ในปี พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบีโอไอ (BOI) มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดโครงการ
ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เราทราบกันดีว่า
“อีโค่คาร์ (Eco Car)” เป็นครั้งแรก ท้ายที่สุดก็มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ในรัฐบาลสมัยนั้นเป็นที่สำเร็จ เริ่มมีผลบังคับใช้ใน ปี 2552

การกำหนดคุณสมบัติของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรืออีโค่คาร์
ยังส่งผลให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงรถยนต์ที่มีความโดดเด่นในด้านการประหยัด
พลังงานที่ ด้านการปล่อยมลพิษที่น้อยลง ซึ่งข้อกำหนดและปัจจัยเหล่านี้
ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในด้านคุณสมบัติ คุณภาพของตัวรถมากขึ้น

จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2558 เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการนี้จึงเป็นที่มา
ของเฟสต่อไป นั่นคือ อีโค่คาร์ เฟส2 นั่นเองครับ เริ่มพิจารณาเฟสที่ 2 นี้
ในเดือนสิงหาคม 2556 และมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2558

เป้าหมายหลักๆของโครงการเฟสที่ 2 นี้ 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ

1. ก่อให้เกิดการลงทุนคลัสเตอร์ยานยนต์ขนาดใหญ่
เกิดการต่อยอดช่วยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถ

2. ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงรถยนต์ที่มีมาตรฐานสูง
ทั้งด้านความปลอดภัยและการประหยัดพลังงาน และมีราคาที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป

3. มีส่วนช่วยรองรับการขยายตัวของสังคมเมือง
และช่วยลดผลกระทบจากการใช้รถยนต์ ทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได
ออกไซด์ (CO2) และช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ

เพราะฉะนั้นแล้ว อีโค่คาร์ (Eco car) จึงเป็นรถที่เน้นในด้านประหยัดพลังงาน
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือย่อมาจาก “Ecology Car” ไม่ใช่รถกระป๋อง
ประหยัดลดต้นทุน หรือราคาถูก Economy Car อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดอยู่

ecocar_banner_edit

หลายๆคนยังสงสัยในความต่างของ Eco car เฟสที่ 1 กับ เฟสที่ 2
ว่ามีความเหมือนหรือต่างกันตรงไหนบ้าง ? ข้อกำหนดเหมือนเดิมหรือเปล่า ?

เรามาดูกันทีละหัวข้อกันเลยครับ (ตามตารางด้านล่าง)
จะเห็นว่าข้อกำหนดของ Eco car เฟสที่ 2 นั้น จะมีความเข้มงวด และหินมากขึ้น
มีการขยายขนาดความจุเครื่องยนต์ ในส่วนของเฟสที่ 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 100 cc.
ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล จากเดิม 1,400 cc. เป็น 1,500 cc.

นอกจากนั้นจะเป็นการเพิ่มความยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทั้งในด้านมาตรฐานมลพิษ
ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ที่จะต้องประหยัดกว่ารถใน อีโค่คาร์เฟสที่ 1  รวมถึงไฮไลต์เด็ดต่อไปนี้ นั่นก็คือ

“ความปลอดภัย Active Safety” หรือที่เข้าใจกันได้โดยง่ายคือ อุปกรณ์ป้องกัน
และลดความเสี่ยงก่อนการเกิดอุบัติเหตุ มีข้อกำหนดอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค หรือ ABS ( Anti-lock Braking System) และ
2. ระบบควบคุมการทรงตัว หรือ ESC ( Electronic Stability Control) หรือ
อาจจะมีชื่อเรียกอื่นๆในแต่ละยี่ห้อเช่น ESP, VSC, VSA, VDC เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ในอีโค่คาร์เฟสที่ 1 นั้นไม่ได้มีข้อกำหนดในส่วนนี้ นี่จะทำให้รถทุกคัน
ทุกรุ่นย่อย ทุกราคา ที่เข้าโครงการอีโค่คาร์เฟสที่ 2 นั้น จะต้องมีให้ไม่ว่าจะรุ่นถูกสุด
หรือรุ่นท๊อปก็ตาม

 

ecocar_2

 

นอกเหนือจากคุณสมบัติทางด้านตัวรถแล้ว เงื่อนไขในด้านการลงทุน
ก็เพิ่มข้อกำหนดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท
จากเฟสที่ 1 กำหนดไว้เพียง 5,000 ล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 6,500 ล้านบาท
ยกเว้นให้กับผู้ที่เคยร่วมโครงการแล้วในเฟสที่ 1 ให้สามารถลงทุนเท่าเดิมได้

ปริมาณการผลิตก็โหดมากขึ้น ร่นระยะเวลาเข้ามาอีก 1 ปี เพื่อผลิตให้ได้
อย่างน้อย 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 รวมทั้งขายในประเทศและส่งออก

โดยบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมในเฟสที่ 2 นั้นมีด้วยกันอยู่ 10 บริษัท ได้แก่
5 รายเดิมที่เคยเข้าร่วมในเฟสที่ 1 คือ Nissan, Honda, Suzuki, Mitsubishi
และ Toyota และมีบริษัทรถยนต์เข้าร่วมเพิ่มอีกด้วยกันถึง 5 บริษัท ได้แก่
Ford, Mazda, MG, Volkswagen และ Chevrolet ซึ่ง Chevrolet พึ่งประกาศ
ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ช่วงประมาณเดือนมีนาคม ด้วยสภาพทางการเงินของบริษัท
ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีซักเท่าไหร่ในการดำเนินธุรกิจจากทั่วทั้งโลก

 

ecocar_3_edit

เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่า รถยนต์คันไหนบ้างที่เข้าร่วมโครงการอีโค่คาร์กันบ้าง
ไล่เรียงกันไปตามระยะเวลาที่เปิดตัวก่อนหลังของแต่ละคัน โดยที่เฟสที่ 1 รุ่นแรก
ในโครงการอีโค่คาร์ที่เปิดตัวคือ Nissan March

ส่วนในเฟสที่ 2 รุ่นแรกที่เปิดตัวคือ Mazda2 Diesel ทั้งตัวถัง 4 ประตู ซีดาน และ
ตัวถัง 5 ประตู แฮทซ์แบ็ค โดยจะเห็นความเป็นไปได้ว่าในอนาคต ค่ายรถยนต์ต่างๆ
จะนำเอารถ B-Segment ในค่ายของตน มาเข้าร่วมโครงการโดยการใส่เครื่องยนต์
ที่มีความจุเล็กลงกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด และเป็นไปตามเทรนด์
ของตลาดโลกที่เรียกว่าการ Down Sizing

ซึ่งในอนาคตมีความน่าจะเป็นที่ว่า New Model ของตลาด B-Segment ในบ้านเรา
จะเข้าโครงการ Eco car เฟสที่ 2 ก็เป็นได้ เราอาจจะได้เห็น All new Honda Jazz
ใส่เครื่อง 1.0 ลิตร พ่วงเทอร์โบ แต่มาขายในราคาเดิมหรือถูกลงกว่าเดิมก็ได้
เนื่องจากมีผลประโยชน์ ของการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถกลุ่มนี้
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในปีหน้า พ.ศ. 2559 นี้

 

ecocar_4_edit2

 

ถึงแม้โครงการอีโค่คาร์เฟสที่ 2 นั้นจะเริ่มต้นขึ้นแล้วก็ตาม แต่ Suzuki Ciaz (ซูซูกิ เซียส)
ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 8 กรกฎาคมนี้ ก็ยังคงเป็นรถจากโครงการ Eco Car เฟส 1 อยู่

———————————————————————————————————–

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ

สรุปรวมข้อมูลเบื้องต้น รวมรีวิวเบื้องต้น รถยนต์กลุ่ม ECO Car