(หมายเหตุ : บทความนี้ ถูกแยกออกมาจากบทความ ทดลองขับรถยนต์ Honda เวอร์ชันญี่ปุ่น
เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา Honda R&D และ สนามทดสอบของฮอนด้า
ในเมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi วันที่ 18 ตุลาคม 2005 ตามคำเชิญ ของ
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ภาพ ประกอบของบทความนี้ เป็นภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวญี่ปุ่น จากทางฮอนด้า มอเตอร์
ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในวันเยี่ยมชม เราไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพด้วยตนเอง
และลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2005)

โมบิลิโอเป็นอีกผลผลิตจากโครงการรถยนต์ขนาดเล็ก SMALL MAX
ที่ฮอนด้าทะยอยเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2001โดยทุกรุ่นจะถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังใหม่
NEW SMALL GLOBAL PLATFORM ร่วมกับ ฟิต/แจ้ส ซิตีคาร์โครงการแรก
ที่เปิดตัวไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2001

คอมแพคท์ MPV รุ่นใหม่นี้ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด S.U.U ซึ่งเป็นชื่อ
ที่ใช้ในการเผยโฉมครั้งแรกก่อนขายจริง ของรถคันนี้ ที่งานโตเกียวมอเตอร์โชว์
ตุลาคม 2001 ย่อมาจาก SMART PACKAGE,URBAN STYLE,USEFUL FUNCTION
เน้นความอเนกประสงค์ของพื้นที่ใช้สอยตามสไตล์เดียว กับแฮตช์แบ็กและมินิแวน
5 ประตูรุ่นอื่นของฮอนด้า

รูปลักษณ์ภายนอกออกแบบขึ้นภายใต้แรงบันดาลใจจาก รูปทรงของ
ขบวนรถไฟในยุโรป ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น

ขณะที่รุ่นสไปก์ มาในแบบตู้ทึบ 5 ที่นั่ง รูปลักษณ์มาในแบบทรงกล่องสี่เหลี่ยม
อย่างชัดเจนในทุกรายละเอียด ชุดไฟท้ายเป็นเพียงดวงเล็กๆที่กันชน
ไม่ได้เป็นแนวตั้ง อย่างรุ่นปกติ ชุดไฟหน้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาว

ทั้งหมดนี้สถิตอยู่บนโครงสร้างตัวถังนิรภัย G-CON ที่ยาว 4,055 มิลลิเมตร
กว้าง 1,685 มิลลิเมตร สูง 1,705 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดูจะพบว่า แม้ตำแหน่งการตลาด จะต่ำกว่า
แต่ระยะฐานล้อของโมบิลิโอ กลับยาวกว่าสตรีม (2,720 มิลลิเมตร) อยู่ 20 มิลลิเมตร

จุดเด่นของทีมออกแบบฮอนด้า ซึ่งเน้นคุณประโยชน์ของ ทุกอุปกรณ์ในห้องโดยสาร
ยังคงปรากฎให้เห็นในโมบิลิโอ อย่างครบถ้วน แผงหน้าปัดที่เน้นให้คอนโซลกลางเด่นออก
มาเพื่อง่ายต่อการใช้งาน ด้านบนสุดเป็นชุดเครื่องเสียง หรือเลือกติดตั้งระบบนำร่อง
พร้อมระบบสื่อสารผ่าน ดาวเทียม GPS INTERNAVI คั่นกลางด้วยช่องปรับอากาศ
ล่างสุดเป็นสวิชต์เครื่องปรับอากาศและคันเกียร์

เบาะนั่งในรุ่นธรรมดาสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้มาก ถึง 7 แบบ ดังนี้

1.MINIVAN MODE แบบธรรมดา 3 แถวที่นั่ง สำหรับ
ผู้โดยสาร 7 คน

2.2/3 REFRESH MODE ปรับเบาะแถว 2 เอนราบ เพื่อให้
ผู้โดยสารบนเบาะแถวหลังสุดวางขาเอกเขนก จุผู้โดยสารได้ 4-5 คน

3.TALL MODE พับเบาะแถว 2 ยกขึ้นเพื่อบรรทุกของที่มี
ความสูงกว่าปกติ เช่นกระถางต้นไม้ แต่ยังคงเบาะแถว 3
ไว้เหมือนเดิมเพื่อบรรทุกผู้โดยสารรวม 4 คน

4.UTILITY MODE พับเบาะแถว 3 ซ่อนไว้ที่พื้นตัวถัง เพิ่ม
เติมจาก TALL MODE เพื่อบรรทุกจักรยานเมาเทนไบค์
2 คันพร้อมอุปกรณ์ และผู้โดยสารอีก 2 คน

5.DELI WAGON MODE พับเบาะหลังสุดเก็บซ่อนไว้ใต้เบาะแถว 2
เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของ เมื่อไปจ่ายตลาด จุผู้โดยสารได้ 5 คน

6.LONG MODE ปรับเฉพาะเบาะข้างคนขับและเบาะแถว 2
ฝั่งเดียวกันเอนลง เมื่อต้องบรรจุสัมภาระที่ยาวกว่าปกติ
เช่นชุดอุปกรณ์สกี จุผู้โดยสารได้ 2-3 คน

7.1/2 REFRESH MODE ปรับเบาะคู่หน้าและแถว 2 เอนลง
จนหมด เหมาะสำหรับคู่รักที่คิดจะดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กัน
ยามค่ำคืน

ขณะเดียวกัน เบาะแถวสองเบาะนั่งแถว 2 ยังเลื่อนขึ้น หน้า-ถอยหลัง
ได้อีก 260 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขา ให้กับผู้โดยสารแถวหลังสุด
และถ้าพับหรือปรับเอนเบาะ แล้ว หาที่เก็บพนักศีรษะไม่ได้ จะมี
กระเป๋าสำหรับใส่ พนักศีรษะเตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ

ส่วนความปลอดภัยยังไว้ใจได้ด้วยถุงลมนิรภัยคู่หน้าและ
ด้านข้าง 4 ใบ เข็มขัดนิรภัย 3 จุด ELR คู่หน้า ลดแรงปะทะ
และดึงกลับอัตโนมัติ รวมทั้งจุดยึดเบานิรภัยสำหรับเด็ก
มาตรฐาน ISOFIX ที่มาพร้อมกับสายรัดอีกชั้นหนึ่งป้องกัน
ลื่นไถล

ขุมพลังที่จะมารับหน้าที่ขับเคลื่อนให้กับโมบิลิโอ มีเพียง
แบบเดียว ยังคงเป็นเครื่องยนต์รหัส L15A ที่ประจำการ
มาแล้วในโมบิลิโอ พัฒนาขึ้นจากพื้นฐานเดิมของเครื่องยนต์
รหัส L13A ในฟิต/แจ้ส เป็นแบบ 4 สูบ SOHC 1,496 ซีซี
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VTEC และระบบจุดระเบิด i-DSI
(INTELLIGENT-DUAL & SEQUENTIAL
IGNITION) เหมือนกัน โดยจะมีหัวเทียน 2 หัว/ 1 กระบอก
สูบ (TWIN SPARK PLUG) แต่จุดระเบิดไม่พร้อมกัน ขึ้น
อยู่กับรอบเครื่องยนต์ ระบบนี้ไม่ได้ช่วยลดอาการน็อค
ของเครื่องยนต์เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มอัตราส่วนการอัด
(COMPRESSION RATIO) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า แม้จะเป็นเครื่องยนต์บล็อก
เดียวกัน รหัสเดียวกัน แต่ทีมวิศวกรของฮอนด้า กลับปรับ
จูนให้มีกำลังสูงขึ้นจากเวอร์ชันเดิมของโมบิลิโอรุ่นปกติ
90 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.4 กก.-ม.ที่ 2,700 รอบ/นาที ให้พุ่งทะยานสูงสู่พิกัด
ใหม่ที่ระดับ 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าหรือขับเคลื่อน 4 ล้อ
REALTIME ด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT
HONDA MULTI MATIC S ล็อกอัตราทดได้ 7 จังหวะ
ยกชุดมาจากฟิต/แจ้สใหม่ โดยผู้ขับเลือกเปลี่ยนการ
ทำงานจากระบบ CVT มาเป็นแบบ 7MT หรือยกเลิกการ
ทำงานระบบดังกล่าว ทำได้โดยโดยกดปุ่ม 7 SPEED
MODE บนพวงมาลัย และบนแผงหน้าปัดจะมีการยืนยัน
การทำงาน

รองรับการใช้งานในเมืองด้วยระบบกันสะเทือนที่ใช้ร่วมกับ
ฮอนด้ารุ่นเล็กทุกรุ่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นแบบ
แมคเฟอร์สันสตรัทด้านหน้า ส่วนด้านหลัง หากเป็นรุ่น
ขับเคลื่อนล้อหน้า จะเป็นแบบคานแข็งทอร์ชันบีม แต่ถ้า
เป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะเปลี่ยนไปใช้แบบเดอ ดิออง
ซึ่งรถยุโรปสมัยก่อนที่มีขายในเมืองไทยก็ใช้ระบบนี้
เสริมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง ห้ามล้อด้วยระบบเบรก
หน้าดิสก์หลังดรัม แถมเอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก
EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกฉุกเฉิน BREAK ASSIST

และเพราะโมบิลิโอ ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง NEW SMALL
GLOBAL PLATFORM ดังนั้น ถังน้ำมันจึงถูกย้าย มาติดตั้งไว้ใต้
เบาะคู่หน้า เพื่อความปลอดภัยจากการชน ด้านหลังเช่นเดียวกับ
ฟิต/แจ้สอีกด้วย

**ความรู้สึกเมื่อได้ลองขับ**

จากที่ได้มีโอกาสลองขับเปรียบเทียบทั้ง 2 รุ่น พบว่า

ความรู้สึกในภาพรวมของรถทั้งสองรุ่นนี้
ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกับ ฟิต/แจ้ส
ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรมเหมือนกัน

โดยเฉพาะน้ำหนักของพวงมาลัย เพาเวอร์ไฟฟ้า EPS
ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับ ฟิต/แจ้ส ซิตี้ ZX
แบบไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม โมบิลิโอ 7 ที่นั่ง (คันบน)จ ะถูกเซ็ต
ระบบกันสะเทือนมาเพื่อรองรับการโดยสาร เอาใจ
คุณแม่บ้านที่ต้องการความนุ่มสบายในการเดินทาง
มากกว่า รุ่น สไปก์ (คันล่าง) ซึ่งมีอยู่ 5 ที่นั่ง

โดยรุ่นสไปก์นั้น มีการคำนวนเพื่อเซ็ตน้ำหนักของผู้โดยสารแถวหลัง และสัมภาระ ให้ตกลงไปที่ล้อหลัง
มากกว่า รุ่น 7 ที่นั่ง จึงช่วยให้มีประสิทธิภาพการเกาะถนน
ที่ดีกว่ารุ่น 7 ที่นั่ง การเปลี่ยนเลนกระทันหัน ความเร็ว
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รุ่นสไปก์จะมีบั้นท้ายที่นิ่งกว่ารุ่น 7 ที่นั่ง

การตอบสนองของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังนั้น
เป็นไปตามคาด
ก็คือไม่ต่างอะไรกับ ฟิต/แจ้ส บ้านเรา
เพียงแต่ว่าแบกน้ำหนักตัวถังเพิ่มขึ้นกว่านพอสมควร
เท่านั้นเอง

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รุ่น 7 ที่นั่ง ใช้เวลานานพอสมควร ทำได้ ประมาณ 14 วินาที
ในขณะที่ รุ่น สไปก์ ทำได้สั้นกว่า คือ 12-13 วินาที
โดยประมาณ

สรุป : รุ่น 7 ที่นั่งถูกออกแบบมาให้เอาใจคุณแม่บ้าน
ที่ชอบความนุ่มนวล
ส่วนรุ่นสไปก์ ถูกออกแบบให้เป็นยานยนต์ของวัยรุ่น
เพื่อสันทนาการ และเพื่อการขนส่งเป็นหลัก

ก็คือ แจ้ส รุ่นแรก แต่เป็นเวอร์ชันตัวถังสูงๆ ที่นั่งเยอะๆ นั่นเอง
——————————–///——————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

– เผยแพร่ครั้งแรกใน Pantip.com ห้องรัชดา
  2 พฤศจิกายน 2005
– เผยแพร่ครั้งที่ 2 ใน www.headlightmag.com
  7 กันยายน 2009

Copyright (c) 2009 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

– First publish in Pantip.com
  November 2nd, 2005
– Second publish in www.Headlightmag.com
– September 24th,,2009