ตั้งแต่เล็กจนแก่ ผมเป็นคนที่มีปัญหาเรื่อง “หูหาเรื่อง” มาโดยตลอด และบวกกับการเป็นคนที่มีจินตนาการแหวกแบบไหแตกในหลายครั้ง ทำให้เกิดอุบัติการณ์หน้าแตกอยู่เป็นนิจ แม้แต่เรื่องง่ายๆอย่างการร้องเพลงชาติ ผมพบว่าตัวเองร้องเพลงชาติผิดตอนประถมปีที่ 4 เมื่ออาจารย์เดินผ่านในขณะที่ผมกำลังร้องอยู่ในแถวเคารพธงชาติตอนเช้าและได้ยินผมร้องชัดถ้อยชัดคำว่า

” เป็นประชารัฐ…ผัดไทยของไทยทุกส่วน ”

หลังจากเลิกแถวเสร็จ อาจารย์สมปองก็เรียกผมมาคุย ..ก็ จะทำไงได้เล่าครับ ภูมิปัญญาของเด็กประถมที่เติบโตมาโดยไม่มีใครมาอธิบายว่าเพลงชาติแต่ละวรรคเขียนอย่างไร ได้แต่พยายามร้องและจำจากเพลงชาติตอนเย็นกับเวลาเข้าแถวตอนเช้า แล้วอีกอย่าง ผมรู้จักแค่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ไปไหนก็เห็นแต่คนกิน น้าผมก็ชอบ แถวบ้านก็มีขายเยอะแยะ ผมก็นึกว่าผัดไทยมันเป็นที่นิยม ก็เลยเป็นของคนไทย ทุกส่วน ทุกหมู่เหล่าน่ะสิ

เหตุผลของผมนั้น ถ้าเป็นคำพูดของผู้ใหญ่วัยใกล้ 40 ก็คงสมควรโดนรุมปาหินตายไปแล้ว แต่ถ้าคุณคิดแบบเด็กประถมต้นที่ไม่มีใครเคยสอนร้องเพลงชาติ คุณก็คงเข้าใจและให้อภัยผมได้..วันนั้นอาจารย์สมปองท่านก็ให้อภัยและยังสอนด้วยว่าแท้จริงแล้วมันคือคำว่า ไผท (ผะไท) ซึ่งแปลว่าแผ่นดิน และสอนให้เข้าใจความหมายของเนื้อร้องท่อนนั้นว่า

” แผ่นดินของเรานี้ ที่ยังมีให้อาศัย เพราะคนไทยรู้จักความสามัคคี ”

นั่นคือเรื่องหน้าแตกในวัยเด็ก แต่อุบัติเหตุอันเนื่องมาจากหูหาเรื่องเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีความเกี่ยวข้องกับ Nissan เมื่อครั้งนั้น คุณหมู ธีรพัฒน์ ทีมผม ได้เล่าให้ฟังว่า รถ PPV ที่มีพื้นฐานมาจาก Nissan Navara ใกล้สุกงอมเป็นตัวตนขึ้นทุกที และมีข่าวว่า Nissan ตั้งชื่อให้รถรุ่นใหม่นี้ว่า ” TERRA ”

แต่ด้วยความหูหาเรื่อง ประกอบกับที่คุณหมูเล่าให้ฟังขณะเรารับประทานอาหารกันอยู่ในห้าง ผมจึงได้ยินเพี้ยนจาก ” เทอร์ร่า ” เป็น ” เฌอร่า ” ก็เลยมีอาการสำลักโคล่าเล็กน้อยพร้อมกับคิดว่า เออ ชื่อแปลกดีแท้เว้ย ทำไมเขาต้องตั้งชื่อรถตามวัสดุทดแทนไม้ สร้างง่าย อยู่สบาย ปลวกไม่ยุ่ง เช่นนั้นเล่า ? แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ ชื่อน่ารักดี จริงๆแล้วอะไรที่มีเฌออยู่ในนั้นมันก็น่ารักของมันดีอยู่แล้วล่ะ (ขอคะแนนโอชิด้วย) จนกระทั่งคุณหมูได้ยินผมพูดชื่อรถผิด ก็เลยมองแบบเงียบๆ ดุๆ ตามสไตล์ของเขาอยู่ในที ก่อนบอกว่า ” เทอร์-ร่า พี่ เทอร์-ร่า ! ”

นับจากวันนั้นมาหลายเดือน เราก็เฝ้าดูความเป็นไปของรถรุ่นนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ยังเป็นภาพ Spy-shot มาจนถึงการเผยรูปร่างหน้าตา และ ข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการเปิดตัวสู่ตลาดประเทศจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 เมษายน 2018 ที่ผ่านมา

ทำไม Nissan ถึงเพิ่งจะมาตื่นตัวกับตลาด PPV (ขอใช้คำนี้ทั้งที่มีใช้กันเฉพาะในไทย เพื่อให้ทราบว่าเรากำลังพูดถึงรถ SUV เฉพาะพวกที่มีพื้นฐานมาจากรถกระบะ) ทั้งๆที่คู่แข่งทั้งหลายเขาทำกันมาก่อนหน้านี้นานมาก และ ทำไมเราต้องรอถึง 4 ปีหลังจากการเปิดตัว Nissan Navara D23 โฉมปัจจุบัน ?

คำตอบก็คือความพยายามในการเพิ่มยอดขาย Nissan มีแผนการดำเนินธุรกิจระยะกลางของค่าย (M.O.V.E. to 2022) ซึ่งคุณ Ashwani Gupta รองประธานอาวุโสที่ดูแลกลุ่มรถพาณิชย์ขนาดเล็ก (LCV-Light Commercial Vehicle) กล่าวไว้ว่ามันยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง มากพอที่จะทำให้ Nissan กล้าตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายใน 4 ปีนับจากนี้ ตลาดรถยนต์พาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงรถกระบะ 1 ตัน, SUV พื้นฐานรถกระบะ (PPV), รถตู้ และ รถบรรทุกขนาดเล็ก จะต้องโกยยอดขายเพิ่มจากปัจจุบันให้ได้ถึง 40% นั่นคือที่มาของการจัดตั้งสายงานรถพาณิชย์ขนาดเล็ก (LCV) และ Terra ก็คือผลงานชิ้นแรกหลังก่อตั้งสายงานนี้ขึ้นมา

ในประเทศไทย รถแบบ PPV คือทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริหารยุคสมาร์ทโฟน เพราะขับแล้วดูใหญ่โตบึกบึน หรูไม่แพ้ Camry หรือ Accord แต่ทนแบบรถปิคอัพ ลุยน้ำได้สูง บรรทุกได้เยอะ ผู้คนจึงผละจากรถเก๋งมาดผู้บริหารมาหารถประเภทนี้ ส่งผลให้ยอดขายของรถ D-Segment ลดลงมาก อย่างในปี 2017 มียอดขายถัวเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 760 คัน รถ SUV พื้นฐานรถเก๋งขนาดกลาง (CR-V, CX-5) มียอดเฉลี่ยเดือนละ 1,827 คัน ในขณะที่ตลาด PPV มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 4,965 คัน และ ยังประหยัดต้นทุนด้าน เทคโนโลยีการขับเคลื่อน สามารถผลิต และ ใช้ซัพพลายเออร์อะไหล่ร่วมกับรถกระบะได้หลายชิ้น

ในทางธุรกิจ ตลาดที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการสร้างกำไรระยะยาว มีความต้องการจากผู้บริโภคอันเนื่องมาจากเหตุบังคับทางสภาพแวดล้อมหลายประการ นับว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสดีรออยู่ ทำให้ Nissan ตัดสินใจเริ่มโครงการ Terra แม้ว่าจะเปิดตัวตามหลัง Navara อยู่ 4 ปี เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ ก็ยิ่งจะมีแต่ดีเลย์ไปเรื่อยๆ และถ้ามองในแง่ดี Ford Everest โฉมปัจจุบันนั้นก็เริ่มขาย 3 – 4 ปีหลังจากการเปิดตัว Ranger เหมือนกัน เรียกว่าถึงช้า แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียดเมื่อเทียบกับมาตรฐานวงการ แต่ก็นั่นแหละครับ การเกิดของ Terra ก็ดูจะช้าไปไม่น้อยเลย

Nissan เองก็ใช่ว่าจะไร้วิชาในการทำรถอเนกประสงค์ เพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในเจ้าแรกๆที่ทำรถจี๊ปพันธุ์ลุยขายมานานกว่าครึ่งศตวรรษในชื่อ Nissan Patrol / Safari ซึ่งปัจจุบันพัฒนาจนกลายเป็น SUV คันเท่าบ้านไปแล้ว สำหรับรถอเนกประสงค์ที่มีพื้นฐานมาจากโครงสร้างแบบ Body-on-frame ขาลุยยุค 90s ก็น่าจะจำกันได้กับ Nissan Pathfinder หรือ Terrano ซึ่งเอา Nissan Big M มาทำเป็นรถลุยขนาดตัวกำลังสวย แต่หลังจากนั้นมาคนไทยก็ไม่เคยได้แตะรถประเภทนั้นจาก Nissan อีกเลยถ้าไม่นับผลงานของทางไทยรุ่งยูเนียนคาร์อย่าง Xciter

นอกจากนี้ รถอเนกประสงค์ในชื่อแบรนด์ Pathfinder กับ Terrano ก็ยังมีปัญหาเรื่องบุคลิกที่ไม่ชัดเจน แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นรถรุ่นเดียวกัน ต่อมา Pathfinder แปลงร่างเป็นรถ SUV ตัวถังแบบชิ้นเดียวอย่างรถเก๋ง (Monocoque)ในช่วงปี 1996 แต่ยังทำรูปทรงซะดูแล้วนึกว่าเป็นรถพื้นฐานกระบะ อย่างไรก็ตาม ในเจนเนอเรชั่นต่อมา Nissan ก็ไปเอา Navara D40 มาดัดแปลง กลายเป็นรถแบบ Body-on-frame เหมือนเดิม แล้วใส่มาดรถลุยเต็มพิกัด ขายตลาดหลักที่อเมริกา แล้วพอมาเจนเนอเรชั่นล่าสุด ก็กลับไปเป็น SUV แบบตัวถังชิ้นเดียวอีกครั้งในปี 2013

ในระหว่างการสลับแนวคิดการสร้างไปๆมาๆของ Pathfinder (เรียกว่า Terrano ในญี่ปุ่น) แล้วก็ยังมีการเอา Big M (Frontier) มาทำเป็นรถอเนกประสงค์สำหรับวัยรุ่นอย่าง Xterra ในตลาดอเมริกาช่วงปี 1999 แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ส่วน Terrano ในปัจจุบันนี้ ถูกเอาชื่อไปใช้กับรถครอสโอเวอร์ขนาดเล็กเครื่องวางขวาง 1.5 – 1.6 ลิตรขายอยู่ในรัสเซียกับอินเดีย ไม่เหลือส่วนเกี่ยวดองใดๆกับ Terrano สมัยก่อนอีกต่อไป

พูดง่ายๆคือ ต่อให้คุณ Ashwani Gupta จะบอกว่า Terra ใหม่ เป็นรถที่สืบทอดมาจาก Nissan Patrol จ้าวตำนาน พวกเราที่เล่นรถมาบ้างก็คงดูออกว่าแท้จริง มันคือรถที่มาสานต่อ Pathfinder เจนเนอเรชั่นก่อนปัจจุบัน (R51) ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว (ซึ่งก็คือช่วงที่ Nissan เตรียมคลอด Navara ใหม่นั่นล่ะ)

แต่มันอาจจะเป็นการกลับมาสานต่อที่ถูกเวลาก็ได้

Nissan Terra มีความยาวตัวถัง 4,885 มิลลิเมตร (เวอร์ชั่นจีนสั้นกว่า 3 มิลลิเมตร) กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ความยาวระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดที่ต่ำสุดของใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 225 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับ Navara ซึ่งเปรียบเสมือนแม่แบบของมัน Terra จะมีระยะฐานล้อที่สั้นกว่าถึง 300 มิลลิเมตร แต่กลับมีระยะ Ground Clearance สูงกว่าอยู่ 6 มิลลิเมตร และนับว่าใต้ท้องสูงเท่ากับ Ford Everest สเป็คไทย

เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งมีขนาดมิติตัวถังดังต่อไปนี้

  • Nissan Terra : ยาว 4,885 กว้าง 1,865 สูง 1,835 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร
  • Ford Everest : ยาว 4,893 กว้าง 1,862 สูง 1,837 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร
  • Chevrolet Trailblazer : ยาว 4,887 กว้าง 1,902 สูง 1,852 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร
  • Isuzu MU-X : ยาว 4,825 กว้าง 1,860 สูง 1,860 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,845 มิลลิเมตร
  • Mitsubishi Pajero Sport : ยาว 4,785 กว้าง 1,815 สูง 1,805 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร
  • Toyota Fortuner : ยาว 4,795 กว้าง 1,855 สูง 1,835 มิลลิเมตร / ฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร

สามารถสรุปได้ว่า Terra มีขนาดตัวอยู่ในระดับกึ่งกลางของกลุ่ม โดยมีความยาวมากกว่าคู่แข่งฝั่งญี่ปุ่นทุกรุ่น แต่สั้นกว่า Everest และ Trailblazer ความกว้างตัวถังใกล้เคียง Everest และ น้อยกว่า Trailblazer ส่วนความสูงนั้นเท่ากับ Fortuner เป๊ะ ในขณะที่ความยาวฐานล้อเท่า Everest ซึ่งยาวที่สุดในกลุ่ม

สำหรับเรื่องของการออกแบบนั้น ภายนอกก็พอดูออกว่าประตูหน้า กับมือจับเปิดประตูนั้นก็ยกของ Navara มาใช้ หากแต่ส่วนอื่นบนเรือนร่างภายนอก ล้วนออกแบบมาเพื่อ Terra โดยเฉพาะ ซึ่งในเรื่องนี้ คุณ Makoto Yamane ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบที่รับผิดชอบโครงการของ Terra บอกว่าพวกเขาเลือกใช้ลักษณะกันชนหน้าและหลังที่ดูเป็นมัดกล้าม แต่ส่วนหลังคานั้นกลับพยายามทำให้ดูลื่นไหลปราดเปรียว ไฟหน้าแบบ LED Projector พร้อม Daytime Running Light แม้ดูเผินๆจะคล้าย Navara แต่ส่วนบนที่ชิดฝากระโปรงกลับดูดุ และล้ำสมัยกว่า กระจังหน้า V-Motion ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Nissan ก็ถูกออกแบบให้ดูนูนเด่นออกมามากขึ้น เวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ กระจังส่วนที่เป็นตาข่ายจะพ่นสีเงิน ในขณะที่เวอร์ชั่นจีนเป็นสีเทาเข้ม

ส่วนด้านท้ายรถนั้น ทีมออกแบบเลือกใช้ไฟหรี่ไฟท้ายแบบ LED ทรงแนวนอน ซึ่งช่วยให้รถดูมีความกว้างมากขึ้น เส้นสายของไฟท้ายจะสัมพันธ์กับลักษณะของไฟหน้าที่มีลักษณะเส้นหล่น ลดระดับลงมาในส่วนปลายเพื่อไม่ให้ดูแล้วจืดจนหน้าเบื่อเกินไป สำหรับด้านข้างรถนั้น เมื่อมองจากกระจกบานหลังสุดมาประตูหน้าก็มีการเล่นแบบเส้นหล่นลงมาเช่นกัน

ภาพรวมออกมา ในความเห็นส่วนตัวของผม Terra ใหม่ดูเหมือนจะมีดีไซน์ที่สอดอยู่ตรงกลางระหว่างความบึกบึนราวนักมวยปล้ำ WWE ของ Ford Everest กับความเพรียวลม แอบดูกระโย่งนิดๆของ Pajero Sport อย่างไรก็ตาม Nissan ดูเหมือนจะเลือกสไตล์อนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะมาพร้อมไฟหน้าบูมเมอแรงแบบสุดกู่ หรือไฟท้ายแบบหางปลายี่สกที่เราเห็นกันมาใน Nissan เก๋งหลายรุ่น แต่ความอนุรักษ์นิยมของด้านท้ายแบบนี้ น่าจะเหมาะกับตลาดลูกค้าชาวไทยซึ่งชอบรถที่ไร้ข้อกังขาด้านรูปทรงมากกว่าที่จะหลงใหลดีไซน์แปลกแหวกมิติ

การเข้าไปนั่งใน Terra นั้น สำหรับการเข้าออกประตูคู่หน้าถือว่าไม่ยาก เพราะขนาดบานประตูใหญ่แบบรถกระบะอยู่แล้ว ความสูงของรถที่มากกว่า Navara อยู่นิดหน่อยอาจจะทำให้รู้สึกต่างได้ถ้าคุณเป็นคนที่ขับ Navara อยู่ประจำ แต่สำหรับคนทั่วไปที่สูง 170 เซนติเมตรขึ้นไป คงไม่มีปัญหา สำหรับการขึ้นนั่งด้านหลังนั้น ความที่เสา B-pillar อยู่ชิดกับเบาะ ทำให้คนตัวสูง (และอ้วน) ตวัดเท้าเข้ายากหน่อย แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ MU-X และ Trailblazer

เบาะหน้า ในรุ่น V (รุ่นท้อปของฟิลิปปินส์) ได้เบาะปรับด้วยไฟฟ้าด้านคนขับด้านเดียว ปรับได้ 8 ทิศทาง ปรับสูงต่ำแบบยกทั้งตัวได้ ปรับเทหน้า/หลังได้ มีขนาดเบาะรองนั่งไม่ใหญ่ และ ค่อนข้างสั้น ไม่ได้ตีปีกขึ้นกันตัวคนนั่งไหลไปทางซ้าย/ขวามากเท่าไหร่ ซึ่งพอจะอภัยได้เพราะเป็นรถประเภทอเนกประสงค์ที่เน้นความสบายเวลานั่งกับตอนขึ้นลง ฟองน้ำเบาะรถสเป็คฟิลิปปินส์ (ซึ่งก็ผลิตจากไทย) มีความแข็งพอประมาณ พนักพิงหลังให้ความรู้สึกหนา และ นุ่มพอควร อย่างไรก็ตามพนักพิงศีรษะก็ยังออกแบบมาเน้นการดันศีรษะเช่นเดียวกับ Navara ซึ่งสำหรับบางท่านที่ลอยหัวเวลาขับ ไม่ค่อยพิงตรงนั้น ก็อาจไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้าเป็นคนชอบหัวอิงหมอนแบบผม..น่าจะมีบ่นบ้างล่ะ

ส่วนเบาะหลังนั้น  Nissan เขาบอกว่าทีมออกแบบเน้นความสบายของที่นั่งแถวสองมาก และมีเนื้อที่สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมากที่สุดในบรรดารถระดับเดียวกัน ..ก็อยากจะบอกว่าจริงแท้ทีเดียว! เพราะแม้ส่วนเบาะรองนั่งจะสั้น แต่ก็มีฟองน้ำแน่นกำลังดี พนักพิงหลังดุนแผ่นหลังตอนล่างขึ้นมามาก แรกๆอาจจะน่ารำคาญแต่พอนั่งนานๆกลับรู้สึกสบาย พนักพิงศีรษะไม่มีการดันหัวแม้แต่น้อย เวลาเอนเบาะกึ่งนอนรู้สึกว่าต้องหลุนหัวไปข้างหลังเยอะ ปรับเบาะตั้งขึ้นมาอีกหน่อยสบายกว่า

ฐานของเบาะรองนั่งแถวที่สอง สามารถปรับเลื่อนหน้า/หลังได้ โดยล้วงเหนี่ยวเหล็กคันโยกผอมๆด้านหน้าค่อนใต้ของเบาะ พนักพิงหลังสามารถเอนได้พอสมควร และ เมื่อต้องเปิดให้คนเข้าไปนั่งบนเบาะแถวสาม ก็สามารถใช้คันโยกปรับเอนเบาะกดทีเดียวแบบ One-Touch ตัวเบาะรวมถึงฐานรองนั่งก็จะพับตลบมาข้างหน้าให้ทั้งตัว โดยแบ่งซีกการพับเบาะออกเป็นแบบ 60 : 40

นอกจากนี้ถ้าไม่ชอบออกแรงดันคันโยก ก็สามารถกดสวิตช์พับเบาะแบบ One-Touch ที่อยู่แถวๆเบรกมือเอาก็ได้ นับว่าให้ความสะดวกในกรณีที่จะให้พี่เลี้ยงเด็กขึ้นเบาะแถวสาม แต่คุณยายเก้ๆกังๆ หาคันโยกเบาะไม่พบ ก็กดจากปุ่มนี้ได้โดยไม่ต้องลุกจากที่นั่งคนขับ


สำหรับเบาะแถวสามนั้น สามารถปรับเอนหลัง (โดยดึงที่สลักเชือกที่อยู่ริมสุดบริเวณข้อพับเบาะนั่ง) และ แยกพับแบบ 50 : 50 ได้ เมื่อพับลงแล้วจะอยู่ในแนวเกือบราบไปกับพื้นห้องบรรทุกสัมภาระ แต่ถ้าเป็นเรื่องความสบายนั้น ก็คงเหมาะเอาไว้ให้คนตัวเล็กๆนั่งมากกว่า ผมเองยังไม่ได้เข้าไปนั่ง เพราะขนาดตัวไม่เอื้ออำนวย แต่น่าจะสบายกว่าเบาะแถวสามของ X-Trail อย่างแน่นอน

พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น แม้ Nissan เคลมว่ากว้างที่สุดในคลาส แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขความจุเป็นหน่วยลิตรออกมา ถ้าพับเฉพาะเบาะแถวสามลง จะได้พื้นที่บรรทุกยาว 975 มิลลิเมตร กว้าง 1,148 มิลลิเมตร และ ถ้าพับเบาะแถวสองลงด้วย จะได้เพิ่มเป็น 1,900 มิลลิเมตรเลยทีเดียว จากภาพก็น่าจะพอประมาณได้ว่าเมื่อกางเบาะแถวที่ 3 ขึ้นมาให้นั่งได้ครบทุกที่นั่ง ดูเหมือนว่าความลึกของพื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น จะมากกว่าคู่แข่งจากทุกค่าย

แดชบอร์ดของรุ่นล่าง และ รุ่นกลาง บรรยากาศความหรูจะถูกลดทอนลงมา อย่างในภาพบน (รุ่น E) สวิตช์เครื่องปรับอากาศจะเป็นแบบลูกบิด กุญแจเป็นแบบเสียบบิดสตาร์ท เบาะทำมาจากผ้า (ซึ่งพอไปลองนั่งจริงกลับกระชับสบายกว่าเบาะหนังอย่างน่าประหลาด) ส่วนรุ่น V ที่เป็นตัวท้อป (ภาพล่าง) จะได้เครื่องปรับอากาศดิจิตอลอัตโนมัติ Dual-zone ปุ่มสตาร์ท และ ออพชั่นครบกว่า

มองออกไปจากมุมนี้ จะเห็นได้ว่าแผงแดชบอร์ดแทบจะลอก Navara มายกแผง เวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ต่างจากของจีนตรงที่ด้านบนของแดชบอร์ดจะเว้าลงไปเป็นแอ่งวางพระเครื่องหรือสมาร์ทโฟนและมีช่อง Power outlet มาให้เหมือนที่เราเห็นใน Navara สเป็คไทย สัมผัสของวัสดุ และ ความหรูหราเมื่อวัดด้วยมือ และสายตา ผมรู้สึกว่ามันยังขาดความเรียบแต่แอบเฉียบของ Everest หรือ ความมีลูกเล่นของ Fortuner

นั่นก็ไม่ใช่ว่าแย่หรอกครับ เพราะในตลาด PPV มี Toyota / Mitsubishi เท่านั้น ที่ใช้แดชบอร์ดต่างจากเวอร์ชั่นกระบะชัดเจน แต่ Everest นั้นแม้จะดูเหมือน Ranger ก็ทำมาสวยลงตัว ส่วน Trailblazer กับ MU-X จะใช้แดชบอร์ดทรงเดียวกับเวอร์ชั่นกระบะของตนเอง ดังนั้น Terra จะดูเหมือน Navara ก็ไม่แปลก แต่อย่างน้อยผมว่าถ้าแก้ดีไซน์ส่วนช่องแอร์ให้ดูแตกต่างจาก Navara เสียหน่อย ต้นทุนเพิ่มแน่ล่ะ แต่ก็จะช่วยเพิ่มความรู้สึกโดดเด่นในใจคนที่เลือกเพิ่มเงินจากกระบะไปซื้อ Terra ด้วยมิใช่หรือครับ ?

บนแผงประตูมีชุดสวิตช์กระจกไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch กดครั้งเดียวลงหมดที่ฝั่งคนขับ และ สวิตช์สำหรับล็อคประตู ในบริเวณใกล้กันก็จะมีสวิตช์สำหรับปรับกระจกมองข้าง และ สวิตช์พับกระจกมองข้างไฟฟ้า

ถัดมา ใต้ช่องแอร์ฝั่งติดประตู จะมีที่วางแก้วแบบชักออกมาได้ และด้านข้างที่วางแก้ว จะมีสวิตช์ Trip Reset กับปุ่มปรับความสว่างไฟหน้าปัด ซึ่งทำมาแบบแอบหรู เพราะใช้แบบปุ่มกด -/+ ซึ่งการทำเป็นปุ่มแบบนี้เข้าใจง่าย ดูสวยงาม อาจจะปรับได้ไม่เร็วเท่าสวิตช์หมุน แต่ก็ดีกว่าของคู่แข่งบางค่ายที่ต้องกดๆๆๆเข้าไปในเมนูย่อยบนจอ MID แล้วปรับ

ด้านล่างลงมาเป็นสวิตช์ฝาถังน้ำมัน อยู่ในตำแหน่งที่เอื้อมถึงง่ายไม่ต้องควักต้องล้วง ส่วนบนพวงมาลัยนั้น ปุ่มบนก้านด้านขวา จะมีไว้สำหรับ Cruise Control ส่วนก้านด้านซ้าย จะมีปุ่มสำหรับควบคุมเครื่องเสียงและปุ่มสำหรับกดเลือกฟังก์ชั่นบนจอ MID ที่หน้าปัด ส่วนปุ่มสตาร์ท จะหลบมาอยู่ด้านซ้ายของพวงมาลัย

หน้าปัดของ Terra เป็นแบบเรืองแสง มีจอกลาง MID เป็นจอสี หน้าตาแลดูเหมือนของ Navara ไม่มีผิดเพี้ยน สามารถปรับโชว์ค่าอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองแบบ Real-time, แสดงระยะทางที่เหลือซึ่งสามารถวิ่งได้ด้วยน้ำมันในถังเหมือน Navara แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือหน้าจอสำหรับโหมด Off-road ทั้งเรื่ององศาเอียงของตัวรถและระบบขับเคลื่อน ในรุ่นสูงๆ จะมีระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง 4 ล้อมาให้ด้วย เวลาจะสลับหน้าจอระหว่างฟังก์ชั่นต่างๆ ก็กดปุ่มที่มีรูป 4 เหลี่ยมบนก้านพวงมาลัยทางซ้าย

และถ้าจะ Reset ค่าของ Function ไหน ก็ให้กดปุ่มที่เป็นรูปลูกศรวนกลับค้างเอาไว้ ส่วนมาตรวัดระยะทาง (Trip Meter) นั้นจะแยกสวิตช์สำหรับ Reset เป็น 0 มาอยู่ตรงด้านขวาล่างของหน้าปัด ใกล้กับสวิตช์ปรับความสว่างไฟส่องหน้าปัดนั่นล่ะครับ

ความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่านี่คือหน้าปัดที่ออกแบบมาได้ดี ใช้ฟอนต์ตัวเลขแบบที่อ่านค่าได้ง่าย สีสันหน้าปัดไม่ได้อลังการแบบ Everest หรือ Fortuner แต่ดูง่าย และ ชัด อ่านค่าวัดรอบ ความเร็ว น้ำมันเชื้อเพลิง และ อุณหภูมิน้ำได้ง่าย จะมีก็แต่ตัวอักษรบนจอ MID ที่บางทีก็จะดูเล็กไปนิด แต่โดยรวมโอเคและถือว่าเป็นตัวอย่างหน้าปัดสำหรับนักขับที่ทำมาดีอันดับต้นๆของกลุ่ม

ที่สำคัญ สามารถเลือกปรับเมนูได้ สองภาษา (English แบบปกติ กับ แบบ US และ ภาษาไทย)

นอกจากนี้ ลูกเล่นอีกอย่างที่เป็นได้ทั้งจุดเด่น (และ จุดด้อยในตัว) คือกระจกมองหลังแบบ Intelligent Rear-view Mirror (i-RVM) ซึ่งในยามปกติก็ส่องเหมือนกระจกเงาธรรมดา แต่เมื่อเปิดระบบกล้องใช้งาน กระจกมองหลังจะแสดงภาพจากกล้องมองหลังแทน นั่นหมายความว่าต่อให้คุณบรรทุกต้นไม้เต็มคัน เมื่อมองกระจกส่องหลัง ก็จะยังเห็นวิวข้างหลังได้แบบเต็มๆ ซึ่งช่วยได้มากในแง่ความปลอดภัย

เมื่อกดปุ่มด้านล่างของกระจกมองหลัง ก็จะสามารถเปลี่ยนมุมมองภาพได้ 3 แบบ ด้วยระบบกล้องรอบคัน 360 องศา Around View Monitor ทำให้ขับผ่านที่แคบๆ รวมถึงช่องทางรางแก่งแบบออฟโรดที่ขนาบด้วยหินสูงๆได้สบาย…หรือถ้าให้ถูกต้องพูดว่าเกือบสบาย เพราะขนาดของภาพที่แสดงบนกระจกมองหลังนั้นมีขนาดเล็กจนน่าจะมีแต่วัยรุ่นที่มองเห็นสาวคนที่ชอบจากระยะ 300 หลาได้เท่านั้น ที่เก็บรายละเอียดได้หมด ถ้าทำให้โชว์เป็นภาพบนจอกลางดีๆได้น่าจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นไม่น้อย

 

***** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ *****

แม้จะเปิดตัวมานานเป็นเดือนแล้ว จนบัดนี้เราก็ยังไม่ได้เห็นขุมพลังของ Terra ครบทุกแบบ

เวอร์ชั่นไทยถือว่าโชคดี เพราะเห็นหนทางแน่นอนแล้วว่าจะได้ใช้เครื่องยนต์รหัส YS23DDT 2.3 ลิตรบล็อคใหม่ ซึ่งมีทั้งเวอร์ชั่น 163 แรงม้า และ 190 แรงม้า และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าไทยเราจะได้ใช้เครื่องทั้งสองแบบหรือจะมีแค่เพียงเวอร์ชั่น 190 แรงม้า

ส่วน Terra ในตลาดประเทศจีน ปัจจุบันยังมีเครื่องยนต์เบนซินแบบเดียว รหัส QR25DE ขนาด 2.5 ลิตร 2,488 ซีซี. DOHC Twin C-VTC กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.1 : 1 กำลังสูงสุด 184 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 236 นิวตันเมตร (251 นิวตันเมตรในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ) ที่ 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือ ขับเคลื่อน 4 ล้อ

เวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ ยังคงใช้เครื่องยนต์ที่ยกมาจาก Navara รุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบแถวเรียง รหัส YD25DDTi ขนาด 2.5 ลิตร 2,488 ซีซี. Commonrail เทอร์โบแปรผัน VGS อินเตอร์คูลเลอร์ กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.0 : 1 กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที

อย่างไรก็ตาม วิศวกรญี่ปุ่นได้แจ้งว่าแม้จะเป็นเครื่องเดิม แต่ก็ได้รับการปรับจูนใหม่เมื่อเทียบกับ Navara เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นรถแบบ SUV/PPV และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

ด้านระบบส่งกำลัง ในตลาดฟิลิปปินส์จะมี ให้เลือก 2 แบบ คือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ พร้อม Manual Mode +/- ดันข้างหน้าเพิ่มเกียร์ ดึงข้างหลังเพื่อลดเกียร์ แต่ไม่มี Paddle shift มาให้เล่น

ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น เป็นแบบ Part-time มีสวิตช์ปรับโหมดที่คอนโซลกลาง เลือกได้ระหว่างโหมด 2WD (ขับหลัง) – 4H (ขับสี่ทดปกติใช้บนถนนฝุ่นหรือลูกรัง) และ 4Lo ซึ่งเป็นเฟืองทดสำหรับการลุยแบบเต็มขั้น ทั้งนี้ระบบขับเคลื่อนของ Terra นั้นจะไม่มี Center diff เพื่อทดความต่างในการหมุนระหว่างล้อคู่หน้ากับหลัง ดังนั้นจะใส่ 4H วิ่งบนถนนยางมะตอยไปทั่วประเทศแบบระบบ Super Select II ของ Mitsubishi นั้น ยังไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม Terra ก็มีระบบ Rear diff Lock ล็อคล้อหลังซ้ายและขวาให้หมุนไปพร้อมกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการส่งกำลังลงพื้นได้ดีเมื่อต้องลุยบนทางลื่นแบบออฟโรด

หลังจากที่ได้ลองขับของจริง กลับรู้สึกประหลาดใจ เพราะแม้จะเป็นเครื่องยนต์ YD25 ตัวเก่าจาก Navara แถมมาเจอน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอีก แต่กลับทะยานได้ว่องไว กดคันเร่งครึ่งเดียวก็มีแรงดึงให้สัมผัสกันแล้ว และ ในช่วงรอบเครื่อง 2,000 – 3,000 รอบนั้น ดูเหมือนจะมีแรงขยันขันแข็งกว่า Navara เสียอีกแม้ว่ารอบปลายจะแห้งพอกัน โดยรวมแล้ว Terra ตัวโตๆอาจจะมีอัตราเร่งดีไม่แพ้ Navara 4 ประตู 190 แรงม้าเลยแม้แต่น้อย

ส่วนการตอบสนองที่รอบต่ำ และ การขับแบบปกติ ต้องยอมรับว่าเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีส่วนช่วยอย่างมากในการปิดกลบแรงบิดรอบต่ำกว่า 2,000 รอบ ที่ยังสู้พวก Fortuner 2.8, MU-X 3.0 และ Everest 3.2 ไม่ได้ แต่ก็ใกล้เคียงมากกับ Trailblazer 2.5 : 180 แรงม้า คุณสามารถใช้เกียร์สูง กดคันเร่งอ่อนๆแล้วไต่จากรอบต่ำไปก็ได้ ที่ประมาณ 1,700 รอบต่อนาที ก็เริ่มมีพลังให้สัมผัสกันแล้ว เพียงแต่จะไม่ติดเท้าดีแบบพวกเครื่องบล็อคโต

การทำงานของเกียร์ 7 จังหวะ ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมีอัตราทดรองรับในทุกช่วงความเร็ว เกียร์เปลี่ยนได้นุ่มและเร็วเมื่อเทียบด้วยมาตรฐานเกียร์รถกระบะและ PPV ในตลาด จะมีช่วงที่งงๆบ้างก็แค่เวลาคนขับไม่มั่นใจกับการกดคันเร่ง กดไปครึ่งนึงแล้วเปลี่ยนใจเป็นกระแทกเต็ม อาจจะมีจังหวะรั้งรอบ้าง หรือบางจังหวะความเร็ว ดูเหมือนบางครั้งเกียร์จะงง ว่าจะเลือกเกียร์ไหนให้ใช้ ซึ่งก็พบอาการนี้ได้ในรถที่มีเกียร์หลายจังหวะ เช่น Pajero Sport

ส่วนพวงมาลัยยังเป็นแบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยระบบไฮดรอลิกเหมือนกับเพื่อนญี่ปุ่นร่วมชาติทุกคัน ในขณะที่กระบะฝั่งอเมริกันอย่าง Everest กับ Trailblazer ในขณะนี้ หนีไปใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS กันหมดแล้ว

ด้วยความที่อัตราทดพวงมาลัยเซ็ตมาแนวเดียวกับ Navara แต่ดูเหมือนจะมีการปรับน้ำหนัก และ ความไวในการตอบสนองให้ต่างกันตามประเภทรถ ที่ความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัยจะเบากว่า Navara แต่ที่ความเร็วสูงระดับ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะนิ่ง และ แน่นขึ้น ขับแล้วไม่ต้องเกร็งมือ เวลาเลี้ยวตามทางแยกหรือเข้าซอยเล็กๆ รู้สึกได้ว่าไม่ต้องสาวพวงมาลัยเยอะเท่า Navara แต่กระนั้นก็ยังต้องหมุนมากกว่า Everest หรือ Fortuner อยู่บ้าง

ช่วงล่าง ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกคู่พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังแบบ 5-Link Suspension

การทำงานของช่วงล่างที่ความเร็วต่ำ ให้ความรู้สึกหนักแน่นและสบายก้นกว่า Navara แบบคนละเรื่อง ดีกว่า Fortuner แต่ยังไม่ซับแรงกระแทกได้เยอะแบบ Pajero Sport ยิ่งพอเข้าเส้นทางแบบออฟโรดที่เจอทางหินแบบธารลาวาแข็งตัว ของแม่น้ำแห้งแถบภูเขาไฟ Pinatubo ที่เราไปลองขับ ผมคิดว่าอาการของมันใกล้เคียง Everest มากกว่า PPV รุ่นอื่นๆ กล่าวคือ ช่วงล่างจะปล่อยความสะเทือนเข้ามาให้เราได้รับรู้สภาพถนน แต่การสะเทือนนี้จะถูกควบคุมเอาไว้ในระดับที่เหมาะสมจนไม่รู้สึกรำคาญ

ด้านหลัง..ผมลองนั่งข้างหลังในทางออฟโรด ก็ไม่มีอาการมึนหัว รู้สึกว่ารถสามารถควบคุมการยวบ และ เต้นของโช้ค และ สปริงได้ดี พอมานั่งข้างหน้า (ขับเอง) ก็พบว่าด้านหลังที่ว่านิ่งแล้ว ด้านหน้ายิ่งนิ่งกว่า นิ่งจนไม่อยากเชื่อว่าพื้นฐานช่วงล่างหน้าแชร์กันกับ Navara

ส่วนการวิ่งบนทางด่วนนั้น น่าเสียดายที่ยังไม่มีโอกาสลองซัดโค้งโหดแบบจัดเต็ม แต่เท่าที่สัมผัสกับความเร็วไม่เกิน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงล่างค่อนข้างนิ่ง เมื่อเจอสันหรือรอยต่อถนน จะมีลักษณะสะเทือนเบาๆคล้ายรถโช้คอัพแข็ง มีเสถียรภาพดี นี่เป็นอีกหัวข้อที่แม้จะยังไม่เยี่ยมแบบ Everest 3.2 แต่ก็มีความหนักแน่น และ มั่นใจอยู่ตรงกลางระหว่าง Trailblazer กับ Everest นั่นแหละ (Trailblazer นั้นถือว่าเป็นรถที่กลางๆในเกือบทุกด้านรวมถึงช่วงล่าง) ไม่ว่าจะนั่งหน้าหรือหลังก็รู้สึกสบายตัว กระชับ ไม่นุ่มเป็นครีมแต่ก็ไม่ย้วยเช่นกัน

ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรก มาพร้อมระบบ ABS ป้องกันล้อล็อค (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)

เมื่อลองเหยียบเบรกดู พบว่าแป้นเบรกจะมีระยะฟรีช่วงแรกนิดหน่อย แต่พอกดไปสักพักแรงเบรกจะเริ่มมา และ มาแบบค่อยเป็นค่อยไป เบรกแล้วหัวไม่ทิ่ม แล้วก็ไม่ได้เบรกลึกจนต้องกดเยอะๆแบบ Everest กับ Trailblazer แต่พูดตามตรงว่าถ้าดูเรื่องน้ำหนัก และ การตอบสนองของแป้นเบรกโดยรวมๆแล้ว วินาทีนี้ Fortuner คือรถที่เซ็ตมาได้เป็นกลาง และ เป็นธรรมชาติ ให้การควบคุมแรงเบรกที่ง่ายที่สุด

การเก็บเสียงนั้น สิ่งที่น่ายินดีก็คือ ดูเหมือนว่า Nissan จะให้ความใส่ใจเรื่องการเก็บเสียงมากกว่า Navara มาก ผนังห้องเครื่องใช้วัสดุแบบบุ 3 ชั้น ทำให้เสียงเครื่องยนต์ YD25 ที่ค่อนข้างดัง เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารน้อยมาก พื้นใต้ท้องรถก็บุวัสดุซับเสียงหนา ยางขอบประตูก็มีความหนาแน่น เมื่อวิ่งที่ความเร็ว 120 – 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พบว่าเสียงลมเล็ดรอดเข้ามาน้อยมาก เสียงยาง เสียงใต้ท้องรถก็เข้ามาน้อย พูดแบบรวมๆเลยว่าทำได้ดีมาก ขนาดผมลองนั่งฟังเสียงลมข้างหลังรถยังมีเข้ามาน้อยมากจริงๆ

ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น น่าเสียดายว่าเราไม่ได้นำมาวัดเทียบกับรุ่นอื่นๆตามมาตรฐานปกติของเว็บ จึงต้องอาศัยระบบคำนวณของ On-board Computer ซึ่งในช่วงที่ขับลุยแบบออฟโรดนั้น ได้ค่าประมาณ 7.3 กิโลเมตรต่อลิตร แต่เวลาวิ่งบนทางด่วน ความเร็ว 80 – 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะโชว์ประมาณ 12.3 กิโลเมตรต่อลิตร

สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยนั้น เวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ในรุ่นสูง จะมีระบบมาให้ค่อนข้างครบ ดังนี้

  • ระบบเบรก ABS / EBD / BA
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (VDC)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist (HSA)
  • ระบบช่วยลงทางลาดชัน Hill Descent Control (HDC)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา Blind Spot Warning (BSW)
  • ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง Lane Departure Warning (LDW)
  • ระบบตรวจจับวัตถุและบุคคลรอบคัน Moving Object Detection (MOD)
  • กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา Around View Monitor (AVM)
  • กระจกมองหลังแบบใช้กล้องแสดงภาพ Intelligent Rear View Mirror (i-RVM)
  • ระบบเตือนแรงดันลมยาง Tire Pressure Monitoring System (TPMS)
  • ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย-หัวเข่าคนขับ)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีระบบ Radar Cruise Control หรือระบบช่วยเบรกอัตโนมัติแบบที่คู่แข่งบางรุ่นมีให้

********** สรุป **********

ขับดีกว่าที่คาด แต่ตลาดนี้มันดุ ถ้ามาจริง ราคาต้องเด็ด !

การทดลองขับที่ฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้สัมผัสตัวรถที่เหมือนกับเวอร์ชั่นไทย 100% โดยเฉพาะในเรื่องเครื่องยนต์ซึ่งยังเป็นแบบ 2.5 ลิตร 190 แรงม้า แต่ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความตั้งใจของวิศวกรในการพยายามปรับแต่งโครงสร้างเดิมของ Navara ให้กลายเป็น SUV/PPV ที่มีความสามารถทัดเทียมกับคู่แข่ง

เรื่องสมรรถนะ และ อัตราเร่งนั้น ถ้าเวอร์ชั่นไทยเครื่อง 2.3 ลิตรเทอร์โบคู่ รุ่นใหม่ ที่มีพละกำลังเท่ากัน หรือ มากกว่า 2.5 ลิตรของฟิลิปปินส์ พูดได้เลยว่ามันส์แน่ เพราะในเวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ ก็ให้อัตราเร่งที่รวดเร็วคล่องตัว มีแรงบิดรอบต่ำที่ดีกว่า Pajero Sport แต่รอบปลายอาจจะไม่หวานเท่า ในภาพรวมออกมา มีความใกล้เคียงกับ Trailblazer 180 แรงม้า และ Navara 190 แรงม้า

ส่วนเรื่องช่วงล่างและการบังคับควบคุม บอกเลยว่าทำมาได้ดีกว่าที่คาด ไม่ได้นุ่มจนย้วย แต่เก็บแรงกระแทกได้ดี ไม่ส่ายโคลงหรือดีดเด้งเป็นลูกชิ้นปลานายใบ้ พวงมาลัยอาจจะยังมีความรู้สึกเนือยเฉื่อยแบบ Navara เหลืออยู่ แต่ปรับน้ำหนักให้เบาลงจนใช้ในเมืองได้สบายขึ้นและไม่ต้องสาวพวงมาลัยเยอะเท่า Navara

เบาะนั่งตอนหน้า ดันหัวนิดๆแบบ Navara แต่เบาะตอนหลังสบายดีไม่แพ้คู่แข่ง ที่สำคัญคือการเก็บเสียง ทำได้ดีจนนับเป็นแถวหน้าของกลุ่มเลยก็ว่าได้

สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงอยู่บ้าง ก็อาจจะเป็นเรื่องลูกเล่นบางจุดที่ยังมีไม่เท่าคู่แข่ง เช่นหลังคา Panoramic หรือ ฝาท้ายเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังขาด Radar Cruise Control และ ระบบเบรกแบบอัตโนมัติแบบที่คู่แข่งมี

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวม Terra ใหม่เป็นรถที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้แน่นอน ไม่มีจุดด้อยแบบที่ต้องให้ด่าแบบกดหัวจม และยังมีจุดดีให้สัมผัสเยอะไม่เบา

ที่ต้องมารอลุ้นกันว่ารถจะขายได้หรือไม่ ก็คือราคา และ ออพชั่น นั่นแหละครับ ถ้าหากตั้งราคามาใกล้เคียง Pajero Sport ก็จะมีโอกาสสร้างยอดขายดีๆได้ไม่ยาก

แต่ถ้ามั่นใจเกินไป จนตั้งราคาทะลุ 1,500,000 บาท ก็อาจจะขายยากหน่อย

นี่ล่ะครับ ไม่ว่ารถจะดีขนาดไหน สุดท้าย ถ้าไม่ใช่เจ้าตลาด ตัวชี้ขาดจริงๆ ก็คือราคา และ ออพชั่น อยู่ดี !!

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

Communications Department, NISSAN MOTOR (THAILAND) CO., LTD. 

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นของ Nissan Motor และผู้เขียน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com  29 พฤษภาคม 2561

Copyright (c) 2018 Text and PicturesUse of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First published in www.Headlightmag.com. 29 May 2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome, CLICK HERE !


บทความที่น่าสนใจ : ภาพ Official : Nissan TERRA เบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง ครั้งแรกในภูมิภาค เจอกันในไทยปี 2018 นี้ >> http://www.headlightmag.com/nissan-terra-official-photo-asia-oceania/

ภาพ Official : Nissan TERRA เบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง ครั้งแรกในภูมิภาค เจอกันในไทยปี 2018 นี้