บ่ายวันหนึ่ง กลางเดือนมิถุนายน 2017

ผมเดินไปถึงร้าน Au Bon Pain ที่ MEGA Bangna ตามเวลานัด

เรื่องของเรื่องก็คือ มีน้องคนหนึ่ง เป็นคุณผู้อ่าน ของเว็บ Headlightmag เรา… ในตอนนั้น น้องทำงานอยู่ที่ Nissan Powertrain… อยากนัดเจอผม เพราะอยากสัมภาษณ์ความคิดเห็นที่มีต่อ เครื่องยนต์ HR12DE เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.2 ลิตร 79 แรงม้า (PS) ที่ประจำการอยู่ใน Nissan March , Almera และ Note สำหรับตลาดบ้านเรา

น้องเขาบอกผมว่า “ขออนุญาตบันทึกเสียงนะครับ อยากเอาไปเปิดให้ผู้บริหาร และที่ประชุมฟัง ว่าพี่ J!MMY มีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับเครื่องยนต์รุ่นนี้”

สัญชาตญาณของผม ทำงานทันที…”ที่ถามนี่ จะเอาไปใช้ตัดสินใจ เรื่องการนำเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo มาวางใน Almera รุ่นต่อไปใช่ไหม?”

“ก็ประมาณนั้นแหละครับพี่”

เท่านั้นแหละ…สรรพสิ่งที่ผมเจอมาจากเครื่องยนต์รุ่นนี้ ก็พรั่งพรูออกมา พร้อมกับเหล่าบรรดาสิงสาราสัตว์ แทบจะครบทุกสายพันธ์ที่มีอยู่ในสวนสัตว์เขาดิน (ในตอนที่ยังเปิดให้บริการอยู่) เพ่นพ่านป้วนเปี้ยนกันให้ขวักไขว่เต็มไปหมด จนน้องผู้หญิงอีกคน ที่นั่งอยู่ด้วยกันในวงสนทนา ถึงกับแอบตกใจไม่น้อย

อันที่จริง เครื่องยนต์ HR12DE เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี หัวฉีด EGI 79 แรงม้า (PS) ซึ่งวางอยู่ใน Nissan March K13 มาตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2010 รวมทั้ง Nissan Almera รุ่นเดิม ในเดือนตุลาคม 2011 และ Nissan Note ในช่วง 3 ปีก่อน มันก็ไม่ได้เลวร้ายนัก ข้อดีของมันก็มีทั้งเรื่อง จำนวนกระบอกสูบที่น้อยกว่า ทำให้ขนาด และน้ำหนัก เบากว่าเครื่องยนต์ 4 สูบ (เทียบกับ HR16DE เดิมใน TIIDA) แน่นอนว่า แรงเสียดทานในการทำงานก็ย่อมน้อยกว่า ทำให้มีแรงบิดช่วงออกตัวดีกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า (ว่ากันตามหลักการ เพราะมันขึ้นอยู่กับการปรับจูนกล่อง ECU : Engine Control Unit ตามวัตถุประสงค์ด้วยว่าจะเน้นแรง หรือเน้นให้ผ่านข้อบังคับด้านไอเสีย)

กระนั้น ก็ต้องแลกมากับข้อด้อย ทั้งการสั่นสะเทือนขณะเดินเบา สูงกว่า เครื่องยนต์ 4 สูบ การลดต้นทุนแอบแฝง จาก Nissan March K12 (2002 – 2010 รุ่นนี้ ไม่มีขายในเมืองไทย) ลงถึง 15% ในแทบทุกชิ้นส่วน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความทนทานของชิ้นส่วนอะไหล่หลายๆรายการ โดยเฉพาะ ยางรองแท่นเครื่อง พัดลมหม้อน้ำ (แก้ไข Part ชิ้นใหม่ เปลี่ยนให้ลูกค้าจำนวนมากแล้ว อาการดีขึ้น) ต่อเนื่องไปถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อน เช่นลูกปืนล้อ และเกียร์ CVT สหกรณ์ จาก Jatco ที่หอนจนนึกถึงเสียงของสุนัขเดือน 12 ฯลฯ

ทว่า ปัญหาที่แท้จริงของเครื่องยนต์รุ่นนี้ ในประเทศไทย ก็คือ การมีพละกำลังน้อยกว่าชาวบ้านชาวช่องเขา ในตลาดกลุ่ม B-Segment ECO Car อัตราเร่งนั้น แค่เพียงพอกับการใช้งานของลูกค้าทั่วๆไป ที่ไม่ได้ขับรถเร็วนัก และใช้งานในเมือง ขับรถจากบ้านไปส่งลูกเข้าโรงเรียน ไปที่ทำงาน ขากลับ ก็แวะรับลูก แวะจ่ายกับข้าว ก่อนขับรถกลับบ้าน แค่นั้น แต่ถ้าคุณเป็นลูกค้าที่มีงบไม่มากนัก ทำสัมมามิจฉาชีพ…เอ้ย…อาชีพ เซลส์ ขายสินค้า ซึ่งต้องการรถเก๋ง ที่มีพละกำลังเพียงพอสำหรับขับวิ่งทำงานข้ามจังหวัด มันก็มีมาให้ไม่เพียงพอ จึงต้องเบนความสนใจไปหารถเก๋ง 1.5 ลิตร ทั้ง Toyota Vios และ Honda City หรือ Mazda 2 Diesel Turbo เป็นการทดแทน

ยิ่งในตอนนั้น ผมรู้อยู่เต็มอกว่า ยังไงๆ Honda ในฐานะคู่แข่งสำคัญ กำลังเตรียมนำเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.0 ลิตร Direct Injection พ่วง Turbo และ Intercooler เข้ามาวางใน Honda City รุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ ที่มีกำหนดคลอด ช่วงปลายปี 2019 อย่างแน่นอน

เห็นได้ชัดเลยว่า ถ้า Nissan ยังขืนลากใช้เครื่องยนต์ HR12DE ตามเดิมต่อไป กับ Almera ใหม่ รับประกันได้เลยว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เปิดตัวมาก็จะเกิดอาการแป๊ก ขายไม่ออก ชะตากรรมของ Almera ใหม่ ก็จะเหมือนกับเมื่อครั้งที่พวกเขาเปิดตัว Nissan Note โฉม Minorchange ในเมืองไทย อย่างแน่แท้แช่แป้ง เพราะลูกค้าคนไทย สมัยนี้ ฉลาดเลือก และต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแค่ใกล้ตัวพวกเขา แต่ต้องมาในราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายๆ อีกด้วย

ยังครับ ไม่ใช่แค่นั้น โจทย์สุดหินอีกข้อที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ก็คือ กฎเหล็กที่ภาครัฐกำหนดให้รถยนต์ซึ่งจะเข้าร่วมโครงการ ECO Car Phase 2 ต้องทดสอบตามมาตรฐานไทย ที่อ้างอิงจาก UNECE ของสหประชาชาติ (UN) ว่า ต้องทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการทดสอบ ห้ามต่ำกว่า 23.25 กิโลเมตร/ลิตร และต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นมาก และยากที่จะเซ็ตรถออกมาขาย โดยไม่ตัดทอนอะไรออกจากตัวรถเลย

ต่อให้ Nissan สามารถหาทางเอาเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร มาผลิตขายในบ้านเราได้ ปัญหาต่อมาก็คือ ตัวเลขสมรรถนะ เพราะ ในตอนนั้น ผมรู้อยู่แล้วว่า เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo ของ Honda City ใหม่ จะมีกำลังสูงสุด 120 แรงม้า (ภายหลัง กลายเป็นว่า ตัวเลขดันเพิ่มขึ้นเป็น 122 แรงม้า) ยิ่งทิ้งห่าง Almera เข้าไปอีก! มันชัดเจนว่า Honda เลือกจะลงต้นทุนไปกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ ให้ล้ำหน้ามากสุดในตลาดกลุ่มนี้ไปเลย โดยจัดออพชัน แบบ ไม่เน้น Gadget มาให้ลูกค้าพอรับได้ ไม่น่าเกลียด แถมชื่อชั้น Honda ในเมืองไทยวันนี้ ก็ดีกว่า Nissan เยอะ ยิ่งเห็นแต่ข้อเสียเปรียบของ Almera (ในตอนยังไม่เปิดตัว) เต็มๆ

นั่นแปลว่า ถ้า Nissan จะใช้วิธีการ อัดออพชันมาแน่นๆ เช่นใส่ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ใส่ภายในสวยๆ Features แพงๆ แต่ทำให้น้ำหนักรถมันเพิ่มขึ้น จนค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มันสูงขึ้น เลยต้องลดกำลังของรถลงมา เหลือประมาณ 90 แรงม้า (PS) นั้น มันไม่ใช่ทางออกที่ดีเลย เพราะลูกค้าชาวไทย จะพากันถามว่า ทำไม เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เหมือนกัน แต่ Honda ทำได้ตั้ง 122 แรงม้า ขณะที่ Nissan กลับมีม้าในคอกต่ำกว่า 100 ตัว แบบนี้ สู้ชาวบ้านเขาไม่ได้หรอก!

ยิ่งระบบการทำงานภายในองค์กรของ Nissan เองนั้น ก็ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เร็วเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนญี่ปุ่น ที่อยู่ใน Yokohama หรือคนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยเอง ไปจนถึง บรรดาฝรั่งมังค่าบางคนที่ (แม่ง) ไม่เคยคิดจะเข้าใจความต้องการของลูกค้าคนไทยเลย ต่อให้ทีมงานฝั่งไทยจะ Input ข้อมูลไปเท่าไหร่ มันก็ไม่สนใจ และไม่ฟัง แถมดื้อด้านเสียด้วยซ้ำ

คิดได้ดังนั้น ผมจึงให้สัมภาษณ์กับน้องเขาไป “ด้วยความหวังที่หลงเหลืออยู่น้อยนิด” ว่า “ถ้า Almera ใหม่ ไม่ใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo ก็คงสู้ Honda ไม่ได้แน่ๆ แต่ถ้าเอาเข้ามาแล้ว มีแรงม้า ต่ำกว่า 100 ตัว ก็เลิกคุยได้เลย เพราะ Nissan แทบจะไม่เหลือจุดขายอะไรให้ฝ่ายการตลาดเขาใช้เป็นอาวุธสักนิด ยังไงๆ ลูกค้าก็จะหนีไปหา City กันอยู่ดี ดังนั้น ขอเถอะว่า Almera ใหม่  ต้องมี แรงม้าในโบรชัวร์ อยู่ที่ 100 ตัว เป็นอย่างน้อย ไม่งั้น ก็ไม่ต้องทำขายให้เสียเวลา”

พอถึงต้นปี 2019 ผมได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวหลายคนว่า Almera ใหม่ จะวางเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo อย่างแน่นอน ยิ่งพอรู้ว่า พละกำลังของมัน ก็ทำได้ที่ 100 แรงม้า (PS) พอดีเป๊ะ…และกว่าจะได้ตัวเลขนี้มา ก็แก้ปัญหาสารพัดกันจนเลือดตาแทบกระเด็น !

โอเค ! โล่งอกกกกกกก !

เอาวะ! ม้าห่างกัน 20 ตัว แม้จะดูเหมือนห่างเยอะ แต่ยังถือว่า พอฟัดเหวี่ยงได้อยู่ ไม่น่าเกลียด เพราะในอดีตที่ผ่านมา ตัวเลขแรงม้าใน Catalog ของ Honda หลายๆรุ่น ก็เยอะกว่า แรงกว่า Nissan อยู่แล้ว คุณต้องไม่ลืมว่า Honda เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ 4 สูบที่เก่งเป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่นะ พอมาทำเครื่องยนต์ 3 สูบ เขาก็มีวิถีในแบบของเขา ที่จะทำให้มันแรงจนคู่แข่งอ้าปากหวอ เป็นปกติอยู่แล้ว ภายใต้ต้นทุนที่จำกัด และแน่นอนครับ City ใหม่หนะ ไม่ใช่แค่ตัวเลขใน Catalog นะครับ แต่พอลองขับจริง จับเวลาจริง ก็พบว่า City ใหม่หนะ แรงกว่า Almera เห็นๆ แบบไม่ต้องสืบ

เพียงแต่ว่า ความแตกต่าง เฉพาะอัตราเร่ง มันกลับไม่ได้เยอะอย่างที่คิด!…
ถ้าจะบอกว่า ต่างกันแค่ ไม่ถึง 1 วินาที คุณจะเชื่อไหม?

ไม่เพียงแค่นั้น Nissan ยังทุ่ม ใส่ Option จำพวก Nissan Intelligent Mobility ที่เว็บเราเคยค่อนขอด ล้อเลียน มาให้ในระดับเยอะแบบสมเหตุสมผล อาจจะด้อยกว่า รถรุ่นเดียวกันที่จำหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือ อยู่บ้าง แต่เท่าที่เห็นในใบสเป็ก ก็ถือว่า เยอะกว่า City และคู่แข่งอีกหลายรายไปไกลแล้ว เผลอๆจะเยอะกว่า Nissan LEAF รถยนต์ไฟฟ้า นำเข้าทั้งคัน ที่ทางญี่ปุ่นสั่งให้ตั้งราคาขายแพงสูดกู่ จนกลายเป็นยามเฝ้าโชว์รูม ด้วยซ้ำ! สุดท้ายต้องมานั่งลดราคา 500,000 บาท ตาม Chevrolet Captiva ช่วงล้างสต็อกตอนนี้เสียอย่างนั้น

ฟังดูเหมือนจะดี แต่ในช่วงก่อนเปิดตัว ไม่นานนัก ก็มีเรื่องให้ลุ้นระทึกอีกครั้ง เมื่อ ชาวต่างชาติ สักคนหนึ่งใน Nissan อยากจะขาย Almera ในราคาที่แพงกว่า ปัจจุบัน เป็นหลักแสนบาท!!! ด้วยวิธีคิดแบบเดียวกับตอนตั้งราคา Nissan LEAF ในไทย คือคิดว่าตัวเองมีข้าวของ Hi-Tech เยอะ ก็ต้องตั้งราคาให้แพง เพื่อจะเอากำไรเยอะๆ….ได้ยินมาปุ๊บ ผมถึงกับร้องลั่นบ้าน….

“ไอ้บ้าาาาาา ไอ้บิดาเสียชีวิต!!! ไอ้ชาวต่างชาติ!! อีห่า! มึงตั้งราคารถเนี่ย มึงแหกตาดูคู่แข่ง ชาวบ้านชาวช่องเขาบ้างไหม? Value ของ Brand Nissan ในใจผู้บริโภคชาวไทยตอนนี้หนะ มันอยู่ที่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ Honda มูลค่า Brand เขาสูงกว่ามึงเยอะ! มึงมั่นหนังหน้ามากเลยที่จะตั้งราคา Almera คันละ 7 แสนกว่าบาท ใครสั่งใครสอนมึงให้ทำหยั่งเง้! ฯลฯ @#$%^&*()!@#$^^&*()(*&!$@#&*!!!”

ท้ายที่สุด วันเปิดตัว ราคาขายปลีกของ Almera ก็กลับมาอยู่ในเขตแดนที่ควรเป็น แถมยังถูกและดูคุ้มค่ากว่าที่คิดด้วยซ้ำ ด้วย Option ที่กระหน่ำอัดมาให้ขนาดนั้น

โล่งอกกกกกกกกกกกกกกกก….!

ต้องขอขอบคุณ ชาวต่างชาติ ผู้มาใหม่ อีกคน ที่คิดเห็นในแนวทางที่มันควรเป็น อย่าง คุณ Ramesh Narasimhan ประธานคนล่าสุด ชาว India ที่มีความคิดอ่านในสไตล์ Australian มากๆ (นี่คือเรื่องดีงาม) รวมทั้ง พี่ อดิศัย สิริสิงห ซึ่งลาออกจาก Ford มารับตำแหน่ง รองประธานสายงานการตลาด ประจำประเทศไทย รวมทั้งทีมงานคนไทยอีกหลายๆคน ใน Nissan Motor Thailand ที่พยายามต่อสู้ฝ่าฟัน เถียง งัดค้าน ฯลฯ กับชาวต่างชาติเหล่านั้น จนได้มาซึ่งราคาที่เราเห็นกันบนโชว์รูมในทุกวันนี้

ราคาที่ช่วยให้ลูกค้าจำนวนหนึ่ง เริ่มปันใจจาก City หันมาเดินขึ้นโชว์รูม Nissan กันเยอะขึ้นกว่าเดิม บางโชว์รูม ขนาดตั้งอยู่ไกลปืนเที่ยง ยังมีลูกค้าแวะเวียนมาดูรถในวันอาทิตย์ จองกันวันละ หลัก 10 รายด้วยซ้ำ! และทำให้ยอดขายของ Almera ใหม่ ทะยานขึ้นสู่ อันดับ 2 ของกลุ่ม B-Segment / ECO-Car Sedan ในเมืองไทย ได้เป็นผลสำเร็จตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาพแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Nissan มานานแล้วนะ…

รู้ไหมครับว่า ทำไม คุณถึงเห็นคำว่า “โล่งอก” ในบทความท่อนนี้ ถึง 2 ครั้งติด?

บอกให้ก็ได้ครับว่า ไม่ใช่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่ลุ้น หากแต่ พนักงานทุกคนของ Nissan ในเมืองไทย ทั้งที่สำนักงานใหญ่ ตึกรัจนาการ ย่านสาทร ไปจนถึงโรงงาน ย่านบางเสาธง ริมถนนบางนา-ตราด กม.22 ก็ลุ้นระทึกจนหัวใจจะวาย หนักยิ่งกว่าผมเสียอีก

เพราะเราทุกคน ทั้งวงการรถยนต์บ้านเรา…ไม่ใช่แค่รู้…แต่ตระหนักดีเลยแหละ ว่า Almera ใหม่ คือความหวังครั้งสำคัญ ของทุกคนใน Nissan เมืองไทย หลังจากเจอมรสุมภายในองค์กรมากมาย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ออกรถมากี่รุ่นกี่รุ่น ก็ขายไม่ได้ตามเป้า จนบริษัทแม่ที่ Yokohama เขาแทบจะถอดใจจากเมืองไทยอยู่แล้ว (จากปัญหาที่ส่วนหนึ่งพวกชาวต่างชาติเขาก็ก่อขึ้นให้เราเองด้วยแหละ!!) ดังนั้น Almera ใหม่ มันคือผลจากความพยายามในการกลับมาพัฒนา ตัวรถยนต์ ออกมาขายคนไทย และคนทั่วโลก อย่างที่มันเคยเป็น และควรกลับมาเป็น อีกครั้ง เสียที

คำถามก็คือ ผลลัพธ์จากการต่อสู้ของทีมงานฝั่งไทย ในคราวนี้ มันดีเพียงพอที่จะทำให้คุณเซ็นใบจองหรือเปล่า มันมีตรงไหนที่ดีกว่า และด้อยกว่า Honda City รวมทั้งบรรดาคู่แข่งในพิกัด B-Segment ECO-Car ซึ่งถูกจับควบรวมกลายเป็นตลาดกลุ่มเดียวกันไปแล้วในทางพฤตินัย ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา มากน้อยแค่ไหน อย่างไร บทความนี้ น่าจะช่วยไขกุณแจเปิดประตูให้คุณได้พบคำตอบกัน…

เพียงแต่ก่อนอื่น ตามธรรมเนียมของ Headlightmag เรามาย้อนอดีตในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กันสักเล็กน้อย ว่า Almera รุ่นเดิม N17 เป็นมาอย่างไร และมีภาพรวมตลอดอายุตลาด เป็นอย่างไร….

เลื่อนหน้าจอของคุณลงไปได้เลยครับ!

The History of Global B-Segment Sedan : From “L02B” to “N17”

ย้อนกลับไปในปี 2006 – 2007 ในระหว่างที่ Nissan กำลังวุ่นวายกับสารพัดแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรให้มากขึ้น ต่อเนื่องจากแผนฟื้นฟู Nissan Revival Plan ในช่วงนั้น ทีม Global Product Strategies เริ่มพบว่า ตลาดรถยนต์นั่ง B-Segment Sedan ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา อย่าง China India รวมทั้งตลาดเกิดใหม่ อย่าง Russia , Ukraine  ไปจนถึงตลาดที่เริ่มฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจใน ASEAN เริ่มมีลูกค้าจำนวนมหาศาล รอคอยรถยนต์กลุ่ม B-Segment Sedan รุ่นใหม่ๆ อยู่มาก การต่อสู้กับเจ้าตลาดอย่าง Toyota Vios และ Honda City เกิดขึ้นอย่างหนักมาตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2002 ก็จริง แต่ยังพอมีช่องว่างให้ Nissan ส่งรถเก๋งรุ่นใหม่ เข้าทำตลาดกลุ่มนี้อยู่

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทย ก็เพิ่ง ประกาศโครงการสนับสนุนการลงทุน ECO-Car Phase 1 ผ่านทาง BOI (Board of Investment) ออกมา ราวๆ ปี 2007 ทำให้ Nissan ตัดสินใจคว้าโอกาสนี้ไว้ โดยเริ่มพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมให้กับ Nissan March (รหัสรุ่น K13 รุ่นปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะตกรุ่นใน 1-2 ปีนี้) เป็นรุ่นหลัก พร้อมกันนั้น พวกเขาก็เริ่มทำโครงการ B-Segment Sub-Compact Sedan ของตนเองขึ้นมาอย่างจริงจัง ควบคู่กันไป โดยทั้ง 2 รุ่น ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง V-Platform ซึ่งถูกออกแบบมาให้เน้นความยืดหยุ่นในการผลิต และลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็นลง

ผลลัพธ์ที่ได้คือ นอกเหนือจาก Nissan March K13 จะถูกเปิดตัว เมื่อ 12 มีนาคม 2010 ในฐานะ รถยนต์รุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการ ECO-Car และสามารถผลิตออกจำหน่ายได้จริง และประสบความสำเร็จอย่างมากในเมืองไทยแล้ว เวอร์ชัน Sedan ที่ใช้รหัสรุ่น Nissan N17 ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้รหัสโครงการพัฒนา L02B ก็เสร็จสมบูรณ์ตามมา โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อบุกตลาด กว่า 170 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย (รายละเอียดต่างๆ อ่านได้จากบทความนี้ Click Here!)

First launch in China “The 2nd Generation of Nissan SUNNY Chinesse version”

Nissan เปิดตัว N17 Sedan เป็นครั้งแรกในโลก ณ งาน China (Guangzhou) International Automobile Exhibition เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2010 โดยใช้ชื่อ SUNNY ทั้งที่ N17 Sedan ไม่ได้เกี่ยวดองกับตระกูล Sunny ดั้งเดิมแท้ๆ มาก่อนเลย แต่ Dongfeng Nissan ผู้ผลิตและจำหน่ายรถเก๋ง Nissan ในจีน เลือกใช้ชื่อ Sunny เพราะเป็นชื่อที่ชาวจีนคุ้นเคยกับแบรนด์ Nissan ในฐานะ รถยนต์ราคาประหยัด ไว้ใจได้ ใช้งานง่าย เท่านั้นเอง ส่วนการส่งมอบให้กับลูกค้าชาวจีน เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2011

Sunny รุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 2 สำหรับตลาดแดนมังกร ทำตลาดต่อเนื่องจากรุ่นก่อน ซึ่งเป็นการนำ Bluebird Sylphy รุ่น 2 / Sunny Neo ในบ้านเรา ส่งให้ Renault/Samsung บริษัทรถยนต์ในเครือของ Renault-Nissan ในเกาหลีใต้ เอาไปดัดแปลงด้านหน้าและหลังให้เหลี่ยมสันมากขึ้น เป็น Renault Samsung SM3 ทำตลาดช่วงปี 2003 – 2010

มิติตัวถังยาว 4,426 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร N17 Sedan เวอร์ชันจีน ในชื่อ Sunny วางเครื่องยนต์ HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 หัวฉีด Sequential Multi-Point Injection 111 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 139 นิวตันเมตร (14.16 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน Xtronic CVT

พวงมาลัยแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้า MacPhuerson Strut ด้านหลังแบบ Trailing Arm ระบบห้ามล้อ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก พร้อมตัวช่วย ทั้ง ABS EBD และ Brake Assist ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

North America & The America version “VERSA Sedan (2nd Generation)”

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ 2 ที่ Nissan ส่ง N17 Sedan เข้าไปเปิดตัว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2011 แต่เปลี่ยนไปใช้ชื่อ Versa Sedan เพื่อเข้าทำตลาดแทนรถยนต์ชื่อรุ่นเดียวกัน แต่ใช้ร่าง TIIDA Latio 4 ประตู ทำมาหากินตลอดช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ โดย N17 ถูกผลิตขึ้นจากโรงงาน Aguascalientes ใน Mexico เพื่อส่งมาทำตลาดควบคู่ไปกับ TIIDA Hatchback ที่ขายในชื่อ Versa Hatchback และยังลากขายไปอีก 2 ปี ก่อนที่รุ่น Hatchback จะถูกแทนทีด้วย Nissan Note (ในชื่อ Versa Note) ทำตลาดมาจนถึงทุกวันนี้

N17 Sedan ในชื่อ Versa สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ จะใช้ตัวถังเดียวกันกับ Sunny เวอร์ชันจีน วางเครื่องยนต์ขนาดใหญ่สุด คือ HR16DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.8 : 1 หัวฉีด Sequential Multi-Point Injection 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 107 ฟุต-ปอนด์ (14.76 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ อัตโนมัติ 4 จังหวะ หรือ อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน Xtronic CVT

หลังออกจำหน่ายได้เพียง 1 เดือน Nissan USA. ก็ประกาศปรับอุปกรณ์ สำหรับ Versa รุ่นปี 2013 ออกมา เมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ยางแบบแรงเสียดทานต่ำ Low-Rolling resistance เพิ่มสปอยเลอร์ด้านหลัง และ Air defector ใต้เปลือกกันชนหน้า ช่วยให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้นอีก 2 MPG (Miles-Per-Gallon) เป็น 40 MPG สำหรับรุ่นเกียร์ CVT ทุกคัน รวมทั้งเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 1.6 S เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทำตลาดร่วมกับรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะเดิม เพิ่ม Cruise Control Package ให้กับรุ่น S เกียร์ CVT ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Versa Sedan S Plus CVT เพิ่มเบาะหลังพับได้ 60 : 40 ส่วนรุ่น SL Tech Package เพิ่ม กระจกมองหลังแบบ RearView Monitor โดยรุ่นเกียร์ CVT จะติดตั้งสปอยเลอร์หลังมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ขณะที่รุ่น SV จะเพิ่มผ้าประดับบนแผงประตู มือจับเปิดประตูแบบโครเมียม คันเกียร์พ่นสี และพนักวางแขนสำหรับคนขับ นอกจากนี้ รุ่น SL ยังเพิ่มกุญแจรีโมท Nissan Intelligent Key™ ระบบเปิดฝาท้ายด้วยรีโมท และพนักวางแขนสำหรับคนขับ ท้ายสุด รุ่น S จะเพิ่มไฟส่องสว่างในห้องเก็บของด้านหลัง และทุกรุ่นย่อย เพิ่มแผงบังแดด แบบขยายได้

รุ่นปี 2014 เปิดตัวเมื่อ 30 มีนาคม 2013 มีการเปลี่ยนแปลงคือ รุ่น SL จะเพิ่มล้ออัลลอย 16 นิ้ว วิทยุพร้อมหน้าจอ 4.3 นิ้ว หรือ วิทยุแบบ SiriusXM Satellite (ส่วนระบบบอกรับสมาชิก ต้องแยกสมัครต่างหาก) ส่วนรุ่น SV จะเพิ่มเบาะหลังพับได้ 60/40 และสวิตช์เปิด-ปิดฝาท้าย ที่รีโมทกุญแจ ส่วนรุ่น S เพิ่มมาตรวัดรอบ และยางแบบแรงเสียดทานต่ำ Low rolling resistance นอกจากนี้ รุ่น SV กับ SL ยังเพิ่มแถบสีดำเชื่อมบานประตูหน้า-หลังเข้าด้วยกัน แบบ High-gross black ไม่เพียงเท่านั้น ทุกรุ่นย่อย ยังถูกปรับจูนพวงมาลัยและช่วงล่างใหม่ และปรับปรุงเบาะนั่งใหม่ (bottom cushion และความหนาของโฟม) ส่วนรุ่น SV Convenience Package เพิ่มกระจกแต่งหน้าฝั่งผู้โดยสาร วิทยุแบบใหม่ เล่น MP3 เชื่อม AUX และระบบ RDS (Radio Data System) พร้อมสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย และระบบสื่อสารแบบ Bluetooth® Hands-free Phone System และรุ่น SL Tech Package เพิ่มกระจกมองหลังแบบ RearView Monitor (เหมือน Note ในบ้านเรา) และเพิ่มจอมอนิเตอร์สี Touch Screen 5.8 นิ้ว ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS NissanConnectSM

การปรับโฉม Minorchange สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ มีขึ้นเมื่อ 11 มีนาคม 2014 (ตามหลังเวอร์ชันไทย 2 เดือน) โดยออกจำหน่ายในฐานะรถยนต์รุ่นปี 2015 เปลี่ยนชุดไฟหน้า และกระจังหน้า รวมทั้งเปลือกกันชนหน้า-หลัง ใหม่หมด ในขณะที่รุ่นปี 2016 ออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2015 เพิ่มสีตัวถังใหม่ Cayenne Red และ Gun Metallic พอถึงรุ่นปี 2017 ออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2016 มีการเพิ่มรุ่นพิเศษ SV Special Edition Package ยกออพชันและอุปกรณ์ต่างๆให้ลูกค้ามากมาย รวมทั้ง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม มาใส่ให้

รุ่นปี 2018 ออกสู่ตลาดเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 ถือเป็นรุ่น 2018.5 (เพราะขึ้นโชว์รูมในช่วงกลางปี) ทุกรุ่นย่อย จะติดตั้งกล้องมองภาพ ฉายขึ้นกระจกมองหลัง และหน้าจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ที่อัพเกรดเป็นขนาด 7 นิ้ว พรอมระบบ Streaming audio via Bluetooth®, กับ Siri® Eyes Free  AM/FM 4 ลำโพง พร้อมช่อง USB  และท้ายสุดคือ รุ่นปี 2019 ออกสู่ตลาดเมื่อ 25 สิงหาคม 2018 มีเพียงการปรับอุปกรณ์ ให้รุ่น SV Special Edition เท่านั้น

Thai version “Almera”

ประเทศไทย ถือเป็น ประเทศที่ 3 ในโลก ที่มีการเปิดตัวรถยนต์รหัส N17 งานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2011 ทั้งที่โรงแรม Four Season และในช่วงเย็นที่ลานหน้า Siam Paragon ช่วงที่เริ่มมีรายการน้ำท่วมภาคกลางกันบ้างแล้ว โดยชื่อที่ใช้ในการทำตลาด ก็คือ Almera อันเป็นชื่อที่ Nissan ในยุคสยามกลการ เคยยกชื่อนี้ จาก Nissan Pulsar สำหรับตลาดยุโรป ช่วงยุคปี 1996 – 1997 มาใช้กับรถเก๋ง Sunny Neo รุ่นที่วางเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แล้วเรียกมันว่า Sunny Almera เปิดตัวเมื่อ เดือนมีนาคม 2002

Almera N17 ทำตลาดในบ้านเรา ในฐานะ ECO Car (Sub-B-Segment เครื่องยนต์ 1.0 – 1.3 ลิตร) ตัวถัง Sedan รุ่นแรก โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าครอบครัวที่อยากมีรถคันแรกในบ้าน หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการรถเก๋ง Sedan สำหรับขับใช้งานแบบประหยัดน้ำมันในชีวิตประจำวัน รายละเอียดความเป็นมา รายละเอียดตัวรถเวอร์ชันไทย และผลการทดลองขับ ของ Almera รุ่นแรก N17 สามารถคลิกอ่านต่อได้ที่นี่ Click Here!

เวอร์ชันไทย ปรับโฉม Minorchange ครั้งแรก เมื่อ 27 มกราคม 2014 เปลี่ยนกระจังหน้าโครเมียมแบบใหม่ ชุดไฟหน้าแบบมีติ่งด้านข้าง พร้อมกันชนหน้าและไฟตัดหมอกรูปลักษณ์ใหม่ตกแต่งด้วยโครเมียม กันชนหลังและล้ออัลลอยแบบใหม่ ภายในห้องโดยสาร เปลี่ยนแผงควบคุมกลาง ออกแบบใหม่ตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำ Piano Black แผงประตูและมือจับตกแต่งโครเมียม เบาะสีดำบุผ้าลายใหม่เนื้อผ้าคุณภาพสูง พวงมาลัย 3 ก้านแบบใหม่ พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย เปลี่ยนมาตรวัดชุดใหม่ เพิ่มจอแสดงข้อมูลการขับขี่ Multi Information Display (MID) แบบเรืองแสงสีขาว ส่วนรุ่น Top VL เพิ่มระบบนำทางผ่านดาวเทียม กล้องมองหลัง เซ็นเซอร์กะระยะ ราคา 433,000 – 608,000 บาท (รายละเอียด อ่านได้ คลิกที่นี่ Click Here)

2 กุมภาพันธ์ 2015 Nissan ส่ง Almera SPORTECH เวอร์ชันตกแต่งรอบคันจากโรงงานเสร็จสรรพ สำหรับเอาใจลูกค้าที่อยากได้รถเก๋งคันแรก ตกแต่งครบๆ ตั้งแต่ออกรถ ขึ้นโชว์รูม แตกต่างจากรุ่นปกติด้วย กันชนดีไซน์ใหม่พร้อมกระจังหน้าและโคมไฟหน้าโครเมียมรมดำ ช่องกันชนด้านล่างตกแต่งด้วยลายรังผึ้งแบบสปอร์ต พร้อมติดตั้งไฟ Daytime Running Lights (DRL) สเกิร์ตรอบคัน สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกในตัว ล้ออัลลอยสีเทาควัน 15 นิ้ว และสัญลักษณ์ SPORTECH ที่ฝาท้าย ภายในมาพร้อมพวงมาลัยหุ้มหนัง ราคาเริ่มต้น รุ่น 1.2 E Sportech 525,000 และ 1.2 V Sportech 625,000 บาท

จากนั้น 14 กันยายน 2015 ปรับอุปกรณ์เล็กน้อย เพิ่มไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ตอนกลางวัน Diamond LED Daytime Running Lights และเพิ่มคิ้วโครเมียมขอบประตูทั้ง 4 บาน

22 มีนาคม 2016 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Nissan Almera Nismo ซึ่งเป็นการเปิดตัวตามเวอร์ชัน Malaysia ในช่วงปลายปี 2015 มีให้เลือก 2 แบบ คือ Aero Package เพิ่มชุดแต่ง ทั้ง สเกิร์ตหน้า / ด้านข้าง และด้านหลัง สีเทาแดง พร้อมสัญลักษณ์ Nismo , สปอยเลอร์หลัง ติดตั้งบนฝากระโปรงท้ายสีเทา ,แถบสีแดงบนฝาครอบกระจกมองข้าง ราคา 538,000 – 655,000 บาท ส่วนรุ่น Nismo Performance Package มาพร้อมกับ ช่วงล่างพิเศษ ปรับค่าสปริง และช็อคอัพ ให้เหมาะสม ลดความสูงด้านหน้า และด้านหลัง เปลี่ยนขนาดล้อและยางใหม่ จากเดิม 185/65 R15 เป็นล้ออัลลอย 16 นิ้ว พร้อมยาง 205/50 R16 รวมทั้งเปลี่ยนท่อไอเสียใหม่ ภายนอกเป็น Stanless Steel ปั้มสัญลักษณ์ Nismo ส่วนไส้ในออกแบบภายในให้การไหลเวียนของไอเสียแบบ S-Flowต้องจ่ายเพิ่มอีก 96,000 บาท แน่นอนว่า ด้วยค่าตัวที่แพงขึ้นขนาดนี้ ลูกค้าจำนวนไม่น้อย พากันหันกลับไปหารุ่น Sportech ทันที แบบไม่ต้องคิดมาก ดังนั้น Almera Nismo จึงกลายเป็นรถยนต์หายาก Rare item บนถนนเมืองไทยอีกรุ่นหนึ่ง

จากนั้น 15 กรกฎาคม 2016 เพิ่มรุ่น Almera Limited ฉลองยอดผลิต ECO-Car ของ Nissan ในไทย ครบ 500,000 คัน เพิ่มไฟเลี้ยวกระจกมองข้าง, ชุดคิ้วกันสาดประตู, ชุดคิ้วบันไดสแตนเลสเรืองแสง, และปลายท่อไอเสียดีไซน์พิเศษ ก่อนจะทนลากขายมานานถึง 2 ปี

14 ธันวาคม 2018 Almera MY2019 ออกสู่ตลาด พร้อมการปรับปรุงรายละเอียด ทั้งรุ่นธรรมดา และ Sportech ด้วย ชุดครอบกันชนหน้าสีดำ กระจังหน้าโครเมี่ยมสีดำ ชุดสเกิร์ตข้างสีดำ และชุดสเกิร์ตหลังสีดำ ภายนอกมีให้เลือกเหลือแค่ 3 สี คือ ขาว White Pearl , ดำ Black Star และ เงิน Brilliant Silver ส่วนภายใน ตกแต่ง ด้วยพวงมาลัยแบบใหม่ D-Shape พร้อมสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ราคา 445,000 – 637,000 บาท (รายละเอียด อ่านได้ ที่นี่ Click Here)

การปรับโฉมเพิ่มออพชันครั้งสุดท้าย เกิดขึ้น เมื่อ 26 มีนาคม 2019 เพิ่มรุ่นย่อย 1.2 E Sportech SV ตกแต่งด้วย ชุดครอบกันชนหน้าสีดำ กระจังหน้าโครเมี่ยมสีดำ ชุดสเกิร์ตข้างสีดำ และชุดสเกิร์ตหลังสีดำ ภายนอกมีให้เลือกเหลือแค่ 3 สี คือ ขาว White Pearl , ดำ Black Star และ เงิน Brilliant Silver ส่วนภายใน ตกแต่ง ด้วยพวงมาลัยแบบใหม่ D-Shape พร้อมสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ราคา 550,000 บาท (รายละเอียด อ่านได้ ที่นี่ Click Here)

หลังการเปิดตัวในเมืองไทย เมื่อปี 2011 Nissan ก็นำ N17 Sedan ไปเปิดตัวใน Australia และ New Zealand เมื่อ 25 สิงหาคม 2012 ภายใต้ชื่อ Almera ซึ่งส่งออกไปจากโรงงานของ Nissan ที่บางเสาธง วางเครื่องยนต์ HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี 102 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 139 นิวตันเมตร (14.16 กก.-ม.) ขับเคลื่อนล้อหน้า เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ Xtronic CVT เสริมด้วยระบบ ABS , EBD , Brake Assist รวมทั้งยังเพิ่มระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC และ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง เป็นพิเศษ ทำตลาดจนถึงสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา

N17 Sedan Japanesse Version “Nissan Latio”

ส่วนตลาดญี่ปุ่น เป็นคิวถัดไป Nissan เปิดตัว N17 Sedan ในบ้านเกิดตัวเอง เมื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2012 หรือ 1 ปีเต็ม หลังการเปิดตัวในตลาดเมืองไทย โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า Latio ซึ่งเป็นชื่อที่ Nissan เคยใช้กับ ตัวถัง Sedan ของ C-Segment Compact Sedan อย่าง Tiida Latio มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2004 วางเครื่องยนต์ HR12DE เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1,198 ซีซี 79 แรงม้า (PS) เหมือนเวอร์ชันไทย ไม่มีผิดเพี้ยน อาจแตกต่างกันเล็กน้อย เรื่องอุปกรณ์มาตรฐาน เช่นระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ซึ่งติดตั้งที่ญี่ปุ่น

Latio ถูกผลิตและส่งออกจากโรงงานของ Nissan ในเมืองไทย ย่านบางนา-บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ลงเรือไปจำหน่ายในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ March K13 แต่ยอดขายในญี่ปุ่นนั้น แค่พอไปได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวาเลย เนืองจากตลาดญี่ปุ่น ต้องการรถยนต์นั่งขนาดเล็ก แบบ Mini-MPV มากกว่า ตลอดอายุตลาด ตั้งแต่ปี 2012 มีการปรับโฉม Minorchange เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ เมื่อ 22 ตุลาคม 2014 เป็นการเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า และชุดไฟหน้า ตามเวอร์ชันไทย เท่านั้น Latio มีจำหน่ายในญี่ปุ่น มาจนถึง 26 ธันวาคม 2016  จึงยกเลิกการนำเข้าจากเมืองไทย เนื่องจาก ยอดขายไม่ดีเท่าที่ควร สู้ Honda Grace (หรือ “City” ในไทย) ไม่ได้ และคนญี่ปุ่น ซื้อรถเก๋ง Sedan ขนาดเล็กน้อยลงมากๆ

Another version fron India “Renault Scala 2nd Generation”

หลังการเปิดตัวในญี่ปุ่น N17 Sedan ก็เริ่มทะยอยเปิดตัวในหลายๆประเทศ ทั้ง Malaysia , Philipines (ผลิตที่โรงงานใน Santa Rosa เมือง Laguna เพื่อทำตลาดในประเทศเท่านั้น), South Africa เลยเถิดไปถึง Ghana , Kenya ฯลฯ

ไม่เพียงแค่ทำตลาดในชื่อ Nissan เท่านั้น เพราะ ใน India นอกเหนือจาก Nissan จะเปิดตัวและทำตลาด N17 Sedan ภายใต้ชื่อ Nissan Sunny ตามแผนเดิมแล้ว ก่อนหน้า เวอร์ชันญี่ปุ่นในชือ Latio จะเปิดตัว ประมาณ 2 เดือน พันธมิตรร่วมเครืออย่าง Renault ก็นำ N17 Sedan ไปแปลงโฉมด้านหน้าใหม่ทั้งหมด รวมทั้งชุดไฟท้ายและฝากระโปรงท้าย (ให้คล้ายกับ Mercedes-Benz S-Class W221) เพื่อ ทำตลาดในแดนภารตะ ภายใต้ชื่อ “Renault Scala” รุ่นที่ 2 แทนที่ รุ่นแรก (Renault Samsung SM3) เพื่อจำหน่าย ควบคู่กับ Nissan Sunny โดยเปิดตัวไปเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 โดยสร้างความแตกต่างในฐานะ เวอร์ชันที่หรูหราขึ้นของ Sunny อุปกรณ์มาตรฐานมีทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า เบาะหนังสีเบจ แถมด้วยเบาะหลังแบบมีพนักวางแขน ฯลฯ

Scala และ Sunny Indian Version วางขุมพลังให้เลือกถึง 2 แบบ ทั้งเครื่องยนต์ HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี เวอร์ชันสำหรับตลาดอินเดีย จูนให้เหมาะสมกับสภาพน้ำมันเชื้อเพลิง จนเหลือ 99 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดลดลงเหลือ 134 นิวตันเมตร (13.65 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที  และเครื่องยนต์ K9K Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,461 ซีซี พร้อมเทคโนโลยี dCi 86 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตันเมตร (20.38 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที ทั้ง 2 ขุมพลังต่อเชื่อมกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้าได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ Xtronic CVT นอกนั้น งานวิศวกรรมอื่นๆ ก็เหมือนกับ N17 Sedan ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม Scala ไม่ค่อยประสบความสำเร็จด้านยอดขายเท่าที่ควร ลูกค้าชาว India เอง ก็ฉลาดพอที่จะไม่ยอมเพิ่มเงินเพื่อมองหาความหรูหราที่เพิ่มขึ้นจาก Sunny รุ่นปกติ หลังจากทนอยู่ในตลาดมานานพอสมควร Renault India ก็ยุติการทำตลาด Scala อย่างเงียบๆ ในเดือนมีนาคม 2017 (ส่วน Renault Pulse ซึ่งนำ Nissan March/Micra K13 ที่ยังขายในบ้านเรา ไปเปลี่ยนหน้าตาแนวเดียวกัน ขายเฉพาะใน India ยังคงเหลืออยู่ในสต็อกจนถึงเดือนมิถุนายน 2017 เป็นอันยุติบทบาทของทั้ง 2 รุ่นไป)

นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก จนถึงตอนนี้ N17 ก็ยังคงมีทำตลาดในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก มียอดขายสะสม ตั้งแต่ปี 2012 – 2019 ในตลาดอเมริกาเหนือ อยู่ที่ 896,379 คัน ในขณะที่ตลาดแคนาดา อยู่ที่ 71,591 คัน ส่วนตลาดจีน (ทำตลาดในชื่อ Sunny) มียอดขายสะสม อยู่ที่ 680,391 คัน

สำหรับตลาดบ้านเรานั้น ก็มีกระแสตอบรับค่อนข้างดีมาก ยอดขายนับตั้งแต่วันเปิดตัว 7 ตุลาคม 2011 จนถึง 31 ธันวาคม 2016 กวาดไปได้ทั้งหมด 104,000 คัน ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลในยุคนั้นด้วย ถึงแม้ในช่วงต่อมายอดขายจะค่อยๆ ลดลง แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ โดยมีตัวเลขยอดขายเฉลี่ย อยู่ที่ 15,000 คันต่อปี สรุปตัวเลขตลอดทั้งปี 2016 – 31 ธันวาคม 2019 Almera N17 รุ่นเดิม ทำยอดขายได้รวม 62,292 คัน และล่าสุด เดือนมกราคม 2020 ยังคงมีรายงานยอดขายของ Almera N17 ในไทยอยู่ ที่ 825 คัน เท่ากับว่า ยอดขายรวมตลอดทั้งอายุตลาด ของ รถรุ่นนี้ในเมืองไทย อยูที่ประมาณ 167,117 คัน!! และจนถึงตอนนี้หลายประเทศ ยังคงมี N17 Sedan จำหน่ายกันอยู่ ภายใต้ชื่อรุ่นที่ต่างกันไป ทั้ง Sunny / Almera / Latio โดยคาดว่าน่าจะเริ่มทะยอยลดการผลิตและทำตลาดลงเรื่อยๆ ตลอดปี 2020 นี้เป็นต้นไป

ด้วยยอดขายจำนวนมากขาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยังไงๆ Nissan ก็จะต้องทำ B-Segment Sedan รุ่นต่อไป ในรหัสรุ่น N18 ออกมาแน่ๆ เพียงแต่ว่า ใช้เวลาในการเตรียมงาน และพัฒนา ยาวนานเกินไปหน่อย คือตั้งแต่ ปี 2011 – 2019 เท่ากับว่า ปล่อยให้ N17 Sedan อยู่ในตลาด นานถึง 8 ปี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย สำหรับการพัฒนารถยนต์รุ่นเปลี่ยนโฉม ซึ่งมักใช้เวลาแค่ 3-4 ปีเท่านั้น ไม่สมควรปล่อยให้รถยนต์รุ่นเดิม ฝ่าฟันต่อสู้กับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่เพียบพร้อมกว่า Hi-Tech กว่า และครบครันด้วยอุปกรณ์ด้านความปลอดภันยุคใหม่ มากกว่า ไว้นานขนาดนี้

The beginning of “N18”

N18 Sedan ยังคงถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปี 2015 – 2019 บนพื้นตัวถัง V-Platform อันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับรถเล็ก กลุ่ม B-Segment ของ Nissan แต่มีการพัฒนาต่อยอด จาก Generation ที่แล้ว เช่นเดียวกับ Micra (K14) และ Kicks (P15) ซึ่งออกสู่ตลาดโลกไปก่อนหน้านี้ ราวๆ 2 ปี โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่การปรับชิ้นส่วนโครงสร้างตัวถังในจุดต่างๆ ให้มีความหนามากขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดการบิดตัวให้ดีขึ้น อีกทั้งปรับปรุงให้ตัวรถมีบุคลิกการขับขี่คล่องแคล่วยิ่งขึ้น

N18 Sedan รุ่นปัจจุบัน เผยโฉมครั้งแรกในโลก ณ งานมหกรรมดนตรี Rock the Ocean’s Tortuga ริมชายหาด เมือง Fort Lauderdale มลรัฐ Florida สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2019 โดยมีนักร้อง Country ชื่อดัง อย่าง Kane Brown ร้องเพลงประกอบ ในขณะที่ตัวรถ ค่อยๆถูกยกขึ้นด้วยแท่นไฮโดรลิคช้าๆ จนถึงด้านบนสุดของเวที โดยใช้ชื่อในการทำตลาดต่อเนื่องจากรถรุ่นเดิมซึ่งทำตลาดอยู่ก่อนแล้วที่นั่น ในชื่อ Nissan VERSA

Claudia Marquez, Vice president of sales operations, Nissan North America, Inc. กล่าวว่า “สำหรับลูกค้าชาวอเมริกัน ที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ Sedan มากกว่า 5,000,000 คัน/ปี แล้ว First impressions เป็นสิ่งสำคัญมากๆ นั่นคือเหตุผลที่เราเลือกจะเผยโฉม Versa ใหม่ ด้วยวิธีที่สามารถสร้างความประทับใจใหลูกค้าจดจำได้ ”

Marquez กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น ตัดสินใจทะยอยถอนตัวออกจากตลาดรถยนต์นั่ง Sub-Compact เรามองเห็นโอกาสในการสร้างความเป็นผู้นำ และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด จากกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์เป็นครั้งแรก เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยงานออกแบบที่สวยงาม และอุปกรณ์มาตรฐานที่ครบครัน จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจซื้อรถ และเข้ามาเป็นครอบครัว Nissan”

การเผยโฉมดังกล่าว เป็นเพียงการนำรถยนต์ 1 คันไปอวดโฉม และปล่อยข้อมูลผ่านทาง ข่าวแจก Press Release พร้อมชุดภาพถ่าย ของ Versa เวอร์ชันอเมริกาเหนือ เท่านั้น ส่วนการเปิดให้สาธารณชนได้ยลโฉมรถคันจริงกันอย่างใกล้ชิด ต้องรอกันหลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ จึงจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงาน New York International Auto Show 2019 ถือเป็นการเข้ามาทำตลาดแทน Versa (N17) ที่ลากขายกันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2011 กระนั้น กว่าที่ Versa ใหม่จะเริ่มออกขายจริงในสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรกก็ต้องรอ จนถึงเดือนสิงหาคม 2019

หลังจากนั้น Nissan จึงเริ่มทะยอยอนุญาตให้ ผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่าย ในบางประเทศ ของทวีป Latin America เปิดตัว N18 Sedan ในชื่อ Versa ใหม่ ตามมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2019 โดยเริ่มทะยอยเปิดตัว และทำตลาด ใน 19 ประเทศ เริ่มจาก Mexico ก่อน ตามด้วย Aruba, Bahamas, Chile, Colombia, Costa Rica, Curacao, Ecuador, El Salvador, Guatemala , Haiti, Honduras, Nicaragua, Panama, Paraguay, Peru, Puerto Rico, Dominican Republic, Saint Martin และ Uruguay

Versa สำหรับตลาด Latin America ทุกประเทศ จะใช้เครื่องยนต์เดียวกับเวอร์ชันอเมริกาเหนือ คือ HR16DE Gen.3 เบนซิน 1.6 ลิตร 118 แรงม้า (HP) หรือ 122 แรงม้า (PS) ร่วมกันทั้งหมด (รายละเอียดด้านเครื่องยนต์ อ่านได้ข้างล่างในหมวด “รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ”) นอกนั้น งานวิศวกรรมต่างๆ จะเหมือนกับเวอร์ชันเมืองไทย เกือบจะทั้งคัน

หลังการเปิดตัวในตลาด America ทั้ง เหนือ กลาง และใต้ได้ไม่นาน Versa ก็คว้ารางวัล “Best Car of the Year” จากสมาพันธ์สื่อมวลชนสายยานยนต์ Inter-American Federation of Automobile Journalists (FIPA) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2020 ที่ผ่านมาหมาดๆ

สำหรับประเทศไทย Nissan Motors Thailand ได้จัดงานเปิดตัว N18 Sedan ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 ณ สนามฟุตซอล ข้างตึกการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยยังคงยืนหยัดใช้ชื่อ Almera ต่อไป พร้อมทั้งจัดกิจกรรมทดลองขับสั้นๆ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานได้ลองสัมผัสกันสดๆ ภายในเย็นวันนั้นกันเลยทีเดียว ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวังของชาว Nissan ที่ต้องการยกระดับยอดขายให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้น เมื่อครั้งเปิดตัว Almera (N17) ในปี 2011

อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่สื่อมวลชน และเจ้าของผู้จำหน่าย Nissan เท่านั้น ที่ได้ทดลองขับกันก่อน เพราะกว่าที่ ลูกค้าชาวไทย จะได้เห็นตัวจริง และเริ่มทดลองขับได้ ก็ต้องรอไปอีก ราวๆ 10 วัน จึงจะทดลองขับ และเปิดรับจอง กันในงาน Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน 2019 จากนั้น การส่งมอบรถให้ลูกค้ารายแรก จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา

สำหรับยอดขาย ของ Almera ใหม่ N18 ตั้งแต่เปิดตัวในเมืองไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายนนั้น นับเฉพาะตั้งแต่เริ่มส่งมอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2019 จนถึง 31 ธันวาคม 2019 รวมตัวเลขมากถึง 621 คัน ส่วนตัวเลขตลอดทั้งเดือนมกราคม 2020 ยอดรวมพุ่งขึ้นเป็น 2,153 คัน ตัวเก่า 825 คัน ขณะที่ตัวเลขยอดขายของเดือน กุมภาพันธ์ 2020 สรุปได้มากถึง 3,xxx คัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

Almera เวอร์ชันไทย มีความแตกต่างจาก Versa เวอร์ชันอเมริกา โดยหลักอยู่ที่ การเปิดตัวเครื่องยนต์ใหม่ HRA0 เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo Intercooler เป็นครั้งแรกในโลก รวมทั้งการเปิดตัวโดยนำล้ออัลลอย 15 นิ้ว มาสวมให้แม้กระทั่งในรุ่น Top VL (เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ อ่านได้ในย่อหน้าข้างล่าง) และรายละเอียดของอุปกรณ์ปลีกย่อยบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่นชุดเบาะหลังเป็นแบบมีพนักวางแขน แถมยังพับได้ และมีพนักศีรษะด้านหลังแยกชิ้น ไปจนถึงอุปกรณ์ประเภท Adaptive Redar Cruise Control ที่ถูกตัดออกไป เนื่องจากทำราคาไม่ได้ ฯลฯ นอกนั้น แทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้แตกต่างจาก Versa เวอร์ชันอเมริกา มากอย่างที่หลายคนคาดคิด

ขนาดตัวรถ / Dimension & Comparison

Almera ใหม่ มีขนาดตัวถังยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,740 มิลลิเมตร สูง 1,460 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,620 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,525 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,535 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 135 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมันเพียง 35 ลิตร

เมื่อเทียบกับ Almera รุ่นเดิม (N17) ซึ่งมีมิติตัวถังยาว 4,426 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,500 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร พบว่า รุ่นใหม่ ยาวขึ้นถึง 69 มิลลิเมตร แถมยังกว้างขึ้น 45 มิลลิเมตร แต่มีหลังคาเตี้ยลง 40 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวขึ้น 20 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม B-Segment ECO car Phase 2 ที่เพิ่งเปิดตัว อย่าง Honda City 1.0 Turbo ใหม่ ซึ่งมีขนาดตัวถังยาวสุดในกลุ่มคือ 4,553 มิลลิเมตร กว้างสุดในกลุ่ม อยู่ที่ 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร จะพบว่า Almera ใหม่ สั้นกว่า City 58 มิลลิเมตร แคบกว่า 8 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 7 มิลลิเมตร แต่ระยะฐานล้อยาวกว่า City ใหม่ 31 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับ Suzuki Ciaz ซึ่งมีขนาดตัวถังยาว 4,505 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,650 มิลลิเมตร จะพบว่า Almera ใหม่ สั้นกว่า 10 มิลลิเมตร กว้างกว่า 10 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 15 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 30 มิลลิเมตร ภาพรวมก็ยังมีขนาดเล็กกว่า Ciaz อยู่ดี

แต่หากเปรียบเทียบกับ Mazda 2 Sedan ซึ่งมีมิติตัวถังยาว 4,340 มิลลิเมตร กว้างน้อยสุดในกลุ่มคีอ 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Almera ใหม่ ยาวกว่า 155 มิลลิเมตร กว้างกว่า 45 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า 10 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาวกว่า 50 มิลลิเมตร

หรือเปรียบเทียบกับ Toyota Yaris Ativ ซึ่งมีมิติตัวถังยาว 4,425 มิลลิเมตร กว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Almera ใหม่ ยาวกว่า 75 มิลลิเมตร กว้างกว่า 10 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 15 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 70 มิลลิเมตร

และเมื่อเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Attrage ซึ่งมีขนาดตัวรถเล็กที่สุด ด้วยความยาว 4,305 มิลลิเมตร กว้าง 1,670 มิลลิเมตร สูง 1,515 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า Almera ใหม่ ยาวกว่าถึง 190 มิลลิเมตร กว้างกว่า 70 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 55 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาวกว่า 70 มิลลิเมตร

น้ำหนักตัวรถเปล่า จากข้อมูลของ Nissan มีดังนี้
– 1.0 Turbo S น้ำหนัก 1,065 กิโลกรัม
– 1,0 Turbo E น้ำหนัก 1,070 กิโลกรัม
– 1.0 Turbo EL น้ำหนัก 1,074 กิโลกรัม
– 1.0 Turbo V น้ำหนัก 1,070 กิโลกรัม
– 1.0 Turbo VL น้ำหนัก 1,076 กิโลกรัม

น้ำหนักตัวรถรุ่น V และ VL จะใกล้เคียงกับรุ่น S, E และ EL ถึงแม้จะมีอุปกรณ์มาตรฐานมากกว่า แต่มีการถอดยางอะไหล่แบบชั่วคราวออกไป เพื่อจะทำน้ำหนักให้น้อยที่สุด จะได้มีผลกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมา ให้ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สามารถผ่านข้อกำหนดของ ECO-Car Phase 2 ที่กำหนดโดย BOI ได้

รูปลักษณ์ภายนอก / Exterior

เส้นสายตัวถัง ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด “Emotional Geometry” ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบ (Design Language) ของ Nissan ยุคใหม่ ที่คนไทยจะเริ่มได้สัมผัสกันในรถเก๋งรุ่นใหม่ๆนับจากนี้ ความโดดเด่นแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป อยู่ที่การปรับสัดส่วนตัวรถให้เตี้ยลง แต่กว้าง และยาวขึ้น (Lower & Wider) โดยองค์ประกอบสำคัญของแนวคิดนี้อยู่ที่กระจังหน้า V-Motion Grille ไฟหน้า – ไฟท้ายทรง Boomerang เสาหลังคาคู่หลัง C-pillar แบบมีเส้นตวัดเฉียงขึ้นไปรับกับมุมของบานกระจกหน้าต่าง ทำให้เกิดการแบ่งแนวเส้นหลังคาแบบ Floating Roof และลดระยะห่างระหว่างยางกับซุ้มล้อลง

ด้านหน้ารถมาพร้อมกับกรอบกระจังหน้า V-Motion Grille รับกับเส้นสายบนฝากระโปรงหน้า พร้อมลวดลายบนแผงกระจังแบบรังผึ้ง คล้ายกับรถยนต์ Nissan ยุคใหม่หลายรุ่น โดยรุ่นย่อย S, E, EL และ V จะตกแต่งด้วยแถบโครเมียม ในขณะที่รุ่นท็อป SV จะตกแต่งเพิ่มแถบโครเมียมรมดำ

ชุดไฟหน้าของรุ่น S, E และ EL เป็นแบบ Multi Reflector พร้อมหลอด Halogen ส่วนรุ่น V และ VL เป็นโคมไฟหน้าแบบ Multi Reflector เช่นกัน แต่เปลี่ยนมาใช้หลอด LED ทั้งไฟสูงและไฟต่ำ พร้อมไฟหรี่ Signature Light แบบ LED ทรง Boomerang ส่วนไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่น VL เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีไฟส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยขณะขับรถในเวลากลางวัน Daytime Runnung Light ติดตั้งมาให้เป็น item ลับ แต่น่าแปลกว่า ทางโรงงานในบ้านเรา กลับปิดมันไว้ ไม่ยอมเปิดทางให้ใช้การได้ งานนี้ Dealer ของ Nissan หลายราย แอบไปศึกษาดู พอเข้าใจ จนสามารถจัดแจงเชื่อมต่อเข้ากับ Computer ผ่านการเสียบช่อง OBD (On-Board Diagnosis) ให้ทำงานได้ ก็กลายเป็นของแถมให้กับลูกค้าไปโดยปริยาย เสียอย่างนั้น!?

แนวทางการออกแบบด้านข้างยังคงมาพร้อมแนวเส้นขอบกระจกหน้าต่าง หรือ Waist line คล้ายรถเก๋ง Nissan รุ่นใหม่คันอื่นๆ ในต่างประเทศ อีกเช่นกัน เส้นสายบนตัวถัง สลัดความโค้งมนอันแสนเรียบร้อย ที่เคยมีอยู่ในรถรุ่นเดิมออกไปจนหมดสิ้น แทนที่ด้วยเส้นสายที่เฟี้ยวขึ้น เฉียบคมขึ้น ทำให้ตัวรถดูทะมัดทะแมง และปราดเปรียวขึ้นกว่ารุ่นเดิมมากเป็นคนละเรื่อง

มือจับเปิดประตูจากภายนอกของรุ่น S เป็นสีดำ ส่วนรุ่นอื่นเป็นสีกับตัวรถ กระจกมองข้างแบบติดตั้งอยู่บนเปลือกตัวถังประตู ของรุ่น S เป็นสีดำ ในขณะที่รุ่นอื่น เป็นสีเดียวกับตัวรถ ไฟเลี้ยวด้านข้าง ของรุ่น S, E และ EL ติดตั้งอยู่บนเปลือกตัวถังด้านข้างเหนือซุ้มล้อคู่หน้า ส่วนรุ่น V และ VL จะเป็นแบบ LED ฝั่งอยู่ในกระจกมองข้าง เสาอากาศ ของรุ่น E จะเป็นเสาสั้นแบบธรรมดา แต่รุ่น EL, V และ VL จะเป็นแบบฝังตัวอยู่ในกระจกบังลมหลัง

ด้านหลัง ทุกรุ่นย่อย แตกต่างจาก Versa เวอร์ชันอเมริกาเหนือ ก็คือ จากไฟท้ายแบบหลอด Halogen ปกติ ถูก Upgrade มาเป็นชุดไฟท้าย พร้อมไฟเบรกท้าย แบบใช้หลอด LED Signature ทรง Boomerang เช่นเดียวกับ ไฟเบรกดวงที่ 3 เป็นแบบ LED แต่ไฟเลี้ยว และไฟถอย ยังคงเป็นหลอดไส้ธรรรมดาอยู่ บริเวณกึ่งกลางฝากระโปรงท้ายประดับโลโก้ Nissan พร้อมสัญลักษณ์ชื่อรุ่น Almera อยู่ฝั่งซ้าย ส่วนฝั่งขวาจะเป็นตัวอักษรบ่งบอกรุ่นย่อย สำหรับรุ่น V และ VL และป้ายสัญลักษณ์ Turbo เปลือกกันชนหลัง ติดตั้งไฟทับทิมเรืองแสงสีแดงมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ชายล่างตกแต่งด้วยลาย Carbon พร้อม Diffuser

ล้อของรุ่น S จะเป็นล้อเหล็ก ขนาด 15” x 5.5”J พร้อมฝาครอบดุมล้อ ส่วนรุ่น E จะเป็นล้อเหล็ก ขนาด 15” x 5.5”J พร้อมฝาครอบล้อ ในขณะที่รุ่น EL, V และ VL จะเป็นล้ออัลลอยลาย 10 ก้าน ขนาด 15” x 5.5”J Offset 45 มิลลิเมตร (1,77 นิ้ว) ทุกรุ่นรัดด้วยยาง Bridgestone Ecopia EP150 หรือ Dunlop ขนาด 195/65 R15 ด้วยเหตุผลของการป้องกันปัญหาฉุกเฉิน กรณีบริษัทยางรถยนต์แห่งใดแห่งหนึ่ง ส่งยางป้อนเข้าโรงงานไม่ได้ ส่วนยางอะไหล่ของรุ่น S, E และ EL เป็นแบบชั่วคราว แต่รุ่น V และ VL จะติดตั้งชุดซ่อมยางแบบฉุกเฉินมาให้แทน

อย่างไรก็ตาม คราวนี้ ฝ่ายอะไหล่ และอุปกรณ์ตกแต่ง (Accessory) ของ Nissan ในบ้านเรา ก็เตรียม ล้ออัลลอย ขนาด 16 นิ้ว ลายปัดเงาสลับดำเงา วงละ 3,500 บาท รวม 14,000 บาท สวมด้วยยาง Bridgestone Potenza RE003 ขนาด 215/50R16 มาให้ลูกค้าได้เลือกสั่งติดตั้งเป็นอุปกรณ์พิเศษ ในราคาเส้นละ 3,990 บาท รวม 4 เส้น ราคา 15,960 บาท ครบทั้ง 4 ล้อ ประมาณ 29,960 บาท ถูกขาย (หรือแถม) รวมกับบรรดาอุปกรณ์ Accessory ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครีบสปอยเลอร์บนฝากระโปรงหลัง (เลือกได้ตามสีตัวถัง หรือจะปล่อยไว้เป็นสีดำเงาตามเดิมก็ย่อมได้) ฝาครอบกระจกมองข้างสีดำ คิ้วประดับบริเวณชายล่างของประตูทั้ง 4 บาน กันสาดเหนือบานหน้าต่างทั้ง 4 ชิ้นพลาสติกประดับส่วนต่างๆของตัวรถ ทั้งเปลือกกันชนหน้า – หลัง ไปจนถึงไฟส่องสว่าง Ambient Light สำหรับพื้นห้องโดยสารด้านหน้า ฯลฯ

ใครที่สงสัยว่า ทำไม Nissan ถึงไม่ยอมติดตั้งล้อ 16 นิ้วชุดนี้มาให้จากโรงงานเลย ? คำตอบก็คือ แรกเริ่มเดิมที Nissan เองก็อยากจะสวมมาให้ในรุ่นท็อป VL นั่นแหละครับ แต่ปัญหาก็คือ ด้วยน้ำหนัก และแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เพิ่มขึ้น จนสูงเกินค่ากำหนด ตามมาตรฐานของรถยนต์ ที่จะเข้าร่วมรับสิทธิพิเศษด้านภาษี ตามโครงการ ECO Car Phase 2 ของ BOI ทางรัฐบาลไทย ก็เลยจำเป็นต้องถอดออก และไม่อาจจะขายรวมไปในรถได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ดีลเลอร์ หรือโชว์รูมผู้จำหน่าย ขายแยกชิ้นออกมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งแทน นั่นเอง

ภายในห้องโดยสาร / Interior

ระบบกลอนประตูของรุ่น S ใช้วิธีการล็อก – ปลดล็อกด้วยกุญแจแบบธรรมดา ส่วนรุ่น E จะเป็นกุญแจรีโมท มีปุ่มสั่งล็อก – ปลดล็อกบนรีโมท ในขณะที่รุ่น EL, V และ VL จะเป็นกุญแจรีโมท Intelligent Key System ซึ่งมีหน้าตาเหมือนรีโมทกุญแจสหกรณ์สำหรับ Nissan แทบทุกรุ่น ทั้งในเมืองไทย และเมืองนอก ตั้งแต่รถเล็กอย่าง March ยัน GT-R ลามไปถึง NV350 Caravan / Urvan ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

เมื่อพกกุญแจรีโมท แล้วเดินเข้าใกล้รถ ยังคงต้องเอื้อมมือไปกดปุ่มสามเหลี่ยมสีดำบนมือจับเปิดประตู ระบบจะปลดล็อกให้อัตโนมัติ และเมื่อต้องการล็อกรถ ก็สามารถทำได้โดยการกดปุ่มสีดำบนมือจับเปิดประตูอีกครั้ง หรือจะสั่งล็อก – ปลดล็อกโดยการกดสวิตช์ที่รีโมท ก็ได้เช่นกัน (ขณะที่คู่แข่งหลายรุ่น เช่น City ใหม่ นั้น คุณไม่ต้องกดปุ่มที่มือจับ แต่ก็สามารถดึงมือจับเปิดประตูได้ทันที)

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ก็ยังคงสะดวกสบายดีเหมือนรุ่นที่แล้ว แม้ว่า เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างเทลาดมากกว่า Almera รุ่นเดิม (ซึ่งใช้เสาหลังคาคู่หน้า ร่วมกับ Nissan March K13) เพียงแต่ว่า ควรจะปรับตำแหน่งทั้งระยะห่าง และความสูงของเบาะนั่งคู่หน้าให้เหมาะสม ก่อนจะหยอนก้นลงนั่ง มิเช่นนั้น มีโอกาสที่ศีรษะของคุณอาจโขกเข้ากับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ได้อยู่เหมือนกัน

แผงประตูคู่หน้าเป็นวัสดุพลาสติกขึ้นรูปทั้งหมด บริเวณพนักวางแขนบนแผงประตูคู่หน้าของรุ่น EL และ V จะบุฟองน้ำและหุ้มหนังสังเคราะห์สีดำมาให้ ส่วนรุ่น VL จะเย็บตะเข็บด้ายมาให้ด้วย การวางแขน ทำได้เรียบร้อยดี วางได้ยาวจนถึงข้อศอก ถ้าคุณปรับเบาะนั่งลงไปในตำแหน่งต่ำสุด ส่วนมือจับเปิดประตูจากด้านใน ของรุ่น S, E และ EL จะเป็นวัสดุพลาสติกสีดำ ส่วนรุ่น V และ VL จะเป็นวัสดุสีเงิน

แผงสวิตช์ควบคุมกระจกหน้าต่างและสวิตช์ล็อก – ปลดล็อกประตูของทุกรุ่นเป็นพลาสติกกัดขึ้นรูป เป็น “ลาย Carbon Fiber แบบหลอกๆ”  โดยรุ่น VL จะตกแต่งเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าว ด้วยกรอบสีเงินมาให้เป็นพิเศษ ด้านล่างของแผงประตู ออกแบบเป็นช่องวางของ ขนาดปานกลาง พร้อมช่องวางขวดน้ำ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นตำแหน่งติดตั้งลำโพง Sub Bass ด้วย

เมื่อเข้าไปนั่งด้านในรถ สิ่งที่ผมเจอก่อนเป็นประการแรกคือ กลิ่นภายในห้องโดยสาร ค่อนข้างฉุนจมูกแรงมาก แถมยากที่จะอธิบายด้วยว่า มันเป็นกลิ่นอะไร รู้แต่ว่า เป็นกลิ่นเคมีจากวัสดุพลาสติก HDPE (High Density Poly Ethylene) สำหรับตกแต่งภายในรถจากโรงงานนั่นแหละ ปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ Almera ใหม่เท่านั้น หากแต่ Sylphy รุ่นปัจจุบัน ก็มีกลิ่นฉุนจมูกแบบนี้ แต่เป็นคนละกลิ่นกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ Nissan ใส่ใจกับกลิ่นรถใหม่ และกลิ่นจากวัสดุในห้องโดยสาร ของรถรุ่นต่อๆไป มากกว่านี้หน่อยเถอะ เพราะตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ Headlightmag มาจะขึ้นปีที่ 11 แล้ว Almera คือรถยนต์ 1 ในไม่กี่รุ่น ที่ผมถึงขั้นต้องเขียนตำหนิเรื่องกลิ่นรถใหม่ในห้องโดยสาร กันอย่างนี้…

เบาะนั่งคู่หน้าของทุกรุ่นมีรูปทรงเหมือนกันทุกประการ สามารถปรับเอน เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ ด้วยคันโยกที่ติดตั้งอยู่ด้านข้างและด้านหน้าของเบาะรองนั่ง พนักพิงศีรษะสามารถปรับสูง – ต่ำได้ ส่วนเบาะนั่งปรับระดับสูง – ต่ำ ด้วยคันโยกข้างเบาะ สงวนไว้สำหรับฝั่งคนขับเท่านั้น เบาะนั่งในรุ่น S และ E จะหุ้มด้วยวัสดุผ้าสีดำสลับกับสีเทา แต่ในรุ่น EL, V และ VL จะหุ้มด้วยวัสดุผ้าสีดำสลับกับปีกเบาะด้านข้างสีขาว เนื้อผ้า เป็นแบบสาก ไม่เก็บฝุ่น แบบเดียวกับบรรดารถยนต์ที่ขายในประเทศโซนยุโรป ซึ่งคนไทยอาจไม่ชอบ เพราะมันไม่นุ่มมือ แต่ข้อดีคือ มันสากพอที่จะช่วยรั้งตัวผู้โดยสารขณะเดินทางได้ส่วนหนึ่ง ไม่เยอะนัก

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบนุ่มเกือบแน่น ให้สัมผัสเหมือนนั่งอยู่บน เก้าอี้คนไข้ รอหน้าห้องตรวจ ในโรงพยาบาลของรัฐ โซนกรุงเทพฯ คือ ร่างกายจะจมลงไปกับเบาะ ออกแนวตั้งชันเสียด้วยซ้ำ หากปรับเบาะให้ถูกต้อง ปีกเบาะด้านข้าง ค่อนข้างสูงกว่า City ชัดเจน ช่วยโอบกระชับสรีระช่วงด้านข้างลำตัว ไว้ได้ดีพอสมควร ด้านบนของเบาะ รองรับช่วงหัวไหล่แค่เพียงครึ่งหนึ่งของสะบักเท่านั้น แต่ยังถือว่า ดีกว่า City เล็กน้อย

ตั้งข้อสังเกตว่า คนตัวเล็ก อย่าง น้องเติ้ง ทีมเว็บเรา (สูง 168 เซ็นติเมตร หนัก 48 กิโลกรัม) มองว่า เป็นเบาะที่นั่งสบายสำหรับตัวเขา ทว่า สำหรับคนตัวใหญ่ปานกลางอย่างผม (สูง 170 เซ็นติเมตร หนัก 105 กิโลกรัม) เมื่อนั่งขับไปนานๆ ราวๆครึ่งชั่วโมง ก็จะเริ่มรู้สึกเมื่อยหลังแล้ว ดังนั้น ประเด็นนี้ แล้วแต่สรีระของคุณจะเป็นผู้ตัดสินกันเอาเองครับ

หมอนพนักศีรษะ ขึ้นรูปด้วยวัสดุฟองน้ำ ที่แน่นจนเกือบจะแข็ง แต่ยื่นออกมาอยู่ในระดับที่ ไม่ดันกบาลมากนัก คือยังดันนิดๆแหละ แต่ไม่ดันหนักหนาจนน่าเกลียดเท่า Sylphy และ NP300 Navara ช่วงขวบปีแรกๆนั่นหรอก ตัวหมอนพนักศีรษะมีความสูงมากกว่า City ใหม่ นิดหน่อย ในประเด็นนี้ ผมยืนยันว่า พนักศีรษะ City ทำออกมาได้ดีกว่า และวางตำแหน่งไว้อย่างเหมาะสมกว่า Almera แต่พอใช้งานจริง ก็ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คิด

เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำสไตล์ นุ่มเกือบแน่น ออกจะแข็งกว่า City , Ciaz , Swift พอประมาณ มีมุมเงยเหมาะสม มีความยาวเกือบจะถึงขาพับของผมแล้วเชียว ขาดอีกนิดเดียวจริงๆ นั่งขับนานๆ ก้็ยังรองรับได้ดี ไม่เมื่อยก้น

เข็มขัดนิรภัยสำหรับคนขับเป็นแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ 2 ทิศทาง (Double Pretensioner & Load Limiter) ส่วนฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าเป็นแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load Limiter) ฟังดูเหมือนจะดี ทว่า สิ่งที่ผมค่อนข้างหงุดหงิดก็คือ ตอนนี้ก็ปี 2020 เข้าไปแล้ว แต่ Almera รุ่นใหม่ล่าสุดที่คุณเห็นอยู่นี้ ก็ยังคงมีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง ที่ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้ เป็นแบบเดียวกับ Almera รุ่นปี 2011 – 2012 ตามเดิม…เป๊ะ!!

ผมเข้าใจดีแหละว่า มันเป็นอีกรูปแบบของการลดต้นทุนในสิ่งละอันพันละน้อย เพื่อที่จะสามารถตั้งราคาขายให้พออยู่ได้ พอมีกำไร โดยที่ค่า Margin การตลาดต่อ รถ 1 คัน ไม่ถูกกระทบไป แม้เพียงเศษเสี้ยวเล็กๆก็ตาม แต่…Nissan เอ๋ย…นี่คือเรื่องพื้นฐานนี่รถยนต์ในยุคทศวรรษ 2020 ควรจะมีมาให้เป็นอุปกรณ์ได้แล้ว อยากตะโกนด่าออกไปดังๆมากเลยว่า นี่ Almera นะ ไม่ใช่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง! จะได้สวมเสื้อกั๊กไว้วิ่งรับส่งคนอยู่ร่ำไป!!

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ถูกปรับปรุงจากรุ่นเดิม เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะส่วนหลังคาด้านบน ที่ถูกลากยาวต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมอีกนิดนึง ก่อนจะเริ่มเทลาดต่อเนื่องไปยังกระจกบังลมหลัง เพื่อเพิ่มความสูงของพื้นที่สำหรับการย้ายศีรษะเข้าไปในตัวรถมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม เล็กน้อย แม้ว่า ช่วยลดโอกาสที่ศีรษะของคุณจะโขกกับขอบทางเข้าด้านบนลงไปได้นิดหน่อย กระนั้น ผมยังคงแนะนำให้คุณ ก้มศีรษะลงไปเล็กน้อย ในระหว่างหยอนก้นลงไปนั่งบนเบาะหลัง อยู่ดี

กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง สามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง นอกจากนี้ ผมแอบตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งของกลอนประตู และสวิตช์เปิด-ปิดไฟบนเพดานหลังคา ถูกติดตั้งไว้ในตำแหน่งเหมือนกันกับ Almera รุ่นเดิมเปี๊ยบ!

แผงประตูคู่หลังของทุกรุ่นจะเป็นวัสดุขึ้นรูปทั้งบาน มาพร้อมช่องวางขวดน้ำ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง นอกจากนี้ พนักวางแขนบนแผงประตู ของรุ่น VL จะด้วยฟองน้ำและหุ้มหนังสังเคราะห์สีดำ พร้อมเย็บตะเข็บด้ายมาให้เป็นพิเศษ ตัวพนักเองก็วางท่อนแขนได้สบายดีในตำแหน่งที่เหมาะสม แต่บริเวณข้อศอก อาจโดนแก้มขอบพนักพิงเบาะหลัง ดัน Support เข้ามานิดๆ จึงทำให้วางข้อศอกลงไปได้ไม่แนบสนิทนัก แต่โดยรวม ก็ถือว่า ทำได้ดีในประเด็นนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอีกหลายๆคัน

เบาะนั่งด้านหลังในแต่ละรุ่นจะใช้วัสดุหุ้มแบบเดียวกับเบาะนั่งคู่หน้า โดยพนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบนิ่ม เหมือนกับ Suzuki Ciaz มีมุมองศาการเอนของตัวพนักพิง ในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมทั้งยังมีการออกแบบให้พื้นที่ช่วงรองรับหัวไหล่ เว้าเข้าไปนิดๆ ส่วนพื้นที่รองรับแผ่นหลังท่อนล่าง จะเสริมความหนานิดนึง เพื่อดันช่วงกลางหลังนิดๆ ทำให้นั่งสบายมากๆ แม้เป็นระยะทางยาวๆ

พนักพิงศีรษะ มีมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่แตกต่างจากเวอร์ชันอเมริกาเหนือตรงที่ว่า เป็นก้อนฟองน้ำนิ่มๆ แบบคืนรูปเองได้หรือ Memory Foam ที่ถูกออกแบบให้ฝังรวมเป็นชิ้นเดียวกันกับตัวพนักพิงหลังไปเลย แบบเดียวกับรถยนต์ยุคเก่าๆ ข้อดีคือ ประหยัดต้นทุน อีกทั้งยังไม่มีการดันกบาล เพราะตำแหน่งของพนักศีรษะ ตั้งอยู่ เยื้องไปทางด้านหลังรถเล็กน้อย แต่อาจจะช่วยรองรับศีรษะขณะเกิดการชน ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ข้อด้อยคือ ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ หรือถอดออกได้ เหมือนเวอร์ชันต่างประเทศ

ถึงแม้รถคันที่เราทดลองขับ จะเป็นรุ่น Top VL ทว่า Nissan ก็ไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้พร้อมข่องวางแก้วน้ำ แถมมาให้ด้วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น เป็นอะไหล่อีกชิ้นหนึ่งที่เคยมีอยู่ใน Almera รุ่นก่อน ล็อตแรกๆ แล้วค่อยๆถูกถอดออกไปในรุ่นใหม่นี้ ไม่เพียงเท่านั้น เบาะหลังของ Almera ใหม่ ก็ยังคงไม่สามารถแบ่งพับเพื่อเพิ่มพื้นที่ ทะลุไปยังห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้อยู่ดี นี่ก็เป็นอีกจุดด้อยประการหนึ่ง ซึ่งลูกค้าจำนวนไม่น้อยคาดหวัง อยากให้มีไว้ แม้จะไม่ค่อยได้ใช้งานบ่อยนักก็เถอะ

เบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำ ที่มีความนิ่มในระดับเท่ากันกับ Suzuki Ciaz และ Suzuki Swift ข้อดีก็คือ มีมุมเงยที่เหมาะสม รองรับช่วงต้นขาได้ดีมาก และนั่งสบายมากในการเดินทางไกล แต่ขอบเบาะทั้งฝั่งซ้ายและขวา ถูกปาดออกเล็กน้อย เหมือนกับ Nissan Sylphy รุ่นปัจจุบัน ด้วยเหตุผลในการเพิ่มพื้นที่ สำหรับการก้าวเข้า – ออกจากตัวรถ ดังนั้น การรองรับช่วงต้นขา ฝั่งที่อยู่ติดริมแผงประตู อาจจะโหวงเหวงนิดๆ

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังนั้น มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากรุ่นเดิม มีพื้นที่เยอะขึ้นกว่าเดิมก็จริง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเส้นสายภายนอก นั่นจึงทำให้ผู้โดยสารซึ่งมีสรีระ สูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร ก็จะเหลือพื้นที่ด้านบน เพียงแค่ 1 นิ้วชี้ในแนวนอน ชนิดที่ว่า เส้นผมนี่เฉี่ยวเฉียดกับเพดานหลังคา เลยทีเดียว เอาละ ถือว่า ดีกว่า Almera รุ่นเดิมก็แล้วกัน…แม้จะยังไม่ถึงขั้นน่าพอใจนักก็เถอะ

ส่วนพื้นที่วางขานั้น การยืดความยาวระยะฐานล้อออกไปเป็น 2,620 มิลลิเมตร กลับไม่ได้ส่งผลดีในประเด็นนี้มากนัก กระนั้น ยังการันตีได้ว่า หากคุณนั่งบนเบาะหลัง ก็ยังมีพื้นที่มากพอให้คุณนั่งไขว่ห้างได้สบายๆอยู่มาก พอๆกับ Almera รุ่นเดิมนั่นแหละ

เข็มขัดนิรภัยเบาะหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมติดตั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กแบบ ISOFIX 2 ตำแหน่ง ซ้าย – ขวา มาให้อีกด้วย

ฝากระโปรงหลังสามารถสั่งเปิดได้ด้วยปุ่มกดบนกุญแจรีโมท และสวิตช์ที่ฝาท้ายเหนือช่องสวมป้ายทะเบียน หรือดึงคันโยกจากด้านล่างของแผงหน้าปัด ฝั่งคนขับ นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังของแผงไฟท้ายและช่องใส่ป้ายทะเบียน ยังติดตั้งโฟมซับเสียง เพื่อลดเสียงรบกวนจากกระแสลมหมุนวน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บริเวณด้านท้ายของตัวรถ

เมื่อเปิดฝากระโปรงขึ้น จะพบกับพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ขนาด 416 ลิตร ถือว่ามีขนาดเล็กลงกว่า Almera รุ่นเดิม (490 ลิตร) แต่ก็ยังใหญ่เพียงพอให้คุณได้ขนข้าวของสัมภาระต่างๆ หรือกระเป๋าเดินทางไซส์ใหญ่สุด ได้ถึง 3 ใบ (ในแนวนอนตั้ง วางตามยาว) แถมยังเหลือพื้นที่อีกนิดหน่อยเสียด้วยซ้ำ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของ (ทำจากพรม แปะกับ Future board) ขึ้นมา จะพบว่า รุ่น S, E และ EL จะให้ยางอะไหล่แบบชั่วคราว ขนาด T125/70 D15 95M*2 พร้อมชุดเครื่องมือประจำรถ แต่ในรุ่น V และ VL จะมีชุดซ่อมยางฉุกเฉินติดตั้งมาให้แทน เนื่องจากเหตุผลด้านน้ำหนัก ซึ่งจะมีส่วนไปกระทบต่อตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนทำให้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แพงขึ้น และต้องตั้งราคาขายปลีกให้สูงขึ้นกว่านี้ไปอีก….

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องรถยนต์นัก คงจะรู้สึกแปลกใหม่ ผิดหูผิดตาไปจากบรรดา Nissan ทุกรุ่นที่พวกเขาเคยพบเจอมาในชีวิตนี้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ติดตามข่าวสารยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ จะรู้ได้ทันทีเลยว่า แผงหน้าปัดของ Almera ใหม่ ยกชุดมาจาก Nissan Micra Hatchback ซึ่งเปิดตัวในยุโรปมาได้หลายปีแล้ว และเคยมีรถต้นแบบเข้ามาวิ่งทดสอบในไทย เมื่อปี 2018 นั่นเอง! (แต่จะไม่มาขายเมืองไทยแน่นอน)

Almera ใหม่ ถือเป็นรถยนต์ Nissan รุ่นแรก ในประเทศไทย ที่ใช้แผงหน้าปัดด้านหน้าซึ่งถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Gliding Wing ที่เป็นแนวทางการออกแบบภายในยุคใหม่ของ Nissan โดยเน้นให้มีเส้นสายลากจากจุดกึ่งกลางเฉียงขึ้นไปด้านข้าง สังเกตจากแนวตะเข็บด้ายบนแผงหน้าปัด จากมุมชุดแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศลากยาวไปจรดกับช่องแอร์ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง

วัสดุตกแต่งแผงหน้าปัดบริเวณฝั่งผู้โดยสาร ยาวต่อเนื่องไปจรดช่องแอร์ฝั่งขวา ของรุ่น S, E และ EL เป็นพลาสติกขึ้นรูปสีดำ แต่รุ่น V และ VL จะถูกบุนุ่ม หุ้มด้วยหนังสีขาว พร้อมเย็บตะเข็บด้ายมาให้เพื่อความสวยงาม (แต่ บรรดา Dealer ผู้จำหน่ายของ Nissan บางราย เขาอาจจะ เพิ่มของแถมให้คุณ เป็น หนังสีต่างๆ ให้คุณเลือกเพิ่มเติมได้ ลองไปเจรจากับพวกเขาดูกันเอาเอง)

มองขึ้นไปด้านบน ทุกรุ่นให้เพดานหลังคาบุด้วยวัสดุโทนสีเบจ บริเวณเหนือสุดกึ่งกลางกระจกบังลมหน้าเป็นกระจกมองหลัง พร้อมก้านปรับตัดแสงรบกวน เมื่อมองถัดขึ้นมาบริเวณเพดาน จะพบกับไฟอ่านแผนที่สีเหลืองอำพันครอบด้วยโคมสีขาวขุ่น แยกเปิด – ปิด ได้ทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมไฟส่องสว่างบริเวณกึ่งกลางห้องโดยสาร หน้าตาคล้ายกับว่าเคยพบมาแล้วใน March และ Almera รุ่นเดิม เพียงแต่ตัวสวิตช์เปิด-ปิด ถูกปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น กดเปิด – ปิดไฟ ได้ง่ายขึ้น ไม่ได้ดูเล็กๆบางๆจุ๋มจิ๋ม เสียวจะหักง่าย เหมือนรุ่นเดิม

ส่วนแผงบังแดด ของทุกรุ่นย่อย จะเหมือนกันหมด คือให้มาครบทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า เปิดกางออกยกขึ้นใช้งาน จะพบ กระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดพับ ทั้งด้านคนขับ และผู้โดยสาร แต่ไมมีไฟแต่งหน้ามาให้

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ประกอบด้วยสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน โดยมีสวิตช์แบบ One-touch เลื่อนขึ้น – ลง ด้วยการกดหรือยกสวิตช์จนสุดเพียงครั้งเดียว มีให้เฉพาะฝั่งคนขับ ตามมาตรฐาน รวมทั้งยังมี สวิตช์ล็อกไม่ให้ผู้โดยสาร เปิดกระจกหน้าต่างเอง มีสวิตช์ Central Lock สำหรับสั่งล็อก – ปลดล็อกประตู รวมทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า

บริเวณใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ เป็นตำแหน่งติดตั้งสวิตช์เปิด – ปิด การทำงานของระบบ Auto Start/Stop และเมื่อมองถัดลงไป ก็จะพบกับมือจับดึงเปิดฝากระโปรงหน้าและฝาถังน้ำมัน แผงพลาสติกบริเวณนี้ โล่งโจ่งไปหน่อย สวิตช์เปิด-ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพต่างๆ ก็ถูกโยกย้ายขึ้นไปให้เลือกปรับในหน้าจอของชุดมาตรวัดแทน เฉกเช่นรถยนต์ยุคใหม่หลายรุ่น ซึ่งแอบไม่ค่อยสะดวกในการใช้งานนัก แต่ ทีมออกแบบเขาคงมองว่า สวิตช์เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพนั้น น้อยคนนักที่จะใช้งานมันบ่อยๆ ถี่ๆ เลยจับรวบไปไว้ในหน้าจอมาตรวัดแทน

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ตัดท้าย ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน หน้าตา ดูปุ๊บรู้เลยว่า ยกชุดมาจาก Nissan Note นั่นแหละ ความพิเศษที่เพิ่มเข้ามาคือ จากเดิมที่ปรับระดับได้แค่ สูง – ต่ำ คราวนี้ เพิ่มการปรับระยะใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic จนสามารถปรับระดับได้ครบ 4 ทิศทาง แล้ว…(ไชโย!)

วงพวงมาลัยของรุ่น S, E, EL และ V เป็นวัสดุยูรีเทน ส่วนรุ่น VL จะหุ้มด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้าย ซึ่งถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว อาจยังให้สัมผัสมือจับที่ไม่เรียบเนียนหรูหราเท่า พวงมาลัยของ Honda City RS ใหม่ มันสากมือ จนแทบไม่เหลือความ Premium ในฐานะรุ่น Top เอาเสียเลย ข้อนี้ ควรปรับปรุงโดยดูจาก City RS เป็น Benchmark

สวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ของรุ่น EL, V และ VL สำหรับควบชุดเครื่องเสียง และปรับหน้าจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์รับสายโทรศัพท์และระบบสั่งการด้วยเสียง แถมยังแอบเว้นช่องว่างเอาไว้ ให้ลูกค้าที่เกิดความซุกซน นำไปติดตั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control กันเอาเอง ในภายหลังได้อีกต่างหาก…แต่ของแบบนี้ กลับไม่ใส่มาให้ในรุ่น VL แหะ…

ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับควบคุมชุดไฟหน้า ทั้งไฟหรี่ ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟตัดหมอก และไฟเลี้ยว ส่วนฝั่งซ้าย สำหรับควบคุมการทำงานของก้านปัดน้ำฝนกระจกบังลมหน้า พร้อมระบบหน่วงเวลา และหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า

ชุดมาตรวัดของทุกรุ่น เป็นแบบวงกลม 2 วง เรืองแสง Fine Vision Meter ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็วแบบเข็ม พร้อมก้านปรับความสว่างของชุดมาตรวัด ส่วนฝั่งซ้าย ของรุ่น S,E และ EL เป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ แสดงตัวเลขและเข็มสีขาว บนพื้นสีดำลายรังผึ้ง ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display)

แต่ชุดมาตรวัด ฝั่งซ้าย ของรุ่น V และ VL จะถูกอัพเกรดเป็นหน้าจอสี TFT ขนาด 7 นิ้ว ซึ่งสามารถเลือกแสดงผลได้ทั้ง มาตรวัดรอบเครื่องยนต์พร้อมระยะทางที่สามารถวิ่งได้ มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลขดิจิตอล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real Time และแบบค่าเฉลี่ย ประวัติอัตราสิ้นเปลือง ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น แถบด้านบนแสดงเวลาและอุณหภูมิภายนอกตัวรถ ส่วนแถบด้านล่าง แสดงปริมาณน้ำมันคงเหลือในถัง ระยะทางที่เหลือที่สามารถวิ่งต่อไปได้ รวมถึงมาตรวัดระยะทาง Odo Meter และ Trip Meter ส่วนรุ่น VL จะเพิ่มภาพแสดงการทำงานของระบบ แจ้งเตือนยานพาหนะที่แล่นมาทางด้านข้าง BSW (Blind Spot Warning) การกดปุ่มเลือก เมนูตั้งค่าของระบบต่างๆ และการแสดงผลของหน้าจอต่างๆ รวมทั้ง ระบบควบคุมเสถียรภาพ VDC สามารถทำได้ผ่าน สวิตช์ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา และ OK บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย

จริงอยูว่า การติดตั้งมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาให้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะใน Nissan รุ่นก่อนๆ ที่มีเพียงไฟสัญญาณแจ้งเตือนสีแดง กว่าที่ลูกค้าจะรู้ตัวว่า น้ำในระบบหล่อเย็น ร้อนจัด ฝาสูบก็โก่งไปเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าต้องมานั่งเสียเงินค่าซ่อมอีกบานตะเกียง บางกรณีถึงขั้นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ลูกใหม่ทั้งยวง โดยไม่จำเป็น

แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อใส่มาให้แล้ว แต่กลับต้องกดปุ่มบนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย เพื่อเข้าไปดูเนี่ยนะ? ผมว่า ไม่เข้าท่า และอาจทำให้ลูกค้าบางกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้เช็ํคน้ำในระบบหล่อเย็น อาจลืมเลือนไปจนก่อความเสียหายได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ผมยังคงต้องขอฝากให้ทีมออกแบบ ช่วยย้าย มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น กลับมาแสดงอยู่ในหน้าจอหลัก ร่วมกับมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ตามเดิมเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาเสียทีเถอะ! จักเป็นพระคุณยิ่ง!

จากฝั่งซ้าย มาทางขวา ช่องแอร์ด้านข้าง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา เป็นทรงกลม ถ้าจะปรับทิศทางลม ต้องหมุนปรับด้านใน หากเป็นรุ่น S และ E จะตกแต่งกรอบนอกด้วยวัสดุสีเงิน แต่ในรุ่น EL, V และ VL จะเป็นวัสดุสีเงิน ตัดสลับกับ Plastic สีดำ Piano Black

มองถัดลงมาด้านล่าง จะพบช่องเก็บของสำหรับผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย ขนาดใหญ่โตเอาเรื่อง สามารถวางสมุดคู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ เอกสารทะเบียน ประกันภัย พร้อมกับวางกล้องถ่ายรูปแบบพกพา ได้ถึง 2 ตัว อย่างสบายๆ แถมยังเหลือพื้นที่วางข้าวของจุกจิกอื่นๆได้อีกพอสมควรด้วยซ้ำ!

สวิตช์ไฟฉุกเฉิน (Hazard Light) ยังคงติดตั้งอยู่ในตำแหน่งบนสุด ของแผง Dashboard อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลางเช่นเดิม

เครื่องปรับอากาศ ของรุ่น S, E และ EL เป็นแบบมือหมุนธรรมดา แต่รุ่น V และ VL จะเป็นแบบอัตโนมัติ (แต่ไม่สามารถแยกปรับอุณภูมิซ้าย – ขวาได้) มาพร้อมสวิตช์หมุนปรับอุณหภูมิและพัดลม แสดงผลบนหน้าจอดิจิตอลขนาดเล็กตรงกลาง ออกแบบให้ดูสวยงาม ร่วมสมัย และใช้งานง่าย

ใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ จะมีช่องสำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า Power Outlet 12 โวลต์ พร้อมฝาปิด มาให้ 1 ช่อง ช่องเสียบ USB Port สำหรับชาร์จไฟฟ้าและเชื่อมต่อกับระบบ Nissan Connect 1 ช่อง และช่อง AUX อีก 1 ช่อง

ฐานคันเกียร์ ออกแบบมาให้มีปีกด้านข้างยกสูงขึ้นมา เฉียงขึ้นไปรับกับส่วนล่างของชุดแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ ในรุ่น S, E และ EL ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำ ในขณะที่รุ่น V และ VL ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำ และวัสดุเปียโนแบล็ก รายล้อมไปด้วยปุ่มปลด Shift Lock สวิตช์โหมดการขับขี่แบบ Sport

ส่วนรุ่น EL, V และ VL จะมีปุ่มกดสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start ติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้ ซึ่งทำให้ผมแอบต้องคลำหาทุกครั้งที่สลับไปขับรถคันอื่น แล้วกลับมาขับ Almera อีกครั้ง ถ้าจะย้ายกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ ก็คงจะเหมาะสมสำหรับประชากรส่วนใหญ่ของโลกทั่วๆไป ที่คุ้นชินกับตำแหน่งสวิตช์ Push Start ในตำแหน่งใกล้ชุดมาตรวัดตามเดิมอยู่ดี

ด้านความบันเทิง รุ่นล่างสุด S จะไม่มีวิทยุใดๆมาให้เลยแม้แต่น้อย ขณะที่รุ่น E และ EL จะติดตั้งเป็น วิทยุ AM/FM พร้อมช่องเสียบ USB Port สำหรับเล่นเพลง และ AUX รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Bluetooth แสดงผลบนหน้าจอดิจิตอล พร้อมลำโพงมาให้ 4 ตำแหน่ง

ส่วนรุ่น V และ VL จะถูก Upgrade เป็น เครื่องเสียง จาก Clarion ประกอบด้วย หน้าจอ Monitor สี แบบ Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว พร้อมช่องเสียบ USB Port สำหรับเชื่อมต่อกับระบบ Nissan Connect และช่อง AUX รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Bluetooth และ Apple CarPlay สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS มาพร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง รวมทวีตเตอร์ คุณภาพเสียง อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ เสียงคอนข้างแห้ง รายละเอียดของชิ้นเครื่องดนตรี มีมาให้ในระดับปานกลาง เมื่อฟังเทียบด้วยไฟล์เพลงมาตรฐานเดียวกัน จัดว่า ให้เสียงที่ดี ในระดับที่ เทียบเท่ากับ Honda City 1.0 Turbo

นอกจากนี้ รุ่น V และ VL จะมีกล้องมองภาพรอบทิศทาง IAVM (Intelligent Around View Monitor) เพิ่มมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยแสดงผลบนหน้าจอกลาง ทำงานทั้งในขณะเข้าเกียร์ถอยหลัง และเมื่อกดปุ่ม Camera ที่อยู่เหนือสุดฝั่งขวาของหน้าจอ Monitor การแสดงผลในยามค่ำคืน อาจมี Noise จากเลนส์กล้องอยู่ในระดับหนึ่ง พอยอมรับได้ แต่ไม่ขอแนะนำให้ถอยรถโดยดูแต่ภาพจากกล้องเป็นหลัก ควรหันเหลียวมองสภาพทัศนวิสัยรอบข้างด้วย

ด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่ ฝั่งซ้าย มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง อยู่ติดกับเบรกมือแบบก้านดึงธรรมดา โดยในรุ่น EL, V และ VL จะมีกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ฝาปิดบุด้วยฟองน้ำ หุ้มด้วยหนัง ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลาง ซึ่งพอวางท่อนแขนได้ แต่ไมสามารถวางข้อศอก หรือใช้เป็นพนักวางแขนแบบถาวรได้

เมื่อเปิดฝาขึ้นจะพบกับช่องเก็บของขนาดกะทัดรัด ด้านในมีช่องเสียบ USB Port สำหรับชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าเท่านั้น ให้มา 1 ตำแหน่ง ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Nissan Connect ได้ ส่วน ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลาง มีช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบ USB port มาให้สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง ไม่มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้

ทัศนวิสัยด้านหน้า โปร่งโล่งสบาย และมองเห็นด้านบนของฝากระโปรงหน้าอยู่บ้าง แม้ว่าคุณจะปรับเบาะนั่งให้กดลงต่ำสุดแล้วก็ตาม ช่วยในการกะระยะด้านหน้ารถได้ประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่ดีเท่า Honda City Turbo ใหม่

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง มีลักษณะลาดลงพอสมควร แถมยังมีความหนาประมาณหนึ่ง ก่อให้เกิดการบดบังยานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ในบางจังหวะ โดยเฉพาะในขณะที่คุณกำลังเลี้ยวขวาเข้าโค้ง บนถนนแบบ 2 เลนสวนกัน คุณจะมองไม่เห็นรถที่แล่นสวนทางไปได้ในชั่วขณะหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง หากกำลังจะเลี้ยวรถเข้าซอย แม้จะดูเหมือนโปร่ง แต่ในบางจังหวะ เสาหลังคาคู่หน้าฝั่งซ้าย ก็แอบมีการบดบังจักรยานยนต์ได้บ้างเหมือนกัน

กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง ติดตั้งอยู่บนเปลือกตัวถังบานประตูคู่หน้า ในรุ่น VL จะมีสัญญาณไฟเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตา BSW (Blind Spot Warning) พร้อมส่งเสียงเตือนเมื่อเปิดไฟเลี้ยว มาให้ อย่างไรก็ตาม การย้ายกระจกมองข้างเข้ามาให้ใกล้ตัว จนกระทั่งต้องออกแบบให้มีกระจกหูช้าง (Opera Windows) เพิ่มเติมเข้ามาที่บานประตูคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยลดทอดปัญหามุมอับลงได้บ้าง แต่ไม่มากนัก

ทัศนวิสัยจากด้านหลังรถ หากดูจากในรูป เหมือนว่า กระจกบังลมด้านหลังจะค่อนข้างเล็กตีบไปหน่อย คล้ายกับ Toyota Corona Exsior รุ่นปี 1992 – 1999 แต่ โชคดีว่า กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง มีขนาดใหญ่ ช่วยมองเห็นรถจักรยานยนต์ หรือยานพาหนะ ที่แล่นมาจากทางด้านหลัง ชัดเจน จึงพอจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงไปได้ แค่คำแนะนำของผมก็คือ ถ้าต้องการเปลี่ยนเลนไปทางซ้าย หรือเบี่ยงรถเข้าช่องทางคู่ขนาน กรุณา ใช้ความระมัดระวัง และอย่าหวังพึ่งพาแค่ระบบ Blind Spot หรือกระจกมองข้าง เพียงอย่างเดียว ให้หันหลังไปมองชะแว๊บนึงแล้วรีบหันกลับมา ก็ยังดี

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
*********** Technical Information & Test Drive ************

ช่วงขวบปีแรกที่เริ่มเปิดตัว Nissan ทำตลาดรถยนต์ Sedan รหัสรุ่น N18 ด้วยขุมพลังมากถึง 3 แบบ  ประจำการแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศที่เข้าไปจำหน่าย โดยแต่ละแห่ง จะเลือกได้เพียงแค่เครื่องยนต์เดียวเท่านั้น รายละเอียดมีดังนี้

North American & Latin America Version “VERSA”
วางเครื่องยนต์รหัส HR16DE (3rd Generation) แบบ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.6 ลิตร 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 83.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.4 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด Sequential Multi-point Injection พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVTCS (Continuously Variable Valve Timing Control System) ทั้งฝั่งไอดี – ไอเสีย กำลังสูงสุด 124 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 155 นิวตันเมตร (15.8 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที

ส่วนบางตลาดจะยังวางเครื่องยนต์รหัส HR15DE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.1 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด ECCS พร้อมวาล์วแปรผัน C-VTC ทั้งฝั่งไอดี – ไอเสีย กำลังสูงสุด 102 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 139 นิวตันเมตร (14.2 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที

Thai Version

ส่วน ขุมพลังเวอร์ชันไทยนั้น จะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะวางเครื่องยนต์ลูกใหม่ รหัส HRA0DET เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร 999 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 72.2 x 81.3 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.5 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด Indirect Injection (หัวฉีดธรรมดา) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว (แปรผันองศาเพลาลูกเบี้ยว) VTC เฉพาะฝั่งไอดี พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger ที่มี ช่องระบายไอเสียส่วนเกิน (Wastegate) ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า และ Intercooler แบบระบายความร้อนด้วยอากาศ

ตามปกติแล้ว Nissan จะมีบริษัทเครื่องยนต์ในเครืออยู่ 3 แห่ง ได้แก่ Nissan Powertrain , Aichi Kikai และพันธมิตรร่วมเครืออย่าง Renault จากฝรั่งเศส ในอดีตที่ผ่านมา เครื่องยนต์ HR12DE ใน March , Almera และ Note เวอร์ชันไทย รวมทั้ง HR16DE ที่วางใน TIIDA , Sylphy และ Pulsar จะเป็นผลงานของบริษัท Aichi Kikai ซึ่งเชี่ยวชาญการทำเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก

แต่สำหรับ เครื่องยนต์รหัส HRA0DET บล็อกนี้ ถูกพัฒนาร่วมกัน ระหว่าง Nissan กับ Renault จึงมีรหัสรุ่นร่วมกับเครื่องยนต์ของ Renault คือ H4Dt TCe เป็นการนำเครื่องยนต์ HR10DET จาก Nissan Micra เวอร์ชันยุโรป , Renault Clio V TCe 100 , และ Renault Triber TCe สำหรับตลาด India (ที่เพิ่งเปิดตัวในแดนภารตะเมื่อ 19 มิถุนายน 2019) มาปรับจูนระบบการทำงานของเครื่องยนต์และโปรแกรมในกล่องควบคุม ECU (Engine Control Unit) เพื่อให้มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในข้อกำหนด ECO-Car Phase 2 ( ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร) จนเข้าร่วมโครงการ ดังกล่าว และรับสิทธิพิเศษทางภาษีจากภาครัฐได้ Nissan เคลมว่า ประเทศไทย เป็นแห่งแรกในโลก ที่ Nissan เปิดตัวเครื่องยนต์รุ่นนี้ ลงในตัวถัง N18 Sedan Almera ใหม่

เมื่อมีการนำเครื่องยนต์นี้ มาผลิตเพื่ออกจำหน่ายใน ASIA ครั้งนี้ ทาง Nissan จะเข้ามาควบคุมดูแลเอง แต่ให้ Aichi Kikai เป็นบริษัทเจ้าภาพหลัก เท่ากับว่า การผลิตในเมืองไทย จึงเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง ทีมงานฝั่งไทย ,ญี่ปุ่น, อินเดีย และฝรั่งเศส ไปโดยปริยาย

ตัวเครื่องยนต์ ดูเหมือนไม่มีอะไรที่ใหม่จนหวือหวานัก แต่ที่จริงๆแล้ว ก็พอมีเทคโนโลยีแอบซ่อนอยู่เงียบๆ อยูบ้างเหมือนกัน ทั้ง ลูกสูบแบบ Delta Cylinder Head, หัวฉีดแบบ Central Injector และ Turbocharger ที่การควบคุมไอเสียด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่องระบายไอเสียส่วนเกิน (Wastegate) ของระบบอัดอากาศ Turbocharger ควบคุมด้วยไฟฟ้า ส่วนการเลือกใช้ Intercooler ระบายความร้อนด้วยอากาศ เหมือนรถยนต์ขุมพลัง Turbo ทั่วไป ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำให้ต้นทุนถูกกว่า อีกทั้งยังมีจุดที่ต้องดูแลรักษาน้อยกว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็น้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยี การเคลือบผนังด้านในกระบอกสูบ Mirror Bore Coating หนา 0.2 มิลลิเมตร แบบเดียวกับเครื่องยนต์ของ รถสปอร์ต Nissan GT-R มาใช้ เพื่อเพิ่มความทนทานของเสื้อสูบ ลดแรงเสียดทานขณะลูกสูบเคลื่อนที่ ช่วยให้การระบายความร้อนดีขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้ Cast iron line ความหนา 2 มิลลิเมตร ตามปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการชิงจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Engine Knocking) ได้อีกด้วย

กำลังสูงสุด 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตร (15.5 กก.-ม.) ที่ 2,400 – 4,000 รอบ/นาที (Flat-torque ในช่วงรอบกลางๆถึงรอบปลาย) รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้ง เบนซิน 95 Gasohol 95 (E10) และสูงสุดได้ถึง Gasohol E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 100 กรัม/กิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 5

*** การบำรุงรักษา ***

– ความเร็วรอบเครื่องยนต์ขณะเดินเบา ในตำแหน่งเกียร์ว่าง (N) อยู่ที่ 800 รอบ/นาที
– หัวเทียน รหัส ILKAR7Q7 ระยะห่งเขี้ยวหัวเทียน 0.7 มิลลิเมตร (0.028 นิ้ว)
– น้ำมันเครื่อง 3.6 Litres ( 3-7/8 Gallon US. หรือ 3-1/8 Gallon UK.)
– เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องโดยไม่เปลี่ยนไส้กรอง ใช้ปริมาณ 3.2 Litres ( 3-3/8 Gallon US. หรือ 2-7/8 Gallon UK.)
– ปริมาณน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ 6.14 Litres ( 6-1/2 Gallon US. หรือ 5-3/8 Gallon UK.)

สิ่งที่ต้องขอตำหนิก็คือ เมื่อเปิดฝากระโปรงมา คุณอาจจะเห็นว่า นอกจากติดตั้งวัสดุซับเสียงใต้ฝากระโปรงหน้าแล้ว ห้องเครื่องยังดูรกไปด้วยสายไฟ เก็บงานไม่เรียบร้อย ร้อนถึง เจ้าของโชว์รูม บางแห่ง ตัดสินใจเก็บงานเดินสายไฟในห้องเครื่องยนต์ ก่อนส่งมอบรถให้ลูกค้ากันเลย ก็มีมาแล้ว ทั้งที่จริงๆแล้ว Nissan ควรทำฝาครอบเครื่องยนต์ด้วย เพื่อความสวยงาม ก็ย่อมได้ ไม่น่าจะมาขี้เหนียวต้นทุนกับเรื่องแค่นี้เลยจริงๆ…

ไม่เพียงเท่านั้น Nissan เลือกที่จะกำหนดระยะการเข้าศูนย์บริการ ลดลงจากปกติ ทุก 10,000 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง ทุกๆ 7,000 กิโลเมตร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ น้ำมันเครื่อง ที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาด รวมทั้งที่ใช้ในศูนย์บริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น มาตรฐานสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน API (American Petroleum Institute) ในระดับ SJ , SL , SM , SN สามารถรองรับการทำงานได้ยาวนานเกิน 10,000 กิโลเมตร ขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น

เครื่องยนต์ HRA0 จะส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ XTRONIC CVT (Continuously Variable Transmission) ผลิตโดย JATCO รหัสรุ่น RE0F11B ซึ่งเป็นการนำเกียร์ลูกเดิมที่ติดตั้งอยู่ใน March และ Note (เกียร์รุ่น RE0F11A) มาปรับชิ้นส่วนกลไกบางจุด เช่น ชุดสายพาน พูเลย์ เพื่อให้รองรับกับพละกำลังที่เพิ่มมากขึ้น ใช้น้ำมันเกียร์ Nissan CVT NS-3 เหมือนกับเกียร์รุ่นเดิม

เกียร์รุ่นนี้ มาพร้อมโปรแกรมในกล่องสมองกลเกียร์แบบ D-Step Logic แบบเดียวกับ Nissan Note เป็นโปรแกรมที่สั่งให้เกียร์มีการไล่รอบคล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter ทั่วไป เมื่อกดคันเร่งหนังหนักหรือจมมิด อย่างไรก็ตาม คันเกียร์ มีให้เลือกแค่เกียร์ P (Park – จอด) – R (Reverse ถอยหลัง) – N (Neutral – เกียร์ว่าง) – D (Drive -ขับเคลื่อน) และ L (Low – เกียร์ต่ำ) เท่านั้น น่าเสียดายที่ไม่มีแป้นเกียร์หลังพวงมาลัย (Paddle Shift) มาให้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังไม่มีโหมด +/- ที่คันเกียร์ อีกต่างหาก

อัตราทดเกียร์ D อยู่ที่ 4.0062 – 0.4580 (รุ่นเดิม อยู่ที่ 4.006 – 0.550)
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง อยู่ที่ 3.7708 (รุ่นเดิม อยู่ที่ 3.546)
อัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.9247

ตัวเลขสมรรถนะบนถนนเมืองไทย จะเป็นอย่างไร เรายังคงใช้วิธีการจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ และผู้โดยสาร รวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

จากตัวเลขที่ออกมา ในที่สุด Almera ใหม่ ก็พาตัวเอง เร่งแซงชาวบ้านชาวช่อง ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งหัวแถวอันดับต้นๆ ของกลุ่มรถยนต์นั่ง B-Segment Sedan (รวม ECO-Car ทุก Phase) ได้เป็นผลสำเร็จ แรงกว่ารถรุ่นเดิมถึง 5 วินาทีเศษๆ!!

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่า เครื่องยนต์ของ Almera ใหม่ จะมีกำลังเพียงแค่ 100 แรงม้า (PS) แต่เมื่อจับเวลาออกมา กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขอัตราเร่ง ทั้งช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ Almera 1.0 Turbo นั้น ด้อยกว่า จ่าฝูงอย่าง Honda City 1.0 Turbo RS เพียงแค่ 0.9 วินาที เท่านั้น ยิ่งถ้ากดปุ่ม Sport เข้าไป ตัวเลขจะยิ่งไวขึ้นอีก 0.2 วินาที ทำให้ตัวเลขในการจับเวลาของ Almera ด้อยกว่า City Turbo แค่เพียง 0.6 วินาที โดยประมาณ เท่านั้น!!

การไต่ความเร็วขึ้นไปจากจุดหยุดนิ่งจนถึง Top Speed นั้น ถ้าคุณกดคันเร่งจมตีนมิดติดพื้นรถในฉับพลัน คันเร่งอาจจะขอเวลารวบรวมลมปราณกับเชื้อเพลิงให้ผสมเข้าด้วยกัน สักเสี้ยววินาที  รอให้รอบเครื่องยนต์ไต่ขึ้นไปถึงระดับ 1,500 รอบ/นาที เสียก่อน จากนั้น เข็มความเร็วจึงจะเริ่มกระดิกตัวออกจากจุดหยุดนิ่ง และเริ่มไต่ความเร็วขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถึงความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์จะลากไปถึง 6,000 รอบ/นาที ก่อนตัดลงมาเริ่มต้นลากรอบอีกครั้งที่ระดับ 4,750 รอบ/นาที ไล่ขึ้นไปจนถึง 6,000 รอบ/นาที อีกครั้ง ณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะตัดลงมาเหลือ 5,000 รอบ/นาที ก่อนจะไล่ไต่ระดับขึ้นไปใหม่ เข็มวัดจะชะงักเล็กน้อย ในช่วงความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่ เกียร์จะตัดลดรอบเครื่องยนต์ จาก 6,200 รอบ/นาที ลงไปเหลือ 5,000 รอบ/นาที และเมื่อเกียร์เปลี่ยนขึ้นแล้ว เข็มความเร็วจะไหลต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มเอื่อยลง ณ ระดับ 155 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเริ่มแผ่วชัดเจน ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น อาจต้องใช้เวลา และระยะทางยาวพอสมควร กว่าจะขึ้นไปแตะถึงความเร็วสูงสุด 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนมาตรวัด

ย้ำกันเหมือนเช่นเคยว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

(ส่วน “Grapefruit” ที่ขึ้นมาบนหน้าจอข้างล่างนี้นั้น คือชื่อเพลง ผลงานของ Babi Mandes ที่เราเปิดฟังระหว่างทำ Top Speed…ตัวเพลง หาฟังได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=lWmtD13JhhE)

ในการขับขี่จริง อัตราเร่ง เป็นไปตามความคาดหมาย ถ้าคุณเคยขับ Almera 1.2 ลิตร รุ่นเก่ามาก่อน คุณจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากๆ ราวฟ้ากับเหว ทั้งความแรงที่เพิ่มขึ้น ความไวในการเรียกอัตราเร่งออกมาใช้งาน ในช่วงตีนต้น แน่นอนว่า การติดตั้ง Turbocharger เข้ามา ก็ย่อมช่วยให้คุณสามารถเร่งเซงรถคันข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะ คันเร่ง ถูกเซ็ตให้ตอบสนอง ไวมาก ไวระดับเดียวกับ Toyota Vios 2007 (Gen 2) คือแค่แตะเบาๆ รถก็พุ่งโผนโจนทะยานไปข้างหน้า ราวกับว่าพร้อมท้ารบกับชาวบ้านชาวช่องเขาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเหยียบลงไปในระดับแค่ไหน ระบบไฟฟ้า และสมองกลก็จะรีบกุลีกุจอทำงานตามคำสั่งจากเท้าขวาของคุณในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ไม่มีอาการอิดออด แต่ในบางจังหวะ ก็แอบขอคิดนิดนึง อยู่บ้าง จนอาจทำให้รถมีอาการกระฉึกกระฉัก ไม่ Smooth เวลาต้องเลี้ยงคันเร่ง ขณะขับขี่ในเมือง โดยเฉพาะช่วงไหลๆคลานๆช้าๆไปจามสภาพการจราจร รถอาจมีอาการเย่อหน้า-หลังได้ ถ้าคุณเผลอแตะและถอนคันเร่ง ในทันที แม้เพียงแผ่วเบาก็ตาม

การออกตัว ไม่ว่าจะเหยียบคันเร่งแบบเบาๆ ขณะเคลื่อนออกจากสี่แยกไฟแดงตอนเช้าวันอาทิตย์ หรือ กดหนักๆ เพื่อออกตัว เนื่องด้วยเห็นรถสิบล้อพุ่งมาทางด้านหลัง การตอบสนอง แทบไม่ต่างกัน สัมผัสได้ว่า มีแรงบิดมารออยู่ใต้เท้าวา พร้อมให้เรียกใช้ตลอดเวลา แม้จะมีไม่มากเท่า City RS ก็ตามเถอะ (รายนั้น มีเรี่ยวแรง แต่คันเร่งขอเข้ามาช่วยคิดก่อนว่าจะปล่อยแรงบิดออกมาให้เท่าไหร่ดี) อาการ Turbo Lag ผมถือว่า แทบไม่ค่อยจะมี มันดูเหมือนจะกลืนหายไป อย่างรวดเร็วหลังจากแตะคันเร่งเพียงเสี้ยววินาที

สิ่งที่ผมเสียดาย ก็มีเพียงแค่การไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้ ซึ่งอาจลดทอนความสนุกในการขับขี่ ลัดเลาะไปตามทางโค้ง หรือบนภูเขาต่างๆ แต่ถ้าคุณใช้งานในเมืองเป็นหลัก ผมมองว่า แป้น Paddle Shift ก็ไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับ Almera ใหม่นัก

ยืนยันว่า Almera ใหม่ ให้อัตราเร่งที่กระฉับกระเฉงขึ้นมาก และแน่นอนครับ มันแรงขึ้นและตอบสนองไวขึ้นกว่ารุ่นเดิมมาก แต่ต้องตระหนักไว้ว่า มันแรงแค่ในระดับเดียวกับกับรถเก๋งเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร แบบไม่มีระบบอัดอากาศ และอาจจะทำตัวเลขด้อยกว่า City 1.0 Turbo นิดนึง เท่านั้น หากขับแบบเรื่อยๆ คุณจะคิดว่ามันตอบสนองไว และเร็ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีเหตุให้ต้องเค้นอัตราเร่ง คุณอาจจะคิดไปว่า มันยังแรงไม่พอกับใจคุณ ถ้าเข้าใจได้ตามนี้ คุณจะยอมรับได้กับสิ่งที่รถมันเป็น และจะเริ่มหาทางสนุกกับมันได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ผมอยากให้ปรับปรุง ในตอนนี้ก็คือ รอบเดินเบา 750 รอบ/นาที ทำไมสั่นเป็นเจ้าเข้ามาบอกใบหวย ขนาดนั้น ขนาด March Almera และ Note รุ่นเดิม ก็ยังไม่สั่นกระพรือมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะ ยางรองแท่นเครื่อง ซึ่งก็คงต้องแก้ไขต่อไป ประเด็นนี้ ผมมองว่า ควรแก้ไขอย่างยิ่ง!

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร
Noise Vibration & Harshness

ทีมวิศวกร Nissan มุ่งเน้นแก้ปัญหาด้าน เสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน หรือ NVH (Noise , Vibration , Harshness) ซึ่งเป็นอีกปัญหาสำคัญของ Almera รุ่นก่อน ด้วยหลากหลายวิธีการ หนึ่งในนั้น คือการเพิ่มพรมซับเสียง ที่พื้นห้องโดยสาร ให้มีขนาดหนามากกว่ารถยนต์ปกติ หนาพอๆกันกับพรมและวัสดุซับเสียง ที่พื้นรถของ Teana J32 ด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมีการเสริมแผ่นโฟมซับเสียง เข้าไปที่ด้านใน ของเปลือกตัวถังบริเวณแก้มหน้ารถทั้ง 2 ฝั่ง

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ห้องโดยสาร เงียบกว่า Almera รุ่นเดิม ชัดเจน จนน่าแปลกใจ โดยเฉพาะเสียงจากพื้นถนน ซึ่งเงียบลงไปเยอะมาก รุ่นล้อ 15 นิ้ว พร้อมยาง Ecopia EP150 อาจพอมีเสียงยางนิดๆ แต่น้อยมากๆ ยิ่งพอเป็นล้อ 16 นิ้ว กับยาง RE003 ยิ่งเงียบขึ้นจนน่าประหลาดใจ (ทั้งที่เป็นยางในแนวเอาใจคนชอบขับรถ)

ช่วงครึ่งคันท่อนบน ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงกระแสลมไหลผ่าน ค่อนข้างแผ่วเบา คือมันเงียบขึ้นกว่า Almera รุ่นเดิม คนละเรื่อง! กระนั้น อาจมีเสียงเล็ดรอดเข้ามาเจือจางมากๆ บริเวณ กระจกมองข้าง ยางขอบประตูด้านบนในบางจุดของบานปีะตูทั้งคู่หน้าและหลัง หลังจากนั้น เมื่อพ้นความเร็ว 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมที่ดังขึ้น ก็ยังไม่มากนัก จนกว่าจะพ้นระดับ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงจึงจะเริ่มดังขึ้น แต่ก็ยังเบากว่า รถรุ่นเดิมนิดนึง

กระนั้น ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว การเก็บเสียงของ Almera ใหม่ จัดอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางดี โดยเฉพาะช่วงความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น อาจจะยังมีเสียงลมไหลผ่านตัวรถ ดังกว่า City 1.o Turbo นิดนึง ในวันที่กระแสลมปะทะจากทางด้านข้างแรงกว่าปกติ แต่ภาพรวม ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมมากๆ

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel
พวงมาลัยเป็นแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) หมุนจากซ้ายสุดไปถึงขวาสุด 2.96 รอบ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด อยู่ที่ 5.2 เมตร (เท่ารุ่นเดิม) ทีมวิศวกร พยายามเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดเพลาพวงมาลัย (Steering shaft) เพิ่มมากขึ้นจากรุ่นเดิม 30% และปรับอัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาอยู่ที่ 16.8 : 1 เพื่อเพิ่มการตอบสนองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ก่อนอื่น ผมจำเป็นต้องบอกคุณผู้อ่านก่อนว่า ใครก็ตามที่เคยทดลองขับ Almera ใหม่ ในช่วงตั้งแต่งานเปิดตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 จนถึงงาน Motor Expo 2019 และช่วงเริ่มส่งมอบรถขึ้นโชว์รูม ตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2019 เป็นต้นมา อาจสัมผัสได้ว่า พวงมาลัยของ Almera ใหม่ “โคตรเบา” เหมือนเช่นที่ผมได้เจอมา เหตุผลนั้นเนื่องจาก ค่ากำหนดลมยาง ที่ทางวิศวกร Nissan เขาเซ็ตเอาไว้ ให้อยู่ที่ 38 psi (ปอนด์/ตารางนิ้ว) สำหรับล้อคู่หน้า และ 35 psi สำหรับ ล้อคู่หลัง ซึ่งค่อนข้างสูงมากกว่าค่าลมยางปกติในรถยนต์ทั่วไป และรถทดสอบในงานวันเปิดตัวนั้น ทราบมาว่า ตั้งค่าลมยางเอาไว้ถึง 40 psi ดังนั้น พวงมาลัยจึงเบากว่าความจริงไปหน่อย เหตุผลก็เพราะต้องการให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และค่ามลพิษ ต่ำกว่า หรือเท่ากับมาตรฐาน ECO Car Phase 2 นั่นเอง

หนำซ้ำ หนักไปกว่านั้น ตามปกติแล้ว โรงงานผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ทุกค่าย รวมทั้ง Nissan ก็มักเติมลมยางไว้ที่ระดับ 40 – 42 psi เผื่อมาให้ เนื่องจากรองรับในกรณีที่รถยนต์จะต้องจอดอยู่ในลานสต็อก ของโชว์รูมผู้จำหน่าย เป็นเวลานานๆ ปัญหาก็คือ มีพนักงานขาย หรือเจ้าหน้าที่ของโชว์รูม และศูนย์บริการจำนวนมาก ไม่ทราบว่า ควรปรับลดแรงดันลมยางให้กับทั้งรถทดลองขับ (Test Drive Demo Vehicle) และรถสำหรับจำหน่ายจริง ก่อนส่งมอบให้ลูกค้า ผลก็คือ ทุกๆคนต่างพากันเข้าใจว่า พวงมาลัยของ Almera เบาโหวงเกินไป ซึ่งผมไม่เชื่อว่านั่นคือ Feeling ที่แท้จริง

ดังนั้น เมื่อรับรถทดลองขับสีส้มคันนี้มา ทั้ง 2 คัน ผมตัดสินใจ ลดแรงดันลมยาง ลงมาเหลือระดับมาตรฐานที่เราใช้ในการทดลองกับรถเก๋ง คือ 32 psi ทั้ง 4 ล้อ ผลลัพธ์ที่ออกมา กลายเป็นว่า พวงมาลัย ตอบสนองเหมือนกับ Honda City 1.5 ลิตร ปี 2008 – 2014 ที่ผมเคยชื่นชอบ เอามากๆ!

เริ่มจากสัมผัสที่ส่งขึ้นมาถึงมือคนขับก่อน พวงมาลัยถูกปรับปรุงให้มีการตอบสนองไปในทิศทางเดียวกับ Nissan Note นั่นคือ กระชับขึ้น หมุนได้คล่อง ให้ความต่อเนื่อง (Linear) ได้ดีขึ้นมาก เลียวได้ตามสั่งยิ่งกว่าเดิม แถมยังสนองตอบต่อการบังคับเลี้ยว ทั้งแบบปกติ และแบบหักซ้าย – ขวา ต่อเนื่องทันที ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่ารุ่นเดิมราวฟ้ากับเหว หมุนพวงมาลัยจนสุดแล้ว รถก็จะคืนพวงมาลัยกลับมา ให้เสียที (Almera รุ่นเดิม ไม่เป็นเช่นนี้)

กระนั้น ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยของ Almera ก็มีน้ำหนักเบามาก เบากว่า Nissan Note เบาเท่าๆกับ Nissan Sylphy รุ่นปัจจุบัน และ Nissan X-Trail เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า หลังปรับลดแรงดันลมยางลงมาจนเหลือ 32 psi น้ำหนักพวงมาลัยที่เบาโหวงจนเกินเหตุ ค่อยเริ่มหนักขึ้นกว่าเก่า นิดนึง อยู่ในจุดที่เพียงพอสำหรับลูกค้าที่ใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่ไม่ถึงกับหนืดดีเท่าพวงมาลัยของ Note

ไม่เพียงแค่นั้น ในย่านความเร็วสูง On Center Feeling ของพวงมาลัย จะเหมือนกับพวงมาลัยของ Note ไม่มีผิด คือตั้งตรงแหน่วดีมากๆ ไม่ต้องคัดซ้ายคัดขวา เหมือน Almera รุ่นเก่า ดีขึ้นมาก หน่วงมือนิดๆกำลังดีอีกต่างหาก ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการควบคุมรถขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ว่าน้ำหนักพวงมาลัย จะเบาไปหน่อย ยังไม่หนักและหนืดเท่า Note หรือ City Turbo ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมอยากได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเปลี่ยนล้อและยาง จากขนาด 15 นิ้ว ขึ้นมาเป็น 16 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone Potenza RE003 พวงมาลัยจะมีความหนืดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับการเซ็ตรถในภาพรวม ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการบังคับควบคุมรถในทุกช่วงความเร็วได้ดีขึ้นชัดเจน แต่น้ำหนักก็ยังคงเบากว่า พวงมาลัยของ City Turbo อยู่ดี

อันที่จริง การตอบสนองของระบบบังคับเลี้ยว ใน Almera ใหม่ ก้าวขึ้นมาจากระดับ ค่อนข้างแย่ในรุ่นเดิม ขึ้นมาเป็นระดับต้นๆของตลาดเมื่อเทียบกับรถยนต์ในกลุ่ม B-Segment ทุกรุ่นในตลาดเมืองไทย เสียที ให้สัมผัสที่ดี และอัตราทดเฟืองพวงมาลัย พอกันกับ Nissan Note ที่ผมโปรดปราน อันที่จริง มันดีในระดับใกล้เคียงกับ พวงมาลัยของ Suzuki Swift และ Mazda 2 เสียด้วยซ้ำ

เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เพิ่มน้ำหนักของพวงมาลัย ในช่วงความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ให้หนืดและหนักขึ้นอีกสักหน่อย จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการควบคุมรถย่านความเร็วสูงมากกว่านี้ ถ้าทีมวิศวกรคิดไม่ออกว่าจะเอาใครมาเป็นโจทย์หลัก ผมอยากแนะนำให้ลองใช้พวงมาลัยของ Honda City RS รุ่นล่าสุด เป็น Benchmark

ระบบกันสะเทือน / Suspension
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบอิสระ MacPherson Strut พร้อม Coil Spring จาก Tokico และ เหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังยังคงเป็นแบบคานบิด Torsion Beam พร้อม Coil Spring จาก Tokico และเหล็กกันโคลง เหมือนเดิม แต่ถูกปรับปรุงเพิ่มเติมในหลายๆจุดให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการออกแบบให้ชุดคานบิดด้านหลัง มีความแข็งมากขึ้น ส่งผลให้การบิดตัวหรือการให้ตัวของคาน ลดลง 15% รวมทั้งการเปลี่ยนชิ้นส่วนยางกันกระแทกแบบใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มความนุ่มนวลมากขึ้น

บุคลิกของช่วงล่าง Almera ใหม่ จะมาในแนว “กระชับ ในความเร็วต่ำ แต่นุ่ม และนิ่ง ในย่านความเร็วสูง” ซึ่งแตกต่างไปจากบรรดารถยนต์ Nissan ไซส์เล็ก ในกลุ่ม V-Platform ทุกคันที่คุณเคยเจอมา เพราะในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ ผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ช็อกอัพจะยุบตัวน้อยมาก แถมมีความหนืดในจังหวะที่ล้อรถเข้าปะทะและดันช็อกอัพกับสปริงขึ้นไป เยอะกว่า Almera รุ่นเก่าอย่างมาก

แต่เมื่อคุณกำลังเดินทางในย่านความเร็วสูง ช่วงล่างของ Almera จะเผยให้เห็นถึงความพยายามของทีมวิศวกร Nissan ที่บางเสาธง ในการปรับปรุงและแก้ไขจุดบกพรองสำคัญของ Almera รุ่นเดิม นั่นคือ การทรงตัว ขณะขับขี่ทางไกล จนได้มาซึ่งช่วงล่างที่ให้ความคล่องแคล่ว สอดคล้องกับบุคลิกของรถเก๋งขนาดเล็ก ขณะลองขับแบบมุดเบาๆ ซ้ายที ขวาที ไปมาๆ เพิ่มความสนุกให้กับคนที่มีประสบการณ์ในการขับรถยนต์มาพอสมควร อย่างไรก็ตาม พวงมาลัยที่เบาไปหน่อย แถมเจอกับบั้นท้ายที่ค่อนข้างเบา และยาว มีส่วนทำให้คนขับที่ชั่วโมงบินยังน้อยอยู่ ต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร เพราะตัวรถ ตอบสนองค่อนข้างไวเอาเรื่อง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ช่วงล่างของ Almera ใหม่ สามารถรองรับกับการขับขี่ ในช่วงย่านความเร็วสูงๆ ได้อย่าง นิ่งสนิท เหนือความคาดหมายของผมไปไกลมาก! ถึงขั้นว่า กดคันเร่งเต็มตีน จนสุดมาตรวัดที่ 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมยังสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้นานถึง 7 วินาที (ในสภาพที่ไม่มีกระแสลมตัดปะทะด้านข้างรถเลย ) การทรงตัวในย่านความเร็วสูงของ Almera ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมมาก และดีกว่า City 1.0 Turbo อยู่พอสมควร

ส่วนการเข้าโค้งนั้น เราลองมาดูตัวเลขบนมาตรวัด ขณะแล่นผ่านทางโค้ง 5 แห่ง บนทางด่วนเฉลิมมหานคร ในกรุงเทพฯ อันเป็นทางโค้งที่ผมใช้ในการทดลองเป็นประจำยามดึกดื่น ราวๆ ตี 2 ขึ้นไป

เริ่มต้นด้วย โค้งขวารูปเคียว เหนือ ย่านมักกะสัน ตามปกติแล้ว มาตรฐานที่รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในโค้ง ช่วง 80 – 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Almera ล้อ 15 นิ้ว ทำได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่สำหรับรถที่สวมล้ออัลลอย 16 นิ้ว พร้อมยาง RE003 จะไต่เข้าโค้งได้ถึง 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Almera ทั้ง 2 คัน เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 100 และ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ เมื่อตั้งลำได้ ก็เข้าสู่โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางและช่วงล่างของรุ่นล้อ 15 นิ้ว จะเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว (แต่สำหรับ RE003 ยังพอขยับขึ้นไปได้ถึง 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พอตั้งลำได้อีกครั้ง ก็เหยียบคันเร่งเพิ่ม ส่งรถเข้าโค้งขวา ยกระดับ ขึ้นไป ด้วยความเร็ว (บนมาตรวัด) 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นล้อ 15 นิ้ว และ 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่นล้อ 16 นิ้ว

สัมผัสในขณะเข้าโค้ง บอกได้ว่า ตัวรถจะจิกเข้าโค้งได้ดีกว่า City Turbo ส่วนบั้นท้ายที่เบานั้น ถ้าเข้าโค้งด้วยความเร็วที่ไม่เกิน Limit ตัวรถพยายามรักษา Balance ไว้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะพยายามทำให้บั้นท้ายปัดออก หรือ Oversteer ก็พอทำได้อยู่ ถ้าคนที่ขับรถมาเยอะ มีประสบการณ์มาแยะ อาจจะรู้สึกสนุกขึ้นนิดหน่อย ไปพร้อมๆกับความหวาดเสียวเล็กๆ แต่คนที่ไม่ได้ผ่านรถมาโชกโชน อาจถึงกับเหวอในความเบาของ Almera ใหม่ได้อยู่บ้างเหมือนกัน

ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ คู่แข่งแล้ว หากขับขี่เปรียบเทียบกันในสภาวะปกติ ไม่ได้มีกระแสลมปะทะด้านข้างมากจนเกินไป แน่นอนว่า ช่วงล่างของ City Turbo ให้ความ “นิ่มสบาย” ในช่วงความเร็วต่ำ ได้ดีกว่า Almera (สำหรับรีวิวของผมแล้ว นิ่ม คือขั้นกว่าของคำว่า นุ่ม) แต่ในช่วงความเร็วเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ช่วงล่างของ City จะกลายเป็นว่า นิ่มเกินไป ไม่สอดคล้องกับความแรงของเครื่องยนต์ ขณะที่ Almera นั้น มีช่วงล่างที่แข็งกว่า City ชัดเจนในย่านความเร็วต่ำ คล้ายช่วงล่างของ รถเล็กราคาถูกจากยุโรป แต่กลับให้ความนิ่ง และมั่นใจได้ดีกว่า ทั้งในการเข้าโค้ง และขณะใช้ความเร็วสูงๆ

ระบบห้ามล้อ / Brake
ระบบห้ามล้อด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อน จานเบรกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 255 มิลลิเมตร ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 203 มิลลิเมตร จุดเด่นของ Almera คือ ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นไหนก็ตาม ทุกรุ่นย่อย จะมาพร้อมกับ 5 ระบบตัวช่วย ทั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Distribution) ระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)

นอกจากนี้ ยังเพิมระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวขณะเข้าโค้ง หรือบนพื้นลื่น VDC (Vehicle Dynamic Control) ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ ที่ล้อทั้ง 4 และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) ซึ่งจะทำงานในกรณีที่คุณ ขับขึ้นทางลาดชัน หรือทางขึ้นอาคารจอดรถ แล้วต้องจอดค้างอยู่บนเนินลาดชัน ทันทีที่ถอนเท้าจากแป้นเบรก ระบบจะสั่งให้ค้างแรงดันน้ำมันเบรกเอาไว้อีกราวๆ 2-3 วินาที เพื่อที่จะให้คุณเหยียบคันเร่ง ส่งรถขึ้นเนินต่อไปได้ทันที เพื่อไม่ให้รถไหลขณะออกตัว (แต่ถ้าเกินกว่า 2-3 วินาที ระบบจะยกเลิกการทำงาน รถจะไหลลงมาเอง) ทั้งหมดนี้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ติดตั้งมาให้ครบจากโรงงาน ทุกคัน!

สิ่งหนึ่งทีคุณควรรู้ไว้คือ หม้อลมเบรกของ Almera ใหม่ มีขนาดเล็กลงกว่ารุ่นเดิม เล็กน้อย แป้นเบรกมีน้ำหนักเบา  และมีระยะเหยียบในระดับปานกลาง แอบยาวกว่า City นิดนึง แต่สั้นลงกว่า Almera รุ่นแรก หากเริ่มเหยียบเบรกลงไป จะพบว่า 30% ของระยะเหยียบในช่วงแรก มันเบามาก แต่พอหลังจากจุดดังกล่าวแล้ว น้ำหนักต้านเท้าจะเพิ่มขึ้นมาอีกนิดเดียว อยู่ในระดับกำลังดี สำหรับคนทั่วไป (ที่ไมใช่พวกตีนโหด) แม้ว่าให้ความนุ่มนวลในการชะลอรถ ตามแบบฉบับของรถยนต์ที่ใช้ระบบดิสก์เบรกคู่หน้า-ดรัมเบรกคู่หลัง แต่ถ้าจู่ๆ มีเหตุให้ต้องเบรกกระทันหัน แม้จะเหยียบเบรกอย่างฉุกเฉินลงไปครึ่งหนึ่งของระยะแป้นเบรก Almera จะมีอาการหน้าทิ่มชัดเจน แต่ควบคุมรถง่ายได้ตามสั่งอยู่

ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้ว่า ในกรณีที่คุณเปลี่ยนมาใช้ยาง RE003 พร้อมล้ออัลลอย 16 นิ้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า หากคุณเหยียบเบรกในระยะเท่าเดิม ไม่ว่าจะเหยียบลงไปลึกแค่ไหนก็ตาม รถจะหน่วงความเร็วลงไม่ดีเท่ารถคันที่ใช้ล้อ 15 นิ้ว และถ้าต้องการระยะเบรกเท่าเดิม คุณจำเป็นต้องเพิ่มแรงเหยียบเบรกลงไป ให้มากขึ้นอีกเล็กน้อย ดังนั้น ถ้าจะให้ดี คุณควรเว้นระยะเบรกเผื่อไว้เพิ่มจากเดิมอีกนิดนึง

หากมองกันตามตรง ระบบห้ามล้อของ Almera ใหม่ เพียงพอสำหรับการใช้งานในแบบผู้ใช้รถทั่วไป และการรองรับกับการขับขี่แบบเร่งรีบได้นิดหน่อย แต่ถ้าคุณเป็นพวกตีนผีมาแต่กำเนิด ระบบเบรกชุดนี้ น่าจะทนรองรับกับความซาดิสม์ของคุณได้ไม่นาน เพราะขนาดไม่ได้เบรกแรง กลิ่นไหม้ของผ้าเบรก ก็เริ่มลอยออกมาจนฉุนประมาณหนึ่งเลย ถ้าจะให้ดี ขอแนะนำว่า อาจต้องมองหาผ้าเบรกที่ช่วยให้ระยะหยุดรถของคุณสั้นลงกว่านี้สักหน่อย จะดีกว่า

โครงสร้างตัวถัง และอุปกรณ์ความปลอดภัย
Body Structure & Safety Features

จุดเด่นสำคัญของ Almera ใหม่ อยู่ที่การติดตั้งระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยทั้งเชิงป้องกัน Active Safety และเชิงปกป้อง Passive Safety รวมทั้งบรรดาระบบช่วยเหลือการขับขี่ ภายใต้แนวทาง Nissan Intelligent Mobility มาให้ในระดับที่ แทบจะเทียบเท่ากับ Versa เวอร์ชันอเมริกาเหนือ เสียด้วยซ้ำ ขาดไปเพียง 2-3 ระบบ เท่านั้น โดยกระจายติดตั้งให้แตกต่างกันมาตามแต่ละรุ่นย่อย

ทุกรุ่นย่อย S ,E, EL ,V ,VL มี ระบบ 5 ตัวช่วยหลัก และระบบความปลอดภัยเชิงปกป้อง Passive Safety ครบทุกคัน ดังนี้

– ABS , EBD , BA (Brake Assist) , VDC และ HAS (Hill Start Assist)
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า (Dual SRS) รวม 2 ใบ
– เข็มขัดนิรภัยคนขับแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ 2 ทิศทาง (Double Pre-tensioner & Load Limiter)
– เข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารด้านหน้าแบบดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pre-tensioner & Load Limiter)
– เข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ ELR 3 จุด 3 ตำแหน่ง
– จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ที่ด้านล่างของพนักพิงเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง

เฉพาะรุ่น EL , V และ VL ขึ้นไป เพิ่ม…

ระบบ IFCW (Intelligent Forward Collision Warning) สัญญาณเสียงและขึ้นสัญลักษณ์สีแดงเตือนบนมาตรวัดเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้าขณะขับขี่ หรือขับเข้าใกล้ยานพาหนะคันข้างหน้า มากเกินไป
ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน IEB (Intelligent Emergency Braking) ใช้ Redar ที่ติดตั้งอยู่บริเวณสัญลักษณ์ Nissan บนกระจังหน้า ปล่อยคลื่น สะท้อนไปยังรถคันข้างหน้า (ต้องเป็นวัตถุใหญ่พอสมควร เช่นรถยนต์ทั้งคัน) ช่วยวิเคราะห์ระยะห่างและความเร็วของยานพาหนะคันข้างหน้า เพื่อสั่งระบบเบรกให้ช่วยชะลอความเร็วและหยุดรถ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากอุบัติเหตุ (แต่ไม่รองรับการตรวจจับภาพบุคคลเดินตัดผ่านหน้ารถ)

เฉพาะรุ่น V และ VL เพิ่ม…

กล้องมองภาพรอบทิศทาง IAVM (Intelligent Around View Monitor) กล้อง 4 ตัว รอบคัน ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง จะจับภาพขณะรถกำลังเคลื่อนไหวช้าๆ ต่ำกว่า 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วประมวลผล เพื่อแสดงภาพพืนที่รอบคันรถ ผ่านหน้าจอชุดเครื่องเสียง ทำงานร่วมกับ…ระบบ MOD
ระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน MOD (Moving Object Detection) ตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนเมื่อตรวจพบบุคคลหรือวัตถุที่กล้องรอบคัน จับการเคลื่อนไหวได้

เฉพาะรุ่น Top VL เพิ่ม…

ถุงลมนิรภัยด้านข้าง (Side Airbags) 2 ใบ และ…
ม่านถุงลมนิรภัย (Side Curtain Airbags) อีก 2 ใบ เมื่อรวมกับ Dual SRS คู่หน้า เท่ากับว่ารุ่น VL จะมี ถุงลมนิรภัย 6 ใบ
ระบบเตือนจุดอับสายตา BSW (Blind Spot Warning) เมื่อคุณเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว ระบบจะส่งเสียงสัญญาณพร้อมไฟสีส้มกระพริบเตือนที่กระจกมองข้าง ในฝั่งที่ยานพาหนะแล่นมาทางด้านข้างรถ ให้รู้ว่า มียานพาหนะคันอื่น กำลังจะตีคู่มาอยู่ในช่องทางด้านข้าง
ระบบตรวจจับวัตถุด้านหลังรถขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert) เมื่อคุณเข้าเกียร์ถอยหลัง ระบบจะเริ่มทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ ฝังใต้กันชนหลัง ถ้าตรวจพบรถที่กำลังเคลื่อนเข้ามาทางด้านหลังทั้งซ้ายและขวา ระบบจะส่งสัญญาณเตือนพร้อมไฟกระพริบเตือนในด้านเดียวกันกับที่มีรถเคลื่อนที่เข้ามา

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งในโครงสร้างตัวถังนิรภัย Crumple Zone ที่ออกแบบตามแนวคิด Zone Body Concept แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ Crushable Zone เป็นโครงสร้างความปลอดภัยด้านหน้า ทำหน้าที่ดูดซับ และกระจายแรงกระแทกอันเกิดจากการชนด้านหน้า ไปทั่วทั้งคัน และ Safety Zone เป็นโครงสร้างห้องโดยสาร ที่มีความแข็งแรง ทนแรงอัดสูง

แม้จะยังไม่มีผลทดสอบการชนจากหน่วยงานที่น่าจะพอยึดถือเป็นมาตรฐาน ที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ที่จำหน่ายในเมืองไทยมากสุด อย่าง ANCAP (Australia New Car Assestment Program) หรือ ASEAN NCAP (ASEAN New Car Assestment Program) จาก Malaysia ซึ่งก็อาจจะมีมาตรฐานการทดสอบ ไม่เข้มงวดเท่าการทดสอบของ EuroNCAP ไปบ้าง

แต่ตอนนี้ เวอร์ชันอเมริกาเหนือของ Almera N18 ในชื่อ Versa ซึ่งมีถุงลมนิรภัยถึง 8 ใบ (เมืองไทย มีแค่ 6 ใบ) ก็ผ่านมาตรฐานทดสอบการชน ในระดับ 5 ดาว ในทุกหัวข้อ จากหน่วยงานด้านความปลอดภัย NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) ของรัฐบาลกลาง สหรัฐอเมริกา และระดับ G ของ IIHS & HLDS (Insurance Institute for Highway Safety, Highway Loss Data Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของบริษัทประกันภัยในสหรัฐอเมริกา ที่มักขยันสรรหาการทดสอบในรูปแบบที่แปลกขึ้นไปเรื่อยๆ ราวกับมีเจตนาแอบแฝงบางอย่าง

*หมายเหตุ : ผลการทดสอบจากฝรั่งอเมริกาเหนือ เหมาะสำหรับใช้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และอาจครอบคลุม หรือไม่ครอบคลุมกับรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยเสมอไป

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่

https://www.nhtsa.gov/vehicle/2020/NISSAN/VERSA/4%252520DR/FWD#safety-ratings-side
https://www.iihs.org/ratings/vehicle/nissan/versa-4-door-sedan/2020

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
***************** Fuel Consumption Test ******************

การเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ใหม่ 3 สูบ 1.0 ลิตร Turbo Intercooler นอกจากจะทำให้ Almera ใหม่ มีสมรรถนะที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมในระดับก้าวกระโดดแล้ว หลายคนคงสงสัยว่า แล้วในด้านความประหยัดน้ำมันละ? Almera ใหม่ จะทำได้ดีขนาดไหนกันเชียว

ดังนั้น เราจึงทำการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน ตามมาตรฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องเรียนให้คุณผู้อ่านทราบว่า นับจากเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา เราจะไม่มีการเขย่ารถในการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอีกต่อไป ทำได้แค่เพียง เติมน้ำมัน ด้วยวิธีให้หัวจ่ายตัด ตามปกติ เหมือนปุถุชนทั่วไปเขาทำกันเท่านั้น เนื่องจาก ปั้ม Caltex ที่เราใช้บริการเป็นประจำ ถึงขั้นแสดงความไม่พอใจขั้นรุนแรง ผ่านทางเด็กปั้ม

นี่คือเรื่องบ้าบอไร้สาระที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้น และสร้างความผิดหวังให้กับผมเป็นอย่างมาก ในอดีตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราใช้บริการปั้มน้ำมันแห่งนี้มาตลอด และไม่เคยมีปัญหาใดๆในประเด็นนี้เลย แถมยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจู่ๆ ถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ใจจริงก็อยากจะฝากถึงผู้บริหารของ Caltex ประเทศไทย ให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้สักหน่อย แต่ก็ไม่อยากทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องจำใจยอมรับสภาพ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทดลองอัตราสิ้นเปลือง นับจากรีวิวนี้ เป็นต้นไป และทำได้แต่เพียงหาหนทางที่จะทำให้ตัวเลข ออกมาใกล้เคียงกับสภาพการใช้งานจริง ของผู้บริโภคมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ถังน้ำมันของ Almera ทั้งเวอร์ชันไทย และตลาดโลก มีขนาดเท่ากันคือ 35 ลิตร ส่วนผู้ร่วมทดลอง ในคราวนี้ เป็นน้อง Joke V10ThLnD จาก The Coup Team ของเว็บเรา น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1 บนปุ่ม Odo Meter และ Trip Meter บนก้านพวงมาลัย จากนั้น กดปุ่ม Ok บนพวงมาลัยฝั่งซ้าย Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้เป็นค่าเริ่มต้น ใหม่ ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.9 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 4.27 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 21.99 กิโลเมตร/ลิตร

หากเราไม่นับ Nissan LEAF ซึ่งใช้พลังไฟฟ้าล้วนๆในการขับเคลื่อนแล้ว Almera ใหม่ จะกลายเป็นรถยนต์ Nissan ที่ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ประหยัดน้ำมันมากที่สุด เท่าที่ผมเคยทดลองมา แน่นอนว่า ประหยัดกว่า Almera รุ่นเดิม (รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT ทำได้ 17.38 กิโลเมตร/ลิตร และรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ทำได้ 17.85 กิโลเมตร/ลิตร)

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันแล้ว Almera ใหม่ จะให้ความประหยัดน้ำมัน เป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่ Mazda 2 ทั้งรุ่น Diesel 1.5 ลิตร Turbo (22.48 กิโลเมตร/ลิตร) และรุ่นเบนซิน 1.3 ลิตร (24.29 กิโลเมตร/ลิตร) เท่านั้น! แน่นอนว่า ในประเด็นนี้ Almera เอาชนะ City 1.0 Turbo ได้สบายๆ

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรวัดระยะทาง มีความเพี้ยนไปตามการ Calibrate จากโรงงาน อยู่พอสมควร กระนั้น หากเราตัดประเด็นนี้ออกไป ปริมาณน้ำมันที่เติบกลับ ก็ถือว่า ใกล้เคียงกับ Mazda 2 อยู่ไม่น้อย ดังนั้น จึงพอจะเห็นภาพได้ว่า ด้วยระยะทางที่พอๆกัน Almera ใหม่จะให้ความประหยัดน้ำมันดีขึ้นจากรุ่นที่แล้ว และดีกว่าตู่แข่งในพิกัดเดียวกันอยู่มากโข

อย่างไรก็ตาม น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นไปได้ไกลแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย และบุคลิกการขับรถของคุณ ถ้าเป็นคนขับรถเร็ว ชอบเร่งๆ บี้ๆ มุดๆ และเกิดมามีตีนขวาหนักกว่าชาวบ้านชาวช่อง น้ำมัน 1 ถัง น่าจะมีพอให้แล่นไปได้แค่ราวๆ 350 กิโลเมตร เท่านั้น แต่ ถ้าคุณเป็นคนขับรถแบบเรื่อยๆ สบายๆ ไม่รีบไม่ร้อน และเน้นขับทางไกลเป็นหลัก น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นได้ไกลตั้งแต่ 550 – 600 กิโลเมตร ได้อย่างฉิวเฉียด

********** สรุป **********
ถึงจะยังดีไม่เต็มร้อย แต่อย่างน้อย ก็ฟัดกับชาวบ้านเขาได้แล้วละวะ!

“ผมเห็นคุณ J!MMY ไม่ค่อยชม Nissan บ้างเลย”

มันเป็นประโยคที่ผมได้ยินจากผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคนของ Nissan เอง คนของ Dealer หรือแม้แต่คุณผู้อ่าน ที่ติดตามกันมา ทั้งนาน และเมื่อไม่นานเท่าไหร่ มาตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้

ต่อให้อยากจะบอกกับทุกคนตรงนี้ว่า พวกคุณ กำลังเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แต่ไม่แปลกหรอกครับ เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะหลายคนก็มักได้ยินผมด่าทอ Nissan ออกอากาศ ทั้งทางเว็บ และในรายการวิทยุทุกวันเสาร์ ทาง FM 98.0 EDS อยู่เรื่อยๆ ถึงขั้นว่า Mayt ผู้ดำเนินรายการร่วม แซวว่า “ผมว่าถ้าจะด่าขนาดนี้ พี่ ตีตั๋ว บินไปยืนด่า ถึงหน้าสำนักงานใหญ่ Yokohama เถอะ!”

ผมพูดไว้มาตลอดหลายครั้งเลยละว่า Nissan เป็นแบรนด์ที่ผมรักมากสุดเป็นการส่วนตัว ถ้าไม่รัก บ้านผมคงไม่มี Nissan จอดอยู่เต็มโรงรถขนาดนี้หรอก แต่อย่างว่าละครับ ในทางกลับกัน มันก็เป็นแบรนด์ ที่เคยมีเรื่องให้ผมต้องด่าได้ไม่เว้นแต่ละวัน มาตลอดหลายปีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ มันเกิดจากปัญหาการจัดการต่างๆภายในองค์กร ที่สะท้อนผ่านออกมาทั้งทางผลงานด้านการตลาด การบริการหลังการขาย ไปจนถึงรถยนต์แต่ละรุ่นที่ถูกกำหนดสเป็กเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย ฯลฯ

นับตั้งแต่ Nissan ญี่ปุ่น เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มสยามกลการ (Siam Motors) เพื่อทำการตลาดรถยนต์ของตนในเมืองไทยด้วยตัวเอง เมื่อช่วงกลางปี 2004 จนถึงปัจจุบัน ผ่านไปแล้ว 16 ปี ทุกครั้งที่พวกเขาออกรถยนต์รุ่นใหม่มาขาย มันจะมีวัฎจักรประหลาด ที่เกิดขึ้น อยู่เสมอ เหมือนพวกเขายังคงขยันทำอะไรด้วยวิธีการเดิมๆ ออกมา แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนเคย โดยไม่รู้จักจะปรับปรุงหรือแก้ไข ทำทุกอย่างให้มันถูกต้องเสียตั้งแต่แรกกันเสียที

เริ่มจากการวางแผนออกรถยนต์รุ่นใหม่ ล่วงหน้าตั้ง 5 ปี แต่ในบางกรณีก็ดูเหมือนว่า พวกเขาจะไม่ได้สำรวจวิจัยตลาดในระดับ Global อย่างถี่ถ้วน บางโครงการ ก็ดูเหมือนมีความขัดแย้ง และไม่ค่อยประสานงานกันดีเท่าไหร่ บางกรณีก็หนักหนาขนาดว่าคาดเดาแนวทางที่รถยนต์รุ่นใหม่ของคู่แข่งจะออกมา คนละเรื่อง คนละโลกและส่งผลให้แนวทางการพัฒนา ผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มต้น

ผลที่ออกมาก็คือ รถยนต์ของ Nissan มักเปิดตัวสู่ตลาดบ้านเรา ในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเพียงช่วงเวลาให้หลังไม่นานนัก ก็มักโดนคู่แข่งหลัก ทั้ง Toyota Honda Mazda หรือแม้กระทั่ง ญาติร่วมชายคาหน้าใหม่อย่าง Mitsubishi Motors แย่งความสนใจไปเสียหมดสิ้น จนมีสภาพกลายเป็นเพียงแค่ตัวประกอบในตลาดที่ลูกค้าหมางเมินหรือลืมเลือน

เหตุผลก็คือ หากมองในมุมของลูกค้า รถแต่ละรุ่น ก็ล้วนมีเรื่องให้ด่า เช่น เอาเครื่องยนต์เดิมมาใส่ทำไม ก็ไม่รู้ บางรุ่นก็มี Option ขาดๆเกินๆ USP (Unique Sales Point) ที่เคยวางแผนไว้เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน ว่าเป็นหมัดเด็ด ก็กลายเป็นว่า โดนคู่แข่งรุ่นใหม่ๆ เขาใส่มาให้ แซงหน้ากันไปหมดแล้ว บางรุ่นเลือกสี Communication Color ไม่โดนใจผู้คนตั้งแต่เปิดตัว หลายรุ่นเจอปัญหา ชาวต่างชาติเข้ามาวุ่นวายเรื่องแคมเปญการตลาด และการเปิดตัว เสียจนกระทั่ง หนังโฆษณาที่ออกมา ดูพิลึกพิลั่น โดนเอาไปล้อเลียน จนเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับตัวรถตลอดอายุตลาด

ซ้ำร้าย พอทีมการตลาดอยากจะหาทางกระตุ้นตลาด ก็ต้องเจอกับสารพัดอุปสรรคในองค์กรมากมายก่ายกอง กว่าจะขออนุมัติงบมาทำการตลาดแต่ละที ยากเย็นเหลือเกิน ขนาดว่า ขออนุมัติองค์การ NASA ปล่อยยานอวกาศ ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโลก ดูจะง่ายกว่า รอการอนุมัติจากชาวต่างชาติ ทั้งที่ NMAP (Nissan Motor Asia Pacific) หรือ NML (Nissan Motor Co.,Ltd สำนักงานใหญ่) เสียอีก บางคราวก็มีการโยกย้าย หรือปลดคนทำงานกลางอากาศกันดื้อๆเสียอย่างนั้นก็มี คนใหม่มารับงานต่อ ก็ไม่อาจประติดประต่องานได้ถ้วนถี่นัก ความต่อเนื่องในการทำงานก็ขาดหายไป ฯลฯ อีกมากมาย

ท่ามกลางสภาพปัญหาที่ถาโถมใส่ Nissan อยู่นั้น จู่ๆ ดูเหมือนว่า มีความพยายามในองค์กรที่จะผลักดันให้ Almera กลายเป็นรถยนต์รุ่นที่จะต้อง โดนด่าน้อยที่สุด ประสบความสำเร็จด้านยอดขายมากที่สุด และช่วยกอบกู้สถานการณ์ของ Nissan ในเมืองไทย ให้ได้มากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดสารพัดสิ่งอย่าง ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้ทีมงาน กระดิกดิ้นไปไหนไม่ได้มากนัก

และแล้ว Almera ก็ถูกเปิดตัวออกมา ด้วยหนังโฆษณา ที่อาจจะไม่ถึงกับเป็นที่จดจำนัก แต่ไม่มีอะไรให้ต้องด่าเลย แถมยังมีแคมเปญเสริม สำหรับกลุ่ม Social Media ด้วยหนังโฆษณาสั้นๆ 15 วินาที ที่แตกต่างจาก หนังโฆษณาสำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ตามปกติ แต่ Mood and Tone เดียวกัน รวมทั้งการกำหนดราคาขาย กับ Option ที่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้บริโภคเสียที แม้จะต้องเปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกับคู่แข่ง อย่าง Honda City 1.0 Turbo แต่ ด้วยแคมเปญ และข้อดีของตัวรถ ก็เห็นได้ชัดว่า คราวนี้ Nissan ขอสู้สุดใจขาดดิ้น

ยิ่งเมื่อได้ลองขับจริง ยาวๆ 2 สัปดาห์ กับรถ 2 คัน ก็พบว่า แม้ตัวรถจะยังไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ ปราศจากข้อตำหนิเลย แต่ผมก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า การเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ในครั้งนี้ เป็นการพลิกโฉม พลิกบุคลิกของ Almera จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ พ่อบ้านร่างโย่งวัยละอ่อน ทึ่มๆ ซื่อๆ ตูดโด่ง กลายสภาพเป็น หนุ่มเฟี้ยว ตาคม หุ่นสมส่วน คล่องแคล่ว และฉลาด น่าคบหา ขึ้นกว่าเดิมอีกพะเรอเกวียน!

ขอพูดอย่างเต็มปากว่า Almera คือ รถยนต์ Nissan ประกอบในไทย เพียงรุ่นเดียว ที่มีเรื่องให้ผมชื่นชม มากกว่าด่าทอ ถึงขั้นอยากได้เก็บไว้เองสักคันนึงด้วยซ้ำ! นี่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2015 ที่ผมเกิดความรู้สึกนี้ กับรถยนต์ของ Nissan ที่ประกอบขายในประเทศไทย

จุดเด่นของ Almera ที่ทำให้ผมคิดเห็นเช่นนั้น มีดังนี้

งานออกแบบ ที่ฉีกแนวไปจากรุ่นเดิม เป็นคนละเรื่อง แน่นอนว่า ความสวยงาม เป็นประเด็นที่ไม่มีข้อสรุปแน่นอน และเป็นเรื่องทางรสนิยมของปัจจกบุคคล แต่ผมมองว่า สวยขึ้น และลงตัวขึ้น กว่า Almera รุ่นเดิม แบบไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้น ทั้งคัน (ยกเว้น กระจกหูช้าง ที่บานประตูคู่หน้า ซึ่งใส่เข้ามาแล้วทำให้รถมันดูเชยๆนิดนึง)

เครื่องยนต์ใหม่ HRA0 แม้ว่าจะมีกำลังแค่ 100 แรงม้า (PS) แต่ด้วยแรงบิด 152 นิวตันเมตร (15.5 กก.-ม.) ก็ทำให้ Almera ใหม่ มีอัตราเร่ง แรงขึ้นกว่ารุ่นเดิม ถึง 4 วินาที จนเทียบเท่ารถยนต์นั่งพิกัด 1500 ซีซี แรงเป็นรอง City 1.0 Turbo แต่ประหยัดน้ำมันขึ้นมาอยู่บนหัวแถวของรถยนต์ Sedan พิกัด B-Segment ECO-Car ได้สำเร็จ เป็นรองแค่ Mazda 2 เท่านั้น!

พวงมาลัย และช่วงล่างถูกปรับเซ็ตมาใหม่ ให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม เป็นหนังคนละม้วน! แม้ว่า พวงมาลัยจะเบาไป แต่ด้วยอัตราทดเฟือง กำลังดี ทำให้การบังคับเลี้ยว ทำได้แม่นยำขึ้น ตอบสนองได้เป็นธรรมชาติขึ้น เอาใจได้ทั้งคนชอบขับรถ หรือสาวออฟฟิศผู้ไม่ประสีประสาเรื่องรถ ยิ่งช่วงล่างด้วยแล้ว แม้ในช่วงความเร็วต่ำจะสะเทือนหน่อยๆ แต่กลับให้ความนิ่งและมั่นใจได้ดีมากทั้งบนทางโค้ง และในย่านความเร็วสูง เล่นเอาบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมตลาด พากันค่อนขวับ!

Option และลูกเล่นด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ถุงลมนิรภัยตั้งแต่ 2 ถึง 6 ใบ ระบบ Blind Spot Warning ระบบ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ระบบ IFCW (Intelligent Forward Collision Warning) กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา และระบบตรวจจับวัตถุรอบคัน ถูกจัดเต็มมาให้ ในราคาที่คุ้มค่าตามแต่ละรุ่นย่อย และกลายเป็นจุดขายสำคัญที่ ช่วยให้ลูกค้าจำนวนไม่น้อย เปลี่ยนใจจากคู่แข่ง หันมาเซ็นใบจอง Almera เยอะขึ้น

สำหรับ Nissan แล้ว การที่พวกเขา ออกรถรุ่นใหม่ แล้วสามารถทำให้ผมรู้สึกอยากควักกระเป๋าอุดหนุนสักคันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆนัก ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ห้วงเวลาดังกล่าว มีเพียง Nissan Sylphy Turbo เพียงคันเดียว ที่เคยทำสำเร็จ ดังนั้น ผมก็คงต้องขอยกคุณงามความดีให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่อยู่เบื้องหลังความยากลำบากในการเตรียมโครงการ Almera เข้ามาเปิดตัวในบ้านเรา คราวนี้ อย่างสุดใจกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม Almera ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ยังสามารถปรับปรุง และแก้ไขให้ดีขึ้นได้มากกว่าเดิมอีก เพียงแต่ว่า บางประเด็น มันอาจไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายดายนัก เพราะอาจกระทบกับผลการวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และการปล่อยมลพิษ ซึ่งต้องไม่เกินข้อกำหนดของทางรัฐบาลไทย และนั่นจึงกลายเป็นจุดอ่อน ที่จำเป็นต้องปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ข้อที่ควรนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ของ Almera มีเยอะอยู่…ดังนี้

เครื่องยนต์สั่นมากเกินเหตุ ในช่วงรอบเดินเบา จอดนิ่งอยู่กับที่ มันสั่นราวกับเป็นสันนิบาต สั่นเป็นเจ้าเข้าทรงตามละคร TV เมืองไทย ยิ่งตอนใส่เกียร์ D แล้ว เหยียบเบรก บางจังหวะก็สั่นสะท้านไปทั้งคัน  เหมือนรถเก่าอายุ 20 ปี ที่ไม่ได้ปรับจูนรอบเดินเบามาชาติเศษ นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ผมหงุดหงิดเอาเรื่อง เพราะมันสั่นสะท้าน หนักกว่า HR12DE ใน March , Almera รุ่นที่แล้ว และ Note เสียอีก อุตส่าห์เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ทั้งที แต่กลับแก้ปัญหารอบเดินเบาสั่นไม่ได้เนี่ย แอบไปลดต้นทุนกับยางรองแท่นเครื่อง หรืออย่างไร อย่ามาบอกนะว่า จำเป็นต้องจูนน้ำมันกับไฟให้เป็นสั่นเป็นเจ้าเข้าเขย่าเซียมซี แบบนี้ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานมลพิษหนะ!!??

การเก็บงานห้องเครื่องยนต์ไม่เรียบร้อยเลย โดยเฉพาะการเดินสายไฟ ที่ดูแล้วลวกมากๆ ชนิดที่ชวนให้ขนลุกทุกครั้ง ว่าเปิดฝากระโปรงหน้าแต่ละที รู้สึกขนลุกเหมือน มีครอบครัวงู กำลังเลื้อยไปมา อยู่บนฝาสูบ หรือขอบชิ้นส่วนเปลือกตัวถังที่ต้องยึดกับคานห้องเครื่องยนต์ ที่ดูเหมือนจะถูกปล่อยปละละเลยจากการเก็บงาน ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากความพยายาม ในการลดต้นทุน เพื่อการผลิต อย่างเห็นได้ชัด พูดกันตามตรง ถ้าเก็บขอบตัวถังด้านข้างให้ดีกว่านี้ เก็บสายไฟให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพิ่มฝาครอบเครื่องยนต์ ให้มันดูดีกว่านี้อีกสักหน่อย แล้วเพิ่มราคาขายอีกราวๆ 3,000 บาท ผมเชื่อว่า ลูกค้าไม่ด่าหรอกครับ

น้ำหนักพวงมาลัย ขอให้เท่ากับ Nissan Note จริงอยู่ว่า การตอบสนองของพวงมาลัย ทำได้ดีขึ้นจากรุ่นเดิมอย่างมากมายเป็นภูเขาเลากา ทั้งการบังคับเลี้ยวที่แท่นยำขึ้นเยอะ การตอบสนองที่เป็นธรรมชาติขึ้นเยอะ (แม้จะเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้าก็ตาม) กระนั้น ถ้าสามารถปรับเพิ่มความหนืดของพวงมาลัย ขึ้นอีกนิดนึง ในทุกช่วงความเร็ว ทั้งย่านความเร็วต่ำ จนถึงความเร็วสูง เอาให้ได้ในระดับเดียวกับ Nissan Note ซึ่งเป็นพวงมาลัยที่เซ็ตมาดีสุดในบรรดารถยนต์ขนาดเล็กของ Nissan ที่เคยทำขายมาในเมืองไทย เพียงเท่านี้ ผมถือว่า นั่นจะทำให้การบังคับควบคุมรถของ Almera สมบูรณ์ลงตัวดีงามขึ้นจนจบข่าวกรมประชาสัมพันธ์ กันเลยทีเดียว

เบาะนั่งคู่หน้า ควรออกแบบขึ้นใหม่ให้นั่งสบายในการเดินทางไกลมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรองรับช่วงกลางหลัง จนถึงช่วงหัวไหล่ ที่ควรจะเพิ่มกว่านี้อีกมาก เพราะเบาะคู่หน้าของ Almera ใหม่ มีพนักพิงหลังที่ให้สัมผัสเหมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้เหล็กเก่าๆ หน้าห้องตรวจโรค ในโรงพยาบาลของรัฐ มากไปหน่อย มันอาจจะสบายสำหรับคนบางกลุ่ม แต่มันก่อความเมื่อยล้าในการขับขี่ได้เยอะมากสำหรับคนส่วนใหญ่ ถึงขั้นว่า อาจต้องหาหมอนรอง มาวางไว้ที่พนักพิงหลังกันเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน พนักศีรษะ ที่แอบดันกบาลนิดๆ แม้จะไม่มากก็เถอะ ควรปรับปรุงให้ดันน้อยลงกว่านี้อีกหน่อย เพิ่มความนุ่มของฟองน้ำด้านในอีกนิด ก็จะดีขึ้น

เบาะหลังในรุ่น EL , V และ VL ควรจะมีพนักวางแขนแบบพับได้ การไม่ยอมใส่มาให้ ก็พอเดาสาเหตุได้อยู่ว่า เป็นเรื่องการลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น อีกทั้ง ต้องการจะบอกเป็นนัยๆว่า ใครอยากได้ รถที่มีพื้นที่เก็บของอเนกประสงค์มากกว่า ให้หันไปเลือก Nissan Note แทน แต่ในความเป็นจริง Note มันก็ไม่ได้มีเครื่องยนต์ที่แรงและประหยัดอย่าง Almera ขณะเดียวกัน ลูกค้าที่คาดหวัง ให้มีเบาะหลังพับได้ หรือพนักวางแขนพับเก็บได้ ยังมีอยู่ไม่น้อย และมันก็คงจะเป็นการดี ถ้า ในรุ่นปรับอุปกรณ์ จะมีข้าวของพวกนี้ เพิ่มเติมมาให้ ซึ่งนั่นหมายถึงการยกชุดพนักพิงเบาะหลัง ของเวอร์ชันอเมริกาเหนือ ซึ่งมีผลิตออกจำหน่ายอยู่แล้ว โยกมาใส่ทั้งยวงกันดื้อๆ นั่นแหละ มีให้เฉพาะรุ่น EL ขึ้นไปจนถึงรุ่น VL ก็น่าจะเพียงพอ

ลดความเพี้ยนของมาตรวัดลงกว่านี้หน่อยเถอะ จริงอยู่ว่า มันมีข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลของ UNECE ให้รถยนต์ทุกคันในโลกนี้ที่ออกจำหน่าย จำเป็นต้องเซ็ตมาตรวัด ให้มีความเพี้ยนจากค่าความเร็วจริงเล็กน้อย เพื่อป้องกันผู้ขับขี่ ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เมื่อตรวจจับจากความเร็วจริง (อันที่จริง เคยมีคุณผู้อ่าน บางคน ที่ทำงานในบริษัทรถยนต์ แห่งหนึ่ง ที่ไม่ใช่ Nissan ส่งเอกสารแสดงวิธีการคำนวนมาให้นั่งดู จนผมอุทานว่า นี่แค่จะตั้งมาตรวัดความเร็วให้เพี้ยน สูตรคำนวน นี่ พอๆกับโจทย์เลข ลงแข่ง คณิตศาสตร์โอลิมปิก เลยวุ้ย!) แต่การตั้งค่าของ Almera ด้วยล้ออัลลอย 15 นิ้ว ให้เพี้ยนในระดับ 92 กิโลเมตร ทั้งที่เข็มความเร็วอยู่ที่ 100 ถ้วนๆ นั้น ก็ดูจะไม่เหมาะสมไปสักหน่อย เพราะยิ่งไปเปลี่ยนเป็นล้อ 16 นิ้ว ชุดเดียวกับที่ ฝ่าย Accesory ของ Nissan จัดหามาขายแยกต่างหากนั้น กลายเป็นว่า มาตรวัด 100 แต่ความเร็วบน GPS มันขึ้นแค่ 89 กิโลเมตร/ชั่วโมง! ซึ่งต่ำกว่าความจริงในระดับน่าเกลียดเลยละ! ดังนั้น ถ้าปรับเซ็ตให้ตัวเลขความเพี้ยนจากล้อ 15 นิ้ว ขยับขึ้นไปให้เป็น 95 -96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังพอทำใจรับได้อยู่ เพราะเมื่อเปลี่ยนล้อให้ใหญ่ขึ้น ตัวเลขความเพี้ยน ก็ยังไม่หล่นต่ำลงไปกว่า 90 – 92 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ปรับปรุงระบบเบรกให้ดีขึ้นกว่านี้ เนื่องจาก ลูกค้าจำนวนไม่น้อย น่าจะไม่ยินดีกับล้ออัลลอยติดรถจากโรงงาน พวกเขาอาจถูกล่อตาล่อใจจากข้อเสนอของร้านยางต่างๆ ที่คิดจะขายล้อพร้อมยางหน้ากว้างขึ้น เมื่อเราทดลองขับรถคันที่ใช้ล้อ 16 นิ้ว มาแล้ว ผมพบว่า ต้องเพิ่มแรงเหยียบเบรกลงไปอีก หากต้องการให้รถหยุดหรือชะลอความเร็วในระดับเท่าเดิม ดังนั้น หากเป็นไปได้ การเพิ่มขนาดหม้อลมเบรกอีกนิดนึง เปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกที่ล้อคู่หลัง ตั้งแต่รุ่น EL ขึ้นไป (หรือถ้าจะให้ดี ก็เปลี่ยนมันครบทุกรุ่นย่อยไปเลย) รวมทั้ง เปลี่ยนมาใช้ผ้าเบรก รุ่นหรือเกรดที่ดีขึ้นกว่านี้อีกหน่อย น่าจะช่วยลดระยะเบรกลงมาได้ดีกว่านี้ ส่วนการตอบสนองของแป้นเบรก ขอให้หนืดขึ้นอีกนิดเดียวจริงๆ แต่อย่าถึงขั้นเซ็ตแป้นเบรกมาแข็งเกินไปเชียวละ

ล้ออัลลอย 16 นิ้ว ในรุ่น V กับ VL ควรมีมาให้จากโรงงาน แต่นั่นเป็นเรื่องยาก ปัญหานี้ ผมเข้าใจดีว่า สำหรับผู้ผลิตรถยนต์แล้ว น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากล้อยาง หรือชิ้นส่วนต่างๆ มีผลอย่างมากแทบไม่น่าเชื่อในการเซ็ตรถให้ผ่านมาตรฐานมลพิษ และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ ECO Car Phase 2 ได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ล้อ 16 นิ้ว มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากพอที่จะทำให้ ค่า CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) สูงขึ้นอีก 1-2 กรัม/กิโลเมตร ทำให้ตัวเลข มันเกินกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร ไปจน Nissan อาจต้องเสียภาษีสรรพสามิตหน้าโรงงาน เพิ่มขึ้น ไม่อาจจะจำหน่ายในราคาที่คุณเห็นอยู่นี้ได้ ดังนั้น วิธี ที่ดีสุด ในการยืนหยัดรักษาราคาขายหน้าโชว์รูม ก็คือ ทำรถออกมาให้ผ่านมาตรฐาน จนเสียภาษีสรรพสามิตในพิกัด ECO Car Phase 2 ให้ได้ นั่นจึงทำให้ ล้ออัลลอย 16 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone RE003 จึงต้องกลายเป็นอุปกรณ์ตกแต่ง ที่ลูกค้าต้องสั่งซื้อเพิ่มเติมไปโดยปริยาย

ไฟ Daytime Running Light มีมาให้ แต่กลับล็อกไม่ให้ทำงาน กลายเป็นว่า ต้องให้โชว์รูมผู้จำหน่าย แอบเข้าไปซุกซน ค้นคว้า ปลดออกให้สามารถใช้งานได้ วิศวกรเขาให้เหตุผลว่า การทำงานของระบบนี้ มีผลแบบเดียวกับประเด็น ล้อยาง ขนาด 16 นิ้ว ข้างบนนี้ !!! แทบไม่อยากเชื่อเลยว่า แค่ไฟ LED ดวงเล็กๆ ทำงาน จะทำให้เพิ่ม CO2 ได้เยอะจนถึงขนาด ต้องตัดการทำงานทิ้งออกไป ก่อนที่รถจะออกจากโรงงาน เสียอย่างนั้น

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ฝั่งผู้โดยสารบานซ้าย ไม่ทำงานได้ในบางคัน ประเด็นนี้ Nissan ออกจดหมาย Recall เรียกรถที่ปล่อยออกสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้ กลับไปเปลี่ยนมอเตอร์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องให้ใหม่แล้ว ฟรี! คุณสามารถนำรถไปเข้าศูนย์บริการของ Nissan ได้ทุกแห่ง นับแต่นี้เป็นต้นไป

*** คู่แข่งในตลาด / Competitors ***

หากมองกันที่ขนาดตัวถังแล้วละก็ Almera ใหม่ จะยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B-Segment ตามเดิม เพียงแต่ว่า Nissan เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามโครงการ ECO Car Phase 2 ของรัฐบาลไทย ดังนั้น Almera ตั้งแต่รุ่นที่แล้ว จนถึงรุ่นปัจจุบัน ก็จะยังคงอยู่ในพิกัดขนาดตัวถังกลุ่ม B-Segment (ECO-Car) ตามเคยอยู่ดี และบรรดาคู่แข่ง ก็เริ่มทะยอยปรับโฉม เปลี่ยนโฉม และปรับอุปกรณ์กันไปแทบจะครบทั้งตลาดแล้ว

HONDA CITY TURBO RS – แรงสุด แต่ก็นิ่มสุด และมีพื้นที่ห้องโดยสารใหญ่สุดในตลาด พวงมาลัยน้ำหนักดีงามเอาใจคนชอบขับรถ เซ็ตมาดีมากๆ ขับสุภาพๆในเมืองก็สบาย แต่ถ้ายังซิ่งอยากซ่าส์ ควรหาช็อกอัพกับสปริงที่หนึบกว่านี้มาช่วยสักหน่อย ความบันเทิง พอมี แต่ Option ล้ำๆ อย่างที่ควรมีตามยุคสมัย กลับขาดหายไป ดังนั้น ถ้าคุณต้องการรถขับสบาย แต่แอบแรงได้ในทุกเวลา ถ้ารับได้กับช่วงล่างสายนิ่ม เอาใจพ่อตาแม่ยาย นีคือทางเลือกที่คุณน่าจะไม่ผิดหวัง

MAZDA 2 – ขวัญใจนักศึกษามหาวิทยาลัย ปรับปรุงให้เน้นความ Premium ยิ่งขึ้นทั้งวัสดุในห้องโดยสาร ที่ดีสุดในตลาด รวมทั้ง บุคลิกการขับขี่ ที่แม้จะยังคล่องแคล่ว เบา แต่ช่วงล่างดีสุดในกลุ่ม พวงมาลัยเซ็ตอัตราทดมาดี แต่มีน้ำหนักเบาปานปลาง ไวกำลังดี ไม่มากนัก แต่ด้อยเรื่องพื้นที่ในห้องโดยสาร เล็กพอๆกับ Attrage  รุ่นเบนซิน เน้นประหยัดน้ำมันที่สุดในตลาด แต่ขาดหายความแรง การเลือกรุ่น Diesel ยังเป็นางเลือกที่ดีกว่า ถ้าคุณขับทางไกลเป็นหลัก และเป็นคนตีนหนักมาตั้งแต่เกิด เพราะนอกจากจะเรียกอัตราเร่งได้ทันใจกว่าเบนซินแล้ว คุณยังจำเป็นต้องเร่งไล่เขม่าในเครื่องด้วย สิ่งที่ต้องกังวลคือ ปัญหาจากตัวรถที่มีบ้างในรุ่น Diesel การไม่ยอมให้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ของบริษัทแม่ และการหาศูนย์บริการดีๆ สักแห่งที่ยกเย็นพอๆกับการงมเข็มในขั้วโลกเหนือ

MITSUBISHI ATTRAGE – เวลาผ่านไป Attrage น้อย ก็กลายเป็น Sedan คันเล็กที่สุดในกลุ่ม ไปจนได้ จุดเด่นที่ยังพอจะหาได้ คือ การติดตั้งอุปกรณ์ให้เยอะที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  รวมทั้งการติดตั้งระบบ FCW มาให้เป็นรายแรกของ B-Segment ECO Car เมืองไทย  การปรับโฉม Minorchange งวดล่าสุด มีการปรับปรุงหน้าตาให้ดูสวย แต่ฉีกออกจากตัวถังทั้งคันที่เหลือราวกับเป็นรถคนละคันจับมาเชื่อมต่อกัน และเซ็ตพวงมาลัยให้ตอบสนองดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่ ดีกว่า Yaris ATIV นิดเดียวจริงๆ นอกนั้นตัวถังก็เล็กกว่าใครเพื่อน การขับขี่ ก็คล่องๆ แต่เบาๆ ความมั่นใจค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับชาวบ้านชาวช่อง ถ้าไม่มีโปรโมชันแรงๆ ก็แทบไม่เหลือความน่าสนใจมากนัก รอรุ่นใหม่ปี 2022

SUZUKI CIAZ – ปรับโฉม Minorchange เป็นรายสุดท้าย จุดเด่นอยู่ที่หน้าตา ที่เรียบง่าย แต่สวยหรูดูข้าม Class และไม่ล้าสมัยง่ายๆ มาพร้อมห้องโดยสารที่ยังคงใหญ่สุด มีเบาะนั่ง ที่ให้ความนิ่มสบายมากสุดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แถมด้วยช่วงล่าง ที่ถูกเซ็ตมาให้นุ่มแต่ เกาะถนนดี แถมยังมั่นใจได้ในขณะเข้าโค้ง จนจบครบถ้วนทุกกระบวนความ อย่างไรก็ตาม ขุมพลัง เบนซิน 1.2 ลิตร ที่เคยแรงสุด ก็เริ่มถูกท้าชิง ทั้งด้านอัตราเร่ง และความประหยัดน้ำมัน จนเริ่มไม่เป็นจุดแข็งอีกต่อไป ขณะเดียวกัน พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ยังคงไร้ชีวิตชีวา ทื่อๆ แข็งๆ ต้องคอยเลี้ยงซ้าย-ขวา ช่วยตลอด ไม่น่ารักเหมือน Suzuki Swift แถม อุปกรณ์ความปลอดภัยก็เริ่มสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ส่วนศูนย์บริการ ก็มีความพยายามในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าคุณอยู่ภาคกลาง และอีสาน หาศูนย์ดีๆได้เยอะ แต่ถ้าอยู่ภาคใต้ อาจจะเหนื่อยหน่อย

TOYOTA YARIS ATIV – มันคือการเอา Vios Gen.3 มาปรับเปลี่ยนงานออกแบบภายนอกใหม่ โดยใช้โครงสร้างวิศวกรรมเดิมๆ แล้วเอาเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ลูกใหม่ ติดตั้งเข้าไป นอกเหนือจากอัตราเร่งจะอืดอาดจนน่าหงุดหงิดแล้ว ก็ยังแอบมีปัญหาเร่งไม่ขึ้น บ้างในบางคัน พวงมาลัยเซ็ตมายังไม่ถึงกับดีนัก แต่ก็ดีกว่า Ciaz กับ Almera รุ่นแรกแล้วกัน ช่วงล่างเน้นนุ่มกำลังดี เซ็ตมาได้ดีกว่าที่คิดไว้ ในสไตล์เดียวกับ Almera แต่นุ่มกว่าในช่วงความเร็วคลานๆในเมือง ห้องโดยสารก็ไม่ต่างจาก Vios คือนั่งเบาะหลังแล้วหัวติดเพดาน ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่สนใจความแรง แต่อยากได้ความทนทานทนมือทนตีน ใช้งานยาวๆ และศูนย์บริการไม่น่าปวดหัว นี่คือทางเลือกที่ดีสุด หาไม่แล้ว รอรุ่นใหม่ปี 2022 เลย

*** ถ้าตกลงปลงใจจะเลือก Almera แล้ว รุ่นย่อยไหน ดูคุ้มค่าที่สุด? ***

Almera ใหม่ มีให้เลือกทั้งหมด 5 รุ่นย่อย โดยมีราคาจำหน่าย ดังนี้

– 1.0 Turbo S CVT ราคา 499,000 บาท
– 1.0 Turbo E CVT ราคา 509,000 บาท
– 1.0 Turbo EL CVT ราคา 559,000 บาท
– 1.0 Turbo V CVT ราคา 599,000 บาท
– 1.0 Turbo VL CVT ราคา 639,000 บาท

รายละเอียดของอุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละรุ่นย่อย สามารถคลิกเข้าไปดูได้ในบทความ เจาะสเป็ก Click Here

รุ่น S เป็นรุ่นที่ จงใจทำออกมาเพื่อให้ราคาเปิดตัว ต่ำกว่า 500,000 บาท อันจะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคในการรับรู้ข่าวสารก่อนเดินขึ้นโชว์รูม แต่ในความเป็นจริง สำหรับคนที่มีงบประมาณไม่มากนัก การจ่ายเงินเพิ่มอีก 10,000 บาท เพื่อขึ้นไปเล่นรุ่น E เป็นทางเลือกที่คุ้มค่ามากที่สุด เพราะคุณจะได้ตัวรถ พร้อมกับอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน คิดเสียว่า 10,000 บาทที่เพิ่มขึ้น เป็นค่ากระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า กุญแจรีโมท สัญญาณกันขโมย ฝาครอบล้อ และวิทยุ AM/FM USB Bluetooth 4 ลำโพง ก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตาม รุ่นที่ผมมองว่าคุ้มค่าน่าเล่นมากที่สุด คือ รุ่น EL เพราะการเพิ่มเงินอีก 50,000 บาท จากรุ่น E นั้น คุณจะได้ของเล่นเพิ่มมาอีกนิดหน่อย ทั้งล้ออัลลอย 15 นิ้ว เหมือนรุ่น Top VL กุญแจ Smart Keyless Entry ปุ่ม Push Start สวิตช์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย วัสดุบุนุ่มหุ้มหนังที่แผงประตูคู่หน้า ผ้าหุ้มเบาะสีเดียวกับรุ่น Top ที่วางแขนและช่องเสียบ USB ตามจุดต่างๆเพิ่มเติม และที่สำคัญก็คือ คุณยังได้ ระบบช่วยเตือนก่อนการชนด้านหน้า FCW และระบบเบรกอัตโนมัติ สำหรับ ยานยนต์ IEB เพิ่มเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดจะเล่นรุ่น V นั้น ถึงแม้ว่าการจ่ายเงินเพิ่มอีก 40,000 บาท จะทำให้คุณได้ข้าวของเพิ่มขึ้นอีกมาก ตั้งแต่การบุนุ่มหุ้มหนังเพิ่มเติมทั้งผงหน้าปัด และแผงประตูคู่หลัง เครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแสดงผล Digital เครื่องเสียง 6 ลำโพง พร้อมหน้าจอ Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว ระบบ Nissan CONNECT และ Apple CarPlay กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา Around View Monitor และ ระบบตรวจจับวัตถุและบุคคลรอบคัน MOD ฟังดูก็อาจจะเพียงพอสำหรับคนที่ไม่คิดจะเอื้อมขึ้นไปเล่นรุ่น VL

แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าคุณคำนวนค่าผ่อนส่งในแต่ละเดือน แล้วพบว่า ความแตกต่างมันมีไม่มากนัก การขยับขึ้นไปเล่นรุ่น Top VL ไปเลย ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าแน่ๆ การเพิ่มเงินขึ้นมา ไม่ได้เป็นเพราะพวกกระจังหน้ารมดำ ไฟตัดหมอกคู่หน้า LED นั่นหรอกครับ มันไม่ได้น่าสนใจเท่ากับ ถุงลมนิรภัย ที่เพิ่มจาก 2 เป็น 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า-ด้านข้าง-ม่านนิรภัย) ระบบเตือนมุมอับสายตา Blind Spot Warning และ ระบบเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง RCTA ซึ่ง 3 รายการหลัง ผมถือว่า ควรเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถยนต์ในยุคปี 2020 ได้แล้ว

ผมเชื่อว่า เราทุกคน ไม่ใช่แค่พนักงานของ Nissan ในเมืองไทย แต่รวมถึงผู้คนทั้งอุตสาหกรรมยายนต์บ้านเรา ต่างก็รู้อยู่เต็มอกกันแหละครับ ว่า Almera คือ ความหวังครั้งสำคัญ ของชาวบางเสาธง เพราะนี่คือรถยนต์รุ่นสำคัญ ที่จะมีส่วนตัดสินอนาคตของ Nissan ในระยะยาว ช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ ว่า Nissan จะเติบโต หรือจะค่อยๆลดระดับตัวเองลงมา

Almera ใหม่ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราประจักษ์ชัดเจนว่า ถ้า Nissan ตัดสินใจว่าจะฮึดสู้ เซ็ตรถมาให้สวยกว่า เหนือกว่า และขับดีขึ้นกว่าทั้งรุ่นเดิมและคู่แข่ง ทำทุกอย่างให้มันถูกต้องตามทำนองคลองธรรมกันเสียที เมื่อตัวรถออกมาดีพอให้ลูกค้าสนใจ พวกเขาก็จะพาเหรดหลั่งไหล่เดินเข้าโชว์รูมของคุณเองแหละ

แน่นอนละ ว่า ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ยังไงๆ ลูกค้าจำนวนมาก จะยังเทใจไปหา Honda City 1.0 Turbo มากกว่า ด้วยเหตุผลด้านชื่อชั้น และภาพลักษณ์ของ Honda ในอดีตที่สั่งสมกันมานาน ซึ่งทำให้ Honda จะยังเป็นแชมป์ของรถยนต์ในกลุ่ม B-Segment & ECO-Car Sedan กันต่อไป

แต่สิ่งที่ Almera ทำสำเร็จแล้วในวันนี้ คือการพา Nissan กลับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของตลาดรถยนต์นั่งกลุ่มนี้ได้ ตลอด 2 เดือนแรก ของปี 2020 แถมยังเอาชนะ เจ้าตลาดเดิม ทั้ง Toyota Yaris ATIV และ Mazda 2 Sedan ได้อย่างเกินความคาดหมาย แสดงให้เห็นว่า Almera ก็ยังมีคุณงามความดีเอาชนะใจลูกค้าชาวไทยจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

ไม่เพียงเท่านั้น นี่ยังเป็นอีกข้อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทย ยังพร้อมให้การต้อนรับ Nissan ขอเพียงแต่ว่า ส่งรถยนต์รุ่นที่มีรูปลักษณ์สวยงาม สมรรถนะดี มาพร้อม Option ที่คุ้มค่า กับราคาที่ต้องจ่ายไป อย่าลืมว่า ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อ Nissan ส่วนใหญ๋ จะเป็นกลุ่มคนที่ มีวิธีคิดต่างออกไป เขาทำการบ้านมาอย่างถ้วนถี่ มากกว่าคนทั่วไป พวกเขาไม่เพียงแค่คำนึงถึงความคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย แต่ยังคาดหวังการดูแลที่ดี เหมือนเช่นยุคสมัยของสยามกลการ ในอดีต จากชาวต่างชาติในปัจจุบัน

ความน่าเป็นห่วงของ Nissan นับจากนี้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่า Almera จะขายได้หรือไม่ได้ เพราะยังไงๆ รถเก๋งคันนี้ ก็จะกลายเป็นทัพหลวงในการหารายได้ให้กับ Nissan อยู่แล้ว แต่มันอยู่ที่ การทำงานของทุกฝ่ายในองค์กรนับจากนี้ ต่างหาก ว่า มันจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ท่ามกลางสภาวะโรคระบาด Covid-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และทั่วทุกหย่อมหญ้า อย่างในทุกวันนี้

ถ้าอยากจะเห็นตัวเลขยอดขาย เป็นแบบนี้ไปนานๆ ขอเพียงทุกคน ร่วมมือร่วมใจกัน “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน ปรับแนวทางการดูแลลูกค้า ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าโชว์รูม จนถึงวันที่ลูกค้านำรถมาเข้าศูนย์บริการครั้งสุดท้าย ก่อนเทิร์นเป็นรถคันใหม่ ฝ่ายขาย ก็ต้องไม่เอาเปรียบลูกค้ามากเกินไป หากลูกค้าเจอปัญหา ก็ต้องรีบเร่งเข้าไปช่วยเหลือทันท่วงที ฝ่ายบริหารเอง ก็ต้องติดอาวุธให้กับพนักงานขาย และ Dealer ให้คนทำงานยังพออยู่พอเลี้ยงขีพกันได้ไม่ใช่จ้องแต่จะลงโทษ เชือด Dealer ทิ้ง เหมือนเช่นที่ทำกันมาตลอด 3 ปีมานี้

ส่วนงานบริการหลังการขาย ก็ยังคงต้องเดินหน้าปรับปรุงกันต่อไป มีเคสเข้ามา ก็รีบเคลียร์ รีบเคลมให้ ไม่หมกเม็ด ไม่มีหลังไมค์ เปิดเผยข้อมูลให้ลูกค้า และช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างเต็มใจ จริงใจ ให้บริการดุจญาติมิตร ไม่แพ้ยุคสมัย “เพื่อนที่แสนดี” ในอดีต เลิกทำทุกอย่างตาม Manual แต่จงใช้ “ใจ” ในการแก้ปัญหาให้ลูกค้า

มันอาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน รวมทั้ง ฝ่ายบริหารชาวต่างชาติ อย่าเน้นตั้งเป้าแต่ยอดขาย แต่ควรเน้นตั้งเป้าหมายทำให้ลูกค้ามีความสุข พึงพอใจ ประทับใจ นั่นต่างหาก ที่จะทำให้ Nissan จะยังคงอยู่ในทางเลือกของลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น ไปนานๆ และเมื่อถึงจุดนั้น ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ในสายตาคนไทย ก็จะคืนกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวของมันเอง

 

ถ้าไม่เชื่อ…ก็ลองดู….!

———————-///———————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

– ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Public Relation Department)
Nissan Motor (Thailand) Co.ltd.
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

– Yutthapichai Phantumas (Q)
เตรียมข้อมูลตัวรถในภาพรวม

– Kasin Amarinsangpen 
เตรียมข้อมูลด้าน Powertrain

———————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
10 เมษายน 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
 without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 10th, 2020

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome , CLICK HERE!