(หมายเหตุ : บทความนี้ จะมีความยาวมากกว่าปกติเล็กน้อย ดังนั้น ขออภัยในความอืดอาดเพื่อการโหลดรูป
และ กรุณาคิดเสียว่า กำลังชม รายการโทรทัศน์อยู่ เพราะ ทั้งรูป และเนื้อความ ลำดับซีเควนซ์ของภาพ
มันก็คล้ายๆกับ สคริพท์ รายการโทรทัศน์ นั่นละครับ…

ด้วยความปราถนาดี…
J!MMY ?

—————————————

เคยมีใครคิดบ้างไหม ว่ากว่าที่บริษัทรถยนต์ จะทำรถออกมาขายคนไทยสักรุ่น มันต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง?
กว่าที่ คุณจะได้เห็นหน้าหล่อๆ ของรถสักรุ่น บนโชว์รูม กันได้

หลายๆค่าย ไม่อยากเปิดเผย ปิดเป็นความลับ บางค่ายก็บอกให้รู้พอเป็นกระสัย
เพราะขืนบอกไปจนหมด ความลับก็รั่วไหล คู่แข่งก็รู้แกว กลัวกันไปเรื่อยเปิ่อย
ทั้งที่แต่ละค่ายนั้น ไก่ ก็เห็นตีนงู งูก็เห็นนมไก่อยู่แล้ว

เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชม ศูนย์การผลิตของ จีเอ็ม ที่ระยอง เป็นครั้งที่ 2
หลังจากที่เคยไปเยือนมาเมื่อครั้งเปิดตัว รถกระบะ โคโลราโด C-193 มาแล้ว
ด้วยเหตุที่ จีเอ็ม ภาคภูมิใจ อยากนำเสนอให้เราได้เห็นว่า กว่าที่พวกเขาจะปล่อยรถยนต์เอสยูวีรุ่นใหม่
รหัสโครงการ C-100 ภายใต้ชื่อ เชฟโรเลต แค็พติวา ถึงมือลูกค้า พวกเขา “จริงจัง” กับมันมากขนาดไหน

เราเดินทางกันไปถึง นิคมอุตสาหกรรม อิสท์เทิร์น ซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อันเป็นที่ตั้งของโรงงาน
ซึ่งอยู่ห่างจาก กรุงเทพฯ ไป 117 กิโลเมตร บนพื้นที่ 440 ไร่ พื้นที่ใช้สอยได้ริง 106,000 ตารางเมตร
มีมูลค่าการลงทุนในระยะแรกถึง 24,000 กว่าล้านบาท ถูกวางแผนมาให้ผลิตรถยนต์ได้เกือบอย่างครบวงจร
ทั้งโรงงานขึ้นรูปตัวถังรถยนต์ โรงงานเชื่อมตัวถังรถยนต์ โรงงานสี และโรงงานประกอบรถยนต์ และเพิ่งจะมีการ
ขยายโรงพ่นสีตัวถัง อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่โตอลังการมาก เมื่อปีที่ผ่านมา มีกำลังการผลิต ถึงระดับ 120,000 คัน/ปี

โรงงานแห่งนี้ เริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 / 1996 และ ก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2542 /1999
และได้มีการดำเนินการทำการทดสอบสายการผลิตหลังจากนั้น จึงเริ่มนำ รถยนต์มินิแวน 7 ทื่นั่ง Zafira จาก Opel
มาผลิตที่นี่ เพื่อทำตลาดในเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ Chevrolet และส่งออกสู่ตลาดยุโรปในแบรนด์ Opel Zafira , Vauxhall Zafira สำหรับ อังกฤษ Holden Zafira สำหรับ Australia / New Zealand และส่งไปขายในญี่ปุ่น ด้วยชื่อ ซูบารุ ทราวิค (Subaru Traviq) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 / 2000

จากนั้น จึงเริ่มขึ้นสายการผลิต รถยนต์รุ่นต่างๆ ซึ่งปกติแล้ว มักใช้เวลาในช่วง กลางปี ราวๆ เดือนพฤษภาคม มาสม่ำเสมอ ทั้ง Chevrolet Optra รหัสโครงการ J200 ในปี 2002- 2003 แล้วตามด้วย Chevrolet Colorado รหัสโครงการ C-193 รวมทั้งเวอร์ชันส่งออกของ Isuzu D-Max รหัสโครงการ i-190 ในปี 2005 , Chevrolet Aveo รหัสโครงการ T250 ในปี 2006 และล่าสุด Chevrolet Captiva รหัสโครงการ C-100 ในปี 2007

จากข้อมูลเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานของจีเอ็มฯ ที่ระยอง Chevrolet Captiva C100 ทั้งรุ่นพวงมาลัยขวา และซ้าย ทั้งแบบ 5 ที่นั่ง หรือ 7 ที่นั่ง ถูกทำคลอดออกมา ชั่วโมงละ 7 คัน จาก 1 กะการทำงาน (8 ชั่วโมง) นั่นหมายความว่า ควรจะมี แค็พติวา คลอดออกจากโรงงาน วันละ 56 คัน คละรุ่น คละแบบ และคละสี

เดี๋ยวจะหาว่า ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ จิมมี่มันโม้มั่ว โป้ปด มดเท็จ เพ็จทูล

รูปข้างล่างนี่คือหลักฐานยืนยัน…..มันแปะอยู่ที่บอร์ด แผนกขึ้นรูปตัวถังนั่นละครับ

ที่โรงงานขึ้นรูปชิ้นส่วนตัวถังนี้ จะแยกสายการผลิตของ รถยนต์นั่งและรถกระบะ เอาไว้ เป็น 2 ฝั่งอาคาร อย่างชัดเจน ฝั่งซ้าย เอาไว้ ขึ้นรูปตัวถังรถกระบะ ทั้ง Isuzu D-Max i-190 เพื่อการส่งออก และ Chevrolet Colorado รวมทั้งรุ่น Chevrolet LUV รหัสโครงการร่วม C-193 ส่วนฝั่งขวา เขาจะแยกไว้เพื่อขึ้นรูปตัวถังรถเก๋ง และ SUV ทั้งหมด

แล้วกว่าจะออกขาย ส่งถึงมือลูกค้ากันได้ ขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้าง

แน่นอนละว่า ต้องเริ่มจากการขึ้นรูปตัวถัง จากแผ่นเหล็กจำนวนมาก เชื่อมต่อติดกัน

ที่นี่ ยังคงใช้หุ่นยนต์ในการเชื่อมต่อ ในอัตราส่วน 30 เปอร์เซนต์ ในแต่ละครั้งที่เชื่อมตัวถังกัน ลูกไฟจะกระเด็นแรงมาก และนั่นคือสาเหตุที่ผมจะต้องสวม แว่นตา และปลอกแขน ป้องกัน จนรุงรังเป็นหมีตัวใหญ่ กว่าปกติ ส่วนอีก 70 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ยังต้องพึ่งพาแรงงานคนอยู่ ซึ่ง ลูกไฟที่เกิดขึ้น ก็กระเด็นได้ไกลไม่ต่างกันเลย

…..เมื่อขึ้นรูปเป็นโครงสร้างตัวถังแล้ว…..

…ก็จะส่งต่อไปยังสายการผลิตที่ตั้งอยู่ข้างๆ กัน ด้วยวิธีอย่างนี้เลย…

….เพื่อไปใส่บานประตู….ทั้ง 4 บาน…..

….ซึ่งมีคานเหล็กนิรภัย เสริมไว้ ตามสมัยนิยม….

……จากนั้น ก็เริ่มติดตั้งชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเหล็ก …..

….. ไปจนถึงฝากระโปรงหน้า …..

ในแทบทุกขั้นตอน จีเอ็ม จะมีทีมวิศวกรคอยตรวจสอบ อย่างต่อเนื่องว่า มีอะไรที่ผิดพลาดไปจากที่มันควรจะเป็นหรือไม่

เมื่อตรวจสอบตัวถังเรียบร้อยแล้ว ถ้าจำเป็น อาจมีการปรับแก้ไข และถ้าทุกอย่างผ่านเรียบร้อยด้วยดี ก็จะส่งขึ้นรางยกระดับ ที่แขวนไว้บนตัวอาคาร ส่งเข้าโรงพ่นสีแห่งใหม่….

เมื่อพ่นสีเสร็จกระบวนการทั้งหมด โครงสร้างตัวถังจะถูกส่งไปพักไว้ รอจนกว่าจะถึงคิวงาน ที่กำหนดขึ้นโดยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการควบคุมการผลิต ทั้งโรงงาน ให้ได้ตามระบบ Lean Production หรือ คัมบัง ตามแบบของ “TOYOTA” จึงจะส่งตัวถัง มารอคิว พร้อมทั้งเตรียมประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไปในตัวถัง จนสำเร็จเป็นคันรถจริง

เริ่มจากการถอดแยกประตูทั้ง 4 บานออก เพื่อไปติดตั้งชุดหน้าต่าง แผงประตูด้านข้าง คิ้วยาง ขอบสีดำต่างๆ และสวิชต์ไฟฟ้า บุภายในห้องโดยสาร ด้วยวัสดุซับเสียง ติดตั้งกระจกหน้าต่างบานที่ 3 ของทั้ง 2 ฝั่ง เริ่มเดินสายไฟระบบต่างๆ และตรายี่ห้อ รวมทั้งรุ่นย่อยของรถรุ่นนั้นๆ เอาไว้ ฯลฯ เป็นแต่ละขั้นตอน

จากนั้น จึงติดตั้งแผงหน้าปัดเข้าไป

แผงหน้าปัดของแต่ละรุ่น จะต้องวางลงในแท่นตั้ง สำหรับรุ่นนั้นๆ โดยเฉพาะ

นี่คือด้านหน้าของแผงหน้าปัด พร้อมชุดสายไฟ

ส่วนด้านหลัง จะเป็น ชุดหม้อลมเบรก ที่จะถูกติดตั้งพ่วงไปในคราวเดียวกัน ตามร่องรูโบ๋ขนาดใหญ่ ที่เห็น

…จนสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง…

ขั้นตอนต่อไป ก็คือการติดตั้งกระจกบังลมหน้า

ที่นี่ ยังคงใช้แรงงานคน ผนึกมือจับสูญญากาศ ไปผนึกกับตัวถังด้วยกาว เช่นเดียวกับโรงงาน AAT ของ Ford กับ Mazda แต่ถ้าเป็นโรงงานใหม่ของ Toyota ที่บ้านโพธิ์ ตอนนี้ เขาใช้หุ่นยนต์ติดกระจกบังลมหน้ากันแล้วครับ

…..ตามด้วยการติดตั้งระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต และใส่ช็อกอัพหลัง รอไว้ก่อน…..

ด้วยการยกรถกลับขึ้นไปห้อยโตงเตงไว้อย่างที่เห็นนี้ ติดตั้งชิ้นส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนมาจนถึง การติดตั้งเครื่องยนต์

เครื่องยนต์จะถูกเลื่อนมาจากแท่นด้านข้าง เมื่อเข้ามายังตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว แท่นด้านล่าง จะยกตัวขึ้นไป เสียบเครื่องยนต์เข้าไปให้เข้าล็อก

…..หลังจากนั้น ก็ถึงคิวของชิ้นส่วนสำคัญ…..

….นั่นคือ ชุดเพลาขับเคลื่อนล้อหลัง….ซึ่งติดตั้งมาพร้อมซับเฟรม โครงสร้างระบบกันสะเทือนหลังแบบ 4 จุดยึด ชุดดิสก์เบรกคู่หลัง พร้อมระบบ ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD

เมื่อทุกอย่าง ถูกตรวจสอบแล้วว่า ประกอบมาเรียบร้อย ไม่มีการผิดพลาดใดๆ พนักงานก็จะเตรียมความพร้อมที่จะ “ยัด” มันเข้าไปในใต้ท้องรถ…

ทีนี้ มาถึงอุปกรณ์ประดับตกแต่งรอบคันกันบ้าง ทั้งชุดเปลือกกันชนหน้า-หลัง ชุดเบาะหน้า-หลัง เชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งระบบเข้าด้วยกัน

จากนั้น ติดตั้งชุดพวงมาลัย แล้วจึงค่อยใส่ ถุงลมนิรภัย พร้อมขั้วต่อด้านหลัง

ด้านบน เป็นพวงมาลัยของ Optra
ด้านล่างเป็นของ Captiva

ประกอบชุดไฟหน้า-หลัง ใส่ยางล้อ รวมทั้งยางอะไหล่ เครื่องมือประจำรถ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆตามแต่ละใบงานจะมีกำหนดมาในรถแต่ละคัน แล้วก็เติมน้ำมันให้มีพออยู่ในถังไว้สักหน่อย

ใส่แบ็ตเตอรี และเชื่อมระบบไฟฟ้าของรถจนครบทั้งวงจร

ระบบควบคุมการผลิตของ จีเอ็ม นั้น ก็จะคล้ายกันกับโรงงานประกอบรถยนต์ที่อื่นๆ ซึ่งใช้ระบบ Lean Production อันมีแนวทางมาจากระบบการผลิตของ Toyota คือ ใช้ระบบ Poka-Yoke ช่วย ในกรณีที่ พนักงานคนใดคนหนึ่งในไลน์ พบเห็นความผิดปกติของชิ้นงาน เจ้าตัวสามารถดึงคันโยก สั่งหยุดไลน์”ทั้งระบบ”ได้ทันที เพื่อตรวจสอบและแก้ไขชิ้นงานให้เรียบร้อย

หรือในกรณีที่ต้องการจะไปเข้าห้องน้ำ หรือพักดื่มน้ำ ก็ดึงคันโยก ให้หัวหน้างาน เข้าไปทำงานแทนตนแป๊บนึง แล้วรีบไปทำธุระให้เสร็จ ค่อยกลับมาทำงานต่อ

สัญญาณไฟ ก็จะสว่างขึ้น และจะมีเพลง ที่มีแต่เมโลดี้ เป็นสัญญาณอีเล็กโทรนิกส์ ที่ยังจำติดหูผมตอนนี้ ก็คือ เพลง “ค้างคาวกินกล้วย”

และเมื่อประตู ทั้ง 4 บาน มาประกบกันกับตัวรถอีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็ได้เวลาตรวจสอบขั้นสุดท้าย ซึ่งมีรายการตรวจสอบมากมายหลายร้อยจุด และต้องใช้ดวงไฟที่สว่างเอาการ เพื่อจะได้เห็นทุกข้อบกพร่องได้ชัดเจน

….และเมื่อถึงเวลานี้….

…. Captiva C100 ก็เสร็จสมบูรณ์ ทั้งคัน….

….แต่ ช้าก่อน…มันยังไม่จบ….

…. เพราะเมื่อผ่านพ้นกระบวนการตรวจสอบด้วยสายตาคนแล้ว

ต่อให้สายตา เป็นสัปปะรดขนาดไหน ท้ายที่สุด ผู้ที่จะเช็คความแม่นยำให้ อีกครั้งหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้นระบบคอมพิวเตอร์…..

…..ดังนั้น รถทุกคันจึงจะต้อง เลี้ยวมาขึ้นแท่นตรวจเช็คปรับตั้ง ทั้งระยะความสูงของไฟหน้า ไฟท้าย ระบบไฟในรถทั้งหมด ค่าศูนย์ล้อ มุมองศาของล้อต่างๆ เช่นแคมเบอร์ แคสเตอร์ ฯลฯ ด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เซ็ตค่า มาแล้วสำเร็จรูป…..

(นี่แหละครับ คือสาเหตุหนึ่ง ที่หลายคนบ่นว่า ทำไมรถบางรุ่น พอออกจากศูนย์แล้ว มีอาการเอียงซ้ายทุกคันเลย ก็เขาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบนี้ละครับ เป็นมาตรฐานในการปรับตั้ง)

ซึ่งบางที ไอ้ค่าที่เขาตั้งมาให้ มันอาจจะไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ได้แต่แนะนำว่า ไปหา ร้านปรับตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ให้เขาปรับตั้งค่าที่เรามองว่า จะทำให้รถมันขับได้ตรงๆไปอย่างที่ไม่ต้องเอียงซ้าย ให้รำคาญใจนั่นละครับ

จากนั้น จึงจะส่งไปทดสอบขึ้นแท่นหมุน ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย แล้วค่อยส่งไปเข้า ตู้อาบน้ำ Shower Test หา รู และรอยรั่ว ในลำดับสุดท้าย

แล้วค่อยขับออกไปทดสอบวิ่ง รอบสนาม แล้วจึงจะไปจอดรอไว้ รวมกับเพื่อนๆอีกล็อตใหญ่ รอการส่งมอบ ขึ้นเทรลเลอร์ ไปยังจุดหมายปลายทางของแต่ละคัน บางคัน ส่งขึ้นเทรลเลอร์ ไปท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และบางคัน ก็ส่งมาขึ้นโชว์รูมในเมืองไทยนั่นเอง

นับตั้งแต่เริ่ม อ่านและชมภาพถ่ายมาจนถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านรู้สึกว่า ใช้เวลานานไหมครับ?

ไม่ว่าคำตอบของคุณ จะเป็นคำว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
ผมเพียงอยากจะบอกว่า การเตรียมขึ้นสายการผลิตรถยนต์สักรุ่นหนึ่งในเมืองไทย
มันยาวนานกว่าความรู้สึกของคุณตอนนี้อยู่มาก
เพราะ สถิติที่ผ่านมา กว่าที่บริษัทรถยนต์แต่ละราย จะขึ้นสายการผลิต
ติดต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน ทำต้นแบบ มาทดลองประกอบ ลับไปแก้ไข
ทดสอบความทนทานในสภาพการใช้งานจริง ฯลฯ จนพร้อมจะออกสู่ตลาดได้
ต้องใช้เวลาระหว่าง 12-18 เดือน ….!!

กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนการทำงาน หลายๆคนอดตาหลับขับตานอน เสียสุขภาพไปก็มากมาย
เครียดจนเวียนหัวตาลาย คล้ายจะเป็นลม สูดลมด้วยยาหม่องถ้วยทองก็ยังเอาไม่อยู่…

เอาถ้วยทองแท้ๆทั้งถ้วย ตักน้ำสาดให้คืนสติกลับมาทำงานต่อเลย ผมว่าง่ายกว่า….

มันนานกว่าที่คุณจะรอชมภาพถ่ายของคันจริง ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นอยู่ข้างล่างนี้ มากมายหลายเท่ายิ่งนัก

ทำไม จีเอ็ม ถึงตัดสินใจนำ แค็พติวา เข้ามาผลิตขายในเมืองไทยละ?

ย้อนกลับไปในอดีตกาลไม่นานมานี้ จีเอ็มบุกตลาดบ้านเราครั้งแรก เมื่อ เดือนมกราคม 2000 ด้วยการนำ Compact Minivan 7 ที่นั่ง อย่าง Opel Zafira มาประเดิมผลิตและทำตลาด ในชื่อ Chevrolet Zafira จนได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะในตอนนั้น เรียกได้ว่า ไม่มีคู่แข่งในระดับเดียวกันที่ชัดเจน

เมื่อเวลาผ่านไป Honda ใช้เวลาในการเตรียมนำมินิแวน 7 ที่นั่ง รุ่น Stream นำเข้ามาเปิดตัว แต่เนื่องจากคุณภาพ
การประกอบจาก โรงงานใน Indonesia ยังไม่เรียบร้อยพอ อีกทั้ง Chevrolet ยังใช้วิธีสกัดดาวรุ่ง ด้วยแคมเปญรับน้องใหม่ อันรวมถึงข้อเสนอทางการเงินภายใต้ชื่อ “สเต็ก vs ซูชิ” จาก Chevrolet ในที่สุด สตรีมก็ไม่อาจแจ้งเกิดได้ในตลาดเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Chevrolet จะเอาชนะ Honda ได้ แต่เมื่อพี่เบิ้ม Toyota ตัดสินใจกระโจนสู่ตลาด COmpact Minivan  7 ที่นั่ง ด้วยการซุ่มเจรจากับญี่ปุ่น อย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งบนดินและใต้ดิน ขอนำ Toyota Wish ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Tokyo Motor Show สำหรับรถเพื่อการพาณิช์ ในเดือนตุลาคม 2002 และเริ่มจำหน่ายจริงในญี่ปุ่น เดือนมกราคม 2003  เข้ามาประกอบขายเป็นกรณีพิเศษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003 ทำให้ผู้บริโภคต่างพากันเทกำลังซื้อไปให้ Wish จนเกือบหมด ประจวบเหมาะพอดีกับอายุตลาดของ Zafira เริ่มใกล้หมดสิ้นลง ทำให้ Chevrolet เดินเครื่องทำตลาดส่งออกอย่างเรียบๆ จนกระทั่งยุติการผลิตไปเมื่อเดือนมีนาคม 2005

ตั้งแต่บัดนั้น จนถึงบัด now GM ก็เพียรเฝ้ามองหารถยนต์อเนกประสงค์ เข้ามาทำตลาดในบ้านเราอีกครั้ง เพราะตนเองได้ปล่อยให้ช่องว่างตลาดกลุ่มนี้มีอยู่นานแล้ว

ทว่า ในระหว่างที่ GM กำลังรอให้ทาง GMDAT (จีเอ็มแดวู เกาหลี) พัฒนามินิแวนรุ่นใหม่จนเสร็จสิ้น พร้อมออกสู่ตลาด ในช่วงปี 2008 -2009 จีเอ็มมองเห็นลู่ทางของ SUV เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคในไทยรออยู่พอสมควร และหลังการเฝ้าศึกษาตลาดมาเป็นเวลานาน ทำให้จีเอ็มตัดสินใจ นำ แดวู วินสตรอม (Daewoo Winstorm) เข้ามาขึ้นสายการผลิตในเมืองไทย แปะโลโก้ โบว์ไทของ Chevrolet ทำตลาดภายใต้ชื่อ Chevrolet Captiva นั่นเอง

Captiva เปิดตัวครั้งแรกในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ใช้รหัสโครงการ C100 Project
เป็นผลงานการพัฒนาโดยฝีมือของ GMDAT (GM Daewoo Auto Technology) อันเป็นบริษัทลูกในเครือของ GM
และถือเป็นรถยนต์รุ่นหนึ่งที่สำคัญมากในแผนการนำแบรนด์เชฟโรเลต บุกลาดทั่วโลก โดยใช้ทรัพยากรและผลผลิต
จาก GMDAT เป็นหัวหอกหลัก โดยโรงงานของ GM ที่ระยอง ไม่เพียงแต่จะผลิตเพื่อป้อนตลาดเมืองไทยเท่านั้น
หากแต่ยังจะส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคอีกด้วย

หรือสรุปง่ายๆก็คือ Captiva ก็เป็น “รถเกาหลี ผูกโบว์ (ไท)” เฉกเช่นเดียวกับ Optra และ Aveo นั่นเอง!

เวอร์ชันไทย มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่น จำง่ายๆก็คือ มีทั้งรุ่นเบนซิน ขับล้อหน้า และขับสี่ล้อ กับรุ่น Diesel Turbo ทั้งขับล้อหน้า และขับสี่ล้อ จำแค่นี้เลย ไม่ยาก และรุ่นที่ผมได้ทดลองขับนั้น เป็นรุ่นท็อป ขับสี่ล้อ ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และ Diesel ส่วนขับล้อหน้า ไม่ต้องถามถึง เพราะ ไม่มีให้ยืม และถึงยังไง ตัวเลขสมรรถนะที่ออกมา ดูแล้วไม่น่าจะหนีกันไปมากเท่าใดนัก

ในเมื่อ Carlos PR ของ GM (ในตอนนั้น ก่อนจะย้ายมาอยู่ Hyundai จนถึงปัจจุบัน) ส่งรถทั้ง 2 รุ่น ที่มีสีตัวถังเดียวกันมาให้ แถมในเมื่อทั้งรุ่นเบนซิน และดีเซล นั้น แทบไม่มีความแตกต่าง ในการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน เท่าใดนักเลย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถ่ายรูปมาให้ซ้ำซ้อน เปลืองเนื้อที่บนฮาร์ดดิสก์ผม เพราะแค่เพียงดึงภาพจาก สต็อกช็อตที่เคยถ่ายเก็บไว้อยู่ จากเมื่อครั้งไปเยือนโรงงาน ก็เพียงพอแล้วสำหรับการนำมาพูดคุยกันในนี้

เส้นสายภายนอก เป็นผลงานการออกแบบที่ลงตัวที่สุดคันหนึ่ง เท่าที่เคยได้เห็นมาจาก GMDAT และแทบไม่ต้องไปปรับแก้ไขในรายละเอียดใดๆ ก็ง่ายต่อการจะพบมุมมองที่แปลกตาจากรูปลักษณ์ภายนอก ที่มีความยาว 4,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,720 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,705 มิลลิเมตร

จุดสังเกตที่แตกต่างกัน ระหว่างรุ่นขับล้อหน้า และขับสี่ล้อ หากมองจากภายนอก
ดูง่ายๆ ได้ 2 จุด

คิ้ว เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 จะเป็นสีดำ

และยาง ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/70R16

ส่วนรุ่น ขับสี่ล้อ จะสวมด้วยล้ออัลลอย 17 นิ้ว และยาง 235/60R17

แล้วภายในห้องโดยสารละ?

สำหรับความแตกต่าง ในการตกแต่งห้องโดยสาร ระหว่างรุ่นขับสี่ล้อ ด้วยกันเอง ทั้งเบนซิน และ Diesel Turbo และขับสองล้อด้วยกันเอง ทั้งเบนซินและ Diesel Turbo ไม่มี…ตกแต่งเหมือนกันหมด รวมไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าออกจากประตูทั้ง 4 บาน ที่ยังถือว่าสะดวกและง่ายดาย แค่หันหลังและหย่อนก้นลงไปบนเบาะที่อยู่ในระดับกำลังดี ไม่ต่างจาก ฮอนด้า CR-V เท่าใดนัก ยกเว้นช่วงปีนเข้าและออกจากเบาะแถว 3 ที่ต้องลำบากลำบนไปสักหน่อยก็ตาม

แต่ถ้าเช่นนั้น เชื่อว่าหลายๆคนคงอยากเห็นว่า ถ้ายอมซื้อรุ่นขับล้อหน้าไป คุณจะได้อะไรที่แตกต่างไปจากรุ่นท็อป ขับสี่ล้อของแต่ละขุมพลังกันบ้าง

ข้อแรก ถ้าคุณจะเลือกรุ่นขับสี่ล้อ คุณจะได้เบาะหนัง ซึ่งก็ถือว่า สมราคา ถ้าคุณมองแค่ความคุ้มค่าเป็นหลัก….

แต่สำหรับรุ่นขับล้อหน้า สิ่งแรกที่แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งคือ คุณจะไม่ได้เบาะหนัง และคุณจะพบกับผ้าเบาะสากๆ คุณภาพไม่ต่างจากผ้าเบาะที่ใช้อยู่ใน น้องเล็กรุ่น Aveo จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อผ้าเบาะแบบนี้ กลายเป็นมาตรฐานของรถยนต์ฝั่งยุโรปกันไปเสียแล้ว

ในรุ่นขับสี่ล้อ เบาะคนขับ จะปรับด้วยไฟฟ้า แม้จะไม่มีระบบหน่วยความจำก็ตาม เพราะรถระดับราคาประมาณนี้ จากญี่ปุ่น หรือเกาหลี และที่ไหนๆ ก็ไม่เห็นว่าจะแถมระบบบันทึกความจำตำแหน่งเบาะกับกระจกมองข้างมาให้สักคัน

แต่ถ้าเป็นรุ่นขับล้อหน้า ปรับด้วยก้านโยก และแรงมือเท่านั้นครับ

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ ก็มีสิ่งหนึ่งมาให้เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือ ความไม่สบายตัวเอาเสียเลยของเบาะคู่หน้า ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องทำพนักศีรษะ ให้มันยื่นล้ำเข้ามาขนาดนั้น และต่อให้ปรับระดับสูงต่ำอย่างไร ก็จะมีอาการปวดต้นคอ ตามมาอยู่ดี และนอกจากนี้ เบาะนั่งยังแข็ง ไม่โอบกระชับลำตัวเท่าที่ควร ยิ่งถ้าเป็นรุ่นเบาะผ้า ผมว่ามันเลวร้ายกว่าเบาะหนังเอาเรื่องเลย

ส่วนรุ่น Diesel Turbo นั้น แน่นอนว่า ไม่แตกต่างกันเลย….

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปัญหาของพนักศีรษะ ที่ยื่นล้ำออกมามากเกินไปนั้น ผมเคยพบเจอมาแล้ว กับ Volvo บางรุ่น ซึ่งแม้จะรู้สึกใกล้เคียงกัน แต่มันไม่ได้เลวร้ายมากขนาดนี้

แล้วเบาะหลังละ เป็นอย่างไรบ้าง?

ทางเข้าออก ถือว่ายังสะดวกสบายอยู่

บริเวณด้านหลังคอนโซลกลาง เป็๋นช่องใส่ของพร้อมฝาปิดในตัว

ซึ่งรุ่นดีเซล ก็มีมาให้เหมือนกัน จริงอยู่

แต่เบาะหลังนั้นก็ดูเหมือนจะมีสภาพไม่ต่างกันเท่าไหร่

เพราะพนักพิงศีรษะ นอกจากจะแข็งและถูกออกแบบมาเพื่อเน้นประโยชน์ใช้สอยจากการพับเบาะ เป็นหลัก มากกว่าจะเอาไว้รองรับศีรษะและกระดูกต้นคอ แล้ว พนักพิงหลังยังแข็งนั่งไม่สบายตัว ขณะที่ เบาะรองนั่งนั้น สั้นไปเล็กน้อย และยังมีส่วนผสมของฟองน้ำยืดหยุ่นอยู่ คือมาสไตล์เดียวกับ Chevrolet Aveo เลย

พนักพิงปรับเอนลงไปได้เล็กน้อย 3 จังหวะ มีที่พักแขนตรงกลาง พร้อมช่องเก็บของแบบมีฝาปิดในตัว

ถ้าต้องการจะปีนเข้าไปนั่งในเบาะแถว 3 ให้ดึงคันโยกด้านข้างพนักพิงเบาะ กดลงจนสุดในจังหวะเดียว ที่เหลือ ชุดพนักพิงเบาะจะพับลงมา พร้อมกับชุดเบาะรองนั่งจะดีดยกตัวขึ้นเป็นดังที่เห็นนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการ เข้า-ออก (ซึ่งพอเอาเข้าจริง ก็ต้องปีนเข้า-ออกกันทุลักทุเลเหมือนกันกับรถยนต์เอสยูวี 7 ที่นั่งทั่วๆไป)

ส่วนเบาะแถว 3 นั้น เมื่อลองเข้าไปนั่งดูแล้ว พบว่า เป็นเบาะทีู่ออกแบบมาให้ผู้ใหญ่ สามารถโดยสารเดินทางได้ดีกว่าที่คิด

 

ถึงแม้พื้นที่วางขา ทำได้ดีกว่าที่คาดคิดไว้เล็กน้อย แต่ก็ต้องนั่งชันขาอยู่ดี ยังไม่ถึงกับนั่งสบายนัก แต่ถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับ SUV 7 ที่นั่ง หรือ รถ PPV คันอื่นๆ รุ่นขับล้อหน้า กับเบาะผ้า บริเวณซุ้มล้อคู่หลัง ตีขึ้นมาเป็นที่วางแขนพร้อมที่วางแก้วน้ำ

และ ถ้ามองให้ดีๆ จะเห็นว่า จีเอ็ม ติดตั้งระบบปรับอากาศ สำหรับเบาะแถว 3 มาให้ด้วยเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ถ้าต้องการพับเบาะเพื่อแบกสัมภาระกันเป็นกิจลักษณะ ก็ทำได้ง่ายดาย

แค่พับพนักพิงของเบาะแถวกลางลง…

และพับเบาะแถว 3 ลง จนแบนราบ

ความอเนกประสงค์ของห้องเก็บของด้านหลังนั้น ใกล้เคียงและทำได้ดีกว่า Zafira ซึ่งเป็น Minivan เล็กน้อย

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระ เปิดยกขึ้นได้ ด้วยสวิตช์กลไกไฟฟ้า โดยมีช็อกอัพ 2 ต้น ค้ำยันไว้

นอกจากนี้ ยังมีช่องวางของพร้อมฝาปิด สำหรับใครที่ชอบซื้ออาหารสด
มาปรุง และต้องการจะไม่ให้มีกลิ่นตลบอบอวนในห้องโดยสาร

แต่ต้องวางในช่องเดียวกับ อุปกรณ์ประจำรถนะ…

…แผงหน้าปัดของรุ่น ขับสี่ล้อ จะมีอุปกรณ์มาให้อย่างครบครัน…

แต่ในรุ่นขับล้อหน้า

นอกจาก จอแสดงผลบนคอนโซลกลางจะหายไปแล้ว
ฝาปิดช่องเก็บของด้านบนแผงควบคุมกลางก็จะหายไปด้วย

ระบบสวิชต์ควบคุม เครื่องเสียง และระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ก็หายไป…

ชุดมาตรวัดต่างๆ เรืองแสงด้วยสีเขียว ไม่ได้มีงานออกแบบที่แตกต่างไปจาก คอมแพกต์ซีดานรุ่น ออพตร้า และเอวิโอ เอาเสียเลย
ราวกับจงใจออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ประจำแบรนด์
หารู้ไม่ว่า…มันอาจจะอ่านง่าย ในตอนกลางคืน แต่ แสงและการให้สี

ยังไม่ให้ความรู้สึกว่าทันสมัยเพียงพอ ชวนให้นึกถึงแสงของชุดมาตรวัดจาก
รถดัทสัน…เขียนไม่ผิดครับ ดัทสัน

ก็ลองนึกเอาแล้วกันว่า ย้อนไปได้ไกลถึงยุคไหน…

แผงคอนโซลกลาง ติดตั้งอุปกรณ์มากมายหลายรูปแบบ จนดูพราวไปทั้งแผงในยามค่ำคืน

จอแสดงข้อมูลด้านบนสุด เป็นทั้งหน้าจอของระบบปรับอากาศอัตโนมัติ
ที่ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะเย็นได้ดังใจ ไมไ่ด้เย็นเร็วในทันที

เป็นทั้งเข็มทิศ ที่ต้องมีการปรับตั้งให้ดีๆ ก่อน เพราะในคันทดลอง
รู้สึกว่า ทิศจะเพี้ยนๆ

และเป็นทั้งจอแสดงข้อมูลการขับขี่
กดปุ่ม Mode เพื่อเลือกเปลี่ยนดูข้อมูลด้ ทั้งระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด
ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อได้
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
ความเร็วเฉลี่ย และระยะเวลาในการเดินทางจากจุดเริ่มต้น

ชุดเครื่องเสียง ให้คุณภาพเสียงมาแค่พอรับฟังได้
ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีแต่อย่างใด
การใช้งาน ง่ายกว่าชุดเครื่องเสียงใน เอวิโอ นิดหน่อย

กล่องเก็บของ ที่ลิ้นชักด้านหน้า มีช่องหมุนด้านบน เปิดรับ ให้ไอเย็นจากช่องแอร์
เป่าลงมาเพื่อให้เป็น ช่องแช่เครื่องดื่มได้

แผงประตูห้องเก็บของด้านหลัง แบ่งเปิดได้เป็น 2 ชิ้น
คือ เปิดออกทั้งบาน หรือเปิดยกขึ้นเฉพาะกระจกบังลมหลัง

Escape มีฟังก์ชันนี้ แต่ CR-V ไม่มี…

เบรกมือ ดีไซน์ประหลาด ชวนให้นึกถึงจอยสติก ของเกมส์คอมพิวเตอร์ในยุค
ที่การเดินทางในอวกาศ ยังเป็นของแปลกใหม่…

กล่องคอนโซลกลาง ด้านบน ซึ่งมีฝาปิดพร้อมที่พักแขนในตัว
มีเฉพาะรุ่นขับสี่ล้อ ไม่มีในรุ่น ขับล้อหน้า

แต่เมื่อเปิดออกใช้งานจริง กลับใส่แผ่น CD ได้ไม่เยอะนัก

ทุกรุ่นติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ใบ
แป้นเบรกแบบสลัดตัวหลุดได้ ป้องกันการบาดเจ็บที่ขา
กุญแจรีโมท อิมโมบิไลเซอร์
เข็มขัดนิรภัย แบบ 3 จุด รวมถึง 6 ตำแหน่ง (ยกเว้น ตอนกลางของเบาะแถว 2 ที่ยังเป็นแบบ 2 จุด)
และสำหรับคู่หน้าของรุ่นขับสี่ล้อ เป็นแบบ ลดแรงปะทะ พร้อมดึงกลับอัตโนมัติ

รุ่นขับสี่ล้อ มีเซ็นเซอร์ถอยหลัง 4 ตำแหน่ง และไฟส่องสว่างอัตโนมัติ
Auto Head lamp ฯลฯ

ตั้งข้อสังเกตว่า ชุดก้านไฟเลี้ยว นั้น ทำงานช้าไม่ทันใจ

บางทีต้องการจะเปลี่ยนจากซ้าย ไปขวา ในบัดดัล ยังมีอาการดีเลย์พอสมควร
ซึ่งไม่ค่อยเจอได้ง่ายนักในรถทั่วๆไป

***** รายละเอียดทางวิศวกรม และผลการทดลองขับ *****

ทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ของแค็พติวา
มี 2 ทางเลือกขุมพลัง ด้วยกันทั้งคู่

ทั้งเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,405 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 87.5 x 100 มม.
อัตราส่วนกำลังอัด 9.6 : 1

136 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม.ที่ 2,200 รอบ/นาที

และไม้ตายที่จีเอ็ม ตั้งใจใช้เจาะตลาดเมืองไทย
เครื่องยนต์ ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี
คอมมอนเรล ไดเร็กต์อินเจ็กชัน VCDi เทอร์โบ แปรผัน
ใช้หัวฉีดแรงดันสูง ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิกส์
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 92 มม.
อัตราส่วนกำลังอัด 17.5 : 1

150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที

ทุกรุ่น ทุกขุบพลัง ทุกระบบขับเคลื่อน
ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ลูกเดียวกัน

อัตราทดเกียร์ 1 4.575
อัตราทดเกียร์ 2 2.979
อัตราทดเกียร์ 3 1.947
อัตราทดเกียร์ 4 1.318
อัตราทดเกียร์ 5 1.000
อัตราทดเกียร์ R 5.024
อัตราทดเฟืองท้าย รุ่นเบนซิน 2.606 ดีเซล 2.397

พร้อมโหมด Winter ออกตัวเกียร์ 3 บนพื้นถนนลื่น

เรายังคงทำการทดลองจับอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุด ตามมาตรฐานเดิมครับ
คือ นั่ง 2 คน น้ำหนักคนขับและคนนั่งรวมกันประมาณช่วง 150-160 กิโลกรัม
เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า ทดลองในช่วงกลางคืน อันเป็นช่วงเวลาที่รถโล่งและปลอดภัยที่สุด

และตัวเลขที่ได้ ก็ออกมา เป็นดังนี้…

ผมนั่งมองดูตัวเลขที่เราทำการทดลองกันออกมาได้ ด้วย 2 ความรู้สึก

ตอนแรก ออกจากประหลาดใจ ว่า นี่ จีเอ็มเขาคิดอะไรของเขาอยู่ คู่แข่งที่หมายจะโค่น CR-V
สำหรับรุ่นดีเซลนั้น แม้จะยังด้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล ของค่ายอื่นๆที่ผมเคยเจอมา
แต่รุ่นเบนซินนั้น ทำตัวเลขสมรรถนะออกมาได้แค่นี้เองเหรอ???

แต่พอย้อนมาดูตัวเลขแรงม้า แรงบิด อัตราทดเกียร์ อัตราทดเฟืองท้าย
ไปจนถึง น้ำหนักตัวรถ ที่เครื่องยนต์ทั้งคู่ต้องฉุดลาก ซึ่งก็ปาเข้าไป 1,780-1,980 กิโลกรัม
สำหรับน้ำหนักรถเปล่า แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกและของเหลวต่างๆ เครื่องยนต์ทั้งคู่
ต้องฉุดลากตัวรถที่หนักอึ้งถึง 2,405 – 2,505 กิโลกรัม !!

เครื่องแรงแค่เนี้ย แต่ต้องลากน้ำหนักตั้ง 2.4 ตัน!!

แล้วมันจะวิ่งออกได้ไหวยังไงกันเล่า

ความรู้สึกที่สองก็ตามมา มันคือข้อสรุปว่า “ผมไม่แปลกใจแล้วละ!”

สำหรับรุ่น ดีเซล นั้น กว่าที่แรงบิดจะเริ่มมาอย่างจริงจังก็ต้องรอจนกระทั้งรอบเครื่องยนต์
กวาดขึ้นไปถึง 2,000 รอบ/นาที และหมดเอาเสียดื้อๆ ที่ 4,000 รอบ/นาที
ราวกับเป็นบุคลิกของเครื่องยนต์ดีเซล โบราณ ที่มีความกระฉับกระเฉงขึ้นมาเพียงนิดเดียว
การตอบสนองของคันเร่ง กับเกียร์ และเครื่อง ค่อนข้างหน่วง ไป 1 วินาทีโดยประมาณ

การเร่งแซงในการใช้งานจริง แม้ยังไม่ก่อให้เกิดความตื่นเต้นน่าประทับใจเหมือนเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล
ในรถยี่ห้ออื่นๆ ที่ผมประสบพบเจอมา

แต่นั่นยังเป็นประสบการณ์ที่ยังให้ความรู้สึกดีกว่า สิ่งที่คุณจะได้รับจากเครื่องยนต์เบนซิน ซึ่ง นั่นเป็นยิ่งกว่าหนังสยองขวัญ….

มีอย่างที่ไหน กินน้ำมันก็เท่ากับคู่แข่ง แต่อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ 16.5 วินาที
นี่เท่ากับผมกดคันเร่งจนสุดแล้ว สามารถอ่านข่าวสั้นในหน้าหลังๆของหนังสือพิมพ์ได้จบ 1 ข่าวเลยนะ

ยิ่งช่วงเร่งแซง ยิ่งไม่ได้เรื่องอย่างหนัก! คือสามารถใช้คำว่า “ห่วยแตก” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เร่งไม่ขึ้น เร่งไม่ค่อยไป ให้ความรู้สึกที่แทบไม่ต่างจาก รถแท็กซี่ ติดก๊าซ LPG หรือ CNG ที่จูนก๊าซมาให้บางเข้าไว้
จนเร่งไม่ออก…ฟีลลิ่งเดียวกันไม่มีผิด!!

ในรุ่นดีเซล จะมีระบบพิเศษเพิ่มเข้ามา ทั้งระบบควบคุมการทรงตัวป้องกันล้อหมุนฟรี TCS
(Traction Control) ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP ระบบกระจายแรงเบรกแบบไฮโดรลิก HBA
(Hydrolic break Assist) และมีระบบช่วยลงเนิน ควบคุมความเร็วอัตโนมัติบนทางลาดชัน HDC
(Hill Descent Control) มันจะทำงานด้วยเสียงที่ดังแบบแปลกๆ หน่อยๆ แต่ก็พาให้รถผ่านพ้น
อุปสรรคไปได้ละกันน่า

ช่วงล่างนั้น ออกจะกระด้างกว่า ซีอาร์-วี อยู่พอสมควร แต่สำหรับการขับขี่ในเมือง หรือบนทางเรียบนั้น
ให้ความมั่นใจได้ดี เพียงแต่ ต้องระลึกไว้เสมอว่า รถคันนี้ จุดศูนย์ถ่วงอยู่สูง ดังนั้น ถ้าจะเข้าโค้ง
ก็ยังพอได้ แต่ถ้าคิดจะเล่นอะไรพิเรนทร์ๆ ละก็ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การตอบสนองต่อลูกระนาด
ในความเร็วต่ำ ไปจนถึง การดูดซับแรงสะเทือนจากหลุมบ่อต่างๆ ค่อนข้างแข็ง คือถ้าใช้งานบนทางเรียบหนะ
คนที่ชอบรถซึ่งแข็งนิดนึง ตึงตังนิดๆ น่าจะชอบ แต่ถ้าคนที่รักความนุ่มนิ่มโยนย้วย น่าจะไม่ชอบช่วงล่างแค็พติวาไปเลย

ผมชอบช่วงล่าง

แต่ผมไม่ชอบน้ำหนักของพวงมาลัย

เพราะ น้ำหนักพวงมาลัยของรุ่นเบนซิน นั้น เบาหวิวอย่างน่ากลัวมากๆ!
ผิดกลับรุ่นดีเซล ที่ตอบสนองได้กำลังดี มีระยะฟรีตามสมควร
แต่ความแม่นยำ ยังไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่ใช่น้อย ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ชุดพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน
พร้อมเพาเวอร์ ช่วย ก็เป็นชุดเดียวกัน

น้ำหนักเบรกนั้น ถือว่าทำได้ดี น่าพอใจกว่าที่คิดครับ ยิ่งโดยเฉพาะรุ่นดีเซล ซึ่งตอบสนองได้ตามที่เท้าสั่ง
ว่าต้องการเบรกเพียงแค่ไหน รถก็จะเบรกเพียงแค่นั้น น้ำหนักแป้นเบรกยืดหยุ่นดีครับ

การทรงตัวในย่านความเร็วสูง ถือว่า ทำได้ดีสมราคา
แต่รุ่นเบนซินนั้น ความมั่นใจของพวงมาลัย ที่น้อยมากๆ มาหักคะแนนจุดนี้ออกไปอย่างน่าเสียดาย
รุ่นดีเซล ทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

***** การทดลองหา อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง *****

เราใช้มาตรฐานเดิมในการทดลอง จับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

เรายังคงใช้วิธีการเดิมในการทดลอง

– เติมน้ำมัน ที่หัวจ่ายเดิม หัวจ่ายเดียวกัน

– ใช้เส้นทาง ขึ้นทางด่วน พระราม 6 ไปสุดปลายทางด่วน เส้นเชียงราก ไปเลี้ยวกลับใต้ทางแยกออกไปบางปะอิน แล้วขึ้นทางด่วน วนกลับมาทางเดิม
ลงทางด่วนที่ด่านพระราม 6 แล้วเลี้ยวเข้าปั้ม เติมน้ำมันที่ ตู้เดิมและหัวจ่ายเดิม

– ใช้ความเร็วคงที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิด Cruise Control ซึ่งก็ทำงานไม่ถึงกับนิ่งมากนัก เพราะเมื่อเจอทางชัน เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงไปยังเกียร์ 3
เพื่อลากให้ตัวรถสามารถรักษาความเร็วคงที่ไว้ได้ ก่อนจะตัดกลับเข้าสู่เกียร์ 4 อีกครั้ง

– คนขับ 1 ผู้โดยสาร 1 รวมเป็น 2 คน เปิดแอร์ และขับตามสภาพการใช้งานปกติ ไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รุ่นเบนซิน เรายังใช้บริการปั้มเอสโซ
แต่ รุ่นดีเซล เราย้ายมาใช้บริการปั้มน้ำมันบางจาก ซึ่งอยู่ใกล้กับทางขึ้นทางด่วนมากกว่า
ระยะทางใกล้เคียงกัน ไม่ต่างกันมากอย่างที่คิด

แต่ในครั้งนี้ มีเรื่อง ซึ่งไม่น่าจดจำเท่าไหร่ เกิดขึ้น ….แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรนัก
แต่ก็ทำให้เกิดอาการเซ็งจิตได้เหมอืนกัน

ระหว่างที่เรามุ่งหน้ามาจนใกล้ถึง ทางลงทางด่วนพระราม 6 นั้น มีอัลฟาโรมิโอ 156
สีอะไรผมจำไม่ได้ เพราะขี้เกียจจำ ขี้เกียจจะใส่ใจ แต่จำได้เพียงว่าใช้ล้อสีส้ม
พยายามขับมากวนบาทาผม ตั้งแต่อยู่บนทางด่วน ทั้งที่การจราจรก็ติดขัด
เปิดไฟเลี้ยวซ้ายขอทาง ขอเข้าเลนซ้าย ก็ไม่ยอมและพยายามบังไลน์ แกล้งผมไปจนถึงทางลงพระราม 6
ซึ่งเจ้าตัวก็ลงทางลงที่ว่านี้เช่นกัน

แม้กระทั้ง พอกำลังเข้าโค้งลงจากทางด่วน ด้วยความเร็วปานกลาง ก็ยังขับมาขวางหน้ารถเราไว้
และเบรกแรงๆ ที่แยก เพื่อให้ผมต้องเบรกตาม

เลยต้องบีบแตรด่าไปยาวๆ หนหนึ่ง

พอจะเปิดไฟเลี้ยว เลี้ยวเข้าปั้ม เจ้าอัลฟา โรเมโอ “อันฑะพาล” (เขียนไม่ผิดครับ) ที่นำหน้าเรา ก็เปิดไฟเลี้ยวขวาตาม
เพื่อจะเข้าปั้ม พอสังเกตเจนาได้ว่า น่าจะต้องการหาเรื่องกับผมต่อ แต่เวลาของผม มีค่ามากกว่านั้น
เราอุตส่าห์ทำการทดลองกันมา เติมน้ำมันมาเต็ม ค่าทางด่วนเสียไปแล้ว จะให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
ไม่มีทางแน่ๆ

ผมกับน้องกล้วย ผู้ร่วมทดลองอัตราสิ้นเปลืองกับเราในคืนนั้น
ตัดสินใจว่า จะ “ไม่เอาพิมเสน ไปแลกกับเกลือ” ให้เสียเวลา จึงขับเลยไปข้างหน้า
ก่อนจะไปหาทางวนรถกลับมาเติมน้ำมัน นั่นทำให้ตัวเลขระยะทางแล่นเพิ่มขึ้นไปมากกว่าที่ควรเป็นเล็กน้อย
แถมยังต้องเจอสภาพการจราจรติดขัด อันอาจทำให้ผลที่ออกมา อาจจะเพี้ยนไปบ้าง

ถ้าตัวเลขของรุ่นเบนซิน ทำได้ต่ำ และเพี้ยนมาก คงต้อง โทษที่ อัลฟาโรมิโอ คันนั้น
คันที่ขับได้อย่างไร้ซึ่งสกุลรุนชาติ
ของทั้งตัวรถและคนขับ นั่นเองละครับ

เมื่อมาคำนวนผลกันแล้ว ตัวเลขออกมาดังนี้ครับ

ตัวเลขที่ได้ น่าจะทำให้หลายคนเริ่มฉุกคิดได้ว่า ทำไมเครื่องยนต์เท่ากันกับ CR-V 2.4 ลิตร
กินน้ำมันก็พอๆกัน แต่ตัวเลขสมรรถนะถึงได้ด้อยกว่า…ถ้ายังสงสัย ให้ย้อนกลับขึ้นไปดู
สเป็กตัวเลข และอัตราทดเกียร์ ก็พอจะมองเห็นนะครับ

ดีแต่ว่า ในรุ่นดีเซล นั้น ทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร ขับสบายๆ และไม่ต้องมีอะไรให้กังวล
ตัวเลขที่ทำได้นั้น เมื่อเทียบเล่นๆ กับ โตโยต้าฟอร์จูเนอร์ ทั้งที่ปกติ ก็ไม่ควรนำมาเทียบกัน
เพราะถือเป็นรถคนละกลุ่มตลาดกันแล้ว ก็คงต้องบอกว่า ตัวเลขที่ได้ ถือว่าอยู่ในระดับ”มาตรฐาน”
เพราะ ฟอร์จูเนอร์เอง ตัวเบนซิน 2.7 ลิตร ใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำได้ 9.02 กิโลเมตร/ลิตร
ขณะที่ ดีเซล เกียร์ธรรมดา ทำได้ 10 กิโลเมตร/ลิตร โดยประมาณ

ผมมองว่า จีเอ็ม ยังต้องใช้เวลาในการป้อนเทคโนโลยีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้กับ GMDAT อีกมาก
กว่าที่เขาจะทำเครื่องยนต์เบนซินออกมาได้ดี มีสมรรถนะเข้าท่า อย่างที่ โอเปิล เคยทำเอาไว้

***** สรุป *****
ถ้าจะซื้อ…ต้อง ดีเซล และตัวต้องเป็นตัวท็อป เท่านั้น!!

ตามปกติแล้ว เวลาใครจะมาปรึกษาว่าซื้อรถรุ่นใหม่ทั้งที รุ่นท็อปไปเลยดีไหม?

ผมมักจะตอบว่า ให้เลือกตามแต่ความจำเป็นของชีวิตจะดีกว่า เพราะบางครั้ง เมื่อเราไมได้ใช้อุปกรณ์บางอย่างในรถ เราก็มองว่า มันเริ่มเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
แต่สำหรับบางคนแล้ว สิ่งฟุ่มเฟือย กลับกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่เขาหรือเธอคนนั้น จำเป็นต้องใช้จริงๆ

คนเรามีรสนิยม ความคิด และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตรถยนต์จึงต้องสร้างรถยนต์ออกมาหนึ่งรุ่น ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ๋
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทว่า สำหรับแค็พติวาแล้ว ผมขอแนะนำว่า จากรุ่นย่อยทั้งหมด 4 รุ่นที่มีราคาเรี่มต้น 1.186 ล้านบาท ในรุ่น เบสิก เบนซิน ขับหน้า
จนถึง 1.56 ล้านบาท ในรุ่นท็อป ดีเซล ขับสี่ล้อ

เฉพาะกรณีของแค็พติวาเท่านั้น ที่ผมขอแนะนำว่า ถ้ามีกำลังทรัพย์ เรียนเชิญเซ็นใบจองรุ่นท็อปไปเลยเป็นการดีที่สุด!!

ทำไมหนะหรือ?

ต่อให้จีเอ็ม จะพยายามแสดงศักยภาพ และความมุ่งมั่นตั้งใจให้ผมดูมากขนาดไหน
ต่อให้จีเอ็ม จะหมายมั่นปั้นมือ ให้ แค็พติวา เป็นคู่ประกบ ท้าชน CR-V อย่างไร

และต่อให้ผมจะยอมรับได้อย่างน่าชื่นตาบานว่า
“นี่คือ เชฟโรเลต จากเกาหลี ที่สามารถเทียบั้น ทาบรัศมี ต่อกรกับคู่แข่งที่ตนหมายตาเอาไว้
ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุด นับจากออพตร้าเป็นต้นมา”

แต่ผมก็คงต้องเขียนไปตามความเป็นจริง ที่รถมันเป็น ไม่มีการอ่อนข้อ ลดราวาศอกแต่อย่างใด
ว่า แค็พติวา ก็เหมือนกับ รถยนต์ GMDAT คันอื่นๆ ที่มีดีในหลายๆด้าน ในตัวของมันเอง
ก็ดูข้าวของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เชฟวี เขาติดตั้งมาพะบู๊กับ ฮอนด้า ซีอาร์-วี สิครับ ว่ามันครบครัน จนเกินล้นเสียด้วยซ้ำ

แต่มักจะมาตกม้าตายเอาที่สมรรถนะจากเครื่องยนต์ ที่นอกจากจะเร่งไม่ค่อยดีเด่นไปกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาแล้ว
ก็ยังทำอัตราสิ้นเปลืองได้พอกันกับเครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้เสียอีก

แถมพวงมาลัยรุ่นเบนซินนั้น เบาเสียจนทำให้ผมนึกถึง รถญี่ปุ่นหรูๆ เมื่อสัก 15 ปีก่อน
คือเบาโหวง และไร้ความมั่นใจในชีวิตไปเลย

แต่ ต่อให้คุณต้องการรุ่นดีเซลจริงๆ กระนั้น ถามตัวเองก่อนดีกว่า
ว่ารับได้ไหม กับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่แทบไม่ได้แตกต่างจาก โตโยต้า ฟอร์จูเนอร์มากนัก

ถ้ารับได้ และพอจะทนกับความเมื่อยล้าของพนักศีรษะบนเบาะนั่งทุกตำแหน่งได้
แค็พติวา ดีเซล ก็เป็นรถที่ดีพอตัวในระดับราคานี้เลยทีเดียว

ส่วนเบนซินนั้น เรียนตามตรงเลยว่า “อย่าเล่นเลย สมรรถนะจากเครื่องยนต์และพวงมาลัย โคตรห่วยแตก!”

เอาไว้รอให้ GMDAT ไปเรียนรู้ และศึกษาการทำเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กจนถึงกลาง ให้มีสมรรถนะที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่เสียก่อนเถิด
ค่อยมาว่ากันใหม่ ก็ยังไม่สายครับ

ขอขอบคุณ
คุณชาติชาย สุวรรณเสวก
และคุณ คาร์ลอส
บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY
21 ธันวาคม 2007
1.00 – 12.45 น.