คุณผู้อ่านท่านใด สามารถเรียกชื่อรถยนต์รุ่นนี้ได้ถูกต้องตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินบ้างไหมครับ?

ผมคนนึงละ ที่งุนงงสงสัยมากๆ ถึงขั้นต้องกลับไปเปิดพจนานุกรรม ถึงที่มาของชื่อรุ่น Sedan
ระดับ ECO Car คันแรก ของพวกเขา ในรอบหลายสิบปี เพื่อเมืองไทย จากค่ายรถยนต์แห่ง
ทุ่งรังสิต กันเลยทีเดียว…

เรามาดูคำแปลกันดีกว่า

Mitsubishi Motors บอกว่า “แอททราจ (ATTRAGE)” มาจากคำภาษาอังกฤษ ว่า Attractive
(อ่านว่า แอด-แทร็ก-ทีฟ หมายถึงความมีเสน่ห์ ดึงดูดใจ) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “แอททราจ”
เป็นรถยนต์นั่งที่จะสามารถดึงดูดใจผู้ใช้รถกลุ่มต่างๆ จากคุณสมบัติหลัก 3 ประการ คือ
ประหยัดน้ำมันสูงสุด คล่องตัวในการขับขี่ และ ห้องโดยสารที่กว้างขวางสะดวกสบาย

หรือถ้าให้ผมสรุป มันก็คือ การเอาคำว่า Attractive กับ Mirage มาผสมกัน ออกมาเป็น
คำว่า Attractive Mirage หรือ Mirage ที่ดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น…

เมื่อมาถึงตรงนี้ คุณก็คงจะ เดาออกได้ว่า นิสัยของคนญี่ปุ่นอย่างนึงคือ ชอบเอาคำใน
ภาษาอังกฤษ มาย่อสั้นๆ เรียกกันเป็นภาษา “Japlish” (Japanese + English) เช่น คำว่า
Television หรือโทรทัศน์ พวกก็เล่นจับย่อว่า “Telebi เทเลบิ” ร้านสะดวกซื้อพวก 7-11
หรือ Convinience Store พี่ยุ่นก็จับย่อซะดื้อๆว่า “Convini คอนวินิ” !

นั่นละครับ คุณคงจะเดาต่อได้แล้วใช่ไหมละว่า ชาวญี่ปุ่น ที่สำนักงานใหญ่ในกรุง Tokyo
ของ Mitsubishi Motors ในญี่ปุ่น ก็เลยจัดการ จับตั้งชื่อ Sedan เล็กคันใหม่รุ่นนี้ว่า
Attrage ซะเลย  

ตั้งชื่อกันโดยไม่ได้สนใจเลยว่า ชื่อนี้ มันเรียกยากในหมู่คนไทยมากขนาดไหน ไม่สนใจ
เลยว่า ชื่อนี้ มันจะชวนให้ผู้บริโภค ผ่าไปนึกถึง ผงซักฟอก Attack ของค่าย Kao ที่ใช้ชื่อนี้
ในตลาดเมืองไทย มาตั้งแต่ เปิดตลาดผงซักฟอกสูตรเข้มข้น เมื่อปี 1990

ที่สำคัญ เมื่อลองแยกคำออกมาเป็น 2 พยางค์ แล้ว คำว่า Trage มันสามารถพาให้เรานึกถึง
คำว่า Tragedy ซึ่งแปลตามพจนานุกรมไทย ส เศรษฐบุตร ได้ว่า “เหตุการณ์ร้ายแรง หรือ
โศกนาฏกรรม” พอมารวมกับคำว่า At เข้าไป มันกลายเป็นว่า At tragedy หรือ รถที่อยู่
ท่ามกลางเหตุการณ์ร้ายแรง!!

แว๊กกกกก!!!!

อย่าบอกนะ ว่ามีคนไทยจำนวนมาก พยายามค้านชาวญี่ปุ่นแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่สนใจ?

ในอดีต Mitsubishi Motors ถือได้ว่า มีชื่อรุ่นรถยนต์ที่ไพเราะเพราะพริ้งอยู่ในมือเยอะแยะ
มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Galant Eterna Emerauld Cedia Diamante Fabio Triton 
Strada RVR ASX Chariot Lancer ฯลฯ แต่พักหลังนี้ ผมละงงงวยกับ ตรรกะในการตั้งชื่อ
รุ่นรถยนต์ ของพวกเขาชะมัด

อย่างชื่อ Mirage อันที่จริง เป็นชื่อที่ใช้ได้ มันแปลว่า ภาพลวงตา ต่อให้คนญี่ปุ่นอยากจะสื่อ
ว่า Mirage เป็นภาพลวงตา รถคันเล็ก แต่แอบซ่อนคุณงามความดีไว้เยอะ ทว่า คำว่า ภาพลวงตา
ในความหมายของภาษาไทย มันออกแนวติดลบ อยู่ไม่น้อย มันเหมือนให้ความรู้สึก หลอกลวง
ยิ่งพอ นิชคุณ พูดคำว่า It’s a Mirage Day ในภาพยนตร์โฆษณา คนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษดี ก็จะ
ฟังแล้วแปร่งๆ เพราะมันแปลว่า “วันแห่งภาพลวงตา” !!!

เอ่อ……กึ๋ย! (>_<‘)

หรืออย่างเช่น Pajero Sport จริงอยู่ว่า คนไทยคุ้นเคยกับชื่อ Pajero มาช้านาน และมันเป็นชื่อ
ที่ดี แม้ว่ามันจะแปลว่า “การสำเร็จความใคร่ทางเพศด้วยตัวเอง” ในภาษาละติน ก็ตาม แต่พอเอามา
รวมกับคำว่า Sport ปุ๊บ…มันจะแปลได้อย่างสุภาพที่สุดในสามโลกแล้วว่า “กีฬา สนามหลวง”!

ก็คนที่ไปสนามหลวง ตอนเย็นๆ วันแดดดี ลมโกรก เขาเล่นกีฬาอะไรกันละ?? ก็นั่นแหละ!

ถ้าเป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ จากประสบการณ์ที่เจอมาจริง ผมก็คงไม่แปลกใจแล้วละ

คุณเดี่ยว คุณผู้อ่านที่ผมเพิ่งพบเจอบนรถไฟฟ้า BTS หลังจากทดลองขับ Attrage เสร็จ
ในเย็นวันนั้น แสดงทัศนะ เอาไว้ว่า “ผู้บริหารในองค์กรข้ามชาติ ทั้งญี่ปุ่น เยอรมัน ยุโรป และ
อเมริกัน ส่วนใหญ่ ที่มาทำงานในบ้านเรา จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ถ้าไม่ใช่ว่าโดนบริษัทแม่
เนรเทศมาอยู่ในสำนักงานต่างประเทศอันไกลโพ้น เพราะฝีมือไม่ถึง ก็อาจเป็นพวกที่ เจ๋ง
เทพ เก่ง จากที่อื่น และคิดว่า แนวทางของตนนั้น มันสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยกัน
ได้เลย โดยไม่สนใจคำทัดทานของคนไทย พอสุดท้าย เกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นจริงอย่างที่คนไทย
พยายามบอกเตือนแต่แรก ก็ได้แต่ถามกลับว่า “OK มันเกิดขึ้นแล้ว เราจะแก้ปัญหายังไงกันดี?”

อ่านะ…จริงของคุณเดี่ยวเขาเลยหวะครับ คุณผู้อ่าน!!

โชคดีที่ ชาวญี่ปุ่น ในบริษัทรถยนต์บ้านเรา “ทุกยี่ห้อ” ร้อยละ 90 เป็นพวกหลัง ไม่ใช่พวกแรก
แต่นั่นก็เป็นโชคร้ายด้วยในตัว บอกเลยว่า ถ้ารับฟังความคิดเห็นของคนไทย อย่างจริงจัง และ
ตั้งใจมากกว่านี้ ทุกบริษัท จะทำธุรกิจในเมืองไทย กันได้อย่างดี ยอดขายพุ่งปรี๊ด ลูกค้า Happy
ยิ่งกว่าปัจจุบันนี้อีกไกลโขเลยละ!

พูดกันตรงๆ ประเด็นชื่อรุ่นนี่ เป็นเรื่องที่น่าปวดตับมากที่สุด ของ เจ้าเปี๊ยก 4 ประตู คันใหม่ เพราะ
ในขณะที่ Mitsubishi Motors ให้คำจำกัดความว่า มาจากคำว่า Attractive ซึ่งแปลเป็นไทยได้
ว่า ดึงดูดใจ ทว่า พวกเขากลับ ตั้งชื่อรถคันใหม่ของพวกเขาได้ “ไม่ดึงดูดใจให้คนไทยเรียกติดปากง่ายๆ
มากกว่านี้เอาเสียเลย!”

เอาละ มาถึงตอนนี้ มันสายไปแล้ว ที่จะเปลี่ยนชื่อรุ่นรถยนต์กันกลางคันในวันที่ป่าวประกาศออกไป
ทั่วประเทศเต็มเหนี่ยวขนาดนี้ ในตอนนี้ มาถึงจุดที่ต้องเรียกว่า The Show must go on

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเรียกรถรุ่นนี้ ว่าอะไร? เรียกง่าย หรือเรียกยากแค่ไหน?

ผมว่า ประเด็นสำคัญ ยิ่งกว่าชื่อรุ่น น่าจะอยู่ที่ว่า Attrage หรือ Mirage Sedan คันนี้ 
จะมีคุณงามความดีมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด มันจะเป็นรถยนต์ที่ดีพอให้
กลุ่มลูกค้า ซึ่งกำลังมองหารถยนต์คันแรกของครอบครัว หรือในชีวิต ซื้อหามาขับขี่หรือเปล่า?

จากสัมผัสหลังพวงมาลัยในช่วงเวลาสั้นๆ ผมพบว่า มันก็ไม่ได้แย่ ไม่ได้เลวร้ายนัก และมัน
ก็เป็นทางเลือกที่ใช้ได้ สำหรับใครก็ตามซึ่งมองหาความคุ้มค่าจากรถยนต์ขนาดเล็กคันนี้

จะดีหรือด้อย แค่ไหน อย่างไร มาดูกันเลยดีกว่า!

Attrage เป็นรถยนต์นั่ง Sedan ขนาดเล็กคันใหม่ล่าสุด ที่ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้าง และ
รายละเอียดทางวิศวกรรมจาก Mitsubishi Mirage รุ่นล่าสุด ถือเป็น รถยนต์กลุ่ม B-Segment ECO
car Sedan ขุมพลัง 1.2 ลิตร คันแรกของพวกเขา ในรอบหลายสิบปี

Attrage มีขนาดตัวถังใกล้เคียงกับ Toyota Vios รุ่นปี 2007 – 2012 อย่างมาก ถึงจะเล็กกว่า Nissan
Almera อยู่เล็กน้อย แต่ก็ใหญ่โตกว่า Honda Brio AMAZE ชัดเจน ด้วยความยาวตลอดคัน 4,245
มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร เท่ากับ Toyota
Vios ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

น้ำหนักตัวรถมีตั้งแต่ 885 – 930 กิโลกรัม ซึ่งก็ออกจะชวนให้งุนงงอยู่เหมือนกันว่า ทำไม น้ำหนัก
จึงเท่าๆ ไล่เลี่ยกันกับ Mirage มากขนาดนี้ ทั้งที่บั้นท้าย ก็ใหญ่โตขึ้น อย่างชัดเจน ด้วยพื้นที่ห้อง
เก็บสัมภาระที่ใหญ่ถึง 450 ลิตร (แต่ก็ยังมีแผง Future Board มาแปะประกบไว้ที่ด้านหลังของชุด
พนักพิงเบาะหลัง)

รูปลักษณ์ภายนอก ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.29 แม้ว่าจะใช้พื้นตัวถัง รวมทั้ง
เสาหลัคาคู่หน้า A-Pillar กระจกบังลมหน้า บานประตูคู่หน้า และเสาหลังคา คู่กลาง B-Pillar ร่วมกัน
กับ Mirage แต่ต้องยอมรับว่า การออกแบบของ Attrage นั้น ดูดี และลงตัวกว่า Mirage พอสมควร
อีกทั้งยังมีการออกแบบเพื่อลดแรงยกอันเกิดจากกระแสลม ขณะไหลผ่านใต้ท้องรถ เพื่อช่วยให้การทรงตัว
ย่านความเร็วสูงดีขึ้นด้วย กระจกมองข้าง มีไฟลี้ยวมาให้ในรุ่น GLS และ GLS Ltd.

โดยเฉพาะ ชิ้นส่วนเปลืกกันชนหน้า พร้อมกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ ที่ดูสวยงาม เพิ่มบุคลิกให้หรูขึ้น
ชุดไฟหน้าออกแบบขึ้นใหม่ จนทำให้เราลืมเส้นสายอันน่าเบื่อในแบบเดิมๆของ Mirage ไปได้เลย

เพียงแต่ว่า เมื่อมี Nissan Almera คู่แข่งตัวฉกาจ ออกสู่ตลาดมาก่อนแล้ว ย่อมเห็นการเปรียบเทียบกัน
เป็นธรรมดา และผมก็บอกกับทั้ง คนของ Mitsubishi Motors Thailand และ คนของ Nissan เหมือนกัน
ด้วยประโยคเดียวกันที่ว่า

“Attrage มีเส้นสาย ที่ชวนให้สัมผัสได้ว่า Mitsubishi Motors น่าจะตั้งใจศึกษารายละเอียดของคู่แข่งใน
พิกัดเดียวกันนี้อย่าง Nissan Almera และ Honda Brio AMAZE มาอย่างหนักหน่วง มากพอที่จะสร้าง
รถยนต์ของตน ให้มีรูปลักษณ์ ราวกับว่า ถ้า Mitsubishi Motors คิดจะ Re-Design เจ้า Almera เสียใหม่
ในสไตล์ของตนเอง มันจะออกมาเป็น Attrage อย่างที่เห็นอยู่นี่แหละครับ!”

ในรุ่น GLX Ltd. คันสีฟ้า ที่เห็นอยู่นี้ นอกจากไฟตัดหมอกหน้า พร้อมแถบโครเมียมจะเพิ่มเข้ามาให้
ดูลงตัวขึ้นแล้ว ล้ออัลลอย 15 นิ้ว ลายสวยงาม ที่สวมเข้ากับยางขนาด 185/55 R15 ทำให้ตัวรถ ดูดีขึ้นมาก
จนผมอยากจะถามทีมออกแบบชาวญี่ปุ่นว่า “ทำไม ไม่ใส่ล้อลายนี้กับ Mirage มาแต่แรกละ (วะ?)”

ผมแอบคิดอยู่บ้างเหมือนกันนะว่า เป็นไปได้ไหม ว่าในระหว่างการพัฒนา Attrage คนของ MMC
จะหาซื้อ Almera ไปตั้งไว้ใน Design Studio ของพวกเขา เพื่อให้ ทีมออกแบบ หาทางปรับเส้นสาย
ของตัวรถ ให้ดูลงตัวกว่า Almera ?  น่าคิดเหมือนกันนะ

ภายในห้องโดยสาร บริเวณครึ่งคันหน้า ถอดร่าง ยกชุดมาจาก Mirage แทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
แผงหน้าปัด พร้อมแผงควบคุมสีดำเงา แบบ Piano Black รูปทรงของพวงมาลัย 3 ก้าน ช่องวางของ
ตามจุดต่างๆ รวมทั้งเบาะนั่ง ก็ยังมีหน้าตาเหมือนๆกัน กับ Mirage ต่างกันเพียงแค่ว่า Attrage ใช้
หนังหุ้มเบาะสีเบจ ในรุ่น GLS กับ GLS Ltd. ส่วนรุ่น GLX จะเป็นเบาะผ้า สีเทาดำ เพียงแต่ว่า
ตำแหน่งเบาะนั่งของ Attrage แอบจะสูงกว่า Mirage อยู่นิดนึง เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น
สภาพการจราจรข้างหน้าได้ดีขึ้นนิดนึง แถมยังมีลูกบิด หมุนปรับตำแหน่งเบาะรองนั่งฝั่งคนขับมาให้ด้วย

แต่สิ่งที่ผมให้ความสนใจ และถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้ Attrage แตกต่างจาก Mirage ก็คือ..
การเข้า – ออกจาก บานประตูคู่หลัง ที่ทำได้สะดวกสบายกว่า Mirage มาก และอาจจะใกล้เคียง
กันกับ Almera เสียด้วยซ้ำ

รวมทั้ง เบาะนั่งด้านหลัง ขนาดใหญ่ มาพร้อม พนักวางแขนพับเก็บได้ มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง
ในตัว เสร็จสรรพ มีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้ 2 ฝั่ง ส่วนตรงกลาง ยังคงเป็นแบบคาดเอว ELR
2 จุด แถมยังมี มือจับศาสดา (ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ) เหนือช่องทางเข้าประตูคู่หลังมาให้

แม้ว่าตัวรถจะมีความกว้างแค่ 1,670 มิลลิเมตร คือ กว้างไม่เท่ากับ Almera แต่สิ่งที่ผมมองว่า
Attrage เอาชนะ Almera ได้ชัวร์ๆ ก็คือ พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ผมยืนยันให้ว่า 
ถ้าคุณ ตัวสูงราวๆ 170 หรือไม่เกิน 175 เซ็นติเมตร แล้วนั่งเบาะหลัง Attrage แบบ หลังตรงแนบ
ไปกับเบาะ ศีรษะของคุณจะไม่ชนเพดานหลังคา เหมือนอย่าง Almera แน่นอน!

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยพื้นฐานโครงสร้างเบาะคู่หน้า ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว ยิ่งมีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่
การวางขาของผู้โดยสารด้านหลังได้สบายๆ ตำแหน่งที่ผมนั่งอยู่นี้ คือตำแหน่งที่แผ่นหลังและ
สะโพกของผม แนบชิดติดกับเบาะหลัง ไม่ได้นั่งแบบไหลๆ เอนๆ แต่อย่างใด เบาะรองนั่งเอง
ก็ต้องถือว่า ออกแบบมาได้ดี คือรองรับการโดยสารทางไกลพอได้อยู่ เมื่อเทียบกับพิกัดและ
ราคาของตัวรถ เพียงแต่ว่า ตำแหน่งของพนักศีรษะด้านหลัง มันออกจะดันท้ายทอยไปหน่อย

นอกจากนี้ ความแตกต่างสำคัญ มันอยู่ตรงที่ว่า Attrage ถูกจัดออพชันใหม่ หลายรายการ โดย
เติมเต็มในสิ่งที่ Mirage ไม่มี ให้ลูกค้า  ไม่ว่าจะเป็น สวิชต์ ปรับชุดเครื่องเสียงบน พวงมาลัย (ที่
หุ้มหนังมาให้เสียที) รวมทั้ง วิทยุ DVD / MP3 พร้อมจอ Monitor แบบ Touch Screen
ขนาด 6.5 นิ้ว มีสายเชื่อมต่อ USB ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย (Bluetooth) พร้อมระบบ
นำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ชุดใหม่ แต่มีลำโพงขนาด 40 วัตต์ มาให้ 4 ชิ้น
(ออพชัน ทั้งหมดนี้ มีเฉพาะรุ่น GLS LImited เท่านั้น) อีกทั้งยังมีการตกแต่งฐานรองเกียร์ใหม่
ในรุ่น CVT ให้ดูดีมีชาติตระกูลยิ่งกว่าเดิม

และที่เจ๋งไปกว่านั้นคือ มีกล้องมองหลัง ขณะกำลังเข้าเกียร์ R เพื่อถอยรถเข้าจอดอีกด้วย!
แสดงภาพบนจอมอนิเตอร์ชุดเครื่องเสียง มันเด็ดกว่าเพื่อนฝูงเขาก็ตรงนี้ละ!

ส่วนอุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ ที่เคยมีอยู่แล้วใน Mirage ต่างก็ถูกโยกย้ายมาประจำการใน Attrage
ใหม่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรีโมทกุญแจ KOS สำหรับบานประตูคู่หน้า และฝากระโปรงหลัง
กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน กระจกมองข้าง ปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า (ในบางรุ่น) ฯลฯ
แต่ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ก้ยังคงปรับสูง – ต่ำ ไม่ได้ตามเคย อยู่ดี

ในเมื่อ Attrage ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรมของ Mirage ดังนั้น รายละเอียดด้านเทคนิค
จึงแทบไม่แตกต่างจาก Mirage เลย ขุมพลังของ Attrage จึงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว เพราะมันคือ
เครื่องยนต์ 3A92 เป็นขุมพลัง บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1,193 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
75.0 X 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ECI-Multi
(Electronically Controlled Multi-Point Fuel injection) ควบคุมด้วยสมองกลคอมพิวเตอร์ 32 Bit
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ฝั่งวาล์วไอดี MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing
Electronic Control system)

กำลังสูงสุด 78 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด อยู่ที่ 100 นิวตันเมตร (10.2 กก.-ม.)
ที่ 4,000 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT
จาก Jatco ลูกเดียวกับใน Mirage , Nissan March และ Suzuki Swift เลยนั่นแหละ!

แล้วสมรรถนะ เป็นอย่างไร? จะเหมือนหรือต่างจาก Mirage บ้างหรือเปล่า?

เส้นทางจาก สำนักงานใหญ่ของ Mitsubishi Motors Thailand ที่รังสิต มาถึง สวนเบญจศิริ สุขุมวิท
ข้าง Emporium ก็ยาวเพียงพอที่จะบอกให้ผมได้รับรู้ว่า Attrage มันก็ตอบสนองเหมือนๆกับ เจ้า
Mirage เลยนั่นแหละ ต่างกันแค่ว่า มีตัวถัง Sedan แค่นั้น!

อัตราเร่งในรุ่น เกียร์ CVT ก็ยังเพียงพอในการขับขี่ทั่วไป ที่ไม่ได้ต้องไปแข่งกับชาวบ้าน
เอาถ้วยโถโล่ห์รางวัลอะไรนัก ถ้าคิดจะเร่งแซง เหยียบไปครึ่งคันเร่ง ก็พอมีเรี่ยวแรง แซง
รถคันที่แล่นช้ากว่าได้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจต้องกะเวลาเผื่อไว้สักหน่อย ถ้าออกตัวจากจุด
หยุดนิ่ง อาจโดนรุ่นเกียร์ธรรมดา แซงนำไปก่อน แต่ ถ้าต้องการจะเอาคืนให้ไวขึ้น คงต้อง
เหยียบคันเร่งลงไปจมมิด ให้ Torque Converter ทำงาน เต็มพิกัด จะช่วยให้รถพุ่งแซงไป
ได้ไวขึ้นกว่าการเหยียบแค่ครึ่งคันเร่ง

ในรุ่นเกียร์ธรรมดา แป้นคลัชต์ ยังคงมีน้ำหนักเบา และมีช่วงระยะการตัดต่อกำลัง เหมือนกับเจ้า
Mirage ไม่มีผิด คันเกียร์ ก็ยังคงมีน้ำหนักเหมือนกัน ตอบสนองเหมือนกัน คือ คลอน และยัง
ไม่ถึงขั้นกระชับดีนัก แป้นคลัชต์แบบนี้ จะเหมาะกับคนเพิ่งหัดขับรถใหม่ๆ มากกว่า

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า ที่ตอบสนองได้คล่องตัวในย่าน
ความเร็วต่ำ แต่กลับ ไม่มีชีวิตชีวาในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง แข็งๆ ทื่อๆ ระยะฟรี
ประหลาดๆ ก็ยังคงมาปรากฎให้เห็นใน Attrage ด้วยเช่นกัน

ถ้าคุณไม่ใช่คนขับรถเร็ว โอเค พวงมาลัยของ Attrage ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับคุณ แต่ถ้าจะต้อง
เปรียบเทียบกับ Almera แล้ว ผมบอกเลยว่า พวงมาลัยของทั้ง 2 รุ่น ก็จะตอบสนอง อย่าง หุ่นยนต์
RoboCop ไร้ชีวิตชีวา ด้วยกันทั้งคู่ สรุปว่า ข้อนี้ พอๆกัน สูสีๆ

ผมอยากให้ Mitsubishi Motors ทำการบ้านในข้อนี้ “อย่างจริงจัง” มากกว่านี้ ด้วยการไปหา Suzuki
Swift หรือ Honda Brio มาลองขับดูลักษณะการเซ็ตพวงมาลัยของพวกเขา กันอีกครั้ง เพราะทั้งคู่
คือ พวงมาลัย สำหรับรถยนต์ขนาด ECO Car ที่เซ็ตน้ำหนัก อัตราทด ความหนืด และการตอบสนอง
ได้สมบูรณ์ และลงตัว เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต

ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลัง ทอร์ชันบีม มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับ
บุคลิกของรถยนต์ Sedan มากขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว ขณะขับขี่ ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง บนทางยกระดับโทรลเวย์ ณ ความเร็วเท่ากันกับที่ผมเคยเจอมาใน Mirage ผมกลับพบว่า
ช่วงล่างของ Attrage ดูจะให้ความมั่นใจในการขับขี่มากกว่า Mirage อยู่นิดนึง แม้จะไม่ถึงกับ
มากมายนัก แต่ต้องถือว่า แอบต่างกันนิดหน่อย ในด้านการทรงตัว ซึ่งผมมองว่าเหมาะสมกับ
โจทย์ในการออกแบบรถรุ่นนี้ เพื่อกลุ่มลูกค้า ที่มองหา รถยนต์คันแรกในชีวิตหรือในครอบครัว
เพราะบางบ้าน จะต้องเดินทางออกต่างจังหวัดด้วยรถยนต์คันเล็กๆของพวกเขานี้ด้วย บ่อยๆ

เพียงแต่ ผมยังไม่แน่ใจ ว่ามันจะนุ่มนวลมากขึ้นแค่ไหน เพราะ Attrage ทั้ง 3 คัน เพิ่งจะถูก
ขนย้ายลงมาจากรถเทรลเลอร์ สดๆร้อนๆ และลมยาง ค่อนข้างแข็งมาจากโรงงาน ซึ่งถือเป็น
เรื่องปกติ เพื่อให้ล้อยาง ยังคงกลมได้ตลอด จนถึงวันส่งมอบรถให้ลูกค้า เพียงแต่ว่า ด้วยเวลา
อันจำกัดของเรา จึงไม่อาจตรวจเช็คลมยางได้สะดวกนัก ดังนั้น หัวข้อนี้ ขอแปะโป้งจำนำ
เอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยมาไถ่ถอนในบทควมา Full Review

ระบบเบรก ยังคงเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลัง ดรัม พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และ ระบบ
กระจายแรงเบรก EBD มาให้จากโรงงาน ครบทุกรุ่นย่อย ทำงานตามหน้าที่ได้ดีพอสมควรเมื่อ
ขนาดและพิกัดของรถ เบรกค่อนข้างไว แต่ถ้าจะควบคุมให้ชะลอยุดนิ่งอย่างนุ่มนวลเนียนๆ
ก็ทำได้ไม่ยากเย็นเลย

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
Mirage ในตัวถัง Sedan เน้นความคุ้มค่า อัพออพชันมาเต็มพิกัด วัดพลังเจ้าตลาด!

ผมรู้ดีว่า ชาวญี่ปุ่นใน Mitsubishi Motors หนะ แอบเป็นกังวลอยู่บ้าง เมื่อต้องปล่อยรถรุ่นล่าสุด
ของเขา มาให้ผมได้ทดลองขับ…เรืองแบบนี้ เกิดขึนเสมอ กับหลายๆค่าย หลายยี่ห้อ

กลัวว่าจะเขียนถึงรถรุ่นใหม่ของพวกเขา ไม่ดี…นั่นแหละ เหตุผลหลักๆ

ความจริงแล้ว ถ้าผู้ผลิตค่ายใดก็ตาม ทำรถยนต์ของพวกเขาออกมาดี ไม่ว่าจะดีเพียงพอในความเห็น
ของผม หรือดีเพียงพอในสายตาของผู้บริโภค ต่อให้จะมีใครพูดถึงข้อที่ควรปรับปรุงกันบ้าง ผมเอง
ก็ไม่เห็นความจำเป็น ว่าต้องกังวลอะไรมากมายไร้สาระ 

พูดง่ายๆ ถ้าทำรถมาดีซะอย่าง จะแคร์อะไรกับแค่ ขี้ปากของ J!MMY?

สำหรับ Attrage แล้ว มันก็เป็นรถยนต์ ECO Car Sedan คันเล็ก ที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า
ชาวไทย ได้ดีอยู่ โดยเฉพาะ จุดขาย ที่สามารถยกมาใช้ในการฟัดเหวี่ยงกับ Almera ได้ก็คือ พื้นที่
โดยสารด้านหลัง พื้นที่วางขา ไล่เลี่ย พอกันกับ Almera และมีความกว้างตัวรถ น้อยกว่า Almera
นิดหน่อย แต่มีพื้นที่เหนือศีรษะ เยอะกว่าชัดเจนมาก! นี่ละข้อได้เปรียบที่เหนือกว่า ของ Attrage !

ยิ่งเมื่อมาดูราคา และอุปกรณ์มาตรฐานในแต่ละรุ่นย่อยแล้ว ต้องยอมรับว่า Mitsubishi Motors เอง
ก็รู้สถานการณ์ของตัวเองดี จึงต้องพยายาม จัดเต็มให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งในช่วง
เปิดตัว ยังจะต้องมี แคมเปญส่งเสริมการขายออกมา ทำเอาคู่แข่งอย่าง Nissan Almera ถึงขั้นต้อง
ออกแคมเปญส่งเสริมการขาย มาประกบ Attrage กันเลยทีเดียว

รุ่น GLX M/T         ราคา 443,000 บาท (ราคาช่วงเปิดตัว 433,000)
รุ่น GLX CVT         ราคา 477,000 บาท (ราคาช่วงเปิดตัว 467,000)
รุ่น GLS CVT         ราคา 530,000 บาท (ราคาช่วงเปิดตัว 520,000)
รุ่น GLS Ltd. CVT  ราคา 582,000 บาท (ราคาช่วงเปิดตัว 572,000)
      
ราคานี้ ถามว่า ขายได้ไหม?
ไม่ต้องกลัวครับ Attrage น่าจะขายได้แน่ๆ เพราะนอกจากเส้นสายตัวถังจะลงตัวกว่า Almera แล้ว
ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ที่อัดแน่นมาเต็มพิกัด เหนือกว่า Mirage รุ่นท็อป ในราคาที่เหมาะสม
ถูกกว่า Almera นิดหน่อยด้วยซ้ำ น่าจะช่วยให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตัดสินใจได้ง่ายอยู่

งานนี้ ใครจะซื้อ Mirage เห็นทีอาจต้องคิดหนัก ว่า คุณชอบรถแบบใดกันแน่ ระหว่างตัวถังแบบ
Hatchback 5 ประตู คันเล็กๆ หรือ Sedan 4 ประตู ที่ยาวกว่าเดิมหน่อยนึง 

ขณะเดียวกัน Attrage ก็ยังคงเป็น รถยนต์อีกรุ่นหนึ่งที่ผมคิดว่า มันก็ยังต้องมีข้อปรับปรุง อยู่บ้างแหละ
เหมือนกันกับบรรดารถยนต์ที่แพงมหากาฬกว่านี้ หรือระดับราคาเดียวกันกับกลุ่ม ECO Car Sedan
คันอื่นๆ อยู่ดี ไม่มีรถยนต์รุ่นใดในโลก ที่มีแต่ข้อเสีย หรือมีแต่ข้อดี เพียงอย่างเดียว

การตอบสนองของพวงมาลัย ที่ไม่เป็นธรรมชาติ และไร้ชีวิตชีวา แบบเดียวกับ Mirage และเข็มขัด
นิรภัยคู่หน้า ที่ควรจะปรับระดับ สูง – ต่ำมาให้ได้แล้ว ดูเหมือนเป็นเพียงข้อสังเกตในเบื้องต้น
ที่ผมมองว่า ควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจังกันเสียที นอกนั้น ถ้าว่ากันตามโจทย์ของการสร้าง
รถยนต์คันนี้แล้ว Attrage ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย แถมยังจะน่าซื้อหามาใช้มากกว่า Mirage อยู่บ้าง
เสียด้วยซ้ำเถอะ!

ผมคงจะทำนายได้ในตอนนี้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ ยอดขายของ Mirage จะเริ่มค่อยๆ
ลดลง อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ยอดขายของ Attrage จะเริ่มดีวันดีคืน และอาจตีตื้นขึ้นแซงหน้า
Honda Brio AMAZE ได้แน่ เพียงแต่ เมื่อเทียบกับ Nissan Almera แล้ว ขนาดตัวถังตามสเป็ก
ยังได้เปรียบกว่า Attrage อยู่ตามคาด และกลุ่มตลาด ECO Car Sedan จะมีสภาพตามที่ผมบอกนี้
เรื่อยไป จนกว่า Suzuki จะปล่อย ECO Car Sedan บนพื้นฐานของ Swift ในปี 2015

แต่สิ่งที่เราไม่ต้องทำนาย เพราะยังต้องรอดูกันต่อไป ทั้งอัตราเร่ง เมื่อจับเวลาออกมาเป็นตัวเลขจริง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง…ซึ่งผมก็คงต้อง อดตาหลับขับตานอน ในการเขย่ารถรุ่นนี้ เพื่อทดลอง
กันอีกครั้ง และนั่น ก็ชวนให้ผมย้อนนึกไปถึง วันที่ เราต้องทดลอง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ
Mirage ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ครึ่ง เช้าอีกวันหนึ่ง!

ต่อให้ผม ไม่อยากจะนึก และไม่อยากจะทำการทดลองหาความประหยัดของรถรุ่นนี้ เพราะมัน
ใช้ถังน้ำมันชุดเดียวกัน แถมคอถังยังเหมือนกันกับ Mirage เลยเหอะ! แต่ผมก็ต้องทำอยู่ดี

คงต้องรออ่านกันอีกทีในบทความ Full Review หลังจากนี้ อีกพักใหญ่!

—————————————-///————————————–

ขอขอบคุณ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์   
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง 

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
ทดลองขับ Mitsubishi MIRAGE (Full Review)

—————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน 
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
12 มิถุนายน 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 12th,2012 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!