20 พฤษภาคม 2004

ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปี ที่ผมถ่อสังขารไปถึงสำนักงานใหญ่อันไกลปืนเที่ยงของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่เช้า

คราวนี้ ไปเพื่อทดลองขับ คอมแพกต์ซีดานรุ่นหนึ่งที่หลายท่านรอคอยให้ผมได้ไปขับมาซะที
มิตซูบิชิ แลนเซอร์ 2.0 ในรูปแบบ Driving Impression

เหตุที่บอกว่าเป็นรูปแบบ Driving Impression เพราะที่ผ่านๆมา ทุกครั้งที่ผมทดลองขับรถจาก
ค่ายสามเพชร ผมมักจะอาศัยถนนเส้นหลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ซึ่งมีความยาวเพียงพอจะทดสอบหาอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 80-120 กม./ชม.
รวมทั้งหาความเร็วสูงสุด

แต่คราวนี้ พี่ปรีดา หนึ่งในทีมพีอาร์ของมิตซูบิชิ อยากจะไปสำรวจเส้นทางสำหรับนำพานักข่าวกลุ่มอื่น
ไปทดสอบรถ ที่รีสอร์ทในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ในอีกไม่นานหลังจากนี้
ขณะเดียวกัน ผมเองติดต่อเข้าไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า มีแลนเซอร์ 2.0 ให้ลองกันหรือยัง
จังหวะเหมาะพอดีก็เลยบังเอิญมาชนกันด้วยประการฉะนี้

ไม่เป็นไรครับ ขับรถออกต่างจังหวัดไปในที่ที่ไม่เคยไปเสียบ้าง เปิดหูเปิดตาตัวเองจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
คือสิ่งที่ผมอยากทำอยู่แล้ว แม้ว่าจุดประสงค์นั้น ก็พอจะเป็นที่รู้อยู่ แต่ว่ามองในมุมกลับแล้ว
ก็ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย

แต่ที่น่าเสียดายเพราะว่าคราวนี้ เวลาอันจำกัด จึงไม่อาจทดสอบหาอัตราเร่งเหมือนเช่นที่เคยเป็นได้
ทั้งที่เป็น จุดมุ่งหมายหลักของผมในวันนี้ เพราะกว่าจะกลับถึงสำนักงานใหญ่ที่รังสิตก็ล่วงเข้า 5 โมงเย็นแล้ว

เอาเถอะครับ ไม่เป็นไร ระยะทาง ไป-กลับ รวมมากถึง 400 กิโลเมตรนั้น เพียงพอแล้วสำหรับ
การเรียนรู้การตอบสนองของรถสักรุ่น ใน”สภาพการใช้งานจริง” ซึ่งคาดว่าผู้ใช้รถทุกคนคงจะใช้งาน
ในสภาพการที่ไม่ต่างจากการทดลองขับของผมในวันนี้

ถ้าจะถามว่า แลนเซอร์ 2.0 มีอะไรที่แตกต่างจาก รุ่นก่อนเปลี่ยนโฉมบ้าง
ก็คงต้องตอบตามสูตรว่า ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด ปรับปรุงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชุดไฟหน้า
กระจังหน้าแบบแยกชิ้น 2 ฝั่ง คั่นกลางด้วยโลโก้มิตซูบิชิ พร้อมชุดกันชนหน้าลายใหม่
แถมด้วยไฟตัดหมอก

รวมไปถึงชุดไฟท้ายลายใหม่ ที่เลิกใช้ ไฟเลี้ยวเป็นสีแดงสีเดียวกับไฟเบรก เหมือนรถอเมริกันสมัยก่อนเสียที
และฝากระโปรงท้าย พร้อมกรอบใส่ป้ายทะเบียนทรงใหม่

แต่พระเอกสำคัญก็คงจะหนีไม่พ้นการถอดขุมพลัง 4G93 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว
1,834 ซีซี 124 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ออกจากสายการผลิต

แล้วแทนที่ด้วยความแรงจากขุมพลังเจ้าเก่าที่ห่างหายไปนาน
ในรหัส 4G63 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี
135แรงม้า (PS) ที่ 5,750 รอบ/นาทีแรงบิดสูงสุด 17.93 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที

เครื่องยนต์นี้เคยวางลงในกาแลนท์ จีทีไอ 16 วาล์ว เมื่อปี 1991-1993 มาก่อน
และผมเพิ่งได้ทดลองขับรถรุ่นี้ที่มีสภาพดีมากๆอยู่คันหนึ่ง การตอบสนองนั้น
ถึงแม้จะไม่ใช่รถใหม่ แต่ยังพอให้เหลือกลิ่นไอว่า เมื่อตอนออกจากโชว์รูมใหม่ๆ
อัตราเร่งน่าจะสนุกเท้าได้ขนาดไหน

หลายคนอาจจะคิดว่า 4G63 แล้วต้องแรงแน่นอน
ใช่ครับ 4G63 เวอร์ชัน แลนเซอร์ 2.0 แรงจริง
แต่ก็ไม่ได้ถึงกับพุ่งกระฉูดจนหลังติดเบาะ เช่นเดียวกับ 4G63 เวอร์ชันอื่นๆ
รวมทั้งเวอร์ชันที่ติดตั้งอยู่ในแลนเซอร์ อีโวลูชัน ตั้งแต่ 1-8
เพียงแต่ผมยังนึกไม่ออกว่า ทำไมถึงเคลมตัวเลขไว้ต่ำจังเลย

เพราะประสิทธิภาพการตอบสนองนั้นผมว่า จัดจ้านใช้ได้เลยทีเดียว อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.
ผมลองวัดคร่าวๆ จากนาฬิกาข้อมือที่หาความเที่ยงตรงในชีวิตมีไม่
น่าจะได้แถวๆประมาณ 10 วินาทีขึ้นไป
ความเร็วสูงสุดที่ผมทำได้ในทริปนี้ เข็มความเร็วแตะระดับ 1900 กม./ชม.
ซึ่งน่าเชื่อว่า สามารถจะทะลุระดับ 200 กม./ชม. กันได้สบายๆ !

เครื่องยนต์เกียร์ อัตโนมัติ 4 จังหวะ INVECS-II ของแลนเซอร์ 2.0
มีอัตราทดเกียร์ 3 ที่กว้างมาก
และแทบไม่ค่อยช่วยให้เร่งในขณะใช้ความเร็วสูงได้เท่าใดนัก
หากจะเปลี่ยนลงไปเรียกพละกำลังจากเกียร์ 2 เพื่อเร่งแซง
ก็ดูเหมือนว่าพละกำลังที่พร้อมจะมีมาให้
ดูจะเกินความต้องการในบางช่วงขณะ

อย่างไรก็ตาม ยังมีระบบควบคุมการทำงานของเกียร์ตามรอบของเครื่องยนต์
เพื่อป้องกันความเสียหายของเกียร์ เช่นเมื่อขับอยู่แถวๆ 130-140 กม./ชม. ขึ้นไป
และหากต้องการกดคันเร่งให้คิ๊กดาวน์เพื่อเร่งแซง เกียร์จะเปลี่ยนลงไปให้เพียงแค่เกียร์ 3
ไม่เปลี่ยนลงไปต่ำกว่านี้

อีกทั้งในโหมดบวกลบ เกียร์ 2 จะช่วยให้ลากรอบเครื่องยนต์ไปได้ถึงระดับ 7,500 รอบ/นาที
แต่จะไม่เปลี่ยนขึ้นให้เอง จนกว่าผู้ขับจะผลักคันเกียร์ขึ้นบวก เพื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์ 3

เสียงลมเนื่องด้วยการออกแบบเสาหลังคาคู่หน้าให้โค้ง รวมทั้งยังใช้ ยางขอบประตูแค่ชั้นเดียว
ติดตั้งบริเวณของหน้าต่างของบานประตูทั้ง 4 ทำให้การเก็บเสียงของแลนเซอร์ 2.0 นั้น
ยังทำได้ไม่ดีนัก เสียงลมจะเริ่มมีเข้ามาตั้งแต่ความเร็วประมาณ 100 กม./ชม.
และจะเพิ่มขึ้นเมื่อถึงระดับ 140 กม./ชม.

พวงมาลัยน้ำหนักเบาไปนิด ไม่ค่อยหนืด มันก็เหมือนรุ่นก่อนๆ แต่ยังคงพอให้ความมั่นใจได้
ในย่านความเร็วสูง

ระบบกันสะเทือน สปริงนุ่มไปนิดนึง แต่ถือว่ารับได้สำหรับคนที่เป็นผู้ใช้ทั่วไป
แต่การตอบสนองของช็อกอัพ ค่อนข้างดี

น่าสังเกตว่า แม้จะพยายามเข้าโค้งด้วยความเร็วระดับใดก็ตาม
ตั้งแต่ระดับ 60-80 กม./ชม.ในโค้งลึกๆ หรือโค้งบนทางหลวงทั่วไปที่สูงระดับ 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ ไม่มีอาการหน้าดื้อ (Oversteer) หรือท้ายปัด (Understeer) แต่อย่างใด

ดิสก์เบรก 4 ล้อพร้อมเอบีเอส ทำงานได้อย่างดีมาก เห็นผลได้ตอนลดความเร็วกระทันหัน
ยิ่งเมื่อมีระบบกระจายแรงเบรก อีบีดี ยิ่งช่วยลดอาการหน้าทิ่มขณะเบรกลงไปได้ไม่น้อย
เพราะมีการกระจายแรงเบรกไปยังล้อทั้ง 4 อย่างเหมาะสม

ขากลับ ในระหว่างที่ผมจอดรถแวะข้างทาง เพื่อให้พี่ปรีดาได้ถ่ายรูปป้ายบอกทาง สำหรับทำแผนที่
การเดินทาง มี บีเอ็มดับเบิลยู 318i สีแดง ป้ายแดง คันหนึ่ง แล่นผ่านเราไปอย่างรวดเร็วกว่ารถคันอื่นๆ
เดาได้ว่าน่าจะใช้ความเร็วระดับ เกินกว่า 120กม./ชม. ขึ้นไป

จังหวะที่พี่ปรีดาขึ้นรถมาแล้ว ผมก็ถามขึ้นเลยว่า ผมชักอยากจะรู้ว่า พละกำลังของแลนเซอร์ 2.0 คันนี้
จะไล่ตาม 318ไอ คันนั้นได้ทันหรือไม่

พี่ปรีดา ก็อยากร่วมสนุกด้วย ผมก็ตัดสินใจกดคันเร่งไปครึ่งหนึ่ง เพื่อให้รถออกตัวแบบไม่ต้องน่าตระหนกนัก
จากนั้นก็กดจนสุด ต่อเนื่อง พอดีมีรถแล่นช้า ขวางอยู่ทั้ง 3 เลน คันหนึ่งเป็นวีออส ที่สองพ่อกับลูกพึ่งสลับ
สับเปลี่ยนตำแหน่งคนขับช่วงเดียวกับที่ผมจอดแวะถ่ายรูปกัน
ผมจำต้องชะลอความเร็วลงแล้วหาจังหวะแซงขึ้นไปจนได้

แต่พอพ้นไปได้ ตบลงเกียร์ 2 ลากขึ้นจนถึง 6,000 รอบนิดๆ ผมก็รีบตบเข้า 3
เพราะไม่อยากให้รถโทรมลงมากนัก ยังมีนักข่าวอีกหลายคนจะต้องเทสต์รถคันนี้ต่อจากผม
พอขึ้น 3ได้ ก็ลากยาวพอสมควร จนกระทั่งเห็นท้ายของซีรีส์ 3 ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
(คนขับคงจะผ่อนคันเร่ง) ผมก็ไล่ตามทัน และแซงขึ้นหน้าไป
ที่ระดับความเร็วประมาณ 180 กม./ชม. นั่นเองละครับ

จากนั้นก็ผลัดกันขึ้นหน้า ผลัดกันตามบ้าง 2-3 หน แต่เข็มความเร็ว
ป้วนเปี้ยนอยู่ในระดับ 140-180 กม./ชม.

แต่แล้ว คนขับบีเอ็มคันนั้น ก็แสดงให้ผมเห็นได้ชัดเลยว่า เขายังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ
สำหรับการขับรถออกต่างจังหวัด

รถพ่วงเทรลเลอร์ เบนหัวออกมาจากเลนซ้าย ถ้าเป็นคุณๆทั้งหลายเห็นแล้วจะทำอย่างไรครับ?

เป็นผม ผมก็ชะลอหนะสิ

แต่คุณคนนี้ ไม่ได้ทำอย่างนั้นครับ
กลับนำ 318i ของเขา ทิ่มเข้าไปหวังจะใช้จังหวะฟลุ๊กแซงขึ้นหน้าเทรลเลอร์ เพื่อให้เทรลเลอร์ตกใจ
เบี่ยงหัวหลบให้ ซึ่งเป็นการไม่บังควรทำอย่างยิ่ง

คราวนี้เทรลเลอร์คันเบ้อเริ่มคันนั้น สอนบทเรียนให้คนขับ 318i ด้วยการยืนยันว่า
ฉันออกจากเลนมาแล้วนะ ฉันเข้าเลนขวาแล้วนะ ฉันไม่ยอมเบนกลับเข้าซ้ายหรอก!
คนขับ 318ร แทบจะกระทืบเบรกด้วยซ้ำ พร้อมกับหักพวงมาลัยเบี่ยงขวา

ผมตามมาในระยะไม่ไกลนักจากด้านหลัง เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง มองกระจกหลัง
เพื่อดูว่า รถที่ตามมาอยู่ในระยะห่างพอที่เขาจะแก้สถานการณ์ได้ทันไหม
แล้วก็หักเข้าเลนซ้ายแบบสบายๆ ไม่ได้ร้อนรนอะไร ปล่อยให้คนขับ 318i

ติดแหงกอยู่ท้ายรถพ่วงเทรลเลอร์คันนั้น

ที่น่าแปลกคือ รถบรรทุกเป็นขบวน ต่างพร้อมใจกันหลบซ้าย
เหลือไว้แต่รถบรรทุก 1 คันในเลนซ้ายระยะไกล
ผมก็แค่ขับขึ้นไปแล้วกลับเข้าเลนขวาขึ้นหน้ารถบรรทุกคันหัวแถว

แต่ แหม เจอคอสะพาน ลดความเร็วไม่ทัน ก็ใส่ขึ้นไปเต็มๆ รถก็กระเด้งพอสมควรเนื่องจาก
สปริงที่ค่อนข้างนุ่มไปนิด

เอาละครับสำหรับผม แค่นี้ก็พอแล้ว หอม ปากหอมคอ

318i คันนั้นใช้เวลาพักใหญ่ๆก็ตามผมขึ้นมาทันผมก็ หนีพอเป็นพิธี
แล้วก็ปล่อยให้เขาแซงขึ้นหน้าไป

เราต่างแยกย้ายกันตรงทางออก ลาดหลุมแก้ว
ส่วนผม…ไฟเตือนระดับน้ำมันเชื้อเพลิงสว่างโล่ขึ้นมา
ผมก็ถอนเท้าขวาในบัดดัล (ฮา)

พอจะอนุมานได้ว่า แลนเซอร์ 2.0 ตอบสนองได้ค่อนข้างคล่องแคล่วดีครับ
ตามวิสัยของคอมแพกต์ซีดาน ที่ถูกจับใส่เครื่องแรงปานกลาง

********** สรุป **********

ผมยังไม่เคยลองขับซีวิค 2.0 นะครับ
แต่พอจะเชื่อได้ว่า แลนเซอร์ 2.0
น่าจะเป็นรถที่อยู่ตรงกลางระหว่างมาสด้า 323 โปรทีเจ 2.0
กับฮอนด้า ซีวิค 2.0 เพียงแต่ จะโน้มเอียงไปในแนวทาง
ของซีวิค 2.0 มากกว่าด้วยสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่จัดจ้านไม่เบา
พร้อมช่วงล่างที่เซ็ตมาเอาใจคนที่ไม่คุ้นกับรถขับสนุกช่วงล่างแข็งๆมั่นใจๆ
อย่างมาสด้า

ค่าตัว 959,000 บาท เป็นตัวเลขที่หลายคนฟังแล้วรู้สึกว่า สมเหตุสมผล
แทบไม่ค่อยมีเสียงยี้จากหลายคนที่ผมลองสอบถามดูแต่อย่างใด
ผมเองก็มองเช่นนั้น

เพียงแต่ ผมเองอยากให้เพิ่มรายละเอียดการตกแต่งบางอย่างมากกว่านี้สักหน่อย
เพราะห้องโดยสารมันดูโล่งๆไปสักนิด รวมทั้งเพิ่มความสำคัญกับรายละเอียด
เล็กๆน้อยๆ ในการตกแต่งต่างๆให้มากกว่านี้อีกสักนิด
ผมว่าน่าจะดีต่อมิตซูบิชิเองครับ

ขอขอบคุณ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด หรือ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน

สำหรับรถยนต์ทดลองขับ

 รวมทั้ง รีสอร์ทสุดสวยในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่ และสำหรับการที่ยังเก็บฝาครอบเลนส์ของกล้องตัวใหม่
ผมไว้อย่างดี (เฟอะฟะขี้ลืมอีกแล้วตู ประเดิมกล้องใหม่วันแรก ก็เอาซะแล้ว)

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก : 20 พฤษภาคม 2004 ใน Pantip.com ห้องรัชดา 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 21 กุมภาพันธ์ 2009 สำหรับ www.headlightmag.com