ไม่แน่ใจว่าปีนี้เป็นปีอะไร ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เดือน ผู้บริหารระดับเทพนักการตลาดแห่งตำนานฝั่งอเมริกาอย่า Lee Iacocca ก็เพิ่งจากไปตามสังขาร แล้วก็ตามมาด้วยข่าวการเสียชีวิตของ Ferdinand Karl Piëch ซึ่งเพิ่งจะได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากครอบครัวเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 27 สิงหาคม 2019 (ตามเวลาในประเทศไทย)

ครอบครัวของ Piëch  เปิดเผยว่า เขาเสียชีวิตในขณะที่อยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งใน Bavaria จากนั้นก็เกิดอาการมึนและล้มลงทั้งยืน จึงถูกนำตัวส่งคลีนิคแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ โดยมีการระบุเวลาเสียชีวิตอย่างเป็นทางการคือช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางครอบครัวและญาติยังไม่ให้ความเห็นใดๆเพิ่มเติม ณ ขณะนี้

Ferdinand Karl Piëch  เป็นหลานของ Ferdinand Porsche ผู้ซึ่งเป็นวิศวกรชาวออสเตรียที่ให้กำเนิดรถสปอร์ตแบรนด์ Porsche เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1937 ที่เมือง Vienna ประเทศออสเตรีย เป็นบุตรของ Louise Porsche (ลูกสาวของ Ferdinand Porsche) กับ Anton Piëch ทนายความ ซึ่งต่อมาได้คุมโรงงานของ Volkswagen ใน Wolfsburg ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

Piëch จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรรมจากสถาบัน Swiss Federal Institute of Technology ที่เมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีงานวิทยานิพนธ์จบการศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับรถแข่ง Formula One งานแรกที่เกี่ยวกับรถยนต์ของเขา เริ่มขึ้นในปี 1963 ซึ่ง Piëch เข้าทำงานในฝ่ายวิศวกรรมของ Porsche

จากนั้นก็ได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการมอเตอร์สปอร์ต และมีส่วนสำคัญในการสร้างรถแข่ง Porsche 917 ซึ่งในเวลานั้น เขาเพิ่งอายุ 30 ต้นๆ Piëch เป็นที่รู้จักในหมู่ทีมงานในฐานะของบอสที่ฉลาดหลักแหลม บ้ารถอย่างดีเดือด และดุอย่าบอกใคร ในความพยายามให้ Porsche เข้ารายการแข่งครั้งหนึ่งซึ่ง กรรมการระบุว่า ต้องผลิตรถออกขายอย่างน้อย 25 คันจึงจะเข้าแข่งได้ Piëch ก็เคยยื่นชื่อเข้าแข่งโดยไม่มีรถที่ประกอบเสร็จเลยสักคัน โดยอาศัยช่องว่างจากการที่กฎไม่ได้ระบุเรื่องการผลิตให้ละเอียดพอ

ซึ่งแน่นอนว่ากรรมการไม่ยอม แต่ในที่สุด Piëch ก็สามารถนำรถแข่ง 917 25 คันมาจอดเรียงกันหน้าโรงงานพร้อมกับท้าให้กรรมการเลือกคันไหนก็ได้แล้วไปลองขับ ในที่สุด Porsche 917 ก็ถูกนำออกขายในราคาแพงเท่ากับ 911 สิบคันรวมกัน Porsche ได้ลงแข่งด้วยรถที่ใช้เครื่องยนต์ 4.5 ลิตร 520 แรงม้าในปี 1969 แต่รถควบคุมยากมาก จึงต้องมีการปรับแต่งเพิ่มเติมจนกลายเป็นรถเวอร์ชั่น 4.9 ลิตร 600 แรงม้า และเริ่มคว้าชัยในสนาม Le Mans ได้สำเร็จ ในภาพยนตร์คลาสสิค “Le Mans” Steve McQueen ก็ขับรถรุ่นนี้

นอกจาก 917 แล้ว Piëch ยังได้ให้กำเนิด/มีส่วนในการให้กำเนิดรถระดับตำนานอีกหลายรุ่น ในปี 1972 เขาย้ายไปทำงานที่ Audi เนื่องจากคนในครอบครัวของเขามองว่า การที่เอาคนในตระกูลมากำกับดูแลงานในตำแหน่งบริหาร จะส่งผลให้เป็นที่ติฉินนินทาว่าเป็นเด็กเส้น จึงปลดอำนาจการบริการคนในตระกูลจากแบรนด์ของตัวเอง และไปนั่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เฉยๆ ซึ่ง Piëch เองก็เห็นด้วย ในปี 1975 เขารับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิศวกรรับผิดชอบโครงการพัฒนา Audi 80 และ 100

ในปี 1977 เมื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 40 ปี Piëch ตัดสินใจสร้างรถแข่งสำหรับลงสนามใน WRC-World Rally Championship และเป็นคนแรกของโลกที่นำระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรถทางการทหาร มาดัดแปลงให้กลายเป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา นี่คือจุดกำเนิดของ Audi Quattro รถแข่งแรลลี่ขับเคลื่อนสี่ล้อคันแรกที่พลิกโฉมหน้าของวงการแรลลี่ ค่ายอื่นๆต่างหันไปใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อกันหมดเพราะตั้งแต่ Quattro มาลงแข่ง มีเพียง Lancia 037 เท่านั้นที่คว้าชัยได้ครั้งหนึ่งโดยเป็นรถขับหลัง แต่ Lancia เองก็หันไปพัฒนา Delta S4 ที่เป็นรถขับสี่ต่อ

นอกจากสร้างระบบขับเคลื่อนแล้ว Piëch ยังเป็นคนคุมการสร้างเครื่องยนต์ 5 สูบเทอร์โบในรถ Quattro ส่วนในฝั่งรถบ้านของ Audi เขาก็เป็นคนแรกๆของโลกที่นำเครื่องยนต์ดีเซล มาติดตั้งเทอร์โบ วางในรถเก๋งแล้วจำหน่ายให้คนทั่วไปซื้อหากันได้

บทบาทในโลกรถยนต์ของ Piëch ที่ตามมา ยังมีอีกมาก ในปี 1993 เขากลายมาเป็น CEO ของ Volkswagen และพบกับปัญหาต่างๆมากมายที่หมักหมมไว้แต่อดีต ทั้งเรื่องการบริหารจัดการอันย่ำแย่ ต้นทุนที่ไม่ได้รับการควบคุม และคุณภาพการประกอบที่แย่ (ในสายตาของ Piëch) เขาเดินหน้าปรับระบบบริหาร และไม่แคร์ถ้าจะต้องไล่ใครออกสักสามสี่คน รวมถึงพยายามสร้างองค์กรให้มีขนาดใหญ่ มีพลัง สร้าง Connection กับรัฐบาลท้องถิ่นแคว้น Lower Saxony จนทำให้มีอิทธิพลกว้างขวาง Volkswagen เองก็กลายเป็นกลุ่มธุรกิจรถยนต์ขนาดใหญ่ ซื้อกิจการของ Audi, Lamborghini, Bentley, Skoda และ Bugatti มาไว้ในครอบครอง

Bob Lutz ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับเทพอีกคนจากฝั่งอเมริกาเคยได้มีโอกาส พูดคุยกับ Piëch และถามว่า

“คุณทำยังไง ให้ Volkswagen สามารถปรับปรุงด้านคุณภาพได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขนาดนี้”

คำตอบของ Piëch คือ

“งั้นผมจะบอกให้ก็ได้ ตอนนั้น ผมเรียกวิศวกรตัวถัง, คนที่ดูแลเรื่องการเชื่อม ปั๊มตัวถัง, ตัวแทนจากโรงงาน และผู้บริหารหลายคนมาที่ห้องสัมนาของผม จากนั้นผมก็บอกว่า ผมเบื่อมากแล้วกับการประกอบที่ห่วยแตกอย่างนี้ ผมต้องการงานประกอบที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก พวกคุณมีเวลา 6 สัปดาห์ ผมมีชื่อของพวกคุณทุกคนว่าใครทำตำแหน่งอะไร ถ้าใน 6 สัปดาห์งานประกอบเราไม่ดีขึ้น พวกคุณทุกคนจะถูกไล่ออก!”

“คุณไม่ได้ล้อเล่นใช่มั้ย” Lutz ถาม

“ผมทำแบบนั้นจริงๆ แล้วมันก็ได้ผล”

สำหรับคนรอบตัว Piëch นั้น รู้ฤทธิ์ของเฒ่าทรนงรายนี้ดีกันทุกคน ว่าเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม แต่ไร้ความปราณีใดๆทั้งสิ้น หากรักหรือชอบใคร คนนั้นก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเกลียดเมื่อไหร่ก็เขี่ยทิ้งแบบไม่ใยดี อีกทั้งยังชอบการบริหารสไตล์ อยากได้ก็ต้องได้ ลองดูตัวอย่างคำพูดที่เคยมีการ Quote ไว้ของเขาดังนี้

“ใครทำงานกับผมแล้วอยู่ได้นาน คุณดูเอาไว้ นั่นคือคนเก่งจริงๆ เพราะคนที่ทำงานกับผม สามารถพลาดได้แค่ 1 ครั้ง ถ้ามีครั้งที่ 2 ผมก็ไล่ออก”

“เวลาผมอยากได้อะไร ผมจะสู้ จะฝ่าฟัน จะดันมันให้เกิดเป็นความจริง จนกว่าจะได้สิ่งนั้นมา ผมไม่มีเวลามาโลกสวยกับใคร”

“รถคันนี้ต้องวิ่ง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งอยู่อย่างนั้น 6 ชั่วโมงให้ได้ ภายใต้อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และมันจะต้องไม่พัง” (คำสั่งของเขา ในระหว่างการพัฒนา Volkswagen Phaeton ซึ่งก็ถูกล็อคความเร็ว 250 อยู่ดี และขายไม่ออกเพราะคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรถหรูย่อมมองแบรนด์ที่สูงกว่า VW)

“หนึ่งพันแรงม้า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปทำให้มันเกิด ถ้าทำไม่ได้ พวกคุณก็ไร้ประโยชน์” (คำสั่งทีมวิศวกร เมื่อครั้งที่สร้างรถ Bugatti Veyron)

ดังนั้น การอยู่กับ Piëch จึงเปรียบได้กับการเดินป่าโดยมีเสือเป็นเพื่อน ตราบใดที่มีอาหารป้อนเสืออิ่มตลอดชีวิตก็จะดี แต่ถ้าหมดประโยชน์เมื่อไหร่ก็ถูกงาบ ดังเช่นช่วงปี 2014 หลังจากที่เพิ่งรอดจากการโดน Porsche เข้าครอบครองกิจการ Piëch เองก็เริ่มมีปัญหากับ Martin Winterkorn CEO ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเปรียบเหมือนลูกรักที่ Piëch ดึงเข้าองค์กรและปั้นเองกับมือ เขาพยายามบีบให้กรรมการบริหาร VW Group ปลด Winterkorn ออก แต่กลายเป็นว่ากรรมการบริหารเบื่อกับการทำอะไรตามใจตัวเองอย่างสุดกู่ และเมื่อเห็นว่าไม่ได้ผล Piëch จึงลาออกจากการบริหารใน VW Group โดยเหลือหุ้นที่ถือไว้แค่จำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วงที่เขาลาออกได้ไม่นาน ก็เกิดเรื่องกับคดีปลอมผลการตรวจมลภาวะของ Volkswagen แทบจะในทันที

ถึงแม้จะเปรียบได้ดังปิศาจสำหรับหลายต่อหลายคน แต่ในแง่ของวงการรถ ต้องยอมรับว่านี่คือบุคคลที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของรถที่เราใช้กันในทุกวันนี้ หากไม่มี Piëch เราอาจจะได้ใช้นวัตกรรมยานยนต์บางอย่างช้าไปอีก 5-10 ปี และถ้าหากมองข้ามส่วนเสียของเขาไปแล้ว สิ่งที่หน้าเอาเยี่ยงอย่าง คือการไม่หยุดที่จะคิด และทดลองสิ่งใหม่ๆ บวกกับความมานะพยายามจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ สมแล้วที่ได้ฉายาเป็น เฒ่าทรนง ผู้ไม่เคยยอมแพ้ใคร แม้ในที่สุด ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อเวลา เช่นเดียวกับ Iacocca ที่จากไปก่อนหน้านี้