กลางดึกคืนวันหนึ่ง ต้นเดือน กรกฎาคม 2019 คืนที่ท้องฟ้า เต็มไปด้วยดาว ไร้ซึ่งมวลเมฆฝนมาบดบัง

ไม้กั้นรถ และประตูรั้วไฟฟ้าของหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ ค่อยๆทะยอยเลื่อนเปิด ทั้ง 3 ป้อมยาม

ขณะที่ผมกำลังขับรถกลับมาถึงบ้าน คลานเข้าหมู่บ้านช้าๆ เพื่อไม่ให้เสียงเครื่องยนต์ รบกวนบ้านเรือนที่กำลังหลับไหล

ทันใดนั้น สายตาของผมก็กวาดไปพบกับสิ่งผิดปกติบางอย่าง…

ในบ้านหลังหนึ่ง ฝั่งขวาของถนนเส้นหลัก ตรงข้ามกับ Club House และสระว่ายน้ำของหมู่บ้าน ตามปกติแล้ว สิ่งที่ผมมักคุ้นตาเป็นประจำทุกครั้งที่มองเข้าไปยังบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาด 56 – 60 ตารางวา หลังนี้ ก็คือ เจ้าของบ้าน ซื้อห้อง Cabin สำเร็จรูป สีน้ำตาลอ่อนสวยงาม มาตั้งไว้บนสวนในรั้วบ้านของตน ผมจำได้ลางๆว่า บ้านหลังนี้ มีคุณแม่บ้าน ใส่แว่น กับลูกชาย อายุไม่น่าจะเกิน 13 ปี อีก 1 คน พร้อมกับแป้นบาสเก็ตบอลหน้าบ้าน 1 ชุด Subaru XV 1 คันและ BMW 3-Series E90 สีเงิน 1 คัน จอดอยู่ในรั้ว

วันหนึ่ง จู่ๆ BMW สีเงินคันนั้น ก็หายไปจากบ้าน ผมไม่เห็นรถคันดังกล่าว อยู่สักพักใหญ่…จนกระทั่ง คืนนั้น…สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็น ก็ปรากฎอยู่ในโรงรถของบ้านหลังนี้….

มี Lexus สีน้ำตาล คันหนึ่งจอดอยู่ ติดป้ายทะเบียนแดง กรอบป้ายทะเบียนระบุชัดเจนว่า รถคันนี้ น่าจะออกจากโชว์รูม Lexus รามอินทรา…

ในเสี้ยววินาทีที่ผมเพิ่งขับผ่านไป ต่อมความคิดกระตุกเท้าขวาผม ให้กระทืบเบรกรถตัวเอง กลางวงเวียน จนถึงขั้นตัดสินใจ วนรถย้อนกลับไปดูอีกรอบ เลี้ยวกลับอีกหน และขับผ่านหน้าบ้านหลังนี้ช้าๆ อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า ตาผมไม่ฝาด…

มันอาจไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหมู่บ้านนี้จะมีลูกค้าของ Lexus เพราะเท่าที่รู้ มีบางบ้าน ก็ซื้อ SUV ทั้งรุ่น NX และ RX บางบ้าน ถึงขั้นมี GS450h (ที่เพิ่งจะมีข่าวออกมาว่า เตรียมยุติการผลิตภายในปี 2019 นี้) จอดอยู่ในโรงรถของพวกเขา หรือต่อให้นับจากนี้ ถ้าผมจะเห็นเพื่อนบ้านสักคน ซื้อ Lexus สักรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ES GS NX RX หรือต่อให้เป็น LS ผมก็มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก….

ตราบใดที่รถคันนั้น ไม่ใช๋ Lexus UX……

“โอ้ววว มีคนในหมู่บ้านฉัน ซื้อ Lexus UX ว่ะเฮ้ยยยยยยยยยยยยยยยยยยย!!!”

มันแปลกตรงไหน? ทำไมผมถึงร้องลั่นบทความนี้ได้ขนาดนั้น?

มี 2 เหตุผล ครับ

ข้อแรก แน่ละ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆเลยนะ เมื่อได้เห็นรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ผมเคยต้องบินข้ามทวีป ไปลองขับมาก่อนใคร ถึงกรุง Stockholm ที่ Sweden เมื่อช่วงเดียวกันนี้ของปี 2018 ได้มีโอกาส มาจอดอยู่ในรั้วของคนในหมู่บ้านเดียวกัน จนได้ ในอีกเกือบ 1 ปีให้หลัง

ส่วนข้อสอง นั้น การที่รถคันดังกล่าว เข้ามาจอดอยู่ในรั้วคนในหมู่บ้านผมได้นั้น มันคือ ผลจากความพยายาม ของผู้บริหาร และทีมงานผู้เกี่ยวข้อง ในการนำรถยนต์รุ่นนี้ เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยให้ได้ ท่ามกลางข้อจำกัดนานับประการ และหนึ่งในประเด็นอันน่าปวดกบาล นั่นก็คือ…ราคา

ผมยังจำบรรยากาศงานแถลงข่าวเปิดตัว Premium Compact Hatchback กึ่ง Crossover คันนี้ ได้ดีเลยละ ทันทีที่ราคาขายปลีกของ UX ทั้ง 3 รุ่นย่อย ถูกเปิดเผยออกมา หลายคนถึงกับหงายหลังผึ่ง! เสียงอื้ออึงก็เริ่มดังขึ้นไปทั่วบริเวณโชว์รูม Toyota”ALIVE Space” ที่ ห้างสรรพสินค้า ICON Siam

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามมา หลังจาก ที่ น้องหมู ทีมเว็บของเรา นำราคาของ UX โพสต์ขึ้นไปบน Fanpage ของ Headlightmag ก็เป็นไปตามความคาดหมาย…แทบทุกความคิดเห็นของคุณผู้อ่าน ต่างพร้อมใจกันพูดในทำนองเดียวกันว่า

“ทำไมมันแพงหยั่งเง้!? หัดแหกตาดูชาวบ้านเขาบ้างสิ ว่าเขาตั้งราคาเท่าไหร่!!”

หรือไม่ก็… “ราคาขนาดนี้ ไปซื้อ Benz ซื้อ BMW ดีกว่า”

อืม มันก็จริงของผู้บริโภค ละนะ ผมยืนมองอยู่ข้างนอกด้วยความเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งลูกค้า และบริษัทรถยนต์ สำหรับผู้บริโภคแล้ว  ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า คนจำนวนมากส่วนใหญ่ ในประเทศนี้ คำนึงถึงเงินในกระเป๋าตัวเอง กับความคุ้มค่า มาเป็นอันดับแรก จะซื้อสินค้าอะไรแต่ละอย่าง ต้อง “คุ้มค่า”  “ถูกและดี” เอาไว้ก่อน บางทีก็อยากจะบอกไปเหลือเกินว่า “คุ้มค่า” ที่คุณมองหานั่นหนะ มันมีขายเฉพาะใน Tesco Lotus ส่วนของ “ถูกและดี” ในโลกนี้หายากมาก ดูเหมือนจะมีแค่ที่ FoodLand เท่านั้น ครั้นจะไล่ให้ไปซื้อแฟล็ตปลาทอง ที่เคยโฆษณาว่า “คุ้มจริงๆ ยิ่งกว่าคุ้ม คุ้มทุกสิ่ง” ตอนนี้ก็คงไม่มีใครอยากซื้อเท่าไหร่ เพราะสภาพชุมชนข้างใน น่ากลัวขนหัวลุกพิลึก

แต่ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าบริษัทรถยนต์จะไม่รู้ พวกเขาหนะเข้าใจเต็มอกเลยหละ เพราะในชีวิตปกติที่ไม่ได้ทำงานทำการ พวกเขาก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่า ด้วยหน้าที่ของพวกเขา ทำให้ต้องเจอกับปัญหาอันน่าปวดกบาล ซึ่งยากในการแก้ไข ทำให้บางที ผลลัพธ์ออกมา อาจไม่น่าพึงพอใจในสายตาของคนทั่วไป

กระนั้นก็เถอะ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราคา…การที่ผมได้เห็น UX มาจอดในโรงรถของเพื่อนร่วมหมู่บ้านเดียวกับผมนั้น ถือว่า ออกจะเป็นเรื่องไม่ธรรมดาไปสักหน่อย ไม่เพียงเท่านั้น คืนก่อนหน้าวันที่บทความนี้จะคลอด ผมยังเห็นรถเทรลเลอร์ ขนส่ง UX หลายคันอยู่บนนั้น แสดงว่า มันน่าจะมียอดสั่งจองและสั่งซื้ออยู่บ้างเหมือนกัน

รถคันนี้ มีอะไรดีพอที่ทำให้เรามองข้ามเรื่องราคาของมันไปได้หรือ? เขาทำออกมาขายใคร? และมันคุ้มค่าพอไหมให้คุณจ่ายเงินอุดหนุน…?

ก่อนที่เราจะไปค้นหาคำตอบให้กับคำถามข้างต้น ผมอยากพาคุณ ไปทำความรู้จักกับ ยานพาหนะสำหรับคนเมืองยุคใหม่ คันนี้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้การกำกับดูแล และแรงบันดาลใจ ของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตที่น่าสนใจในระดับไม่ธรรมดา และถือได้ว่าหายากยิ่งในบรรดาผู้คนจากแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ทุกท่านครับ ขอแนะนำให้รู้จักกับ หัวหน้าวิศวกรหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ Toyota / Lexus ที่ชื่อ Chika Kako…

Chika Kako เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1967 ที่ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจาก Nara Women’s University และเริ่มทำงานกับ Toyota Motor Corporation ทันทีที่เรียนจบ เมื่อเดือนเมษายน 1989 ในตำแหน่งวิศวกร เธอค่อนข้างโชคดี ที่เป็นผู้หญิงเพียง 1 ใน 5 คน จากบรรดาพนักงานใหม่ 500 คน ในปีที่เริ่มเข้าทำงาน ซึ่งก็เป็นปีแรก ที่ Toyota เปิดโอกาสให้ผู้หญิง เข้าทำงานในบริษัท ก่อนที่จะเริ่มเจิบโตในหน้าที่การงาน ถึงขั้น ถูกส่งไปเป็น วิศวกร ด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนาวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสารรถยนต์ (Vehicle interior’s Material Engineer) ที่ Toyota ใน Belgium เมื่อปี 1991 หลังเข้าทำงานได้เพียง 2 ปี และกลายเป็น วิศวกรหญิงคนแรกของ Toyota ที่ได้ทำงานในต่างประเทศ

เธอเล่าว่า แม้จะคุ้นเคยกับความกดดัน จากระบบการทำงานดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น ซึ่งมักให้ผู้ชายเป็นใหญ่  และไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สตรีเพศมากนัก แต่กรณีของ Kako-san นั้น เธอค่อนข้างโชคดี ที่มีทักษะการสื่อสารอย่างดี จึงได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากบรรดาหัวหน้าแผนกต่างๆ ซึ่งต้องทำงานเกี่ยวข้องกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ Akio Toyoda ประธานใหญ่ของ Toyota เจอนักข่าวชาวอเมริกัน พูดใส่หน้าในงานเปิดตัว Lexus GS รุ่นที่ 4 ในงาน New York Auto Show ปี 2011 ว่า “Design ของรถ มันดูน่าเบื่อ” แน่นอนว่า เขาเกิดความฮึกเหิม อยากจะเปลี่ยนแปลงงานออกแบบของ Toyota และ Lexus ไปสู่ยุคใหม่

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Kako-san นำเสนอ Presentation ต่อที่ประชุมใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาด้านการออกแบบของ Lexus ว่า ในมุมมองของเธอตอนนั้น งานออกแบบห้องโดยสารของ Lexus รุ่นก่อนๆ เป็นการ จับเอางานออกแบบต่างๆ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวร่วม และไม่ได้รวมการใช้งานเข้าไว้ด้วยกันเลย มายำรวมกันเป็นจับฉ่าย!

เจ้านายของเธอ ก็เลยลองทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิม นั่นคือมอบหมายให้ Kako-san ดูแลโครงการพัฒนา Lexus CT200h รุ่นปรับโฉม Minorchange .ในปี 2013 ซึ่งเธอทำอะไรกับมันได้ไม่มากนัก เพราะตัวรถนั้น ออกสู่ตลาดจริงมาแล้ว 2-3 ปี (จนถึงตอนนี้ เธอยืนยันว่า Lexus CT จะยังคงทำตลาดทั่วโลก ต่อไปอีกสักระยะ ยังไม่ยุติการผลิต)

แต่แล้ว สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญของเธอ ก็มาถึง ในเดือนมกราคม 2015 Kako-san ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Engineer, ZL ของ Lexus International ดูแลรับผิดชอบ โครงการพัฒนา รถยนต์นั่ง Premium Small Crossover Hatchback SUV รุ่นใหม่ Kako-san จึงกลายเป็น “ผู้หญิง คนแรก และเพียงคนเดียว” ในตอนนี้ ที่ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าวิศวกรพัฒนารถยนต์ในกลุ่มบริษัท Toyota / Lexus ซึ่งรวมทั้ง Daihatsu / Hino ทั้งหมด! และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนา Lexus UX

ล่าสุด 31 ปีผ่านไป ในเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมา Kako-san (ซึ่งก็ยังครองตัวเป็นโสด) ได้รับการโปรโมทให้เป็น Executive Vice President หรือรองประธานใหญ่ ของ Lexus International ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารภายในองค์กรใหญ่ยักษ์ระดับโลกของ Toyota เธอกลายเป็นแบบอย่าง (role model) ให้กับบรรดาวิศวกรผู้หญิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ได้วาดฝันไว้ว่า สักวันหนึ่ง จะต้องเป็นอย่าง Kako-san ผู้บริหารระดับ หมายเลข 2 ของบริษัท ให้ได้…

Kako-san เล่าถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนา Lexus UX ว่า “เมื่อครั้งที่ยังทำงานในยุโรป ดิฉันอยากซื้อรถใหม่สักคัน แต่เมื่อไปเดินสำรวจตามโชว์รูมต่างๆ ดิฉันก็ไม่พบเจอรถยนต์ที่ “โดนใจจริงจัง” เลย (จึงจำใจต้องเลือก Audi TT มาขับใช้งานอยู่พักใหญ่) ถ้าจะต้องสร้างรถยนต์รุ่นใหม่สักคัน เพื่อแข่งขันในตลาดให้ได้ รถยนต์รุ่นนั้น จะต้องมีคุณค่าทางความรู้สึก (Emotional) มากยิ่งขึ้น รูปลักษณ์ภายนอกและภายในจะต้องน่าตื่นตาตื่นใจ…

…ไม่เพียงเท่านั้น ดิฉันยังมองลึกลงไปถึงประสบการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการซื้อรถยนต์คันใหม่ ถึงขั้นว่า ลูกค้าของเราจะแต่งตัวแบบไหนระหว่างขับรถคันนี้  พวกเขาจะมีความสุขกับรถยนต์คันใหม่ได้มากแค่ไหน ที่สำคัญ รถยนต์คันใหม่จะต้องสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ซื้อและครอบครองมันให้ดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ดิฉันอยากจะเปลี่ยนความรู้สึกใหม่ๆในชีวิตให้กับผู้ที่ซื้อรถคันนี้”

กลุ่มเป้าหมายสำคัญของ Lexus UX คือ ลูกค้าชาวยุโรป ตามด้วย อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย โดยเป็นลูกค้าวัย 30 ปีขึ้นไป สถานภาพ โสด หรือเพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว (ในจำนวนนี้ Lexus คาดว่า ลูกค้าผู้หญิง จะมีมากถึง 50%!!) รายได้ต่อ 1 คน เฉลี่ย 110,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จากเป้าหมายยอดขายทั้งหมด พวกเขาคาดหวังลูกค้าจากแบรนด์อื่นถึง 55% ขณะที่ลูกค้าซึ่งใช้ Lexus อยู่แล้ว แต่อยากเปลี่ยนรถใหม่ หรือซื้อเพิ่ม ควรจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 35% ส่วนลูกค้าที่ Upgrade รถคันเดิมจากแบรนด์ Toyota หรือ ยี่ห้ออื่น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 15% Lexus ตั้งเป้าหมายว่า การมาถึงของ UX น่าจะช่วยให้ตัวเลขยอดขายรวมทั้งแบรนด์ Lexus เฉพาะใน Asia จากปี 2018 เพิ่มขึ้นอีก 60% ในปี 2019

ทีมงานของ Kako-san เริ่มต้นศึกษาวิจัยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ของรถยนต์รุ่นใหม่คันนี้ ในสหรัฐอเมริกา ประมาณช่วงปี 2013 – 2014 โดยจัดให้มีการสำรวจแบบ Focus Group รวมทั้งเยี่ยมบ้านของลูกค้า ที่ใช้รถยนต์ประเภทเดียวกันนี้ ของคู่แข่ง “เราได้เรียนรู้ว่า ลูกค้าที่เราไปสัมภาษณ์ ต่างเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับรูปแบบของรถยนต์ SUV ที่มีอยู่ในตลาดตอนนั้น พวกเขาบอกเราว่า อยากได้รถยนต์ Crossover ที่ให้การขับขี่ เหมือนรถยนต์ท้ายตัด Hatchback สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเราทำวิจัยกลุ่มลูกค้า ในยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ผลลัพธ์ที่ออกมา ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับลูกค้าชาวอเมริกัน”

เมื่อได้แนวทางการพัฒนาเป็นผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว Tetsuo Miki , Chief Designer ของโครงการนี้ และทีมงาน ได้เริ่มงานออกแบบอย่างจริงจัง ในเดือนมกราคม 2015 ภายใต้ปรัชญาการออกแบบ 3 ประการ หรือ Lexus design principles ทั้ง “YET philosophy” (ปรัชญา “กระนั้น”) “Human-centred” (มนุษย์ เป็นจุดศูนย์กลาง) และ “Pioneering” (การบุกเบิก) พวกเขาใช้เวลา 3 ปี ในการเข็น Lexus UX ออกมาให้สำเร็จ

UX ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรม และ Platform ใหม่ล่าสุด GA-C ต่อให้ Lexus Division พยายามหลีกเลี่ยง ชื่อ TNGA เวลาสื่อสารการตลาด แต่ผมก็อยากให้คุณผู้อ่าน รู้ไว้ว่า มันก็คือ Platform สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดกลาง TNGA-C ของ Toyota ซึ่งใช้อยู่แล้วใน C-HR และ Corolla ALTIS ใหม่ นั่นแหละ!

Kako-san มอบหมายให้ทีมงานออกแบบของ Toyota ทั้ง ที่ CALTY Design Center Incorporated ศูนย์ออกแบบของ Toyota ที่ก่อตั้งขึ้นใน New Port Beach, California สหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 1973 และ ศูนย์ออกแบบ Toyota European Advanced Design Center หรือ ED2  ใกล้อ่าว Cote d’Azure  เมือง Nice ประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งทีมออกแบบของ Lexus ในญี่ปุ่น ร่วมกันแข่งขัน เพื่อคัดเลือกแบบรถที่เหมาะสม

จากภาพที่เห็นอยู่นี้  แบบ A เป็นผลงานของ CALTY ภายใต้ Theme การออกแบบ “Energetic Sexy Cross” ขณะที่แบบ B เป็นงานของทีม ED2 ส่วนแบบ C D และ E เป็นงานของทีม Lexus ใน Nagoya ประเทศญี่ปุ่น โดยแบบ  C ถูกสร้างขึ้นภายใต้ Theme “Human Center Silhouette” เน้นให้คนขับ อยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของตัวรถให้ได้มากที่สุด เพื่อเน้นการบังคับควบคุมที่ดีที่สุด ขณะที่ แบบ D เน้นรูปลักษณ์แบบ “Monoform”  และแบบ E นำเส้นสายของ Lexus NX มาตีความและประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบตัวรถที่เล็กลง

เมื่อต้องเลือกแบบที่เหมาะสมเพื่อนำมาพัฒนาต่อ แบบ A จาก CALTY ถูกเลือกขึ้นมาก่อน จากนั้น จึงมีการนำแบบ B และแบบ C มาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยทุกแบบจะถูกเสริมโป่งดำเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 และ Rack Roof (รางหลังคา) เข้าไปในระหว่างการออกแบบ เพื่อให้ตัวรถดูมีบุคลิกเป็นรถยนต์ Crossover มากยิ่งขึ้น

ในที่สุด ทีมงานก็เลือกแบบ B ขึ้นมาปรับปรุงรายละเอียดกันต่อ โดยมีการขยายระยะฐานล้อให้ยาวขึ้นออกไปจาก Toyota C-HR อีก 60 มิลลิเมตร และเน้นรายละเอียด บริเวณ Fender และมีการปรับรายละเอียดกัน อีกหลายครั้ง จนกระทั่งได้เส้นสายตัวถังที่ลงตัวสำหรับการนำไปผลิตออกจำหน่ายจริง ทั้งรุ่นมาตรฐาน และรุ่น F-Sport

สิ่งที่ Kako-san ให้ความสำคัญ กับงานออกแบบตัวถังคือ การเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ รวมทั้ง การลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง โดยใช้หลักอากาศพลศาสตร์ (AeroDynamic) เข้ามาช่วย ดังนี้

1. คิ้วบังโคลน เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 แบบ AeroDynamic Wheel Arch Molding : เป็นปกติที่ต้องมีการเสริมคิ้วเหนือซุ้มล้อ ให้กับรถยนต์แนว Crossover เพื่อสร้างความทะมัดทะแมงให้ดูแตกต่างจากรถยนต์นั่งแบปกติ ทว่า กรณีนี้ ทีมออกแบบ เลือกจะกำหนดให้เส้นสายของคิ้ว เริ่มต้นจากเส้นโค้ง ไปจนถึงกึ่งกลางด้านบน จากนั้นก็หักลงไปทันที จนสุดชายล่างตัวถัง ส่วนแผงตัวถังด้านบนเหนือคิ้ว จะโค้งมน ก่อนจะตัดตรงในแนวตั้ง เพื่อช่วยรีดอากาศให้ไหลผ่านตัวถังไปอย่างราบรื่นที่สุด เพื่อเพิ่มแรงกดจากอากาศที่ไหลผ่าน ในระหว่างขับขี่ด้วยความเร็วสูง

2. ชุดไฟท้ายแบบ Aero Stabilizing Real Lamp : ชุดไฟท้าย ถูกออกแบบให้เป็นครีบ คล้ายกับปีกเครื่องบิน หรือใบมีด ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือน Mini Spoiler ในตัว ช่วยบังคับทิศทางและรีดอากาศ ที่มาจากด้านข้าง ให้ไหลผ่านท้ายรถไปได้อย่างดี และช่วยให้อากาศ กดท้ายรถให้มั่นคงในยามเข้าโค้ง และเพิ่มความมั่นคงจากลมปะทะด้านข้างเมื่อใช้ความเร็วสูง

3. ออกแบบให้ล้ออัลลอย มีครีบ ระบายความร้อนจากระบบเบรก รวมทั้งจัดการกับกระแสลมที่ไหลผ่านหมุนวนตรงล้อทั้ง 4 ให้ไหลผ่านไปยังเป็นระเบียบมากขึ้น

การออกแบบทั้งหมดนี้ ช่วยให้ Lexus UX มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ (Drag Coefficient) ที่ Cd 0.33 จัดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถยนต์ Crossover ยุคใหม่ ซึ่งไม่ควรมีตัวเลขเกินไปกว่า Cd 0.35

ด้านการออกแบบภายในห้องโดยสาร Kako-san เล่าว่า “เป้าหมายหนึ่งของดิฉัน คือการเพิ่ม ความดึงดูดทางอารมณ์ (the emotional appeal) ของห้องโดยสาร ซึ่งประกอบไปด้วย แผงหน้าปัด เบาะนั่ง แผงประตู และการประดับตกแต่งต่างๆ  แต่การเรียบเรียงองค์ประกอบต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างชาญฉลาด คือสิ่งที่สำคัญมากสุด เราใช้หลักการ ด้าน สถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘engawa’ (掾側) หรือ ระเบียงแบบมีหลังคา ตามอาคารบ้านเรือน หรือวัดโบราณ ซึ่งเชื่อมโยงขอบเขตระหว่าง ภายนอกและภายในตัวรถ เข้าไว้ด้วยการอย่างราบรื่น รวมทั้ง การนำแนวทาง ‘Kansei’ engineering” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างคุณค่าทางการสัมผัส จากตัวรถยนต์ ไปสู่การรับรู้ของลูกค้า มาใช้ในการออกแบบอีกด้วย”

(เชิงอรรถ : “Kansei Engineering” คือ แนวคิดในการแปลงความรู้สึก หรือความต้องการ ทางกายภาพ ด้าน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เสริมเข้าไปในการออกแบบหรือพัฒนา สินค้า หรือบริการต่างๆ ค้นพบโดย Mitsuo Nagamachi ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Hiroshima International University ในช่วงทศวรรษ 1960 แนวทาง Kansei Engineering นี้ ถูกนำมาใช้กับการออกแบบและพัฒนารถยนต์ญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในผู้ผลิตที่เคยโฆษณาว่า ตนเองนำแนวทาง Kansei Engineering มาใช้อย่างจริงจัง คือ Mazda)

จากภาพสเก็ตช์ ทั้ง 4 แบบ ภาพ B กับ C ถูกคัดเลือกออกมา ขึ้นรูปเป็นโครงสร้างหุ่นจำลองดินเหนียวขนาดเท่าของจริง โดยแบบ C ถูกนำมาผสมผสานกับแบบ A และเปลี่ยนชื่อเป็นแบบ A ขณะที่ แบบ B ยังคงถูกเรียว่าแบบ B ตามเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ แบบ B ดูมีความคล้ายคลึงกับแผงหน้าปัดของ Lexus CT200h ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันมากเกินไป ท้ายที่สุด แบบ A จึงชนะการคัดเลือกไป จากนั้น ทีมออกแบบจึงได้ปรับงานออกแบบช่องแอร์ และแผงควบคุมกลาง ของแบบ A อีกครั้ง 1-2 ครั้ง จนกระทั่ง ได้แผงหน้าปัดที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถยนต์เวอร์ชันจำหน่ายจริง

ก่อนที่ UX จะพร้อมออกสู่ตลาด Lexus ตัดสินใจ สร้างเวอร์ชันต้นแบบ ในชื่อ Lexus UX Concept ออกมาอวดโฉมเป็นประเดิม ในงาน Paris Auto Salon เมื่อ 22 กันยายน 2016 เพื่อเป็นการประกาศว่า Lexus กำลังจะมี Crossover SUV น้องใหม่ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า Lexus NX ออกสู่ตลาดในปี 2018 รวมทั้ง สำรวจปฏิกิริยาของสาธารณชนต่องานออกแบบของรถคันนี้ไปด้วยในตัว

UX Concept เป็นรถยนต์ต้นแบบ ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยี 3-D Human Machine Interface (HMI) เพื่อสร้างประสบการณ์การขับขี่แบบใหม่ให้ผู้บริโภค ไปจนถึงการออกแบบแผงหน้าปัดแบบ Floating, hologram-style และอีกสารพัดความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า

Simon Humphries ประธานศูนย์การออกแบบ ED2 ของ Toyota ใกล้อ่าว Cote d’Azure ทางตอนใต้ ของฝรั่งเศส กล่าวว่า “UX Concept เป็นรถยนต์ต้นแบบ ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยี 3-D Human Machine Interface (HMI) เพื่อสร้างประสบการณ์การขับขี่แบบใหม่ให้ผู้บริโภค ไปจนถึงการออกแบบแผงหน้าปัดแบบ Floating, hologram-style และอีกสารพัดความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า”

Stephan Rasmussen , Exterior Designer จากศูนย์ออกแบบ ED2 กล่าวว่า “เราได้รับ Brief มาให้สร้างรถยนต์ Crossover พันธุ์ใหม่ ซึ่งจะช่วยยกระดับ ประสบการณ์ในการครอบครอง และสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ โดดเด่น ไม่เหมือนใคร อย่างแท้จริง เราศึกษาค้นคว้าจากหลายๆแหล่ง แต่ แรงบันดาลใจหลักของเรา มาจาก แนวคิด ‘Secure YET Agile’ หรือ “มั่นคงปลอดภัย แต่กระนั้น ก็คล่องแคล่ว”

แรงบันดาลใจ ในการออกแบบ Lexus UX Concept ได้แก่ คุณค่าแห่งพลังงานความขัดแย้ง, สถาปัตยกรรม, แฟชั่นดีไซน์แห่งธรรมชาติ, มุมมองที่หลอมรวมความสว่าง, โครงสร้าง, ศิลปะและคุณค่าทางอารมณ์ โดย Lexus UX Concept จะเป็นรถยนต์ Compact Crossover 4 ที่นั่ง แต่มีพื้นตัวถังต่ำ มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และมีตำแหน่งการขับขี่ ใกล้เคียงกับรถยนต์ Coupe 2 ประตู ขณะเดียวกัน ภายในห้องโดยสาร ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “inside-out” ซึ่งเป็นการออกแบบภายใน ให้สะท้อนบุคลิกของรูปลักษณ์ภายนอก ในลักษณะ X-Shape (ขยายความก็คือ บางครั้ง เราอาจเห็นรถยนต์บางคัน มีงานออกแบบภายนอกและภายใน “ที่ไม่เสมอกัน” ทำให้บุคลิกของตัวรถ ดูขัดแย้งกัน ราวกับทีมออกแบบทั้งภายนอกและภายใน ไม่ได้มานั่งจับเข่าคุยกัน และทีมออกแบบของ ED2 พยายามแก้ปัญหาในประเด็นนี้ ออกมาเป็น UX Concept)

จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นภายในรถได้ชัดเจนขึ้น จากภายนอกไปด้วย ชิ้นส่วนภายนอก ทั้งโป่งซุ้มล้อ รางหลังคา Rack Roof ไปจนถึงกล้องมองภาพด้านข้างประตู ก็ถูกออกแบบให้เป็นไปในทิศทางดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ยังถูกสร้างขึ้นให้เป็นแบบ See through เพื่อความปลอดโปร่ง อีกด้วย

เมื่อการพัฒนาดำเนินมาจนถึง การสร้างรถยนต์ต้นแบบเพื่อทดสอบในสภาพการใช้งานจริง รวมทั้งผ่านการทดลองขับ โดยประธานใหญ่ Akio Toyoda ด้วยตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว เหมือนเช่น Toyota และ Lexus ทุกคันในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เวอร์ชันจำหน่ายจริง ของ Lexus UX ก็พร้อมแล้วสำหรับการเปิดตัว

Lexus เผยภาพถ่าย Teaser ของ UX เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ก่อนจะถูกนำไปเปิดตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงาน Geneva Motor Show เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2018 นอกจากจะเป็น World Premier แล้ว ยังถือเป็น European Premier ไปด้วยเลยในคราวเดียว

จากนั้น UX จึงถูกส่งไปอวดโฉมในตลาดอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก ณ งาน New York Auto Show เมื่อ 23 มีนาคม 2018 ก่อนจะพร้อมประกาศราคาและพร้อมเปิดรับจองในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2018 ด้วยป้ายราคาเริ่มต้น MSRP (Manufacturer Suggested Retail Price) ของ UX200 อยู่ที่ 32,000 เหรียญสหรัฐฯ ส่วน UX250h จะเริ่มต้นที่ 34,000 เหรียญสหรัฐฯ

UX เปิดตัวครั้งแรกในตลาด Asia ที่งาน Gaikindo Indonesia International Auto Show เมื่อ 2 สิงหาคม 2018 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับ การจัดงาน Global Press Test Drive ที่กรุง Stockholm ประเทศ Sweden ตามด้วยการเปิดตัวแบบ Preview ใน Malaysia เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2018

ส่วนตลาดญี่ปุ่น บ้านเกิดนั้น เปิดตัวเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2018 โดยเปิดรับจองในช่วงแรก หลังจากนั้น โรงงาน Miyata Plant ของ Toyota Motor Kyushu, Inc. ก็ประกาศเปิดสายการผลิตของ UX อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2018 และเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวของรถรุ่นนี้ สำหรับส่งออกไปยังกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยในญี่ปุ่น Lexus เปิดตัว UX ด้วยแคมเปญโฆษณา Kife Dramatic พร้อมด้วยภาพยนตร์โฆษณา ยาว 15 วินาที รวม 6 เรื่อง ที่ค่อนข้างแหวกแนวไปจากปกติ แถมยังเข้าใจยากอยู่ไม่น้อย รายละเอียด Click Here

หลังเปิดตัวไปเพียงแค่เดือนเดียว 26 ธันวาคม 2018 Toyota ก็ออกมาประกาศว่า ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ให้ความสนใจ สั่งจอง UX กันล้นหลาม ถึง 8,800 คัน!! มากกว่าเป้ายอดจำหน่ายในแดนอาทิตย์อุทัย 980 คัน/เดือน ถึง 980%!! แต่อย่าคาดหวังว่า Lexus จะเพิ่มกำลังการผลิต UX ให้ เพราะพวกเขาคำนวนมาเรียบร้อย รวมทั้งมีข้อตกลงกับ Suppliers อยู่แล้ว นั่นแปลว่า ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเอง กว่าจะได้รับรถ ก็ต้องรอนานถึง 10 เดือน!

หลังจากนั้น เมืองลอดช่อง เป็นดินแดนลำดับถัดไปที่ UX ถูกเปิดตัว บนเวทีในงาน Singapore Motor Show เมื่อ 13 มกราคม 2019 และ Australia กับ New Zealand ช่วงไตรมาสแรก ปี 2019

สำหรับประเทศไทยนั้น แรกเริ่มเดิมที Toyota Motor (Thailand) มีความพยายามจะสั่งนำเข้า UX มาเปิดตัว ตั้งแต่ งาน Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน 2018 แต่เนื่องจากการเจรจาด้านราคาขายปลีก กับทั้งบริษัทแม่ในญี่ปุ่น และ Toyota Motor Asia Pacific (TMAP) สำนักงาน สิงค์โปร์ ไม่ลงตัวกันเสียที จึงทำให้เกิดความล่าช้าจากกำหนดการเดิมไปหลายเดือน

ท้ายที่สุด เมื่อทุกอย่างลงตัว Toyota Motor Thailand ก็พร้อมเปิดตัว Lexus UX สู่ตลาดเมืองไทย อย่างเป็นทางการเสียที เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ที่ โชว์รูม Toyota”ALIVE Space” ในศูนย์การค้า ICON Siam

Lexus UX มีตัวถัง ยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,520 – 1,540 มิลลิเมตร ตามแต่ะรุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) ทั้ง 2 รุ่น เท่ากันที่ 1,560 และ 1,550 มิลลิเมตร ตามขนาดหน้ายาง น้ำหนักรถเปล่าในรุ่น UX200 FWD อยู่ที่ 1,460 – 1,540 ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกจะอยู่ที่ 1,940 กิโลกรัม ถังน้ำมันความจุ 47 ลิตร ส่วน UX250h น้ำหนักรถเปล่าอยู่ที่ 1,540 – 1,620 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุก จะปาเข้าไป 2,110 กิโลกรัม ถังน้ำมันความจุ 43 ลิตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) อยู่ที่ 160 มิลลิเมตร

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันอย่าง Audi Q2 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,191 มิลลิเมตร กว้าง 1,794 มิลลิเมตร สูง 1,508 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,601 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า Q2 ถึง 304 มิลลิเมตร กว้างกว่า 46 มิลลิเมตร สูงกว่า ถึง 32 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า Q2 อยู่ 39 มิลลิเมตร

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Audi Q3 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,388 มิลลิเมตร กว้าง 1,831 มิลลิเมตร สูง 1,608 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,603มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า Q3 ถึง 107 มิลลิเมตร กว้างกว่าแค่ 9 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า ถึง 68 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า Q3 อยู่ 37 มิลลิเมตร

หรือถ้าเปรียบเทียบกับ BMW X1 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,439 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,612 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า X1 ที่ 56 มิลลิเมตร กว้างกว่า 19 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า ถึง 72 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า X1 อยู่ 30 มิลลิเมตร

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับมวยที่ถูกคู่กว่า อย่าง BMW X2 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง 1,824 มิลลิเมตร สูง 1,526 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,563/1,562 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 182 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า X1 ที่ 56 มิลลิเมตร กว้างกว่า 19 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า ถึง 72 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า X1 อยู่ 30 มิลลิเมตร

ต่อให้เปรียบเทียบกับ Jaguar E-Pace ซึ่งมีความยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,984 มิลลิเมตร สูง 1,649 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,681 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า E-Pace ถึง 100 มิลลิเมตร แต่แคบกว่า E-Pace 144 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า e-Pace 109 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ สั้นกว่า E-Pace 41 มิลลิเมตร

หรือจะลองเปรียบพิกัดกับ Mercedes-Benz GLA ซึ่งมีตัวถังยาว 4,471 มิลลิเมตร กว้าง 1,804 มิลลิเมตร สูง 1,494 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,699 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า GLA แค่ 24 มิลลิเมตร กว้างกว่า 36 มิลลิเมตร สูงกว่า ถึง 46 มิลลิเมตร (เทียบกับ UX รุ่นที่มีความสูงมากสุด) และมีระยะฐานล้อ สั้นกว่า GLA อยู่ 59 มิลลิเมตร

และ ถ้าเปรียบเทียบกับ Volvo XC40 ซึ่งมีตัวถัง ยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,863 มิลลิเมตร สูง 1,652มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,702 มิลลิเมตร จะพบว่า UX ยาวกว่า XC40 ถึง 70 มิลลิเมตร แค่แคบกว่า 23 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 112 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ สั้นกว่า XC40 อยู่ 62 มิลลิเมตร

แนวคิดในการออกแบบเส้นสายภายนอกนั้นคือ มุ่งเน้นเอาใจลูกค้าชาวยุโรป ที่ไม่ได้ถึงขั้นอยากได้ SUV คันเล็ก หากแต่อยากได้ Premium Hatchback ยกสูง สไตล์ Crossover ไว้ใช้งานคนเดียว หรือมีผู้โดยสารนั่งไปด้วยบ้าง ลูกค้ากลุ่มนี้ อยากได้ความ Premium และเน้นคุณภาพการขับขี่เป็นสำคัญ

เส้นสายภายนอก ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ (Drag Coefficient) Cd 0.33 มีจุดเด่นด้านการออกแบบให้จดจำ 4 ประการ ดังนี้

  • ชุดไฟหน้า มี 2 แบบ ทั้ง Bi-LED ดวงเดียว สำหรับรุ่นมาตรฐาน Luxury และ Premium Triple Beam LED 3 ดวง ในโคมเดียว สำหรับรุ่น F-Sport
  • กระจังหน้า Spindle Grill เอกลักษณ์ของ Lexus ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ ทั้งรุ่น Luxury และรุ่น F-Sport เหมือนเช่น Lexus รุ่นอื่นก็จริง แต่มีลวดลายที่ดูมีมิติชัดตื้นลึกหนาบางมากขึ้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ตาม
  • ชุดไฟท้าย เป็นแผงยาวต่อเนื่อง ประกอบด้วยหลอด LED มากถึง 120 หลอด ออกแบบให้ด้านบน เป็นครีบรีดอากาศ ที่ไหลผ่านเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ไปด้วยในตัว
  • เส้นตัวถังด้านข้างลำตัว ถูกจับดัดเป็นกลีบโค้ง ด้วยเหตุผลด้าน AeroDynamic เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 มีพลาสติกกันกระแทกสีดำ ประดับไว้ เพิ่มบุคลิกทะมัดทะแมง

ทุกรุ่นย่อย ติดตั้งกระจกหน้าต่างรอบคัน เป็นแบบตัดแสง UV Cut โดยกระจกบังลมหน้า จะเป็นแบบดูดซับเสียงกระแสลมไหลผ่าน (Acoustic Windshield) เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสาร สปอยเลอร์ด้านหลัง เหนือกระจกบังลมหลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

ล้ออัลลอย มี 2 ขนาด รุ่น Luxury สวมล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยาง Michelin Primacy 4 ขนาด 215/60R17 ส่วนรุ่น Grand Luxury และรุ่น F Sport จะได้ล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยาง ฺBridgestone Turanza T005A ขนาด 225/50RF18

UX เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นย่อย มาพร้อม รีโมทกุญแจแบบ Smart Keyless Entry ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ และเริ่มใช้กับ Lexus RX มาตั้งแต่ช่วง 2 ปีก่อน เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดินเข้าไปใกล้รถ หากเป็นตอนกลางคืน ไฟ Welcome Ambient Light ในห้องโดยสารจะติดสว่างขึ้นมา พร้อมกับไฟที่มือจับเปิดประตู สีเดียวกับตัวถัง ก็จะติดสว่างขึ้นมา เมื่อคุณเอื้อมมือไปดึงมือจับเปิดประตู กลอนก็จะปลดล็อกโดยไม่ต้องกดปุ่มบนมือจับประตูกันก่อนอีกต่อไป หรือถ้าอยู่ในระยะไกล ก็ยังกดสวิตช์บนรีโมทได้ แต่ถ้าต้องการจะล็อกรถ เลือกเอาได้ว่าจะกดสวิตช์บนรีโมท หรือ ใช้นิ้วชี้ แตะเบาๆ ที่แถบ 2 ขีด บนมือจับประตู เหมือน Lexus รุ่นอื่นๆ

รวมทั้งยังมี สวิตช์ เปิดฝาท้าย ซึ่งใช้วิธีกดปุ่มแช่ค้างไว้ 3 วินาที ฝาท้ายจะยกขึ้นเปิด หรือปิดลงมาตามคำสั่ง นอกจากนี้ UX ทุกคันยังติดตั้งระบบป้องกันโจรกรรม Immobilizer และสัญญาณกันขโมย มาให้จากโรงงาน และมีสวิตช์สีแดง Panic Alarm บนรีโมทกุญแจ สั่งให้รถร้องเตือนได้ เมื่อคุณเห็นผู้ไม่ประสงค์ดี มาด้อมๆมองๆ เข้าใกล้รถของคุณ

ช่องทางเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า มีขนาดใหญ่กว่า ทั้ง BMW X2 และ Mercedes-Benz GLA อย่างชัดเจน แต่ต้องทำใจว่า อาจจะด้อยกว่า Volvo XC40 ซึ่ง ลุก-เข้าออกจากเบาะคู่หน้า ได้สบายที่สุดในกลุ่ม เนื่องจาก UX ถูกสร้างขึ้นให้เป็นรถยนต์ประเภท   Premium Compact Crossover Hatchback ยกสูง ซึ่งแตกต่างจาก Volvo XC40 ที่เกิดมาเป็น Crossover ที่กระเดียดไปในแนวทาง Urban SUV แท้ๆ ซึ่งมักจะมีหลังคาสูงกว่า อย่างช่วยไม่ได้

แน่นอนว่า ต่อให้ช่องทางเข้า – ออก จะใหญ่กว่าคู่แข่งเขาแล้วก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่เสาหลังคาคู่หน้า ลาดเอียงเอาเรื่อง ดังนั้น ก่อนจะหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะคู่หน้า คุณควรปรับตำแหน่งเบาะให้กดลงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เสียก่อน จากนั้น ควรก้มหัวลงให้เยอะนิดนึง เพื่อลดความเสี่ยงที่หัวของคุณจะโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar (ซึ่งผมโดนมาแล้ว โคตรเจ็บเลย)

การออกแบบบานประตูด้านนอก ให้มีชายล่าง คลุมทับเสากรอบประตูและเสาหลังคา B-Pillar ลงไปถึงด้านล่าง แบบเดียวกับ Mazda CX-5 ดังนั้น ช่วยลดโอกาสที่ ขากางเกง / กระโปรง จะเปื้อนฝุ่นโคลน ซึ่งเกาะอยู่บริเวณชายล่างของรถ ระหว่างที่คุณกำลังก้าวเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากรถ นี่คือการออกแบบอันชาญฉลาด ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไม BMW และ Mercedes-Benz เขาถึงไม่คิดหรือใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ในการใช้งานอย่างนี้บ้าง?

พนักวางแขนบนแผงประตูด้านข้าง เป็นสิ่งที่ Kako-san อยากจะยกระดับปรับปรุงต่อเนื่องจาก CT200h เดิม ดังนั้น มันจึงมีความยาวเพิ่มขึ้น รวมเป็น 250 มิลลิเมตร และถูกปรับตำแหน่งให้สูงขึ้น อีกทั้งบริเวณที่ใช้วางท่อนแขน ยังถูกบุด้วยหนัง เสริมด้วยฟองน้ำบุนุ่มด้านในอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น คุณจึงวางข้อศอกและท่อนแขนได้สบายๆ หากปรับเบาะคนขับลงไปในตำแหน่งเตี้ยสุด

ส่วนด้านล่างของแผงประตูคู่หน้า มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท มาให้ 1 ตำแหน่ง ในแนวเอียงเข้าหาตัวผู้ขับ แต่น่าเสียดายว่า แทบไม่มีช่องว่าง หรือพื้นที่ไว้ใส่เอกสาร หรือข้าวของจุกจิกที่แผงประตูได้เลย มีเพียงแค่ไฟส่องสว่างยามค่ำคืน ขณะเปิดประตู เพื่อความปลอดภัย จากการมองเห็นของรถยนต์ที่แล่นตามหลังมา เท่านั้น

ภายในห้องโดยสาร ของเวอร์ชันไทย มีให้เลือกทั้งหมด 3 สี ขึ้นอยู่กับ รุ่นย่อย และสีตัวถัง โดยรุ่น Luxury และ Grand Luxury จะหุ้มเบาะหน้า-หลัง ด้วย หนังสังเคราะห์ Synthetic Leather และมีให้เลือก 2 สี คือสีดำ (Black) และสีเบจออกส้ม (Ocher) พื้นผิวสัมผัส ออกจะแปลกไปจาก Lexus ทั่วไปสักหน่อย คือให้สัมผัสของความเป็นหนังสังเคราะห์ ที่เนียนมือประมาณหนึ่ง แต่ไม่ละเมียดมากนัก ยังพอสัมผัสความแข็งกระด้างจากผิวสัมผัสได้อยู่

ส่วนรุ่น F-Sport จะหุ้มเบาะด้วยหนัง Smooth Leather ซึ่งเป็นหนังแบบมาตรฐาน ที่ใช้กับ Lexus รุ่นก่อนๆ มีให้เลือก 2 สี คือ สีดำ (Black) และสีแดง (Flair Red) ตัดกับ สีดำเฉพาะตรงกลางพนักพิงคู่หน้า แน่นอนว่า เนียนมือกว่า และถ้าเจอแดดบ้านเรา รวมทั้งการเสียดสีจากกางเกงยีนส์ หนังก็อาจจะเสื่อมสภาพ แตกเป็นรอยทาง บางๆ และมีคราบสกปรก ไวกว่าที่ควร เป็นธรรมดา

ขณะเดียวกัน เพดานหลังคา จะบุด้วยผ้าสีดำ หรือ White Ash ขึ้นอยู่กับการเลือกโทนสีเบาะเป็นหลัก มีมือจับศาสดาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้เหนือช่องประตู ครบ 4 ตำแหน่ง

เบาะนั่งคู่หน้า ของเวอร์ชันไทย ทั้ง 3 รุ่นย่อย ปรับพนักพิงเอนหรือตั้งชันขึ้น เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ยกเบาะสูง – ต่ำ ยกเบาะรองนั่ง เงยขึ้น หรือกดลงราบ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมตำแหน่งสวิตช์ปรับดันตัวหลัง ขึ้น – ลง และ ระยะดันมาก – น้อย ได้รวม 8 ทิศทาง แต่เฉพาะรุ่น F-Sport เบาะนั่งฝั่งคนขับ จะเพิ่มหน่วยความจำตำแหน่งเบาะและตำแหน่งพวงมาลัยปรับขึ้นลง ใกล้ห่างด้วยไฟฟ้า 3 หน่วย (Memory Seat) พร้อมระบบ Comfort Access เลื่อนเบาะถอยหลัง และยกพวงมาลัยสูงขึ้น เมื่อเปิดประตู เพื่อให้ก้าวเข้ามานั่งบนเบาะคนขับได้สะดวกขึ้น

พนักพิงหลังของเบาะรุ่น Luxury และ Grand Luxury ประดับด้วยลาย หัวลูกศร ArrowHead บริเวณท่อนบนของด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง มีฟองน้ำและสปริงที่นุ่ม ออกแบบมารองรับแผ่นหลังได้ดีมาก ปีกข้างมีขนาดกำลังดี โอบรับช่วงบั้นเอวสบายดีมาก แต่ด้วยรูปทรงของพนักพิง ทำให้การรองรับบริเวณช่วงหัวไหล่ ยังไม่ดีเท่าที่ควร

ขณะที่รุ่น F-Sport พนักพิงหลัง จะถูกออกแบบใหม่เป็นพิเศษ เพิ่มความหนาของปีกข้างเบาะช่วงบั้นเอวและสีข้างให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งเสริมช่วงบ่าให้โตขึ้น จนดูคล้ายเบาะรถแข่ง เพื่อซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ได้สบายขึ้น ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว การนั่งอยู่บนเบาะของรุ่น F-Sport อาจจะสัมผัสได้ถึงความกระชับ เอาใจคนชอบขับรถมากกว่าก็จริง แต่สำหรับคนทั่วไป เบาะนั่งของรุ่น Grand Luxury น่าจะให้ความนุ่ม และสะดวกต่อการขยับอิริยาบถ มากกว่าอย่างชัดเจน

พนักศีรษะ มีแกนด้านในค่อนข้างแข็ง หุ้มด้วยฟองน้ำบางๆ พอให้มีความนุ่มอยู่ แถมยังเอียงโน้มมาทางด้านหน้ารถ ด้วยมุมองศา ที่เหมือนกับพนักศีรษะของ C-HR กับ Camry ใหม่ และบรรดา Toyota รวมทั้ง Lexus รุ่นหลังปี 2017 จนถึงปัจจุบัน เลยทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่า ดันกบาล พอๆกันหมดนั่นแหละ แม้ว่าถ้าปรับพนักพิงเบาะเอนลงช่วยสักนิด ก็พอจะหาตำแหน่งที่พอให้ความสบายได้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตำแหน่งนั่งขับ อาจผิดเพี้ยนไปจากหลักสรีระศาสตร์นิดนึง

นอกจากนี้ พนักศีรษะ ของรุ่น F-Sport ที่มีมุมองศาการเอียง เท่ากันกับรุ่น Grand Luxury ไม่ผิดเพียน ขึ้นมานั้น ยังสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง เพื่อปรับระดับการดันกบาลได้ ว่าอยากจะให้ดันนิดหน่อย ดันเพิ่มขึ้น จนถึงระดับ “ดันทุรัง” (ดันจนหัวคุณ ยื่นล้ำไปข้างหน้าเป็นมนุษย์ลิงในประวัติศาสตร์) ก็ย่อมได้

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง มีรูปทรงแตกต่างกันนิดหน่อย แต่มีความยาวกำลังดีเท่ากัน คือยาวขึ้นกว่ามาตรฐานของรถยนต์ Toyota / Lexus ทั่วไป ตามปกติ นิดนึง เท่านั้น แถมยังมีฟองน้ำเสริมด้านใน สไตล์แน่นติดนุ่ม เหมือนพนักพิงหลัง

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ต่างจากการเข้า-ออกจากเบาะนั่งคู่หน้าเท่าใดนัก เพราะแนวขอบประตู ถูกออกแบบให้ลาดลง ในจุดซึ่งศีรษะของมนุษย์ จะต้องลอดผ่านเป็นหลักพอดี คุณจึงควรก้มหัวลงให้เยอะมากๆ เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ให้ ศีรษะโขกเข้ากับเสากรอบประตูด้านบน

ไม่เพียงเท่านั้น หากต้องการลุกออกจากรถ เมื่อเปิดประตูคู่หลัง จะพบว่า ตำแหน่งเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มันเยื้องถอยหลังมาจนถึงพื้นที่วางขา นั่นทำให้การเหวี่ยงขาออกไปวางบนพื้นถนน ทำได้ทุลักทุเล ไม่ว่าจะหลบเลี่ยงอย่างไร รองเท้าก็จะต้องไปสัมผัสถูกแผงพลาสติกบุคลุมทับเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar และด้านล่างของแผงประตูคู่หลังอยู่ดี

เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว กลับกลายเป็นว่า ฺBMW X2 และ Mercedes-Benz GLA จะมีปัญหาในการลุกเข้า – ออกจากประตูคู่หน้า และไม่ค่อยมีปัญหานักกับประตูคู่หลัง แต่ Lexus UX นั้น เป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็คือ การลุกเข้า – ออกจากประตูคู่หน้าน่ะ สบายกว่าเพื่อนฝูงเขาหน่อยนึง แต่กลับมีปัญหาในการเข้า – ออกจากประตูคู่หลัง แทนเสียอย่างนั้น!

กระจกหน้าต่าง เลื่อนลงมาจนสุดขอบราง ส่วน แผงประตูด้านข้าง ประดับด้วยหนังสังเคราะห์ มีพื้นผิวนุ่ม เหมือนด้านหน้า ทว่า พนักวางแขน มีตำแหน่งเตี้ยไปหน่อย ทำให้วางได้แต่ข้อมือ ไม่อาจวางข้อศอกและทอนแขนสบายนัก ส่วนหนึ่ง อาจเพราะออกแบบเผื่อให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี นั่งด้านหลังด้วย จึงต้องออกแบบให้เด็ก ซึ่งโตเกินกว่าจะใช้เบาะนิรภัยสำหรับทารก สามารถวางแขนได้สบายด้วย

พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง ดูด้วยตาเปล่า จะมองเห็นว่า มันค่อนข้างเล็กพอสมควร แม้จะใหญ่กว่า Lexus CT200h ชัดเจน แต่ก็ชวนให้นึกถึง Mazda 3 ทั้ง 3 Generation อยู่ดี

เบาะนั่งด้านหลัง ออกแบบใหม่ทั้งหมด พนักพิงหลัง ติดตั้งมาในตำแหน่งมุมองศา ที่ตั้งชันไปหน่อย แถมยังไม่สามารถปรับเอนได้อีกต่างหาก ผมลองนั่งในระยะทางรอบๆ กรุงเทพมหานคร ตอนกลางคืน ต่อให้ง่วงนอนขนาดไหน ก็ต้องจำใจนั่งหลังเกือบตรง ส่วนฟองน้ำด้านในโครงสร้างพนักพิงหลังนั้น ใช้นิ้วกด รู้สึกว่านุ่มแน่น แต่พอนั่งจริง สัมผัสที่ได้ ขึ้นอยู่กับว่า คุณกำลังนั่งอยู่ในรถรุ่นไหน หากเป็นรุ่น Grand Luxury ซึ่งใช้หนังสังเคราะห์แบบธรรมดา กลับให้สัมผัสที่นุ่มกว่า เบาะหลังของรุ่น F-Sport ซึ่งมีพื้นผิวที่ดี แต่ตึงขึ้น ทำให้กลายเป็นว่า มีความแข็งเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย

ไม่เพียงเท่านั้น ด้านข้างระหว่างพนักพิงเบาะหลัง กับแผงประตูคู่หลัง แทนที่จะหุ้มเบาะมาให้เรียบร้อย กลับใช้พลาสติกขึ้นรูปสีดำ มาติดตั้งแทน ในลักษณะเดียวกับ Honda Civic รุ่นล่าสุด เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า รายละเอียดเล็กน้อยแบบนี้ กลับไม่น่าถูกข้อจำกัดด้านต้นทุน มาทำให้ออกมาเป็นแบบนี้เลย

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ มาพร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ติดตั้งมาในตำแหน่งที่พอดีกับการวางแขนยาวไปจนถึงข้อศอก ส่วน พนักศีรษะด้านหลัง มีแกนด้านในแข็ง หุ้มด้วยฟองน้ำบางๆเหมือนด้านหน้า แม้จะใช้นิ้วกดแล้วรู้สึกนุ่ม แต่เมื่อใช้งานจริง พบว่า พนักศีรษะแข็งและดันบริเวณต้นคอ ต้องยกขึ้นใช้งานจึงจะพอให้ความสบายกับศีรษะได้ระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นรุ่น F-Sport พนักศีรษะจะยิ่งแข็งเพิ่มขึ้นไปอีก จนหาความสบายแทบไม่ได้เลย

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่งด้านหลัง ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ฟองน้ำด้านใน นุ่มแน่นเหมือนเบาะหน้า มีมุมเงยกำลังดี นั่งลงไปเป็นแอ่งเล็กๆ นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง

ถึงแม้จะดูด้วยตาเปล่า แล้วพาลเข้าใจว่า พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง ดูเล็ก น่าจะอึดอัด แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว เพราะ พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผม ยังพอมีเหลืออีกราวๆ 3-4 นิ้วมือคนในแนวนอน ขณะเดียวกัน พื้นที่วางขายังคงมีเหลืออยู่ประมาณ 1 ฝ่ามือ ในแนวนอน

เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด ดึงกลับอัตโนมัติ ให้มาครบ ทั้ง 3 ตำแหน่ง รวมทั้ง จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มีมาให้ 2 ตำแหน่ง ทั้งใต้พนักพิงหลัง ฝั่งซ้าย และขวา รวมทั้ง มีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง รวม 2 ตำแหน่ง ติดตั้งด้านหลัง กล่องเก็บของ คอนโซลกลาง

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ออกแบบให้เก็บซ่อนรายละเอียดด้วยชิ้นพลาสติก TSOP (Toyota Super Olefin Polymer ขนาดใหญ่ เต็มบาน เปิด – ปิดได้อัตโนมัติด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้งจากสวิตช์ที่กุญแจรีโมท สวิตช์เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง และสวิตช์ไฟฟ้า ใต้แผงหน้าปัดฝั่งขวาสุด พร้อมระบบล็อกทันทีที่ปิดลงมา รวมทั้งยังมีแผงบังสัมภาระ พร้อมเชือกเกี่ยวยึดตัวแผงไว้กับตะขอบริเวณฝาท้าย

ไม่เพียงเท่านั้น UX250h เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นทุกคัน ยังมาพร้อมระบบเปิด – ปิดฝาท้าย แบบไม่ต้องใช้มือ หรือที่มักเรียกกันว่า “ระบบเตะเปิดฝาท้าย” (Hands Free Power back Door) วิธีใช้งานก็คือ พกรีโมทกุญแจไว้กับตัว เมื่อเดินเข้าใกล้ฝาท้าย ให้ ยื่นขา เตะลอดเข้าไปให้เจอ Kick Sensor ใต้เปลือกกันชนหลัง จากนั้น เซ็นเซอร์จะตอบสนอง และสั่งการให้ฝาท้ายเปิดยกขึ้น หรือ ปิดลงมาเอง โดยอัตโนมัติ

ห้องเก็บสัมภาระมีความยาวจากขอบกันชน จนถึงฐานเบาะหลัง 790 มิลลิเมตร และเมื่อพับเบาะหลังลงไป ความยาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,720 มิลลิเมตร ความกว้าง (วัดจากกึ่งกลางอุโมงค์ล้อคู่หลัง) 930 มิลลิเมตร ความสูง 555 มิลลิเมตร มีปริมาตร ความจุ 615 ลิตร (SAE Standard) ขนาดใหญ่กว่า C-HR (377 ลิตร) อย่างชัดเจน ใหญ่เพียงพอให้ใส่กระเป๋าเดินทางไซส์กลางได้ 4 ใบ (แต่ต้องยกแผงบังสัมภาระออก) หรือกระเป๋าเดินทางไซส์ใหญ่ 1 ใบ และไซส์กลาง 2 ใบ กับกระเป๋าสะพายใส่ไม้เทนนิส อีก 1 ใบ กระนั้น ถ้าคิดจะแบกจักรยานไป คุณอาจต้องพับเบาะแถว 2 ทั้งหมด ถอดล้อหน้า แล้ววางจักรยานของคุณในแนวนอนราบไปกับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง

ผนังห้องเก็บของด้านข้าง มีไฟส่องสว่าง ฝั่งละ 1 ดวง มีช่องเกี่ยวแขวนถุงกับข้าว แบบพับเก็บได้ ฝั่ง ละ 1 จุด รวมทั้ง คันโยกสำหรับพับพนักพิงเบาะหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง และด้านซ้าย จะมีปลั๊กไฟ 12V สำหรับเสียบใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่นเครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็กเป็นต้น

เมื่อยกพื้นห้องเก็บสัมภาระขึ้นมา หากเป็นรุ่น ล้อ 17 นิ้ว ทั้ง Luxury และ Grand Luxury จะมียางอะไหล่มาให้ แต่สำหรับรุ่นที่สวมล้อ 18 นิ้ว อย่าง F-Sport จะไม่มียางอะไหล่ แต่มีชุดปะยางฉุกเฉินติดตั้งมาในถาดโฟม มาให้แทน และเมื่อถามถึงตำแหน่งของ แบ็ตเตอรี 12V สำหรับุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถนั้น มันถูกซ่อนอยู่ฝั่งขวา ถัดจากล้อหลังขวา นั่นเอง

แผงหน้าปัด ออกแบบให้มีแผงควบคุมกลาง เอียงเข้าหาตัวคนขับ รุ่น Luxury และ Grand Luxury จะตกแต่งด้านบนแผงหน้าปัด เหนือแผงควบคุมกลาง ด้วย WASHI Texture Dashboard หรือ Trim ประดับที่มีลวดลายซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ผ้า Washi อันเป็นผ้าโบราณของญี่ปุ่น ส่วนรุ่น F-Sport จะตกแต่งด้วย หนังสังเคราะห์ สีเดียวกับเบาะรถ เสริมวัสดุบุนุ่มเข้าไปด้านในแบบบางๆ พอให้รู้สึกว่า “โรงงานได้บุนุ่มมาให้แล้วนะ” นอกจากนี้ ช่องแอร์ ยังสามารถปรับทิศทางลมได้ด้วย ระบบมือหมุน (เหมือนสวิตช์หมุนเพิ่มเสียงวิทยุสมัยก่อน) พร้อมไฟ Illumination แบบ Wireless! ซ่อนไว้ข้างใน

มองขึ้นไปด้านบนเพดาน ทุกรุ่น ติดตั้ง แผงบังแดด ซึ่งมี กระจกแต่งหน้า พร้อมบานเลื่อนเปิด – ปิด และไฟแต่งหน้า ฝังบนเพดานหลังคา มาให้ครบทุกรุ่นย่อย ส่วนกระจกมองหลัง และกระจกมองข้างแบบตัดแสงรบกวนยามค่ำคืนอัตโนมัติ จะมีเพิ่มมาให้เฉพาะรุ่น F-Sport เท่านั้น

 

จากขวา มาทางซ้าย

ทุกรุ่นย่อย ติดตั้งกระจกหน้าต่างเปิด – ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบเลื่อนขึ้น-ลง ได้ด้วยการกด หรือ ดึงสวิตช์ เพียงจังหวะเดียว (One-Touch) ทั้ง 4 บาน! โดยมีสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า ติดตั้งรวมอยู่ด้วยกันที่แผงประตูด้าข้างฝั่งคนขับ เฉพาะรุ่น F-Sport ถัดขึ้นไป เหนือมือจับเปิดประตู เป็นสวิตช์ล็อกความจำของเบาะนั่งฝั่งคนขับ 2 ตำแหน่ง

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา ด้านคนขับ จะเป็นสวิตช์เลือกให้หน้าปัด แสดงมาตรวัดระยะทาง Odo Meter หรือ Trip Meter (Trip A กับ Trip B) ข้างกันนั้น เป็นสวิตช์ปรับเพิมหรือลดความสว่างของชุดมาตรวัด

ถัดลงไป เฉพาะรุ่น F-Sport จะเพิ่ม สวิตช์เปิด – ปิด เสียงสังเคราะห์ ASC (Acoustic Sound Control) ซึ่งหลังจากใช้งานดูแล้ว ผมว่า ปิดไปเถอะครับ วางขุมพลัง Hybrid แนวรักโลกมาให้ แต่ดันใส่เสียงสังเคราะห์เลียนแบบเครื่องยนต์ Turbo มันช่างขัดหูจริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีสวิตช์ เปิด – ปิดการทำงานของจอ HUD Head Up Display เป็นรูปตัว i ขึ้นมา และสวิตช์สำหรับเปลี่ยนมุมมองภาพจากกล้องรอบคัน (VIEW) ส่วนด้านล่างสุด เป็นสวิตช์กดเปิดฝาถังน้ำมัน สวิตช์เปิด-ปิดฝาท้ายไฟฟ้า และคันโยกดึงเปิดฝากระโปรงหน้ารถ

แป้นคันเร่ง (แบบ Piano / Organ Paddle Type) และแป้นเบรก เป็นแบบอะลูมีเนียม พ่นสีทรายดำประดับ ในสไตล์สปอร์ต

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ควบคุมชุดไฟหน้าแบบ Auto พร้อมระบบปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้าอัตโนมัติ Dynamic Head Lamp Leveling) ไฟเลี้ยว ไฟตัดหมอกหน้า รวมทั้ง ระบบปรับไฟหน้าสูง – ต่ำ อัตโนมัติ AHS (Automatic High Beam System) 2 Option นี้ มีมาให้ทุกรุ่น ยกเว้นรุ่น ล่างสุด Luxury

ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา มีไว้ควบคุม หัวฉีดน้ำล้างโคมไฟหน้า กับใบปัดน้ำฝน ปรับความเร็วได้อัตโนมัติ Auto Intermitten Wiper (2 Option นี้ ก็มีทุกรุ่นยกเว้น Luzury) พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกหน้า และใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง (มีมาให้ทุกรุ่น)

พวงมาลัยทุกรุ่น เป็นแบบ 3 ก้าน หุ่มหนังอย่างดี กระชับมือ และมีขนาดเหมาะสม โดยรุ่น Luxury และ Grand Luxury วงพวงมาลัย จะเป็นขนาดมาตรฐาน ขนาดของ Grip บริเวณมือจับ จะพอๆกันกับพวงมาลัยของ C-HR ส่วนรุ่น F-Sport วงพวงมาลัยจะมี Grip ที่หนาขึ้น ในตำแหน่ง 10 นาฬิกา และ 2 นาฬิกา และมีสัญลักษณ์ F-Sport ที่ก้านพวงมาลัยด้านล่าง

พวงมาลัยของทุกรุ่นย่อย สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ และ ระยะใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic ได้ โดยรุ่น Luxury กับ Grand Luxury ปรับด้วยคันโยก ที่ฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย ส่วนรุ่น F-Sport จะยกระดับเป็น สวิตช์ปรับระดับพวงมาลัยด้วยไฟฟ้า ที่ด้านข้างคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย เช่นเดียวกัน

แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ไว้ควบคุมชุดเครื่องเสียงและโทรศัพท์มือถือ ผ่าน Bluetooth ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ไว้ควบคุมระบบ All-Speed Dynamic Redar Cruise Control (เฉพาะเป็นรุ่น Luxury จะเป็นระบบ Cruise Control ธรรมดา) และหน้าจอ Multi Information บนชุดมาตรวัด

ส่วน ก้านหมุนด้านบน เหนือชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย มีไว้สำหรับปรับโปรแกรมการขับขี่ มีให้เลือก 3 Mode

  • ECO  สำหรับการขับขี่แบบประหยัดเชื้อเพลิง เครื่องปรับอากาศ เปิดไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส ลิ้นคันเร่งจะตอบสนองช้า
  • Normal สำหรับการขับขี่แบบปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้ง 2 โหมดนี้ มาตรวัด จะไม่แสดงมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ให้
  • Sport มาตรวัดจะเปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มมาตรวัดรอบเรื่องยนต์ขึ้นมา การตอบสนองของคันเร่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิม นิดเดียว

ชุดมาตรวัดของรุ่น Grand Luxury จะเป็นแบบพื้นฐาน คือมีมาตรวัดหลักตรงกลาง 1 วงกลม แสดงผลเป็นมาตรวัดความเร็ว ได้ทั้งแบบตัวเลข หรือแบบ Analog look’s Digital ในบางโหมด สามารถเพิ่มมาตรวัดรอบเครื่องยนต์เข้าไปด้วยก็ได้ ฝั่งขวา จะเป็น เข็มวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และเข็มวัดปริมาณน้ำมันในถัง ส่วนจอ Multi Information Display ฝั่งซ้าย มีไว้แสดงข้อมูลและการทำงานของระบบต่างๆ ในตัวรถ ทั้งจอแสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จอแสดงข้อมูลของชุดเครื่องเสียง จอแสดงความดันลมยาง สำหรับระบบ Tyre Pressure Monitoring System (TPMS) มาตรวัดระยะทาง Odometer กับ Trip Meter A,B จอแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อน Hybrid ฯลฯ

สำหรับ รุ่น F-Sport ชุดมาตรวัด จะเปลี่ยนมาเป็นแบบเดียวกับ Lexus IS และ RC นั่นคือ เป็นจอ มาตรวัดวงกลมตรงกลาง เลื่อนไปมา ซ้าย – ขวา ได้ ด้วยการกดปุ่ม Menu Enter ติดตั้งด้านบนและขวาสุด ของแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย โดยในหน้าจอแสดงข้อมูล Multi Information Display (ซึ่งแสดงข้อมูลต่างๆของตัวรถ เหมือนกับรุ่น Grand Luxury นั่นแหละ) จะเพิ่ม หน้าจอ G-Force Meter สำหรับวัดแรง G ขณะที่รถกำลังเร่ง เบรก หรือเข้าโค้ง ซ้าย – ขวา เข้ามาให้เป็นพิเศษ รวมทั้ง Upgrade มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และปริมาณน้ำมันในถัง จากแบบเข็ม ให้เป็นแถบ Digital เรืองแสง

หากคุณ ตั้งค่า จอวงกลม ไว้ตรงกลาง หน้าจอ MID จะแสดงผลภายในวงกลม มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และปริมาณน้ำมันในถัง จะอยู่ขนาบข้างวงกลมทั้ง 2 ฝั่ง แต่ถ้าตั้งค่า ให้วงกลมเลื่อนไปทางขวา หน้าจอ MID จะย้ายการแสดงผลทั้งหมด ไปไว้ที่หน้าจอฝั่งซ้าย แทน มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และปริมาณน้ำมันในถัง จะย้ายลงไปอยู่ด้านล่างขอจอ MID ฝั่งซ้าย

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลบนมาตรวัด ทั้งความเร็ว รอบเครื่องยนต์ ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง เครื่องเสียง รวมทั้งระบบนำทาง ระบบรักษาระยะจากรถคันข้างน้า Redar Cruise Control และเข็มทิศ ยังจะถูกยิงขึ้นแสดงผลบนกระจกหน้ารถ HUD (Head-Up Display) ที่ติดตั้งมาให้เฉพาะเป็นพิเศษได้ โดยหน้าจอ HUD ระบบนี้ ผู้ขับขี่สามารถเปิด – ปิด การทำงาน และปรับระดับการแสดงผล สูง – ต่ำได้ จาก สวิตช์ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา จากภาพ อาจดูเหมือนว่า จอ HUD มีขนาดเล็ก เนื่องจากตำแหน่งและมุมของกล้องถ่ายภาพ แต่ของจริง มีขนาดใหญ่กว่านี้

ส่วน ก้านหมุนด้านบน เหนือชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย มีไว้สำหรับปรับโปรแกรมการขับขี่ มีให้เลือกเพิ่มจาก 3 เป็น 4 Mode ดังนี้

  • ECO  สำหรับการขับขี่แบบประหยัดเชื้อเพลิง เครื่องปรับอากาศ เปิดไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส ลิ้นคันเร่งจะตอบสนองช้า
  • Normal สำหรับการขับขี่แบบปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้ง 2 โหมดนี้ มาตรวัด จะไม่แสดงมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ให้
  • Sport มาตรวัดจะเปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มมาตรวัดรอบเรื่องยนต์ขึ้นมา การตอบสนองของคันเร่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิม นิดเดียว
  • Sport S + พวงมาลัยจะปรับให้ตึงมือเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และเกียร์จะลากรอบได้มากขึ้นกว่าเดิม แถมจะมีการเปลี่ยนหน้าจอมาตรวัดรอบ ให้มีแถบสีขาว ซ้อนตัวเลขสีดำ ดูเป็นรถสปอร์ตมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเสียงเครื่องยนต์ให้ดุดันขึ้นด้วยระบบ Sonic Interaction Design (SID) ซึ่งผมมองว่า เสียงสังเคราะห์ที่ว่านี่ ฟังดู “ปลอมมาก” เพราะมาเป็นเสียงเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ Turbo ซึ่งไม่ใช่ขุมพลังจริงของรถรุ่นนี้ ดังนั้น ปิดทิ้งไปจะยังให่ความรู้สึกที่ดีกว่า

 

จากซ้าย มาทางขวา กันบ้าง

ลิ้นชักเก็บของด้านหน้า  (Glove Compartment) ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ของ Lexus ไว้ได้อย่างดี นั่นคือ มันถูกออกแบบมาให้มีขนาดใหญ่…แค่พอจะยัดสารพัดคู่มือ คู่มือผู้ใช้รถ กับคู่มือการใช้ระบบนำทาง ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย แถมด้วคู่มือแบบบาง Quick Guide กับสมุดคูปองรับประกันคุณภาพสำหรับศูนย์บริการ รวมทั้งสิ้น 7 เล่ม!! รวมความหนา เท่ากับสมุดหน้าเหลือง Yellow Pages ในสมัยโบราณ กันเลยทีเดียว! ยิ่งถ้ารวมเอกสารประจำรถจำพวก สมุดทะเบียน และกรมธรรม์ประกันภัยเข้าไปด้วย คงต้องทำใจว่า คุณจะไม่เหลือพื้นที่เก็บของอื่นใดแหงๆ

เครื่องปรับอากาศของทุกรุ่นย่อย แบบอัตโนมัติ Auto Air-Condition พร้อมสวิตช์ระบบควบคุมอุณหภูมิแยกฝั่ง ซ้าย – ขวา และระบบกรองอากาศ Dual Zone Lexus Climate Concierge แผงสวิตช์ แบบ Digital แต่แสดงผลเพิ่มเติมบนหน้าจอ Monitor สี ของระบบ Infotainment ได้ด้วย

ถัดลงมา เป็นเครื่องเล่น CD / DVD / MP3 (ดีใจที่รถยนต์ยุคสมัยนี้ ยังให้เครื่องเล่น CD มาอยู่) จากนั้น ถัดลงไป เป็นสวิตช์ Heater อุ่นเบาะ มีมาให้ทุกรุ่น แต่เฉพาะรุ่น F-Sport จะเพิ่มพัดลมทำความเย็นให้กับเบาะ (Seat Air-Condition) มาให้ เป็นพิเศษ

ใต้แผงควบคุมกลาง ถูกออกแบบให้เป็น ถาดชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบไร้สาย Wireless Charger ซึ่งถ้าจะใช้งาน ต้องตรวจสอบรายชื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากในคู่มือผู้ใช้รถ หรือในเว็บไซต์ของ Lexus ในต่างประเทศเสียก่อน นอกจากนี้ ยังมีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ไม่มีฝาปิด แต่มีตัวล็อกกันแก้วหรือขวดน้ำดื่มกระฉอก

ด้านระบบ Infotainment และหน้าจอกลางทั้งหมด ของทุกรุ่น ควบคุมด้วย Remote Touch Pad เวอร์ชันใหม่ ที่ไวต่อการสัมผัสของนิ้วมือมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ลื่นไถลไวเกินเหตุเหมือน Lexus รุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ ยังมีการย้ายตำแหน่งสวิตช์ ควบคุมเครื่องเสียง มาไว้ ในตำแหน่งเหนือพื้นที่พักแขนบริเวณคอนโซลกลาง (ตำแหน่งเดียวกับ สวิตช์ COMMAND ของ Mercedes-Benz , iDrive ของ BMW) อีกด้วย เอาเข้าจริง ผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับตำแหน่งใหม่นี้สักเท่าไหร่

แม้ว่าในเมืองนอก จะมีชุดเครื่องเสียงซึ่งมีให้เลือก 3 รูปแบบ จาก 2 ผู้ผลิต ทั้ง Panasonic Bamboo 6 หรือ 8 ลำโพง กับ ทางเลือกขั้นสุดอย่าง เครื่องเสียง Mark Levinson 13 ลำโพง พร้อม Amplifier 8 Channel Class D ระบบ Quantum Logic Surround ระบบ Unity Dual concentric driver และ ClariFi Digital Signal expansion มาให้ด้วย ซึ่งเมื่อลองฟังคุณภาพเสียงแล้ว ผมว่า แม้จะดีกว่า เครื่องเสียง Mark Levinson ใน Lexus GS รุ่นที่ 4 แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเทียบเท่ากับ Mark Levinson ใน Lexus LS460 รุ่นที่ 4 ที่ผมโปรดปรานสุดๆ เป็น Option ให้ลูกค้าต่างประเทศเลือกติดตั้งได้เป็นพิเศษก็จริง

ทว่า ถ้าขืนเอาเข้ามาให้เลือกติดตั้งในเวอร์ชันไทย ก็น่าจะทำให้ราคาขายปลีกกระโดดขึ้นไปอีกรุ่นละราวๆ 300,000 บาท โดยประมาณ ซึ่งแพงโดยไม่จำเป็น ดังนั้น สำหรับ UX250h เวอร์ชันไทย จึงมีชุดเครื่องเสียงเพียง 2 แบบ ให้เลือก ตามแต่ละรุ่นย่อย

รุ่น Luxury กับ Grand Luxury จะเริ่มต้นด้วยจอ Monitor สี EMV (Electro Multi-Vision Display) ขนาด 7 นิ้ว มาพร้อมชุดเครื่องเสียง Panasonic Bamboo แบบ 6 ลำโพง (ตั้งชื่อนี้ เพราะว่า ลำโพงมีส่วนผสมจากไผ่) ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD / DVD / MP3 มีช่องเสียบ USB พร้อมช่อง AUX มาให้ในกล่องคอนโซลกลาง และมีช่อง USB อีก 2 ช่อง ติดตั้งไว้ด้านหลังกล่องคอนโซลกลาง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง คุณภาพเสียง จัดอยู่ในระดับปานกลาง และก็เพียงพอ ให้ฟังได้รื่นหู

นอกจากนี้ ยังมีกล้องมองหลัง รวมทั้งกล้อง 360 องศา พร้อมเซ็นเซอร์ช่วยกะระยะขณะถอยเข้าจอด และเส้นกะระยะ หมุนตามพวงมาลัย แถมยังเลือกมุมกล้อง และเลือกสีรถจำลองสำหรับแสดงผลบนจอ ได้ตามความต้องการ

ส่วนรุ่น F-Sport เวอร์ชันไทย นอกจากจะมีข้าวของต่างๆ จากรุ่น Grand Luxury รวมทั้ง กล้อง 360 องศา และเลือกสีรถจำลองได้ เหมือนกันเปี๊ยบ ยกมาใส่ให้หมดด้วยแล้ว ยังถูก Upgrade มาใช้จอ Monitor สี EMV (Electro Multi-Vision Display) ขนาด 10.3 นิ้ว Wide Screen เพิ่มการแสดงผลทั้ง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System กล้องมองภาพขณะถอยหลัง จอแสดงข้อมูลต่างๆ ของตัวรถ รวมทั้ง Upgrade ชุดเครื่องเสียงเป็น Panasonic Bamboo 8 ลำโพง พร้อม Sub-woofer แน่นอนว่า คุณภาพเสียงดีขึ้นไปอีกระดับ และเพียงพอที่คุณไม่จำเป็นจะต้องอิจฉาตลาดโลกที่มี เครื่องเสียง Mark Levinson ให้เลือก เพราะ ภาพรวม ปรับโทนเสียงทุ่มเสียงแหลมทั้งหมดให้เป็นค่ากลาง (0) ก็ให้เสียงที่ดีงามเพียงพอแล้ว

ด้านข้างผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นกล่องเก็บของขนาดใหญ่ ใส่กล่อง CD ได้ 10 แผ่น มีปลั๊กไฟสำรองขนาด 12V / 120W แถมมาให้ 1 ตำแหน่ง ส่วนฝาปิด ออกแบบให้สามารถเปิด – ปิดได้ ทั้งฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าซ้าย ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานอย่างมาก จนต้องขอชมเชย ตัวฝาปิดกล่อง ออกแบบให้เป็นพนักวางแขนในตัว หุ้มด้วยหนังสีเดียวกับเบาะนั่ง ให้พื้นผิวสัมผัสที่ดีไม่แตกต่างจากหนังหุ้มเบาะรถ

ทัศนวิสัย ด้านหน้า เหมือนจะมองได้ตีบ เนื่องจากตำแหน่งของแผงบังแดด ค่อนข้างอยู่ใกล้กับหน้าผากผู้ขับขี่อยู่เหมือนกัน และดูไม่ค่อยมองเห็นฝากระโปรงหน้า แต่ถ้ามองดีๆแล้ว การมองเห็นสภาพการจราจรด้านหน้ารถ ก็ยังถือว่าชัดเจนดี

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ยื่นล้ำไปข้างหน้านิดหน่อย ในสไตล์คล้ายกับ C-HR ซึ่งก็ช่วยลดการบดบัง บรรดายานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ขณะที่คุณกำลังเลี้ยวกลับรถ แต่อาจจะยังลดการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา บนทางโค้งขวา ของถนนแบบ 2 เลนสวนกัน ได้ไม่ถึงกับดีนัก

กระจกมองข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง ถูกออกแบบให้ช่วยแก้ปัญหาด้านเสียงกระแสลมขณะไหลผ่าน ไปพร้อมๆกับการมองเห็นพาหนะที่แล่นตามมาจากทางด้านข้าง ชัดเจนดี อย่างไรก็ตาม หากปรับกระจกมองข้าง ให้เห็นตัวถังน้อยที่สุด แม้ว่า ขอบด้านในของกรอบด้านนอก จะเบียดบังพื้นที่บานกระจกมองข้างบริเวณฝั่งขวา ไปน้อยกว่าที่คาดคิด แต่สำหรับฝั่งซ้าย มุมฝั่งซ้ายของบานกระจกมองข้าง ถูกกรอบด้านในเบียดบังพื้นที่ไปเยอะกว่าฝั่งขวาอยู่เหมือนกัน

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ค่อนข้างตีบตัน และคับแคบก็จริง แต่…ต่อให้ยกพนักศีรษะด้านหลังตั้งขึ้นมาใช้งาน หรือมีผู้โดยสารด้านหลังด้วย การมองเห็นก็ยังถือว่า ดีกว่า Toyota C-HR และ Lexus CT200h รุ่นเดิม อยู่พอสมควร

********** รายละเอียดงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ช่วงแรกที่เปิดตัว Lexus UX ในตลาดต่างประเทศ จะมีขุมพลังให้เลือกเพียง 2 แบบ นั่นคือรุ่นเบนซิน UX200 และรุ่นเบนซิน Hybrid UX250h โดยไม่มีเครื่องยนต์ Diesel ให้เลือกเลย แม้ลูกค้าชาวยุโรปจะยังมีความต้องการสูงอยู่ก็ตาม เนื่องจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในยุโรป เข้มงวดกับมลพิษจากเครื่องยนต์ Diesel มากขึ้น

กระนั้น เครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน UX จะเป็นขุมพลังรุ่นใหม่ล่าสุดทั้งหมด และนำออกใช้ใน Lexus เป็นครั้งแรก อีกทั้งเป็นขุมพลังที่แตกต่างจาก Toyota C-HR โดยสิ้นเชิง

รุ่น UX200 จะวางเครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด รหัส M20A-FKS เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 97.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EFI แบบตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection D-4S พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ แบบ Dual VVT-i โดยฝั่งวาล์วไอดี จะเป็นแบบควบคุมหัวแคมชาฟต์ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ VVT-iE ส่วนฝั่งไอเสีย จะเป็นแบบ VVT-i ธรรมดา กำลังสูงสุด 171 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 205 นิวตัน-เมตร (20.9กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (เท่านั้น ไม่มี 4WD) ด้วยเกียร์อัตโนมัติ แบบใหม่ล่าสุด Direct Shift CVT ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้เกียร์ 1 มีอัตราทดเกียร์ ล็อกตายตัว ใช้ชุดคลัตช์ และ Torque Converter ให้สัมผัสเหมือนการออกตัวด้วยเกียร์ 1 ในรถยนต์ปกติทั่วไป และเมื่อได้ความเร็วคงที่แล้ว เกียร์จะตัดเปลี่ยนเข้าสู่เกียร์ขับเคลื่อน ซึ่งจะแปรผันอัตราทดกันไปตามตำแหน่งพูเลย์

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

อัตราทด เกียร์ 1……….3.377
Pulley Ratio………….2.236 – 0.447
เกียร์ถอยหลัง………….3.136
อัตราทดเฟืองท้าย……4.014

ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.2 วินาที อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.6วินาที ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายให้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.6 และ 5.8 ลิตร/100 กิโลเมตร และตั้งเป้าให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ไว้ราวๆ 132 และ 138 กรัม/กิโลเมตร ตามแต่ละประเทศที่ส่งไปจำหน่าย

แต่สำหรับ เวอร์ชันไทย จะไม่มีรุ่น UX200 เครื่องยนต์ M20A-FKS มาให้เลือก เนื่องจากค่ามลพิษจะเกินมาตรฐานไป แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอีก Rate ซึ่งยากต่อการทำราคาขายมากไปกว่านี้ เพราะมันจะขึ้นไปแตะ Lexus NX เลยละ

ดังนั้น เวอร์ชันไทย จึงมีให้เลือกเพียงรุ่นเดียว คือ UX250h เท่านั้น หมายความว่า UX เวอร์ชันไทย ก็จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว ซึ่งเป็นขุมพลังหลักสำหรับทำตลาดทั่วโลก นั่นคือ เครื่องยนต์ เบนซิน HYBRID Generation ที่ 4 (นั่นแปลว่า ใหม่หมดยกชุด!) รหัส M20A-KXS ประกอบด้วย เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว  1,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 97.6 มิลลิเมตร เหมือน UX200 แต่เพิ่มกำลังอัด ขึ้นเป็น 14.0 : 1 เปลี่ยนการจุดระเบิดจากแบบ Otto Cycle ตามปกติ มาเป็น แบบ Atkinson Cycle (เมื่อไอดีเข้าห้องเผาไหม้ วาล์วไอเสียจะยังมีจังหวะเปิดคาอยู่ตอนลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น ทำให้ไอดีส่วนหนึ่งถูกเตะกลับออกมา ซึ่งทำให้แรงต้านในการเคลื่อนที่ขึ้นของลูกสูบนั้นลดลง)

นอกนั้น ขุมพลังลูกนี้ ยังคงฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EFI แบบตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection D-4S พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ แบบ Dual VVT-i โดยฝั่งวาล์วไอดี จะเป็นแบบควบคุมหัวแคมชาฟต์ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ VVT-iE ส่วนฝั่งไอเสีย จะเป็นแบบ VVT-i ธรรมดา เหมือนรุ่น M20A-FKS ใน UX200

รองรับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ตั้งแต่ Octane 91 ขึนไป และน้ำมันเบนซิน Gasohol ได้สูงสุดแค่ระดับ E10 (Gasohol 91 และ Gasohol 95 แบบมาตรฐาน เท่านั้น ไม่รองรับ Gasohol E20 และ E85)

กำลังสูงสุด (เฉพาะเครื่องยนต์) ลดลงเหลือ 146 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดลดลงเหลือ 180 นิวตัน-เมตร (18.4 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

ข้อมูลการบำรุงรักษา :

หัวเทียน DENSO FC16HR Q8 ระยะห่างเขี้ยวหัวเทียน 0.8 มิลลิเมตร (0.031 นิ้ว)
น้ำมันเครื่อง SAE 0W-16 , 0W-20 , 5W20 , 5W-30 และ 10W-30
น้ำมันเครื่อง เกรด API (Americam Petroleum Institute) SL ,SM ,SN “Energy-Conserving”
ความจุอ่างน้ำมันเครื่องสำหรับการเปลี่ยนถ่าย มีไส้กรอง 4.3 ลิตร ไม่มีไส้กรอง 3.9 ลิตร เปลี่ยนถ่ายทุก 10,000 กิโลเมตร
น้ำยาหล่อเย็น Toyota Super Long Life Coolant สำหรับเครื่องยนต์ ใช้ 6.5 ลิตร ส่วนชุด ควบคุมพลังงาน ใช้ 1.6 ลิตร

เชื่อมการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet หรือ MG (Motor & Genarator ทั้ง MG1 และ MG2) กำลังสูงสุด 80 กิโลวัตต์ หรือ 109 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 202 นิวตัน-เมตร (20.6 กก.-ม.) ด้วย Planetary Power-Split device จากเดิม MG1 กับ MG2 จะติดตั้งในแนวเดียวกัน คราวนี้ถูกปรับปรุงให้อยู่ในตำแหน่ง เยื้องกัน ข้อดีก็คือ ลดขนาดความยาวของชุดเกียร์ส่งกำลังในระบบลง และช่วยลดแรงเสียดทานในระบบลงไปพร้อมๆกัน โดยมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถขับขี่ได้จนถึงความเร็ว 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนทางลาดชันไหลลง) ก่อนจะตัดการทำงาน เพื่อปลอยให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนรถในช่วงความเร็วเดินทางต่อไป

ส่วนแบ็ตเตอรี ยังคงเป็นแบบ Ni-Mh (Nickel Metal Hydride) ขนาด 180 Cell แรงดันไฟฟ้า 216 V (1.2 V ต่อ 1 Cell และ 7.2 V / Module) ความจุ 6.5 Ah (3HR) มีทั้งหมด 30 Module ให้กำลัง 26 กิโลวัตต์ (32 แรงม้า HP) แต่ถูกปรับปรุงใหม่ ให้มีขนาดเบากว่าเดิม รวมทั้งยัง ถูกปรับปรุงให้มีพัดลมระบายความร้อนขนาดกระทัดรัดกวาเดิม ติดตั้งอยู่ใต้เบาะหลัง เพื่อช่วยให้ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ

Toyota และ Lexus ยืนกรานจะยังใช้แบ็ตเตอรี ประเภทนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลอ้างถึงความทนทาน และประสบการณ์กับแบ็ตเตอรี Ni-Mh ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1997 อีกทั้งยังคุมต้นทุนการผลิตได้ดีกว่า (พูดให้ตรงๆก็คือ มีเหตุผลด้านต้นทุนนั่นแหละ)

นอกจากนี้ ยังมีแบ็ตเตอรี 12 V สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถ ติดตั้งซ่อนอยู่ในห้องเก็บสัมภาระด้านหลังฝั่งขวา ต้องยกแผงพื้นด้านข้างขึ้นมาจึงจะเจอ อย่างไรก็ตา ถ้าแบ็ตเตอรีไฟหมด ขั้นตอนการพ่วงแบ็ตจะซับซ้อนกว่ารถยนต์ทั่วไปนิดหน่อย แนะนำให้เปิดอ่านศึกษาจาก “คู่มือการใช้รถ UX250h” หน้า 436 – 440 หรือ เรียกผู้เชี่ยวชาญ มาจัดการให้ จะปลอดภัยต่อระบบคอมพิวเตอร์ของตัวรถมากกว่า

เมื่อรวมการทำงานของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน จะได้กำลังสูงสุดของทั้งระบบเพิ่มกลับขึ้นมาแรงกว่า UX200 เป็น 130 กิโลวัตต์ หรือ 178 แรงม้า (PS)

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT (Electronic Continuously Variable Transmission) ซึ่งรวมเข้าไปอยู่ในชุดเดียวกับ มอเตอร์ไฟฟ้า โดยมี Motor Reduction Ratio อยู่ที่ 3.062 : 1 และ อัตราทดเกียร์ 3.605 : 1 คันเกียร์ติดตั้งที่แผงควบคุมกลาง การบำรุงรักษา ใช้น้ำมันเกียร์ Toyota Genuine ATF WS จำนวน 3.8 ลิตร

คันเกียร์ของทุกรุ่นย่อย จะมี Mode +/- มาให้ผู้ขับขี่ ได้เลือกเปลี่ยนเกียร์ หรือ ล็อกอัตราทดได้ 6 จังหวะ เพื่อช่วยในกรณีขึ้น – ลง เขา แต่เฉพาะรุ่น F-Sport นอกจากจะเพิ่มคันเกียร์ หุ้มหนังแบบมีรู สไตล์สปอร์ต เหมือนวงพวงมาลัยแล้ว จะเพิ่มแป้นเปลี่ยนเกียร์ หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้ เป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มความสนุกในการขับขี่ ขณะลัดเลาะไปตามถนนคดเคี้ยว หรือทางโค้งต่างๆ วางรูปแบบมาตรฐาน คือ เปลี่ยนเกียร์ลง ตบแป้น – ทางฝั่งซ้าย หรือเปลี่ยนเกียร์ขึ้น ตบแป้น + ทางฝั่งขวา

หลักการทำงานของระบบ Hybrid ก็เป็นเหมือนเช่นรถยนต์ Hybrid ของ Toyota และ Lexus รุ่นอื่นๆ กล่าวคือ

  • กดปุ่มติดเครื่องยนต์ ไฟ Ready ติดโชว์บนแผงมาตรวัด แสดงว่า พร้อมออกรถได้เลย
  • ถ้าแตะคันเร่งออกตัวช้าๆ แบ็ตเตอรี มีไฟเหลือเยอะ มอเตอร์จะขับเคลื่อนรถเองก่อน
  • ถ้าแตะคันเร่งออกตัวช้าๆ แบ็ตเตอรี มีไฟเหลือน้อย เครื่องยนต์จะช่วยปั่นไฟเข้าแบ็ต มอเตอร์ขับเคลื่อนรถก่อน
  • ถ้าเหยียบคันเร่งออกตัวเร็วๆ เครื่องยนต์จะเข้ามาช่วยเสริมมอเตอร์ ทำงานหมุนล้อด้วยกัน
  • ถ้าใช้ความเร็วคงที่ ไม่เกิน 60 – 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง แบ็ตเตอรี มีไฟเหลือเยอะ มอเตอร์ขับเคลื่อนรถเองได้
  • ถ้าใช้ความเร็วคงที่ เกิน 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง เครื่องยนต์จะเข้ามารับช่วงหมุนล้อ แทนมอเตอร์
  • ถ้าเหยียบเบรก หรือชะลอรถ เครื่องยนต์ตัด มอเตอร์จะทำตัวเป็นเครื่องปั่นไฟ กลับเข้าแบ็ตเตอรี
  • เมื่อรถหยุดนิ่ง เครื่องยนต์ กับมอเตอร์ หยุดทำงาน แต่ถ้าแบ็ตเตอรีเหลือไฟน้อย เครื่องยนต์จะติดมาปั่นไฟเอง

UX250h เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่น F-Sport ขับเคลื่อน 4 ล้อ e-Four ALL WHEEL DRIVE ซึ่งจะเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้าแบบเหนี่ยวนำถาวร เพื่อขับเคลื่อนล้อคู่หลัง เข้ามาอีก 1 ลูก ติดตั้งไว้ตรงกลางระหว่างล้อคู่หลัง (MGR : Motor Generator – Rear) มีขนาดเล็กลงกว่า มอเตอร์ MGR ของ Lexus NX กับ RX ถึง 25% ทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ บนทางโค้งและถนนเปียกลื่น Vehicle Stability Control (VSC) เพื่อช่วยหมุนล้อหลัง บนพื้นถนนผิวลื่น หรือต้องการอัตราเร่งอย่างปัจจุบันทันด่วน ดึงรถกลับเข้ามาอยู่ในโค้งได้ดีขึ้น ระบบนี้จะเริ่มทำงานในทันทีที่ต้องออกตัวบนพื้นผิวถนนลื่น และทำงานได้จนถึงความเร็วระดับ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้น้ำมันเกียร์ Toyota Genuine ATF WS จำนวน 1.2 ลิตร สมรรถนะของมอเตอร์ลูกหลังนี้ อยู่ที่ 5.3 กิโลวัตต์ หรือ 7.2 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 55 นิวตันเมตร หรือ 5.6 กก.-ม.

ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.5 วินาที อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายให้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 4.1 และ 4.3 ลิตร/100 กิโลเมตร และตั้งเป้าให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ไว้ราวๆ 96 102 และ 103 กรัม/กิโลเมตร ตามแต่ละประเทศที่ส่งไปจำหน่าย

ส่วนตัวเลขสมรรถนะบนถนนเมืองไทย จะเป็นอย่างไร เรายังคงใช้วิธีการจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

จากตัวเลขที่ออกมา อาจดูเหมือนว่า อัตราเร่งของ UX250h ไม่ได้โดดเด่นไปกว่ารถเก๋ง เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร แบบไม่มีระบบอัดอากาศทั่วไป เท่าใดนัก แต่ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว หาก C-HR Hybrid ซึ่งวางเครื่องยนต์ เบนซิน Hybrid 1.8 ลิตร ทำตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 12.23 วินาที ส่วน Camry Hybrid รุ่นล่าสุด วางเครื่องยนต์ เบนซิน Hybrid 2.5 ลิตร ทำตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลา 8.9 วินาที ดังนั้น การที่ UX250h ซึ่งวางเครื่องยนต์ เบนซิน Hybrid 2.0 ลิตร อยู่ตรงกลางระหว่าง รถยนต์ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวพอดี ทำตัวเลขออกมาได้ 9 วินาทีกว่าๆ อย่างนี้ ก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแล้ว

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงออกตัว ไปจนถึงแถวๆ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ตัวเลขจึงจะเริ่มไต่ขึ้นไปช้าลง กระนั้น การลากเครื่องยนต์ให้นำพารถขึ้นไปแตะความเร็วสูงสุด 186 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที ก็ใช้เวลาไม่นานนัก ต่อให้ลงเนินยาวๆช่วย ตัวเลขก็ขึ้นไปได้แค่ 187 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงสั้นมากๆ เพียงเสี้ยววินาที แต่เมื่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว สมองกลจะสั่งหรี่ลิ้นคันเร่ง ทำให้ความเร็วของรถ ลดลงมา ไปพร้อมๆกับรอบเครื่องยนต์จะถูกตัดลงมาจาก 6,000 เหลือ 4,700 รอบ/นาที

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้นั้น ถือว่า มีเรี่ยวแรง เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่อืดอาดมากมายอย่างที่คุณกังวล แถมในบางครั้ง ตอนออกตัว ยังมีอาการ “ล้อหน้าฟรีทิ้ง” ให้พบเจออยู่บ้างเหมือนกัน แน่นอนว่า มันแรงกว่า C-HR ทั้งเบนซิน และ Hybrid แต่อาจแรงไม่เท่า Camry เบนซิน และ Hybrid (แหงสิ เครื่องยนต์ก็มีขนาดความจุกระบอกสูบ อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 รุ่นนี้นี่หว่า)

การตอบสนองของคันเร่ง ใน Mode Eco ,Normal ,Sport ถ้าเติมน้ำหนักเท้าลงไปทันที ราวๆครึ่งคันเร่ง จะยังมีอาการ “อมๆ” หน่อย แต่พอเป็น Mode Sport + คันเร่งก็จะตอบสนองไวขึ้น แม้จะยังไม่ทันท่วงทีถึงขนาด คันเร่งของ Mercedes-Benz หรือ BMW ใน Mode Sport ก็ตาม แต่ก็จัดว่าใกล้เคียงมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องกดคันเร่งลงไปเต็มตีนแบบฉับพลัน เข็มวัดรอบจะกวาดขึ้นมาก่อน จากนั้นอัตราเร่ง ก็จะตามออกมาในลำดับถัดไป ทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้นว่าจะอยู่ใน Mode ไหน ดังนั้น ถ้าอยากให้คันเร่งตอบสนองทันที ต้องเหยียบคันเร่งแบบค่อยๆเติมน้ำหนักลงไป อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเร่งแซง แทบไม่จำเป็นต้องเหยียบคันเร่งลงไปจมมิด ใช้แค่เพียงครึ่งเดียว คุณก็สามารถหนีพ้นจากบรรดา Nissan Almera ขับช้าแช่ขวา หรือพวก Toyota Fortuner บ้าพลัง ชอบจี้ตูดชาวบ้าน ได้อย่างสบายๆ ประมาณหนึ่ง ไม่ถึงกับต้องพยายามมากนัก

แล้วรุ่น UX200 ที่ไม่เข้ามาทำตลาดในไทย มันจะดีกว่านี้หรือไม่ ?

จากการได้ทดลองขับที่กรุง Stockholm ใน Sweden เมื่อปลายปี 2018 ผมได้คำตอบว่า ถึงแม้รุ่น UX200 จะไม่มีระบบ Hybrid และใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT Direct Shift ซึ่งล็อกอัตราทดเกียร์ 1 เอาไว้ ทำให้ออกตัวลากรอบเครื่องยนต์ได้เหมือนเกียร์อัตโนมัติ แบบปกติทั่วไป ก่อนจะตัดเปลี่ยนเป็นเกียร์ 2…ซึ่งจะเข้าสู่โหมด CVT ตามปกติให้

ทว่า ในการขับขี่จริง เรี่ยวแรง การตอบสนองทั้งคันเร่ง และพละกำลังของ UX200 นั้น เทียบได้เพียงแค่ Mazda 3 รุุ่น 2.0 ลิตร เท่านั้น จังหวะออกตัว คันเร่งก็มีอาการอมๆนิดๆ สมมติว่า ถ้ามาเจออากาศร้อนๆ และสภาพน้ำมันเชื้อเพลิงแบบบ้านเราแล้ว เผลอๆ สมรรถนะจะยิ่ง Drop ลงไปกว่านั้นอีกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ผมมองว่า ดีแล้วละที่ Toyota Motor Thailand ไม่ได้สั่งรุ่น UX200 เข้ามาขายในบ้านเรา

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร นั้น หากใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในห้องโดยสารก็ยังคงเงียบสงบ ตามมาตรฐานของ Lexus แทบทุกรุ่น ทั่วๆไป ซึ่งต้องยกคุณงามความดีให้กับยางขอบประตู หน้าต่าง และการให้ความสำคัญกับวัสดุซับเสียงตามจุดต่างๆทั่วทั้งคันรถ

แต่ ถ้าคุณเหยียบเกินกว่านั้นเมื่อไหร่ จะพบว่า มีเสียงกระแสลมไหลผ่านกระจกมองข้าง เล็ดรอดเข้ามาให้ได้ยินอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะต่อให้ตัวกระจกมองข้างจะถูกออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจ จากกระจกมองข้างของ Lexus LF-A รวมทั้งมีความพยายามในการแก้ไขรูปทรง เพื่อลดปัญหาดังกล่าวอย่างหนักมาแล้ว

กระนั้น มันก็เป็นธรรมชาติของกระจกมองข้าง ที่ติดตั้งอยู่กับตัวถังรถแบบนี้ ซึ่งจะมีช่องว่างและระยะห่างระหว่าง ตัวกระจก กับหน้าต่างรถ เยอะมากพอที่จะทำให้อากาศไหลผ่านเข้ามาในปริมาณมากกว่า จนทำให้เกิดเสียงรบกวนจากกระแสลมได้เยอะกว่า ใครที่เคยใช้ Honda Civic FD ปี 2005 – 2012 มาก่อน คงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยระบบไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) หมุนจากซ้ายสุด ไปขวาสุด หรือ ขวาสุดไปซ้ายสุด ได้ 2.76 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 5.2 และ 5.6 เมตร (แล้วแต่รุ่น) ระยะฟรี น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร (1.2 นิ้ว)

การตอบสนองของพวงมาลัย มีบุคลิกใกล้เคียงและอัพเกรดจาก Toyota C-HR นิดนึง คือ มีน้ำหนักเบาในช่วงความเร็วต่ำ ตึงมือกำลังดี แรงขืนที่มือ มีนิดเดียว ไม่เยอะ แต่ด้วยการเซ็ตอัตราทดเฟืองพวงมาลัย มาแบบกลางๆกำลังดี ไม่ไว ไม่ยานคางไป ทำให้การบังคับเลี้ยว เป็นไปตามสั่ง ต้องการให้เลี้ยวแค่ไหน หมุนพวงมาลัยไปแค่นั้น เหมือนกับบรรดา Toyota และ Lexus รุ่นใหม่ ยุค TNGA

อย่างไรก็ตาม น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ ของรุ่น Grand Luxury (ล้อ 17 นิ้ว) จะเบากว่า รุ่น F-Sport (ล้อ 18 นิ้ว) อยู่นิดหน่อย  ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำหนักของล้ออัลลอยที่แตกต่างกัน

ส่วนการขับขีทางไกล On-Center feeling ยังคงดีงาม ตามความคาดหมาย ผมสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย ที่ความเร็ว Top Speed 186 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้นานถึง 6 วินาที ! แถมการตอบสนองก็ไม่ได้รู้สึกมากนักว่าเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ให้ความต่อเนื่องขณะหมุนเลี้ยว (Linear) ช่วยให้การบังคับรถขณะอยู่ในทางโค้ง เนียนดีมาก ไม่ต้องเลี้ยงพวงมาลัยช่วยมากนัก

ภาพรวม ถือว่า  พวงมาลัยแบบนี้ ไม่ใช่แค่สุภาพสตรีจะรู้สึกมั่นใจขึ้น แต่นักขับรถอย่างผม ก็ชื่นชอบด้วย ว่าเหมาะสมกับรูปแบบของรถดีแล้ว พวงมาลัยให้การตอบสนองดีมากในระดับที่ น่าพอใจ จนต้องฝากขอร้อง Kako-san และทีมวิศวกรเลยว่า สำหรับพวงมาลัยของ UX แล้ว โปรดอย่าปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากนี้!

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า เป็นแบบ McPherson Strut ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Trailing Wishbone ที่พัฒนาขึ้นใหม่ และนำมาใช้กับ UX เป็นเอกเทศ ไม่เหมือนกับ Toyota C-HR

ในช่วงความเร็วต่ำ หรือขับไปตามตรอกซอกซอย ช่วงล่าง จะให้ความนุ่มนวล แต่คล่องแคล่ว ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีมาก ต่อให้ขับผ่าน หลุมบ่อ ฝาท่อ และลูกระนาด ในซอยอารีสัมพันธ์ ก็แทบไม่มีอาการตึงตังใดๆให้พบเจอเลยแม้แต่น้อย เซ็ตมาได้นุ่ม แอบแน่นแต่ขับสบายมากๆ ขณะเดียวกัน การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ก็ทำได้ดีมาก ให้ความมั่นใจได้ดี สมกับเป็นรถที่พัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง TNGA-C

อย่างไรก็ตาม การเซ็ตช่วงล่างมาในสไตล์นุ่ม ของรุ่น Luxury และ Grand Luxury ก็อาจจะทำให้เกิดอาการโยนตัวขึ้นเล็กๆน้อย ในบางจังหวะ ขณะเจอพื้นผิวถนนลักษณะลอนคลื่น กระนั้น ช่วงล่าง ก็ยังประคองตัวรถได้ดี และยังคงให้บุคลิก “นุ่มนวลแต่นิ่งและเฟิร์ม” ได้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อถึงจังหวะที่ช็อกอัพกับสปริงทำงานจนครบ Loop และคืนกลับมาอยู่ในจุดเดิม ในจังหวะเดียว ไม่มีการ Rebound ซ้ำ เหมือนพวกรถที่มีช่วงล่างแนวนุ่มทั่วๆไป

ส่วนรุ่น F Sport จะแตกต่างจากรุ่น Luxury กับ Grand Luxury ตรงที่ว่า มีการเปลี่ยนช็อกอัพจากแบบไฮโดรลิค มาเป็นแบบ ไฟฟ้า Adaptive Variable Suspension System ซึ่งตามปกติ หากขับขี่ใน Mode Eco , Normal และ Sport S ช่วงล่างจะเน้นนุ่มนวลเป็นหลัก แต่เมื่อคุณเปลี่ยนไปใช้ Mode Sport S + ช่วงล่างจะถูกปรับเปลี่ยนให้แข็งขึ้นเองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังเพิ่ม เหล็กกันโคลงหน้า และเหล็กค้ำช็อกอัพคู่หน้ามาให้ พร้อมทั้งเพิ่ม “Performance Damper” ที่ล้อคู่หลัง เพื่อการขับขี่ที่ “เน้นบุคลิกสปอร์ต” ยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ คุณจะสัมผัสได้เลยว่า ใน Mode Normal หรือ Eco ช่วงล่าง จะ “ตึง” ขึ้นกว่ารุ่น Luxury และ Grand Luxury เล็กน้อย เมื่อขับขึ้นลูกระนาด จะพบว่า ช่วงล่างด้านหน้าที่เคยนุ่ม จะแข็งขึ้นในระดับพอดีๆ ส่วนช่วงล่างด้านหลัง จากที่เคยมีจังหวะ Rebound 1 ครั้ง พอเป็นรุ่น F-Sport จะเปลี่ยนเป็น “ขึ้นปุ๊บลงปั๊บ” คล้ายกับ Toyota 86 / Subaru BRZ ที่สวมล้อ 16 นิ้ว มากขึ้น

ยิ่งถ้าเปลี่ยนไปใช้ Mode Sport S + ช่วงล่างทั้งด้านหน้าและหลัง จะยิ่งแข็งขึ้นไปอีก คราวนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลุมบ่อ ฝาท่อ หรือเนินสะดุดลูกระนาดแบบไหน คุณก็จะรับรู้ถึงความ “ตึงตัง” ที่สะเทือนเข้ามาในห้องโดยสาร ชัดเจนกว่าเดิม แข็งจนเกือบจะเท่าเทียมกับ Subaru WRX แบบปกติ (ที่ยังไม่ใช่ STi) เลยทีเดียว

มาดูทางโค้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร ที่ผมใช้ทดลองเข้าโค้งหนักๆกับรถทดสอบทุกคันกันบ้าง…(ตัวเลขความเร็ว อ่านจากมาตรวัด อาจเพี้ยนจากความเร็วจริงบน GPS เล็กน้อย อ่านได้จากตารางข้างบน)

– โค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน รถทั่วไป ทำได้ 80 – 100 แต่ UX250h Grand Luxury ทำได้ราวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรุ่น F-Sport ซัดเข้าได้ที่ 107 กิโลเมตร/ชั่วโมง!!!

– ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin รุ่น Grand Luxury ทำได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วน รุ่น F Sport ซัดเข้าได้ที่ 107 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่นกัน

– โค้งขวา โค้งซ้ายต่อเนื่องยาวๆ และโค้งขวา รูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา รุ่น F-Sport ยัดเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 107 , 119 และ 135 กิโลเมตร/ชั่วโมง!!!

(เหตุผลที่รุ่น Grand Luxury ทำตัวเลขออกมาได้ไม่ดีเทียบเท่ากับรุ่น F-Sport ไม่ได้เป็นเพราะช่วงล่างที่นุ่มไป หากแต่เป็นเพราะยางติดรถ Michelin Premacy 4 ซึ่งหน้ายางมีสภาพไม่ค่อยจะดี เพราะผ่านศึกมาเยอะแล้ว ขณะที่รุ่น F-Sport ได้ยาง Bridgestone Turanza T005A ซึ่งมีสภาพสดใหม่กว่า และมีหน้ายางกว้างกว่า)

ในภาพรวม ช่วงล่างของ UX250h ถือว่า เซ็ตมาได้ลงตัว ดีงามกว่า BMW X-2 และ Mercedes-Benz GLA โดยเฉพาะรุ่น Grand Luxury ซึ่งให้ความนุ่มสบายในการขับขี่ ซับแรงสะเทือนดีเยี่ยม และตอบสนองต่อพื้นถนนอันหลักหลายได้ดีกว่า ในขณะที่ช่วงล่าง AVS ของรุ่น F-Sport จะเอาใจคนที่อยากได้บุคลิกแนว Sport เพิ่มขึ้น และชอบสาดเข้าโค้งแรงๆ แต่อาจมีอาการตึงตังบ้างเวลาขับไปตามตรอกซอกซอย เพิ่มขึ้นจากรุ่น Grand Luxury บ้างพอประมาณ

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า เป็นแบบมีรูระบายอากาศ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร หนา 28 มิลลิเมตร จานเบรกคู่หลัง เป็นแบบ Solid ปกติ เส้นผ่าศูนย์กลาง 281 มิลลิเมตร หนา 15 มิลลิเมตร เหมือนกันทั้งหมดทุกรุ่นย่อยระยะห่างแป้นเบรกต่ำสุด 109 มิลลิเมตร (4.29 นิ้ว) ระยะฟรีแป้นเบรก 1.0 – 6.0 มิลลิเมตร (0.04 – 0.24 นิ้ว)

ติดตั้งเบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Hold รวมทั้งตัวช่วยมาตรฐาน ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TRC (Traction Control)

ข้อมูลการบำรุงรักษา :
น้ำมันเบรก SAE J1 703 หรือ FMVSS No.116 DOT 3
และ SAE J1 704 หรือ FMVSS No.116 DOT 4

แป้นเบรกของ UX250h Hybrid หนืดและนุ่มเท้ากำลังดี มีระยะเหยียบ ตื้นกว่ารุ่น UX200 แต่มีแรงต้านเท้ามากกว่า  ตอบสนองได้ Linear ขึ้น ไม่รู้สึกตื้อ เหมือนบรรดา รถยนต์ Hybrid ของ Toyota และ Lexus รุ่นก่อนๆ เบรกได้นุ่มนวลและให้ความมั่นใจใช้ได้ ถ้าจะเบรกให้หยุดรถอย่างนุ่มนวล ก็ทำได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงก็คือ ขณะย่างกรายไปตามสภาพการจราจรติดขัดแบบไหลๆ ในช่วงความเร็วต่ำมาก ประมาณ ไม่เกิน 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากคุณตั้งใจจะเพิ่มน้ำหนักเท้าขวาลงบนแป้นเบรก เพื่อให้รถหยุดนิ่ง คุณจะพบอาการ…เหมือนว่า คุณกำลังกดสวิตช์อะไรสักอย่างหนึ่งลงไป จนหน้ารถทิ่ม “จึก”! อาการนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่คุณเหยียบเบรกแบบเลียๆ เอาไว้ เพื่อพร้อมจะหยุดรถตามจังหวะของการจราจร อาการนี้ เคยพบมาแล้วใน Lexus ES300h รุ่นใหม่ล่าสุด และมันเป็นอาการที่ไม่เคยจะเกิดขึ้นกับรถยนต์ปกติทั่วไป คงต้องฝากทีมวิศวกรช่วยทำการบ้าน เพื่อแก้ไขอาการนี้ให้ลดน้อยลง หรือหายไปเลยได้ยิ่งดี

ด้านระบบความปลอดภัย เชิงป้องกัน (Active Safety) Lexus UX มาพร้อมกับ Package ระบบ Lexus Safety System+ ที่รวมสารพัดระบบตัวช่วยผู้ขับขี่ต่างๆนาๆ หลายรายการ เอาไว้ด้วยกัน ดังนี้…

– ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ แปรผันได้ทุกความเร็วตามเรดาห์วัดระยะห่างจากรถคันข้างหน้า All-Speed Dynamic Radar Cruise Control (เฉพาะ F-Sport เท่านั้น)
– ระบบเตือนก่อนเกิดการชน พร้อมเบรกอัตโนมัติ และระบบตรวจจับผู้สัญจรบนทางเท้า Pre-Collision System (PCS) with Pedestrian Detection สามารถตรวจจับจักรยานได้ในเวลากลางวัน และคนเดินถนนในเวลากลางคืน
– ระบบรักษารถให้อยู่ในเลนถนน Lane Keep Assist พร้อมระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกจากเลน และสั่งมอเตอร์ไฟฟ้าของพวงมาลัย ให้ดึงรถกลับเข้าเลนถนน Lane Departure Alert with Steering Assist (Lane Tracing Assist)
– ระบบแจ้งเตือนป้ายบอกทาง Road Sign Assist (RSA) แสดงผลทั้งบนมาตรวัด และกระจกหน้ารถ HUD

– ชุดไฟหน้าพร้อมไฟสูงแบบ Adaptive High-beam System (AHS) และ Intelligent High-Beam headlamps/Automatic High Beam (AHB)
Blind Spot Monitoring (BSM) ระบบเตือนมุมอับสายตา ด้วย Redar แบบ Quasi-Millimeter สะท้อนไปยังยานพาหนะด้านหลัง ถ้ามียานพาหนะวิ่งมาขนาบข้างจากทางด้านหลัง ฝั่งไหน ระบบจะแจ้งเตือนเป็นสัญญาณไฟสีอำพันที่กระจกมองข้าง ฝั่งนั้น
– ระบบป้องกันก่อนการชน Pre-Crash Safety System มี Redar และกล้อง คอยประเมิณสถานการณ์ ถ้ามีความเสี่ยงว่าจะชน คน หรือยานพาหนะอื่นๆ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนคนขับ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มแรงเบรกขณะที่ผู้ขับขี่เหยียบเบรก แต่ถ้าผู้ขับขี่ยังไม่เหยียบเบรก เมื่อมีสัญญาณเตือน ระบบจะช่วยเบรกเองทันที
– ระบบช่วยเหลือขณะเข้าจอด Parking Support Alert พร้อมระบบเตือนเมื่อมีพาหนะหรือคนสัญจรตัดท้ายรถ Rear Cross Traffic Alert Systems (RCTA)

บางอุปกรณ์ที่ร่ายมาข้างบนนี้ จะมีเฉพาะรุ่น F-Sport AWD เท่านั้น โปรดศึกษารายละเอียดจากใน Catalog หรือ ในเว็บไซต์ของ Lexus กันอีกที เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ระบบ Passive Safety จะเข้ามารับช่วงต่อทันที ประกอบด้วย ถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบ Dual Stage SRS (เฉพาะฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย เป็นแบบ Twin Chamber) ถุงลมนิรภัยด้านข้าง SRS Side Airbags ม่านลมนิรภัยบนราวหลังคา Dual Curtain Shield SRS และถุงลมหัวเข่า Knee SRS Airbags สำหรับทั้งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า รวมแล้ว มีถุงลมนิรภัย มากถึง 8 ใบ!

นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยมาตรฐาน ติดตั้งมาให้เสร็จสรรพ ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 5 ตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load limiter และสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ที่ฐานเบาะรองนั่งด้านหลังทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมทั้งพนักศีร๋ะแบบป้องกันการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอ WIL (Whiplash Injury Lessening)

ด้านโครงสร้างตัวถัง UX เป็นรถยนต์ Lexus รุ่นแรกที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง TNGA-C (Toyota New Global Architecture – Compact) ซึ่งเป็น Platform ที่ถูกนำไปใช้กับ Toyota C-HR รวมทั้ง Toyota All New Corolla Altis ใหม่ จุดเด่นของ Platform นี้คือ มีน้ำหนักเบา แต่โครงสร้างแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่นที่ดีมาก อีกทั้งมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยให้เกิดความแม่นยำในการควบคุมบังคับรถโดยเฉพาะตอนเลี้ยวลัดเลาะเข้าโค้งรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม Platform TNGA-C ที่ใช้กับ Lexus UX มีความแตกต่างจาก Toyota C-HR ในหลายๆจุด อาทิ

– การที่ UX ใช้เครื่องยนต์ที่แรงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างตัวถัง และพื้นตัวถังเพิ่มขึ้น
– ใช้เทคโนโลยีการเชื่อมชิ้นส่วนตัวถังและพื้นตัวถัง Laser Screw Welding ซึ่งถูกสงวนไว้ให้กับ Lexus เท่านั้น
– การใช้กาวช่วยเชื่อมตัวถังในปริมาณต่อคันรถ ยาวกว่า C-HR
– ชิ้นส่วนพื้นตัวถังด้านหลัง ถัดจากอุโมงค์ซุ้มล้อไป ดัดแปลงจากพื้นตัวถัง TNGA-K สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดกลาง อย่าง Toyota Camry ใหม่
– ชิ้นส่วนตัวถังหลายจุด โดยเฉพาะบานประตู ฝากระโปรงหน้า แก้มตัวถังเหนือซุ้มล้อ และโครงสร้างของฝาท้าย ทำจาก Aluminium ขณะที่ โครงสร้างเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และเสาคู่กลาง B-Pillar กับโครงสร้างพื้นตัวถังและห้องเครื่องยนต์ ส่วนที่ต้องรับและกระจายแรงปะทะจากการชน ทำจากเหล็ก High-Tensile Steel
– แผงฝาท้าย ทำจากวัสดุ TSOP Resin Composite
– การปรับปรุงอีกหลายจุดที่ทำให้ UX มีจุดศูนย์ถ่วง (CG : Center of Gravity) มาอยู่ที่ 594 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่า C-HR ถึง 10 มิลลิเมตร

การปรับปรุงพื้นตัวถัง TNGA-C ให้มีมุคลิกที่ Unique กว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ ในตระกูล Toyota และ Lexus ช่วยให้ UX ใหม่ มีโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง แต่รองรับและกระจายแรงกระแทกจากการชนได้ดี จนสามารถทดสอบผ่านมาตรฐานการชนของ EuroNCAP และ ANCAP ในระดับ 5 Stars

UX ทำคะแนน ด้านการปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า จากการทดสอบ ทั้งการชนแบบเต็มหน้า ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง และการชนแบบ Offset Crash ไม่เต็มพื้นที่ด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมทั้งการชนจากด้านข้างที่ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ถึง 96% การปกป้องผู้โดยสารเด็กบนเบาะนิรภัย 85% การปกป้องคนเดินถนน 82% และคะแนนการทำงานของระบบตัวช่วยต่างๆ 77%

รายละเอียดเพิ่มเติม Click เข้าไปอ่านต่อได้ที่ https://www.euroncap.com/en/results/lexus/ux/35875

ไม่เพียงเท่านั้น Lexus UX ยังผ่านมาตรฐานการทดสอบของ Insurance Institute for Highway Safety (IIHS) ของสหรัฐอเมริกา ทั้ง 6 รูปแบบการจำลองอุบัติเหตุ ได้อย่างยอดเยี่ยม ในระดับ TOP SAFETY PICK

รายละเอียดเพิ่มเติม Click เข้าไปอ่านต่อได้ที่ https://www.iihs.org/news/detail/new-lexus-suv-earns-top-safety-pick-award

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

นอกจากอัตราเร่งแล้ว สิ่งที่หลายคนยังอยากรู้เพิ่มเติมก็คือ เครื่องยนต์เบนซิน Hybrid 2.0 ลิตร รุ่นใหม่นี้ จะให้ความประหยัดน้ำมันได้ดีแค่ไหน และความแตกต่างกันระหว่าง รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า พร้อมล้ออัลลอย 17 นิ้ว กับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ ล้ออัลลอย 18 นิ้ว บนพื้นฐานโครงสร้างตัวถังเดียวกัน จะมีความแตกต่างด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากน้อยเพียงใด

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา UX250h ทั้ง 2 คันนี้ ไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนนพหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางดึก คืนวันที่มีฝนตกโปรยปรายลงมา

คราวนี้ เพื่อความประหยัดเวลา เราจึงทำการจับเวลาร่วมกันทีเดียว 2 คันไปเลย โดย รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า Grand Luxury ล้อ 17 นิ้ว จะเป็น น้องเติ้ง Kantapong Somchana จาก The Coup Team ของเว็บไซต์เรา น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม เป็นผู้ขับขี่ กับ คุณ Pluem Niyomyart คุณผู้อ่านของเรา น้ำหนัก 75 กิโลกรัม เป็นสักขีพยาน ส่วนรุ่น AWD F-Sport ล้อ 18 นิ้ว ผู้ร่วมทดลองยังคงเป็น ผู้เขียน น้ำหนัก 105 กิโลกรัม และ น้อง Joke V10ThLnD จาก The Coup Team ของเรา น้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม เป็นสักขีพยาน ตามเคย

เนื่องจาก UX250h อยู่ในกลุ่ม รถยนต์ Premium Compact Hatchback Crossover SUV ซึ่งไม่ได้เข้าพวกกันกับ รถยนต์นั่งกลุ่ม 1.2 จนถึง 2.0 ลิตร ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท รวมทั้งรถกระบะ เราจึงตัดสินใจที่จะไม่เขย่ารถ และเติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว เหมือนเช่นรถยนต์รุ่นอื่นๆ

เมื่อเติมน้ำมันให้รถทดลองขับ ทั้ง 2 คันเสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ (อันที่จริงต้องบอกว่า กดปุ่ม Power On มากกว่า สำหรับรถยนต์ Hybrid) เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 บนปุ่ม Odo Meter และ Trip Meter ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา จากนั้น กดปุ่ม Ok บนพวงมาลัยฝั่งซ้าย Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ใหม่ ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิดระบบ Redar Cruise Control มาตลอดทาง พอขึ้นเนินทางชัน สมองกลจะสั่งเร่งรอบเครื่องยนต์ขึ้นมา เพื่อให้ตัวรถมีเรี่ยวแรงขึ้นเนินไว้ด้วยความเร็วระดับเดิมที่เราตั้งไว้

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขที่ออกมา เริ่มจากรุ่น FWD Grand Luxury ล้อ 17 นิ้ว กันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 91.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.60 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.28 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนรุ่น AWD F-Sport ล้อ 18 นิ้ว นั้น…

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.03 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.37 กิโลเมตร/ลิตร

ความแตกต่างที่เกิดขึ้น 0.91 กิโลเมตร/ลิตร นั้น หลักๆแล้ว มาจากน้ำหนักตัวรถ อุปกรณ์ต่างๆ กับมอเตอร์สำหรับล้อคู่หลัง รวมทั้งขนาดและน้ำหนักของล้อและยาง ในรุ่น AWD ที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ตัวรถสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบ Hybrid คุณอาจคาดหวังตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองไปอยู่แถวๆ 18-19 กิโลเมตร/ลิตร กระนั้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า UX ไม่ได้เป็นรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เน้นความประหยัดน้ำมัน มากเท่ากับ Toyota Prius การนำระบบ Hybrid มาใช้ จึงเป็นความพยายามในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงมา และช่วยเพิ่มอัตราเร่งตอนออกตัว เป็นหลัก โดยได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มาเป็นของแถมมากกว่า ดังนั้น ถ้าจะคาดหวังความประหยัดในระดับเทียบเท่ารถยนต์ Hybrid อย่าง Prius หรือ Camry Hybrid อาจเป็นไปได้ยากหน่อย

ถ้าถามว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน จากการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน พบว่า หากขับี่ในเมืองเป็นหลัก จะแล่นได้ประมาณ 400 – 430 กิโลเมตร ถ้าวิ่งทางไกลยาวๆ และไม่ได้ขับซิ่งมานัก คุณมี 500 – 520 กิโลเมตร มาให้เห็นแน่ๆ แต่ ถ้าคุณเป็นพวกตีนผี เหยียบคันเร่งถี่กว่าแป้นเบรก ตัวเลขก็จะหล่นวูบลงมา เหลือแค่ราวๆ 350 – 400 กิโลเมตร เท่านั้น

********** สรุป **********
Japaneses Premium Compact Crossover เอาใจผู้หญิง
สปอร์ตแต่ไม่ดิบ นุ่มกระชับ สบายกำลังดี แต่ราคายังเป็นอุปสรรค

ตลอดระยะเวลากว่า 130 ปีที่ผ่านมา นั้น ผู้หญิง มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์โลก มากกว่าที่หลายคนคิด นับตั้งแต่ Bertha Benz ภรรยาของ Carl Benz (1849 – 1944) ภรรยาของ Carl Benz ผู้สร้างรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปคันแรกของโลก ขับรถยนต์ของสามี ออกเดินทางโดยใช้เวลา 12 ชั่วโมง ไปยังบ้านของพ่อแม่เธอใน Pforzheim รวมระยะทาง 106 กิโลเมตร และถือเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ที่ยาวไกลที่สุดครั้งแรกของโลก หรือ Charlotte Bridgwood ผู้คิดค้นใบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ ในปี 1917 ซึ่งถือว่า ล้ำยุคสมัยกว่ากาลเวลาในตอนนั้น หรือ ทีมออกแบบของ GM ในยุคทศวรรษ 1950 ก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในงานออกแบบ

ไปจนถึง ทีมพัฒนารถยนต์ต้นแบบ Volvo YCC ในปี 2004 ที่เป็นผู้หญิงล้วนทั้งทีม รวมทั้ง Michelle Christensen นักออกแบบหญิงคนแรก ที่พัฒนา รถยนต์ Super Car อย่าง Honda / Acura NSX รุ่นล่าสุด หรือ Juliane Blasi นักออกแบบผู้ฝากผลงานไว้กับ BMW Z4 รุ่นที่แล้ว (E89) และล่าสุด อย่าง Marry Barra ผู้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO ของ General Motors คนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้หญิง เมื่อปี 2014

สำหรับ บริษัทยักษ์ใหญ่ฝั่งญี่ปุ่น อย่าง Toyota แล้ว การที่ Chika Kako ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารของ Lexus Division และเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท เป็นเรื่องไม่ธรรมดา และถ้าเอาแนวความคิดผู้ชายเป็นใหญ่ ในสังคมคนญี่ปุ่นออกไป เราต้องยอมรับว่าผลงานชิ้นแรกของเธอ และทีมงาน ก็ไม่เลวนัก

UX ถูกสร้างขึ้นมาบน Platform TNGA-C โดยเน้นกลุ่มลูกค้า ชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เป็นผู้หญิง อายุ 30 ปี ขึ้นไป ถึงกว่า 50% เลยทีเดียว กระนั้น บุคลิกของตัวรถ ก็ออกมากลางๆ ไม่ได้กระเดียดไปทางผู้หญิงในแบบเดิมๆมากมายอย่างที่เราคิด ตรงกันข้าม สมรรถนะการขับขี่ ในองค์รวม คือสิ่งที่กลายเป็นจุดขายสำคัญ ที่จะเอาใจ ลูกค้าซึ่งคาดหวัง ความมั่นใจในการบังคับควบคุม ช่วงล่างกระชับ กำลังดี นุ่มนิดๆ ติดปลายนวม มีอัตราเร่งแรงสมตัว ประหยัดน้ำมันได้อยู่ พร้อมมาตรฐานการประกอบที่เนี๊ยบ สมกับแบรนด์ Lexus  พูดง่ายๆคือ บุคลิกการขับขี่ ของ UX ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว มากกว่า BMW X2 และ Mercedes-Benz GLA เสียอีกและทั้งหมดนั้นคือ ข้อดีในภาพรวมของ UX

ส่วนเรื่องที่ควรปรับปรุง ถ้าไม่นับเรื่อง Design ภายนอกที่ อาจจะไม่โดนใจผมเท่าไหร่ และเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละปัจเจกชน ก็คงจะเป็นประเด็นเรื่อง พื้นที่การโดยสารด้านหลัง ที่แม้จะปรับปรุงขึ้นมาจาก CT200h แล้ว แต่ผมมองว่า ยังคับแคบไปหน่อยอยู่ดี ถ้าสามารถเพิ่มพื้นที่ Legroom กับ Headroom ให้ผู้โดยสารด้านหลังมากขึ้นกว่านี้อีกนิด หรือไม่ก็ทำเบาะคู่หน้า ให้บางลง แต่คงความสบายพอๆกับเบาะเดิม มันจะเป็นรถที่ลงตัวกว่านี้

ไม่เพียงเท่านั้น แม้ว่า อัตราเร่ง จะเพียงพอต่อการใช้งานของคนทั่วไป แต่สำหรับรุ่น F-Sport ผมคาดหวังจะเห็นเครื่องยนต์ที่มีพละกำลังเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ อย่าง 8AR-FTS เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbo มาวางลงในตัวถังของ UX ซึ่งน่าจะเพิ่มความจี๊ดจ๊าดให้สมกับบุคลิกของตัวรถได้มากขึ้นกว่านี้อีก

ทว่า ผู้บริหารของ Lexus ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขายังไม่ได้คิดเรื่องที่จะทำ UX High-Performance Version เพราะพวกเขามัวแต่ คิดจะทำ UX-EV เวอร์ชันพลังไฟฟ้า ซึ่งจะกลายเป็น Lexus รุ่นแระในประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งกว่าจะเปิดตัว ก็ต้องรอปีหน้า 2020 และจะยังไม่มาถึงเมืองไทยในทันที ต้องปล่อยให้ขายกันในญี่ปุ่น จีน และยุโรปกันไปสักปีนึงก่อนตามเคย

นอกจากนี้ ผมยังอยากเห็น การปรับปรุงระบบเบรก ในช่วงความเร็วต่ำจนเกือบใกล้หยุดรถ ที่มีอาการ “จึก” ตามที่ได้เขียนไว้ข้างต้น รวมทั้งวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร ของรุ่น Luxury กับ Grand Luxury ที่ผมมองว่า สมราคา (เมืองนอก) แต่ไม่สมราคา (ในประเทศไทย) เท่าที่ควร

*** คู่แข่งในตลาด ***

Lexus UX ไม่อาจถูกเรียกได้ว่าเป็น SUV แท้ๆ เพราะด้วยรูปลักษณ์ของตัวรถแล้ว มันควรถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Premium Compact Crossover ยกสูง ซึ่ง พัฒนามาจาก การนำรถยนต์ Hatchback มายกสูง ซึ่งเป็นความนิยมที่เริ่มต้นจากประเทศในแถบ Latin America ก่อนที่กระแสจะเริ่มลามมาถึงฝั่งยุโรป โดยเริ่มจากรถยนต์ระดับบ้านๆ เช่นพวก Volkswagen Golf Cross เป็นต้น พอผู้ผลิตรถยนต์กลุ่ม Premium เริ่มเห็นว่า ยอดขายรถยนต์ Hatchback ท้ายตัด ปกติ เริ่มลดลง เพราะลูกค้าจำนวนมาก เริ่มหันไปอุดหนุน SUV รวมทั้ง บรรดา รถท้ายตัดยกสูง เหล่านี้มากขึ้น ก็เลยเริ่มคิดที่จะพัฒนารถยนต์แบบนี้ ออกมาขายกับเขาบ้าง

Toyota / Lexus ค่อนข้างตอบสนองต่อตลาด ช้าไปหน่อย เพราะในวันที่ Lexus UX เปิดตัว ตลาดกลุ่มนี้ ก็มีคู่แข่งสำคัญๆ จอดรอ “รับน้อง” กันในโชว์รูม เรียบร้อยหมดแล้ว กระนั้น แต่ละรุ่น จากแต่ละค่าย ก็ยังมีจุดเด่นจุดด้อย ที่ UX ยังพอหาทางป้องกันตัว และใช้เป็นข้อได้เปรียบ เพื่อเรียกลูกค้ามาอุดหนุนตนได้หลายข้ออยู่

Audi Q2

เข้าเมืองไทย มาตั้งแต่ Audi กลับมาทำตลาดใหม่ภายใต้ชื่อ Audi Thailand (กลุ่ม Meischter Technic) แต่ปริมาณรถที่แล่นอยู่บนถนนตอนนี้ ก็มีเพียงแค่ประปราย เข้าใจดีว่า ทีมออกแบบเขาคงต้องการจะสร้างตัวรถให้มีบุคลิก เป็น “ตัวลุยเล็กๆ” สำหรับคนเมือง แต่พอรถคันจริงออกมา เส้นสายเหลี่ยมสัน ค่อนข้างจะดูเชยไปนิด เมื่อเทียบกับบรรดาเพื่อนพ้องร่วมตระกูล 4 ห่วงด้วยกันทุกคัน ยิ่งเปิดประตูเข้าไปเห็น การตกแต่งภายใน ซึ่งเต็มไปด้วยพลาสติกกัดลาย และ Option ที่ให้มาแบบ “Basic” มากๆ ยิ่งทำให้หลายคน รู้สึกว่าตัวรถดู Look cheap ไปกว่าป้ายราคาที่ตั้งไว้

คุณงามความดีที่ Q2 ยังพอมีอยู่คือการใช้เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.4 ลิตร TFSI 150 แรงม้า (PS) บล็อกเดียวกับ A1 ซึ่งหลายคนยอมรับในอัตราเร่งที่สมตัว และความประหยัดน้ำมัน และการเซ็ตช่วงล่างในสไตล์ Audi ที่หลายคนชื่นชอบ รวมทั้งความใส่ใจ ในการปรับปรุงภาพลักษณ์ ผ่านงานบริการหลังการขายที่จริงจังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งน่าจะช่วยให้ตัดสินใจเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับลูกค้าชาวไทยแล้ว ต่อให้ตั้งราคาถูกขนาดไหน ถ้าตัวรถ ดูสวยสู้คู่แข่งไม่ได้ ก็คงต้องเลิกคุยกัน

BMW X2

มันก็คือ BMW X1 คันเดิมที่คุณๆคุ้นเคยนั่นแหละ แต่แค่เปลี่ยนเปลือกตัวถังใหม่ ให้ดูสปอร์ต โฉบเฉี่ยว แต่โค้งมนกว่า ปรับความสูงหลังคาให้เตี้ยลง ทำให้เข้า – ออกลำบากขึ้น ความสูงห้องเก็บของก็เลยต้องลดลงตามไปด้วย และปรับปรุงช่วงล่างให้แข็งกว่า X1 จนสัมผัสได้ แต่ Option ที่ติดตั้งมาให้กับ X2 เวอร์ชันไทย ค่อนข้างดู “โล้น” ไปหน่อย ในความคิดของลูกค้า แถมค่าตัวยังแพงชนิดที่โดนด่าพอๆกับ UX ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ลูกค้าซึ่งเคยรอซื้อ ก่อนเปิดตัว ต่างพากันหายหัวไปเกือบหมด หนีไปเอา GLA แทน

อันที่จริง อนาคตของ X2 น่าจะดีกว่านี้ ถ้า BMW Thailand สามารถหาทางเอามาประกอบขายในเมืองไทย แข่งกับ GLA ของ มิตรร่วมชาติแห่งเมือง Stuttgart ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวรถมี Option เยอะกว่านี้ ในราคาที่ถูกกว่านี้ น่าเสียดายว่า บริษัทแม่ใน Munich ไม่เล่นด้วย สงสัยคงกลัวจะไปแย่งลูกค้าจาก X1 มากไปกระมัง เราจึงคงต้องทนเห็น X2 มียอดขายกระปริบกระปรอยอย่างนี้กันต่อไป

Mercedes-Benz GLA

ดูเหมือนว่า GLA จะเป็น Default Choice หรือไม่ก็เป็นตัวเลือกแรกสุด สำหรับใครก็ตามที่คิดจะซื้อรถยนต์ในกลุ่มนี้ แน่นอนว่า จุดขายสำคัญที่โดนใจคนไทย มีอยู่ 3 จุด นั่นคือ 1. รูปทรงดูเหมือนจะยกสูงกว่า A-Class แม้จะไม่มากนักก็เถอะ แต่เอาไว้พอลุยน้ำท่วมระดับตาตุ่มแถวหน้าปากซอยก็พอไหว 2. สัญลักษณ์ตราดาวบนกระจังหน้า ที่ชาวไทยจำนวนไม่น้อย ต่างพากันเทิดทูนบูชา เสียยิ่งกว่าบรรดาเกจิอาจารย์ แห่งวัดสิ้นศรัทธาธรรม เสียอีก 3. เป็นรถยนต์ตราดาว ที่มีราคาถูกสุด ในตลาด ง่ายต่อการที่หลายคนจะปีนป่ายจาก D-Segment Sedan ฝั่งญี่ปุ่น อย่าง Toyota Camry , Honda Accord , Nissan Teana ขึ้นมาอุดหนุนเบนซ์ สักคัน เหมาะแก่การเอาไว้ขับไปสร้างกระแสและสร้างภาพกับบรรดา เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึง เพื่อนสมาชิกดาวน์ไลน์ขายตรง ล่าสุด เพิ่งออกรุ่น GLA 200 Final Edition ประกอบไทย ในราคา 1.99 ล้านบาท มาทำให้ความคุ้มค่าน่าซื้อของคู่แข่งทุกราย รวมถึง Lexus UX ยิ่งน้อยลงไปอีก

สารภาพตามตรงว่า นอกเหนือจาก 3 ข้อนี้ ผมก็หาเหตุผลที่จะซื้อ GLA ไม่ได้เลยจริงๆ แม้ว่า ช่วงล่าง และพวงมาลัย จะทำออกมาได้ดีที่สุดในบรรดา แก๊งรถขับล้อหน้า ยุคใหม่ ร่วมแพล็ตฟอร์มเดิมกับ A-Class , B-Class และ CLA-Class (ไม่นับ “A 45 AMG” “CLA 45 AMG” และ “GLA 45 AMG” ที่ถือว่าเทพสุด เรานับแต่เฉพาะรุ่นบ้านๆด้วยกันสิ) แต่นอกนั้น ถ้าให้นั่งจาระไนข้อที่ควรปรับปรุง ผมว่า ง่ายกว่าเยอะ ตั้งแต่เครื่องยนต์ ที่พอขับไปวัดไปวาได้ แต่เกียร์ก็มีปัญหา คันเร่งตอบสนองช้าในโหมด Comfort เรี่ยวแรงก็แค่งั้นๆ เบาะคู่หน้าก็ดันกบาลชิบหายวายป่วง แถมยังใหญ่โตกินพื้นพื้นที่ห้องโดยสาร จนนั่งแล้วอึดอัด ไม่สบายเอาเสียเลย แถมกระจกหน้าต่างรอบคัน ยังตีบเตี้ย แบนแคบ จนทึบไปหมด เอาเป็นว่า การวางตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับหลักสรีรศาสตร์ (Ergonomics Design) เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้บรรยากาศการโดยสารใน GLA ไม่น่าอภิรมณ์เอาเสียเลย นี่ยังไม่นับกับศูนย์บริการของ Mercedes-Benz ที่พักหลังมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาให้น่าเป็นห่วงเยอะกว่าในอดีตที่ผ่านมาพอสมควร ศูนย์บริการที่ดีๆ คิวก็ยาวเป็นหางว่าว ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าค่ายใบพัดสีฟ้าเขาเลยด้วยซ้ำ

เอาเถอะ บ่นเรื่อง GLA รุ่นปัจจุบันไป ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายของเขาลดลงไปหรอก ยิ่งรุ่นใหม่ ใกล้จะเปิดตัวในบ้านเรา ช่วงปี 2020 ด้วยแล้ว ก็เชื่อเถอะว่า ยังไงๆ GLA ใหม่ ก็จะยังคงได้รับความนิยมในบ้านเราต่อไป ตราบใดที่มันยังแปะสัญลักษณ์ตราดาว ที่ง่ายต่อการถอดออกไปเป็นชามข้าวเที่ยงทรงกลม 3 ช่อง สำหรับลูกน้อยของคุณได้

Volvo XC40…?

Swedish SUV ซึ่งคว้ารางวัลมาแล้วรอบโลก ถึงขั้นเป็นรุ่นสวีเดนคันที่ 2 ซึ่งคว้ารางวัลรถแห่งปีของญี่ปุ่น ไปหน้าตาเฉยซะงั้น! อันที่จริง Volvo XC40 นั้น ไม่ควรถูกนับเป็นคู่แข่งในกลุ่มนี้เลย เพราะ ด้วยรูปลักษณ์แล้ว ต้องถือว่าเป็น Premium Compact “REAL” SUV จึงจะถูก แต่ด้วยราคา รุ่นท็อป 2,490,000 บาท อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกผู้บริโภคชาวไทย นำมาเปรียบเทียบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่า ตัวรถนั้น มีข้อได้เปรียบกว่า ทั้ง Q2 , X2 , GLA และรวมทั้ง UX ในด้าน พื้นที่ห้องโดยสาร อยู่แล้ว ตามลักษณะทางกายภาพของตัวรถ อย่างไม่ต้องสงสัย แถมการขับขี่ก็ยังทำได้ดีมาก ทั้งการเซ็ตช่วงล่าง เบรก และพวงมาลัย (ที่คมกำลังดี แต่ดันเบาไปหน่อย) พละกำลังเครื่องยนต์ ที่พอฟัดเหวี่ยงชาวบ้านเขาได้ แม้หลายคนคาดหวังให้แรงกว่านี้ก็ตาม อย่างว่าครับ น้ำหนักเหล็กกล้าสวีเดน และสารพัดอุปกรณ์ความปลอดภัยท่วมคันรถ ก็มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จนเครื่องยนต์ต้องออกแรงฉุดลากเยอะ ความประหยัดน้ำมันก็เลยหดหายตามไปด้วย

สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปก็คือ ล่าสุด Volvo จัดให้มีรายการ “ผู้บริหารพบประชาชน” นั่งพูดคุยกับลูกค้า ที่อยากจะเสนอหรือร้องเรียนสารพัดเรื่องที่พวกเขาเคยเจอมา เพื่อที่ผู้บริหารจะเอากลับไปพิจารณาแก้ไขต่อไป นี่คือแนวโน้มที่ดี ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะเห็นบริษัทรถยนต์กล้าทำแบบนี้ คงต้องดูกันต่อไปว่า จุดด้อยสำคัญๆของ Volvo โดยเฉพาะเรื่องราคาอะไหล่ บริการหลังการขาย และราคาขายต่อ จะถูกปรับปรุงจนดีขึ้นได้จริงเสียที หรือไม่

*** ถ้ายืนยันว่ายังอยากได้ UX250h ควรเลือกรุ่นย่อยไหน? ***

Toyota Motor (Thailand) สั่งนำเข้า Lexus UX250h มาขายรวม 3 รุ่นย่อย โดยตั้งราคาดังนี้

ราคาอย่างเป็นทางการ (นำเข้า CBU)

  • UX 250h Luxury  2,490,000 บาท
  • UX 250h Grand Luxury  2,690,000 บาท
  • UX 250h F Sport AWD  3,620,000 บาท

รายละเอียดของอุปกรณ์ต่างๆ น้องหมู Moo Cnoe สรุปเอาไว้ให้แล้ว ในลิงค์นี้ Click Here

รุ่นเริ่มต้นของ UX นั้น Lexus เขาไม่ได้เน้นยอดขายมากเท่าไหร่ เพราะรุ่นที่พวกเขาตั้งใจ อยากเห็นลูกค้าอุดหนุนกันมากที่สุด ก็คือรุ่น  Grand Luxury ซึ่งเน้นติดตั้งอุปกรณ์มาให้เพียงพอต่อการใช้งาน และให้ความนุ่มสบายในการขับขี่ เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ต่อให้เป็นเช่นนั้น ก็ยังถือว่า ค่าตัวแพงกว่าคู่แข่งหลัก อย่าง Mercedes-Benz GLA (2,175,000 – 2, 410,000 บาท) หรือ Audi Q2 (2,249,000 บาท) อยู่ดี

ส่วนรุ่น F-Sport AWD นั้น หลายคนเจอราคา เข้าไป ก็ร้องลั่น “โอ้โห! มันช่างแพงโหดร้ายเหลือเกิน!!” เหตุผลก็อย่างที่ได้บอกไปในช่วงต้นบทความ (“นั่นแหนะ Scroll ข้ามพรวดเดียวลงมาอ่านช่วงสรุปกันเลยใช่มะ! ย้อนกลับขึ้นไปอ่านซะดีๆ เดี๋ยวเน้!”) ดังนั้น ทีม Lexus เขาก็มองว่า อยากเอารุ่นท็อปมาวางขาย เพื่อสะท้อนให้ลูกค้าได้เห็นความจริงบางอย่าง ในด้าน ความน่าปวดกบาลในการตั้งราคารถยนต์ขายในประเทศของเรา ก็เลยสั่งรุ่นท็อป มาประดับโชว์รูมไว้ เผื่อว่าจะมีใครสักคน ที่มี เงินถุงเงินถัง เยอะระดับเหลือทิ้งขว้าง อยากจะเขวี้ยงมาให้เซลส์ขาย Lexus ได้เอาไปใช้บ้าง ก็เท่านั้นเอง

บ่ายวันที่ผมกำลังปิดต้นฉบับนี้ Lexus UX คันสีน้ำตาล ในหมู่บ้านผม ได้เปลี่ยนป้ายทะเบียนไปแล้ว แสดงว่า รถคันที่ผมเห็น ยืนยันได้ว่า ไม่ใช่รถทดลองขับ แต่เป็นรถที่ลูกค้า ซึ่งเป็นสุภาพสตรี ท่านหนึ่ง ซื้อมาใช้งานจริงๆ

ถือว่า น่ายินดีสำหรับทีมงาน Lexus Division ใน Toyota Motor Thailand ที่พยายามหารถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาเปิดตลาด และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า และในที่สุด ก็มีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเห็นในคุณค่าของความหรูในรูปแบบที่แตกต่างตามแบบฉบับชาวตะวันออก ยอมจ่ายเงินแพงกว่า เพื่ออุดหนุนรถยนต์ที่พวกเขาชื่นชอบ

แม้จะรู้ว่า อุปสรรคสำคัญ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาสุด Classic สำหรับ Lexus ในบ้านเราตลอดมา คือ ราคาขายที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับ คู่แข่ง และยิ่งพอมองลงไปถึงรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ บางที ราคาขายกับ Option ที่ให้มา มันก็ไม่สมดุลกัน

ผมเข้าใจดีว่า มันเป็นเรื่องเชิงนโยบาย ที่สืบเนื่องและเกี่ยวพันมาจากต่างประเทศ เพราะการสั่งนำเข้ารถยนต์รุ่นใดก็ตาม Toyota บ้านเรา ต้องได้รับการอนุมัติราคา จากทั้ง สำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น และ TMAP (Toyota Motor Asia-Pacific) ที่สิงค์โปร์ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่คำถามที่ชวนให้สงสัยคือ ทำไม Audi ,BMW , Mercedes-Benz สามารถหั่นราคารถของพวกเขาลงได้เป็นว่าเล่น แต่ Toyota กลับทำเช่นนั้นกับ Lexus ไม่ได้? มันไปติดที่ตรงไหนกัน?

ผมค่อนข้างโชคดี ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับ Lexus มาเกือบทุกรุ่น จนรู้ซึ้งถึงคุณค่าที่คนทั่วไปมักมองข้ามกัน มันคือความหรูหราประณีตแบบญี่ปุ่น ผนวกกับมาตรฐานงานวิศวกรรมของ Toyota ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีทั้งในเรื่องความทนทานที่ไว้ใจได้ แต่ก็ยากจะทำใจยอมรับกับราคาขายปลีกที่แพงโดดไปจากชาวบ้านชาวช่องเขาเหลือเกิน

แน่นอนครับ ผมอยากเห็น Lexus กลับมาแจ้งเกิดในเมืองไทย และมียอดขายที่พุ่งปรู๊ด เคียงบ่าเคียงไหล่บรรดา Premium Brand จากยุโรป กันเสียที แต่ ถ้าตราบใดที่ นโยบายของ TMAP สิงค์โปร์ ยังเป็นแบบนี้ Lexus ก็ไม่มีวันได้เกิดในตลาดเมืองไทยหรอก

ผมยังรอวันนั้นอยู่ วันที่ความเปลี่ยนแปลง จะเกิดขึ้นกับ Lexus ในเมืองไทย…

หวังว่า ผมจะยังได้เห็นวันนั้นมาถึง โดยที่ผมยังมีลมหายใจอยู่นะ

———————-///———————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ทีม Lexus Group Department และฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

—————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ “Toyota Motor Corporation.”
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
4 ตุลาคม 2019

Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Except some CG & all Design sketch from “Toyota Motor Corporation.”

Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 4th,2019

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!