ย้อนเวลากลับไปในช่วงปลายปี 2009 หรือเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้น
Honda Automobile (Thailand) เพิ่งสั่งนำเข้ารถตู้ Sub-Compact
Minivan 7 ที่นั่ง รุ่น FREED มาจากโรงงาน ใน Indonesia เพื่อมา
ทำตลาดในเมืองไทย

ถึงแม้จะมีจุดเด่นที่ บานประตูคู่หลัง เลื่อเปิด – ปิดได้ด้วยไฟฟ้าซึ่งเป็น
อุปกรณ์ที่หลายๆครอบครัว ชื่นชอบ เพราะรับรู้ว่า มันเป็นออพชันที่ถูก
ติดตั้งมาให้กับ รถตู้โดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งบรรดาไอโซ ไฮซ้อ เขาซื้อ
มาใช้งานกัน อย่าง Toyota Alphard / Vellfire , Nissan Elgrand
หรือแม้แต่ Honda Elysion ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักอีกนะ

แต่จุดด้อยสำคัญ ที่ทำให้ ชะตากรรมของ Freed เกือบเอาตัวไม่รอด
ก็คือ การตั้งราคาขายปลีกในช่วงเปิดตัว ที่แพงเกินไป เพราะคนไทย
จำนวนไม่น้อย ตีราคารถยนต์ตามขนาดความจุกระบอกสูบ !

Freed พิกัดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ราคาในตอนนั้น ควรอยู่ที่ 7 แสนบาท
กลางๆ บวกตัวถัง Minivan ให้อีกหน่อย ก็ไม่ควรเกิน 850,000 บาท
ยิ่งประกอบ Indonesia ได้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้า AFTA 0% อีก
ค่าตัวก็ควรไม่ต่างจากการนำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ

พอเอาเข้าจริง พี่ท่านตั้งราคา ล่อเข้าไป ล้านกว่าบาทเศษๆ ! โดยบอกว่า
กดต้นทุนลงไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ทางญี่ปุ่นไม่ยอม โดยเฉพาะประตู
บานเลื่อนไฟฟ้า ซึ่งแพงมาก

ผลลัพธ์หนะหรือ? ก็พังพินาศสันตโรสิครับ! ขายไม่ออกเลยในช่วงแรก

กว่าจะแก้ปัญหาด้วยการ จัดแบ่งออพชัน แล้วหั่นราคาลงมาอยู่ในระดับ
ที่สมควรเป็น ก็เล่นเอา Freed แทบเกือบจะสิ้นชีพ ยังดีที่ว่ายอดขายนั้น
ค่อยๆตื้นกลับขึ้นมาอยู่ในระดับทรงตัว จนถึงขั้นเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้นำ
Freed รุ่นต่อไป เข้ามาขายอีก จึงพอทำให้ Honda ใจชื้นขึ้นมาบ้าง

หลายๆคนก็ได้แต่ถามว่า เห็น Honda เอา Freed เข้ามาแล้ว Toyota
ไม่คิดจะเอา Minivan รุ่นใดเข้ามางัดข้อกับ Honda เลยหรืออย่างไร?

เป็นคำถามที่แทบจะต้องเอาขึ้นไปแปะไว้ในหัวข้อ คำถามที่พบเป็น
ประจำ FAQ (Frequently Asked Question) กันเลย

ไม่รู้ว่า Honda จะเข็ดหรือไม่…แต่โปรดจงรับรู้ไว้ว่า Toyota เค้าซุ่มนิ่งๆ
เฝ้ามองเหตุการณ์ต่างๆ มาตลอด อยู่เงียบๆ…

2016_11_Toyota_Sienta_01

ในบรรดารถตู้ Minivan 7 ที่นั่งทั้งหมดที่ Toyota ทำออกขาย
ณ เวลานั้น ผมมองว่า Sienta คือรุ่นที่มี Potential หรือโอกาส
และความเป็นไปได้อย่างเหมาะสมในการมาขาย ในเมืองไทย
สูงที่สุด ด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายแต่สวยนาน แบบ Timeless
Design ภายในอเนกประสงค์ แถมยังใหญ่โตผิดกับขนาดตัวถัง
ภายนอก น่าจะโดนใจผู้คนทั่วไปมิใช่น้อย

ปัญหาก็คือ ในตอนนั้น Sienta รุ่นแรก เพิ่งถูกปลดจากสายการ
ผลิตในญี่ปุ่นพอดี อีกทั้งพวกเขาก็ลงทุนลงแรงไปกับโครงการ
พัฒนารถยนต์ 7 ที่นั่ง เพื่อตลาด Indonesia ทั้ง Avanza และ
Kijang Innova ไปมากโขแล้ว เลยยังมองไม่เห็นความจำเป็น
ในการนำ Sienta เข้ามาประกอบขายในภูมิภาค ASEAN

ขณะเดียวกัน Toyota ในเมืองไทยเอง ก็เฝ้าดูการตอบรับของ
ลูกค้าที่มีต่อ Freed แล้วก็ได้แต่เกิดอาการหวั่นใจ ว่าถ้าตนจะ
นำ Minivan 1.5 ลิตร เข้ามาทำตลาด แล้วจะเจอปัญหาราคา
เพราะกดต้นทุนไม่ลง แบบ Honda ด้วยหรือไม่?

อีกทั้ง Toyota WISH (เปิดตัวในไทย พฤศจิกายน 2003) ก็ยังเป็น
บทเรียนสะท้อนอยู่ในห้วงความคิดของพวกเขาอยู่ ว่า ตลาดกลุ่มนี้
แม้จะมีลูกค้าแน่ๆ แต่กำลังซื้อจะไม่มาก ไม่หวือหวา และมีมาเรื่อยๆ
เหมือนบ้านที่ใช้น้ำประปา แต่ดันลืมติดตั้งปั้มน้ำ ถ้าหากขายเดือนละ
300 คัน เมื่อไหร่ ตกเย็น พากันยกโขยงไปกินเลี้ยงมื้อใหญ่ ชั้น 2 ตึก
All Season (ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Toyota ในกรุงเทพฯ) แล้วกัน!

แต่อย่างว่าละครับ เมื่อเวลาเปลี่ยน ใจคนก็เปลี่ยน แล้วทำไมละ
บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota จะเปลี่ยนใจกลับลำไม่ได้?

ใครจะไปนึกละว่า สุดท้าย ในญี่ปุ่นเอง Toyota ต้องนำ Sienta
รุ่นเดิม กลับมาขึ้นไลน์ประกอบขายใหม่อีกรอบ ในปี 2011 หลัง
มีเสียงเรียกร้องจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น และ โชว์รูมผู้แทนจำหน่าย
จำนวนมาก ทั้งที่ตอนแรก พวกเขาไม่คิดว่า มันจะขายดีด้วยซ้ำ

เหตุการณ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆสำหรับตลาดรถยนต์ทั่วโลกนะครับ
การที่รถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่ง จะถูกนำกลับมาผลิตขายอีกครั้ง ทั้งที่ได้
ปลดออกจากสายการผลิตไปแล้ว นั่นแสดงว่า รถยนต์รุ่นนั้น ต้องมี
คุณค่าที่โดนใจผู้บริโภค ในระดับไม่ธรรมดา…

จากเดิม ที่เคยผลิตขายมา 7 ปี ถูกนำกลับมาผลิตขายใหม่ ลากต่อ
กันไปอีก 5 ปี รวมแล้ว นานถึง 12 ปี!! ใครจะล้อเลียนว่าเป็น Toyota
รุ่นแซยิด พี่เค้าก็ไม่แคร์ ก็ลูกค้าฉันชอบนี่หว่า!

นี่แหละ อิทธิฤทธิ์ของ Sienta 1st Generation ในตลาดญี่ปุ่นเขาละ!

ไม่เพียงแค่นั้น ชาว Indonesia เอง ในฐานะ ประเทศผู้อุดหนุนรถตู้
Minivan 7 ที่นั่ง มากที่สุดในโลก ก็เริ่มมีความต้องการ เปลี่ยนไป
จากเดิม เมื่อรสนิยมดีขึ้น รายได้ดีขึ้น พวกเขาก็คิดอยากจะยกระดับ
คุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมประชาคมโลกมากขึ้น ดังนั้นรถยนต์ที่เคย
ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อชาว Indonesia ทั่วไป เริ่มไม่ใช่คำตอบสำหรับ
ชาว Indonesia ยุคใหม่ พวกเขาอยากใช้รถยนต์ เหมือนคนญี่ปุ่น
กันมากขึ้น

Toyota ก็เลยต้องคิดทบทวนอีกรอบ จากเดิมที่ตั้งใจทำ Sienta
ไว้แค่ขายในบ้านตัวเอง ตอนนี้ ถ้ามันสามารถต่อยอดมาประกอบ
ขายใน Indonesia แล้วก็ส่งออกไปยัง ไทย กับ Malaysia ได้ละ?
มันไม่ดีกว่าเหรอ? ลูกค้ารออยู่พอสมควร เงินทั้งนั้น !

คนญีุ่่ปุ่นที่ Toyota บางทีก็ไม่ได้คิดกันไว คิดปุ๊ปทำปั๊บ…กว่าจะ
คิดกันได้ ก็ช้ากว่า Honda เขาไปตั้ง 5 ปี แหนะ ! แต่ไอ้ที่หายไป
5 ปีหนะ พวกเขาแอบไปวางแผนและเตรียมการผลิต Sienta ทั้งใน
ญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับ Indonesia พร้อมๆกัน ต่างหาก !

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Sienta มาเปิดตัวในเมืองไทยได้สำเร็จ ทั้งที่
ก่อนหน้านี้ แทบไม่มีวี่แววเลยว่า รถคันนี้จะมาถึงบ้านเราได้ในราคา
ที่ถูกเท่ากับระดับตัวเลขราคาที่ผู้บริโภคมีไว้ในใจให้กับยานพาหนะ
รูปแบบนี้ และ เครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร อย่างนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Toyota แล้ว กว่าจะมาเป็น Sienta ได้อย่างนี้
พวกเขาผ่านเรื่องราวต่างๆมาเยอะมาก…เริ่มกันตั้งแต่ทศวรรษ 1970
เลยทีเดียว

2016_11_Toyota_Sienta_02

แม้ว่าชาวญี่ปุ่น จะเริ่มรู้จักการใช้รถตู้ เพื่อประโยชน์ด้านสันทนาการกับ
สมาชิกในครอบครัว นอกเหนือไปจากการใช้งานเชิงพาณิชย์ มาตั้งแต่ยุค
ทศวรรษ ที่ 1960 พอล่วงเข้าสู่ทศวรรษที่ 1970 มีการสร้างรถยนต์ต้นแบบ
Minivan 7 ที่นั่ง ออกมาอวดโฉมในงาน Tokyo Motor Show หลายครั้ง
ซึ่ง Toyota เอง ก็เคยทำรถต้นแบบ MP-1 ออกมาจัดแสดงกับเขาด้วย ใน
งานดังกล่าว เมื่อปี 1975

แต่กว่าที่ Toyota Minivan รุ่นแรก จะเริ่มออกสู่ตลาดอย่างจริงจัง ก็ต้อง
รอจนถึงปลายปี 1989 โดยรถตู้รุ่นดังกล่าว คือ Toyota Estima หรือที่รู้จัก
ในตลาดส่งออกภายใต้ชื่อ Toyota Previa (เคยถูกนำเข้ามาจำหน่ายโดย
Toyota Motor Thailand เมื่อปี 1993) ซึ่งแตกหน่อออกเป็นรุ่นตัวถังแคบ
Toyota Estima Lucida / Estima Emina ในปี 1992

เห็นไหมครับ จาก 1975 ถึง 1990 Toyota ต้องรอตั้ง 15 ปีแหนะ กว่าที่จะ
ปล่อย Minivan แท้ๆ คันแรกของตน ออกสู่ตลาด

จากนั้น Toyota ก็เริ่มนโยบายปรับรูปแบบรถตู้โดยสาร จากเดิมที่ดัดแปลง
บนพื้นฐานของรถตู้ Hiace และ LiteAce / TownAce/ MasterAce กันดื้อๆ
ให้กลายมาเป็น รถตู้โดยสารแบบหน้ายื่น สไตล์ Minivan ให้หมด เริ่มจาก
LiteAce Noah (ซึ่งแตกหน่อ ปรับมาเป็นคู่แฝด Noah / Voxy ในปัจจุบัน)
ตามด้วยการแตกหน่อ Hiace ออกมาเป็น Granvia ในช่วงปี 1996 ฯลฯ

แต่สำหรับ Minivan รุ่นเล็กนั้น Toyota เริ่มชิมลางตลาดด้วย Ipsum ใน
ปี 1996 (ซึ่งประสบความสำเร็จ ต่อเนื่องจนมีรุ่นที่ 2 ตามออกมาในปี 2003
จากนั้นถึงคิวของ Gaia ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานเดียวกันกับ Ipsum ออกสู่
ตลาดในปี 1999 แต่ทำยอดขายได้แค่เรื่อยๆ

กระนั้น ดูเหมือนว่า มันยังมีบางความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่ถูกซุกซ่อนอยู่
แต่ไม่เคยได้รับการสนองตอบมาก่อน มีอีกหลายครอบครัว ที่อยากได้รถยนต์
Minivan ขนาดเล็ก 7 ที่นั่ง แต่เครื่องยนต์ไม่ใหญ่นัก ใช้งานในเมือง ขับไป
ทำงานเป็นหลัก ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นหลายๆบ้าน มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ มีขนาด
เล็ก ดังนั้น การซื้อรถตู้ Minivan ที่มีขายกันอยู่ในตอนนั้น ไม่ตอบโจทย์ของ
พวกเขาเลย ทั้งที่ในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1990 นั้น ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเริ่มเบน
ความสนใจจากรถเก๋ง Sedan ไปหาบรรดารถยนต์ท้ายตัด และรถตู้ Minivan
กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

1996_2001_Toyota_Small_Minivan

Toyota เองก็เฝ้ามองปรากฎการณ์นี้มาตั้งแต่ ปี 1996 แล้วว่า ความต้องการ
รถตู้ Minivan ขนาดเล็ก ในญี่ปุ่น เริ่มเพิ่มมากขึ้นทุกที ผลวิจัยตลาดพบว่า
ลูกค้าจำนวนมาก ต้องการความอเนกประสงค์จากห้องโดยสารขนาดใหญ่
แต่ต้องมาพร้อมกับตัวรถซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่แตกต่างไปจากรถเก๋งทั่วไปอย่าง
Corolla โดยต้องมีความกว้างตัวถังไม่เกิน 1,700 มิลลิเมตร เพื่อให้เสียภาษี
ประจำปีในหมวด 5 Number (รถยนต์ขนาดเล็ก ไม่เกิน 2,000 ซีซี.) ซึ่งจะ
จ่ายภาษีถูกกว่ารถตู้ Minivan ทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งมักถูกขยายตัวถังให้ใหญ่
ขึ้นไปเป็นกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดมาตรฐาน (3 Numbers : เกิน 2,000 ซีซี.)
ซึ่งจะต้องเสียภาษีแพงกว่ากันชัดเจน

ก่อนหน้านี้ พวกเขาเคยพยายาม พัฒนา Corolla ตัวถัง สั้น แต่นั่งได้ 7 คน
ออกขายในชื่อ Toyota Corolla Spacio มาแล้วในช่วงปี 1997 ปัญหาก็คือ
แม้จะขายดี แต่ตัวรถมีขนาดเล็กไป และเหมาะแก่การเป็นรถยนต์สำหรับ
ครอบครัว 4 คน มากกว่า เพราะเบาะแถว 3 นั้น ผู้ใหญ่นั่งแทบไม่ได้เลย
ต่อให้พัฒนาออกมาเป็นรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ในปี 2001
เพิ่มขนาดตัวรถให้ใหญ่ขึ้นอีกนิด ก็ยังแก้ปัญหานี้ได้ไม่เต็มที่

Toyota จึงคิดแผนการพัฒนา Minivan 7 ที่นั่ง คันเล็ก เพิ่มเติม อีก 2 แบบ
สำหรับตลาดญี่ปุ่น โดยเก็บรุ่น Spacio ไปพัฒนาต่อเป็น Corolla VERSO
ออกขายเฉพาะยุโรป ต่อเนื่องจากรุ่นเดิม เปิดตัวเมื่อปี 2004 ขายจนถึงปี
2011 ก่อนยุติบทบาท เพราะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับกลุ่มเจ้าตลาดชาว
ยุโรปอย่าง Renault Megane Scenic หรือ Opel / Vauxhall Zafira

Minivan ขนาดเล็ก รุ่นแรก เป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่ บนพื้นฐานโครงสร้าง
วิศวกรรมของ Corolla NCV (2000 , Altis 2001) ถูกเปิดตัวในงาน Tokyo
Motor Show 2002 (ออกขายจริงเดือนมกราคม 2003 และมาประกอบขาย
ในบ้านเรา เดือนพฤศจิกายน 2003) ในชื่อ Toyota WISH ซึ่งประสบความ
สำเร็จอย่างมากโข ทั้งในญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน (มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น
ที่ได้รับสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในตอนนั้น)

Minivan อีกรุ่นหนึ่ง ถูกสร้างขึ้น ตามแผนการพัฒนารถยนต์นั่งขนาดเล็ก
บนพื้นตัวถัง NBC (New Basic Car Platform) ซึ่งเริ่มเปิดตัวครั้งแรกด้วย
Toyota Vitz / Yaris รุ่นแรก (1997) ตามด้วย Toyota FunCarGo (1999)
Will Vi (1999) Toyota bB (2000) และ Soluna Vios (2002) ภายใต้การ
ดูแลของหัวหน้าทีมวิศวกร Chief Engineer ที่ชื่อ Hiroaki Hakamata

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพัฒนา Minivan รุ่นใหม่ กำลังดำเนินไป ในเดือน
ตุลาคม 2001 Honda เผยโฉมรถตู้ขนาดเล็ก เวอร์ชันต้นแบบในชื่อ S.U.U
(Smart,Urban,Useful) ณ งาน Tokyo Motor Show ตุลาคม 2001 ถึงจะ
เป็นการแนะนำตัวสู่สาธารณชน เพื่อประเมินกระแสตอบรับจากผู้บริโภคชาว
ญี่ปุ่นก่อนเตรียมการเปิดตัวในอีก 2 เดือนถัดมาภายใต้ชื่อ Honda Mobilio
รุ่นแรก (เวอร์ชันญี่ปุ่น คนละตัวถังกับเวอร์ชันไทย) แต่นั่นก็ทำให้ Toyota
ตัดสินใจ พัฒนา Minivan คันเล็กของตนให้มีจุดเด่นไม่น้อยหน้า Mobilio
แถมยังมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันเป็นคนละสไตล์ ไปเลย

2003_2015_10_Toyota_Sienta

Minivan 7 ที่นั่ง ผลผลิตจากโครงการ NBC ปรากฎตัวครั้งแรกในโลก
เมื่อ 29 กันยายน 2003 เรียกชื่อว่า Toyota Sienta โดยทำตลาดผ่าน
เครือข่ายจำหน่าย Corolla และ NetZ

จุดเด่นของ Sienta รุ่นแรก อยู่ที่ความตั้งใจแรกเริ่มในการออกแบบให้
ไปในแนวทาง Uniersal Design เพื่อให้ผู้คนทั่วไป ใครๆ สามารถใช้
ประโยชน์จากรถคันนี้ได้ โดยเฉพาะบรรดาคุณแม่บ้าน ผู้ที่เพิ่งมีลูกวัย
ทารก ขับขี่ได้ง่าย คล่องแคล่ว สะดวกสบาย จนกลายเป็น Minivan
7 ที่นั่ง ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าครอบครัว พ่อแม่ลูก ได้มากสุด
รุ่นหนึ่งของ Toyota มาพร้อมรูปลักษณ์เรียบง่าย แต่ดูน่ารักด้วยชุด
ไฟหน้าทรงกลม  และเสาหลังคาด้านหลังสุด D-Pillar ที่ถูกฝังเรียบ
กลืนไปกับบานกระจกหน้าต่างด้านหลัง บานประตูคู่หลังเลื่อนเปิด-ปิด
ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า

มิติตัวถังยาว 4,100 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,670 – 1,680
มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ความกว้าง
ช่วงล้อคู่หน้า / หลัง 1,465 / 1,485 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 1,210 – 1,320
กิโลกรัม

เครื่องยนต์ของ Sienta เป็นรหัส 1NZ-FE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก แบ่งเป็น 2 ระดับความแรง

รุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
สำหรับตลาดเมืองหนาวในญี่ปุ่น กำลังสูงสุด ลดลงเหลือแค่ 105 แรงม้า
(PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ลดเหลือ 14.1 กก.-ม. ที่ 4,200
รอบ/นาที ทกรุ่นย่อย ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน แบบ
Super CVT

การปรับโฉมเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2004 ด้วยรุ่น
X-Limited จากนั้น มีการปรับปรุงชิ้นส่วนภายในอีกเพียงเล็กน้อย ในวันที่
18 สิงหาคม 2005 จากนั้น การปรับโฉม Minorchange เกิดขึ้นครั้งแรก
เมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 คราวนี้มีการเปลี่ยนแปลงให้ เครือข่ายจำหน่าย
Corolla ดูแลการทำตลาด Sienta เพียงเครือข่ายเดียว

25 มิถุนายน 2007 เพิ่มรุ่นย่อย X-Limited อีกครั้งเพื่อกระตุ้นตลาด จากนั้น
Toyota ยังคงจำหน่าย Sienta ไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2010 จึง
ยุติการผลิต

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความต้องการของลูกค้าชาวญี่ป่น ที่ถามไถ่ไปยัง
Toyota ตลอดช่วงเวลาที่หายไป ทำให้ ผู้บริหารตัดสินใจ นำ Sienta กลับ
มาเข้าสู่สายการผลิตใหม่อีกครั้ง เมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 และ ประกาศออก
จำหน่ายอีกรอบเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 ถือเป็นกรณีตัวอย่าง ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย
ครั้งนัก ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น

3 เมษายน 2012 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ DICE Limited มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์
บริเวณด้านหน้ารถเล็กน้อย ด้วยชุดไฟหน้าทรงแหลมแบบใหม่ พร้อมเปลือก
กันชนหน้า กระจังหน้า และฝากระโปรงหน้าใหม่ ส่วนไฟท้าย เปลี่ยนมาเป็น
แบบใสแทน

3 กันยายน 2013 เพิ่มรุ่นพิเศษครั้งสุดท้าย DICE-G เปลี่ยนไฟหน้าเป็นแบบ
Projector Headlamp และมีการปรับปรุงอุปกรณ์บางชิ้นภายในรถ

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ต่อให้ลูกค้าจะชอบขนาดไหน Sienta ก็หนีวงจร
อายุตลาดของรถยนต์ไม่พ้น รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ยุติการทำตลาดในเดือน
กันยายน 2014 ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ยังคงอยู่บนโว์รูมต่อไป จนถึงราวๆ
เดือน กรกฎาคม 2015 Sienta รุ่นแรก ยุติการผลิต ทั้งหมด เพื่อหลีกทาง
ให้กับน้องใหม่…

Sienta 2nd Generation , Sub-compact Minivan ที่โดดเด่นสะดุดตา
เกินกว่าจินตนาการของผู้คนทั่วไป…

2016_11_Toyota_Sienta_Design_02

Hiroshi Kayukawa : Chief Engineer หัวหน้าทีมวิศวกรโครงการพัฒนา
Sienta ใหม่ เล่าว่า Sienta รุ่นใหม่ถูกสร้างขึ้น โดยลบภาพลักษณ์แบบรถตู้
ที่เคยมีมาในรุ่นก่อน ทั้งไปจนหมด ภายใต้แนวคิด Active & Fun ทำให้ทีม
นักออกแบบ พลิกโฉมรูปลักษณ์ของตัวรถใหม่ทั้งคัน โดยได้แรงบันดาลใจ
จาก “Urban Trekking Shoes” หรือ “รองเท้าเดินป่าสมัยใหม่” จากรูปทรง
และเส้นสายของรองเท้า สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่
ที่รักการท่องเที่ยว มี Lifestyle ที่หลากหลาย

สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น ที่มีผลวิจัยตลาดระบุว่า ต้องการให้มีรุ่นเครื่องยนต์
Hybrid ให้เลือก เขาและทีมงานจึงตัดสินใจนำขุมพลัง Hybrid มาติดตั้ง
และทำตลาดควบคู่ไปกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซินปกติ ไม่เพียงเท่านั้น ลูกค้า
ในเขตภาคเหนือของญี่ปุ่นอย่าง Hokkaido ซึ่งมีอากาศหนาว 6 เดือน/ปี
ก็ยังต้องการรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD ด้วย มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผสาน
ทุกความต้องการทั้งหมด ลงไปในการสร้างรถยนต์ 1 คัน แต่นั่นละ คืองาน
ที่เขาและทีมวิศวกรทุกคน จะต้องพยายามบรรลุถึงเป้าหมายให้ได้

ไม่เพียงแค่ ทดสอบและพัฒนาในญี่ปุ่น แต่ Kayukawa-san บอกว่า Sienta
รุ่นที่ 2 จะถือเป็นครั้งแรกที่ Toyota นำรถยนต์รุ่นนี้ ออกมาผลิตขายนอกแดน
อาทิตย์อุทัย ทำให้ Toyota ต้องนำรถยนต์ Prototype มาทดสอบบนสภาพ
ถนนของทั้งประเทศ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้วย โดย Kayukawa-
san เอง ก็ต้องยังบินมาขับทดสอบที่บ้านเราและที่อินโดอีกต่างหาก!

 

2016_11_Toyota_Sienta_Different2

เมื่อการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ การเตรียมงานด้านบริการหลังการขาย รวมถึง
เอกสารเพื่อใช้ในการทำตลาด เสร็จสิ้นลง Toyota ก็พร้อมเปิดตัว รุ่นที่ 2
ของ Sienta เมื่อ 9 กรกฎาคม 2015 โดยเริ่มจากตลาดญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก
มอบให้โรงงาน Miyagi Ohira ของ บริษัท Toyota Motor East Japan,
Incorporate เป็นฐานผลิตหลัก

หลังการเปิดตัวไปเพียง 1 เดือน 18 สิงหาคม 2015 Toyota ก็ประกาศความ
สำเร็จของ Sienta ด้วยยอดสั่งจอง ที่หลั่งไหลมาจากทั่วญี่ปุ่น มากถึงกว่า
49,000 คัน ทั้งที่ตั้งเป้ายอดขายไว้ระดับ 7,000 คัน/เดือน แบ่งยอดจอง
ของรุ่น Hybrid และเบนซินธรรมดา ประเภทละ 24,500 คัน โดยประมาณ
(นับตั้งแต่เปิดตัว 9 กรกฎาคม 2015 – 9 สิงหาคม 2015 รวม 1 เดือนเต็ม)

เหตุผลที่ Sienta ใหม่ ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น นั่นเพราะรูปลักษณ์ที่
แปลกใหม่ แหวกแนวไปจาก Minivan ทุกรุ่น บนท้องถนนในญี่ปุ่น ความ
อเนกประสงค์ในห้องโดยสาร มีรุ่นขุมพลัง Hybrid ให้เลือก (ชาวญี่ปุ่น
ยุคใหม่ๆ ให้การยอมรับรถยนต์ Hybrid มากขึ้น จนผู้ผลิตเริ่มกล้าพัฒนา
ระบบ ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อนำมาติดตั้งกับรถยนต์ขนาดกลางและเล็กได้
หลากรุ่นยิ่งขึ้น) และสีตัวถังที่ฉูดฉาด สะใจ ถึง 8 สีหลัก เลือกได้มากถึง
13 Combination ย่อย

ไม่เพียงเท่านั่น แคมเปญโฆษณา สำหรับตลาดญี่ปุ่น ก็น่าสนใจมาก
เพราะดูเหมือนว่าจะทำออกมาเอาใจแฟนฟุตบอล ด้วยการดึงนักกีฬา
ชื่อดัง จากทีม Real Madrid อย่าง James David Rodriguez Rubio
มาเป็น Presenter ร่วมกับ ดารานักแสดงชื่อดังในญี่ปุ่นอีกหลายคนซึ่ง
ถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาของ Toyota ตามแคมเปญ TOYOTOWN
มาตั้งแต่ปี 2011 และคลิปข้างล่างนี้ คือบางส่วนของภาพยนตร์โฆษณา
ของ Sienta ใหม่ สำหรับตลาดญี่ปุ่น (เพลงประกอบโฆษณานั้น ชาวไทย
ที่ฟังเพลง Jazz คุ้นหูกันดี นั่นตือ Mas Que Nada โดย Sergio Mendes)

ในตอนแรก Toyota ตั้งใจสร้าง Sienta เอาไว้ทำตลาดแค่ในญี่ปุ่น แต่ด้วย
เสียงเรียกร้องของลูกค้าชาว Indonesia ประเทศซึ่ง บริโภค Minivan 7
ที่นั่ง เป็นอาหารจานหลักอันดับ 1 ทำให้ Toyota เริ่มมองเห็นช่องทางใน
การขยายตลาด Sienta มายังแดนอิเหนา ด้วยการส่งชิ้นส่วน CKD จาก
ญี่ปุ่น และประเทศในย่าน ASEAN มาให้กับ P.T.Astra Toyota Motor
ผู้ผลิตและจำหน่าย Toyota อย่างเป็นทางการใน Indonesia มาขึ้นสาย
การประกอบ ณ โรงงาน Toyota Motor Manufacturing Indonesia ที่
เมือง Karawang จังหวัด West Java ทำให้ Indonesia เป็นประเทศที่ 2
ที่ Sienta ใหม่ ถูกเปิดตัวเพื่อทำตลาดนอกญี่ปุ่น

แผนการทั้งหมด เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 ความท้าทายสำคัญ อยู่ที่ศักยภาพ
ของผู้ผลิตชิ้นส่วนใน Indonesia ตอนนั้น ยังล้าหลังอยู่มาก แต่ด้วยความ
พยายามทำกิจกรรมยกระดับคุณภาพและมาตรฐานด้านต่างๆอย่างหนัก
ร่วมกับซัพพลายเออร์ ทำให้ Sienta ใหม่ เวอร์ชันประกอบ Indonesia
ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในแดนอิเหนา (Local Content) มากถึง 80% จากรถ
ทั้งคัน นั่นทำให้พวกเขา ภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้รับความไว้วางใจ
จาก Toyota Motor Corporation ให้นำ Sienta มาขึ้นไลน์ประกอบนอก
แดนปลาดิบ ได้เป็นผลสำเร็จ รายละเอียดต่างๆ คลิกเข้าไปดูต่อกันได้ ใน
Video Clip จาก Toyota Indonesia ข้างบนนี้

ภาพยนตร์โฆษณา Sienta ใน Indonesia
(ยังมีคลิปอื่นๆของ Sienta อีกมาก อยู่ใน ช่อง Youtube ของ Toyota
Indonesia คลิกเข้าไปดูได้ ที่นี่

เวอร์ชัน อินโดฯ เผยโฉมครั้งแรก ในงาน GIIMS (Gaikindo Indonesia
International Motor Show เมื่อ 7 เมษายน 2016 โดยวางขุมพลังต่าง
จากญี่ปุ่น แต่เหมือนเวอร์ชันไทย มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย คือ E,G,V เกียร์
ธรรมดา 6 จังหวะ (!!..แอบเซ็งแทนคนไทยวะ) และ Q เกียร์อัตโนมัติ
CVT แต่กว่าจะเริ่มทำตลาดจริง ลูกค้าแดนอิเหนา ก็ต้องรอจนถึงเดือน
มิถุนายน

จากนั้น ประเทศไทย เป็นคิวที่ 3 ซึ่งจัดงานเปิดตัว Sienta ออกสู่ตลาด
เมื่อ 17 สิงหาคม 2016 โดยใช้บริการ “ปู ไปรยา ลุนด์เบริ์ก สวนดอกไม้”
ดารา และ นางแบบลูกครึ่ง ไทย-สวีเดน จากช่อง 7 สี เป็น Presenter
ในภาพยนตร์โฆษณา สำหรับออกอากาศในบ้านเรา ตัวแคมเปญอาจดู
แปลกๆ ไปจากการทำตลาด Minivan ทั่วไปซึ่งมักเน้นกลุ่มครอบครัว
สักหน่อย แต่เพราะ ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวรถดูโฉบเฉี่ยว ทันสมัย
หนีความจำเจเดิมๆ จึงทำให้ ภาพที่ออกมา เต็มไปด้วยสีพรรค์สรรพางค์
ฉูดฉาดสวยงามตามยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวในเมืองไทย ถือว่า ตะกุกตะกักเล็กน้อย เพราะ
ความนิยมจากลูกค้าใน Indonesia สูงมาก ทำให้ P.T.Toyota Astra
ส่งรถมาให้เมืองไทยได้ไม่เยอะนัก ดังนั้น รถล็อตแรก ที่เข้ามาถึงท่าเรือ
แหลมฉบัง จึงถูกส่งให้กับ บริษัท Thai Auto Conversion จำกัด เพื่อ
ปรับสภาพ และ ติดตั้งอุปกรณ์เฉพาะสำหรับตลาดเมืองไทย (ทั้งเบาะหนัง
และชุดเครื่องเสียงในรุ่น V) แล้วส่งไปเป็นรถยนต์เพื่อทำงานโฆษณา
ประชาสัมพันธ์ ทั้งสำนักงานใหญ่ และโชว์รูมใหญ่ๆ กว่าจะเริ่มส่งมอบ
ให้ลูกค้ารายแรกได้จริง ต้องรอถึงช่วงปลายเดือนกันยายน 2016

2016_11_Toyota_Sienta_03

Sienta ใหม่ เวอร์ชันญี่ปุ่น มีความยาวตัวถัง 4,235 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,675 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง
(Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,480 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งคู่ ความสูงจากพื้นถนนถึง
ใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 145 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่าตั้งแต่ 1,310 – 1,370
กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่น เมื่อรวมน้ำหนักบรรทุกเข้าไปจะเพิ่มเป็น 1,635 – 1,765 กิโลกรัม
ตามแต่ละรุ่นย่อย

สำหรับเวอร์ชันไทยนั้น มีขนาดตัวถังเท่ากับเวอร์ชันญี่ปุ่น คือ ยาว 4,235 มิลลิเมตร
กว้าง 1,695 มิลลิเมตร แตกต่างกันแค่เพียงความสูง ซึ่งเพิ่มเป็น 1,695 มิลลิเมตร ส่วน
ระยะฐานล้อ ก็ยาว 2,750 มิลลิเมตร เท่ากัน ขณะที่ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง (Front
& Rear Thread) รุ่น 1.5 V อยู่ที่ 1,465 กับ 1,470 มิลลิเมตร ส่วนรุ่น 1.5G อยู่ที่ 1,475
กับ 1,480 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) นั้น
เพิ่มจากเวอร์ชันญี่ปุ่น มาอยู่ที่ 170 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตัวถังของ Sienta รุ่นเดิมแล้ว จะพบว่า รุ่นใหม่ ยาวขึ้น ถึง
135 มิลลิเมตร แต่ยังคงความกว้างไว้เท่าเดิม ตามมาตรฐานรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือ
พิกัด 5 Number ตามการแบ่งประเภทรถยนต์เพื่อการเสียภาษีของ รัฐบาลญี่ปุ่น ด้าน
ความสูง อยู่ในระดับไล่เลี่ยกับรุ่นเดิม แต่ระยะฐานล้อนั้น ยาวเพิ่มขึ้น 50 มิลลิเมตร

2016_11_Toyota_Sienta_04

แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งล่ะ?

ถ้าลองเปรียบมวยกับ Minivan ที่เพิ่งตกรุ่นไปแล้วอย่าง Honda Freed รุ่นแรก ซึ่ง
เวอร์ชันไทยมีความยาว 4,315 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,735 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า Sienta สั้นกว่า Freed เดิม 80 มิลลิเมตร
แคบกว่าแค่ 5 มิลลิเมตร (ถือว่า แคบพอๆกัน) เตี้ยกว่า Freed 40 มิลลิเมตร และระยะ
ฐานล้อ ยาวกว่าแค่ 10 มิลลิเมตร

แต่ถ้าต้องเทียบกับ Honda Mobilio ที่ยาว 4,386 – 4,398 มิลลิเมตร กว้าง 1,683
มิลลิเมตร สูง 1,603 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,652 มิลลิเมตร จะพบว่า Mobilio ยาว
กว่า Sienta 163 มิลลิเมตร แต่แคบกว่า 12 มิลลิเมตร เตี้ยกว่าถึง 92 มิลลิเมตร และ
ระยะฐานล้อ สั้นกว่า Sienta 98 มิลลิเมตร

ต่อให้เทียบกับ Honda BR-V ซึ่งยาว และกว้างเพิ่มจาก Mobilio เพราะชิ้นส่วนที่
แปะอยู่กับตัวถังรอบคัน ช่วยเพิ่มความยาวให้เป็น 4,453 มิลลิเมตร (รุ่น 5 ที่นั่ง) และ
4,456 มิลลิเมตร (7 ที่นั่ง) กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,660 มิลลิเมตร แล้ว Sienta สั้นกว่าถึง 221 มิลลิเมตร แคบกว่า 40 มิลลิเมตร แต่
เป็นความแคบ เมื่อเทียบกันเฉพาะภายนอกตัวถัง ตัวรถเตี้ยกว่า Sienta แค่เพียง
45 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ สั้นกว่า Sienta 90 มิลลิเมตร

ท้ายสุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Suzuki Ertiga ซึ่งมีตัวถังยาว 4,265 มิลลิเมตร
กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,740 มิลลิเมตร จะ
พบว่า Sienta สั้นกว่า Ertiga 30 มิลลิเมตร กว้างเท่ากัน สูงกว่า Ertiga แค่เพียง
10 มิลลิเมตร และ ฐานล้อสั้นกว่า Sienta แค่ 10 มิลลิเมตร เช่นกัน

2016_11_Toyota_Sienta_05

เส้นสายภายนอก ดูสะดุดตาไปแทบทั้งคัน ส่วนหนึ่งอยู่ที่การลากเส้นจอนด้านข้าง
จากขอบไฟหน้า ต่อเนื่องไปจนถึงเบ้าติดตั้งไฟตัดหมอกหน้า ผ่านไปจรดขอบล่าง
ของช่องรับอากาศที่เปลือกกันชนด้านหน้า รวมทั้งเส้นจอนที่ลากจากชุดไฟท้าย
ลงมายังเปลือกกันชนหลัง เวอร์ชันญี่ปุ่น อาจมีสีน้ำเงินให้เลือก แต่เวอร์ชันไทย
มีเฉพาะสีดำเท่านั้น ดูไปดูมา คล้ายกับ จอนข้างของ Elvis Presley เลยแหะ

ชุดเปลือกกันชนหน้า พร้อมกระจังหน้าของเวอร์ชันไทย จะเหมือนกับเวอร์ชัน
ญี่ปุ่น และแตกต่างไปจากเวอร์ชัน Indonesia โดยกระจังหน้า จะเป็นแบบซี่นอน
3 แถบ ล้อมกรอบด้วยเส้นโครเมียม ในขณะที่เวอร์ชันแดนอิเหนา จะวิลิศมาหรา
กว่าเวอร์ชันอื่นๆ เล็กน้อย ด้วยกระจังหน้าลายรังผึ้ง มาพร้อมแถบโครเมียมคาด
ยาวๆ ตรงกลาง เล่นลวดลายเล็กน้อย ส่วนแถบโครเมียมล้อมกรอบกระจังหน้า
ถูกขยาย ให้ลากยาวต่อเนื่องลงไปจรดกับขอบล่างสุดของช่องรับอากาศที่เปลือก
กันชนหน้า

Sienta เวอร์ชันไทย ติดตั้ง ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Light)
ครบทั้ง 2 รุ่นย่อย ชุดไฟหน้าในรุ่น 1.5 G เป็นแบบ โปรเจคเตอร์ Hologen ธรรมดา
แต่ในรุ่น 1.5 V จะอัพเกรดขึ้นเป็น ไฟหน้าแบบ Bi-Beam LED มือจับประตูด้านนอก
ทั้ง 4 จุด รวมทั้ง เปลือกกันชนหน้า – หลัง และกรอบกระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยว
LED ฝังมาให้ในตัว ล้วนพ่นสีเดียวกับตัวรถ ทั้งสิ้น

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar คาดด้วยแถบพลาสติกสีดำด้าน เพื่อเชื่อมให้กระจก
หน้าต่างรอบคัน ต่อเนื่องกันจากฝั่งซ้ายจรดขวา แบบ Wrap-Around (จุดกำเนิด
ของเสาหลังคาคู่หน้าแบบนี้ มาจาก Lancia Stratos ในทศวรรษ 1970 ตามด้วย
Mazda Savanna RX-7 รุ่นแรก ปี 1978 ส่วนบ้านเรา Mazda 323 Astina ปี 1990
และ Suzuki Swift รุ่นแรก และรุ่นปัจจุบัน คือรถยนต์ที่ใช้เสาหลังคาคู่หน้า แบบนี้)

บริเวณสามเหลี่ยมสีดำที่ชื่อมเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar กับบานประตูคู่หน้า และ
ด้านข้างของชุดไฟท้าย บริเวณใต้รางเลื่อนบานประตูคู่หลัง ถูกออกแบบให้มีครีบ
ขนาดเล็ก Aero Stabilizing Fin ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ที่ Toyota ประยุกต์มาจาก
รถแข่ง F1 ของตน เพื่อนำมาใช้กับรถยนต์ที่เปิดตัวออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 2013
(Vios และ Yaris ใหม่ ก็มีเจ้าครีบเล็กๆ นี้ด้วยเช่นกัน)

2016_11_Toyota_Sienta_06

ด้านข้างลำตัว มีการเล่นแนวเส้นด้านข้าง บริเวณแนวเส้นสะเอว ขอบล่างหน้าต่าง
บานประตูคู่หลัง ให้โค้งเป็นเนินขึ้นเล็กน้อย ส่วนชายล่าง มีการเล่นแนวเส้นโค้ง
ทะแยงขึ้นผ่านเหนือซุ้มล้อคู่หล้ง ไปจรดกับ ชุดไฟท้าย และรางเลื่อนบานประตู
คู่หลัง พร้อมแถบสามเหลี่ยม สีดำ ประดับไว้ด้านล่าง ก่อนถึงซุ้มล้อคู่หลังเพื่อให้
สอดรับกับแนวเส้นตัวถังทั่วทั้งคัน

ชุดไฟท้าย มีจอนพลาสติกสีดำด้าน แบบเดียวกับชุดโคมไฟหน้า ลากลงมาจรด
ขอบล่างของเปลือกกันชนหลัง ซึ่งมีแผงทับทิมสีแดงทั้งฝั่งซ้ายและขวา กับชุด
ไฟตัดหมอกหลังสีแดง ติดตั้งตรงกลางด้านล่างสุด

ไฟส่องสว่างสีแดงยามค่ำคืนมาเป็นแนวโค้ง รุ่น 1.5 V จะเป็นแบบหลอดธรรมดา
Light Guiding ส่วนรุ่น 1.5 G จะเป็นหลอดแบบ LED มีไฟเบรกดวงที่ 3 ติดตั้ง
มาให้ ด้านบนสุดตรงกลางของกระจกบังลมด้านหลัง พร้อมไล่ฝ้า เปิด-ปิด ด้วย
สวิตช์ไฟฟ้า และมีใบปัดน้ำฝนหลัง กับหัวฉีดน้ำล้างกระจก มาให้ เป็นอุปกรณ์
มาตรฐาน

รุ่น 1.5 G ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว สีเงินตามปกติ พร้อมยาง Hankook ขนาด
185/60R15 ส่วนรุ่น 1.5 V จะอัพเกรดเป็นล้ออัลลอย 16 นิ้ว สี เงิน-ดำ สวมด้วยยาง
Bridgestone Turanza ER33 ขนาด 195/50R16 (ซึ่งผมว่า พอจะเกาะถนนและ
ใช้งานได้ดี ในระดับหนึ่ง…ดีกว่า B250 ขึ้นมาอีกนิดหน่อยเท่านั้น เพราะถ้าต้องลุย
แอ่งน้ำแล้วละก็ อาการแฉลบ จะเกิดขึ้นชัดเจนกว่าครับ แถมยังเข้าโค้งได้ในระดับ
กลางๆ ไม่ถึงขั้นดีนัก)

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_00

ระบบกุญแจ ในรุ่น 1.5 G เป็นกุญแจแบบมาตรฐาน แต่ในรุ่น 1.5 V จะเป็นแบบ
รีโมทคอนโทรล Keyless Smart Entry เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดิน
เข้าไปใกล้รถ สามารถดึงมือจับประตูได้ทันที โดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆทั้งสิ้น และ
ถ้าต้องการจะล็อกประตู ก็เพียงแค่ใช้นิ้ว แตะแถบร่องบนมือจับเปิดประตูเท่านั้น
มีระบบป้องกันโจรกรรม Immobilizer มาให้

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากรีโมทแบบเดียวกัน ที่ติดตั้งใน Toyota รุ่นอื่นๆนั่นคือ
มีสวิตช์กดแช่ไว้ 3 วินาที เพื่อสั่งเปิดบานประตูเลื่อนคู่หลังด้วยระบบไฟฟ้า
ได้ในแบบเดียวกับ Toyota Alphard / Vellfire ญาติผู้พี่

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_01

การเข้า – ออกจาก เบาะนั่งคู่หน้า ทำได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งใดติดขัด
นั่นเป็นผลมาจากการออกแบบให้ช่องทางเข้า – ออก มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
อีกทั้งยังออกแบบให้บานประตูคู่หน้า โน้มเอียงไปทางด้านหน้าเล็กน้อย เมื่อ
เปิดกางออก คล้ายกับคู่แข่งอย่าง Honda Freed

แผงประตูคู่หน้า ออกแบบให้มีพนักวางแขน ติดตั้งในระดับที่เหมาะสม วางแขน
ได้สบายพอดีๆ บริเวณมือจับประตูด้านใน หุ้มด้วยผ้าแบบกึ่งสาก เสริมฟองน้ำ
ด้านในวัสดุผ้าของเวอร์ชันไทย จะต่างจากเวอร์ชันญี่ปุ่น (ซึ่งมีเนื้อผ้าที่เนียน
ละเมียดกว่านิดๆ) อย่างชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้น ช่องมือจับประตูด้านใน ยังสามารถวางโทรศัพท์มือถือไซส์ใหญ่
แบบ iPhone 6 Plus กับ 7 Plus รวมทั้ง Samsung ตระกูล Galaxy Note ได้แบบ
สบายๆ อีกต่างหาก

ด้านล่างของแผงประตูคู่หน้า มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท และช่องใส่เอกสาร
ซึ่งมีขนาดใหญ่ใช้การได้ดี รวมทั้งช่องติดตั้งลำโพงคู่หน้า

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_02

ตำแหน่งติดตั้งของเบาะนั่งคู่หน้า อยู่ในระดับเหมาะสม คือเตี้ยกว่า Freed
แต่สูงกว่า Mobilio และใกล้เคียงกับ BR-V ดังนั้น จุด Hip-Point จึงอยู่ใน
ระดับสูงกำลังดี ไม่สูงเกินไป เพียงแค่คุณเปิดประตูแล้วก็หมุนตัวหย่อนก้น
ลงนั่ง หรือก้าวขาลงจากรถ ก็ง่ายสบายกำลังดี

เบาะนั่งทุกตำแหน่งของรุ่น 1.5 G จะเป็นผ้าสีดำตัดสลับกับสีส้ม ซึ่งให้ความ
สบายแผ่นหลังมากกว่าเบาะนั่งหุ้มด้วยหนัง ของรุ่น 1.5 V ซึ่งเป็นการนำวัสดุ
หนังสังเคราะห์แบบเดียวกับเบาะนั่งของ Toyota Camry ESport มาหุ้มทับ
เบาะผ้าแบบเดิมกันง่ายๆ แต่ถ้ามองในแง่ดี เท่ากับว่า หากซื้อรุ่น V นอกจาก
จะได้เบาะผ้าดั้งเดิมจากโรงงานใน Indonesia แล้ว ยังได้หนังหุ้มเบาะทับ
เสริมมาด้วย กรณีที่ต้องถอดหนังออกไปทำความสะอาดตากแดด หรืออะไร
ก็ตาม คุณจะยังมีผ้าหุ้มเบาะไว้ทำหน้าที่สำรองอยู่เสมอ ถ้าไม่พลั้งเผลอเรอ
ทำเครื่องดื่ม หกรดลงไปบนผ้าหุ้มเบาะซ้ำอีกรอบ!

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับเอน และเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ด้วยคันโยกกลไกแบบ
อัตโนมือ (ของคุณ นั่นแหละ) ไม่มีระบบไฟฟ้าใดๆมาช่วย อย่างไรก็ตาม สิ่ง
ที่ต้องชมเชย ก็คือ การติดตั้งคันโยกปรับระดับสูง – ต่ำของเบาะคนขับมาให้
ช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับคนที่มีรูปร่างเตี้ยได้มาก

พนักพิงหลัง รองรับแผ่นหลังด้านข้างและช่วงหัวไหล่ได้ดี แต่ถ้าเพิ่มการดัน
บริเวณกลางหลังอีกนิด น่าจะซัพพอร์ตแผ่นหลังได้เต็มที่กว่านี้ พนักพิงศีรษะ
เสริมฟองน้ำจนแน่นเกือบแข็ง แต่ถ้ากดลงไปก็แอบนุ่มนิดๆ ยังไม่ถึงขั้นดัน
กบาลมากนัก แต่ก็ต้องปรับเบาะเอนช่วยนิดๆ กำลังงาม

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ตามมาตรฐานของรถเก๋งขนาดเล็กจาก Toyota ทั่วไป
แต่มีฟองน้ำที่แน่นแอบนุ่มนิดๆ พอจะรักษาทรงของเบาะไปได้นานหลายปีโดย
ไม่น่าจะมีอาการฟองน้ำเสื่อมสภาพจนนิ่มย้วยง่ายนัก

ใต้เบาะรองนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย มีถาดเก็บรองเท้า เลื่อนเข้า – ออกได้
เหมาะสำหรับเก็บซ่อนสิ่งของที่ไม่อยากให้ใครเห็น แต่ก็ไม่อยากนำติดตัว
ลงไปจากรถ เช่น ปืนสั้น หรือรองเท้าแตะเน่าๆ

พื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วงครับ หลังคาสูงขนาดนี้ ตัวให้สูงเป็นยีราฟก็ยัง
หายใจได้โล่งสบาย

สิ่งที่น่าตำหนิ ของ Sienta ก็คือ เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด
ไม่สามารถปรับเลื่อนขึ้น – ลงได้ ทำให้ผมต้องเจอปัญหาสายเข็มขัดแอบ
บาดช่วงคอจนน่ารำคาญตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ทีมออกแบบก็ยังเน้น
ความสวยงาม ด้วยการ ใช้พลาสติกสีดำ ลาย สารพัดรู สไตล์ Chic แปะ
ไว้ที่เสาหลังคากลาง B-Pillar นัยว่าเพื่อความเท่ และสวยงาม ทั้งที่จริงๆ
แล้ว ควรนำเงินที่ใช้ในการทำพลาสติกส่วนนี้ ไปใช้ในการทำเข็มขัดนิรภัย
ให้สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ จะดีกว่า

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_03_EDIT

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลังทำได้ง่ายดาย เพราะบานประตูฝั่งซ้าย
ของทุกรุ่น เลื่อนเปิด-ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งอยู่ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ
แต่สำหรับรุ่น V จะเพิ่มบานประตูไฟฟ้า ฝั่งขวา มาให้อีก 1 ชุด ครบถ้วนทั้ง
2 ฝั่ง

ตำแหน่งความสูงในการก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถวกลาง เมื่อวัดจากพื้นถนน
จนถึงพื้นห้องโดยสารนั้น Sienta เวอร์ชันญี่ปุ่น รุ่นเดิม อยู่ที่ 385 มิลลิเมตร
ส่วนรุ่นใหม่อยู่ที่ 330 มิลลิเมตร เตี้ยลงจากเดิมก็จริง แต่สำหรับเวอร์ชันไทย
อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีการยกพื้นใต้ท้องรถ Ground Clearance ให้
สูงขึ้นอีก 25 มิลลิเมตร ด้วยแล้ว ความสูง ณ จุดดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นเป็น 355
มิลลิเมตร ซึ่งก็ยังเตี้ยกว่า Sienta รุ่นแรกอยู่ดี

กระจกหน้าต่าง เลื่อนเปิด – ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้ เกือบสุดขอบรางกระจก
ทั้งที่จริงๆแล้ว น่าจะออกแบบให้เลื่อนลงมาได้มากกว่านี้ แต่ติดข้อจำกัดที่
การออกแบบแผงปะตูด้านใน ซึ่งต้องรองรับกับชุดรางเลื่อนด้วย นี่ถือว่าเป็น
ปัญหาสุด Classic ที่รถตู้ประตูบานเลื่อนทุกคัน ซึ่งออกแบบให้หน้าต่างนั้น
เลื่อนลงมาได้ ต้องเจอ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นผลพวงจากการออกแบบชุดรางเลื่อน นั่นคือ แผงข้าง
ของบานประตูแบบเลื่อน ไม่สามารถออกแบบให้มีพนักวางแขนได้เลย มีแค่
ช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท มาให้ 1 ตำแหน่ง ด้านล่างสุด พร้อมสวิตช์เลื่อน
หน้าต่างขึ้นลงด้วยไฟฟ้า มาให้เพียงเท่านั้น

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_08

เบาะนั่งด้านหลัง ทั้งแถว 2 และ 3 ถูกติดตั้งในแบบ “Theater layout” หรือ
แบบขั้นบันได เหมือนในโรงภาพยนตร์

พื้นที่เหนือศีรษะของผู้โดยสารแถวกลาง ยังคงความโปร่งสบาย แม้ตัวเบาะจะ
ถูกยกตำแหน่งติดตั้งให้สูงขึ้นกว่าเบาะคู่หน้าก็ตาม

เบาะนั่งแถวกลาง สามารถแยกฝั่งปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ในอัตราส่วน
50 : 50 แถมยังสามารถปรับเอนนอนได้มากดังที่เห็นในภาพข้างบนนี้ หรือจะ
ปรับให้ตั้งชันขึ้นมาจนสุดอย่างในภาพ ก็ย่อมได้

ตัวพนักพิงหลังค่อนข้างแบนราบ และรองรับแผ่นหลังได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อ
เทียบกับ เบาะแถว 3 หัวข้อนี้ Suzuki Ertiga อาจได้เปรียบกว่า นิดหน่อย

ขณะเดียวกัน พนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ก็ค่อนข้างแข็งพอประมาณ แม้จะกดลง
ไปแล้วพบฟองน้ำเสริมด้านในอยู่ก็ตาม ต้องยกขึ้นมาใช้งาน เพื่อไม่ให้ขอบ
ด้านล่างมาทิ่มตำช่วงต้นคอ

อีกข้อด้อยประการหนึ่งก็คือ ไม่มีพนักวางแขนมาให้เลย จริงอยู่ว่า สำหรับ
แผงประตูด้านข้าง พอเข้าใจได้ว่าที่ไม่มีพนักวางแขนมาให้ เนื่องจากปัญหา
ในการออกแบบโครงสร้างบานประตู ซึ่งต้องทำแผงประตูด้านใน ให้บางสุดๆ
เพื่อไม่ให้บานประตูต้องเลื่อนออกไปไกลห่างจากตัวถังมากเกินควร

แต่พนักวางแขนบนเบาะแถว 2 นี่ ถ้าใส่มาให้ลูกค้าบ้านเราสักนิด น่าจะช่วย
ลดเสียงบ่นของู้โดยสารแถวกลาง ลงไปได้มาก

เบาะรองนั่งมีความยาว พอกันกับ เบาะรองนั่งคู่หน้านั่นละครับ ไม่ได้ยาวไป
กว่ากันนักเลย ฟองน้ำที่เสริมด้านใน ก็ถือว่า แน่นแต่แอบนุ่มเล็กๆพอๆกัน

พื้นที่วางขา สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับการปรับเบาะนั่งแถวกลางว่า
จะให้เลื่อนขึ้นมาข้างหน้า เพื่อเผื่อแผ่พื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถวท้ายสุด
ด้วยหรือไม่

เข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารแถวกลาง ก็ยังคงเป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับ
สูง – ต่ำ ไม่ได้ อยู่ดี แต่สำหรับใครที่นั่งตรงกลาง สายเข็มขัดทั้งหมดจะถูก
ย้ายไปเก็บฝังไว้บนเพดานหลังคา (ตามรูปข้างล่าง) นอกจากนี้ ยังติตตั้ง
ขอยึดเกี่ยวรั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก Child Seat ตามมาตรฐาน ISOFIX
มาให้ บริเวณเบาะรองนั่งแถวกลาง ทั้ง 2 ฝั่ง อีกด้วย

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_04

การเข้า – ออกจากเบาะแถว 3 นั้น ให้ดึงคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2 (บริเวณ
ใกล้ๆสะโพก) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ ไปพร้อมกับปลดล็อกขา
ยึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ
One Motion เหมือนกับ B-Segment Minivan ทุกรุ่น (ยกเว้น Ertiga)

การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 แม้ว่าคุณจะตัวใหญ่ระดับเดียวกับผม แต่ก็ยัง
สามารถมุดตัวเข้าไปนั่ง และ ลุกออกมาจากเบาะแถว 3 ได้อยู่ เหมือน คู่แข่งใน
พิกัดนี้ ทั้ง Honda Mobilio และ BR-V เพียงแต่ ช่องทางเข้า – ออก จะเล็กกว่า
ราวๆ 1 ใน 3

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_05

จุดเด่นที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของ Sienta อยู่ที่ เบาะนั่ง
แถว 3 ซึ่งเป็นแถวหลังสุด

สำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น อาจจะไม่รู้สึกอะไรมากนัก เพราะว่า ทุกมิติ และทุกฟังก์ชันของ
พื้นที่โดยสารบนเบาะแถว 3 ถูกยกมาจาก Sienta รุ่นเดิม ที่พวกเขาคุ้นเคยแล้ว มาทั้งยวง

แต่สำหรับลูกค้าชาวไทย ซึ่งไม่เคยสัมผัส Sienta รุ่นเก่ามาก่อน รับประกันได้ว่าจะรู้สึก
Wow!! กับตำแหน่งการติดตั้งเบาะแถว 3 ซึ่ง สูงกว่าเบาะแถว 2 ซึ่งนั่นช่วยให้ผู้โดยสาร
นั่งสบายขึ้น ลดปัญหาการนั่งชันเข่าลงไปได้เล็กน้อย (คือยังไงๆ ก็ต้องนั่งชันขาขึ้นมา
นิดนึงอยู่ดี แต่แค่ว่า ไม่ชันมาก เมื่อเทียบกับ Minivan 7 ที่นั่ง หลายๆรุ่นในตลาด)

ส่วนพื้นที่วางขานั้น จะวางได้สบายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารแถว 2
ว่าจะปรับเลื่อนเบาะแถวกลาง ให้ขึ้นหน้า หรือถอยหลังมากน้อยแค่ไหน ถ้าถอยหลัง
จนสุด หัวเข่าผู้โดยสารแถว 3 ยังไงๆ ก็ชิดกับด้านหลังพนักพิงแถว 2 แน่ๆ แต่ถ้าหาก
ปรับเบาะเลื่อนขึ้นหน้าอีกนิดนึง พื้นที่วางขาของผู้โดยสารแถว 3 จะเหลือเยอะโดย
หัวเข่า ไม่ชนกับด้านหลังพนักพิงเบาะแถวกลางเลย

น่าแปลกใจว่า แม้ตำแหน่งเบาะนั่งจะถูกติดตั้งให้สูงกว่าเบาะแถวกลาง แต่คนตัวสูงถึง
180 เซ็นติเมตร ยังสามารถนั่งโดยสารได้อย่างสบาย โดยศีรษะยังไม่ชนเพดานหลังคา
ที่ออกแบบมาให้มีโป่งเว้าขึ้นไปเล็กน้อย ด้วยซ้ำ สำหรับตัวผม สูง 170 เซ็นติเมตร แต่
มีช่วงล้ำตัวยาว และศีรษะใหญ่ ยังเหลือช่องว่างระหว่างเพดานหลังคา กับศีรษะอีกราวๆ
2 นิ้วมือในแนวนอน

ผนังด้านข้างสำหรับผู้โดยสารแถว 3 ออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกสบาย สมกับเป็น
รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก แถมยังเก็บซ่อน ซุ้มล้อคู่หลังไว้
อย่างเรียบร้อย พนักวางแขนออกแบบมาให้รองรับได้ทั้งสรีระของเด็กหรือผู้ใหญ่ มี
ช่องวางแก้วน้ำ พร้อมร่องใส่ของอเนกประสงค์ ออกแบบเป็นรูปนกหวีด นอกจากนี้
ด้านบนของแผงพลาสติกด้านข้าง ที่ออกแบบให้มี ลายกราฟิค รูๆ เยอะๆ นั่น ยังมี
ร่องใส่โทรศัพท์เคลื่อนที่ มาให้ได้ใช้งานกันอีกด้วย! ส่วนด้านล่าง เป็นช่องติดตั้ง
ลำโพงคู่หลัง

พนักพิงหลัง แม้จะมีพื้นที่รองรับลำตัวผู้โดยสารด้านข้างค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้อง
ออกแบบเพื่อให้สะดวกต่อการพับเบาะ แต่กลับกลายเป็นว่า พื้นที่รองรับแผ่นหลังนั้น
โป่งพองออกมารองรับแผ่นหลังได้กำลังดี และให้ความสบายในการพิงหลังมากกว่า
พนักพิงหลังของเบาะแถวกลาง เสียด้วยซ้ำ! ตัวพนักพิงหลัง สามารถปรับเอนได้ถึง
6 ตำแหน่ง แม้องศาการปรับเอนจะไม่มากนัก กระนั้น ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับ
ผู้โดยสาร แทบทุกเพศทุกวัย

พนักศีรษะ เป็นแบบตัว L คว่ำ ตามมาตรฐานของ Minivan จาก Toyota ทั่วๆไป ซึ่ง
ต้องยกขึ้นมาใช้งาน เพื่อไม่ให้ขอบด้านล่าง ทิ่มตำต้นคอ

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ด้วยเหตุผลของการออกแบบให้เบาะมีขนาดเหมาะสมและ
สะดวกต่อการพับเก็บ แต่ตัวเบาะรองนั่ง ก็ยังมีความนุ่มหลงเหลือให้สัมผัสอยู่ ถือว่า
ถ้าให้นั่งเดินทางไกลๆ จาก กรุงเทพมหานคร ถึง ชลบุรี ผมสามารถนั่งบนเบาะแถว
3 ของ Sienta ได้สบายๆ โดยไม่บ่น แต่ถ้าจะให้นั่งไปไกลถึงระยอง อาจต้องขอแวะ
ปั้มน้ำมันข้างทางกันสัก 2 ครั้ง แน่ๆ

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_06

อีกจุดเด่นสำคัญของ Sienta คือรูปแบบการพับเบาะ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่
Sienta รุ่นแรก ในปี 2003 แล้ว ด้วยวิธีการ ซ่อนเบาะแถว 3 ลงไปอยู่ใต้เบาะแถว 2 !!
ทำให้ Sienta กลายเป็น รถยนต์นั่งพิกัดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร จากญี่ปุ่นเพียง 1 ใน 3 รุ่น
เท่านั้น ที่ออกแบบมาให้สามารถพับเก็บเบาะได้แบนราบไปกับพื้นตัวถังรถ

วิธีการพับเบาะ ไม่ยากเลยครับ เพียงแต่คุณจำเป็นต้องพับยกเบาะแถว 2 ให้ยกหงาย
ไปติดกับเบาะคู่หน้าสุดก่อน จากนั้น เดินอ้อมไปดึงสลักบนบ่าข้างของพนักพิงเบาะ
แถว 3 เพื่อพับพนักพิงลงมา จากนั้น ดึงสายปลดล็อกที่ใต้เบาะรองนั่ง แล้วดึงสายจับ
ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ด้านหลังของพนักพิง ยกชุดเบาะลอยขึ้น จากนั้นให้ดันและกดชุดเบาะ
ลงไปอยู่ที่พื้นรถ ออกแรงกดล็อกชุดเบาะให้แน่น เป็นันเสร็จพิธี

ถ้าคุณต้องการการยกเบาะแถว 3 กลับขึ้นมาใช้งานตามเดิม ก็แค่ย้อนขั้นตอน ด้วยการ
ยกเบาะแถว 2 หงายขึ้นไปก่อนตามเดิม เพื่อเปิดทางให้ยกเบาะแถว 3 ขึ้นมาได้ง่ายๆ
ทำงานในย่อหน้าข้างบน ดึงสายมือจับด้านหลังพนักพิง เพื่อยกชุดเบาะขึ้นมาจาก
หลุม กดยึดเข้ากับตัวล็อกบนพื้นรถ แล้วดึงก้านล็อกบนบ่าของพนักพิง เพื่อยกพนัก
กลับมาตั้งตามเดิม เป็นอันเรียบร้อย

จริงอยู่ว่า นี่เป็นวิธีการพับเบาะที่แปลกตา แตกต่างจากคู่แข่ง และเพิ่มความสะดวกใน
การปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้อย่างอเนกประสงค์ ทว่า จุดที่ยังต้องปรับปรุงต่อไปนั้น
อยู่ที่ จังหวะการยกเบาะแถว 3 เพื่อกดลงไปยังพื้นรถ ยังมีอาการสั่นคลอนหลวมๆ อยู่
เยอะมาก หากสามารถทำช็อคอัพ ค่ำยัน หรือ ออกแบบให้ดีขึ้นกว่านี้ ก็จะช่วยเพิ่ม
ความแน่นหนา ให้ลูกค้าได้ชื่นชม มากกว่าตอนนี้แน่

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_07_EDIT

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาดค่อนข้างบาง ค้ำยันด้วยช็อคอัพไฮโดรลิค
2 ต้น มีมือจับสำหรับให้เหนี่ยวดึงฝาหลังปิดลงมา มีระบบใบปัดน้ำฝนด้านหลัง
พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง และชุดไล่ฝ้าด้วยสวิตช์ไฟฟ้ามาให้ครบถ้วน

ช่องทางเข้า – ออก ของห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความกว้าง 1,055 มิลลิเมตร
สูง 1,080 มิลลิเมตร

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความกว้าง 1,260 มิลลิเมตร สูง 1,085 มิลลิเมตร และ
เมื่อพับเบาะแถว 3 จนสุด จะมีความยาว 1,430 มิลลิเมตร แต่ถ้าพับเบาะแถวกลาง
ลงไปด้วย ความยาวพื้นห้องเก็บของ จะเพิ่มเป็น 1,600 มิลลิเมตร ส่วนช่วงกว้าง
ที่สุด ของผนังด้านใน บริเวณซุ้มล้อคู่หลัง อยู่ที่ 1,105 มิลลิเมตร สามารถพับเบาะ
เพื่อใส่จักรยานขนาด 26 นิ้ว ได้ 2 คัน โดยไม่ต้องถอดล้อ

พื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง สามารถเปิดยกขึ้นถอดออกมาได้ จะพบถาดหลุม
ใส่ของจุกจิก ทำจากพลาสติก Recycle ซึ่งเป็นตำแหน่งติดตั้งแม่แรงและบรรดา
เครื่องมือประจำรถไปด้วย เมื่อยกถาดดังกล่าวออก จะพบยางอะไหล่ แบบบาง
ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น (ล้อเหลือง) เก็บซ่อนไว้อย่างดี

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_10B

แผงหน้าปัดของ Sienta ถูกออกแบบขึ้นใหม่ โดยย้ายชุดมาตรวัดแสดงข้อมูล
จากตรงกลาง (เหมือน Vios รุ่นก่อนๆ) มาไว้ฝั่งขวา ด้านบน เหนือพวงมาลัย
ส่วนแผงควบคุมต่างๆ  ยังคงอยู่ตรงกลาง ร่วมกับแผงเก็บของ ฝั่งปีกซ้าย

แผงหน้าปัดของ Sienta ถูกทำออกมา 2 รูปแบบ โดยเวอร์ชันญี่ปุ่น จะติดตั้ง
คันเกียร์ ไว้ใต้ ส่วนเวอร์ชัน อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย จะเปลี่ยนตำแหน่ง
ติดตั้งคันเกียร์ ลงมาไว้กับพื้นรถแทน

Kayukawa-san ให้เหตุผลว่า “เป็นเพราะในอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ยังต้องการ
รถยนต์เกียร์ธรรมดาอยู่เยอะ ถ้าจะยกเอาแผงควบคุมกลาง พร้อมคันเกียร์มาจาก
เวอร์ชันญี่ปุ่น (ซึ่งมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT เท่านั้น) มาเลยคงไม่ได้ เพราะต้อง
ออกแบบคันเกียร์กันใหม่ ให้เข้ากับตำแหน่งแผงควบคุมกลาง ซึ่งจะวุ่นวาย และ
ทำให้ต้นทุนบานปลาย ดังนั้น การติดตั้งคันเกียร์ไว้ที่พื้น จะเหมาะสมกับลักษณะ
การใช้งานเกียร์ธรรมดามากกว่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบแผงสวิตช์เครื่อง
ปรับอากาศ รวมทั้งกล่องเก็บของด้านใต้ ขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับฐานรองคันเกียร์

ดังนั้น ในเมื่อออกแบบแผงคอนโซลกลาง ใหม่ทั้งหมดแล้ว ก็ควรจะติดตั้งชุด
คันเกียร์อัตโนมัติ ของเวอร์ชันที่ผลิตในอินโดนีเซียทุกคัน ให้เป็นแบบเดียวกัน
ไปเลยจะดีกว่า”

เมื่อเทียบกับแผงหน้าปัดของ Sienta รุ่นเดิมแล้ว โดยส่วนตัว ผมมองว่า ชุด
แผงหน้าปัดของรุ่นก่อน ดูเรียบร้อย สวยงาม โปร่งสบายตา ใช้งานง่ายกว่า
ไม่ดูฉวัดเฉวียน เท่ากับแผงหน้าปัดของรุ่นใหม่นี้

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร มี 2 จุด คือ กลางรถ
เหนือศีรษะผู้โดยสารแถว 2 และ ด้านหน้า ซึ่งออกแบบเป็นไฟอ่านแผนที่แบบ
คล้ายกับ Honda City / Jazz คือ กดเปิด – ปิด ลงไปได้ทันที แต่มีสวิตช์แยก
สำหรับเปิดไฟเก๋งในรถพร้อมกันมาให้ต่างหาก อีกชิ้นหนึ่ง ด้านบนของชุดไฟ

กระจกมองหลัง เป็นแบบธรรมดา ส่วนแผงบังแดด ติดตั้งกระจกแต่งหน้าแบบ
มีฝาเลื่อนเปิด – ปิด มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมช่องเสียบบัตร ฝั่งคนขับ แต่ไม่มีไฟ
ส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_11

จากขวา ไปซ้าย สวิตช์กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า ติดตั้ง
เหนือ สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน เฉพาะฝั่งคนขับจะเป็นแบบ กดลง
หรือยกสวิตช์ขึ้น เพื่อเลื่อนกระจกเพียงครั้งเดียว (Auto One Touch)

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวามือคนขับ รุ่น V จะเป็นสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start ถัดมา
เป็นช่องใส่ของอเนกประสงค์ เหมาะกับการใส่ Keycard เข้าหมู่บ้าน หรือบัตร
ทางด่วน Easy Pass เลื่อนลงมาเป็นชองวางแก้วน้ำ (รายละเอียดอยู่ด้านล่าง)

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัย เป็นแบบมาตรฐานของรถญี่ปุ่น ฝั่งขวาควบคุมชุด
ไฟหน้า ไฟเลี้ยว และไฟสูง แต่ ใน Sienta ดูเหมือนจะยกมาจาก Hilux Revo
คือไม่มีสวิตช์ OFF เพื่อปิดไฟหน้า เท่ากับว่า ไฟหน้าจะเปิด หรือปิดเองแบบ
อัตโนมัติ ตามใจมัน! ผมไม่ค่อยชอบฟังก์ชันนี้ เพราะบางทีไฟหน้าจะถูกเปิด
ในเวลาไม่เหมาะสม ขณะขับขี่กลางวัน ใต้ทางด่วนยกระดับ กลายเป็นว่า
เหมือนเราไปเปิดไฟสูงใส่รถคันข้างหน้า เพื่อบีบเร่งให้เขาขับเร็วๆ เสียดื้อๆ
ซึ่งจะทำให้เรา กลายเป็นคนไม่มีมารยาทในสายตาเพื่อนร่วมท้องถนนไป
อยากให้ Toyota พิจารณาเอา ฟังก์ชันนี้ออกกไป แล้วใส่ระบบปิดไฟหน้า
มาให้เหมือนเดิมด้วยเถอะ! คนขับ ควรเลือกได้เองว่าเขาจะเปิด หรือปิด
ไฟหน้า Auto ของเขา!

ก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมชุดใบปัดน้ำฝนหน้า-หลัง และที่ฉีดน้ำล้างกระจก
บังลมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทุกรุ่นมีระบบหน่วงเวลา แต่เฉพาะรุ่น V ที่
สามารถตั้งการหน่วงเวลาของใบปัดน้ำฝนด้านหน้าได้

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงอวบอูม แบบพวงมาลัยรถสปอร์ต รุ่น V จะ
หุ้มหนัง เย็บด้วยตะเข็บสีส้มมาให้ เป็นโทนเดียวกับสีหนังหุ้มเบาะ ปรับ
ระดับสูง – ต่ำได้ แต่ไม่มากนัก แทบไม่เอื้อประโยชน์ให้คนตัวเตี้ยนักเลย
แถมยังปรับระยะใกล้ – ห่าง จากตัวไม่ได้อีกต่างหาก ทั้งที่ควรจะทำได้

สวิตช์ บนก้านพวงมาลัย ฝั่งขวา ควบคุมการทำงานของหน้าจอ MID
(รายละเอียดอยู่ด้านล่างนี้) ส่วนฝั่งซ้าย ไว้ควบคุมชุดเครื่องเสียง และ
มีการตกแต่งรอบๆสวิตช์ ด้วยแผงพลาสติกสีดำเงา ขลิบข้างด้วยสีเงิน

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_12

ชุดมาตรวัดความเร็ว ของเวอร์ชันไทย รุ่น V เป็นแบบ Optitron มีตัวเลข
สีขาว ฟอนท์ตัวเอียงก็จริง แต่อ่านง่าย แยกมาตรวัดความเร็วไปไว้ฝั่งขวา
มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ไปไว้ฝั่งซ้าย เข็มวัดสีแดง ล้อมด้วยสีเงิน คล้าย
ปรอทวัดไข้ ไฟสัญญาณเตือนต่างๆ เข้าใจง่าย ชัดเจน ตามมาตรฐานของ
Toyota ล้อมกรอบเฉพาะปีกข้าง ด้วยสีโครเมียม

ตรงกลาง มีจอแสดงข้อมูล MID (Multi Information Display) แบบ
TFT ขนาด 4.2 นิ้ว หากติดเครื่องยนต์เป็นครั้งแรกในตอนเช้า จอจะขึ้น
ภาพกราฟฟิคสีเหลือง ทักทายคุณว่า Hello ส่วนตอนเย็น ก็จะขึ้นภาพ
กราฟฟิคสีน้ำเงินพร้อมข้อความ Good Evening ให้ด้วย

หน้าจอดังกล่าว คล้ายคลึงกับ เวอร์ชันญี่ปุ่น สามารถแจ้งเตือนปิดประตู
ไม่สนิท ข้อความเตือนต่างๆ แบบ Pop Up เหมือน Toyota รุ่นใหม่ๆ ทั้ง
Altis, Camry และ Hilux Revo นอกจากนี้ยังแสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงทั้งแบบเฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันซึ่งเหลือในถัง
จะมากพอให้แล่นต่อไป (ไม่เคยทำได้ดีไปกว่า 380 กิโลเมตร) แจ้ง
ข้อมูลปรับแต่งหน้าจอ และระบบไฟฟ้าต่างๆในรถ ฯลฯ รวมทั้งมาตรวัด
ระยะทาง Odo Meter และ Trip Meter A กับ ฺB ทั้งหมดนี้ ควบคุมด้วย
ชุดสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เลื่อนขึ้นๆลงๆ แล้วกดปุ่ม Enter
ตรงกลาง เพื่อเลือกเมนูที่ต้องการ หรือกดแช่ยาว เพื่อ Set 0 ให้กับ
Trip Meter และมีสัญญาณเตือนให้คาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับทั้งผู้ขับ
และผู้โดยสารด้านหน้าอีกด้วย

ถ้าจะปรับตั้งนาฬิกา บนหน้าจอ TFT มีสวิตช์ใต้ชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย
ให้กดเพื่อปรับตั้งได้ด้วยตัวคุณเอง

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_13

ชุดเครื่องเสียง ของรุ่น V เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3/
DVD/WMA แบบ 2 DIN พร้อมหน้าจอมอนิเตอร์ สี ขนาด 7 นิ้ว เปิดยก
เพื่อใส่ แผ่น CD/DVD รองรับช่องเชื่อมต่อ USB , AUX , ระบบไร้สาย
Bluetooth และ Application T Connect ที่ Toyota ตั้งขึ้นเพื่ออำนวย
ความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ ผ่านทาง Smart Phone พร้อมลำโพง 6 ชิ้น
ควบคุมด้วย รีโมทคอนโทรล

ในเมื่อ เครื่องเสียง เป็นชุดเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน Camry ESport
ดังนั้น อย่าคาดหวังเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก เอาแค่พอฟังข่าวได้
พอฟังเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงเพลินๆ ก็พอ เพราะเมื่อฟังแผ่นคุณภาพสูงๆ
ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก เสียงแหลม โดนเสียงทุ้มกลบจนหมด ถ้า
ไม่ปรับแต่ง Equalizer เลย เสียงก็ดับกลืนหายไปหมด

ส่วนผู้โดยสารด้านหลัง Toyota ติดตั้ง จอมอนิเตอร์สี LED ขนาด
8 นิ้ว แบบพับเก็บได้ พร้อมรีโมทคอนโทรล มาให้ สั่งการได้จาก
เบาะผู้โดยสาร โดยที่คนขับไม่ต้องมาเปลี่ยนเพลงหรือเปลี่ยนไฟล์
ให้วุ่นวาย

เครื่องปรับอากาศ รุ่น G เป็นแบบธรรมดา แต่รุ่น V จะเป็นแบบกดปุ่ม
พร้อมมือหมุน มีโหมด AUTO มาให้เร่งความเย็นได้เร็วทันใจตาม
สไตล์ Toyota และ DENSO เย็นจนหลายคนบ่นว่า จะหนาวไปไหน?

สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ 3 หากกลัวไม่เย็น Toyota ยังติดตั้งระบบ
Blower พร้อมสวิตช์ปรับความแรงพัดลม 3 ระดับ มาช่วยเพิ่ม กระจาย
ลมเย็น ไปทั่วห้องโดยสารมากยิ่งขึ้น หากต้องการปิดระบบ ให้กดปุ่ม
เปิด – ปิด ที่ติดตั้งบนแผงหน้าปัด ใต้ชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย เท่าที่ทดลอง
นั่งเบาะหลังดู พบว่า แรงลมหนะเย็นใช้ได้ ต่อให้นั่งบนเบาะแถว 3 ก็ตาม
ดังนั้น ไม่น่าเป็นห่วงครับ

ใต้แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ ออกแบบเป็นช่องวางของ พร้อมถาด
ที่สามารถยกออกไปเก็บได้ สามารถวางโทรศัพท์มือถือในแนวตั้งได้
หรือจะใส่ของจุกจิกทั่วไป ก็ย่อมได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ใต้ช่องแอร์บนแผงหน้าปัด ฝั่งซ้ายและขวา ยังออกแบบให้มี
ช่องวางแก้วขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะกับการวางแก้วกาแฟร้อน/เย็น มากกว่า
หากวางขวดน้ำแบบ 7 บาท มันจะสั่นสะเทือนเป็นเจ้าเข้าทรงไปตลอดทาง

กล่องเก็บของ ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย แบ่งเป็น 3 ชั้น โดยชั้นล่าง แค่เพียง
ใส่คู่มือ และเอกสารประจำรถต่างๆ ก็เหลือพื้นที่ไม่เยอะแล้ว ดังนั้น แผง
ด้านบน จึงถูกออกแบบให้เปิดยกขึ้นได้ แบบเดียวกับ Hilux Revo เพื่อ
ใส่ข้าวของจุกจิกต่างๆ ขนาดของมัน ใหญ่พอจะใส่วิทยุสื่อสารได้ 2 ตัว
หรือกล้องถ่ายรูปขนาดพกพา ได้ 3-4 เครื่อง หรือโทรศัพท์มือถือแบบ
Smart Phone ประมาณ 3-4 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีช่องเก็บของขนาด
เล็ก ยาว แบบไม่มีฝาปิด กั้นตรงกลาง เสริมมาให้อีกต่างหาก

2016_11_Toyota_Sienta_Interior_14

ด้านข้างผู้ขับขี่และผู้โดยสารคู่หน้า ไม่มีกล่องเก็บของใดๆมาให้ มีเพียงแค่
เบรกมือ และช่องวางแก้วน้ำสำหรับผู้โดยสารแถวกลาง 1 ช่อง เท่านั้น ต้อง
บอกว่า นี่คือ อุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่ง Sienta เวอร์ชันไทย มีมาให้เหมือนกับ
เวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ!

น่าเสียดายว่า Toyota ควรติดตั้ง พนักวางแขนสำหรับผู้ขับขี่ แบบพับเก็บได้
มาให้เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เสียอรรถประโยชน์ในการใช้พื้นที่บริเวณนี้ไป อีกทั้ง
ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย น่าจะได้พักวางแขน ขณะเคลื่อนตัวไปตามสภาพ
การจราจรติดขัด กันบ้าง ควรเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ไม่ใช่ขาย
แยกเป็นออพชันให้ลูกค้าซื้อติดตั้งเพิ่มเอง

2016_11_Toyota_Sienta_Visibility_1

ทัศนวิสัยด้านหน้า อาจแปลกตาไปสักหน่อย เนื่องจากตำแหน่งชุดมาตรวัด
ถูกติดตั้งให้ดันขึ้นไปใกล้กับกระจกบังลมหน้ามากที่สุด ด้วยหวังผลในเรื่อง
ลดการละสายตาของผู้ขับขี่ ลงมามองมาตรวัด ให้น้อยลง ซึ่งเป็นแนวทางที่
คู่แข่งอย่าง Nissan Serena , Honda Freed และ StepWGN ใช้อยู่แล้วใน
ตลาดญี่ปุ่น

แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การปรับระดับสูง – ต่ำ ของพวงมาลัย ให้
เข้ากับสรีระของคุณ อาจจะทำให้ขอบด้านบนของพวงมาลัย ไปบังด้านล่าง
ของชุดมาตรวัด อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้ก็เป็นได้ (ผมถ่ายรูปนี้จากระดับ
สายตาผมพอดีเป๊ะ) นั่นคือเหตุผลที่จอแสดงข้อมูล ต้องถูกขยับขึ้นไปไว้ที่
ตำแหน่งด้านบนสุดของชุดมาตรวัดแทน

เมื่อนั่งอยู่ในตำแหน่งเบาะคนขับครั้งแรก อาจรู้สึกว่า หน้ารถมันทิ่ม และกด
ลงไปทางด้านหน้ามาก เหตุผลมาจาก เส้นสะเอวด้านข้างรถ ที่ลาดเอียง
เป็นเส้นโค้งต่อเนื่องนั้นเอง อาการแบบนี้ จะคล้ายกับ Toyota Yaris รุ่น 2
ที่เคยเปิดตัในบ้านเราเมื่อปี 2006 เพียงแต่ว่า Yaris ยังมีเส้นแผงหน้าปัด
ที่ลาดเอียงมารับกับเส้นโค้งด้านข้างตัวถัง แต่ Sienta นั้น มาให้เห็นกัน
แบบนี้เลย ผ่านไปสัก 1-2 วัน คุณจะชินกับตำแหน่งการมองแบบนี้ไปเอง

2016_11_Toyota_Sienta_Visibility_2

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ค่อนข้างบางกว่าที่เห็นจากภายนอก
ช่วยให้การมองทางด้านข้างฝั่งขวา ทำได้ดี อาจมีการบดบังจักรยานยนต์
ที่แล่นสวนมาตามทางโค้งขวา บนถนนสวนกัน 2 เลน อยู่นิดๆ แต่ถือว่า
ยอมรับได้

กระจกมองข้าง ไม่มีอะไรให้ต้องตำหนิ ขนาดของมัน ใหญ่โตเหมาะสม
กับขนาดตัวรถดีอยู่แล้ว หากปรับให้เห็นตัวถังรถนิดเดียว ขอบล่างขวา
ของกระจก ก็ไม่ถูกบดบังด้วยเงาสะท้อนของขอบกรอบกระจกมองข้าง
อย่างที่รถยนต์หลายๆรุ่น มักเป็นกันมา

2016_11_Toyota_Sienta_Visibility_3

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ช่วยให้คุณเห็นภาพในคำอธิบาย
ด้านบนของผมชัดเจนขึ้น เส้นสะเอวด้านข้างถูกออกแบบให้โค้งเอียง
ลาดลงต่ำไปทางด้านหน้าของรถอยู่เอาเรื่อง กระนั้น การบดบังรถยนต์
ที่แล่นสวนทางมา ขณะกำลังเลี้ยวกลับรถ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากการ
วางตำแหน่งเสาคู่หน้า โน้มเอียงไปข้างหน้าในระดับที่เหมาะสม

กระจกมองข้างฝั่งซ้ายเอง ก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่ต่างจากฝั่งขวา ขนาด
กำลังเหมาะ แต่อาจมีกรอบด้านใน เบียดบังพื้นที่ด้านข้างฝั่งซ้าย
ของตัวกระจกเข้ามานิดนึง

2016_11_Toyota_Sienta_Visibility_4

ทัศนวิสัยด้านหลัง แม้ว่าจะโปร่งสบายตา ก็ตาม แต่ถ้ายกพนักศีรษะของ
ผู้โดยสารฝั่งซ้ายขึ้นมา อาจบดบังการมองเห็น ของกระจกหน้าต่างคู่หลัง
ไปพอสมควร ยิ่งเสาหลังคา D-Pillar คู่สุดท้าย ค่อยข้างหนาเอาเรื่อง หาก
จะเปลี่ยนเลน เข้าช่องทางคู่ขนาน หรือจะเลี้ยวเข้าปากซอยหน้าบ้าน ควร
ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นอีกนิด

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ในญี่ปุ่น Sienta มีขุมพลังให้เลือก 3 ระดับความแรง บนพื้นฐานของทั้งเครื่องยนต์
เบนซินปกติ และ เบนซิน พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า ในระบบ THS-II Hybrid ดังต่อไปนี้

– รุ่น เบนซิน ปกติ ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD ยังคงยืนหยัดกับ ขุมพลังเดิมที่ประจำการ
มาตั้งแต่ Sienta รุ่นแรก นั่นคือรหัส 1NZ-FE ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ใน Vios
ตั้งแต่ปี 2002 – 2013 และ Yaris รุ่นปี 2006 – 2013 เป็นบล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75.0 x 84.7 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด EFI
กำลังสูงสุดลดลงจาก 109 เหลือ 103 แรงม้า (PS) ที่  6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
132 นิวตันเมตร (13.5 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที เชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติอัตราทด
แปรผัน Super CVT-i มีเฉพาะรุ่น 6 ที่นั่ง

– รุ่นเบนซิน ปกติ ขับเคลื่อนล้อหน้า ถูกเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ใหม่ 2NR-FKE
แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 90.6  มิลลิเมตร
กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว (หัวแคมชาฟท์) ด้วยมอเตอร์
ไฟฟ้า VVT-iE (Variable Valve Timing-intelligent by Electric motor) และระบบ
Idling Start-Stop กำลังสูงสุด 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 136
นิวตันเมตร (13.9 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที เชื่อมกับเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน
Super CVT-i มีทั้งรุ่นปกติ 6 กับ 7 ที่นั่ง และรุ่นเพิ่มอุปกรณ์สำหรับผู้ทุพพลภาพ
Type-1

– รุ่นเบนซิน Hybrid THS-II (Toyota Hybrid System-II) นำเครื่องยนต์ 1NZ-FE
มาปรับปรุงให้มีการจุดระเบิดแบบ Atkinson Cycle โดยเพิ่มกำลังอัดเป็น 13.4 : 1
กำลังสูงสุด ลดเหลือ 74 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.3 กก.-ม.
(113 นิวตันเมตร) ที่ 3,600 – 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2LM สำหรับ
ล้อคู่หน้า 45 กิโลวัตต์ หรือ 61 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 169 นิวตันเมตร (17.2
กก.-ม.) เชื่อมการทำงานกับแบ็ตเตอรี Ni-Mh (Nickel Metal Hydryde) 6.5 Ah.
เมื่อรวมพละกำลังในระบบทั้งหมดจะอยู่ที่ 100 แรงม้า (PS)

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_02_Thai_Version

สำหรับเวอร์ชัน Indonesia และ เวอร์ชันไทย นั้น Sienta จะไม่มีขุมพลัง Hybrid
ให้เลือกแน่ๆ โดยจะมีเฉพาะเครื่องยนต์ใหม่ รหัส 2NR-FE บล็อก 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 90.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1
หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ EFI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว Dual VVT-i

รายละเอียดการบำรุงรักษาเบื้องต้น เหมือนกันกับ เหมือน Vios 1.5 CVT ใหม่ เช่น
หัวเทียน Iridium ของ DENSO รุ่น SC16HR11 ระยะห่างเขี้ยวหัวเทียนอยู่ที่ 1.1
มิลลิเมตร (0.043 นิ้ว) ระยะห่างวาล์วไอดี-ไอเสีย และ ความตึงสายพานขับ ปรับ
ตั้งอัตโนมัติ น้ำมันเครื่องที่ใช้ ควรเป็นเกรด 0W-20 , 5W-20, 5W-30, 10W-30
หรือ เกรด API ตั้งแต่ SL , SM , SN ขึ้นไป หรือ ILSAC 15W-40 ความจุของอ่าง
น้ำมันเครื่อง 3.3 ลิตร เมื่อเปลี่ยนไส้กรอง และ 3.1 ลิตร เมื่อไม่ต้องเปลี่ยนไส้กรอง
ระบบหล่อเย็น ใช้ Toyota Super Long Life Coolant หรือ น้ำยาหล่อเย็นที่ผสม
เอทิลีน – กลีโคล แต่ต้องไม่มีส่วนประกอบของ ซิลิกา ไนโตรเจน กรดไนตรัส กับ
กรดบอริค อย่าเติมหม้อน้ำด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว

เวอร์ชัน Indonesia แจ้งตัวเลขกำลังสูงสุดในแค็ตตาล็อก และบน Website ไว้ว่า
107 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.3 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที

แต่เวอร์ชันไทย แจ้งตัวเลขกำลังสูงสุดอยู่ที่ 108 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 140 นิวตันเมตร (14.26 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที เพราะมีการเซ็ต
ให้รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงแก็สโซฮอลล์ E20

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_03_CVT

Sienta เวอร์ชันไทย มีแต่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ
อัตราทดแปรผัน Super CVT-i  พร้อมโหมด + / – (เกียร์ M) ล็อกตำแหน่งพูเลย์ได้
7 จังหวะ ลูกเดียวกันกับรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า เวอร์ชันญี่ปุ่น ดังนั้น อัตราทดเกียร์จึง
เหมือนกับเวอร์ชันญี่ปุ่น เป๊ะ! ตัวเลขมีดังนี้

อัตราทดเกียร์ D                  2.480 – 0.396
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง R   2.604 – 1.680
อัตราทดเกียร์เฟืองท้าย      5.698

น้ำมันเกียร์ เป็นแบบ Toyota Genuine CVT Fluid FE ความจุสำหรับการ
เปลี่ยนถ่าย อยู่ที่ 7.5 ลิตร โดยประมาณ

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วง
กลางดึก เหมือนเช่นเคย อุณหภูมิอยู่ที่ราวๆ 27 – 29 องศาเซลเซียส โดยยังคง
ยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ผลลัพธ์ที่
ออกมา เมื่อเทียบกับรถยนต์ประเภทเดียวกันที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้

sienta_table_01 sienta_table_02

ตัวเลขที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า อัตราเร่งของ Sienta อยู่ในระดับกลางๆ ของ
กลุ่ม Minivan 7 ที่นั่งขนาดเล็ก จริงอยู่ครับว่าอัตราเร่งของ Sienta แรงและ
เร็วกว่า Honda Freed กับ Suzuki Ertiga ในทุกประเด็น แต่มันก็เป็นไปตาม
ข้อเท็จจริงที่ว่า สมรรถนะของ Sienta ยังไงๆ ก็ด้อยกว่า Vios ญาติผู้พี่ ในระดับ
ที่ผมขอใช้คำว่า “ตามความคาดหมาย”

เหตุผลนั่นเพราะเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะเท่าๆกัน เกียร์ลูกเดียวกัน แต่ต้องแบก
น้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น ตัวถังรถก็ออกแบบให้ถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์
ได้เพียงแค่เท่าที่เห็น ด้วยข้อจำกัดของรถยนต์แบบท้ายตัด ซึ่งมีกระแสลมหมุน
เวียนอยู่ท้ายรถเยอะกว่าทั่วไป แถมมีหลังคาสูง รวมทั้งพื้นใต้ท้องสูงขึ้นกว่ารุ่น
เวอร์ชันญี่ปุ่น ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมา จึงเป็นไปตามความคาดหมาย

เพียงแต่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว Sienta ซึ่งต้องแบกน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
จาการติดตั้งประตูแบบบานเลื่อนไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง (รุ่น V) ทำอัตราเร่งด้อยกว่าทั้ง
Honda Mobilio และ BR-V ซึ่งใช้บานประตูคู่หลัง แบบเปิดกางออกปกติทั่วไป
ชนิดไม่ต้องไปสืบความต่อที่ไหนให้เสียเวลา

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_04_Top_Speed

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น ในช่วงแรกที่ออกตัว ยังมีอาการเข็มวัดรอบดีด
ขึ้นไปที่ 2,000 รอบ/นาที ซึ่งเป็นอาการ Torque Converter Slip ที่มักพบ
ได้ในรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ แบบใดก็ตาม ที่ใช้ระบบ Torque Converter เพื่อ
เปลี่ยนตำแหน่งเกียร์

จากนั้นเข็มความเร็วจะไต่ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จึงจะเริ่มไต่ขึ้นไปเอื่อยๆ และเมื่อถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข็มจะไต่ขึ้นไป
ช้าลงอีกราว ครึ่งหนึ่ง และต้องใช้ระยะทางยาวพอปะมาณ กว่าเข็มความเร็ว
จะแตะ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุด

เราไม่แนะนำให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะ
ผิดกฎหมายแล้ว ยังอันตรายต่อชีวิตของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย
เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อ
การศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำ
ความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้

————————

ในการขับขี่ใช้งานจริง บุคลิกการตอบสนองของเครื่องยนต์ 2NR-FE มาใน
สไตล์เดียวกับ Vios 2016 เพียงแต่ว่า ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มจากเดิมเยอะอยู่
และรูปทรงตัวถัง สไตล์ Minivan ซึ่งต้านลมกว่ารถเก๋งอยู่แล้ว เป็นปกติ จึง
มีผลให้ อืดลงจาก Vios และคู่แข่งอยู่สักหน่อย แต่ยังไม่อืดเท่า Ertiga

ช่วงออกตัว อาจดูเหมือนคล้ายว่าจะกระฉับกระเฉง ส่วนหนึ่งมาจาก การลาก
รอบเครื่องยนต์ ไปยัง 6,000 รอบ/นาที จนเสียงเครื่อง ครางดังสนั่น พร้อมกับ
เข็มความเร็ว ที่ไต่ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มช้านิดๆ ที่ช่วง 80 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ซึ่งนั่นคือช่วงอัตราเร่งที่คนส่วนใหญ่ ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จังหวะ
ออกตัว จึงต้องเซ็ตออกมาให้ไวทันใจลูกค้านิดนึง

ทว่า จังหวะเร่งแซงนั้น ถ้าต้องการแซงรถพ่วง 18 ล้อ บนถนนสวนกัน 2 เลน
ให้พ้นอย่างปลอดภัย คุณจำเป็นต้องท่องไว้ในใจตลอดว่า กำลังขับรถเก๋ง
ECO Car 1.2 ลิตร เกียร์ CVT คือ เหยียบคันเร่งให้จมมิดไปเลย เพื่อดึงรอบ
เครืองยนต์ให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6,000 รอบ/นาที ดึงแรงม้า แรงบิดออกมาใช้
ให้หมด นั่นละ ถึงจะแซงผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ถึงแม้ว่าคันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองค่อนข้างไว อาการ Lag น้อยมาก เหมือนกับ
คันเร่งของ Vios CVT 2016 นั่นละครับ อย่างไรก็ตาม สมองกลเกียร์ CVT นั้น
ถูกเซ็ตมาให้ทำงานในลักษณะ “เร่งรอบถวายชีวิต” กล่าวคือ แค่เพียงคุณเติม
น้ำหนักเท้าขวา ลงบนคันเร่งเพียงนิดหน่อย เกียร์ก็พร้อมจะลากรอบเครื่อง
จากแถวๆ 2,000 รอบ/นาที ขึ้นไปอยู่ราวๆ 3,000 – 4,000 รอบ/นาที ทั้งที่
คุณอาจต้องการแค่เพิ่มความเร็วจาก 100 ไปเป็น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

มันอาจน่ารำคาญไปหน่อย แต่การเซ็ตสมองกลเกียร์ให้ทำงานแบบนี้ เหตุผล
ก็น่าจะมาจาก ความกังวลของวิศวกรว่า หากคันเร่งและเกียร์ ตอบสนองไม่ไว
เพียงพอ ลูกค้าอาจรู้สึกว่า อัตราเร่งอืด ดังนั้น จึงเซ็ตให้ทำงาน “ถวายชีวิต”
แบบนี้ไว้ก่อนดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ เกียร์ลูกนี้ ก็เหมือนกับ Vios CVT 2016 นั่นละครับ
ถ้าคุณเปลี่ยนเกียร์ ไปยังตำแหน่ง M เพื่อเล่นโหมด + / – หากกดคันเร่งจน
จมมิด เพื่อลากรอบเครื่องยนต์ เกียร์จะสั่งตัดลงมาที่ 5,000 รอบ/นาที เพื่อ
ไต่รอบกลับขึ้นไปใหม่

จริงอยู่ว่า มันอาจให้ความเร้าใจตอนเร่งแซง ทว่า เมื่อลองจับเวลาดู ก็พบว่า
อัตราเร่งทั้ง 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงในโหมด M +/- ช้ากว่า
การเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบคันเร่งจมมิด ปล่อยให้เครื่องยนต์ลากรอบของมัน
ไปอย่างนั้น จะไต่ความเร็วได้ ไวกว่า อีกประโยชน์ที่เหลือ ของโหมด +/- คือ
การใช้เพื่อลดเกียร์ลงมา ขณะไต่ลงมาจากทางลาดชัน เช่น ดอยสารพัดแห่ง
ในจังหวัดทางภาคเหนือ นั่นเอง มันอาจจะช่วยได้ไม่มาก แต่ดีกว่าไม่มีมาให้

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เสียงภายในรถจะยังคง
เงียบอยู่ จนถึงความเร็วแถวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงกระแสลมไหลผ่าน
ตัวถัง จะเริ่มเล็ดรอดเข้ามาให้ได้ยิน จากบริเวณขอบกระจกบานประตูคู่หน้า
มาแบบจางๆ รวมทั้งเสียงลมไหลผ่านระจกบังลมหน้า (Suzuki Ertiga แอบ
เงียบกว่ากันนิดๆ) นี่เราแทบไม่ต้องพูดถึงซุ้มล้อคู่หล้งกันเลย เสียงลมไหล
ผ่านกระจกหน้าต่างบานสุดท้าย รวมทั้งฝาประตูบานหลังสุด ดังพอสมควร
แต่หลักๆแล้ว เสียงรบกวนสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง จะมาจากซุ้มล้อคู่หลัง
ที่ติดตั้งวัสดุซับเสียงมาให้ไม่มากพอ

นอกจากนี้ ในรถคันที่เราทดลองขับ ยังเจอปัญหา เสียงของกล่องไฟเบรก
ดวงที่ 3 ที่ติดยึดไม่สนิทแน่น ขณะขับผ่านเนินลูกระนาด จนเกิดเสียงรบกวน
ให้ได้ยินอยู่บ้าง เช่นเดียวกับ เสียง “แอ๊ดแอ็ด” ซึ่งดังมาจากช่วงล่างด้านหลัง
อันเป็นอาการที่เจอเฉพาะในรถคันที่เราทดลองขับเท่านั้น

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_05_JIMMY_Drive

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบผ่อนแรง
ด้วยเพาเวอร์ แบบ ไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว
ในรุ่น 1.5 G แคบเพียง 5.3 เมตร แต่รุ่น 1.5 V อาจต้องกว้างขึ้นเล็กน้อยตาม
ขนาดของยางจนไปจบที่ 5.7 เมตร (เวอร์ชันญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 5.2 เมตร) ระยะฟรี
ของพวงมาลัย น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร (1.2 นิ้ว)

แม้ว่าวงพวงมาลัยจะอ้วน แบบรถสปอร์ต แต่ความหนืดในช่วงความเร็วต่ำนั้น
ถึงจะเบา แต่ก็ยังไม่เบาเท่า พวงมาลัยของ Honda ทั้ง 2 รุ่น ยังมีความหนืด
ขณะหมุนเพื่อถอยหลังเข้าจอด ให้ได้สัมผัสอยู่หน่อยๆ ไล่เลี่ยกับพวงมาลัย
ของ Vios CVT 2016 น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ ถือว่า เหมาะสม
กับรูปแบบของตัวรถแล้ว

ในการขับขี่ด้วยความเร็วเดินทางปกติ พวงมาลัย เบากำลังดี ไม่เบามากไป
อาจสัมผัสถึงแรงขืนที่มืออยู่นิดๆ แต่ในช่วงความเร็วสูง On Center Feeling
จัดอยู๋ในเกณฑ์ ใช้ได้ ผมสามารปล่อยพวงมาลัยได้ที่ความเร็ว Top Speed
180 กิโลเมตร/ชั่วโมง นานถึง 5 วินาที ซึ่งนั่นถือว่า ดีเกินความคาดหมายไป
เสียด้วยซ้ำ

ภาพรวมการเซ็ตพวงมาลัย ถือว่าเบา แต่ยังหน่วงมือนิดๆ ระยะฟรีไม่เยอะนัก
แอบไวในช่วงเริ่มหักเลี้ยว นิดๆ ความแม่นยำในการเลี้ยว อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้
ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของ Honda City รุ่นปี 2009 – 2014 อยู่บ้างหน่อยๆ

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_06_Suspension

ระบบกันสะเทือน ยังคงยึด Pattern เดียวกับ Sienta รุ่นแรก (2003) ด้านหน้า
เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นแบบ Torsion Beam เสริมชุดเหล็ก
กันโคลง มาให้ครบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ระบบกันสะเทือนทั้งชุด ยกมาจากเวอร์ชันญี่ปุ่น ก็จริง แต่มีการปรับปรุงให้ระยะ
ห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) สูงขึ้นจากเวอร์ชัน
ญี่ปุ่น อีกประมาณ 25 มิลลิเมตร

ดูเหมือนว่า ทีมวิศวกร จะพยายามหาจุดสมดุลย์ ระหว่างการเซ็ตช่วงล่าง
ให้นุ่มเพื่อเอาใจผู้โดยสาร ไปพร้อมๆกับการรักษาเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง
อีกทั้งยังต้องผสมผสานเรื่องต้นทุน เอาไว้ด้วยกัน มันเป็นเรื่องยากนะ และ
พวกเขา ก็พยายามอย่างสุดๆ ที่จะบรรลุข้อจำกัดต่างๆที่มีอยู่นี้ จนช่วงล่าง
ออกมา ให้สมดุลย์กันมากสุด ด้านหน้า จะนุ่มกว่าด้านหลังนิดนึง แต่รวมๆ
จะอยู่ตรงกลางๆ ระหว่าง นุ่มพอได้ กับแอบแข็งนิดๆ

แม้ว่าตามสเป็กแล้ว Toyota ให้เซ็ตลมยางไว้ที่ 36 psi (ปอนด์/ตารางนิ้ว)
ผมมองว่าแข็งไปหน่อย เลยปล่อยลมยางออกจาก 60 psi (ครับ อ่านไม่ผิด
แน่ๆ รถทดสอบคันนี้ ถูกเซ็ตลมยางมาขนาดนี้!) จนเหลือเพียง 32 psi ตาม
มาตรฐานของรถยนต์ทั่วๆไป ทั้ง 4 ล้อ ซึ่งก็เป็นลมยางตามมาตรฐานของ
Headlightmag สำหรับการทดลองรถยนต์นั่งประกอบในประเทศ ขนาด
ไม่เกิน 2.0 ลิตร

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ผ่านไปตามตรอก ซอกซอย หรือถนนใน
กรุงเทพมหานคร การดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นขรุขระ เนินลูกระนาด
และฝาท่อต่างๆ ยังตึงตังอยู่บ้างนิดหน่อย จังหวะการ Rebound ของ
ช่วงล่างหลังแบบคานบิด ยังพอมีให้เห็นบ้าง ขณะขับผ่านลูกระนาดที่
ความเร็วระดับ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป กระนั้น ตัวรถก็มีอาการสั่น
สะเทือนเลื่อนลั่นให้ได้ยินอยู่บ้างนิดๆ เมื่อขับผ่านถนนขรุขระต่อเนื่อง

การทรงตัวในย่านความเร็วสูงนั้น หากไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง
ถือว่าค่อนข้างนิ่ง และไว้ใจได้ แต่ถ้ามีกระแสลมปะทะด้านข้าง ต้อง
ใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นให้ดี เพราะการเติมพวงมาลัย ซ้ายๆ ขวาๆ
นิดๆหน่อยๆ อาจส่งผลต่ออาการของตัวรถที่จะโคลงไปมา เพิ่มขึ้น
จนแอบน่ากลัวนิดๆ ได้

ในภาพรวม ช่วงล่างของ Sienta ดีกว่า Honda Freed คนละเรื่อง!
โดยเฉพาะในย่านความเร็วสูง Sienta นิ่งกว่า Freed จนเทียบเท่า
กับ Mobilio แล้ว แต่ด้วยตัวรถที่มีหลังคาสูง และฐานล้อยาว จึง
อาจด้อยกว่า Mobilio และ BR-V เฉพาะช่วงเปลี่ยนเลนกระทันหัน
ซึ่งต้องขอเตือนเลยว่า ไม่ควรหักพวงมาลัยเลี้ยวหลบ สุนัขจรจัด
หรือมอเตอร์ไซค์ที่ตัดหน้าแบบกระทันหันในทันที เพราะมีโอกาส
พลิกคว่ำได้ ขอแนะนำว่าให้ค่อยๆ เติมพวงมาลัยเพื่มนิดๆ เปลี่ยน
เลนไปเลย ครั้งเดียว จะดีกว่า เช่นจากขวาไปเลนซ้ายเลย ให้ตัวรถ
คืนกลับมาตั้งตรงนิ่งๆเสียก่อน แล้วค่อยเติมพวงมาลัยไปทางขวา
นิดๆ เพื่อกลับไปอยู่เลนขวา จะปลอดภัยมากกว่า

ขณะเดียวกัน เห็นรูปทรงเป็น Minivan แบบนี้ แต่ Sienta ก็แอบพาคุณ
เข้าโค้งได้อย่างสบายๆ พอได้อยู่ แม้จะไม่ถึงขั้นเทียบเท่า Mobilio หรือ
Ertiga ก็ตาม

บนทางโค้งขวารูปเคียว ของทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงเหนือชุมทางมักกะสัน
ซึ่งปกติผมมักพารถยนต์ทั่วไปเข้าโค้งที่ 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่
Sienta พร้อมยางติดรถเดิมๆ Bridgestone Turanza ER33 ก็สามารถ
รับมือโค้งยาวๆ แบบมีแบงค์ขึ้นมารับต่อเนื่องไปถึง โค้งซ้ายต่อเนื่อง ฝั่ง
ตรงข้ามโรงแรม เมอเคียว เชื่อมเข้าทางด่วนขั้นที่ 1 ด้วยความเร็ว เท่ากัน
คือ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้ง 2 โค้ง

ส่วนโค้งรูปเคียวใหญ่ (ขวา – ซ้าย – ขวา) ยกระดับจาก ทางด่วนขั้นที่ 1
ขึ้นไปยังทางยกระดับบูรพาวิถี ณ ทางด่วนช่วง สุขุมวิท 62 เจ้า Sienta
เข้าโค้งต่อเนื่อง ทั้ง 3 โค้ง ด้วยความเร็ว 95 , 100 และ 115 กิโลเมตร/
ชั่วโมง

ตามด้วย โค้งซ้าย – ขวา รูปเคียว จากมอเตอร์เวย์ เชื่อมเข้าสู่สนามบิน
สุวรรณภูมิ Sienta ทำได้ที่ 90 และ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยมีอาการ
พยายามจะจิกโค้งให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเริ่มมีอาการหน้ารถบานออก
ซึ่งเกิดจากยางติดรถเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว

ท้ายสุด โค้งขวา บนทางยกระดับจากสนามบินสุวรรณภูมิ ลงสู่พื้นล่าง
บนถนนบางนา – ตราด Sienta สามารถไหลเข้าไปได้ด้วยความเร็วถึง
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ต้องมีการประคองพวงมาลัยให้นิ่ง และแอบ
เติมช่วยเบาๆ เพียงนิดเดียวอย่างระมัดระวังเพราะมิเช่นนั้น ถ้าหากว่า
เติมพวงมาลัยมากไป รถอาจเสียการทรงตัวได้

ภาพรวมของช่วงล่าง Sienta นั้น ทำได้ดีเกินกว่าที่คาดหมายไว้ แต่
ด้วยข้อจำกัดของตัวรถที่มีระยะฐานล้อยาว Overhang หน้า – หลัง
ค่อนข้างสั้น แถมยังมีหลังคาสูง จึงต้องทำใจว่า ข้อจำกัดดังกล่าว
ยังคงเป็นอุปสรรค ที่ทำให้ Sienta ยังคงเหมาะแก่การใช้งานทั่วๆไป
ในชีวิตประจำวัน และพอรับมือกับวันเร่งด่วนได้บ้างในบางโอกาส
เท่านั้น ไม่ได้เหมาะถึงขั้นเอาไปซิ่ง ไปมุดแข่งกับใคร ให้รถคันที่
แล่นตามมาเขารู้สึกหวาดเสียวจนต้องกระพริบไฟสูงเตือนอย่างนี้

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ถ้าโค้งยาวๆ Sienta รับมือไหวอยู่ แต่ถ้าต้อง
เปลี่ยนจากซ้าย มาขวา กระทันหัน ค่อนข้างเสี่ยงเกินไป ตามสไตล์
ของตัวรถ นั่นเอง

ระบบห้ามล้อของ Sienta เวอร์ชันไทยทุกรุ่น เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ
จานเบรกคู่หน้ามีรูระบายความร้อน ระยะห่างแป้นเบรกจากพื้นรถต่ำสุด
เมื่อเหยียบด้วยแรง 300 นิวตันเมตร (30.6 กก.-ม.) ขณะที่เครื่องยนต์
ทำงาน ตามมาตรฐานของทาง Toyota อยู่ที่ 75 มิลลิเมตร (2.95 นิ้ว)
ระยะฟรีแป้นเบรก 1.0 – 6.0 มิลลิเมตร (หรือ 0.04 – 0.24 นิ้ว) ต้องใช้
น้ำมันเบรก SAE JI703 หรือ FMVSS No.116 DOT 3

นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อย ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรกกะทันหัน
ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรก
ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist แถมมีระบบควบคุม
เสถียรภาพการทรงตัวของรถยนต์ VSC (Vehicle Stability Control)
พร้อมกับระบบควบคุมการลื่นไถล TRC (Traction Control) รวมทั้ง
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control)

การตอบสนองของแป้นเบรก ยังคงมาในสไตล์เดียวกับ รถเก๋ง Toyota
รุ่นประกอบในประเทศไทย นั่นคือ เมื่อเหยียบช่วงแรก ระยะฟรีแป้นเบรก
จะไม่เยอะ ดังนั้น การเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปมากน้อยเท่าไหร่ ก็จะส่งผล
ให้การหน่วงความเร็ว เพิ่มมากขึ้นตามนั้น ถ้าหากต้องการชะลอความเร็ว
ก็ไม่ต้องเหยียบเบรกลงไปลึกมาก รถก็หน่วงจนหยุดสนิทได้ไว และยัง
ควบคุมให้จอดสนิทอย่างนุ่มนวลได้ตามเท้าขวาสั่งการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติ
พื้นฐานอันพึงประสงค์ ในสายตาของลูกค้าทั่วๆไป การเซ็ตเบรกลักษณะ
ดังกล่าวนี้ น่าจะถูกใจผู้ขับขี่กลุ่มสุภาพสตรี เพราะเบรกได้ไวกำลังดี

กระนั้น ในความเร็วเดินทางปกติ ขณะขับขี่ในเมือง ลักษณะการตอบสนอง
ของเบรก จะค่อนข้างจิก และทำให้เกิดอาการหน้าทิ่มได้หน่อยๆ หากลอง
พล็อตแรงเหยียบเบรกออกมาเป็น กราฟเส้น มันจะออกมาเป็นรูปตัว J เอียง
หน่อยๆ ซึ่งถือว่า ระบบเบรกค่อนข้างหน่วงรถไว ไม่ต้องเหยียบลึก รถก็เบรก
จึกให้หน้าทิ่มนิดๆ แล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความยาวของตัวรถ และการเซ็ตเบรกมาให้ค่อนข้างหน้าทิ่ม
ดังนั้น การหน่วงชะลอความเร็วลงมาจากย่านความเร็วสูง บนทางด่วน อาจต้อง
ใช้ความระมัดระวังสักหน่อย ถ้าต้องเหยียบเบรกกระทันหันครึ่งหนึงลงมาเลย
บั้นท้ายอาจมีอาการ ตุปัดตุเป๋ อันเป็นธรรมชาติของรถยนต์ หลังคาสูง ลำตัว
ยาว ให้พบเจออยู่ด้วย

ภาพรวมในการตอบสนองของระบบเบรก Sienta ทำได้ดีกว่า Honda Freed
อย่างมากโข แต่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Honda Mobilio และ BR-V รวมทั้ง
Suzuki Ertiga แล้ว ระบบห้ามล้อของ Sienta ทำงานได้แม่นยำ ไว้ใจได้ดีกว่า
นิดหน่อย อีกทั้งอาการ Fade ยังเกิดขึ้นได้ ช้ากว่า Honda ทั้ง 3 รุ่น

2016_11_Toyota_Sienta_Engine_08_Body_Structure_SRS

ด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS ที่ติดตั้งมาให้
ตามมาตรฐานของรถยนต์นั่งยุคใหม่ในยุคปี 2015 – 2016 แล้ว ยังเพิ่มการติดตั้ง
ระบบถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่ามาให้ รวมเป็น 3 Airbags (ซึ่งกลายเป็นมาตรฐาน
สำหรับ รถยนต์ Toyota ที่ผลิตในประเทศไทย รวมทั้งรุ่นที่นำเข้ามาจากประเทศ
ในโซน ASEAN ว่าจะต้องติดตั้ง ถุงลมนิรภัย 3 ลูกมาให้จากโรงงาน ตั้งแต่รุ่นถูก
ระดับพื้นฐานของรถกระบะ Hilux Revo Single Cab กันเลยทีเดียว ยกเว้น Vios,
Yaris ที่ยังให้ถุงลมนิรภัย 2 ใบอยู่)

นอกจากนี้ยังมี เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ติดตั้งมาให้ครบทั้ง 7 ที่นั่ง โดยคู่หน้า จะ
เสริมระบบผ่อนแรงและดึงรั้งกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiters ให้
และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ที่เบาะแถวกลาง ทั้ง 2 ฝั่ง

รวมทั้งยังมีระบบ Brake Override ช่วยลดปัญหาจากอาการพรมปูพื้นไหลไปขัด
ใต้แป้นคันเร่งหรือเบรก หากคุณเหยียบเบรก ทั้งที่คันเร่งยังคงทำงานอยู่ สมองกล
ECU จะสั่งตัดการจ่ายเชื้อเพลิง เพื่อให้คุณยังสามารถนำรถยนต์ ประคองรถเข้า
ข้างทางได้อย่างปลอดภัย

และระบบป้องกันการออกตัวผิดวิธี จากการเปลี่ยนเกียร์กระทันหัน ไปๆมาๆ หรือ
Drive Start Control ซึ่งแก้ปัญหา ผู้ขับขี่ ที่เข้าเกียร์ผิด เหยียบคันเร่งจนรถพุ่ง
ไปผิดทาง แล้วตกใจ ใส่เกียร์ไปๆมาๆ จนรถพุ่งไปมา และก่ออุบัติเหตุกับผู้คน
รอบข้าง

ทั้งหมดข้างต้น ติดตั้งร่วมกันอยู่ในโครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA ที่ถูกออกแบบเพื่อ
ช่วยลดแรงปะทะเมื่อเกิดการชนคนเดินถนน บริเวณฝากระโปรงหน้า อีกทั้งยังถูก
เสริมการเชื่อมตัวถังบริเวณ เสากรอบประตูทั้ง 4 บาน เสากรอบช่องทางเข้า-ออก
ของห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง และซุ้มล้อคู่หลัง ให้แข็งแกร่งต่อการบิดตัวเพิ่มขึ้น
อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายว่า เวอร์ชันไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไม่มีการนำ
กลุ่มระบบตัวช่วยความปลอดภัย Toyota Safety Sense C อันประกอบด้วย ระบบ
Pre-Crash Safety พร้อมระบบแจ้งเตือนระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ด้วยกล้อง
เรดาห์ ซึ่งจะสั่งเบรกเมื่อเกิดการเบรกกระทันหัน , ไฟสูงแบบลดต่ำอัตโนมัติเมื่อมี
รถแล่นสวนทาง Automatic High Beam , ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลนถนนหรือ
Lane Departure Alert จากเวอร์ชันญี่ปุ่น มาติดตั้งให้เลยทั้งสิ้น

2016_11_Toyota_Sienta_Fuel_Consumption_1

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้จะเดาทางได้ว่า เครื่องยนต์ 2NR-FE กับ เกียร์ CVT น่าจะให้ตัวเลข
ความประหยัดน้ำมัน ในระดับใกล้เคียงกับ Vios CVT MY2016 แต่ถ้า
จะให้ชัวร์ๆกันเลยละก็ คงต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงเลยว่า ตัวเลขจะ Drop
ลงมามากน้อยต่างกันแค่ไหน

เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิม ด้วยการพา Sienta ไป
เติม น้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนน
พหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เนื่องจากเป็นรถยนต์พิกัด ไม่เกิน 2,000 ซีซี. ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
และยังเป็นรถยนต์ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ซึ่งซีเรียส
กับตัวเลขความประหยัดน้ำมัน มากกว่าลูกค้ารถยนต์ประเภทอื่นๆ เราจึง
เติมน้ำมันด้วยวิธีการ เขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปให้เต็มถังมากสุด
ลดปริมาณฟองอากาศในถังให้น้อยที่สุด ลดความเพี้ยนในการทดลอง
ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD และน้อง
Terng สมาชิก กลุ่ม The Coup Team ของเรา เหมือนเช่นเคย รวมทั้ง
คุณผู้อ่าน Napat Channual ที่มาช่วยกันขย่มรถ จนถึงขั้นเกือบหน้ามืด

2016_11_Toyota_Sienta_Fuel_Consumption_2

เมื่อเติมน้ำมัน เต็มความจุถังน้ำมัน 42 ลิตร (ไม่รวมท่อทางเดินน้ำมัน) แล้ว
เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ ออกรถ บนถนนพหลโยธิน เพื่อไปเลี้ยว
กลับรถหน้าปากซอยอารีสัมพันธ์ ตรงมาอีกเล็กน้อย เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์
ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 6 ก่อนจะ
เลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน จ่ายเงินผ่านด่านประชาชื่น แล้วขับตรงยาวๆ ไปจนถึง
ปลายสุดด่านบางปะอิน จากนั้นเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม

ตลอดเส้นทาง ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน ตาม
มาตรฐานเดิม ที่เรายึดถือกันมาช้านาน

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวเข้าสถานีบริการน้ำมัน
Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกครั้ง

พอหัวจ่ายตัด เราก็เริ่มเขย่ารถ เหมือนเช่นในช่วงเริ่มต้นทำการทดลอง เพื่อ
อัดกรอกน้ำมันลงไปแทนที่อากาศในถัง ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องปริมาณน้ำมันที่เติมเข้าไป น้อยกว่าที่ควรเป็น ซึ่งอาจ
มีผลให้การทดลองผิดเพี้ยนไปไกลกว่าคาดคิด

2016_11_Toyota_Sienta_Fuel_Consumption_3

มาดูตัวเลขของ Sienta 1.5 V เกียร์อัตโนมัติ CVT กันดีกว่า!

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 91.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.82 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 15.68 กิโลเมตร/ลิตร

sienta_table_03 sienta_table_04

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด ตัวเลขที่ออกมา มันก็ดูดีอยู่หรอกครับ
ทว่า ในการขับขี่ใช้งานจริง ตลอด 7 วันที่ผ่านมา ผมต้องเติมน้ำมันไป
ถึง 3 ครั้ง ซึ่งถือว่า บ่อยกว่าค่าเฉลี่ยของรถยนต์ทั่วๆไป ซึ่งจะอยู่ที่ราวๆ
1.5 ครั้ง

ไม่ว่าคุณจะขับขี่ในเมืองเป็นหลัก หรือขับออกเดินทางต่างจังหวัดไกลๆ
ยังไงๆ คอมพิวเตอร์ บนชุดมาตรวัด จะคำนวนได้ว่า น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้
ระยะทางแค่ 380 กิโลเมตร ก่อนที่แถบไฟบนมาตรวัดปริมาณน้ำมัน จะ
เปลี่ยนจากสีฟ้า เป็นสีเหลืองอำพัน เพื่อเตือนให้เติมน้ำมัน เมื่อขับจนถึง
ช่วงใกล้หมดถัง จะเหลืออีกราวๆ 20 กิโลเมตร ให้คุณพอจะหาปั้มน้ำมัน
ดังนั้น ผมละกลัวจะเกิดกรณีซ้ำรอย แบบ Honda CR-V รุ่นปี 2001 ซึ่ง
ลูกค้าส่วนใหญ่ บ่นว่า กินน้ำมัน เพราะพวกเขาต้องเติมน้ำมันบ่อยมาก
ทั้งที่ความจริงแล้ว ปัญหามาจาก ถังน้ำมัน เล็กไปหน่อย แค่นั่น

จริงอยู่ครับ ขนาดของถังน้ำมัน Sienta หนะ ถ้าวัดกันด้วยตัวเลขตาม
สเป็กที่ระบุไว้ในแค็ตตาล็อก มันก็เท่ากันกับถังน้ำมันของ Mobilio
ซึ่งมีขนาด 42 ลิตร เช่นกัน แต่ความยาวของคอถังที่ต่างกัน ก็อาจจะ
มีส่วนให้การเติมน้ำมันเต็มถัง แต่ละครั้ง มีปริมาณน้ำมันเติมเข้าไปได้
ไม่เท่ากันเสมอไป

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าดูความจุถังน้ำมัน ของ BR-V ก็ถูกเปลี่ยนขึ้นไปให้
ใหญ่โตขึ้นเป็น 48 ลิตร ขณะที่ Ertiga นั้น อยู่ที่ 45 ลิตร นั่นแสดงว่า
ถังน้ำมัน Sienta เล็กกว่า 2 คู่แข่งนี้ ไปอีกนิดหน่อย คุณอาจมองว่า
ไม่ต่างกันนัก แต่ถ้าสมมติว่า ตีเฉลี่ย ว่า Minivan รุ่นเล็กเหล่านี้ กิน
น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 14.5 กิโลเมตร/ลิตร ปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีก
2 – 6 ลิตร ในแต่ละรุ่น ก็จะทำให้คุณแล่นได้ระยะทางไกลขึ้นอีกราวๆ
29 – 87 กิโลเมตร เลยทีเดียว!!

สำหรับ Sienta แล้ว ถ้าผมลองขับให้ประหยัดดู คาดว่าจะทำตัวเลข
ระยะทางไปได้ไกลไม่เกินกว่า 380 – 400 กิโลเมตร ครับ เหตุผล
เป็นเพราะขนาดของถังน้ำมัน รวมทั้ง การเซ็ตสมองกลเกียร์ CVT ให้
ตอบสนองแบบถวายชีวิต ด้วยการเร่งรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นทันที
ที่เท้าขวาเริ่มจุ่มคันเร่งลงไปเพิ่มขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นบุคลิก
ที่ผม บ่นไปแล้วในย่อหน้าบนๆ นั่นเอง

2016_11_Toyota_Sienta_07

********** สรุป **********
“Affordable Funky Minivan”
ขอประหยัดน้ำมันกว่านี้อีกนิด ขอเบาะแถวกลางสบายกว่านี้
อีกหน่อย และรูปทรงที่ไม่ต้อง Funk และเฟี้ยว ขนาดนี้ก็ได้”

เมื่อพูดถึงรถยนต์ประเภท Minivan ภาพแรกที่ทุกๆคนจะนึกถึงเลยคือ
รถตู้หน้ายื่นๆ สำหรับเอาไว้ให้พ่อบ้านแม่บ้าน ขับไปรับส่งลูกที่โรงเรียน
มักเต็มไปด้วยความอเนกประสงค์ ทว่า มีเส้นสายที่เรียบง่าย ดูน่าเบื่อๆ
ไม่ชวนให้เกิดความอยากเป็นเจ้าของเท่าไหร่นัก

แต่ช่วยไม่ได้ครับ บางครอบครัว จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ประเภทนี้ เพราะ
ต้องรองรับกับการมีเจ้าตัวน้อย บางบ้านก็ถือโอกาสเอาไว้รับส่งอากง
อาม่า ไปทิ๊กท้อ (เที่ยว) ที่โรงพยาบาล หรือไปทำกิจการงานอื่นๆ เช่น
รับส่งแขกบ้านแขกเมือง

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะรวยล้นฟ้า จนสามารถเป็นเจ้าของ 2 รถตู้
ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Alphard / Vellfire ได้ หรือจะให้หันไปหา Innova
ค่าตัวก็แพงไปหน่อย แต่จะให้มอง Avanza มันก็ดูเป็นทางเลือกที่
ไม่คุ้มค่าตัวเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายไปในตอนนี้

Sienta คือทางออกสวยหรู ที่ Toyota ส่งมาอุดช่องว่างทางการตลาด
ของตน ซึ่งมีมานานหลายปี ได้เสียที แถมมาถึงทั้งที ก็เป็นรุ่นใหม่สุด
ที่มีงานออกแบบ ฉีกแนวไปจาก Minivan ทั่วไป จนต้องเหลียวหลัง
หันไปมองอีกที พลางคิดไปว่า

“นี่ Toyota กล้าทำ Minivan ทรงนี้กันแล้วหรือ?”

แหม ปกติ Toyota ออกแบบรถยนต์ ได้แสนจะอนุรักษ์นิยม เชยๆ ติดยึด
อยู่กับข้อกำหนดเดิมๆ รวมทั้งพยายามลดต้นทุนมาช้านาน พอมาถึงช่วง
ตั้งแต่ Akio Toyoda ขึ้นกุมบังเหียน สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นนี่ โอ้โหเหะ!
Toyota รุ่นใหม่ๆ แต่ละคันนี่ ถ้าไม่สวยไปเลย ก็จะแหวกแนวไปเลยจน
ถึงกับอึ้งว่า จะหลุดโลกกันไปไหน?

เอาน่า! ยังไงๆ มาใหม่ทั้งที ตัวรถก็ย่อมต้องขับดีกว่าผู้มาก่อน และพับ
ม้วนเสื่อเก็บกลับไปแล้วอย่าง Honda Freed ในแทบทุกด้านชนิดที่แทบ
ไม่ต้องสืบ ถ้าวัดกันตัวต่อตัวกับ Freed เดิม จะพบว่า อัตราเร่งของ Sienta
ดีกว่า น้ำหนักพวงมาลัยก็ดีกว่า ช่วงล่างก็ให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูง
มากกว่า เบรกก็ดีกว่า ตัวรถก็เตี้ยกว่า เบาะแถว 3 ก็นั่งได้สะดวกกว่า แถม
ยังกินน้ำมัน ขณะวิ่งทางไกลน้อยกว่าถึงราวๆ 1.5 กิโลเมตร/ลิตร ตามการ
ทดลองของเรา

ฟังดูดีไปหมดเลย เหมือนจะไม่มีข้อด้อยอะไร แต่ถ้ามันไม่มีจุดที่ต้องแก้ไข
นั่นคงไม่ใช่ Full Review By J!MMY แน่ๆ เพราะสิ่งที่ผมบอกว่าดีกว่านั้น
ถ้าพินิจดูดีๆ จะพบว่า มันดีกว่ากัน ชัดเจน แต่ก็ไม่ถึงกับเด่นเด้งมากนัก แถม
ยังทำออกมาให้ดีกว่านี้ได้อีก

2016_11_Toyota_Sienta_08

ข้อที่ควรปรับปรุงประการแรก คือ พวงมาลัย และช่วงล่าง

อ้าว ไหน บอกว่า ดีกว่า Freed ไง แล้วยังมีอะไรต้องปรับปรุงอีกละ?

อันที่จริง ข้อดีของ Sienta คือ ในความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึง
Top Speed ถ้าไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง ตัวรถหนะนิ่งกว่า Freed
ชัดเจนมาก จนถึงขั้นที่ผมสามารถลองปล่อยมือจากพวงมาลัย ขณะที่
ตัวรถ กำลังอยู่ในความเร็ว Top Speed ได้นานถึง 5 วินาที

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกระแสลมมาปะทะด้านข้างเมื่อไหร่ คุณอาจต้องรีบ
ลดความเร็วลงมา เพราะถ้ายังคงแล่นบนทางยกระดับบูรพาวิถี เวลา
บ่าย 2 โมง วันที่กระแสลมแรง ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เป็นธรรมดาครับที่ตัวรถอาจจะเกิดอาการแกว่งแบบหวิวๆ ไปตามลม
เช่นเดียวกับ Minivan ทั่วไปนั่นแหละ เพียงแต่ว่า ถ้าคุณจะใช้วิธีดึง
พวงมาลัยนิดๆ เพื่อเลี้ยงให้รถพุ่งไปตรงๆ จะพบว่า ความ Linear มัน
ยังไม่เนียนพอที่จะทำให้เราแก้อาการได้เป๊ะพอดี บางจังหวะ ผมคัด
พวงมาลัยเพิ่มนิดเดียว ตัวรถก็เกิดอาการเป๋มากกว่าที่ผมต้องการ
ไปนิดนึง

ทางแก้ ไม่ยากครับ ทำอย่างไรก็ได้ให้ระยะช่วง 1 – 2 เซ็นติเมตรแรก
ของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า มันหมุนได้เนียนกว่านี้อีกนิด ก็พอแล้ว

ส่วนช่วงล่าง ต้องบอกตามตรงว่า การที่วิศวกร Toyota เซ็ตมาแบบ
กึ่งแข็งแบบนี้ เขาทำถูกแล้ว เพราะแม้ผมจะรู้สึกว่าตึงตังไปหน่อย
แต่พอเข้าโค้งด้วยความเร็วที่มากกว่าชาวบ้านทั่วไปเขาขับกัน ผม
รู้เลยว่า ถ้าเซ็ตช่วงล่างหลัง ให้นุ่มกว่านี้ มีโอกาสที่จะเกิดอาการ
ท้ายปัดได้ง่ายกว่านี้แน่ๆ ชนิดที่ไม่ต้องคิดจะไปแก้อาการใดๆเลย
เพราะหลุดแล้ว คือหลุดเลย เอาให้กลับคืนมาดังเดิมได้ยากมาก

ขอแนะนำว่า ขณะขับขี่ Sienta หากเจอตัวอะไรก็ตาม ตัดหน้าคุณ
ไม่ว่าจะเป็น หมาจรจัด หรือมอเตอร์ไซค์พลีชีพ เตือนสติตัวเองไว้
ห้ามหักเลี้ยวกระทันหันเด็ดขาด เพราะด้วยรูปทรงของตัวรถเองที่
มีหลังคาสูง จุดศูนย์ถ่วงก็สูง มันอาจจะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถยนต์
ทั่วไปที่คุณคุ้นเคยมา (ไม่ใช่แค่ Sienta แต่ Honda Freed ก็ด้วย)

ถ้าเจอใครตัดหน้า แค่เบี่ยงพวงมาลัยเพียงนิดเดียว ค่อยๆเปลี่ยน
เลน ช้าๆ ตั้งสติดีๆ อย่าตกใจ แต่ถ้าจำเป็น พุ่งเข้าไปตรงๆนั่นละ
คือทางออกดีที่สุดที่จะทำให้คุณรอด

ถ้าใครรู้สึกว่า ช่วงล่างไม่ได้ดังใจ งานนี้อาจต้องพึ่งพาสำนักแต่ง
ในญี่ปุ่น พวก TRD Tein หรือ Kayaba ฯลฯ ที่ทำช็อกอัพสำหรับ
ใส่กับ Sienta โดยเฉพาะ น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง

ประการต่อมา เบาะคู่หน้ากับแถวกลาง ยังต้องปรับอีกนิด

เรื่องตลกของ Sienta คือ เบาะที่ผมมองว่า มีพนักพิงหลังสบายสุด
กลับเป็นเบาะแถว 3 ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรรองรับปีกข้างเลยนั่นแหละ!
ดังนั้น ถ้าสามารถปรับแก้พนักพิงแถวกลาง และคู่หน้าได้อีกนิดน่าจะ
ช่วยเพิ่มความสบายในการเดินทางได้มากกว่านี้

แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสมากนัก ขอแนะนำว่า ซื้อรุ่น S เพื่อเบาะผ้า ที่ให้
พื้นผิวสัมผัสนุ่มสบายขึ้นอีกหน่อย หรือไม่ก็ซื้อรุ่น V แต่ถลกหนัง
หุ้มเบาะออกทิ้งไป ก็ย่อมได้ แค่นี้ คุณน่าจะได้เบาะที่สบายขึ้น แต่
อาจไม่ถูกใจเพราะมันไม่ใช่เบาะหนัง แค่นั้นเอง

ประเด็นต่อไป เกียร์ครับ จะถวายชีวิตไปถึงไหน?

เข้าใจว่า การเซ็ตเกียร์ CVT ให้รีบลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปถึงระดับ
3,000 รอบ/นาที โดยไว แค่เพียงผู้ขับขี่ แตะคันเร่งเบาๆ คือความ
พยายามในการเซ็ตไม่ให้ตัวรถ มีอัตราที่เร่งที่อืดเกินไปในความรู้สึก
ของลูกค้า

แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ ความน่ารำคาญในการขับขี่ย่านความเร็วต่ำในเมือง
บางที เราแตะคันเร่งไปเบาๆ กะแค่ให้รถเร่งตามรถคันข้างหน้าไปพอดีๆ
กลับกลายเป็นว่า รถมันพุ่งมากเกินความต้องการเราไป ก็ต้องแตะเบรก
ชะลอกันอีก ทำให้รถคันข้างหลัง ก็ต้องแตะเบรกตามๆกันไป แบบนี้
แทนที่การจราจรจะ Flow ต่อเนื่อง มันกลับการสะดุดสะสมไปจนถึง
หางแถวของสี่แยกนั้นๆได้บ้างเหมือนกัน

อาจต้องลองหาทางออกให้กับปัญหานี้ ด้วยการเพิ่ม โปรแกรมการขับขี่
เช่นโหมด Comfort กับ Sport มาให้ผู้ขับขี่ เลือกใช้ ตามความเหมาะสม
กับสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ นี่น่าจะช่วยให้ลูกค้า ไม่บ่นกับการ
มีคันเร่งและเกียร์ที่ทำงานตอบสนองไวถวายชีวิต แบบนี้นัก เพราะนั่น
ทำให้ประเด็นข้างล่างนี้ เกิดขึ้นตามมา

การกินน้ำมัน คือประเด็นที่ 4 ของ Sienta

การใช้ชีวิตกับ Senta ตลอด 7 วัน ผมต้องเติมน้ำมันเต็มถังถึง 3 ครั้ง
มันมากกว่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งมักอยู่ที่ 1-2 ครั้ง ไม่เกินนี้ แม้ว่าตัวเลข
อัตราสิ้นเปลือง จากการทดลองวิ่งทางไกลของเรา จะออกมาสวยหรู
แต่เมื่อขับขี่ใช้งานจริง ต่อให้จะขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ หรือขับแบบ
คลานๆ ไปตามสภาพการจราจร ในกรุงเทพฯ ขอโทษทีเถอะ ผมเอง
ไม่เคยได้เห็นตัวเลข Trip meter ที่เซ็ตค่าไว้ มันไหลไปเกินกว่า
380 กิโลเมตร สักที

สิ่งที่ผมคาดหวังจาก Sienta รุ่นเครื่องยนต์เบนซินก็คือ ตัวเลขอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ประหยัดกว่านี้ อย่างน้อย น้ำมัน 1 ถัง น่าจะแล่น
ได้ราวๆ 400 – 450 กิโลเมตร ไม่ใช่แค่ 380 กิโลเมตร อย่างนี้

อ้อ ได้ยินมาว่า ลูกค้า Sienta ล็อตแรกๆ เจอปัญหาเติมน้ำมันแล้ว
แถบมาตรดวัดมันขึ้นไม่เต็มครบทุกแถว กรณีนี้ ให้นำรถเข้าตรวจ
เช็คที่ศูนย์บริการของ Toyota ได้เลยครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ 3 ครั้ง
แล้วมันยังไม่ดีขึ้น

ประการต่อมา อัตราเร่งแซง ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เรายังพอเข้าใจได้ ว่า Vios ซึ่งใช้
เครื่องยนต์ และเกียร์ สเป็กคล้ายๆกัน ก็ต้องเร็วกว่ากันราวๆ 1 – 1.5
วินาที อยู่แล้ว ด้วยรูปแบบตัวรถ และค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน
อากาศ (Aerodynamics) แต่การที่ตัวเลขช่วงเร่งแซง 80 – 120
กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกมาอืดกว่า Honda Mobilio กับ BR-V กัน
อย่างนี้ ผมว่า มันไม่ควรเป็นเช่นนี้เพราะอีกแค่นิดเดียว ก็จะร่วงลง
ไปอยู่ตำแหน่ง “อัตราเร่งแซงที่ช้าที่สุด” เท่า Ertiga แล้วนะ

ข้อสุดท้าย คืองานออกแบบภายนอก และภายใน

อันที่จริง เส้นสายภายนอก ทั้งคันของ Sienta มันดูลงตัวดี ถ้าลองตัด
จอนด้านข้าง ชุดไฟหน้า และชุดไฟท้ายออก เส้นสายอาจดูเรียบร้อย
สวยงามลงตัวกว่านี้ ทว่า อาจแทบจะหาชุดเด่นด้านงานออกแบบของ
รถคันนี้ไม่เจอ ขณะที่ชุดแผงหน้าปัด ของรถรุ่นก่อน ยังดูใช้งานง่าย
ลงตัว และสวยงามกว่ารถรุ่นใหม่ อย่างชัดเจน แต่เรื่องงานออกแบบนี่
เป็นเรื่องรสนิยมและความชอบส่วนตัวมากกว่า ดังนั้น ข้อ 4 นี่ แล้วแต่
จะพิจารณาก็แล้วกัน

2016_11_Toyota_Sienta_09

********** คู่แข่งในตลาด **********

หากคุณกำลังมองหา B-Segment Minivan 7 ที่นั่ง ผมคงต้องบอกว่า
คุณมีตัวเลือกในตลาดค่อนข้างน้อยมากๆ แทบจะเรียกได้ว่า เหลือแค่
4 รุ่น จาก 3 ผู้ผลิต หากไม่นับรวม Sienta แล้ว ก็จะเหลือแค่ 3 รุ่น จาก
2 ค่าย

– Honda MOBILIO
ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่ชกที่ตรงพิกัดมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ใน Line-up ของ
ค่ารถยนต์หมายเลข 3 จากจังหวัด Tochigi  จุดเด่นที่น่าประหลาดใจ
อยู่ที่ความพยายามของทีมงาน Honda R&D เมืองไทย ที่นำเสียงบ่น
และก่นด่าของผมที่มีให้กับช่วงล่างของ Brio ทั้ง 5 ประตู และ Amaze
ไปปรับแก้ไขให้ จน Mobilio มีช่วงล่างที่เซ็ตมาดีเกินความคาดหมาย

จุดเด่นของ Mobilio คือ ความคุ้มค่ากับสิ่งที่จ่ายออกไป ค่าตัวของรุ่น
RS ตัว Top แพงกว่า Sienta รุ่นถูกสุด 1.5 G แค่ 5,000 บาท แต่ถ้า
ตัดเรื่องบานประตูเลื่อนด้วยไฟฟ้าเฉพาะฝั่งซ้าย ออกไป ตัวรถก็มี
ข้าวของมาให้ครบครันเพียงพอ แถมอัตราเร่ง ก็ดีที่สุดในกลุ่ม
B-Segment Minivan ของบ้านเราตอนนี้ สิ่งที่เป็นเพียงจุดด้อย
เดียวก็คือ งานออกแบบทั้งด้านหน้ารถ และแผงหน้าปัด ที่อิงมาจาก
Honda Brio มากไปหน่อย ต้องรอรุ่นปรับโฉม Minorchange ใน
ปี 2017 จุดด้อยดังกล่าวน่าจะหมดลง และทำให้ Mobilio กลับมา
ได้รับความสนใจอีกครั้ง (หากคุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับประตู
บานเลื่อนไฟฟ้าหนะนะ)

– Honda BR-V
งานถนัดของ Honda ในช่วง 4 ปีมานี้ คือการนำรถยนต์ที่ตนผลิตขาย
อยู่แล้ว ในเอเซีย และอเมริกาใต้ มาเพิ่มรุ่นด้วยวิธีการยกรถให้สูงขึ้นอีก
นิดหน่อย แล้วเปลี่ยนงานออกแบบด้านหน้ากับบั้นท้าย จนกลายมาเป็น
รถยนต์รุ่นใหม่ ออกขาย ภายใต้ชื่อต่อท้ายว่า R-V จนตอนนี้ ชวนให้ผม
สับสนเล็กๆ พวกเขามีทั้ง BR-V, CR-V, F-RV, HR-V, X-RV และล่าสุด
WR-V ต่อไปนี่จะมีให้ครบทุกรุ่นให้ร้องเป็นเพลงเด็กอนุบาล A B C D E
F G กันเลยใช่ไหม?

ใครที่มอง BR-V อยู่ ผมก็ยังยืนยันว่า มันคือ Mobilio เวอร์ชันยกสูง
นั่นเองแหละครับ หากคุณต้องการรถที่มีพื้นใต้ท้องสูงกว่า Mobilio
เล็กน้อย (น้อยมากจริงๆ แค่ 12 มิลลิเมตร ) ไว้สำหรับลุยพื้นขรุขระ
แบบพอไม่ให้ใต้ท้องรถไปครูดกับวัตถุแข็งๆ ก็คงต้องเลือก BR-V
ละครับ แต่คุณต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่า แม้จะได้แผงหน้าปัดใหม่
ที่ดูดีกว่า Mobilio เยอะ กระนั้น ปัญหากลิ่นจากภายนอกรถเล็ดรอด
เข้ามายังห้องโดยสาร ก็ยังเป็นประเด็นที่ Honda เองยังต้องแก้ไข
กันต่อไป แปลกใจมากว่า ทำไม Mobilio ถึงไม่ค่อยเจออาการนี้
มากเท่า BR-V

– Suzuki ERTIGA
การปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุดในปี 2016 ส่งผลให้ Minivan
คันเดียวในโชว์รูม Suzuki เมืองไทย ดูมีหน้าตาแปลกแหวกแนว หลุด
เทรนด์การออกแบบไปไกล จนชวนให้สงสัยว่า ไปดึงนักออกแบบชาว
ฝรั่งเศสจาก Peugeot มาร่วมงานด้วยใช่ไหม? จากรูปทรงที่ไม่มีใคร
ปรายตามอง จนกลายเป็นรถที่ผู้คนจำได้ถึงด้านหน้าที่อุบาทว์กว่าเดิม

กระนั้น จุดเด่นของ Ertiga ยังคงอยู่ที่การเซ็ตช่วงล่าง ซึ่งให้ความมั่นใจ
ใช้ได้ แถมมีการปรับปรุงพวงมาลัยให้ตอบสนองดีขึ้นแล้วอัตราเร่งในช่วง
ตีนปลาย ที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เครื่องยนต์ก็แค่ 1.4 ลิตร แต่หากเป็น
รุ่น CVT ทำใจกับอัตราเร่งที่อืดกว่าชาวบ้านและการกินน้ำมันที่ด้อยสุดใน
กลุ่ม Minivan 7 ที่นั่งไซส์เล็ก ได้เลย

ส่วนภายในห้องโดยสารแม้ว่าจะสวย สว่าง โปร่ง สบายตา และมีเบาะนั่ง
ที่สบายสุดในกลุ่ม (เฉพาะคู่หน้ากับแถวกลาง) และพับเบาะ 2 แถวหลัง
ให้ราบเรียบได้ แต่ก็ยังคงมีพื้นห้องเก็บของด้านหลัง สูงตามการพับเบาะ
หลัง ไม่เหมือนกับ Sienta ที่พับได้แบนเช่นกัน แต่พื้นรถเตี้ยกว่า

***** แล้วถ้าตกลงปลงใจกับ Sienta จะเลือกรุ่นย่อยไหนดี? *****

Sienta เวอร์ชันไทย นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันจาก Indonesia ด้วยสิทธิพิเศษ
ทางภาษีจากข้อตกลงทางการค้า ของประเทศในกลุ่ม ASEAN ทำให้เสีย
ภาษีนำเข้าแค่ 0% จึงทำราคา ฟัดเหวี่ยงกับรถยนต์ประกอบในบ้านเราได้
สบายๆ ทั้ง 2 รุ่นย่อย ดังนี้

1.5 G ราคา  750,000 บาท
1.5 V ราคา  865,000 บาท

รายละเอียด อุปกรณ์ต่างๆ น้อง MoO Cnoe ทำเอาไว้ให้คุณอ่านแล้วที่นี่
http://community.headlightmag.com/index.php?topic=52677.0

รวมถึงภาพรถคันจริงของรุ่น 1.5 G ดูได้ที่ link ด้านล่างนี้
http://community.headlightmag.com/index.php?topic=52691.0

อันที่จริง รุ่นพื้นฐาน 1.5 G ก็ให้อุปกรณ์มาเพียงพอต่อความจำเป็นในการ
ใช้งานแล้ว แถมยังมีระบบ VSC และ TRC กับถุงลมนิรภัย 3 ใบ และระบบ
เบรก ABS พ่วง EBD และ BA กับระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC
มาให้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นอีกด้วย ถ้างบไม่พอจะขึ้นไปเล่นรุ่น V บอกเลยว่ารุ่น
G นี่ให้ข้าวของมา ไม่น่าเกลียดเลย หากซื้อเงินสด ออกรุ่น G ก็พอแล้ว

แต่ถ้าคำนวนเงินผ่อนแล้ว ต่างกันในระดับที่คุณยอมรับได้ การอัพเกรด
ขึ้นไปเล่น รุ่น V ก็คุ้มค่ากว่า เมื่อคำนึงถึงราคาขายต่อในอนาคตที่อาจ
เพิ่มจากรุ่น G ขึ้นมาอีกนิดนึง รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เพิ่ม
เข้ามาให้คุณได้คุ้มค่ากว่า

งานนี้ ขอชมเชย Toyota ว่าทำราคาขายปลีก มาได้ดีมากๆ จน Sienta
ดูคุ้มค่าในสายตาของลูกค้าชาวไทย จริงๆ แม้ว่าจะแพงกว่า Mobilio
และ Ertiga อยู่สักหน่อยก็ตาม

สำหรับใครที่ไม่ได้สนใจบานประตูเลื่อนด้วยไฟฟ้า ต้องการแค่รถยนต์
Minivan 7 ที่นั่ง ไว้แล่นใช้งานทั่วไป Honda กับ Suzuki จะตอบโจทย์
ของคุณได้ ไม่แพ้กัน ในราคาที่ถูกกว่า

แต่ถ้ายังคิดว่า ภาพลักษณ์หน้าตา ความทันสมัยของตัวรถก็สำคัญอยู่
ค่าตัวของ Sienta ถือว่า ถูก ในระดับที่เหมาะสมพอดีๆ ไม่ถูกไม่แพง
จนเกินเอื้อม แถมยังได้บานประตูเลื่อนไฟฟ้าอีกต่างหาก

2016_11_Toyota_Sienta_10

ท้ายสุด มีคนสงสัยว่า Sienta จะมีชะตากรรมออกมาเป็นอย่างไร
จะเหมือน WISH และ Prius 3rd Generation ในบ้านเราหรือไม่?

ผมว่าพอจะให้คำตอบได้นะ

ต้องเข้าใจก่อนว่า ตลาด Sub-Compact Minivan นั้น ยอดขายโดยรวม
ถ้าได้ถึง 1,000 คัน/เดือน ก็ดีใจตายโหงแล้ว บางค่ายเริ่มถอดใจจากการ
เข้าร่วมแบ่งก้อนขนมเค้กชิ้นนี้ด้วยซ้ำ ในขณะที่บางเจ้า จำเป็นต้องรักษา
เอาไว้ ทั้งค่ายที่มองว่า มันยังพอมีโอกาสเหลืออยู่ และค่ายที่ตกกระได
พลอยโจน ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้น ในโชว์รูมตัวเองก็ไม่เหลือรถอะไร
ให้ลูกค้าได้ซื้อเลย

สำหรับผู้มาใหม่แล้ว Minivan แบบนี้ คือสิ่งที่ลูกค้า Toyota รอมานาน
มากๆ กระนั้น ยอดขายอาจจะไม่เปรี้ยงปร้างดังที่หลายคนคาดการณ์ไว้
เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผมมองแต่คนของ Toyota เอง ก็น่าจะพอรู้ตัวอยู่บ้างละ

บอกได้เลยว่า ยอดขายของ Sienta ในช่วงแรกๆ จะพุ่งสูง แต่อาจจะ
สะดุดลงบ้าง เนื่องจากปริมาณรถจาก Indonesia อาจน้อยไปหน่อย
เมื่อเทียบกับความต้องการของลูกค้าชาวไทย ในช่วงเปิดตัว หลังจาก
ผ่านพ้นช่วง Motor Expo นี้ไป ยอดขายอาจลดลง ในเดือนมกราคม
2017 นิดหน่อย ยังพอได้อานิสงค์จากยอดสั่งจองช่วงเดือนธันวาคม
แล้วก็จะแผ่วลงมา หลังงาน Bangkok International Motor Show
เดือนมีนาคม 2017 จากนั้น ก็น่าจะ ยืนหยัดอยู่ที่ระดับ 300 คัน/เดือน
พอได้อยู่

เอาละ มันฟังดูไม่ค่อยโสภานัก แต่มันจะเป็นอย่างที่ผมมองไว้หรือไม่
ผมก็ยังไม่กล้ายืนยัน

ยังไงก็ตาม ในขณะที่ Toyota Indonesia เขายืนยันว่ามั่นใจในคุณภาพ
ของรถที่พวกเขาทำ ผมอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้ ให้กำลังใจกับคนไทยคนใด
ก็ตามที่ทำงานทั้งในฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ (Product Planning) ของทั้ง
TMT รวมทั้งคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ใน TMC , TMT, TMAP-EM และ
กลุ่มบริษัทในเครือ เพราะเท่าที่ผมรู้มา คนเหล่านี้ เขา ใช้ความพยายามใน
การต่อสู้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สำเร็จบ้างหรือไม่สำเร็จบ้าง ก็เพื่อให้
เราคนไทย ได้ใช้รถยนต์ที่มีสเป็กและอุปกรณ์ติดรถทัดเทียมกับนานาอารยะ
ชนชาติอื่นเขากันเสียที ว่าถึงแม้ Sienta อาจไม่ถึงขั้นประสบความสำเร็จ
มากมายนัก แต่ได้โปรด อย่าเพิ่งหมดหวัง

สำหรับองค์กรใหญ่อย่าง Toyota แล้ว มันโคตรจะยากกว่าที่คุณคิดมากๆ
ในการโน้มน้าวให้คนญี่ปุ่น เขาเห็นความสำคัญของคนไทย คนกลุ่มนี้
ก็ได้พยายามมามากแล้ว และนับจากนี้ คุณจะเริ่มเห็นผลของความพยาม
จากพวกเขาออกมาเรื่อยๆ อย่างน้อยๆ ก็จนถึงปี 2019

ถุงลมนิรภัย 3 ใบ ที่กลายมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Toyota ทุกรุ่น
ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2015 ไม่เว้นแม้แต่ Hilux Revo กระบะส่งของ
รุ่นถูกสุด คือตัวอย่างอันดีในความพยายามของคนไทยกลุ่มนี้ในองค์กร
ข้ามชาติอันใหญ่โต วุ่นวาย วกวน แห่งนี้ มันเป็นหนึ่งในความพยายาม
ทีน่าชมเชย

ผมอยากจะขอบคุณพวกเขานะ ขอบคุณที่ทำในสิ่งที่ผมไม่คิดว่า Toyota
จะยอมทำเพื่อคนไทย การนำ Sienta เข้ามาขาย นี่ก็เป็นเรื่องเกินไปจาก
ความคาดหมายของผมเช่นกัน แม้ว่า จะยังทำได้ไม่ถึงขั้นที่พวกเขาตั้งใจ
เช่นยังไม่อาจทำให้รถ สามารถใช้วัสดุในระดับเดียวกับเวอร์ชันญี่ปุ่นได้เป๊ะ
เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา ที่ร้อนชิบหาย และ
ความเสี่ยงทางธุรกิจในด้านต่างๆ ฯลฯ อีกมากมาย

ทำกันมาได้ขนาดนี้ ก็ถือว่า น่าชมเชยแล้วละครับ

สู้ต่อไปนะ ทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล และ Sienta มันอาจจะไม่ได้
ไปไกลอย่างที่คาดหวัง…แต่อย่าเพิ่งท้อนะ

ผมรอดูอนาคตเหล่านั้นอยู่…อนาคตอันน่าตื่นตาตื่นใจ
จากการทำงานหนักของพวกคุณ…ถ้าผมยังไม่ตายไปเสียก่อน…

————————///————————-

 

2016_11_Toyota_Sienta_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์  
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
Toyota Motor Corporation
และ Toyota Motor Thailand)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
23 พฤศจิกายน 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 23th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!