ซึ่งตอนนั้นเรารู้สึกกันว่ามันกำลังโบกมือลาจากเราไปแล้ว แต่โดยที่จริงแล้วเราคิดผิดถนัด

Becoming a classic icon as much as motorsport icon

ในปัจจุบันนี้การหา E30 มาใช้สักคันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
แต่การหา E30 ที่สภาพค่อนข้างดี และเดิมสนิท ในราคาที่ถูกนั้น มันต้องใช้โชคและการแสวงหาอย่างมาก

แน่นอน หากไม่เรื่องมากกับสภาพตัวถังและยินดีซ่อมแบบไม่หวั่นแม้วันมามาก คุณแค่กำเงิน 8-9 หมื่นไว้กับตัวแล้วนั่งค้นหาจากบนเว็บ แล้วคุณจะพบ 316 รุ่นแรก 4 ประตูในงบตามที่คุณต้องการได้ไม่ยากเลย แต่ของถูกเหมือนได้ฟรีแถมดียิ่งกว่ายอดเมียนั้นไม่มีในโลก ลองสังเกตดูภายในรถดีๆจะพบว่าส่วนมากสภาพโทรมหมดแล้ว หากนึกไม่ออกว่าโทรมขนาดไหนให้ลองนึกดูว่าคุณเอาหมาพิตบูลตัวนึงไปขังไว้ในรถ 1 สัปดาห์โดยไม่ให้มันกินอะไรเลย มันจะกัดและทึ้งภายในจนเละขนาดไหน นึกเอา ไม่ได้เวอร์ และหากเทียบกับรถปีใกล้ๆกันแล้ว BMW ต้องการเจ้าของที่รักษารถเป็น ไม่ใช่พวกใช้ทิ้งใช้ขว้าง วัสดุและวิธีการเข้าขอบพรมหรือบุผ้ายังสู้เบนซ์ไม่ได้ เพราะเบนซ์ที่อายุเท่ากันนั้นคุณจะพบแค่อาการเบาะเหี่ยว นั่งแล้วเท แต่ไม่ใช่สภาพถูกหมาฟัด

ดังนั้นมันจึงเป็นการดีกว่าที่จะใจเย็น รอทั้งเงิน และจังหวะ เพื่อหารถที่สภาพอยู่ในระดับพอใช้ มีตำหนิบ้างแต่มองผ่านๆแล้วต้องดูเรียบร้อย เจ้าของ BMW ส่วนหนึ่งเป็นคนรักและพิศมัยในตัวรถ คนเหล่านี้จะขับ E30 ของเขาเข้าคาร์แคร์และรับการดูแลน้องๆ Porsche ถ้าคุณถามเจ้าของถึงใบเสร็จค่าเซอร์วิส เขาจะเปิดแฟ้มให้คุณดูได้ทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณจะพบว่าสภาพรถพวกนี้มีที่ติน้อยมาก รถของอาจารย์ Charles Freeland ที่รักของผมเป็นตัวอย่างที่ดี รถพวกนี้จะมีบอดี้ที่เกือบเหมือนรถใหม่ ช่วงล่างจะแน่นและนิ่ง ให้การขับขี่ที่ต่างจากวันที่มันเป็นรถใหม่แค่นิดเดียว ผมขอแนะนำทางเลือกนี้สำหรับคนที่รักจะเอามาใช้เป็นรถชีวิตประจำวันจริงๆ และแนะนำให้เลือกรถที่เป็นไฟท้าย 3 ชั้น และขอให้ตั้งใจทุ่มงบถึงแม้มันจะแพงกว่าไอ้ตัวที่ถูกๆสุดถึงสองเท่าตัวก็เหอะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้วยความที่เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังที่ขับสนุก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมากที่จะพบ E30 ที่วางเครื่องยนต์ของฝั่งญี่ปุ่น ในสมัยก่อนจะมีการวางเครื่อง 1G-GTE 2.0ลิตรทวินเทอร์โบของ Toyota ส่วนในปัจจุบันจะมีเครื่องยนต์บล็อคที่นิยมเลือกวางให้ E30 อยู่สองบล็อคคือตระกูล SR20 ของ Nissan และตระกูล JZ ของ Toyota

ถ้าเป็น SR20 นั้นมีความได้เปรียบตรงที่มีขนาดเล็ก วางง่าย มีให้เลือกทั้ง SR20DE ไม่มีเทอร์โบ 140-160 แรงม้า ซึ่งก็แรงพอแล้วสำหรับรถตัวเท่านี้ กับอีกทีคือหันไปวางของแรงเป็น SR20DET เทอร์โบ ซึ่งยกมาจาก Nissan Silvia/180SX S13 205 แรงม้า หรือถ้าใหม่ขึ้นมาหน่อยก็เป็น Silvia S14 220 แรงม้าซึ่งใช้เทอร์โบ T-25 ของ Garett เหมือนกันที่เป็นเทอร์โบแบบบอลแบริ่ง E30 เครื่อง SR นี้เป็นเหมือนคู่รักต่างแดนที่ลงตัวเป็นอย่างมากเพราะขนาด น้ำหนัก และสมรรถณะลงตัว น้ำหนักตกล้อหน้าไม่มากทำให้ยังรักษาบาลานซ์ของรถไว้ได้ ทำให้สามารถนำรถไปใช้ในการแข่งขันได้หลายรูปแบบ ระวังในเรื่องการโมดิฟายหน่อยเพราะกลไกขับเคลื่อนแค็มชาฟท์ของเครื่องตัวนี้ยังไม่ถือว่าดีนัก เล่นกัน 7500รอบก็ขำๆ แต่ถ้า 8พัน ระวังสปริงวาล์วจะดีกลับไม่ทันเอา แล้วก็ฝักบัวน้ำมันเครื่องมันเลี่ยติดพื้นอ่างมาก เวลาไปกระแทกโดนอะไรก็ลงมาเช็คกันก่อนว่าอ่างยังดีอยู่ ไม่งั้นอ่างยันฝักบัว ดูดน้ำมันเครื่องไม่ขึ้น กระจายครับทีนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนตระกูล JZ นั้นก็มีตั้งแต่ 1JZ-GE 200 แรงม้า ซึ่งเป็นเครื่องที่ธรรมดามากในสายตาคนทั่วไปแต่ 200ม้าในบอดี้ E30 นี่ก็เล่นเอาเหวอใช้ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นคนรักของแรงตัวจริง ต้อง 1JZ-GTE 2.5ลิตร ทวินเทอร์โบ 280 แรงม้า หรือสำหรับบางท่าน เขาก็ข้ามไปเล่น 2JZ-GTE 3.0ลิตรทวินซีเควนเชียลเทอร์โบกันเลย เรื่องสรรพคุณของ JZ คงไม่ต้องพูดให้ฟังกันมาก เด็กประถมยังรู้ว่าเจ โมขึ้น ทนมือทนเท้า แต่งให้แรงได้ง่าย พลังเยอะจากความที่เป็น 6 สูบที่มีความจุมากกว่า SR แต่ข้อเสียคือน้ำหนักเครื่องมันเยอะ รถ E30 ที่วางเครื่องบล็อคนี้จึงมักจะพบอยู่ในสนามควอเตอร์ไมล์เป็นหลัก เพราะการหักเลี้ยวไม่สามารถทำได้คล่องนัก บางคนอาจจะบอกว่า 325i ในเมืองนอกก็วางเครื่อง 6 สูบไม่เห็นเป็นไร..ก็ไม่เป็นน่ะสิครับ เครื่องเขามีแค็มแท่งเดียว ฝาลีบๆเล็กๆ ไม่ต้องแบกเทอร์โบกับอินเตอร์คูลเลอร์อะไรไว้ข้างหน้า มันก็ขับได้ดี แต่ถึงดีขนาดไหน ก็คงทราบกันดีนะครับว่าพอเขาจะทำตัวแรง M3 จริงๆ ก็หันไปหยิบเครื่อง 4 สูบมาวางอยู่ดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในสังคมคนรักรถ นอกจากจะมีการนำรถมาวางเครื่องและทำใหม่จนแรงแล้ว  E30 ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักรถคลาสสิค เนื่องจากปีนี้นับเป็นปีที่ E30 มีอายุครบ 25 ปีพอดี ซึ่งสามารถถือเป็นรถคลาสสิคได้ตามความแก่ของอายุ แต่แนวทางการแต่งรถของชาวคลาสสิค จะแต่งตามแบบฉบับของรถแรงในยุค 1980 อย่างแท้จริง เช่นการนำชุดแต่งรอบคัน ล้อ และแม้แต่ลายสติกเกอร์ของ Alpina มาใช้ แค่นั้นก็ทำให้ E30 ดูน่าสนใจขึ้นมาเป็นกองแล้ว ส่วนถ้าจะวางเครื่องนั้น หากต้องการความเหมาะสมลงตัวกับบอดี้รถ หลายท่านก็นิยมเลือกเครื่องยนต์ 6 สูบ M20 ไม่ว่าจะเป็น 2.0 หรือ 2.5 ลิตรมาวาง โดยเฉพาะตัว 2.5ลิตรนั้นหากเครื่องยนต์มีสภาพสมบูรณ์ ระบบส่งกำลังและคลัทช์สมบูรณ์ ก็จะเป็นรถที่ขับสนุกได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทอร์โบแต่อย่างใด การโมดิฟายนั้นแต่ละสำนักก็มีวิธีการที่แตกต่างกันในรายละเอียด แต่ที่แน่ๆ หากอยากทราบว่าเครื่อง M20 มีศักยภาพแค่ไหน ก็ลองคิดดูเอาละกันว่าในช่วงปี 89-90 นั้น อาจารย์ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุขได้ให้ความร่วมมือกับยนตรกิจในการนำเอาเครื่อง M20 2.0 ลิตรไปพัฒนาต่อ เพื่อมาวางใน 5-Series จนออกมาเป็น M20 เวอร์ชั่น 2.7ลิตร มีสองประเภทให้เลือก ประเภทแรกนั้นไม่เท่าไหร่ เป็นเครื่องใช้ขับเน้นแรงบิดมากกว่ารอบเครื่อง แต่ไอ้ตัวหลังที่ได้รับการโมดิฟายฝาสูบเพิ่มเติมนั้นมีกำลังอยู่ที่ระดับ 190 แรงม้า นี่คือรถที่ปรับแต่งเครื่องแต่ยังต้องคำนึงถึงการใช้งานทั่วไปอยู่เพราะมันจะวางอยู๋ใน 5-Series ตัวพิเศษที่เรียกว่า “S5”นะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเล่นกันสุดๆจริงๆยังไปได้อีกขนาดไหน ที่แอฟริกาใต้ก็มีการทำเครื่อง M20 ขยายเป็น 2.7 ลิตรเหมือนกัน ทางนั้นเค้าทำได้ 210แรงม้าครับ

In the end (that has never actually end)

E30 เป็นรถที่ได้เห็นความเป็นไปในโลกรถยนต์ของเรามานานมากพอที่ผมจะรู้สึกแปลกใจในกระแสความนิยมที่ยั่งยืนชนิดรถเก่าหลายรุ่นต้องอิจฉา ถ้าเทียบกับยุคสมัยของ IT มันคือรถที่เกิดก่อน Apple เครื่องแรก แต่มีชีวิตอยู่ยืนยาวมาจนได้แตะ ipod ถ้าเทียบกับโลกของคนบ้ารถ มันอยู่มานานจนได้สัมผัสมาครบทุกอย่างตั้งแต่กันชนบิ๊กบัมเปอร์ การเปิดตัวของสนามพีระเซอร์กิตพัทยา ล้อAlpina ชุดแต่งM-Technic ไปจนถึงแฟชั่นโหลดเตี้ยล้อแม็กเรียล ปลายท่อเฉียงขึ้น ผ่านยุคแห่งการวางเครื่องใหม่แม็กวงโตยางแก้มเตี้ย และจนกระทั่ง ณ ปัจจุบันมันก็ได้ขึ้นแท่นรถยนต์คลาสสิกไปเรียบร้อยในขณะที่ดีกรีความเป็นรถสนามก็ยังคงอยู่เต็มพิกัดไม่ว่าจะเป็นสนามทางตรงหรือสนามเซอร์กิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

E30 เป็นรถที่สามารถความผูกพันทางชีวิตที่พ่อสักคนมีต่อลูกชายคนนึงก็ได้ ลองนึกภาพดูว่าย้อนไป 24 ปีที่แล้วผู้ชายคนหนึ่งเพิ่งแต่งงาน มีลูกคนแรก และกำลังอยู่ในไวไฟแรงที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนสามารถซื้อ BMW เป็นของตัวเองคันแรกได้ แล้วพอผ่านมาสองทศวรรษ ชายคนนี้ก็มอบรถให้ลูกชายของเขาเป็นของขวัญที่สามารถสอบเอาใบขับขี่มาได้ เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ในหัว ผมจึงคิดได้ว่ามันเป็นหนึ่งในรถไม่กี่รุ่นที่คนเป็นพ่อสามารถที่จะมีความสุขกับมันได้มากเท่ากับคนวัยลูก เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองเจนเนอเรชั่นที่แปลกแต่ยั่งยืน

ท้ายสุด ถึงแม้ชายคนนี้จะหันไปขับรถญี่ปุ่นขนาดกลางคันใหม่เอี่ยมที่เพิ่งซื้อมาใหม่เป็นรางวัลตอบแทนให้กับชีวิตที่ตรากตรำมา และยก E30 คันโปรดให้ลูกไปแล้ว แต่เชื่อได้เลยว่าวันใดก็ตามที่เจ้าลูกชายเผลอ คุณพ่อคนดีของเราอาจนึกสนุกคว้ากุญแจ BMW ขโมยรถลูกออกไปซิ่งเล่นบ้างก็ได้

E30 เป็นรถประเภทนั้น..ไม่เชื่อก็ลองถามคนที่เคยใช้ดูสิครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จบ…


ข้อมูลประกอบการเขียน
www.wikipedia.org ไทยและเยอรมัน (อย่าลืมบริจาคเค้าบ้าง)
Bimmer Magazine April 2009
Winner Auto Magazine May 1984
นิตยสารรถ มิ.ย. 86
นิตยสาร Formula ต.ค. 85
รวมเล่ม แหล่งรถ’91-‘92
นิตยสารยานยนต์ ส.ค. 01
นิตยสารกรังด์ปรีซ์ พ.ค./84, ม.ค./87
www.cars-directory.net/history/bmw/325e/
www.press.bmwgroup.com/ (3-Series History)
www.folxam.com/webshare/320is.jpg
www.dtmpower.net/forum/attachments/e30-3-series-prior/25214d1102069737-south-african-e30-333i-owners-333ad2-1.jpg
ขอสงวนสิทธิ์เนื้อหาของบทความข้อเขียนมิให้นำไปใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากheadlightmag.com