ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2015 กลางสนาม Nurburgring เยอรมนี

ระหว่างที่ผมกำลังเดินย่ำต๊อก ไปยังรถคอนเทนเนอร์ และครัวของทีม
Toyota Team Thailand ซึ่งกำลังนำ Corolla Altis จากเมืองไทยไป
แข่งขันรายการ ADAC 24 ชั่วโมง

รถยนต์ Coupe สีสดใสคันหนึ่ง ก็ปรากฎตัวอยู่ตรงหน้า…เส้นสายของมัน
ดูสวยงาม ดุดัน และแฝงด้วยความรู้สึกที่ชวนอยากให้ลองเข้าไปนั่งบน
เบาะคนขับสักครั้ง แม้ว่าไฟหน้าจะถูกออกแบบมาได้ชวนขัดใจ ก็ตาม

Lexus RC F คันนั้น ถูกนำมาจอดไว้ใกล้กับรถคอนเทนเนอร์ของทีมไทย
ก่อนที่ฝรั่งร่างสูงผมบลอนด์คนหนึ่ง จะพามันเคลื่อนออกจากพื้นที่นั้นไป

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาส พบเห็นรถคันจริงของ RC….

รถยนต์ Coupe 2 ประตู แท้ๆ คันแรกในประวัติศาสตร์ของ แบรนด์ Lexus
ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นรถยนต์เพื่อสวมใส่ชื่อ และแปะตรารูปตัว L อย่าง
แท้จริง

2016_08_Lexus_RC200t_01

ครับ ผมเขียนไม่ผิดหรอก…

นับตั้งแต่แบรนด์ Lexus ถือกำเนิดในโลกใบนี้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1989
เชื่อหรือไม่ว่า พวกเขาไม่เคยทำรถยนต์ Coupe แท้ๆ ภายใต้แบรนด์นี้
ออกมาเลย

ถ้าคุณจะเถียงว่า Lexus SC400 ไง จิมมี่ลืมไปแล้วเหรอ? ผมตอบเลย
ว่า ไม่ลืมครับ แต่ลองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปดูดีๆจะพบว่า SC400
และ SC300 ในตอนนั้น มันคือ Toyota Soarer 3rd Generation ที่ถูก
สร้างขึ้นโดยเปลี่ยนแนวทาง มุ่งไปทำตลาดในอเมริกาเหนือมากขึ้น
จากเดิมที่จำกัดการขายไว้แค่ในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น แล้วก็เปลี่ยนโลโก้
บนฝากระโปรงหน้ากับหลัง ต่างหาก

เช่นเดียวกันกับ Generation ที่ 4 แม้ว่า Toyota จะพลิกแนวทางใหม่
คือสร้าง SC430 ให้มาในสไตล์ Coupe / Convertible ในคันเดียวกัน
แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องแปะตรา Toyota Soarer ขายในญี่ปุ่นอยู่
พักใหญ่ ก่อนที่ ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นของ Toyota จะตัดสินใจดึงแบรนด์
Lexus มาเปิดตลาดในบ้านตัวเอง เมื่อเดือนสิงหาคม 2005

หรือถ้าจะมองไปที่ IS-C นั่นก็ยังเป็นแค่ Coupe / Convertible ที่สร้าง
ขึ้นมาตามแนวทางเดียวกับ SC430 ดังนั้น มันจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น
รถยนต์ Coupe 2 ประตู อย่างแท้จริง

วันนี้พวกเขาทำออกมาแล้วครับ Lexus Coupe แท้ๆ แบบไม่ต้องมานั่ง
เปิดหลังคาแข็งพับเก็บได้ ให้หนักรถเปล่าๆ ที่แฟนๆ Lexus ทั่วโลกเขา
รอคอยกันมานานแรมปี

คำถามก็คือ ผู้มาใหม่ จะมีเขี้ยวเล็บอันใด ไปต่อสู้กับฝูงพญาอินทรีย์เหล็ก
ในกลุ่ม Premium Compact (Coupe) ได้บ้าง

แล้วไอ้เจ้า Premium Compact (Coupe) นี่ มันคือรถประเภทไหนกันอีก?
จิมมี่ บัญญัติ ศัพท์ใหม่ ขึ้นมาอีกแล้วเหรอ?

เปล่าครับ ผมไม่บังอาจทำเช่นนั้นแน่ มันเป็นชื่อที่มีการเรียกอยู่แล้ว ใน
ต่างแดน แค่ว่า คนไทย อาจไม่คุ้นเคยมาก่อนนัก เท่านั้นเอง

งั้น เรามาทำความรู้จักกับรถยนต์ประเภทนี้ รวมทั้งต้นเหตุของการมาถึง
ของ Lexus RC กันดีกว่า…เนาะ

2016_08_Lexus_RC200t_02

ตลาดรถยนต์นั่งกลุ่ม Premium Compact ทั่วโลกนั้น นอกเหนือจากรถยนต์
ตัวถัง Sedan / Saloon 4 ประตู และ Station Wagon / Estate 5 ประตู  อย่าง
Audi A4 ,BMW 3-Series และ Mercedes-Benz C-Class ซึ่งทำยอดจำหน่าย
และ รายได้ให้ผู้ผลิตกันอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว ตัวถัง Coupe 2 ประตู ยังเป็น
อีกทางเลือกหนึ่งซึ่งแม้จะไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่า Sedan และ Estate ทว่า
ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มให้ความสนใจ จับจองเป็นเจ้าของอยู่เรื่อยๆ

ตลาดกลุ่ม Premium Compact (Coupe) นั้น คู่แข่งในปัจจุบันได้แก่ Audi A5
BMW 4-Series (ซึ่งก็คือ 3-Series Coupe , Convertible กับ Gran Coupe 4
ประตู นั่นแหละ) และ Mercedes-Benz C-Class Coupe C205 ช่วงก่อนหน้านี้
Volvo ก็เคยทำ C70 ออกขายมา 2 รุ่น แต่ก็ยุติการทำตลาดไป เพราะยอดขาย
ไม่ดีเท่า 3 ค่ายเยอรมัน

แล้ว Lexus ละ?

อันที่จริง ตลาดรถยนต์นั่งกลุ่ม Premium Compact Coupe ขับเคลื่อนล้อหลัง
ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Lexus เลย เพราะพวกเขาเคยพัฒนารถยนต์ เพื่อชิมลาง
กับตลาดกลุ่มนี้มาบ้างแล้ว

เพียงแต่ว่า สภาพเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการของลูกค้า
ในตลาดรถยนต์ Coupe และ Convertible ลดลง ดังนั้น แม้จะยังมีกำลังซื้อ
หลงเหลืออยู่ แต่ผลวิจัยการตลาด และแนวทางในการพัฒนารถยนต์ Lexus
ให้สอดคล้องกับบุคลิกของแบรนด์ ซึ่งมี Lexus SC430 (Toyota Soarer รุ่น
สุดท้าย) ตัวถังแบบ Coupe / Convertible หลังคาแข็งพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า
ในคันเดียวกัน เป็น Benchmark ในกลุ่มรถยนต์ 2 ประตูของพวกเขา รวมทั้ง
ต้นทุนในการพัฒนาตอนนั้น ทำให้พวกเขา เลือกจะสร้างรถยนต์แนว 2 in 1
แบบที่ SC430 เป็น นั่นคือ รถสปอร์ตคันเดียว แต่ใช้งานได้ 2 ลักษณะ คือ
ทั้งแบบ Coupe 2 ประตู ที่สามารถเปิดหลังคารับอากาศในฤดูร้อนได้ด้วย

2014_Lexus_IS_C

Lexus IS-C คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง มันเป็นรถยนต์ Coupe / Convertible
หลังคาแข็งพับเก็บได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบ 2 ประตู ที่แยกตัวถังใหม่ออกมา
จาก Lexus IS Sedan ขับเคลื่อนล้อหลังรุ่นขายดีของพวกเขา เปิดตัวครั้งแรก
ในงาน Paris Auto Salon เมื่อ 2 ตุลาคม 2008 แต่กว่าจะเริ่มทำตลาดได้จริง
ต้องรอกันไปจนถึงเดือน พฤษภาคม 2009

Toyota Motor Thailand เคยสั่งนำเข้า IS-C แบบสำเร็จรูปทั้งคันมาจำหน่าย
ในบ้านเรา โดยประกาศการทำตลาดในงาน Bangkok International Motor
Show เดือนมีนาคม 2009  เป็นรุ่น IS250C ตั้งราคาไว้สูงถึง 5,540,000 บาท

ตัวรถมีความยาว 4,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,415 มิลลิเมตร
ระยะฐนล้อ 2,730 มิลลิเมตร เวอร์ชันญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ จะมีให้เลือกทั้ง
IS 250 C ขุมพลัง 4GR-FSE บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 2,499 ซีซี Dual
VVT-i Direct Injection D4 204 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 25.53 กก.ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที มีทั้ง เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเกียร์
อัตโนมัติ 6 จังหวะ

และรุ่น IS 350 C วางขุมพลัง 2GR-FSE บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 3,456
ซีซี Direct Injection D4-S 318 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิด
สูงสุด 38.7 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ

ส่วนเวอร์ชันส่งออกตลาดทั่วโลก เป็นรุ่น IS300C วางขุมพลัง 3GR-FE
V6 DOHC 24 วาล์ว 2,994 ซีซี Dual VVT-i 231 แรงม้า (PS) ที่ 6,200
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 30.6 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์
อัตโนมัติ 6 จังหวะ

แม้ว่าในตลาดต่างประเทศ จะให้การตอบรับในระดับพอไปวัดไปวาได้
แต่สำหรับในเมืองไทย ด้วยราคาที่แพงเกินเหตุ จึงไม่น่าแปลกใจว่า
ตั้งแต่เริ่มทำตลาดในปี 2009 จนกระทั่งยุติการขาย ในปี 2013 Lexus
ขาย IS250 C ในบ้านเราไปได้เพียงแค่ 24 คัน เท่านั้น!

หลังการศึกษาวิจัยตลาดทั่วโลก พวกเขาก็ยอมรับกันเสียที ว่า Lexus
ยังคงจำเป็นต้องมีรถยนต์ Coupe สักรุ่น เพื่อมาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์
ของ Lexus ให้เพิ่มความ Sport และกระตุ้นกิเลส ของลูกค้าอายุตั้งแต่
30 – 55 ปี มากขึ้น จากเดิมที่มีภาพลักษณ์ความหรูหรามามากพอแล้ว
แต่ถ้าจะบุกตลาดรถยนต์ Premium Coupe ให้เต็มที่ ตัวรถจะต้องถูก
เปลี่ยนแนวทางไปจากเดิม เพื่อให้โดนใจกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากกว่าที่
เป็นอยู่

2016_08_Lexus_RC200t_Design02

แผนกพัฒนา Lexus (Lexus Development Center) ของ Toyota จึงมอบหมาย
ให้ Eiichi Kusama รับหน้าที่ Chief Engineer โครงการพัฒนา รถยนต์ Coupe
2 ประตูรุ่นใหม่ ที่จะแตกหน่อออกมาจาก Lexus IS รุ่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ใน
ช่วงที่รถใกล้จะเปิดตัว Junichi Furuyama, Chief Engineer หรือหัวหน้าวิศวกร
ผู้ดูแลงานพัฒนา Lexus IS ก็เข้ามารับหน้าที่ดูแล Coupe คันนี้ด้วย

Furuyama เล่าว่า : “โครงการ RC เริ่มขึ้นหลังจาก การพัฒนา Lexus IS รุ่นปัจจุบัน
เดินหน้าไปแล้ว ประมาณ 1 ปี จริงอยู่ว่า ทั้ง 2 รุ่น ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆกันเป็นโครงการ
คู่ขนาน และสามารถใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกันได้พอสมควร แต่ถึงกระนั้น ในการวาง
ตำแหน่งทางการตลาดแล้ว เราไม่อยากให้ RC เป็นเพียงแค่รุ่น 2 ประตูของ IS แบบ
ธรรมดาๆ เป้าหมายสำคัญคือการสร้างรถยนต์ Premium Coupe ที่เข้ามายกระดับ
ภาพลักษณ์แบรนด์ Lexus ให้ดูเร้าใจยิ่งขึ้น”

ความแตกต่างที่ทำให้ Lexus Coupe รุ่นใหม่นี้ ไม่เหมือนกับพี่น้องตระกูล Toyota
กับ Lexus รุ่นอื่นๆ คือ การนำโครงสร้างพื้นตัวถัง (Platform) จากรถยนต์ถึง 3 รุ่น
มาใช้ร่วมกันในรถคันนี้ โดยโครงสร้างห้องเครื่องยนต์ หรือส่วนหัวของตัวรถ ยกมา
จากพี่ใหญ่ Lexus GS แต่เสริมความหนาให้กับผนังห้องเครื่องยนต์ และซุ้มล้อหน้า
เพิ่มเข้าไป ส่วนพื้นตัวถังบริเวณห้องโดยสาร ยกมาจาก Lexus IS-C รุ่นเดิม แต่เพิ่ม
ความกว้างของคาน Cross Member ตามจุดต่างๆ ขณะเดียวกัน บริเวณตั้งแต่สุด
ขอบบานประตูไปจนถึงบั้นท้ายรถ ก็ยกพื้นตัวถังครึ่งคันหลังของ IS รุ่นปัจจุบันมา
เชื่อมเข้าด้วยกัน

Kusama เล่าว่า : “รูปลักษณ์ของรถคันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนอันเป็นพลวัตร
(Dynamic Proportion) ที่สดใหม่อย่างยากจะหาใครเทียบ อันเป็นเอกลักษณ์
ดั้งเดิมของ Lexus อย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของ RC คือการปรับปรุงสมรรถนะในการบังคับควบคุม
โดยเฉพาะในช่วงเข้าและออกจากโค้ง เราให้ความใส่ใจกับความแข็งแรงของ
โครงสร้างตัวถัง (Body Rigidity) อย่างมาก อีกทั้งยังมีการปรับจูนสมรรถนะ
และพลวัตรการขับขี่ (Driving Dynamic) เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสถึงความเร้าใจ
ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงความเร็วสูง หรือช่วงที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงจนเกิดแรง G ที่
มากกว่าปกติ

เมื่อเปรียบเทียบกับ Lexus รุ่นก่อนๆแล้ว เราให้ความใส่ใจในการเซ็ตช่วงล่างของ
RC เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสปริงและเหล็กกันโคลง ซึ่งถูกออกแบบขึ้น
เป็นพิเศษ ช่วยเพิ่มความมั่นใจในขณะเข้าโค้ง นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับ
การควบคุมที่เฉียบคมแต่ยังคงความสบายในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็น บนถนนทั่วไป
ทางโค้งอันคดเคี้ยว หรือแม้แต่ในสนามแข่ง สำหรับ RC แล้ว เราต้องการยกระดับ
ความคาดหวังของลูกค้า โดยเฉพาะสมรรถนะการขับขี่ให้เหนือขึ้นไปอีกขั้น”

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกดูได้ใน Video Clip ข้างบนนี้ (เป็นภาษาอังกฤษ)

2016_08_Lexus_RC200t_Design01

ด้านงานออกแบบนั้น Yasuo Kajino นักออกแบบของ Toyota / Lexus กล่าวว่า
“เราต้องการให้ RC เป็นรถยนต์ Coupe ที่เปี่ยมด้วยเส้นสายเร้าอารมณ์ ดึงดูดใจ
ให้คุณเข้าไปสัมผัส หรือลองขับ ในทันทีที่ได้พบเห็น RC นำเสนอความชัดเจน
ของรูปลักษณ์อันเสน่ห์ ในแบบ Premium & Elegance Coupe เข้ากับสัดส่วน
ที่ลงตัว

เพื่อให้ RC มีพลวัตรแห่งสัดส่วน (Dynamic Proportion) ที่ดี เราจึงออกแบบ
ให้ตัวรถมีลักษณะของ Packaging แบบ Wide & Low (กว้างและเตี้ย) ด้วยการ
นำ Platform ของ GS มาเป็นพื้นฐาน ทำให้ตัวรถดูกว้าง ผนวกกับระยะฐานล้อ
ที่สั้น ในแบบรถยนต์ขนาดเล็ก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ตัวรถมีความสมดุลตามอุดมคติ
อย่างลงตัว

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังให้ความสำคัญกับการออกแบบตัวรถให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
กระจังหน้าแบบ Spindle Grill เอกลักษณ์ของ Lexus ไปจนถึง Fender ข้าง
เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ให้ดูมีมิติ เพื่อเสริมให้ตัวรถมีบุคลิก Dynamic Performance
อย่างที่เราตั้งใจ”

Yoichiro Kitamura : Color Designer ของ Lexus เล่าว่า : “ด้วยบุคลิกของรถ
ในแบบ Coupe เราจึงตัดสินใจใช้สีแดง เป็นสีโปรโมท เพื่อแสดงถึงรูปลักษณ์
อันเป็นพลวัตร (Dynamic Form) และสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพ รวมทั้งสร้าง
มิติของเส้นสายอันลื่นไหลบนตัวถังรถ ซึ่งจะสร้างความประหลาดใจในครั้งแรก
ที่พบเห็น ดังนั้น การออกแบบ สีของตัวรถ จึงต้องเน้นไปที่การสร้างความ สว่าง
มีความลึก เล่นมิติกับแสงและเงาได้ดี

ไฮไลต์สำคัญ อยู่ที่การ เพิ่มความสว่างให้กับสี โดยไม่ใช้วิธีการเพิ่มความขาว
เข้าไปให้มากขึ้น ในทางกลับกัน พื้นที่ซึ่งต้องเป็นสีดำ จะต้องดูเงางามขึ้น โดย
ไม่จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มของสีลงไปให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพัฒนาสี Radient Red (3T5) ด้วยเป้าหมายในการผสมผสาน
คุณภาพที่สัมผัสได้ เข้ากับโทนสีตัวรถ รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการพ่นสีแบบพิเศษ
เพื่อให้บรรลุถึงความตั้งใจดังกล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกดูได้ใน Video Clip ข้างบนนี้ (ภาษาอังกฤษ)

2012_Lexus_LF_CC

หลังจากเริ่มโครงการไปได้สักพัก ก่อนที่ Lexus IS รุ่นปัจจุบันจะเผยโฉม
ไม่นานนัก ทีมออกแบบ ก็ได้หยั่งเชิงปฏิกิริยาของสาธารณชน ด้วยการส่ง
รถยนต์ต้นแบบ Coupe 2 ประตู Lexus LF-CC ไปอวดโฉมบนแท่นหมุนใน
งาน Paris Auto Salon เมื่อ 27 กันยายน 2012

จริงอยู่ว่า ตอนนั้น Toyota ระบุในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ Press Release
ไว้ว่า LF-CC เป็นรถยนต์ต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเส้นสายตัวถัง
ที่จะปรากฎในรุ่น IS Sedan ทว่า การออกแบบตัวถัง Coupe 2 ประตู ก็เท่ากับ
สื่อให้โลกรู้เป็นนัยๆว่า IS รุ่นใหม่ จะมีตัวถัง Coupe 2 ประตูให้เลือกด้วยอย่าง
แน่นอน เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า รถยนต์ Coupe 2 ประตูรุ่นใหม่นี้
จะใช้ชื่อว่าอะไร และมีหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ในเวลาต่อมา เมื่อทุกอย่างกระจ่างขึ้น กลับกลายเป็นว่า Toyota ใช้มุขเดียวกับ
เมื่อครั้งเปิดตัว Toyota 86 นั่นคือ หลอกให้เราเข้าใจผิดไปก่อนว่า เส้นสายของ
LF-CC ดูพร้อมขึ้นสายการผลิตแล้ว ทั้งที่มันไม่ใช่เส้นสายของเวอร์ชันขายจริง

2016_08_Lexus_RC200t_03

สำหรับชื่อรุ่น ทีมการตลาดของ Toyota / Lexus ตัดสินใจเลือกใช้รหัสว่า RC
พวกเขาให้คำนิยามว่า มาจาก “Radical Coupe” ซึ่งคำว่า Radical นั้น แปล
เป็นคำคุณศัพท์ (Adjective) ในภาษาไทยได้ว่า “โดยรากฐาน” / “ทั่วถึง”
“การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” แต่ถ้าแปลเป็นคำนาม (Noun) จะแปลไปได้ว่า
“คนหัวรุนแรง” การเลือกใช้คำนี้ ก็เพื่อสื่อสะท้อนถึงความเป็นรถยนต์ Coupe
รุ่นใหม่ แบบสุดโต่ง ที่ไม่ใช่ Coupe แบบครึ่งๆกลางๆ เหมือน IS-C อีกต่อไป

RC ทุกคัน จะคลอดออกจากสายการผลิตของโรงงาน Tahara ในจังหวัด Aichi
ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 1979 โดยมี “ช่างฝีมือขั้นสูง”หรือ “Takumi” เป็น
ผู้ตรวจสอบรายละเอียดการประกอบในส่วนต่างๆของตัวรถแทบทุกขั้นตอน จึง
เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวที่จะได้สิทธิ์ในการประกอบรถยนต์รุ่นนี้ เช่นเดียวกับ
Lexus รุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่น ทั้ง IS, GS, LS, RX และ LX

เมื่อการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์ Toyota จึงส่ง Lexus RC ไปเปิดผ้าคลุมเป็น
ครั้งแรกบนเวทีงาน Tokyo Motor Show เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2013 แต่
นั่นเป็นเพียงแค่การเผยรูปลักษณ์คันจริง ว่าจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ
อีกแล้ว

ทันทีที่เปิดผ้าคลุมในงานดังกล่าว Toyota / Lexus ก็เปิดรับจองในอีก 3 วัน
ถัดมา (23 ตุลาคม 2013) เพียงแค่เดือนเดียว นับจนถึง 27 พฤศจิกายน 2013
ตัวเลขของยอดสั่งจองจากลูกค้าเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ก็พุ่งไปอยู่ที่ประมาณ
1,700 คัน ซึ่งถือเป็น 21 เท่า ของเป้าหมายยอดขายในแต่ละเดือน จากสถิตินี้
รุ่น RC350 มียอดจองประมาณ 500 คัน RC300h มียอดจองเยอะสุด ประมาณ
1,200 คัน และ RC F มียอดจองเกินคาด ถึง 900 คัน

ส่วนรุ่น RC200t เปิดตัวครั้งแรกในยุโรป เมื่อ 31 กรกฎาคม 2015 เป็นรุ่นเล็กสุด
ระดับ Entry Level แต่มีสมรรถนะไม่น้อยหน้าพวกพี่ๆเขา ด้วยขุมพลัง 2.0 ลิตร
พ่วง Turbocharger

สำหรับประเทศไทย Toyota Motor Thailand สั่งนำเข้า Lexus RC มาเปิดตัว
อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก เมื่อ 17 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา โดยเป็นรุ่น RC200t
เพียงแบบเดียว

สาเหตุที่ RC เดินทางมาถึงเมืองไทย ช้ากว่าหลายๆประเทศ ผิดไปจากปกติที่
Lexus รุ่นใหม่ๆ มักเปิดตัวในบ้านเรา เป็นประเทศที่ 2 หรือ 3 ในโลกเสมอ นั้น
เป็นเพราะว่า ในช่วงเวลาที่ RC เปิดตัวสู่ตลาดโลก มีเครื่องยนต์ให้เลือกแค่รุ่น
RC300h ขุมพลัง Hybrid ซึ่งดูจะขัดกับรสนิยมของลูกค้าคนไทยที่อยากได้
รถสปอร์ต เครื่องยนต์สันดาปปกติ มากกว่าเครื่องยนต์ Hybrid และ RC350
ซึ่งมีค่าตัวแพงมากๆ ยากต่อการทำราคาขาย

ดังนั้น ถ้ารอให้รุ่น RC200t เปิดตัวในเมืองนอก แล้วค่อยนำเข้ามาหลังจาก
วันที่ 1 มกราคม 2016 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศใช้ภาษีสรรพสามิตอัตราใหม่
โดยดูจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก น่าจะช่วยทำให้ค่าตัว
ของ RC ไม่โหดจนเกินไปนัก คือคงไม่แตะ 6 ล้านกว่าบาท อย่างที่คาดหมาย

สุดท้าย พอนำเข้ามาจริง ด้วยเหตุผลกลใดไม่อาจทราบได้ ค่าตัวของ RC200t
ก็พุ่งโดดไปสูงระดับ 5,490,000 บาท แพงหูฉี่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งชาวเยอรมัน

2016_08_Lexus_RC200t_04

RC200t มีขนาดตัวถังยาว 4,695 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,395 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,730 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread)
อยู่ที่ 1,580 และ 1,600 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถรวมน้ำหนักบรรทุกอยู่ที่ 2,170 กิโลกรัม
ความจุถังน้ำมัน 66 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Mercedes-Benz C-Class Coupe รุ่นล่าสุด C205 ที่มี
ความยาว 4,686 มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,405 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,840 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,563
และ 1,546 มิลลิเมตร แล้ว พบว่า RC ยาวกว่า เพียง 9 มิลลิเมตร กว้างกว่ากันราวๆ
30 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อ สั้นกว่า C-Class Coupe ถึง
110 มิลลิเมตร

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง BMW 4-Series Coupe ที่มีความยาว 4,638 มิลลิเมตร
กว้าง 1,825 มิลลิเมตร สูง 1,377 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,810 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,545 และ 1,594 มิลลิเมตร พบว่า
RC ยาวกว่า 57 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 18 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
สั้นกว่า 4-Series Coupe 80 มิลลิเมตร

และถ้าต้องเปรียบเทียบกับ Audi A5 Coupe รุ่นปี 2015 – 2016 ซึ่งมีความยาว 4,626
มิลลิเมตร กว้าง 1,854 มิลลิเมตร สูง 1,372 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,751 มิลลิเมตร
ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) 1,590 และ 1,577 มิลลิเมตร
จะพบว่า RC ยาวกว่า 69 มิลลิเมตร แคบกว่า 14 มิลลิเมตร สูงกว่า 23 มิลลิเมตร และ
มีระยฐานล้อ สั้นกว่า 21 มิลลิเมตร

เมื่อรวมตัวเลขทั้งหมดเข้าด้วยกัน สรุปได้ว่า RC มีตัวถังยาวที่สุด กว้างเป็นอันดับ 2
รองจาก A5 Coupe แถมยังมีความสูง เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม เป็นรองแค่ C-Class
Coupe แต่กลับมีระยะฐานล้อสั้นที่สุด สั้นกว่าคู่แข่งเยอรมันทั้ง 3 คัน

2016_08_Lexus_RC200t_05

รูปลักษณ์ภายนอก ถูกออกแบบให้มีความแตกต่างจาก Lexus IS อย่าง
สิ้นเขิง ไม่สามารถใช้ชิ้นส่วนตัวถัง หรือการตกแต่งภายนอกใดๆ ร่วมกัน
ได้ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นเป็นข้อดี ที่จะช่วยสร้างความต่างในใจลูกค้าได้มากขึ้น
เน้นความ Sport ผสมผสานกับความหรูหรางดงามสะโอดสะองในแบบ
Elegance

ชุดไฟหน้าเป็นแบบ LED 3 หลอด พร้อมระบบปรับองศาการส่องสว่างใน
มุมต่ำ และปรับระดับ สูง – ต่ำ อัตโนมัติ Auto Leveling และมีระบบเปิด-
ปิดเองโดยอัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto) โดยไฟหน้าจะไม่สามารถปิดได้
ต้องค้างไว้ที่ตำแหน่ง Auto ซึ่งจะปิดต่อเมื่อใช้งานตอนกลางวัน หรือ
ดับเครื่องยนต์แล้ว (มาแบบเดียวกับ Hilux Revo และ Fortuner ใหม่
ไม่มีผิด!) รวมทั้งยังมีระบบฉีดน้ำล้างทำความสะอาดไฟหน้า มาให้ด้วย

ไฟส่องสว่างช่วงกลางวัน Daytime Running Light แบบ LED และชุด
ไฟเลี้ยวแบบ LED ถูกจับแยกออกมาจากชุดไฟหน้า รวมไว้ด้วยกัน ใน
ตำแหน่งถัดลงมา หน้าตายังคงละม้ายคล้ายสัญลักษณ์รองเท้า Nike
เช่นเดียวกับ Lexus IS,GS,NX และ RX ใหม่

โดยส่วนตัว ผมมองว่า ชุดไฟหน้ายังคงดูง่วงๆ เซื่องซึม ไม่โฉบเฉี่ยวพอ
หางด้านข้างที่ควรจะลากยาวออกไปได้อีกนิด กลับถูกเส้นสันตัวถัง ช่วง
เหนือซุ้มล้อคู่หน้า ลากยาวไปจนถึงเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ช่วงชิง
ความเด่นไปอย่างน่าเสียดาย และนี่คือจุดที่ควรปรับปรุงงานออกแบบ
เพียงจุดเดียวเท่าที่ผมเห็นจากรถคันนี้

กระจังหน้ายังคงเป็นแบบ Spindle Grille อันเป็นเอกลักษณ์ของบรรดา
Lexus รุ่นใหม่ๆ ในระยะตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่า RC รุ่นปกติ
กระจังหน้าจะเป็นแบบ ลายซี่ตรงแนวตั้ง แต่ในรุ่น RC200t เวอร์ชันไทย
จะตกแต่งด้วยอุปกรณ์แบบ F Sport ดังนั้น ลายกระจังหน้า จึงเปลี่ยนไป
เป็นลาย “กรงตาข่าย” ลากยาวลงมาถึงช่องรับอากาศด้านหน้า ช่องใส่
ป้ายทะเบียนหน้า และไฟตัดหมอกคู่หน้า

2016_08_Lexus_RC200t_06

เส้นตัวถังด้านข้าง ตัดตรงเฉียง ยาวต่อเนื่องจากสัญลักษณ์ F Sport บริเวณ
ถัดจากซุ้มล้อคู่หน้า ลากยาวไปจนถึงชุดไฟท้าย เพิ่มความโฉบเฉี่ยว ด้วย
การตวัดเส้นกรอบกระจกหน้าต่าง Opera บริเวณเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar
เป็นรูปตัว L แบบจิกๆ หน่อย

งานออกแบบชุดไฟท้ายนั้น Eiichi Kusama มีแนวคิดอยู่ในใจไว้ว่า “ผมได้
ขอให้ทีมออกแบบ สร้างชุดไฟท้ายขึ้นมา โดยให้ภายในดูเหมือนมีประกาย
ระยิบระยับจากอัญมณีล้ำค่า อยากให้มันดูฉ่ำๆ”

ทีมงานจึงกลับมาหาเขาอีกครั้งพร้อมกับไฟท้าย LED แบบ L-Motif-Style
ที่ดูสวยงามในยามค่ำคืน โดยยังคงวางตำแหน่ง ชุดไฟเลี้ยวกับไฟถอยหลัง
อยู่ติดกัน และถัดจากไฟเบรก ตามมาตรฐานที่พบได้ในบรรดา Toyota และ
Lexus หลายๆรุ่นนับจากอดีต อีกด้วย (ไฟเบรกอยู่ด้านนอก ไฟเลี้ยวอยู่กลาง
และไฟถอยหลังอยู่ด้านใน ใกล้ป้ายทะเบียน บางทีแผงทับทิมจะอยู่ติดกับ
ไฟถอยหลัง)

เปลือกกันชนหลัง มีช่องระบายอากาศอยู่ด้านข้าง ประดับด้วยแถบพลาสติก
ฟันหวี สีดำ พร้อม Defuser ด้านใต้เปลืกกันชนหลัง และปลอกท่อไอเสียคู่
ซึ่งถูกออกแบบให้ลดเสียงลงเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ แต่พร้อมแผดคำราม
เมื่อลากรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น ถ้ายังไม่ไพเราะสะใจ Lexus ยังติดตั้งระบบ
ASC เพิ่มเสียงสังเคราะห์ ให้ออกมาสร้างความเร้าใจยิ่งขึ้น

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_01

ระบบล็อกประตูของ RC200t จะยังคงใช้รีโมทกุญแจ Smart Keyless Entry
พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer หน้าตารีโมทคอนโทรล ก็ไม่ได้แตกต่าง
ไปจาก Lexus GS ES และ IS รุ่นใหม่ แต่มีสวิตช์กดสั่งเปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้า
และสวิตช์เปิดสัญญาณไฟและเสียงร้องเตือนฉุกเฉิน กรณีที่คุณบังเอิญพบว่า
มีผู้ไม่ประสงค์ดีมาป้วนเปี้ยนอยู่กับรถของคุณ

เพียงแค่พกรีโมทกุญแจ แล้วเดินเฉียดกรายเข้าใกล้ตัวรถ ไฟส่องสว่างภายใน
ห้องโดยสาร จะติดสว่างขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีไฟส่องสว่าง ใต้มือจับประตูทั้ง
2 บาน และแถบเรืองแสงบริเวณ ด้านบนของมือจับ จะค่อยๆสว่างขึ้นมาด้วย
ก่อนจะค่อยๆดับลงเอง หากคุณไม่ได้ดึงมือจับเพื่อเปิดประตู หรือเมื่อเข้าไป
นั่งในรถแล้ว หากจะล็อกประตู ก็ใช้นิ้วแตะลงไปบนแถบหลุมขนาดเล็กบน
มือจับประตูนั่นละ

 

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_02

การลุก เข้า – ออกจากรถ ทำได้ใกล้เคียงกับรถยนต์นั่งที่มีความสูงจากพื้นถนน
ในระดับปกติ เพียงแต่ว่า คุณอาจจำเป็นต้องปรับเบาะนั่งลงไปอยู่ในตำแหน่ง
ต่ำสุด เพื่อที่จะไม่เจอปัญหาศีรษะไปโขกโป๊กกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
โดยไม่จำเป็น เพราะกรอบช่องทางเข้าด้านบน ค่อนข้าง “เตี้ยมากกว่ารถยนต์
Coupe ทั่วไปในตลาด” อีกนิดเดียว ก็เตี้ยพอๆกับ Audi TT รุ่นล่าสุดด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ จังหวะหย่อนก้น อาจต้องระวังเพิ่มอีกนิดหน่อย เพราะ ปีกเบาะรองนั่ง
ค่อนข้างแข็ง และสูงกว่าบรรดา รถยนต์ Coupe ทั่วไปนิดนึง เนื่องจากจำเป็นต้อง
ออกแบบให้รักษาทรงของมันไว้ได้นาน

บานประตู เป็นแบบ ไร้เสากรอบหน้าต่าง (Frameless Door) ตามสไตล์เดียวกับ
รถยนต์ Premium Coupe จากยุโรป เมื่อเปิดประตู หน้าต่างจะเลื่อนลงมานิดนึง
และเมื่อปิดประตูกลับเข้าไป หน้าต่างจะเลื่อนตัวขึ้นไปสนิทแนบกับยางขอบ
กระจกตามเดิม เพื่อให้เปิด – ปิด ประตูได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องออกแรงมากนัก

แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งด้วยหนัง และวัสดุสังเคราะห์บุนุ่มชั้นดี ทั้งสีแดงแบบ
Dark Rose เย็บด้วยด้ายสีดำ ตัดสลับกับหนังสีดำ เย็บเชื่อมกันด้วยด้ายสีแดง
ต่อเนื่องมาจนถึงพื้นที่วางแขน ซึ่งสามารถวางแขนได้อย่างสบายๆ ในตำแหน่ง
ที่ถูกต้องเหมาะสม

ช่องมือจับประตูด้านในบุด้วยผ้าสังเคราะห์ ช่วยลดเสียงกรุ๊งกริ๊ง หากคุณอยาก
วางเศษเหรียญไว้ในนั้น อีกทั้งขนาดของมัน ใหญ่พอให้คุณวางโทรศัพท์มือถือ
iPhone 6 Plus ในแนวตั้งได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแสงไฟ Illumination ซึ่งคุณจะเห็นเป็นแถบยาวต่อเนื่อง เรืองแสง
ในตอนกลางคืน เพิ่มบรรยากาศการเดินทางให้สุนทรีย์ขึ้นอีกนิดนึง รวมทั้งยังมีชุด
สวิตช์ระบบ Central Lock สั่งล็อก/ปลดล็อกประตู มาให้ครบทั้งบานประตูฝั่งคนขับ
และฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ติดตั้งอยู่เหนือสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า One-Touch
เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยการกดหรือยกปุ่มเพียงครั้งเดียว ประดับพื้นที่โดยรอบสวิตช์
ด้วยแผง Trim Ornament ชื่อ Wedge Metal

อย่างไรก็ตาม ด้านล่างของแผงประตู แม้จะมีช่องใส่ของจุกจิกมาให้ แต่ก็ใช้งาน
ไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะมีขนาดเล็ก ต่อให้วางข้าวของลงไป จะล้วงหยิบกลับ
ขึ้นมา ก็ยากอยู่ แถมไม่มีช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาทมาให้เลยทั้ง 2 ฝั่ง!!

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_03

เบาะนั่งของ RC200t F Sport เวอร์ชันไทย หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ แบบ
Smooth Leather จะมีให้เลือก 2 สี คือหนังสีดำ และสีแดง Dark Rose
เย็บติดเชื่อมเข้ากันด้วย ด้ายสีดำ ทั้ง 2 สี

เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ทั้ง เอนนอน เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง
ยกเบาะให้สูงขึ้น หรือกดเตี้ยลง 8 ทิศทาง หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ Smooth
Leather มีสวิตช์ปรับตัวดันหลัง ด้วยไฟฟ้า ติดตั้งเพิ่มมาให้เฉพาะเบาะนั่ง
ฝั่งคนขับ ดันเข้า – ออก ได้เท่านั้น ตัวดันหลังปรับระดับสูง – ต่ำ ไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีระบบ Heater อุ่นเบาะ พร้อมพัดลมปั่นให้เบาะรองนั่ง เย็น
(Air Ventilation) ช่วยระบายความชื้นให้เบาะหนังได้ดี ช่วยปั่นกลิ่นตด
ให้กระจายจนหายเกลี้ยงได้รวดเร็ว เช่นเดียวกับ Lexus รุ่นอื่นๆ ที่ขายใน
เมืองไทย

เฉพาะฝั่งคนขับ มาพร้อมระบบหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ รวมทั้งกระจก
มองข้าง และตำแหน่งพวงมาลัยปรับระดับสูง – ต่ำ กับ ใกล้ – ห่างด้วยไฟฟ้า
รวม 3 ตำแหน่ง การใช้งาน แค่ ปรับเบาะคนขับ พวงมาลัย กับกระจกมองข้าง
ตามต้องการ แล้วกดปุ่ม SET ที่มือเปิดประตูฝั่งคนขับ จนดัง “ตี๊ด” แล้วกด
ค้างไว้ พร้อมกับเลือกเบอร์หน่วยความจำที่ต้องการ เป็นอันเสร็จพิธี

ช่วงบ่าของพนักพิงเบาะ จะมีสายยึดเข็มขัดนิรภัย พร้อมหมุดแม่เหล็ก ที่
สามารถปลดออกได้ง่ายดาย เพื่อให้สะดวกต่อการเข้า – ออกจากเบาะหลัง

พนักพิงหลัง ถูกออกแบบให้โอบกระชับรับกับสรีระของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ด้านหน้าได้อย่างดี แถมยังซัพพอร์ตไปถึงช่วงหัวไหล่ได้สบายอีกด้วย

พนักศีรษะคู่หน้า สามารถปรับระยะดันกบาลได้ 4 ระดับ ทั้งแบบปกติ ดันนิดๆ
ดันทุรัง และระดับ “จะดันไปหาสวรรค์วิมานหรือไง?” สามารถเลือกปรับได้
ตามใจชอบ ให้สัมผัสที่คล้ายกับพนักศีรษะของ Lexus และ Volvo รุ่นอื่นๆ
คือ รู้อยู่แหละว่าแกนกลางค่อนข้างแข็ง แต่มีการบุฟองน้ำเสริมด้านในให้
พอรู้สึกว่านุ่มสบายหัวนิดๆ แถมวัสดุหนังหุ้มเบาะที่เนียนใช้ได้ ก็มีส่วนช่วย
เพิ่มความสบายในการพิงศีรษะได้เช่นกัน

เบาะรองนั่ง มีความยาวเหมาะสม ในระดับเดียวกับเบาะนั่งของ Lexus IS
และ NX ปีกข้างถูกเสริมความแข็งและสูงขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับ
พี่น้องร่วมตระกูลแล้ว ปีกข้างเบาะรองนั่งของ NX นุ่มกว่า

พื้นที่เหนือศีรษะ ดูเหมือนจะตีบตัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว เยอะพอจะรองรับ
สรีระของคนที่มีความสูงระดับ 185 – 190 เซ็นติเมตรได้สบายๆ ยิ่งพอมี
MoonRoof มาช่วย ก็ยิ่งเพิ่มความโปร่งของห้องโดยสารมากขึ้น

 

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_04_EDIT

การเข้า – ออกจากเบาะหลัง ใช้วิธีมาตรฐานเหมือนบรรดารถยนต์ Coupe
ทั่วๆไป คือ ดึงคันโยกที่ด้านข้างพนักพิงเพื่อดึงเบาะให้โน้มไปข้างหน้า
โดยตัวเบาะทั้งชุดจะเลื่อนขึ้นไปด้านหน้าด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อเปิดทาง
ให้เข้า – ออกจากเบาะหลังง่ายขึ้น

ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาดแล้ว ช่องทางเข้า – ออก เบาะหลังของ RC แอบ
เล็กกว่า BMW 2-Series รุ่นล่าสุด อยู่พอสมควร เนื่องจากความยาวของ
ช่องทางเข้า – ออก ใน 2-Series จะยาวกว่า RC อยู่แล้ว

เมื่อดันพนักพิง ให้เบาะเลื่อนถอยหลังกลับมาในตำแหน่งเดิมด้วยไฟฟ้า ถ้า
ตัวเบาะเกิดถอยหลังไปชน สิ่งของ หรือขาของคุณ ตัวเบาะจะดีดกลับ และ
เลื่อนขึ้นไปข้างหน้านิดนึง (พูดง่ายๆ เหมือนระบบ หน้าต่างไฟฟ้า ดีดกลับ
เมื่อมีสิ่งกีดขวาง Jam Protection นั่นละครับ แต่แค่มาติดตั้งอยู่กับเบาะนั่ง
เท่านั้นเอง)

พื้นที่โดยสารด้านหลัง มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ พนักพิงหลังมีมุมองศาการ
เอน เหมาะสม ฟองน้ำแอบแน่น แต่นั่งได้นุ่มสบายกว่า 2-Series พอสมควร
ไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ หรือแม้แต่ช่องวางแก้ว มาให้เลย

พนักศีรษะของผู้โดยสารด้านหลัง ไม่ดันกบาล ออกแนวนุ่ม แต่พื้นที่เหนือ
ศีรษะด้านหลัง สำหรับคนตัวสูงเกิน 170 เซ็นติเมตรขึ้นไป มันไม่เหลือเลย
ผมต้องนั่งเอียงหัวพับคอ ซึ่งไม่สบายเอาเสียเลย แต่ช่วยไม่ได้ครับ รถยนต์
Coupe 2 ประตูรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่ ก็เป็นแบบนี้ทั้งหมด คือ แบ่งเบาะหลังไว้
แค่เพียงเป็นพื้นที่นั่งแบบชั่วคราว (Dog Seat) ตามสไตล์รถยนต์ Coupe
แบบ 2+2 ที่นั่ง

เบาะรองนั่ง มีความยาวกำลังดี มีมุมเงยที่เหมาะสมมาก นั่งแล้วไม่ต้องชันขา
เสริมฟองน้ำให้นุ่มและแน่นใกล้เคียงกับเบาะรองนั่งคู่หน้า ตรงกลางของเบาะ
รองนั่ง จะเป็นถาดพลาสติกสีดำ ฝังลงไปในตัวเบาะ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับ
วางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือกระเป๋าสตางค์ เท่านั้น

แผงด้านข้าง ออกแบบให้วางแขนได้ในระดับสูงพอประมาณ แต่อาจเล็กไป
สำหรับคนตัวใหญ่ เป็นช่องติดตั้งลำโพง ฝั่งละ 2 ชิ้น

พื้นที่วางขาของผู้โดยสารด้านหลัง ยังพอมีเหลือ ถ้าผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสาร
ด้านหน้า ยังพอมีใจเมตตากรุณามุทิตตา และอุเบกขา เพียงพอที่จะแบ่งปัน
เนื้อที่ให้พอจะวางขากันได้ อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้

ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลาง มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
รวมทั้งยังมีไฟส่องสว่างสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง บนเพดาน เสริมมาให้ด้วย

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ตำแหน่ง
พร้อมสัญญาณแจ้งเตือน ที่จะร้องลั่น ถ้าคุณเข้าไปนั่งบนเบาะหลังแล้วเลือก
จะไม่ยอมคาดเข็มขัด นอกจากนี้ ยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน
ISOFIX มาให้ 2 ตำแหน่ง มาให้ตามมาตรฐานรถยนต์สมัยนี้

 

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_05

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง สามารถปลดล็อกได้จากทั้งกุญแจรีโมท
สวิตช์ไฟฟ้า ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ และสวิตช์ขนาดเล็ก เหนือช่อง
ใส่ป้ายทะเบียนหลัง

ฝากระโปรงหลัง มีการบุวัสดุซับเสียงด้านใน เช่นเดียวกับการหุ้มเสาค้ำ
ฝาท้ายทั้ง 2 ฝั่ง ด้วยพลาสติก เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาด 374 ลิตร (แต่ในรุ่น RC300h จะ
ต้องหักออกไป 34 ลิตร เนื่องจากต้องแบ่งปันให้กับแบ็ตเตอรีของระบบ
Hybrid ซึ่งกินพื้นที่ไปพอสมควร เหลือ 340 ลิตร)

ถ้าดูจากตัวเลขแล้ว พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ใน RC จะเล็กกว่ารถยนต์
Hatchback 5 ประตู อย่าง Volkswagen Golf ใหม่ Mk-7 แค่ 6 ลิตร ทว่า
ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันแล้ว Mercedes-Benz C-Class
Coupe ใหม่ มีความจุ 400 ลิตร ส่วน BMW 4-Series Coupe ก็มีความจุ
มากถึง 445 ลิตร ดังนั้น พื้นที่เก็บของด้านหลังใน RC จึงน้อยสุดในกลุ่ม
กระนั้น ก็ยังสามารถบรรจุสัมภาระขนาดความยาว 150 เซ็นติเมตรได้อยู่

ด้านหลัง มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของด้านหลัง มีตะขอเกี่ยวยึดตาข่าย
สำหรับตรึงสัมภาระ เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้น จะพบแผงพลาสติกสีดำ
ปิดช่องวางยางะไหล่ ออกแบบเป็นร่องไว้สำหรับใสเครื่องมือประจำรถ
และเมื่อยกฝาดังกล่าวขึ้น คุณจะพบยางอะไหล่ Yokohama พร้อมล้อ
สีเหลือง บาง ลาย 5 ก้าน สำหรับใช้เพื่อพาคุณแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปหาร้านปะยาง ที่อยู่ใกล้สุด เท่านั้น

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_06

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Lexus IS รุ่นปัจจุบันทั้งดุ้น ถูกออกแบบให้แบ่งเป็น
2 Zone ได้แก่ Upper Zone (Display Zone) ครึ่งท่อนบน เน้นไปที่การแสดง
ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรับรู้ และ Lower Zone (Operation Zone) เป็น
พื้นที่ครึ่งท่อนล่าง สำหรับให้ผู้ขับขี่ ใช้ควบคุมการทำงานระบบต่างๆในตัวรถ

ผมมองว่า นี่เป็นแผงหน้าปัดของ Lexus ที่ออกแบบมาได้ดีที่สุดอีกชุดหนึ่ง
เท่าที่เคยเห็นมา การจัดวาง Layout ต่างๆ ทำได้อย่างดี ลงตัว ระดับของปุ่ม
สวิตช์ควบคุมต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ใช้งานไม่ยาก ปริมาณสวิตช์
มีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

แผงหน้าปัด ตกแต่งด้วยสีดำ หุ้มพื้นที่ครึ่งท่อนบนด้วยหนังสีดำ + วัสดุบุน่ม
ช่องแอร์ และก้านพวงมาลัยด้านล่าง ตกแต่งด้วย Trim อะลูมีเนียม สีเงิน
ตะกั่ว ด้านข้างแผงควบคุมกลาง หุ้มด้วยหนังสี Dark Rose และเย็บเข้ารูป
ด้วยด้ายสีดำเหมือนเบาะนั่ง

มองขึ้นไปด้านบนเพดานหลังคา แผงบังแดด หุ้มด้วยผ้าและวัสดุบุนุ่ม ติดตั้ง
กระจกแต่งหน้า พร้อมฝาเลื่อนเปิด – ปิด และไฟส่องสว่าง มาให้ ส่วนกระจก
มองหลัง เป็นแบบตัดแสงอัตโนมัติ และไร้กรอบด้านนอก!

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_07

จากขวามาซ้าย ไล่กันตั้งแต่มือจับประตู จะพบสวิตช์ไฟฟ้าของระบบ Memory
จำตำแหน่งเบาะนั่งฝั่งคนขับ และตำแหน่งพวงมาลัย (ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายก็มี
มาให้เช่นกัน) เลือกกดให้จดจำได้ 3 ตำแหน่ง

ถัดลงมาเป็น สวิตช์กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า ติดตั้งรวม
อยู่ในชุดเดียวกับสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า แบบ One-Touch กดลง หรือยก
สวิตช์ขึ้น เพื่อเลื่อนกระจกเพียงครั้งเดียว ควบคุมได้ทั้ง 2 บาน ซ้าย – ขวา

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา ด้านคนขับ จะมีแผงสวิตช์เซ็ตตั้งค่ามาตรวัด Trip Meter
รวมทั้งสวิตช์ปรับระดับความสว่างของชุดมาตรวัด

ถัดลงมาเป็นแผงสวิตช์ระบบต่างๆ รวม 6 ช่อง แต่ในรถคันที่เราทดลองขับ
ติดตั้งสวิตช์มาให้ 4 รายการ เริ่มจาก ฝั่งซ้ายบน เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ
ASC (Active Sound Control) เพื่อปรับระดับความดัง และโทนเสียง จาก
ทั้งเครื่องยนต์ และท่อไอเสีย ให้หวานไพเราะเสนาะหูมากขึ้น (เอาเข้าจริง
ผมปิดระบบนี้ทิ้ง เพราะผมต้องการได้ยินเสียงเครื่องยนต์เพียวๆ ไม่ต้องการ
เสียงปรุงแต่งจาก Actuator แบบนี้)

ฝั่งขวา เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบไฟหน้าอัตโนมัติ แถวล่าง ตรงกลางเป็น
สวิตช์ เปิด – ปิด ระบบเซ็นเซอร์ส่งสัญญาณร้องเตือนขณะเข้าจอด ติดตั้ง
ที่เปลือกกันชน ริมขวาสุดเป็น สวิตช์เปิด – ปิดระบบ BSM (Blind Spot
Monitoring) แจ้งเตือนยานพาหนะที่แล่นตามมาทางด้านข้างตัวรถทั้ง
2 ฝั่ง เป็นสัญญาณเตือนสีเหลืองอำพัน ริมกระจกมองข้างทั้งซ้าย – ขวา

ถัดลงไปเป็น สวิตช์ไฟฟ้าสำหรับเปิดฝากระโปรงท้าย ส่วนสวิตช์เปิดยก
ฝากระโปรงหน้า ยังคงเป็นกลไกตามเดิม แป้นคันเร่ง เบรก และแป้นพัก
เท้าซ้าย ทำจากอะลูมีเนียม มาพร้อมแถบกันลื่น ทั้ง 3 ชิ้น

ใต้คอพวงมาลัย เป็นที่อยู่อาศัยของ ถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า (Knee
Airbag) ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ควบคุมชุดไฟเลี้ยว ไฟสูง
และไฟหน้าอัตโนมัติ พร้อมระบบปรับระดับสูง – ต่ำอัตโนมัติ ส่วนฝั่ง
ซ้าย ควบคุมระบบใบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับ Rain Sensor
หัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า และหัวฉีดน้ำล้างชุดไฟหน้า

แป้นคันเร่ง เบรก และจุดพักเท้า เป็นแบบอะลูมีเนียม ส่วนเบรกมือนั้น
ใช้แป้นเหยียบที่เท้าซ้าย เป็น Parking Brake ไปตามสมัยนิยม

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรง Sport หุ้มหนัง มีสัญลักษณ์ F-Sport
มาให้ ยกชุดมาจาก Lexus IS ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง
(Telescopic) ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งที่คอพงมาลัยฝั่งซ้าย รวมทั้ง
ยังมีชุดสวิตช์ Multi-Function บนก้านพวงมาลัย ฝั่งซ้ายไว้ควบคุม
ชุดเครื่องเสียง และการรับ-วางโทรศัพท์ ส่วนฝั่งขวา ไว้ควบคุมการ
แสดงผลของหน้าจอ TFT บนชุดมาตรวัด รวมทั้ง เปิด – ปิด ระบบแจ้ง
เตือนผู้ขับขี่เมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลนถนน LDA (Lane Departure
Alert) และก้านสวิตช์ Cruise Control แบบสหกรณ์ ที่บริเวณด้านใต้
ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ส่วนสวิตช์ ติดเครื่องยนต์ ติดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย ใต้
ชุดมาตรวัด

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_08

ชุดมาตรวัด ยกมาจาก Lexus IS ทั้งแผง ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจ
จากชุดมาตรวัดของรถสปอร์ต Lexus LF-A (จำกัดการผลิต 500 คัน)

จุดเด่นของชุดมาตรวัดนี้คือ ผู้ขับขี่สามารถสั่งให้แสดงผลได้ 2 แบบ คือ
ชุดมาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบ
แถบสีขาว อยู่ในตำแหน่งตรงกลาง ด้านซ้ายทั้ง 2 ฝั่ง จะเป็นจอแสดงไฟ
สัญญาณเตือน และข้อมูลเท่าที่จำเป็น ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดอุณหภูมิทั้งใน
ระบบหล่อเย็น และอุณหภูมิภายนอกรถ ส่วนฝั่งขวา เป็นมาตรวัดน้ำมัน

แต่เมื่อกดปุ่มบนพวงมาลัย หน้าจอวงกลม จะเลื่อนไปอยู่ฝั่งขวา เพื่อให้จอ
TFT (Thin Film Transistor) Multi-Information Display ขนาด 4.2 นิ้ว
บนชุดมาตรวัด แสดงข้อมูลต่างๆ ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น มาตรวัดน้ำมัน
จะย้ายลงไปอยู่ข้างล่าง ส่วนมาตรวัดอุณหภูมิ จะยกไปอยู่ด้านบนสุด นอกนั้น
ตรงกลาง จะแสดงข้อมูลทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบ Real-Time กับ
แบบเฉลี่ย แจ้งข้อมูลเข็มทิศ และการนำทางจากระบบ Navigation System
แสดงหน้าจอชุดเครื่องเสียง และ Menu ยิบย่อย สำหรับการปรับตั้งค่าต่างๆ
รวมทั้ง ระยะทางที่รถจะแล่นไปได้ด้วยน้ำมันในถัง และพิเศษสุดสำหรับ รุ่น
RX200t นั่นคือ มีมาตรวัด Boost ของ Turbocharger มาให้ด้วย

สำหรับมาตรวัดรอบเครื่องยนต์นั้น ปกติแสดงเป็นแถบสีขาว แต่ถ้าเลือกใช้
โปรแกรมการขับขี่ Sport+ มาตรวัดรอบจะเปลี่ยนแถบเป็นสีแดง อีกทั้งยังมี
ระบบปรับตั้งค่าต่างๆให้สามารถค้างเข็ม Digital วัดรอบเครื่องยนต์ไว้ราวๆ
3 วินาที ก่อนจะทำหน้าที่ต่อไป ขณะไล่เกียร์แบบลากรอบจนสุดมาตรวัด

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_09

จากซ้าย ไปขวา กล่องเก็บของ ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Compartment
ถูกแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับใส่คู่มือผู้ใช้รถ 1 ช่อง นอกนั้น พื้นที่ก็ยังเหลือพอสำหรับ
เอกสารประจำรถ เช่นกรมธรรม์ประกันภัย หรือใส่วิทยุสื่อสาร ฯลฯ

แผงหน้าปัดที่ออกแบบให้มีการเล่นระดับ ก่อให้เกิดความโล่งสบายทางสายตา
ในขณะมองไปทางด้านหน้ารถ จากตำแหน่งคนขับ นาฬิกาแบบเข็ม Analog
ติดตั้งอยู่คั่นกลาง ระหว่างช่องแอร์คู่กลาง เหนือช่องแอร์คู่กลางฝั่งขวา เป็น
ตำแหน่งติดตั้ง สวิตช์ติดเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับรุ่น IS Sedan

สิ่งที่ผมยินดีปรีดามากสุดในรถคันนี้ คือการกลับมาอีกครั้งของชุดเครื่องเสียง
Mark Levinson อันเป็นแบรนด์คู่บุญารมีกับ Lexus มาตั้งแต่ต้นยุค 2000
คราวนี้ Toyota / Lexus จัดมาให้ลูกค้าคนไทย เต็มพิกัด ถือเป็นชุดที่ดีสุด
ใน Option List ของ Lexus RC ทั่วโลก ประกอบด้วยวิทยุ AM/FM พร้อม
เครื่องเล่น CD/MP3/WMA 1 แผ่น เชื่อมต่อกับ Audio-Mini-Jack และ
USB อีก 2 ตำหน่ง ลำโพง 17 ชิ้น รวมทั้ง Sub-Woofer พร้อมระบบเสียง
Surround 5.1 Channel และระบบ Signal Doctor ที่จะช่วยปรับปรุงและ
ยกระดับไฟล์เพลงซึ่งถูกบีบอัดมา ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือใกล้เคียง
ของเดิม โดยอัตโนมัติ เพื่อให้คุณภาพเสียงที่ดีสุด

ทั้งชุดเครื่องเสียง และเครื่องปรับอากาศ จะแสดงการทำงานผ่านจอภาพ
Monitor สี EMV (Electro Multi-Vision) ขนาด 7 นิ้ว ซึ่งแสดงผลเชื่อม
พร้อมกันได้กับหน้าจอ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว บนชุดมาตรวัด

ส่วนการควบคุมชุดเครื่องเสียงและหน้าจอ ทำได้ทั้งจากสวิตช์ที่ติดตั้งอยู่
บนแผงควบคุมกลาง และแป้น Remote Touch Interface (RTI Touch
Pad) ที่ติดตั้งอยู่ข้างช่องวางแก้วน้ำ ถ้าคุณคุ้นเคยกับการใช้ Touch Pad
บน Notebook PC มาก่อนแล้ว เชื่อว่าคุณจะใช้งานเจ้า Touch Pad นี้ได้
สบายๆ ไม่ยากเลย เพราะนอกจากจะเลื่อนหน้าจอได้เหมือนเมาส์ปกติแล้ว
ระบบยังสั่งล็อกตำแหน่งภาพสวิตช์แต่ละตำแหน่ง ตามแต่ละหน้าจอได้
เพื่อความสะดวกในการกดสั่งการขณะขับขี่

คุณภาพเสียงที่ออกมา บอกได้เลยว่า “ฟินใช้ได้” แม้จะยังไม่ถึงขั้นเทียบได้
กับเครื่องเสียง Mark Levinson ใน Lexus LS460 ที่เคยสร้างความทรงจำ
อันสวยงามให้ผมมาแล้วก็ตาม แต่เรียกได้ว่า ใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าบุคลิก
ของเครื่องเสียงชุดนี้ เหมาะกับการฟังเพลงแนว Acoustic หรือไม่เช่นนั้นก็
ต้องเป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีแนว Synthesizer ไปเลย

ถัดจากแผงควบคุมเครื่องเสียงและเครื่องปรับอากาศ เป็นสวิตช์เปิด – ปิด
ระบบ Heater อุ่นเบาะ พร้อมพัดลมระบายอากาศใต้เบาะคู่หน้า ปรับระดับ
ได้รายการละ 3 ตำแหน่ง ทั้ง 2 ฝั่ง

ฝั่งซ้ายของคันเกียร์ เป็นสวิตช์ควบคุมโปรแกรมการขับขี่ สวิตช์ เปิด – ปิด
ระบบดับและติดเครื่องยนต์อัตโนมัติ ขณะรถติด (Auto Start-Stop) และ
สวิตช์เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC + TRC กับ สวิตช์ Snow
สั่งให้เกียร์ สั่งออกรถด้วยเกียร์สูง เพื่อลดการหมุนฟรีของล้อ ทั้งบนพื้น
ถนนที่่ลื่น หรือมีหิมะปกคลุม

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_10_EDIT

พื้นที่กล่องคอนโซลคั่นกลางระหว่างผู้ขับขี่แลผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางแก้ว
แบบไม่มีฝาปิดมาให้ 2 ตำแหน่ง ซึ่งพอจะใช้งานได้ ถ้าแก้วของคุณมีขนาดเตี้ย
แต่ไม่ควรวางขวดน้ำ 7 บาทโดยเด็ดขาด เพราะความเป็นไปได้ที่ขวดน้ำอาจเด้ง
กระดอนระหว่างที่คุณกำลังขับรถอยู่ อาจเกิดขึ้นได้สูง (ตัวล็อกมันยึดไม่อยู่ครับ)

ฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนที่ดีอีกตำแหน่งของ RC
เมื่อเปิดออกมา จะพบว่าภายในกล่อง บุด้วยผ้าสักกะหลาด แถมยังติดตั้งช่อง
เชื่อมต่อเครื่องเล่นแบบพกพา Audio Mini-Jack ช่องเสียบ USB 2 จุด และ
ปลั๊กไฟสำรองขนาด 12 V 1 ตำแหน่ง มาให้จากโรงงาน

ด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง มีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังแถมมา
ให้ด้วย เย็นพอใช้ได้

2016_08_Lexus_RC200t_Interior_11

มองกลับขึ้นไปบนเพดานอีกครั้ง เพดานหลังคาด้านบนเป็นสีดำ บุด้วยวัสดุ
Recycle หุ้มด้วยผ้าอย่างดีสีดำ มีมือจับศาสดา มาให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ เหนือ
บานประตู ครบทั้ง 2 ฝั่ง แต่สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ไม่มีมือจับให้ยึดเกาะ
ใดๆทั้งสิ้น มีแค่ขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อ พับเก็บได้ ให้มา 2 ฝั่งเพียงเท่านั้น

Lexus RC เวอร์ชันไทยทุกคัน จะติดตั้งหลังคา MoonRoof (หรือจะเรียกว่า
SunRoof ตามความเคยชินก็ย่อมได้) เปิดยกขึ้นเพื่อระบายอากาศ และเลื่อน
ถอยหลัง – ปิดกลับ ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แยกชิ้นกัน พร้อมแผงบังแดดซึ่งจะ
ค่อนข้างแข็งและหนืดมือ ต้องออกแรงดันและดึงกลับ เพราะสามารถเลื่อน
เปิดได้พร้อมกันกับกระจก MoonRoof ไปเลย

ไฟส่องสว่างภายในรถ นอกเหนือจากไฟแต่งหน้าของแผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง
แล้วจะมีไฟกลางเก๋ง ให้มา 2 ตำแหน่ง คือไฟอ่านแผนที่คู่หน้าพร้อมไฟส่อง
สว่างตรงกลางด้านหน้า และไฟส่องสว่างของผู้โดยสารด้านหลัง การเปิด-ปิด
ใช้วิธี เอานิ้วแตะครั้งเดียว เบาๆ เท่านั้น! ไฮโซ ซะไม่มีละ!

2016_08_Lexus_RC200t_Visibility_1

ทัศนวิสัยด้านหน้า อาจดูเหมือนไม่แตกต่างจาก รถสปอร์ตขนาดกลางทั่วไป
ซึ่งมีด้านหน้ารถยื่นไปไกลกว่ารถเก๋งปกติ ขอบกระจกบังลมหน้าเหมือนจะเตี้ย
แต่ภาพรวมตอนขับขี่จริง ถือว่า ไม่มีอะไรเลวร้าย มองทางข้างหน้าได้ชัดเจน
เหมือนรถยนต์ทั่วไปนั่นแหละ

2016_08_Lexus_RC200t_Visibility_2

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีขนาดใหญ่พอสมควร แต่เมื่อมองจาก
ตำแหน่งคนขับแล้ว พอจะมีการบดบังรถจักรยานยนต์ ที่แล่นสวนทางมา
จากทางโค้งขวา บนถนนแบบเลนเดียว ได้บ้าง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

กระจกมองข้าง มีขนาดมาตรฐาน ติดตั้งกับบานประตู และไม่จำเป็นต้องทำ
เสาหูช้างมาให้ดูรำคาญตาแต่อย่างใด ถ้าปรับกระจกให้เห็นตัวถังน้อยที่สุด
ก็ยังเห็นภาพสะท้อนจากด้านข้างตัวรถได้ชัดเจน โดยที่กรอบกระจกด้านใน
ไม่กินพื้นที่มาบดบังขอบด้านข้าง

2016_08_Lexus_RC200t_Visibility_3

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย มีขนาดใหญ่พอสมควร เช่นเดียวกัน แต่
ถือว่า ขนาดใกล้เคีนยงกับเสาคู่หน้า A-Pillar ของ BMW Coupe รุ่นเล็กๆ
ทั้ง 2-Series และ 4-Series เมื่อมองจากตำแหน่งคนขับแล้ว อาจบดบังรถ
หรือยานพาหนะ ที่แ่นสวนทางมา ขณะกำลังจะกลับรถ ใต้สะพาน หรือเสา
ตอม่อรถไฟฟ้า BTS แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

กระจกมองข้าง เป็นเหมือนเช่นฝั่งขวา คือถ้าปรับกระจกให้เห็นตัวถังน้อยสุด
ก็ยังเห็นภาพสะท้อนจากด้านข้างตัวรถได้ชัดเจน โดยที่กรอบกระจกด้านใน
ไม่กินพื้นที่มาบดบังขอบด้านข้างเลย!

2016_08_Lexus_RC200t_Visibility_4

เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar มีขนาดหนามาก! การบดบังยานพาหนะอื่นๆ
จากระยะไกล บังได้มิดคันเลยทีเดียว แถมพื้นที่กระจกหน้าต่างด้านข้าง
แบบสามเหลี่ยม ยังมีขนาดเล็ก รวมทั้ง กระจกบังลมหลัง ค่อนข้าง ตีบ
การเปลี่ยนเลนไปทางด้านซ้าย หรือเข้าช่องทางคู่ขนาน ขอให้ใช้ความ
ระมัดระวัง และหมั่นสังเกตดูสัญญาณเตือน BLIS ที่กระจกมองข้างเอาไว้
จะ่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุลงได้พอสมควร

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_00_X_RAY_EDIT

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

Lexus RC มีเครื่องยนต์ให้เลือกมากถึง 4 ขนาด สำหรับทำตลาดทั่วโลก แบ่งเป็น
เครื่งยนต์เบนซิน 3 รุ่น และขุมพลังเบนซิน + มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Hybrid อีก 1 รุ่น
รายละเอียดตามระดับความแรง มีดังนี้

– RC F ตัวแรงที่สุดในรุ่น วางเครื่องยนต์ รหัส 2UR-GSE เบนซิน บล็อก V8 DOHC
32 วาล์ว 4,968 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.0 x 89.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 12.3 : 1
หัวฉีด EFI ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสูห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection D4-S พร้อม
ระบบแปรผันวาล์วแบบ VVT-iE (Variable Valve Timing-intelligent by Electric
motor) ทำงานแบบ Atkinson Cycle เฉพาะตอนขับขี่ความเร็วคงที่แบบ Cruising
กำลังสูงสุด 477 แรงม้า (PS) ที่ 7,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 54.0 กก.-ม. ที่รอบ
ตั้งแต่ 4,800 – 5,600 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
SPDS (Speed Direct Shift)

– RC350 วางเครื่องยนต์ รหัส 2GR-FSE เบนซิน บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว
3,456 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.0 x 83.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.8 : 1 หัวฉีด
EFI ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสูห้องเผาไหม้แบบ Direct Injection D4-S พร้อมระบบ
แปรผันวาล์ว Dual VVT-i (Variable Valve Timing-intelligent) กำลังสูงสุด
318 แรงม้า (PS) ที่ 6,400 รอบ/นาที แรงบิด 38.7 กก.-ม. ที่ 4,800 รอบ/นาที
ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ SPDS (Speed Direct Shift)

– RC300h HYBRID ประกอบด้วย เครื่องยนต์ รหัส 2AR-FSE เบนซิน บล็อก
4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,494 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 98.0 มิลลิเมตร
กำลังอัด 13.0 : 1 หัวฉีด EFI ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้แบบ Direct
Injection D4-S พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i ทำงานแบบ Atkinson
Cycle กำลังสูงสุด 178 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 22.5 กก.-ม.
ที่รอบตั้งแต่ 4,200 – 4,800 รอบ/นาที

เชื่อมการทำงานเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่น 1 KM พ่วงกับแบ็ตเตอรีแบบ Nickel
Metal Hydride (Ni-Mh) กำลังสูงสุด 143 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 30.6
กก.-ม. ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT ฝังรวมอยู่ในตัวมอเตอร์

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_01

สำหรับรุ่นที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย วางขุมพลังขนาดเล็กสุด เพียงแบบเดียว
แต่พิษสงของมัน ก็แสบสันต์ ไม่แพ้ลูกพี่ทั้ง 3 แบบข้างต้นเลย

ทุกท่านครับ ผมมีความยินดีจะขอแนะนำให้รู้จักกับ เครื่องยนต์ Toyota ที่ผมหมายปอง
เฝ้ารอมาสักพักใหญ่แล้ว ว่าอยากจะทดลองขับ ด้วยความอยากรู้ว่า มันจะแรงสักแค่ไหน
ตอบสนองเป็นอย่างไร

นี่คือ เครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด รหัส 8AR-FTS บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,998 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 86.0 x 86.0 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ สี่เหลี่ยมจตุรัส หรือ
Square) กำลังอัด 10.0 : 1

ขุมพลังบล็อกนี้ ใช้เสื้อสูบแบบ Aluminium Alloy ประเภท Open-deck มี Counter-
balance shaft 2 แท่ง หมุนด้วยความเร็ว 2 เท่าของเพลาข้อเหวี่ยง ติดตั้งอยู่ส่วนล่าง
ของเครื่องยนต์ ในบริเวณ Crankcase
เพลาข้อเหวี่ยงเป็นเหล็กกล้าฟอร์จ วางตำแหน่งข้อเหวี่ยงเยื้องศูนย์กระบอกสูบเหมือน
เครื่องยนต์สมัยใหม่หลายรุ่น ใต้ลูกสูบมีหัวฉีดน้ำมันเครื่อง (Oil-jet) ฉีดน้ำมันเครื่องเข้า
ใต้กระโปรงลูกสูบ

ห้องเผาไหม้ ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นแบบ ESTEC (Economy with Superior Thermal
Efficient Combustion) ให้มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้สูงที่สุด

ระบบจ่ายเชื้อเพลิงเป็นหัวฉีด ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ EFI ตรงสู่ห้องเผาไหม้แบบ
D-4ST (Direct injection 4-Stroke gasoline Superior version with Turbo) ซึ่ง
ใช้เทคโนโลยี คล้ายกับระบบ D-4S ใน Toyota 86 / Subaru BRZ นั่นคือ หัวฉีดมีทั้ง
แบบ Direct Injection และ หัวฉีดที่พอร์ทแบบเครื่องยนต์ปกติ โดยสามารถปรับโหมด
การทำงานระหว่างฉีดทั้ง 2 หัว หรือทำงานแค่หัวฉีด Direct Injection ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ
สภาพการขับขี่ ภาระที่เครื่องยนต์ต้องแบกรับเพื่อฉุดลาก และรอบเครื่องยนต์

นอกจากนี้ ขุมพลัง 8AR-FTS ยังติดตั้งระบบแปรผันวาล์ว VVT-iW (Variable Valve
Timing – Intelligent Wide) แตกต่างจาก VVT-i ปกติ ตรงที่ ระบบนี้ จะเพิ่มการเยื้อง
หัวแคมชาฟท์ฝั่งวาล์วไอดี ให้กว้างขึ้นอีกจาก 54 เป็น 80 องศา เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น
ในการสั่ง
เปิดและปิดวาล์ว ตามความเร็วรอบเครื่องยนต์

ช่วงรอบต่ำ ระบบ VVT-iW จะสั่งเปิดให้ระยะเยื้องของวาล์วกว้างขึ้น เพื่อให้เครื่องยนต์
ทำงานในโหมด Atkinson Cycle (หายใจเข้าห้องเผาไหม้ แต่ลูกสูบจะดันไอดีกลับออก
คืนมาบางส่วน จากระยะการปิดวาล์วไอดี เพื่อรอเปิดรับไอดีเข้าห้องเผาไหม้ครั้งถัดไป)
เหมือนเครื่องยนต์เบนซินสำหรับระบบ Hybrid แต่ในช่วงรอบเครื่องยนต์ปกติ จนถึงรอบ
สูงๆ ระบบจะสั่งให้เปิดวาล์วไอดี เยื้ององศาแคมแบบปกติ เพื่อเรียกพละกำลังมาใช้งาน

อีกจุดเด่นของเครื่องยนต์บล็อกใหม่นี้ คือ การออกแบบเสื้อสูบให้รวบท่อร่วมไอเสีย จาก
4 เหลือ 2 ท่อ พ่วงด้วย Turbocharger แบบ Twin Scroll ตัวเทอร์โบนั้นออกแบบโดย
Toyota / Lexus เอง ผลิตจากโรงงานที่ Miyoshi ตั้งบูสท์สูงสุดไว้ที่ 1.17-1.2 Bar

แน่นอนว่า เมื่อมี Turbocharge ก็ควรจะมี Intercooler มาช่วยลดความร้อนของไอดี
ก่อนจะเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Intercooler ของ 8AR-FTS เป็นแบบ Air-to-Liquid หรือ
ใช้คำว่า “ระบายความร้อนด้วยน้ำ”

แทนที่จะติดตั้ง Intercooler ไว้รับลมบริเวณด้านหน้ารถ เหมือนเช่นพวกรถยนต์ที่มี
Scoop หายใจ บนฝากระโปรงหน้า หรือ ที่ช่องรับอากาศบริเวณเปลือกกันชนหน้า
ทีมวิศวกร ก็ออกแบบให้ Intercooler ทำตัวเป็นหม้อน้ำ มีปัมน้ำของระบบมันเอง
ต่อท่อ ให้น้ำหล่อเย็นเข้าไปไหลเวียนวน พอน้ำระบายความร้อนจาก Intercooler
เสร็จแล้ว น้ำก็จะไหล่อมาที่หม้อน้ำขนาดเล็กซึ่งติดตั้งไว้ด้านหน้ารถ

เทคโนโลยีนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ Toyota เคยใช้มาแล้วกับ Celica GT-4 ขณะที่
พันธมิตรอย่าง Subaru ก็เคยยกมาใช้ใน Legacy รุ่น BC5 เช่นเดียวกัน
ข้อดีของ Intercooler ระบายความร้อนด้วยน้ำ คือไม่เปลืองที่กันชนด้านหน้า ช่วยให้
ระบายความร้อนได้ดี แม้บริเวณนั้นจะไม่มีลมพัดผ่าน ขอแค่ให้มีที่เล็กๆสำหรับติดตั้ง
ชุดหม้อน้ำของ Intercooler ไว้รับลมสักหน่อยก็พอ แต่ข้อเสียคือตัวมันเองต้องมีปั๊มน้ำ
และมีจุดที่ต้องคอยดูแลมากกว่า Intercooler แบบระบายความร้อนด้วยอากาศ

ขุมพลังบล็อกนี้ ประกอบขึ้นที่โรงงานใน Kyushu ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน NX200t
น้ำหนักตัวเครื่องยนต์ 160 กิโลกรัม ถ้านึกไม่ออกว่าน้ำหนักเบาขนาดไหน กรุณานึกถึง
เครื่องยนต์ 4G63T ของ Mitsubishi Motors ซึ่งใช้เสื้อสูบเหล็กจากยุค 90s และวาง
ใน Lancer Evolution เครื่องยนต์บล็อกนั้นหนัก 220-230 กิโลกรัม

แต่ถ้ายังนึกไม่ออกอีก ให้นึกถึงน้ำหนักตัวของ พี่แพน Pan Paitoonpong ของเว็บเรา
นี่แหละครับ เป๊ะ!!

(Pan Said : “อีดอก! เทียบกับกูทำไม!? เครื่องดู หนัก ทันที!”)

ให้กำลังสูงสุด 245 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร
(35.66 กก.-ม.) ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,650 – 4,400 รอบ/นาที แรงบิดนี่ลากมา
ต่อเนื่องตั้งแต่รอบต่ำยันรอบกลางๆค่อนปลาย เป็นแบบ Flat Torque เลยทีเดียว

ถ้าดูให้ดีๆจะเห็นว่า ขุมพลัง 8AR-FTS เวอร์ชันสำหรับ RC จะมีแรงม้าเพิ่มขึ้นจาก
RX200t และ NX200t อยู่ 7 ตัว ขณะเดียวกัน แรงบิดสูงสุดเท่ากันก็จริง แต่อยู่ได้
นานเพิ่มขึ้นอีก 400 รอบ/นาที (จากเดิม 1,650 – 4,000 รอบ/นาที)

เติมน้ำมันเบนซิน ได้ทั้ง เบนซิน 95 แก็สโซฮอลล์ 95 E10 และ E20 ปล่อยก๊าซ
คาร์บอนไดออกไซด์ ต่ำ ที่ระดับ 174 กรัม / กิโลเมตร

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_02_Transmission_EDIT

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมโหมด
+ / – SPDS (Sport Direct Shift) รุ่น AA81E จาก AISIN มีขนาดเล็กและ
น้ำหนักเบา พร้อมแป้น Paddle Shift เปลี่ยนเกียร์ หลังพวงมาลัย

เกียร์ลูกนี้ จะทำงานร่วมกับ สวิตช์ปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ Drive Mode
Select ซึ่งมีให้เลือก 4 โปรแกรม ดังนี้

– Normal สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป
– Eco หมุนสวิตช์ไปทางซ้าย เน้นประหยัดน้ำมัน ด้วยการสั่งให้ลิ้นคันเร่ง
ไฟฟ้าเปิดช้าลง หน่วงลิ้นคันเร่งไฟฟ้าในทุกครั้งที่เหยียบลงไป และสั่ง
ให้เครื่องปรับอากาศ ลดการทำงาน และคุมอุณหภูมิภายในรถ ที่ระดับ
25 องศาเซลเซียส
– Sport เน้นการตอบสนองของเกียร์ ให้ลากรอบได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้สนุก
กับการขับขี่ขึ้นจากโหมด Normal อีกนิด หมุนสวิตช์ไปทางขวาสุด
– Sport + ถ้าต้องการความสนุกเพิ่มจากโหมด Sport ให้หมุนสวิตช์
ไปทางขวาสุด เป็นตำแหน่ง Sport แล้วกดลงไปอีกครั้ง ช่วงล่างจะ
แข็งขึ้นอีกนิด เกียร์จะถูกลดลงมาในทันที 1 หรือ 2 ตำแหน่ง และจะ
สั่งให้ลากรอบนานขึ้น เปลี่ยนเกียร์ช้าลง

จุดเด่นของเกียร์ลูกนี้คือ ในตำแหน่งเกียร์ D หากคุณปรับสวิตช์ Drive
Select Mode ไปที่ Sport หรือ Sport+ ระบบคอมพิวเตอร์ของชุดเกียร์
G AI (Artificial Intelligence) – Shift จะสั่งเลือกเกียร์ และรูปแบบการ
เปลี่ยนเกียร์ ให้เหมาะสมกับอัตราเร่ง ผ่านการอ่านค่าจาก เซ็นเซอร์วัด
แรง G Force

ยิ่งถ้าคุณ เปลี่ยนไปใช้เกียร์ M (โหมด +/-) ระบบจะยอมล็อกตำแหน่ง
เกียร์ ให้คุณ เพื่อให้ลากรอบ และให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เองตาม
ความต้องการ

อัตราทดเกียร์มีดังนี้

เกียร์ 1……………………….4.596
เกียร์ 2……………………….2.724
เกียร์ 3……………………….1.863
เกียร์ 4……………………….1.464
เกียร์ 5……………………….1.231
เกียร์ 6……………………….1.000
เกียร์ 7……………………….0.824
เกียร์ 8……………………….0.685
เกียร์ถอยหลัง…..……………4.056
อัตราทดเฟืองท้าย…….….….3.133

เชื่อมการทำงานเข้ากับ เพลาท้าย Torsen LSD เพื่อช่วยกระจายแรงบิด
ไปยังล้อคู่หลัง ฝั่งซ้าย – ขวา อย่างเหมาะสมในขณะเข้าโค้ง สร้างสมดุล
ในการบังคับควบคุมรถได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้เพียง
7.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
เฉลี่ย 13.7 กิโลเมตร/ลิตร ตามการทดสอบแบบ UNECE Mode และผ่าน
มาตรฐานมลพิษระดับ Euro 5 โดยปล่อยก๊าซไอเสียคาร์บอนไดออกไซด์
ที่ 174 กรัม/กิโลเมตร (ขณะที่ Toyota 86 ทำได้ 150 กรัม/กิโลเมตร และ
มาตรฐานของ ECO Car Phase 1 บ้านเรา อยู่ที่ 120 กรัม/กิโลเมตร)

สมรรถนะเป็นอย่างไรนั้น เราได้ทำการทดลองจับเวลา ช่วง กลางคืน เปิดแอร์
และ นั่ง 2 คนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บไซต์ Headlightmag
ผลลัพธ์ที่ออกมา  เมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องร่วมตระกูล ที่วางขุมพลังเดียวกัน
และคู่แข่ง ในพิกัด Coupe / Sport & Specialty มีดังนี้

2016_10_03_lexus_200t_data_EDIT

2016_08_Lexus_RC200t_Data2_Compare

ตัวเลขที่ออกมา กลับไม่ได้ดีอย่างที่ผมคาดหวังไว้ ทำได้แค่ระดับกลางๆของ
กลุ่ม Sport & Specialty ยิ่งถ้าเทียบกันกับคู่แข่งแล้ว ก็ยังแซงขึ้นหน้า 325i
Coupe E92 เดิม ได้ยาก ในเกม 0 -100 กิโลเมตร/ชั่วโมง RC อาจตามไป
เอาคืนได้ช่วง อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่สุดท้าย ก็จะโดนแซง
ทิ้งหายไปในช่วง Top Speed อยู่ดี

แต่นั่นเป็นตัวเลขของรถยนต์ที่ผมทำเก็บไว้หลายปีแล้ว มันอาจไม่ยุติธรรมนัก
ถ้าเราจะเปรียบตัวเลขของ RC200t กับคู่แข่งรุ่นเก่าเหล่านั้น ทั้งที่ยังไม่ได้ขับ
C-Class Coupe C250 ใหม่ และ 420d ดังนั้น หากถามว่า ทั้ง 3 คันนี้เทียบกัน
ใครแรงกว่าใคร ผมอาจต้องขอแปะโป้งเอาไว้ก่อน ในตอนนี้

เรื่องน่าแปลกก็คือ เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับพี่น้องร่วมตระกูล ที่ใช้เครื่องยนต์
รหัสเดียวกัน แต่เป็นคนละเวอร์ชัน ทั้งที่มีแรงม้าน้อยกว่า แต่ตัวเลขอัตราเร่งนั้น
กลับทำได้ดีกว่า RC อยู่นิดหน่อยด้วยซ้ำ!

เหตุผลไม่ยากครับ อัตราทดเกียร์ ยังไงละ! ในช่วงไต่ความเร็วจากจุดหยุดนิ่ง จน
ขึ้นไปถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าสังเกตดีๆ RC200t จะต้องใช้เกียร์ ถึง 3 เกียร์
กว่าจะไต่ขึ้นไปถึงความเร็วดังกล่าว แต่พอเป็น NX200t และ RX200t ซึ่งใช้แค่
เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ กลับใช้เพียงแค่ 2 เกียร์ ก็ไต่ขึ้นไปถึงความเร็วระดับนั้น
ได้อย่างง่ายดาย! นั่นละ คือสาเหตุ

ถ้าเปลี่ยนไปใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เหมือน NX200t และ RX200t อัตราเร่ง
จะดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน แต่ตัวเลขความประหยัดน้ำมันอาจลดลงเหลือแค่ราวๆ
14 กิโลเมตร/ลิตร หรือถ้าอยากได้ความประหยัดมากนัก ก็อาจต้องหันไปเล่นรุ่น
RC300h ซึ่งก็ยังไม่มีการสั่งเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราแต่อย่างใด

กระนั้น อัตราทดเกียร์ 8 จังหวะลูกนี้ อันที่จริง ก็ไม่ได้แย่ เซ็ตมาได้ค่อนข้างดี
เสียด้วยซ้ำ งั้น ปัญหามันอยู่ที่ไหนกันละ? อ่านต่อไปเรื่อยๆ ครับ เดี๋ยวก็รู้…

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_04_Top_Speed

การไต่ความเร็วนั้น ในช่วงเกียร์ 1 จะค่อนข้างไวพอใช้ได้ แต่เมื่อเข้าเกียร์ 2
ผมกลับพบว่า ถึงแม้เข็มความเร็วจะยังคงไต่ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่แรงดึง
มันกลับไม่ได้ชวนให้น่าตื่นเต้นมากเท่ากับ NX200t

ทว่า พอเข้าสู่ช่วงความเร็วรอบกลางๆถึงช่วงปลาย กลับกลายเป็นแรงเอาเรื่อง!
เข็มความเร็ว ไหลขึ้นต่อเนื่องจนน่าประหลาดใจ ช่วยให้ทำความเร็ว ไ่ต่ขึ้นไป
ถึง Top Speed ได้ ไม่ยากเย็นอย่างที่คิด แม้ต้องใช้ระยะทางยาวอยู่บ้างก็ตาม

ย้ำกันเหมือนเช่นเคยนะครับ เราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด เช่นที่เราทำให้คุณผู้อ่านดูนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร เราทำ
ให้ดูกัน ด้วยเหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาวหรือ
มุดกันจนเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญ และระมัดระวังกับ
เรื่องนี้มากๆ เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง
ดังนั้น อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะถ้าพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิต
ของคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ
แต่อย่างใดทั้งสิ้น!

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_05_JIMMY_Drive

ในการขับขี่จริง ความคิดของคนที่ได้ลองขับ ในประเด็นอัตราเร่งที่มีมาให้นั้น
ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ของแต่ละคน ว่าเคยเจอกับรถแรงๆ มามากน้อยแค่ไหน

คนที่ไม่เคยเจอรถแรงๆ อาจตื่นเต้นเร้าใจกับอัตราเร่งที่พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง
ก็คงจะตื่นเต้นได้บ้าง เรี่ยวแรงที่มีมาให้ ถือว่า ไม่ขี้เหร่ อยูในระดับพอใช้ได้ แต่
ถ้าคุณเคยลองขับรถสปอร์ต หรือรถเก๋งที่แรงกว่านี้ คุณอาจจะรู้สึก “เฉยๆ” และ
ไม่ยินดียินร้าย ถึงจะสนุกในการขับขี่ได้พอสมควรก็ตามเถอะ

ต้นเหตุของอาการนี้ ผมมองว่า มาจากการเซ็ตคันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองไม่ไวพอ
แอบช้าเหมือนคันเร่งของ Lexus RX200t ราวกับยกคันเร่งไฟฟ้าชุดเดียวกันมา
ติดตั้ง แล้วปรับจูนโปรแกรมให้คันเร่งตอบสนองเหมือนกัน “เป๊ะ” ราวกับยกไป
ถ่ายเอกสารกันมาเลย

ผลลัพธ์ก็คือ การตอบสนองของคันเร่งที่ช้า ทำให้ความสนุกในการเรียกอัตราเร่ง
ถูกลดทอนลงอย่างน่าเสียดาย พอกดคันเร่งลงไปหนักๆ สมองกลเครื่องยนต์ยัง
ต้องขอคิดดูก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต ก่อนจะตัดเปลี่ยนเกียร์ลง เพื่อเด้งให้
รอบเครื่องยนต์ ดีดขึ้นไปสูง จังหวะนี้ มันล่าช้าในแบบที่เหมือนกับคันเร่งไฟฟ้า
ของทั้ง Lexus RX รุ่นล่าสุด และ Toyota Camry รุ่นปี 2006 – 2012

ต่อให้คุณลองเปลี่ยนเป็นโหมด Sport หรือ Sport+ ใส่เกียร์ M เพื่อเล่นเกียร์
ด้วยตนเอง เลี้ยงรอบเครื่องยนต์ไว้ที่ระดับ 3,500 – 4,000 รอบ/นาที ก่อนจะ
กระแทกคันเร่งลงไป สมองกลก็ยังทำตัวเหมือน Salary Man ชาวญี่ปุ่น ที่เพิ่ง
ตื่นนอนได้สัก 10 นาที คือ จะทำหน้า อึ้งๆ แป๊บนึง ก่อนจะปล่อยพลังออกมา

น่าเสียดายว่าทำไมถึงได้เซ็ตคันเร่งมาแบบนี้ ทั้งที่ NX200t มีคันเร่งไฟฟ้าที่
ตอบสนองได้ไวกว่าชัดเจน ความสนุกในการเรียกอัตราเร่ง แอบขาดหายไป
อย่างไม่ควรเป็นเลย ความเร็วในการสั่งการของสมองกลยังช้าไปหน่อย

ถ้าทำได้ผมอยากขอให้ ทีมวิศวกร ปรับการจูนคันเร่งของ RC200t ให้ฉับไว
เหมือนเช่น NX200t นั่นน่าจะเหมาะสมกับุคลิกของตัวรถมากกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนการทำงานของระบบส่งกำลัง ในโหมด D ปกติ จะยังคงความนุ่มนวล และ
ราบรื่น ในทุกการเปลี่ยนเกียร์ ตามสไตล์ เกียร์จาก AISIN แต่เมื่อใดที่คุณตบ
คันเกียร์ เข้าไปในตำแหน่ง M หรือเล่นกับแป้น Paddle Shift เอง เกียร์จะเริ่ม
พาคุณไปพบกับความกระฉับกระเฉงขึ้น และจงใจให้ผู้ขับสัมผัสได้ว่าเกียร์นั้น
ถูกเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นไปแล้ว โดยไม่ต้องมีอาการกระตุกกระชากใดๆทั้งสิ้น
ถ้าอยากเปลี่ยนเกียร์ลง 2 จังหวะรวด ก็ทำได้ในทันที สมองกลค่อนข้างฉลาด
คือทำตามคำสั่ง เท่าที่ต้องการไม่พยายามทำอะไรโง่ๆ เพื่อจะเรียนรู้คนขับ จน
น่ารำคาญ นี่คือข้อดีของเกียร์ AISIN ที่ใช้ใน Toyota และ Lexus รุ่นใหม่ๆ ซึ่ง
ผมอยากให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายโดยเฉพาะ ฝั่งยุโรป เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ยังคงทำได้ดีในแบบที่เราคาดหวังกับ Lexus
ในช่วงเดินทางด้วยความเร็วต่ำ จนถึงความเร็วปกติ ห้องโดยสารยังคงให้ความ
สุนทรีย์ เสียงรบกวนจากภายนอก ดังเข้ามาค่อนข้างน้อย ต่อให้คุณใช้ความเร็ว
สูงถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังจะเล็ดรอดเข้ามา
ให้คุณได้ยินน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่มาก แต่ถ้าเมื่อใดที่พ้นจากช่วง 150 – 160
กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามปกติ

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_06_Steering_Wheel

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง
แบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 5.2 เมตร
(วัดจากยางรถ) และ 5.6 เมตร (วัดจากมุมกันชนรถ) แคบพอๆกับ ECO-Car เลย
ทีเดียว หมุนจากฝั่งซ้ายสุด ไปขวาสุด Lock to Lock ได้ 2.84 รอบ อัตราทดเฟือง
พวงมาลัยอยู่ที่ 13.2 : 1

พวงมาลัยถูกเซ็ตมาให้มีน้ำหนักและความหนืดที่เหมาะสม ตั้งแต่จอดนิ่ง เคลื่อนที่
ในช่วงความเร็วต่ำ ก่อนจะค่อยๆเพิ่มน้ำหนักขึ้นในช่วงความเร็วสูง แม้ยังให้สัมผัส
ที่รู้ได้ในทันทีว่า เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า แต่ข้อดีก็คือ การตอบสนองค่อนข้าง
เป็นธรรมชาติ มีความ Linear อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ เลี้ยวกลับรถแล้ว พวงมาลัยจะคืน
กลับมาอยู่ในตำแหน่งล้อตรง

ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ทั้งความเร็วต่ำและสูง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก แถมยังนิ่ง
และมั่นใจได้ในขณะใช้ความเร็วสูงอีกด้วย ข้อนี้แตกต่างจาก รถยนต์กลุ่ม Premium
Compact Coupe ค่ายยุโรปที่ผมเคยเจอมาหลายๆคัน ก่อนหน้านี้

อัตราทดเฟือง เซ็ตมา กลางๆ กระเดียดไปทางเกือบจะไว แต่ยังไม่ถึงกับไวแบบ
รถสปอร์ต มากจนเกินไป สำหรับคนที่ต้องการขับรถในสไตล์รื่นรมณ์ ลักษณะการ
เซ็ตพวงมาลัยแบบนี้ น่าจะถูกใจคุณแน่ๆ แต่ถ้าเป็นคนที่ชื่นชอบการขับรถในสไตล์
บู๊ล้างผลาญ นี่คือพวงมาลัยที่อาจไม่ถูกจริตเท่าใดนัก เพราะมันมีระยะฟรีพอสมควร

กระนั้น ดูเหมือนว่าทีมวิศวกรของ Toyota / Lexus จงใจเซ็ตพวงมาลัยให้ตอบสนอง
ในลักษณะนี้ ด้วยเหตุที่พวกเขารู้ดีว่า กลุ่มลูกค้าของเขา เป็นพวกที่ไม่ได้ขับขี่ดุเดือด
มากนัก ผิดจากคนที่คิดจะซื้อรุ่นแพงกว่านี้ อย่าง RC F

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_06_Suspension_Brake

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone ด้านหลังเป็น
แบบ Multi-Link มาพร้อมระบบควบคุมความแข็งอ่อนของช็อกอัพ AVS
(Adaptive Variable Suspension System) ติดตั้งให้ที่ช็อกอัพทั้ง 4 ต้น

ตอนแรกผมก็นึกว่า รถยนต์ 2 ประตู หน้าตาโหดๆ ดุๆ แบบนี้ ช่วงล่างน่าจะ
ดิบเถื่อนกว่า Lexus รุ่นอื่นๆ ที่ไหนได้ พอลองขับจริงๆแล้ว มันถูกเซ็ตมาใน
แนวนุ่มสบาย สไตล์ Lexus แบบเดิมๆ ที่หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยและชื่นชอบ
นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่า กระชับขึ้น คล่องแคล่วขึ้น ไม่ย้วย จัมพ์คอสะพาน
ครั้งเดียวอยู่ แทบไม่มี Rebound

ยิ่งพอเจอกับล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง Yokohama ADVAN db
(Decibel) ขนาด 235/45 R18 ติดรถมาให้จากโรงงาน ยิ่งเพิ่มความนุ่มนวล
เหมาะกับสภาพถนนอันโหดร้ายของประเทศไทยเราเป็นอย่างดี

ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างจะดูดซับแรงสะเทือนจากเนินสะดุดลูกระนาด
และหลุมบ่อกับฝาท่อ ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ได้ดี
ตอบสนองในแบบ ช่วงล่างที่เซ็ตมาแข็ง แต่แอบมีความนุ่มติดปลายนวม
ถ้าเทียบกับพี่น้องร่วมค่าย อย่าง Toyota 86 / Subaru BRZ แล้ว คู่แฝด
ทั้ง 2 คัน นั้น จะถูกเซ็ตช่วงล่าง ให้ดิบกว่า RC อีกสเต็ปหนึ่ง

ถ้าอยากจะให้ตัวรถมีบุคลิกดิบเถื่อนขึ้น ต้องปรับเข้าโหมด Sport S + ซึ่ง
ช็อกอัพจึงจะแข็งขึ้นนิดๆ เพิ่มความตึงตังขึ้นกระจึ๋งนึง ไม่เยอะนัก แต่ช่วย
เพิ่มความมั่นใจตอนเข้าโค้งอีกนิดหน่อย

บนทางด่วน โค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้าสู่
ทางด่วนขั้นที่ 1 ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้าม โรงแรม Eastin ผมพา RC200t เลาะ
เข้าโค้งด้วยความเร็วบนมาตรวัด ประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ถึงจุด Limit
เท่าที่ยางติดรถ Yokohama db (Decibel) จะรับมือไหวกันแล้ว แต่ช่วงล่าง ยัง
ส่งความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าเปลี่ยนยางให้ดีกว่านี้ รถจะยังสู้กับโค้งได้อีกนิดหน่อย

ขณะเดียวกัน บนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง ขึ้นจากทางด่วน
ขั้นที่ 1 เชื่อมขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา RC200t เข้าโค้งเหล่านั้นไป
ด้วยความเร็ว 100, 115 และช่วงโค้งขวาขึ้นสู่บูรพาวิถี ได้ 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อย่างสบายๆ

ภาพรวมแล้ว นี่คือ ช่วงล่างในแบบที่ Lexus ทำออกมาได้เนียนนุ่ม พอสนุกได้
แต่เน้นขับสบาย ทั้งบนทางด่วน หรือพื้นผิวที่ไม่เรียบบ้าง มากๆ เซ็ตมาได้ลงตัว
ดีแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขปรับปรุงจากนี้อีก เพราะช่วงล่างแบบนี่แหละที่สะท้อนให้
เราได้รับรู้ถึง Character ของแบรนด์ Lexus อย่างแท้จริง นั่นคือ นุ่มแน่น สงบ
แต่ถ้าจะสนุก ก็เฉียบคม นิ่ง มั่นใจได้ ไม่แข็งกระโดกกระเดกไร้สาระ

ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน ครบทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรก
คู่หน้า ของเวอร์ชันไทย เป็นแบบ 2 ชิ้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 357 มิลลิเมตร
ส่วนคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 310 มิลลิเมตร

อุปกรณ์ตัวช่วยมาตรฐานยังคงถูกติดตั้งเสริมการทำงานให้กับ RC ไม่ว่าจะเป็น
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบกระจายแรงเบรก
EBD (Eectronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกใน
ภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ทั้งหมดนี้ รวมอยู่ใน ระบบควบคุมเสถียรภาพแบบ
องค์รวม VDIM (Vehicle Dynamics Integrted Mangement) พร้อมระบบ
ป้องันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน
HSA (Hill-Start Assist)

แป้นเบรก แม้จะเซ็ตมาให้นุ่มเท้าตามประสารถยนต์ระดับ Premium ก็จริงอยู่
แต่ทันทีที่เหยียบลงไปราวๆ ครึ่งหนึ่งของ ระยะเหยียบทั้งหมด คุณก็จะพบว่า
ระยะเหยียบที่เหลือนับจากนั้น จนสุด มันสั้นมาก และต้องออกแรงเหยียบเพิ่ม
มากขึ้นกว่าในช่วงแรกชัดเจน คล้ายกับบุคลิกของแป้นเบรก ในรถแข่งแบบ
Touring Car

การตอบสนองในลักษณะนี้ ชวนให้ผมนึกถึงแป้นเบรกของ Toyota Aristo /
Lexus GS300 รุ่นปี 1998 – 2005 (2nd Generation) ซึ้งมีการตอบสนอง
ในสไตล์คล้ายคลึงกัน แน่ละว่า Lexus RC ทำได้ดีกว่ากันเยอะมาก แต่ยัง
แอบมีอาการส่ายเล็กๆ ให้เห็นอยู่นิดนึง ขณะที่ระบบเบรกกำลังช่วยหน่วงรถ
ลงมาจากย่านความเร็วสูง ยังอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_08_Safety

RC200t เวอร์ชันไทย ถูกติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเชิงป้องกัน และ
เชิงปกป้อง (Active & Passive Safety) มาให้ในระดับพอเพียง ถึงแม้ว่าผม
จะเสียดายอุปกรณ์บางชิ้นที่ถูกตัดออกไป แต่หลายชิ้น ก็ดีใจที่ยังมีติดตั้งให้
กับลูกค้าในบ้านเรา รายการอุปกรณ์ต่างๆ มีดังนี้

– ระบบ LDA (Lane Departure lert) ส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ บนหน้าจอ
MID บนมาตรวัด เมื่อผู้ขับขี่ เปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว (ข้อนี้ชอบมาก!)

– ระบบ BSM (Blind Spot Monitor System) ถ้าเซ็นเซอร์ ส่งสัญญาณ
Redar แบบ Quasi-Millimeter บนเปลือกกันชนหลัง ตรวจพบกับยาน-
พาหนะ ใดๆ ที่แล่นมาทางด้านข้างรถ ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา ระบบจะแจ้งให้
ผู้ขับขี่ ทราบ ผ่านทางสัญญาณไฟเตือนสีเหลืองอำพัน บนมุมกระจก
มองข้าง และมันจะกระพริบ ถ้าคุณเปิดไฟเลี้ยวเพื่อเตรียมเปลี่ยนเลน

– ระบบ RCTA (Redar Cross Traffic Alert) ใช้เซ็นเซอร์ ชุดเดียวกันกับ
ระบบ Blind Spot ตรวจจับยานพาหนะ หรือผู้คน ที่เคลื่อนผ่านด้านหลัง
ของตัวรถ แจ้งเตือนด้วยเสียง และสัญญาณไฟกระพริบที่กระจกมองข้าง
ช่วยให้การถอยรถออกจากช่องจอด ปลอดภัยยิ่งขึ้น

– ระบบ AHB (Automatic High Beam System) ถ้าคุณเปิดไฟสูง ขณะ
ขับรถทางไกล แล้วกดปุ่มเปิดระบบนี้ไว้ ทันทีที่ระบบตรวจพบยานพาหนะ
หรือคน เคลื่อนที่ สวนทางมา มันจะสั่งให้ลดไฟสูง ลงมาเป็นไฟต่ำทันที
เพื่อลดปัญหา ไฟสูงไปแยงตา เพื่อนร่วมเส้นทางที่สัญจรสวนมา

– ฝากระโปรงหน้าแบบ PUH (Pop Up Hood) ถ้าเซ็นเซอร์บริเวณเปลือก
กันชนด้านหน้า ตรวจพบว่า รถกำลังชนคนเดินถนน ระบบจะสั่งให้ช็อกอัพ
ที่มุมด้านในสุดของฝากระโปรงหน้า ทั้ง 2 ฝั่ง ยกตัวขึ้นอัตโนมัติในทันที
เพื่อยกฝากระโปรงหน้าขึ้นไป เพิ่มพื้นที่ยุบตัวของฝากระโปรงหน้า ช่วย
ลดการบาดเจ็บของคนที่ถูกชนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ถุงลมนิรภัย คู่หน้า ด้านข้าง ม่านลมนิรภัย และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า
ทั้งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า รวมทั้งสิ้น 8 ใบ
เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
(Pretensioner & Load Limiter) มาให้ครบทุกตำแหน่งเบาะนั่ง โดย
คู่หน้า สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้
ไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ติดสว่างทันทีที่คุณเหยียบเบรกกระทันหัน
– รบะบบแจ้งเตือนความดันลมยาง (Tire Pressure Monitoring System)

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_07_Body_Structure

กระนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงเหตุการณ์คับขันไม่ได้จริงๆแล้วละก็ โครงสร้างตัวถังนิรภัย
แบบ Crumple Zone ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแกร่งสูง ด้วย
คานบันได ที่มีพื้นที่หน้าตัดขนาดใหญ่ โครงสร้างด้านหน้าจาก Lexus GS ซึ่ง
มีการจัดวางมาอย่างเหมาะสมแล้ว ถูกปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย อีกทั้งยังมี
การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการประกอบ ทั้งการเชื่อมตัวถังด้วยเลเซอร์
กาวพิเศษเชื่อมตัวถัง และกาวติดกระจกแบบแข็งแกร่งสูง จะเข้ามาลดทอน
ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

2016_08_Lexus_RC200t_Engine_09_Crash

จากการทดสอบการชนของสถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยทางถนน ของ
สหรัฐอเมริกา IIHS (Insurance Institute for Highway Safety) เมื่อปี 2015
ระบุว่า Lexus RC ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของพวกเขา ในระดับ Good ซึ่ง
เป็นระดับสูงสุด ครบทุกหัวข้อ

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูได้ที่
http://www.iihs.org/iihs/ratings/vehicle/v/lexus/rc-2-door-coupe/2015

2016_08_Lexus_RC200t_Fuel_Consumption_1

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

สิ่งที่ผมอยากจะรู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากตัวเลขอัตราเร่งแล้ว เครื่องยนต์ใหม่
8AR-FTS บล็อก 4 สูบ 2.0 ลิตร พ่วง Turbocharger จะประหยัดน้ำมันได้
มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเมื่อเทียบตัวเลขกับ Lexus NX และ RX SUV ที่ติดตั้ง
เครื่องยนต์บล็อกเดียวกัน (แต่ต่างเวอร์ชันกัน) ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม โดย พา RC200t คันนี้ ไปเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ริมถนน
พหลโยธิน สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์

ผู้ร่วมทดลองยังคงเป็น น้อง Pao Dominic จาก The Coup Team ตามเคย
น้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม

เนื่องจาก RC200t อยู่ในกลุ่ม รถยนต์ Coupe 2 ประตู ซึ่งไม่ได้เข้าพวกกันกับ
รถยนต์นั่งกลุ่ม 1.2 จนถึง 2.0 ลิตร ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท รวมทั้ง
รถกระบะ เราจึงตัดสินใจที่จะไม่เขย่ารถ และเติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว
เหมือนเช่นรถยนต์ทุกรุ่นในกลุ่ม Coupe / Sport / Specialty

2016_08_Lexus_RC200t_Fuel_Consumption_2

พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน
Trip Meter หมวด 1 และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น
ใหม่ ทั้งหมด ออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัด
ไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไป
สุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม ด้วย
มาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เปิด Cruise Control
มาตลอดทาง
พอขึ้นเนินทางชัน เกียร์จะตัดเปลี่ยนจาก 8 ลง 7 เพื่อเร่งเพิ่มรอบ
เครื่องยนต์ขึ้นนิดนึง ให้ตัวรถมีเรี่ยวแรงขึ้นเนินไว้ด้วยความเร็วระดับเดิมที่เราตั้งไว้

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อ
เติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

2016_08_Lexus_RC200t_Fuel_Consumption_3

ตัวเลขที่ออกมา ทำได้ดีกว่าตัวเลขที่โรงงานเคลมไว้!!

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.88 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.85 กิโลเมตร/ลิตร 

ตัวเลขที่ Toyota / Lexus เคลมไว้ใน Catalogue คือ 13.7 กิโลเมตร/ลิตร!

2016_10_03_lexus_200t_data3_EDIT

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

จากการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 1 สัปดาห์เต็ม ถ้าขับขี่ใช้งานปกติ เหยียบบ้าง
เร่งบ้าง ขับเข้าเมืองไปเจอรถติดบ้าง น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้แค่เพียงราวๆ
370 กิโลเมตร ซึ่งนั่นเป็นตัวเลขพอๆกันกับ Honda City หรือ Jazz รุ่น
ปี 2008 – 2014 ในสภาพการใช้งานรูปแบบเดียวกัน

แต่ถ้าขับแบบ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ เรื่อยๆมาเรียงๆ นานๆจะเหยียบหนีชาวบ้าน
ที่ขับมาจี้ตูด ดูของแปลก สักที (ก็รถคันนี้หนะแหละที่แปลก) น้ำมัน 1 ถัง
อาจพาคุณแล่นไปได้ไกลราวๆ 450 แต่ไม่มีทางเกิน 500 กิโลเมตร แน่ๆ

2016_08_Lexus_RC200t_09

********** สรุป **********
Relax Coupe ที่รื่นรมณ์ แต่ไม่สมกับค่าตัวที่แพงเกินเหตุ

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทดลองรถของผม มันหมายถึงการขับรถยนต์
เพื่อให้ได้ “เนื้องาน” และนั่น ก็นำมาซึ่งความเครียดสะสมต่างๆ มากมาย จน
ผมแทบจะลืมไปแล้วว่า ความรื่นรมณ์ ในการขับรถ ครั้งล่าสุดที่ได้สัมผัสหนะ
มันเมื่อไหร่กัน

ระยะเวลา 1 สัปดาห์เต็มๆ ที่ได้ใช้ชีวิตกับรถคันนี้ ช่วยให้ผมได้กลับมารู้สึกดีๆ
ในการขับรถอีกครั้ง การได้ขับรถที่ถูกปรับเซ็ตมาอย่างดี บาลานซ์ทุกอย่าง
ให้สมดุลในแทบจะทุกเรื่อง เป็นอีกประสบการณ์ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย
ให้กับผมไปได้ไม่น้อยเลย

RC200t มันเป็นทั้ง Radical Coupe อันเปี่ยมด้วยบุคลิกของรถยนต์ Coupe
2 ประตู อย่างสุดโต่ง ไม่ได้เป็นรถสปอร์ต 2 ประตูดาษๆ อย่างที่ผมเคยเข้าใจ

มันถูกสร้างขึ้นจากทีมวิศวกรที่มีความคิดสุดโต่งว่า ถ้าจะทำรถยนต์ Coupe
ขับดีๆ สักคัน มันไม่ควรเป็นแค่เพียงการนำเอาพื้นตัวถังของ Lexus IS รุ่น
Sedan มาขึ้นรูปตัวถัง Coupe 2 ประตู แล้วก็ออกขายโดยตีฆ้องป่าวร้องกับ
ชาวโลกว่า นี่คือรถยนต์ Coupe จาก Lexus

หลังจากลองขับมา ผมสัมผัสได้เลยว่า ทีมวิศวกรของ Toyota / Lexus คิด
และลงมือปฏิบัติกับ RC ด้วยความรู้สึกที่พิเศษกว่านั้น พวกเขาไม่เพียงแค่
ใส่ใจกับการออกแบบเส้นสาย แต่ยังรวมถึงการปรับแต่งช่วงล่าง พวงมาลัย
การควบคุมอาการของโครงสร้างตัวถัง การตอบสนองของแป้นเบรก และ
ไม่เว้นแม้กระทั่งความสบายในการขับขี่ อย่างสุดโต่ง สมกับแนวทางที่ว่า
Radical Coupe กันจริงๆ

2016_08_Lexus_RC200t_10

ขณะเดียวกัน ชื่อ RC อาจถูกแปลความหมายอีกนัยหนึ่งว่า Relax Coupe
เหตุที่ผมเรียกเช่นนี้ เพราะบุคลิกการขับขี่ในภาพรวม มันให้ความสบายใน
การบังคับควบคุม คล่องแคล่วใช้ได้ ผ่อนคลายในขณะรถติดได้ดีกว่าที่คิด

ถ้าคิดจะเป็นเจ้าของรถคันนี้ คุณควรเข้าใจก่อนว่า มันไม่ใช้รถสปอร์ตดิบๆ
อย่างที่เส้นสายของมันเป็น ตรงกันข้าม เส้นสายที่โฉบเฉี่ยว แนวเส้นเสา
หลังคาที่หนาเตอะ มันก็แอบบ่งบอกอยู่ในทีแล้วว่า รถคันนี้ มีบุคลิกแบบ
“รถสำหรับผู้ใหญ่ซึ่งอยากจะได้ Coupe สักคัน ใช้งานในชีวิตประจำวัน”
แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้ อยากได้ความสบายในการขับขี่ไปตามถนนหนทาง
ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่คลาคร่ำไปด้วยสารพัดยานพาหนะมากมาย
ได้อย่างสบาย และผ่อนคลายในระดับกำลังดี ติดอารมณ์ Sport หน่อยๆ

ถ้าเข้าใจในแนวคิดข้างบนนี้ได้ มันก็เหลือแค่ข้อด้อยอีก 3 ประการที่ผม
อยากให้คุณรับรู้ไว้ก่อน 2 เรื่องแรกหนะ ไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องหลังสุดหนะ
เรื่องใหญ่…

สิ่งที่ผมมองว่าเป็นข้อที่ควรปรับปรุงของ RC200t มีอยู่เพียงไม่กี่เรื่องนัก
สารภาพว่า พยายามนั่งขุด นั่งหา ตลอดระยเวลาที่อยู่ด้วยกันกับรถคันนี้
ผมเจออยู่เพียงแค่ 3 เรื่อง ในเบื้องต้น เพียงเท่านั้น

ข้อแรก สมรรถนะจากเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง แอบด้อยกว่าคาดหวัง
ไปนิดนึง อัตราเร่งที่เราเห็นในแค็ตตาล็อก มันบ่งบอกได้ว่า RC200t ควร
แรงได้ยิ่งกว่านี้อีก ถ้าทีมวิศวกร จะช่วยเซ็ตการตอบสนองของลิ้นเร่งไฟฟ้า
ทั้งในโหมด Sport และ Sport + ให้ไวยิ่งกว่านี้ อย่างน้อยๆ ขอให้ไว เท่า
คันเร่งของ NX200t ก็พอ แค่นั้นน่าจะทำให้ตัวเลขอัตราเร่ง ไวขึ้นอีกนิด

ข้อต่อมา ล้ออัลลอยของรุ่น F Sport ในต่างประเทศ มีลวดลายที่สวยงาม
และดูเข้ากับเส้นสายของตัวรถ มากกว่าล้ออัลลอย 18 นิ้ว ลาย 5 ก้านแบบ
ปลาดาว ของเวอร์ชันไทยอย่างชัดเจน ถ้าในล็อตต่อไป สามารถสั่งนำเข้า
มาติดตั้งให้กับลูกค้าได้ น่าจะช่วยเพิ่มความสวยงามให้ตัวรถได้มากกว่านี้

ข้อสุดท้าย เป็นประเด็น สำคัญ ที่น่าจะทำให้ RC200t มีชะตากรรมไม่ต่าง
ไปจาก IS-C ญาติผู้พี่ของมัน

นั่นคือ…ราคา….!!

2016_08_Lexus_RC200t_07

อีกแล้วเหรอ? ราคา อีกแล้วเหรอ?

ครับ ใช่ Lexus เอาอีกแล้วครับ

ปัญหาเดียวของ RC ที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ต่างพากันหมางเมินมองข้าม
ก็คงจะหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ ที่คนของ Toyota / Lexus ในเมืองไทยเรา รู้ดีอยู่
เต็มอก แต่แก้ไขอะไรไม่ได้มาก นั่นคือ “ราคา”

ดูเอาแล้วกันครับ Toyota Motor Thailand ตั้งราคา RC200t เอาไว้แพงลิ่ว
ถึง 5,490,000 บาท!!

มันแพงมากจนผมไม่แน่ใจว่า จะแนะนำให้คุณลองซื้อหามาครอบครองดีไหม?
แพงเกินกว่าความคิดในใจของกลุ่มลูกค้า และราคาของบรรดาคู่แข่งในตลาด
กลุ่มเดียวกันนี้ ไปมากโข

แล้วคู่แข่งเขามีอะไรให้เลือกบ้าง?

Mercedes C-Class Coupe C205 เวอร์ชันไทย มีขายเฉพาะรุ่น C250 ก็จริง
แต่ Mercedes-Benz Thailand ตั้งราคาเริ่มต้นไว้น่าสนใจมาก คือรุ่น Edition 1
แค่เพียง 3,390,000 บาท ส่วนรุ่น AMG Dynamic อยู่ที่ 3,799,000 บาท

ราคาของ C-Class Coupe ทำเอา BMW Thailand ก็แอบไหววั่นอยู่เหมือนกัน
เพราะรุ่นเริ่มต้นของ BMW 4-Series Coupe ในเมืองไทย ซึ่งมีขายเฉพาะรุ่น
420d แต่ต่างกันที่ออพชัน ค่าตัวเริ่มต้น 3,799,000 บาท เท่ากับรุ่นแพงสุดของ
C250 Coupe ส่วนรุ่นแพงสุด ไปจบที่ 4,109,000 บาท

แต่ถ้าคุณอยากได้ RC200t คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มจาก รุ่นท็อปของ 420d มากถึง
1,381,000 บาท ยิ่งถ้าลองคำนวนส่วนต่างจากรุ่นท็อปของ C250 Coupe ใหม่
ด้วยแล้ว คุณต้องจ่ายเพิ่มอีกถึง 1,691,000 บาท

แม่เจ้าโว้ยยยยยยย! ทำไมมันแพงหูฉี่ขนาดเน้!!!!??? ถามจริงๆเถอะ ตั้งมาได้
ยังไงเนี่ย 5,490,000 บาท หมดสิ้นกัน อนาคตรถขับดีๆ ดับวูบลงไปพริบตา!!

2016_08_Lexus_RC200t_08

ถ้าย้อนกลับไปอ่านรีวิวเก่าๆ ของ Lexus ในเว็บไซต์ของเรา คุณจะพบว่า การ
ตั้งราคาให้แพงไว้ก่อนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือของ Toyota แบบนี้ เกิดขึ้นมาแล้ว
นับครั้งไม่ถ้วน หลังจากการเปิดตัว Lexus GS รุ่นที่ 3 เมื่อ ปี 2005 เป็นต้นมา

ทุกวันนี้ หากเรามานั่งสำรวจราคาขายปลีกของ Lexus แต่ละรุ่นในบ้านเราแล้ว
คุณจะพบว่า ถ้าไม่นับ Lexus LS ยานยนต์สุดหรู (ที่แม้จะแพงถึง 9,950,000
บาท ในรุ่นเริ่มต้น) ก็ยังถือว่า พอฟัดเหวี่ยงกับ ทั้ง Mercedes-Benz S-Class
และ BMW 7-Series ได้ (หากเทียบเฉพาะรุ่นนำเข้าด้วยกันเท่านั้น เพราะรุ่น
ประกอบในไทย ของชาวเยอรมันทั้ง 2 ถูกกว่า Lexus ไป 1-3 ล้านบาท)

นอกนั้น ถือว่าแพงกว่าชาวบ้านเขาแทบทุกรุ่น!

เชื่อแน่นอนว่า คนไทยผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำงานใน Lexus Division ต่างน่าจะรับรู้
และทราบดีว่า ปัญหามันคืออะไร และพวกเขาก็ได้พยายามต่อสู้มาพอสมควร
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ถึงขั้นที่ว่า พยายามนำ Lexus ES300h เข้ามาประกอบขายที่โรงงานเกตเวย์
ในบ้านเรา แต่สุดท้าย ด้วยการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ จึงต้องพับ
แผนโครงการนี้ เก็บเข้าลิ้นชักไปอย่างน่าเสียดาย

ปัญหาราคาขายปลีก Lexus แพง สู้ชาวบ้านไม่ได้ ก็เลยยังดำเนินอยู่ต่อไป

ในกรณีของ RC ผมไม่เถียงครับว่า มันป็นรถที่มีค่าตัวแพงกว่า Coupe คู่แข่ง
ชาวเยอรมัน เรื่องนี้แม้แต่ลูกค้าในสหรัฐอเมริกา และสื่อมวลชนในญี่ปุ่นเอง
ต่างก็บ่นอุบกันเยอะ เพราะใน 2 ประเทศดังกล่าว ค่าตัวของ RC แต่ละรุ่นย่อย
ก็แพงกว่าเพื่อนฝูงผมทองอยู่บ้าง…แต่ก็ไม่แพงเกินเหตุแบบในประเทศไทย!

เหตุผลที่ RC จะแพงกว่า มันก็พอมีอยู่ครับ การที่รถคันนี้ ถูกสร้างขึ้น โดยใช้
โครงสร้างพื้นตัวถัง จาก Lexus ถึง 3 รุ่น มายำรวมกัน ย่อมส่งผลกระทบถึง
ต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่ละ เอาแค่ชิ้นส่วนตัวถังหนะ ยังใช้
อะไหล่ร่วมกับรุ่นพี่ๆน้องๆ เขาไม่ได้เลยสักรุ่น!

แต่ก็ดูเหมือนว่า บรรดาชาวต่างชาติ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการตั้งราคา
ยังไม่เข็ด ไม่สนใจ จะยังทำงานกันแบบเดิมๆตามเคย

ถ้าทุกอย่าง ยังคงเป็นอย่างนี้กันต่อไป ก็อย่าหวังว่า อนาคตของแบรนด์หรู
Lexus ในเมืองไทย จะเติบโตไปได้มากไปกว่านี้เลย…

ปล่อยให้ย่ำต๊อกกันตามเดิมแบบนี้ก็แล้วกัน!

——————————///—————————–

2016_08_Lexus_RC200t_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

– ทีมงาน Lexus Group (Division)
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

– Pan Paitoonpong สำหรับการเตรียมข้อมูลด้านงานวิศวกรรม

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นของ Toyota Motor Corporation

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
3 ตุลาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 3rd,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!