++For English summary, please scroll to the near-end part of
this article++

ในงาน Motor Expo ช่วง 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2014 ที่ผ่านมา หากใครแวะ
เยี่ยมชมบูธของ Suzuki Motor Thailand คุณจะพบของแปลก ที่ไม่ค่อยจะได้เห็น
กันง่ายนักบนถนนเมืองไทย

Swift RX ที่เพิ่งเปิดตัว? ไม่ใช่ละ…ถึงจะน่าสนใจ เพราะมี Cruise Control กับ
แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift เพิ่มมาให้ แถมรุ่นเกียร์ธรรมดา ยังเพิ่ม ABS
กับ EBD และถุงลมนิรภัยจนครบในค่าตัว 4.8 แสนบาท แต่นั่นยังไม่ใช่ตอนนี้
ที่เราจะพูดถึงกัน

Celerio ตกแต่งพิเศษ?…ที่จอดอยู่บนเวทีนั้น? ก็ผิดอีกละ ปล่อยให้พี่เผือก กับ
พี่ฟรอยด์ (Presenter ทั้ง 2 ของรถรุ่นนี้) เขาลั่นล้ากันต่อไปตามยถากรรมของเขา
แบบนั้นเถอะ

เปล่าเลย ผมกำลังพูดถึง 2 พี่น้อง จากตระกูล K-Car ของ Suzuki ที่ผลิตขายกัน
อยู่แต่ในญี่ปุ่น ซึ่งถูกแพ็คส่งข้ามน้ำข้ามทะเล มาอวดโฉมที่เมืองไทย เป็นพิเศษ

Suzuki Alto Lapin Chocolat และ Suzuki Hustler นั่นเอง!

2 คันข้างบนนี้ ไม่ใช่แค่อยู่ในสายตาใครต่อใคร ทว่า ผม กับตาแพน ก็เช่นกัน
เราเดินพุ่งหลาว ตรงเข้าไปหา รถยนต์นำเข้าทั้ง 2 คัน ด้วยท่าที ที่ ผู้บริหารของ
Suzuki อย่าง พี่วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ถึงกับบอกเลยว่า “ออกอาการเป็นเอามาก”!

แหงละสิ การที่ตาแพน ไปนอน Pranking บนพื้น กับเจ้า Alto Lapin Chocolat
ขณะที่ผมก็ กรี๊ดกร๊าด กับ Hustler มันใช่เรื่องที่คนปกติเขาทำกันซะที่ไหนละ?

ผมไม่รู้มาก่อนนี่นา ว่า Suzuki จะกล้าเอา เจ้าเปี๊ยก 2 คันนี้ เข้ามาอวดโฉมใน
บ้านเรา Alto Lapin อาจจะเคยมาเยือรนแล้ว รอบนึง เมื่องาน BOI Fair ช่วง
เดือนมกราคม 2012 แต่ สำหรับ Hustler แล้ว นี่คือครั้งแรกสำหรับการอวดโฉม
ในประเทศไทย

ไอ้อ้วน 2 ตัวของเว็บนี้ มันตกหลุมรักรถคันกระเปี๊ยก คันใหญ่กว่าสารรูปมัน
ทั้งคู่อยู่หน่อยเดียว เที่ยววิ่งขึ้นลง ผุดลุกผุดนั่งอยู่ใน รถทั้ง 2 คัน อย่างสบายๆ
ไม่อึดอัดไม่คับแคบ อยู่พักใหญ่ จนพี่วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้บริหารของ Suzuki
Motor Thailand ที่ยืนมองเราสองคนอยู่นั้น…ถึงกับส่ายหัว แล้วก็คิดในใจว่า…

“ให้คุณจิมมี่กับคุณแพน เอาไปลองขับให้หายอยากเลยแล้วกัน! แต่คงต้องเป็น
Hustler ก่อนนะ ส่วน Lapin อาจยังไม่สะดวกในตอนนี้”

เย้ๆๆๆๆ รีวิวแรกในเมืองไทย ของรถรุ่นนี้กันเลยทีเดียว!

ไม่เป็นไรครับพี่ปีเตอร์ พี่จะจัดคันไหนมา ก็บอกมาได้เลย ผมเกิดกิเลศอยากลอง
ขับ Hustler มาตั้งแต่แรกเห็นตัวเป็นๆ ใน Tokyo Motor Show 2013 แล้ว
ยิ่งตลอด ปี 2014 ที่ผ่านมา การไปญี่ปุ่น ถึง 4 ทริป ติด ยิ่งเห็นปริมาณ Hustler
บนถนนญี่ปุ่น บ่อยยิ่งกว่าที่ผมได้เจอ Toyota Corolla รุ่นหม่สุด มันบอกให้
เราได้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น และตัวรถเอง ก็ต้องมี
คุณงามความดีบางอย่าง ซึ่งรถยนต์ทั่วๆไปไม่น่าจะให้ได้ครบเท่า

ดังนั้น การลองขับ Hustler บนถนนเมืองไทย จึงเป็นเรื่องราวดีๆ สำหรับผม
ในช่วงนอบต่อข้ามผ่านปี 2014 – 2015 อย่างน่าจดจำ

ไม่บ่อยหรอกครับ ที่ผู้ผลิตรถยนต์เข้าจะเอา K-Car เข้ามาสำรวจตลาดกันอย่าง
จริงจังแบบนี้ ตั้งแต่ผมอยู่ในวงการนี้มา ก็มีเพียง Mitsubishi eK Sport ที่เข้า
มาอวดโฉม ในปี 2002 กับ Subaru R1 ซึ่งถูกสั่งเข้ามาขายคันละแพงจัดถึง
1,500,000 บาท จากการเก็บภาษีนำเข้าในบ้านเรา ที่ไม่ว่าคุณจะซื้อ K-Car
660 ซีซี หรือรถยนต์นั่งไม่เกิน 2,300 ซีซี ก็ต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราเท่ากัน

สำหรับหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า ทำไมรถมันเล็กอย่างนี้ K-Car คืออะไร ลองเลื่อนนิ้ว
เลื่อนเมาส์ หรือจะถูกระจก (ห้ามผวน) หน้าจออุปกรณ์ iT ของคุณ ลงไปอ่านดูกัน
ข้างล่างนี้เลย จะได้ช่วยผมหาคำตอบกันทีว่า

รถคันนี้ มันควรจะถูกนำเข้ามาประกอบขายในบ้านเรากันหรือไม่?

รถยนต์นั่งในกลุ่ม K-Car หรือ Kei-Car ย่อมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น ที่ว่า
Kei-Jidosha ซึ่งแปลว่า “รถยนต์ขนาดกระทัดรัด” นั่นเอง ถือกำเนิดขึ้นใน
ช่วงปี 1949 จนถึง 1955 ช่วงแรก มีผู้ผลิตอยูไม่กี่ราย และสภาพของตัวรถ
ขณะนั้น ยังมีขนาดเล็กมาก ตัวรถจะต้องมีเครื่องยนต์ 2 จังหวะ 150 ซีซี
ซึ่งมีขนาดเล็กเกินไป สำหรับการเรียกว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ต่อมาในปี 1955 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของรถยนต์ ที่จะช่วย
ผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวหลังช่วง
สงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ประชาชนชาวญี่ปุ่น ได้มี
โอกาสเป็นเจ้าของรถยนต์ ทั้งเพื่อใช้งานพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้ในกิจการ
ธุรกิจขนาดเล็ก กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น หรือ
(MITI Ministry of Economy, Trade and Industry) จึงริเริ่มให้มี
โครงการ “รถยนต์แห่งชาติ”(National Car) ขึ้น โดยมีการปรับข้อกำหนด
ขยายตัวถังรถให้กว้างขึ้น และยกระดับเครื่องยนต์ให้โตขึ้นเป็น 360 ซีซี จะ
เป็น 2 จังหวะ หรือ 4 จังหวะ ก็ตามสะดวก มีผู้ผลิตรถยนต์เข้าร่วมทั้ง 6 ราย
ได้แก่ Daihatsu Mitsubishi Suzuki Subaru Mazda และ Honda
ทั้ง 5 ค่ายถูกกำหนดเป็นเพียง ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดกระทัดรัด โดยแยกจากการ
ทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดมาตรฐาน (ในตอนนั้นมี Nissan Toyota Isuzu
Prince Motor และ Hino) K-Car เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่น ก้าวสู่
ยุคทองที่เรียกว่า “Motorization” หรือยุค “ประชายนต์นิยม”อย่างรวดเร็ว
เพราะครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางไม่มากนัก ก็สามารถซื้อหารถยนต์มาขับขี่
ใช้งานกันได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

พอถึงทศวรรษ 1970 ปัญหาการเข้มงวดด้านมลพิษ ของรัฐบาลญี่ปุ่น และ
ปัญหาด้านความปลอดภัยของตัวรถ Honda N360 อันกระฉ่อน รวมทั้งการ
เปิดตัว K-Car รุ่นใหม่ อย่าง Mazda Chantez ไม่ประสบความสำเร็จ
ทำให้ Honda กับ Mazda ต้องถอนตัวไป (ก่อนกลับมาในภายหลัง) แต่
ที่เหลือยังคงตกอยู่ในภาวะยากลำบาก เพราะตลาด K-Car หดตัวอย่างรุนแรง

จนถึงช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมีข้อกำหนดให้เพิ่มขนาดตัวถัง และขยายขนาด
เครื่องยนต์ให้เป็น 550 ซีซี รถยนต์ K-Car จึงค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
อีกครั้ง และเริ่มกลับมาเฟื่องฟูเบ่งบาน ในปี 1990 เมื่อมีข้อกำหนดจากภาครัฐ
ให้ขยายขนาดความจุกระบอกสูบในเครื่องยนต์ เป็น 660 ซีซี ทำให้มีสารพัด
K-Car หน้าตาบ้านๆ รถตู้ส่งของคันเล็ก ไปจนถึงรถสปอร์ตเปิดประทุน หรือ
แม้แต่ รถสปอร์ตประตูปีกนก ก็ยังคลอดกันออกมาสร้างความฮือฮากันตลอด

ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น เมื่อปี 1991 ตลาดรถยนต์ K-Car ยังพอ
ประคับประคองไปได้เรื่อยๆ และเริ่มซบเซาลงอีกครั้ง แต่ยังฟื้นกลับมาได้
ในทศวรรศ 2000 จากความนิยมในรถยนต์ K-Car ที่เพิ่มขึ้นมาก เพราะทั้ง
ประหยัดน้ำมัน ประหยัดที่จอด แถมรูปลักษณ์ ก็ยังไม่ขี้เหร่เหมือนอดีต
ทุกวันนี้ หลายค่าย ใช้ พื้นที่ในตลาด K-Car สร้างความฮือฮาด้วยบรรดา
นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ ต่างมุ่งเน้นไปที่การขยายขนาดห้องโดยสาร
เพิ่มความสบาย และอรรถประโยชน์ใช้สอยให้ได้มากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัด
ด้านขนาดตัวถังรถ

ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า รถยนต์ในกลุ่ม K-Car พวกนี้ ถูกสร้างขึ้นมา
เพื่อเอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นในบ้านเกิดตัวเองเท่านั้น อย่าลืมว่าประเทศของเขา
แม้จะมีพวกนักซิ่งบ้าพลังแฝงตัวอยู่เยอะ แต่คนส่วนใหญ่กว่า 80% ขับรถกัน
ตามกฎจราจรเป๊ะๆ ไม่ช้า ไม่เร็วจนเกินไป ไม่ได้รีบไปโชว์พาวบ้าพลังที่ไหน
อีกทั้ง รูปแบบบ้านเมืองของเขา ก็มีตรอกซอกซอย เยอะแยะไปหมด แม้ว่าจะ
เป็นเมืองในต่างจังหวัด นอกกรุงโตเกียวก็ตาม แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าเมืองแล้ว ขนาด
ของที่ดิน ย่อมมีจำกัด การจอดรถก็ย่อมทำได้ยากลำบาก ในญี่ปุ่น ถ้าคุณจะซื้อ
รถยนต์สักคัน คุณต้องถ่ายรูปพื้นที่จอดรถ ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐขณะยื่นขอ
จดทะเบียนรถยนต์คันใหม่ของคุณด้วย

แต่ K-Car เหล่านี้ เกิดมาเพื่อทะลายข้อจำกัดกังกล่าว ด้วยเหตุที่กฎหมายของ
ญี่ปุ่น กำหนดให้รถยนต์ประเภทนี้ มีเครื่องยนต์ ไม่เกิน 660 ซีซี มีกำลังสูงสุด
ไม่เกิน 64 แรงม้า (PS) ตัวถังต้องยาวไม่เกิน 3,400 มิลลิเมตร กว้างไม่เกิน
1,475 มิลลิเมตร จึงมีขนาดเล็กมากพอที่จะหาที่จอดตรงไหนก็ได้ ดังนั้น ถ้า
คุณคิดจะซื้อรถยนต์ K-Car ในญี่ปุ่น คุณไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารแสดงพื้นที่
จอดรถกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น อีกทั้งการใช้งานของคนที่นั่น ขุมพลัง
แค่ 660 ซีซี ก็เพียงพอต่อการขับขี่ไปไหนต่อไหนของหลายๆครอบครัวแล้ว

ในญี่ปุ่น แม้ว่า Toyota จะครองความเป็นยักษ์อุตสาหกรรมรถยนต์อันดับ 1
อย่างที่เราทราบกันดี แต่อีกด้านหนึ่ง Suzuki เป็นผู้ผลิตรถยนต์ K-Car ที่
ทำยอดขายและรายได้ อันดับ 1 มาโดยตลอด หากนำยอดขายของ K-Car
มารวมกับยอดขายรถยนต์นั่งธรรมดา จะพบว่า Suzuki บางรุ่นทำตัวเลขแซง
นำหน้า Toyota หลายๆรุ่น ไปไกลโขเลยทีเดียว!

ว่าแต่ Suzuki คิดยังไง ถึงได้ทำ Hustler ออกมาขาย?

Mr.Minoru Tamura , Chief Sales Officer ของ Suzuki Motor Corporation
เล่าให้ฟัง ถึงเบื้องหลังในการพัฒนา Hustler ไว้ว่า…

“เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2011 เมื่อประธานใหญ่ Osamu Suzuki
กำลังนั่งรับประทานอาหารมื้อค่ำ ระหว่างเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ เขา
ได้พูดคุยกับลูกค้าของ Suzuki คนหนึ่ง ซึ่งเล่าถึงความทรงจำที่ดีของเขาอันมี
ต่อ รถยนต์แนว Crossover Kei-Car รุ่น Suzuki Kei ที่เขาเคยเป็นเจ้าของอยู่
เขาได้ถาม Osamu ว่า ทำไมถึงได้เลิกผลิตขายไป เขาอยากให้ Suzuki สร้าง
รถยนต์แบบนี้ออกมาขายอีกครั้ง”

เมื่อได้ยินดังนี้ Mr. Tamura ก็เลยพูดกับฝ่ายขาย และฝ่ายวิจัยของบริษัท
ให้ลองเริ่มต้นศึกษาหาความเป็นไปได้ในการพัฒนารถยนต์ Crossover
Kei-Car รุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น จากภาพสเก็ตช์จำนวนมาก ทีมวิศวกร Suzuki
ได้พัฒนา Hustler ขึ้นมาบนพื้นตัวถัง (Platform)  ของ K-Car ยอดนิยมใน
ญี่ปุ่นอย่าง Suzuki Wagon R จนสำเร็จเสร็จสิ้น กลายเป็นรถคันจริง

ส่วนชื่อรุ่น Hustler นั้น แปลจากภาษาอังกฤษว่า นักธุรกิจ,คนรีบเร่ง,คนทำงาน
อันที่จริง Suzuki ตัดสินใจยกเอาชื่อรุ่นของ จักรยานยนต์ที่พวกเขาเคยทำขาย
ในช่วงทศวรรษ 1970 กลับมาใช้อีกรอบ

อย่างไรก็ตาม คำว่า Hustler นั้น ไม่ได้แปลความในด้านตรงตัวเพียงอย่างเดียว
มันยังถูกแปลออกไปในเชิงภาษาสแลง ได้อีกด้วย แถมความหมาย ก็ชวนให้
เข้าถึงโลกด้านมืดกันเสียจริงๆ

เพราะชื่อ Hustler นั้น…นอกจากจะเคยเป็นชื่อของนิตยสารปลุกใจเสือป่าจาก
สหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ 1960 แล้ว คำว่า Hustler ยังแปล (อย่างสุภาพที่สุด
เท่าที่จะเขียนให้อ่านกันตรงนี้ได้ว่า….) หญิงขายบริการทางเพศ!!

เอิ่ม…..Dark side เกิ๊นนนน!

Suzuki เผยโฉม Hustler เป็นครั้งแรก ในงาน Tokyo Motor Show 2013
เมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2013 ในรูปแบบของ รถยนต์ที่พร้อมจะออกสู่ตลาดจริง
และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทั้งในญี่ปุ่น และต่างชาติจำนวนมาก

หลังจากนั้น Hustler ก็ถูกเปิดตัว อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2013
และเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2014 โดยมี 3 ระดับการตกแต่ง
5 Grade หลัก รวม 14 รุ่นย่อย ราคาล่าสุดในเดือนมกราคม 2014 นั้น รุ่นถูกสุด
A FWD 5MT ติดป้ายราคาไว้ที่ 1,078,920 เยน ส่วนรุ่น Top X Turbo CVT
CVT 4WD ราคาขยับขึ้นจากช่วงเปิดตัว เป็น 1,664,280 เยน

เห็นตัวเล็กสีสันจี๊ดจ๊าดอย่างนี้ Hustler ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะหลังจาก
ออกสู่ตลาดมาได้เพียง 10 เดือน Suzuki ก็ผลิตเจ้า Hustler ให้กับลูกค้าญี่ปุ่น
ไปแล้ว มากถึง 86,918 คัน (นับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2014)

ลูกค้าส่วนใหญ่ที่อุดหนุน Hustler มีความหลากหลายในด้านอายุ เพศ สถานะ
ครอบครัว ฐานะการเงิน รสนิยม และหน้าที่การงาน มากกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป
หากคุณเดินทางไปญี่ปุ่น ในช่วงปี 2014 – 2015 เชื่อได้เลยว่า อย่างน้อยๆ จะ
ต้องมี 1 วันในทริปนั้น ที่คุณ จะมีโอกาสพบเห็น Hustler มากกว่า 2-3 คัน ใน
สถานที่ซึ่งแตกต่างกันออกไป

ไม่เพียงแค่ขายดี แต่ Hustler ยังชนะใจสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น ด้วยการคว้ารางวัล
2015 RJC’s Car Of The Year จาก คณะกรรมการนักวิจัยและสื่อมวลชนด้าน
ยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น Automotive Researchers’ and Journalists’
Conference of Japan (RJC) อันเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NPO
(Non-Profits organization) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2014 มา สดๆร้อนๆ

Hustler มีตัวถังยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 สูง 1,665 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,425 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า – หลัง (Front & Rear
Thread) อยู่ที่ 1,290 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งคู่ ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้
ท้องรถ (Ground Clearance) รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ อยู่ที่ 180 มิลลิเมตร แต่
รุ่น 4WD จะอยู่ที่ 175 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถัง เบามาก มีตั้งแต่ 750 กิโลกรัม
ในรุ่นถูกสุด A 2WD 5MT จนถึง 870 กิโลกรัม ในรุ่นแพงสุด X Turbo CVT
Full Time 4WD

ด้วยระยะฐานล้อที่ยาว และการวางตำหน่งล้อรถ ไว้ที่มุมตัวถังรถทั้ง 4 ด้าน
ทำให้ Hustler มีมุมไต่ 28 องศา และมีมุมจาก ถึง 46 องศา สำหรับการ
ลุยไปบนพื้นผิวไม่ค่อยเรียบได้อย่างไม่ถึงกับต้องหวั่นใจนัก

เส้นสายทั้งคัน มาในแนวกล่องติดล้อ เหมือนกับ Lapin แต่ถูกตกแต่งให้ดู
โฉบเฉี่ยว เปรี้ยวปรี๊ด เป็นตัวของตัวเองในสไตล์ Mini Crossover SUV
สำหรับการใช้ชีวิตนอกเมืองหรือในเมืองเป็นประจำทุกวัน บ่งบอกถึง
Life Style ของคนที่รักชีวิตอิสระ และมีความสุขในสิ่งที่ตนได้ทำ ทุกวัน

เพียงแต่ในบางครั้ง เส้นสายของ Hustler ชวนให้นึกถึง SUV สุดแปลกตา
แนว Funky & Tough อย่าง Toyota FJ Cruiser อยู่มิใช่น้อย ว่ากัน
ตามตรง มันเหมือนจับเอา FJ Cruiser มาย่อส่วนทำหน้าแอ๊บแบ๊ว วิ่งเล่น
แถวๆ ย่าน Harajuku ต่อไปถึง Shibuya เลยทีเดียว

มองอีกนัยหนึ่ง Hustler คือ คำตอบที่ว่า ถ้าหาก Suzuki ต้องการจะสร้าง
Toyota FJ Cruiser ในเวอร์ชันคันเล็ก ตามสไตล์ของตนเอง มันจะออกมา
เป็นแบบนี้แหละ!

ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Discharge Headlamp พร้อมระบบเปิด – ปิด ไฟหน้า
อัตโนมัติ กระจกบังลมหน้า ตัดแสง UV Cut มีไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้างมาให้

ซุ้มล้อทั้ง 4 ประดับด้วยกาบพลาสติกสีดำ ช่วยเสริมบุคลิกให้ตัวรถ ดูพร้อม
จะเป็นเพือนคู่คิดมิตรข้างกายเจ้าของรถ ในทุกเส้นทางและสถานที่ ด้วย
เส้นสายการออกแบบในสไตล์ ดุนิดๆ แต่เป็นมิตรเอาเรื่อง ทำให้ Hustler
โดนใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก

ทุกรุ่นสวมยางขนาด 165 / 60R15 แต่ในรุ่น X อันเป็นรุ่นย่อยตัวท็อป ที่เรา
ลองขับกัน จะติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว ลายปลาดาว สีเงิน ตัดสีดำปัดเงา

จุดขายสำคัญอยู่ที่ สีตัวถัง กับสีของภายในห้องโดยสาร สามารถเลือกสรรให้โดนใจ
ตรงกับความต้องการของคุณได้เยอะมากกกกกก

สีตัวถังหลัก เป็นสีที่ใช้ร่วมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆของ Suzuki ในญี่ปุ่น มีทั้งหมด 8 สี
แต่เมื่อรวมกับสีพิเศษ สำหรับ Hustler โดยเฉพาะอีก 3 สี ก็จะมีสีตัวถังให้เลือกกัน
ได้มากถึง 11 สี!!

ไล่จากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา เริ่มจาก 3 สีสุดจี๊ด ได้แก่ Passion Orange (A7K)
อันเป็นสีโปรโมท ใครเลือกสีนี้ จะได้แผงหน้าปัดสีส้มและเบาะนั่งที่ขลิบด้วย ด้ายสีส้ม
เพียงสีเดียวเท่านั้น

ตามด้วย สี Summer Blue Metalic (A7M) (ได้เบาะนั่งที่เย็บด้วยด้ายสีน้ำเงิน)
และสี Candy Pink Metallic (A7L) (ได้เบาะนั่งที่เย็บด้วยด้ายสีชมพู) ทั้ง 3 สีนี้
จะมีเฉพาะหลังคา สีขาว แถมมาให้เพียงอย่างเดียว ไม่มีหลังคาสีเดียวกับตัวถัง

ส่วนสีตัวถังถัดมา จะมีเฉพาะหลังคาสีดำให้เลือกเท่านั้น ได้แก่สีแดง Phoenix
Red Pearl (A6R) สีเงิน Steel Siver (A7R) และ สีขาว Pearl White (A7P)

อีก 5 สีที่เหลือ จะเป็นสีแบบ Monotone ปกติ ทั้ง สีน้ำตาล Maple Brown Pearl
Metallic (ZSF) สีกากี Cool Khaki Pearl Metallic (ZVD) สีเงิน Steel Siver
(ZVC) สีขาว Pearl White (Z7T) และ สีดำ-น้ำเงิน Bluish Black Pearl (ZJ3)

เท่ากับว่า สีเงิน และสีขาว จะเป็น 2 สีเท่านั้น ที่คุณจะเลือกได้ว่า ต้องการพ่นหลังคา
สีเดียวกับตัวถัง หรือสีดำเงา ไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสี ยกเว้นสีส้ม แผงหน้าปัด
จะเป็นสีขาว Pure White พร้อมด้ายเย็บเบาะสีขาว เท่านั้น เหมือนกันทั้งหมด

กุญแจเป็นแบบรีโมทคอนโทรล Smart Keyless Entryพร้อมระบบกันขโมย แบบ
ร้องเตือน คุณสามารถเดินเข้าใกล้รถแล้วกดปุ่มสีดำ บนมือจับเปิดประตูคู่หน้า หรือ
ประตูห้องเก็บของด้านหลัง เพื่อเปิดเข้าสู่ตัวรถง่ายดาย และเมื่อถึงที่หมายแล้ว ก็
ดับเครื่องยนต์ ปิดประตูหลังออกจากรถ แล้วกดปุ่มสีดำ สั่งล็อกอีกครั้งหนึ่ง เหมือน
กับ Toyota Yaris รุ่นก่อน ทุกประการ

มือจับเปิดประตูจากภายนอก ดูเหมือนบอบบาง แต่ประกอบมาแน่นหนากว่าที่คิด
เมื่อเทียบกับ Honda Brio !!

การเข้าออกตัวรถจะมาในสไตล์เดียวกับรถยนต์ทรง Tall Boy คันอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา
ไม่ว่าจะเป็น Nissan Cube หรือ Suzuki Lapin คือช่องทางเข้า – ออก นั้น เป็น
แบบ สี่เหลี่ยม ซึ่งโดยพื้นฐาน ก็เอื้อต่อการเข้า – ออก อย่างสะดวกสบายอยู่แล้ว ยิ่งพอ
Hustler ถูกยกพื้นรถให้สูงขึ้นตามสไตล์รถยนต์ Crossover ทำให้ระยะการลุกขึ้นจาก
เบาะ หรือนั่งลงบนเบาะ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมมากๆ ถูกใจผู้สูงอายุ ที่มีปัญหา
การลุกเข้า – ออกจากรถอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้คนทุกเพศทุกวัย ก็ไม่น่ามีปัญหาอันใด กับ
การขึ้น – ลงจากรถคันนี้แน่ๆ

จุดเด่นของ Hustler อยู่ที่งานออกแบบภายในห้องโดยสาร ซึ่งเน้นความอเนกประสงค์
และความทนทานในการใช้งานเป็นหลัก แต่ต้องมาพร้อมกับรูปลักษณ์ ที่ดูเสมือนเป็น
อุปกรณ์คู่ชีพเจ้าของรถ ยิ่งเห็นมือจับประตูก็พอทำเนาได้ว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ
รถคันนี้ต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งบ่อยแน่ๆ เพราะตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูนั้น วาง
ท่อนแขนได้พอดีๆ อีกทั้งมีชองใส่เอกสารข้างแผงประตูมาให้ น่าเสียดายที่ไม่ได้ทำ
ช่องวางขวดน้ำขนาดใหญ่มาให้เลย

เบาะนั่งคู่หน้า แม้จะเป็นแบบ Bench Seat หรือม้านั่งเชื่อมต่อกัน แต่สามารถแยกปรับ
เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 240 มิลลิเมตร ปรับให้แยกเหลื่อมล้ำกันได้ 160 มิลลิเมตร
ส่วนเบาะรองนั่งฝั่งคนขับสามารถปรับยก สูงขึ้นได้ 40 มิลลิเมตร ด้วยมือหมุนข้างเบาะ
รองนั่ง

ขอชมเชยเรื่องผ้าหุ้มเบาะของรถยนต์ที่ขายในญี่ปุ่นสักหน่อยเถอะ พื้นผิวสัมผัสที่ผม
เจอมา ส่วนใหญ่ จะแตกต่างจากเบาะรถในบ้านเราชัดเจน ต่อให้เป็นผ้าแบบแข็งๆ ที่
ต้องรองรับกิจกรรมอันสมบุกสมบันของลูกค้าชาวญี่ปุ่น มันก็ยังมีพื้นผิวที่แตกต่างอย่าง
โดดเด่น และใช้งานได้ดีจริง…ลายผ้าเบาะของ Hustler เอง ก็เป็นเช่นเดียวกันนี้

พนักพิงศีรษะ แม้จะขึ้นรูปด้วยฟองน้ำ ที่แน่นเอาเรื่อง แต่มันค่อนข้างแข็ง และแอบดัน
หัวของผมนิดๆ แต่ด้วยการปรับพนักพิงหลังได้อย่างละเอียดมากพอ ทำให้ผมสามารถ
หาตำแหน่งนั่งขับที่พอจะลงตัวกันได้ อย่างไม่ยากเย็นไปนัก จึงไม่ค่อยพบเจอปัญหา
พนักศีรษะดันกบาล

พนักพิง รวมทั้งเบาะนั่ง ใช้ฟองน้ำแบบนุ่มออกแนวนิ่ม จึงให้สัมผัสใกล้เคียงกับ
โซฟาในห้องรับแขก ซึ่งเป็นลักณะแบบเดียวกันกับเบาะนั่งของ Nissan Cube
รุ่นที่ 2 (2002 – 2010) พิงหล้ังแล้วสัมผัสได้ถึงความนุ่มลงไปในระดับหนึ่ง แต่ยัง
ไม่ถึงกับนิ่มย้วย  นั่งสบาย เหมาะกับการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือทางไกล
ก็ยังไม่มีอาการเหนื่อยหรือเมื่อยล้ามาให้พบเจอเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้นในแบบมาตรฐานปกติของรถญี่ปุ่นทั่วไป ใช้ฟองน้ำนุ่มๆ
จึงทำให้สัมผัสจากการหย่อนก้นลงไปนั่ง ค่อนข้างเอนเอียงไปทางนิ่มหน่อยๆ
แต่ไม่ถึงขั้น นิ่มจนทำให้ผู้ขับขี่จมลงไปกับเบาะแต่อย่างใด

พื้นที่เหนือศีรษะ โปร่งโล่งงงง สบายยยยย ในสไตล์รถยนต์ทรงกล่อง หลังคาสูง
ถ้าใครยังบอกว่า หลังคายังไม่สูงพอ ยังไม่โปร่งพอ ขอแนะนำว่า ไปหารถตู้ไซส์
ฝรั่ง อย่าง Citroen Jumper หรือรถเมล์ ขสมก.นั่งเอาเองเถอะครับ!!

เบาะนั่งคู่หน้า จะถูกคั่นกลางด้วย พนักวางแขน แบบยกพับเก็บได้ พร้อมช่องใส่ของ
แบบมีฝาปิดแบบล็อกมาให้ การวางแขนถือว่า ใช้งานได้จริง แม้ตำแหน่งวางแขนจะ
เตี้ยกว่าพื้นที่วางแขนบนแผงประตูคู่หน้า แต่ก็แค่นิดเดียวเท่านั้น

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับ สูง – ต่ำได้ แต่ตำแหน่งต่ำสุด
ก็ยังอยู่ใกล้กับซอกคอของผมมากไปนิดนึง

จุดเด่นของเบาะหน้ากึคือ ชุดพนักพิงเบาะหน้าฝั่งซ้าย สามารถพับลงมาให้แบนราบ
เพื่อใช้เป็นโต๊ะวางอาหารหรือเอกสาร รวมทั้ง วางแก้วน้ำ (ขณะจอดนิ่งสนิท) ได้ โดย
ต้องยกเบาะรองนั่งโน้มไปด้านหน้าเสียก่อน จึงจะพับพนักพิงลงมาได้แบบ 90 องศา

ระหว่างยกเบาะรองนั่งหงายขึ้น จะพบช่องวางของอเนกประสงค์ เหมาะสำหรับซ่อน
รองเท้า หรือข้าวของขนาดใหญ่ปานปลาง แถมมาให้เป็นพิเศษ เพิ่มความสะดวกใน
การใช้งานมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณควรถอดพนักศีรษะออกก่อนจะพับพนักพิงลงมา อีกทั้งในจังหวะที่จะ
ต้องหงายเบาะรองนั่ง ตรวจดูให้แน่ใจว่า ค่อยๆหงายขึ้น ไม่ไปโดน Flashdrive จน
จนเกิดความเสียหาย (อย่างเช่นที่ Flashdrive ของผม หักครึ่งมาแล้ว! จากการยก
เบาะรองนั่งแบบไม่ดูตาม้าตาเรือของผมเอง)

บานประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้มากถึง 80 องศา เพิ่มความสะดวกในการก้าวเข้า –
ออกจากเบาะหลัง ได้สบายเอาเรื่อง ตามสไตล์รถยนต์ทรงกล่องติดล้อ ทั่วไป

แผงประตูคู่หลัง ออกแบบให้มีช่องวางขวดน้ำ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง พร้อมตะกร้ายึด
รั้งข้าวของที่วางอยู่ มือจับประตูด้านใน ออกแบบเป็นสีส้ม หรือขาว ตาม Trim
ของห้องโดยสารที่เลือกไว้ ตามสีตัวถังภายนอก แม้จะติดตั้งอยู่ในระดับที่คุณ
สามารถวางแขนได้พอดี แต่มันก็ทำหน้าที่เป็นมือจับเปิดประตูมากกว่าจะช่วย
ให้คุณวางแขนได้ดีนัก ส่วนกระจกหน้าต่างคู่หลังนั้นสามารถเลื่อนขึ้น – ลง
ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ได้จนสุดรางขอบหน้าต่าง

เบาะนั่งด้านหลัง แยกชิ้น 2 ฝั่ง สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลังได้ด้วย
ก้านโยกใต้เบาะรองนั่ง เหมือนเบาะคู่หน้า แยกปรับเลื่อนได้อิสระจากกัน ส่วน
ฟองน้ำ ของชุดเบาะ ค่อนข้างนุ่ม ออกจะนิ่ม นั่งพิงหลังได้ พอสบายในระดับ
ยอมรับได้ แม้ว่าพนักพิงจะเล็กไปนิด พนักพิงหลังสามารถปรับเอนได้หลาย
ตำแหน่ง ตามความชอบใจ เพื่อเพิ่มความสบายขณะโดยสาร

พนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ แม้ว่าผมจะไม่ชอบรูปแบบของมัน แต่คราวนี้ให้อภัย
เพราะ บริเวณที่ต้องมาสัมผัสกับต้นคอของผม มันนุ่มจนนิ่มมาก ชวนให้นึก
ไปถึงความนิ่มระดับ ฟองน้ำล้างจานในห้องครัว

เช่นเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็นุ่ม และนิ่มเท่าๆกันกับเบาะคู่หน้า แต่ด้วยขนาดที่สั้น
กว่ากันชัดเจน ดังนั้น มันจึงเหมาะแก่การโดยสารของเด็กๆ กระนั้น ถ้าผู้ใหญ่
ไซส์มหึมาอย่างผมจะนั่ง ก็ยังพอสบายได้อยู่

ส่วนพื้นที่วางขานั้น หายห่วงครับ ระยะฐานล้อยาวขนาดนี้ และการย้ายตำแหน่ง
ล้อรถ ไปไว้เกือบสุดมุมตัวถังทั้ง 4 ด้านแบบนี้ ช่วยเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารให้ยาว
และทำให้พื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย วางขาได้
สบายๆ แม้ตัวคุณจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม ผมเองยังนั่งไขว่ห้างได้โดยไม่ต้องปรับ
เลื่อนเบาะหน้าขึ้นไปแต่อย่างใดทั้งสิ้น! มันยาวพอกันกับ Nissan TIIDA เป๊ะ
ยิ่งพื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องพูดถึง โปร่งระดับ 1 ฝ่ามือ สบายๆ หายห่วงเลยละ!

ถือเป็นเบาะหลังที่อเนกประสงค์มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาในรถยนต์ขนาดเล็ก
หลายๆรุ่น และอยากให้ผู้ผลิตหลายค่าย ดูตัวอย่างชุดเบาะของ Husetler ไว้ไปใช้
ปรับปรุงรถยนต์ขนาดเล็ก B-Segment Hatchback ของตน ในอนาคตกันเลยละ!

เบาะแถวหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อเพิ่มพื้นที่วางสัมภาระ
ด้านหลัง ให้มากขึ้น ช่วยให้พลิกแพลงรูปแบบการใช้งานได้อเนกประสงค์มากขึ้น
พนักพิงเบาะหลัง สามารถพับราบ เชื่อมต่อกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง ที่ออกแบบ
มาให้ยาวต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกัน

ฝาประตูห้องเก็บของเปิดขึ้นในแนวดิ่ง เหมือน SUV ทั่วไป ช็อกอัพไฮโดรลิก
2 ต้น ค้ำยันไว้ตามมาตรฐาน กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝนหลัง
พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก และไฟเบรกดวงที่ 3 ขนาดเล็กแบบ LED มาให้จาก
โรงงาน และมีไฟส่องสว่างบริเวณเพดานเหนือพื้นที่เก็บของด้านหลังมาให้ด้วย

ช่องทางเข้าห้องเก็บของ ดูเหมือนจะเล็ก แต่พอมาดูคันจริงแล้ว มันกว้างขวาง
พอจะใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้สบายๆเลยทีเดียว แถมขอบกันชนล่าง
ก็ยังค่อนข้างเตี้ย ทำให้คุณ ไม่ต้องออกแรงยกสัมภาระเข้ารถ มากนัก

ถึงแม้ว่า Suzuki จะไม่ได้ระบุขนาดและมิติพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มาให้
แต่มันใหญ่พอที่จะให้คุณแบกสารพัดข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในวันที่ต้องย้าย
ออกมาจากหอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ รวมทั้งแบกจักรยานได้ (แต่ควรขันน็อต
ถอดล้อหน้า ออก) ใส่กระดานวินด์เซิร์ฟ อุปกรณ์ตกปลา หรือบรรทุกสัมภาระ
อื่นๆ ที่ช้ในการทำมาหากินได้เยอะมาก

พื้นห้องเก็บของด้านหลัง เป็นแผงพลาสติกแข็งแบบพับได้ ตามรูปแบบของ
พนักพิงเบาะหลัง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และไม่ต้องกลัวพื้นผิวเป็น
ริ้วรอย (เพราะถ้าไม่ระวัง ยังไงก็เจอแน่ๆ)

Suzuki ไม่ติดตั้งยางอะไหล่มาให้ เพื่อต้องการประหยัดพื้นที่ แต่มีแม่แรง
ยกรถ พร้อมชุดปะยางสำเร็จรูป ใช้ครั้งเดียว มาให้ เพื่อใช้ในกรณียางรั่วซึม
มาในสไตล์เดียวกับรถยุโรป ในบ้านเรา ทั้ง BMW และ Mercedes-Benz

ผนังห้องเก็บของฝั่งขวา มีปลั๊กไฟ 12 V สำหรับเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือ
ไปจนถึงตู้เย็นขนาดเล็ก ในวันออกทริปต่างจังหวัด

การพับเบาะได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระได้มากเกินตัวของ Hustler
กลายเป็นจุดขายสำคัญ ที่ทำให้รถคันนี้ ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะช่วย
เพิ่มความหลากหลายในการใช้งานได้อเนกประสงค์มากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ Suzuki
ยังออกแบบ อุปกรณ์ Accessory ต่างๆมากมาย ให้ลูกค้าเลือกสั่งซื้อติดตั้งเพิ่มเติมได้
เพื่อให้เหมาะต่อการใช้งานในหลายรูปแบบ

การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ ก็ง่ายได้ แค่งัดจุกพลาสติกปิดรู ทั้งบริเวณเพดานหลังคา
กับผนังห้องเก็ของ ก็สามารถติดตั้งราง หรือตาข่ายต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ช่วยให้คุณ
นำ Hustler ไปตั้งแคมป์พักแรมตามต่างจังหวัด ไปเล่นกีฬาทางน้ำ ริมทะเล เล่น Ski
หรือ Snowboard แม้กระทั่งไปตกปลา ได้อย่างมีความสุข

แผงหน้าปัด ออกแบบในสไตล์ร่วมสมัย เอาใจคนใช้ชีวิตแนว Adventure ยุคใหม่
มีให้เลือก 2 สี คือ ขาว กับ ส้ม ขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอกที่คุณเลือก พลาสติกสีสวย
สดใสที่เห็นนั้น เป็น พลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastic) ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนา
ร่วมกันระหว่าง Suzuki และ Mitsubishi Chemical

คันเกียร์ ติดตั้งอยู่ติดกับสวิตช์เครื่องปรับอากาศ แบบอัตโนมัติ Digital ส่วนช่องแอร์
เป็นแบบวงกลม เฉพาะฝั่งซ้าย และขวา สามารถปิดพับได้ ขณะที่ช่องแอร์คู่กลาง
ยังคงเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง

ถือเป็นแผงหน้าปัดที่ออกแบบมาได้โดนใจผมมากที่สุด รุ่นหนึ่ง เท่าที่เคยเจอมาเลย
เพราะใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ พื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ดีมาก ทนไม้ทนมือพอดีๆ
ทำให้รถดู Premium มากยิ่งขึ้น

มองขึ้นไปบนเพดาน กระจกแต่งหน้าพร้อมไฟส่องสว่าง พร้อมฝาปิด ติดตั้งซ่อนไว้
ที่แผงบังแดด ครบทั้งฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสาร! แต่ไฟส่องสว่างภายในรถนั้น ยังคง
ยกชุดจาก Suzuki Swift มาใส่ให้ทั้งดุ้น ไม่ได้แยกไฟอ่านหนังสือ มาให้เลย

จากขวา มาทางซ้าย

สวิตช์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน โดยสวิตช์ฝั่งคนขับเป็นแบบ
One – Touch Auto เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยการกดหรือยกปุ่มเพียงครั้งเดียว มีสวิตช์
ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสาร และสวิตช์ปรับรวมทั้งพับกระจกมองข้างไฟฟ้า
ติดตั้งบริเวณ แผงวางแขนบนประตูฝั่งคนขับ

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ เป็น ช่องวางแก้ว แบบเลื่อนเข้า – ออกได้  มีปุ่มติดเครื่องยนต์
Push Start มาให้ ถัดลงไป เป็นช่องวางเศษเหรียญ แต่สำหรับตลาดญี่ปุ่น ช่องนี้
จะเตรียมไว้สำหรับติดตั้ง ระบบจ่ายค่าผ่านทางด่วนอัตโนมัติ ETC (Electronics
Toll Control) ซึ่งจะใช้บัตรเครดิตของระบบ เสียบเข้ากับตัวเครื่อง และตัวอ่าน
รับสัญญาณ (แตกต่างจากระบบ Easy Pass ของบ้านเรา ก็ตรงนี้ละ)

ถัดลงไป เป็นที่อยู่อาศัยของแผงสวิตช์ระบบต่างๆ จากซ้าย ไป ขวา เป็นสวิตช์
Heater อุ่นเบาะ ฝั่งคนขับ สวิตช์ เปิด – ปิด ระบบ Pre-Crash Redar System
(อ่านรายละเอียดได้ข้างล่าง) , สวิตช์ เปิด – ปิด ระบบ ESP Traction Control
(อ่านรายละเอียดได้ข้างล่าง) , สวิตช์ เปิด – ปิด ระบบ Auto Start – Stop ในชื่อ
Idling Stop (อ่านรายละเอียดได้ ข้างล่าง อีกเหมือนกันนั่นแหละครับ) และ
สวิตช์เปิด – ปิด ไฟตัดหมอกหน้า

ใต้คอพวงมาลัย มีช่องวางของแนวยาว ไว้สำหรับวางข้าวของขนาดล็ก แต่จะต้อง
หยิบใช้งานได้ง่าย  ส่วนคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้าอยู่ฝั่งขวา ดูเหมือนว่าติดตั้ง
มาดี แต่พอดึงจริง กลับง่อนแง่นคลอนไปมากง่ายมากๆ  ส่วนเบรกมือ ย้ายมาอยู่
เป็น แป้น เบรกจอด อยู่ฝั่งซ้าย ใช้วิธีเหยียบเข้าไป จนจมมิด เพื่อล็อกเบรกจอด
ไว้ แต่ถ้าต้องการจะถอนออก ให้เหยียบซ้ำลงไปลึกๆอีกครั้ง ก็ปลดเบรกจอดแล้ว

ก้านสวิตช์ ติดตั้งที่คอพวงมาลัย ฝั่งขวา ควบคุมใบปัดน้ำฝนหน้าแบบอัตโนมัติ
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบธรรมดา ก้านเดียว พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกหลัง

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนังมาให้ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ 30 มิลลิเมตร แต่
ไม่สามารถปรับเลื่อนระยะใกล้ – ห่าง จากตัวคนขับ (Telescopic) ได้ ในรุ่น X
และ X Turbo จะมีสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์ อยู่บนก้าน
พวงมาลัยฝั่งซ้ายมาให้

ชุดมาตรวัด มาในแนวแปลก มีขนาดเล็ก ดูผ่านๆอาจคิดว่ามีแค่มาตรวัดความเร็ว
เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว ด้านล่าง มีจอ Multi Information Display
แสดงทั้งมาตรวัดรอบ เกจ์วัดน้ำมัน อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบเฉลี่ย ระยะเวลา
ที่ระบบ Idle Start Stop ทำงาน ปริมาณน้ำมันที่ประหยัดได้ กี่มิลลิลิตร ตั้งค่า
ระบบต่างๆในรถ รวมทั้งแจ้งข้อมูลการทำงานของทุกระบบที่ติดตั้งในตัวรถ ตาม
จังหวะที่เราจะกดเลือกขึ้นมาดู

นอกจากนี้ จอ Multi Information Display ยังมี ลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ สลับสับ
เปลี่ยนให้คุณได้รับชมทุกครั้ง ตอนติดเครื่องยนต์ และทุกครั้งที่ดับเครื่องยนต์ จอ
จะแสดงคะแนนการประหยัดน้ำมัน ที่คุณขับได้ในทริปนั้นๆ ให้ดูกันเล่นๆอีกด้วย

ข่าวร้ายก็คือ ในเมื่อ Hustler มีขายเฉพาะในญี่ปุ่น ดันั้น หน้าจอเหล่านี้ จึงเป็น
ภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ เท่านั้น!!

แถบด้านบนของมาตรวัด จะเป็นแถบเปลี่ยนสีได้ คล้ายกับชุดมาตรวัดใน Honda
รุ่นใหม่ๆ ถ้าขับแบบประหยัดน้ำมัน จะขึ้นเป็นสีน้ำเงินให้ แต่ถ้ากดคันเร่งเต็มตีน
แถบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และถ้าถอนเท้าจากคันเร่ง หรือเบรก เพื่อชาร์จไฟกลับ
เข้าแบ็ตเตอรี ไฟจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล

ชุดเครื่องเสียง  เป็นวิทยุ AM/FM ฟังได้แต่คลื่นในญี่ปุ่น (76.0 – 90.0 MHz.) พร้อม
จอมอนิเตอร์สี ขนาด 6.2 นิ้ว มีช่องเชื่อมต่อ USB เพื่อเสียบ Flash Drive เรียกไฟล์
เพลง MP3 และ MP4 ขึ้นมาฟังได้ รวมทั้งเสียบเชื่อมกับเครื่องเล่น iPod หรือเครื่อง
เล่นเพลงต่างๆ ผ่านช่อง AUX (ทั้ง 2 ช่องนี้ ติดตั้งอยู่ใต้แผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศ
มีฝาปิดให้เรียบร้อย) มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System เชื่อม
ต่อกับ Bluetooth ของโทรศัพท์ Smartphone เพื่อรับสาย – โทรออก เล่นเพลงใน
มือถือ หรือ ใช้งาน Application ของระบบนำทาง บนมืถอือ แถมยังเชื่อมต่อกับกล้อง
มองหลัง ช่วยกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด (เส้นช่องจอด จะไม่เลี้ยวตามพวงมาลัย) มี
ลำโพงมาให้ 4 ชิ้น ติดตั้งที่แผงประตูด้านข้างทั้ง 4 บาน หน้าจอยังใช้งานสะดวกสบาย
แสนง่ายดาย เพราะออกแบบมาให้ดูคล้ายกับ โทรทัศน์ในยุค 1960 – 1970

คุณภาพเสียง ดีเกินกว่าที่คาดคิดไว้ เสียงเบสกำลังดี เสียงใส ก็กังวาล ไม่บาดหู
เป็นเครื่องเสียงติดรถยนต์จากโรงงาน ที่ดีที่สุดในบรรดา K-Car 660 ซีซี ที่ผม
เคยลองขับมาทั้งหมด ดีข้ามหน้าข้ามตา Celerio จนเทียบรัศมีได้กับเครื่องเสียง
ของ Swift เลยทีเดียว!

ข้อด้อย ก็มีอยู่บ้าง นั่นคือ แม้ว่าหน้าจอจะเป็นแบบ Touchscreen ใช้งานง่ายและ
ไวพอสมควร แต่ถ้าจะเลื่อนไฟล์เพลง กลับต้องกดปุ่มขึ้น และลง ที่ด้านข้างของหน้าจอ
ซึ่งไม่สะดวกนัก แทนที่จะสามารถเลื่อนนิ้วปรู๊ดไปเลย เหมือนหน้าจอของโทรศัพท์
Smartphone ในยุคนี้

สวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazzrd Light ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม สะดวกต่อการกด
ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแบบ Digital ที่มีสวิตช์
ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างดี ชวนให้เข้าใจได้ว่า วิศวกร คำนึงถึงน้ำหนักการกด และ
การหมุนลูกบิด อย่างดียิ่ง เพราะ สวิตช์ต่างๆ กดลงไปแล้ว ให้สัมผัสที่เหมือนกัน
กับบรรดารถยนต์ Premium จากยุโรป ยิ่งสวิตช์มือหมุนตรงกลาง สำหรับการปรับ
อุณหภูมิด้วยแล้ว ยิ่งหมุนได้น้ำหนักดีมาก หน่วงมือกำลังเหมาะ สุดแสนไฮโซ!
ติดตั้งอยู่ข้างคันเกียร์ อัตโนมัติ ในตำแหน่งที่ใช้งานได้สะดวกสบาย แต่แอบต้อง
ละสายตาจากถนน ลงไปมองหน้าจออยู่แว่บหนึ่งเหมือนกัน

ในวันที่อากาศร้อนจัด แอร์ทำงานได้ไวและเย็นในระดับที่ตั้งไว้ ไม่ได้เย็นเร็ว
จนหนาวเวอร์ แต่ในวันที่มีอากาศหนาว แอร์จะหนาวเร็วกว่าปกติ จนคุณต้อง
เปิดอุณหภูมิไว้ที่ เกิน 24 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และเปิดพัดลมแค่เบอร์ 1 พอ

ใต้ชุดเครื่องเสียง และสวิตช์ไฟฉุกเฉิน เป็นช่องใส่ของจุกจิกขนาดเล็ก  แต่ก็ใหญ่
พอที่จะวางโทรศัพท์ มือถือ หรือข้าวของอื่นๆ ในแนวนอนได้ เป็นตำแหน่งที่คน
ญี่ปุ่นมักใช้วางโทรศัพท์มือถือกันพอดี นับว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาด และ
เอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นอย่างดียิ่ง

ใต้แผงสวิตช์เครื่องปรับอากาศ และคันเกียร์ มีช่องใส่ของ จุกจิก ในแนวตั้งแถม
มาให้อีกตำแหน่งหนึ่ง รถคันนี้ ช่องเก็บของมีเยอะมาก ส่วนช่องวางแก้วนั้น ก็
มีมาให้ ใต้ช่องแอร์ทั้งฝั่งซ้ายสุด และขวาสุด เป็นแบบลิ้นชัก เลื่อนเข้า – ออกได้

มองไปทางฝั่งซ้าย มีช่องเก็บของ คั่นกลางช่องแอร์ ทั้งฝั่งซ้ายสุดและตรงกลาง
มีขนาดใญ่พอที่จะใส่กล้องถ่ายรูปแบบ Compact เข้าไปได้สบายๆ แต่ถ้าจะใส่
กล้อง DSLR แล้วละก็ ควรเป็นกล้องรุ่นเล็กมากกว่า

ฝาปิดของช่องวางของด้านบน สามารถใช้เป็น โต๊ะเล็กๆ วางจานแซนด์วิช หรือ
ขนมห้อเล็กๆ ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัม ได้สบายๆ

ถัดลงมา เป็นช่องวางของแบบไม่มีฝาปิด จะวางข้าวของอะไรก็ได้ทั้งสิ้น เสียดาย
ที่ไม่มีการติดตั้งแผ่นกันลื่นมาให้ ไม่เช่นนั้น คงใช้ประโยชน์ได้เยอะกว่านี้อีก

ส่วนกล่องเก็บของ Glove Compartment ติดตั้งไว้ล่างสุด มีฝาปิด เพียงพอเพื่อ
ใส่คู่มือประจำรถ และเอกสารทะเบียนรถต่างๆ เป็นหลัก

ทัศนวิสัยรอบคัน ถือว่า โปร่งตา สมกับการเป็นรถยนต์ทรงกล่อง ที่ถูกออกแบบมาให้
เอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง

มองไปทางด้านหน้าของรถ ยังพอมองเห็นฝากระโปรงหน้าอยู่บ้าง เสาหลังคาที่ยื่น
ออกไปจนสุด ทำให้ ตำแหน่งของกระจกบังลมหน้า ตั้งชัน แต่ช่วยให้แผ่นหลังคา
ยื่นลงมาบังไม่ให้แสงแดดมากระทบโดนมือขณะกำลังจับพวงมาลัย

ทัศนวิสัยฝั่งขวา เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ที่ยื่นล้ำออกไป แต่ยังต้องติดตั้งกระจก
มองข้างไว้ในตำแหน่งที่เห็นอยู่ จึงจำเป็นต้องติดตั้งกระจกโอเปรา (หูช้าง) จนอาจ
ขัดตาขัดใจลูกค้าบางคนที่มองว่า เหมือนรถยนต์ยุคเก่า ยังโชคดีที่เส้นสายภาพรวม
ของตัวรถ มันเข้ากันได้ดีอย่างลงตัวและกลมกลืน จึงยังอยู่ในจุดที่ยอมรับได้

เสาหลังคาด้านหน้า ฝั่งขวา ไม่ค่อยบดบังรถที่แล่นสวนทางมาในโค้งขวาแบบ
สวนกันสองเลน อย่างที่คิดไว้

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย  ไม่ได้บดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่คุณ
กำลังจะเลี้ยวกลับรถ อีกทั้งกระจกมองข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง ก็มีขนาดใหญ่โตกำลังดี
จึงช่วยเพิ่มการทองเห็นเพื่อนร่วมเส้นทางรอบคัน ได้อย่างโปร่งและโล่งตา

ส่วนทัศนวิสัยขณะถอยหลังเข้าจอด บอกได้เลยว่า โล่งงงงง ที่สุด และต่อให้
เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จะหนาประมาณนี้ ก็ไม่ได้บดบังจักรยานยนต์ที่
แล่นตามมาจากฝั่งซ้าย แต่อย่างใด คิดดูแล้วกันว่า มันโปร่งถึงขนาดว่า คุณ
จะเห็นได้เลยว่า คนที่นั่งอยู่ในรถคันที่แล่นตามมา เขาคิดอะไรกับคุณอยู่
เห็นสีหน้าแววตาได้ชัดเจนมาก

แหงสิครับเพ่! บั้นท้ายมันสั้นกุด ชนิดที่ว่า อีกนิดเดียว ก็ใกล้เคียงกับสุดยอด
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาติดล้อ อย่าง Honda Brkio Hatchback กันขนาดนี้
ถ้ามองไม่เห็นแววตาของรถคันข้างหลัง คุณก็คงต้องไปตัดแว่นสายตาใหม่ละ!

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลัง ของ Hustler แม้จะถูกจำกัดความจุกระบอกสูบไว้ที่ระดับ 660 ซีซี ตาม
ข้อกำหนด “รถยนต์ขนาดกระทัดรัด (Kei-Jidosha หรือ Kei-Car) ของรัฐบาล
ญี่ปุ่น เหมือนกัน แต่ Hustler ก็วางเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ที่แตกต่างจากบรรดา
Kei-Car คันอื่นๆ ของ Suzuki ที่ยังยืนหยัดกับขุมพลังรหัส K6A มาชั่วนาตาปี
ตั้งแต่ทศวรรษ 1990

ในญี่ปุ่น Hustler มีให้เลือก 2 ระดับความแรง บนพื้นฐานเครื่องยนต์เดียวกัน
คือรหัส R06A บล็อก 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 658 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
64.0 x 68.2 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
ที่หัวแคมชาฟต์ฝั่งไอดี VVT (Variable Valve Timing)

หากเป็นรุ่นย่อย A, G และ X มาตรฐาน จะมีกำลังอัด 11.0 : 1 กำลังสูงสุดแค่ 52
แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที

แต่ถ้าเป็นรุ่น G- Turbo และ X Turbo จะติดตั้ง Turbocharger ลูกเล็ก เพื่อ
ช่วยอัดอากาศ เพิ่มในช่วงรอบกลางๆ แน่นอนว่า เมื่อติดตั้ง Turbo เข้ามา ย่อมต้อง
ลดกำลังอัดลงด้วย เหลือ 9.1 : 1 แต่กำลังสูงสุด เพิ่มสูงขึ้น จนชนเพดานพิกัด และ
ข้อกำหนด K-Car ของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ 64 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด เพิ่มเป็น 9.7 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

ความพิเศษของขุมพลังบล็อกนี้คือ มันถูกเชื่อมต่อกับระบบ Idling Stop ซึ่งจะ
ดับเครื่องยนต์ เมื่อคุณเหยียบเบรก ขณะจอดติดไฟแดง และจะติดเครื่องยนต์
ขึ้นมาใหม่ให้เอง เมื่อถอนเท้าจากแป้นเบรก หรือเข้าเกียร์ P R และ N ทันที

เมื่อใดที่ระบบทำงาน หน้าปัดจะมีสัญลักษณ์สีเขียวแสดงขึ้นมา เหมือนกับ
ระบบเดียวกันใน Nissan March นั่นละครับ แต่หน้าจอแสดงข้อมูล จะบอก
เวลาที่ระบบทำงานอยู่ แถมมีรูปกราฟฟิคนาฬิกาทราย หมุนไปหมุนมา ให้คุณ
ดูเล่นระหว่างติดไฟแดงรอไปด้วย

กระนั้น การทำงานของระบบนี้ จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายนอก ถ้าร้อนเกินไป
เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาเอง ถ้าจอดรถบนทางลาดชัน มันก็ไม่ทำงาน แต่ถ้าคุณ
ต้องการปิดระบบนี้ทิ้ง ก็กดปุ่มที่ใต้ชองแอร์ฝั่งขวา ของคนขับ ได้เลย และเมื่อ
ถึงจุดหมายปลายทาง ดับเครื่องยนต์แล้ว หน้าจอมอนิเตอร์ จะโชว์คะแนนการ
ขับประหยัดน้ำมันของคุณ ให้ดูเล่นก่อนจากกันด้วยหน้าจอ Good Bye อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีระบบ “eNe-CHARGE”  ซึ่งเป็นระบบที่ดึงพลังงานจลย์จาก
การเบรก ไปปั่นไฟ แล้วส่งไปเก็บในแบ็ตเตอรี Lithium-ion เพื่อใช้หล่อเลี้ยง
ระบบเครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ

พูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนกับระบบ Hybrid ขณะเหยียบเบรก นั่นเอง เพียงแต่เป็น
ระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเครื่องยนต์สันดาป โดยเฉพาะ

ขณะที่ระบบ Hybrid นั้น เมื่อคุณเหยียบเบรก มอเตอร์ไฟฟ้า จะทำตัวเป็นเครื่อง
ปั่นไฟ Altenator ในตัว ส่งไฟไปเก็บไว้ที่แบ็ตเตอรีของระบบขับเคลื่อน Hybrid
ไว้ใช้งานตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ทั้งระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์ภายในรถ

แต่ระบบ eNe-CHARGE นั้น จะมีหลักการคล้ายกัน คือ เมื่อคุณเหยียบเบรก
พลังงานจลย์จากการเบรก จะถูกส่งไปยัง Generator ปั่นไฟ ไปเก็บไว้ใน
แบตเตอรี แบบ Lithium-ion ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย
เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับระบบเครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง และบรรดา
อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถทั้งหลาย เพื่อแบ่งเบาภาระของแบ็ตเตอรี ลูกหลักซึ่ง
ติดตั้งในห้องเครื่องยนต์

ทั้ง 2 ขุมพลัง เชื่อมต่อได้ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ
ตลอดเวลา (Full Time 4WD) มีในรุ่นย่อย A G กับ X

ทุกรุ่น ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ แบบอัตราทดแปรผัน CVT (Continuos Variable
Transmission) ซึ่งมีคันเกียร์ ติดตั้งอยู่บนแผงหน้าปัด มาให้เป็นมาตรฐาน
แต่ลูกค้าที่ซื้อรุ่น A และ G 52 แรงม้า (PS) ยังสามารถเลือกรุ่นเกียร์ธรรมดา 5
จังหวะ เพิ่มเติมได้

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ CVT นั้น เกียร์ D อยู่ที่ 4.006 – 0.550 : 1 (เกียร์ Low นั้น
อยู่ที่ 4.006 – 1.001 : 1 ส่วนเกียร์ High อยู่ที่ 2.200 – 0.550 : 1) เกียร์ถอยหลังอยู่ที่
3.771 : 1 และ อัตราทดเฟืองท้าย  4.572 : 1

ส่วนเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีอัตราทดดังนี้
เกียร์ 1…………………………..4.300
เกียร์ 2…………………………..2.470
เกียร์ 3…………………………..1.521
เกียร์ 4…………………………..1.093
เกียร์ 5…………………………..0.897
เกียร์ถอยหลัง……………………3.272
อัตราทดเฟืองท้าย………………4.937

ตัวเลขสมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม
คือ จับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับและผู้ร่วมทดลอง
อยู่ในช่วง 170 – 180 กิโลกรัม ตามปกติ (ขอย้ำกันตรงนี้ว่า คุณแพน ผู้ซึ่งหนักอึ้ง
ถึง 150 กิโลกรัม ในเว็บของเรา ไม่ได้ร่วมทดลองและจับเวลาแต่อย่างใดทั้งสิ้น)
ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับรถยนต์ Kei-Car ที่เราเคยทำการทดลองมา มีดังนี้

ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 2,000 รอบ/นาที
ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 2,500 รอบ/นาที
ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 3,200 รอบ/นาที

อธิบายกันนิดนึงว่า ปกติ แล้ว รถยนต์ ประเภท Kei-Car นั้น มักทำตัวเลขออกมา
ได้ประมาณนี้นั่นแหละครับ อย่าไปคาดหวังว่ามันจะแรงระเบิดระเบ้อกว่านี้เลย นี่ก็
เป็นตัวเลขของเครื่องยนตที่ไม่มีระบบอัดอากาศใดๆช่วย ต่อให้เป็นรุ่น Turbo
ตัวเลขก็น่าจะออกมาดีกว่านี้นิดหน่อย ไม่มากนัก

เหตุผลก็เพราะ K-Car แทบทุกคัน ถูกออกแบบมาขายเฉพาะในญี่ปุ่น ประเทศ
ซึ่งมีกฎจราจรเข้มงวด ไม่ให้ขับรถยนต์เกินกว่าความเร็วที่กำหนดตามป้าย ซึ่ง
ต่อให้เป็นทางด่วนข้ามเมือง ก็จำกัดความเร็วรถยนต์นั่งกันไว้ที่ 100 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ส่วน K-Car นั้น จำกัดไว้ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น
จึงก้มหน้าห้มตาพัฒนาใหตัวรถ มีอัตราเร่งในช่วง 0 – 60 และ 0 – 80 กิโลเมตร/
ชั่วโมง อันเป็นช่วงความเร็วที่คนญี่ปุ่นใช้งานกันบ่อยที่สุด เป็นหลัก ในการออกตัว
จากไฟแดง หรือพุ่งออกจากซอย เข้าสู่ถนนสายหลัก หรือทางด่วน ดังนั้น เมื่อเจอ
ช่วง 80 – 100 หรือ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เครื่องยนต์มักถูกเค้นอย่าง
หนักหน่วง ครางฮือๆๆๆ จนเกิดความรู้สึกสงสารเครื่องยนต์ขึ้นมาทันที

ดังนั้น ถ้ามองจากสิ่งที่ผมเจอมากับตัว Hustler มีอัตราเร่งที่ดีมาก ในช่วงความเร็ว
0 – 60 หรือ 0 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นเร็วเพียงพอแล้ว สำหรับการใช้งานในเมือง
อย่าง Tokyo ที่ต้องการความคล่องตัว เร่งรีบ แต่ต้องมีมรยาทและวินัยไปพร้อมๆกัน

ส่วนความเร็วสูงสุดของรถยนต์ประเภท Kei-Car 660 ซีซี นั้น ถูกกำหนดไว้ว่า
ไม่ให้เกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ Hustler ก็ทำตัวเลขออกมาได้พอดีเป๊ะ
เพียงแต่คุณต้องแช่คันเร่งยาวๆ ลากรอบเครื่องยนต์ไปจนถึง 6,000 รอบ/นาที
อย่างต่อเนื่อง อยู่นานเอาเรื่อง จึงจะไต่ขึ้นไปถึงตัวเลขที่เห็นอยู่นี้ได้ แถมยัง
อาจต้องมีกระแสลมช่วยส่งท้าย หรืออาจต้องกดคันเร่งแช่ยาวๆ สะสมความเร็ว
มาทั้งชีวิต ก่อนจะลงเนินส่งช่วยให้ตัวเลขขึ้นไปถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พอไปถึง Top Speed แล้ว ต่อให้คุณเหยียบคันเร่งนจมมิด และมาตรวัดรอบ
อยู่ที่ 6,000 รอบ/นาที แต่เครื่องยนต์จะใช้วิธี ตัดการจ่ายน้ำมัน จนรถมีอาการ
สะดุดนิดๆ เบาๆ ในช่วงความเร็วสูงสุด

ย้ำกันตรงนี้ เหมือนเช่นเคยว่า เรายังคง มีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม
ไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอง เพราะมันอันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อน
ร่วมใช้เส้นทาง แถมยังผิดทางกฎหมายจราจร อีกด้วย เราทำตัวเลขออกมาให้
ดูกันเพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริง และเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษา ด้านวิศวกรรม
ยานยนต์ สำหรับผู้ที่สนใจ เท่านั้น

ในการขับขี่จริง สมรรถนะของ Hustler นั้น แน่นอนครับ ว่า มันไม่ต่างไป
จากบรรดา Kei-Car 660 ซีซี ที่ผมเคยลองขับมาก่อนหน้านี้ เท่าใดนัก และ
ยังขึ้นอยู่กับว่า คุณจะมองมันจากมุมของใคร?

ถ้ามองจากมุมของคนที่ขับรถเร็วๆ รักการซิ่งเป็นชีวิตจิตใจ จะไม่ชอบจน
ถึงขั้นเกลียด Hustler และบรรดารถยนต์ Kei-Car อย่างแน่นอน ไม่ต้องสืบ
เพราะอัตราเร่งมันช่างอืดอาดยืดยาด เหยียบเข้าไป ต้องใช้เวลานานกว่าจะ
ไต่ขึ้นไปจนถึงความเร็วเพียงแค่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่…ในทางกลับกัน ถ้ามองในมุมของคนใช้รถยนต์ทั่วไป ไม่ได้รักรถยนต์
จนเข้าขั้นกรีดเลือดออกมาแล้วมีกลิ่นไอน้ำมันเครื่องติดมาด้วย เป็นเพียงแค่
คุณผู้หญิง หรือผู้ชาย อายุราวๆ 25 – 30 ปี ที่ซื้อรถมาขับ 1 คัน ใช้งานใน
ชีวิตประจำวันไม่ได้เร่งแซง หรือไปแข่งกับใครเขา ขอแค่ ออกตัวจากสี่แยก
ไฟแดงแล้วไม่โดนรถคันที่ขับตามมา บีบแตรไล่ ก็พอแล้ว จะมองรถคันนี้ใน
มุมที่แตกต่างออกไปมาก พวกเขา จะมองว่า อัตราเร่งช่วง 0 – 60 – 80
กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Hustler เพียงพอต่อการใช้งานของพวกเขาแล้ว

เพราะเมื่อขับขี่จริง ในสภาพการจราจร ของกรุงเทพมหานคร อัตราเร่ง ของ
เจ้าเปี๊ยกนี่ ก็เพียงพอที่คุณจะเหยียบคันเร่งเพียงแค่ 20 – 30% แล้ว หมุน
พวงมาลัย เบี่ยงรถพุ่งออกจากเลนเดิมที่ติดขัด ไปทางเลนซ้ายซึ่งเคลื่อนตัว
ได้ไวกว่า อาจจะต้องลุ้นกันอยู่บ้าง หากรถคันที่ขับตามมา พุ่งเข้ามาเร็วกว่า
รถของเเรา แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบเจอตลอด 2 สัปดาห์ที่อยู่กับรถคันนี้
บอกเลยว่า ถ้าเป็นคนเท้าไม่หนัก ขับรถเรื่อยๆ ช้าๆ สบายๆ กำลังเครื่องยนต์
ที่มีให้แค่นี้ ก็ถือว่า มากกว่าที่คาดไว้นิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดจะเร่งแซงใครก็ตาม ทางเดียวที่ทำได้คือ ตอนที่
รถยนต์ คันนั้น แล่นด้วยความเร็วคงที่ ไม่ควรเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จังหวะนั้น ถ้าต้องการเร่งแซง เหยียบคันเร่งสักครึ่งเดียว Hustler จะค่อยๆ
แซงขึ้นหน้ารถคันที่คุณอยากจะแซง ไปเนิบๆ แต่ก็ไวพอให้คุณรู้สึกได้
ว่า เออ มันก็พอมีแรงให้เรียกใช้อยู่บ้างนะ ในยามปกติทั่วไป

แต่ในยามคับขัน หากวันใดที่คุณรีบเร่ง บอกได้เลยว่า เหยียบคันเร่งเต็มตีน
สถานเดียว! ไม่ต้องคิดมาก กดไปเถอะ ดึงรอบเครื่องยนต์ไปใช้งานในช่วง
รอบสูงๆ ไปเลย ไม่เช่นนั้น คุณอาจจะแซงรถคันข้างหน้าไม่พ้น หรืออาจ
ต้องเสียจังหวะ การเร่งแซงไปเลย

Hustler รุ่น 52 แรงม้า (PS) นั้น มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้คุณเค้นสมรรถนะ
แบบ Swift Sport 1.6 ลิตร สักหน่อย มันเป็นพาหนะสุดเท่ ที่พาคุณลัดเลาะ
ตามตรอดซอกซอยในเมือง อย่างคล่องแคล่วเป็นที่สุด ต่างหาก

แต่ถ้าอยากได้ความแรงเพิ่มขึ้น เชื่อแน่ว่า รุ่นเครื่องยนต์ Turbo น่าจะให้อัตรา
เร่งแซง ที่จี๊ดจ๊าดกว่านี้อีกนิดหน่อย โดยเฉพาะในช่วงเร่งแซง

การเก็บเสียง เป็นอีกประเด็นที่ สร้างความประหลาดใจให้ผม เพราะถึงแม้ว่า
ในขณะขับขี่ เสียงกระแสลมที่ไหลข้ามาปะทะกับกระจกบังลมหน้า จะดัง
พอประมาณ ตั้งแต่ช่วงความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ยิ่งเร่งความเร็วขึ้น
เสียงลม ยิ่งผสมกับเสียงเครื่องยนต์ที่ถูกลากขึ้นไปในระดับ 4,000 รอบ/นาที
จะครางออกมาให้ได้ยิน จนเกิดความรู้สึก สงสารเครื่องยนต์ ขึ้นมาจับใจ ซึ่ง
เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เนื่องจากรูปลักษณ์ของกระจกบังลมหน้า ซึ่งตั้งชัน จึง
หลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ยาก

แต่ ถ้าไม่นับเสียงจากบริเวณกระจกบังลมหน้าแล้ว การเก็บเสียงภายในรถ
ทำได้ดีเกินคาด เพราะต่อให้ใช้ความเร็วสูงจนถึงระดับ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมก็ไม่ได้ยินเสียงลมเล็ดรอดเข้ามาตามยางขอบประตู และยางขอบหน้าต่าง
ของรถเลย “แม้แต่น้อย”

การออกแบบยางขอบประตูที่ค่อนข้างหนากว่ารถยนต์ระดับเดียวกันรุ่นอื่นๆ และ
ปิดทึบจุดที่อาจมีโอกาสทำให้กรแสลมเล็ดรอดเข้ามา ช่วยให้การเก็บเสียงใน
ห้องโดยสาร ทำได้ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ คุณยังไม่ต้องเร่งเสียงวิทยุ หรือ
เร่งเสียงพูดให้ดังขึ้น แม้จะใช้ความเร็ว ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง  ก็ตาม

กระนั้น นอกเหนือจากประเด็นด้านอัตราเร่งแล้ว ดูเหมือนว่า Hustler จะแอบมี
บุคลิก 2 อย่าง ที่ชวนให้ผมนึกถึงพี่ชายร่วมตระกูลอย่าง Celerio อยู่ไม่น้อย

เรื่องแรก คืออาการ “เย่อ” ของเกียร์ ขณะเหยียบคันเร่งเต็มตีน เพื่อไต่ความเร็ว
ขึ้นไป อาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่เครื่องยนต์ และเกียร์ CVT มีอุณหภูมิในระดับ
ทำงาน จนถึงขั้น ค่อนข้างร้อนขึ้น สังเกตว่า ช่วงติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ อาการจะ
ยังน้อย หรือแทบไม่มีเลย บางครั้ง อาการนี้จะโผล่มาให้เจอ แต่บางที ก็ไม่มี
เป็นๆ หายๆ อาการ “เย่อ” ที่เกิดขึ้นนี้ บอกให้ผมรับรู้ได้ทันทีเลยว่า เกียร์ของ
Hustler น่าจะเป็นผลงานอันลือลั่นของผู้ผลิตเกียร์อย่าง Jatco แหงๆ! เพราะ
พวกเขา เคยฝากผลงานประมาณนี้เอาไว้ ทั้งในเกียร์ของ Celerio และแม้แต่
คู่แข่งค่ายอื่น อย่าง Mitsubishi Mirage กับ Attrage และ Nissan March กับ
Almera มาแล้ว!

เรื่องที่ 2 ก็คือ พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า
EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 4.6 เมตร ที่มีนิสัยใกล้เคียงกับ
พวงมาลัยของ Celerio มากๆ คือ ทื่อ ไร้ชีวิตชีวา ตอบสนองไม่เป็นธรรมชาติ

จริงอยู่ว่า ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะมีน้ำหนัก เบากว่า Celerio เพียงแค่
นิดเดียวเท่านั้น มีความหนืด และขืนมือ พอประมาณ เหมาะกับรูปแบบตัวรถ
น้ำหนักพวงมาลัย ถือว่าใกล้เคียงกับรถยนต์ ECO Car ในบ้านเราหลายๆรุ่น
ช่วยให้เลี้ยวกลับรถ หรือถอยหลังเข้าช่องจอดได้ง่ายดายบังคับเลี้ยว ลัดเลาะ
ไปตามสภาพการจราจรที่ติดขัด แบบเคลื่อนตัวสลับหยุดนิ่ง ได้สบายๆ แต่ก็
ไม่ได้เบาหวิวขนาดใช้นิ้วชี้หมุนพวงมาลัยได้เลย แบบ รถเก๋ง รุ่นใหญ่อย่าง
พวก Nissan Sylphy หรือ Toyota Corolla Altis รุ่นปี 2008

แถมในช่วงความเร็วสูง ถ้าคุณแล่นอยู่บนถนนพื้นิวเรียบกริบยางมะตอยหรือ
พื้นปูนเรียบ ไร้พื้นผิวแบบคลื่น ในวันที่ลมไม่แรง จนแทบไม่มีกระแสลมมา
ปะทะด้านข้าง พวงมาลัยของ Hustler จะแอบนิ่งกว่า Celerio นิดเดียว ต่อให้
คุณสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ แม้จะใช้ความเร็วสูงถึง 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ก็ตาม เพียงแต่ว่า คุณจะทำเช่นนั้นได้แค่ ไม่เกิน 5 วินาที เหมือนกับ
Celerio

เปล่าครับ ไม่ใช่เพราะความเสียวอันเกิดจากตัวรถสูงโย่ง และช่วงล้อแคบจนเกิด
อาการโคลง ทว่า มันเป็นเพราะ ระยะ On Center Feeling ที่มาในแนวเดียวกัน
กับ Mitsubishi Mirage และ Toyota Corolla Altis ปี 2008 คือ แม้จะยัง
ไม่ต้องคอยแต่งพวงมาลัย ไปทางซ้ายที ขวาที เพื่อรักษาตำแหน่งให้รถยังคงแล่น
ตรงไปตามเลนถนนอยู่ตลอด อย่างที่ผมต้องทำใน Celerio

กระนั้น พวงมาลัยมันก็ช่างตอบสนองได้ ทื่อ ไร้ชีวิตชีวา ทำตัวเหมือนเครื่องไฟฟ้า
มากกว่าที่จะเป็นพวงมาลัยที่ดี มันมีบุคลิกของพวงมาลัยที่ใช้เพาเวอร์แบบไฟฟ้า
สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป มาเต็มเปี่ยม จนผมแอบส่ายหัวในบางครั้ง เพราะ
ผมต้องการความแม่นยำกำลังดี บางครั้ง ตอบสนองช้าไป เสี้ยววินาที ฃ

นอกจากนี้ ระยะฟรีของพวงมาลัย ที่มีเยอะ แม้จะรู้ว่าตั้งใจทำมาเผื่อกรณีเปลี่ยนเลน
กระทันหัน วิศวกรเองคงไม่ต้องการให้พวงมาลัยไวเกินเหตุ มิเช่นนั้น รถอาจจะเสีย
การทรงตัว พลิกคว่ำได้ง่าย จริงครับ ว่าปัญหาหนึ่งที่ถูกแก้ไขไป มันย่อมส่งผล
กระทบไปถึงการเลี้ยวเข้าตรอกซอกซอย อยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าคุณเคยขับ Suzuki Swift หรือ Honda Brio มาก่อน ในทางเลี้ยวตำแหน่ง
เดียวกัน คุณจำเป็นต้องเพิ่มวงเลี้ยวมากขึ้นอย่างกระทันหัน และคุณจะสัมผัสได้ว่า
ช่วงที่หมุนพวงมาลัยเพื่อเลี้ยวรถ บางจังหวะ มอเตอร์ของระบบผ่อนแรง จะทำงาน
ไม่ทันต่อการหมุนพวงมาลัยอย่างกระทันหัน นั่นจึงทำให้คุณพบว่า สั่งให้เลี้ยวไป
ทิศทางใด มันจะเลี้ยวแบบไม่ค่อยเต็มใจเลี้ยว และต้องเพิ่มการหมุนอีกนิดหน่อย

ไม่เพียงเท่านั้น พวงมาลัยยังเฉื่อยๆ ไม่เฉียมคม ทื่อๆ และถ้าเลี้ยวกลับรถ พวงมาลัย
จะไม่หมุนคืนกลับมาตั้งล้อให้ตรงเอง หรือแม้แต่การเข้าโค้งบนทางด่วนต่อเนื่องยาวๆ
เลี้ยวเข้าโค้งแล้ว พวงมาลัยจะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่คุณเลี้ยวนั่นแหละ จะไม่ยอมคืนตัว
กลับมาเอง คุณต้องหมุนกลับช่วย ในสไตล์เดียวกันกับพวงมาลัยของ Mitsubishi
Triton และ Mirage  แต่ถ้าคุณหมุนเลี้ยวไม่สุด มันจะยอมหมุนคืนกลับให้คุณบ้าง

ระบบกันสะเทือนก็ยังใช้ของรวมหม้อข้าวเดียวกันกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า
ทุกรุ่นของซูซูกิ โดยด้านหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลัง แบบ ITL
(Isolated Trailing Link)

ในช่วงความเร็วต่ำ ระดับคลานในเมือง บอกได้เลยว่า ถ้าคุณเซ็ตลมยางไว้ตามค่า
มาตรฐานจากโรงงานคือ 35 psi คุณจะสัมผัสได้ถึงทุกรอยต่อถนน และหลุมบ่อ
ขนาดเล็ก แต่นั่นยังอยู่ในเกณฑ์พอยอมรับได้ ถ้าผมจะทนไม่ได้ ก็มีแค่ช่วงที่
ต้องแล่นผ่าน แถบเตือนคนขับรถ ที่ตีเป็นเส้นยาวแนวขวาง หลายๆแนวต่อกัน
บนพื้นถนน นั่นละครับ ต้องขับรูดผ่านไปด้วยความเร็วเกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จึงจะยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าลดลงมาเหลือ 30 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะ
เกิดอาการสั่นสะท้าน จนทำให้แผงหน้าปัด สั่นกระพรือพร้อมๆกันได้เลย!

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเซ็ตช่วงล่างมาในแนวนุ่มออกนิ่ม ทำให้การใช้ความเร็ว
30 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล่นผ่านพื้นผิวถนนที่มีลักษณะเป็นลอนคลื่นถี่ๆ
ต่อเนื่องกัน คุณจะรู้สึกราวกับนั่งอยู่บนช่วงล่างแบบ พรม Aladdin The
Magic carpet ride เลยทีเดียว! มันดูดซับแรงสะเทือนแบบนั้นได้ดีกว่ามาก
อย่างน่างุนงง

พอใช้ความเร็วสูงตั้งแต่ 80 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าไม่มีกระแสลมมาปะทะ
ด้านข้าง บอกได้เลยว่า ช่วงล่างค่อนข้างนิ่ง และนิ่ม แล่นตรงๆไปได้โดยไม่มี
ปัญหาอะไรทั้งสิ้น ต่อให้แซงรถพ่วง 18 ล้อ ก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรหนักหนา

ส่วนในช่วงเข้าโค้งนั้น หากอยู่ในโค้งขวารูปเคียว เหนือมักกะสัน บนทางด่วน
หรือบนทางโค้งรูปเคียว ซ้ายแล้วหักขวา บนทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ จาก
ทางมอเตอร์เวย์ ผมใช้ความเร็วระดับ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง พา Hustler เข้าโค้ง
ไปอย่างเรียบเนียนได้อยู่ แต่อย่าได้เจอรอยต่อพื้นผิวทางด่วน หรือเจอพื้นผิวไ
ม่เรียบในโค้งนะครับ ตัวรถจะออกอากาศดิ้นไปตามโค้งทันที

ทั้งหมดนี้ บอกเลยว่า นอกเหนือจากการเซ็ตช่วงล่าง ที่เน้นเอาไว้ขายคนญี่ปุ่น
เพียงอย่างเดียวแล้ว ยังเกี่ยวกับขนาดของหน้ายางติดรถ ที่เล็กและแคบเกินไป
อีกด้วย

สรุปว่า หากคุณขับเรื่อยๆ ใช้งานในชีวิตประจำวัน ช่วงล่างของ Hustler เอาอยู่
แต่จะนุ่มออกนิ่มย้วยยวบยาบ เพราะต้องเซตมาเอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่ถ้าต้อง
ซัดหนักๆแรงๆ แล้วละก็ คุณต้องใช้ทักษะการควบคุมรถที่มากกว่าปกติ ถึงจะ
ประคับประคองรถได้สบายๆ

ระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS และ
ระบบกระจายแรงเบรก EBD

การออกแบบให้จานเบรกมีขนาดเล็กเท่าชามข้าวนังเหมียว แถมจานเบรกก็ยัง
มีขนาดใหญ่กว่าแผ่น CD นิดเดียว ช่วยลดทอนความมั่นใจในการเบรกลงไป
พอสมควร

แป้นเบรกมีระยะเหยียบค่อนข้างยาวและลึกมากกกก ถ้าเหยียบเบรกลงไปราวๆ
ครึ่งเดียว ดูเหมือนว่า เบรกแทบจะยังไม่จับตัวด้วยซ้ำ ต้องเหยียบลงไปลึกจนแทบ
เหลืออีก 30% ก็จะสุดระยะแป้นเหยียบ เบรกจึงจะทำงาน น้ำหรักแป้นเบรกก็ยัง
ถือว่าเบา คุณจำเป็นต้องเผื่อระยะเบรกให้ไกลกว่าปกติอยู่มาก เป็นการดี

กระนั้น ถ้าถึงเวลาต้องเบรกกันจริงๆ ระบบเบรกของ Hustler ถือว่าทำงานได้ดีอยู่
แม้ว่าจะต้องหน่วงความเร็งลงมาจาก 100 เหลือ 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเวลาคับขัน
ก็ตาม

ถ้ารถคันนี้จะถูกส่งมาขายบ้านเรา ระบบเบรก ควรปรับปรุง ให้ทำงานไวกว่านี้
จานเบรกและคาลิเปอร์เบรก มีขนาดที่ พอจะยอมรับได้ แต่ถ้าใหญ่กว่านี้อีกสัก
1 เบอร์ ก็น่าจะดี แต่หม้อลมเบรก ควรเพิ่มขนาดให้ใหญ่กว่านี้ อีกสักหน่อย

ถึงจะเป็นเพียงแค่รถยนต์ขนาดเล็กระดับ Kei-Car แต่อุปกรณ์ความปลอดภัย
ของ Hustler ก็ไฮเทคล้ำหน้าไปไกลกว่ารถเก๋งประกอบในประเทศไทยมากมาย
เพราะ Suzuki จัดข้าวของมาให้ เอาใจชาวญี่ปุ่นอย่างครบถ้วน

ได้แก่ ระบบ Redar Brake Support สั่งเบรกเองในขณะขับคลานๆตามไปใน
สภาพการจราจรติดขัด หากผู้ขับขี่ ก้มตัวลงไปหยิบของ และลืมมองรถคันข้างหน้า
เรดาห์ที่แปะไว้ด้านบนสุดของกระจกบังลมหน้า จะอ่านระยะห่างจากรถคันข้างหน้า
ถ้าใกล้เกินไป แต่คนขับไม่ยอมเหยียบเบรก ระบบจะร้องเตือน หากยังไม่เหยียบ
แป้นเบรกอีก ระบบจะสั่งเบรกเองทันที ในความเร็วช่วง 5 – 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
(ไม่เกินนี้) พร้อมเปิดไฟฉุกเฉิน Emergency Stop Signal ให้รถคันข้างหลัง
ที่แล่นตามมารับรู้ว่า กำลังเบรกกระทันหันอยู่ แบบ Mercedes-Benz เลย!

Redar ตัวเดียวกัน ยังใช้งานร่วมกับระบบป้องกันการพุ่งชนอาคารข้างหน้า
หากรถจอดหยุดนิ่ง และ Redar ตรวจเจอว่า หน้ารถจอดอยู่ใกล้กับอาคาร
หรือกำแพงในระยะที่มากเกินไป ระบบจะร้องเตือนผู้ขับขี่ให้เหยียบเบรก
แต่ถ้ายังไม่เหยียบ ระบบก็จะสั่งเบรกหยุดรถเองได้ทันทีเช่นกัน ป้องกัน
ปัญหา การใส่เกียร์ผิด แล้วพุ่งเข้าชนร้านสะดวกซื้อ อันเป็นอุบัติเหตุที่
เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในญี่ปุ่น (รถคันที่เราลองขับ ติดตั้งระบบนี้มาด้วย!!)

ระบบ Hill Hold Control รักษาแรงดันน้ำมันเบรกไว้บนทางลาดชันไว้ให้
ในขณะที่คุณผู้อ่าน ปล่อยเท้าจากแป้นเบรก ไปเหยียบคันเร่ง ส่วนรุ่น 4WD
จะมี ระบบช่วยคลานขณะลงเนิน Hill Descent Control และระบบช่วย
ควบคุมการหมุนของแต่ละล้อทั้ง 4 บนพื้นลื่น Grip Control หากล้อใด
หมุนฟรี ก็จะส่งแรงเบรกไปที่ล้อนั้น และไปหมุนล้ออื่นๆที่ยังจับเกาะกับพื้น
ถนนได้ดี เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ ถือเป็น Kei-Car รุ่นแรกใน
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ติดตั้งระบบนี้

นอกจากนี้ ยังมีระบบป้องกันการลื่นไถล ขณะเข้าโค้งหรือบนถนนลื่น ESP
(Electronic Stability  Program) มาพร้อมกับปุ่มเปิด – ปิดระบบ
รวมทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบลดแรงปะทะ และ
ดึงกลับอัตโนมัติ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX
ติดตั้งบนโครงสร้างตัวถังนิรภัย TECT (Total Effective Control
Technology)  ที่ออกแบบให้พื้นที่ด้านหน้า ยุบตัวง่าย ลดผลกระทบ
จากการชนคนเดินถนนให้บาดเจ็บน้อยลง

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เห็นเครื่องยนต์ เล็กขนาดนี้ หลายคนคงเข้าใจว่า มันน่าจะประหยัดน้ำมัน แต่บางที อาจ
ต้องทำความเข้าใจกันสักหน่อย ว่า แท้จริงแล้ว เครื่องยนต์ที่เล็ก ดูแสนประหยัด หากต้อง
แล่นในความเร็วที่สูงเกินไป มันก็จะไม่ได้ประหยัดมากเท่าที่คาด แต่ยังพอจะกินน้ำมัน
น้อย เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วๆไป

เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95
Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS
อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ถึงจะเป็นแค่ K-Car 660 ซีซี แต่ในเมื่อ เป็นรถยนต์นั่ง พิกัดเครืองยนต์ ไม่เกิน 2,000 ซีซี
ดังนั้น จึงเข้าข่ายมาตรฐานของ Headlightmag.com ที่จะต้องเติมน้ำมันกันแบบ “เขย่ารถ”
เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปในถัง ไม่ให้เหลืออากาศอยู่ในถังเลย

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกปากซอย
โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ
จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะเลี้ยวกลับย้อน
ขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ

“ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน”

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่
ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน เพื่อ
เติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ด้วยวิธีเขย่าอัดกรอกน้ำมันให้เต็มถัง เหมือนครั้งแรก

มาดูผลลัพธ์ที่ Hustler ทำได้กันดีกว่า

รุ่น X CVT 52 PS FWD ล้อ 15 นิ้ว
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 94.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 5.66 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.76 กิโลเมตร/ลิตร

เห็นตัวเลขแล้ว หลายคนก็คงสงสัยอีกแหละว่า ทำไมไม่เห็นประหยัดน้ำมันมากมายเลย
ตัวเลขที่ออกมา ประหยัดจริง แต่ก็ทำได้เท่าๆกับ รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีเครื่องยนต์ใหญ่โต
กว่านี้

ก็นี่แหละครับ คือข้อพิสูจน์ว่า เครื่องยนต์ขนาดเล็ก บางที ใช่ว่าจะประหยัดน้ำมันเสมอไป

เหตุผลสำคัญนั้น เพราะว่ารถยนต์ K-Car ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในเมืองและวิ่งทางไกล
ได้ตามกฎหมายญี่ปุ่น ซึ่งก็วิ่งได้ ระหว่าง 60 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่เกินนี้ แต่ในเมื่อ
Headlightmag มีมาตรฐานการทดลองแบบนี้กันอยู่ เราจึงต้องยึดถือการทดลองแบบเราไว้
เป็นหลัก ตัวเลขจึงสะท้อนออกมาว่า แม้ใช้ความเร็วเท่ากันแต่ถ้ารอบเครื่องยนต์ หมุนสูง
เราก็คงต้องทำใจกับตัวเลขที่ออกมากันครับ

K-Car นั้น เขาทำออกมาให้ประหยัดน้ำมันสูงสุด ที่ความเร็วช่วง 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เราซัดเข้าไป 110 มันก็ต้องกินน้ำมันกว่าปกตินั่นเอง!

กระนั้น น้ำมัน 1 ถัง ของ Hustler ก็พาผมแล่นไปไหนต่อไหนได้มากถึง 550 กิโลเมตร
ทั้งที่ขับกันเร็วกว่าการใช้งานปกติของคนญี่ปุ่น ถ้าขับแบบประหยัดๆ Hustler น่าจะทำ
ตัวเลขระยะทางได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร/ น้ำมัน 1 ถังเลยทีเดียว ถังที่ถังน้ำมันใหญ่แค่
35 ลิตร!!!!!

นี่สิ ถึงจะเรียกว่า ประหยัดในความเป็นจริง ของจริง!

********** สรุป **********
ถ้ามาไทย ขอ 1,300 ซีซี ตัวถัง Wide Body ราคาตัวท็อป ไม่เกิน 600,000 บาท!

เป็นเวลายาวนานถึง 2 สัปดาห์เต็ม ที่ผม ตาแพน และ The Coup Team ของ
Headlightmag.com ใช้ชีวิตอยู่กับ K-Car คันกระเปี๊ยก ลัดเลาะไปตามถนน
สายต่างๆในกรุงเทพมหานคร พบปะเพื่อนฝูง ผู้คนเยอะแยะมากมาย เพื่อสอบถาม
ความคิดเห็นจากทั้งคุณผู้อ่าน จากคนที่ไม่รู้เรื่องรถมากนัก ไปจนถึงปฏิกิริยาจาก
บรรดาปุถุชนที่ผ่านไปา (Passer by) หรือผู้มาประสบพบเจอกับผม และรถคัน
สีฟ้านี้โดยบังเอิญ

หลากความคิดเห็นที่พบ หลายความรู้สึกเมื่อได้สัมผัส ต่างล้วนแล้วแต่เกิดความ
รู้สึกชอบพอในรถคันนี้ “อย่างมาก” จนถึงขั้นตั้งคำถามเดียวกัน โดยมิได้นัดหมาย
มาก่อนเลยว่า

“รถคันนี้จะมาขายในเมืองไทยหรือไม่ และราคาเท่าไหร่?”

เป็นคำถามที่พบบ่อยระดับที่สมควรต่อการนำมาสรุปเป็นหัวข้อที่เรียกว่า
FAQ (Frequently Ask Question) กันเลย

อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด และมันยังมีสารพัดแนวทาง
แห่งความเป็นไปได้มากมาย ที่รออยู่

ทำไมถึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด?

เหตุผลมันมีมากมายครับ

1. แรกเริ่มเดิมที Hustler ถูกออกแบบขึ้นมาให้รองรับกับความต้องการของ
ลูกค้าชาวญี่ปุ่น เพียงประเทศเดียว ดังนั้น สมรรถนะที่มีอยู่ จึงเหมาะสมกับ
การใช้งานของชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก เท่านั้น

2. พูดกันอย่างเปิดอกเลยก็คือ Suzuki Motor Thailand เอง ก็ไม่เคยมี
แผนการนำ Hustler เข้ามาประกอบขายในบ้านเรามาก่อน เพราะยังไม่ค่อย
มั่นใจว่าคนไทยจะยอมรับ และอุดหนุน รถยนต์หน้าตาแปลกๆ แบบนี้หรือไม่

3. การนำ Alto Lapin Chocolat ควงคู่กับ Hustler เข้ามาอวดโฉมใน
งาน Motor Expo ที่ผ่านมา ทำให้เราได้พบปฏิกิริยา จากผู้เข้าชมงาน ที่
ต่างเรียกร้องให้ Suzuki นำรถยนต์แบบนี้ มาประกอบขายในไทยเสียทีเถอะ

ความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ มันเลยเริ่มบังเกิดขึ้นจากจุดนี้แหละ!

ถ้าพูดกันตรงๆ ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กในเมืองไทย มันยังมีช่องว่างอยู่
และยังไม่มีผู้ผลิตค่ายใด กล้าจะสร้างความแตกต่างออกมา เพื่อฉีกแนวไป
จากการทำตลาดรถยนต์รูปแบบเดิมๆ น่าเบื่อ ๆกันเสียที

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่พบเจอมา ผมเชื่อว่า ยังมีลูกค้ากลุ่มชาย หรือหญิง
อีกจำนวนไม่น้อย ทีพร้อมจะทุ่มเงินเก็บมาทั้งก้อน เพื่อรถยนต์หน้าตาน่ารักๆ
เท่ๆ บ่งบอกบุคลิกของตนเองให้คนทั่วไปได้รับรู้ มีคุณภาพการขับขี่ ที่ดีใช้ได้
เพียงพอกับการเดินทางไปทำงานในเมือง และออกต่างจังหวัด กลับบ้านเกิด
บ้าง ปีละ 1-2 ครั้ง มีอัตราเร่งที่แรงกำลังดี แต่ประหยัดน้ำมันเยอะๆ ภายในรถ
ต้องอเนกประสงค์ดุจ Honda Jazz แต่มีค่าตัวราวๆ ไม่เกิน 600,000 บาท

หลายคนที่พอรู้จักว่า K-Car มีความจุแค่ 660 ซีซี ถึงขั้นบอกเลยว่า มันเพียงพอ
แล้วละสำหรับพวกเขา ถ้าเอาเข้ามา คันละ 500,000 บาท เขาก็จะซื้อทันที โดย
ไม่ลังเล! แม้อีกหลายคนยังมองว่า กำลังเครื่องยนต์ เล็กเกินไปก็ตาม

ถ้าต้องเปรียบเทียบกันระหว่าง Alto Lapin กับ Hustler แล้ว แม้ว่าหลายๆคน
จะชอบความน่ารักของ Lapin จนหลงหัวปักหัวปำหัวทิ่มหัวตำ แต่ถ้าต้องมอง
ถึงความเหมาะสมแล้ว Hustler ดูเข้าท่ากว่าทันที เพราะสิ่งที่ผู้หญิงจำนวนมาก
อยากได้จากรถยนต์รุ่นใหม่ๆ คือตำแหน่งเบาะนั่งที่สูงกำลังดี เพื่อที่จะได้มอง
เห็นถนนข้างหน้าชัดเจน  อีกทั้งภายในห้องโดยสาร ต้องกว้างสบาย เผื่อจะ
พาเพื่อนฝูง ร่วมเดินทางกันไปด้วยอีก 3 คน พอถึงจุดนี้ Hustler ดูมีภาษีดีกว่า
Lapin ขึ้นมาในบัดดล เพราะ Lapin ไม่อเนกประสงค์พอสำหรับคนส่วนใหญ่

ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่ Hustler จะถูกส่งมาขายในบ้านเรา?

คำตอบก็คือ…เป็นไปได้ เพราะลูกค้่าชาวไทยเอง มีจำนวนไม่น้อยที่อยากได้รถแบบนี้

แต่ถ้าจะมาเมืองไทย มันควรจะมาในรูปแบบไหน? ถึงจะโดนในคนไทยที่สุด?

สิ่งที่จะต้องปรับปรุง ถ้า Suzuki คิดจะนำ Hustler มาขายในบ้านเราอย่างจริงจัง มีอยู่เพียง
ไม่กี่ประเด็นเท่านั้นเอง และนั่นเป็นข้อจำกัดที่ท้าทายมาก

1. ขนาดตัวถัง ต้องขยายให้กว้างขึ้น จาก 1,475 เป็น 1,680 มิลลิเมตร

จริงอยู่ว่า บรรดาผู้คนรอบข้างผม แทบทุกคน ขึ้นมานั่งบน Hustler แล้ว ไม่รู้สึกว่ามันแคบ
หรืออึดอัดแต่อย่างใด แต่นั่นก็เป็นผลมาจาก การออกแบบตัวรถให้มาเป็นทรงกล่อง และมี
หลังคาสูงโปร่ง ต่างหาก

เอาเข้าจริงแล้ว ขนาดตัวถังแบบนี้ ยังแคบไปสักหน่อย สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการ
รถยนต์นั่งได้ 5 คนสบายๆ ดังนั้น การขยายตัวถังให้กว้างขึ้นกว่าเวอร์ชันญี่ปุ่น จึงจำเป็น
อย่างยิ่ง

ถ้าจะอธิบายให้คนญี่ปุ่นที่ Suzuki ฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ จับ Hustler มาขยายตัวถัง
ให้เป็นแบบ Wide Body  นั่นเอง เหมือนเมื่อครั้งที่พวกเขา เคยทำกับ Wagon R รุ่นแรก
ในช่วงปี 1993 ก่อนจะมี Wagon R Wide ขุมพลัง 1,000 ซีซี ตามออกมา ในปี 1995

ในทางปฏิบัติ ชิ้นส่วนตัวถังที่ต้องขยาย มีทั้ง ฝากระโปรงหน้า แผ่นหลังคา ผนังกั้นห้อง
เครื่องยนต์ กับห้องโดยสาร พื้นตัวถังด้านล่าง ซึ่งอันที่จริงแล้ว พื้นตัวถังของ Wagon R
ที่ Hustler ใช้อยู่ ก็รองรับการปรับประยุกต์ตามขนาดตัวถังกันได้เลยด้วยซ้ำ

2. ขนาดเครื่องยนต์ ต้องขยายให้เป็น 1,200 – 1,300 ซีซี

คนไทยซีเรียสกับพละกำลังของเครื่องยนต์ ว่าจะขึ้นดอยอ่างขางไหวหรือไม่ มากพอกัน
เมื่อเทียบกับความประหยัดน้ำมัน ทั้งที่ตั้งแต่ซื้อรถมา พวกเขา ไปเที่ยวดอยอ่างขาง ด้วย
ความถี่ 5 ปี / 1 ครั้ง!! (แล้วจะเรียกร้องเพื่อ???)

ชาวญี่ปุ่น ไม่ต้องมาถามเลยครับว่าคนไทยอยากได้เครื่องยนต์แบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง
แรง หรือประหยัด เพราะความจริงแล้ว ลูกค้าคนไทย อยากได้เครื่องยนต์ที่มีคุณสมบัติหลักๆ
ครบทั้ง 2 ข้อดังกล่าวในเครื่องเดียวกัน โดยไม่มีข้อแม้หรือข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ดังนั้น พิกัด
เครื่องยนต์ที่คนไทยจะยังพอยอมรับได้คือ ตั้งแต่ 1,200 – 1,300 ซีซี ขึ้นไป

แต่ในเมื่อ Suzuki ลงทุนกับเครื่องยนต์ บล็อก 1,200 – 1,300 ซีซี ในบ้านเราอยู่แล้ว นั่นจึง
ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการนำขุมพลังดังกล่าว มาวางลงใน Hustler เวอร์ชันไทย เพื่อ
ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเข้าข้อกำหนดของโครงการ ECO Car Phase 2

3. ปรับปรุงพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ให้ตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติกว่านี้ โปรดอย่า
ให้มันเหมือน หรือใกล้เคียงกับพวงมาลัยของ Suzuki Celerio อย่างที่เป็นอยู่ เพราะ
น้ำหนักพวงมาลัยถือว่า ยอมรับได้ ขาดแค่เรืองความต่อเนื่อง ความแม่นยำ ลดอาการ
พื้นฐาน ของมอเตอร์พวงมาลัยไฟฟ้า ลงไป จะช่วยให้การบังคับควบคุม แม่นยำขึ้น
และเอาใจคนทุกเพศทุกวัยได้เพิ่มขึ้นอีก

4. ช่วงล่าง ตึงตังสไตล์สปอร์ตก็จริง แต่ยังแอบโหวงๆ ในช่วงความเร็วสูง หากปรับ
แก้ไขให้ลดความตึงตังเวลาขับผ่านหลุมมบ่อนต่างๆ แต่เพิ่มความหนึบแน่นในช่วง
ความเร็ว 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีกว่านี้ น่าจะทำให้ผู้ชายจำนวนไม่น้อย
ปันใจมาอุดหนุน Hustler เวอร์ชันไทย 1,300 ซีซี ได้เยอะขึ้นแน่ๆ

5.แป้นเบรกลึกเกินนนน! เพิ่มขนาดจานเบรกหน้า และดรัมเบรกหลังให้ใหญ่ขึ้น
ปรับปรุง แป้นเบรก ให้หนืดขึ้นอีกนิดเดียว แต่ เบรกต้องไม่ลึกขนาดนี้ ควรจะ
ต้องเหยียบลงไปราวๆ 20% ก็เจอเบรกแล้ว ไม่ใช่ต้องให้เหยียบลงไปลึกมากถึง
80% ระบบเบรกจึงจะเริ่มทำงาน แบบนี้!

6. ทำราคาให้ได้ ระหว่าง 400,000 – 600,000 บาท

Suzuki ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้นำการลดต้นทุน ที่ยังทำให้ตัวรถยนต์ออกมาดูดี น่าซื้อหา
มาขับขี่กัน ถึงขั้นอดีตผู้บริหารเก่าของ General Motors อย่าง Robert Stemple
เคยยอมรับในฝีมือของ Osamu Suzuki มาแล้ว ดังนั้น ด้วยการบริหารจัดการแบบของ
Suzuki จึงทำให้เรามั่นใจได้ว่า ต่อให้ขายในราคานี้ Suzuki ก็จะยังมีกำไรต่อคัน ระดับ
ที่พออยู่ได้แน่นอน และราคานี้ ก็เป็นตัวเลขที่ผู้คนแทบจะส่วนใหญ่ บอกกับผมว่า เขา
จะยินดีซื้อ Hustler ต่อเมื่อ ราคาอยู่ในช่วงนี้เท่านั้น

วิธีที่พอจะช่วยให้ ราคาต่ำได้ขนาดนี้ คือต้องนำมาประกอบขายในบ้านเรา และพยายาม
ใช้ชิ้นส่วน Local Content ให้เยอะๆ รวมทั้งหาทาง ส่งออกจากเมืองไทย ไปขายใน
กลุ่มประเทศทางยุโรป ด้วย หากจะทำตลาดเฉพาะในเขต ASEAN ไม่น่าจะรอด เพราะ
รสนิยมของลูกค้าในประเทศละแวกย่านนี้ ยังค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เกินกว่าจะเปิดใจ
ยอมรับรูปแบบเส้นสายของ Hustler ได้

ถ้ายังกลัวว่าตำแหน่งการตลาดของ Hustler อาจจะเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อนกับ Swift อยู่บ้าง
ก็ต้องบอกเลยว่า ถ้า Swift รุ่นต่อไป สวยพอ และ Hustler ก็เจ๋งพอ ทั้ง 2 รุ่นนี้ จะไม่แย่ง
ตลาดกันเองมากนัก อย่างที่วิตกกังวล เพราะ ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ 2 รุ่นนี้ จะมีความคิด และ
การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว

ปัจจุบัน คนที่ซื้อ Swift จะตัดสินใจด้วยอารมณ์เป็นหลัก คือ ซื้อเพราะชอบเส้นสาย
ภายนอกรถ และคุณภาพการประกอบ กับวัสดุ แต่ คนที่จะซื้อ Hustler นั้น น่าจะเป็น
คนที่ ทันโลก ทันกระแส แต่อยากได้ความแตกต่างจากผู้คนทั่วไป อีกทั้งเป็นคนไม่
ขับรถเร็ว แต่ต้องการรถยนต์ที่มีพวงมาลัยหนักเบากำลังดี ไม่โหวงเกินไป ช่วงล่าง
ต้องไม่แข็งหรือไม่นุ่มจนเกินไป

หากทำได้ตามสูตรที่ผมสรุปให้ บอกเลยว่า ยอดขายระดับ 1,000 คัน/เดือน เท่าๆ
Swift มีให้เห็นกันแน่ๆ ไม่ต้องมานั่งลุ้นกันเป็นหมาหอบแดดอย่าง Celerio ใน
ทุกวันนี้

ขอเพียงแค่ ชาวญี่ปุ่นของ Suzuki ทั้งในเมืองไทย และที่ Hamamatsu กล้าที่จะ
ทำตัวให้แตกต่าง เหมือนอย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วในญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้ง เลิก
หวาดวิตกในเรื่องไม่เป็นเรื่อง เพียงเท่านี้ Hustler ก็จะเข้ามาขายในเมืองไทยได้
แล้วการตอบรับจากคนไทย ตลาดรถยนต์ปราบเซียน ที่ไม่เหมือนตลาดแห่งใด
ในโลกใบนี้ ก็จะเป็นไปตามที่ทุกคนวาดฝันไว้

ถ้าไม่เชื่อ…ก็ลองดูสิ!!

———————————///——————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

บริษัท Suzuki Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง

————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของทั้งผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
13 มกราคม 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 13th,2015 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE

ENGLISH SUMMARY

The following review is based on manufacturer’s setup for Japanese market.
Hustler in available only for its home market.


Suzuki Hustler – Will Japanese K-Car be a viable choice for the ASEAN market?
Summary by Pan Paitoonpong

First of all, let me introduce you to the definition of “K-Car”. It is actually
spelled “Kei-Car” where Kei is the short form of “Kei-Jidosha” which means
a small compact car. K-car isn’t a new automotive category. It has been
around in Japan since late 40’s. Unfortunately for the automakers
back then, the engine capacity was no larger than your grandma’s scooter.
In addition, there were safety issues which, ironically, have to do with the size
of the car. But then came the 80s, the Government wanted to boost
sales of smaller cars, so they allowed automakers to enlarge the engine
capacity to 550 c.c., and then to 660 c.c. in the 90s. This brought in
much wider variety of cars from Suzuki, Honda, Daihatsu and many more.
Due to limitations, the body length must not exceed 3,400 mm and no
wider than 1,475 mm. Most K-Cars are as roomy as a tin can to canned
Mackerel, with an exception of high-roof variant though. They have been
roaming cities in Japan, supported by relatively low price, low fuel
consumption and plus, you do not need to have your own registered
parking space. Because in Japan, you have to provide evidence that
your car will have a legal parking space, with the exception of K-Car.

Now, with heaps of appreciation to Mr. Wallop from Suzuki Thailand,
headlightmag.com became the first of automotive press in Thailand
to drive this Hustler. But please bear in mind that Suzuki did not
speak of assembling or importing this model to Thailand and this Blue
car you see here is one of two Hustlers brought in just to be displayed
on Suzuki’s stand at Bangkok Motor Expo 2014. However, in the future
(Mr. Wallop didn’t say how near or far) Suzuki may consider engineering
the wide-body version with more powerful engine for the ASEAN market.

So, it’s time to catch a Hustler.

It has a considerably small dimension at 3,395×1,475×1,665 (LxWxH in mm).
The wheelbase length is 2,425 mm. Its tallboy design will fool you into thinking
it’s a larger car than what numbers suggest. I parked it in front of my sister’s
Swift 1.2GLX and they both look like cars of the same segment.  Getting in
and out is easy like most cubical cars such as Nissan Cube. I’m 183 cm tall
and weigh above 130 kg but still find hopping in Hustler an easy task. Doors
are so tall and open so wide you could almost have your St.Bernard dog jump
through the cabin left to right in one shot. And that “One shot”, I can say it
confidently because the car is less than 1.5 m wide. This may not be a problem
if your body is as small as Rihanna’s, but when you drive along with your
friend on left side you’ll constantly find his shoulder rubbing against yours.

But that’s about it. You won’t have trouble with either headroom or legroom.
Hustler’s roof is high and engine bay is very small while all four wheels are
pushed out to each corners, leaving ample space for passengers of four
to enjoy. Seats are soft enough for you to sit hours in traffic with just little numb
and cover with high-quality fabric. In fact, the whole interior appears to have
been assembled with higher grade material than what we have seen from
Honda Brio, and I’ll say it almost looks more attractive than its bigger brother,
The Swift. The blue car like ours gets while decorative plastic while orange
car will get..umm.. orange plastic.

Furthermore, there is a long list of standard equipments. There is Push Start
button, Keyless GO, Automatic Climate Control, Central touch screen with
navigation system (sadly we couldn’t use it because it has only Japan map
installed), leather-covered steering wheel with multifunction buttons.

Sounds familiar to most top-spec 1.2L Ecocars? It isn’t over yet.

You get double front airbags, Electronic Stability Program, Hill Hold Control
which helps to sprint uphill from stand-still without going backward. Plus,
Radar Brake Support similar to the system found in European cars.
But it will work at the speed below 30km/h so it is only helpful when you’re
crawling in traffic and your eyes are on the latest Facebook posts rather than
the road ahead. When the car in front stops, Hustler’s radar will detect that
and if you’re not hitting the brake soon enough, the car will do that for you.

This same radar is also used to prevent the car from accidentally crash into
a convenience shop. The system work most effectively in Japan, where radar
and computer controlled device work with sensors installed in FamilyMart
convenience store. If the car is parked in front of the store, the computer
will know and it will monitor if you accidentally floor the gas pedal with
transmission in “D”, the throttle will be locked close. In short? no matter
how hard you try to ram up the store, the car will not do so. You got that?

Of course, it’s an economical car so you also get Regenerative Braking
System and Idle-Stop as standard features.

Enough about papers and specs, let’s go for a drive.

As many of you may have expected, this is a car built for commuting in
a big city. So you have a light steering feel with ratio quick enough for
lane changing and making a U-turn in a crowded place. Its 660 c.c. 52PS
engine pulls reasonably well for a car this size. The suspension is a bit
wobbly and on any road that’s less than perfect you can feel almost every
detail of bumps, rocks, repairs, or gutter covers. Of course, it is no match
for Swift in terms of refinement but in some cases, like on a B-grade road
with not many potholes, Hustler’s suspension could still manage to
provide a level of comfort. Let’s just say that your gradmother should not
complain about it being too harsh. If you can put up to Suzuki Celerio
you should have no problem riding in a Hustler at all.

Then, you head for the highway, pay the toll, and smash the throttle.
That’s where the weaknesses are revealed. With only 52 horsepower and CVT,
expect nothing but a high pitch whurr of the engine, orchestrated by a soprano
coming from CVT transmission. Both of them work hard to haul a boxy
Hustler to 100km/h in 19.89 sec, and 80-120km/h in 20.76 sec. Apologize
for optimistic folks but there is no surprise here. No one shall buy a K-Car
and expect entertainment behind the wheel. Try to push the car to the limit
and you’ll be sorry for doing so. The steering which was light around town
will not respond well to fast input like slalom running. The CVT, after hard
acceleration, will somehow jerk fore and aft while you continue to accelerate.
This is the same behavior I found in my sister’s Swift, only worse.

However, it will glide along lorries and tour bus quite well at 110km/h.
The top speed is 140km/h, which is reasonable for its power. If you want
something with 660c.c. and run like a mad bull, you should consider buying
superbike, shouldn’t you?

How about fuel consumption? Despite many people’s general idea about a
smaller capacity engine, Hustler did 16.76 km/l in our test. On this same route
we recorded similar number from Swift. So a running on a long trip with
constant speed of 110km/h isn’t what K-Cars are built for, and our test proved it.
But in city-drive reality, a 35-liter tank will pack enough fuel for 550 km if you
don’t go that fast. It seems that if we can reduce the speed to 70-80km/h, there
is a tendency for Hustler’s consumption to become better compare to 1.2L cars.
My sister’s Swift 1.2 will also reach 550km, albeit with more fuel zipped.

In conclusion, the Hustler make it known to our team that K-Car is actually
more dependable than what we thought. It will haul a gang of four to shopping
center, drive you to your office on weekdays, and even take your family to
Pattaya via motorway. But limitations do exist. You should cross the word “FUN”
out of your driving dictionary when in Hustler. This is the car built to satisfy
those who demand attractive styling, low in-city fuel consumption, and especially
for people whose 90% of driving is in town. The question is, how much will
people want to pay for this kind of car? Will you buy it if one day Suzuki decide
to build a wide-body version with 1.0-1.2L engine and sell it at the same price
to Swift? Some of us says that’s what they’re willing to pay for it. To me, the
more universal functionality of 1.2L Ecocar seems a logically better choice.

– – – – – – – – – –