คุณรู้ไหมครับ ผมรอวันนี้ มานานแค่ไหน?

ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นคันจริงของ Lancer EX ใหม่ เวอร์ชันญี่ปุ่น ในชื่อ Galant Fortis ณ งาน
Tokyo Motor Show ตุลาคม 2007 ผมก็ตกหลุมรักรถคันนี้ ในทันทีทันใด คันจริงมันสวยกว่าในรูปถ่าย
นี่นา หลังจากผุดลุกผุดนั่งอยู่พักใหญ่ คำถามในใจ หนะเต็มไปหมด ตั้งแต่ ความสงสัย ว่า ถ้าเกิดมีการ
นำรถรุ่นนี้ มาประกอบขายในเมืองไทย คุณภาพการประกอบ และชิ้นส่วนวัสดุ มันจะด้อยลงกว่า
เวอร์ชันญี่ปุ่น มากน้อยแค่ไหน ราคาจะแพงหรือเปล่า มีเครื่องยนต์อะไรให้เลือกบ้าง นี่ถ้ามาถึงบ้านเรา
สงสัย ออพชันโดนหั่นจนเหี้ยนเตียนโล่ง หมดทั้งคันรถแหงๆ

แต่คำถามที่สำคัญที่สุด ที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมก็คือ

เมื่อไหร่มิตซูบิชิ จะสั่งรถรุ่นนี้เข้ามาประกอบในไทยซะที?

กว่า มิตซูบิชิ จะตอบว่า “เอาละ ฉันพร้อมแล้วนะ”
ผมก็รอจนเงก รอจนขี้เกียจรอ ถอน Honda CITY ใหม่ เจเนอเรชัน 3
ออกมาขับใช้งาน ไปเรียบร้อย Honda เขาซะเลย

แน่ละ ก็กว่าที่มิตซูบิชิ จะพร้อมสั่ง แลนเซอร์ EX เข้ามาประกอบขายในไทย
เราต้องรอกันนานมากกกกกกกกกกกกกกกก ก.ไก่หมดโลก นาน ถึง 2 ปีเศษๆ!
ช่วยไม่ได้ อยากมาช้าเอง ชิส์!

(เป็นไงละ เปิดมา มิตซูบิชิ ที่รัก โดนเข้าไปแล้วครับ 1 ดอกเต็มๆ)

2 บรรทัดข้างบนนี้ คือสิ่งแรกที่ผมคิด เกี่ยวกับ แลนเซอร์ EX ใหม่
แต่ ในวันนี้ ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป…

เปลี่ยนยังไง? อ่านต่อสิครับ…เดี๋ยวก็รู้

นาฬิกาปลุกที่ผมเรียกว่า “คุณพ่อ” เดินขึ้นมาปลุก “คุณลูกบังเกิดเกล้า”
เมื่อใกล้รุ่งเช้า วันที่ 5 ตุลาคม 2009  เพียงแค่ 3 ชั่วโมง บนเตียงนอน
ผมก็ต้องลุกขึ้นมานั่งทำต้นฉบับ รีวิว BMW Z4 จนจบ

จาก ตี 4 ถึง 8 โมงครึ่ง รีวิวส่วนที่เหลือ ก็เสร็จสิ้น อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ก็คว้ากุญแจ
ของ รถคันที่ผมเพิ่งทำรีวิว เสร็จหมาดๆ สดๆร้อนๆ มุ่งหน้าขึ้นทางด่วน ไปรับ
น้องเติ้ล หนึ่งใน The Coup Team ของเรา ที่ธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ นั่นละ

เข็มความเร็ว กวาดขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพียงแค่แตะระดับ
สายตาก็เห็น ทางลงอยู่ข้างหน้า เท้าขวาก็ถอนออกจากคันเร่ง Z4 วาฬน้อยคันนี้ ก็เริ่มช้าลงๆ
จนกระทั่งถึงที่จอดรถ เรา 2 คน ค่อยๆลงมาเดินต่อ ไปพบกับเจ้าหน้าที่ต้อนรับ ของมิตซูบิชิ….

ที่ห้องรับรอง VIP สนามบินดอนเมือง

ไม่รู้ว่า ทางมิตซูบิชิ จะเชื่อเรื่อง โลคชะตาราหู เอ้ย ราศี กันหรือเปล่า เพราะเห็นว่าจัดงานที่
สนามบินดอนเมือง ในช่วงเวลาหลังจาก ที่ศิลปินสาว ทาทา ยัง จัดคอนเสิร์ต เปิดอัลบั้ม
กันที่สนามบินแห่งนี้ เมื่อ 9 กันยายน 2009 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กว่าจะผ่านเข้าไปยังพื้นที่ของท่าอากาศยานดอนเมือง ได้ ก็ต้องแลกบัตรกันบ้างละ
พื้นที่ ของสนามบินนั้น เขาจะเข้มงวด กับการรักษาความปลอดภัยกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
สแกนข้าวของกันราวกับว่า เราจะไปขึ้นเครื่องบินกันจริงๆ…
 

 เปล่าหรอก พาหนะที่เราต้องขึ้นไปนั่งต่อจากเนี้ย….ไม่ใช่เครื่องบิน แต่เป็นรถตู้…คันนี้ต่้่างหาก…

 

รถตู้ พาผม และเติ้ล มาส่งยัง ลานกว้างที่มีการจัดเตรียมอาคารถอดประกอบได้
รองรับปริมาณของลูกค้า สื่อมวลชน และผู้มาทดลองขับ ได้เยอะอยู่ น้ำท่าเครื่องดื่ม
โต๊ะเก้าอี้ นั่งพัก มีบริการพร้อมสรรพ

 

ส่วนพื้นที่ลานกว้างที่จะให้เราทดลองขับ แลนเซอร์ EX ใหม่ นั้น….

คิดว่า รอบจะยาวละสิครับ…คิดผิดถนัด

ความยาวต่อ 1 รอบ การทดลองขับหนะ 1 กิโลเมตรก็จริงอยู่ แต่ ส่วนใหญ่แล้ว เขาจะบังคับไลน์
ให้มีการหักเลี้ยวกัน ค่อนข้างหนักหน่วง เปลี่ยนเลน สลาลอม และเบรก ในลานกว้าง ที่เห็น
จะเต็มไปด้วยกรวยพลาสติก

ซึ่ง เล่นเอาผม มึนไปเลย เผลอเลี้ยวผิด ในรอบแรกๆ หลายครั้งมากกกกกกก  

แถม คุณจะมีเวลาสัมผัสกับรถ แค่ประมาณ 20 นาที ต่อคน เท่านั้น

ดังนั้น นี่เท่ากับเป็นการทดลองขับ แบบออร์เดิร์ฟ ก่อนที่จะพบกับ จานหลัก Main Course
ซึ่งคาดว่าจะตามมาในอีก 2 เดือนหลังจากนี้ (ไอ้ที่ต้องรอนานหนะ นอกจากคิวของรถเดโม
ทั้งชุดนี้จะไม่ว่างยาวจนถึง ธันวาคมแล้ว คิวของ J!MMY เองก็จะไม่ว่างยาวไปจนถึงสิ้นเดือน
ตุลาคม กันเลยทีเดียว เช่นกัน)

และเป้าหมายของผมในวันนี้คือ ผมจะต้องทำรีวิวนี้ ให้เสร็จ ภายในวันเดียว
ลองขับกันตอนเช้า เขียนกันตอนบ่าย เอาขึ้นเว็บกันตอนดึก

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยี อันทันสมัย และความช่วยเหลืออย่างดี ของน้องๆ ทีม The Coup
ก็คือน้องเติ้ล ซึ่ง เอะใจอะไรชอบกลขึ้นมา ตัดสินใจ ใช้มือถือ BlackBerry ของตน ในระบบเครือข่าย AIS
ถ่ายรูป แล้วส่งทาง E-Mail ให้น้อง Bank Pike ทีมงานของเราอีกคนหนึ่ง อัพโหลดขึ้นเว็บบอร์ดไปล่วงหน้า

ดังนั้น เราจึงสามารถเคลมได้อย่างเต็มตัวว่า “Headlightmag.com คือเว็บไซต์แรก ที่มีรายงาน
การทดลองขับ Lancer EX ใหม่ เป็นแห่งแรกในเมืองไทย!!!”

ชนิดที่ ไม่ว่าใครหน้าไหน เว็บไหน คิดจะพยายามทำงานให้เร็วกว่าเรา ก็ต้องขอแสดงความเสียใจนะครับ
ว่า พวกคุณไม่มีทาง ทำงานให้เร็ว ละเอียด และเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่าน ได้เท่ากับที่เราทำเด็ดขาด!!

พอเดินเข้าไปถึง พี่แตน ฝ่ายพีอาร์ของ มิตซูบิชิ แนะนำให้ผมได้รู้จักกับ คุณ Takaaki Kishii
ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส….พอเห็นชื่อบนนามบัตรที่ผมมอบให้
เท่านั้นแหละ คุณคิชิอิ ก็ ตอบกลับมาเลย….”Oh I know you’re very famous!”

เย้ยยยยย มารู้จักผมตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย

“อ๋อ ได้ยินลูกน้องที่นี่เขาพูดถึงกันบ่อยๆ”

อึ้มมมม มิน่าละ!

ทำไมช่วงนี้ ผิวเราถึงเกรียมๆ…เหมือนหมูหัน…ที่แท้ โดนเผานี่เอง….

เลยได้คุยกันพอสมควร จนพอจะทราบว่า เหตุที่รถรุ่นนี้ มาขายในบ้านเราช้า เพราะส่วนหนึ่ง
มาจากหลายปัจจัย ทั้งต้นทุนของรถรุ่นนี้ ที่แพงกว่าแลนเซอร์รุ่นก่อนๆ ทุกรุ่นที่เคยมีมา
การหาข้อสรุปด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ที่ล่าช้า และอีกหลายสาเหตุมากมาย ซึ่งจะขอเก็บเอาไว้
สาธยาย รวดเดียว เมื่อถึงวันที่ ผมจะทำ Full Review ของรถรุ่นนี้ในภายหลัง

ระหว่างนี้ มาทำความรู้จักกับ แลนเซอร์ EX กันก่อนดีกว่า

แลนเซอร์ EX ถือเป็นพัฒนาการครั้งล่าสุด นับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกของตระกูลคอมแพกต์ซีดาน
รุ่นนี้ เมื่อปี 1973 แลนเซอร์ รุ่นปัจจุบัน ออกสู่ตลาดในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ ปลายปี 2007 และต้องใช้เวลา
ในการเดินทาง มาเปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศ จากโรงงานที่แหลมฉบัง ถึง เกือบ 2 ปีเต็ม
นานจนหลายคนเลิกรอ ไปถอยรถยนต์คู่แข่งอย่าง Honda Civic บ้างละ Mazda 3 บ้างละ

แม้จะมาช้า แต่ยังดี ที่มิตซูบิชิ ตัดสินใจ ส่งเวอร์ชันสากลนิยม อันเป็นเวอร์ชันหลักมาเปิดตัว
ในบ้านเรา ไม่ใช่นำเอา เวอร์ชันตกแต่งบ้าบอ ในสไตล์ อาเจ็กอาซิ่มไต้หวัน มาทำขายในเมืองไทย

 

 

มิติตัวถังของแลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ใหม่นั้น จะมีความยาว 4,570 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,760 มิลลิเมตร
ซึ่ง เรียกได้ว่า กว้างเกินหน้าเกินตา เพื่อนพ้องในกลุ่ม Compact Sedan C-Segment ไปไม่น้อย
เพราะ Civic F ก็ยังกว้างแค่ 1,750 มิลลิเมตร หรือถ้าคิดง่ายๆ คือ กว้างกว่า Nissan Skyline V35
รุ่นที่แล้ว กันเลยเชียวนะ!!

ส่วนความสูงนั้น อยู่ที่ 1,490 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,635 มิลลิเมตร โอเค สั้นกว่า Civic FD
รายนั้น เขาเอาไปกินด้วยความยาวระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ทราบว่าเขาจะยาวไปแข่งกับ
มินิแวนกันหรืออย่างไร แต่ที่แน่ๆ ระยะฐานล้อ ก็ยังยาวกว่า Civic Dimension (2,620 มิลลิเมตร)
อย่างแน่นอน

รุ่นที่จะทำตลาดในเมืองไทย มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย คือรุ่น 2.0 GT สีดำที่เห็นอยู่ข้างบนนี้

และรุ่น 1.8 ลิตร ซึ่งมีให้เลือกกันอีก 3 รุ่นย่อย ทั้ง 1.8 GLS และ 1.8 GLS Limited…

โดยล้ออัลลอย ในรุ่น 1.8 ลิตร นั้น เป็นขนาดมาตรฐาน 6.5 JJ x 16 นิ้ว 5 ก้าน สวมเข้ากับยาง 205/60 R16
ส่วน ล้ออัลลอย ในรุ่น 2.0 ลิตรนั้น ต้องถือว่า เกินความคาดหมายของผมไปเลย ไม่คิดมาก่อนว่า
จะกล้าให้ล้ออัลลอยขนาด 7 JJ x 18 นิ้ว สวมเข้ากับยาง 215/45 R18 มาจากโรงงาน

คือจะว่าไป มันผิดวิสัยของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในอดีตกาลที่ผ่านมา ไปสักหน่อย 
ปกติ กว่าจะอนุมัติเรื่องพวกนี้กันได้ ขอแล้วขอเล่า ฝันไปเถอะว่าจะให้มาได้ง่ายๆ แถมไอ้ที่อนุมัติให้คนไทยเนี่ย
สวยๆทั้งน้านนนนนนน สวยชนิดที่ ทำให้รถ ซึ่งออกแบบมาดีๆ ดูลิเก ไปได้ในแรกเห็น!!

ตัวอย่างเหรอ? Lancer Cedia Virage สีแดง แปร๊ด นั่นไง อุตส่าห์ ได้สีแดงมาซะดีเชียว ดันให้
ล้ออัลลอย ลาย “สะพานเหล็กการยาง” แถมด้วยห้องโดยสาร โทนสีเบจ…แทนที่จะให้สีดำ
อย่างที่ควรจะเป็น ขอบประตู ก็ไม่ยอมทาสีดำ…โอ้ย เป็นแลนเซอร์ รุ่นที่เห็นแล้วอยากด่า
ไอ้ญี่ปุ่นคนที่อนุมัติมากที่สุดเลย ว่า เปิดไฟเขียวกันมาได้ยังไงเนี่ย?

สิ่งเก่าๆในพารากราฟข้างบนนี้ คุณจะไม่ได้เห็นอีก ในแลนเซอร์ใหม่ แล้วละ อย่างน้อยๆ ก็ เจอล้อ 18 นิ้ว
ลายเหมือนกับเวอร์ชันตลาดโลก เป๊ะๆ! แบบนี้ หลายคน คงชื่นชอบกัน และที่สำคัญ
ยางติดรถ นั้น ก็ยังเป็นยางที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นเลย เป็นยาง Yokohama และได้รับการ
ยืนยันมาว่า ยางที่เห็นในรถทดสอบทุกคันคราวนี้ คือยางรุ่น และแบบ เดียวกันกับ
ที่จะติดตั้งให้ในรถสำหรับจำหน่ายจริง!!

อ่อ อีกรุ่นหนึ่งที่เกือบจะลืมกันไปก็คือ 1.8 GLX รุ่นพื้นฐานที่สุด ขนาดล้อที่ให้มา
ยังเป็น ลาย 5 ก้านเหมือนกัน ขนาดยาง ก็ยังเหมือนกัน กับรุ่น 1.8 GLS Limited
ด้วยซ้ำ

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้  1.8 GLX แตกต่างจากรุ่น 1.8 ลิตรคันอื่นๆ คือ กระจังหน้าสีดำ
มีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น เพราะรุ่นอื่น จะให้กระจังหน้าลายสปอร์ตแบบโครเมียมมาให้

ส่วนความแตกต่างอื่นๆ ที่ชัดเจนก็คือ เสากรอบประตู รุ่น 1.8 GLX จะไม่มีแถบคาดสีดำ
บริเวณรอยต่อ ตรงกลาง ระหว่างบานประตูคู่หน้า กับคู่หลังมาให้ เป็นธรรมเนียม
ของมิตซูบิชิ และผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นบางราย อยู่แล้ว ที่จะปล่อยให้รถรุ่นล่างๆ
มีขอบประตูสีเดียวกับตัวถังรถ

ห้องโดยสารนั้น ทันทีที่เปิดประตูคู่หน้าออกมา เพียงแค่สายตา ก็รู้แล้วว่า งานนี้
มิตซูบิชิ ทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำมานานมากแล้ว นั่นคือ การใช้วัสดุตกแต่ง
ภายในห้องโดยสารหลายชิ้น ยกมาจากเวอร์ชันญี่ปุ่นแทบทั้งดุ้น!

เบาะนั่งคู่หน้า ของรุ่น 2.0 GT หุ้มด้วยหนังค่อนข้างดี แต่บางขณะ ก็มีแอบสงสัยว่า หนังที่ใช้
เป็นเกรดเดียวกับใน Pajero Sport ใหม่หรือเปล่า ผิวสัมผัสมันคุ้นฝ่ามือผมอยู่หน่อยๆ
ขณะเดียวกัน ฟองน้ำข้างในค่อนข้างจะอ่อนนุ่ม จนบางทีชวนให้นึกอยู่
บ้างว่า ถ้าผ่านเวลาไปหลายปีข้างหน้าแล้ว มันจะยังคงรูปทรงได้ดังเดิมแบบนี้อยู่หรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งฝั่งคนขับ นอกจากจะปรับเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง และปรับเอนได้ตามปกติแล้ว
ยังมีก้านปรับระดับสูง-ต่ำของชุดเบาะมาให้ ซึ่ง ในรถทดลองขับบางคัน กว่าจะกดลงไปได้ ก็ฝืดมือ
แต่กับรถจอดโชว์ ดิสเพลย์ หน้าทางเข้างาน กลับสามารถกดและยกก้านขึ้น-ลง ได้ โดยง่ายดาย
คล่องและลื่นเหลือเกิน

ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้านั้น ในวันเปิดตัว ผมขึ้นไปลองนั่งดู มองว่าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม
ทว่า พอได้มาลองขับจริง ผมมองว่า ตำแหน่งเบาะนั่ง มันสูงพอจะชวนให้นึกถึงตำแหน่งเบาะนั่ง
ของ Lancer Cedia หรือ Lancer CNG หรือ Lancer รุ่น “แซยิด” ที่น้องๆในเว็บบอร์ด Headlightmag.com
ของเรา เขาตั้งฉายาให้กัน เลย เพียงแต่ว่า ในรถรุ่นก่อน แผงหน้าปัด อยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยไป…

ไม่สิ ต้องบอกว่า ตำแหน่งเบาะนั่ง ของรถรุ่นก่อน มันสูงเกินไป เมื่อเทียบกับตำแหน่งแผงหน้าปัด

พอมาเป็นรุ่นใหม่ นี้  ตำแหน่งแผงหน้าปัดที่สูงขึ้นกว่าเดิมนิดนึง ช่วยให้ตำแหน่งนั่งขับ ลงตัวยิ่งขึ้น
และยังคง คุณลักษณะ การเข้าออกจากรถได้ง่าย เหมือนเดิม

ส่วนทางเข้าออกด้านหลังนั้น เมื่อผมก้าวเข้าไปนั่งในรถ นั่นไม่ใช่ปัญหา
แต่ในตอนที่จะก้าวออกมา  ก็ต้องเหวี่ยงขา หลบเสาหลังคากลาง B-Pillar ออกมานิดหน่อย
เรื่องนี้คงจะแก้ไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การออกแบบโครงสร้างตัวถังกันแล้ว
แต่กระนั้น ก็ยังถือว่า เข้าออกได้ โอเค ไม่เลวร้าย และไม่ถึงกับดีมากแต่อย่างใด

เบาะนั่งด้านหลังนั้น มีพื้นที่เหนือศีรษะ เยอะพอประมาณ แต่นั่งสบายกว่ารถยนต์คอมแพกต์หลายรุ่น
ในตลาด เนื่องจาก ฟองน้ำที่ใช้ ค่อนข้างจะนุ่ม ซึ่งเรื่องนี้ เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น แทบจะยกมาเลย
ที่น่าชมเชยมากๆ คือ ตำแหน่งวางแขน ของที่วางแขนทั้งบนแผงประตู และที่วางแขนแบบ
พับเก็บได้ ซึ่งมีมาให้ “ครบทุกรุ่น” ตั้งแต่ 1.8 GLX กันเลยทีเดียว

ภายในรถคันสีเงิน อันเป็นรุ่น 1.8 ลิตร นั้น การตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ
ไม่ได้แตกต่างไปจากรุ่น 2.0 GT เท่าใดนัก หากเป็นรุ่น GLS Limited

อย่างไรก็ตาม เรื่องแรกที่ผมอยากจะขอติติงสักหน่อย ซึ่งอันที่จริง
ก็ได้ บอกกับทางคุณ Yuichi Ohta ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการตลาด และการขาย รวมทั้งฝ่าย Product Planning
ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันงานเปิดตัวรอบสื่อมวลชน เมื่อ 15 กันยายน ที่ผ่านมา นั่นคือ….

1.  ตำแหน่งของ ที่วางแขน สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า

กล่องคอนโซล ที่คั่นกลางระหว่าง ผู้โดยสารตอนหน้า กับผู้ขับขี่ มีฝาปิดมาให้ ซึ่งตกแต่งไว้
หวังจะให้เป็นที่วางแขน แต่พอจะใช้งานจริง กลับทำไม่ได้ เพราะตำแหน่งของมัน เตี้ยเกินไป
ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ ก็ต้อง ทำ กล่องคอนโซลให้สูงขึ้นอีกนิดนึง  และทำฝาปิดให้ยาวขึ้น
อีกหน่อย ถ้านึกไม่ออก ไปถอดเอา กล่องคอนโซล ของ Toyota Corolla ALTIS 2.0 รุ่นปัจจุบัน
มาศึกษาดู ก็น่าจะเข้าใจได้

เพราะเมื่อคุณ เปิดประตูคู่หลัง หย่อนก้นลงไปบนเบาะนั่งฟองน้ำที่นุ่มนวล เอาแผ่นหลัง
พิงกับพนักเบาะ ซึ่งสามารถแบ่งพับได้ 60 : 40 ในทุกรุ่น คุณจะพบว่า นอกจาก ตำแหน่ง
เบาะหลังจะนั่งสบายแล้ว ตำแหน่งการวางแขน ของทั้ง ที่พักแขน บนแผงประตู กับที่วางแขน
แบบพับเก็บได้ ติดตั้งอยู่กึ่งกลางของเบาะนั่ง มันกลับลงตัวพอดี แบบไม่ต้องแก้ไขอะไรอีกต่อไป!!

แปลกดีไหมละครับ เบาะหน้า ตำแหน่งวางแขน ยังต้องปรับ แต่เบาะหลัง วางแขนได้สบาย และจบข่าว!

2. เบาะคนขับ ปรับระดับ ด้วยไฟฟ้า น่าจะมีมาให้ได้แล้ว ถ้าในเมื่อ รถกระบะ Triton ตัวท็อป 3.2 GLS 4×4
กับ Pajero Sport ยังมีมาให้เลย แล้วเหตุไฉน จึงไม่ควรจะมีอยู่ในแลนเซอร์ EX กับเขาบ้าง?

แต่ โอเค จะว่าไปแล้ว ผมว่ามันเป็นออพชันที่ไม่ถึงกับจำเป็นนัก…แต่ในเมื่อคู่แข่งมี ก็ควรจะมีบ้าง
มีเฉพาะรุ่นเบาะหนังก็พอ ส่วนเบาะผ้าแบบที่เห็นนี้ไม่ต้อง

วัสดุผ้าเบาะของรุ่น เบาะผ้านั้น ค่อนข้างดีมาก ถ้าเที่ยบกับรถยนต์ในระดับราคาใกล้เคียงกัน

3.เสียงปิดประตู

สิ่งที่ ผม และน้องๆทีม The Coup เจอมากับตัวเอง ตั้งแต่งานเปิดตัว ก็คือ
เสียงปิดประตู ของรถคันที่จอดโชว์ ในงานนั้น มันฟังดู กลวงไปหน่อย
เป็นเสียงเหมือน แผ่นเหล็กกระทบกันธรรมดาๆ โดยเหมือนไม่มียางขอบประตู
มาซับเสียง ทั้งๆที่จริงๆแล้ว มีอยู่

มันเป็นเรื่องเล็กน้อย ออกแนวจะไร้สาระด้วยซ้ำ แต่อาจทำให้หลายๆคนรู้สึกไม่ดีได้
เพราะแน่นอน ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่า รถหนะ ราคาเป็นล้านเลย ทำไมเสียงปิดประตู
ยังเป็นเช่นนี้?

ดังนั้น ทางแก้ ที่อยากให้รีบทำกันก่อนก็คงจะมีทั้ง การปรับแต่งเสียงปิดประตู
ของรถคันจำหน่ายจริง ที่ กลวงไปหน่อย กลวงจนเกือบจะฟังดูแย่

 

เอาน่า ยังไม่แย่ขนาดเสียงปิดประตู ของมาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ รุ่นที่
น้องเติ้ล The Coup Team ของเราแล้วกัน รุ่นนั้น เสียงปิดประตู สุดยอดมากครับ
ไปหาฟังเอาเอง ฟังแล้วเข้าใจหัวอกเจ้าเติ้ลเลยทีเดียว

จุดที่น่าชมเชยอีกเรื่องหนึ่ง คือ เบาะนั่งด้านหลัง สามารถ แบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีมาให้ตั้งแต่รุ่นล่างสุด โดยไม่ต้องเกี่ยงงอนกัน

แผงหน้าปัด มาในสไตล์ เรียบง่าย แต่ดูสปอร์ต มาดเข้มดีกว่าที่เคยเห็นในรูปถ่าย

ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 2 ช่อง พื้นดำ แถบแดง ตัวเลข ขาว มีจอ Twin LCD Digital ขนาดพอประมาณ
เอาไว้แจ้งผู้ขับขี่ ถึงสถานภาพของระบบต่างๆภายในรถ ทั้งความเร็วเฉลี่ย / อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
อุณหภูมิเครื่องยนต์ ระยะทางที่น้ำมันในถังจะสามารถพารถแล่นต่อไปได้ และระบบแจ้งเตือนการนำรถ
เข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจเช็ค

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน สไตล์สปอร์ต หน้าตาคุ้นๆ เหมือนว่าเราเคยเจอกันมาแล้วก่อนหน้านี้
ใน Pajero Sport เพียงแต่ สิ่งที่แปลกตาไปแน่ๆ คือ แป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ Paddle Shift ที่ติดตั้งยึดไว้กับ
คอพวงมาลัย ดังนั้น เวลาหมุนพวงมาลัย แป้น Paddle Shift ของแลนเซอร์ จะไม่หมุนตามไปด้วย
ผิดกับ ของ ฮอนด้า ที่จะหมุนตามพวงมาลัยไป เพราะติดตั้งอยู่ที่ด้านหลังพวงมาลัยเลย

และอีกเรื่องก็คือ สวิชต์ Multi Function ควบคุมการทำงานของทั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่
Cruise Control ที่ฝั่งขวา และควบคุมชุดเครื่องเสียง แบบ Built-in ที่มีหน้าตาธรรมดาๆ ที่ฝั่งซ้าย
แหม ไอ้เราก็นึกว่าจะใจดี แถมชุดเครื่องเสียง Rockford Fosgate มาให้เหมือนเวอร์ชันอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม พอทดลองฟังเสียงกันจริงๆแล้ว ผมว่า ไม่ต้องพึ่งพา Rockford Fosgate ให้สิ้นเปลืองหรอก
เพราะเครื่องเสียงแบบมาตรฐาน เพียงแค่นี้ คนที่รื่นรมณ์ กับเสียงดนตรี ยามเช้า ก็น่าจะรู้สึกว่า เพียงพอแล้ว
แม้ว่า ฟอนท์ อาจจะดูเลอะไปนิด ในสายตาของบางคน แต่กับผมแล้ว การควบคุม และการใช้งานไม่ยากเลย
ไว้รอให้เป็น Full Review เสียก่อน แล้วค่อยเฉลย

 

แถมคราวนี้ แลนเซอร์ EX ใหม่ ยังมีถุงลมนิรภัยมาให้ ครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นล่าง ยันรุ่นท็อป
เพียงแต่ว่า ในรุ่นล่างสุด 1.8 GLX จะมีมาให้เฉพาะด้านคนขับเท่านั้น ซึ่งก็ยังถือว่า ดีนะ ที่มีมาให้
เพราะถ้าราคาตั้งเอาไว้ที่ 831,000 บาท แล้วไม่มีแอร์แบ็กมาให้สักใบจริงๆละก็ คุณผู้อ่านไม่ต้องด่า
หรอกครับ ผมจะเปิดฉากด่าคนกำหนดสเป็กให้เอง! แต่พอดี งวดนี้ มีมาให้ครบ ดังนั้น รอดตัวนะ อิอิ
อย่างไรก็ตาม ถุงลมนิรภัยเนี่ย น่าจะให้ครบ 2 ใบ มาตั้งแต่รุ่นล่างสุดไปเลย น่าจะดีเหมือนกัน
กระนั้น วิทยุ พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3  ในตัว ของรุ่น 1.8 GLX น่าจะให้ทาง SONY ไปออกแบบมาให้เข้ากับตัวรถจะดีกว่า

 

 

ด้านขุมพลัง อย่างที่ผมเคยรายงานไว้ ตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว เป็นรายแรก (อีกเช่นกัน) ว่า เครื่องยนต์
ของแลนเซอร์ EX จะมีให้เลือก 2 ขนาด เท่านั้น คือ 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร…ในที่สุด ก็เป็นจริง
ตามที่เขียนเอาไว้ และเป็นไปตามที่แหล่งข่าวของผมแจ้งให้ทราบ ทุกประการ (ซึ่งก็ต้องกราบขอ
ขอบพระคุณ พี่ชายสุดเลิฟท่านหนึ่ง ผู้มิอาจเปิดเผยนามได้ มา ณ โอกาสนี้ เป็นการส่วนตัว)

อันได้แก่ เครื่องยนต์ รหัส 4B10 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 77.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด ECI-MULTI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC
(ซึ่งในที่สุด มิตซูบิชิ บ้านเรา ก็เอามาลงใน ตระกูลแลนเซอร์ ได้ซะที หลังจากต้องให้รอนาน
เป็น 10 ปี) ตัวเลขแรงม้า จากในสเป็ก ก็ไม่ธรรมดาแหะ 139 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 172 นิวตันเมตร หรือ 17.52 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ตัวนี้ ถูกปรับเซ็ตให้สามารถ เติมน้มันเบนซินได้ “ทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจาก
กรมธุรกิจพลังงาน ให้สามารถจำหน่ายได้ในประเทศไทย” ทั้งเบนซิน 95 และ 91
แก็สโซฮอลล์ 95 และ 91 E10 E20 จนถึง E85 !!

 

 

และเครื่องยนต์ รหัส 4B11 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
86.0 x 86.0 มิลลิเมตร หรือห้องเผาไหม้แบบ Square กำลังอัด 10.0 : 1 หัวฉีด ECI-MULTI
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC เช่นเดียวกัน 154 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
198 นิวตันเมตร หรือ 20.17 กก.-ม.ที่ 4,250 รอบ/นาที วางเฉพาะรุ่น 2.0GT ซึ่งคุณจะเห็นว่า
งานนี้ มีเหล็กค้ำโช้ค ติดตั้งมาให้ด้วย เป็นพิเศษเฉพาะรุ่น!

จะเห็นได้ว่า ตอนนี้ เครื่องยนต์ของ มิตซูบิชิ เริ่มจะใช้รหัสที่แปลกตาออกไปแล้ว
ไม่ใช่ตระกูล 4G ที่คุ้นเคยกันอีกต่อไป ถ้าคุณสงสัยว่า ทำไม

ยังก่อน ยังไม่เฉลย เขียนแค่นี้พอ รายละเอียดเพิ่มเติมต่างๆ รอ Full Review ครับ

ทั้ง 2 ขุมพลัง จะเชื่อมเข้ากับ เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT พร้อมระบบสมองกล
INVECS-III ที่มีอัตราทดเกียร์ตั้งแต่ 2.349 – 0.394 : 1 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 1.750 : 1
และอัตราทดเฟืองท้าย สูงปรี๊ด ถึง 6.120 : 1

เดี๋ยวก่อน…. 2.349 – 0.394 : 1 เหรอ
เหย ทำไม อัตราทดเกียร์ มันถึงได้เหมือนกับ เกียร์ CVT ของ Nissan Teana ใหม่ J32 เป๊ะเลยละ??

พูดเป็นเล่น….แลนเซอร์ EX ใหม่ ใช้เกียร์ลูกเดียวกับ เทียนาใหม่เหรอ??? โอ้วววว

ครับ เป็นเกียร์ลูกเดียวกันจริงๆ ด้วย เพียงแต่ มิตซูบิชิ บอกว่า การพัฒนามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
ดังนั้น หากเกียร์ของ เทียนา มีปัญหาในอนาคต ไม่ได้หมายความว่า เกียร์ ของ แลนเซอร์ ต้องมีปัญหา
ไปด้วยแต่อย่างใด (ว่าไปนั่น…….)

ภาพถ่ายนับตั้งแต่จุดนี้ไป จะเป็น ผลงาน ของ ช่างภาพ ที่จ้างมาโดยทางมิตซูบิชิ เองนะครับ

ตามการจัดลำดับคิว ผมต้องขึ้นลองขับรุ่น 2.0 GT ก่อน…และ แน่นอน มันไม่ได้สร้างความผิดหวังเลย  

ใครที่กลัวว่า รถที่ใช้เกียร์ CVT จะมีอัตราเร่งอืดอาด นั้น บอกได้เลยว่า อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน
ไปแบบนั้น เพราะทันทีที่ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้ผม ออกรถได้ ผมกดคันเร่งจนจมมิด บนทางตรง
และผมพบว่า อัตราเร่ง ในรุ่น 2.0 ลิตรนั้น ไม่อืดอาดเลย ขับสนุก ใช้การได้ เพียงแต่ว่า
แรงดึงกระชากตอนออกตัว อาจจะไม่ได้มากมายนัก กระนั้น จังหวะที่รถพุ่งไปข้างหน้า
อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และนุ่มนวล ไม่สะดุด หรือติดขัด ทำให้ผมเริ่มสนใจว่า ถ้าจะ
จับเวลากันจริงๆ ความแตกต่างด้านอัตราเร่งของ แลนเซอร์ EX 2.0 GT กับคู่แข่งในตลาดนั้น
จะต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

ความสงสัยนี้ ยังคงต้องเก็บเอาไว้ก่อน

 

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง รัศมีแคบสุด 5.0 เมตร
ซึ่งผมค่อนข้างดีใจเล็กๆ ว่า ขอบคุณ ที่ยังไม่นำระบบ เพาเวอร์ไฟฟ้า มาใช้
กับรถรุ่นนี้ มิเช่นนั้น ผมแทบมองไม่ออกเลยว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป

ในหลายๆโค้ง ที่จะต้องหักเลี้ยวเข้าอย่างฉับพลัน หรือรุนแรง ไปจนถึงช่วงสลาลอม
การตอบสนองของพวงมาลัย อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ พวงมาลัย
มีระยะฟรีกำลังดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป น้ำหนักพวงมาลัย กำลังงาม หนักแน่น และ
เฉียมคมพอสมควร ตอบสนองได้ค่อนข้างไว แถมยังนิ่ง อีกต่างหาก

และยิ่งเมื่อผสานการทำงานกับ ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังเป็นแบบ คอยล์สปริง มีเหล็กกันโคลงมาให้ทั้งหน้าหลัง ซึ่งทีมวิศวกร
ฝ่ายไทย เซ็ตความแข็ง-นุ่ม ของช่วงล่างมาไว้ดีมากกว่าที่คาดเอาไว้ การโยนตัวของรถ
มีไม่มากเลย แถมยังนิ่ง และเป็นไปตามใจสั่ง ได้แทบจะทุกรูปแบบ ยกเว้นในบางครั้ง
ที่เข้าโค้งแรงเกินไป ก็ยังมีอาการหน้าดื้อโผล่ให้เห็น อันเป็นปกติของรถขับล้อหน้า

แต่ตั้งข้อสังเกตนิดหน่อยว่า หากเป็นรถรุ่นก่อน ถ้าเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินไป
บั้นท้ายจะกวาดออก ง่ายกว่า แลนเซอร์ EX ชัดเจน

ดิสก์เบรก มีมาให้ครับทั้ง 4 ล้อ คู่หน้าของทุกรุ่น มีรูระบายความร้อนมาให้ มีการขยายขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลางของจานเบรกให้ใหญ่โตขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม ประสิทธิภาพในการเบรกนั้น
ถือว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการหน่วงความเร็วให้ลดลงแบบสุภาพชน หรือ
เบรกกระทันหัน ราวกับไปโกรธใครมา ระยะเบรก จาก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่าสั้น
ไม่ได้ยาวจนเกินไปนัก

ภาพรวมก็คือ ถ้าคุณมานะ พรศิริเชิด นักแข่งของทาง มิตซูบิชิ ประเทศไทย ยังสามารถนำเจ้า
แลนเซอร์ EX 2.0 GT ไปสาดโค้งแรงๆ เล่นๆ ได้อย่างสนุกสนาน อย่างที่เห็นในรูปข้างล่างขนาดนี้
ผมว่า ก็น่าจะเลิกห่วงเรื่องสมรรถนะของรุ่น 2.0 ลิตร กันได้แล้วละครับ

ขณะเดียวกัน สงสัยกันใช่ไหมครับว่า แล้วรุ่น 1.8 ลิตรละ ? การตอบสนอง จะแย่ลงมากไหม
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น 2.0 GT? แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งด้วยแล้วละ?

ทันทีที่ลงจากรถรุ่น 2.0 GT ผมก็กระโดดขึ้นผลัดเปลี่ยนคันรถ เป็นรุ่น 1.8 GLS Limited เบาะหนัง
ซึ่งเติมน้ำมันเชื้อเพลิง แก็สโซฮอลล์ E85 มาให้ทดลองขับกันอยู่แล้ว กันทันที และผมพบว่า ผลลัพธ์
มันไม่เลวร้ายอย่างที่ผมคิดไปก่อนหน้านั้น 

เอาเข้าจริง อัตราเร่ง จากจุดหยุดนิ่ง ของรุ่น 1.8 ลิตร เมื่อเติม E85 ใกล้เคียงรุ่น 2.0 ลิตร มากกว่า
ที่ผมคิดนิดหน่อย แรงดึงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ห่างไกลไปจาก รุ่นพี่ 2.0 GT มากนัก เพียงแต่ ถ้าใครที่คิดว่า
มันเหมือนจะอืด ก็อาจเป็นเพราะ คนที่พูดเช่นนั้น ยังไม่คุ้นชินกับการขับรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ
อัตราทดแปรผัน CVT นี้มากกว่า  

เราอาจคุ้นเคยกันกับการ ลากรอบ แล้วตัดเปลี่ยนเกียร์กัน แล้วต้องมาไล่รอบกันใหม่
แต่ เกียร์ CVT นั้น เราแค่เหยียบคันเร่ง แช่ขึ้นไปเลย อยากให้รถมันพุ่งไปแค่ไหน
พุ่งไปหยุดที่ความเร็วเท่าใด ก็เหยียบเข้าไป เพียงแค่นั้น ที่เหลือ เดี๋ยวรถ จะจัดการให้คุณเอง

ยินยันว่า อัตราเร่งของรุ่น 1.8 ไม่เลวร้าย อย่างที่ใครคิดกันแน่ๆ ยิ่งสำหรับคนอย่างผม
ซึ่งพึ่งจะก้าวลงมาจาก BMW Z4 แล้วเดินตรงดิ่งปรี่เข้าไป ลองขับ แลนเซอร์ใหม่กันทันที
แถมยังจำ การตอบสนอง ของ Mazda 3 ละ Honda Civic FD ได้เข้ากระดูกดำ แล้วด้วยนั้น
ถ้า คนที่เพิ่งจะนำ BMW Z4 พุ่งทะยานด้วยความเร็วสูง มาหมาดๆ แล้วมาจับรถบ้านๆ
แถมเจ้าตัวก็ยังบอกว่า ไม่อืดอย่างที่คิด นั้น คุณผู้อ่านก็ลองคิดเอาเองแล้วกันครับ

 

การตอบสนองของพวงมาลัย และระบบกันสะเทือน ลดทอนความดิบละอารมณ์สปอร์ต
ลงจากรุ่น 2.0 GT ไปบ้างนิดหน่อย แต่บุคลิกหลักๆ ของรถก็ยังเหมือนเดิม เวลาเลี้ยว
แรงเกินกว่าเหตุ หน้ารถ ก็มีอาการดื้อบ้างนิดๆ เป็นธรรมดา แต่ไม่มากมายนัก อากัปกิริยาต่างๆ
เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้แสดงอาการ ออกมาผิดแผกไปจากรุ่น 2.0 GT แต่อย่างใด

การโยนตัวของรถนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย ไปกว่าปกติที่มันควรจะเป็น
การซับแรงสะเทือน ของทั้งรุ่น 2.0 และ 1.8 ทำได้ดีมากจนน่าพึงพอใจ

อาจกล่้าวได้ว่า ถ้าใครที่เคยขับ Honda Civic FD และ Mazda 3 มาก่อน เมื่อมาขึ้นขับ แลนเซอร์ EX แล้ว
จะพบว่า มันพยายามจะรวมเอาข้อดี ของรถทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว มาผสมผสานคลุกเคล้าไว้ด้วยกัน
โดยมีพ่อครัว คอยปรับรสชาติ ให้เป็นไปในแนวทางที่มิตซูบิชิ แลนเซอร์ทุกรุ่น ตลอด 36 ปี
เคยเป็นมา ยังมีกลิ่นอายของแลนเซอร์ในแบบที่คุ้นเคยเหลืออยู่บ้าง แต่บุคลิกใหม่
สไตล์รถยุโรปที่เพิ่มเข้ามา ก็ช่วยให้รถคันนี้ ยิ่งน่าสัมผัสมากขึ้น เหมือนที่ใครสักคน
พยายามจะเทออริกาโน ลงในซุปไก่ข้น ด้วยปริมาณ ปานกลาง ออกแนวเกือบจะเยอะ นิดนึง

********** สรุป เบื้องต้น ***********
ห า ย ห่ ว ง ไ ป เ ป ล า ะ ใ ห ญ่ แ ล้ ว ล ะ !!

ฝนฟ้า ที่โปรยปรายลงมา ดับความร้อนอบอ้าวในสนามบินดอนเมือง
ได้อย่างชะงักงัน พร้อมกันกับที่ ความร้อนรุ่มใจอยู่ลึกๆ ของชาวมิตซูบิชิ
ถูกลดทอนลงไป จากเสียงตอบกลับ ของผู้ที่ได้สัมผัสรถคันจริงกันแล้ว

ชาวมิตซูบิชิ ทั้งหลาย ถ้าคุณ ยังกลัวอยู่ ว่าแลนเซอร์ EX ใหม่ จะมีเสียงตอบรับไม่ดีนัก
แล้วละก็ ผมว่า คุณ ปลดปล่อยตัวเองจากความกลัวเหล่านั้นเสียทีเถอะ

ผมยืนยันให้เสียงนึงว่า มันไม่อืดอย่างที่คิดแน่ๆ! ช่วงล่างดี เกินกว่าที่คาดคิด
พวงมาลัยตอบสนองได้ในแบบที่ผมต้องการจากรถระดับนี้ เป๊ะ! และภาพรวมของรถ
ก็น่าซื้อหามาใช้มากๆ แม้ว่า ออพชันบางรายการ ที่ควรจะมีมาให้ ดันไม่โผล่มาให้เห็น
เช่นระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC VSA หรือ Traction Control ก็ตาม

กระนั้น แลนเซอร์ EX ใหม่ คืออีกตัวอย่างที่แสดงให้เราได้เห็นว่า ถ้าเมื่อใดที่คุณออกแบบรถ
ให้สวยโดนใจผู้บริโภค ใส่ออพชันมา ไม่น้อยหน้าใคร มีนวตกรรมใหม่ๆ ให้ได้สัมผัสกัน
พอประมาณ ในราคาที่ไม่บานปลายเกินกำลังซื้อ และขณะเดียวกัน ยังรักษาภาพลักษณ์ชื่อชั้น
ของตนเอาไว้ในตลาดให้ดีๆ ในด้านบริการหลังการขาย

เดี๋ยวลูกค้า ก็แห่มาให้ความสนใจจับจองเป็นเจ้าของกันเอง นั่นแหละ!

ก็คิดดูเอาแล้วกันว่า คนที่ใช้ Mazda 3 อยู่ อย่างน้องเติ้ล ยังเกิดกิเลส อยากได้ แลนเซอร์ EX เลย

อย่างไรก็ตาม ครึ่งชั่วโมง บนลานกว้าง ใจกลางสนามบินดอนเมือง
ก็ช่วยให้เราตอบคำถามที่สงสัย ได้กระจ่างไป เพียง 60-70 % เท่านั้น
อีก 30 % ที่เหลือ เต็มไปด้วย หลากหลายประเด็น ที่ยังต้องรอการพิสูจน์
ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขอัตราเร่ง ที่แท้จริงของทั้งรุ่น 2.0 และ 1.8 ลิตร
อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตามมาตรานการทดลองขับของเรา ละ
แลนเซอร์ใหม่ จะประหยัดน้ำมันกว่าเดิมหรือเปล่า แล้วในรุ่น 1.8 ลิตรนั้น
หากเติม แก็สโซฮอล์ E85 แม้ว่าจะได้ราคาจากหัวจ่าย ซึ่งถูกกว่ากัน เท่าตัวหนึ่ง
ชดเชยให้ แต่ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ซึ่งจะต้องดร็อปลงไปกว่า
การเติมเบนซิน 95 หรือ เบนซินชนิดอื่นๆนั้น มันจะมากหรือน้อยเพียงใด
แล้วไหนจะเป็นเรื่องการตอบสนอง ทางในช่วงความเร็วสูง หรือแม้แต่
การคลานต้วมเตี้ยมไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัด ชักช้าเป็นเรือเกลือนั่นอีก

ยังครับ นี่ยังเป็นเพียงแค่ รีวิว แบบ First Impression ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นเพียง
สัมผัสแรกเมื่อได้พบกัน เท่านั้น หลังจากนี้ ยังมีรายการใหญ่รออยู่ นั่นคือ การทำ
บทความ Full Review เต็มพิกัด ที่ผมตั้งใจจะไขทุกข้อสงสัย ที่เกิดขึ้นกับ
แลนเซอร์ EX ได้กระจ่าง

เหลือเพียงแค่อย่างเดียวจริงๆ ก็คือ

ทางมิตซูบิชิ จะพร้อมส่งรถ ทั้ง 2 รุ่น ให้ผมได้นำไปทำรีวิว เมื่อไหร่ดีเนาะ?

————————————————///—————————————————-

***UPDATE 7 ตุลาคม 2009***

กิจกรรมสำหรับการเปิดตัว Lancer EX คลอดออกมาแล้วครับ

กิจกรรมเปิดตัว
เปิดรับจองล่วงหน้า ตั้งแต่ 16 กันยายน เป็นต้นไป
เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 16-18 ตุลาคม  (10:00-21:00)
เปิดขายอย่างเป็นทางการที่โชว์รูมรถยนต์ 129 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ 16 ตุลาคม เป็นต้นไป

กิจกรรม โรดโชว์ ในกรุงเทพฯ
ห้างสรรพสินค้า คริสตัล ปาร์ค 23–25 ตุลาคม 2552
ห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ไอส์แลนด์ 23 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2552   
ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า 26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2552
ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2552    
ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ ท่าพระ 12–18 พฤศจิกายน 2552

  
กิจกรรมโรดโชว์ตามโชว์รูม  ในต่างจังหวัด

ตุลาคม 2552- มีนาคม 2553

 

 

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาด เอเจนซีโฆษณา และเจ้าหน้าที่ในสนาม
และ บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
สำหรับการอำนวยความสะดวก ตลอดงานทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้น จนถึงภาพเครื่องยนต์ เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ตั้งแต่ภาพเครื่องยนต์ลงไป เป็นของ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
5 ตุลาคม 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
Octoberr 5th,2009  

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่