ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสการออกกำลังกายของผู้คนทั่วโลก เริ่มเด่นชัดขึ้นมาตลอดช่วง 5 ปีมานี้ หลากหลายกิจกรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่พากัน Post และ Share ลงในสื่อสังคม Online Social Media ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram 3 ใน 10 ภาพ มักเป็นการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็มีทั้งการขี่จักรยาน หรือ เต้นแอโรบิค ในรูปแบบต่างๆ ล่าสุด ก็เห็นจะเป็นการวิ่ง ตั้งแต่เริ่มวิ่งเหยาะๆ ในหมู่บ้าน ในสวนสาธารณะ บางคน เริ่มวิ่งไกลขึ้นเรื่อยๆ พยายามจนถึงขั้น พาตัวเองไปลงแข่ง Full Marathon ได้เต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่ายินดี สำหรับสุขภาพกาย และสุขภาพใจของพวกเขาเหล่านั้น

ย้อนกลับมาที่ตัวผมเอง ช่วง 2-3 ปี ให้หลังมานี้ ยิ่งอายุมากขึ้น สุขภาพก็เริ่มเสื่อมทรุดโทรมลงไปตามวัยและเวลา เพื่อนฝูงพี่น้องรอบข้าง ต่างพากันพูด กระตุ้น เตือน ให้ผมหัดไปออกกำลังกายเสียบ้าง โดยเฉพาะคุณแม่ นี่ ยิ่งหนักเลย พูดกรอกหูทุกวัน สามเวลาหลังอาหาร แต่ช่วงนั้น ไม่ค่อยจะว่าง งานยุ่ง จนบางทีก็ล้มหมอนนอนเสื่อ เข้าโรงพยาบาล ไปเลยก็มีมาแล้ว

พอช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมตัดสินใจว่า จะรับรถยนต์ทดสอบให้น้อยลง เท่าที่จำเป็น เท่าที่อยากขับ และเริ่มดูแลสุขภาพร่างกายมากขึ้น พี่ตุ๊กตา อดีต PR ของทั้ง Mazda และ Chevrolet ผู้ซึ่งข้ามสายงาน ไปดูแลงานประชาสัมพันธ์ของ MQDC บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำโครงการ Forestier ย่านบางนา-ตราด ทนไม่ไหว ถึงกับลากผมมาออกกำลังกายด้วยกันได้อีกรอบ แถมยังดึง เทรนเนอร์ มาช่วยฝึกสอนให้ผม ทุกสัปดาห์ เรียกเสียงฮือฮา จากผู้คนรอบข้างผมได้อย่างดี บางท่านถึงกับขอบคุณพี่ตุ๊กตา ที่สามารถ ฉุด กระชาก ลากดึงผม ลงมาจากเตียงนอนตอนเช้าวันอาทิตย์ มาออกกำลังกายได้สำเร็จเสียที

ด้วยสรีระร่างที่อ้วนลงพุงมานาน การออกกำลังกายจึงต้องเริ่มต้นอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป และไม่ขัดต่อตารางเวลางาน เวลาผ่านไป ยิ่งเดินได้เร็วเหมือนเดิม เดินได้ทน และนานพอๆกับเดิม แถมยังทำให้ร่างกายเริ่มทนทานขึ้น ยิ่งพอหาเวลาว่ายน้ำเสริมเข้าไป ก็ยิ่งทำให้ตัวเองกระฉับกระเฉงขึ้น

อย่าว่าแต่คนเลย…รถยนต์ ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ…

พักหลังมานี้ หลายคนคงเริ่มได้ยินการโฆษณารถยนต์ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป คำศัพท์ใหม่ๆ อย่าง Platform (โครงสร้างพื้นตัวถัง) เริ่มกระจายการรับรู้ไปสู่ผู้คนในสังคมมากขึ้น หลายค่ายพยายามชูจุดเด่นว่า ได้เปลี่ยน Platform ใหม่ น้ำหนักเบาขึ้น รองรับขุมพลังได้หลากหลายขึ้น ทั้งเครื่องยนต์สันดาปธรรมดา ไปจนถึง รถยนต์ Hybrid และไฟฟ้าล้วน ทำให้ตัวรถ มีการขับขี่ดีขึ้น คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น และลดมลพิษให้กับโลกไปด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม

แนวโน้มนี้ เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว ตั้งแต่ราวๆ หลังปี 2015 เป็นต้นมา นั่นเพราะ ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย มองว่าการพัฒนา Platform คือต้นทุนที่แพงเป็นอันดับต้นๆ ในการสร้างรถยนต์ หากสามารถออกแบบ Platform ให้สามารถใช้ร่วมกันกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ หรือแม้กระทั่งแชร์ไปยังผู้ผลิตแบรนด์อื่นในเครือของตน หรือผู้ผลิตรายอื่นที่เคยเป็นคู่แข่งกันในบางกลุ่มตลาด ออกไปตามแต่ละข้อตกลงความร่วมมือ จะช่วยทำให้ต้นทุนการสร้างรถยนต์ ถูกลงไปได้มากโข ทำให้ยังสามารถรักษาราคาเดิมได้ และยังเปิดโอกาสให้เกิดรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้อีกด้วย โดยเฉพาะโครงสร้างแบบ Modular Platform ที่มักถูกกำหนดให้มีระยะห่างระหว่าง พวงมาลัย จนถึงล้อคู่หน้า ล็อกตายตัว นอกนั้น ในส่วนอื่นๆของรถจะกว้าง ยาวหรือสั้น มากน้อยแค่ไหนก็ย่อมได้ทั้งสิ้น

นอกเหนือจาก Platform จากผู้ผลิตฝั่งยุโรป MQB ของ Volkswagen , CLAR ของ BMW ,SPA กับ CMA ของ Volvo / Geely หรือ CMP และ EMP2 ของกลุ่ม PSA (Peugeot ,Citroen, DS, Opel, Vauxhall) ฯลฯ แล้ว ทางฝั่งญี่ปุ่นเอง ทั้ง Mazda Toyota และ Suzuki ก็เริ่มนำ Platform รูปแบบใหม่มาใช้ ในชื่อเรียกที่ต่างกันไป (Mazda = Skyactiv , Toyota = TNGA , Suzuki = Heartech) และมีเทคโนโลยีที่ซ่อนเร้นอยู่แตกต่างกันไป จนทำให้รถยนต์ของพวกเขา ขับขี่ดีขึ้นยิ่งกว่าที่เคย

ผู้ผลิตรถยนต์ชาวญีุ่่ปุ่น สายอินดี้ อย่าง Subaru ผู้ที่มีแนวทางในการทำรถยนต์ ซึ่งเน้นความเข้มงวดด้านงานวิศวกรรม และความปลอดภัยจากโครงสร้างตัวถังและระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Asymetrical AWD ก็ยังต้องเริ่มพัฒนา โครงสร้างพื้นตัวถังแบบใหม่ของตนเอง ในชื่อ SGP (Subaru Global Platform) ซึ่งพวกเราคงจะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่บ้าง จาก Subaru XV รุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวในตลาดเมืองไทย มาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว

แน่นอนว่า พวกเขากำลังนำแนวทาง การลดน้ำหนัก แต่เสริมความแข็งแกร่ง จาก SGP Platform ขยายมายัง รถยนต์รุ่นต่างๆในตระกูล รวมไปถึง Mid-Size Crossover SUV ขนาดกลางรุ่นยอดนิยมในเมืองนอก อย่าง Forester ใหม่ที่เห็นอยู่นี้ด้วย

SUV ที่ผมเคยให้สมญานามไปในรุ่นที่แล้วว่า “ป้าขายข้าวแกง” ……

ทว่า นั่นยังไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ใจ เท่ากับสิ่งที่ผมกำลังจะบอกคุณต่อไปนี้….

Forester ใหม่ คันนี้ กลายเป็น “รถยนต์ประกอบในประเทศไทย เต็มตัว” เสียที!!

ความจริงแล้ว “Subaru ประกอบในเมืองไทย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีต หลังจาก บริษัท แสงหิรัญ จำกัด ยุติบทบาทการนำเข้า Subaru R2 จากญี่ปุ่น มาขายในเมืองไทย ทำให้ผู้จำหน่ายรายถัดมา อย่างบริษัท ยูนิเวอร์แซล มอเตอร์ จำกัด ในเครือของ กลุ่มสยามกลการ (Siam Motors) ก็เลยนำรถยนต์ Subaru เข้ามาประกอบขายในประเทศไทย ช่วงสั้นๆอยู่พักหนึ่ง เพื่อสอดคล้องกับ นโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ของภาครัฐบาลในขณะนั้น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ในช่วงทศวรรษ 1980 อย่างไรก็ตาม ด้วยยอดขายแค่ 20 – 50 คัน/เดือน จึงไม่ค่อยคุ้มต่อการลงทุนเท่าไหร่

ดังนั้น หลังปี 1987 Leone รุ่นตัวถังเหลี่ยม (สมัยนั้น เรียกว่า Subaru GR) กลายเป็นรถยนต์ Subaru รุ่นสุดท้ายที่เคยถูกประกอบขายในเมืองไทย (เพราะตลอดทั้งปีนั้น ขายได้แค่ 44 คัน เท่านั้น) ก่อนที่สิทธิ์ในการทำตลาด จะถูกเปลี่ยนมือไปยังกลุ่ม KPN (เกษม-พรทิพย์ ณรงค์เดช) จับมือร่วมทุนกับ FHI (Fuji Heavy Industries บริษัทแม่ของ Subaru ในตอนนั้น) ก่อตั้งบริษัท Siam Subaru ขึ้นมา ในช่วงปี 1995 เพื่อนำเข้ารถยนต์จากญีุ่่ปุ่น มาทำตลาด ในช่วงเวลานั้น เคยมีการพูดถึงแผนการนำ Subaru กลับเข้ามาประกอบและจำหน่าย ในบ้านเราอีกครั้ง อยู่พักใหญ่ แต่ติดที่ว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและค่าเงินบาทครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อ 1 กรกฎาคม 1997 โครงการดังกล่าว จึงถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

หลังจากกิจการรถยนต์ Subaru เปลี่ยนมาอยู่ในมือของ Tan Chong Group ซึ่งพยายามประคับประคองมาตลอดปี 2000 – 2010 อย่างยากลำบาก พอถึงปี 2012 สถานการณ์ของ Subaru ในประเทศไทยนั้น ง่อนแง่น จวนเจียนจะจากไปเหลือเกิน อย่าว่าแต่จะพยายามสร้างยอดขายให้ได้เกิน 300 คัน/ปี เลย แค่พยายามประคับประคองธุรกิจให้รอดไปได้นี่ก็แทบยากยิ่งแล้ว ในตอนนั้น แทบไม่มีใครกล้าคิดถึงการนำ Subaru มาประกอบขายในประเทศไทยอีกครั้งเลย

แต่เมื่อ Subaru เปิดตัว “รถผู้ช่วยให้รอด” รุ่น XV ในบ้านเรา สถานการณ์พลิกกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ ยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้ ฝั่งญีุ่่ปุ่น มั่นใจมากพอที่จะหยิบโปรเจกต์เก่า ออกจากลิ้นชัก ปัดฝุ่น มาศึกษา และกล้าร่วมลงทุนกับกลุ่ม Tan Chong เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ Subaru แห่งที่ 3 นอกญี่ปุ่น กันเสียที

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วละว่า Subaru ประกอบในประเทศไทย รุ่นแรก ในรอบ 32 ปี รุ่นนี้ จะตอบโจทย์ความต้องการของคุณมากน้อยขนาดไหน มันดีขึ้นเพียงใด เมื่อเทียบกับ Forester รุ่นเดิม และคุ้มค่าพอที่จะเปลี่ยนใจจากบรดาคู่แข่งเจ้าตลาด ทั้ง Honda CR-V , Mazda CX-5 กับ Nissan X-Trail ได้หรือเปล่า

ก่อนอื่น ตามธรรมเนียม ผมก็คงต้องพาคุณย้อนอดีตกลับไปถึง ที่มาที่ไปของการถือกำเนิด Forester กันสักหน่อย ไม่ต้องคอยให้เสียเวลา ขยับเมาส์ และลากนิ้ว เลื่อนหน้าจอลงไปข้างล่างกันได้เลย!

ในช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 ตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่น เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเพราะนอกจาก ชาวอาทิตย์อุทัย จะให้ความนิยม รถยนต์นั่งขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ยุค Hi-So(Ciety) Car Boom แล้ว ตลาดรถยนต์เพื่อสันทนาการ หรือ RV (Recreation Vehicles) ก็เริ่มได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก ที่นิยมขับรถพาครอบครัว และเพื่อนฝูง ไปท่องเที่ยว พักผ่อน ด้วยการ ตั้งเต๊นท์ ตกปลา ขี่จักรยาน เล่นสกี ดูนก หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ในต่างจังหวัด ถึงขั้น มีบรรดา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปรับพื้นที่ต่างๆ ให้กลายเป็น ลานตั้งเต๊นท์ พร้อมพื้นที่จอดรถ และปลั๊กไฟ ให้ลูกค้า นำรถยนต์ ไปจอด แล้วตั้งแคมป์ กางเต๊นท์นอน กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ในเวลานั้น รถยนต์ RV (หรือที่ต่อมา ถูกเรียกว่า SUV – Sport Utility Vehicles) มักถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานวิศวกรรมแบบ Body On Frame (โครงสร้างตัวถัง วางซ้อนทับลงบนเฟรมแชสซี เหมือนรถกระบะ) เพื่อให้ลุยไปตามพื้นที่ป่าเขาได้อย่างสมบุกสมบัน รถยนต์ประเภทนี้ถูกเรียกว่า On & Off-Road SUV ตัวอย่างเช่น Toyota Land Cruiser , Nissan Safari / Patrol , Mitsubishi Pajero/Montero/Shogun , Isuzu Bighorn / Trooper , Jeep Cherokee , Land Rover ทุกรุ่นก่อนปี 2000 ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่เคยซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวมาใช้ เริ่มมีบางกลุ่ม ที่ไม่ได้นำรถยนต์ไปลุยโหดๆ มากมายนัก เริ่มทนกับค่าน้ำมัน และค่าซ่อมบำรุงไม่ไหว พวกเขาเริ่มอยากได้รถยนต์ SUV ที่ให้ความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมือง แต่ยังต้องมีประสิทธิภาพในการ ขับขี่ไปบนเส้นทางสมบุกสมบันหลงเหลืออยู่บ้าง มันต้องเท่พอที่จะขับขี่ใช้งานในเมือง ผู้ผลิตหลายราย จึงเริ่มสร้าง SUV บนพื้นตัวถังของรถเก๋ง เรียกว่า Urban SUV

แนวโน้มนี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเท่านั้น ทว่า ในสหรัฐอเมริกาเอง ความนิยมในรถยนต์อเนกประสงค์ ขนาดกำลังเหมาะสมเหล่านี้ ก็เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ GM เปิดตัว Chevrolet Blazer / GMC JIMMY (สร้างจากพ้นฐานรถกระบะ Compact Pickup อย่าง Chevrolet S10 / GMC Sonoma) หรือ Ford Bronco (สร้างจากพื้นฐานรถกระบะ Compact Truck รุ่น Ranger) และเริ่มมียอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่า Toyota จะไหวตัวเร็ว ตั้งแต่ปี 1987 แล้วพัฒนา RAV 4 ออกขายครั้งแรก เมื่อปี 1993 แต่ขนาดตัวถัง ก็เล็กไปสำหรับ พ่อแม่ลูก 4 คน จน Honda เห็นช่องว่าง เลย เลือกที่จะพัฒนา CR-V รุ่นแรก ให้ตอบโจทย์ทั้งคนโสด และครอบครัว ออกขายในปี 1996 ทั้งคู่ต่างพากันทำคลอดลูกหลานของตน ออกมาวิ่งเต็มถนนทั่วโลกนับล้านๆคัน หลายค่าย ต่างพากันอิจฉา เพราะพวกเขาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคช้าเกินไป

Subaru เอง ก็มีความคิดในแนวทางเดียวกันนี้ จึงซุ่มพัฒนารถยนต์ Compact SUV ของตน บนพื้นตัวถัง และโครงสร้างวิศวกรรม ร่วมกับ Subaru Impreza ออกมาอวดโฉมครั้งแรก ณ งาน Frankfurt Motor Show เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1995 ในฐานะ รถยนต์ต้นแบบที่ชื่อ Subaru STREEGA

ตัวรถมีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,740 มิลลิเมตร สูง 1,570 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,580 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า 1,320 กิโลกรัม ถูกสร้างขึ้นให้เป็นรถยนต์ 5 ประตู ตรวจการอเนกประสงค์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ (Multi Purpose Sport 4WD) ที่มีเบาะนั่งสูง แต่จุดศูนย์ถ่วงต่ำ วางเครื่องยนต์ 4 สูบนอน Boxer DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร พ่วงระบบอัดอากาศ Turbo และ Intercooler 250 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 31.5 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time 4WD ทำงานร่วมกับ ระบบกันสะเทือน อิสระ ทั้ง 4 ล้อ ที่มาพร้อม บรรดาตัวช่วย ทั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) , ระบบป้องันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TCS Traction Control

หลังจากอวดโฉมที่ Frankfurt Motor Show แล้ว Streega ถูกส่งไปจัดแสดงต่อ ในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 31 เมื่อ 27 ตุลาคม 1995 รวมทั้ง Detroit Auto Show ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 3 มกราคม 1995 เสียงตอบรับจากผู้บริโภคที่ดี ทำให้ผู้บริหารของ FHI (Fuji Heavy Industries ในตอนนั้น) ตัดสินใจ เปิดไฟเขียว เดินหน้าลุยโครงการพัฒนาเวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Streega เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปิดตัว ในอีก 2 ปีต่อมา โดยใช้ชื่อว่า Subaru Forester

Forester รุ่นแรก เปิดตัวที่ญี่ปุ่นก่อน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1997 ถึงแม้จะเป็นรถยนต์ที่มีตำแหน่งเบาะนั่งสูง แต่ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ สูบนอน Boxer ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยให้การเข้าโค้งมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากงานทดสอบการชน NHTSA ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จนไม่จำเป็นต้องติดสติกเกอร์เตือนความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ เหมือนที่รถยนต์ SUV รุ่นอื่นๆ โดนกัน ดังนั้น Forester รุ่นแรก จึงประสบความสำเร็จด้านยอดขายเป็นอย่างดี โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นชาวอเมริกัน ในจำนวนนี้ กว่า 60% มักเป็นสุภาพสตรีที่มีครอบครัวแล้ว โดยสามี หรือในครัวเรือนของพวกเธอ มักจะมี SUV รุ่นใหญ่กว่านี้อีก 1 คันอยู่แล้วเป็นอย่างน้อย ขณะที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ กลับเป็นผู้ชาย Forester รุ่นแรก ยุติบทบาทไปในปี 2002 ด้วยยอดขายรวมทั้งหมดเฉพาะตลาดญี่ปุ่นตลอดอายุตลาดมากถึง139,780 คัน

Forester รุ่นที่ 2 เปิดตัวสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในงานชิคาโก ออโตโชว์ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2002 และเริ่มออกสู่ตลาดญี่ปุ่นในช่วงวาเลนไทน์ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น (12 กุมภาพันธ์ 2002) สำหรับตลาดญี่ปุ่นแล้ว รุ่นที่ 2 นี้ถือเป็นรุ่นที่ Subaru เริ่มแยกเวอร์ชันย่อยออกมามากมาย เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า ที่มีรสนิยมแตกต่างกัน อาทิ รุ่นพิเศษ L.L. BEAN Edition เอาใจลูกค้ากลุ่มชอบท่องเที่ยวผจญภัย หรือ Cross Sport จนถึงรุ่นแรงพิเศษ WRX STi สำหรับลูกค้าที่อยากได้ความแรงสะใจ ทัดเทียม Impreza WRX Sti แต่อยากได้ตัวถัง Crossover SUV อเนกประสงค์ ของ Forester อย่างไรก็ตาม กว่าที่ Forester รุ่นนี้ จะเดินทางมาถึงเมืองไทย เวลาก็ผ่านไปหลายปีเลยทีเดียว Motor Image Subaru ผู้จำหน่าย Subaru ในเมืองไทย เวลานั้น ก็สั่งนำเข้ารถรุ่นที่ 2 มาขายในบ้านเรา เมื่อปี 2005 ด้วยจำนวนไม่มากนัก

หมายเหตุไว้เล็กน้อยว่า ครั้งหนึ่ง ในยุคสมัยที่ General Motors ยังถือหุ้นอยู่ใน Subaru ชาวอเมริกัน ถึงขั้น นำ Forester รุ่นที่ 2 เข้าไปขายในอินเดีย โดยใช้ชื่อ Chevrolet Forester แต่สุดท้าย ก็ขายไม่ดี พอหมดสต็อก ก็ไม่มีการสานต่อโครงการอื่นใดอีก

Forester รุ่นที่ 2 ทำยอดขายสะสมในตลาดอเมริกาเหนือ เพียงแห่งเดียว ตลอดช่วงปี 2002 – 2007 รวมทั้งสิ้น 321,432 คัน (เฉลี่ย ปีละ 53,000 – 59,000 คัน) ยังไม่นับรวมตลาดอื่นๆทั่วโลก ถือว่า ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมชัดเจน

Forester รุ่นที่ 3 เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2007 ตรงกับวันคริสต์มาสพอดี ปรับเส้นสายเอาใจลูกค้าทั่วไปมากขึ้น นอกจากมีเครื่องยนต์ Boxer 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร เหมือนเคยแล้ว รุ่นที่ 3 นี้ ยังถือเป็น Forester รุ่นแรก ที่ถูกติดตั้ง ระบบ SI-Drive โปรแกรมปรับการตอบสนองคันเร่ง อีกทั้งยังเป็นรุ่นแรกที่มีทางเลือก ขุมพลัง Diesel Boxer 4 สูบนอน 2.0 ลิตร ให้เลือกเฉพาะตลาดยุโรป และออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์ ในตอนแรก เคยมีข่าวว่า มีความพยายามผลักดัน เครื่องยนต์บล็อกนี้ เข้ามาขายในบ้านเรา แต่ด้วยเหตุผลกลไดไม่ทราบ แผนดังกล่าว ค่อยๆ เงียบหายเข้ากลีบเมฆในเวลาต่อมา

ในตลาดหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา Forester ทำยอดขายได้ค่อนข้างดี เพิ่มขึ้นจากระดับ 53,922 คัน ในปี 2002 มาเป็น 96,953 คัน  และจนถึงสิ้นปี 2012 Subaru Forester รุ่นที่ 3 สามารถทำยอดขาย เฉพาะในอเมริกาเหนือ ได้ถึง 380,161 คัน

Forester รุ่นที่ 4 เปิดตัวครั้งแรกในตลาดญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2012 จากนั้น จึงตามติดไปเปิดตัวในตลาดอเมริกาเหนือ กันถึงงาน Los Angeles Auto Show เมื่อ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2012 เพียงแค่เดือนเดียว หลังเปิดตัวในตลาดบ้านตัวเอง FHI ก็ออกมาเปิดเผยถึงการตอบรับของลูกค้า ที่อุดหนุน Forester ใหม่ กันเกินความคาดหมาย จนมียอดสั่งจองมากถึง 8,149 คัน จากเป้าหมายยอดขาย 2,000 คัน/เดือน

ถ้าวัดกันที่ยอดขาย Forester รุ่นที่ 4 นั้น ทำรายได้ให้กับ Subaru อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่แพ้ Impreza และ XV เลยทีเดียว เพราะถ้านับตัวเลขยอดขาย เฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือ ตั้งแต่ปี 2013 จนถึง 2018 ที่ผ่านมา Forester รุ่นที่ 4 ทำตัวเลขสะสมไปได้มากถึง 986,506 คัน (เริ่มจาก 123,592 คัน ในปี 2013 ขึ้นไป Peak สุด ที่ 178,593 คัน ในปี 2016 ก่อนจะเริ่มร่วงลงมาเหลือ 171,613 คัน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา) นับเป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดด จากรุ่นก่อนๆ อย่างมาก

สำหรับยอดขายในญี่ปุ่นนั้น เมื่อปี 2017 Forester ทำยอดขายได้ 19,937 คัน รั้งอันดับ 3 ในกลุ่ม C-Segment SUV โดยมี Nissan X-Trail ครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยยอดขาย 54,526 คัน ตามมาด้วย Mazda CX-5 ในอันดับ 2 ทำยอดขาย 39,893 คัน

ไม่เพียงเท่านั้น Forester รุ่นที่ 4 ยังคว้ารางวัล SUV of the Year ประจำปี 2014 จากนิตยสาร Motor Trend ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งรับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม Good Design Award (G-Mark) จากรัฐบาลญี่ปุ่นมาแล้วอีกด้วย

ส่วนในเมืองไทย Motor Image Subaru ในกลุ่ม Tan Chong Group จากสิงค์โปร์ หรือในชื่อใหม่ TC-Subaru ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2013 ว่าจะนำ Forester ไปจัดแสดงเปิดตัวครั้งแรกในบ้านเรา ณ งาน Thailand Fast Auto Show ที่ BITEC บางนา เมื่อวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2013 ที่ผ่านมา

สำหรับยอดขายสะสมของ forester ในประเทศไทย นั้น หากนับย้อนหลังเกินไปกว่าปี 2013 น่าจะยากสักหน่อย เพราะจากข้อมูลที่ทาง TC Subaru เก็บไว้ มีย้อนหลังกลับไปถึงแค่ปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ Forester รุ่นที่ 4 เริ่มทำตลาดในประเทศไทย อย่างจริงจัง ในฐานะรถยนต์นำเข้า ปี 2013 มียอดขาย 92 คัน ส่วนปี 2014 เต็มปี ทำได้ 102 คัน ปี 2015 ทำได้ 131 คัน

แต่พอมาถึงปี 2016 เมื่อ Subaru ส่ง Forester มาประกอบที่โรงงานของ ตันจง ใน Malaysia ทำให้ราคาขายปลีกถูกลง จนทำยอดขายเพิ่มขึ้นมาได้มากถึง 1,185 คัน เมื่อรวมกับรถนำเข้าจากญี่ปุ่น 43 คัน รวมแล้วจะเท่ากับ 1,228 คัน เยอะสุดเท่าที่ Subaru เคยทำตลาด Forester ในเมืองไทยมาเลยทีเดียว กระนั้น พอล่วงเข้าปี 2017 ตัวเลขรวมก็เริ่มลดลงเหลือ 814 คัน เพราะยกเลิกการนำเข้าจากญี่ปุ่นแล้ว ล่าสุด ปี 2018 ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ 638 คัน และยอดขายในปี 2019 (มกราคม – มีนาคม) ทำได้ 304 คัน ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขยอดขายของ Forester รุ่น 4 ในประเทศไทยทั้งหมดแล้ว จะได้ตัวเลขของรุ่นประกอบญี่ปุ่น 368 คัน รุ่นประกอบมาเลเซีย 2,946 คัน รวมเป็น 3,309 คัน

เห็นได้ชัดเลยว่า Forester มีแนวโน้มที่จะสร้างยอดขายในเมืองไทยต่อไปได้อีก เช่นเดียวกับความนิยมของ Forester ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ผู้บริหารของ Subaru ที่ญี่ปุ่น จึงตัดสินใจ ที่จะพัฒนา Forester ใหม่ โดยมีประเทศไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนฐานผลิตด้วย

Tomoyuki Nunome : Project General Manager ผู้ดูแลโครงการพัฒนา Forester ใหม่ รุ่นที่ 5 (เสื้อสีน้ำเงิน ฝั่งซ้าย) และ Mamoru Ishii : Global Design Chief หรือ หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Subaru (แจ็คเก็ตสีดำ ฝั่งขวา) เป็น 2 บุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้การพัฒนา Forester ใหม่ เสร็จสิ้นลงด้วยดี

Nunome-san นั้น เริ่มต้นเข้าทำงานกับ Subaru Corporation ตั้งแต่ยังเป็น FHI (Fuji Heavy Industries) ในปี 1987 พอถึงปี 1992 เขามีส่วนร่วมในการพัฒนา Forester รุ่นแรก ล่วงเลยมาถึงปี 2014 เขาก็ได้ขึ้นเป็น Project General Manager ของโครงการพัฒนา Subaru Crossover 7 (หรือการนำ Station Wagon 7 ที่นั่ง รุ่น Exiga มายกสูงแบบ Crossover ซึ่งออกทำตลาดช่วงสั้นๆ 2-3 ปี) และในปีเดียวกันนั้นอง เขาต้องรับตำแหน่ง Project General Manager ของ Forester รุ่นที่ 5 ควบคู่กันไปด้วย

Nunome-san มองว่า สำหรับการพัฒนา รถรุ่นใหม่นี้ เขาเลือกที่จะ “Keep Concept” ดั้งเดิม ของ Forester ที่ลูกค้าชื่นชอบไว้ จากรถรุ่นก่อน แล้ว “PLUS” หรือเพิ่ม คุณสมบัติด้านต่างๆที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ ที่คุณจะเห็นงานออกแบบของ Forester ใหม่ ดูคล้ายกับการนำรถรุ่นที่ 4 มาปรับประยุกต์ใหม่…ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น แต่ทำมากกว่านั้น!

ส่วน Mamoru Ishii นั้น เกิดที่เมือง Saitama ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1962 เขาชอบรถยนต์ และฝันอยากเป็นนักออกแบบรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มงานกับ FHI มาตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 33 ปี ที่เขาไม่เคยย้ายค่ายไปทำงานในบริษัทอื่นเลย หลังจากทำงานใน ศูนย์ออกแบบ California design studio ที่สหรัฐอเมริกา นาน 3 ปี เขาได้เป็นหัวหน้าทีมออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของ Subaru Legacy (Sedan and Wagon) รวมทั้ง Subaru Legacy Outback รวมทั้งเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนา Subaru Impreza รุ่นที่ 2 (MY2000)

Mamoru ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทั่วไป ของฝ่ายออกแบบ ในปี 2013 งานสำคัญของเขาคือการพัฒนา แนวทางการออกแบบใหม่ล่าสุด ‘Dynamic and Solid’ ซึ่งถูกนำออกมาใช้เป็นครั้งแรกในรถยนต์ต้นแบบ ตระกูล VIZIV ตั้งแต่ปี 2014 และรถยนต์เวอร์ชันผลิตขายจริงรุ่นแรกที่ใช้แนวทางการออกแบบใหม่นี้ คือ Impreza ซึ่งเปิดตัวสูตลาดโลก ในงาน Tokyo Motor Show เมื่อเดือนตุลาคม 2016 ที่ผ่านมา

แนวทางการออกแบบของ Subaru ยุคใหม่ อยู่บนพื้นฐานคำจำกัดความ 2 คำ ได้แก่ DYNAMIC และ SOLID ทีมออกแบบ เลือกที่จะสร้างงานออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่ๆ โดยหาจุดยืนที่เหมาะสม ระหว่าง คำสอง คำนี้ หากเป็น Subaru Outback แน่นอนว่า มันจะต้องอยู่ตรงกลาง ระหว่าง ทั้ง 2 คำ ขณะที่ Impreza อาจถูกดึงดูดไปทางฝั่ง Dynamic มากหน่อย และสำหรับ BRZ (Toyota 86) มันก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความ Dynamic แน่นอนว่า มันมีความ Solid รวมอยู่ด้วย แต่คุณจะไม่ได้เห็นบนเส้นสายตัวถังของรถ เพราะนั่นต้องสัมผัสได้จากการขับขี่เท่านั้น

Mamoru-san เอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองรู้ดี ว่า ทุกวันนี้ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ Subaru ส่วนหนึ่ง ก็เพราะงานออกแบบในปัจจุบัน กระนั้น ก็จะมีลูกค้าอีกจำนวนไมน้อย ที่จะไม่ซื้อ Subaru เพราะงาน Design ด้วยเช่นเดียวกัน  ดังนั้น พวกเขากำลังพยายามปรับรูปแบบงาน Design ของ Subaru ให้เปี่ยมด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ สื่อถึงอารมณ์ (Emotion) โดยผสมผสานเส้นสายที่แข็งแกร่ง และความปราดเปรียว รวมไว้เข้าด้วยกัน

สำหรับ งานออกแบบ Forester ใหม่ เริ่มต้นขึ้นช่วงปี 2014 โดยมีเป้าหมาย ให้เส้นสายภายนอก มีความโน้มเอียงไปในแนวทาง Solid มากหน่อย เพื่อให้สมกับบุคลิกของตัวรถและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากบรรดาภาพวาดสเก็ตช์ทั้งหมด อันเป็นผลงานที่ ศูนย์ออกแบบของ Subaru ทั้งที่ California , เยอรมนี และใน Gunma ที่ญี่ปุ่น ส่งกันเข้ามา ถูกคัดเลือกเหลือเพียงแค่ 5 แบบ เพื่อนำมาขึ้นรูปเป็นหุ่นดินเหนียว (Clay Model) ขนาด 1/4 จากขนาดเท่ารถคันจริง

แบบ E มีบุคลิกที่เน้นภาพลักษณ์โฉบเฉี่ยว สไตล์ Sport โดยเฉพาะกระจกหน้าต่างคู่หลังสุด ที่ถูกออกแบบให้ลาดลง ตาม Trend การออกแบบของ Crossover SUV ในสมัยนี้ ทว่า มันดูลาดลงบั้นท้ายจนฉีกออกไปจากบุคลิกความเป็น Forester ดั้งเดิมมากเกินไป ขณะที่แบบ K มาในแนวทาง Rugged & Solid เห็นได้ชัดว่า พยายามรักษาบุคลิกของ Forester เดิมเอาไว้ แต่เพิ่มมิติให้กับโป่งซุ้มล้อทั้ง 4 เป็นหลัก เสียจนกระทั่งแทบไม่ต่างจากรถคันเดิม

แบบ P นำเส้นสายของรถยนต์ต้นแบบ VIZIV Future Concept ในปี 2015 ซึ่งเป็น SUV ตัวถังสั้น มาตีความให้เป็น SUV 7 ที่นั่งชวงยาวขึ้น เน้นความเฉียบคมไปทุกสัดส่วน ส่วนแบบ T เน้นการนำแนวเส้นจากแบบ P มาลดทอนความดุดันลงไป โดยผสมผสานเข้ากับเส้นสายปัจจุบันของ Forester รุ่นที่ 4 ขณะที่แบบ U จะมีรูปลักษณ์ทรงกล่อง มากที่สุด และมีฝาท้ายที่มีบุคลิกบึกบึน

หลังจากนั้น ทีมออกแบบและผู้บริหาร ต่างเลือก แบบ P T และ U ออกมา เพื่อเดินหน้า ทำหุ่นดินเหนียว Clay Model ขนาด เท่าคันจริง (1/1) ท้ายที่สุด ผลการขับเคี่ยวกันระหว่างทีมออกแบบทั้งหมด แบบ P ก็ได้รับเลือกให้นำมาขัดเกลา และปรับ Tone Down ลงมา ให้เหมาะสมต่อการนำไปขึ้นสายการผลิตจริง

ขณะที่ภายในห้องโดยสารนั้น ทีมออกแบบ ยังคงเลือกใช้ แผงหน้าปัดของ Impreza และ XV รุ่นปี 2016 – 2017 มาเป็นพื้นฐาน ในการดัดแปลง และตกแต่งเพิ่มเติมต่อไป โดยไม่ต้องออกแบบขึ้นใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และเสียเวลา

เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นลง Subaru จึงเริ่มยิง Teaser ด้วยการ ส่งข่าว Press Release พร้อมภาพไฟท้าย ของ Forester ใหม่ เมื่อวันที่  เปิดตัว Forester ใหม่ ครั้งแรกใน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2018 เพื่อแจ้งกับสื่อมวลชนทั่วโลกว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเปิดตัว Forester ใหม่ อย่างเป็นทางการ บนเวทีงาน New York International Motor Show ในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา

28 มีนาคม 2018 เวลา บ่ายโมง 45 นาที ผ้าคลุม ถูกเปิดออก สื่อมวลชนจากทั่วโลก พากันห้อมล้อมรุมไปที่ตัวรถ จนแทบจะแย่งกันหายใจ แสดงให้เห็นถึงการรอคอยการมาถึงของ Forester ใหม่ จากผู้คนจำนวนมาก

หลังการเปิดตัวในสหรัฐอเมริกา ก็ถึงคิวของ ประเทศต้นกำเนิด ลูกค้าชาวญี่ปุ่น ได้มีโอกาสสัมผัส Forester ใหม่ ก่อนใคร ในงานเปิดตัวที่โชว์รูมทั่วเกาะญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2019 และเพียง 1 เดือนให้หลัง Subaru ก็ประกาศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2019 ว่า มียอดสั่งจองเข้ามา จนถึง 18 มิถุนายน 2019 รวมแล้ว มากถึง 4,119 คัน เลยทีเดียว ถือว่า ลูกค้าชาวญีุ่่น ยังคงให้การต้อนรับ Forester ใหม่ อย่างดี

จากนั้นกลุ่ม Tan Chong ผู้แทนจำหน่ายดูแลการทำตลาด และการบริการ ให้กับ Subaru ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง Taiwan และประเทศไทย ก็จัดงานเปิดตัว  Forester ใหม่ ระดับภูมิภาค (Regional Launch) ณ เมืองไถจง (Taichung) สาธารณะรัฐจีน (Taiwan) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2018 ตามด้วยการเปิดตัวใน Australia และ New Zealand เมื่อเดือนกันยายน 2018

สำหรับประเทศไทย TC Subaru บริษัทในเครือของกลุ่ม Tan Chong นำ Forester ใหม่ รุ่นที่ 5 มาเปิดตัวและจัดแสดงสู่สายตาสาธารณชนอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก ในงาน Motor Expo เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2018

พวกเขายืนยันอย่างเป็นทางการในงานนี้ ว่า Forester ใหม่ รุ่นที่ 5 จะถูกนำมาขึ้นสายการประกอบ ณ โรงงานแห่งใหม่ล่าสุด บริษัท Tan Chong Subaru Automotive (Thailand) จำกัด หรือ TCSAT ย่านลาดกระบัง ในประเทศไทย โดยสายการผลิต เริ่มดำเนินการได้ช่วงเดือนธันวาคม 2018 และมีพิธีเปิดสายการผลิต อย่างเป็นทางการไปเมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2019 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ รายละเอียดของโรงงานแห่งใหม่ คลิกอ่านได้ ที่นี่ CLICK HERE  นั่นเท่ากับว่า Forester ใหม่ รุ่นที่ 5 ก็เพิ่งจะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้า ทั้งที่สั่งจองมาตั้งแต่งาน Motor Expo จนถึงปัจจุบันได้ ก็เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี่เอง

Forester ใหม่ เวอร์ชันไทย มีเฉพาะเครื่องยนต์เบนซิน Boxer 2.0 ลิตร มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย คือ 2.0 i-L , 2.0 i-S และ 2.0 i-S Eyesight (ระบบนี้จะพร้อมออกสู่ตลาดเมืองไทย ในเดือนกรกฎาคม 2019)

Forester ใหม่ รุ่นที่ 5 มีตัวถังยาว 4,625 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,545 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Track) 1,550 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground clearance) 220 มิลลิเมตร มุมไต่ 20.2 องศา มุมจาก 25.8 องศา น้ำหนักตัวเปล่า รุ่น 2.0 iS อยู่ที่ 1,538 กิโลกรัม

เมื่อเปรียบเทียบกับ Forester รุ่นที่ 4 เดิม มีตัวถังยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,735 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) 1,545 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Track) 1,550 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า รุ่น 2.0 iL อยู่ที่ 1,495 กิโลกรัม แล้ว จะพบว่า Forester รุ่นใหม่ จะยาวขึ้นกว่าเดิม 30 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 20 มิลลิเมตร เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวขึ้นอีก 30 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่กำลังเปรียบเทียบกับญาติผู้น้องร่วมตระกูลอย่าง Subaru XV ใหม่ 2nd Generation ก็คงอยากรู้ว่า ขนาดตัวถังของทั้ง 2 รุ่นนี้ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน หากนำ XV ซึ่งมีความยาว 4,465 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,615 มิลลิเมตร (รวมแร็คหลังคาแล้ว) ระยะฐานล้อ 2,665 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Track) เท่ากับ 1,550 มิลลิเมตร ด้านหลัง (Rear Track) เท่ากับ 1,555 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 220 มิลลิเมตร มาจอดข้างกัน จะพบว่า Forester ใหม่ ยาวกว่า XV ถึง 160 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่าถึง 115 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อต่างกันแค่ 5 มิลลิเมตร เท่านั้น

ถ้าให้สรุปกันแล้ว ความแตกต่างด้านกายภาพภายนอกของทั้งคู่ก็คือ Forester จะมีขนาดตัวรถยาวกว่า และสูงโปร่งกว่า XV แต่มีความกว้าง และระยะฐานล้อ พอๆกัน นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ถ้าหากต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด รุ่นต่างๆ ด้วยแล้ว Forester ใหม่ ก็มีขนาดตัวถังที่ ทัดเทียมกับเพื่อนฝูงร่วมกลุ่มตลาด C – Segment Crossover SUV มีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบแตกต่างกันไป

เริ่มจาก Honda CR-V รุ่นที่ 5 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,571 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,667 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร  ความสูงจากพื้นถนน ถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground clearance) 198 – 208 มิลลิเมตร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Forester รุ่นที่ 5 จะยาวกว่า CR-V 54 มิลลิเมตร แต่ก็แคบกว่า CR-V 40 มิลลิเมตร สูงกว่าถึง 63 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า CR-V 10 มิลลิเมตร และมี Ground Clearance มากกว่า CR-V ราวๆ 12 มิลลิเมตร (เทียบกับ CR-V รุ่นที่มีความสูงมากสุด)

ตามด้วย Mazda CX-5 รุ่นที่ 2 Minorchange ซึ่งมีความยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,680 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ หรือ Ground Clearance 193 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า Forester ใหม่ ยาวกว่า CX-5 ถึง 75 มิลลิเมตร แคบกว่า CX-5 25 มิลลิเมตร แต่สูงกว่า CX-5 ถึง 50 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า CX-5 อยู่ 30 มิลลิเมตร และมีระยะความสูงจากพื้นรถ (Ground Clearance) สูงกว่า CX-5 อยู่ถึง 27 มิลลิเมตร

หรือหากเทียบกับ Nissan X-Trail รุ่นที่ 3 Minorchange ซึ่งมีความยาว 4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร สูง 1,740 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,705 มิลลิเมตร Ground Clearance 210 มิลลิเมตร แล้วจะพบว่า Forester ใหม่ สั้นกว่า X-Trail 65 มิลลิเมตร แคบกว่าแค่ 5 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า X-Trail 35 มิลลิเมตร และ Ground Clearance ของ Forester สูงกว่า X-Trail 10 มิลลิเมตร

งานออกแบบ ยังคงยึดแนวทางต่อเนื่องมาจาก Forester รุ่นเดิม (Generation ที่ 4) ยังคงเส้นสายในสไตล์ที่ ถ้าพูดให้ดูสวยหรู ก็คือ เน้นการใช้งานมากกว่าความสวยงาม แต่ถ้าให้พูดตามภาษาของผมแล้วละก็ มันก็เป็น “ป้าขายข้าวแกงคนเดิม” แต่เปลี่ยนเสื้อตัวใหม่ สไตล์คล้ายเดิม จนดูเหมือนว่าเป็นการปรับโฉม Big Minorchange มากว่า การเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange ทั้งคัน แม้ว่าจริงๆแล้ว ตัวรถจะถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อย่างที่คุณได้อ่านมาแล้ว ข้างบนนี้ ก็ตาม

ทุกรุ่น ติดตั้งอุปกรณ์มาให้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ชุดไฟหน้า LED แบบปรับระดับสูง – ต่ำ อัตโนมัติ Auto Leveling พร้อม พร้อมทั้ง ไฟ Daytime Running Light แบบ LED ควบคู่กับ ระบบ เปิด -ปิด ไฟหน้า อัตโนมัติ และ มีหัวฉีดน้ำล้างไฟหน้า Headlamp Washer ด้วยเช่นกัน

กระจกมองข้างแบบปรับและพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว LED ไฟตัดหมอกหลัง ราวหลังคา Rack Roof สปอยเลอร์บนหลังคา เหนือกระจกบังลมหลัง รวมทั้งเสาอากาศแบบครีบฉลามและ กล้องมองหลัง ถ่ายทอดภาพขึ้นหน้าจอ Monitor เพื่อช่วยขณะถอยเข้าจอด

ความแตกต่างระหว่างรุ่นย่อย ก็คือ รุ่น 2.0 i-L มีไฟตัดหมอกหน้าแบบ Halogen สวมล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225 / 60 R17

แต่รุ่น 2.0 i-S และ i-S Eyesight จะเปลี่ยนมาเป็น ไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED  อีกทั้งยังสามารถปรับมุมองศา ทิศทางการเลี้ยวได้อีกด้วยรวมทั้ง Upgrade ล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Dueler H/P Sport ขนาด 225 / 55 R18

การเข้า – ออกจากรถ ยังคงใช้ กุญแจ Remote Control แบบ Smart Key (Keyless Entry) ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับชุดรีโมทกุญแจ (สหกรณ์) ของทั้ง XV ใหม่ และ Levorg เป๊ะ มีสวิตช์กดปลดล็อก อยู่ที่สัญลักษณ์ของ Subaru มีสวิตช์ล็อกรถอยู่ด้านบนสุด และสวิตช์กดแช่ 3 วินาที เพื่อเปิดฝาท้าย ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า มีกุญแจสำรอง ให้คุณได้เสียบหมุนบิดเข้าไปในรูกุญแจ เวลาที่ไฟในแบ็ตเตอรี ของรถ หรือของตัวรีโมท หมดลงได้

แค่เพียงนำกุญแจใส่กระเป๋าหรือพกติดตัวไว้ แล้วเดินเข้าใกล้รถ เมื่อระบบตรวจพบสัญญาณจากกุญแจ ก็จะเตรียมเปิดไฟในรถให้สว่างขึ้น จากนั้นยื่นมือไปจับที่เปิดประตู ระบบจะปลดล็อคให้ประตูทั้ง 4 บาน ในครั้งเดียว แต่ถ้าต้องการล็อครถ ก็สามารถทำได้ทั้งการกดจากรีโมต หรือ เอานิ้วไปแตะแถบ 2 ขีดที่ฝังอยู่บนมือจับเปิดประตู เท่านี้ก็เรียบร้อย

เมื่อเปิดประตูกางออก จะพบว่ามีไฟส่องสว่าง ใต้แผงประตู เพื่อส่องพื้นที่บริเวณโดยรอบ เพิ่มความปลอดภัยในยามค่ำคืน

ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยสีดำ แต่เพดานหลังคาเป็นสีเทาสว่างอ่อนๆ ช่วยเพิ่มความโปร่งสบายตามากขึ้น ส่วนการเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้านั้น ทีมวิศวกร ยังคงรักษาจุดเด่นในประเด็นนี้ ยกยอดมาจาก Forester รุ่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือยังคงความปลอดโปร่ง โล่งสบายมาก ไร้ปัญหาหัวชนเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar โดยสิ้นเชิง ต่อให้คุณจะมีสรีระร่างใหญ่โต ขนาดไหน ก็ไม่มีปัญหาศีรษะไปโขกกับเสาหลังคาแน่ๆ อีกทั้งยังออกแบบให้บานประตูคู่หน้า เปิดกางออกได้กว้างมาก และแบ่งการเปิดออกได้ 3 จังหวะ คือ แคบ พอกีช่องจอดรถ ปานกลาง และกว้างสุด

แผงประตูคู่หน้า ยกชุดมาจาก XV ใหม่ ทั้งดุ้น ยังคงถูกออกแบบให้มีเส้นสายเชื่อมต่อเนื่อง​จากแผงหน้าปัด ดูมีลูกเล่น และมี Layer ลอยตัวขึ้นมาชัดเจน รอบมือจับเปิดประตู พร้อมสวิชต์กลอนล็อกประตู ประดับด้วย Trim สีดำ พร้อมแถบพลาสติกสีดำ​เชื่อมต่อแผงประตูกับแผงหน้าปัดเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

บริเวณตำแหน่งวางแขนด้านข้าง บนแผงประตูคู่หน้า บุด้วยหนังสังเคราะห์ มีฟองน้ำแผ่นบางเสริมด้านใน พนักวางแขนทั้ง 2 ฝั่ง สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีมากๆ ตั้งแต่ข้อศอกจนถึงข้อมือ มือจับประตู มีขนาดยาว ออกแบบให้เป็นช่องใส่ของจุกจิก เช่น Keycard​ เข้าหมู่บ้าน ไปจนถึง โทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวกสบายมาก ส่วนด้านล่างของแผงประตู เป็นช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท 2 ตำแหน่ง รวมทั้งข้าวของจุกจิก ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้จริง

สิ่งที่ต้องขอชมเชย ก็คือ ชายล่างของประตูทั้ง 4 บานจะแตกต่างจาก XV ตรงที่ มีการออกแบบให้ด้านล่างของกรอบทางเข้า-ออจากรถ ซ่อนรูปอยู่ด้านหลังบานประตูเมื่อปิดสนิท พร้อมแถบยางกันฝุ่น กันสกปรก ทำให้การก้าว เข้า – ออก จากรถ ทำได้ดี ไม่ต้องกังวลกับเศษดินหรือโคลน ที่จะติดไปกับกางเกง หรือชายกระโปรงมากนัก ประเด็นนี้ แม้แต่ BMW และ Mercedes-Benz ก็ไม่ใส่ใจออกแบบบานประตูลักษณะนี้ ให้กับ SUV ของพวกเขาเลย สักรุ่นเดียว!

เบาะนั่งคู่หน้า ถูกปรับปรุงใหม่ ด้วยการถอดยกเบาะแบบเดิมออกไป แล้วแทนที่ด้วย เบาะคู่หน้าของ Impreza และ XV ใหม่ เป็นการทดแทน ในรุ่น 2.0 iS สามารถปรับตำแหน่งเบาะได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้งการปรับเอน – ตั้งชัน และเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง แต่ไม่มีตัวปรับดันหลังไฟฟ้ามาให้เลยแม้แต่รุ่นเดียว

พนักพิงหลัง ให้สัมผัสที่เหมือนจะไม่แตกต่างกับ XV ใหม่ มากนัก รองรับได้เต็มแผ่นหลัง ปีกด้านข้าง รองรับสรีระคนตัวใหญ่ โดยเฉพาะช่วงหัวไหล่ได้สบายมากขึ้น​ ทว่า จริงๆแล้ว ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ การเสริมฟองน้ำบริเวณท่อนล่างตรงกลางพนักพิงหลังให้หนาขึ้นกว่า XV เล็กน้อย ซึ่งช่วยเพิ่มการรองรับสรีระริเวณกลางหลัง ได้ดีขึ้นไปอีกนิดหน่อย

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ก็มีความยาวกำลังดี คือยาวมาจนเกือบจะถึงข้อพับ ฟองน้ำมาในสไตล์ “แน่นแอบนุ่ม” เหมือนพนักพิงหลัง รองรับบั้นท้าย ได้ดี และไม่เมื่อยล้าในขณะขับขี่เป็นเวลานานๆ

ส่วน พนักศีรษะ ถึงแม้จะมีข้อดีที่น่าชมเชย นั่นคือ สามารถปรับองศาให้ดันกบาลมากน้อยแค่ไหนก็ได้ ตามใจเราต้องการได้ถึง 4 ตำแหน่ง​ แต่สิ่งที่ยังต้องตำหนิกันต่อไปก็คือ ทำไมมันยังคงความแข็ง ระดับปาหัวหมาแตก มาจาก XV ใหม่ ได้มากขนาดนี้

ภาพรวมแล้ว เบาะนั่งคู่หน้าของ Forester ใหม่ ยังคงนำ Pattern ของเบาะนั่งจาก WRX Sti รุ่นเก่า และ XV ใหม่ มาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับต้นทุน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จนให้ความสบายในการนั่งโดยสารได้ดี ถ้าเปรียบเทียบกับ Forester รุ่นเดิม เบาะนั่งของรุ่นใหม่ ดีกว่ามากๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ XV ใหม่ แล้ว แตกต่างกันไม่มากนัก มีเพียงช่วงกลางแผ่นหลังเท่านั้น ที่ถูกเสริมฟองน้ำให้หนาขึ้น นิดหน่อย เท่านั้นเอง

ส่วนฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง ซึ่งออกแบบให้เป็นพนักวางแขน หุ้มหนัง เสริมฟองน้ำบางๆด้านในมาด้วยนั้น สามารถวางแขนได้ถึงระดับข้อศอก ในตำแหน่งที่ พอใช้งานได้ดี

พื้นที่เหนือศีรษะ​ของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร​ตอนหน้า สำหรับคนตัวสููง เพราะมีพื้นที่เหลือ 1 ฝ๋ามือกับอีก 4 นิ้วในแนวนอน ส่วนเข็มขัดนิรภัย​คู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง-ต่ำได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติมา Pre tensioner and Load limiter

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ยังคงรักษาคุณงามความดี จาก Forester รุ่นที่ 4 มาให้เห็นในรุ่นใหม่นี้ด้วย บานประตูสามารถเปิดกว้างกางออกได้มากถึง 85 องศา อีกนิดเดียวก็เกือบจะกางได้ตั้งฉากแล้ว สะดวกต่อการขึ้น – ลงจากรถอย่างมาก อีกทั้งยังมีการขยายตำแหน่งเสาหลังคาคู่ 3 เหนือซุ่มล้อคู่หลัง หรือ C-Pillar ให้ถอยร่นไปด้านท้ายรถอีก 30 มิลลิเมตร รวมทั้งปรับมุมองศาของเสา บริเวณครึ่งท่อนบน จากเดิมที่เอียงในระดับ 75 เพิ่มเป็น 80 องศา จึงไม่มีปัญหาศีรษะไปโขกกับกรอบประตูด้านบนอย่างแน่นอน ส่วนมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจเหนือช่องทางเข้า – ออก (ศาสดา) ให้มาครบ 4 ตำแหน่ง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งมีขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อแถมมาให้ด้วย

พลาสติกบุด้านในของเสาหลังคา B-Pillar บริเวณฐานเสา ถูกออกแบบให้มีแอ่งเว้าเข้าไปนิดหน่อย ช่วยลดปัญหารองเท้าของผู้โดยสาร เหวี่ยงไปโดน ในขณะก้าวลุกออกมาจากรถ เป็นอีกหนึ่งความใส่ใจที่ ทีมออกแบบของ Subaru เขาคิดล้ำนำหน้าไปกว่าค่ายรถยนต์อื่นๆ ด้วยซ้ำ

งานออกแบบเสาหลังคา C-Pillar นั้น คล้ายกับว่าจะยกมาจาก Forester รุ่นเดิมเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า หากสังเกตดีๆ จะพบว่า  เสาครึ่งท่อนบน จะถูกขยายไปทางด้านหลังอีก 30 มิลลิเมตร และทำมุมเอียงเพิ่มจาก 75 องศา ในรถรุ่นเดิม เป็น 80 องศา ในรุ่นใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการเข้า – ออก จากรถ และเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเกิดการชนด้านข้างตัวรถ

ขณะเดียวกัน เสาท่อนล่างที่เหมือนกันนั้น… บริเวณเหล็กเกี่ยวยึดบานประตูกับตัวกรอบช่องทางเข้า – ออกด้านล่าง ถูกออกแบบให้มีพลาสติกสีดำ เพิ่มเข้ามาคลุมทับไว้อีกชั้น เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพื้นที่ให้เจ้าของรถ ได้ยืนบนตัวถัง เพื่อความสะดวกในระหว่างการขนสิ่งของ และมัดตรึ่งเชือกไว้กับ ราวหลังคา Roof Rack อีกด้วย!

แผงประตูคู่หลัง ออกแบบในสไตล์ละม้ายคล้าย XV รวมทั้งยังใช้สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า และแผงพลาสติกล้อมกรอบ ร่วมกันได้ ก็จริงอยู่ แต่ตำแหน่งพนักวางแขน อยู่สูงขึ้นกว่า XV แถมยังทำมุมสโลปลาดชันกว่า XV ใหม่ ชัดเจนอยู่ กระนั้น บริเวณพนักวางแขน ก็สามารถวางข้อศอกได้พอดีๆ เพียงแค่นั้น เพราะถัดลงมา ถูกออกแบบเป็นช่องมือจับดึงประตูปิดเข้าหาตัวขนาดใหญ่แทน

ด้านล่างของแผงประตู มีช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท มาให้ 1 ตำแหน่ง รวมทั้งยังเป็นแผงติดตั้งลำโพงคู่หลัง อย่างไรก็ตาม น่าเสียดาย ที่กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง ไม่สามารถเลื่อนลงมาจนสุดขอบแผงประตูได้ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขจากรุ่นเดิมแต่ประการใด

ด้านหลังของเบาะนั่งคู่หน้า ปกติแล้ว รถยนต์ยุคใหม่ๆ เริ่มทะยอยเอาช่องใส่หนังสือออกไป เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากผลวิจัยตลาดระบุว่า ลูกค้าสมัยใหม่ไม่ค่อยใช้งานกัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Forester เพราะ ทีมออกแบบ เพิ่มช่องใส่ของ ที่ด้านหลังเบาะคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง เป็น 2 แถว รวม 3 ช่อง มีทั้งช่องใส่หนังสือ ช่องใส่โทรศัพท์มือถือ และช่องใส่ Tablet จำพวก Ipad เอาไว้เสร็จสรรพ

ไม่เพียงเท่านั้น ด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง ยังมีช่องแอร์แบบเปิด – ปิดได้ รวมทั้งปลั๊ก USB ขนาด 2.1 A ถึง 2 ตำแหน่ง สำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้า ทั้งโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet ได้อีกด้วย

เบาะแถวหลัง ถูกเปลี่ยนใหม่จาก Forester เดิมๆ หากดูเผินๆ อาจจะนึกว่ายกมาจาก XV ใหม่ เพราะมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ถ้าดูดีๆ จะพบว่า มันไม่เหมือนกันไปเสียทีเดียว เมื่อนั่งลงไปแล้ว เหมือนจะรู้สึกว่า พนักพิงหลัง แบนราบ แต่ไม่ถึงขนาดไม้กระดาน เพราะมีการออกแบบส่วนโค้งว้าว และเสริมฟองน้ำในลักษณะนะ “แน่นแอบนุ่ม” ให้รองรับแผ่นหลังอยู่ประมาณหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยม กลางพนักพิงหลัง โดยเสริมฟองน้ำให้หนาขึ้นมาอีกนิดนึง เพื่อเพิ่มการรองรับช่วงกลางแผ่นหลัง ได้ดีขึ้นกว่า XV เล็กน้อย

พนักพิงเบาหลัง ยังคงสามารถปรับเอนได้ ด้วยการดึงเชือกปลดล็อกที่อยู่บริเวณ ด้านล่างสุดของเบาะรองนั่ง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา มีการปรับปรุงให้เพิ่มระดับการปรับเอน ล็อกตำแหน่งพนักพิงหลัง จากเดิม 2 ตำแหน่ง เพิ่มเป็น 5 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ พนักพิงหลัง ยังสามารถแยกพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง วิธีการเปิดใช้งานพนักพิง มี 2 แบบ คือ ดึงสลักล็อก ที่ไหล่ของพนักพิง ฝั่งที่ต้องการ แล้วพับพนักพิงลงมาได้ทันที หรือจะเดินไปเปิดประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง แล้วดึงสวิชต์ พับเบาะ ที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง พนักพิงจะพับลงไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้ ยังคงยกมาจาก Forester รุ่นเดิม

พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ ออกแบบมาให้วางแขนได้สบาย แต่สำหรับการวางข้อศอกแล้ว มันแอบเตี้ยไปนิดเดียวจริงๆ ส่วนช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ในชุดพนักวางแขนนี้ มีงานออกแบบเหมือนใน XV ใหม่ แต่ใช้วัสดุต่างกัน เพราะในขณะที่ XV จะเป็นเพียงแผ่นพลาสติก Recycle แปะไว้รอบช่องวางแก้ว แต่ Forester ใหม่ ใช้แผง Trim พลาสติก สีดำเงา Piano Black ให้ดูดีมีชาติตระกูลขึ้นชัดเจน

พนักศีรษะด้านหลังทั้ง 3 ชิ้น แม้จะมีการเสริมฟองน้ำด้านใน แต่ก็ยังคงแข็งระดับปาหัวหมาแตก เหมือน XV ใหม่อยู่ดี แถมยังต้องยกขึ้นใช้งาน ไม่เช่นนั้น มันก็จะทำตัวทิ่มตำต้นคอคุณไปเรื่อยจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง กระนั้น เมื่อยกใช้งานแล้ว มันก็รองรับได้ถูกตำแหน่งนั่ง ตามหลักสรีระศาสตร์

เบาะรองนั่ง เสริมฟองน้ำในลักษณะ “แน่นแอบนุ่ม” เช่นเดียวกับพนักพิงหลัง มีความสูงเพิ่มขึ้นจากเบาะรองนั่งของ XV ซึ่งก็เป็นไปตามสัดส่วนความสูงของตัวรถที่เพิ่มขึ้น แต่มุมองศาของเบาะ เงยไม่มากนัก ยังค่อนข้างเกือบๆจะแบนราบ สำหรับคนตัวสูง อาจต้องนั่งชันขาบ้าง แต่ถ้าคุณตัวเตี้ยกว่า 170 เซ็นติเมตร ตำแหน่งวางขา และความยาวของเบาะรองนั่ง จะพอดีกับช่วงขาท่อนบนของคุณ

ผลจากการขยายระยะฐานล้อให้ยาวขึ้นกว่าเดิม 30 มิลลิเมตร ทำให้พื้นที่วางขา สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เพิ่มขึ้นจาก Forester รุ่นเดิมชัดเจน (วัดระยะจากจุด Hip Point ของผู้โดยสารด้านหน้า ถึง Hip Point ของผู้โดยสารด้านหลัง ได้ 946 มิลลิเมตร เพิ่มจากรุ่นเดิม 33 มิลลิเมตร) เท่ากับว่า คราวนี้ ต่อให้คุณจะมีสรีระสูงถึง 180 เซ็นติเมตร และมีช่วงขายาว ก็สามารถนั่งโดยสารบนเบาะหลังของ Forester ได้สบายขึ้น เพราะหัวเข่าไม่ชิดกับด้านหลังของเบาะคู่หน้า ยิ่งถ้าคุณเป็นคนตัวสูแค่ 170 เซ็นตเิมตร และมีช่วงขาสั้น อย่างผมแล้ว ไม่ใชข่แค่นั่งไขว้ห้างได้นะครับ แต่นั่ง “ไขว่สองห้าง” (เปรียบเปรยว่า ไขว่ห้างซ้อนกันได้ 2 ทบ) ยังได้เลย

ขณะเดียวกัน พื้นที่เหนือศีรษะ (Head room) ของ Forester ใหม่ มีขนาดเพิ่มขึ้น สำหรับตัวผมเองซึ่งสูง 171 เซ็นติเมตร ลงไปนั่งเต็มตัว หลังชิดเบาะ หากเป็นรุ่นเดิม จะมีพื้นที่เหลือ อยู่ 3 นิ้ว ชี้ กลาง และนาง สอดเข้าไปในแนวนอน แต่ในรถรุ่นใหม่ พื้นที่ Headroom จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ฝ่ามือ กับอีก 1 นิ้วชี้ ในแนวนอน!! ดังนั้น คราวนี้ คนตัวสูง 180 เซ็นติเมตรขึ้นไป ก็สามารถโดยสารบนเบาะหลังของ Forester ใหม่ ได้สบายกว่าทุกรุ่นที่ผ่านๆมา เสียที

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งตรงกลาง สายเข็มขัดจะติดตั้งไว้บนเพดานฝั่งขวาของตัวรถ ที่คุณเห็นในภาพ เป็นช่องดำๆ นั่นละ ส่วนจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ก็มีมาให้ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ของทุกรุ่นย่อย มีกระจกบังลม ติดตั้งครบทั้งไล่ฝ้า พร้อมใบปัดน้ำฝนหลังและหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ ควบคุมด้วยก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ชุดฝาท้ายค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น ส่วนรุ่น 2.0 i-S และ i-S Eyesight จะเปิดยกขึ้นได้ด้วยระบบไฟฟ้า เปิด – ปิดได้ 3 วิธี

1. กดสวิตช์ เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ปลดล็อก และเปิดยกขึ้น ถ้าต้องการปิดลงมา กดปุ่มปิดฝาท้าย บริเวณแผงพลาสติกบุฝาท้าย หรือถ้าต้องการให้ฝาท้ายปิดลงมาแล้วล็อกกลอนเลย ให้กดสวิตช์รูปกุญแจที่อยู่ติดๆกัน

2. สวิตช์บนรีโมทกุญแจ Smart Keyless Entry : เมื่อกดที่สวิตช์รูปรถเปิดฝาท้าย ค้างไว้ 2 วินาที ฝาท้าย จะเปิดยกขึ้น ถ้ามันปิดอยู่ และในทางกลับกัน ฝาท้ายจะปิดลงเอง ถ้ามันถูกเปิดทิ้งไว้ (เวอร์ชันไทย ไม่มีระบบเตะใต้ท้องรถให้โดนเซ็นเซอร์ เพื่อเปิด-ปิดฝาท้าย)

3. กดปุ่มเปิด-ปิดฝาท้าย บริเวณ แผงสวิตช์ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับด้านขวาสุด ค้างไว้ 2 วินาที…เช่นเดียวกันกับ ข้อ 2 ถ้าฝาท้ายปิดอยู่ มันจะถูกเปิดยกขึ้นมา แต่ถ้าเปิดกางอยู่แล้ว มันจะถูกสั่งปิดลงมาเอง

บานประตูห้องเก็บของด้านหลังจะสามารถเปิด – ปิด ได้เอง ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ในระหว่างที่ฝ้าท้ายกำลังปิดลงมา หากคุณ หรือใครก็ตาม พยายามขืนบานประตู เอาไว้ หรือเมื่อ มีสิ่งของใดๆกีดขวางการปิดลงมา บานประตูจะดีดกลับยกตัวขึ้นไปเองอีกครั้ง โดยอัตโนมัติ

พร้อมหน่วยความจำ Power rear gate with memory function คุณสามารถตั้งความจำ ให้บานประตูยกขึ้น ในระดับความสูง เพียงเท่าที่คุณต้องการ เพื่อเลี่ยงปัญหาการเปิดยกขึ้นมากเกินไป จนบานประตู ไปชนกับขอบเหลี่ยมมุม หลังคา โรงจอดรถ หรืออาคารจอดรถ และก่อความเสียหายกับบานประตูได้

วิธีการตั้งความจำก็ง่ายดาย แค่เพียง เปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านท้ายไว้ ด้วยมือ ในตำแหน่งที่คุณต้องการ จากนั้น เดินไปกดปุ่มล็อกตำแหน่ง หน่วยความจำ ซึ่งมีคำว่า MEMORY ติดอยู่ แช่ไว้ 3 วินาที เท่านี้ รถก็จะจำตำแหน่งเปิดฝาท้ายให้ตามที่คุณต้องการเรียบร้อยแล้ว

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีความจุ 520 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี แต่เมื่อพับเบาะหลังลงทั้งหมดแล้ว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นมากเป็น 1,773 ลิตร แน่นอนว่า สามารถใส่จักรยานเข้าไปยังท้ายรถได้ โดยไม่ต้องถอดล้อหน้าออก ทุกรุ่นย่อย จะมีแผงผ้าใบสำหรับ เลื่อนมาปิดบังสัมภาระ ลดโอกาสเสี่ยง จากการทุบกระจกขโมยข้าวของโดยมิจฉาชีพไปได้บ้าง

ปากช่องทางเข้าห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาดกว้างถึง 1,300 มิลลิเมตร มากเกินกว่าค่าเฉลี่ย ของ SUV ทุกรุ่นในกลุ่มตลาดเดียวกัน ตำแหน่งขอบกันชน ถูกออกแบบให้เตี้ยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายข้าวของ ระยะความยาวของพื้นห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง (เมื่อยังไม่พับเบาะหลัง) อยู่ที่ 900 มิลลิเมตร แต่เมื่อพับเบาะหลัง จะเพิ่มความยาวเป็น 1,870 มิลลิเมตร ส่วนความกว้าง วัดจากซุ้มล้อ ได้ 1,070 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นห้องเก็บของจนถึงเพดานหลังคา อยู่ที่ 810 มิลลิเมตร

ผนังห้องเก็บของด้านหลัง มีจุดยึดขอเกี่ยวสัมภาระต่างๆ ทั้งบริเวณด้านล่าง 4 มุม ด้านบน อีก 4 จุด ติดตั้งอยู่ร่วมกับ สวิตช์พับเบาะหลังด้วยกลไกปลดล็อกทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ ตำแหน่งขอบกันชน ถูกออกแบบให้เตี้ยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายข้าวของตามต้องการ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบกับแผงโฟมซับเสียง ซึ่งมีช่องติดตั้งเครื่องมือประจำรถ แต่เมื่อยกโฟมขึ้นมาอีกชั้น จะพบกับยางอะไหล่ สีเหลือง แบบบาง เหมือนรถยนต์ที่ขายในญี่ปุ่น มาให้ 1 เส้น พร้อมกับแม่แรงยกรถ 1 ชิ้น

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก Impreza และ XV ใหม่ ทั้งยวง แบบไม่ต้องคิดมาก กระนั้น บริเวณช่วงกล่องคอนโซลกลาง และแผงพลาสติกขนาบข้าง ฐานคันเกียร์ ก็ถูกออกแบบปรับปรุงขึ้นใหม่ ให้ต่างจาก XV โดยเฉพาะการเสริม Trim ประดับตกแต่ง แบบ Aluminium เข้าไป ที่บริเวณรอบต่อ ระหว่างแผงหน้าปัด และผนังข้างฐานคันเกียร์

ไม่เพียงเท่านั้น Trim ตกแต่งท่อนกลางแผงหน้าปัด ก็ยังมีการปรับปรุงใหม่ โดยในเวอร์ชันไทย จะใช้พลาสติก กัดขึ้นรูปเป็นลาย เกร็ดงู เสริมด้วย Trim พื้นสีเงินสว่าง ลายจุด แนวถี่ เชื่อมต่อกับมือจับเปิดประตูที่ใช้พลาสติกชุบโครเมียม ล้อมกรอบไว้อีกด้วย

มองขึ้นไปเหนือศีรษะ ทั้ง 3 รุ่น จะมี ไฟอ่านแผนที่ พร้อมไฟส่องสว่าง เป็นแบบ กดลงไปบนชุดไฟได้เลย ไม่ต้องกดที่สวิชต์เปิด-ปิด แยกตัวออกมาแต่อย่างใด ออกแบบขึ้นมาใหม่ ให้มีขนาดเล็กลง แต่ส่องได้สว่างเท่าเดิม ด้วยลำแสงที่เปลี่ยนจากสี Warm White เป็นแบบ Cool White มีช่องเก็บแว่นตากันแดดแบบมีฝาปิดหมุนเก็บซ่อนได้ กระจกมองหลัง ตัดแสงได้แบบธรรมดา และแผงบังแดดขนาดใหญ่ พร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาพับ ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา เพิ่มแผงพลาสติกที่ยื่นออกมาบังแสงแดดได้เพิ่มเติม ยกชุดมาจาก Forester รุ่นที่แล้ว (ไม่มีใน XV)

จากขวา ไปซ้าย ก็เหมือนกันกับ XV ไม่ผิดเพี้ยน

สวิตช์กระจกหน้าต่าง เปิด – ปิด ด้วยไฟฟ้า ครบทั้ง 4 บาน แต่กระจกหน้าต่างสองบ้านหน้าจะเป็นแบบ One-Touch ทั้งขาขึ้น และขาลง ส่วนสวิตช์ ปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า เป็นแบบปุ่มหมุน L-R อยากปรับกระจกมองข้างฝั่งไหนก็หมุนไปฝั่งนั้น แล้วโยกขึ้นๆ – ลงๆ ซ้ายๆ – ขวาๆ ตามต้องการ มีสวิตช์สำหรับพับกระจกมองข้างอยู่ในบริเวณใกล้กัน

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านข้างสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เป็นแผงสำหรับติดตั้ง สวิตช์ปรับความสว่างของแผงมาตรวัด กับ สวิตช์เปิด – ปิด การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (VDC/Traction Control) และมีปุ่ม SRH Off สำหรับปิดการทำงานของระบบไฟหน้ากระดิกซ้าย/ขวา ส่วนอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจาก XV ก็คือ เพิ่มสวิตช์ เปิด – ปิดฝาท้ายด้วยไฟฟ้า พร้อมสวิตช์ตั้งตำแหน่งให้ฝาท้ายเปิดขึ้น ในระดับความสูงที่คุณต้องการ

ถัดลงไป เป็นแผง Fuse ระบบไฟฟ้าในรถ ส่วนคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า อยู่ด้านล่างสุด ฝั่งขวา ถัดลงต่ำกว่าถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า รุ่น 2.0 i-S และ i-S Eyesight จะเพิ่มแป้นเหยียบคันเร่ง แป้นเบรก และแป้นพักเท้า แบบ Aluminium มาให้

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ยกมาจาก Impreza และ XV ใหม่ แต่หุ้มด้วยหนัง และเย็บเข้ารูปด้วยด้ายตะเข็บสีดำ วงพวงมาลัยมีขนาดจับกระชับมือกำลังดี ไม่อ้วนหรือบางจนเกินไป มีก้านโยกปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง Telescopic 4 ทิศทาง มีปุ่ม Multi-Function บนก้านพวงมาลัย ฝั่งขวา ไว้สั่งการระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control รวมทั้งสวิตช์ S และ I สำหรับระบบ SI-DRIVE ที่สามารถปรับความไวในการตอบสนองของคันเร่ง ได้ 3 รูปแบบ ขณะที่ฝั่งซ้ายนั้น ควบคุมการทำงานของชุดเครื่องเสียงและมีปุ่ม Info สำหรับเปลี่ยนการแสดงผลบนจอ MID เหนือคอนโซลกลาง

นอกจากนี้ยังมี สวิตช์แบบกระดิกนิ้วเข้าหาตัว ติดตั้งอยู่หลังก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย เอาไว้ปรับเปลี่ยนการแสดงผลบนจอ MID บนมาตรวัด และมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddleshift มาให้ที่ด้านหลังพวงมาลัย

ส่วนก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยนั้น…อยู่ในตำแหน่งเดียวกับ XV และ Forester รุ่นก่อน คือ ก้านสวิตช์ไฟหน้า ไฟเลี้ยว แบบ One Touch (กระดกครั้งเดียว ไฟเลี้ยว กระพริบ 3 ครั้ง สำหรับการเปลี่ยนเลน) ไฟสูง ไฟตัดหมอกหน้า ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งซ้าย ส่วนก้านสวิชต์ ใบปัดน้ำฝนคู่หน้า – หลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า – หลัง และหัวฉีดน้ำล้างไฟหน้า สลับข้างไปอยู่ฝั่งขวา โดย Forester 2.0 iS จะมีฟังก์ชั่นไฟหน้าอัตโนมัติมาให้โดยหมุนหัวก้านไปที่ Auto มีไฟตัดหมอกมาให้ทั้งด้านหน้าและหลัง (หมุนที่ก้าน เขยิบมือมาทางคอพวงมาลัยมากกว่าเดิมหน่อย)

เบรกมือ เปลี่ยนจากคันโยก มาเป็นสวิตช์ไฟฟ้า ตามสมัยนิยม พร้อมระบบค้างเบรกมืออัตโนมัติ ทันทีที่เหยียบเบรกจนรถหยุดสนิท และปลดเบรกมือเองอัตโนมัติ เมื่อแตะคันเร่งให้รถออกตัวจากสัญญาณไฟจราจร หรือ Auto Brake Hold ในชื่อที่ Subaru เรียกว่า AVH (Automatic Vehicle Hold)

ชุดมาตรวัด แบบ 2 วงกลม ก็ยกมาจาก Impreza และ XV ใหม่ มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ อยู่ฝั่งซ้าย ส่วนมาตรวัดความเร็ว อยู่ฝั่งขวา ล้อมกรอบวงกลม ด้วยพลาสติกชุบโครเมียม โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบมาตรวัดต่างๆภายในรถ แบบนี้ ที่สามารถยืนหยัดข้ามผ่านกาลเวลามาได้ ไม่มีอะไรซับซ้อน อ่านง่าย และได้ข้อมูลครบ ในขณะขับขี่

หน้าจอ Multi Information Display ติดตั้งตรงกลางระหว่างมาตรวดทั้ง 2 แสดงข้อมูลได้ทั้ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real Time และแบบ เฉลี่ย แสดงระยะทางที่น้ำมันในถัง เหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้ มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ไฟแจ้งเปิดระบบ Cruise Control ทำงาน มาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง และสัญญาณไฟเตือนต่างๆ

ถ้าคิดว่า หน้าจอ MID บนมาตรวัดยังไม่พอ Subaru ยังแถม จอแสดงข้อมูล Multi Information Display ขนาด 6.3 นิ้ว เพิ่มมาให้สำหรับรุ่น 2.0 i-S อีกชุดหนึ่ง ติดตั้งอยู่เหนือช่องแอร์คู่กลาง และชุดเครื่องเสียง หน้าจอถูกออกแบบให้มีการแสดงผลแบบ Graphicสวยกว่ารุ่นเดิม ในทิศทางเดียวกับ จอ MID ของ XV ใหม่มีทั้งหน้าจอ Off Road แสดงการบิดเลี้ยวของล้อ และตัวรถในขณะไต่ขึ้นหรือลงเนิน ว่าอยู่บนทางลาดชันกี่องศา หากเปิดใช้ระบบ X-Mode จะแสดงการส่งกำลังของล้อทั้ง 4

ถัดมาเป็นจอแสดงข้อมูล อุณหภูมิน้ำในระบบหล่อเย็น อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง และความเร็วเฉลี่ย ถัดไปเป็นจอแสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย , Real Time และระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อได้ ตามด้วยนาฬิกา และปฏิทิน ถ้าใครอยากเข้าไปตั้งค่าหน้าจอนี้ ให้เลื่อนสวิตช์ลงไปยังด้านล่างสุด กดปุ่ม INFO ค้างไว้ แล้วเลือกสวิตช์ขึ้น – ลง เข้าไปปรับเปลี่ยนการตั้งค่าต่างๆได้เอง

สำหรับสวิตช์ควบคุมหน้าจอ MID นั้น รุ่นเดิม จะติดตั้งอยู่ระหว่างช่องแอร์คู่กลาง แต่ใน Forester ใหม่นี้ สวิตช์ควบคุมจอ MID จะถูกย้ายลงไปติดตั้งอยู่ที่ก้านพวงมาลัยด้านซ้าย เป็นปุ่ม i / SET แทน

 

จากซ้าย มาทางขวา กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Compartment มีขนาด กำลังดี ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป เพียงพอให้ใส่แค่สมุดคู่มือผู้ใช้รถ กรรมธรรม์ประกันภัย

ส่วนเครื่องปรับอากาศ ทุกรุ่น เป็นแบบ อัตโนมัติ Dual Zone แยกฝั่งได้ทั้งซ้าย – ขวา ถึงจะเย็นค่อนข้างเร็ว แต่ขอแนะนำว่า สำหรับคนขี้หนาว เปิดไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ก็พอ และถ้าหากเป็นคนขี้ร้อน ขอแนะนำให้ปรับแอร์มาที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส เพราะมันเย็นเร็วทันใจใช้ได้อยู่

สวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazard Light ย้ายมาอยู่บริเวณเดียวกับเครื่องปรับอากาศ ทำให้การใช้งานในเวลาฉุกเฉิน เช่น เปิดเพื่อเตือนรถคันข้างหลัง ว่า เรากำลังเบรกกระทันหัน มันยากไปหน่อย

ชุดเครื่องเสียง Subaru STARLINK จาก Panasonic ประกอบด้วย จอ Monitor สี แบบ TouchScreen ขนาด 8 นิ้ว Built-in จากโรงงาน มีวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 แยกลงมาข้างล่าง มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System และแสดงภาพจากกล้องมองหลัง ขณะถอยเข้าจอด และกล้องมองภาพใต้กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง

นอกจากนี้ ใต้แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นช่องวางของจุกจิกขนาดเล็ก ยังมีช่องเสียบ USB สำหรับเล่นไฟล์ Media ติดตั้ง ใกล้กับช่อง HDMI, AUX และปลั๊กไฟ Power Outlet 12V พร้อมลำโพง 6 ชิ้น แต่น่าเสียดายว่ายังไม่รองรับการใช้งาน Apply CarPlay/Android Auto แต่อย่างใด

หน้าตาชุดเครื่องเสียง และปุ่มต่างๆ ก็ยกชุดมาจาก XV ใหม่นั่นแหละครับ ดังนั้น คุณภาพเสียง จึงไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ดีงามขึ้นกว่าทั้ง Forester และ XV รุ่นเดิม อย่างชัดเจน อยู่ในระดับฟังเพลงได้ดีขึ้นจนน่าพอใจ ไม่น่าเกลียดเหมือนรุ่นก่อน เพียงแต่ว่า คุณภาพเสียง ก็อาจยังไต่ขึ้นไปไม่ถึง บรรดาเครื่องเสียงติดรถยนต์ระดับ Hi-End ทั้งหลาย ก็เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่ชวนให้หงุดหงิดมากสุด ก็คือ ปกติแล้ว เครื่องเสียงทั่วไป มักจะจดจำได้ว่า ครั้งสุดท้าย ก่อนดับเครื่องยนต์ไป คนขับเขาเปิดเพลงหรือวิทยุ ทิ้งไว้ คลื่นไหน ช่องไหน แต่สำหรับชุดเครื่องเสียงของ Forester ใหม่ คราวนี้ พอติดเครื่องยนต์ปุ๊บ ระบบจะจดจำแค่ช่องวิทยุที่เปิดค้างไว้ แต่ไม่ยอมจำ เพลงใน CD หรือ USB ผมต้องมานั่งกดๆจิ้มๆ ที่หน้าจอเข้าไปอีก 2-3 ครั้ง กว่าจะได้ฟังเพลงเดิมที่เปิดค้างไว้จากคราวก่อน ดูท่าทางระบบปฏิบัติการณ์จะโง่ๆ ยังไงไม่รู้

ถ้าต้องการเครื่องเสียงที่ดีกว่านี้ อาจต้องรอถึงปี 2020 Panasonic จะ Upgrade เครื่องเสียงชุดนี้ ให้มีระบบปฏิบัติการณ์ที่ดีขึ้น และสามารถรองรับ Apply CarPlay/Android Auto ได้เสียที…เฮ้อ….!

ด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า เป็นช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พร้อมช่องวางโทรศัพท์มือถือแนวตั้ง รวมทั้ง กล่องคอนโซล แบบมีฝาปิด ออกแบบขึ้นใหม่ ให้แตกต่างจาก XV มองเผินๆ เหมือนจะมีเนื้อที่พอๆกับรุ่นเดิม เมื่อยกถาดใส่ของจุกจิกและเศษเหรียญ (อะไหล่ชิ้นเดียวกับรถรุ่นเดิม) ขึ้นแล้ว คุณจะเห็นพื้นข้างในเป็นผ้าสักกะหลาด ปลั๊กจ่ายไฟ 12V ยังคงอยู่ในที่เดิม สำหรับให้เสียบสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ (มีการทำร่องให้ร้อยสายไฟออกมาได้ 2 ตำแหน่ง แต่ช่องเสียบ USB 2 ช่อง (2.1 A) ถูกย้ายออกไปจากกล่องคอนโซล ไปอยู่ด้านหลังของกล่องเก็บของ ให้ผู้โดยสารด้านหลังใช้งานแทน ตัวฝาปิด ทำหน้าที่เป็นพนักเท้าแขน หุ้มด้วยหนังและวัสดุบุนุ่ม อยู่ในตำแหน่งที่เท้าแขนได้ถนัดกว่าเดิม แต่ไม่สามารถเลื่อนหน้าถอยหลังได้ (เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นไมเนอร์เชนจ์แล้ว)

เบรกมือของ Forester ใหม่ เปลี่ยนจากแบบก้านธรรมดา เป็นเบรกมือไฟฟ้า ทำให้สามารถจัดแนวที่วางแก้วตามขวางได้ ถัดจากปุ่มเบรกมือไปทางขวา จะมีสวิตช์ระบบ Hill Holder (กันรถไหลถอยหลังบนทางลาดชัน หรือขณะจอดติดไฟแดง) และสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดการทำงานของ X-Mode ด้านข้างก็มีช่องใส่เหรียญอีกตำแหน่งหนึ่ง

ทัศนวิสัยโดยรวมทั้งคัน ไม่แตกต่างจาก Forester รุ่นเดิมเลย ยังคงรักษาความปลอดโปร่งโล่งสบายตามากๆ ไว้ตามเดิม มีสภาพไม่ต่างจากตู้ปลาเคลื่อนที่ ชนิดว่า อีกนิดนี่ ก็ใกล้เคียงกับ Honda StepWGN แล้วละ จากตำแหน่งเบาะคนขับ ทัศนวิสัยด้านหน้า หายห่วง การกะระยะ ง่ายดาย มองเห็นฝากระโปรงหน้าชัดเจน

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้าย และขวา แทบไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมเลย คือยังคงตั้งชันกว่า XV และมีส่วนช่วยให้การมองเห็นรถคันที่แล่นสวนมาจากทางโค้งขวา บนถนนสวนกันสองเลน ทำได้ดีกว่า XV ลดการบดบังลงเล็กน้อย กระจกมองข้าง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ยกชุดมาจาก XV ใหม่ทั้งดุ้น ติดตั้งในตำแหน่งเดิม ไว้ที่บานประตูเหมือนรุ่นเดิม บานกระจกมองข้างก็ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ ให้แบนและเล็กลงเล็กน้อย แตกต่างจากรุ่นเดิม

แต่น่าเสียดายว่า ด้วยตำแหน่งระจกองข้างแบบดังกล่าว ทำให้ทีมวิศวกร ยังไม่สามารถหาทางเอากระจก Opera (กระจกสามเหลี่ยมหูช้าง) ออกไปจากตัวรถได้เลย ด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกต่อการเลื่อนขึ้น – ลงของกระจกหน้าต่างคู่หน้า

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง แม้จะยังคงได้เปรียบกว่า XV ใหม่ แต่เมื่อเทียบกับ Forester รุ่นเดิมแล้ว จะพบว่า เส้นสะเอวอันเป็นขอบล่างของกระจกหน้าต่างคู่หลังสุด มีมุมเฉียง ทะแยงเพิ่มขึ้น ทำให้มีพื้นที่การมองเห็นลดลงนิดนึง ยังดีที่ตำแหน่งของกระจกบังลมหลัง และกระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง ยังคงให้ความโปร่งโล่งสบายตามเดิม

ภาพรวมแล้ว Forester รุ่นใหม่ ยังคงรักษาคุณสมบัติอันเป็นจุดเด่นสำคัญ ในฐานะที่เป็น SUV คันหนึ่ง ที่มีทัศนวิสัยด้านหน้า และรอบคันดีที่สุดในตลาดเมืองไทยตอนนี้

********** รายละเอียดด้านงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

Forester ใหม่ เป็นหนึ่งในรถยนต์ Subaru ยุคใหม่ ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างพื้นตัวถัง SGP (Subaru Global Platform) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับ Subaru รุ่นใหม่ๆ เกือบทุกรุ่ในอนาคต เช่นเดียวกับ Impreza รุ่นปี 2016 และ XV ใหม่ ตั้งแต่รุ่นปี 2017

จุดเด่นของ แพล็ตฟอร์ม SGP ใหม่นี้คือ ถูกพัฒนาให้มีความแกร่ง สามารถในการทนต่อแรงกระทำของตัวถัง (Body & Chassis Rigidity) เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมมากถึง 100% สามารถทนแรงบิดงอตัวถังจากด้านข้าง เพิ่มขึ้นถึง 90% (นึกภาพ เอารถโมเดลมาวางบนโต๊ะ เอามือกำหน้า และ หลังของรถ จากนั้นพยายามออกแรงหักเข้า/ออกจากตัว)

นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการทนแรงบิดงอตัวถังตามยาว เพิ่มขึ้นจากเดิม 70% (ให้นึกถึงการบิดผ้าเช็ดตัว) มีการเพิ่มความแข็งแกร่งของจุดยึดช่วงล่างด้านหน้าอีก 70% และ ความแข็งแรงของจุดยึดซับเฟรมหลังเพิ่มขึ้น 100%

กระนั้น วิศวกรของ Subaru ได้คิดคำนวณมาอย่างดีแล้ว ว่าจุดไหนต้องเชื่อมให้แข็ง จุดไหนต้องช่วยผ่อนแรงกระแทก ทำให้สามารถซับแรงปะทะได้ดีขึ้นกว่าโครงสร้างแบบก่อนถึง 40% และยังมีจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่ต่ำลงกว่ารถรุ่นเดิมอีก 5 มิลลิเมตร

ผลที่ได้ก็คือ…เหมือนกับบรรดา แพล็ตฟอร์มน้ำหนักเบายุคใหม่ ของรถยนต์ญี่ปุ่นสมัยนี้ ทั้ง Mazda – Skyactiv , Suzuki – Heartect และ Toyota TNGA นั่นคือ ตัวรถจะให้การขับขี่คล่องแคล่วขึ้น เบาขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น เร่งไปได้ไวขึ้น แต่ แข็งแรงขึ้น ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม นั่นเอง

ด้านขุมพลัง ในตลาดต่างประเทศ Forester ใหม่ จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด ตามความต้องการในแต่ละประเทศ โดยมีทั้งแบบ เบนซิน 2.5 ลิตร และ เบนซิน Hybrid 2.0 ลิตร รายละเอียดมีดังนี้

– FB25 (Japan Domestic Market & US Market)

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 2,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94.0 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 12.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงดัวยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมเทคโนโลยี แคมชาฟต์แปรผันได้ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย Dual AVCS และ TGV (Tumble Generated Valve)

เวอร์ชันญี่ปุ่น 184 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.4 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที
เวอร์ชันอเมริกาเหนือ 182 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.2 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที

ทั้งคู่ เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Asymetric AWD ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT Lineatronic

– FB20 e-BOXER (Japan Domestic Market Only)

เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.5 : 1 ซึ่งถูก ปรับจูนการจ่ายน้ำมัน และ องศาจุดระเบิดใหม่เพื่อเน้นความประหยัดน้ำมัน และ ลดมลภาวะ แต่จะชดเชยกำลังด้วยมอเตอร์ เพื่อให้มีแรงกลับขึ้นมาเท่ารุ่นเบนซิน

กำลังสูงสุด 145 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พ่วงกับมอเตอร์ไฟฟ้า MA1 กำลังสูงสุด 10 กิโลวัตต์ หรือ 13.6 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 65 นิวตันเมตร หรือ 6.6 กก.-ม.จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ CVT Lineartronic ส่งกำลังผ่านระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full-time

แต่สำหรับ Forester  ใหม่ เวอร์ชัน Thai จะยังคงใช้เครื่องยนต์ บล็อกเดียวกัน รุ่นเดียวกันกับ Forester รุ่นที่แล้ว และ XV ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นล่าสุด เพียงแต่ว่า มีการปรับปรุงรายละเอียดไส้ในเสียใหม่ จนเป็นเครื่องยนต์ เวอร์ชันเดียวกับ XV รุ่นปัจจุบัน

นั่นคือเครื่องยนต์ รหัส FB20 เบนซิน 4 สูบนอน BOXER DOHC 16 วาล์ว 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์

แม้จะยังเป็นเสื้อสูบแบบเดิม บล็อกเดิม แต่ทีมวิศวกรเครื่องยนต์ของ Subaru ระบุว่า มีการปรับปรุงชิ้นส่วนไส้ในทั้งหลายให้แตกต่างจากเครื่องยนต์เดิมในรถรุ่นก่อน มากถึง 80% มีทั้งการปรับปรุงหลักๆ เช่น เปลี่ยนระบบหัวฉีดแบบปกติ (Port Injection) เป็นหัวฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ (Direct Injection) และมี Camshaft แบบแปรผันองศาได้ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย (Dual AVCS)

ผลของการปรับเปลี่ยนวัสดุในจุดต่างๆ ทำให้น้ำหนักเครื่องยนต์โดยรวม เบาลงกว่าเดิมอีก 12 กิโลกรัม และทำให้กำลังสูงสุด เท่ากับ XV เป๊ะ! กล่าวคือ แรงเพิ่มขึ้นจาก 150 เป็น 156 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตัน-เมตร ( 20.0 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที (แรงบิดสูงสุด เท่าเดิม แต่มาเร็วขึ้น 200 รอบ/นาที) และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นจาก XV ซึ่งอยู่ที่ 162 กรัม/กิโลเมตร เป็น 179 กรัม/กิโลเมตร (อ้างอิงจาก Eco Sticker ของรัฐบาลไทย)

ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Lineartronic CVT รหัส TR580GDJBA ซึ่งถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาลงกว่าเกียร์รุ่นเดิม 7.8 กิโลกรัม ใช้โซ่ขับเคลื่อนเกียร์แบบที่ทำงานเงียบเสียงลงกว่าเดิม และยังเปลี่ยนโปรแกรมสมองกลควบคุมการทำงานของเกียร์ใหม่ ให้มีการไล่รอบคล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ ในจังหวะกดคันเร่งเดินหน้าลึกกว่าปกติ หรือกดคันเร่งเต็ม

นอกจากนี้ ยังมีโหมด +/- เพื่อให้ผู้ขับขี่ เลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ได้เอง พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ด้านหลังพวงมาลัย โดยเพิ่มการล็อกอัตราทดจาก 6 จังหวะ ในรุ่นเดิม เป็น 7 จังหวะ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

อัตราทดในโหมด CVT ปกติ = 3.600〜0.512
อัตราทดในโหมด + / – มีดังนี้

เกียร์ 1 ……… 3.600
เกียร์ 2 ……… 2.155
เกียร์ 3 ……… 1.516
เกียร์ 4 ……… 1.092
เกียร์ 5 ……… 0.843
เกียร์ 6 ……… 0.667
เกียร์ 7 ……… 0.557
เกียร์ถอยหลัง 3.687
ทดเฟืองท้าย 3.900 (รุ่นเดิมอยู่ที่ 3.700)

ระบบขับเคลื่อน เป็นแบบ 4 ล้อ Asymetrical Full-Time AWD เหมือนเช่นที่ Subaru ติดตั้งให้กับรถยนต์ของตนมานานเกินกว่า 50 ปี พร้อมระบบ X-MODE ซึ่งเคยประจำการมาตั้งแต่ Forester รุ่นเดิมแล้วแต่มีการปรับปรุงใหม่จากเดิม โดยเพิ่มโปรแกรม SNOW กับ MUD เข้ามา

เดิมที โปรแกรม X-MODE ใน Forester รุ่นเก่า จะเป็นปุ่มกดเพียงปุ่มเดียว เมื่อเปิดใช้งาน ตัวรถจะปรับการทำงานของคันเร่งให้ช้าและนุ่มนวลขึ้น, สั่ง Lock Limited Slip มากขึ้น ปรับการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control) ให้เหมาะกับการลุยบนพื้นลื่น และเปิดการใช้งานระบบไต่ลงทางลาดชัน Hill Descent Control

พูดให้ง่ายๆก็คือ ในระบบขับเคลื่อน 4 ล้อปกติ แม้คุณจะขับผ่าน เส้นทางที่ลื่นไปด้วย เลน โคลน หรือหิมะ แม้ว่า Forester จะลุยไปได้ด้วย ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อปกติ แต่ ระบบ VDC ก็จะต้องร้องเตือน และพยายามเข้ามาจุ้นจ้าน ทำตัวเป็นครูฝ่ายปกครอง ด้วยวิธีตัดการจ่ายกำลังไปยังล้อที่กำลังหมุนฟรี ดังนั้น คุณอาจจะขับผ่านเส้นทางลื่นๆ ไปได้อย่างช้าๆ แต่ก็ไม่ได้สะดวกโยธินมากนัก

ส่วนระบบ X-MODE แทนที่จะเข้าไปทำตัวเป็นครูฝ่ายปกครองเพียงอย่างเดียง ระบบ VDC จะเปลี่ยนบทบาท เป็นครูฝ่ายปกครองที่เข้าใจเด็ก จนทำหน้าที่ ฝ่ายแนะแนว พ่วงไปด้วย โดยใช้วิธีเข้าไปขอข้อมูลการหมุนของล้อทั้ง 4 มานั่งดู แล้วพยายาม ควบคุมไม่ให้ล้อข้างใดข้างหนึ่งหมุนฟรี ทันทีที่ตรวจพบว่า ล้อฝั่งใด หมุนฟรี ก็จะรีบสั่งให้ล้อที่เหลือ หมุนเพิ่มขึ้น ลดการส่งแรงบิดไปยังล้อข้างที่หมุนฟรี เพื่อช่วยดึงรถให้พ้นจากสภาพถนนลื่น ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และ ง่ายดายขึ้น

แต่สำหรับ X-MODE ของ Forester ใหม่ จะเปิดโอกาสให้ผู้ขับเลือก X-MODE ได้ 2 แบบ คือแบบ SNOW/DIRT ซึ่งจะยังเปิดให้ระบบ Traction Control ทำงานอยู่ สำหรับวิ่งบนถนนที่ลื่นมากเพื่อการทรงตัวที่ดี แต่ในการลุยแบบออฟโรดบางครั้งจำเป็นต้องมีจังหวะที่เรายอมปล่อยให้ล้อหมุนฟรีบ้าง เพื่อให้รถยังคงเคลื่อนไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ จึงมีโหมด DEEP SNOW/MUD เพิ่มขึ้นมา ซึ่งระบบนี้จะตัดการทำงานของ Traction Control ออกไปเลย ปล่อยให้ล้อหมุนฟรีได้มากขึ้น

อันที่จริง ผู้ขับจะเปิดหรือปิด Traction Control เองก็สามารถทำได้ แต่ในรุ่นเก่า จะต้องกดปุ่ม X-MODE และกดปิด/เปิด Traction Control เองในขณะที่รุ่นใหม่นั้นเพียงหมุนสวิตช์ทีเดียวจบ

นอกจากนี้ ยังมีระบบ ATV (Active Torque Vectoring) ซึ่งช่วยเบรกล้อในโค้ง ขณะกำลังเข้าโค้ง เพื่อช่วยให้รถเลี้ยวเข้าโค้งได้เฉียบคมยิ่งขึ้น (ซึ่งในบางกรณี ที่ใช้ความเร็วในโค้งมากเกินไป ผู้ขับขี่ อาจรู้สึกเหมือนว่า หน้ารถจะทิ่มจิกโค้งเยอะ และบั้นท้ายรถออกนิดๆ)

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น เรายังคงจับเวลาทดลองหาอัตราเร่งด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ ทดลองในเวลากลางคืน เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง ให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปิดแอร์ และเปิดไฟหน้าผู้โดยสารและผู้ขับขี่ รวม 2 คน คือมีผม 100 กิโลกรัม กับสักขีพยานช่วยจับเวลาอีก 1 คน คือ Kantapong Somchana น้ำหนักตัวล่าสุด 48 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ Forester รุ่นเดิม XV และ คู่แข่งร่วมพิกัดเดียวกัน ออกมาได้ ดังนี้

เมื่อเห็นตัวเลขกันแล้ว ก็คงไม่มีอะไรให้ต้องสงสัยอีกต่อไป ถ้ามองกันแค่เกมการจับเวลาหาอัตราเร่ง บอกเลยว่า Forester ใหม่ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เสร็จเพื่อนฝูงเขาเกือบหมดรุ่น ตัวเลขนี่ ไหลลงไปอยู่ท้ายตาราง แถมยังเป็นรองญาติผู้น้องของตัวเองอย่าง XV ใหม่เข้าให้อีก แม้จะยังพอทำใจได้ว่า ตัวเลขยังไม่ร่วงลงไปต่ำกว่าระดับ 13 วินาที และจะว่าไปแล้ว อัตราเร่ง ก็พอๆกับ รถเก๋ง ECO Car 1.2 ลิตร เกียร์ธรรมดา

การที่ตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะหดหายไปราวๆ 0.5 วินาที และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่หายไป 0.3 วินาที สำหรับ SUV บ้านๆ เพื่อการใช้งานทั่วไป นั่นก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างอื่นใดมากมายนัก…จาก XV เว้นเสียแต่ว่า ถ้าคุณจะเอาไปเปรียบเทียบกับชาวบ้านชาวช่องเขา หรือแม้แต่เทียบกับ Forester 2.0 ลิตร รุ่นเดิม…คุณจะพบว่า อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งหนะ อืดลงมาก แต่ช่วงเร่งแซง กลับดีขึ้น

หากสังเกตดีๆ จะพบว่า แม้อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Forester 2.0 ลิตร รุ่นล่าสุด จะช้ากว่ารุ่นเดิม มากถึง 1.32 วินาที ทว่า ช่วงเร่งแซง 80 -120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับเร็วขึ้นกว่าเดิมแค่ 0.37 วินาที

เหตุผลที่ ตัวเลขช้ากว่า XV ใหม่ ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังแบบเดียวกัน มี 4 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาดั้งเดิมอันเกิดจากการที่ วิศวกร Subaru เลือกเซ็ตโปรแกรมกล่องสมองกลของเกียร์ ให้เน้นการออกตัวที่นุ่มนวล เพื่อยืดอายุการใช้งานของเกียร์ให้ยาวนานขึ้น (การออกตัวที่นุ่มนวล จำเป็นมากสำหรับการใช้งานเกียร์ CVT ให้ได้ยาวนาน) ดังนั้น อาการคล้ายกับ อมคันเร่ง ช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง จึงเกิดขึ้น เหมือนกับ XV ไม่มีผิดเพี้ยน

อีก 3 ประเด็นที่เหลือ นั่นคือ ขนาดของล้อยางที่เปลี่ยนไป ใช้ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว แม้ว่าเส้นรอบวงจะใกล้เคียงกับ XV แต่น้ำหนักของกระทกล้อที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อตัวเลขอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ตัวรถมีความสูงมากกว่า กระจกบังลมก็ตั้งชันกว่า ความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ จึงลดน้อยลงเมื่อเทียบกับ XV

ประเด็นสุดท้าย นั่นคือ น้ำหนักตัวของ Forester 2.0 i-S คันที่เรานำมาทดลองขับนั้น ปาเข้าไป 1,542 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนักตัวของ XV 2.0 i-P ตัว Top อยู่ที่ 1,439 กิโลกรัม ต่างกันถึง 104 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีผลต่อตัวเลขอัตราเร่งอย่างยากเกินจะหลีกเลี่ยง

จากจุดหยุดนิ่ง เมื่อคุณกดคันเร่งเข้าไปเต็มตีน สมองกลเครื่องยนต์ เหมือนจะถูกกระชากให้ตื่นจากเตียงนอน แบบกระทันหัน จึงดูเหมือนว่าต้องขอเวลาตั้งตัวสักเศษเสี้ยววินาที ก่อนจะสั่งให้ลิ้นปีกผีเสื้อ เปิดอ้ากว้างๆ รับละอองน้ำมัน เข้าสู่ห้องเผาไหม้ ในปริมาณมากๆ ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น เกียร์ CVT ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เข็มความเร็วจะยังคงไต่ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่จะเริ่มแผ่ว ลงไปหน่อย ในช่วงปลาย กว่าจะถึงความเร็ว 190 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ นั่นว่าเหนื่อยแล้ว ยิ่งต้องรอจนถึง Top Speed 203 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยิ่งต้องรอนานกว่ามากๆ

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ด้วยเหตุที่ Forester ใหม่ วางเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังชุดเดียวกันกับ XV รุ่นที่ 2  ดังนั้น ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นครับ ในการขับขี่จริง การตอบสนองก็ยังคงเหมือนกันกับ XV ใหม่ ทุกประการ

เกียร์ CVT คราวนี้ ถูกเซ็ตมาให้ทำงาน ถวายชีวิต ผิดหูผิดตาขึ้นมาอย่างไม่จำเป็น บางช่วง ผมต้องการรักษาความเร็วเอาไว้ที่ 100 หรือ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับกลายเป็นว่า ถ้าผมเลี้ยงคันเร่งนิ่งๆ เกียร์ จะตัดเปลี่ยนลงไปยังเกียร์ 6 ให้ตลอดเวลา มีทางเดียวที่ทำได้ หากต้องการให้รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่านี้ คือ ผลักคันเกียร์ ไปที่ M แล้วตบแป้น Paddle Shift ให้ขึ้นไปอยู่เกียร์ 7 ยาวๆ แล้วคอยเลี้ยงคันเร่งไว้ในระดับเดิม หรือลึกเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง

ทว่า ถ้าผมต้องทำเช่นนั้น ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน หากคันเกียร์ค้างไว้ในตำแหน่ง M และตอนนี้ รถคุณอยู่ที่เกียร์ 7 ขับเนิบๆ บังเอิญต้องเร่งแซงขึ้นมาทันที พอเหยียบคันเร่งจมมิดกระทันหันลงไป เกียร์จะไม่เปลี่ยนลงตำแหน่งต่ำกว่าให้ มันจะเกิดอาการ “เหยียบคันเร่งแล้วฟาวล์” เร่งไม่ไป ต้องตบแป้น Paddle Shift ลดเกียร์ลงมาด้วยตัวคุณเอง ซึ่งผมว่า นี่เป็นเรื่องน่ารำคาญใจไม่น้อย เวลาที่ขับรถออกต่างจังหวัด  ทั้งที่ปกติแล้ว สมองกลเกียร์ลูกนี้ จะถูกโปรแกรม มาให้ตัดเปลี่ยนเกียร์ทันที เมื่อผู้ขับขี่ลากรอบ เป็นเช่นเดียวกับ Forester รุ่นเดิม

ส่วนการเก็บเสียงรบกวนจากภายนอกนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ Forester รุ่นเดิม จะพบว่า ขณะจอดนิ่งสนิท เสียงเครื่องยนต์ขณะเดินเบา ถือว่าค่อนข้างดังกว่าคู่แข่งคันอื่นๆ ยิ่งตอนติดเครื่องยนต์ใหม่ รอบเครื่องจะตีขึ้นไปถึง 1,500 รอบ/นาที เพื่อเร่งอุณหภูมิเครื่องยนต์ให้ร้อนเร็วขึ้น เพื่อให้ Catalytic Converter ร้อนพอที่จะทำงานได้ไวขึ้นก่อนจะค่อยๆลดลงมาเหลือ 1,200 และ 1,000 รอบ ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นนิสัยเดียวกับที่คุณจะพบได้ใน XV

เมื่อขับไปสักพัก คุณจะพบว่า หากใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงจากภายในรถจะค่อนข้างเงียบลงมาก สงบขึ้นเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้วัสดุซับเสียง บริเวณพื้นรถค่อนข้างเยอะพอสมควร เก็บเสียงเล็กๆน้อยๆ ได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเกินจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังครึ่งท่อนด้านบนรถ จะเล็ดรอดผ่านตามซอกกระจกหน้าต่าง เข้ามาให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ และจะดังขึ้นตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่กระจกบังลมหน้ารถ ตั้งชันชัดเจน ต้านลม และยางขอบประตูด้านข้าง ก็ยังมีส่วนช่วยให้เสียงลมเล็ดรอดเข้ามาได้อยู่ดี

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัย แบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.4 เมตร ซึ่งยกชุดมาจาก XV ทั้งยวง (เช่นเดียวกับ Forester รุ่นก่อน ที่ยกแร็คจาก XV รุ่นแรก มาใส่ทั้งดุ้น)

กระนั้น การเปลี่ยนล้ออัลลอยจาก 17 นิ้ว ใน XV มาเป็น 18 นิ้ว แม้จะใช้ยางหน้ากว้าง ไซส์ 225 เท่ากัน ก็มีส่วนช่วยเพิ่มให้น้ำหนักการหมุนพวงมาลัยของ Forester ใหม่ ในช่วงความเร็วต่ำ หนักขึ้นนิดนึง หนืดขึ้นกำลังดี แรงขืนที่มือ ไม่เบาหวิว หรือเบาโหวงแบบรถญี่ปุ่นและรถยุโรปยุคใหม่ทั่วๆไป อยู่ในระดับที่ ช่วยให้คุณพ่อบ้านยังคงรู้สึกมั่นใจตอนเลี้ยวรถ ไปพร้อมๆกับยังพอให้คุณแม่บ้าน หมุนพวงมาลัยถอยรถเข้าจอดได้ โดยไม่ต้องออกแรงมากเกินไป ระยะฟรีน้อย ถือว่า ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักพวงมาลัยเหมาะสมพอดีแล้ว ชนิดไม่ต้องไปปรับแก้ไขอะไรอีก

เพียงแต่ว่า ถ้าจอดรถไว้เฉยๆ นานๆ แรงดันของพวงมาลัย อาจจะลดลง จนคุณอาจสัมผัสถึงความเบาเพิ่มจากปกติได้นิดนึง ต้องขับไปสักพัก จึงจะกลับมาให้สัมผัสหนืดกำลังดีตามเดิม ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องปกติของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ทั่วไป

ในช่วงความเร็วเดินทาง พวงมาลัยบังคับเลี้ยวได้แม่นยำในระดับกำลังดี เหมาะสมกับรูปแบบตัวรถ ไม่เนือยเลย แถมยังนิ่งไว้ใจได้ On-Center feeling กำลังดี เอาง่ายๆก็คือ ณ ความเร็ว 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย ได้นานถึง 12 วินาที และตัวรถก็ยังคง พุ่งตรงไปข้างหน้า และให้ความมั่นใจได้ดีในการบังคับควบคุมได้ดีตามมาตรฐานของ Subaru ไม่ว่าจะถือตรงๆนิ่งๆ หรือจะเลี้ยวเข้าโค้ง แต่มีบุคลิกคล้ายกับ XV ใหม่ ในช่วงที่หมุนพวงมาลัยเพื่อเริ่มเลี้ยว หรือหมุนไปมา ซ้ายขวาๆ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเลนกระทันหัน อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพราะพวงมาลัยค่อนข้างจะไวต่อการตอบสนอง แค่หักเพิ่มนิดเดียว รถก็เปลี่ยนเลนแล้ว

บอกเลยว่า พวงมาลัยของ Forester ใหม่ เซ็ตมาดีแล้ว ไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรแล้วนะ ถ้าดันไปแก้ไขในรุ่นต่อไปให้เบาขึ้นอีกละก็ พ่อจะตีมือวิศวกรให้หักเลยคอยดู!

ระบบกันสะเทือน ยังคงใช้รูปแบบเดิม เหมือนกับรถรุ่นก่อน ด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone อย่างไรก็ตาม มีการปรับปรุงตำแหน่งจุดยึดต่างๆ ให้สามารถใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ร่วมกับ Impreza และ XV รุ่น 2 ได้ ในหลายๆชิ้น กระนั้น บุคลิกของระบบกันสะเทือน ก็ยังคงถูกเซ็ตมาในลักษณะ “หน้านุ่ม หลังแน่น (เกือบแข็ง แต่ยังไม่แข็งกระด้าง)” เหมือนเช่นรุ่นเดิม

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานๆ ไปตามตรอกซอกซอย ช่วงล่างของ Forester รับมือกับหลุมบ่อ ฝาท่อ และเนินสะดุด ลูกระนาด ได้ดี ในสไตล์ที่คล้ายกับ Forester รุ่นเดิม นั่นคือ ต้องถูกเซ็ตให้มีความนุ่มนวลกว่า XV อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่ง แก้มยางที่หนา ซีรีส์ 55 ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความนุ่มนวลขณะขับผ่านพื้นผิวที่ไม่เรียบเช่นนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง

ต่อให้ใช้ความเร็วต่ำ บนทางขรุขระ ทั้งถนนแบบก้อนกรวด หรือ ถนนที่ทรุกตัวจนมีหลุมบ่อเต็มไปหมด หากใช้ความเร็วไม่สูงนัก คลานไปช้าๆ เหมือนพวกสาย Off-Road ช่วงล่าง Forester ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้ดีจนไม่รู้จะหาข้อตำหนิใดได้ง่ายนัก

ด้านการตอบสนองขณะใช้ความเร็วสูง ยังคงนิ่ง มั่นใจได้ ตามแบบฉบับของ Subaru ที่นิ่ง มั่นคง และวางใจได้ ตั้งข้อสังเกตว่า Forester รุ่นก่อน อาจมีความไม่มั่นใจเกิดขึ้น ในช่วงความเร็วเกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะมีอาการหน้าลอยเพิ่มเข้ามา ทว่า ในรถรุ่นใหม่ อาการดังกล่าว ไม่มีปรากฎให้เห็นอีกเลย ผมยังสามารถพา Forester ใหม่ แล่นทะยานไปด้วยความเร็วสูงได้อย่างไม่มีอะไรให้ต้องกลัวหรือกังวล ยกเว้นแค่ในวันที่กระแสลมปะทะด้านข้าง เริ่มพัดรุนแรง ตัวรถจึงจะเริ่มออกอาการแกว่งเล็กๆ ไปตามกระแสลม หลังจากความเร็วช่วง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ สำหรับรถที่มีตัวถังสูงสไตล์ SUV อย่างนี้อยู่แล้ว

สิ่งที่แตกต่างไปจาก Forester รุ่นเดิม จนสังเกตได้ คือ ในขณะลองโยนเปลี่ยนเลนไปทางด้านข้างแบบเร็วๆ หรือการเลี้ยวเข้าโค้งตัว S ซ้ายที ขวาที อากัปกิริยาของรถนั้น สัมผัสได้เลยว่า ตัวรถคล่องแคล่ว มากขึ้น มีชีวิตชีวาเพิมขึ้น และให้ความสนุกในการบังคับควบคุมมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม เห็นได้ชัดเลยว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนพื้นตัวถัง เป็นแบบใหม่ SGP ที่ช่วยเปลี่ยนบุคลิกของ Forester คันเดิม ให้ รับมือกับการสั่งงานของผู้ขับขี่ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนความเร็วบน 5 ทางโค้ง แห่งทางด่วนเฉลิมมหานคร อันเป็นทางโค้งที่ผมใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 1 ขึ้นไป นั้น บนโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Forester ทำได้ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) พอดี ถ้ามากกว่านี้ ยางติดรถจะเริ่มรับมือไม่ไหว และออกอาการหน้าดื้อเพิ่มมาให้สัมผัสนิดนึง

ต่อเนื่องไปที่โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ผมพา Forester ใหม่ เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอดีเช่นกัน ตัวรถมีอาการเอียงออกทางด้านข้างพอกันกับรถรุ่นเดิม และเหมือนมีอาการหยึยๆ ไปตามการกระดิกพวงมาลัยแม้เพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตร แต่ด้วยเหตุที่ตัวรถ ถูกเปลี่ยนมาใช้ Platform SGP จึงทำให้รถมีบุคลิกคล่องแคล่วขึ้น ดังนั้น คุณอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า มันไม่ได้นิ่งหรือหนักแน่น มากเท่ารถรุ่นเดิม ทั้งที่จริงๆแล้ว มันก็ยังคงเข้าโค้งได้ดีเหมือนเดิมนั่นแหละ

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมพา Forester ใหม่ เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ เมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางและช่วงล่างจะเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว พอตั้งลำได้อีกครั้ง ก็เหยียบคันเร่งเพิ่ม ส่งรถเข้าโค้งขวายกระดับ ขึ้นไป ด้วยความเร็ว 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งหน้ารถก็จะจิกลงไปบนล้อหน้าฝั่งซ้ายมากชัดเจน

สรุปว่า ช่วงล่างของ Forester ใหม่ นั้น เซ็ตมาในแนว หน้านุ่ม หลังแน่น (เกือบแข็ง) กว่า XV และ ยังคงให้ความมั่นใจในการขับขี่ทุกสภาพถนนดังเดิม แต่เพิ่มเติมคือสัมผัสได้ว่า ตัวรถทั้งคัน เหมือนจะเบาขึ้น คล่องแคล่วขึ้น เลนโค้ง เปลี่ยนเลน ได้คล่องขึ้น ในสไตล์เดียวกับบรรดารถยนต์ญี่ปุ่น ที่เปลี่ยนมาใช้ Modular Platform ยุคใหม่ นั่นเอง คุณอาจจะเจอ อาการหยึยๆ เล็กๆ อยู่บ้าง ถ้าเผลอเติมพวงมาลัยในโค้ง เพิ่มแม้แต่เศษเสี้ยวเซ็นติเมตร แต่ไม่ต้องกังวล มันไปได้สบายๆ นั่นแหละครับ ใส่เข้าโค้งไปได้เลย

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก พร้อมรูครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist พร้อมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control System) แบบมีสวิชต์ เปิด – ปิดการทำงานที่ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ระบบเพิ่มแรงบิดไปยังล้อเพื่อช่วยเข้าโค้งอย่างเหมาะสม Active Torque Vectoring Control ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) ระบบช่วยขับลงเนิน HDC (Hill Descent Control) รวมทั้งระบบป้องกันปัญหาคันเร่งค้าง Brake Override System (ถ้าคันเร่งกับเบรก ถูกเหยียบพร้อมกัน ระบบจะตัดกำลังเครื่องยนต์อัตโนมัติ เพื่อให้คนขับ เบรกชะลอจอดเข้าข้างทางได้)

แป้นเบรก มีระยะเหยียบ ปานกลาง ค่อนข้างสั้น ก็จริง แต่ถูกเซ็ตมาให้มีน้ำหนักเท้าที่หนืดกำลังดี คล้ายกับแป้นเบรกของ Mercedes-Benz เครื่องยนต์สันดาป รุ่นใหม่ๆ (ที่ไม่มีระบบไฟฟ้า EQ Hybrid ใดๆ) ในช่วงความเร็วต่ำ หรือขณะขับขี่ในเมือง แป้นเบรก ของ Forester ใหม่ ตอบสนองได้ดีน่าประทับใจขึ้นมาก คือ อยากให้ผ้าเบรกจับแค่ไหน ก็เหยียบลงไปแค่นั้น สามารถควบคุมให้รถค่อยๆจิดจนนิ่งสนิทได้ โดยไม่มีอาการหัวทิ่มหัวตำใดๆทั้งสิ้น เป็นการเซ็ตแป้นเบรกในแบบที่ ไม่ใช่เพียงแค่คุณแม่บ้านน่าจะชื่นชอบ หากแต่คุณพ่อบ้านเท้าหนัก หรือแม้แต่ผม ก็ขอชื่นชมไว้ด้วยตรงนี้

ส่วนการเบรกจากความเร็วสูงนั้น หลังจากที่ผมตำหนิไป ในรถรุ่นเดิมว่า ควรจะปรับปรุงการหน่วงรถลงมาให้ดีกว่านี้ พอเป็น Forester ใหม่ ทีมวิศวกร Subaru ก็ปรับปรุงให้เพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ต้องการหน่วงรถลงมาแค่ไหน ก็เหยียบเบรกไปเท่านั้น ทำงานได้ตามสั่ง นุ่มหนืดเท้ากำลังดี แถมอาการ Fade จากผ้าเบรกที่เคยมี ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่คุณซัดมาเต็มที่ แล้วมีเหตุให้ต้องเบรกต่อเนื่องกัน หรือเบรกถี่ๆ จนไม่มีเวลาให้ผ้าเบรกคลายความร้อนเลยนั้น คราวนี้ ผมแทบไม่พบอาการดังกล่าวโผล่มาให้เจอเลยตลอดระยะเวลาที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ Forester ใหม่ ถ้าจะบอกว่า นี่คือแป้นเบรกในอุดมคติ สำหรับรถยนต์ครอบครัว อย่างที่ผมคาดหวังจะเห็นจากบรรดา รถยนต์รุ่นใหม่ๆ เลย คุณจะเชื่อหรือไม่?

ด้านความปลอดภัย Subaru ติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ตำแหน่ง ม่านลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ 1 ตำแหน่ง เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 5 ตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner & Load Limiter จุดยึดเบาะนั่งเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานให้กับ Forester ใหม่ทุกคัน รวมทั้งยังมี เซนเซอร์กะระยะช่วยจอด ด้านหลัง พร้อมกล้องมองภาพ ทั้งด้านข้างตัวรถ และด้านหลังบริเวณเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง มาให้

นอกจากนี้ Forester ใหม่ จะเป็น Subaru รุ่นแรกในประเทศไทย ที่จะได้ติดตั้งระบบ EyeSight ซึ่งเป็นระบบกล้อง Sterio Camera เพื่อตรวจจับ วัตถุที่หรือสิ่งมีชีวิตที่ตัดหน้ารถ ในความเร็วหลากหลาย ทำงานร่วมกับระบบตัวช่วยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา Blind Spot Warning
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง SVRD
  • ระบบเบรกอัตโนมัติก่อนการชน Pre-Collision Braking
  • ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control
  • ระบบถอนคันเร่งก่อนการชน Pre-Collision Throttle Management
  • ระบบเตือนเมื่อออกจากเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว Lane Departure Warning
  • ระบบเตือนเมื่อขับรถส่าย Lane Sway Warning
  • ระบบเตือนเมื่อรถคันข้างหน้า เริ่มเคลื่อนที่ Lead Vehicle Start Alert

Forester 2.0 i=S EYESIGHT จะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าชาวไทยได้ ตั้งแต่ กลางเดือนกรกฎาคม 2019 เป็นต้นไป

โครงสร้างตัวถังสร้างขึ้นบน Platform SGP (Subaru Global Platform) โดยเน้นไปที่ การปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบของเหล็ก และกระบวนการขึ้นรูปตัวถัง ในหลายๆจุด โดยเหล็กรีดร้อน ผ่านกรรมวิธีขึ้นรูปแบบ Hot Stamp ที่ถูกนำมาใช้กับโครงสร้างตัวถัง มีถึง 5 ระดับความเหนียว

เริ่มตั้งแต่ระดับ 270 MPa (เมกกะปาสคาล) ในบริเวณโครงสร้างหลักๆ ที่เน้นทำหน้าที่กระจายแรงกระแทก เช่นพื้นตัวถังตั้งแต่เบาะหลังไปจนถึงช่องวางยางอะไหล่ ผนังห้องเครื่องยนต์ ที่กั้นห้องโดยสารไว้ รวมถงคานหลังคาแนวขวาง ช่วงครึ่งคันหลัง ในสัดส่วน 47% จากโครงตัวถังทั้งคัน

เหล็กรีดร้อน ความเหนียว 440 MPa (สีน้ำเงินเข้ม) ถูกนำมาใช้กับพื้นตัวถัง และชิ้นส่วนรับแรงปะทะบริเวณรอบๆห้องเครื่องยนต์ ในสัดส่วน 12% ขณะที่ เหล็กรีดร้อน ความเหนียว 590 MPa (สีชมพู) ถูกนำมาใช้ในสัดส่วนถึง 30% ทั้งบริเวณคานโครงสร้างพื้นถัวถัง คาน Cross Member ใต้ห้องเครื่องยนต์

นอกจากนี้ ยังมีเหล็กรีดร้อน ความเหนียว 980 MPa ถูกนำมาใช้ในสัดส่วน 7% กับบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ต่อเนื่องไปถึงเสาหลังคาด้านข้าง และเสาคู่กลาง B-Pillar เท่านั้นยังไม่พอ Subaru ยังยกระดับการนำเหล็กรีดร้อน ที่ถือว่าเหนียวสุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ คือ 1,470 MPa มาใช้กับ คานโครงกระดูกงู ช่วงใต้เบาะคู่หน้า เพื่อช่วยรองรับและกระจายแรงกระแทกจากการชน ได้ดียิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบการเชื่อมตัวถัง บริเวณเสาหลังคาคู่หลัง เข้ากับกรอบช่องทางเข้าออกห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง รวมทั้งการขึ้นรูปฝากระโปรงหน้า กับชิ้นส่วนเปลือกตัวถัง บริเวณซุ้มล้อคู่หน้า ด้วย Aluminium เพื่อช่วยลดน้ำหนักตัว ลงไปและเสริมคานกันกระแทกในประตูทั้ง 4 บาน และการออกแบบให้เครื่องยนต์ กับระบบส่งกำลัง ร่วงลงไปกองที่พื้น เมื่อเกิดอุบัติเหต เพื่อลดความเสียหายจากการที่เครื่องยนต์พุ่งอัดเข้ามายังห้องโดยสาร อีกด้วย

จากการพัฒนาโครงสร้างตัวถังให้แข็งแกร่ง มีน้ำหนักเบา และปลอดภัยยิ่งขึ้น ทำให้ Forester รุ่นที่ 5 ผ่านมาตรฐานทดสอบการชนในระดับ 5 ดาว จาก คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการจราจรและทางหลวงแห่งชาติ NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งคว้ารางวัล 2019 Top Safety PICKS + จาก สถาบันประกันภัย เพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง IIHS (Insurance Institute for Highway Safety) และ สถาบันข้อมูลการสูญเสียบนทางหลวง HLDI (Highway Loss Data Institute) ซึ่งมักคิดรูปแบบการชนแปลกๆ มาให้ผู้ผลิตรถยนต์ปวดกบาลเล่นๆเป็นประจำ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังผ่านการประเมิณในระดับ 5 ดาว จากการทดสอบการชนตามโปรแกรม ANCAP (Australasian New Car Assesment Program) สำหรับรถยนต์ทุกคันที่จำหน่ายใน Australia และ New Zealand

ล่าสุด Forester ใหม่ ยังผ่านการทดสอบและประเมิณ ความปลอดภัยตามโปรแกรม Japan New Car Assessment Program (JNCAP) ซึ่งจัดโดย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ MLTI (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) และองค์กรเพื่อความปลอดภัยและการเยียวยาเหยื่อจากอุบัติเหตุด้านยานยนต์ NASVA (National Agency for Automotive Safety and Victim’s Aid) ของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ ด้วยตัวเลขสูงสุดถึง 96.5 คะแนน

รายละเอียด คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://www.nhtsa.gov/vehicle/2019/SUBARU/FORESTER
https://www.iihs.org/ratings/vehicle/subaru/forester-4-door-suv/2019
https://www.ancap.com.au/safety-ratings/subaru/forester/1f3f86
http://www.nasva.go.jp/mamoru/car_detail/233

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
********** Fuel Consumption Test (Highway Mode)**********

ในเมื่อ Forester ใหม่ ใช้เครื่องยนต์ลูกเดียวกับ XV จนมีบุคลิกการตอบสนองด้านอัตราเร่ง ที่เหมือนกับ XV ดังนั้น หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วความประหยัดน้ำมันละ? ในเมื่อ Forester ใหม่ มีรูปทรงหลังคาที่สูงกว่า และกระจกหน้าตั้งชันกว่า และต้านลมกว่า XV แล้วตัวเลขความประหยัดน้ำมัน จะยังคงออกมาใกล้เคียงกันหรือไม่?

เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีการดั้งเดิม คือการนำรถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ในเมื่อ Foresterเป็นรถยนต์นั่งกลุ่ม SUV ขนาดกลาง ถึงแม้จะมีคนอยากรู้ถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าในกลุ่มนี้ ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจ เติมน้ำมัน ด้วยวิธี เติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถ อย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2.0 ลิตร และรถกระบะ ให้เมื่อยก้นกบ

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 63 ลิตร เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พัดลมแอร์เบอร์ 2

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6

จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ เพื่อมุ่งหน้ากลับเข้าเมืองหลวง โดยรักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบ Cruise Control เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

การทำงานของระบบ Cruise Control ของ Forester ใหม่นั้น ช่างเหมือนกับ XV ไม่มีผิด กล่าวคือ ในตำแหน่งเกียร์ D สมองกลของเกียร์ มักจะสั่งตัดเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ลงมา เพื่อชดเชยรอบเครื่องยนต์ที่ลดลงขณะไต่ขึ้นเนินหรือทางชัน ควบคุมรอบเครื่องยนต์ได้ยากมาก หรือแม้กระทั่ง จะเลี้ยงคันเร่งให่นิ่งๆ ยังยากเลย แค่เผลอคันง่ามเท้าเพียงนิดเดียว เกียร์ก็พร้อมจะตัดเปลี่ยนลงมาทันที ในช่วงแรกๆ เราจึงต้องตัดการทำงานของ Cruise Control เป็นระยะๆ แล้วเปิดใช้งานใหม่

แต่เมื่อผ่านพ้นไปสักระยะ เราพบว่า ถ้าต้องการล็อกทั้งความเร็วรถ และล็อกรอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์ 7 ให้เราเหยียบเร่งความเร็วขึ้นไปจนถึงระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ 1,900 รอบ/นาที เสียก่อน จากนั้น ผลักคันเกียร์ มาที่ตำแหน่ง M แล้วก็ตบแป้น Paddle Shift ขึ้นมาถึงเกียร์ 7 เพียงเท่านี้ ต่อให้เจอทางลาดชัน หรือต้องขึ้นเนิน อย่างมากสุด ความเร็วของรถ จะลดลงมาหน่อยๆ แต่จะไม่มีการตัดเปลี่ยนลงเป็นเกียร์ 5 – 6 เพื่อไต่กลับขึ้นมาสู่ความเร็วที่เราล็อกไว้อย่างเดิมแน่ๆ

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และเติมแค่ระดับหัวจ่ายตัด เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นการทดลอง ทุกประการ

มาดูตัวเลขการทดลองกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.849 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.81 กิโลเมตร/ลิตร 

แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นไปได้ไกลแค่ไหน?

จากการขับขี่ใช้งานจริง นานรวม 2 สัปดาห์ เป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ด้วยน้ำมันถังหมด 3 ถังเต็ม พบว่า ถ้าคุณเป็นคนขับรถแบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ใช้ความเร็วไม่สูงเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเท้าขวา มักเบากว่าคนอื่นเขา น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาคุณกับ Forester ไปได้ไกลถึงเกือบ 600 กิโลเมตร

ยิ่งถ้าคุณคาดหวังความประหยัดจาการขับรถทางไกลมากกว่านี้ ขอแนะนำว่า ให้เปิดระบบ Cruise Control ตั้งความเร็วคงที่ไว้ตามต้องการ จากนั้น ผลักคันเกียร์ มาเป็นโหมด M แล้วตบแป้น Paddle Shift มาที่เกียร์ 7  อันเป็นเกียร์สูงสุดไปเลย เพื่อล็อกให้รอบเครื่องยนต์ อยู่ในช่วงรอบต่ำ ตามตำแหน่งเกียร์ 7 ตลอดเวลา เพียงแต่ว่า คุณจะเหยียบคันเร่งกระทันหัน เพื่อเร่งแซงใดๆ ไม่ได้เลย  ต้องตบเกียร์ลงมา 2 จังหวะรวด เพื่อเร่งแซง หรือไม่ก็ผลักคันเกียร์ กลับไปที่ D ตามเดิม เพื่อให้เกียร์ เลือกทำงานเองตามการอ่านน้ำหนักการกดคันเร่งของคุณ

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นคนเท้าหนัก ตะบี้ตะบันกับคันเร่ง อยู่ตลอดเวลา พร้อมจะสั่งให้เกียร์ CVT ทำงานถวายชีวิตเยี่ยงทาสใต้เรือนเบี้ย สั่งเปลี่ยนแต่เกียร์ 4 5 กับ 6 อยู่ตลอดศก แทบไม่ได้ไปแตะเกียร์ 7 เลย ยืนยันได้ว่า น้ำมัน 63 ลิตร อาจพาคุณแล่นไปได้ไกลเต็มที่สุด ก็ไม่เกิน 450 กิโลเมตร

ดังนั้น ถ้าคุณผู้อ่านรายใดที่ได้รับรถกันไปแล้ว พบว่า มันไม่ค่อยประหยัดน้ำมันมากนัก ผมเข้าใจดีครับ และจะบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักหรอก และถ้าคุณจะขับเนียนๆ น้ำมันถังนึง คุณแล่นได้เกิน 450 กิโลเมตร แน่นอน แต่จะไกลแค่ไหนนั้น อยู่ที่บุคลิกการขับของคุณประกอบกันไปด้วยครับ

********** สรุป **********
SUV ที่ขับดี และนุ่มสบาย เหมาะกับครอบครัวที่ชอบเดินทาง
ถ้ารับได้กับรูปลักษณ์และอัตราเร่งที่ “เรื่อยเปื่อย” 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ผมทำรีวิว Forester รุ่นที่ 4 ออกมาให้คุณๆได้อ่านกัน เมื่อปี 2013 (Click อ่านย้อนหลังได้ที่นี่) ผมเคยให้คำจำกัดความ Forester รุ่นที่ 4 ว่า เป็นการนำคนป่า พากลับเข้าเมือง ลดความดิบเถื่อน จนเริ่มน่าใช้ น่าเป็นเจ้าของ ทว่า มาในรูปลักษณ์ของ “ป้าขายข้าวแกง” ที่อุดมไปด้วยสารอาหารถูกหลักโภชนาการ ทว่า หน้าตาไม่ชวนให้กินเอาเสียเลย ดูอ้วนๆ ทื่อๆ ไม่มีเสน่ห์อันใดที่ชวนให้น่าจดจำเลยแม้แต่น้อย กระนั้น มันก็ทำยอดขายทั่วโลกได้พุ่งพรวดพราด จากการออกแบบที่เน้น Function การใช้งาน ผสานกับคุณสมบัติด้านความมั่นใจในการขับขี่ ทั้งจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Asymetrical AWD และการเซ็ตพวงมาลัยกับช่วงล่าง ที่หนักแน่น แต่แม่นยำ

มาวันนี้ 6 ปีผ่านไป ป้าขายข้าวแกงคนเดิม ก็คงต้องมีสรีระร่างใหญ่ขึ้นนิดๆ ตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้น กระนั้น ป้าเค้าก็ถูกเทรนเนอร์ จับไปออกกำลังกาย ลดน้ำหนักลง แต่สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมากขึ้น จนป้าแกเดินเหินคล่องขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รสอาหารจากฝีมือของป้า ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามนิสัยการกินของป้าที่เปลี่ยนไปนิดๆ ด้วยเช่นกัน การลดปริมาณผงชูรส กับบรรดาเครื่องปรุงทั้งหลายลงมา ทำให้ความจัดจ้านในรสชาติ ลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ป้าเค้าก็ลงทุนใช้วัตถุดิบดีขึ้น ปรับปรุงครัว กระทะ ตะหลิวต่างๆ ให้ใหม่ขึ้น ทำให้อาหารจากฝีมือป้าเค้า ถูกหลักอนามัยมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าอย่างเราๆมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่คุ้มต่อการแลกมา

Forester ใหม่ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลองนึกถึงการนำรถรุ่นเดิม มาเปลี่ยนโครงสร้างตัวถัง และ Platform SGP ใหม่ ที่เบาขึ้น แต่เหนียว และแข็งแกร่งขึ้น เพื่อช่วยลดน้ำหนักลง จนทำให้ตัวรถ ตอสนองต่อการขับขี่ ได้คล่องแคล่วขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้นหน่อยๆ แต่ยังคงเน้นการเซ็ตช่วงล่าง ให้รองรับได้ทั้งการขับขี่ช้าๆเนิบๆ พาอากงอาม่าไปโรงพยาบาล ในวันธรรมดา หรือพาครอบครัวยกโขยงไปเที่ยวต่างจังหวัด ได้อย่างสบายใจ ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงล่างยังคงรองรับในวันทีคุณ “งานเข้า” พาคุณสาดโค้งแซงบรรดารถขับช้าวิ่งขวางเลน ได้อย่างมั่นใจ อันเป็นจุดขายสำคัญของ Subaru มาแต่ไหนแต่ไร ยื่งคราวนี้ พวงมาลัยมีน้ำหนักกำลังเหมาะสม เอาใจคุณแม่บ้านมากขึ้นอีกนิด ต่อให้คุณพ่อบ้านจะบ่นว่าพวงมาลัยเบากว่ารุ่นเดิม แต่ถ้าต้องคิดถึงการเซ็ตรถมาเพื่อเอาใจลูกค้าทั้งโลก ก็เป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ ไม่เพียงเท่านั้น มันยังมีแป้นเบรกที่ตอบสนองได้ดีงามมากสุดในกลุ่ม Compact SUV เวลานี้เลยทีเดียว! นี่ยังไม่นับกับความปลอดโปร่งโล่งสบายของห้องโดยสาร อันเป็นจุดขายสำคัญที่ลูกค้าจำนวนมา ยังคงอยากให้รักษาไว้ เพื่อสืบทอดต่อเนื่องมายัง Forester รุ่นใหม่นี้ด้วย

ถ้าดูตามโจทย์แล้ว Subaru เองก็พร้อมที่จะเข็น Forester ขึ้นมาอยู่บนหัวแถวของตลาดกลุ่ม Compact SUV ให้ได้กันเสียที สังเกตจากยอดขายของเดือนพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 176 คัน มากว่า Nissan X-Trail ซึ่งทำได้แค่ 116 คัน นี่แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ผู้บริโภคชาวไทย ยังพร้อมจะเปิดใจต้อนรับแบรนด์ Subaru กันเอยู่ ขอแค่ได้ ช่างเก่ง ฝีมือดี ราคาอะไหล่ไม่โหดร้ายเกินไป เท่านี้ ก็ช่วยให้ผู้บริโภคเทใจมาให้แล้ว

สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้ ลูกค้า ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ยิ่งกว่าเดิม เพราะในอดีต มีลูกค้าจำนวนมาก ยังคลางแคลงใจกับคุณภาพการประกอบรถยนต์ของโรงงานในละแวกย่าน ASEAN เพราะลูกค้าจำนวนมาก รู้ดีว่า ชาวไทยเรา ประกอบรถยนต์ขาย ส่งออกสู่ตลาดโลก ได้เนี้ยบกว่า ทุกชาติในย่านนี้ คราวนี้ Forester ใหม่ กลายสภาพเป็นรถยนต์ประกอบในประเทศไทยได้สำเร็จเสียที มิเสียแรงที่เราหลายๆคน เคยฝันจะเห็นค่ายตราดาวลูกไก่ กลับมาตั้งไลน์ผลิตในบ้านเรา ได้สำเร็จกันเสียที มันอาจใช้เวลานาน แต่การรอคอยในครั้งนี้ ถือว่า คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม เป็นธรรมดาครับ ไม่มีรถยนต์รุ่นใดในโลกนี้ ที่ไม่มีเรื่องให้ต้องนำไปแก้ไข สิ่งที่ควรปรับปรุง ใน Forester ใหม่มีดังนี้

1.เครื่องยนต์ Boxer 2.0 ลิตร ควรมีเรี่ยวแรงเพิ่มมากขึ้นกว่านี้
ไม่เช่นนั้นก็เอาเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร มาให้คนไทยได้ใช้ด้วยเถอะ

อัตราเร่งของ Forester 2.0 ลิตร ใหม่ อยู่ในระดับเพียงแค่ถือว่า พอไปวัดไปวาได้ เพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆไป ของลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้ขับรถเร็วนัก แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าเท้าหนักแล้ว ตัวเลขที่ออกมา ยังอยู่ค่อนลงไปท้ายตาราง ถือว่ายังไม่โดดเด่นเทียบเท่าคู่แข่งคันอื่นๆ

เข้าใจดีว่า มันเป็นผลของการนำเครื่องยนต์ FB20 เวอร์ชันของ XV ใหม่ มาวางลงไปใน Forester Made in Thailand  คันนี้ โดยคำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน และเรื่อง Economy of Scale เป็นหลัก จนทำให้เครื่องยนต์ลูกนี้ ต้องมาแบกน้ำหนักตัวของ Forester ใหม่ ที่เพิ่มขึ้นจาก XV อีกระดับหนึ่ง คือเหตุผลที่ทำให้อัตราเร่ง ของ Forester อืดลงกว่ารุ่นเดิม อย่างน่าเสี่ยดาย

ครั้นจะใช้วิธี เขียนโปรแกรม ให้สมองกลเกียร์ สั่งการทำงานให้สอดรับกับคันเร่ง ราวกับถวายชีวิตมากขนาดนี้ มันก็เป็นแค่เพียงวิธีการหลอกความรู้สึกของลูกค้าไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และเอาเข้าจริง

ทางออกที่ผมมองว่าเข้าท่ากว่า คือการนำเครื่องยนต์ Boxer 2.5 ลิตร ซึ่งมีพละกำลังมากกว่า แต่ ปล่่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย เข้ามาทำตลาด ด้วยราคาที่อาจจะแพงขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อเถอะครับ ลูกค้าชาวไทย มีปัญญาจ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าเขาได้อรรถรสจากการขับขี่ ที่โดนใจเขามากขึ้น

2. การเก็บเสียง จากยางขอบประตู ด้อยสุดในกลุ่ม สวนทางกับการเก็บเสียงจากใต้ท้องรถ!

ในช่วงตั้งแต่ติดเครื่องยนต์ เดินเบา จอดนิ่ง จนถึงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ห้องโดยสารของ Forester ใหม่ เงียบลงกว่ารุ่นเดิม ก็จริงอยู่ แต่เมื่อพ้นจากความเร็วระดับดังกล่าวขึ้นไปแล้ว ยังพอจะได้ยินเสียงกระแสลมไหลผ่าน เล็ดรอดเข้ามาตามยางขอบประตู ให้ได้ยินกันอยู่บ้างเหมือนกัน อยากให้ปรับปรุงเพิ่มเติมในจุดนี้อีกหน่อย การแก้ปัญหาเรื่องเสียงลม ก็น่าจะสมบูรณ์

เป็นเรื่องน่าแปลก ที่การเก็บเสียง ช่วงครึ่งท่อนบนของตัวรถ ทำได้ไม่ดีเท่าการเก็บเสียงจากยางและพื้นใต้ท้องรถ ซึ่งทำได้ดีงามกว่าคู่แข่งหลายราย

3. เครื่องเสียงจาก Panasonic ที่ “ง่อย” ไปหน่อย

ติดเครื่องยนต์แล้ว หน้าจอทำงาน ก็มักจะเข้าดหมดวิทยุกันก่อน ถ้าอยากฟัง USB คุณต้องกดอีก 2-3 ปุ่ม บนหน้าจอ กว่าจะได้ฟังเพลงที่เล่นค้างไว้ตั้งแต่คราวก่อน ทำไมมันไม่ยอมจำเสียที แถมบางครั้งก็ยังออกอาการเอ๋อๆ ช่องเสียบ USB 8้าง ไม่ทำงาน โหลดไฟล์ไม่ขึ้น บางกรณีถึงขั้นต้องดับเครื่องยนต์ แล้วเปิดให้ระบบปฏิบัติการณ์ Andriod ในตัวเครื่อง ได้ Re-boot ตัวเองใหม่อีกรอบ

เราคงต้องรอการอัพเกรดชุดเครื่องเสียง ให้มันดีเท่ากับเวอร์ชันที่ขายในตลาดโลก จากทาง Panasonic ในช่วงปี 2020 (ปีหน้า) เมื่อถึงตอนนั้น เครื่องเสียงของ Forester และ XV ก็จะมีระบบปฏิบัติการณ์ เวอร์ชันใหม่ ที่รองรับ Apple Car Play และ Andriod Auto รวมทั้งมีฟังก์ชันอื่นๆ มากกว่านี้ และที่สำคัญคือ ไม่เอ๋อ ไม่ง่อย แบบนี้ เสียที!

***** คู่แข่งในกลุ่มตลาดพิกัดเดียวกัน *****

Forester เกิดมาเพื่อเป็น Compact Crossover SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังของรถเก๋ง เช่นเดียวกับ Honda CR-V ,Mazda CX-5 , MG GS และ Nissan X-Trail ดังนั้น จากเท่าที่ผมเคยลองสอบถามด้วยตัวเองมา กลุ่มลูกค้าที่อุดหนุน Forester ส่วนใหญ่ มักมั่นใจมาตั้งแต่ออกจากบ้าน เดินทางมาโชว์รูมแล้ว ว่าจะไม่หันไปมอง บรรดา SUV บนพื้นฐานรถกระบะ (PPV) อย่าง  Chevrolet Trailblazer , Ford Everest , Isuzu MU-X , Mitsubishi Pajero Sport , Nissan Terra และ Toyota Fortuner แน่ๆ ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับคู่แข่งให้สมน้ำสมเนื้อแล้วละก็ ข้างล่างนี้คือรายชื่อของ Compact SUV ที่ยังเหลือทำตลาดอยู่ในบ้านเราตอนนี้

Chevrolet Captiva
เราคงไม่ต้องไปเสียเวลามอง Captiva รุ่นเดิม ซึ่งเปิดตัวในบ้านเรามาตั้งแต่ปี 2007 กันอีกต่อไป เพราะ GM เพิ่งประกาศยุติการผลิต “SUV แซยิด” อีกรุ่นของตลาดรถยนต์เมืองไทย ไปเมื่อ ปลายปี 2018 ที่ผ่านมา และขายรถยนต์รุ่นเดิมในสต็อก หมดเกลี้ยงไปแล้ว

กระนั้น พวกเขากำลังเตรียมนำ Captiva กลับมาเปิดตลาดเมืงไทยกันอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ GM เลือกสั่งซื้อ “Baojun 530” Compact SUV จากบริษัทร่วมทุนของตนในเมืองจีน อย่าง SAIC – GM – Wulling (SGMW) นำเข้าจาก Indonesia มาสวมป้ายชื่อ Chevrolet Captiva โดยมีกำหนดเปิดตัวในเมืองไทย ปลายเดือนสิงหาคม 2019 นี้ ถึงแม้ว่าตัวรถจะแคบกว่าเดิมนิดๆ และสูงขึ้นกว่าเดิมอยู่หน่อยๆ กระนั้น ดูโหงวเฮ้งแล้ว ทำออกมาดีพอให้อุดหนุนกันได้ แต่ความน่าเป็นห่วง อยู่ที่การตั้งราคา หากลูกค้ารู้สึกว่าแพงแล้วละก็ โอกาสจะดับวูบตั้งแต่วันเปิดตัว มีสูงมาก ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์บริการของ Chevrolet ในระยะหลังๆมานี้ ได้ยินว่า ปลดรายเก่า ที่ก่อเรื่องออกไปหลายรายแล้ว รวมทั้งพยายามแก้ไขปัญหาเดิมๆกันอยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ กว่าอะไรๆจะดีขึ้นในภาพรวม

Mazda CX-5
ผมเคยกล่าวชม CX-5 ไว้ว่ามันเป็น Compact SUV ที่ขับดีสุด สนุกสุดในกลุ่มของมัน มาวันนี้ รุ่นใหม่ของ CX-5 ถูกออกแบบและตกแต่งให้หรูเนี้ยบขึ้น ประณีตขึ้น แต่พวงมาลัยก็เบามากกว่ารุ่นเดิม จนแอบน่ากลัวอยู่เหมือนกัน แต่นั่นยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับ ปัญหาน้ำดัน ในรุ่นเครื่องยนต์ Diesel และปัญหาปั้มติ๊ก ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความปวดกบาลให้กับทั้งลูกค้าทั้งเก่าใหม่ และ Mazda Sales (Thailand) เอง เป็นอันมาก หากต้องการจะเจอปัญหาจาการใช้รถให้น้อยที่สุด ก็คงต้องยอมอุดหนุน แค่รุ่น เครื่องยนต์เบนซิน เท่านั้น เพราะปั้มติ๊ก อย่างน้อย ถอดเปลี่ยน และแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า ด้านศูนย์บริการ มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่ยังคงน่าเป็นห่วง เรื่องราคาอะไหล่ ค่าแรง ความเก่ง เชี่ยวชาญ และชำนาญงานของช่างในแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน รวมทั้ง การประสานงานกรณีเกิดเรื่อง Defect จนต้องเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งปัญหาบริการหลังการขาย ก็คงจะเป็นปัญหาหลักติดตัว Mazda กันต่อไป…น่าจะอีกนาน

MG GS –> MG HS…
ยังคงมีขายอยู่อีกเพียงไม่กี่เดือนนับจากนี้ สำหรับ SUV จากค่ายน้องใหม่ ไฟแรง เชื้อชาติอังกฤษ สัญชาติจีน  เพราะแม้ว่าทำยอดขายไปได้เยอะ แต่ตัวรถก็ยังพอมีปัญหา ให้ลูกค้าบางรายปวดตับกันอยู่เหมือนกัน ข่าวดีก็คือ ยอดขายแซง Nissan X-Trail ขึ้นมาได้ ด้วยอานิสงค์ของรุ่นย่อยใหม่ ขุมพลัง 1.5 Turbo ที่เน้นความคุ้มค่าด้วยราคาเริ่มต้น 899,000 บาท จุดเด่นอยู่ที่ช่วงล่าง เซ็ตมาได้ดี แต่อาจต้องทนกับอาการกระฉึกกระฉัก จากเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ ที่ยังจูนไม่เข้าที่นัก จนมีอาการเย่อขณะขับคลานๆในเมืองอยู่บ้าง และวัสดุการตกแต่งภายในห้องโดยสาร ที่ทำออกมาได้ “ตามราคารถ” รวมทั้งศูนย์บริการที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร ถ้าจะอุดหนุน เล่นรุ่น 1.5 T ก็พอ อย่ายุ่งกับรุ่น 2.0 T ซึ่งไม่คุ้มค่าเลย หรือถ้าจะอดทนรออีกนิด ปลายปีนี้ รุ่นเปลี่ยนโฉม เปลี่ยนชื่อ อย่าง MG HS จะเปิดตัวในเมืองไทย ข่าวดีก็คือ รถรุ่นใหม่ ขับดีขึ้น คล่องขึ้น กระชับขึ้น วัสดุดีขึ้น น่าใช้ขึ้นแน่นอน อาการเกียร์กระตุกก็ถูกแก้ไขจนดีขึ้นมากแล้ว แต่ ข่าวร้ายคือ เครื่องยนต์และเกียร์ ส่อแววว่าจะยังคงยกมาจาก GS ทั้งยวง!

Nissan X-Trail
อีกตัวเลือกที่น่าเสียดายที่หลายคนลืมและมองข้ามไป ั้งที่เพิ่งมีรุ่นปรับโฉม Minorchange ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 สดๆร้อนๆ แต่คราวนี้ กลับถอดรุ่น เบนซิน 2.0 ลิตร ออกไป ด้วยเหตุผลด้านการบริหารจัดการภายในองค์กร เหลือขายแต่รุ่น เบนซิน 2.5 ลิตร ที่แรงใช้ได้ แต่กินน้ำมันพอๆกับเกณฑ์เฉลี่ยของ SUV ทุกรุ่นมารวมกัน และรุ่น Hybrid ซึ่งแม้จะถูกแก้ปัญหาเรื่องเกียร์แล้ว แต่แป้นเบรก ยังจัญไรกว่ารุ่นเบนซิน ตามเดิม ดังนั้น คุณงามความดีที่มีอยู่ก็คือ ยังคงรักษาความสบายในการขับขี่ ในกรณีที่คุณไม่ใช่ขาซิ่งขามุด แต่พอมีเรี่ยวแรงไว้หนีพวกขับจี้ตูดได้อยู่บ้าง จุดเด่นคือ มีเบาะแถว 2 นั่งสบายที่สุดในกลุ่ม (เฉพาะรุ่น เบนซิน 2.5 ลิตร) อีกทั้งรุ่น 4WD สามารถล็อกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบตลอดเวลาได้ด้วย ช่วงล่างเน้นแนวนุ่มแน่น ผู้ใหญ่จะชอบ เบรกในรุ่น เบนซิน ตอบสนองใช้ได้เลย น่าเสียดายว่า พวงมาลัยที่เคยเซ็ตมาดี พอเป็นรุ่นใหม่ กลับเบากว่าเดิมไปหน่อย ด้านศูนย์บริการ ยังมีทั้งเสียงชมสลับกับเสียงด่า ให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ในระดับที่ดีกว่า Mazda อยู่นิดหน่อย

***** ถ้าตัดสินใจเลือก Forester ใหมม่แล้ว รุ่นย่อยไหน น่าเล่นมากสุด *****

Forester ใหม่ ประกอบในประเทศไทย โดยมีให้เลือก 3 รุ่นย่อย แต่ใช้เครื่องยนต์กลไกพื้นฐานร่วมกันทั้งหมด ติดป้ายราคาดังนี้

  • 2.0 i-L AWD  1,330,000 บาท
  • 2.0 i-S AWD  1,380,000 บาท
  • 2.0 i-S Eyesight AWD  1,450,000 บาท

อันที่จริงแล้ว ถ้าดูตามความเหมาะสม ราคาที่แตกต่างกันเพียง 50,000 บาท นั้น หากคุณคำนวนแล้ว สามารถผ่อนส่งเพิ่มขึ้นต่อเดือนอีกเล็กน้อย คุณก็สามารถกระโดดจากรุ่น 2.0 i-L (ซึ่งตอนนี้ยังมีเหลืออยู่ในสต็อกพอสมควร) ไปเป็นรุ่น 2.0 i-S หรือรุ่นกลาง (ซึ่งขายดิบขายดี จนส่งมอบไม่ทัน) ที่มี Option ดีๆ คุ้มราคา จำพวก กล้องรอบคัน ฝาท้ายไฟฟ้า ฯลฯ ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานของทุกคนในครอบครัวแล้ว

เว้นเสียแต่ว่า คุณเกิดอยากได้ Option ด้านความปลอดภัยที่ครบครัน เพิ่มขึ้นไปอีก รุ่น Eyesight ก็น่าจะตอบสนองความต้องการของคุณได้ เพราะการเพิ่มเงินจากรุ่น 2.0 i-S อีก 70,000 บาท คุณก็จะได้สารพัดอุปกรณ์ตัวช่วย ที่ทันสมัย ทัดเทียมกับบรรดารถยนต์คู่แข่ง ชนิดที่ไม่น้อยหน้าใคร จนเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงานอาจมีค้อนขวับ

——————————

สำหรับผมแล้ว การเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของ Subaru ในประเทศไทย ในช่วงเวลาตั้งแต่อดีต ยุคของ บริษัท แสงหิรัญ จำกัด มาถึงยุคของ สยามกลการ ยุคของ KPN Group ย้ายมาอยู่ในมือของกลุ่ม Tan Chong Group จนถึงทุกวันนี้ มันไม่ต่างอะไรกับการนั่งดู ละครดราม่าหลังข่าว ดีๆ สักเรื่อง เลยทีเดียว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่เดินเข้ามายัง Motor Image Subaru Thailand ในวันที่ บริษัทแห่งนี้ อยู่ใกล้จุดตกต่ำที่สุด คุณตะวัน คำฤทธิ์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาด คนปัจจุบัน และทีมงานรุ่นใหม่ที่ขยันขันแข็ง ต่างช่วยกันนำพาให้ Subaru  XV เปิดตัวในบ้านเราอย่างงดงาม ทำให้ชื่อของ ค่ายดาวลูกไก่ กลับมาแจ้งเกิดในตลาดรถยนต์เมืองไทยอีกครั้ง

จริงอยู่ว่า ทุกสิ่งมันไม่ง่าย ท่ามกลางเรื่องราวมากมาย สไตล์การทำงานที่แตกต่างกันชัดเจนมาก ระหว่าง ทีมสิงค์โปร์ กับทีมไทย ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้แบรนด์ Subaru นั่งอยู่บน Roller Coaster กันอยู่หลายปี กระนั้น ต้องยอมรับจริงๆว่า การลาออกของคุณตะวัน เพื่อย้ายไปหาประสบการณ์ใหม่ที่ Nissan ประมาณ 1 ปี มันส่งผลกระทบกับ อนาคตของ Subaru ในบ้านเรา มากมายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดกัน

แต่ก็อีกนั่นแหละ…เราคงต้องขอบคุณ Glen Tan หัวเรือใหญ่ของ Tan Chong Group ที่ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม คือ ชวนคุณตะวัน กลับมาที่ Subaru อีกครั้ง ในเวลาที่พวกเขากำลังจะต้องเตรียมเปิดตัว Forester ประกอบไทย ได้ทันเวลาพอดีๆ เพราะผมเชื่อโดยสนิทใจแล้วว่า ไม่มีใครที่เข้าใจแบรนด์นี้ รักแบรนด์นี้ และรู้วิธีนำพาดาวลูกไก่ ให้ขึ้นไปทาบรัศมีดาวดวงอื่นบนฟากฟ้าตลาดรถยนต์เมืองไทย ได้ดีเท่ากับที่คุณตะวันและทีมงาน กำลังทำอยู่นี้แล้วละ

ฝันในการนำ Subaru กลับมาประกอบขายในเมืองไทย เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ต่อจากนี้ ก็จะถึงเวลาต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวกันละ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งการคัดเลือกรุ่นรถยนต์ที่เหมาะสมจะนำเข้ามาประกอบในบ้านเรา รวมทั้งการเตรียมงานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากร Subaru ที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากบนท้องถนนในเมืองไทย

สิ่งเดียวที่อยากจะฝากไว้ ก็คือ การดูแลลูกค้า ด้านบริการหลังการขาย จริงอยู่ว่า ตอนนี้ กำลังจะมีการขยายโกดัง คลังอะไหล่แห่งใหม่ เพื่อช่วยลดระยะเวลาการรออะไหล่ของลูกค้าที่เคยรอกันเป็นชาติ ให้สั้นลงกว่าเดิม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับบริการหลังการขายมากขึ้น…

กระนั้น สิ่งที่สำคัญสุดก็คือ รักษาความรู้สึกของลูกค้า ทั้งเก่า ใหม่ และลูกค้าในอนาคต รวมทั้ง หน่วยงานองค์กรภายนอกต่างๆที่ต้องทำงานด้วยกัน ให้ดีๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา ในทุกสิ่งอย่าง ทำแต่เฉพาะสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา จนทำให้ความมั่นใจมันเสียไปแล้ว มันไม่สามารถสร้างคืนกลับมาได้ง่ายๆอีก

เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ อนาคตของ Subaru อยู่ในประเทศไทยได้ยาวนาน

——————————///—————————

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to :
คุณตะวัน คำฤทธิ์
บริษัท TC Subaru (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
และการประสานงานต่างๆ อย่างดียิ่ง

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม :
รวมบทความ Full Review รถยนต์กลุ่ม Compact SUV

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ illustration ทั้งหมด เป็นของบริษัท Subaru Corporation จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 มิถุนายน 2019

Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
 without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 21st, 2019

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!