ในงาน Tokyo Motor Show ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการจัดแสดงรถยนต์ ให้ชาวญี่ปุ่นเข้าชมกันทั่วไปตามปกติแล้ว
งานปีนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษขึ้นมาอีก 1 รายการ นั่นคือ Smart Mobility 2013
อันเป็นการจัดแสดงแนวทางการพัฒนาพาหนะควบคู่ไปกับการจัดการด้าน
ผังเมือง การใช้พลังงานเหมาะสม เพื่อช่วยลดมลพิษ และเพิ่มความคล่องตัว
ในการเดินทางของชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน

การจัดแสดงกลุ่มนี้ จัดขึ้น ชั้นบนสุดของอาคารจัดแสดงฝั่ง East Hall ซึ่งผู้จัดงาน
ร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ แทบทุกค่าย นำบูธมาจัดแสดง และนำรถยนต์พลังไฟฟ้า
สำหรับขับขี่คนเดียว หรือ 2 คน มาให้ประชาชนชาวอาทิตย์อุทัยได้ทดลองขับด้วย

การเดินงาน Tokyo Motor Show รอบสื่อมวลชนวันที่ 2 (21 พฤศจิกายน 2013)
กับน้องขวัญ User : Tonaka คุณผู้อ่านของเรา ที่กำลังศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์
ณ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผมมีโอกาส ทดลองขับ รถยนต์ พลังงานไฟฟ้าแบบนี้
ถึง 2 รุ่น 2 แบบ จาก 2 ผู้ผลิตรถยนต์ ชั้นนำ อย่างไม่ทันตั้งตัว

แหงละ โอกาสดีๆ แบบนี้ ก็ต้องรีบคว้าไว้สิครับ! ก็รถยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้ ถ้าจำไม่ผิด
ดูเหมือนว่า ยังไม่มีสื่อมวลชนจากประเทศไทยคนไหน ได้ลองขับมาก่อนเลย!
(นับถึงวันที่บทความนี้ออกเผยแพร่)

Toyota i-ROAD
ถึงจะเป็นแค่รถต้นแบบ 3 ล้อ พลังไฟฟ้า แต่ก็พร้อมขับขี่ได้จริง

Toyota i-Road ยานยนต์แบบ Personal Communicator ที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องมา
ตั้งแต่ รุ่น PM ในปี 2003 จนถึง i-Real ใน ปี 2011 มาวันนี้ i-Road อยุ่ในระดับที่
สามารถขับขี่ได้จริงบนถนนญี่ปุ่นได้แล้ว รถคันนี้ เผยโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรกในงาน
Geneva Motor Show วันที่ 4 มีนาคม 2013 ที่ผ่านมา แต่กว่าที่จะเริ่มเปิดโอกาส
ให้สาธารชนได้ลองสัมผัสกันจริงๆ ก็ใช้เวลาหลังจากนั้น หลายเดือนเลยทีเดียว

เพราะตามแผนแล้ว Toyota เตรียมเปิดตัวสู่การทดลองบนถนนสาธารณในญี่ปุ่นผ่าน
ผ่านทางโครงการ Ha : Mo อันเป็นโครงการ Car-Sharing ส่วนหนึ่งในโครงการ
ECOful Town หรือเมืองต้นแบบ Toyota City Low Carbon Society
Verification Project “Eco-Model City”

ทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่นบอกว่า พวกเขานำ Feedback จากผู้ที่ได้ลองขับขี่ ตลอดระยะ
เวลา 10 ปี มาใช้ในการพัฒนา พาหนะส่วนบุคคล คันนี้ โดยออกแบบให้สามารถ
ใช้งานได้จริง อย่างสะดวก คล่องแคล่ว

มิติตัวถังของ I-Road มีความยาว 2,350 มิลลิเมตร กว้าง 850 มิลลิเมตร สูง 1,445
มิลลิเมตร น้ำหนักตัวของ Toyota I-Road รวมแบตเตอรี่แล้วจะอยู่ที่ 300 กิโลกรัม
เท่านั้น

จุดเด่นอยู่ที่ การออกแบบให้รถคันนี้ มีประตูทั้ง 2 ฝั่ง สะดวกต่อการเปิดเข้า – ออก
จากฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ในยามจำเป็น นั่งได้ เพียงคนเดียว ขับขี่ง่ายเหมือนรถยนต์เกียร์
อัตโนมัติทั่วไป แต่มีแค่ 3 ล้อ โดยล้อหลัง จะเป็นล้อหมุนทิศทาง หมายความว่า ถ้า
หมุนพวงมาลัยทางใด ล้อหลังจะหันทิศไปในทางตรงกันข้าม เพื่อบังคับให้รถ
เลี้ยวได้ตามทิศที่คนขับต้องการ เช่นเลี้ยวพวงมาลัยทางซ้าย ล้อจะหมุนไปทางขวา

ขุมพลังของ i-Road เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ที่ถูกติดตั้งอยู่ที่ล้อคู่หน้า มอเตอร์แต่ละตัว
ให้กำลังสูงสุด 3 แรงม้า (PS) หรือ 2 กิโลวัตต์ ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แบตเตอรี่ของ I-Road เป็นแบบ Lithium-Ion ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ในการชาร์ตไฟเข้า
แบตเตอรี่จนเต็ม ตัวแบตเตอรี่ถูกติดตั้งไว้ใต้เบาะหน้า Toyota เคลมตัวเลขไว้ว่า
ว่าสามารถขับขี่ได้ระยะทางไกลที่สุด 50 กิโลเมตร หรือ 31 ไมล์ แต่ในด้านการ
ใช้งานจริงบนท้องถนน วิศวกร คาดว่าระยะทางจะเหลือเพียง 40 กิโลเมตร

ในตอนแรกที่เดินขึ้นไปบนลานทดลองขับในบูธ ผมหวั่นใจว่า วิธีการขับขี่
จะต่างไปจากรถยนต์ทั่วไปหรือไม่ ต้องปรับตัวให้คุ้นชินกับวิธีแปลกประหลาด
อะไรกันอีกหรืเปล่า?

พอวิศวกรชาวญี่ปุ่น เปิดประตูให้นั่ง ผมก็ลงไปนั่ง คาดเข็มขัดนิรภัย แล้วพบว่า
มันไม่ได้ขับยากเย็นอะไรเลย ออกจะง่ายด้วยซ้ำ เพราะมันก็เหมือนกับการขับ
รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ นั่นแหละ!

มองไปบนหน้าปัด มาตรวดจะเป็นแบบ Digital แสดงข้อมูลที่จำเป็นรวมทั้ง
ปริมาณไฟฟ้าในแบ็ตเตอรีที่เหลืออยู่ ฝั่งซ้ายของหน้าปัด เป็นสวิชต์เกียร์
แบบกดปุ่ม

กด R เพื่อถอยหลัง กด D เพื่อเดินหน้า และถ้าจะจอด ให้กดปุ่มทั้ง 2 พร้อมกัน
ตรงกลาง ในตำแหน่ง N ถ้าจะออกรถ อย่าลืม ปลดเบรกจอดที่เท้า Parking Brake
เสียก่อน

เอาละ…เมื่อพร้อมแล้ว…ก็ออกไปซิ่งกันได้เลย!

เมื่อเริ่มออกรถ คันเร่งไฟฟ้าน้ำหนักเบาก็จริงอยู่ แต่ต้องเหยียบลงไปราวๆ 25 – 30%
เพื่อให้รถเริ่มออกตัว ในช่วงแรก สารภาพว่า ผมไม่ค่อยชินนัก กลัวทำรถเขาพัง เลย
ค่อยๆออกตัวช้าๆไปก่อน จนวิศวกรญี่ปุ่นบอกว่า อยากให้ลองขับเร็วขึ้น เพื่อจะได้
ดูประสิทธิภาพการเลี้ยว การทรงตัว ของระบบ Active Lean System ที่จะช่วยรักษา
สมดุลของรถ แม้จะแล่นไปบนสภาพถนนขรุขระ ก็ตาม

ช่วงล่างด้านหน้า มีช็อกอัพ และระบบกันสะเทือนอยู่ ทำให้ ตัวรถ สามารถเอียงตัว
ไปตามทิศทางที่กำลังเลี้ยวอยู่ ได้เหมือนการขี่จักรยาน และจักรยานยนต์ เพียงแต่
ในช่วงแรกๆ คุณอาจจะยังไม่ชินนัก กับการเลี้ยวรถในลักษณะนี้ พอลองขับหมุน
วนไปตามลานวงกลม หลายๆรอบเข้า ผมก็เริ่มคุ้นชิน และเริ่มสนุกกับรถคันนี้
ขึ้นมาจริงๆ ท่ามกลาง สายตาของผู้เข้าชมงานในบูธ Toyota จำนวนมาก ที่มา
ยืนดูผมกำลังเลี้ยวรถคันนี้ วนไปวนมา อยู่ในลานวงกลม

ตัวรถดูบาง และเบา ให้ความเสถียรดีใช้ได้ แต่แอบต้องระมัดระวังนิดๆ ขณะลุก
เข้า-ออกจากตัวรถ คือมันไม่ล้มหรอกครับ แต่ผมกลัวจะไปทำเอาวัสดุตัวรถเขา
แตกหักเสียหาย แม้ว่ามันจะเป็นพลาสติกแบบเหนียวและเบาเป็นพิเศษก็ตาม

ตอนขับมาจอด ด้วยความเต็มอิ่ม ผมอึ้งและยิ้มอย่างมีความสุขไปกับการขับขี่
พาหนะประเภทนี้ ไม่ต้องใช้ความเร็วมาก แต่มันก็สนุกได้ดีเหมือนกัน

Toyota อาจยังต้องทำการบ้านกันอีกสักพักหนึ่ง เพื่อรอเวลาให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
เริ่มยอมรับการมาถึงของพาหนะประเภทนี้ มากขึ้นกว่านี้ ระบบการใช้งานแบบ
Car Sharing อาจจะช่วยให้รถยนต์ประเภทนี้เติบโตได้ แต่นั่นยังต้องอาศัยเวลา
อีกพักใหญ่…

————————————-

Nissan New Mobility Concept (Renault Twizy)
รถไฟฟ้า 2 ที่นั่ง เริ่มขับขี่บนถนนจริงได้แล้ว

ขณะที่รถต้นแบบของ Toyota เริ่มเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นไปทุกที คู่รักคู่แค้นตลอดกาล
อย่าง Nissan Motor ในร่มเงาความร่วมมือกันกับ Renault ฝรั่งเศส ก็บอกว่า พวกเขา
พร้อมมาตั้งนานแล้ว!

Renault ส่ง รถยนต์พลังไฟฟ้า 4 ล้อ /2 ที่นั่ง รุ่น Twizy มาให้ Nissan เริ่มการประชาสัมพันธ์
เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ในญี่ปุ่น โดยพะแบรนด์ Nissan แทนที่จะเป็น Renault
เนื่องจากทั้งคู่ พัฒนารถยนต์คันนี้ร่วมกัน จึงสามารถใช้แบรนด์ได้ทั้ง 2 ยี่ห้อ เช่นเดียวกัน

รถคันนี้ เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2010 ทว่า ตอนนี้
Nissan มีแผนจะเชื่อมระบบใช้งานของรถคันนี้ เข้าสู่ระบบ Car-Sharing เพื่อการ
เดินทางในเขตใจกลางเมือง โดยจะเชื่อมผ่านระบบ IT ให้ผู้เช่าใช้สามารถเลือกจองรถ
และวันเวลาใช้รถได้ ตามความสะดวก มีระบบเสียค่าบริการนิดหน่อย ตอนนี้ Nissan
เริ่มทดลองระบบนี้แล้ว โดยจับมือกับทางเทศบาลเมือง Yokohama ที่ตั้งสำนักงานใหญ่
ของ Nissan เพื่อเปิดทดลองใช้เริ่มใช้บริการกันได้แล้ว ตัวรถ ยังต้องจดทะเบียนเป็น
ป้ายเหลือง K-Car ในระหว่างการรอปรับปรุงกฎหมาย ด้านภาษีและป้ายทะเบียนสำหรับ
รถยนต์ประเภทใหม่นี้

Nissan New Mobility Concept หรือ Renault Twizy คันนี้ มีความยาว 2,340 มิลลิเมตร
กว้าง 1,240 มิลลิเมตร สูง 1,450 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรวมแบตเตอรี่แล้วอยู่ที่ 450 กิโลกรับ

ขุมพลังเป็น มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 17 แรงม้า (PS) หรือ 13 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด
57 นิวตันเมตร (5.81 กก.-ม.) ความเร็วสูงสุดที่ทางโรงงานเคลมไว้อยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นที่ไม่ต้องมีใบอนุญาติขับขี่รถยนต์ กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าจะลดลงมาอยู่ที่
5 แรงม้า (PS) หรือ 4 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 33 นิวตันเมตร (3.36 กก.-ม.) ความเร็วสูงสุด
จะอยู่ที่ 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยสำหรับการเดินทางในเมือง และปลอด
ไอเสียจากการขับขี่ 100%

แบตเตอรี่เป็นแบบ Lithium-Ion ติดตั้งไว้ใต้เบาหน้า จ่ายไฟสูงสุด 6.1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง
(22 เมกะจูล) ใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้า 220 โวลต์ กระแสไฟฟ้า 10 แอมป์ และใช้เวลา
3 ชั่วโมงครึ่ง ในการชาร์ตไฟเข้าแบตเตอรี่จนเต็ม

Nissan ระบุว่า สามารถขับขี่ได้ระยะทางไกลที่สุด 100 กิโลเมตร หรือ 62 ไมล์ แต่ในการ
ใช้งานจริง คาดว่าระยะทางจะเหลือเพียง 80 กิโลเมตร หรือในสถานการณ์ที่เร่งรีบเช่น
การขับขี่ด้วยความเร็วสูงตลอดเวลา คาดว่าระยะทางก็จะเหลือเพียง 50 กิโลเมตร

บานประตูออกแบบให้มีท่อนล่าง ใส มองทะลุตำแหน่งคนขับ การเปิด-ปิดเป็น
แบบยกหมุนขึ้นแนวดิ่ง ดึงลงมาเพื่อปิดประตู

เมื่อขั้นไปนั่ง คุณจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แบบ 4 จุด เป็นกากบาท กันเลยทีเดียว
การขับขี่ ง่ายดายเช่นเดียวกันกับ รถยนต์ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน นั่นคือ ต้องบิด
กุญแจ ที่สวิชต์คอพวงมาลัย เพื่อติดเครื่องยนต์ ก่อนออกรถ ต้องปลดเบรกจอด
Parking Brake ที่แป้นเหยียบฝั่งซ้าย (เหยียบลงไปซ้ำ 1 ที เต็มน้ำหนักเท้า เพื่อ
ล็อก และเหยียบซ้ำ อีก 1 ครั้งลงไปจนสุด เพื่อปลดแป้นเบรกจอดให้ยกขึ้นมา
พร้อมออกรถ) สวิชต์เกียร์ ติดตั้งฝั่งซ้ายมือของมาตรวัด การเข้าเกียร์ ให้กดปุ่ม
D เพื่อออกรถขับเคลื่อนไปข้างหน้า กดปุ่ม R เพื่อจะถอยหลัง และกดปุ่ม N
(2 ปุ่ม D กับ R พร้อมกัน) เพื่อใส่เกียร์ว่าง ขณะจอดนิ่ง

มาตรวัดสีฟ้า ระบุแค่ตัวเลขความเร็ว เป็น Digital รวมทั้งตำแหน่งเกียร์ และ
ปริมาณไฟฟ้าที่เหลือในระบบ รวมทั้ง มีแท่นยึดโทรศัพท์ หรือเครื่องนำทาง
ผ่านดาวเทียม GPS Navigation System แบบพกพา Portable สำหรับให้
ผู้ขับขี่ นำมาเสียบใช้งานได้เอง

เมื่ออกรถ ผมต้องเหยียบคันเร่งลงไปลึกถึงราวๆครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะให้ตัวรถ
เคลื่อนออกตัวไปข้างหน้าได้ ไม่แน่ใจว่า เป็นความจงใจปรับตั้งมาแบบนี้
หรือว่า ไฟในแบ็ตเตอรีใกล้หมดแล้วกันแน่

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พวงมาลัยมีน้ำหนักมาก ต้องออกแรงหมุนมากกว่า
รถยนต์ทั่วไป ใกล้เคียงกับพวงมาลัยของ Chevrolet Optra รุ่นก่อนด้วยซ้ำ
จนมองว่า พวงมาลัยแบบนี้ ควรไปอยู่ในรถเก๋งระดับ Compact มากกว่า
จะมาอยู่ในรถที่ใช้ความเร็วต่ำ และเน้นการขับขี่ในเมืองเช่นนี้ คาดว่า
เหตุผลของคนปรับตั้ง น่าจะต้องการ เพิ่มความมั่นคงและความมั่นใจ
หนักแน่น ในการขับขี่ ว่าแม้รถจะมีขนาดเล็ก แต่ก็ไม่วอกแวกไปมา

ส่วนแป้นเบรก ก็ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี คือ หนักแน่น และชะลอรถ
ลงได้อย่างนุ่มนวล แต่อาจต้องเหยียบลงไปลึกราวๆครึ่งหนึ่ง ถึงจะ
สัมผัสได้ว่ารถหน่วงความเร็ว

พูดตรงๆว่า การบังคับขับขี่ อาจจะหนักแน่นและมั่นใจได้ดีกว่าบรรดา
รถไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทเดียวกัน หรือแม้แต่ Toyota i-Road ทว่า
ความคล่องแคล่วนั้น ยังเป็นรอง Toyota i-Road อยู่บ้าง กระนั้น ถ้า
ให้ต้องเลือก เพื่อการใช้งานในชีวิตจริงรถไฟฟ้าคันเล็กของ  Nissan
ดูจะมีแนวโน้มสะดวกต่อการใช้งานจริงมากกว่ากันนิดหน่อย

เสียดายว่า ในระหว่างขับขี่นั้น ไม่มีจังหวะให้ถ่ายภาพมาฝากคุณผู้อ่าน
กันเลย เพราะแบ็ตเตอรีของกล้องหมดเสียก่อน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งนั่ง
ไปด้วย เป็นชาวญี่ปุ่น ที่พุดภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้น้อยมากๆ

———————————————–

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ความเป็นไปได้สำหรับเมืองไทย…ยังมีคำถามอีกมากมาย

แนวคิดในการพัฒนายานพาหนะรูปแบบใหม่ สำหรับการเดินทางในเมือง
เพื่อช่วยลดมลภาวะ รวมทั้งพัฒนาการใช้พลังงานอย่างประหยัด แต่ได้
ประสิทธิผลสูงสุด เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคทวรรษ 1940 มาแล้ว แต่เพิ่งเริ่ม
เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ก็ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ข้อจำกัดด้านการขยายตัวของเมือง รวมทั้งปัญหาด้าน
พลังงานอันเกิดจากหลายปัจจัย ไปจนถึงจำนวนประชากรที่มีอยู่ แม้จะ
เพิ่มขึ้นช้าลงกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ทว่า การออกแบบระบบการเดินทาง
รองรับกับประชากรในประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่แพ้การสรรหา
แหล่งพลังงานทดแทนเพื่ออนาคต

รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับการใช้งานในเมือง คือคำตอบที่หลายฝ่าย
พยายามบอกกับสังคมโลก มันเป็นคำตอบที่ดีมาก เมื่อผูกเชื่อมโยงกับ
ระบบการยืมรถยนต์สาธารณะ หรือ Car-Sharing ในแบบที่พบได้เหมือน
ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มมีผู้ประกอบการบางราย ออกสตาร์ทไปก่อนแล้ว
อย่าง ZipCar เป็นต้น

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เอาแค่โครงการ Bicycle-Sharing อย่าง ปันปั่น
ของกรุงเทพมหานคร นั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการเดินทางในเมือง
ตอนนี้ เท่าที่ทราบมา โครงการดังกล่าว มีผู้ใช้บริการอยู่บ้าง แม้จะยังไม่มาก
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง แม่บ้าน หรือใครก็ตามทีต้องการเดินทางในระยะ
ไม่ไกลมากนัก จากย่านชุมชนเมือง และมีการนำจักรยานชำรุดไปเปลี่ยน
หมุนเวียนซ่อมแซมนำกลับมาให้บริการใหม่อยู่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้งานรถไฟฟ้าในลักษณะนี้ของกรุงเทพฯ
มีความเป็นไปได้ แต่ยังค่อนข้างห่างไกลจากความจริง เพราะการศึกษา
ผลกระทบ จากการตั้งสถานี Quick Charge สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มี
การไฟฟ้านครหลวง กับ ปตท. กำลังทดสอบกันอยู่นั้ร ยังอยู่ในระหว่าง
การเก็บข้อมูล และต้องการเวลาอีกพักใหญ่ กว่าจะหาข้อสรุปกันได้

สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ใครจะเป็นผู้เริ่มต้น ใครจะเป็นเอกชนที่พร้อมให้
ความร่วมมือ แม้โครงการแบบนี้ จะส่งผลดีในระยะยาวกับชุมชนเมือง
แต่ก็ต้องมีแรงจูงใจที่ดีพอ เพื่อให้เอกชน เต็มใจร่วมลงทุนในโครงการ
ขนาดใหญ่แบบนี้ แล้วคำถามคือ มันจะเป็นไปได้ไหมในการกำเนิด
โครงการแบบนี้ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือเมืองใหญ่ๆ ของ
ประเทศไทย ท่ามกลางสภาพปัญหาต่างๆที่รายล้อมอยู่มากมายอย่างนี้?

เรายังต้องเวลากันอีกสักพัก กว่าที่จะได้เห็นโครงการดีๆแบบนี้ เกิดขึ้นจริง
ในประเทศไทยของเรา…

หวังว่าคงจะไม่นานเกินกว่าอายุขัยของผมจะได้เห็นนะครับ!

————————–///—————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

– Kwan P. (User : Tonaka) คุณผู้อ่าน จากญี่ปุ่น
สำหรับการต้อนรับ และความช่วยเหลือด้านการสื่อสาร อย่างดียิ่ง

– Pao Dominic
สำหรับการเตรียมข้อมูล ในการทำบทความนี้

—————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน และบริษัทผู้ผลิต
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
10 ธันวาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text & Picture (Some is owned by Manufacturers)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

December 10th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE