ค่ำวันหนึ่ง ราวๆ 1 ทุ่ม ช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 2007

ผมนั่งอยู่ในห้องประชุม 1 บน ชั้น 15 อาคารนันทวัน อันเป็นสำนักงานใหญ่
ของ Nissan Motor Thailand หลังจากที่ผม ถึงขั้นแสดงความเห็นอย่าง
เผ็ดร้อน ใน Pantip.com ถึงแคมเปญโฆษณา Nissan Navara ชุด 
“ขอบคุณ” ซึ่งในตอนนั้น กำลังจะถูกใช้เป็นแคมเปญในการเปิดตัวรถกระบะ
รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ของพวกเขา ในขณะนั้น

คุณโต้ง อดีต ฝ่ายการตลาดของ Nissan (ปัจจุบัน ดูแลการตลาด MINI
อยู่ที่ BMW Thailand) ถึงขั้นนัดผมมานั่งคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
พร้อมทั้งยังเปิดภาพยนตร์โฆษณา ชุดแรก ก่อนวันเปิดตัว เพื่อหวังจะให้ผม
เข้าใจ ในแนวคิด ที่พวกเขาต้องการสื่อสาร ออกไปว่า “ขอบคุณ ที่รอ”

เวลาผ่านไป 7 – 8 ปีแล้ว…

นาฬิกาครับ…มึมจะเดินเร็วไปหน่อยไหมครับ? 

ช่วงปี 2006 – 2007 เป็นช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่าง เกิดขึ้นในชีวิตผม มีทั้ง
เรื่องดี และเรื่องร้าย มีผู้คนมากมายที่ได้มีโอกาสโคจรมาพบปะรู้จักกัน ราวกับ
ฟ้าเบื้องบนเขากำหนดมาแล้วว่า เราจะต้องมาเจอกันในเวลานั้น

ผมเพิ่งเริ่มจัดรายการวิทยุ กับอดีตผู้ใหญ่เจ้าของรายการ มาได้ราวๆ 6 เดือน และ
ผมเพิ่งรู้จักกับ น้องกล้วย BnN ผู้ซึ่งหลายๆท่านจะจำบทบาทการเป็นพิธีกรของ
รายการ The Coup Channel ใน Headlightmag เราได้ ในเดือนมิถุนายน 
2006 หลังจากอุบัติเหตุกับชีวิตบางอย่าง เกิดขึ้นได้ไม่กี่วัน ช่วงนั้น ก็ช่างตรงกับ
เวลาที่ Nissan จะต้องเปิดตัว Tiida เป็นครั้งแรกในบ้านเราพอดี

ตอนนั้น กล้วย ยังเรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน ลาซาล ยังคงเป็นเด็ก
ที่มีชีวิตสนุกสนานกับเพื่อนฝูง ครีเอทีฟในเรื่องฮาๆ บ้าบอคอแตก จนบางทีก็แอบ
ชวนให้อยากถีบ เป็นเด็กน้อยอนามัย ดื่มนม 1 แก้วก่อนนอน และมีสิวขึ้นรอบปาก
ในปริมาณเยอะเอาเรื่อง! แถมพอเข้า มหาวิทยาลัย กล้วยทำแบบทดสอบ ออกมา
ได้ผลลัพธ์ เป็นที่ฮือฮาขำกลิ้งในหมู่เพื่อนฝูง ว่า “เป็นคนร่าเริง..ผิดปกติ…!”

ผมรู้จักกับกล้วย ใน ห้องรัชดา Pantip.com คุยกันถูกคอ เลยดึงมาช่วยจับเวลา
และทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง บรรดารถยนต์ที่ผมยืมมาทดลองขับในตอนนั้น
เราทำงานกันอย่างสนุกสนาน ยิ่งได้มาเจอกับตาแพน Commander CHENG
พวกเราก็ยิ่งมีแต่เรื่องฮาๆ สุดเหวี่ยงหนักข้อขึ้นไปอีก

เหนือสิ่งอื่นใด กล้วย ชอบรถยนต์แต่เด็ก มีความรู้ และเก็บข้อมูลเยอะ ขยันหาข้อมูล
ทำการบ้าน เปรียบเทียบสเป็กรถ รวมทั้งมีประสบการณ์ในการร่วมทดลองรถยนต์
รุ่นใหม่กับผม หลายต่อหลายรุ่น ตั้งแต่ ECO Car คันกระเปี๊ยกอย่าง Honda Brio
ไปจนถึง Mercedes-Benz E-Class และ Subaru Impreza WRX STi
ทั้ง 2 Generation (2005 และ 2010) ไม่เว้นแม้แต่รถกระบะทุกคันที่ผมยืม
มาทดลองขับ กล้วยก็จะมีโอกาสทดลองด้วย และเข้าใจบุคลิกรถกระบะแต่ละรุ่น
ซึ่งแตกต่างกัน ได้ดี

เห็นตัวเล็กๆแบบนี้ กล้วยเคยช่วยคุณพ่อของตน รื้อเครื่องยนต์ ของรถเก๋งที่บ้าน มาแล้ว!

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากนั้น งาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายน 2006
แคมเปญ โฆษณา “ขอบคุณ..ที่รอ” เพื่อเตรียมเข้าสู่การเปิดตัวรถกระบะ Navara
ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกก็เริ่มเผยแพร่ ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน
มกราคม 2007 ก่อนที่สื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ จะได้มีโอกาสมาทดลองสมรรถนะของ
รถกระบะรุ่นใหม่ในตอนนั้น กันที่ จังหวัดเชียงใหม่

จากวันนั้น ถึง วันนี้ 23 กรกฎาคม 2014 เวลาผ่านไปแล้ว 7 ปี…

ผมกลับมาจัดรายการวิทยุ อีกครั้ง ทาง FM 93.5 HD1 บ่าย 4 โมง วันเสาร์ 
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผมโบกมืออำลาวงการวิทยุไปแล้ว ใครมันจะไปคิดว่า สุดท้าย
ผมจะได้กลับมาทำหน้าที่นี้อีกครั้ง…และอย่างมีความสุขยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน กล้วย ก็จบปริญญาตรี จาก มศว. ประสานมิตร เข้ามาช่วยงาน
ในฐานะ พิธีกรรายการ The Coup Channel คู่กับ Toyd อยู่พักใหญ่ ก่อนที่
จะมีผู้ใหญ่ใจดี แนนำให้ลองสมัครเข้าทำงานกับ Nissan Motor Thailand
ในตำแหน่ง Product Marketing

แม้ผมจะรู้ตัวล่วงหน้าแค่เพียง 15 วัน และนั่นทำให้แผนงานปี 2013 ของรายการ
The Coup Channel เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนทำให้น้องเต้ เข้ามา
รับช่วงเป็นพิธีกรต่อจนถึงปัจจุบัน (นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คุณๆ ไม่ได้เห็น กล้วย
เป็นพิธีกรรายการของเราอีก มาเป็นเวลา 1 ปีครั้งแล้ว)

แต่ผมก็แอบภูมิใจอยู่เงียบๆ ที่วันนี้ ฝันซึ่งกล้วยเคยบอกกับผมไว้ในอดีต
ว่า อยากทำงานบริษัทรถยนต์ และถ้าเป็นไปได้ อยากทำงานกับ Nissan
มันกลายเป็นความจริง ถ้ามองจากหน้าที่ ซึ่งกล้วยได้รับมอบหมายอยู่
ในตอนนี้ ถือว่า เป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตที่ดีของเขาใน
วันข้างหน้า

เพราะสำหรับคนที่ทำงานด้านการตลาดรถยนต์แล้ว การเริ่มต้นหน้าที่
ด้วยการดูแล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อันเป็นตลาดที่ หินและโหดที่สุด
ของบ้านเรา ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับรถตู้อย่าง Urvan ไปจนถึงรถยนต์
รุ่นใหม่ๆ ที่ใกล้จะตามมาเปิดตัวในบ้านเราหลังจากนี้ ถือเป็นงานที่
หนัก และเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง ไหนจะต้องร่วมงานกับผู้คนมากมาย
ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น….(เอ่อ…เขียนซะอย่างกับหนังโป๊) ต้องประชุม
ต่อเนื่องกันยาวนาน ทำงานหนัก กลับบ้านดึกดื่น แถมยังต้องรูดซิบปาก
เก็บความลับ ที่แม้แต่พวกเรา The Coup Team ด้วยกันเอง ก็ยังไม่อาจ
ล่วงรู้ งัดปากให้ตายยังไง กล้วยก็ไม่ยอมปล่อยหลุดมาแม้แต่ช็อตเดียว
จนกระทั่งวันเปิดตัวของรถยนต์รุ่นนั้นๆ นั่นละ กล้วยถึงยอมเปิดเผย
ข้อมูลหมดเปลือก…

ถือเป็นงานที่ โหดไม่ใช่เล่น โชคดีที่กล้วยได้ทั้งเจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน
ที่ดีมากๆ ทำให้กล้วย เติบโตขึ้นมาก 1 ปีกับอีก 6 เดือน ที่กล้วยทำงานใน
Nissan ผมยืนมองดูพัฒนาการของน้องเขาอยู่ห่างๆ อย่างชื่นชมอยู่เงียบๆ…

เออ..น้องเรา..มันก็เก่งใช้ได้แหะ…รับมือกับสารพัดเรื่องได้ดีกว่าที่คิด มากๆ

และที่สำคัญ…กล้วย ยังเป็น หนึ่งในทีมงาน ผู้ที่ช่วยดูแล วางแผนการทำตลาด
รถกระบะคันใหม่ ที่คุณเห็นอยู่นี้ด้วย…!!!

รถกระบะที่ ได้เวลาเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันกันเสียที หลังจาก 7 ปีที่เปิดตัวใน
ตลาดบ้านเรา 

ทุกสรรพสิ่ง ล้วนแล้วแต่มีพัฒนาการ ไปตามเวลา และ Navara ใหม่นี่ ก็เช่นกัน
และคราวนี้ ผมต้องบินมาเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อร่วมทดลองขับรถกระบะรุ่นใหม่นี้

รถกระบะที่ ต๊อบ (Philosophy สมาชิก The Coup Team ของเว็บเราอีกคน)
ถึงกับ ออกปากแซวกันเลยว่า “รถกระบะ Nissan นี่มันห่วย จนกล้วยถึงขั้น
ทนไม่ไหว ลาออกจากเว็บเรา ไปช่วยเขาทำเองเลยเหรอ?”

เปล่าหรอกครับ รถกระบะ Nissan มันไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรอก ตรงกันข้าม
กว่า 80 ปี ที่ผ่านมา พวกเขา เก็บประสบการณ์ และข้อมูลจากลูกค้าทั่วโลก
มาใช้ในดการพัฒนารถกระบะ หลายรุ่น จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดกลุ่มนี้
ด้วยยอดขายสะสม จาก 180 ประเทศทั่วโลก มากกว่า 14 ล้านคัน!!!

ในเมืองไทย รถกระบะ Nissan เคยได้รับความนิยม ถึงขั้นเป็นเจ้าตลาด
มาตั้งแต่สมัยรุ่น ช้างเหยียบ 620 ไล่เรียงต่อเนื่องมาถึงรุ่น 720 ที่เรียกชื่อ
ในบ้านเราว่า Professional D ถึงเริ่มเจอศึกหนัก จาก Toyota Hilux
และ Isuzu Faster Z ตีตลาดมาได้ พอถึงปี 1986 สยามกลการ ผู้จำหน่าย
Nissan ในตอนนั้น ขอทวงบรรลังก์คืน ด้วยการเปิดตัว Nissan BigM
รถกระบะที่มีขนาดตัวถังใหญ่ที่สุดในตอนนั้น แน่นอนครับ มันขายดี
อยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะโดน Toyota กับ Isuzu แซงคืนได้สำเร็จ

ความซวยต่อเนื่องก็คือ หลังจาก BigM หมดรุ่นไปแล้ว รถกระบะ Nissan
มันแทบไม่ค่อยมีจุดเด่นในสายตาคนไทยเท่าไหร่เลย BigM D22 ที่เปิดตัว
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ราวๆ ปี 1997 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถม
ตอนนั้น Nissan เอง ก็ไม่มีเงินมากพอจะทำรถยนต์ให้แข่งขันกับชาวบ้าน
เขาได้ จนเกือบล้มละลาย และต้องปล่อยให้ Renault เข้ามากอบกู้วิกฤติ

ยังดีที่ Nissan มีจุดขายในเรื่อง เฟรมแชสซี ที่ทนทาน แข็งแกร่ง รองรับ
งานบรรทุกหนักๆ โหดๆได้ดีที่สุด จึงช่วยให้ลูกค้าที่มองหารถกระบะ เพื่อ
การขนส่งสินค้าหนักๆ บรรทุกคราวละมากๆ เช่นพืชผักและผลไม้ ถึงยังคง
มองหา Nissan เป็นทางเลือกแรกๆ เสมอ…

ก่อนที่จะไปจบกับ Toyota Hilux Vigo เพราะข้อเสนอที่โดนใจกว่า ตัวรถ
ใหญ่กว่า แถมเครื่องก็แรงกว่า (ผ่าง!) เอวัง ด้วยประการนี้ โดยที่เรายังไม่นับ
คนซื้อ Isuzu ซึ่งเขาจะไม่ปรายตามอง Nissan อยู่แล้ว ทั้งด้วยประเด็นใน
ด้าน Brand loyalty หรือประสบการณ์ไม่ดีที่เคยเจอจาก Nissan ในยุค
ในสมัยก่อน ตามแต่ละกรณี 

ต่อให้ Nissan พยายามงัดข้อ ด้วยการเปิดตัว Navara ในปี 2007 แต่
ด้วยเหตุผลที่ว่า มันมาเปิดตัวในบ้านเรา ช้ากว่ากำหนดการเดิม ถึง 3 ปี
เพราะตอนนั้น Nissan ญี่ปุ่น คิดจะเข้ามาบุกตลาดบ้านเราเอง แต่ทางฝั่ง
Siam Motors หรือสยามกลการ ไม่ยอม จึงเกิดการชักคะเย่อกัน ไปมา
ไปมา ระหว่างไทย กับญี่ปุ่น ท้ายที่สุด ฝั่งญี่ปุ่น ก็เป็นฝ่ายชนะ และเข้ามา
เพิ่มทุน ก่อนจะกลายเป็น Nissan Motor Thailand ในที่สุด ทำให้
เสียโอกาสในการทำตลาดไปนานมาก แถมคู่แข่งทั้ง Isuzu กับ Toyota
ก็สร้างฐานลูกค้าไว้เยอะ จนแกร่งเสียจนกระทั่งใครก็โค่นไม่ลงกันอีกต่อไป

Nissan จึงซุ่มเงียบ พัฒนา Navara ใหม่ ให้ดีขึ้นรอบด้าน โดยใช้ข้อมูล
ความต้องการของผู้บริโภค เป็นตัวตั้ง เน้นการปรับปรุงสมรรถนะการขับขี่
ทดสอบในสภาพการใช้งานจริงร่วม 1,000,000 กิโลเมตร และทดสอบ
เพื่อปรับปรุงคุณภาพอีกถึง 40,000 จุด รอบคัน!!! แถมยังยอมปล่อย
ออพชันดีๆ ร่วมสมัย มาให้คนไทยใช้ เยอะกว่าหลายประเทศ ในราคาที่
ต้องสมเหตุสมผล ตัวท็อป ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ พัฒนาการครั้งใหญ่ ของ Navara ที่มาในมาดใหม่
ภายใต้แนวทาง Smart and Tough หรือ…แปลเป็นไทยง่าย สั้นๆ ว่า

“เท่ และ ถึก!”

ภาพถ่ายชุด Teaser ของ Navara ใหม่ ถูกเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่
2 มิถุนายน 2014 จากนั้น ก็ทะยอยปล่อย Teaser ออกมารวม 3 ชุด
ก่อนถึงวันงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เป็นครั้งแรก
ในโลก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2014

สาเหตุที่ Nissan เลือกเมืองไทย เป็นสถานที่ เปิดตัว เพราะตลาด
รถกระบะแบบ Mid-Size Truck ของบ้านเรา มียอดขายอันดับ 1
ในโลก รองลงไปคือ บราซิล สหรัฐอเมริกา กับ ประเทศในแถบ
อเมริกาใต้ รวมทั้ง ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

แต่ถ้าแบ่งตามภูมิภาคแล้ว สัดส่วนยอดขายของรถกระบะ Nissan
ในเขตอเมริกาเหนือ สูงที่สุด คิดเป็น 38% จากยอดขายทั่วโลก
ทั้งหมด รองลงมาคือ Africa และตะวันออกกลาง รวมกันได้ 26%
ตามด้วย Asia (รวมเมืองไทย) 14% South America 13% 
Europe 5% และ China 4%

ส่วนชื่อ NP300 ที่แปะมาข้างหน้านั้น มันก็เป็นชื่อรุ่นที่เรียกตามพิกัด
ของการบรรทุก เช่น NV100 ก็คือ รถกระบะจิ๋ว 660 ซีซี NV200 ก็
เป็นรถตู้ Vannette สำหรับงานเบาๆ ส่วน NP200 ก็คือ Frontier 
รุ่นเดิม ซึ่งยังมีจำหน่ายในบางประเทศอยู่ถึงทุกวันนี้ ในเมื่อ Navara
รุ่นใหม่ ตัวโตกว่า NP200 ดังนั้น มันจึงถูกเรียกว่า NP300 นั่นเอง

แนวคิดในการเปลี่ยนโฉมใหม่ให้กับ Navara ครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก ผลสำรวจ
วิจัยตลาดในบ้านเรา พบว่า ลูกค้า Navara รุ่นเดิม ยอมรับในสมรรถนะของ
ตัวรถ แต่เมื่อขับขี่ใช้งานจริง กลับไม่สบายเท่าที่ควร ดังนั้น วิศวกร Nissan
จึงเลือกที่จะ แก้ไขปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ ในรถรุ่นเดิม ให้ดีขึ้น โดยสาร
และขับขี่สบายขึ้น ขนาดตัวถังต้องใหญ่ขึ้น แต่ไม่ใหญ่มากเกินไป อีกทั้งยัง
ต้องทนทานต่องานบรรทุก และเส้นทางทุระกันดาร อันเป็นคุณสมบัติอันดับ
แรกๆ ลูกค้า Nissan ยังคงชื่นชอบ เอาไว้ให้ครบถ้วน

มิติตัวถังของ NP300 Navara มีความยาว 5,230 -5,255 มิลลิเมตร
กว้าง 1,790 – 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,745 – 1,820 มิลลิเมตร ตามแต่ละ
รุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 3,150 มิลลิเมตร น้ำหนักรถ 1,538 – 1,875 กิโลกรัม

ถ้าเปรียบเทียบกับ Navara รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 5,125 มิลลิเมตร กว้าง
1,795-1,850 มิลลิเมตร สูง 1,745 -1,887 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ
3,200 มิลลิเมตร จะพว่า ขนาดตัวถังของรุ่นใหม่นั้น พอๆกันกับรุ่นเดิม เลยละ!
เพียงแต่มีระยะฐานล้อ สั้นลง 50 มิลลิเมตร

ตัวรถ Navara อาจมีความสูงได้ ไม่เท่ากับคู่แข่งทุกคันในตลาด เหตุผล
มาจากการพัฒนาที่ต้องเน้นให้ประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งรถที่เตี้ยกว่า มักจะ
แหวกอากาศได้ดีกว่า และมีแรงเสียดทานอากาศน้อยกว่า รถสูง ดังนั้น
การออกแบบ Navara ใหม่ จึงยังคงมุ่งเน้นให้ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม
ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ จาก Cd.0.41 เหลือ Cd. 0.40

เส้นสายภายนอกนั้น ในช่วงก่อนเปิดตัว ทีมงานของ Nissan ในบ้านเรา
ก็แอบหวั่นใจ ว่า มันไม่ค่อยสวย น่าจะขายไม่ออก แต่พอเผยโฉมออกมา
กลับกลายเป็นว่า หลายๆคน รับได้กับเส้นสายแบบนี้ บางคนบอกว่า สวย
ดูบึกบึนขึ้น แอบมีบุคลิกรถยนต์ระดับ Premium แฝงมาให้ ซึ่งนั่นน่าจะ
มาจากการติดตั้งชุดไฟหน้าเป็นแบบ LED Projector พร้อมระบบเปิด-ปิด
ไฟหน้าอัตโนมัติ และ ไฟ LED Daytime Running Light มาให้จาก
โรงงาน ครบทุกรุ่นย่อย!

ส่วนรุ่น Double Cab จะมีแร็คหลังคามาให้เฉพาะรุ่น VL ขึ้นไป ไม่ว่า
จะเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ Calibre ขับเคลื่อน 2 ล้อ ก็ตาม 

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้สบายขึ้น เพราะมีบันได
ติดตั้งไว้ให้ด้านล่างของห้องโดยสาร แถมยังมีขนาดของช่องทาง
เข้า – ออก ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน อย่างชัดเจน
เป็นผลมาจากการออกแบบบานประตูใหญ่ขึ้น และเพิ่มขนาดช่องทาง
เข้า – ออก ของร่น 4 ประตู ให้กว้างขึ้นกว่ารุ่นเดิมมากๆ

ขณะที่รุ่น King Cab นั้น พื้นที่ด้านหลัง สามารถเข้า – ออก ได้สบายขึ้น
ด้วยบานแค็บเปิดได้ ซึ่งติดตั้งมาให้ตั้งแต่ Navara รุ่นก่อนแล้ว ทว่า รุ่นนี้
เหมือนจะนั่งได้ในระดับที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม แค่นิดเดียวเท่านั้น

ส่วนหนึ่งมาจาก ข้อกำหนดทางกฎหมาย ที่บังคับให้พื้นที่ด้านหลัง ของ
รถกระบะแบบ King Cab , Space Cab , Xtra Cab หรืออะไรก็ตามที่มี
ลักษณะบานแค็บเปิดได้แบบนี้ ต้องมีความยาวไม่เกินกว่ากฎหมาย
กำหนด มิเช่นนั้น อาจมีปัญหาเรื่องการเสียภาษีสรรพสามิตได้ เพราะ
อาจถูกตีความไปเป็นรถกระบะ 4 ประตูแทน ซึ่งต้องเสียภาษีเพิ่มและ
อาจทำให้ราคารถแพงขึ้นด้วย

เบาะนั่งในรุ่น Double Cab 4 ประตู 2.5 VL 6MT Calibre 4×2 หุ้มด้วย
หนัง ส่วนเบาะนั่งของรุ่น King Cab 2.5 V 6MT 4×4 เป็นผ้า Suede-Like 
Tricot ซึ่งให้ความสบายในการเดินทาง ได้ดีกว่าเบาะนั่งของรถกระบะหลายๆรุ่น
โดยเฉพาะ เบาะผ้าของรุ่น King Cab นั้น นั่งสบาย ดันหลังนิดๆ กำลังดี ขณะที่
เบาะรองนั่ง มีส่วนช่วยลดแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนน ขณะขับขี่ผ่านเส้นทางแบบ
Off-Road ได้ดีขึ้น นั่งทางไกล นานๆ ยังไม่พบอาการปวดหลังมากนัก

อย่างไรก็ตาม เบาะนั่งแบบ Spinal Seat นั้น ถูกออกแบบให้รองรับช่วงไหล่
มากขึ้นกว่าเดิม และนั่นก็ส่งผลให้ตำแหน่งของพนักศีรษะ ตั้งตรงมากขึ้น ถือเป็น
เทรนด์ของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เน้นการออกแบบให้พนักศีรษะรองรับกระดูกต้นคอ
ขณะเกิดการชนได้ดีขึ้น แต่วิศวกรผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายคงจะลืมไปว่า ระยะเวลา
ในการชนนั้น มันแค่เสี้ยววินาที ในขณะที่เวลาในการใช้งานรถยนต์ มันยาวนาน
ว่านั้นหลายเท่า และควรจะคำนึงถึงความสบายในประเด็นนี้ มากกว่าจะพยาม
ออกแบบให้พนักศีรษะดันเข้าใกล้กับหัวของคนขับ มากขึ้นอย่างที่เป็นอยู่นี้
แม้ว่าพนักศีรษะของ Navara จะไม่ได้ดันมากนัก แต่ต้องถือว่า แอบดันอยู่
นิดหน่อย เหมือนกัน

ส่วนเบาหลังของรุ่น Double Cab นั้น ถูกออกแบบมาให้ มีพนักพิงหลัง
ที่เอียงด้วยองศามากขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย มีพื้นที่วางขาที่มากขึ้น แต่
ความสบายในการนั่งโดยรวมถือว่าดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนพอสมควร นั่งได้
สบายขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ยังต้องนั่งชันขาตามเคย เพราะเบาะนั่ง
ติดตั้งไว้ในตำแหน่งเตี้ย มีช่องวางแก้ว ติดตั้งไว้บนพื้นรถ พับเก็บได้
เมื่อไม่ใช้งาน

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่แลผู้โดยสารด้านหน้า เป็นแบบ ELR
3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ ครบทุกรุ่น ส่วนเบาะหลังในรุ่น 4 ประตู
จะมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้เฉพาะฝั่งซ้าย และขวา ส่วน
ตรงกลาง จะเป็นแบบ คาดเอว 2 จุด 1 ตำแหน่ง

แผงหน้าปัด ออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูสวยงาม และคล้ายกับว่าได้รับ
แรงบันดาลใจ จากแผงหน้าปัดของ Nissan หลายๆรุ่น ไปจนถึง
SUV รุ่นใหญ่ยักษ์ อย่าง Patrol  

หลายคนมองว่าสวย แต่สำหรับผมแล้ว มันจะดูลงตัวกว่านี้ ถ้าเพิ่ม
กรอบโครเมียม ให้กับช่องแอร์คู่กลาง เพื่อให้สอดรับกับแนวเส้น
ของ Trim สีเงิน ที่ประดับอยู่ด้านข้างแผงควบคุมตรงกลาง

กระจกมองหลัง ยังเป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ พร้อมเข็มทิศ Digital
ติดตั้งมาให้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่นเดียวกันกับ Navara รุ่นเดิม

พวงมาลัยเป็นแบบหุ้มหนัง 3 ก้านพร้อมตกแต่งสีเงินที่ยกชุดมาจาก
Nissan Teana ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก

เครื่องเสียง ใน Navara ทั้ง 2 คันที่เราทดลองขับ เป็นวิทยุ AM/FM
พร้อมเครื่องเล่น CD/DVD/MP3 พ่วงระบบนำทางผ่านดาวเทียม
GPS Navigation System ใช้ข้อมูลแผนที่ของ Garmin ควบคุมด้วย
จอ Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว มีช่องต่ออุปกรณ์ USB/AUX และ
ลำโพง 6 ตัว จาก Kenwood และในบางรุ่นย่อย จะเพิ่มกล้องมอง
กะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด มาให้อีกด้วย

หน้าจอ Interface การใช้งานนั้น แทบจะไม่แตกต่างจาก หน้าจอ
ของ ชุดเครื่องเสียงแบบคล้ายๆกัน ใน Isuzu D-Max รุ่นใหม่เลย
แน่นอนว่า มันจะอืด ช้า หน่วง จนควรเรียกมันว่า จอ “จิกสกรีน”
มากกว่าจะเป็น ทัชสกรีน คือต้อใช้นิ้วจิกๆๆๆ ลงไปบนจอ

ที่น่ารำคาญที่สุด คือ อาการเอ๋อ ของระบบนำทาง ในเวอร์ชันไทย
ซึ่งทำให้ผม หลงทางมาเรียยร้อยแล้ว ทั้งที่ปกติ ไม่ใช่คนหลงทาง
ง่ายๆนัก หลังจาก ขับเข้าสู่พื้นที่ภูเขา อันเป็นจุดอับสัญญาณจาก
ดาวเทียม GPS พอโผล่ออกมายังทางหลวงแผผ่นดิน ปกติ หน้าจอ
ก็กู้ไม่กลับ แฮงค์ไปเลย ต้อง Re-Boot กันใหม่ ก็ยังไม่หายอีก
ทำให้ผม พลาดการลองขับในสนามทดสอบออฟโรด ไปอย่าง
น่าเสียดาย!

ฝากบอก ผู้บริหารคนญี่ปุ่นด้วยว่า ช่วยนำ ชุดเครื่องเสียง พร้อม
ระบบนำทางจาก Teana / Sylphy / Pulsar ซึ่งแปะให้กับ Navara
รุ่นส่งออกสู่ต่างประเทศ ย้ายกลับมาไว้ใน Navara เวอร์ชันไทย
ให้ทีเถอะ! เพราะการทำงานของ Software แผนที่จาก BOSCH
มันดีกว่าของ Garmin เยอะมาก!!!!!

เครื่องปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติแยกฝั่งซ้าย – ขวา หน้าจอ
ก็ยกชุดมาจาก Sylphy และ Pulsar ทั้งดุ้น เลยนั่นแหละ ที่บ้าสุด
ในสามโลก คือ แถมช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้
“ครบทุกรุ่น ไม่เว้นแม้แต่รุ่น King Cab”

ใครที่จำเป็นต้องนั่งโดยสารไปกับ พื้นที่ Cab ของรุ่น King Cab
(ทั้งที่จริงแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องถูกกฎหมายบ้านเรานัก) อย่าได้เลือก
นั่งตรงกลางเชียวนะครับ….

ด้านบน ออกแบบให้เป็นหลุมขนาดยักษ์ ตั้งใจให้เอาไว้ เลี้ยงปลากัด…
เอ้ย…! วางโทรศัพท์มือถือ แล้วชาร์จไฟ จากปลั๊กด้านบนได้เลย

แต่เชื่อสิ ลูกค้าชาวไทย จะเปลี่ยนพื้นที่นี้ ให้กลายเป็น สถานที่สิงสถิต
ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ประจำรถ ประจำครบครัว ประจำบ้าน ซึ่ง
ถือว่า เป็นไอเดียที่ผมรอจะเห็นมานานแล้ว ว่าน่าจะมีใครก็ตาม ทำ
แผงหน้าปัด แบบมีหลุมตรงกลาง สำหรับวาง พระเครื่อง กันเสียที!

ทัศนวิสัย รอบคัน จัดอยู่ในเกณฑ์ดี โล่ง โปร่งตา ยกเว้นเสาหลังคา
คู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ที่บดบังการมองเห็น รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์
ที่แล่นสวนทางมาในโค้งทางขวา อยู่พอสมควร

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ NP300 Navara ในครั้งนี้ คือการนำเครื่องยนต์
เดิม มาปรับปรุงใหม่ให้มีพลากำลังมากขึ้น และประหยัดน้ำมันยิ่งกว่าเดิม
โดยที่ไม่ขยายความจุเครื่องยนต์

ขุมพลังของ NP300 ทั้งในเมืองไทยและตลาดโลก ถูกปรับจูนมาให้เลือก
ใช้ทั้งหมด 2 แบบ คือ Mid Power และ High Power เหมือนกับ Navara
รุ่นที่แล้ว

เครื่องยนต์แบบ Mid Power รหัส YD25DDTi บล็อก 4 สูบเรียง DOHC
16 วาล์ว 2,488 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก  89.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตรา
ส่วนกำลังอัด 15.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดรางหัวฉีด Common Rail ECCS
ระบบอัดอากาศ VGS Turbocharger “มีครีบแปรผันเช่นเดียวกัน” และมี
Intercooler ช่วยลดความร้อนของไอดี ก่อนส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้ เหมือนกัน

กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 144 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที เป็น 163 แรงม้า
(PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นจากเดิม 356 นิวตันเมตร (36.30
กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที มาเป็น 403 นิวตันเมตร (41.09 กก.-ม.) ที่ 2,000
รอบ/นาที

แต่รุ่นที่ผมได้ลองขับทั้ง 2 คัน เป็นขุมพลังแบบ High Power รหัส YD25DDTi
บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 2,488 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก  89.0 x 100.0
มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดรางหัวฉีด Common
Rail  ระบบอัดอากาศ Turbocharger จะเป็นแบบ “มีครีบแปรผัน” และมี
Intercooler

กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 174 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที เป็น 190
แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นจากเดิม 403 นิวตันเมตร
(41.09 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที เป็น 450 นิวตันเมตร (45.88 กก.-ม.) ที่
2,000 รอบ/นาที

ด้านระบบส่งกำลังมีการปรับปรุงใหม่ในเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ที่ถูกรับแต่ง
อัตราทดเกียร์ใหม่จากเดิมเล็กน้อย ให้กระชับขึ้น และเน้นความประหยัด
น้ำมันมากขึ้น

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.685
เกียร์ 2 ………………………..2.479
เกียร์ 3 ………………………..1.624
เกียร์ 4 ………………………..1.208
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.809
เกียร์ถอยหลัง …………………4.709
อัตราทดเฟืองท้าย……………..3.692

ส่วนเกียร์อัตโนมัติ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รถกระบะได้ติดตั้งระบบ
ส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะแท้ๆ เสียดายว่า ทริปนี้ ผมยังไม่มีโอกาส
ได้ทดลองขับเลย

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.887
เกียร์ 2 ………………………..3.170
เกียร์ 3 ………………………..2.027
เกียร์ 4 ………………………..1.412
เกียร์ 5 ………………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.864
เกียร์ 7 ………………………..0.775
เกียร์ถอยหลัง …………………4.041
อัตราทดเฟืองท้าย……………..3.357

ระบบบังคับเลี้ยว เป็น พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ช่วยผ่อนแรง แบบไฮโดรลิก ธรรมดา เพราะระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้านั้น
อาจไม่ทนทานต่อการบุกและลุย มากพอ หากนำมาใช้กับรถกระบะ

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น ทำจากเหล็ก พร้อมคอยล์สปริง
และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแผ่นแหนบใต้เพลาพร้อมช็อคอัพ

ระบบห้ามล้อ เหมือนเดิม เป็นแบบหน้าดิสก์ แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนคู่หลัง
ยังคงเป็น ดรัมเบรก แต่ในบางรุ่นย่่อยจะยังคงใช้ระบบปรับระยะผ้าเบรคอัตโนมัติ
พร้อมวาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรก (LSV)

ในขณะที่หลายๆรุ่น จนถึงรุ่นแพงสุด จะติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเหยียบ
เบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรง  
เบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรง
เบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist) เฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป ABLS
(Active Brake Limeted-Slip) ระบบควบคุมการทรงตัว VDC (Vehicle
Dynamic Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start
Assist) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent
Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TCS (Traction Control
System)

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านน่าจะอยากรู้แล้วละว่า

– สมรรถนะจะเป็นอย่างไร
– ดีขึ้นกว่าตัวเดิมมากน้อยแค่ไหน
– ช่วงล่าง แข็งกว่าเดิมหรือเปล่า?
– การขับขี่ในภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง?

ทันทีที่ผม และพี่สมหมาย จาก สยามกีฬา พบกับรถคันของเรา ผมเชิญ
ให้พี่สมหมาย ได้ลองขับก่อน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง
เพราะในช่วงเช้า เราถูกจัดให้ไปเจอ เส้นทาง Off-Road Route กันก่อน
ช่วงแรกยังเป็นถนนต่อเนื่องจาก แม่ริม ลองอัตราเร่ง การตอบสนองของ
เครืองยนต์ และเกียร์ แต่หลังจากนั้น ระบบนำทาง ที่ฝรั่งของ Nissan
เซ็ตเอาไว้ให้เรา เริ่มจะพาเข้ารกเข้าพงมากขึ้น ขับไปเจอสิงสาราสัตว์
มากมายก่ายกอง โดยเฉพาะช้าง ที่มีเยอะมากๆ เพราะเส้นทางที่เราต้อง
ขับผ่านกัน เป็นเส้นทางที่รถกระบะท้องถิ่น มักจะพานักท่องเที่ยว ไป
เยี่ยมชมด้วยกันทั้งนั้น

ราวกับว่า ฝรั่งคนจัดเส้นทางในทริปนี้ เขาคงอยากเอาใจสื่อมวลชนจาก
ต่างประเทศ มากกว่าคนไทย นิดหน่อย ในตอนแรก เพราะบรรดาแขก
จากต่างเมือง จะได้มีโอกาสเห็น ช้างไทย ตัวเบ้อเร่อเบ้อร่า ตัวเป็นๆ
กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนั่นดูจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของพวกเขา…เพราะ
ของพวกนี้ หาดูยากในประเทศอื่นๆ

แต่ไม่ใช่กับผม ผู้ที่โดนจับโขยกๆ อยู่ใน Navara King Cab 2.5 V
6MT 4×4 ผ่านป่าเขาลำเนาไพร บนเส้นทางที่แคบมาก มองฝั่งซ้าย
จะเจอหน้าผา มองฝั่งขวา จะเป็นป่ารกทึบ แถมเส้นทางยังอุดมไป
ด้วยโคลนเลน และทางโค้งคนเคี้ยว แคบ และโหดๆ ทั้งที่นอนมา
ก่อนหน้านี้ แค่เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น รอดได้ก็บุญแล้ว!

เอาเป็นว่า ขนาด “เอดูอาร์ด” ชาวฝรั่งเศส จาก Nissan Global ที่เข้ามา
จัดงานทดลองขับในไทยครั้งนี้ ผู้ซึ่งเคยจินตนาการว่า ประเทศไทย
น่าจะยังเต็มไปด้วยป่า ยังไม่เจริญ และผู้คนน่าจะต้องการรถ 4×4
กันมากๆ กลับกลายเป็นว่า รูปแบบสภาพถนนที่เขาเจอ ถึงขั้นทำให้
เจ้าตัว เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับประเทศไทยกันไปเลย!

ส่วนช่วงบ่าย Nissan ก็จัดแผน วางคิวรถกันประหลาด แทนที่จะให้เรา
ได้ลองรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ต่อจากเกียร์ธรรมดา แต่เปล่าเลย เรายังต้องมา
ลองขับรุ่น 4 ประตู Calibre 190 แรงม้า (PS) ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์
ธรรมดา รุ่น VL วนใน On-Road ย่าน แม่ริม กันต่อไป เลยไม่ได้ลอง
ว่า เกียร์อัตโนมัติ  7 จังหวะ ลูกใหม่ล่าสุด เปลี่ยนเกียร์นุ่มหรือมีอาการ
กระตุกหรือเปล่า

สิ่งที่ผมพอจะจับสัมผัสจากการใช้ชีวิตอยู่กับ NP300 Navara ใหม่
ตลอดทั้งวัน บนรถทั้ง 2 คัน มีดังนี้

—————

เครื่องยนต์ แรงขึ้นกว่าเดิม ชัดเจน อัตราเร่ง ออกตัวทันใจขึ้น ลองจับเวลา
คร่าวๆในรุ่น King Cab 2.5 V เกียร์ธรรมดา 4×4 (ตอนจับเวลา ใช้โหมด
ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง)

0 – 100 กดเล่นๆ แบบ ไม่ตั้งใจ…11.62 วินาที ไม่ได้ลากรอบรอ แต่เลี้ยงไว้
แค่ 2,000 รอบ/นาที แล้วปล่อยออกแบบไม่เนียนเท่าไหร่ ต้องรักษารถไว้
ให้คนอื่นๆที่จะมาขับต่อด้วย ส่วนอัตราเร่บง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ลองดูแล้ว เกียร์ 3 จะต้องเปลี่ยนเกียร์ ขึ้นเป็นเกียร์ 4 อยู่ดี ดังนั้น จึงลอง
จับเวลาเล่นๆ ที่เกียร์ 4 เพียงอย่างเดียว ทำได้ 7.88 วินาที คาดว่า ถ้าเรานำ
มาจับเวลากันอย่างจริงจัง ตามมาตรฐานของ Headlightmag.com  ตัวเลข
อาจจะดีกว่านี้ขึ้นไปอีกนิดหน่อย

ความเร็วสูงสุด ในแต่ละเกียร์ บนมาตรวัด
เกียร์ 1   40 ที่ 4,900 รอบ/นาที
เกียร์ 2   75 ที่ 4,900 รอบ/นาที
เกียร์ 3  113 ที่ 4,900 รอบ/นาที

อย่างไรก็ตาม ในช่วงขึ้นเขาสูงลาดชันมากๆ บางครั้ง เกียร์ 2 อาจไม่เพียงพอ
คุณอาจจำเป็นต้องเข้าเกียร์ 1 ช่วยเรียกแรงบิดขึ้นมาฉุดลากให้รถ ขึ้นทางชัน
ได้สบายหน่อย หรือในบางจังหวะ ถ้าคิดว่าไม่ทันจริงๆ ให้เหยียบคันเร่งจมมิด
รถจะพยายามลากคุณขึ้นไปให้ได้เต็มที่ เท่าที่มันจะทำได้

แต่ถ้าเกิดเครื่องดับบนทางลาดชัน ยังไม่ต้องกลัว เหยียบเบรก เหยียบคลัชต์
แล้วกดปุ่ม Push Start ในจังหวะที่คุณเริ่มเข้าเกียร์ 1 อีกครั้ง ระบบ Hill 
Start Assist จะสั่งให้ระบบเบรก รั้งรถเอาไว้ 3 วินาที ซึ่งก็จะทันกับจังหวะ
การเข้าเกียร์ พร้อมกับปล่อยคลัชต์ และเหยียบคันเร่งเพิ่มเพื่อออกรถ พอดี

คันเกียร์ เข้าได้กระชับขึ้น แน่น และยังยาวในแบบรถกระบะ แถมเบาแรง
กว่าเดิมอีกด้วย แต่ยังไงๆก็คงสู้ Mazda BT-50 PRO กับ Ford Ranger
ที่เป็นเทพด้านการปรับตั้งทำคันเกียร์ในกลุ่มกระบะไปแล้ว ไม่ได้หรอก

แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การออกแรงในการเข้าเกียร์ ของ Navara ใหม่ ยังสบาย
และออกแรงน้อยกว่าทั้ง 2 คันดังกล่าว!  Shift Feeling ของ Navara ตอนนี้
แซงหน้าชาวบ้านขึ้นมา และเป็นรองแค่เพียง ทั้ง สองเทพที่ได้เอ่ยชื่อไป
ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ในรุ่น 4 ประตู Calibre คันที่ผมลองขับ ช่วงบ่าย มีอยู่ช่วงหนึ่ง
ที่เกิดเสียง “กร็อกๆๆๆ” เบาๆ บริเวณฐานคันเกียร์ พอขยับแล้ว เสียงก็หายไป
คาดว่า เป็นปัญหาเฉพาะรถคันดังกล่าว

พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์แบบไฮโดรลิก ถือว่า เซ็ตมาดีขึ้น
ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักเบากำลังดี หมุนคล่องดี ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่ว
ขณะลัดเลาะไปตามการจราจรคับขัน มากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ที่สำคัญกว่านั้น
ก็คือคุณจะยิ่งรักมันมากๆ ในการขับขี่ไปตามเส้นทางโค้งคดเคี้ยว บนภูเขา
พวงมาลัยจะมีน้ำหนักกำลังดี ไม่เบามาก และไม่หนืดมาก หมุนเลี้ยวได้ง่าย
ไม่ต้องออกแรงมากเกินเหตุ ช่วยลดความเหนื่อยล้า ขณะขับขี่บนเส้นทาง
ภาคเหนือ ได้อย่างดี ใน 2 ประเด็นนี้ ถือว่า ทำได้ดีกว่า BT-50 Pro และ
Ranger

อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังเดินทาง บนทางด่วน หรือทางหลวง ใช้ความเร็ว
ตั้งแต่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เมื่อใดที่คุณขับรถไปตามทางตรงยาวๆ คุณ
อาจพบว่า พวงมาลัย Navara ใหม่ ยังแอบมีอาการลอยๆ นืดๆ คล้ายกับว่ามี
ระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า ทั้งที่ Navara ใหม่ยังคงใช้แร็คเพาเวอร์
แบบไฮโดรลิกอยู่ตามเดิม ประเด็นนี้ ยังด้อยกว่า BT-50 PRO และ Ranger
อยู่นิดนึงครับ

วิศวกร เก่งมาก ที่เซ็ตพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิก ให้มีฟีลแบบไฟฟ้า ได้!!! (ฮา)

ระบบกันสะเทือน คือหัวใจสำคัญ ในการปรับปรุง Navara ใหม่ โจทย์ก็คือ
ต้องนุ่มกว่าเดิม แต่ยังต้องคงความแน่น และทนต่อการบรรทุกไปด้วย

ทีมวิศวกร ถือว่า สอบผ่าน ช่วงล่างของ NP300 Navara ใหม่ แน่น แต่ลดละ
ความแข็งกระด้างจากเดิมลงไป จนนั่งสบายขึ้น และขับสบายขึ้นกว่าเดิม

ในรุ่น King Cab 6MT 4×4 ช่วงล่าง หน้าจะเซตมานุ่ม แต่ด้านหลังจะเซ็ตให้
แข็งกว่าด้านหน้า ตามปกติของรถกระบะ กระนั้น ตั้งข้อสังเกตว่า มีการเซ็ต
ให้ช่วงล่าง หน้าและหลัง แตกต่างกันน้อยลง อาการกระดอนเด้งขึ้นลงของ
ช่วงล่างด้านหน้า ขณะขับผ่านถนนแบบลอนคลื่น ลดลงชัดเจน จนเกือบ
จะเรียกได้ว่า แทบจะหายไปเกือบสนิท

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเทียบกับ D-Max / Colorado และ Triton กับ BT-50
ผมพบว่า ความเหนื่อยล้าสะสม จากการโดยสาร หรือขับขี่ ไปตามเส้นทางแบบ
Off-Road ของ Navara ใหม่ ลดน้อยกว่าคู่แข่ง แทบทุกคันในตลาด จน
สัมผัสได้ ต่อให้คุณต้องกระเด้งกระดอนไปมา เหวี่ยงไปตามพื้นถนนมากน้อย
แค่ไหน แต่ช่วงล่าง ก็จัดการได้อยู่หมัด แถมยังมีเบาะรองนั่ง ที่ช่วยดูดซับ
แรงสะเทือนเพิ่มให้อีกแรง ช่วยให้ผมยังสามารถลองขับ Navara ใหม่ใน
ช่วงบ่าย บนถนน On-Road ได้อย่างสบายๆ แม้จะผ่านช่วง Off-Road
ในตอนเช้า มาอย่างหนักหน่วง ก็ตาม

แต่รุ่น Double Cab ช่วงล่าง ถูกเซ็ตมาให้เอาใจคนรักครอบครัวมากขึ้น
ชัดเจน การเดินทางไปบนทางหลวงแผ่นดิน ช่วงแม่ริม ถือว่า สัมผัสได้
ถึงบุคลิกของ SUV มากกว่าจะมีกลิ่นอายของรถกระบะลงเหลืออยู่ ถือว่า
มันนุ่ม แน่น นิ่ง และมั่นใจได้ (ซึ่งจะดีกว่านี้อีก ถ้า On center Feeling
ของพวงมาลัย ปรับเซ็ตมาดียิ่งกว่าตอนนี้)

การเข้าโค้ง ในช่วงความเร็วสูงนั้น หายห่วง Navara ใหม่ ทำได้ดี
ในแบบที่ รถรุ่นเก่าเคยเป็น แต่ยิ่งเพิ่มการดูดซับแรงสะเทือนแบบ
เล็กๆน้อยๆ ได้ดียิ่งขึ้น ภาพรวมแล้ว ช่วงล่าง นุ่มขึ้นกว่าเดิม แต่
ยังคงแน่น หนึบและแกร่ง ทนทรหดตามเคย

ระบบเบรก มั่นใจได้ยิ่งกว่าเดิม เบรกดี ตอบสนองได้ต่อเนื่อง ตาม
น้ำหนักเท้าที่เราเหยียบลงไป เหยียบแล้วได้ความต่อเนื่อง (Linear)
มาใช้ได้ ดีกว่า BT-50 PRO กับ Ranger Vigo และ D-Max ใหม่
อย่างชัดเจน แบบไม่ต้องสืบ ต่อให้ต้องหน่วงความเร็วลงมาอย่าง
กระทันหัน ก็ยังถือว่า เบรกดี ไม่ลึกและไม่สูงจนเกินไป เซ็ตมาดี

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ การเก็บเสียงลม ในห้องโดยสาร ขนาดรุ่น
King Cab ยังถือว่า เงียบสุดๆ!!! จนน่าตกใจ ทั้งที่ใช้ความเร็วระดับ
120 กิโลเมตร/ชัวโมง

นั่นเป็นผลจากความพยายามของวิศวกร ด้าน NVH (Noise Vibration
& Harshness) ที่พยายามวัดค่า เก็บข้อมูลเสียง ตามจุดต่างๆ ภายในรถ
อย่างหนักหน่วง และพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงลมเล็ดรอดเข้ามา
จนกลายเป็นห้องโดยสารที่เงียบจากเสียงลมมากสุด

แต่เสียงที่คุณจะยังคงได้ยินต่อไปคือเสียงเครื่องยนต์ แม่งก็ยังดังอยู่ดี!

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
แกร่ง และ แน่น เหมือนเดิม แต่แรงขึ้นนิดๆ นุ่มขึ้นหน่อยๆ เน้นออพชันเพียบ

NP300 Navara ใหม่ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในรอบ 7-8 ปี เป็นการ
เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันแบบ Full Model Change ภายใต้โครงสร้างพื้นฐาน และ
งานวิศวกรรม ที่ใช้ร่วมกันกับ Navara รุ่นเดิม ได้อยู่บ้าง ไม่ถึงขั้นใหม่หมดจด
ทั้งคัน

เพียงแต่ เปลือกนอกที่คุณเห็น มันแปลกตาไปจากเดิม น่าใช้ขึ้น ขับสบายกว่า
รุ่นเดิม ทั้งบนทางหลวง และทางลุย นุ่มกว่าเดิม แรงขึ้นกว่าเดิม ออพชันเยอะ
ชนิดเอาใจคนบ้าความคุ้มค่า อาจถึงขั้นหันมามอง และไปลองขับกัน

เพียงแต่สิ่งที่อยากจะขอให้ปรับปรุง คือ ไหนๆจะติดตั้งระบบนำทาง มาให้
ทั้งที ช่วยเอาเครื่องเสียง พร้อมหน้าจอมอนิเตอร์ ชุดเดียวกับ Sylphy/Pulsar
และ Teana มาใส่ให้ แทนที่ เจ้า Kenwood “จิกสกรีน” นี่ทีเถอะ มันห่วย
และน่าหงุดหงิดมาก เวลาทำงานไม่ได้ดังใจขึ้นมาเนี่ย

รวมทั้ง ขอปรับระยะฟรีของพวงมาลัยให้ลดลงกว่านี้อีกนิดนึง อยากได้
ความแม่นยำของพวงมาลัยในรุ่นเดิมกลับคืนมา แต่ว่ารักษาความเบา
และคล่องแคล่ว ง่ายต่อการบังคับเลี้ยว ในช่วงความเร็วต่ำของรุ่นใหม่
เอาไว้อย่างนี้ดีแล้ว…

คำถามต่อมาที่หลายคนคงอยากรู้คือ

– เราควรจะจ่ายเงินซื้อ Navara ใหม่ หรือเปล่า?
– ประหยัดน้ำมันหรือไม่ กี่กิโลเมตร/ลิตร?

คำตอบนั้น มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบรอบข้างของคุณล้วนๆ ครับ

ถ้าคุณ มองหารถกระบะใหม่ ในช่วงนี้ กูไม่รอ Vigo กับ Triton ใหม่แล้ว
ช่างใจอยู่ระหว่าง Navara กับ Ranger และ D-Max / Colorado

Navara คือคำตอบที่ดีครับ สดใหม่กว่า ตัวถังขนาดพอกันกับรุ่นเดิม แต่
ออกแบบใหม่ โดยปรับปรุง แก้ไขข้อด้อยต่างๆ จนลดน้อยลงไปมาก
น่าใช้ขึ้นมากพอที่จะให้ผม ไม่สนใจรถกระบะคันอื่นอีกเลยในตอนนี้

แต่ถ้าคุณไม่รีบ และยังรอได้…ปีหน้า 2015 จะเป็นปีที่ตลาดรถกระบะ
กลับมาแข่งขันกันสนุกอีกครั้ง เพราะถึงตอนนั้น Mitsubishi Triton
โฉมใหม่ ก็คลอดแล้ว (แต่หน้าตานี่ สุดเซ็งเป็ด)  Ford และ Mazda
ต้องปรับโฉมให้กับ BT-50 PRO และ Ranger ของตน (แต่ศูนย์บริการ
ยังต้องปรับปรุงตามไปช้าๆ) นอกจากนี้ Vigo ใหม่ Full Model Change
ก็กำลังจะตามมาเปิดตัว ช่วงต้นปีหน้า แต่ดูท่า จะมีการลดต้นทุนกันอย่าง
โหดร้ายและหนักหน่วง ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ส่วน Isuzu D-Max ขุมพลัง
ใหม่ 1.9 Diesel Turbo Downsizing Technology ในช่วงท้ายๆ
ปลายปี 2015

ความเปลี่ยนแปงในรอบ 7-8 ปี ของ Navara ใหม่ ถือได้ว่า มีเยอะพอสมควร
แต่จะรับมือกับคู่แข่งทั้งหลายที่ผมกล่าวมา ได้มากน้อยแค่ไหน เราอาจต้อง
รอดูกันต่อไปในระยะยาว

ส่วนคำถามที่ว่า ประหยัดน้ำมันเท่าไหร่ นั้น คงต้องตอบตามธรรมเนียมดั้งเดิมว่า

“โปรดรออ่านต่อ ใน Full Review ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่”

———————–///————————

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motor Thailand จำกัด
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้

สิทธิ์ศกร เลิศธนูศักดิ์ (AKA : Pao Dominic)
และ Martin Lee
สำหรับการเตรียมข้อมูลด้านรายละเอียดพื้นฐานของตัวรถ

————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย โดยผู้เขียน , ช่างภาพจาก UK และ คุณนก ช่างภาพ

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
23 กรกฎาคม 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 23th,2014 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE!