27 มิถุนายน 2013

ระหว่างที่ผมกำลังนั่งทำงานยามดึก เตรียมพร้อมจะเดินทางไปยัง Toronto ประเทศ Canada
เพื่อทดลองขับ Mercedes-Benz S-Class ใหม่

E-Mail ของใครบางคนที่คุ้นเคย โผล่มาทักทาย…และแค่หัวเรื่อง นั่นก็ทำให้ผม กรี๊ดดด ลมแทบจับ…

คือ กรี๊ดดดดดด ด้วยความดีใจ ระคนความรู้สึกที่ว่า…”นี่เราต้องเดินทางไกลกันอีกทริปแล้วหรอ!”

เพราะมันเป็นการเดินทาง ที่ทิ้งช่วงเวลาห่างกัน จากทริป Toronto ไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำ นี่เป็น
ทริปที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่เคยเดินทางไปยังประเทศ New Zealand มาก่อน…ไม่ใช่แค่ผมนะ
แต่ เรากำลังพูดถึง เจ้าภาพที่เชิญเราในคราวนี้ด้วย

เพราะพวกเขา ก็ยังไม่เคยไป New Zealand กันมาก่อนเลย เหมือนผมนั่นแหละ!!

แน่ละ ร้อยวันพันปีที่ผ่านมา Mazda Sales Thailand ไม่เคยจัดการทดลองขับรถเป็นหมู่คณะ
แบบนี้ ในประเทศอื่นๆใด นอกเหนือจากญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา
มาก่อน ดังนั้น นี่จึงถือเป็นครั้งแรก ที่ Mazda Sales Thailand จัดงานแบบนี้ นอกเขตทวีป Asia
และยังเป็นครั้งแรก ที่มาจัดกันไกลถึงดินแดน Kiwi

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน ของ การบินไทย เต็มแทบทุกที่นั่ง ไม่เว้นแม้แต่
Bussiness Class ดังนั้น เราจึงมีโอกาสได้ใช้บริการของ Singapore Airline ในชั่้นประหยัด หรือ
Economy Class จากสุวรรณภูมิ ไปเปลี่ยนเที่ยวบินที่ สนามบิน Changi ของ Singapore เมื่อ
ช่วงหัวค่ำ ของคืนวันที่ 30 กรกฎาคม 2013

ต้องยอมรับว่า สนามบิน Changi นั้น สวยงาม ใหญ่โต และน่าใช้บริการกว่า สนามบินสุวรรณภูมิ
ของบ้านเราในหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสวนผีเสื้อลอยฟ้า ให้เข้าชมได้ระหว่างรอพัก
เปลี่ยนเที่ยวบิน ห้องน้ำ ค่อนข้างสะอาด แถมยังมีระบบให้ผู้ใช้บริการ ได้กดให้คะแนนห้องน้ำ
บนหน้าจอ Touch Screen อีกด้วย นี่ยังไม่นับรถราง Sky trainเชื่อมต่อจาก Terminal 1 ไป 2
แล่นด้วยระบบอัตโนมัติ ปราศจากคนขับ ที่ใช้งานได้ และมีป้ายแสดงข้อมูลเที่ยวบิน ที่เป็น
ภาษาไทย! ตัดสลับกับภาษาจีน ญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับว่า เที่ยวบินนั้น ไปลงที่ไหน อีกด้วย

แต่จะจำเอาไว้ว่า ร้านอาหารราเม็งญี่ปุ่น Ajisen บน Terminal 1 นั้น ไม่ขอแนะนำให้ไปใช้บริการ
เพราะบริกรชาว อินเดีย ดูจะเรื่องมาก เรื่องเยอะ ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตั้งแต่ ให้พวกเราพยายามนั่ง
เบียดๆ อยู่ด้วยกัน ทั้งที่แอร์ก็ไม่เย็นในจุดนั้น เพราะเดี๋ยวโต๊ะไม่พอให้แขกคนอื่นมาใช้บริการ ทั้งที่
สุดท้าย มันก็ไม่แตกต่างไปกว่าเดิมเลย ลืมออร์เดอร์ที่สั่งไป และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่ง
อันที่จริง เราคนไทยกันเอง ก็ยังตัดสินใจไม่ได้เลยว่าจะกินอะไร ก็ยังมาเร่งรัดกันจังเลย 

ส่วนรสชาติอาหาร บะหมี่ Chicken Teriyaki Noodle ก็แค่พอกินได้ บ้านเราอร่อยกว่าเยอะ

สรุป ร้านนี้..ครั้งเดียวพอนะ…เลิก! โพสต์รูปให้ดู เพื่อให้คนไทยจำไว้ว่า อย่าเข้าไปใช้บริการ!

ส่วนการบริการ ของ Singapore Airline นั้น ถือว่า ทำได้ดีมาก เพราะแม้แต่ชั้นประหยัด ยังมี Menu
อาหารมาให้เราได้อ่านล่วงหน้าก่อนว่า มีอะไรเสิร์ฟให้กินกันบ้าง พนักศีรษะของ เครื่องบิน Boeing
แบบ 777-300 ER น่าแปลกว่า มีนวมหุ้มหนังเทียม แต่มีฟ้องน้ำบุข้างใน นุ่มและนอนได้สบายกว่า
เครื่อง 777-300 ER แบบเดียวกันของ การบินไทย เที่ยวบินไปญี่ปุ่น ลงที่สนามบิน Narita ด้วยซ้ำ
แปลกแต่จริง อีกทั้ง พื้นที่วางขา ที่เพิ่มมากกว่ากันอีก ไม่กี่มิลลิเมตร ก็ไม่ทำให้ผม อึดอัดในการ
เดินทางมากมายอย่างที่กังวลไปแต่แรก แถมอาหาร จาก Catering ก็อร่อยใช้ได้แทบทุกมื้อ

ผมก็เลยขอ เบิ้ลไป รอบละ 1 รายการ แหะๆ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่อิ่มจริง ขอเบิ้ลได้ครั้งนึงครับ)

ที่ Fluke อีกอย่างก็คือ ในเที่ยวบินระหว่าง Singapoer กับ Auckland ขาไป และกลับ มายังสนามบิน
Changi แม้จะเป็นที่นั่งแบบ 3 ตำแหน่ง แต่ ไม่มีคนมานั่งข้างผมเลย มีเพียงแต่ที่นั่งริมหน้าต่าง ขาไป
เป็นชายชาว Wellington เชื้อสาย Asean ที่มุ่งหน้ากลับบ้าน ส่วนขากลับมาเมืองไทย เป็นคุณป้าวัย
กลางคน ที่เดินทางกับ Singapore Airline เป็นประจำ จนมีบัตร VIP ของ Krisflyer แปะที่กระเป๋า
เดินทาง คุณป้า เลือกที่นั่งริมหน้าต่าง ต้องการนอน อย่างสงบ โชคดี ที่คุณป้า Happy กับผม ว่าผม
ไม่ได้ไปรบกวนอะไรแกเลย ทำให้แกนอนหลับตลอดไฟลต์ ได้อย่างมีความสุข

อยากบอกว่า ขอบคุณ คุณป้าเช่นกัน ที่ทำให้ผม มีพื้นที่ในการเดินทางครั้งนี้ ใกล้เคียงกับการได้
โดยสารในชั้น Bussiness Class เลย (หวะ) ครับ เย้!! แม้ว่าขาไป และกลับ ระหว่าง สุวรรภูมิ
และ Singapore จะได้นั่งกับผู้โดยสารชาวไทยร่วมทริปด้วยกัน ก็ไม่เป็นปัญหา

สายของวันที่ 1 สิงหาคม 2013

2 ชั่วโมง 25 นาที จากเมืองไทยถึงสิงค์โปร์ และอีก 9 ขั่วโมง จากสิงค์โปร์ เราก็เดินทางมาถึง 
สนามบินนานาชาติ Auckland ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก Runway อยู่ริมทะเล และสั้น จนนักบิน
ต้องเบรกกันอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ล้อหลังเครื่องบินเริ่มแตะถึงพืนเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี

ใบผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง New Zealand ที่ทาง Travel Agency ฝั่งไทย (ดูเหมือนจะเป็น
A-Time Traveller ในเครือ GMM Grammy นะ) เตรียมมาให้ เป็นใบแบบเก่า ใช้ไม่ได้แล้ว พอดี
ผมได้รับใบกรอกข้อมูลแบบใหม่ ตอนเดินขึ้นเครื่องที่ Changi เลยเอะใจ กรอกใบใหม่เตรียมไว้เลย
ดีกว่า ผลก็คือ ด้วยแถวตรวจคนเข้าเมืองที่ยังเช้าอยู่ และสั้นพอ ทำให้ผม ผ่านด่านออกมาได้อย่าง
รวดเร็ว ขณะที่ ทีมคนไทยทั้งหมด ต้องออกไปกรอกแบบฟอร์มใบผ่านเข้าเมืองแบบใหม่กันทุกคน
ผมเลย เดินลงมา แบกกระเป๋า ของเกือบทุกคนในทีมเรา ออกมารอไว้ให้ก่อน ที่สายพานหมายเลข
1 ซึ่งก็ยืนรอกันกว่า ครึ่งชั่วโมง คณะเดินทางจากเมืองไทย จึงผ่านพิธีการมาได้เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่คิดนจะแบกอาหารจำพวก พวกน้ำพริก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เข้าไป แม้ว่า
ทางการ New Zealand จะห้ามไว้ แต่ถ้าคุณ แจ้ง Tick เอาไว้ ในแบบฟอร์ม Declair ว่า คุณ
นำเข้าประเทศเขา ให้ติ๊กในช่อง Yes ตามความจริง เจ้าหน้าที่จะสแกนดู แล้วปล่อยคุณผ่าน
เข้าประเทศได้อย่างง่ายดาย! (เช่นที่งวดนี้ พี่บอย วรพล สิงห์เขียวพงษ์ แห่ง Thaidriver
และ Option Thailand หอบน้ำพริกนรก และ บะหมี่ไวไว มาม่า เข้าไปเยอะ เผื่อแผ่พวกเรา
ให้ได้อิ่มอร่อยกัน แถมยังแบ่งปันให้กับ ชาวญี่ปุ่นจาก Mazda อีกด้วย!)

เพราะถ้าคุณคิดลักไก่ แจ้งไปว่า ไม่มี แต่ถ้าเครื่องสแกน ตรวจเจอแล้วละก็ โดนปรับ 400 เหรียญ
New Zealand นะครับ!!! ริบของ ทิ้งกันต่อหน้าเลย

เรามาขึ้นรถบัสที่จอดเตรียมไว้อยู่แล้ว ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายกำลังดี แถวๆ 11 องศาเซลเซียส
อยากจะถามพี่อุทัย เรืองศักดิ์ PR ระดับ อบต.ของ Mazda ว่า จะให้หนูแบกเสื้อกันหนาวมาหนัก
กระเป๋าทำเหมียวอาราย ในเมื่อ พวกพี่ก็เตรียมเสื้อหนาวหนาๆให้พวกผมอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นไร
เผื่อไว้ ย่อมดีกว่าขาด เสมอครับ

จากสนามบิน ทางตอนใต้ของตัวเมือง นั่งรถบัส เข้าตัวเมือง Auckland คุณต้องขับผ่าน ไร่ และ
บ้านช่องที่เรียงติดกันเป็นระเบียบ สวยงาม บ้านเรือน ปลูกขึ้นด้วยสไตล์ Victorian ที่แฝงความ
อบอุ่น และบุคลิกแบบอังกฤษอ่อนๆ เอาไว้ เราขึ้นทางด่วน แล้วออกไปเจอวงเวียน กับชุมชน
บ้านเรือนมากมาย ก่อนจะตรงสู่ โรงแรม Hilton ริมอ่าว ริมท่าเรือ ใกล้กับย่าน Shopping หลัก
ของเมืองอย่าง Queen street ที่ผมเดินเล่นเตร่ อยู่ในคืนแรกของทริปนี้ อย่างสบายใจ

กำหนดการคร่าวๆ ของทริปนี้ก็คือ

30 กรกฎาคม 2013  : ออกเดินทาง จาก กรุงเทพฯ
1 สิงหาคม 2013     : มาถึง Auckland พักผ่อน Relax ชมเมืองตามอัธยาศัย
                              และมีเลี้ยงรับรอง ทั้งมื้อเที่ยง และมื้อเย็น

2 สิงหาคม 2013     : เดินไปทางไปยัง Mazda New Zealand รับรถ CX-5 แล้วลองขับกัน
                              ตามเส้นทาง ในระบบนำทาง Navigation System ไปจนถึงโรงแรม
                              Novotel Rotorua รวม 262 กิโลเมตร เลี้ยงรับรองมื้อเที่ยงและเย็น

3 สิงาหคม 2013     : ออกเดินทางจาก Novotel Rotorua แวะพักมื้อเที่ยง ที่ไร่ Wine yard
                             ก่อนเดินทางต่อ ไปสิ้นสุดที่ โรงแรม Museum Art Hotel ใจกลางเมือง
                             Wellington ระยะทาง 549 กิโลเมตร รวม 2 วัน ทั้งหมด 811 กิโลเมตร!

4 สิงหาคม 2013     : Check out ออกจากโรงแรม นั่งรถไปดูจุดชมวิว Mt.Wellington จากนั้น
                             มื้อเที่ยงแบบ Light Meal ที่ร้านอาหาร ในโรงภาพยนตร์ Roxy ใกล้กับ
                             จุดหมายต่อไป คือ เข้าชม Weta Studio Computer graphic ชื่อดัง ที่สร้าง
                             ผลงานมาจาก ภาพยนตร์เรื่อง Avatar,Lord of the ring,i-robot,Hobbit
                             และล่าสุดกับ Elysium ฯลฯ อีกมากมาย มากว่า 20 ปี!! ก่อนขึ้นเครื่องบิน
                             Flight ในประเทศ ของ Air New Zealand กลับมายัง Auckland กลับเข้า
                             พักที่ Hilton Auckland อีกครั้ง ถึงจุดนี้ คณะ พากันไปกินอาหารไทย
                             แต่สำหรับผม แยกตัวมาพบเจอคุณผู้อ่านของเราที่ Auckland ยาวๆ

5 สิงหาคม 2013     : กรีวีกระวาดตื่นเช้า วิ่งลงมาขึ้นเรือ เฟอร์รี ใกล้ๆกับโรงแรม ไปยังเกาะ
                              Waiheke เที่ยวชมเกาะ ชิมไวน์ และรับประทานมื้อเที่ยง ก่อนจะนั่งเรือ
                              กลับมายัง ท่าเรือข้างโรงแรม ถึงจุดนี้ ผมแยกตัวอีกครั้ง ไปพบกับคุณผู้อ่าน
                              ของเราคนเดิม (น้องวิลเลียม) แล้วพบกันอีกครั้งที่ร้านอาหาร Molten ย่าน
                              Mt.Eden เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะบินกลับเมืองไทยในคืนวันดังกล่าว

โรงแรมที่เราพักในคืนแรก และคืนที่ 4 ตามตารางทริปนี้ คือ Hilton Auckland (Princes Wharf 147 
Quay street Auckland 1010) สร้างขึ้นบนท่าเรือเก่า ริมอ่าว Freemans bay อยู่ติดกับท่าเรือเฟอร์รี
สามารถเดินทางไปยังเกาะอื่นๆได้มากมาย (รวมทั้ง เกาะ Waiheke ที่เรามีแผนไปเที่ยวกันในวันสุดท้าย
ของทริปอีกด้วย)

ห้องพักระดับ 5 ดาวบรรยากาศดี การต้อนรับ และบริการต่างๆ ถือว่าใช้ได้ สมกับเป็นโรงแรม
5 ดาว ยกเว้น อาหารเช้า มีให้เลือกน้อยไปสักหน่อย ไม่จุใจนัก มีห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ
และ Spa ส่วน Internet Wi-Fi มีให้บริการ เป็นระบบ ของ NTT docomo จากญี่ปุ่น มาเปิดสาย
กันที่นี่ ซึ่งต้องเสียค่าบริการโหดมาก ชั่วโมงละ 14.40 เหรียญ NZ ถ้าเต็มวัน ก็ 29 เหรียญ NZ
แถมความเร็ว ก็ยัง งั้นๆ พอๆกับ Internet ในบ้านเรา แต่เตียงนอน สบายจริง ผมยังนอนเพลิน
ถือว่าได้พักบ้างนิดๆหน่อยๆ ไม่กี่ชั่วโมง

มื้อเที่ยง มื้อแรกที่ Auckland (อันที่จริงก็ปาเข้าไป บ่ายโมงกว่าๆ แล้วนั่นแหละ) เริ่มกันด้วยการ
ต้อนรับจาก Mrs.Nina Baxter จาก Big Day event organizer ที่ร่วมงานกับ Mazda 
New Zealand มาช้านาน เธอมาต้อนรับ พร้อมกับ ผู้ช่วย ชื่อ Victoria (สาวสวยผมลอนด์ ที่มี
แฟนแล้ว ทำงานเป็นช่างเรือบนเกาะ Waiheke เล่นเอานักข่าวหนุ่มไทย คอตกไปหลายคน อิอิ)

ร้านแรกที่เราเข้าไปรับประทานอาหารกัน คือร้านชื่อ euro ร้านนี้ถือเป็นร้านดัง ในเมืองนี้
เจ้าของชื่อ Simon Gault เป็น Chef ระดับ Celebrity ใน New Zealand และเป็นหนึ่งใน
Commentator ของรายการโทรทัศน์แข่งขันทำอาหาร Reality ชื่อ Master Chef NZ ผมคง
ไม่ขอพูดถึงอะไรในร้านนี้มากไปกว่า เมนู สเต็กเนื้อ ที่เด็ดดวงมากๆ เล่นเอารสชาติจาก ฝีมือ Chef
ที่ได้ Michelin Star 3 ดาว เมื่อคราวที่ผมไปเยือน Toronto ถึงขั้น ตกกระป๋องไปเลย รวมทั้ง
หอยนางรม Oyster ที่สด และอาจจะคาวนิดนึงสำหรับคนที่ไม่ชอบกิน แต่สำหรับผม ถือว่า OK
รับได้เลย โดยเฉพาะการทอดให้ด้านนอกแข็ง ด้านในยังนุ่ม ถือเป็นร้านหนึ่งที่คุณควรมาลองกิน
ที่ Auckland เพียงแต่ ราคาต่อ Menu จะอยู่ที่ราวๆ 25 เหรียญ NZ บวกลบ แล้วแต่กรณี
รายละเอียดต่างๆ ไปคลิกดูเอาเองที่นี่ http://www.eurobar.co.nz

ผมเคยคิดว่า Auckland น่าจะเป็นเมืองหลวงแบบเก่า คือ ตึกรามบ้านช่อง แบบทันสมัยคงน้อย
มีไม่มากนัก และน่าจะมีแต่ อาคารบ้านเรือน ริมถนน สไตล์ อังกฤษ ดั้งเดิม ที่ไหนได้ สิ่งที่ผมคิดไว้
มันอยู่แถบๆ รอบๆ ย่าน Downtown จนถึงชานเมืองทั้งหมด แต่ถ้าลองมาเดินเล่นที่ถนน ย่าน
Queen Street นี่ คุณจะพบกับตึกรามบ้านช่องมากมาย มีร้านของ Louise Vuitton บรรดาธุรกิจ
Fast Food ชั้นนำ ทั้ง McDonalds, Burger King แม้กระทั่ง Wendy’s ที่หายจากบ้านเราไปนาน
ก็ยังมีอยู่ ร้านหนังสือขนาดใหญ่ของกลุ่ม Whitcolls รวมทั้งห้างสรรพสินค้าพร้อมอาคารสำนักงานขนาด
ใหญ่ Downtown Shopping Center ขนาด 3 ชั้น ที่มีร้านขายปลีกของถูก The Warehouse
อยู่ข้างบน รวมทั้ง มีสถานีรถไฟใต้ดิน ฝั่งตรงข้าม อยู่ในอาคารที่มีสถาปัตยกรรม แบบ Victorian หรือ
อังกฤษเก่าๆ ก็ชวนให้ผมแอบคิดและมอง Auckland ในมุมใหม่ว่า ที่นี่ ก็เจริญ และเป็นเมืองใหญ่
อันดับต้นๆของทวีป Oceania เลยทีเดียว เพราะสถาบันการเงินและบริษัทห้างร้านต่างๆ ล้วนแต่มี
สำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ มากกว่าใน Wellington อันเป็นเมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งของ New Zealand
อีกด้วย แถมยังเป็นเมืองที่ผสมผสานบรรยากาศความกระตือรือล้น และความสบายในการพักอาศัยไว้
ไว้ด้วยกันอย่างดี

ส่วนมื้อค่ำวันนั้น ทาง Mazda New Zealand ขอเป็นเจ้าภาพ พาเราทั้งคณะ ไปรับประทาน
อาหาร Seafood ที่ดีที่สุดร้านหนึ่งใน Auckland นั่นคือภัตตาคาร Hammerheads Seafood
การเดินทาง ไม่ยากครับ แต่ต้องขึ้นรถไป จากหน้าโรงแรม ออกไปทางถนนเลียบอ่าว
Quay street วิ่งตรงไปยาวๆ อย่างเดียว จะเจอร้านอยู่ริมถนนฝั่งขวามือ

ที่นี่ หอยนางรม อร่อยยิ่งกว่ามื้อเที่ยง ไม่มีกลิ่นคาวเลย หรือมีก็น้อยมากๆ ปลากระพง
Snapper ก็จัดเป็นปลาแบบ Market Fish ในค่ำคืนนั้น ที่ปรุงมาดีมากๆ กั้งทะเลเผาก็อร่อย
หวานมาก อย่าหวังว่าจะหารสชาติแบบนี้ได้ในเมืองไทย สรุปร้านนี้ เกือบทุก Menu
อร่อย สมราคาที่แพงมหากาฬ จานละ 30 กว่าเหรียญ NZ ขึ้นไปทั้งนั้น ถ้าจ่ายไหว
ควรมาลองกินที่ร้านนี้!

สิ่งที่อยากให้คุณรู้ไว้คร่าวๆ เกี่ยวกับ New Zealand ก็คือ

– อยู่ในกลุ่มประเทศ Common Wealth หรือเครือจักรภพอังกฤษ เช่นเดียวกับ Australia

– ใช้เงินสกุลของตัวเอง 1 New Zealand Dollar = 26 – 28 บาท (ต้นเดือนสิงหาคม 2013)

– กีฬาส่วนใหญ่ ที่คนในประเทศนี้ นิยม คือ Rugby โดยเฉพาะทีมดังอย่าง All Black
  ดังมากๆ ขนาดจับมือกับ Adidas เปิดร้านขายเสื้อผ้าเครื่องกีฬา ร่วมกันเลยทีเดียว!

– เป็นบ้านเกิด ของภาพยนตร์เรื่อง Lords of the Ring หรือที่บางที เราก็ชอบเอามาล้อกัน
  ว่า Lords of the Gayking (ก็ดูตัวละครสิครับ มันอ้อล้อกันชะมัดยาดเลย) ภาพยนตร์
  เรื่องนี้ ทำรายได้ เข้าประเทศอย่างมหาศาล แถมยังเก็บเกี่ยวต่อเนื่องด้วยธุรกิจท่องเที่ยว
  ตามโลเกชันถ่ายทำจริง ที่มีกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

– มีเกาะ Waiheke ที่ถือว่า มีไวน์ รสดี มาให้เป็นของฝากติดมือกลับบ้านกันด้วย

– สินค้าส่วนใหญ่ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้ว ราคาแพงกว่าในไทยหลายรายการ
  เช่น โปรโมชัน จากร้านสะดวกซื้อ FIX เปิด 24 ชั่วโมง พ่วงกับ ร้าน Sandwich อย่าง
   Subway (ที่นี่ไม่มี 7-11) ถ้าจะกิน Sandwich 1 ชิ้น และ น้ำดื่ม 1 กระป๋อง อยู่ที่ 7 เหรียญ
   หรือราวๆ 182 บาท !!!! น้ำดื่ม ถ้าคุณ ซื้อที่ร้าน FIX ขวดละ 3.50 เหรียญ ก็ได้แค่ขวด
   ขนาดกลาง (ล่อไป 91 บาท !!) แต่ถ้า ไปซื้อ ที่ ห้าง Discount Store อย่าง Countdown
   ราคาเท่ากัน คุณจะได้ขวดใหญ่กว่ากันมาก กินได้เป็นวันๆ สรุปว่า ค่าครองชีพสูงโคตร!

– อาหารไทย ได้รับความนิยมที่นี่ มาก ไม่แพ้ อาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ ร้านอาหารไทย
   ถือเป็นอาหารระดับพรีเมียม แต่ก็มีกิจการ Delivery เฉลี่ย ขั้นต่ำราวๆ 10-20 เหรียญ
   ต่อจาน ตัวอย่างเช่น ร้าน Soul Thai : http://www.soulthai.co.nz  กับร้าน 
   Lek Padthai ที่ผมลองชิมแล้ว ใช้ได้ อยู่ในเกณฑ์ดีพอแนะนำกันได้อยู่ในราคาระดับนี้
   
– คนที่นี่ ขับรถกันเร็วมาก! แม้จะมีป้ายจำกัดความเร็ว ในเมือง ไม่เกิน 50 กิโลเมตร/
   ชั่วโมง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบนทางด่วน กับทางหลวงข้ามเมือง จำกัดไม่เกิน
   100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม ออกตัวจากไฟแดง ก็พุ่งปรู๊ด มาเลย เลี้ยวฟ้าบบบบบ
   แบบไม่สนใจใคร แต่ที่น่าปวดกบาลที่สุดคือ ชาวจีน พวกเล่นทิ่ม ออกมาจากทางแยก
   โดยไมสนใจอะไรทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ อุบัติเหตุจากการเฉี่ยวชน เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้
   จากพวกขับรถแบบ “ซุยๆ” โง่ๆ งั่งๆ และค่าซ่อมตัวถังกับพ่นสี แพงมาก อาจถึง
   1,000 เหรียญ NZ ได้ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คนส่วนใหญ่ จะซ่อมตัวถัง แต่
   มักไม่พ่นสี ปล่อยไว้ให้มันกระดำกระด่างอย่างนั้น เพราะรู้ว่า ซ่อมไป เดี๋ยวก็
   โดนชนอีกอยู่ดี!

– แล้วถ้าคุณขับเร็วกว่านั้นละ? ถ้าป้ายบอก 50 คุณจะขับเกินได้ไม่กิน 60 กิโลเมตร/
  ชั่วโมง และถ้าป้ายบอก 100 คุณจะขับได้ไม่เกิน 106 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเกินนี้
  แล้วอยู่บนถนนในชนบทอันไกลโพ้น ไม่เจอตำรวจ โอเค ไม่เป็นไร แต่ถ้าวิ่งบน
  ทางด่วน เจอกล้อง เตรียมรอรับใบสั่งถึงบ้านกันได้เลย กรณีที่ไม่เจอกล้อง แต่เจอ
  เจ้าหน้าที่ ในรถตำรวจ Holden Commordors หรือ Ford Falcon สีขาว มีไซเร็น
  สีน้ำเงินบนหลังคา ทำใจได้เลยว่า โดนใบสั่งกันสดๆ ปรับกันเห็นๆ อัตราค่าปรับมีระดับชั้น
  ขึ้นอยู่กับว่า คุณขับเร็วแค่ไหน แต่ถ้าเกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อไหร่ แล้วรถของ
  สายตรวจ นอกเครื่องแบบ (มักเป็น รถ 2 รุ่นข้างบนนี้นั่นแหละ แต่ดูบ้านๆ ไม่มีเค้า
  เลยว่าจะเป็นรถตำรวจ มักเป็นสีขาว หรือสีเงิน) แจ้งไล่จับคุณได้เมื่อไหร่ คุณจะถูก
  โบกให้จอดข้างทาง สั่งให้ย้ายไปนั่งข้างคนขับ แล้วให้คนในรถ ซึ่งมีใบขับขี่ มาขึ้น
  ขับต่อแทนคุณ แถมจะแปะสติกเกอร์ประจาน สีแดงๆ อันใหญ่ๆ หรือถ้าไม่มีใครนั่ง
  มาด้วยกัน ก็ต้องเรียกรถลาก มาลากกลับบ้าน โดยคุณต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด!!

  โหดสัด!

– แม้ว่าอาชญากรรมจะต่ำ แต่พักหลังนี้ ก็เริ่มเยอะขึ้น ในตอนกลางคืน อย่าเก็บของมีค่า
   พวกกล้อง Notebook โทรศัพท์ ไว้ในรถ จะมีพวกที่พร้อม ทุบกระจก ฉกทรัพย์สินคุณ
   ไปอย่างง่ายดาย ยิ่งถ้าคุณใช้รถที่พวกวัยรุ่นนิยม เช่น Subaru Impreza อาจต้อง
   ทำใจว่าอาจโดนขโมย ไปขับเล่น ไปแยกชิ้นส่วนขาย หรือหนักสุด ถึงขั้น เผารถคุณทิ้ง
   ด้วยความหมั่นไส้! ซึ่งนักเรียนไทย โดนกันมาแล้วหลายราย!!! (WTF!!)

– ปัญหาส่วนใหญ่ ของประชากร เกิดจาก การมีสภาพเป็นรัฐสวัสดิการ ที่ดีเกินไป
   ถ้าคุณตกงาน รัฐจะจ่ายเงินดูแลคุณ เดือนละหลายร้อยเหรียญ หรือถ้าคุณมีลูก
   คุณจะได้รับเงินจากรัฐ เป็นค่าเลี้ยงลูก เดือนละ 200 เหรียญ NZ จนกว่าลูกจะ
   เข้ามหาวิทยาลัย ปัญหาเลยเกิดตรงที่ว่า มีพวก ไม่ยอมทำงาน รอรัฐมาเลี้ยงดู
   อย่างเดียว อยู่มากมาย เต็มพื้นที่ คนพวกนี้ พร้อมก่อเรื่อง ลักเล็กขโมยน้อยได้
   ตลอดเวลา ทุกที่ และพวกเขามักจะโทษแต่คนอื่น ว่าทำไมถึงทำกับชีวิตพวกเขา
   แบบนี้ ทั้งที่จริงๆแล้ว พวกเขาล้วนทำตัวเองกันทั้งสิ้น…โดยเฉพาะชาวเมารีบางกลุ่ม…

เฮ้ยๆๆๆ เดี๋ยวๆๆๆ ขอโทษนะฮะ คุณผู้อ่าน..ลืมไปเลย ผมกำลังเขียนรีวิวรถอยู่นี่หว่า ดันผ่า
ไปเขียน วิชา New Zealand ศึกษา ลงหนังสือแบบเรียน โลกของเรา ม.ปลาย ตั้งแต่เมื่อไหร่วะ!!

แล้วตั้งแต่เปิดรีวิวมา เรายังไม่ได้พูดถึง CX-5 ใหม่กันเลยสักแอะเดียว…ตกลงแล้ว
สรุปว่านี่จะทำรีวิว ร้านอาหาร กับโรงแรม ให้การท่องเที่ยว New Zealand เค้าเลยหรือไง?

ใจเย็นๆครับ คุณผู้อ่านที่รัก ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวรถ จะเริ่มต้นจากข้างล่างนี้เป็นต้นไป…

ก็ช่วยไม่ได้นี่นา ดันโหวตใน Webboard กันเอง ว่าอยากอ่านเรื่องท่องเที่ยวด้วย จัดให้สะใจไปเลย!

เช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2013

เราออกเดินทางด้วยรถบัส มายัง สำนักงานใหญ่ของ Mazda Motors of New Zealand ซึ่งตั้ง
อยู่ในย่านประกอบธุรกิจ ของเมือง เลขที่ 7 ซอย Westfield Pl ย่านภูเขา Mt Wellington ใน
ชานเมือง Auckland

อันที่จริง เส้นทางจากโรงแรม สามารถลัดเลาะขึ้นทางด่วนมาได้ง่ายดาย และใช้เวลาแค่ 10 นาที
แต่ดูเหมือน คนขับรถ คงอยากให้เราได้ผ่านพื้นที่บ้านเมือง ของเขา เลยขับไปบนถนนริมอ่าว
แล้วก็เลี้ยวขวา ลัดเลาะไปตามถนนสายต่างๆ จนถึงหน้าบริษัท

ทาง Mazda New Zealand จัดการแสดงพื้นเมืองของชนเผ่า เมารี ต้อนรับเรา พี่หน่อย แห่ง
นิตยสาร Auto Bild ในฐานะ ผู้คุ้นเคยกับประเทศนี้มาก่อน (เพราะเคยส่งลูกไปเรียนที่นั่น)
จึงถูกเลือกให้เป็นผู้นำกลุ่มในการ ร่วมรับการแสดงนี้

ตามธรรมเนียม เมื่อมีกลุ่มคนแปลกหน้าเข้ามายังพื้นที่ของชนเผ่าเมารี พวกเขาจะเต้น
ในลักษณะดังกล่าว แล้วนำใบไม้ประจำถิ่นมาวางไว้ให้ ถ้าเราก้มรับ เขาจะถือว่า เราเป็น
มิตรกับเขา แล้วเขาจะนำศีรษะ มาชนกับหน้าผากองเรา ก่อนจะเต้นย้อนนำเราเดินเข้าไป
ในหมู่บ้านของพวกเขา

ครั้งนี้ ก็เช่นกัน แน่นอนครับ พวกเขาแสดงและเต้นอย่างดุดัน ในแบบเมารี ก็ชวนให้
ตื่นตาตื่นใจใช้ได้เลยละ!…พอการแสดงจบ เปิดโอกาศให้ถ่ายรูปร่วมกัน ผมยังถาม
ชายหนุ่มที่มาร่วมแสดงคนนี้เลยว่า “ไม่หนาวเหรอ” เพราะเช้าวันนั้น อุณหภูมิ มี
11 องศาเซลเซียส และเขาไม่ใส่อะไรเลย นอกจาก กางเกงในแบบ จี-สติง ซ่อนอยู่
เท่านั้น!! เจ้าตัวบอกว่า “ไม่หนาวเลย ปกติมากๆ” ….

หลายคนก็เลยแซว…แหม! ถ้าเขาหนาว จิมมี่จะเดินเข้าไปห่มอะไรให้เขาเหรอ?

ก็อยากจะบอกว่า…แอบคิดอยู่นะ…แต่ไม่อยากให้ความคิดมันดังออกมาข้างนอกอะ!

Hahahahaha!

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีต้อนรับสไตล์ เมารี แล้ว Mr.Andrew Clearwater , Managing Director
ของ Mazda Motors of New Zealand Limited ร่วมกับ คุณ สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด จาก Mazda Sales Thailand ยังกล่าวต้อนรับ คณะสื่อมวลชนไทย
อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองยิ่ง

คุณ Andrew เล่าให้ฟังว่า Mazda New Zealand นั้่น เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1972 ปัจจุบัน
มียอดขาย หลักหลายพันคัน ต่อปี และทำยอดขายได้เป็นอันดับ 7 ของ Mazda ทั่วโลก เมื่อปี
2012 ที่ผ่านมา (อันดับ 1 ของ สหรัฐอเมริกา ตามด้วย ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย และประเทศไทย
ของเรา ซึ่งตามมาในอันดับที่ 5 !!!!!!)

ปัจจุบันนี้ ตลาดรถยนต์ New Zealand นั้น ทางรัฐ อนุญาตให้มีการนำเข้ารถยนต์เก่า
จากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ สิงค์โปร์ ฯลฯ เข้ามาจำหน่ายได้ โดยต้องเป็นรุ่นปี
ตั้งแต่ 1995 ขึ้นมา เท่านั้น ดังนั้น ยอดขายรถใหม่ และรถเก่าที่นี่ รวมกันอยู่ที่ปีละ
ราวๆ 100,000 คัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 4.2 ล้านคน ทั้งเกาะเหนือและ
เกาะใต้ (ไม่นับ ประชากรแกะ อีกราวๆ 40 ล้านตัว!!!!!!!!!!)

ไม่เพียงเท่านั้น งานนี้ Mazda Motor Corporation ที่ญี่ปุ่น ยังให้ความสำคัญกับพวกเรา
อย่างมาก ถึงขั้นส่ง Mr.Hideaki Tanaka , Mazda CX-5 Program Manager จากแผนก
Program Management Division หัวหน้าทีมวิศวกรโครงการพัฒนารถยนต์รุ่น CX-5 และ
Mr.H.Nakaura : Mazda CX-5 Driving Dynamic Engineer ซึ่งเป็นวิศวกรผู้พัฒนาเรื่อง
การขับขี่ของรถ จาก Mazda Motor Corporation , Hiroshima , Japan มาร่วมเดินทาง
ไปกับเรา เพื่อตอบข้อสงสัย และรับฟังข้อเสนอแนะติชม แล้วนำไปพัฒนาปรับปรุงในรถยนต์รุ่นต่อไป
อีกด้วย และทั้ง 2 ท่าน ก็ให้ความเป็นกันเองกับพวกเราอย่างมาก แลกเเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
สารพัด ตั้งแต่เรื่องรถ วงการรถยนต์ในไทยและญี่ปุ่น เลยไปจนถึง การขี่จักรยาน (งานอดิเรก ของ
Tanaka-san) ไปจนถึง เรื่องของ ไวน์ อาหารการกิน ฯลฯ อีกมากมาย

หลังจากถ่ายรูปหมู่คณะ และรับรถกันมาแล้ว ผมกับ พี่ฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ แห่ง เว็บไซต์
Thairath Online (www.Thairatth.co.th) ก็เริ่มต้น นำ CX-5 รุ่น เบนซิน 2.5 ลิตร
6AT AWD เดินทางกัน ขึ้นทางด่วน ย้อนเข้าเมือง ก่อนที่จะแยกไปยังทางออกที่จะลัดเลาะ
ไปตาม ถนนสายรองเส้นต่างๆ ที่พาให้เราทุกคน ได้ค้นพบทั้งสมรรถนะของตัวรถ ความสวยงาม
ของ 2 ฟากฝั่งถนนใน New Zealand กันอย่างเต็มอิ่ม แวะถ่ายรูป ณ จุดเปลี่ยนคนขับ ตามที่
กำหนดไว้ในระบบนำทาง คราวนี้ ถึงคิว พี่ฉ่าง ขึ้นมาลองขับกันบ้าง และควบรถกันยาวๆ
จนถึงจุดแวะพักทานอาหาร บุฟเฟต์มื้อเที่ยง ที่ ร้าน The Narrow Landing

หลังจากนั้น ออกเดินทางกันต่อ ผ่านเส้นทางบนสันเขื่อน สะพานที่ต้องหยุดให้รถแล่น
ได้เพียงเลนเดียว สลับกัน ไปจนเจอสภาพอากาศหลายรูปแบบ รวมทั้ง ฝนฟ้ากระหน่ำ
แบบ Shower จนมองเห็นทัศนวิสัยข้างหน้าได้ ไม่เกิน 100 เมตร ระหว่างทางเข้าไป
ยังเมือง Rotorua

เราเปลี่ยนมาขับรถรุ่น เบนซิน 2.0 ลิตร 6AT FWD คันสีดำ ซึ่งมีเทปกาวสีดำแปะไว้ที่
กระจกหน้า เพราะระหว่างขับมา คาดว่าคงเจอก้อนหินขนาดใหญ่มากๆ ดีดใส่จนร้าวเป็น
ทางยาว เลยต้องมีเทปกาวแปะไว้ชั่วคราวก่อนที่จะมีการเปลี่ยนกระจกบังลมหน้ากันใหม่
ทั้งบาน เมื่อเราเดินทางไปถึงที่พัก ณ โรงแรม Novotel Rotorua อันเป็นโรงแรมเก่า 
แต่ปรับปรุงใหม่ ให้ดีขึ้น ห้องน้ำนี่โบราณมาก นอนพอสบาย แต่มื้อเช้า ล้างจานไม่สะอาด!

มื้อเย็นของเรา ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ลองนั่ง รถ Taxi ท้องถิ่น อย่าง Ford Fairlane LTD
รุ่นปี ราว 1998 คันใหญ่โต ค่า Taxi เริ่มคิดทันที 4 เหรียญ NZ เมื่อกด Meter ระยะทางแม้
จะไม่ไกลนัก แต่ก็ไปจบลงที่ราวๆ 9 เหรียญ NZ แพงเอาเรื่องเหมือนกัน

จุดหมายของเราไปจบกันที่ร้านอาหารจีน ซึ่งดีที่สุดในเมือง Rotorua แต่ขนาดว่า ดีที่สุดแล้ว
ก็ยังมี การเมืองในครัว อาหมวยเด็กเสิร์ฟฝึกหัด น้องใหม่ โดนเจ๊ใหญ่เขม่นหน้า จนอาหาร
ที่เราสั่งไป ไม่มา พอมาถึง ก็กลับไปเสิร์ฟโต๊ะอื่น ต่อให้มีเป็ดปักกิ่งก็ตาม แต่รสชาติถือว่า
พอกินได้ กระนั้น ยังสู้อาหารจีน ในบ้านเราไม่ได้ ร้านนี้ ข้าพเจ้าไม่ขอแนะนำจ้ะ!

ตกดึก หลายคนสังสรรค์ต่อที่ บาร์ หน้าโรงแรม ซึ่งตั้งมาเก่าแก่นานแล้ว และปรับปรุงบูรณะ
ใหม่ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่วนบางกลุ่ม ก็ไปนอนแช่ในบ่อนำร้อน ที่ห่างจากโรงแรมไปไม่ไกลนัก

ย่างเข้าวันที่ 3 สิงหาคม 2013 พี่ฉ่าง ก็ขอย้ายไปนั่งรถคันอื่น เพื่อจะขอถ่ายภาพอย่างเต็มที่
ยอมให้ผมเป็นมือขับเพียงคนเดียว ต่อเนื่องกันตั้งแต่ โรงแรม Novotel Rotorua ไปจนถึง
โรงแรม Museum Art Hotel ใจกลางเมือง Wellington ระยะทางกว่า 580 กิโลเมตร

ได้โอกาสดังนั้น Naki-san และ Saito-san ก็เลยมาขอนั่งรวมเดินทางไปด้วย เพื่อที่จะรับฟัง
ข้อคิดเห็นในด้านต่างๆของตัวรถ จากผม นับว่าเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะการที่วิศวกรจากฝั่ง
บริษัทผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น จะมีโอกาสนั่งรถร่วมไปกับสื่อมวลชนจากเมืองไทยนั้น มันเกิดขึ้น
ไม่บ่อย และไม่ง่ายเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งการได้ Saito-san ผู้ซึ่งมีภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดี
มาช่วยแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นอังกฤษให้ผม นั่นช่วยให้เรา 3 คน สื่อสารในรถกันได้อย่าง
ราบรื่น และสนุกสนาน …. ช่วยกันถ่ายรูปวิวทิวทัศน์ กันระเบิดระเบ้อ

แถมพอผมเปิดเพลง Cinderella Express ของ Yuming (Yumi Matsutoya) ที่ผมพก
ใส่ USB ซึ่งปกติ เอาไว้ฟังในรถที่บ้านตัวเองในเมืองไทย มาฟังที่นี่ด้วย Saito-san ก็บอกว่า
ฟังเพลงนี้แล้ว แอบนึกถึงความหลังครั้งเก่า….ไม่กล้าถามต่อว่าเรื่องอะไร แต่ที่แน่ๆ ถ้าผู้โดยสาร
สบายใจ มีความสุข คนขับก็สนุกสำราญตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

ในวันนี้ เราแวะพักกัน 2 จุด แห่งแรก นั่นคือ ไร่องุ่น Black Barn Wine yard ซึ่งมีภัตตาคาร
อยู่ข้างใน ฝีมือและรสชาตินั้น กลมกล่อมดีมาก ถูกปากถูกใจ แต่ของหวาน ออกจะหวาน
ไปนิดนึง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อเทียบกับบรรยากาศที่เราได้รับ ร้านนี้ ได้รางวัลต่างๆ
ในประเทศมาแล้วมากมาย

เมื่อถึงตรงนี้ Tanaka-san และ Naki-san ต้องขอโบกมืออำลาพวกเราไปก่อน เนื่องจาก
ติดภาระกิจ ต้องเดินทางไปเมือง Wellington ไปพร้อมับเราก็จริง แต่ต้องล่วงหน้าไปก่อน
เพื่อขึ้นเครื่องบินในประเทศ ไปลง Auckland แล้วจับเครื่องต่อไปยัง นคร Osaka ที่ญี่ปุ่น
เพื่อทำธุระของบริษัทกันต่อ เราได้แต่หวังว่า จะพบเขาทั้ง 2 ที่เมืองไทย เมื่อวันที่ CX-5
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนี้ ผมกับ Saito-san เลยต้องลุยเดี่ยวกัน ผมรับหน้าที่ขับคนเดียวต่อเนื่อง และปล่อย
ให้ Saito-san ผู้อ่อนเพลีย หลับไปเกือบจะแทบตลอดทาง จนกระทั่งถึงจุดพักที่ 2 นั่นคือ
โรงแรมขนาดเล็ก ชื่อ The White Swan Country Hotel (109 Main St, South
Wairarapa 5712, New Zealand Phone:+64 6-304 8894) บรรยากาศที่นี่
เจ๋งมากๆ ร้านนี้ถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหลัง โดยการยกโครงสร้างทั้งหลัง ย้ายมาตั้งในพื้นที่
ปัจจุบัน แล้ว Renovated ใหม่ เพิ่งเข้าใช้งานได้เมื่อปี 2003 จะบอกว่า ปลาทอด
และเฟรนช์ฟราย ที่นี่ อร่อยมาก แต่ที่เด็ดยิ่งกว่าคือ บราวนี่ ที่นุ่มละมุน ละลายในปาก!
หากมีโอกาส ขอแนะนำให้มาลิ้มลองเลยจริงๆ!

1 ชั่วโมง ผ่านไป เราเริ่มออกเดินทางกันอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง นั่นคือ
โรงแม Museum Art Hotel ใจกลาง เมือง Wellington เพื่อส่งคืนรถ ขึ้นเทรลเลอร์ และ
เริ่มโปรแกรมพักผ่อนในอีก 2 วันที่เหลือ

ในบางจังหวะ Saito-san ยังเผลองีบหลับบนเบาะหน้า ขณะที่ผม กำลังขับ CX-5 ด้วยความเร็ว
หลากหลาย ตั้งแต่ 50 – 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนสภาพเสนทางที่มีทั้งถนน ยางมะตอยแบบสาก
ไม่เรียบมันแปล๊บแบบบ้านเรา จนถึง ถนนที่ลัดเลาะไปตามท้องทุ่ง ซึ่งเต็มไปด้วย ฝนตกแบบ
Shower rain หรือตกแบบ ฝักบัวอาบน้ำ กระหน่ำจนมองไม่เห็นทางในอีก 100 เมตรข้างหน้า
ซึ่งเป็นเส้นทางลัดเลาะไปตามไหล่เขา สวนกัน 2 เลน พื้นถนนลื่น แบบเชียงดาว ทางภาคเหนือ
ของไทย สรุปได้ว่างานนี้ เราทดลอง CX-5 กันบนถนนหลากหลายรูปแบบมาก (ยกเว้นถนนใน
ช่วงหิมะตก) อย่างที่คาดไม่ถึง และนั่นทำให้ผมได้รับรับทั้งประสบการณ์จาก CX-5 มามากมาย

แล้วผมคิดอย่างไรกับ CX-5 หนะเหรอ?
มันดีพอจะให้คุณซื้อหรือเปล่า?

มาทำความรู้จักกับรถคันนี้กันในเบื้องต้นเสียก่อนที่จะมาเจอกันในเมืองไทย สักหน่อยดีกว่า….

Mazda เองมีความคิดที่จะพัฒนารถยนต์ขึ้นมา เพื่อบุกตลาด Compact Crossover SUV อย่าง
จริงจัง มาตั้งแตช่วงปี 2004 หลังจากยุติการผลิต Mazda Tribute อันเป็น SUV ที่พัฒนาขึ้นมา
ร่วมกันกับ Ford Escape รุ่นแรก ในตอนนั้น พวกเขาซุ่มดูความเคลื่อนไหวของตลาดกลุ่มนี้ อยู่เงียบๆ
และเกิดความคิดว่า ในเมื่อ ตลาดกลุ่ม Crossover SUV ยังไปได้ดีในตลาดกลุ่มอเมริกาเหนือ 
(ในตอนนั้น) ทำไมพวกเขาจะไม่ลองทำรถยนต์กลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่ม
ดังกล่าวนี้กันละ?

หลังจากปล่อย Mazda CX-7 ออกมา ตามด้วย CX-9 (เวอร์ชัน 7 ที่นั่ง ของ CX-7 แต่ 
ปรับหัวรถและท้ายรถให้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เน้นครอบครัวมากขึ้น)  และมีเสียงตอบรับในตลาด
อย่างดีเยี่ยม ทำให้ Mazda เริ่มมองเห็นว่า ถ้าขยายทางเลือกลงไปเล่นในตลาดกลุ่มที่
ต้องการ รถยนต์แบบเดียวกันนี้ แต่มีขนาดเล็กกว่านี้สักหน่อยละ? ก็น่าจะดีไม่น้อย

เพราะขนาด Honda เอง ยังต้องปรับแนวทางของ CR-V ให้กระเดียดมาทางรูปแบบ
Crossover มากขึ้น แม้แต่ BMW ยังส่ง X1 ลงมาเล่นในตลาดกลุ่มนี้ ฉะนั้น อัตราการ
เติบโตของตลาดกลุ่มนี้ จึงสูงขึ้นเรื่อยๆ มากพอให้ Mazda ตัดสินใจลองทำรถรุ่น CX-5
ขึ้นมาสักครั้ง

CX-5 เปิดตัวครั้งแรก อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2011 หลังจากเผยโฉม
ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ Manzda Minagi ไปก่อนหน้านี้ ในงาน Geneve Auto Salon
ช่วงเดือนมีนาคม 2011 นั่นเอง เสียงตอบรับหลังจากทะยอยเปิดตัวไปตามประเทศต่างๆ
เป็นไปด้วยดี จนถึงขั้น ล้นหลาม กลายเป็นรถยนต์ที่คว้ารางวัลสำคัญๆ มากมายในกว่า
40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรางวัลอันทรงเกียรติ Japan Car of the Year (JCOTY) ในปี
2012 โดยทำคะแนนสูงถึง 363 คะแนน ทิ้งห่าง Toyota 86 (318 คะแนน) และ BMW
3-Series F30 (282 คะแนน)

CX-5 ถือเป็น รถยนต์นั่งรุ่นสำคัญของ Mazda เพราะถือเป็นรถยนต์รุ่นแรก ที่ใช้แนวทาง
การออกแบบใหม่ล่าสุด Kudo : Souls of Motion  หรือ จิตวิญญาณ แห่งการเคลื่อนไหว อัน
มาจากการศึกษาการเคลื่อนไหวของเสือชีตาร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์
ชนิดว่า มองในระยะ 100 เมตร คุณต้องรู้ทันทีเลยว่า เนี่ยแหละ Mazda!

นอกจากนี้  CX-5 ยังเป็นรถยนต์รุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังแบบใหม่ ซึ่ง
ใช้เทคโนโลยีลดแรงเสียดทานเข้ามาช่วยให้อัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ดีขึ้น และ
ปล่อยมลพิษน้อยลง แถมยังสริมความแข็งแกร่งให้โครงสร้างตัวถัง เรียกรวมกันว่า เป็น
“กลุ่มเทคโนโลยี SKYACTIV” เต็มรูปแบบ ในทุกจุด ทั่วทั้งคัน อย่างสมบูรณ์ หลังจาก
ที่ผู้บริโภค ได้เริ่มชิมบางกับเทคโนโลยี SKYACTIV ไปบ้างแล้ว กับ Mazda 2 และ 3
รุ่น Minorchange ในตลาดญี่ปุ่น และตลาดส่งออก (ไม่ใช่ในมืองไทย)

ในตลาดโลก CX-5 ถูกวางให้เป็นคู่แข่งกับรถยนต์ Crossover ระดับ BMW X1 (ซึ่งผมว่า
รถรุ่นนี้ สู้ได้สบายมากซะด้วยสิ!) แต่สำหรับตลาดเมืองไทย ด้วยระดับราคา ชื่อชั้นของแบรนด์
Mazda ในไทยและทั่วโลก ทำให้การวางตำแหน่งการตลาด ต้องเน้นไปประกบกับ เจ้าตลาด
Compact Crossover SUV อย่าง Honda CR-V และ Chevrolet Captiva โดยมี
Subaru XV และ Nissan X-Trail กลายเป็นเป้าหมายลำดับรองลงไป

คิดดูแล้วกันว่า ถ้า Subaru ในเมืองไทยยังหวั่นใจในการมาถึงของ CX-5 ว่าอาจไปดึง
ยอดขายของ XV ให้ลดลง ความน่าสนใจของ CX-5 นั้น มันก็ต้องมากพอในสายตา
ของคู่แข่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแน่

CX-5 มีขนาดตัวถังยาว 4,540 มิลลิเมตร กว้าง  1,840 มิลลิเมตร สูง  1,710 มิลลิเมตร และมี
ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า (Front Track) 1,585 มิลลิเมตร ส่วน
ความกว้างช่วงล้อหลัง (Rear Track) 1,590 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ  210 มิลลิเมตร
น้ำหนักรถเปล่า  1,475 กิโลกรัม (ในรุ่นพื้นฐาน2.0 L)

เมื่อเปรียบเทียบกับ คู่แข่งตัวสำคัญอย่าง Honda CR-V ใหม่แล้ว CX-5 จะยาวกว่ากันเพียง
5 มิลลิเมตร แต่มีความกว้างมากกว่าถึง 20 มิลลิเมตร ขณะเดียวกัน ก็สูงกว่า CR-V อยู่ที่
25 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า  CR-V อีก 80 มิลลิเมตร CX-5 แถมน้ำหนักยังเบา
กว่า CR-V อยู่ 10 กิโลกรัม (น้ำหนักเปรียบเทียบโดยประมาณระหว่าง  เมื่อเทียบกันที่
รุ่นพื้นฐาน/พื้นฐาน แถมความสูงใต้ท้องรถ (Ground clearance) ของ CX-5 จะสูงกว่า
CR-V อยู่ 40 มิลลิเมตร

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ คู่แข่งระดับพระรอง อย่าง Chevrolet Captiva แล้ว จะพบว่า
CX-5 สั้นกว่า Captiva ถึง 133 มิลลิเมตร (อย่าลืมว่า CX-5 มี 5 ที่นั่ง และ Captiva มี
เบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง ดังนั้น ท้ายรถก็ย่อมต้องยาวกว่ากันนิดหน่อยอย่างที่เห็น

ประการต่อมา CX-5 จะมีความกว้างน้อยกว่า Captiva 10 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า Captiva
ถึง 46 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ Captiva 7 มิลลิเมตร แต่เบากว่า Captiva ถึง 309
309 กิโลกรัม (เมื่อเทียบน้ำหนักกันเฉพาะรุ่นพื้นฐานของทั้งคู่) ส่วนความสูงใต้ท้องรถ หรือ
Ground Clearance ของ CX-5 สูง(มาก)กว่า  Captiva 10 มิลลิเมตร

การเข้า -ออกจากเบาะนั่งคู่หน้า แม้จะทำได้สะดวกสบาย เหมือนๆกันกับบรรดารถยนต์
ประเภทเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมชื่นชอบใน CX-5 ก็คือ ชายประตูด้านล่าง ออกแบบให้คลุมปิด
ทับพื้นที่กรอบประตูด้านล่างทั้งหมด ข้อดีก็คือ เวลาไปลุยโคลนมา แล้วคุณจะต้องเข้าไป
นั่ง หรือลุกออกจากรถ ขากางเกงก็จะไม่ต้องเปื้อนเศษโคลนที่ติดอยู่บริเวณชายล่างของ
ตัวรถเลย เป็นงานออกแบบในลักษณะเดียวกันกับที่จะพบได้ในทั้ง Mazda CX-7 ,CX-9
และ Audi Q3 ใหม่ ถือว่าดีกว่า BMW X5 และ X6 ใหม่ ที่ไม่มีการคำนึงถึงปัญหานี้!!

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบในสไตล์สปอร์ต แต่เน้นให้เบาะรองนั่ง มีฟองน้ำที่บาง แต่นั่งสบาย
ปีกข้างเบาะรองนั่ง ทำหน้าที่ ซัพพอร์ตได้ดี เหมือนเช่นปีกข้างของพนักพิงหลัง และพนัก
ศีรษะ ที่ถือว่า นุ่มสบาย ตามสมควร อย่างไรก็ตาม ถ้าเบาะรองนั่ง หนากว่านี้ได้อีกนิด จะช่วย
ซับแรงสะเทือนที่ส่งขึ้นมาจากพื้นรถได้มากกว่านี้อีก  

เบาะรองนั่ง สามารถปรับสูง – ต่ำได้ เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น ด้วยคันโยกด้านข้าง ปรับเอน
และเลื่อนขึ้นหน้า -ถอยหลัง ได้ด้วยกลไกอัตโนมือ เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อม
ระบบ Pre-tensioner & Load Limiter ลดแรงปะทะ ดึงกลับอัตโนมัติ และปรับสูง -ต่ำได้

การเข้า -ออกจาก เบาะนั่งแถวหลัง อาจจะต้องทำใจนิดนึงว่า ช่องทางเข้า เล็กกว่า CR-V นิดนึง
แต่มีพื้นที่วางขา เหลือเพียงพอสหรับผ้โดยสารด้านหลัง เบาะหลังมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด
มาให้ครบ ทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมทั้งจุดยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ทั้งฝั่งซ้าย
และขวา มีพนักวางแขนมาให้

พูดกันตรงๆก็คือ พื้นทีนั่งด้านหลัง มีขนาดไล่เลี่ยกันกับ CR-V รุ่นปัจจุบัน แต่อาจจะเล็กกว่ากัน
สักหน่อย อย่างว่าครับ  รถ Mazda ส่วนใหญ่ ก็ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนขับ มากกว่าคนโดยสาร
แถวหลังอยู่แล้ว

แม้ว่าเบาะหลังจะนุ่มกว่า เบาะแถวหลังของ CR-V แต่ โครงสร้างเบาะรองนั่ง สั้นกว่า กระนั้นผมยัง
ไม่ได้จับสัมผัสมากมายนัก เพราะเวลาจำกัด ที่แน่ๆ พื้นที่เหนือศีรษะ กับพื้นที่วางขาไม่ใช่ปัญหาของ
CX-5 ไว้รออ่านกันอีกทีแบบเต็มๆใน Full Review เวอร์ชันไทย หลังจากนี้

ห้องเก็บของด้านหลัง เป็นอีกจุดเด่นของ CX-5 เพราะมีรูปแบบการพับเบาะหลังที่ Mazda เรียกว่า
Karakuri Seat คือ เน้นอรรถประโยชน์ใช้สอยเต็มที่ สามารถดึงคันโยก ที่ผนังห้องเก็บของ เพื่อแบ่ง
พับพนักพิงเบาะหลังในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 ได้ตามความต้องการ เรียกได้ว่า ถ้าจะขนจักรยาน
หรืออุปกรณ์สกี แต่มีผู้โดยสารนั่งไป 4 คน ก็แค่พับเบาะหลังท่อนกลางลงไป เป็นอันเรียบร้อย

อย่าลืมสิครับว่า หัวหน้าโครงการพัฒนาของเรา คือ Tanaka-san ผู้ชื่นชอบการขี่จักรยานเป็นชีวิตจิตใจ
ดังนั้น การออกแบบห้องเก็บของด้านหลังของ CX-5 จึงได้เผื่อไว้ให้กับการแกอุปกรณ์กีฬา อย่างเต็มที่!

แถมยังมีแผ่นม่านปิดบังสัมภาระ ออกแบบให้สามารถ เลื่อนปิดในแบบปกติ คือดึงมาเกี่ยวล็อกไว้ที่
ผนังห้องเก็บของ ใกล้กับชุดไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง หรือจะเลื่อนขึ้นไปเกี่ยวไว้กับแผงประตูด้านบน เพื่อ
ช่วยให้ เปิดประตูหลังขึ้นมา พร้อมแผงบังสัมภาระได้เลยอย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้ทันที!

ทุกเวอร์ชันทั่วโลก จะได้ใช้แผงหน้าปัดเดียวกัน ออกแบบโดยเน้นเรื่องการมองเห็น
เพื่อลดการละสายตาขณะขับขี่ ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 3 วงกลม ตกแต่งให้หรูหราและดูดี
ด้วยกรอบโครเมียม และฟอนท์ตัวเลขที่อ่านได้สบายตา ส่วนฝั่งขวาจะเป็นหน้าจอ
Multi Information Display แสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระยะทางที่แล่นไป
ทั้ง Odo meter , Trip Meter A และ B รวมทั้ง ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้
แล่นต่อไปได้ และมาตรวัดอุณหภูมิ รวมทั้ง ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ที่ใต้ชุดมาตรวัด
รอบเครื่องยนต์ ฝั่งซ้าย ภาพรวม ถือว่าจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆมาได้อย่างดี

ผมบอกกับ Naki-san ว่า ตำแหน่งของ หน้าจอชุดเครื่องเสียง และระบบนำทาง
Navigation System นั้น อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมแล้ว แต่ช่วยออกแบบกรอบนอก
ให้มันดูดีกว่านี้ได้ไหม เพราะมันดูเก่าๆ เชยๆ เหมือน Hyundai Sonata รุ่นปี 2007
ไม่มีผิด!

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงสปอร์ต หุ้มหนัง ตามแต่ละรุ่นย่อย มีสวิชต์ควบคุม
ระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control สวิชต์ ปรับชุดเครื่องเสียง และระบบ
โทรศัพท์ ผ่าน Bluetooth บนพวงมาลัย ออกแบบมาในตำแหน่งที่เหมาะสม แรกๆ
อาจสับสนในการใช้งานนิดๆ แต่ผ่านพ้นไปไม่กี่ชั่วโมง จะเริ่มคุ้นชินอย่างง่ายดาย

เวอร์ชัน New Zealand ใช้ระบบนำทางจาก Tom Tom ส่วนวิทยุนั้น ในรุ่นที่ติดตั้ง
ชุดเครื่องเสียง 9 ลำโพง จาก BOSE บอกได้เลยว่า เสียงดีขึ้นกว่ารุ่นมาตรฐานชัดเจน
มากพอให้คุณสมควรจะเพิ่มเงินเพื่อชุดเครื่องเสียงตัวนี้

ตำแหน่งสวิชต์เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย-ขวาได้นั้น เตี้ยไปหน่อย
ผมคอมเมนท์ ให้กับ Naki-san ไปว่าสำหรับประเทศในแถบอาเซียนแล้ว ผู้ขับขี่จะ
ปรับสวิชต์เครื่องปรับอากาศ บ่อยกว่าลูกค้าในประเทศเมืองหนาว เพื่อให้ความเย็น
สู้กับอากาศร้อน ดังนั้น ตำแหน่งของสวิชต์จึงต้องขยับขึ้นมา สูงกว่า ที่ติดตั้งอยู่ใน
CX-5 นี้อีกนิดหน่อย

Saito-san ก็ร้องว่า “เออ จริง เพราะเมืองไทย อากาศร้อน และคนไทย จากที่เห็นมา
ก็ปรับแอร์กันค่อนข้างบ่อยจริง”

สำหรับเวอร์ชันไทยนั้น แม้ยังไม่มีการสรุปข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่ความแตกต่าง
ของแต่ละรุ่นย่อย อาจสังเกตยากด้วยตาเปล่า เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกปล่อยให้
บรรดาดีลเลอร์ผู้จำหน่าย Mazda ในเมืองไทย เพื่อใช้ในการ เตรียมสั่งซื้อรถยนต์
เข้าโชว์รูมล่วงหน้า 6 เดือน มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2013 ที่ผ่านมานั้น

ทุกรุ่นจะติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน แทบจะเรียกได้ว่า เกือบเหมือนๆกันหมด! ให้มาเต็มที่ ทั้ง
จะเป็นไฟตัดหมอกหน้า สปอยเลอร์ด้านหลัง ตกแต่งภายในด้วยเบาะหนังสีดำ เฉพาะฝั่ง
คนขับปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา อัตโนมัติ ระบบเชื่อมต่อ
สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านทาง Bluetooth พร้อมชุดเครื่องเสียง ชั้นดีจาก BOSE
ประกอบไปด้วย วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD และ MP3 มาให้ 1 แผ่น และมีช่อง
เสียบเชื่อมต่อทั้ง AUX และ USB พร้อมสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงที่พวงมาลัย รวมทั้ง
ระบบล็อกความเร็ว Cruise Control และแผ่นปิดห้องเก็บของด้านหลัง

รวมไปถึงอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ทั้งโครงสร้างตัวถัง SKYACTIV Chassis ถุงลม
นิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวมทั้ง สิ้น 6 ใบ กล้องมองภาพจากหลังรถ กุญแจ
นิรภัย Immobilizer พร้อมสัญญาณกันขโมย ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC (Dynamic
Stablity Control) ซึ่งรวมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking Sstem)

แต่ในเบื้องต้น ความแตกต่างนั้น จะมีเพียงแค่….

1. เวอร์ชันไทย รุ่น 2.0 ลิตร 2WD ทั้ง 2 รุ่นย่อย จะใช้ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว พร้อม
    ยางขนาด 225/65 R17 ในขณะที่รุุ่น 2.5 High 2WD และ 2.2 Diesel Turbo AWD
    จะสวมล้ออัลลอยขนาดใหญ่ ถึง 19 นิ้ว จากโรงงาน! พร้อมยางขนาด 225/55 R19

2. รุ่น 2.0 Base 2WD ถูกตัดอุปกรณ์อย่าง เซ็นเซอร์ กะระยะทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
    กุญแจแบบ Keyless Smart Entry และไฟหนเาแบบ Bi-Xenon  ปรับมุมลำแสงตาม
    การหมุนพวงมาลัย ส่วนรุ่น 2.0 ลิตร ทั้ง 2 รุ่นย่อย ลำโพงจะมีแค่ 6 ชิ้น ขณะที่ รุ่น
    2.5 ลิตร และ 2.2 Diesel Turbo จะได้ลำโพง 9 ชิ้น จาก BOSE

แค่นั้น!

นั่นเท่ากับว่า ความแตกต่างที่แท้จริง ระหว่าง ทั้ง 4 รุ่นย่อยนั้น กลับไปอยู่ที่ว่า คุณอยากได้
เครื่องยนต์แบบไหนมากกว่ากัน เพราะงานนี้ Mazda จัดขุมพลังใหม่ จากแนวทางพัฒนา
รถยนต์ โครงสร้างตัวถัง และระบบส่งกำลัง SKYACTIV มากถึง 3 รุ่นย่อยด้วยกัน และทั้ง
3 ขุมพลังนี้ จะเป็นหัวหอกหลักร่วมกัน ในการทำตลาด CX-5 กับ Mazda 6 ทั่วทุกมุมโลก

รุ่น 2.0 เบนซิน AWD วางเครื่องยนต์ SKYACTIV-G บล็อก 4สูบ DOHC (S-VT) 16 วาล์ว
1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
พร้อมระบบ ดับและติดเครื่องยนต์เองอัตโนมัติ i-Stop 155 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 20.38 กก.-ม. (200 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที

ตามด้วยรุ่น 2.5 เบนซิน AWD วางเครื่องยนต์ SKYACTIV-G บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
2,488 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.0 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์
แรงขึ้นเป็น  187 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 25.475 กก.-ม.(250 นิวตันเมตร)
ที่ 4,000 รอบ/นาที มาพร้อมระบบ i-stop เช่นเดียวกัน

ปิดท้ายด้วยรุ่นสำคัญ ซึ่งมียอดขายในญี่ปุ่นกว่า 70% จากยอดขาย CX-5 ทั้งหมดในแดนซามูไร
รุ่น 2.2 Diesel Turbo AWD วางขุมพลัง SKYACTIV-D บล็อก 4สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,191 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก  86.0 x 94.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 14.0 : 1  หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ฉีดจ่ายไอดี
ไปตามแรงดันในราง ระบบ Common-Rail พ่วงด้วยระบบอัดอากาศ Turbo Charger รวมไปถึง
Intercooler ที่ช่วยระบายไอดีก่อนเข้าห้องเผาไหม้ 175 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 42.79 กก.-ม.(420 Nm นิวตันเมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที
 
ทั้ง 4 รุ่นย่อย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Real Time
AWD ต่างก็จะยังใช้ ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SKYACTIV-DRIVE
เหมือนกันหมดทุกรุ่นย่อย

(ภาพทั้ง 3 ข้างบนนี้ เอื้อเฟื้อโดย : พี่ฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ Thairath online)

คำถามแรกที่หลายคนคงอยากรู้ก็คือ…แรงไหม? แรงกว่า CR-V และ Captiva หรือเปล่า?

ระหว่างที่เราเดินทางกันข้ามเมืองกันนั้น พอจะมีสภาพถนน เอื้ออำนวยให้ผมได้ลองจับเวลา
ด้วยนาฬิกาข้อมือกันคร่าวๆ ภายใต้สภาพของรถ ที่แตกต่างไปจากการทดลองตามมาตรฐาน
ปกติของ Headlightmag.com เรานั่นเอง

ต้องเตือนกันไว้ตรงนี้ก่อนว่า รถที่ลองขับ เป็นรถสเป็ก New Zealand แม้ส่วนใหญ่จะใช้
เครื่องยนต์เดียวกัน ระบบส่งกำลังเหมือนกัน แต่ระบบขับเคลื่อน อาจแตกต่างกันเล็กน้อย
น้ำหนักบรรทุก มีผม กับผู้โดยสารอีก 1 คน รวมเป็น 2 คน ยังไม่นับรวมกระเป๋าสัมภาระ
ราวๆ 3-4 ใบ อีกทั้ง อุณหภูมิเย็นกว่าเมืองไทยอย่างมาก! (ราวๆ 10 – 12 องศาเซลเซียส)

ตัวเลขที่ได้ มีดังนี้ครับ

เบนซิน 2.0 Skyactive-G 6AT 2WD
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง    ไม่ได้จับเวลามาให้ เพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันสั้นมาก ไม่มีจังหวะเหมาะ
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง  9.03 วินาที

เบนซิน 2.5 Skyactive-G 6AT AWD
(รุ่นที่มาขายในไทยจะเป็นรุ่น 2WD ไม่ใช่ AWD)
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง     10.12 วินาที
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง     8.27 วินาที

Diesel 2.2 Turbo Skyactive-D 6AT AWD
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง       9.54 วินาที
80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง     7.64 วินาที
*นั่ง 2 คน + สัมภาระ

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่คู่แข่งในกลุ่ม Compact Crossover SUV ทั้งหมด จะเห็นว่า
CX-5 ทำอัตราเร่งได้เร็วกว่าเพื่อนฝูงเขา ชัดเจน เรียกได้ว่า สบคำสบประมาท ที่หลายคน
เคยพูดว่า “Mazda คือรถขับสนุก แต่เครื่องห่วยแตก ทั้งแดก แล้วก็อืด” ทิ้งไปได้เลย!

โดยเเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ Diesel Turbo ที่ทำตัวเลขออกมาได้น่าประหลาดใจมาก เพราะ
ผลลัพธ์ที่ออกมา ไล่เลี่ยกันกับตัวเลขที่ Mazda CX-9 V6 3.7 ลิตร รวมทั้ง Ford Focus 2.0
TDCi รุ่นก่อน และ Toyota Corolla ALTIS 2.0 CVT ไปจนถึง Mercedes-Benz SLK200
Kompressor R171 เคยทำได้ที่เมืองไทย แต่คุณต้องไม่ลืมว่า น้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นจาก
สัมภาระ และอากาศใน New Zealand เย็นกว่าในเมืองไทย ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ จะมีผลให้ตัวเลข
อัตราเร่ง แตกต่างกันชัดเจน

ดังนั้น ไว้รอการทำตัวเลขในเวอร์ชันไทย อีกครั้ง น่าจะตรงกับสภาพการใช้งานในบ้านเรามากกว่านี้

แล้วในการขับขี่จริงละ? แต่ละเครื่องยนต์ แรงแค่ไหน ตอบสนองกันอย่างไร?

ถ้าคุณเลือกเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร สิ่งที่คุณจะสัมผัสได้ตั้งแต่แรก คือ อัตราเร่งที่ เหมือนจะไม่ต่าง
จาก CR-V 2.0 ลิตร เลย แต่นั่นก็จนกว่าคุณจะกดนาฬิกาจับเวลา จึงจะเริ่มเห็นว่า CX-5 ทำเวลา
ได้ไวกว่า CR-V 2.0 อยู่พอสมควร กระนั้น ถ้าคุณเพิ่งลงจาก CR-V 2.0 ลิตร มาหมาดๆ แล้วต้อง
ขึ้นขับ CX-5 2.0 ลิตร ทันที บอกได้เลยว่า นิสัยของคันเร่ง จะไวใกล้เคียงกันมาก แต่อาจเจอ
อาการกระตุกบ้างในบงครั้ง ถ้าเหยียบกันแบบจัดเต็มเพื่ออกตัว เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร บล็อกนี้มี
เรี่ยวแรงดีพอสำหรับการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก และเน้นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันมากกว่า
รุ่นอื่นๆ ต้องทำใจกันไว้ก่อนตรงนี้ว่า “มันแรงกว่า เครื่องยนต์ Mazda 2.0 ลิตรเดิมๆ แน่ๆ แต่
คุณจะไม่รู้สึกว่ามันแรงขึ้น จนกว่าจะได้กดนาฬิกจับเวลา! และยิ่งถ้าคุณต้องการอัตราเร่ง ใน
ชั่วโมงที่ต้องแข่งกันกับเวลา อัตราเร่งของรุ่น 2.0 ลิตร จะถือว่า พอรับได้ แต่ก็ยังไม่โดดเด่น
ไปมากนัก

แต่ในรุ่น เบนซิน 2.5 ลิตร ไม่ต้องไปออกแรงเหยียบคันเร่งมากนักครับ เหยียบสักครึ่งเดียว
คุณก็จะพบกับแรงบิดจำนวนมากพอจนดึงหลังคุณติดเบาะ พร้อมกับเสียงเครื่องอันไพเราะ
เข้ามาให้ได้ยินกัน และยิ่งถ้าเหยียบคันเร่งจมมิด คุณจะยิ่งตื่นตาตื่นใจไปกับการพุ่งทะยาน
ของตัวรถ อย่างไม่มีรั้งรอ ตั้งแต่ช่วงออกตัว การปลี่ยนเกียร์ต่อเนื่องและราบรื่น ดีมาก หรือ
ต่อให้เป็นช่วงเร่งแซง แค่เพียงเหยียบคันเร่งลงไป ไม่ต้องจมมิด แต่เหยียบแค่ครึ่งเดียว
รถก็จะพุ่งแซงขึ้นไปอย่างเรียบง่าย สบายๆ สัมผัสได้เลยว่าอัตราเร่ง ดีกว่า CR-V 2.4 ลิตร
ชนิดไม่ต้องกังวลอะไรกันอีก

ส่วนรุ่น Hi-Light คือ Diesel 2.2 Turbo นั้น ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้นะครับ ว่าแรงดึงที่
พาคุณพุ่งพรวดพราดออกไปนั้น มันแรงใช้ได้เลย (ยังไม่ถึงขั้น แรงสะใจ อย่าง BMW 320d 
แต่เร้าประสาทเยอะพอให้ตื่นเต้นไม่แพ้แรงดึงของ Ford Focus TDCi) ส่วนอาการรอรอบ
ให้ Turbo หมุนจนถึงรอบทำงาน ที่กำหนดไว้ หรือ Turbo Lag มีมาให้เห็นน้อยมากๆ นั่น
ยิ่งช่วยให้คุณสามารถเร่งแซงได้อย่างทันอกทันใจ อย่างไรก็ตาม พละกำลังที่มีมาให้นั้น
เกิดขึ้นในช่วงรอบต่ำ ต่อเนื่องจนถึงรอบกลางๆ แถวๆ 3,500 รอบ/นาที ทว่า หลังจากนั้น
ถ้าต้องการเร่งแซง ในเกียร์ 6 คุณจะกดคันเร่งลงไป เพื่อดันรถให้พุ่งแซงหน้าขึ้นไป อาจ
ทำไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ดีเลย จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์ ลงมายังช่วงเกียร์ 4 หรือ 5 ไม่เช่นนั้น
ก็ต้องเหยียบคันเร่งจมมิด สั่งให้ Torque Conveter ทำงานเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้กันเลยละ
ถ้าสามารถปรับปรุงให้ มีเรี่ยวแรงออกมาในช่วงรอบสูงๆ มากกว่านี้ได้อีกสักหน่อยก็จะ
ยอดเยี่ยมประเสริฐสมดังใจปองกันไปเลย

คันเร่ง และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ของทุกรุ่น ทำงานค่อนข้างไว (ถ้าคุณคิดและเข้าใจว่า นี่คือ
คันเร่งไฟฟ้า) ทันทีที่เหยียบปุ๊บ รถก็พร้อมจะพุ่งไปข้างหน้าพร้อมกับเราทันที แต่ถ้าจะ Lag
ระยะเวลาที่คันเร่งจะ Lag มีเพียงแค่ราวๆ 0.3 วินาที เท่านั้น ไม่เกินไปจากนี้ นับว่า ทำได้ดี
ส่วนระยะเวลาในการเปลี่ยนเกียร์นั้น แอบช้ากว่า CR-V เพียงเสี้ยววินาที แต่เปลี่ยนเกียร์ได้
ไวกว่า Captiva เยอะ

แม้ว่าอัตราเร่งจะดีขึ้นจาก Mazda ในสมัยก่อนจนชวนให้ประทับใจขึ้น แต่การเก็บเสียงก็ยัง
ต้องมีการปรับปรุงกันต่อไป จริงอยู่ว่า ในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียง
รบกวนในห้องโดยสาร ยังไม่ดังมากนัก ยิ่งถ้าแล่นบนทางด่วนด้วยแล้ว เสียงจะเงียบใช้ได้
แต่เมื่อใดที่ใช้ความเร็วเกินจากนี้ไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถจะเริ่มเล็ดรอดเข้ามาทาง
กรอบประตูคู่หน้า ฝั่งใกล้กับเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar รวมทั้งเสียงจากพื้นถนน ซึ่งดังขึ้น
เรื่อยๆ เสียงยางก็ดังขึ้นไม่แพ้กัน

Tanaka-san ให้เหตุผลว่า ทีมวิศวกร เลือกจะลดน้ำหนักของตัวรถลง ตามแนวทาง Gram-
Strategies ที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มพัฒนา MX-5 รุ่น NC คือพยายามลดส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออก
เพื่อให้รถมีสมรรถนะที่ดีขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และสนุกกับการขับขี่มากขึ้น

แต่เสียงรบกวนที่ดังจนเกินไป ก็อาจทำลายบรรยากาศการขับขี่ อันรื่นรมณ์ได้เช่นกัน ข้อนี้
คงต้องฝากไว้ให้ทางทีมวิศวกร นำไปแก้ไขปรับปรุงด้วย การเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นอีกสัก 2-3
หรือไม่ก็ 5 กิโลกรัม ด้วย Insulator หรือวัสดุซับเสียงต่างๆ มันไม่ส่งผลกระทบไปยังอัตรา
สิ้นเปลืองมากไปกว่ากันนักหรอก! เว้นเสียแต่ว่า ถ้ามันมากถึง 10 กิโลกรัม ละก็ ว่าไปอย่าง

พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS (Electronics Power
Assist Steering) ถูกปรับปรุงให้ตอบสนองดีในภาพรวม มีน้ำหนักเบากำลังดีในช่วงความเร็วต่ำ
ถือว่าดีกว่าที่คิด ไม่เบาโหวงจนน่ากลัวแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วสูง ต่อให้คุณจะ
ซัดขึ้นไปถึงความเร็วระดับ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง (แล้วก็ต้องรีบถอนลงมาเหลือแค่ 100 เดียว
ตามเดิม ช่วงที่เรากำลังเดินทางไปยังเมือง Napier) หลังผ่านโรงไฟฟ้า มาแล้วเล็กน้อยก็ตาม
พวงมาลัยยังคง นิ่ง On Center Feeling ยังคงไว้ใจได้ จนสามารถปล่อยมือได้ ราวๆ 3 วินาที
ไม่อยากปล่อยมือนานกว่านี้ เดี๋ยว Naki-san กับ Saito-san จะหัวใจวายไปเสียก่อน! เพราะ
ก่อนทำ ก็บอกให้เขาได้รับทราบว่า ข้าพเจ้าจะทำอะไรแผลงๆแบบนี้ให้ดู อย่าตกใจนะ ดีที่
คนญี่ปุ่นทั้ง 2 บอกว่า เอาเลย! เป็นอันว่า เรื่องความนิ่งของพวงมาลัยหนะ อยู่ในเกณฑ์ดี

ทีนี้ ในเมื่อเราคงไม่อาจเทียบกับ Mazda Tribute ได้ เพราะมันเก่าเกินไป ดังนั้นรถรุ่นที่
พอจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพกันได้ใกล้เคียงที่สุด ในเวลานี้ เห็นจะมีแค่ พวงมาลัยแบบ
เพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS ไฟฟ้าของ Mazda 3 รุ่น ปี 2011 – 2014 ในบ้านเรา ซึ่งเพิ่งปรับโฉม
Minorchange กันไป และนั่นทำให้ผมพบว่า ดีขึ้นกว่าชัดเจนเพราะพวงมาลัยไฟฟ้าของ
Mazda CX-5 มีน้ำหนักหนืดขึ้นกว่ากันเล็กน้อย ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะคลาน หรือขับ
ด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนช่วงที่ต้องใช้ความเร็วสูงขึ้น พวงมาลัยของ
CX-5 จะนิ่ง และมั่นใจได้มากกว่า พวงมาลัยของ Mazda 3 รุ่นปัจจุบันชัดเจนเช่นกัน
ต่อให้มีกระแสลมปะทะด้านข้างแรงๆ ถึงตัวรถจะมีอาการเบนออกทางด้านข้างนิดๆ แต่
ก็น้อยกว่า Mazda 3 อย่างมาก รายหลังเนี่ย เจอลมปะทะเมื่อไหร่ หน้ารถจะออกอาการ
“เป๋ห่าว” ทันที!

แล้วถ้าเปรียบเทียบกับ พวงมาลัยของ CR-V กับ Captiva ละ? คำตอบในมุมมองผมคือ
พวงมาลัย Captiva มีระยะฟรี มากกว่า CX-5 และ CR-V อีกทั้งการตอบสนองยังถือว่า
แย่กว่า ทั้งคู่ ส่วนพวงมาลัยของ CR-V อยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป และทำได้ดี มีน้ำหนัก
เบาถูกใจผู้หญิง ที่ชอบรถขับง่ายๆ แต่พวงมาลัยของ CX-5 จะเอาใจคนที่ชอบขับรถ
มากกว่า ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ Tanaka-san เมื่อมองในภาพรวม โดยเฉพาะ
ในช่วงการหมุนพวงมาลัยเข้าโค้ง แรงที่ใช้ในการหมุนนั้น อยู่ในระดับที่ เบาแต่พอจะ
สนุกได้มากกว่า พวงมาลัยของคู่แข่งทั้ง 2 อย่างชัดเจน

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Subaru XV แลัว ผมมองว่า พวงมาลัยของ XV หนักและหนืด
มากกว่า ต้องออกแรงในการหมุน ทั้งในช่วงความเร็วต่ำและสูงมากกว่า แต่ว่ายังให้
ความมั่นใจในความเร็วสูง ได้ดีกว่า พวงมาลัยของ CX-5 นิดนึง ไม่เยอะนัก

เท่ากับว่า ในภาพรวมของ พวงมาลัย CX-5 เวอร์ชัน Australia/New Zealand นั้น
“สอบผ่าน” แถมยังทำได้ดีเกินกว่าที่ผมคาดคิดเอาไว้ และอยู่ตรงกลางระหว่าง พวงมาลัย
ของ CR-V และ XV ดังนั้น ก็เหลือแค่รอดูต่อไปว่า เวอร์ชันไทย ซึ่งคาดว่าอาจมีการ
ปรับจูนอีกเพียงนิดเดียว ก่อนออกสู่ตลาด จะออกมาเป็นอย่างไร

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง เป็นแบบมัลติลิงค์
ให้ความมั่นใจได้ดีอย่างมากในขณะเข้าโค้ง เรียกได้ว่า ยังคงบุคลิกของ Mazda ในฐานะ
รถไม่กลัวโค้ง ได้อย่างดี ให้ความคล่องแคล่ว และเข้าโค้งได้อย่างดีในแบบที่ รถยนต์
ซึ่งมีความสูงในระดับ Crossover SUV ทั่วไป พึงจะเป็นกัน เพียงแต่ว่า สัมผัสได้ถึง
การเคลื่อนตัวไปทางด้านข้างของ แรง G ได้อย่างนุ่มนวล ต่อเนื่อง เป็นธรรมชาติ
มากกว่า Subaru XV ซึ่งรายนั้นจะให้ฟีลช่วงล่างที่มั่นใจในแบบรถหนักๆ แต่ว่า
Mazda เลือกจะไม่ไปในแนวทางของ Subaru เพราะแนวคิดต่างกัน ฝั่ง Mazda
เลือกจะเน้นความสนุกในการขับขี่ ต้องมาควบคู่กับความสบายในการขับขี่ และ
ต้องบังคับควบคุมง่าย คนกับรถ จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ตามแนวทาง Jinba-ittai

ถ้าถามว่า ขับแล้ว เข้าใจแนวทางของ Tanaka-san ไหม ก็ตอบได้เลยว่า เข้าใจแล้ว
ส่วนตัวผม แฮปปี กับทุกสิ่งที่ CX-5 เป็นอยุ่ในตอนนี้ เพียงแต่ว่า คนซึ่งชอบฟีล
รถแบบหนักๆ อาจยังตั้งข้อกังขา กับ CX-5 อยู่บ้าง เรื่องนั้น ก็แล้วแต่ความชอบ
ในบุคลิกรถที่แตกต่างกัน

แต่ที่แน่ๆ ช่วงล่างในความเร็วต่ำนั้น CX-5 เอง ซับแรงสะเทือนในระดับดี แต่
ยังหลงเหลือความตึงตัง จากพื้นผิวถนนในเมือง หรือเส้นทางขรุขระ ขึ้นมาให้
รับรู้ได้ ด้วยความจงใจ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับขี่ ที่ใกล้เคียงกับบรรดา
รถสปอร์ตน้ำหนักเบา ให้มากสุดเท่าที่โครงสร้างตัวรถจะเอื้ออำนวย

ดังนั้น ถ้าคุณคาดหวังความนุ่มดุจแพรไหมจากน้ำยาปรับผ้านุ่มติดล้อ แล้วละก็
ลืมไปซะ! มันไม่นุ่มขนาดนั้น แต่เน้นไปในทาง แน่น หนึบ แต่เบาและคล่องตัว
ผสมกันมากกว่า เรียกง่ายๆคือ เป็น Crossover SUV ที่เอาใจคนขับประเภท
นักเล่นโค้ง มากกว่า (ซึ่งก็คือ นักขับประเภทเดียวกับผม นั่นแหละ)

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ คู่หน้ามีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง
297 มิลลิเมตร ส่วนคู่หลัง เป็นแบบ จานเบรก Solid Disc ธรรมดา เส้นผ่าศูนย์กลาง
303 มิลลิเมตร มาพร้อมกับระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-
Lock Brake System) ระบบกระจายแรงเบรกให้สมดุลย์กับน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่งแรมดันน้ำมันเบรกฉุกเฉิน EBA
(Emergency Brake Assist) ทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ และการทรงตัว
DSC (Dynamic Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อลื่นไถลขณะออกตัว TCS
(Traction Control) และระบบช่วยออกตัวขณะจดอยู่บนทางลาดชัน Hill Start Assist

แป้นเบรกมีน้ำหนักดีมาก มีแรงต้านเท้าที่ดี ตอบสนองเป็นธรรมชาติมาก แถมยังให้
ความมั่นใจได้ ดีมาก หากคุณขับขี่อยู่ในเมือง แล้วต้องการเบรก ให้นุ่มนวล ทำได้
สบายมาก แค่เลี้ยงแป้นเบรกไว้ในระดับที่เหมาะสม ตามต้องการ

ต่อให้คุณจะใช้ความเร็วสูงถึง 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วจำเป็นต้องเหยียบเบรกเพื่อ
ชะลอรถกลับลงมาสู่ความเร็วเดินทางปกติ ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือจะต้องหน่วง
ลงไปอีก เพื่อหยุดรถ บอกได้เลยว่า อาการของรถขณะถูกหน่วงความเร็วลงมา ทำได้
ดีเยี่ยม หนักแน่น หน้ารถไม่ทิ่มมากจนเกินกว่าควรเป็น

และถ้าต้องเหยียบเบรกกระทันหัน ไฟฉุกเฉิน Emergency Stop Signal (ESS) จะติด
กระพริบขึ้นมาให้เอง เพื่อเตือนรถคันข้างหลัง ให้ระวังการหยุดรถโดยฉับพลันของคุณ

ภาพรวมในเบื้องต้น ถือว่า ระบบเบรก ทำได้ดีมากๆ ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงประเด็นนี้อีก!

********** สรุป (เบื้องต้น) **********

SUV ที่เน้นเอาใจคนชอบขับรถ มากกว่าความนุ่มสบาย…แอบดีกว่าที่คาด
แต่ต้องปรับปรุงเรื่องเสียงรบกวนจากพื้นถนนอีกสักหน่อย จะ Perfect!
ใครใคร่ซื้อ..ซื้อได้! , ใครใคร่จอง…จองได้! (แต่ลองขับก่อนจอง ก็ดีนะ)

ระยะเวลา 2 วันเต็ม กับระยะทางรวม 811 กิโลเมตร จากหน้าสำนักงานใหญ่ของ
Mazda New Zealand ในเมือง Auckland จนถึง หน้าโรงแรม Museum Art Hotel
ในเมือง Wellington กับ 3 รุ่นย่อยหลักของ Mazda CX-5 ใหม่ มันมากพอให้ผม
ได้เริ่มทำความรู้จัก กับ Crossover SUV รุ่นสำคัญ ที่กลายมาเป็นตัวทำเงินคันใหม่
ให้กับเหล่าผู้กล้าจาก Hiroshima

หายคนอาจมองว่า Mazda ต้อนรับผมดีขนาดนี้ ผมก็คงพูดในเชิงสรรเสริญเยินยอ
ตัวรถ เป็นธรรมดา….ซึ่งในความจริงแล้ว คุณอาจเอาประโยคข้างบนนี้ ไปใช้กับ
คนอื่นได้ แต่อย่าเอามาใช้กับผม..!

เพราะจุดยืนของ Headlightmag.com ที่ผมและทีมเรายุึดมั่นมาตลอดก็คือ รถทุกคัน
มีทั้งข้อดี และข้อด้อย ไม่มีรุ่นใดที่จะอุดมไปด้วยข้อดี ปราศจากข้อเสีย และไม่มี
รถรุ่นใดเช่นกัน ที่เปี่ยมไปด้วยข้อเสีย จนหาข้อดีไม่เจอเลยสักข้อเดียว เราจึงเลือก
จะพูดอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์กันตรงๆ นี่แหละ ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
กันเหมือนเช่นเคย

และ CX-5 นี่ก็เช่นเดียวกัน

ถ้าคุณกำลังมองหา Compact Crossover SUV สักคัน และกำลังคิดว่าจะเดินเข้าไป
ยังโชว์รูม Honda เพื่อขอลองขับ CR-V หรือ เข้าโชว์รูม Chevrolet เพื่อขอลองขับ
Captiva อาจรวมถึงเดินเข้าโชว์รูม Subaru เพื่อขอลองขับ XV

จำสัมผัสจากทั้ง 3 คันไว้ให้ดี แล้วรอทดลองขับ CX-5 กันก่อน ผมเชื่อว่า หลายคน
อาจจะเปลี่ยนความคิดตัวเองกันไปเลย แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนั้น

เพราะ แม้ว่า CX-5 จะโดดเด่น ในเรื่องอัตราเร่งจากขุมพลังใหม่ ทั้งเบนซิน 2.0 กับ
2.5 ลิตร และ Diesel 2.2 ลิตร Turbo Intercooler ในกลุ่ม SKYACTIV รวมทั้ง อัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ดูเหมือนว่าจะดีกว่าเพื่อนพ้องร่วมพิกัด ด้วยซ้ำ แถมยังมีบุคลิก
การขับขี่ที่ คล่องแคล่ว แม่นยำ กำลังสบาย ขับแล้ว ผมชอบมันมาก จนแอบคิดไปเลย
ว่า นอกจากจะค้นพบ “รถ Mazda ที่ไม่อยากคืน” อีกรุ่นหนึ่ง (2.2 Diesel นะ) แล้ว
ถ้าผมมีเงินมากพอ ผมอาจจะตัดสินใจซื้อรุ่น 2.2 Diesel Turbo โดยไม่ลังเลใจเลย!

แต่คุณต้องยอมรับได้กับน้ำหนักพวงมาลัย ที่อาจจะเบากว่า Subaru XV (แต่ดีกว่า
CR-V และตอบสนองได้เป็นธรรมชาติกว่า Captiva คนละเรื่อง คนละโลก!)
ต้องยอมรับให้ได้กับ พื้นที่โดยสารบนเบาะหลัง ที่อาจไม่ถูกใจใครต่อใคร ทั้งที่
ถ้าเอาตลับเมตรมากางวัด มันก็ไล่เลี่ยกัน ไม่หนีไปไหนไปไกลกว่าหลักมิลลิเมตร
นักหรอก

รวมทั้ง ต้องยอมรับให้ได้ ในเรื่อง เสียงรบกวนจากพื้นถนน และเสียงกระแสลม
ที่ไหลผ่านตัวรถบ้างในบางช่วง (ยังดีที่ ในช่วง 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังไม่มีเสียง
ลมหวีดร้อง อย่างที่ผมเพิ่งเจอใน Mercedes-Benz A250 AMG ณ ความเร็วระดับ
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง!)  รวมทั้งช่วงล่างที่อาจยังหลงเหลือความตึงตังเข้ามาให้ได
สัมผัสกันอยู่บ้าง ไม่ได้นุ่มนวลดุจแพรไหมปุยนุ่น หรือไขมันจากหมูสามชั้น
แต่อย่างใด ถ้าอยากได้สัมผัสแบบนั้น ไปหาได้เอาจากรถคู่แข่งทั้งหลาย ที่ไม่ใช่
Mazda ! (อย่าลืมว่า รถที่เราลองขับ เป็นรถประกอบจากญี่ปุ่นนะ ส่วนเวอร์ชัน
ที่จะขายในเมืองไทย แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็พอจะ
คาดการณ์ได้ว่า น่าจะมาจากโรงงานใน มาเลเซีย เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ ด้าน
ภาษี AFTA ในกลุ่ม ASEAN ด้วยกัน จนทำราคาลงมาแข่งขันกับชาวบ้านเขา
ได้อย่างเหมาะสม)

ถ้ายอมรับข้อที่ควรปรับปรุงต่อไป ในเบื้องต้น ได้ทั้ง 3 ข้อนี้ ผมคิดว่า คุณก็ไม่น่า
มีปัญหาใดๆ ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมับ CX-5 แล้วแหละ!

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า ราคาเท่าไหร่?

จากราคาที่แจ้งให้ดีลเลอร์ ทราบในเบื้องต้น ออกมา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิถุนายน
2013 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเพื่อประมาณการยอดสั่งซื้อรถเข้าโชว์รูมล่วงหน้า เพื่อให้ดีลเลอร์
ทำธุรกิจกับ Mazda ได้คล่องตัวขึ้น กระนั้น ในตอนนี้นี้ ราคาอย่างเป็นทางการของ CX-5 ทั้ง
4 รุ่นย่อย ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากทาง Mazda Motors Corporation ที่ญี่ปุ่น เพียงแต่ราคา
ในวันเปิดตัว เราได้แต่หวังไว้ว่า จะอยู่ในช่วง Price range ดังต่อไปนี้

CX-5 2.0 Base 2WD                  ราคาประมาณ 1,150,000 – 1,200,000 บาท
CX-5 2.0 High 2WD                   ราคาประมาณ 1,270,000 – 1,370,000 บาท
CX-5 2.5 High 2WD                   ราคาประมาณ 1,400,000 – 1,450,000 บาท
CX-5 2.2 Diesel Turbo 4WD      ราคาประมาณ 1,650,000 – 1,700,000 บาท

ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ งานนี้ Mazda ถึงขั้น ตั้งราคาดับเครื่องชน กับ Honda CR-V
และ Chevrolet Captiva อย่างจัง ชนิดที่เรียกว่า ต่างกันน้อยมาก แต่ได้ออพชันไม่หนี
และไม่น้อยหน้ากันเลย

กระนั้น อาจต้องทำใจกันสักนิดว่า ระบบ เตือนเมื่อเปลี่ยนเลน Lane Departure warning
และระบบเตือนที่กระจกมองข้าง Blind Spot Monitoring (แบบระบบ BLIS ใน Volvo)
ไม่น่าจะถูกติดตั้งในรถเวอร์ชันไทย เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่า จะมีลูกค้าสักกี่คน ที่ยอมเพิ่ม
เงินอีก 50,000 บาท กับอุปกรณ์ 2 ตัวนี้ ซึ่งถ้ามี ก็อาจต้องรอในคิวของร่น Minorchange
กันต่อไปหรือเปล่า นี่ก็ยังเป็นเรื่องยากจะคาดเดาอนาคตกัน ณ ตอนนี้

เปิดตัว เมื่อไหร่?

การเปิดตัวรอบสื่อมวลชน จะมีขึ้นราวๆ เดือน ตุลาคมนี้ และพร้อมเริ่มส่งมอบรถได้จริง
เดือนพฤศจิกายน 2013 เป็นต้นไป สาเหตุที่ล่าช้า ก็เพราะจะรอความพร้อมของโรงงาน
ที่มาเลเซีย ในการผลิตเครื่องยนต์ Diesel 2.2 ลิตร Turbo กันเสียที

นอกจากนี้ อีกเหตุผลที่สำคัญก็คือ อย่าลืมว่า ตามปกติ ของการนำรถยนต์ เข้ามาประกอบ
ขายในประเทศไทย หรือนำเข้าสำเร็จรูปมาขายในบ้านเรา ยังต้องการนำรถตัวอย่าง ไป
ทดสอบให้ผ่านมารตรฐานมลพิษ กับทาง สมอ. กับ สถาบันยานยนต์ เมื่อผ่านแล้ว ก็ยัง
ต้องรอเจ้าหน้าที่ ภาครัฐ เดินทางไปตรวจโรงงาน ถึงยังแหล่งผลิต (คือข้อนี้ ไม่เข้าใจ
ว่าจะไปกันทำไม?) ตามด้วยการเคาะราคาจากบริษัทแม่ เมื่อได้ราคาอย่างเป็นทางการ
แล้ว จึงจะต้องยื่นราคาจริง เพื่อขออนุญาตทำตลาด กับทาง กระทรวงพาณิชย์ แล้วรอ
อนุมัติในอีก 15 วันทำการ จึงจะเริ่มทำการเปิดตัวและปล่อยรถให้ลูกค้าได้

นี่เป็นขั้นตอนที่บริษัทรถยนต์ในบ้านเราทุกค่าย ต้องปฏิบัติตาม กันอย่างนี้ มานาน
หลายปีแล้ว

รู้ว่า หลายคนรอกันมานาน แต่การรออีกเพียงไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ ผมเชื่อว่า คุ้มค่า
ต่อการรอคอย…

ถ้าคุณยังอดใจรอกันไหวนะ

—————————-///—————————-

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณสุรีย์ทิพย์ ละอองทอง
คุณธีร์ เพิ่มพงศ์พันธุ์
คุณอุทัย เรืองศักดิ์

บริษัท Mazda Sales (Thailand) จำกัด

Mr.Hideaki Tanaka : Mazda CX-5 Program Manager 
& Mr.H.Nakaura : Mazda CX-5 Driving Dynamic Engineer
Mazda Motor Corporation , Hiroshima , Japan

Mr.Glenn Harris
Marketing Manager
and all of 35 Staff at
Mazda Motors of New Zealand Limited

Mrs.Nina Baxter & Miss.Victoria
Big Day Ltd. (Big Day event Organizer)
www.bigdayevents.co.nz

เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้ อย่างดียิ่ง

และคุณ Sirapluke Porntharukcharoen (น้อง William)
นักเรียนไทย ใน Auckland ที่ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง


J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ภาพวาด หรือ ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค Illustration เป็นของ Mazda Motor Corporation 
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
7 สิงหาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 7th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่! / Comments are welcome! CLICK HERE!