ความสามารถในการคงเอกลักษณ์ท่ามกลางความผันผวนของสิ่งต่างๆรอบตัว คือองค์ประกอบที่ทำให้แบรนด์ดังหลายแบรนด์สามารถฟันฝ่ากาลเวลาอยู่มาถึงปัจจุบัน แต่ในความพยายามเพื่อการคงเอกลักษณ์นั้นเอาไว้ น้อยคนจะทราบว่ามีหลายสิ่งต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อความอยู่รอด

ยิ่งในช่วงวิกฤติ คุณจะเห็นได้ว่า ส่วนผสมระหว่างเอกลักษณ์ที่ต้องคงไว้ กับการเปลี่ยนแปลง ที่ลงตัว มันจะกลายเป็น “การปรับตัว” แบบที่นำองค์กรฟันฝ่าอุปสรรคได้เหมือนกัน แต่ละส่วนผสม สำหรับแต่ละคนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน ผมยกตัวอย่างให้ฟังเล่นๆว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจใหญ่ๆรับผลกระทบหนัก ร้านอาหารปิดตัวลงกันมากมายเพราะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน

แต่ในซอยบ้านผม มีร้านขายอาหารอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้ปิดตัวลง แต่พยายามฝืนสู้ เริ่มจากร้านชาไต้หวันและเครื่องดื่ม/หมาล่าปิ้ง และร้านขายอาหารจานเดียวที่อยู่คูหาใกล้ๆกัน ว่าใครถนัดทำอาหารหรือเครื่องดื่มแบบไหนบ้าง จากนั้นพวกเขาก็ร่างเมนูลงบนกระดาษ A4 คร่าวๆ เมื่อได้รายการอาหาร/เครื่องดื่มที่เริ่มดูเข้าท่าและตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่ (อาหารจานเดียว, ไก่ย่าง, ยำต่างๆ, ส้มตำ, หมาล่าปิ้ง และเครื่องดื่ม) ก็ให้มนุษย์ผู้ชายในร้าน ตระเวนออกนำเมนูบนกระดาษ A4 นั้น เสียบตามรั้วบ้านในละแวกนั้น…โชคดีมากที่ 1 ในกระดาษเหล่านั้นหลุดรอดมาจนถึงโต๊ะรับแขกกลางบ้านผม

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เมนูจากร้าน “ครัวสามแม่ลูก” นี้ ได้มีส่วนในการเสริมสร้างพลังไคจูให้กับผมอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พูดกันตรงๆนะครับ ใครมันจะไปบ้าสั่ง KFC, The Pizza, McDonald’s เวียนกันได้ตลอด บางทีเราก็อยากจะกินอาหารทำสุกใหม่บ้าง แถมสามารถสั่งเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำอัดลมมากินได้ด้วย สั่งทาง LINE ชำระเงินผ่าน Promptpay ไม่ต้องมีการสัมผัสเงินกัน บางครั้งถ้าอาหารจานเดียวหมด เขาก็จะถามว่า “เอาข้าวมันไก่มั้ยคะ” ทำให้ผมงง “เอ๊ะปกติคุณไม่ขายข้าวมันไก่นี่” แล้วก็ได้คำตอบว่า “ไม่ได้ขายค่ะ แต่กลัวคุณลูกค้าไม่มีอะไรกิน เดี๋ยวจะเดินไปซื้อให้แล้วออกเงินให้ก่อน”

กลายเป็นว่าเพราะวิกฤติ COVID บวกกับการปรับตัวของทางร้าน ทำให้ผมและหลายคนในแถบนั้นเรียกหาเป็นประจำ จนตอนนี้ ดูเหมือนว่าทางร้านนั้นจะได้ “Brand Awareness” เพิ่มสิบเท่าเทียบกับสมัยที่เปิดเป็นร้านนิ่ง ไม่มีบริการส่ง ใครอยากแวะก็แวะ ในช่วงเดือนมีนาคม คนส่งอาหารยังมาส่งบ้านผมแบบไม่รีบ พูดคุยกันได้นานก่อนกลับ แค่เดือนเมษายน คนส่งอาหารบึ่งมอเตอร์ไซค์เหมือนหนีเมียมา จับอาหารส่งแล้วขึ้นรถบิดออกไป “มีลูกค้ารออีกเพียบเลยครับพี่”

เขาเปลี่ยนอะไรเหรอ? อาหาร ก็เหมือนเดิม..วัตถุดิบเหมือนเดิม คนทำก็คนเดิม เปลี่ยนแค่วิธีการเอาอาหารไปถึงมือลูกค้า กับวิธีการเก็บเงิน ผลลัพธ์คือ นอกจากจะอยู่รอดแล้ว กลายเป็นว่าร้านดังกว่าเดิมเสียอีก

เรื่องทำนองนี้ ก็คล้ายกับวิธีการอยู่รอดของบริษัทรถยนต์ โดยที่ไม่ต้องให้ COVID มาเยือน ผู้ผลิตรถทั้งหลายก็ต้องพนันหลายร้อยพันล้านกับการตัดสินใจว่า “อะไรจะคงอยู่” และ “อะไรจะเปลี่ยนไป” หรือ “อะไรบ้างที่ปรับได้” Suzuki XL7 นี่เป็นภาพสะท้อนการตัดสินใจของทางค่ายในการบริหารความสำคัญระหว่างสามสิ่งนี้ได้อย่างชัดเจน

เมื่อพูดถึงชื่อ Suzuki (ที่เป็นรถ ไม่ใช่กาแฟ) เราจะรู้จักพวกเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญการผลิตรถเล็ก ดังที่เราจะชินกับภาพรถอย่าง Fronte หรือ Caribian ถ้าใหม่หน่อยก็คือ Vitara, APV และ Carry ซึ่งทั้งหมดเป็นรถจากในอดีตที่ล้วนมีเอกลักษณ์ร่วมกันคือเล็ก เบา ทั้งในเรื่องน้ำหนักรถและราคา แต่ร้ายกาจในประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เคยทำรถใหญ่นะครับ Suzuki เคยทำ Kizashi Sedan ขนาดกลางตัวยาว 4.65 เมตรมาแล้ว..และล้มเหลว พวกเขาเคยทำรถรุ่น XL-7 ซึ่งเป็น SUV ขนาดใหญ่ 7 ที่นั่งยาว 5 เมตรขายในอเมริกาโดยใช้โครงสร้่างตัวถังและเครื่องยนต์ 3.6 ลิตรจาก General Motors ซึ่งแน่นอน ล้มเหลวเหมือนกัน เจ้า XL-7 ที่ว่านี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระเอกในบทความเราเลยแม้แต่น้อย ชื่อรุ่นจริงๆก็ต่างกันเพราะ XL7 ของเรา จะไม่มี “-” อยู่ในชื่อครับ

แต่แม้ว่ารถใหญ่ของค่ายสองรุ่นที่ว่ามาจะล้มเหลว Suzuki ก็รู้ตัวว่าพวกเขาไม่สามารถขายแต่รถเล็กกินไปตลอดชีวิต ในตลาดที่กำลังโตอย่างอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนจะมีส่วนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคืองบประมาณในบัญชีมีพอให้ซื้อแค่รถเล็ก แต่ความปรารถนาในใจลึกๆแล้วอยากได้รถใหญ่ ดังนั้นการที่จะอยู่รอด ก็ต้องทำรถให้ใหญ่ขึ้น แต่คุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของ Suzuki เช่นความเบา ขับง่าย ลดต้นทุนแต่ทำรูปแบบออกมาให้ดูแล้วเกินคุ้มเมื่อเทียบกับตัวรถ นี่คือจุดเริ่มต้นของรถอย่าง Ertiga รถที่เล็กในชื่อ แต่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดตัวของ Suzuki ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาทุกคัน

Ertiga นั้น เป็นปิคนิคคาร์ของคนรักครอบครัวที่สร้างยอดขายให้ Suzuki ได้พอประมาณ มีจุดด้อยที่อุปกรณ์อาจจะไม่ครบสุดๆ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะเหมือนรถยุค 90s แต่ด้วยความที่ราคารถตั้งไว้ถูกมากสำหรับการมี 7 ที่นั่ง ทำให้เป็นขวัญใจคนที่ซื้อรถครอบครัวตามหลักเศรษฐศาสตร์ ใช้เงินตามความจำเป็น แต่กระแสของมันในด้านยอดขายนั้นกลับถูกรถอย่าง Mitsubishi Xpander ตีกระบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแต่ละเดือน ด้วยรูปลักษณ์ที่ถูกใจคนชอบประกอบกันพลา (หุ่น Gundam) แถมยังใส่มาดตัวถังมาเป็น SUV/Crossover มากจนดูไม่ออกว่าเป็น Mini MPV

..และแน่นอน เราทราบกันดีนะครับว่าลึกๆในใจคนทั้ง ASEAN เนี่ยเขามองว่า MPV มันคือรถมนุษย์พ่อครับ ในขณะที่ SUV-style นั้นดูจะขายได้ทุกระดับชนชั้นและอายุ ก็ไม่แปลกเลยที่แม้ Xpander จะตั้งราคาเอาไว้สูงกว่ามากมาย แต่ยอดขายก็ยังพุ่งปรี๊ด เมื่อเป็นอย่างนี้ Suzuki ก็ต้องปรับตัว เอาวะ! ถ้าคู่แข่งทำเป็นสไตล์ SUV แล้วขายดี เราก็ต้องทำได้ และทำโดยเอาเอกลักษณ์ส่วนสำคัญของ Suzuki ในการสร้างรถเล็กและเบาเนี่ยแหละมาสู้

พวกเขานำเอาโครงสร้่างพื้นฐาน HEARTECT ที่ใช้กับ Ertiga มาปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนชิ้นส่วนไปประมาณ 200 จุด (นับทั้งเล็กและใหญ่) หลายคนอาจจะมองว่า ก็แค่เอา Ertiga มายกสูงหรือเปล่า อ่านบทความนี้ต่อไปแล้วจะรู้ว่างานมันเยอะกว่าที่ท่านคิด และมันอาจจะสั่นกุญแจ Ertiga ในมือของพวกท่านบางคนด้วยซ้ำ

Suzuki XL7 เปิดตัวที่อินโดนีเซียในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020 โดยรถที่ขายนั้น จะประกอบจากโรงงานที่ Cikarang ในอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตป้อนมาให้กับตลาดประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยสำหรับบ้านเรานั้น ทาง Suzuki ประเทศไทย เปิดตัวแบบ Online ผ่านการ Live บน Facebook ตามกระแสนิยม ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2020 เวลา 19.00 น. จากนั้นจึงมีการเชิญสื่อมวลชนมาสัมผัสกับรถคันจริงในวันที่ 3 กรกฎาคม โดยมีการแบ่งจำนวนสื่อมวลชนออกเป็นหลายรอบ และจำกัดจำนวนคนภายในงานตามมาตรการ New Normal

ราคาที่เปิดตัวมา 779,000 บาท โดยมีรุ่นย่อยให้เลือกเพียงรุ่นเดียวคือ 1.5 GLX นั้น นับว่าเป็นสไตล์กลยุทธ์ของ Suzuki อย่างแท้จริง เพราะทำให้ผู้ชมทางบ้านต้องคิดหนัก คนที่กำลังกำเงินจะไปซื้อ Ertiga 2020 ก็ชะงัก เพราะเพิ่ม 54,000 บาท แต่ได้รูปลักษณ์ที่สลัดความเป็นมนุษย์พ่อบ้านทิ้งไปเกือบหมด ได้อุปกรณ์ครบกว่าด้วย ส่วนคนที่กำลังมอง Xpander รุ่นล่างสุดที่วางราคาไว้เท่ากันเด๊ะ ก็มีดอกลังเลเหมือนกัน เพราะแม้ Xpander ดูวัยรุ่นกว่าด้วยภายนอก แต่อุปกรณ์ที่ติดรถมานั้น XL7 มีมาให้คับคั่งกว่าเยอะ ..แต่แน่นอนครับ คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่ายังไงก็ซื้อ Xpander เพราะรูปทรงถูกใจ กลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆอยู่แล้วเพราะเขามีเป้าหมายที่แน่วแน่ในใจเขา

แต่ดูทรงสถานการณ์แล้วผมกลับมองว่า มันอาจจะไม่ได้ไปกินยอดของ Xpander เยอะเท่ากับที่จะไปส่งผลกับยอดขายของ Ertiga เรื่องนี้ทางผู้บริหารของ Suzuki ก็ทราบดี แต่ก็ยังนำ XL7 มาเปิดตัวเพราะเชื่อว่ามีลูกค้ากลุ่มที่ยังรอซื้อ รอให้ Suzuki นำเข้ามาขาย แต่ในใจของพวกเขานั้น ก็ยังพยายามเทความสำคัญด้านการขายและการตลาดให้กับรถทั้งสองรุ่นในแบบ 50:50 โดยที่ Ertiga จะลงตัวกับกลุ่ม “Sensible Buyer” มองหาสิ่งที่คุ้มค่าในราคาและการใช้งาน และ XL7 จับกลุ่มลูกค้าที่วัยรุ่นกว่า และยังสามารถเพิ่มเงินเพื่อรูปลักษณ์ได้ รถสองรุ่นนี้จะทำตลาดด้วยกันเพื่อให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีรถตรงความต้องการของตัวเอง ไม่ใช่ว่าพอเอา XL7 มาแล้วก็ทิ้ง Ertiga ไปเลย

ถ้าพูดถึงความแตกต่างระหว่าง XL7 กับ Ertiga 2020 ผมสามารถสรุปเป็น Bullet Point ให้ง่ายต่อการจำได้ดังนี้

ภายนอก

  • ไฟหน้าของ XL7 เป็นหลอด LED รวมถึง Daytime Running Light ก็เป็น LED ด้วย
  • ซีกหน้าของรถ กระจังหน้า กันชนหน้า ฝากระโปรงหน้า แก้ม ต่างกันไปเลย
  • กันชนหลัง ทรงสปอร์ต
  • ล้ออัลลอย ขยับจากขนาด 185/65 ขอบ 15 ขึ้นเป็น 195/60 ขอบ 16 นิ้ว
  • เพิ่มคิ้วซุ้มล้อสีดำรอบคัน
  • เพิ่มแร็คหลังคา รับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม
  • เพิ่มแถบคาดสีดำระหว่างไฟท้ายสองข้าง

ภายใน

  • แผงมาตรวัดแบบใหม่ มีจอ MID ตรงกลางเป็นจอสี
  • เพิ่มสวิตช์ปรับองศาจานสะท้อนแสงไฟหน้า
  • เพิ่มวัสดุตกแต่งลายคาร์บอนไฟเบอร์เคลือบผิวเงาบนแดชบอร์ดและแผงประตู
  • เบาะนั่งหุ้มผ้าสลับหนัง
  • เพิ่มพนักเท้าแขนตรงกลางที่เลื่อนหน้า/หลังได้
  • ชุดเครื่องเสียง เพิ่มลำโพงเป็น 6 ตำแหน่ง
  • เพิ่มช่องชาร์จไฟ 12V สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ 3

ความเปลี่ยนแปลงด้านวิศวกรรม

  • เปลี่ยนโช้คอัพ และสปริงใหม่ ความสูงของช่วงล่างเพิ่มประมาณ 11 มิลลิเมตร รวมกับความสูงที่ได้จากขนาดล้อที่เปลี่ยนไปอีก 9 มิลลิเมตร ทำให้ได้ใต้ท้องรถที่สูงขึ้น 20 มิลลิเมตร (จาก 180 เป็น 200 มิลลิเมตร ใกล้เคียง Xpander 1.5GT)
  • เปลี่ยนเหล็กกันโคลงหน้า ให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพิ่มขึ้น 1 มิลลิเมตร
  • กล่อง ECU ปรับจูนใหม่ ส่งผลให้ได้มลพิษ CO2 น้อยลงทั้งที่รถหนักขึ้นและล้อโตขึ้น
  • เปลี่ยนอัตราทดเฟืองท้าย จาก 4.278 เป็น 4.375
  • เปลี่ยนซีลขอบประตู (ผมยังไม่แน่ใจว่าเป็นชิ้นไหน แต่ทราบว่าเปลี่ยนเพื่อลดเสียงรบกวนลง)
  • เพิ่มแผงกันความร้อนและเสียงที่ผนังห้องเครื่องยนต์
  • เปลี่ยนซีลยางแกนพวงมาลัยให้โตขึ้น ลดความสั่นสะเทือน ลดเสียงที่เล็ดรอดจากคอพวงมาลัย

ถ้าคุณไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องการขับขี่มากนัก ทั้งหมดข้างบนนี้ คือสิ่งที่คุณได้ เมื่อยอมจ่ายเพิ่มจาก Ertiga MY2020 54,000 บาท แต่ถ้าสนเรื่องอื่นด้วย ลองอ่านต่อไปครับ

Suzuki XL7 มีความยาวของตัวรถ 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร ความยาวระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,515 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,530มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดเตี้ยสุดใต้ท้องรถเท่ากับ 200 มิลลิเมตร (เมื่อไม่มีผู้โดยสาร) น้ำหนักตัวรถอ้างอิงจาก Eco Sticker อยู่ที่ 1,175 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร

เมื่อเทียบกับคู่แข่งใน Segment 7 ที่นั่งระดับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร โดยเอาทั้งรถที่เป็นสไตล์ Mini MPV และสไตล์ SUV และสไตล์ที่ปนๆเปๆไม่รู้จะคลาสไหนมาเข้ารวมกันหมดแล้ว จะได้ข้อมูลดังนี้

  • Suzuki XL7 : 4,450 x 1,775 x 1,710 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 200 มิลลิเมตร
  • Suzuki Ertiga : 4,395 x 1,735 x 1,690 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 180 มิลลิเมตร
  • Mitsubishi Xpander : 4,475 x 1,750 x 1,700 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 205 มิลลิเมตร
  • Mitsubishi Xpander Cross : 4,500 x 1,800 x 1,750 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 225 มิลลิเมตร
  • Honda BR-V : 4,455 x 1,735 x 1,650 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 201 มิลลิเมตร
  • Honda Mobilio : 4,398 x 1,683 x 1,603 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 189 มิลลิเมตร
  • Toyota Sienta : 4,235 x 1,695 x 1,695 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น 170 มิลลิเมตร

ในเรื่องขนาดตัวถัง XL7 ตัวใหญ่กว่าชาวบ้านหมดในภาพรวมยกเว้น Xpander Cross ซึ่งได้ขนาดตัวที่ใหญ่จากชุดแต่ง..แต่ XL7 เองก็มีบอดี้โครงหลักเดียวกับ Ertiga แต่โตเพราะชุดแต่งเหมือนกันนั่นแหละครับ ความสูงใต้ท้อง Mitsubishi นำอยู่ เพราะได้ตั้งแต่ 205-225 มิลลิเมตร ส่วน BR-V กับ XL7 ใกล้เคียงกัน

สำหรับความเห็นทางด้านการออกแบบ ผมพูดจากใจว่า โอเคกับทุกส่วนยกเว้นไฟหน้าครับ รู้สึกได้ว่าพยายามทำให้มีรูปลักษณ์ภายนอกแบบ SUV จึงใช้ไฟหน้าทรงแบบนี้ ซึ่งมันดูมีกลิ่นอายปนๆกันระหว่าง Suzuki Celerio รถเล็กกับรถกระบะอย่าง Hilux Revo รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ โดยส่วนที่ทำลายความสวยคือติ่งที่ยื่นมาเป็น Daytime Running Light กับไฟเลี้ยวนั่นแหละ ถ้าปรับทรงของไฟให้เรียวเล็กเท่า Ertiga แต่ยึดดีไซน์เส้นสายดุๆคล้ายเดิมไว้มันน่าจะดูดีกว่านี้ ส่วนด้านท้ายนั้นแม้จะไม่ต่างจาก Ertiga มาก แต่แผงสีดำที่คาดระหว่างไฟท้าย ช่วยให้รถดูสวยขึ้นอย่างน่าประหลาด ถ้าผมมี Ertiga อยู่แล้วผมคงไป Wrap ท้ายสีนี้แหละครับ

แต่ในภาพรวมเมื่อเทียบกับผู้นำตลาดอย่าง Xpander ผมรู้สึกว่า Mitsubishi มีความล้ำยุคในดีไซน์ภายนอกมากกว่า มันดูเหมือนรถ Concept Car เกือบทั้งคันยกเว้นไฟท้าย ในขณะที่ XL7 ดูธรรมดา เรื่องนี้นานาจิตตังครับ ผมไปทริปทดสอบขับ และนั่งร่วมกันกับพี่คิงสลีย์ นักข่าวรถยนต์รุ่นคลาสสิค จาก Thaiautonews.com ก็มีความเห็นต่างกัน พี่คิงไม่ชอบ Xpander เพราะมันดูกันดั้มมากไป…แต่ความกันดั้มนั่นแหละคือจุดที่ทำให้ผมชอบ Xpander มากกว่า

มาดูภายในกันบ้างครับ แน่นอนว่ากุญแจของ XL7 นั้น ให้มาเป็น Smart Key แบบพกไว้ในกระเป๋าแล้วเวลาจะเข้ารถก็กดปุ่มดำๆที่มือจับเปิดประตูแล้วเข้าได้เลย อันนี้ไม่ได้ถือว่าเด่น เพราะคู่แข่งเขาก็มีให้

การเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร สำหรับผู้โดยสารตอนหน้านั้นถือว่าง่าย โดยเฉพาะสำหรับคนตัวสูงเพราะตำแหน่งของเบาะและความสูงของตัวรถอยู่ในระดับที่คนสูง 170-180 เซนติเมตรสามารถสไลด์ตัวเข้าไปได้เกือบตรงๆ เสา A-Pillar มีความลาดเอียงน้อยกว่า Xpander และช่องทางของประตูเมื่อเปิดออก มีการเปิดพื้นที่ระดับศีรษะไว้มากกว่า Xpander เช่นกัน ทำให้คนตัวสูงสามารถเข้าออกได้ง่ายกว่าเพราะไม่ต้องก้มหัวหลบมากเท่า…ถ้าวันไหนผมเข้านั่ง XL7 ไม่ได้ล่ะก็ แปลได้อย่างเดียวคือผมไม่น่าจะเดินหรือใช้ชีวิตแบบปกติได้แล้วล่ะครับ

เบาะนั่งคู่หน้า..มีทั้งจุดที่ชอบและไม่ชอบครับ พนักพิงหลัง และพนักพิงศีรษะ ให้ความรู้สึกอบอุ่นกำลังสบายราวนอนหนุนตักภรรยา ไม่คิดเหมือนกันครับว่ารถราคาแค่นี้สามารถทำพนักพิงเอาใจคนอ้วนได้ขนาดนี้ หมอนรองศีรษะก็ไม่ดันกบาลมากไป คนที่ชอบพิงหัวเวลาขับทางไกลอย่างผมรู้สึกสบาย องศาการรับด้านหลังของศีรษะทำให้ไม่รู้สึกเหมือนโดนแพ่นกบาลเวลาหัวกระแทก..ซึ่งเป็นหมอนหัวแบบที่ Nissan เขาถนัด อย่างไรก็ตาม เบาะรองนั่งนี่..เวลานั่งลงไปตัวเบาะตรงปีกและช่วงรับขาจะยู่ตัวลงมากครับ อาจจะเป็นเพราะผมตัวหนักก็ได้นะ แต่ตอนนั่ง Xpander ผมว่าเบาะรองนั่งของเขาทำมาแข็งกำลังดี ของ XL7 นี่ยู่ตัวจนบางทีก็เผลอเกร็งขาสู้ไปเหมือนกัน

เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับสูง/ต่ำได้ ส่วนพนักเท้าแขนนั้น เอาเข้าจริงมีขนาดที่เล็กมาก และปรับยังไงข้อศอกผมก็เท้าไม่ถึงครับ เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ใครที่จะซื้อ XL7 ผมรบกวนเพ่งเล็งสองจุดครับ พนักเท้าแขน โอเคมั้ย และเบาะรองนั่ง สบายสำหรับเรามั้ย ผู้อ่านแต่ละท่านมีสรีระและจุดเน้นบนร่างกายต่างกัน ผมเดาเผื่อได้ยากครับ

ส่วนจุดที่ขอหักคะแนนคือเข็มขัดนิรภัยหน้า ซึ่งเป็นแบบที่ปรับความสูงต่ำไม่ได้ (ซึ่ง Xpander ก็เช่นเดียวกัน) และอีกจุดคือพวงมาลัยครับ..เพราะนอกจากจะมาในทรงหน้าแหงนเหมือนขับรถตู้เชิงพาณิชย์แล้ว ยังสามารถปรับได้แค่ขึ้น/ลง ไม่สามารถปรับเข้า/ออกแบบ Xpander ได้ ซึ่งคุณอาจจะไม่เห็นว่ามันสำคัญ แต่เวลาขับจริงแล้วต้องสาวพวงมาลัยเยอะๆ ผมพบปัญหาว่าเมื่อมือ (ที่จับพวงมาลัย) เลื่อนขึ้นถึงจุด 12 นาฬิกา ผมจะต้องเอื้อมไกลจนไหล่พ้นจากเบาะ แต่ครั้นจะปรับเบาะให้ชิดขึ้น คราวนี้กลายเป็นสาวพวงมาลัยลงมาด้านล่างไม่ถนัด..ติดพุง..อันนี้อาจจะความผิดของร่างกายผม แต่จะบอกว่าผมไม่พบปัญหานี้ใน Xpander ครับ

เบาะนั่งแถวที่สองนั้น แยกปรับแบบ 60:40 สามารถเลื่อนหน้าถอยหลังได้ ปรับเอนได้เยอะกว่า Xpander ครับ ขานั้นเขาเอนเหมือนแค่ให้สามารถใส่ในโบรชัวร์ว่ามีเบาะหลังเอนได้แค่นั้น  พนักพิงหลังจะเตี้ย ส่วนหมอนรองศีรษะรูปตัว L ให้ความสบายได้พอประมาณ พวกรถ 7 ที่นั่งระดับนี้ เลี่ยงเบาะทรงนี้ได้ยากครับเพราะต้องทำเผื่อการพับเบาะบรรทุกของด้วย ตัวเบาะเลยต้องดูแบนๆแบบนี้ เบาะรองนั่งของ XL7 ที่เบาะหลังนี้ มีความแข็งสู้ตูดมากกว่าเบาะหน้า กลายเป็นเวลาเวลานั่งเบาะแถวสองนี่กลับรู้สึกสบายก้นกำลังดีกว่า

เมื่อเทียบกับ Xpander จะมีจุดแลกหมัดกัน..กล่าวคือ เบาะของ Xpander จะไม่มีหมอนรองศีรษะสำหรับคนนั่งตรงกลางมาให้ แต่คุณสามารถล้มเบาะตรงกลางลงมาเป็นที่เท้าแขนได้แบบสบายศอก แต่ XL7 จะไม่มีพนักเท้าแขนตรงกลางให้

ซึ่งก็แปลกดี..เพราะ XL7 เวอร์ชั่นอินโดนีเซีย กลับมีที่เท้าแขน แต่ไม่มีหมอนรองศีรษะสำหรับคนนั่งกลางมาให้..ส่วนเนื้อที่วางขานั้นเหลือเฟือครับถ้าถอยเบาะแถวสองไปหลังสุด ผมสามารถนั่งขับในตำแหน่งคนขับ ปรับเบาะถอยยาวแบบที่ขับถนัดแล้วเปิดประตู ย้ายลงมานั่งข้างหลังตำแหน่งตัวเอง แล้วยังมีที่วางขาขนาดกำลังสบาย เหมือนพวก SUV ราคาล้านกว่า และมากกว่า Mazda CX-5 กับ Toyota Corolla Cross ด้วยซ้ำ (ผมใช้วิธีเดียวกันหมดในการวัดพื้นที่ด้านหลัง อันนี้ขอเรียนแจ้ง เพราะบางคนถามว่าทำไมถอยเบาะหน้ามาไกล แล้วจะนั่งข้างหลังสบายได้ไง)

บนหลังคา มีช่องเป่าลมของเครื่องปรับอากาศมาให้  ปรับแรงลมได้ แต่ปรับอุณหภูมิไม่ได้ ชุดแอร์หลัง จะเป็นคอยล์เย็นที่แยกส่วนกันกับชุดแอร์ด้านหน้า แต่พึ่งพาคอมเพรสเซอร์แอร์ และยูนิตควบคุมอุณหภูมิจุดเดียว เรียกว่าเป็นความปราณีแบบกึ่งเผด็จการ เผด็จการตรงที่คนนั่งหลังต้องเอาอุณหภูมิตามใจคนนั่งหน้า ยกเว้นกรณีเดียวคือถ้าภรรยานั่งหลังกับลูก เผด็จการก็จะถูกโค่นลงด้วยระบอบภรรยาธิปไตย

ตรงนี้ ถือว่าดีที่ให้มา แต่ Xpander เขาก็มีมาให้เช่นเดียวกัน แถมมีลักษณะปรับได้แค่แรงลมเหมือนกันด้วย

เบาะนั่งแถวสาม สามารถปรับแยกพับได้แบบ 50:50 มีพื้นที่เหนือศีรษะเหลือเยอะกว่า Xpander แต่ลักษณะการนั่งจะต้องชันเข่าคล้ายกัน ผมลองปีนเข้าไปนั่งเล่นดู พบว่าถ้าถอยเบาะแถวสองไปสุด ก็จะไม่สามารถนั่งได้ ต้องขึ้นอยู่กับความปราณีของผู้โดยสารแถวสองว่าจะยอมเลื่อนเบาะไปข้างหน้ามากแค่ไหน  ถึงแม้จะวัดความสบายเทียบกับ Xpander หรือ BR-V ได้ยากเพราะผมควรใช้คนที่ขนาดตัวเล็กมาช่วยวัด แต่ถ้าสมมติว่าใครจะแกล้งให้ผมนั่งเบาะแถวสามเดินทางไกลๆ ผมรู้สึกยินยอมที่จะนั่งเบาะของ XL7 มากกว่าคู่แข่งรายอื่นแล้วกัน

สำหรับที่นั่งแถวสองและสาม จะมีรูเสียบ Power Outlet 12V มาให้ ไม่มีช่องเสียบ USB ดังนั้น กรุณาแวะซื้อ Adapter เอาเองที่ 7-11 นะครับ

ท้ายรถมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดถ้าหากปรับเบาะทุกตัวตั้งขึ้นใช้งาน ก็จะมีความจุแค่ 153 ลิตร พอสำหรับวางกระเป๋าเดินทางใบแข็งขนาด ขนาด 24 นิ้วสี่ใบไม่หนามาก ที่เหลือจะต้องเป็นกระเป๋าผ้าหรือผ้าใบที่วางซ้อนทับกันได้ ดังนั้นถ้าต้องเดินทางไกล 3-4 วันกับผู้โดยสาร 7 ท่าน ผมว่าจะไม่รอดเอา เนื้อที่ด้านล่างใกล้เคียงกับ Xpander แต่เนื้อที่ด้านบนจะเคลียร์บริเวณไว้เยอะกว่า แต่โดยรวม ถ้าเดินทางไกล 7 คน 2-3 วัน แล้วทุกคนมีสัมภาระ..ผมว่าไม่รอดครับ และให้เอาสัมภาระไปไว้บนแร็คหลังคา ซึ่งก็รับได้แค่ 50 กิโลกรัม ก็ไม่น่ารอดเหมือนกัน

แต่ในกรณีที่เดินทางแค่ 5 ท่าน คุณสามารถพับเบาะแถวที่สามลง มันจะราบไปและเอียงมาทางท้ายรถเล็กน้อย แต่ก็จะทำให้คุณมีเนื้อที่จุสัมภาระโดยรวมเพิ่มเป็น 550 ลิตร ใกล้เคียงกับพื้นที่สัมภาระของรถอย่าง Honda HR-V ซึ่งจัดว่าโตสุดในคลาสของเขา และพอๆกันกับซาลูน D-Segment คราวนี้สามารถเดินทางไกลไปด้วยกันได้สบายขึ้น ส่วนถ้าพับเบาะแถวสามลง คราวนี้จะใส่ตู้ เตียง เฟอร์นิเจอร์ ก็ทำได้สบายแล้วครับ

พื้นห้องเก็บสัมภาระส่วนที่ชิดมาทางขอบนอก สามารถเปิดออก จะมีช่องเก็บทุเรียนกับปลาเค็มอยู่ข้างใต้ แต่พื้นรองข้างในเป็นสักหลาดนะครับ มีสิทธิ์เลอะได้เหมือนกัน ทางที่ดีหายางมาปูสักหน่อยก็ดี หรือสามารถพลิกกลับเอาด้านที่เป็นพลาสติกขึ้นเมื่อต้องบรรทุกต้นไม้ หรือถุงปุ๋ยแล้วกลัวคราบโคลนไปเลอะส่วนที่เป็นสักหลาด ฝาปิดที่ว่านี้วางเอาไว้แบบหลวมๆไม่มีระบบล็อคอะไรทั้งสิ้น ยกขึ้นได้เลย แต่ก็น่าสังเกตว่าเวลาขับเร็วๆบนถนนขรุขระจะมีเสียงมาจากข้างหลัง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามาจากฝาเปิดนี่หรือไม่

บรรยากาศภายในห้องโดยสาร เกือบเหมือน Ertiga แต่เป็น Ertiga ชนิดที่ทำให้นึกถึงผู้ชายที่ปกติอยู่กับบ้านทำตัวแก่ แต่พอได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนจะมีความกระชุ่มกระชวยขึ้น ทั้งหมดนี้มาจากการเปลี่ยนวัสดุตกแต่ง จากลายไม้ เป็นคาร์บอน ซึ่งแน่นอนว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ชอบ คงมีแต่ผมนั่นแหละที่รู้สึกว่าลายไม้มันสวยกว่า และทำให้ห้องโดยสารดูมีโทนสีสลับตัดที่ไม่น่าเบื่อเกินไป จุดเด่นที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบคือแดชบอร์ดซีกซ้ายที่มีลักษณะเป็นตะแกรงซี่ ดูแล้วนึกถึงเครื่องปรับอากาศ Wall-type ของญี่ปุ่นจากยุค 1960s ซึ่งก็ไม่ได้ดูสวย แต่ครั้นจะออกแบบให้ดูเรียบแล้วมีแต่ช่องแอร์ คราวนี้ก็จะดูน่าเบื่อแทน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

วัสดุหลังคาเป็นสีเทาสว่าง แต่ขอหักคะแนนอีกจุดตรงที่ไม่ยอมให้กระจกแต่งหน้าฝั่งคนขับมา จะไม่มีฝาปิดก็ไม่ว่า แต่น่าจะมีกระจกให้สักหน่อย เผื่อลูกค้าผู้หญิงเขาตรวจเช็คความงามก่อนลงไปทำธุระ Expander ชนะตรงนี้เพราะมีกระจกพร้อมฝาปิดมาให้ทั้งสองฝั่ง

จากขวาไปซ้าย บนแผงประตู เป็นชุดคุมสวิตช์กระจกไฟฟ้า พร้อมระบบ One-touch แตะทีเดียวขึ้นและลงหมดบานที่ด้านคนขับ มีปุ่มล็อคหน้าต่างและสวิตช์ล็อคประตูมาให้ และมีสวิตช์สำหรับปรับกระจกมองข้าง ไล่มาบนแดชบอร์ดใต้ช่องแอร์ขวา จะพบกับปุ่มสตาร์ท และถัดลงมาเป็นสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดเสียงเซนเซอร์ถอยจอด กับสวิตช์ปิดระบบควบคุมการทรงตัว และที่เพิ่มมาใน XL7 (ไม่มีใน Ertiga 2020) ก็คือสวิตช์ปรับองศาการส่องของไฟหน้า เนื่องจากตัวรถสูงขึ้น ทาง Suzuki จึงใส่สวิตช์นี้มาให้ เผื่อบรรทุกของหนักด้านท้าย จะได้ปรับแสงส่องลง ไม่ให้แยงตาคนขับรถสวนมา ของดี แต่เชื่อว่าเจ้าของ 60% ไม่รู้ว่าใช้ยังไง

พวงมาลัยทรงสปอร์ตท้ายตัด ทรงเดียวกันกับของ Ertiga หุ้มหนังเหมือนกัน แต่ไม่มีการตกแต่งด้วยลายไม้ มีปุ่มมัลติฟังก์ชั่นบนก้านด้านซ้่าย สำหรับการปรับวิทยุและปิดเสียงของระบบเครื่องเสียง มีปุ่มสำหรับ Bluetooth และการรับสายโทรศัพท์ซ่อนอยู่ข้างล่างเยื้องไปด้านหลังพวงมาลัยอีกทีนึง ส่วนก้านด้านขวาที่เห็นโล่งๆนั้นเพราะยังขาด Cruise Control ซึ่งตรงนี้ คู่แข่งอย่าง Xpander จะมีมาให้ในรุ่น GT และ Cross

ก้านไฟเลี้ยวอยู่ฝั่งขวามือ ไม่มีระบบไฟหน้าอัตโนมัติ (ถือว่าไม่แปลกสำหรับ Segment นี้) แต่มีสวิตช์ไฟตัดหมอกอยู่บนก้านเดียวกัน ก้านปัดน้ำฝนอยู่ด้านซ้ายมือ สามารถปรับจังหวะปัด-หยุด-ปัดได้ว่าจะเว้นช่วงการปัดนานมากหรือน้อย พร้อมสวิตช์สำหรับปัดน้ำฝนหลังที่ปลายสุดของก้าน

เครื่องปรับอากาศของ XL7 จะเหมือน Ertiga 2020 ซึ่งเป็นแบบอัตโนมัติ สามารถปรับเป็นฮีทเตอร์อุณหภูมิ 31 องศาได้ นี่คือจุดได้เปรียบจุดหนึ่งที่เหนือ Xpander ซึ่งมีฮีทเตอร์ แต่เป็นแอร์ลูกบิด ไม่มีระบบปรับอัตโนมัติดิจิตอลใดๆ ถัดจากช่องแอร์ลงมาด้านล่าง จะมีจุดจ่ายไฟ 12V อยู่ด้านซ้าย และด้านขวาจะมีที่สำหรับเสียบ USB และพอร์ท HDMI

XL7 มีที่วางแก้วมาให้บนคอนโซลสองตำแหน่ง มีรูสำหรับปรับลมเครื่องปรับอากาศมาเป่าเครื่องดื่มให้มีความเย็นได้ และรูที่ว่านี้ก็สามารถเปิด/ปิดได้เช่นเดียวกัน

ชุดเครื่องเสียง วิทยุ AM/FM CD MP3 WMA หน้าจอระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 10 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay / Android Auto คือจุดที่ Suzuki ภูมิใจเสนอ แล้วยังอัปเลเวลเพิ่มจาก Ertiga ด้วยการเพิ่มลำโพงให้เป็น 6 ตำแหน่ง พร้อมมีกล้องมองเวลาถอยหลัง ซึ่งแม้จะไม่ได้ภาพละเอียดคม แต่ความใหญ่ของจอทำให้เห็นทุกอย่างได้ชัดเจนมาก

สำหรับคุณภาพของเครื่องเสียงนั้น…ตี Xpander แตกแบบพินาศย่อยยับกว่าเมืองทรอย ในขณะที่ Xpander มี Interface ที่ปรับเสียงได้ยากอย่างน่าด่า และคุณภาพเสียงก็น่าจดจำพอๆกับการอกหักสมัยวัยรุ่น..เครื่องเสียงของ XL7 นั้น จัดว่าให้ความละเอียดของเสียงได้มากจนถือว่าเป็นอันดับต้นๆของรถราคาไม่เกินแปดแสน ผมกับพี่คิงสลีย์ลองเอาเพลงทดสอบเครื่องเสียงหลายเพลงมาฟัง รวมถึง Hotel California เวอร์ชั่น Unplugged และสรุปได้ว่า เออ..ให้มันชนะคู่แข่งไปเถอะ เพราะรายละเอียดเสียงนั้น ดีเกินพรรคพวกไปมาก และความแน่นตึ้มบึ้มบูมของเบสนั้นก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน

ยกเว้นถ้าคุณดันไปเทียบกับเครื่องเสียงพรีเมียมใน Mazda 3 ไอ้นั่นก็อีกเรื่องครับ แต่ถ้าเทียบกับรถ 7 ที่นั่ง 1.5 ลิตรด้วยกัน Suzuki ให้อรรถรสเสียงน่าพอใจที่สุด

ชุดมาตรวัด..อันนี้ต้องขอชมเชยเช่นกันว่าทำมาได้ดูดีที่สุดในคลาสเดียวกัน สิ่งที่เราเคยตำหนิไปในมาตรวัดของ Ertiga ได้ถูกแก้ไขจนน่าพอใจ เข็มวัดอุณหภูมิน้ำ กลับมาแล้ว และมาตรวัดระยะทางวิ่ง Trip Meter และ Odometer ก็จะแสดงค่าตลอด ไม่หายไปเวลากดเปลี่ยนฟังก์ชั่นบนจอ MID ซึ่งจุดนี้ ทำได้ดี แม้ว่าขนาดของตัวเลขจะโคตรเล็กเลยก็ตาม มาตรวัดรอบ และความเร็ว รวมถึงเข็ม สวยงามสมราคา และอ่านค่าได้ชัดเจน

บนจอ MID ตรงกลางนั้น สามารถโชว์ค่าได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง บันทึกข้อมูลการเดินทาง เป็นนาฬิกาก็ได้ หรือจะปิดให้มืดไปเลยก็ได้..แต่ยังมีลูกเล่นเอาใจวัยรุ่นเพิ่มมาอีก ซึ่งก็คือ G-Meter หรือมาตรวัดแรงดึงแรงเหวี่ยง ซ้าย/ขวา/หน้า/หลัง ซึ่งปกติจะอยู่แต่ในรถที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ พอเอามาใช้ในรถครอบครัวอย่างนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้อย่างไง..คุณอาจจะเอาไว้เวลาลองพาแม่ยายนั่ง แล้วกดเบรก/คันเร่งในความแรงระดับต่างๆกัน แล้วดูว่าเมื่อจุดแรง G ขยับไปมากเท่าไหร่แม่ยายถึงจะเริ่มด่า ก็จำเอาไว้แล้วก็พยายามขับอย่าให้เกินนั้น

นอกจากนี้ ยังมี Power Meter โชว์แรงม้าและแรงบิด ซึ่งให้ผลในเชิงงานวัดมากกว่าจะเอาไว้โชว์ค่าอะไรได้จริงจัง แต่อีกจอหนึ่งคือกราฟโชว์ความลึกในการกดคันเร่ง กับความลึกในการกดเบรก ซึ่งพอเอาไว้ใช้เผื่อคุณอยากจะสอนแฟนให้ขับรถนุ่มๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก ใช้วิธีสังเกตการกดคันเร่งจากกราฟเลื่อนนี้เอาได้ แต่ระวังอย่าจ้องกราฟจนชนเบนซ์ G63 ข้างหน้าก็แล้วกัน

โดยรวมแล้ว ทั้งอุปกรณ์ภายใน มาตรวัด ชุดมัลติมีเดีย มีแค่เรื่องพวงมาลัยที่ปรับเข้า/ออกไม่ได้ กับ Cruise Control ที่ผมมองว่าเสียเปรียบ Xpander แต่นอกนั้น XL7 ทำคะแนนได้เหนือกว่าเกือบหมด ในราคาที่ถูกว่า Xpander รุ่น GT ถึง 80,000 บาท

****รายละเอียดทางวิศวกรรม****

เครื่องยนต์ของ Suzuki XL7 นั้น ตัวเครื่องและ Hardware ยกมาจาก Ertiga เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน รหัส K15B 4 สูบ 16 วาล์ว มาพร้อมระบบวาล์วแปรผัน VVT ที่ฝั่งไอดี ขนาดความจุเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร (1,462 ซีซี.) ขนาดปากกระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ 74.0 x 86.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 138 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที

ทาง Suzuki ไม่ได้มีการเปลี่ยนชิ้นส่วนใหญ่ที่ตัวเครื่องยนต์ แต่มีการปรับจูน ECU ใหม่ จนทำให้ค่า CO2 ใน Eco Sticker ลดลงจาก 146 เหลือ 143 กรัมต่อกิโลเมตรได้ ทั้งๆที่ตัวรถหนักขึ้น ล้อและยางก็โตขึ้น

เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Xpander ซึ่งใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรเท่ากัน ขานั้นเขาก็มี 105 แรงม้าเท่ากัน มาที่ 6,000 รอบต่อนาทีเหมือนกัน ส่วนแรงบิดมากกว่านิดเดียวคือ 141 นิวตันเมตร และมาที่รอบต่ำกว่า คือ 4,000 รอบต่อนาที ทั้งคู่สามารถเติมน้ำมัน E20 ได้

ระบบส่งกำลัง มีเพียงแบบเดียวคือ อัตโนมัติ 4 จังหวะ โดยเหตุผลที่ใช้แบบ 4 จังหวะ ไม่ต้องให้ Suzuki บอกหรอก ผมนี่แหละตอบเองว่า ข้อแรก มันถูก ซึ่งก็ไม่ได้ผิด เพราะมันต้องคุมต้นทุนให้ราคารถมันอยู่ในระดับที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ง่าย ประการที่สองคือ XL7 ก็เหมือน Ertiga ซึ่งเป็นรถขวัญใจคนอินโดนีเซีย และที่นั่น ลูกค้าตัวจริงเขาจะเน้นเรื่องความทนทานมากกว่าเรื่องสมรรถนะ บ้านเราก็เลยต้องใช้ของแบบเดียวกัน เพราะการพัฒนาไปใช้เกียร์รุ่นอื่นเพื่อตลาดไทยประเทศเดียวก็คงไม่คุ้มทุน อันนี้มองตามความเป็นจริงนะครับ

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีดังนี้

  • เกียร์ 1  2.875
  • เกียร์ 2  1.568
  • เกียร์ 3  1.000
  • เกียร์ 4  0.697
  • เกียร์ถอยหลัง  2.300
  • เฟืองท้าย  4.375

ซึ่งเมื่อสังเกตดูแล้ว พบว่า มันเท่ากับเกียร์ของ Xpander เป๊ะทุกเกียร์ตั้งแต่เกียร์ 1-4 เกียร์ถอยหลังยันเฟืองท้ายเลยครับ

ส่วนอัตราทดเฟืองท้ายนั้น เปลี่ยนจาก 4.278 ใน Ertiga มาเป็น 4.375 ซึ่งก็ไม่ได้หวังว่าจะทำให้รถมันแรงจี๊ดจ๊าดนะครับ เพราะเปลี่ยนอัตราทดแค่นิดเดียว นัยว่าทำขึ้นเพื่อชดเชยกับเส้นรอบวงยางที่เพิ่มขึ้น แค่นั้นเอง เวลาวิ่งที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง XL7 ก็ใช้รอบเครื่องประมาณ 2500 รอบ และเพิ่มเป็น 2750 รอบที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือก็แสดงค่าออกมาเท่ากับ Ertiga และ Xpander

โครงสร้่างพื้นฐานของตัวรถ เป็น HEARTECT Platform เช่นเดียวกับ Ertiga และนั่นก็ทำให้รูปแบบพื้นฐานของช่วงล่างเกือบเหมือนกัน ด้านหน้า เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลังเป็นคานบิดทอร์ชั่นบีม สิ่งที่ต่างจาก Ertiga ก็คือ ใน XL7 นั้น จะมีโช้คกับสปริงหน้าและหลังทั้งเซ็ตที่ต่างกัน ตัวโช้คอัพมีความหนืดมากขึ้น เช่นเดียวกับเหล็กกันโคลงหน้า ที่มีขนาดโตขึ้น เพื่อช่วยลดอาการโคลงของตัวรถลง

ระบบเบรก ด้านหน้า เป็นแบบดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรกธรรมดา มาพร้อมตัวช่วยอย่าง ระบบป้องกันล้อล็อก ขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว Traction Control และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Hold Control ซึ่งจะทำงานเมื่อรถจอดนิ่งบนเนิน (ความเร็วต้องเท่ากับ 0 ก่อน) ระบบจะล็อคเบรกคาไว้ให้ประมาณ 3-4 วินาที ซึ่งถ้าคุณไม่ทำอะไรต่อ มันก็จะปลดแล้วรถก็จะไหลลง ฉะนั้นอย่าประมาทครับ

ส่วนพวงมาลัย ก็เป็นระบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS ที่มีการเซ็ตน้ำหนักใหม่ และมีการเปลี่ยนซีลยางแกนพวงมาลัย เพื่อลดความสั่นสะเทือนและช่วยเก็บเสียงที่เล็ดรอดผ่านผนังห้องเครื่องมา

*****การทดลองขับ*****

ในการเดินทางครั้งนี้ ทีมงาน WinWinWin ซึ่งจัดงานให้กับ Suzuki เลือกเส้นทาง จากโพธาลัย เลเชอร์ปาร์ก (ซึ่งผมชอบอ่านผิดเป็น Laser Park แล้วก็ดันไปนึกถึงลุงกับป้าใส่ชุดไทยเล่นปืน Laser Quest) เดินทางไปจนถึง Toscana ที่เขาใหญ่ แล้วขับกลับ ในรถ มีเพียงผม กับพี่คิงสลีย์ จากช่อง Youtube: ThaiAutoNews ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสที่มีประสบการณ์นาน 31 ปีในการทดสอบรถ และเป็นคนที่ช่วยฝึกให้ผมสามารถขับรถในสนามแข่งได้ถูกวิธี น้ำหนักของสองเรารวมกัน น่าจะมี 220-230 กิโลกรัม ซึ่งจะหนักกว่ามาตรฐานการทดสอบของทางเว็บตามปกติ และอากาศในขณะขับ ร้อน 31-33 องศาเซลเซียส

ประเด็นแรก เรื่องอัตราเร่ง ถึงใครจะพูดว่ารถแบบนี้ไม่มีใครเขาเอามาแข่งกันทำความเร็ว แต่คนที่ไม่ต้องการทราบก็กรุณาอยู่เฉยๆแล้วให้คนที่อยากรู้เขารู้ไปครับ ดีที่สุด ผมสนใจเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะอัตราเร่งแซง ซึ่งต้องนำไปใช้บนถนนจริง

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมทดสอบ 2 ครั้ง แบบเปิดแอร์ ได้ตัวเลขมา 14.42 และ 14.51 วินาที ส่วนอัตราเร่งแซง 80-120 นั้น ทำได้ 11.2 – 11.4 วินาที

เมื่อเทียบกับครั้งที่ผมไปลองขับ Xpander 1.5GT เมื่อนานมาแล้ว ผมทำตัวเลขได้ 15.67 วินาทีสำหรับ 0-100 และ 12.46 วินาทีสำหรับการเร่งแซง (ซึ่งตัวเลขของคุณ J!MMY ที่ทดสอบตอนกลางคืนและบรรทุกน้ำหนักน้อยกว่า จะได้ 14.1/10.83 วินาที ตามลำดับ) ดังนั้นถ้าให้ผมพูดง่ายๆก็คือ XL7 นั้นดูเหมือนจะเร่งออกตัวช้ากว่า Ertiga พอสมควร อัตราเร่งแซงน่าจะใกล้เคียงกัน และไม่ว่าจะยังไงก็ชนะ Xpander อย่างขาวสะอาด

บางคนอาจจะสงสัยว่าไมล์เพี้ยนหรือเปล่า ก็ขอแจ้งว่า Xpander นั้น วิ่ง 100 ความเร็วจริงได้ 94 ส่วน XL7 วิ่ง 100 ความเร็วจริงได้ 95 ครับ

บุคลิกของเครื่องยนต์เมื่อทำงานร่วมกับเกียร์ 4 จังหวะลูกนี้ เป็นแบบที่เรียกว่าเหมาะกับครอบครัวครับ พอไหว้วานเวลาเดินทางต่างจังหวัดได้ เวลาขึ้นเขาชันๆก็ใช้เกียร์ต่ำ ใช้แรงส่งช่วย และกดคันเร่งลึกๆเอา มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับรถระดับนี้ครับ มีเพียงแค่ Honda BR-V เท่านั้นที่ใช้เกียร์ CVT กับเครื่องที่มีแรงม้าสูงกว่า วิ่งขึ้นเขา วิ่งแซงทางราบได้เร็วที่สุดแบบทำลายชาวบ้านพินาศ

การขับใช้งานที่ความเร็วต่ำ ไม่มีอะไรให้ต้องตำหนิ มันก็คือรถบ้าน เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะทั่วไป คันเร่งจะออกแนวเหมือนไวเวลากด 30-50% แล้วเหมือนรถจะมีพลัง ซึ่งน่าจะมาจากวิธีการเซ็ตคันเร่งไฟฟ้ามากกว่าที่จะเป็นพลังจากเครื่องยนต์ พอกระแทกคันเร่ง 100% จะต้องรอถึงประมาณ 4,000 รอบจึงจะรู้สึกถึงแรงดึง การตอบสนองเวลาคิกดาวน์ ไม่อม ไม่คิดนาน ไม่เย่อ ผมถึงบอกได้ว่ามันเหมาะกับการใช้งานแบบครอบครัว ขับในเมืองแล้วคล่องตัว พอพึ่งพาได้อยู่ครับ แต่เวลาเร่งแซง จะมีจุดอ่อนที่ช่วงความเร็ว 90 เป็นต้นไป ซึ่งรถจะไม่ยอมลงเกียร์ 2 (ลงไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก) และต้องพึ่งเกียร์ 3 ที่อัตราทดยาวหน่อย ช่วงนั้นมันจะไม่ไหลลื่นเท่าไหร่ แต่ในคลาสนี้ก็มีแต่ BR-V ล่ะครับที่พูดได้ว่าเร็ว

แต่คุณดูยอดขายของ BR-V กับ Xpander ก็คงเข้าใจว่าใน Segment นี้คนเน้นอัตราเร่งมีน้อยมากขนาดไหน

ส่วนช่วงล่างนั้น นับว่าเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะแม้ XL7 จะสูงโย่งกว่า Ertiga แต่ประสิทธิภาพการทรงตัวไม่ได้ด้อยลงเลย ในความเร็วต่ำๆบนถนนขรุขระ จะรู้สึกถึงความสะเทือนที่มากกว่ากันอยู่เล็กน้อย ไม่มีปัญหา แม่ยายไม่ด่าแน่นอน ส่วนช่วงความเร็วสูงนั้น พูดได้ว่า Ertiga บู๊ได้เท่าไหร่ XL7 ก็สามารถตามได้ทุกดอก และออกจะมั่นใจกว่ากันราว 10-15% เสียด้วยซ้ำ น่าจะเป็นเพราะการเซ็ตโช้คอัพ สปริงและเหล็กกันโคลงที่ทำให้สามารถคุมอาการยุบยวบของตัวถังได้ดี อีกทั้งยังให้ความรู้สึกไม่กระป๋องกระแป๋ง มีความหนึบ และรู้สึกแน่นกว่า Ertiga นิดๆเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามเมื่อคุณหักหลบหมา หรือคนที่ขับรถตัดหน้าแบบหมาๆ ช่วงล่างของ XL7 นั้นจะมีอาการท้ายยวบหยึยโผล่มา เหมือน Ertiga เด๊ะ หรือจะเป็นการเข้าโค้งแรงๆ ท้ายรถจะออกอาการโย้เห็นได้ชัด ในขณะที่ช่วงล่างหน้ายังพยายามเกาะและให้ความมั่นใจได้อยู่ ส่วนการวิ่งบนทางด่วนที่มีลมตีข้างนั้น XL7 ก็มีมีอาการวูบวาบตามลม เหมือนกับ Ertiga เช่นกัน

พวงมาลัยของ XL7 มีน้ำหนักค่อนไปทางกลางๆที่ความเร็วต่ำ แต่ไม่ต้องห่วงครับ ถ้าคุณภรรยาเคยขับรถพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิกมาก่อน XL7 นี่ก็จัดว่าเบากว่า แต่ที่ชอบคือ ความไวของพวงมาลัย คล่องตัวมากในเมือง และไม่ประสาทกิน ไม่เกร็ง เวลาขับทางไกลเร็วๆ น้ำหนักพวงมาลัยจะหน่วงมือมากขึ้นจนเหมือนฟีลรถยุโรปคันโตๆเมื่อวิ่ง 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงเกินไป (น้ำหนักพวงมาลัยไม่ได้เกี่ยวกับสัญชาติหรือราคารถครับ มันอยู่ที่การเซ็ตศูนย์ล้อและมอเตอร์เพาเวอร์) อย่างไรก็ตาม แป้นเบรก มีระยะเหยียบที่สั้น แต่ช่วง 1-1.5 นิ้วแรกที่กดเท้าลงไป จะแทบไม่มีอาการหน่วง ต้องกดลงไปให้ลึกกว่านั้น อันที่จริงแป้นเบรกของ Ertiga ก็มีนิสัยคล้ายกัน แต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไร XL7 ถึงดูเหมือนมีระยะฟรีที่แป้นเยอะกว่าอยู่นิดๆ

ภาพรวมในการขับขี่ เมื่อเทียบกับ Mitsubishi Xpander ผมพูดได้ว่า Suzuki ชนะที่อัตราเร่ง และน้ำหนักของพวงมาลัย ช่วงล่างนุ่มนวลใกล้เคียงกัน แต่ที่ความเร็วสูง หรือหักหลบหมาหลบควายนั้น Xpander จะคุมการยวบของช่วงล่างได้ดี ให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นใจกว่า ส่วนพวงมาลัย Xpander จะเน้นไปทางเบาที่ความเร็วต่ำ และปานกลางที่ความเร็วสูง ส่วน Suzuki จะมีน้ำหนักหน่วงต้านมือมากกว่า และเมื่อเลี้ยวแล้วปล่อยพวงมาลัยคืน ก็จะมีแรงดีดกลับมากกว่า Mitsubishi

การเก็บเสียง คืออีกจุดหนึ่งที่ทั้งคู่ต่างแลกหมัดกัน XL7 มีการเก็บเสียงด้านหน้าที่ดีกว่า ..และแน่นอนว่าดีกว่า Ertiga ด้วย โดยเฉพาะเรื่องเสียงลมจากกระจกและหน้าต่างบานหน้านั้น อยู่ในระดับที่น่าพอใจสำหรับราคาระดับนี้ เสียงจากการสะเทือนของช่วงล่าง ฟังดูแน่น ไม่ป๋องแป๋ง ถ้าหลับตานั่งจะนึกว่ารถราคา 900,000 มากกว่า 779,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อย้ายมานั่งเบาะหลัง เสียงรบกวน เสียงลม เสียงยาง กลับดังเข้ามามาก ช่างต่างจากด้านหน้า อันนี้สิแปลกดี เพราะใน Xpander เวลานั่งด้านหลัง กลับจะเงียบกว่าด้านหน้าด้วยซ้ำ ลองเลือกเอาละกันครับว่าจะแคร์หูคนขับ หรือคนนั่งหลัง

ส่วนเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองนั้น ผมยังไม่สามารถเทียบกับ Xpander ตรงๆได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการขับที่ต่างกันมากเกินไป แต่พอบอกได้ว่า ช่วงขาไป ที่มีทั้งรถติดบนถนนมิตรภาพ มีเร่งแซงรถช้าบ่อยๆ และมีการทดสอบอัตราเร่งด้วยนั้น ผมทำตัวเลขได้ 11.3 กิโลเมตรต่อลิตร ฟังดูกินน้ำมัน แต่อย่าลืมนะครับว่าขาไปที่วิ่งแบบนี้ เน้นเร็ว เน้นเค้นสมรรถนะ มันก็ได้แบบนี้ล่ะครับ ส่วนขากลับ กะจะวิ่งแบบไป 110 เนียนๆก็ทำไม่ได้เพราะพายุฝนเข้า และเจอรถกลับจากวันหยุดเข้าเมืองเยอะ ทำให้ต้องวิ่ง 90-100 ไม่เกินนั้นเลย ตัวเลขบนหน้าปัดขึ้นมา 15.5 กิโลเมตรต่อลิตร โดยส่วนตัว ผมคิดว่าหากวิ่ง 110 นิ่งๆ อาจจะยังมีโอกาสลุ้น 14.9-15.1 กิโลเมตรต่อลิตร ใกล้เคียงกับ Ertiga ได้อยู่ แต่นั่นต้องรอการพิสูจน์อีกที ซึ่งคุณต้องรอคุณ J!MMY ทำนะครับ ผมคงไม่ทำให้

****สรุปการทดลองขับ****

****คุ้มค่าเงินที่จ่าย ให้มากกว่าที่คิด แต่เรื่องช่วงล่างยังไม่แน่นเท่า Xpander****

หลังจากจบการทดลองขับ XL7 ทำคะแนนได้ดีกว่าที่ผมคาดไว้ เพราะเดาว่าการขับขี่น่าจะแย่ลงเมื่อเทียบกับ Ertiga แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จริงอยู่ว่าอัตราเร่งดูเหมือนจะช้าลงกว่า Ertiga แต่มันก็ยังเร็ว และมีพละกำลังที่พึ่งพาได้มากกว่า Xpander แต่ช่วงล่างนั้น ผมว่า รองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มหลักได้แน่นอน ถ้าคุณคิดว่ารถสูงกว่าแล้วจะขับน่ากลัวกว่า ขอบอกเลยว่าไม่ต้องกลัว ออกจะมั่นใจกว่า Ertiga นิดๆด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีบุคลิก นุ่มพอ แน่น และทรงตัวทรงตรงทางโค้งได้ดีมากเท่ากับ Xpander

ส่วนที่ XL7 ทำคะแนนได้ดี จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ ซึ่งให้มามากจนทำให้เราสงสัยว่า Xpander นี่ มัน 859,000 บาทเพราะอะไร (วะ) วัสดุตกแต่งในห้องโดยสาร ก็ดูดีกว่านิดๆ (จากแผงคาร์บอน) ชุดเครื่องเสียงและมัลติมีเดีย ชนะมิตซูแบบขาดลอย หน้าปัดสวยกว่า และใช้งานได้จริง มีแอร์ออโต้ให้ พื้นที่การโดยสาร ก็ไม่ได้แพ้กัน การเข้าออกจากรถ XL7 ก็ทำได้ง่ายกว่า ถ้ามองกันแบบคนไม่เจาะลึกลงในรายละเอียด คุณจะไม่เห็นเลยว่า Xpander 859,000 บาท มีอะไรที่จะชนะ XL7 779,000 บาทได้ (ถ้าไม่นับเรื่องรูปทรงเลย)

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดแบบนี้ เดี๋ยวก็จะโดนติดแฮชแท็กอวยSuzuki เอา ผมก็ต้องพูดตามจริงเช่นกันว่า Xpander จะไปใส่ใจกับรายละเอียดที่คนส่วนใหญ่มองข้าม เช่น Cruise Control และแผงบังแดดฝั่งคนขับที่มีกระจกแต่งหน้ามาให้ นี่คือเรื่องของอุปกรณ์นะครับ แต่มันก็ไม่ได้เป็นส่วนที่ทำให้ราคาต่างกันตั้ง 80,000 บาทหรือเปล่า ลองคิด และลองชั่งน้ำหนักดูเอาเอง ผมเชื่อว่าก็ต้องมีลูกค้าที่มองเรื่องรูปโฉมสำคัญ และไม่ได้สนเรื่องมัลติมีเดีย หรืออุปกรณ์ต่างๆที่ Suzuki มีให้เช่นกัน หรือคนที่รู้ตัวว่าต้องขับทางไกลประจำ แต่ชอบขับเร็วๆ ผมว่า แบบนี้ Xpander จะเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตคุณมากกว่า

ส่วนการนำไปเทียบกับ Ertiga นั้น สำหรับคนที่กำลังชั่งใจอยู่ระหว่าง 2 รุ่นนี้ “และยังไม่ได้ซื้อ” ผมถามก่อนเลยว่า คุณชอบอะไรใน XL7 ถ้าเป็นเรื่องรูปโฉมของรถ หรือการตกแต่งภายใน ผมบอกได้เลยว่า งั้นคุณซื้อ XL7 ครับ เพราะราคาที่ต่างกัน 54,000 บาท คุณเอา Ertiga ไปเปลี่ยนล้อ หุ้มไม้เป็นคาร์บอน เบิกหน้าปัดแบบสปอร์ตใส่ ส่วนต่างมันก็เหลือแค่นิดเดียวแล้ว

แต่สำหรับคนที่ต้องการรถสำหรับการใช้งานจริงจัง ไม่ได้สนเรื่องรูปโฉม หน้าตาของรถ สนใจแค่บรรทุกคนได้เยอะมั้ย นั่งสบายไหม ใช้งานในเมืองดีมั้ย ผมว่า Ertiga จะยังตอบโจทย์ได้ดีกว่า ราคารถตอนซื้อก็ประหยัดไปแล้ว การบำรุงรักษา การใช้งานในอนาคต ก็เปลืองน้อยกว่า รถน้ำหนักเบา เร่งได้ดีกว่า ล้อและยางขอบ 15 เวลาคิดจะเปลี่ยน ก็ใช้เงินน้อยกว่า ชุดจอกลาง ก็เป็นชุดเดียวกันครับ ไปอัพเกรดลำโพงสักหน่อยน่าจะได้เสียงดีกว่า XL7 ด้วยซ้ำ ส่วนความสูงใต้ท้องรถที่ต่างกันไม่ถึง 1 นิ้ว ผมไม่มองว่าเป็นสาระครับ ถ้าจะลุยน้ำท่วมแล้วน้ำเข้ารถ ผมเชื่อว่า ณ จุดนั้น XL7 ก็น้าเข้ารถได้เหมือนกัน มันไม่ได้ต่างกันเยอะขนาดนั้น ถึงน้ำเข้า ก็แค่เอารถไปถอดซักพรมก็จบ อย่าซื้อ XL7 เพียงเพราะคุณคาดหวังว่ามันจะหนีน้ำได้ดีกว่า Ertiga เลยครับ

สำหรับท่านที่ซื้อ Ertiga โฉม 2018 ไปแล้ว และกำลังคิดจะขายไปซื้อ XL7 นั้น ผมต้องขอแนะนำว่า ให้ลองคิดดูดีๆ รถเราซื้อมา วันนี้ขาย ราคาก็ร่วงไปจากตอนซื้อแสนนึงขั้นต่ำ ขายรถเสร็จ ยังต้องหาเงินเพิ่มอีกราวสองแสนบาท เพื่อไปจับ XL7 คันใหม่ ถ้าหากคุณคิดว่า สิ่งที่คุณได้จาก XL7 นั้นคุ้มค่าเงินในจุดนี้ ก็สามารถซื้อ XL7 ได้ แต่ถ้าเป็นผม ผมรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนครับ โดยเฉพาะในเมื่อเราเปลี่ยนล้อไปแล้ว ทำช่วงล่างไปแล้ว 80-90% ของสิ่งที่เราได้จาก Ertiga 2018 มันก็เกือบเหมือนกับ XL7 มันต่างกันที่ดีไซน์ กับอุปกรณ์นั่นล่ะครับ

ช่วงนี้ ยิ่งต้องใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด เพราะเราไม่รู้เลยว่า COVID-19 นี่จะมาทำชีวิตเราปั่นป่วนไปอีกนานแค่ไหน การใช้ชีวิตของเรา ก็ต้องตัดจุดที่ไม่จำเป็นออก และเมื่อมองว่า Ertiga เองก็เป็นรถสำหรับ Sensible Buyer ที่เน้นความคุ้มค่าจากการใช้งานและราคาที่ถูกกว่า คุณก็ไม่ได้พลาดอะไรไป ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเก็บ Ertiga คันเดิมไว้นั่นล่ะครับ ถูกต้องที่สุด

บางทีรถก็เหมือนภรรยาครับ เราไม่ได้ครอบครองสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่น อาจจะเพราะจังหวะเวลา และการตัดสินใจ แต่เมื่อเราเลือกแล้ว และสิ่งที่เราเลือก ก็สามารถเข้ากับชีวิตเราได้ดี ก็อยู่กับเขาไปสักพักเถอะ บางทีชีวิตดีๆ ก็มาจากการอยู่กับคนที่ไม่ได้ดีที่สุด ไม่ได้สวยที่สุด เท่ที่สุด…แต่เข้าใจเราได้มากที่สุดและยินดีจะอยู่กับเรา โดยไม่ได้คาดหวังอะไรให้เราต้องพยายามมากกว่ากว่าสิ่งที่เราให้เขาอยู่ในปัจจุบัน

ยกเว้นภรรยาบอกให้เปลี่ยนเป็น XL7 ถ้าอย่างนั้น รีบทำตามครับ อย่าคิดนาน

 

———————————///———————————-


ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

Suzuki Motor (Thailand) Co.,ltd สำหรับการเชิญทางเราร่วมทดสอบในทริปครั้งนี้

Pan Paitoonpong

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของ Suzuki Motor (Thailand) และผู้เขียนห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com 13 กรกฎาคม 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited. First publish in www.Headlightmag.com 13 July 2020