คล้อยหลังงานเปิดตัว Toyota Yaris ATIV เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2017 ไปเพียงไม่กี่วัน หมายเชิญร่วมงานแถลงข่าว เปิดตัว Yaris Hatchback Minorchange ก็ลอยละลิ่ว ปลิวเข้ามาใน E-Mail ของผม ว่าจะถูกจัดขึ้น ในวันที่ 14 กันยายน 2017

วันเวลาผ่านไปเร็วดีเหมือนกันนะ ยังจำได้ว่า เพิ่งจะเอา Yaris รุ่นนายจันหนวดเขี้ยว ไปถ่ายรูปอยู่ที่สะพานร้าง ย่านด่านเก็บเงินทับช้าง ริมถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกอยู่เลย พอลองกลับไปดูสถานที่เดิม เผื่อว่าจะยังพอถ่ายรูปรถคันนี้ได้บ้าง ตอนนี้ สะพานร้างดังกล่าวถูกทุบทิ้งแล้วสร้างเป็นถนนเส้นใหม่ เชื่อมต่อกับถนนในโซน ลาดกระบัง เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนว่า ใกล้จะเปิดใช้งานได้ในอีกไม่นานนี้

เป็นอันว่า โลเกชันถ่ายรูปของทีมงานเรา หายไปอีก 1 จุดแล้ว….

เป็นไปตามความคาดหมาย จากสิ่งที่ผมเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ ว่า คราวนี้ Toyota จะวางกลยุทธ์การตลาด แยกเปิดตัวรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น ออกจากกัน ตามความแตกต่างของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ไม่เหมือนกัน

งงละสิ…ว่า ทำไม กลุ่มลูกค้าของรถยนต์ประเภทเดียวกัน ถึงต้องใช้วิธีโฆษณาต่างกัน?

ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ทั้ง B-Segment มาตรฐาน และ ECO Car ในบ้านเรานั่น ถ้าจำแนกออกมา จะพบกลุ่มลูกค้าทั้งหมด 3 กลุ่มหลัก มีทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป ประเภทครอบครัวขนาดเล็ก ที่เพิ่งเก็บหอมรอมริบซื้อรถคันแรกในครอบครัว กลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้รถยนต์ไว้วิ่งใช้งานตามอาชีพ หรือกิจการขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง และกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ที่พ่อแม่ญาติโยม ควักกระเป๋าซื้อรถยนต์คันแรกให้

ในอดีต ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ เพ่งเล็งไปเอาใจลูกค้า 2 กลุ่มแรก กันเยอะมาก จนกระทั่งในช่วงระยะหลังๆมานี้ ค่านิยมการซื้อรถยนต์ให้บุตรหลาน ที่สอบเข้า หรือสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ได้ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ก็ทวีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น หากเราไม่นับกลุ่มลูกค้าประเภทบ้านรวย พ่อแม่มักซื้อ Mercedes-Benz หรือ BMW ให้ขับขี่กัน ก็มีอีกหลายครอบครัวที่มองถึงค่าของเงิน และเลือกให้ลูก ขับรถญี่ปุ่นคันเล็กๆ ก็เพียงพอ เพราะไม่อยากให้ฟุ่งเฟ้อ

แน่นอนว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา Toyota และ Honda มักจะอยู่ในรายชื่อแรกๆ ที่ผู้ปกครองมักจะมองเสมอ เนื่องจากเป็นรถตลาด ซื้อง่าย ขายคล่อง ชนพังก็ช่างมัน ทิ้งขว้างให้ประกันภัยตีคืนทุนเป็นราคาขายซาก หรือถ้าจะซ่อมก็ไม่แพงนัก หลายประการรวมๆกันเข้า กลายเป็นความเชื่อฝังหัวของผู้ใหญ่ในประเทศนี้จำนวนมาก ว่าถ้าซื้อรถเก๋ง ต้อง Toyota หรือ Honda เท่านั้น

จนกระทั่ง เมื่อช่วงปี 2010 เป็นต้นมา การเปิดตัว Mazda 2 ทำให้ Mazda ก้าวเข้ามากลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดกลุ่มนี้ และเริ่มค่อยๆคว้าใจลูกค้าวัยรุ่นไปครอง มากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลง่ายๆเลยก็คือ “รูปลักษณ์ที่โดนใจวัยรุ่น” และออพชันกับราคา ที่สมน้ำสมเนื้อ

ลูกค้าวัยรุ่น เริ่มผละหนีจาก Toyota ไปเรื่อยๆ โผไปเข้าหาแบรนด์อื่นๆ อย่าง Honda Mazda Ford มากขึ้น ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ พวกเขาทำรถยนต์ออกมาโดนใจคนรุ่นใหม่มากกว่า รวมทั้งงานโฆษณาต่างๆ ก็ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อสื่อสารกับพวกเขาโดยตรง ในขณะที่ Toyota เอง เริ่มมีภาพลักษณ์ เป็น “แบรนด์คนแก่” ในสายตาวัยรุ่นชาวไทยไปมากแล้ว

เบื้องต้น สิ่งที่ Toyota Thailand พอจะทำได้ในตอนนี้ คือการปรับโฉมให้กับ Yaris Hatchback ควบคู่กับการส่งรุ่น Sedan ATIV ลงสู่ตลาด เพื่อต้านทานข้าศึกที่เริ่มบุกหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ไปก่อน

อันที่จริง ปัญหานี้ เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ในช่วงทศวรรษ 1990 และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Toyota ในตลาดยุโรป เมื่อชื่อของ Toyota Starlet ขุนพลรถเล็กท้ายตัดในยุคนั้น เริ่มเสื่อมมนต์ขลังลงไป จน Toyota เลือกจะพลิกโฉมรถคันใหม่ ด้วย Platform NBC (New Basic Car) ใหม่ เครื่องยนต์กลไกใหม่ งานออกแบบใหม่…แม้กระทั่ง..ชื่อรุ่นใหม่!

Toyota Yaris เผยโฉมครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบ Toyota FunTime ณ งาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 1997 ก่อนที่เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะเริ่มเผยโฉมสู่สายตาชาวโลก ในงาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน 1998 และออกสู่ตลาดครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อ 13 มกราคม 1999 โดยใช้ชื่อ Toyota Vitz ส่วนเวอร์ชันยุโรป ถูกเปิดตัวในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1999 และเปลี่ยนไปมาใช้ชื่อ Yaris

Yaris เป็นชื่อที่ Toyota ไปจ้างนักตั้งชื่อสินค้า ชื่อดังคนหนึ่ง เดินเข้าไปดูรถคันจริง ใน Studio Design ให้เวลาดู 5 นาที แล้วกลับไปค้นหาชื่อที่เหมาะสมกับรถคันดังกล่าว เขาเลือกใชื่อ Yaris ด้วยเหตุผลที่ว่า คำว่า “Ya” เป็นคำในภาษาเยอรมัน แปลว่า “Yes” หรือ “ใช่.ตกลง” ในภาษาอังกฤษ อีกคำหนึ่ง คือ “Charis” เป็นเทพแผ่งความหรูหราและความงามในเทพนิยายกรีกโบราณ

(และนี่ ก็เป็นที่มาของสโลแกน “Yes! That’s Right” ในบ้านเรา ตอนนี้ ด้วยนั่นละ!)

แน่นอนว่า ชื่อดี รถก็ทำออกมาดีสมตัว Toyota ก็เลยรับเละทั้งเงินและกล่องรางวัล นอกจากจะทำยอดขายรุ่นแรกไปได้ 1.4 ล้านคันแล้ว ยังคว้ารางวัล European Car of the year ปี 2000 ซึ่งเป็นรถญี่ปุ่น 1 ในไม่กี่รุ่นที่คว้ารางวัลดังกล่าวได้สำเร็จ น่าเสียดายว่า รุ่นแรก ไม่เข้ามาขายในเมืองไทย

Yaris รุ่นที่ 2 เปิดตัวครั้งแรกในญีุ่่ปุ่น เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2005 และถูกส่งมาขึ้นสายการผลิตเพื่อเปิดตัวในเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อ 17 มกราคม 2006 โดยใช้เครื่องยนต์ 1NZ-FE 109 แรงม้า (PS) ร่วมกับ Vios แต่ด้วยการอัดออพชันมาเต็มที่ จนต้องตั้งราคาแพง ทีมการตลาด ก็เลยวางให้ Yaris เป็น Premium Sub-Compact hacthback (เหรอ?) ผลลัพธ์ก็คือ ช่วงแรก ยอดขายแทบไม่เดินเลย จนต้องเริ่มออกโปรโมชัน และแคมเปญส่งเสริมการขายแบบเงียบๆ จนเริ่มมียอดขายทะยานขึ้นเรื่อยๆ ในภายหลัง

Yaris รุ่นที่ 3 เปิดตัวในตลาดโลก เมื่อ 22 ธันวาคม 2010 โดยเป็นตัวถัง Hatchback 3 และ 5 ประตู สำหรับตลาดญี่ปุ่น Europe และ Oceania แต่ดีแล้วที่รุ่นนี้ ไม่ถูกส่งมาขายในเมืองไทย เพราะมีตัวถังที่ค่อนข้างเล็ก กว่า Yaris เวอร์ชัน จีน/ไทย และตลาด Emerge Market ที่เผยโฉมตามมาอีกระลอก ในงาน Shanghai Automobile Industry Exibition เมื่อ 20 เมษายน 2013 เป็นประเทศแรกในโลก จากนั้น จึงค่อยส่งมาเปิดตัวที่เมืองไทย เมื่อ 22 ตุลาคม 2013

คราวนั้น Toyota ตัดสินใจ นำ Yaris เข้าร่วมโครงการ ECO Car Phase 1 โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก 1.5 ลิตร มาเป็น 1.2 ลิตร และพยายามไม่โฆษณาว่าเป็น ECO Car ทำให้ลูกค้าหลายคน เลือกจะมองข้ามข้อจำกัดด้านสมรรถนะเครื่องยนต์ไป ในขณะเซ็นใบจอง

นับจากเดือนมกราคม 2006 จนถึง สิงหาคม 2017 Toyota Motor (Thailand) ผลิตและขาย Yaris รวม 2 รุ่น ไปแล้ว มากถึง 150,000 คัน แน่นอนว่า ยอดขายที่เยอะขนาดนี้ ย่อมทำให้ Toyota ตัดสินใจ ผลักดัน Yaris ในบ้านเรากันต่อไป โดยส่ง Yaris Sedan ในชื่อ Yaris ATIV เปิดตัวเพื่ออุดช่องว่างทางการตลาด สำคัญ นั่นคือ B-Segment (ECO Car Sedan) เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2017 ก่อนจะ ส่ง Yaris Hatchback Minorchange เปิดตัวตามกันมาติดๆ เมื่อ 14 กันยายน 2017 หรืออีก 1 เดือนถัดมา ณ โรงแรม Park Hyatt

Toyota Motor (Thailand) วางตำแหน่งทางการตลาดของ Yaris ทั้ง 2 ตัวถัง แยกออกจากกันไว้อย่างเด่นชัด คือในขณะที่ ATIV จะเน้นหนักไปที่ “ชาย – หญิง อายุ 22 – 29 ปี คนรุ่นใหม่ที่คิดจะซื้อรถยนต์เป็นคันแรก เป็นพนักงานบริษัท หรือทำอาชีพอิสระ มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย มุ่งมั่น ช่วงคิด และมีแบบแผน  อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังเริ่มบทบาทใหม่ในชีวิต เข้าสู่วัยทำงาน ต้องการรถยนต์ที่สวยและโดดเด่น มีฟังก์ชันการใช้งาน ที่ตอบรับกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา ”

ทว่า Yaris Hatchback จะยังคงวางลูกค้าเป้าหมายไว้กลุ่มเดิม นั่นคือ “เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 18-29 ปี เป็นพนักงานบริษัท หรือนักศึกษา ชอบความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร มีไลฟ์สไตล์สนุกสนาน และมักเป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์เป็นคันแรก”

Toyota ตั้งเป้ายอดขายไว้สูงมากถึง 3,200 คัน/เดือน ซึ่งจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน คงต้องไปสำรวจดูตัวรถกันก่อนว่า มันน่าจะถูกตาต้องใจกลุ่มลูกค้า มากขึ้นกว่าเดิมเพียงใด…

Yaris Hatchback ใหม่ มีขนาดตัวถัง 4,145 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,470 / 1,670 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 135 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Yaris รุ่นก่อน ซึ่งมีตัวถังยาว 4,115 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร จะพบว่า Yaris ใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิม 30 มิลลิเมตร แถมยังกว้างขึ้นอีก 30 มิลลิเมตร อันเป็นผลมาจาก เปลือกกันชนหน้าและหลัง ช่วยให้รถยาวขึ้น ส่วนความกว้างตัวถังนั้น ก็เป็นผลมาจากการออกแบบตัวถังด้านข้างใหม่ นอกจากนี้ รุ่นใหม่ ยังสูงขึ้นจากเดิม 25 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อเท่าเดิม

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ ECO Car Hatchback ด้วยกันแล้ว Yaris Minorchange ยังคงครองตำแหน่ง ผู้ที่มีตัวถังใหญ่สุดในกลุ่ม และมีขนาดพื้นที่ห้องโดยสารกว้างและยาวมากที่สุดในกลุ่ม ชนิดไม่ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่นให้เสียเวลา

เพียงแต่ว่า การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ เกิดขึ้นเยอะมาก หากให้ผมประเมินคร่าวๆๆ คาดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากถึง 35% จากรถรุ่นเดิม

เส้นสายภายนอก ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่ หวังให้ดูสวยงามลงตัวมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า ยกชุดมาจาก Yaris ATIV Sedan ก็จริง แต่ลวดลายของช่องรับอากาศ บนเปลือกกันชนหน้า จะแตกต่างกันออกไป

ในขณะที่ Yaris ATIV มีให้เลือกถึง 5 รุ่นย่อย คือ S , G , E , J และ J ECO ทว่า Yaris Hatchback ใหม่ ก็จะยังคงมีให้เลือก 4 รุ่นย่อย ตามเดิม คือ G , E , J และ J ECO

ชุดไฟหน้าของทุกรุ่นจะเป็นแบบ Multi-Reflector แต่รุ่น G จะเปลี่ยนมาเป็นแบบ Projector โดยทุกรุ่น ใช้หลอด Halogen เหมือนกันหมด ส่วนรุ่น G จะเพิ่มไฟส่องสว่าง LED Light Guiding ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน LED Daytime Running Lights และไฟตัดหมอกหน้า

แผ่นเปลือกตัวถังบริเวณบานประตูด้านข้างทั้ง 4 บาน ออกแบบขึ้นใหม่ โดยยกยวงมาจาก Yaris ATIV แต่ประกอบเข้ากับโครงประตูของ Yaris 5 ประตู รุ่นเดิมได้พอดีๆ มือจับประตูด้านนอก รุ่น G จะเป็นพลาสติกชุบโครเมียม รุ่น E และ J จะเป็นสีเดียวกับตัวถัง ส่วน J ECO จะเป็นสีดำ

แผ่นหลังคาของทุกรุ่น ออกแบบให้มีโป่งนูน เรียกว่า หลังคาแบบ Catamaran ช่วยลดการปะทะของแรงลม รวมทั้งเพิ่มครีบขนาดเล็ก ที่กระจกมองข้าง และไฟท้าย เพื่อช่วยรีดอากาศให้ผ่านด้านข้างตัวรถได้ดีขึ้น ลดเสียงรบกวนลงได้ กรอบกระจกมองข้าง มีเพียงรุ่น J ECO ที่ใช้พลาสติกสีดำ นอกนั้น พ่นสีเดียวกับตัวรถทุกรุ่นย่อย แต่เฉพาะรุ่น G กับ E จะเพิ่มไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้างมาให้เป็นพิเศษ แพ็คมาพร้อม กระจกบังลมหน้าแบบกันเสียงรบกวน (Acoustic Glass)

บั้นท้ายถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด รุ่น G จะมีเสาอากาศแบบ Shark Fin (ครีบฉลาม) เพียงรุ่นเดียว นอกนั้น เป็นเสาอากาศแบบสั้นทั้งหมด ทุกรุ่นมาพร้อมชุดไฟท้ายแบบ LED Guiding ไฟเบรกดวงที่ 3 ไล่ฝ้าที่กระจกบังลมหลัง และใบปัดน้ำฝนด้านหลัง จังหวะเดียว พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก

รุ่น G กับ E จะให้ล้ออัลลอย พร้อมยาง Bridgestone ECOPIA ขนาด 185 / 60 R15 ขณะที่รุ่น J จะสวมกระทะล้อเหล็กสีดำ พร้อมฝาครอบล้แบบเต็มวง ขนาด 15 นิ้ว พร้อมยางขนาดเดียวกัน แต่รุ่น J Eco จะให้กระทะล้อเหล็กสีดำ ขนาด 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 175 / 65 R14

ระบบกลอนประตู ในรุ่น G จะเป็นรุ่นเดียวที่ได้ใช้กุญแจ Remote Control แบบ Keyless Entry หน้าตาเหมือนรีโมทกุญแจของ Yaris ATIV มีสวิตช์ล็อก ปลดล็อก บานประตู แต่ไม่มี ปลดล็อกฝาท้าย อย่าง ATIV เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว เดินเข้าไปใกล้รถ กดปุ่มสีดำบนมือจับประตู ก็สามารถล็อค / ปลดล็อกประตูได้โดยไม่ต้องหยิบกุญแจรีโมทขึ้นมา พร้อมสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start

หากเป็นรุ่น E, J และ J ECO จะเป็นกุญแจ Remote Control แบบฝังสวิตช์ล็อก/ปลดล็อกประตู ไว้ในดอกกุญแจ การติดเครื่องยนต์ ยังคงต้องเสียบกุญแจเข้าไปในรู แล้วก็หมุนบิดไปทางขวาเพื่อติดเครื่องตามเดิม

อย่างไรก็ตาม ทั้งรุ่น G และ E จะมีระบบป้องกันโจรกรรม Immobilizer และระบบสัญญาณร้องเตือนภัย TDS (Theft Deterrent System) มาให้ เป็นพิเศษ

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ก็เหมือนกันกับทั้ง Vios , Yaris Hatchback เดิม และ Yaris ATIV ใหม่ ไม่มีผิดเพี้ยน แปลว่า คุณยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการหย่อนกันลงเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากเบาะคู่หน้าสักเล็กน้อย ตามเดิมเป๊ะ ไม่เช่นนั้น ศีรษะก็อาจจะโขกกับขอบหลังคาด้านบนได้

แผงประตูด้านข้างแบบเดิม ถูกถอดออก แล้วยกแผงประตูแบบใหม่จาก Yaris ATIV ใส่เข้ามาให้แทน ดังนั้นตำแหน่งของพนักวางแขน จึงสูงขึ้นจาก Vios และ Yaris รุ่นที่แล้วเล็กน้อย ทำให้วางท่อนแขนและข้อศอกได้ดีขึ้นกว่าทั้ง Vios และ Yaris เดิม โดยทุกรุ่นย่อย จะหุ้มพื้นที่วางแขนด้วยผ้า เสริมด้านในด้วยฟองน้ำ แผงควบคุมกระจกหน้าต่างไฟฟ้าของรุ่น J ECO กับ J และ E จะเป็นพลาสติกสีดำ มีเฉพาะรุ่น G ที่จะเป็นพลาสติกสีดำ Piano Black

มือจับเปิดประตูด้านใน ของรุ่น G จะเป็น พลาสติกเคลือบโครเมียม ส่วนรุ่น E , J และ J ECO จะเป็นพลาสติกสีดำด้านธรรมดา มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาท และช่องวางเอกสารขนาดเล็ก มาให้ใช้งานกันด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เบาะนั่งคู่หน้า ก็ยังเป็นชุดเดียวกับ Yaris ATIV และ Vios ตั้งแต่รุ่น G ลงไป พนักศีรษะเป็นแบบบาง-สูง ดังนั้น สัมผัสต่างๆ ก็จะเหมือนกับเบาะนั่งของ Sedan ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว จนไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำกันอีกต่อไป ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร คลิกอ่านได้เลยที่ บทความรีวิว ทดลองขับ Yaris ATIV และ รีวิวทดลองขับ Vios รุ่นปี 2016

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ยังคงไม่แตกต่างจาก Yaris Hatchback รุ่นเดิม คือคุณจำเป็นต้องก้มหัวลงพอสมควร ในระหว่างก้าวเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง มิเช่นนั้น โอกาสที่ศีรษะจะโขกโป๊กเข้ากับเสากรอบหลังคาด้านบน ก็ยังมีมากอยู่เช่นเคย

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของบานประตูคู่หลัง ยังคงเลื่อนลงได้จนสุดขอบราง แผงประตูด้านข้างออกแบบใหม่ ยกจาก Yaris ATIV มาทั้งคู่ ถอดสับสลับใส่กันได้เลย มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาทมาให้

พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลังของรุ่น G จะเป็นรุ่นเดียวที่ถูกหุ้มด้วยผ้าสีดำมาให้ นอกนั้น รุ่น E, J , J ECO จะเป็นแผงพลาสติกขึ้นรูปมาให้เฉยๆ! ไม่มีการหุ้มผ้าใดๆมาให้เลย ปล่อยเปลือยให้เห็นชิ้นงานกันเปลือยๆอย่างนั้น ตัวพนักวางแขน อยู่ในระดับที่กำลังดี วางแขนและข้อศอกได้พอดีๆ

หากไม่นับแผงประตูด้านข้างที่ออกแบบขึ้นใหม่แล้ว พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆจากรุ่นเดิมเลย เบาะนั่งแถวหลัง ยกชุดมาจาก Yaris Hatchback รุ่นเดิม ไม่มีผิด แตกต่างกันที่ลวดลายผ้าเบาะแค่นั้น

พนักศีรษะ ทั้ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้ใช้งานได้จริง ฟองน้ำ แนวนุ่ม ไม่ถึงขั้นนิ่ม รองรับศีรษะได้สบาย ประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พนักศีรษะตรงกลางรูปตัว L คว่ำ ยังคงเป็นอุปสรรค สำหรับผู้โดยสารตรงกลางเหมือนเดิมอยู่ดี เพราะคุณควรยกขึ้นใช้งาน จึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ แต่ถ้าเป็นไปได้ หากไม่ใช้งาน จะถอดออกแล้วเก็บไว้ในบ้าน น่าจะดีกว่า

พนักพิงหลัง รองรับแผ่นหลังรวมทั้งช่วงหัวไหล่ พอสบายใช้ได้ ฟองน้ำแน่นกำลังดี ไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป แต่ยังคงไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ และไม่มีช่องวางแก้วสำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้เลย ซึ่งก็เหมือนกับ ECO Car ตัวถัง Hatchback 5 ประตู คันอื่นๆ ในตลาด แน่นอนว่า ยังคงสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังได้เช่นเดิม

เบาะรองนั่ง นุ่มแน่นตามมาตรฐานของรถยนต์นั่งขนาดเล็กจาก Toyota ทุกรุ่น หลังปี 2000 เป็นต้นมา แต่ยังคงสั้นไปหน่อย แต่พอเข้าใจได้ว่า ไม่อาจออกแบบให้ยาวกว่านี้ได้มากนัก มิเช่นนั้น จะกระทบต่อพื้นที่วางขา บริเวณมุมเบาะมีการปาดขอบฟองน้ำนิดๆ เพื่อให้พอจะเหลือพื้นที่เหวี่ยงขา ขณะลุกเข้า – ออก จากประตูคู่หลัง

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตร อย่างผม จแม้เหลือ ให้สามารถสอดนิ้ว 3 นิ้ว ในแนวนอน แทรกกลางระหว่างปลายเส้นผม กับเพดานหลังคาด้านบน ได้พอดีๆ แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ศีรษะของผมจะอยู่ใกล้ชิดกับผนังเพดานช่วงขอบ บริเวณที่ ม่านลมนิรภัยต้องกางลงมา เวลาเกิดการชนด้านข้าง พอดีเลย ระยะมันใกล้กันไปหน่อยครับ

ส่วนพื้นที่วางขานั้น ใหญ่สะใจ เหมือนรุ่นเดิม คนตัวใหญ่อย่างผม ยังสามารถ นั่งไขว่ห้างได้อย่างสบาย ทั้งที่ได้ปรับเบาะคนขับให้อยู่ ในระดับที่ขับใช้งานตามปกติด้วยซ้ำ!

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด มีมาให้ครบ 3 ตำแหน่ง โดยเข็มขัดสำหรับผู้โดยสารตรงกลาง ยังคงติดตั้งไว้กับเสาหลังคาด้านหลังสุด C-Pillar ฝั่งซ้ายของตัวรถ แล้วลากสาย โยงเชื่อมจุดยึดมาที่กึ่งกลางเพดานหลังคา ก่อนจะลากเชื่อมลงมาให้ได้ใช้งานกันเหมือนเดิม

ผมยังคงขอยืนยันให้ตรงนี้เลยว่า พื้นที่นั่งโดยสารของ Yaris ใหม่ ใหญ่โตที่สุด ในบรรดา ECO Car ทุกคันที่ผลิต ขายในประเทศไทย คราวนี้ จะลากให้จนถึงปี 2020 เลยเถอะ!

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงใช้ระบบกลอนไฟฟ้า ในรุ่น G จะเชื่อมต่อสัญญาณกับ รีโมทกุญแจ Keyless Entry ยกมาจาก Yaris รุ่นเดิม แต่บางกรณี ถ้ายังติดเครื่องยนต์อยู่ ก็อาจ ไม่ยอมปลดล็อกให้บ้างเหมือนกัน จำเป็นต้องดับเครื่องยนต์ก่อน แล้วค่อยเดินมาเปิดฝาประตูหลังกันอีกรอบ

ฝาประตูค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น มีแผงบังสัมภาระ ที่สามารถปล่อยวางอยู่กับที่ หรือยกขึ้นพร้อมกับฝาประตูหลังได้ เพียงแค่เกี่ยวห่วงที่สายเชือกเล็กๆทั้ง 2 ฝั่ง เข้ากับขอเกี่ยวยึด บริเวณติดกับ ขอบกระจกบังลมหลัง ด้านใน มีมือจับเพื่อดึงประตูลงมาปิด ยกมาจากรุ่นเดิม ด้านหลังของบานฝาท้าย ยังคงไม่มีการบุพลาสติกใดๆมาให้ มีเพียงแค่บุวัสดุซบัเสียงมาให้ที่ผนังด้านในตามเดิม  นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนจุดยึดช็อกอัพแบบใหม่ ทั้งเพื่อช่วยลดการสั่นสะเทือนของฝาท้าย และยังช่วยลดต้นทุนลงไปได้ในตัว

ช่องทางเข้า-ออกของสัมภาระด้านหลัง มีขนาดกวางขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม เพิ่มความสะดวกในการขนย้ายข้าวของที่มีความกว้างกว่าปกติ เข้าไปยังด้านหลังของรถ ง่ายดายขึ้น

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความยาว 734 มิลลิเมตร มีปริมาตรความจุ 326 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง (ย้ำว่าขนาดกลาง) แบบ Hard Case ได้ 3 ใบ  พร้อมกระเป๋าเดินทางแบบสะพายไหล่ อีก 1-2 ใบ ยังคงครองแชมป์ความจุห้องเก็บของด้านหลัง เยอะสุดในบรรดา ECO Car ตัวถัง Hatchback ทุกคันในบ้านเราตอนนี้อยู่ดี

ผนังด้านข้าง ฝั่งซ้าย มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ เปิด – ปิดได้ด้วยสวิชต์ ที่ฝังมาในตัว เหมือนรุ่นเดิม แต่เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ยางอะไหล่ ถูกถอดยกออกไป แล้วแทนที่ด้วย ชุดซ่อมยางฉุกเฉิน พร้อมปั้มลม กับเครื่องมือ และแม่แรงประจำรถจากโรงงานเป็นการทดแทน เหมือน Yaris ATIV

แผงหน้าปัด เปลี่ยนใหม่ ยกแผงชุดเก่าที่ใช้ร่วมกับ Vios 2013 – 2016 ทิ้งไป แล้วเปลี่ยนมาใช้แผงหน้าปัดชุดเดียวกับ Yaris ATIV ทั้งยวง ตามความคาดหมาย ดังนั้น การตกแต่งต่างๆ จึงเหมือนกันเกือบทั้งหมด ทั้งช่องแอร์ซ้าย – ขวา และแผงพลาสติกขนาบข้างแผงควบคุมกลาง เป็นสีเงิน ส่วนแผงสวิตช์และช่องแอร์คู่กลาง จะเป็นพลาสติก Piano Black เฉพาะรุ่น G

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา จะพบว่า มีอะไหล่หลายชิ้น ถูกยกออกมาจาก Vios และ Yaris ATIV ย้ายมาติดตั้งให้กับ Yaris Hatchback กันดื้อๆ อาทิ พลาสติกครอบเสาหลังคาคู่หน้า, ไฟอ่านแผนที่แยกฝั่งซ้าย – ขวา กดเปิด – ปิดการใช้งานได้เพียงจังหวะเดียว , และแผงบังแดดแบบแข็งพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาพับปิด แต่ไม่ยักมีไฟส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย แผง สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แบบมี สวิชต์ Auto One-Touch กดเลื่อนลง หรือดึงเลื่อนขึ้น จนสุดเพียงจังหวะเดียว พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง (เฉพาะฝั่งคนขับ) มีสวิตช์ ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสารทั้ง 3 บาน และ Central Lock บนแผงประตูฝั่งคนขับ สวิตช์กระจกมองข้างปรับ และพับด้วยระบบไฟฟ้า Upgrade เปลี่ยนมาเป็นแบบ หมุนเลือกฝั่ง แล้วปรับที่ก้านโยกได้เลย แบบ Hilux Revo ไม่ต้องทำสวิตช์แยกออกไปเหมือน Toyota รุ่นอื่นๆในอดีต เฉพาะรุ่น G จะตกแต่งแผงสวิตช์ดังกล่าว ด้วย พลาสติก Piano Black สีดำ ส่วนรุ่นอื่นๆ จะเป็นสีดำตามปกติ

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวา มีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start มาให้ (เฉพาะรุ่น G) ถัดลงไป เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VSC และ Traction Control รวมทั้งสวิตช์ เปิด – ปิด เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอดที่ด้านหลังรถ

พวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ต ยกมาจาก ATIV มี Grip ที่จับถนัดมือ ตกแต่งด้วยแถบ Metallic สีเงิน และมีระยะห่างจากขอบด้านบนสุดของมาตรวัด เพิ่มขึ้นจาก Vios / Yaris รุ่นเดิมนิดนึง เฉพาะรุ่น S กับ G พวงมาลัยจะหุ้มด้วยหนัง โดย รุ่น S จะเย็บเชื่อมติดด้วยด้ายสีแดง ส่วนรุ่น E , J และ J ECO จะหุ่มด้วย ยูรีเทน ตามปกติ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) จากตัวผู้ขับขี่ได้ มีสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียงมาให้บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย และสวิตช์ควบคุมโทรศัพท์ รับ-วางสาย ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เหมือนกับ ATIV รุ่น G และ E

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ยังคงเป็นชุดควบคุม เปิด-ปิดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง (และเพิ่มไฟตัดหมอกในรุ่น G) ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม ระบบใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำด้านหน้า และใบปัดน้ำฝนด้านหลัง มีระบบหน่วงเวลา มาให้ทุกรุ่น แต่ในรุ่น G และ E สามารถตั้งเวลาใบปัดคู่หน้า ให้หน่วง หรือปัดเร็ว – ช้าได้ตามต้องการ

ชุดมาตรวัดของ Yaris Hatchback จะยกมาจาก Yaris ATIV รุ่น E กับ G มาให้ โดยไม่มีมาตรวัดแบบ ATIV รุ่น S แต่อย่างใด เป็นแบบ 3 วงกลม ซ้อนกัน ตามสไตล์ มาตรวัดของ Toyota ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ข่าวดีก็คือ มันถูกออกแบบให้ดูดีขึ้น ไม่ใช้วิธี Print กระดาษมาแปะบนเรือนไมล์ อย่าง Vios และ Yaris รุ่นเดิมแล้ว

มาตรวัด ใช้โทนสีขาวเรืองแสง มีแถบสีฟ้ามาให้ แถม Font ตัวเลข อ่านง่าย เรียงในตำแหน่งที่สะดวกต่อการอ่านในขณะขับรถด้วยความเร็วสูงช่วงกลางคืน มีไฟ ECO แสดงเวลาที่คุณเหยียบคันเร่งแผ่วเบา จนเข้าสู่การขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน

จอแสดงข้อมูล MID (Multi Information Display) เป็นแบบพื้นฐาน อยู่ด้านล่างของมาตรวัดความเร็ว บอกข้อมูลทั้ง ระยะทางรวม Odo Meter รวมทั้ง Trip Meter A กับ B อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย และแบบ Real-Time ความเร็วเฉลี่ย และระยะทางที่ขับได้จากน้ำมันที่เหลืออยู่

 

 

จากฝั่งซ้าย มาทางขวา กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า Glove Compartment ยกมาจาก ATIV มีขนาดพอๆกันกับ Vios และ Yaris Hatchback รุ่นเดิม ดูจากฝาภายนอก เหมือนจะใหญ่ แต่เอาเข้าจริง แค่ใส่ คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกัน และเอกสารประกันภัย ก็ล่อเข้าไปครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดแล้ว กระนั้น ก็หญ่พอจะใส่กล้องถ่ายรูปแบบ Compact ลงไปซ่อนในนั้นได้ แม้ว่าฝาเปิดจะเป็นแบบ Soft Opener มาให้เหมือน ATIV แต่เสียดายว่า ฝาน่าจะเปิดลงต่ำได้มากกว่านี้

แผงควบคุมกลาง ในรุ่น G ประดับด้านข้างด้วยแผงพลาสติกสีเงิน Metallic พร้อมลวดลาย Graphic ขณะที่รุ่นย่อยอื่นๆที่เหลือทั้งหมด จะประดับด้วยแผงพลาสติกสีเงิน Metallic ธรรมดา

ชุดเครื่องเสียงของ Yaris Hatchback แทบทุกรุ่นย่อย (ยกเว้น J ECO) จะเหมือนกันกับ Yaris ATIV รุ่น G และ E คือเป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 / WMA 1 แผ่น มีช่องเชื่อมต่อ USB และ AUX และระบบเชื่อมโทรศัพท์มือถือ Bluetooth รองรับการใช้งานโทรศัพท์ และเล่นไฟล์เพลงจากมือถือได้

คุณภาพเสียง ถือว่า พอฟังข่าวได้ ฟังเพลงพอได้ แต่อย่าคาดหวังอะไรมากนัก เพราะเสียงกลางก็อู้อี้เหลือเกิน เสียงเบสก็บวมฉึ่งเหมือนแผลร้อนในที่สุกงอมเต็มที่ ถ้าจะให้ดี ปรับเบสไว้ที่ +2 และ ปรับเสียงใส Trebal ให้ใสสุดๆ +5 กันไปเลย

รุ่น G กับ E จะถูกติดตั้ง เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมสวิตช์กดปุ่ม และหน้าจอ Digital สีฟ้า ที่ดูวิลิศมาหรา ดุจรถเก๋งราคาแพง ขณะที่รุ่น J และ J ECO ยังคงติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบมือหมุนธรรมดามาให้ตามปกติ แน่นอนว่า ทั้ง 2 แบบ ไม่มี Heater ทำความร้อนมาให้เลย และยังคงเป็นผลงานของ Partner คู่บารมี Toyota อย่าง DENSO เช่นเดียวกับ Yaris ATIV นั่นเอง แอร์จึงเย็นและหนาวมาก ราวกับนั่งอยู่ในห้องเย็นสำหรับฟรีซผักและปลา

ใต้แผงควบคุมกลาง ด้านล่างสุด จากเดิมที่มีเพียงแค่ฐานรองโทรศัพท์มือถือธรรมดา ใช้ประโยชน์ห่าอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น คราวนี้ ทีมออกแบบ แก้ไขตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า และพวกเรา โดยออกแบบช่องวางแก้ว เพิ่มเติมมาให้ 2 ตำแหน่ง เสียที!

พื้นที่ตรงกลางระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งของเบรกมือนั้น ถูกปรับปรุงใหม่ คราวนี้ ยกเอางานออกแบบของ Yaris ATIV มาใช้ทั้งดุ้น ได้แก่ แผงด้านข้างเบรกมือ ซึ่งมีช่องสำหรับเสียบวางโทรศัพท์มือถือ หรือกล่อง CD ได้ มีปลั๊กไฟ 12V มาให้ 1 ตำแหน่ง และเพิ่มกล่องคอนโซลเก็บของขนาดเล็กแต่ลึกประมาณนึ่ง ใส่กล่อง CD ได้ราวๆ 6 กล่อง พร้อมฝาปิด หุ้มหนัง ที่ออกแบบมาให้เป็นพนักวางแขนในตัว (มีเฉพาะรุ่น S) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว สามารถวางได้แค่ข้อศอก มากกว่าจะวางแขนได้จริงจังนัก

ทัศนวิสัยด้านหน้าทั้งหมด เหมือนกันกับ Yaris ATIV และ Vios รุ่นปัจจุบัน ไม่ผิดเพี้ยน กล่าวคือ  การมองเห็นสภาพจราจรและเส้นทางข้างหน้า ชัดเจนดี เพียงแต่ว่า ความสูงของกระจกบังลมหน้า น้อยไปหน่อย เป็นปัญหาเดียวกับ บรรดารถยนต์ยุคใหม่ ที่ต้องทำเสาหลังคาคู่หน้าให้ลาดมากๆ เพื่อเล่นกับอากาศพลศาสตร์ได้ดีขึ้น

ขณะที่เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ก็เหมือนกับ ATIV และ Vios เป๊ะ ทั้งงานออกแบบแผงพลาสติกที่แปะครอบทับเสา และขนาดของเสาที่ยังคงมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาบนทางโค้งของถนนสวนกันเลนเดียว น้อยลงไปจากรุ่นเดิมนิดนึง รวมทั้งการบดบังรถที่แล่นสวนทางมา ขณะที่คุณกำลังจะเลี้ยวกลับ ก็แอบมีอยู่บ้างนิดๆ ส่วนกระจกมองข้าง ทั้ฝั่งซ้ายและขวา ก็ยังมองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้ดี เพียงแต่ ขอบกระจกด้านล่าง อาจถูกกรอบด้านในกระจก บดบังพื้นที่เข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับ รถยนต์ประเภทเดียวกัน คันอื่นๆ

ทัศนวิสัยด้านหลัง ยังคงไม่แตกต่างจาก Yaris Hatchback 1.2 ลิตร เดิม คือมีเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ที่หนาเตอะ จึงอาจมีการบดบังจักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาจากด้านหลังฝั่งซ้ายของรถได้อยู่บ้าง หากคิดจะเปลี่ยนช่องทาง เข้าเลนคู่ขนาน ควารเพิ่มความระมัดระวังสักหน่อย และอย่าพึ่งพากระจกมองข้างฝั่งซ้าย เพียงอย่างเดียว

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์กลไก ของ Yaris Hatchback Minorchange ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใดๆ ทั้งสิ้น ยังคงเป็น เครื่องยนต์ รหัส 3NR-FE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,197 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 72.5 x 72.5 มิลลิเมตร (ห้องเผาไหม้แบบ Square สี่เหลี่ยมจตุรัส) กำลังอัด 11.5 : 1 หัวฉีด EFI มาพร้อม ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ทั้งฝั่งวาล์วไอดี และไอเสีย Dual VVT-i มีระบบปรับตั้งระยะห่างของวาล์วอัตโนมัติ และมีระบบปรับความตึงของสายพานขับ อัตโนมัติ ยกจากรุ่นเดิมมาทั้งยวง ซึ่งก็เป็นเครื่องยนต์เดียวกับ Yaris ATIV นั่นแหละ

กำลังสูงสุดจึงยังคงเท่ากับ Yaris Hatchback นั่นคือ 86 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร (11.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นจาก Yaris ATIV 116 กรัม/กิโลเมตร เป็น 118 กรัม/กิโลเมตร

เครื่องยนต์ รุ่นนี้ ผ่านการทดสอบ ตามข้อกำหนด ECO Car Phase 1 โดยรัฐบาลไทย ใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 0W20 แต่สามารถใช้น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 5W-20 , 5W-30, 5W-40 และ 10W-30 หรือ เกรด API SL “Energy-Conserving” , SM “Energy-Conserving” , SN “Resource-Conserving” หรือ ILSAC 15W-40 และ 20W-50 โดยการเปลี่ยนถ่ายแต่ละครั้ง ถ้าเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องด้วย จะต้องใช้น้ำมัน 3.4 ลิตร แต่ถ้าไม่เปลี่ยนไส้กรอง ก็จะเหลือ 3.2 ลิตร

น้ำมันเชื้อเพลิง เติมได้ทั้งเบนซินไร้สารตะกั่ว ทั่วไป ออกเทน 91 กับ 95 หรือ แก็สโซฮอลล์ 91 กับ 95 (เฉพาะ E10 และ E20 เท่านั้น) หม้อน้ำ ใช้น้ำหล่อเย็น 4.2 ลิตร หัวเทียน เป็นของ DENSO รุ่น SC16HR11 ระยะห่างระหว่างเขี้ยวของหัวเทียน 1.1 มิลลิเมตร

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Super CVT-i พร้อมสวิตช์ปลดเกียร์ว่างตอนจอด Shift Lock  ที่มีให้เลือกเพียงแบบเดียว ยกมาจาก Yaris Hatchback รุ่นเดิม และ Yaris ATIV นั่นแหละครับ

อัตราทดเกียร์……………………….2.386 – 0.426 : 1
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง….…..……2.505 – 1.736 : 1
อัตราทดเฟืองท้าย…………….……5.833

เกียร์รุ่นนี้ มีปุ่ม Shift Lock สำหรับกดล็อก เพื่อปลดเกียร์ P ให้เลื่อนลงมาอยู่ในเกียร์ว่าง (N) เพื่อเลื่อนเข็นรถได้ นอกจากนี้ยังเคลมว่า เกียร์ CVT ลูกนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้น้ำมันเกียร์ CVT ของ Toyota Genuine CVT Fluid FE เท่านั้น และเป็นคนละเกรดกับที่ใส่ให้ใน เกียร์ CVT ของ Corolla Altis MY 2010 ถึง 2013 ไม่สามารถใช้น้ำมันเกียร์ร่วมกันได้ ปริมาณการเปลี่ยนถ่ายทั้งระบบอยู่ที่ 6.4 ลิตร อีกทั้ง เกียร์ CVT ลูกนี้จะมีท่อหายใจ ยกไว้สูง (จากเดิมที่เมื่อก่อน มักอยู่ด้านหลังของเกียร์) ก็เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น โอกาสที่เกียร์เกิดความเสียหายจากการลุยน้ำแบบไม่ตั้งใจ จะลดน้อยลงจากเดิม

เหตุผลที่ ไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดาให้เลือก ก็น่าจะไม่ต่างจาก ตอนเปิดตัว Yaris Hatchback เมื่อปี 2013 คือ ถ้านำเครื่องยนต์ลูกนี้ พ่วงเกียร์ธรรมดา อาจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมามากกว่ารุ่น CVT ไป จนเกินกว่า ค่ากำหนดของรัฐบาลไทย ที่อ้างอิงมาตรฐานมลพิษจาก UNECE มาใช้กับรถยนต์ประเภท B-Segment ECO Car Phase 1 ว่าต้องปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร จึงทำให้ไม่อาจออกจำหน่ายในไทยได้

ตัวเลขสมรรถนะ จะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการจับเวลากันตามมาตรฐานเดิมคือ ทดลองในเวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักรวมผู้ขับขี่ และผู้จับเวลา ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม ตัวเลขที่ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัด ECO Car  Hatchback ทั้งหมด ผลลัพธ์ มีดังนี้

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม Yaris Hatchback ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ และเกียร์ ยกมาจาก Yaris 1.2 ลิตร รุ่นเดิม แต่กลับทำผลงานได้แย่ลงมากขนาดนี้ เวลาหล่นหายไปถึง 2 วินาที?

ถ้าจะค้นหาความแตกต่างจากรุ่นเดิมที่ชัดเจนก็คือ ตัวรถมีขนาดยาวขึ้น และกว้างขึ้น 30 มิลลิเมตร อีกทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปในรถเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ถุงลมนิรภัย ที่ให้มามากถึง 7 ลูก นั่นมีส่วนทำให้ น้ำหนักตัวรถเพิ่มขึ้นถึง 50 กิโลกรัม ปัญหาก็คือ ถ้ายังคงจะเซ็ตโปรแกรมสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ ECU (Engine Control Unit) ไว้ตามเดิม เชื่อแน่ว่า ไม่มีทางที่ Yaris Hatchback ใหม่ จะรักษาค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไว้ที่ระดับ 118 กรัม/กิโลเมตร เท่ารุ่นเดิมได้ ทีมวิศวกร Toyota จึงจำเป็นต้อง ปรับจูน ECU ใหม่ ให้เน้นความประหยัดน้ำมัน และลดการปล่อย ก๊าซ CO2 ลง จนทำให้สมรรถนะหดหายไปอย่างฮวบฮาบ

ดังนั้น หากวัดกันเฉพาะ เกมจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในกลุ่ม ECO Car ตัวถัง Hatchback ในปี 2017 – 2018 แล้ว Yaris 5 ประตู จะถูกถีบตกจากแชมป์ ECO Car เกียร์ CVT ที่มีอัตราเร่งดีสุด หล่นลงมาอยู่อันดับ 3 ในตาราง เป็นรอง Mitsubishi Mirage CVT และ Honda BRIO CVT แต่ถ้านับรวม ECO Car ตัวถัง Sedan 4 ประตู ที่ใช้เฉพาะเกียร์ CVT เข้าไปด้วย Yaris จะร่วงลงไปเป็นอันดับ 5 ไปต่อแถวจ่าฝูง Suzuki Ciaz และ อันดับ 4 อย่าง Honda Brio AMAZE CVT เสียอย่างนั้น

แต่พอเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นับเฉพาะ ECO-Car Hatchback CVT แล้ว Yaris Hatchback ก็ทำได้ดีที่สุด แค่อันดับ 2 เป็นรอง Mirage CVT และถ้ารวมตัวถัง Sedan ที่ใช้เกียร์ CVT เข้าไป Yaris ก็ต้องไปต่อแถวท้าย Mirage , Yaris ATIV 1.2 S CVT ญาติผู้น้อง และ Brio AMAZE CVT อยู่ดี

การไต่ความเร็วขึ้นไปจาก 0 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Yaris Hatchback สัมผัสได้ว่าเร็วกว่า ATIV อยู่นิดนึง ไม่มากนัก แต่อืดกว่า Yaris Hatchback 1.2 ลิตร รุ่นเดิม อย่างชัดเจนมากๆ ราวกับเป็นรถคนละคันเลยทีเดียว ในช่วงแรก เข็มวัดรอบเครื่องยนต์ จะขึ้นไปค้างไว้แถวๆ 5,000 รอบ/นาที ตามสไตล์เกียร์ CVT ของ Toyota หลายๆรุ่น

ถึงแม้เข็มความเร็วและมาตรวัดรอบ จะค่อยๆไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอหลังจาก 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เข็มความเร็วก็เริ่มไต่ขึ้นไปช้าๆพอๆกันกับ Yaris ATIV นั่นละครับ ไม่ได้แตกต่างกันเลย คุณอาจต้องรอให้ความเร็วไต่ขึ้นไปถึง Top Speed ด้วยระยะเวลาใกล้เคียงกันกับ การรอให้ลูกของคุณ โตพอจะเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดได้เลยทีเดียว!

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง สัมผัสได้ว่า หากเป็นช่วงออกตัว Yaris Hatchback จะไวกว่า ATIV นิดเดียว แต่ถ้าเป็นช่วงเร่งแซงแล้ว กลับจะช้ากว่า ATIV นิดนึงด้วยซ้ำ การเซ็ตคันเร่ง ก็จะหนืดๆกว่า Yaris 1.2 รุ่นเดิม ชัดเจน แต่ถ้าไม่ใช่คนที่ประสาทสัมผัสละเอียดขนาดนั้น ก็คงจะมองว่า คันเร่งก็ตอบสนองพอๆกันกับ ATIV นั่นแหละ

ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า เกียร์ แอบมีอาการเย่อเล็กน้อย ในช่วงไต่ความเร็ว ไปจนถึง 5,000 รอบ/นาที เหมือนสมองกลจะสั่งให้ลดรอบเครื่องลงมาเล็กน้อย ก่อนเตรียมจะไต่ขึ้นไปที่ 6,000 รอบ/นาที (แตะ Red Line บนมาตรวัดรอบ)

ภาพรวมแล้ว ถ้าคุณเคยขับ Yaris 1.2 ลิตร รุ่นเดิมมาก่อน หาเป็นคนขับรถไม่เร็วนัก น่าจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในประเด็นอัตราเร่งนี้มากนัก แต่ถ้าเป็นคนขับรถเร็ว คุณอาจจะรำคาญใจเวลาเร่งแซง และต้องเผื่อช่วงเวลาในการไล่แซงรถพ่วงคันข้างหน้าคุณไว้ มากว่า Yaris รุ่นเดิม เยอะหน่อย จะปลอดภัยกว่า เพราะคราวนี้ ช่วงเร่งแซง ของ Yaris Minorchange ใช้เวลาพอๆกันกับ Yaris ATIV เลยละ

การเก็บเสียง ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม เช่นเดียวกับ ATIV เพราะ วิศวกร Toyota ติดตั้งวัสดุซับเสียงเอาไว้แทบจะทั่วทั้งคัน ทำให้เสียงรบกวนจากกระแสลม ลดลง ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เงียบมากๆๆๆๆๆ แต่ยังพอมีเสียงกระแสลม และเสียงยาง ดังขึ้นมาจากซุ้มล้อหลัง ให้ได้ยินกันอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันจริงๆ เสียงรบกวนในห้องโดยสารของ ATIV Sedan จะเงียบกว่า Hatchback อยู่พอสมควร ทั้งจากรูปทรงของตัวรถ ซึ่งมีบั้นทา้ยยื่นออกไป เอื้อต่อการติดตั้งวัสดุซับเสียงเพิ่มเติมมากกว่าตัวถังท้ายตัด Hatchback ตามปกติ

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงงเลี้ยว 5.1 เมตร ถอดยกชุดจาก Vios ปี 2016 – 2017 และ Yaris ATIV มาใส่ให้ทั้งยวง ดังนั้น การตอบสนอง และลักษณะนิสัย จึงเหมือนกันกับ Sedan ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว ชนิดถ่ายสำเนาโรเนียวกันมาเลย

การควบคุม เป็นธรรมชาติมากขึ้นนิดๆ ความรู้สึกขณะถือพวงมาลัยควบคุมรถไปตรงๆ หรือ On Center feeling นิ่งและดีขึ้น ลดปัญหาการที่คนขับต้องคอยแต่งพวงมาลัยซ้ายๆ ขวาๆ ขณะแล่นด้วยความเร็วเดินทางลงไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นชิน อาจยังต้องเติมซ้ายเติมขวา ขณะขับทางตรงกันอยู่บ้าง น้ำหนักพวงมาลัยหนืดขึ้นนิดเดียว และมีระยะฟรีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก นิดนึงด้วย กระนั้น อัตราทดเฟืองก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ยังต้องเติมพวงมาลัยเพิ่มขึ้น ในขณะหักเลี้ยวรถตามเดิม ฟีลลิงพวงมาลัยยังไม่ถึงขั้นคม มาในสไตล์ เนือยๆ

แม้ภาพรวมจะยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับ Vios รุ่น Britney Spears ปี 2002 แต่ทีมวิศวกรของ Toyota เซ็ตพวงมาลัยมาถูกทางขึ้นแล้ว ผมยังขอยืนยันตามเดิมว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอแนะนำให้เอาพวงมาลัยของ Prius รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด เป็น Benchmark ในการปรับจูนพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กของ Toyota นับจากนี้ไปเลยได้ก็จะยิ่งดี ไม่เช่นนั้น ก็หา Mazda 2 มาสักคัน แล้วพยายามเซ็ตพวงมาลัยให้ได้ตามนั้น เป็นอันจบข่าว

 

 

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเป็นคานบิด Torsion Beam ถึงแม้จะยกยวงมาจาก Yaris Hatchback รุ่นเดิม รวมทั้ง Vios และ Yaris ATIV กระนั้น ทีมวิศวกร Toyota ก็ปรับแต่งช่วงล่างใหม่อีกเล็กน้อย ให้ต่างจากพี่น้องร่วมตระกูลทั้ง 3 รุ่น อย่างชัดเจน

บุคลิกพื้นฐานก็คือ ช่วงล่างด้านหน้า จะเซ็ตมาให้นุ่มและซับแรงสะเทือนได้ดี เหมือนกับ Yaris ATIV แต่ช่วงล่างด้านหลัง จะถูกเซ็ตให้แข็งกว่า ATIV ชัดเจน สัมผัสได้จากในช่วงความเร็วต่ำ เวลาที่คุณต้องขับรถผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด ตามตรอกซอกซอย ต่างๆ ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะพบว่า ช่วงล่างด้านหลัง แข็งขึ้น เฟิร์มขึ้น เมื่อเทียบกับ ATIV แต่มีอาการกระเด้ง ลดน้อยลงกว่า Yaris 1.2 ลิตร Hatchback รุ่นเดิม กระเดียดไปทาง ช่วงล่างของ รถยนต์ Hatchback คันเล็กจากยุโรปมากขึ้น

เมื่อต้องใช้ความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง บนทางด่วน ช่วงล่างของ Yaris Hatchback ก็ยังทำหน้าที่ได้ดี เช่นเดียวกับ ATIV หากไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง ตัวรถจะนิ่งเกือบสนิท ต่อให้ยิ่งใช้ความเร็วสูงไปกว่านี้ก็ตาม ก็ยังคง “มั่นใจได้”ขนาดว่า ลองปล่อยมือจากพวงมาลัย ขณะใช้ความเร็ว Top Speed ตัวรถก็ยังตั้งตรงจิตพาณิชยการอย่างมาก คือตรงแหน่ว ไปข้างหน้า อาจมีกินซ้ายหรือขวานิดๆ  ขึ้นอยู่กับว่า พวงมาลัยตั้งตรงมากน้อยแค่ไหน

ส่วนความเร็ว ที่ตัวรถทำได้ในโค้งบนทางด่วนเฉลิมมหานคร ทั้ง 5 ตำแหน่ง ที่ผมมักใช้เป็นมาตรฐานในการทดลอง ผลออกมา ก็ไม่ต่างจาก Yaris ATIV ในแง่ตัวเลข เพียงแต่ตัวรถอาจจะต่างกันบ้างนิดหน่อย คือ หน้ารถจะดื้อแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้ความเร็วก่อนเข้าโค้งมาเท่าไหร่ และหักเลี้ยวมากน้อยแค่ไหน

ในโค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน อันเป็นโค้งที่สูงและแคบสุดในระบบทางด่วนของกรุงเทพฯ ต่อเนื่องไปยังโค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin เพื่อเชื่อมเข้าระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ผมพา Yaris Hatchback เข้าทั้ง 2 โค้ง ต่อเนื่องกันได้ โดยความเร็วบนมาตรวัดอยู่ที่ 100 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่าๆกัน เมื่อถึงจุดนี้ เสียงของยางติดรถ Bridgestone ECOPIA EP150 จะเริ่มแผดร้องดังขึ้น เหมือนเสียงทารกแรกเกิด ร้องหิวนมตอน ตี 3 คือไม่ดังมาก แต่ดังต่อเนื่อง ชวนให้รำคาญ

ส่วนโค้งขวา ซ้ายยาว ต่อเนื่องด้วยโค้งขวา มาเป็นรูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระบบูรพาวิถี Yaris Hatchback พุ่งเข้าโค้งไปได้สบายๆ ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 100 , 110 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่น่าแปลกว่า ระบบ VSC กลับยังไม่ทำงานในโค้งหลังสุด ผิดจาก ATIV ที่ระบบทำงานให้ในเสี้ยววินาที

คราวนี้ วิศวกรของ Toyota เซ็ตช่วงล่างในภาพรวมดีขึ้นกว่า Yaris Hatchback รุ่นเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในเวลานี้ ช่วงล่างของ Yaris Hatchback ถือว่าดีเยี่ยมในอันดับต้นๆของบรรดา B-Segment ECO Car Hatchback ทั้งหมด คืออยู่ในกลุ่มเดียวกับ Nissan Note , Mazda 2 , Suzuki Swift และเหนือกว่า Nissan March , Honda Brio และ Mitsubishi Mirage ตามลำดับ โดยภาพรวมแล้ว จะอยู่ตรงกลางระหว่าง Note กับ Mazda 2 และค่อนข้างกระเดียดไปทาง Note เสียด้วยซ้ำ

ระบบห้ามล้อของทุกรุ่น เป็นแบบ ดิสก์เบรกคู่หน้า และดรัมเบรกคู่หลัง เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อก ขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist

นอกจากนี้ Yaris Hatchback ยังถูกติดตั้งตัวช่วยต่างๆ ครบครัน เหมือนกับ Yaris ATIV ทุกประการ ทั้งระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) พร้อมกับระบบป้องกันล้อฟรีและระบบควบคุมการลื่นไถล TRC (Traction Control) ระบบ Brake Override ช่วยลดปัญหาจากอาการพรมปูพื้นไหลไปขัดใต้แป้นคันเร่งหรือเบรก หากคุณเหยียบเบรก ทั้งที่คันเร่งยังทำงานอยู่ สมองกล ECU จะสั่งตัดการจ่ายเชื้อเพลิง เพื่อให้คุณ นำรถยนต์ ประคองเข้าข้าทางได้อย่างปลอดภัย (ถ้าไม่ต้องการใช้งาน กดปุ่ม VSC On-Off 1 ครั้ง VSC จะปิด แต่ถ้ากดปุ่มเดิมแช่ยาวอีก 3 วินาที ระบบจะตัดการทำงานของ Traction Control ออกไป พร้อมกับแสดงคำเตือนบนหน้าจอว่า ระบบ VSC กับ TRC หยุดการทำงานแล้ว ถ้าต้องการเปิดใช้งานใหม่ มีทั้งกดปุ่มเดิมซ้ำลงไป หรือดับเครื่องยนต์ แล้วกดปุ่มติดเครื่องขึ้นมาอีกรอบ

รวมทั้งยังเพิ่มระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control) รักษาแรงดันน้ำมันเบรกไว้ในช่วง 3 วินาทีแรกที่ถอนเท้าจากแป้นเบรกบนทางลาดชัน เพื่อให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งให้รถพุ่งขึ้นไปได้ ช่วยลดปัญหารถไหล ขณะอยู่บนสะพาน หรือทางขึ้นอาคารจอดรถ

การตอบสนอง ก็เหมือนๆกับ Vios , Yaris ATIV ทั้งการหน่วงความเร็ว ระยะเหยียบของแป้นเบรก น้ำหนักของแป้นเบรกสไตล์เบาๆแทบไม่แตกต่างไปจาก Sedan ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวเลย ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ในเมือง คุณยังคงสั่งให้เบรกทำงานชะลอรถจนหยุดนิ่งได้ อย่างนุ่มนวล ขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วสูง หากต้องเหยียบเบรกประมาณ 40% ของระยะเหยียบทั้งหมด ผ้าเบรกจะทำงาน จับจานเบรกไว เหมือนกับ Toyota รุ่นอื่นๆ ในอดีตก่อนหน้านี้

ระยะฟรีแป้นเบรกช่วงต้น ไม่เยอะเมื่อเทียบกับ Corolla Altis กระนั้น การเซ็ตแป้นเบรกที่เบาและไวเกินไป จึงทำให้การหน่วงรถลงมาจากช่วงความเร็วสูง ยังไม่ค่อยนุ่มนวลเท่าที่ควร และถ้ากดแป้นเบรกแรงไป อาจทำให้ผู้โดยสารหัวทิ่มได้อยู่บ้าง

ด้านความปลอดภัย สิ่งที่ทำให้ผมมองว่า Yaris Hatchback ใหม่ ดูคุ้มค่ากว่ารุ่นเดิมในมุมมองของผู้บริโภค คือการติดตั้งถุงลมนิรภัยเพิ่มขึ้นจากคู่หน้า 2 ใบ มาเป็น 7 ใบ! ให้ทัดเทียมกับ Yaris ATIV มีทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างเบาะคู่หน้า 2 ใบ ม่านลมนิรภัยฝังในขอบหลังคา 2 ใบ และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่าผู้ขับขี่อีก 1 ใบ ติดตั้งอยู่ใต้คอพวงมาลัย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด มาให้ครบทุกที่นั่ง โดยคู่หน้า จะแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ (Pre-tensioner & Load Limiter) พร้อมตัวปรับระดับสูง – ต่ำได้! (ซึ่งเคยหายไปจาก Vios และ Yaris ในช่วงปี 2013 – 2017 ตอนนี้ มันกลับมาประจำการใน B-Segment ของ Toyota ทุกรุ่นกันอีกครั้งเสียที!) รวมทั้ง พนักศีรษะของเบาะนั่งคู่หน้าแบบ WIL (Whilash Injury Lessensing) ลดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอเมื่อเกิดการชนจากด้านหลัง โดยพนักพิงจะซับแรงกระแทกของแผ่นหลังและศีรษะไว้ได้พอดี โดยไม่จำเป็นต้องออกแบบให้พนักศีรษะดันกบาลแต่ประการใด จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ที่ใต้พนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง และไฟหน้าส่องสว่างค้างต่อเนื่องหลังจากดับเครื่องยนต์ (Follow-me-Home) เพื่อให้เจ้าของรถ เดินไปเปิดไฟหน้าบ้านได้สะดวกและปลอดภัยจากบรรดาสัตว์เลื้อยคลาน (มีเฉพาะรุ่น G เท่านั้น)

ถึงแม้ว่า Yaris Hatchback รุ่น Top 1.2 G จะไม่มีกล้องมองหลัง เหมือน Yaris ATIV 1.2 S แต่ก็มี เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยหลัง ติดตั้งมาให้ที่เปลือกกันชนด้านหลัง ทั้งรุ่น G และ E เพียงแต่ว่า ในการทำงานจริง เซ็นเซอร์ ยังตรวจจับวัตถุไม่ไวพอ ทำให้ระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ จะทำงานต่อเมื่อบั้นท้าย เข้าใกล้วัตถุด้านหลังมากๆแล้ว เท่านั้น ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเอาท้ายรถไปจูบกับของแข็งต่างๆเสียเหลือเกิน ผมนี่ถึงขั้นต้องเปิดประตูคนขับ หันไปกะระยะด้วยสายตาตัวเองแทนเลยละ!

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งลงในโครงสร้างตัวถังแบบกระจายแรงปะทะ GOA ที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทกศีรษะด้านข้าง ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร มากยิ่งขึ้น

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

สิ่งที่คุณผู้อ่านน่าจะอยากทราบนอกเหนือจากตัวเลขอัตราเร่ง ก็คือ Yaris Minorchange จะยังคงทำตัวเลขความประหยัดน้ำมันได้เท่าๆกับรุ่นเดิม หรือไม่ จะดีกว่า เท่ากัน หรือต่างจาก ATIV มากน้อยขนาดไหน

เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ตามมาตรฐานดั้งเดิม นั่นคือ จึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันด้วยวิธีการดั้งเดิม คือการพา ATIV ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับการทดลองเดียวกันนี้ ในรถยนต์นั่งผลิตในปรเทศไทย เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท หรือพิกัด B กับ C-Segment ทุกคัน และรถกระบะทุกรุ่นทุกแบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุณผู้อ่าน มักซีเรียสเรื่องการกินน้ำมัน มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันกันแบบเขย่ารถ จนกว่าน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังแบบนี้

สักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม The Coup Team ของเรา

เมื่อเติมน้ำมัน เต็มความจุถัง 42 ลิตร (ไม่รวมคอถังอีกราวๆ 5-6 ลิตร เท่ากับ Yaris ATIV) เสร็จแล้ว เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter (Yaris ให้มาครบทั้ง Trip A และ Trip B) เพื่อวัดระยะทาง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ บน ถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ
ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

เรายังคงยึดมาตรฐานเดิมที่เราใช้ในการทดลองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเคร่งครัด คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน เหมือนเช่นทุกครั้ง

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกครั้งด้วยวิธีการเขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันได้ เอ่อล้นคอถังขึ้นมา จนเติมไม่ลงอีกต่อไป

ตัวเลขที่ Yaris Hatchback Minorchange ทำได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 91.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.40 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.88 กิโลเมตร/ลิตร

ดูจากตัวเลขในตารางแล้ว ATIV ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประหยัดกว่า รุ่น Hatchback แค่นิดเดียวเท่านั้น ราวๆ 0.2 กิโลเมตร/ลิตร จึงยังอยู่ในกลุ่ม ECO Car ที่ให้ความประหยัด น้อยหน่อย เมื่อเทียบกับชาวบ้านชาวช่องเขา ถ้าอยากได้ความประหยัดน้ำมันเป็นเรื่องหลัก อาจต้องยอมจ่ายแพงกว่า แล้วหันไปถอย Mazda 2 เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร แทน รายนั้น คือเทพเจ้าแห่งความประหยัดในกลุ่ม B-Segment และ ECO Car ในบ้านเราไปแล้ว ด้วยตัวเลขเท่าที่คุณเห็นในตารางนั่นละครับ

แล้วน้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้ไกลกี่กิโลเมตร?

ยืนยันตามเดิมว่า แทบไม่ได้แตกต่างไปจาก Yaris Hatchback คันเดิม ละ Yaris ATIV เท่าใดนักเลย หากคุณเป็นคนตีนเบา ขับแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ใช้รถวันละ 20 – 30 กิโลเมตร คุณอาจจะเติมน้ำมัน ทุกๆ 1 – 2 สัปดาห์ อาจจะอยู่ได้นานราวๆ 450 – 480  กิโลเมตร แต่ถ้าคุณเป็นคนขับรถเร็ว ต้องเรียกเค้นพละกำลังเครื่องยนต์ออกมาให้เป็นที่สงสารในสายตาของรถคันรอบข้างบนทางด่วนเป็นยิ่งนัก บอกเลยว่า เข็มน้ำมันจะลดลงเร็วเหมือนกัน และน้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณแล่นไปได้แค่ราวๆ 380 กิโลเมตร พอๆกับรถเก๋ง 1.5 ลิตร นั่นแหละ ไฟเตือนน้ำมันหมดจึงจะเริ่มติดสว่างขึ้น และคุณยังสามารถขับรถต่อไปได้อีกราวๆ 30 – 50 กิโลเมตร เพื่อหาปั้มน้ำมันที่ใกล้มากสุดได้

********** สรุป **********
อืดกว่าเดิมจนต้องทำใจ แต่ต่างจาก ATIV แค่ แรงขึ้นนิดเดียว
ช่วงล่างหลังแข็งขึ้น และตกแต่งสูงสุดแค่เกรด G Optionไม่เท่า รุ่น S ของ ATIV

หลังจากที่เราต้องทนเห็นหน้า ลุงหนวด และไฟท้ายก้อนเลือดกำเดาไหล กันมาตั้งแต่ปี 2013 บัดนี้ Toyota ก็จัดการปรับโฉม Yaris Hatchback ใหม่ ในแบบ Minorchange ให้ดูสวยงามเข้าท่าขึ้นกว่ารุ่่นเดิม แม้ว่าชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า จะยกมาจาก Yaris ATIV Sedan กันแทบทั้งยวง แต่ก็พอจะยอมรับได้ในความสวยงาม ที่เพิ่มความลงตัวมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม

แหงละสิ ในเมื่อ Yaris ใหม่ ยังคงต้องทำหน้าที่เดิม ควบคู่ไปกับการเป็น คู่ประกบ แท็คทีม กับ Yaris ATIV สร้างยอดขายรถยนต์กลุ่ม B-Segment (ECO Car) ของ Toyota ให้พุ่งแรง แซงพรวดพราดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 ทั้งกลุ่ม Sedan และ Hatchback การนำใบหน้าของ ATIV มา Copy and Paste ให้กับรุ่น 5 ประตู เพื่อสร้าง identity ให้ลูกค้าจดจำร่วมกัน นั่นคือสิ่งจำเป็น

จุดเด่นของ Yaris Hatchback ใหม่ อยู่ที่การอัด Option ด้านความปลอดภัย เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม จนดูคุ้มราคาขึ้นมาก ทั้งที่ ตั้งราคาขายเพิ่มขึ้น 20,000 บาท ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน เมื่อเทียบจากรุ่นเดิม โดยเฉพาะจุดขายสำคัญ คือการเพิ่ม ถุงลมนิรภัย จากเดิมที่ติดตั้งมาให้แค่ คู่หน้า คราวนี้ อัดมาให้มากถึง 7 ใบ (รวมถุงลมด้านข้าง 2 ใบ ม่านลมนิรภัย 2 ใบ และ ถุงลมหัวเข่าฝั่งคนขับ) มีระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD แถมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้งหรือบนทางลื่น VSC + Traction Control ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง โดยคู่หน้า ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แถมมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้อีกด้วย

หากเทียบกับรถรุ่นเดิมแล้ว Yaris ใหม่ มีช่วงล่างที่นุ่มขึ้นนิดเดียว อืดกว่าเดิมชัดเจน แต่ด้วย Option ที่ติดตั้งมาให้ และการแก้ไขรายละเอียดการออกแบบภายในห้องโดยสาร ให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ขึ้นอีกนิดหน่อย ช่วยลบจุดด้อยต่างๆ ในรถรุ่นเดิม ลงไปได้เยอะ จนเริ่มน่าใช้ขึ้นเสียที

แต่ถ้าเทียบกับ ATIV แล้ว ต้องถือว่า ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คุณงามความดีใดๆที่มีให้เห็นจากใน ATIV ก็ถูกจับมายัดลงใส่ในรุ่น Hatchback เกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ช่วงล่างด้านหลัง ที่แข็งขึ้นกว่ารุ่น ATIV รวมทั้ง ระดับการตกแต่ง ซึ่งสูงสุดแค่ระดับ G นั่นหมายความว่า ไม่มีชุดเครื่องเสียงแบบมีจอมอนิเตอร์ และการตกแต่งภายนอก-ภายใน แบบพิเศษในรายละเอียดปลีกย่อย อย่างที่ ATIV รุ่น 1.2 S มี ก็จะไม่อาจพบได้ใน Yaris Hatchback 1.2 G เท่านั้นเอง

สิ่งที่ยังอยากจะเห็นการปรับปรุงในรุ่น Yaris รุ่นต่อไป ก็จะเหมือนๆกับ Yaris ATIV นั่นคือ มีด้วยกัน 6 ประเด็น ดังนี้

1 การตอบสนองของเครื่องยนต์ และคันเร่ง ซึ่งอืดอาดไปหน่อย ประเด็นนี้คงจะแก้ไขอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากข้อกำหนดของรถยนต์ที่จะเข้ารับสิทธิพิเศษด้านภาษีตามโครงการ ECO Car Phase 1 ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเซ็ตเครื่องยนต์ และสมองกล ให้สอดรับกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษ และความประหยัดน้ำมัน ที่เข้มงวดมากๆ จนไม่สามารถเอาใจใครก็ตามที่ต้องการอัตราเร่งแซงในยามคับขันได้เลย

2. เปลือกกันชนหน้า พร้อมช่องรับอากาศด้านหน้า ที่ยกมาจาก Yaris ATIV ผมยังคงขอยกความเห็นเดิมมาทั้งดุ้นเลยว่า ทีม Designer ของ Toyota พยายามออกแบบให้ตัวรถดูโดดเด่นบนท้องถนน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ มันก็เด่นสะดุดตาจริงอยู่ ชุดไฟหน้า และกระจังหน้า ถือว่า ทำมาลงตัวแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยน! แต่เปลือกกันชนหน้าแบบนี้ กลับทำให้ด้านหน้าของรถ ดูบีบแคบ จนต้องออกแบบช่องติดตั้งไฟตัดหมอกหน้าเอาไว้ ให้ เป็นติ่ง อย่างที่เห็น ส่วนตัวผม มองว่า ดูขัดสายตาไปหน่อย นึกถึง Saturn SC Coupe 2 และ 3 ประตู รุ่นปี 1998 ซึ่งทีม Designer ของ General Motors ออกแบบหน้าตารถในลักษณะนี้ได้ลงตัวกว่ามาก

3. การตอบสนองของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ซึ่งยังคงเนือยไปหน่อย ยืนยันความเห็นเดิมครับว่า อยากขอให้ทีมวิศวกร ใช้ Toyota Prius รุ่นปัจจุบัน หรือ Toyota C-HR เป็นต้นแบบในด้านการเซ็ตทั้งความ Linear ในการหมุน จาก ซ้ายสุดไปขวาสุด Lock to Lock รวมทั้งอัตราทดเฟืองพวงมาลัย ที่ไม่ควรเนือยจนเกินไป ควรจะเซ็ตให้อยู่ตรงกลาง รวมทั้ง On Center Feeling ที่แม้ว่าในรุ่นนี้ ถือว่า ดีขึ้นแล้ว แต่ผมเชื่อว่า ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก จะได้ไม่ต้องมานั่งเลี้ยงพวงมาลัยซ้ายๆ ขวาๆ กันอีก

4. พื้นที่ด้านข้างศีรษะ บริเวณผู้โดยสารด้านหลังน้อยไปหน่อย ปัญหานี้ ตรงกันข้ามกับรุ่น ATIV เพราะในขณะที่ตัวถัง 4 ประตู มีพื้นที่เหนือศีรษะน้อยไป และรุ่น 5 ประตู มีพื้นที่ด้านบนเหลือเยอะ แต่ระยะห่างระหว่างศีรษะผู้โดยสาร จนถึงขอบผนังหลังคา อันเป็นตำแหน่งอยู่อาศัยของม่านลมนิรภัย มันใกล้ชิดกันเกินไปหน่อย โอกาสที่คนนั่งด้านหลังจะเกิดการบาดเจ็บบริเวณสมองด้านข้าง จาการชนด้านข้าง น่าจะมีสูง

5. เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง ค่อนข้างโง่มาก! สารภาพเลยว่า ผมเกือบจะถอย Yaris ไปชนรถในบ้านตัวเองหลายครั้งมาก เพราะหวังพึ่งพาการทำงานของเซ็นเซอร์ 2 จุดบนเปลือกกันชนหลังมากไป กว่าเซ็นเซอร์จะร้องเตือน รถก็ถอยจนเข้าใกล้วัตถุมากในระดับที่เสี่ยงต่อความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นได้เข้าไปแล้ว อยากให้เปลี่ยน Supplier หาเซ็นเซอร์ ที่ร้องเตือนไวกว่านี้ และขอเตือนลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นี้ทุกท่านว่า อย่าไว้ใจเซ็นเซอร์จากโรงงานชุดนี้เสมอไป ควรใช้ทักษะของคุณเองด้วย หรือถ้าไม่มั่นใจ ก็ให้เพื่อนที่นั่งมาด้วยกัน ช่วยดูบั้ท้ายให้ตอนถอยเข้าจอด จะดีกว่า

6. ชุดเครื่องเสียง รุ่น Top ไม่มีจอมอนิเตอร์ มาให้ ข้อนี้เข้าใจดีแหละว่า จำเป็นต้องยกเครื่องเสียงชุดดังกล่าว ให้เป็นของเล่น Exclusive เฉพาะของรุ่น ATIV 1.2 S แต่ถ้าเป็นไปได้ การเพิ่มเครื่องเสียงชุดดังกล่าว แล้วตั้งราคาเพิ่มขึ้นอีกสัก 10,000 บาท ในรุ่นพิเศษ Limited Edition ก็เป็นสิ่งที่น่าจะลองทำดูบ้าง เชิ่อว่าคงจะพอเรียกลูกค้าที่อยากได้ Hatchback แต่ติดที่ว่าไม่มีจอมอนิเตอร์มาให้ ลงไปได้พอสมควร

*** คู่แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกัน ? ***

รถยนต์กลุ่ม B-Segment ECO Car Hatchback ที่ขายกันอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ หากไม่นับรวม Yaris แล้ว ก็มีมากถึง 6 รุ่น นั่นคือ Honda Brio , Mazda 2 Hatchback 1.3 ลิตร , Mitsubishi Mirage ,Nissan March , Nissan NOTE และ Suzuki Swift

Honda BRIO สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ติดล้อ ผู้น้าสงสาร ดูเหมือนว่า Honda จะไม่ค่อยใส่ใจใยดีกับรถคันนี้เสียแล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ทังที่พวงมาลัย ขุมพลัง กับ Packaging ของตัวรถ ก็พอใช้ได้ แต่มาตกม้าตายที่งานออกแบบทั้งคัน ดู Look Cheap ไป อีกทั้งตัวรถก็สั้นจนลูกค้าก็พากันหวั่นใจ ว่าถ้าโดน Fortuner สอยตูด คนนั่งด้านหลัง อาจไม่รอดชีวิต ก็เป็นไปได้ ดูเหมือน Honda จะโดนจำกัดงบในการพัฒนา รวมทั้งยังศึกษาลูกค้าชาวไทยมาไม่ดีพอ เพราะมัวแต่ไปเอาใจลูกค้าชาวอินเดียจนขายดีที่นั่น แต่บรรลัยพัง ณ บ้านเรา

Mazda 2 Hatchback 1.3 ลิตร จุดเด่นมีรอบคัน ตั้งแต่ความประหยัดน้ำมันที่บ้าระห่ำมากสุดในกลุ่ม ถึง 24.65 กิโลเมตร/ลิตร จากการทดสอบของเรา แถมยังเซ็ตพวงมาลัย กับช่วงล่างมาได้ดีที่สุด เอาใจคนชอบขับรถชัดเจน และมีเส้นสายโฉบเฉี่ยวโดนใจวัยรุ่นมากสุด แต่ด้วยเหตุที่มันถูกเซ็ตมาเพื่อรองรับเครื่องยนต์ Diesel 1.5 ลิตร ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า พอวางเครื่องยนต์เบนซินเข้าไป จึงกลายเป็นว่า ช่วงล่างให้สัมผัสเบากว่ารุ่น Diesel เสียอย่างนั้น อัตราเร่ง ก็ไม่ได้แรงอะไรมาก อีกทั้ง ห้องโดยสารยังมีขนาดเล็กและคับแคบกว่าเพื่อน (แต่ยังไม่เท่า Brio) ด้านศูนย์บริการก็ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงให้ดีขึ้นในภาพรวม

Mitsubishi MIRAGE ยังคงขายได้เรื่อยๆ จากผลของการปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุด ที่ติดตั้งระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยมาให้ โดยเฉพาะ ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ Pre-Collision Brake System ซึ่งยังเป็นจุดขายสำคัญ อีกทั้ยังมีอัตราเร่ง ที่แรงสุดในกลุ่ม ECO Car Hatchback แต่น่าเสียดายว่า ช่วงล่าง พวงมาลัย และโครงสร้างตัวถัง ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับชาวบ้านเขา แถมเกียร์ CVT ก็พอมีอาการเย่อ ให้เห็นอยู่ ศูนย์บริการดีๆ ยังพอมี แต่ส่วนใหญ่ กระจายตัวอยู่ตามต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ จะหาดีค่อนข้างยากแล้ว

Nissan March พี่ใหญ่รุ่นเริ่มประเดิมโครงการ ECO Car ขายมาตั้งแต่ปี 2010 จุดเด่นอยู่ที่ความโปร่งของห้องโดยสาร และการทำราคา จนคุ้มค่าสำหรับใครก็ตาม ที่คิดจะยกระดับคุณภาพชีวิต จากมอเตอร์ไซค์ มาเป็นรถเก๋งคันแรกในครอบครัว พ่อแม่ลูก กระนั้น รุ่นเกียร์ธรรมดา ยังคงทำยอดขายเยอะสุดในตอนนี้ ขณะที่รุ่น CVT แทบจะขายไม่ค่อยได้เท่าไหร่ พวงมาลัยก็เซ็ตมาไม่ดี ช่วงล่างก็เบาๆลอยๆ ดีกว่า Mirage นิดเดียว กระนั้น อัตราเร่งก็ยังดีกว่า Note น้องใหม่รุ่นล่าสุด

Nissan NOTE ผู้มาใหม่ ที่ดูจะสดกว่า ห้องโดยสารยาวสุดในกลุ่ม นั่งสบายพอใช้ได้ แถมพวงมาลัยกับช่วงล่าง ก็เซ็ตมาได้เฟิร์มจนดีงามเป็นอันดับต้นๆ ในตลาด แต่การวางเครื่องยนต์ 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.2 ลิตร ลูกเดิมจาก March / Almera เพื่อหวังเอากำไรต่อคัน และตั้งราคาขายให้พอมีกำไร กลับกลายเป็นหนามยอกอกทิ่มแทง ทำให้ยอดขายไม่ดีเอาเสียเลย ทางเดียวหลังจากนี้ คือคงต้องรอ Note E-Power Hybrid ที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ในปี 2018 ด้านศูนย์บริการ แม้จะมีเรื่องให้ด่าเยอะ แต่ยังมีข้อดีว่า ทำเรื่องเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย ไม่ลีลาวุ่นวายนัก

Suzuki SWIFT รุ่นปัจจุบัน ใกล้จะหมดอายุตลาดเต็มทีแล้ว ควรจะรอดูรุ่นใหม่ ที่มีกำหนดเปิดตัวในช่วงต้นปี 2018 น่าจะดีกว่า เพราะตัวรถดูสดใสเอาใจวัยรุ่นมากขึ้น แต่ Packaging ของรถ ก็ยังคงเหมือนเดิม อาจเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ 1.2 ลิตร DualJet แต่อย่าคาดหวังอัตราเร่ง เพราะดูแล้ว ไม่น่าจะแรงขึ้นกว่าเดิมนัก ถ้าใครยังชอบรุ่นปัจจุบัน ก็ยังซื้อหาได้อยู่ แต่ไม่แน่ใจว่า การแก้ปัญหาพวงแร็คพวงมาลัย เกียร์ (สหกรณ์จาก Jatco) และเรื่องจิปาถะอื่นๆ จะดีขึ้นไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว? 

***** ซื้อรุ่นย่อยไหน คุ้มกว่ากัน? *****

อย่างไรก็ตาม ถ้าตกลงปลงใจแล้วว่าจะซื้อ Yaris Hatchback Minorchange กันจริงๆ Toyota เขาก็ทำออกมาให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย โดยมีการปรับราคาขาย ขึ้นมาจากตอนเปิดตัว เรียบร้อยแล้ว เมื่อ 31 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา พร้อมกับ Yaris ATIV Sedan นั่นละครับ

  • 1.2 J Eco CVT  479,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 489,000 บาท
  • 1.2 J CVT  529,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 539,000 บาท
  • 1.2 E CVT  559,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 569,000 บาท
  • 1.2 G CVT  609,000 บาท เพิ่มขึ้น 10,000 บาท เป็น 619,000 บาท

น้อง Moo Cnoe ทีมงานของเราได้สรุป เจาะสเป็ก Yaris Hatchback ใหม่ ในแต่ละรุ่นย่อย ว่าแตกต่างกันอย่างไร มีอุปกรณ์ไหนเพิ่มเข้ามาบ้างไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ ที่นี่ (CLICK HERE)

ในความเห็นของผม หากไม่ใช่คนที่เน้น Option และมองหาแค่รถยนต์คันหนึ่งไว้ขับใช้งานธรรมดา รุ่น 1.2 J คือรุ่นที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยมาให้ครบพอๆกับรุ่น Top 1.2 S เพียงแต่การตกแต่งอาจจะดูด้อยไปบ้าง ไม่มีล้ออัลลอยมาให้ หากไม่คิดมาก นี่คือรุ่นที่น่าอุดหนุนประมาณหนึ่ง

แต่รุ่นที่ผมดูแล้วคุ้มค่ามากที่สุด คือรุ่น 1.2 E แม้ว่าคุณจะไม่ได้กุญแจแบบ Smart Entry แต่คุณยังได้กุญแจ Immobilizer เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยจอด มาตรวัด Optitron พร้อมหน้าจอ MID เครื่องเสียง เชื่อม Bluetooth ได้ พร้อมลำโพง 4 ชิ้น ซึ่งนั่นก็เพียงพอในการใช้งานทั่วๆไปแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปีนขึ้นไปเล่นรุ่น 1.2 G ให้เปลืองขึ้นไปเลย

ก่อนจากกัน อยากจะทิ้งท้ายถึงปัญหาสำคัญที่ Toyota ในบ้านเรา กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ สักหน่อย

อย่างที่ได้บอกไปในย่อหน้าแรกๆ แล้วว่า ตลาดรถยนต์ B-Segment ทั้งพิกัด เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รวมทั้ง ECO Car 1.2-1.3 ลิตร ในบ้านเรา นอกจากจะมีลูกค้ากลุ่มคนวัยเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญแล้ว วัยรุ่นที่กำลังศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย คือลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ ผู้ผลิตรถยนต์ พยายามเอาใจพวกเขามาโดยตลอด

วันนี้ ต้องยอมรับกันเลยว่า คู่แข่ง ทั้ง Honda และ Mazda เริ่มกวาดต้อนลูกค้ากลุ่มนี้ไปได้มากขึ้นทุกที ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองไปทำสำรวจวิจัยตลาดตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศได้เลย คุณจะพบว่า ปริมาณของ Mazda 2 และ Mazda 3 ป้ายแดง เริ่มเพิ่มขึ้นหนาตา ในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกันกับ Honda City , Jazz และ Civic ใหม่ ในขณะเดียวกัน ลูกค้าที่อุดหนุน Toyota ทั้ง Vios , Yaris และ Corolla Altis ส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่ว่า คนขับเป็นนักศึกษา ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ยอมตามใจลูก (ซึ่งอยากได้ Mazda มากๆ) ก็มักเป็นครูอาจารย์ ข้าราชการ หรือพนักงานในมหาวิทยาลัย เป็นหลัก นี่คือแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงต่อความอยู่รอดในระยะยาว ที่เริ่มส่งสัญญาณมาได้พักหนึ่งแล้ว

การปรับโฉม Yaris Hatchback ในครั้งนี้ ต่อให้ Toyota พยายามทำหนังโฆษณา ออกมาเอาใจวัยรุ่นมากแค่ไหน แต่ความจริงแล้ว เรากลับพบว่า มันยังไม่ได้ล้วงเข้าไปถึงจิตใจของคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้ มากเพียงพอที่จะทำให้พวกเขา เปลี่ยนใจกลับมาจากแบรนด์ทางเลือกได้เลย

ถ้า Toyota ต้องการจะรักษาฐานที่มั่นในตลาดรถยนต์ของตนต่อไปในอนาคต บางที เราอาจต้องกลับมาทบทวนทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำกันอยู่ “ใหม่ทั้งหมด” เช่นเดียวกับที่ Toyota ในญี่ปุ่น กำลังทำมาโดยตลอด และถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจใช้ได้เลยละ

มันถึงเวลาแล้ว ที่ คนใน Toyota Motor Thailand จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับบริษัทของตนเอง เพื่อไม่ให้สูญเสียแชมป์ยอดขาย ในระยะยาวอีกต่อไป นอกเหนือจากการ Maintain กลุ่มลูกค้าปัจจุบันทั้งหมด Toyota ควรจะพยายามเข้าถึงหัวใจลูกค้าในอนาคตอย่างจริงจัง ต้องมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างเป็นรูปธรรม เพราะงานนี้ มันไม่ใช่แค่เพียงการเข้ามาเรียนรู้ถึงความต้องการของวัยรุ่นหนุ่มสาวยุคใหม่ให้มากขึ้น แต่ยังต้องตามพวกเขาให้ทัน

ความคิดที่ว่า “ไม่ต้องทำอะไร เราก็ขายดีอยู่แล้ว” นั่นคือความคิดที่ “โคตรอันตรายอย่างมากต่อความอยู่รอดของ Toyota ในเมืองไทย!” มันได้เวลาที่ Toyota จะต้อง คิดให้ได้แล้วว่า “ทำอย่างไร ลูกค้าวัยรุ่นยุคใหม่ ถึงจะรัก Toyota อย่างยั่งยืน?”

ถ้าไม่รู้ว่า ควรจะเริ่มต้นจากจุดไหนดี…ง่ายมากครับ เอาแค่ ให้ระดับ Manager หรือ หัวหน้างาน เริ่มฟังเสียงของลูกน้องให้มากขึ้น โดยเฉพาะ Staff ใหม่ๆ ที่เพิ่งรับเข้ามาทำงานกันได้ภายใน 1 ปีแรก พวกเขามองเห็นปัญหาในองค์กร และในแผนกของตนกันบ้างแล้วละ ว่าเกิดอะไรขึ้น และควรแก้ไขอย่างไร

รีบลงมือทำ…ก่อนจะสายไปครับ!

————————-///————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม

ทดลองขับ Toyota Yaris ATIV
รวมบทความทดลองขับรถยนต์ กลุ่ม B-Segment ECO Car ทุกรุ่น

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค เป็นของ Toyota Motor Corporation)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
24 พฤศจิกายน 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 24th,2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE