ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนไม่น้อย ยังคงมีคำถามในใจว่า หากมีเงิน 2 ล้านบาท กลางๆ ควรจะยังคงใช้รถญี่ปุ่นป้ายแดงต่อไป หรือ Upgrade ขึ้นมาเป็นรถยุโรปป้ายแดงคันแรกในชีวิตถึงจะดี?

ทุกคนก็รู้ดีว่า ณ วันนี้ ถ้าจะซื้อรถยนต์ มาใช้งาน เป็นหลัก มองถึงความคุ้มค่าในการลงทุน และการทำหน้าที่เป็น “ยานพาหนะ” ซึ่งจะต้องรองรับการใช้ชีวิตของเรา ได้ โดยต้องไม่ทำตัวเป็น “ยานภาระ” จนเกินไป ยังไงๆ รถญี่ปุน ก็ยังเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั่วไปในประเด็นนี้ได้ดีอยู่

ในทางตรงกันข้าม มันไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ ในเมื่อ คุณทำงานเก็บเงินมาสักก้อนหนึ่ง ก็อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการยกระดับสถานภาพทางสังคม ในสายตาของผู้คนรอบข้าง ให้ดูดีขึ้น ซึ่งในกลุ่มสังคมบางประเภท ที่มองและตัดสินผู้คน ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ด้วยวัตถุที่พวกเขาครอบครองกันนั้น รถยุโรป ก็ยังให้ภาพลักษณ์ทางสังคม ได้ดีกว่ารถญี่ปุ่น อยู่ดี

เพียงแต่ว่า ในสายตาของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์มานาน และงานการที่เราจะต้องคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าชาวไทยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เรามีคำถามที่เพิ่มเข้ามาในใจก็คือ ตัวเลือกในตลาดที่มีอยู่ทุกวันนี้ มันดีพอ หรือคุ้มค่าพอไหม สำหรับการจ่ายเงินเพื่อขึ้นไปอุดหนุนรถยุโรป เป็นครั้งแรก คันแรก ในชีวิตของคุณ

BMW X1 เป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งที่เราห่างหายจากการทำบทความกันไปนานมากแล้ว แต่ยังมีคุณผู้อ่านสนใจถามไถ่กันเข้ามาเรื่อยๆ พอสมควร ในฐานะ ทางเลือกประเภทดังกล่าวข้างต้น แม้กระทั่ง พี่แชมป์ Producer ของเรา ผู้กว้างขวางย่านดอนเมือง ยังเคยเล่าว่า ช่วง 2 ปีมานี้ X1 ได้รับความนิยมอย่างมาก ในหมู่ คุณแม่บ้านใน กองทัพอากาศ เสียอย่างนั้น! ยิ่งช่วงนี้ ยิ่งเห็น X1 รุ่นปัจจุบัน ออกโลดแล่นบนถนนในกรุงเทพมหานครเยอะอยู่ แถมบางคัน ยังเป็นรถใหม่ป้ายแดงอีกด้วย ก็ยิ่งคิดและสงสัยว่า อะไรที่ยังทำให้ X1 ได้รับความนิยมเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

เมื่อคิดได้ดังนี้ การนำ X1 รุ่น F48 มาทดลองขับกันครั้งสุดท้าย กับรุ่นย่อยที่เหลืออยู่ นั่นคือ xDrive 20d M Sport ซึ่งเป็นรุ่น Top of the line ที่เหลืออยู่ 1 ใน 2 รุ่น ในขณะนี้ (อีกรุ่น คือ x Line) ก็เป็นสิ่งที่เราควรทำ เพื่อที่เราจะมาดูกันว่า เวลาผ่านมาจนถึงช่วงปลายอายุตลาดแล้ว X1 มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ทำให้ลูกค้าชาวไทย ยังคงตัดสินใจควักกระเป๋าเป็นเจ้าของกัน ในวินาทีนี้อยู่หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำและย้ำเตือนสติให้เราได้รู้ว่า X1 รุ่น F48 นี้ ยังมีข้อควรปรับปรุง ในประเด็นใดบ้าง เพื่อรอการมาถึงของ X1 รุ่น U11 ที่มีกำหนดจะเปิดตัวในเมืองไทย ช่วงปลายปี 2022 – กลางปี 2023

ถ้าพร้อมแล้ว ก็เลื่อนเมาส์ลงไปอ่านข้างล่างได้เลยครับ!

BMW X1 รหัสรุ่น F48 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังสำหรับรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์วางขวาง ขับเคลื่อนล้อหน้า UKL2 Platform ซึ่งถูกนำไปใช้ร่วมกันกับทั้ง BMW 1-Series Sedan สำหรับตลาดเมืองจีน (2017 – ปัจจุบัน) 1-Series F40 (2019 – ปัจจุบัน) 2-Series Gran Coupe, 2-Series Active Tourer , 2-Series Grand Tourer , BMW X1 (F48) , BMW X2 (F39) รวมทั้ง รถยนต์ในแบรนด์ MINI อย่าง Clubman F54 กับ Countryman F60

ความเป็นมาของ X1 รุ่น F48 นี้นั้น มีความน่าสนใจมิใช่น้อย คุณ Pan Paitoonpong เคยเขียนบันทึกให้อ่านกันไว้แล้ว ในบทความ Full Review BMW X1 รุ่นปี 2016 – 2017 ซึ่งคุณสามารถคลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here

X1 รุ่น F48 นี้ ถูกเผยโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ผ่านการเผยแพร่ภาพถ่ายและข้อมูลอย่างเป็นทางการ บน Website สำหรับสื่อมวลชนของ BMW เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2015 และถูกส่งไปอวดโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก ในงาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2015 ตามด้วย Tokyo Motor Show ในเดือนตุลาคม 2015 ก่อนที่การผลิต จะเริ่มขึ้น ณ โรงงาน BMW Plant Regensburg เพื่อส่งขึ้นโชว์รูมในเยอรมนี และยุโรป เมื่อเดือนตุลาคม 2015

สำหรับเมืองไทย BMW Thailand สั่งนำเข้า X1 ในแบบรถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU : Complete Built Unit) มาเปิดตัวครั้งแรกในไทยก่อนด้วยรุ่น sDrive18d xLine ในราคา 2,599,000 บาท เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2016 แต่ขายไปได้ไม่นาน พอถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2016 BMW Thailand ก็เปิดตัว X1 F48 เวอร์ชั่นประกอบในประเทศ (แบบ SKD : Semi-Knocked Down ซึ่งเอาชิ้นส่วนจากเมืองนอกมาประกอบเป็นคันรถในไทย)

ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดโลก 25 เมษายน 2016 เพิ่มตัวถังใหม่ Long Wheelbase รหัสรุ่น F49 เพิ่มความยาวช่วงประตูคู่หลัง อีก 110 มิลลิเมตร สำหรับตลาดเมืองจีน โดยเฉพาะ เปิดตัวในงาน 2016 Beijing Auto Show

31 พฤษภาคม 2016 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ X1 sDrive20d ออกสู่ตลาดโลก เดือนกรกฎาคม 2016 และกลายมาเป็นรุ่นย่อยหลักสำหรับตลาดเมืองไทย ในเวลาต่อมา

จากนั้น 2 กันยายน 2016 รุ่นย่อยใหม่ X1 xDrive25Le เปิดตัวในงาน Cheng Du Motor Show เพื่อออกสู่ตลาดเมืองจีน เพียงแห่งเดียวเท่านั้น วาง ด้วยขุมพลัง Plug-in Hybrid รุ่นแรกในตระกูล X1 ลงบนตัวถัง ช่วงยาว Long Wheelbase (รายละเอียดเครื่องยนต์ อยู่ด้านล่าง)

25 มกราคม 2017 ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ BMW ตัดสินใจ นำ X1 ไปเพิ่มสายการผลิตที่โรงงาน VDL NedCar ใน Netherland เพื่อรองรับความต้องการของตลาดยุโรป โดยการผลิต เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2017

กลับมาดูยังเมืองไทย 27 มีนาคม 2018 BMW Thailand ประกาศปรับทัพ X1 ด้วยการ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ sDrive20d M Sport เพิ่มขุมพลังใหม่ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร Turbo 190 แรงม้า (PS) ราคาเท่าเดิม 2,559,000 บาท ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับอุปกรณ์ รุ่น sDrive18i X Line เปลี่ยนจากเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Steptronic เป็น เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ Steptronic Dual Clutch ยืนราคาเดิม 2,259,000 บาท ส่วนรุ่น X1 sDrive18d xLine ลดราคาลง 100,000 บาท จาก 2,459,000 เหลือ 2,359,000 บาท รายละเอียดต่างๆ Click Here

29 พฤศจิกายน 2018 BMW Thailand ยกเลิกรุ่นย่อย X1 sDrive18i xLine 2,259,000 บาท โดยนำรุ่น sDrive18i ICONIC ราคา 1,999,000 บาท มาเปิดตัวทำตลาดแทนที่ ในงาน Motor Expo 2018  รายละเอียดต่างๆ Click Here

ส่วนรุ่น ปรับโฉม Minorchange หรือที่ BMW เรียกว่า LCI (Life Cycle Impulse) นั้น เผยโฉมครั้งแรก บน Website ของ BMW เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2019 โดยหลักๆแล้ว มีการเปลี่ยนงานออกแบบของชุดไฟหน้า กระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า ชุดไฟท้าย และเปลือกกันชนท้ายขึ้นใหม่ ให้ดูสดใหม่ แต่ยังคงคล้ายคลึงใกล้เคียงกับรุ่นเดิม ส่วนรุ่น xDrive25e Plug-in Hybrid ตามออกมาในเดือนกันยายน 2019

18 พฤศจิกายน 2020 BMW Thailand เผยโฉม X1 รุ่นปรับโฉม Minorchange หรือที่เรียกว่า LCI ในเมืองไทย โดยมีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ติดป้ายราคา ดังนี้

  • X1 sDrive18i ICONIC 1,999,000 บาท
  • X1 sDrive20d xLine 2,359,000 บาท
  • X1 sDrive20d M Sport 2,559,000 บาท

จากนั้น เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2021 BMW Thailand จึงยกเลิกการทำตลาดรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน sDrive18i ICONIC และคงเหลือเอาไว้เพียงแค่รุ่น sDrive20d ทั้ง X Line และ M Sport จนถึงปัจจุบัน (2022)

X1 รุ่น F48 กลายเป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งซึ่งนำพายอดขาย และความสำเร็จมาให้กับ BMW เพราะนับตั้งแต่ปี 2016 จนถึง ปี 2020 X1 รุ่น F48 มียอดผลิตรวมมากถึง 1,290,113 คัน จาก 10 โรงงาน ทั่วโลก ดังนี้

  • Germany: โรงงาน Regensburg
  • Netherlands: โรงงาน VDL Nedcar เมือง Born
  • China: Tiexi, Shenyang (BBA)
  • India: โรงงาน BMW India ที่ Chennai
  • Brazil: โรงงาน Araquari
  • Thailand: โรงงาน BMW Thailand จังหวัดระยอง
  • Egypt: โรงงาน BAG ในเมือง 6th of October City
  • Indonesia: โรงงาน Gaya Motor ชานกรุง Jakarta
  • Malaysia: โรงงาน Inokom เมือง Kulim รัฐ Kedah
  • Russia: โรงงาน Avtotor ในเมือง Kaliningrad

มิติตัวถัง / Dimension

X1 รุ่น F48 เดิมมีขนาดตัวถังยาว 4,439 มิลลิเมตร กว้าง 1,821 มิลลิเมตร สูง 1,612 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,561/1,562 มิลลิเมตร ระยะความสูงจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้น 183 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามมาตรฐาน DIN 1,470 กิโลกรัม (น้ำหนักแจ้งสรรพสามิตสำหรับรถสเป็คไทยอยู่ที่ 1,545 กิโลกรัม) ถังน้ำมันจุ 51 ลิตร

ส่วนรุ่นปรับโฉม LCI มีขนาดความยาวเพิ่มขึ้น 8 มิลลิเมตร เป็น 4,447 มิลลิเมตร กว้างเท่าเดิมคือ 1,821 มิลลิเมตร ความสูงลดลง 14 มิลลิเมตร เหลือ 1,598 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อเท่าเดิมที่ 2,670 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,561/1,562 มิลลิเมตร ระยะความสูงจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้น 183 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่าตามมาตรฐาน DIN 1,500กิโลกรัม ถังน้ำมันจุ 51 ลิตร

ภายนอก / Exterior

การปรับโฉม LCI ครั้งสุดท้ายนี้ มีการปรับปรุงรุ่นย่อย จนเหลือเพียงแค่รุ่นเดียว นั่นคือการเปลียนรหัสจาก sDrive18d มาเป็น sDrive20d โดยมีการปรับปรุงภายนอก ด้วยการเปลี่ยนกระจังหน้า ลายใหม่ พร้อมกับชุดไฟหน้า ออกแบบใหม่ แบบ LED เปลือกกันชนหน้าแบบใหม่ พร้อมไฟตัดหมอกแบบ LED ภายนอกรถและราวหลังคา ตกแต่งด้วย อะลูมีเนียมแบบด้าน นอกเหนือจากนี้ เปลือกกันชนท้าย รวมทั้งชุดไฟท้ายก็ยังถูกออกแบบขึ้นใหม่อีกด้วย

ส่วนรุ่น M Sport ที่เห็นอยู่นี้ จะถูกติดตั้ง Option ภายนอก เพิ่มเติม ได้แก่ชุดแต่ง M Aerodynamic รอบคัน ได้แก่ เปลือกกันชนหน้าแบบ M Sport Skirt ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง คิ้วบังโคลน และขอบหุ้มซุ้มล้อ สีเดียวกับตัวถัง เปลือกกันชนหลังแบบ M Sport มีแถบสีดำ พร้อม Diffuser สี Dark Shadow Metallic และ ราวหลังคาตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา

รุ่น X Line จะมาพร้อมล้ออัลลอย ลาย Y-Spoke แบบสลับสี ดำ/เงิน ขนาด 7.5J x 18 นิ้ว รัดเข้ากับยางขนาด 225/50R18 ส่วนรุ่น M Sport ที่เห็นอยู่นี้ จะสวมล้ออัลลอย M ลาย Double Spoke แบบสลับสี ดำ/เงิน ขนาด 8J x 19 นิ้ว รัดเข้ากับยาง Goodyear Eagle F1 ขนาด 225/45R19

ภายในห้องโดยสาร / Interior

กุญแจรีโมตคอนโทรล ยังคงเป็นแบบเดียวกันกับ X1 รุ่นก่อนปรับโฉม LCI มาพร้อมระบบ Comfort Access System (Smart Keyless Entry) เพียงแค่พกกุญแจไว้ เมื่อเดินเข้าใกล้ตัวรถ ก็สามารถเอื้อมมือมาจับและดึงมือเปิดประตู เพื่อปลดล็อครถได้ทันที หรือถ้าต้องการล็อครถ ก็เพียงแค่แตะนิ้วลงบนแถบ 5 ขีดบนมือจับ เหมือนเช่น BMW รุ่นอื่นๆ และถ้าแตะนิ้วค้างที่ 5 ขีดนี้ไว้นานๆก็จะเป็นการสั่งพับกระจกส่องข้างด้วย ตัวกุญแจรีโมตนั้นยังสามารถสั่งล็อค/ปลดล็อคประตู และกดสั่งเปิดฝากระโปรงท้ายได้

ไม่เพียงเท่านั้น ในยามค่ำคืน คุณจะเห็นไฟดวงเล็กๆ ทั้งที่มือจับประตูทั้ง 4 บาน และไฟส่องสว่างที่พื้น ใต้แผงประตูทั้ง 4 บาน โดยคู่หน้า จะเป็นลวดลายสัญลักษณ์ X1 ประจำรุ่น เพื่อเพิ่มแสงสว่างในขณะเปิดประตูขึ้นรถยามค่ำคืน

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ยังคงทำได้ดีเหมือนเดิม ใครที่มีรูปร่างสูงและใหญ่จะรู้สึกได้เลย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ. ที่ลดโอกาสการเอาหัวไปโขกกับเสากรอบหลังคาด้านบนลงได้ชัดเจน (ถ้าปรับเบาะนั่งคู่ห้า กดลงต่ำสุด) ด้วยความสูงที่พอดีของทั้งตัวรถ และความกว้างช่องประตู ทำให้คุณสามารถสไลด์ตัวเข้าไปนั่งบนเบาะหน้าได้ง่ายดายกว่าเดิม เผลอๆจะง่ายดายกว่า 5-Series ทั้งรุ่นก่อน (F10) และรุ่นล่าสุด (G30) เสียด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าปีกเบาะรองนั่งที่ค่อนข้างสูง ก็มีส่วนที่จะลดทอนความสบายระหว่างก้าวเข้า – ลุกออกจากรถ อยู่บ้างเหมือนกันก็เถอะ

กระนั้น การก้าวลงจากรถ อาจต้องทำใจสักหน่อย เพราะชายล่างของบานประตูไม่ได้คลุมทับลงไปถึงขอบตัวถังด้านล่าง ทำให้มีเศษฝุ่นโคลน หรือคราบน้ำ ขึ้นมาเกาะบริเวณ เหนือ Skirt ด้านข้าง โอกาสที่ ขากางเกงหรือชายกระโปรง อาจเปื้อนคราบสกปรกเหล่านี้ จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก

ด้านบนของแผงประตู บุด้วยวัสดุค่อนข้างแข็ง เคาะกันจนเจ็บขอบมะเหงก ถัดลงมาบริเวณพื้นที่วางแขน หุ้มด้วยหนังและวัสดุบุนุ่ม แต่มือจับดึงปิดประตู ทำจากพลาสติกทั้งดุ้น ส่วนตำแหน่งพนักวางแขน สามารถวางข้อศอกได้พอดีและลาดเอียงไปทางด้านหน้ารถเล็กน้อย ตามสไตล์ BMW ยุคใหม่ ที่ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนจากแขนไปถึงนิ้วมือได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ท่อนล่างของแผงประตู มีข่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้ 2 ขวด พร้อมช่องวางของจุกจิกเล็กน้อย

เบาะนั่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หุ้มด้วยหนังแบบ Dakota โดยเบาะคู่หน้า ถูกปรับตำแหน่งการติดตั้งเบาะให้สูงขึ้นจาก X1 E84 อยู่ 36 มิลลิเมตร  การปรับพนักพิงให้เอน – ตั้งชัน โน้มไปข้างหน้า เลื่อนชุดเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับยกเบาะรองนั่ง ขึ้น – ลง ทำได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง แต่เฉพาะเบาะคนขับ จะมีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ พร้อมกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้ามาให้ 2 ตำแหน่ง อยู่ที่ฐานรองเบาะฝั่งขวา การบันทึก ให้ปรับเบาะนั่งตามต้องการ จากนั้น กดปุ่ม SET จนไฟสีแดงที่สวิตช์ ติดสว่างขึ้นมา แล้วค่อยกดปุ่มเลือกหน่วยความจำที่ 1 หรือ 2 ค้างแช่ไว้ จนกว่าจะมีเสียง “ติ๊ด” ดังขึ้นมา แสดงว่า หน่วยความจำได้บันทึกตำแหน่งเบาะเรียบร้อยแล้ว

เบาะนั่งคู่หน้า ของรุ่น M Sport จะถูก Upgrade ขึ้นมาจากรุ่น X Line โดยพนักพิงเบาะคู่หน้า ใช้ฟองน้ำแบบ “แน่นแข็ง” พยายามออกแบบให้รองรับทุกส่วนของแผ่นหลัง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เอาเข้าจริง…มันให้สัมผัสที่แข็งมาก นั่งพิงหลังไม่นุ่มนวลเอาเสียเลย พูดกันตามตรง เก้าอี้ทำงานของพนักงานระดับล่างบางตัว ที่มีขายอยู่ใน Office Mate ยังนั่งสบายกว่าเบาะคู่หน้าของ X1 ด้วยซ้ำ ขณะที่ปีกด้านข้าง ที่หนาและแน่นแข็งนั้น ช่วยรองรับสรีระล็อกตัวไว้กับเบาะขณะเข้าโค้ง ได้นิดหน่อยเท่านั้น

พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ใช้ฟองน้ำ “แน่นแข็ง” แม้จะยุบตัวลงไปได้ แต่ก็ดีดกลับมาไวเช่นกัน ปรับได้แค่เพียงตำแหน่งขึ้น-ลง 4 ระดับ เท่านั้น แอบดันกบาลนิดๆ แต่ไม่มากนัก และยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ แต่สารภาพเลยว่า ใช้งานไปนานๆ พนักศีรษะนี่ไม่สบายหัวเอาเสียเลย

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ใช้ฟองน้ำ “แน่นแข็ง” เช่นเดียวกัน ทรวดทรงของมันก็คล้ายกับเบาะนั่งของ BMW 2-Series GranTourer รุ่น Luxury.ราวกับถอดยกชุดมาใส่กันเลย หนำซ้ำ ยังมีขอบเบาะทรง Clamshell ที่นูนขึ้นมาดันช่วงต้นขา และไม่ได้ดันแบบที่รู้สึกสบายเสียด้วย พอยิ่งมาเจอแนวตะเข็บเบาะ ที่สากแข็ง ก็ยิ่งหาความสบายไม่เจอเลยจริงๆ

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบผ่อนแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter น่าเสียดายว่า ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้

ภาพรวมแล้ว เบาะนั่งคู่หน้าแข็งมาก นั่งไม่สบายเอาเสียเลย ฟองน้ำ ในทุกตำแหน่ง เป็นแบบ แน่นแข็ง เบาะนั่ง Mini Countryman ยังจะสบายเสียกว่า ยิ่งถ้าเทียบกับบรรดาคู่แข่งในตลาดทั้งหมด กลายเป็นว่า เบาะคู่หน้าของ Audi Q3 จะให้ความสบายมากที่สุด รองลงมาเป็น Volvo XC40 , Mercedes-Benz GLA ใหม่ และ X1 F48 ตามมารั้งท้าย

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ยังคงทำได้ดีสมตัวตามเดิม เป็นผลมาจาก ช่องประตู มีขนาดกำลังดี ไม่เล็กจนเกินไป แต่เมื่อเทีบกับคู่แข่งแล้ว ณ วันนี้ ช่องประตูคู่หลังของ X1 มีขนาดกว้างกว่า Audi Q3 รุ่นปกติ นิดเดียว และยังมีพื้นที่ให้ศีรษะลอดเข้าไปในรถ ได้เยอะกว่า GLA ใหม่ ถึงกระนั้น คุณก็ยังต้องก้มหัว มากหน่อย ขณะก้าวเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง มิเช่นนั้น ศีรษะก็จะไปโขกกับขอบหลังคาด้านบนตามเคยอยู่ดี

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ One Touch ทั้งขาขึ้นและขาลง ครบทั้ง 4 บาน โดยบานกระจกคู่หลัง สามารถเลื่อนเปิดลงได้จนสุดขอบแผงประตูด้านบน นอกจากนี้ เหนือช่องทางเข้า – ออก ทั้ง 4 ยังมีมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) ให้มาครบทั้ง 4 จุด

พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม วางแขนและข้อศอกได้กำลังพอดี ด้านล่างของแผงประตู เป็นช่องวางน้ำดื่มขวดละ 7 บาท ได้ขวดเดียว วัสดุการตกแต่งแผงประตูคู่หลัง เหมือนกันกับแผงประตูคู่หน้าไม่มีผิดเพี้ยน คือค่อนข้างแข็ง มีวัสดุบุนุ่มแค่จุดเดียว คือด้านข้างท่อนกลาง ที่เชื่อมต่อกับพนักวางแขนพร้อมมือจับ ซึ่งสามารถวางท่อนแขนได้พอดี แต่อาจไม่ค่อยสบายนัก เพราะตัวพนักวางแขน ยังคงหุ้มหนังมาเฉยๆ ราวกับไม่ได้บุนุ่มมาให้เลย ส่วนท่อนล่างของแผงประตู ยังคงมีช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวด มาให้ตามเดิม เหลือพื้นที่ให้วางของจุกจิก ซ่อนไว้ด้านใน ได้นิดเดียว

เบาะนั่งแถว 2 ในรถคันที่เราทดลองขับนั้น ติดตั้งเบาะให้สูงกว่า X1 รุ่นแรก ถึง 64 มิลลิเมตร และเพิ่มพื้นที่วางขาอีก 37 มิลลิเมตร นอกจากจะสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังได้แล้ว ยังเพิ่มฟังก์ชัน ปรับเอนได้ 1 จังหวะ ซึ่งต้องดึงสายปลดล็อก ซึ่งเป็นสายเชือก (แบบสะพายกระเป๋า) คล้องเป็นตัว U อยู่ที่ ฐานพนักพิงเบาะทั้ง 3 ตำแหน่ง เพื่อดึงปลดล็อค แล้วปรับเอนหรือพับเบาะให้แบนราบตามต้องการ นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับจุดยึดเบาะนิรภัยมาตรฐาน ISOFIX และเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง

พนักพิงเบาะหลัง ใช้ฟองน้ำแบบ “แน่นและแข็ง” ในระดับพอๆดับพนักพิงเบาะหลังของ X3 รุ่นแรก แม้จะรองรับพื้นที่ทั่วถึงและเต็มแผ่นหลังดีอยู่  แต่ยังคงให้สัมผัสโดยรวมคล้ายนั่งพิงอยู่บนแผ่นไม้กระดานแข็งๆ ตามเดิม พิงหลังได้ไม่สบายเอาเสียเลย ส่วนตำแหน่งพนักพิงหลังเมื่อเอนลงไปจนสุดนั้น ก็เป็นตำแหน่งเดียวกับ เบาะนั่งของรุ่นเดิม ที่ปรับเอนไม่ได้ นั่นแหละ ถือว่าเอนลงได้นิดเดียว ไม่เยอะ

พนักศีรษะคู่หลัง ใช้ฟองน้ำด้านในแบบ “แน่นแข็ง” พิงหัวไม่สบายเลย มีมุมเงยรองรับต้นคอ ให้พอรำคาญหัวนิดหน่อย ต้องยกขึ้นใช้งาน ขอบด้านล่างจึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ  ซึ่งตัวพนักศีรษะเบาะหลัง ฝั่งซ้ายและขวา 2 ตำแหน่ง ก็สามารถปรับระดับได้ 4 จังหวะ เหมือนพนักศีรษะเบาะคู่หน้า ส่วนพนักศีรษะเสริมตรงกลาง ยกขึ้นได้ จังหวะเดียว

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ มีการปรับปรุงเล็กน้อย จากเดิม ที่เคยมีกล่องเก็บของขนาดเล็ก พร้อมฝาปิด ซ่อนเอาไว้ ในรุ่นล่าสุด กล่องพร้อมฝาดังกล่าว ถูกถอดออกไปแล้ว คงเหลือไว้เพียงข่องวางแก้วน้ำซึ่งฝาปิดแบบบานประตูวัดไทย (เหมือน BMW รุ่นเก่าๆ คันอื่นๆ) มาให้ และยังคงมีตำแหน่งวางแขนเตี้ยไปนิดเดียวเหมือนเดิม

เบาะรองนั่งแถวหลัง แย่ที่สุดในบรรดาคู่แข่งระดับเดียวกัน ให้การรองรับที่แย่กว่าเบาะรองนั่งคู่หน้าเสียด้วยซ้ำ มาในสไตล์เดียวกันไม่มีผิด คือ มีมุมเงยเหมาะสมก็จริง แต่ตัวเบาะรองนั่งสั้นไป แถมขอบเบาะยังโค้งนูนขึ้นมาดันต้นขาจนน่ารำคาญ ถ้านั่งทางไกลนานๆ จะเมื่อยเอาเรื่องเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่า เบาะแถว 2 ในภาพรวม จะนั่งไม่สบายอย่างแรง สู้ Mercedes-Benz GLA ใหม่ ไม่ได้ แต่ X1 ยังคงได้เปรียบคู่แข่งในเรื่อง พื้นที่โดยสารด้านหลัง ซึ่งยังคงปลอดโปร่งโล่งสบายใช้ได้ตามเดิม เมื่อเทียบกับขนาดของตัวรถ และเมื่อเทียบกับคู่แข่งคันอื่นๆ พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผู้เขียน ยังเหลือพื้นที่มากถึง 1 ฝ่ามือ กับอีก 1 นิ้วมือในแนวนอน ส่วน พื้นที่วางขา สามารถนั่งไขว่ห้างได้แน่ๆ ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่ง มาจากการออกแบบเบาะรองนั่งให้สั้น จึงมีผลทางจิตวิทยา ต่อสายตาของผู้คน เมื่อได้เข้ามาลองนั่งบนเบาะหลังของ X1 รุ่นนี้

ภาพรวมแล้ว เบาะนั่ง ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ที่ ไม่สบายเอาเสียเลย คือหนึ่งในข้อที่ควรปรับปรุง และผมได้แต่หวังว่า X1 รุ่นใหม่จะแก้ปัญหานี้ไปเรียบร้อยแล้ว

บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง พร้อมใบปัดน้ำฝน หัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหลัง และไล่ฝ้า เป็นระบบกลอนไฟฟ้า พร้อมระบบสั่งเปิด-ปิดอัตโนมัติ ด้วยไฟฟ้า เอาเท้าเตะอากาศใต้เปลือกกันชนหลังเพื่อสั่งเปิด – ปิดได้ เหมือน BMW รุ่นใหม่ๆ ในช่วง 3 ปีมานี้ เพียงแต่ระบบเตะนั้นจะมีตำแหน่งเซ็นเซอร์ที่ค่อนข้างแคบ แค่ ยื่นเท้าเข้าไปตรงกลางรถบริเวณใต้กันชนสักพัก (ไม่ต้องแกว่ง ไม่ต้องเหวี่ยงเท้า) ไฟเลี้ยวก็จะกระพริบ คุณเดินถอยห่างออกมา แล้วมันก็จะเปิด หลายคนเตะเปิดได้ดูง่าย

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง มีขนาด 505 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี (เพิ่มจาก X1 รุ่นที่แล้วถึง 80 ลิตร) แต่ถ้าพับเบาะแล้ว พื้นที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,550 ลิตร (VDA) เอาเข้าจริง ก็สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์พอสมควร บรรทุกจักรยาน Mountain Bike ได้ อย่างน้อยๆ 3 คัน สบายๆ (ถ้าถอดล้อหน้า)

แผงบังสัมภาระ แบ่งเป็น 2 ชิ้น แยกจากกัน ชิ้นแรก แขวนไว้กับกูหิ้ว ด้านข้างกระจกบังลมหลังด้านใน เพื่อให้ยกขึ้นพร้อมฝาท้าย ส่วนอีกแผ่นหนึ่ง อยู่ด้านใน ระหว่างพนักพิงเบาะหลัง และแผ่นบังสัมภาระชิ้นที่ยกขึ้นได้

ผนังห้องเก็บสัมภาระฝั่งซ้าย มีพื้นที่เว้าเข้าไปด้านในเล็กน้อย มีช่องขนาดเล็กทำจากพลาสติก Recycle เอาไว้ใส่ของ ส่วนผนังฝั่งขวา มีช่องแบบเดียวกัน พร้อมตาข่ายกั้นข้าวของ ปลั๊กไฟ 12V และมีไฟส่องสว่างขนาดเล็กมาให้

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาแล้ว เรื่องพิลึกก็คือ นี่เป็นครั้งแรกในรอบกี่ปีแล้ว (วะ) ที่ผมได้เห็นยางอะไหล่ ติดตั้งลงในรถยนต์ BMW ที่ขายในประเทศไทย!! มาพร้อมกับ ชุดหูลาก ชุดขันน็อตต่างๆและเครื่องมือปฐมพยาบาลตามมาตรฐานเยอรมัน ส่วนธรณีช่องประตูด้านล่าง ประดับด้วยแถบ อะลูมีเนียม เพิ่มความ Premium ตาประสารถยุโรป

แผงหน้าปัด ยังคงเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมไฟสร้างบรรยากาศ Ambient light (เลือกปรับได้จากหน้าจอ รวม 6 สี) ทั้งบริเวณฝั่งซ้ายของแผงหน้าปัด และแผงประตูคู่หน้า วัสดุที่ใช้ยังคงให้สัมผัส “ความ Premium ในสไตล์ BMW แบบเริ่มต้น” มองขึ้นไปยังเพดานหลังคา ยังคงมี แผงบังแดด พร้อมกระจกแต่งหน้าที่มีฝาปิดแบบเลื่อน และไฟแต่งหน้าแบบฝังบนเพดานหลังคา มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งำฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร และไฟอ่านแผนที่ แยกฝั่งซ้าย – ขวา เหมือนรุ่นเดิม

ภายในของรุ่น M Sport ที่เห็นอยู่นี้ จะตกแต่งเพิ่มเติมด้วย เพดานหลังคาสี Anthracite รวมทั้งแผง Trim ประดับ แผงหน้าปัด และแผงประตูด้านข้าง เป็นอะลูมีเนียม ลาย Finely brushed lengthwise พร้อมแถบโครเมียม

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย มือเปิดประตู มีสวิตช์ Central Lock มาให้ เฉพาะฝั่งคนขับ ถัดลงมาเป็น แผงสวิตช์กระจกหน้าต่าง เป็นแบบ One Touch กดเพื่อเลื่อนลง หรือยกสวิตช์เพื่อดึงขึ้น ในจังหวะเดียว ครบทั้ง 4 บาน ติดตั้งร่วมกับสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบปรับมุมกระจกมองข้างลงต่ำ เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง

ส่วนสวิตช์เปิดฝาท้ายนั้น ติดตั้งที่ด้านล่างของแผงประตูฝั่งคนขับ บริเวณช่องวางแก้วน้ำ ขณะที่คันโยกปิดฝากระโปรงหน้า อยู่ที่ ใต้เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งคนขับ ก็ยังคงต้องดึง 2 จังหวะ เพื่อปลดล็อก เหมือน BMW รุ่นอื่นๆ ตามเดิมอยู่ดี

ชุดควบคุมไฟหน้าของ X1 ยังคงอยู่ใต้ช่องแอร์ด้านขวา ของฝั่งคนขับ ควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้า, ระบบไฟหน้าอัตโนมัติ (Auto) , ไฟตัดหมอกหน้า, ไฟตัดหมอกหลัง, ไฟ Parking, ไฟสูง, และเร่ง-ลด ความสว่างของชุดมาตรวัด ถัดลงไปเป็น ช่องฝาปิดแผงฟิวส์ของรถ

พวงมาลัย แบบ 3 ก้าน หุ้มหนัง ทรง M Sport ยกมาจาก BMW 3-Series F30 ออกแบบให้จับกระชับมือ ก้านพวงมาลัยด้านล่างและแป้นแตร ออกแบบในทรง ที่ผมเรียกว่า “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก” ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา มี Toggle Switch เลือก เปลี่ยน Mode รวมทั้งสวิตช์ปรับเพิ่ม-ลด ระดับเสียง Volume ของชุดเครื่องเสียง รวมทั้งสวิตช์กดรับโรศัพท์ หรือวางสาย ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้ายนั้น กลับมีแค่ระบบ ล็อกความเร็วไม่ให้เกินระดับที่คุณกำหนด Speed Limiter

ความประหลาด ที่ผมรับไม่ได้ก็คือ จนป่านนี้ ขายรถกันจนจะหมดอายุตลาดแล้ว BMW ก็ยังไม่ยอมติดตั้งระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control มาให้กับ X1 F48 เวอร์ชันไทยกันเลยสักที!! ไม่รู้จะงกไปไหนกันนักกันหนา

ในทางตรงกันข้าม X1 กลับยังติดตั้งระบบฉายข้อมูลความเร็วขึ้นไปบนกระจกหน้า Head Up Display มาให้ เพื่อลดการละสายตาลงมามองหน้าปัด หากผู้ขับเปิดใช้ระบบนำทางอยู่ ก็จะมีการขึ้นลูกศรชี้ทาง เลี้ยวซ้าย/ขวา/ตรง และข้อมูลบางส่วนขึ้นบนจอ HUD นี้ด้วย แถมยังมี ระบบช่วยถอยรถเข้าจอดอัตโนมัติ Parking Assistant ให้ผู้ขับขี่ แค่กดปุม เหยียบเบรกตามคำสั่งของรถ และเลือกคันเกียร์ เพียงเท่านี้ รถก็จะกะระยะเข้าจอดได้พอดี น่าแปลกใจว่า มีการแถม 2 อุปกรณ์นี้มาให้ แต่ไม่ติดตั้ง Cruise Control มาให้…

ไม่เข้าใจตรรกะของ BMW Thailand ในการจัด Option ของรถรุ่นนี้เลยจริงๆ! จะมาอ้างว่า ขาดแคลน Chip เหมือนชาวบ้านเขาก็ไม่น่าใช่ เพราะระบบนี้ ก็ไม่มีติดตั้งมาให้ X1 แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว

ด้านซ้ายของพวงมาลัย บนแผงหน้าปัด ติดตั้งสวิตช์ Push Start รวมทั้ง สวิตช์สำหรับปิด/เปิดการทำงานของระบบ Auto Start/Stop ซึ่งอยู่ด้านขวา ชิดกับปุ่ม Push Start นั่นเอง

ก้านไฟเลี้ยว รวมทั้งสวิตช์กดเลือกเมนู หน้าจอบนมาตรวัด และตั้งค่า Reset ชุด Trip Meter อยู่ด้านซ้ายของชุดมาตรวัด ส่วนก้านสวิตช์ใบปัดน้ำฝนอยู่ด้านขวา มาพร้อมระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ และฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า/หลัง

ชุดมาตรวัด ยังคงมี Pattern เหมือนเดิม ทั้งตำแหน่งมาตรวัดความเร็วฝั่งซ้าย และมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ฝั่งขวา ไปจนถึงตำแหน่งของไฟสัญญาณเตือนต่างๆ ยังคงอยู่ในจุดเดิมทั้งหมด เพียงแต่ว่า มีการปรับงานออกแบบนิดหน่อย เฉพาะตัวเลขเรืองแสงในยามค่ำคืน ที่เปลี่ยนโทนสีจะแดงส้ม มาเป็นสีขาว รวมทั้งจัดวางแถบแบ่งรอบเครื่องยนต์ กับแถบแบ่งความเร็วเสียใหม่ ให้อ่านะดวกง่ายดายขึ้น แค่นั้น

จากซ้าย มาทางขวา

กล่องเก็บของ Glove Compartment บุด้วยผ้าสักกะหลาด มาให้ทั้งหมด เหมือนเดิม มีขนาดความจุไม่โตนัก แต่ยังพอใช้สำหรับเก็บเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับตัวรถและของกระจุกกระจิกได้

ด้านความบันเทิง X1 sDrive20d M Sport ถูก Upgrade จอ Monitor สี ให้ใหญ่ขึ้น มาเป็ขนาด 10.25 นิ้ว ควบคุมการทำงานด้วย แผงสวิตช์วงกลมขนาดใหญ่ iDrive บริเวณใต้คันเกียร์ ข้างเบรกมือไฟฟ้า มาพร้อมกับ วิทยุ AM/FM ระบบเสียง Hi-Fi LoudSpeaker ระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation System Plus พร้อมระบบแสดงข้อมูลการจราจรแบบ Real-time รวมทั้งระบบปฏิบัติการณ์ BMW Connected Drive บริการติดต่อผู้ช่วยส่วนตัว Concierge Serviceระบบ Remote Service และ Teleservice และปุ่มโทรออกฉุกเฉิน Intelligent Emergency Call ติดตั้งไว้ ณ เพดานหลังคา ด้านบน บริเวณไฟอ่านแผนที่

นอกจากนี้ ยังรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณไร้สาย Bluetooth รวมทั้ง Apple Car Play (แต่ไม่มี Andriod Auto) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลและไฟล์เพลงจาก โทรศัพท์มือถือ Smart Phone โดยมี Application ต่างๆ มาให้ และช่องเชื่อมต่อ AUX , USB  ส่วนเครื่องเล่น CD ที่เห็น เป็นของรุ่นเก่า ปุ่มเปิด/ปิดและเร่ง-ลดระดับเสียง Volume แบบวงกลม รวมทั้ง แผงสวิตช์ตั้งค่าปุ่มเรียกใช้ฟังก์ชั่นที่ชื่นชอบ Favourite Button 1-8 มาให้แยกออกมาจากหน้าจออีกด้วย

เครื่องเสียง ให้คุณภาพเสียงที่ ดีใช้ได้ในระดับปานกลาง แต่ยังไม่ถึงกับดีที่สุด เพราะแม้ว่าเสียงใส จะทำได้ดี แต่เสียงเบสค่อนข้างยังไม่อิ่ม ยังคงต้องปรับระดับเสียง Equalizer ช่วย เพื่อให้เสียงใกล้เคียงกับต้นฉบับในไฟล์เพลงมากขึ้น

ถัดลงมาเป็น เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย – ขวา รวมทั้งระบบ Max Cool เร่งความเย็นฉับพลัน ด้วยการเร่งพัดลมแอร์ และน้ำยาแอร์ ขึ้นไปจนสุด เพื่อสร้างความเย็นให้เร็วที่สุด หลังจากจอดรถตากแดดทิ้งไว้ ภาพรวมแล้ว ยังคงให้ลมเย็นได้จริงจังเฉพาะเมื่อคุณตั้งค่าอุณหภูมิไว้ต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ลงมาเท่านั้น และมีความสามารถพอที่จะสู้แดดเมืองไทยได้ดีตามสมควร

พนักวางแขนตรงกลาง พร้อมกล่องเก็บของ สามารถยกปรับระดับสูง – ต่ำได้ ตามความต้องการของผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร เหมือนพนักวางแขนในโรงภาพยนตร์ ในแบบเดียวกับ MINI Countryman พอจะวางข้อศอกได้บ้าง

ส่วนกล่องเก็บของที่คอนโซลกลางพร้อมฝาปิด แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นที่สำหรับเก็บของขนาดชิ้นเล็กมากหรือใช้วางโทรศัพท์มือถือ กับข้าวของมีค่า ส่วนชั้นล่างมีพื้นที่พอให้ใส่โทรศัพท์มือถือ หรือกล่อง CD ได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ถือว่าขนาดโตเท่าไหร่ ส่วนด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง มีช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง รวมทั้งช่องเสียบ USB อีก 2 ตำแหน่ง

ด้านทัศนวิสัย ไม่แตกต่างไปจากรุ่นก่อนปรับโฉม ดังนั้น คุณสามารถเข้าไปดูมุมมองจากตำแหน่งคนขับ ได้ในบทความ Full Review BMW X1 F48 (2017) Click Here

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ **********
**************** Technical Information & Test Drive **********

ปัจจุบัน ขุมพลัง ของ X1 รุ่น F48 ในตลาดโลก ที่ยังเหลือทำตลาดอยู่ในช่วงสุดท้ายก่อนเปลี่ยนโฉมใหม่ มีให้เลือกมากถึง 8 แบบ ทั้งเบนซิน Diesel และ Plug-in Hybrid โดยมีรายละเอียดดังนี้

เครื่องยนต์เบนซิน / Gasoline Engine

  • sDrive18i (FWD) เครื่องยนต์รหัส B38A15M0 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ Double VANOS และ พ่วง Turbocharger 136 แรงม้า (PS) ที่ 4,400-6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 22o นิวตัน-เมตร (22.41 กก.-ม.) ที่ 1,250-4,000 รอบ/นาที
  • sDrive20i (FWD) & xDrive20i (4WD) เครื่องยนต์รหัส B48A20M1 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ Double VANOS และ พ่วง Turbocharger 192 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตัน-เมตร (28.53 กก.-ม.) ตั้งแต่ 1,250 – 4,600 รอบ/นาที
  • xDrive25i (4WD) เครื่องยนต์รหัส B48A20O1 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,998 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ Double VANOS และ พ่วง Turbocharger (พื้นฐานเดียวกับตัว 192 แรงม้า แต่จูนคนละแบบ) 231 แรงม้า (PS) ที่ 5,000-6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร (35.66 กก.-ม.) ที่ 1,250-4,500 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ ดีเซล / Diesel Engine

  • sDrive16d (FWD) เครื่องยนต์รหัส B37C15 Diesel 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 พ่วง Turbocharger 116 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 270 นิวตัน-เมตร (27.51 กก.-ม.) ตั้งแต่ 1,750 – 2,250 รอบ/นาที (ตุลาคม 2015)
  • sDrive18d (FWD) & xDrive18d (4WD) เครื่องยนต์รหัส B47C20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 พ่วง Turbocharger 150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 330 นิวตัน-เมตร (33.62 กก.-ม.) ที่ 1,750-2,750 รอบ/นาที
  • sDrive20d (FWD) & xDrive20d (4WD) เครื่องยนต์รหัส B47C20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 พ่วง Turbocharger (เหมือนรุ่นข้างบน แต่จูนให้แรงขึ้น เป็น) 190 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร (40.76 กก.ม.) ที่ 1,750-2,500 รอบ/นาที
  • xDrive25d (4WD) เครื่องยนต์รหัส B47C20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 พ่วง Turbocharger (เหมือนรุ่นข้างบน แต่จูนให้แรงขึ้น เป็น) 231 แรงม้า (PS) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงถึง 450 นิวตัน-เมตร (45.85 กก.-ม.) ที่ 1,500-3,000 รอบ/นาที

ขุมพลัง เบนซิน / Gasoline Plug-in Hybrid

  • xDrive25Le (4WD) เครื่องยนต์รหัส B38A15 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ Double VANOS และ พ่วง Turbocharger 136 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร (22.48 กก.-ม.) ที่ 1,250 – 4,600 รอบ/นาที พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า 95 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 165 นิวตันเมตร (16.81 กก.-ม.) และ แบ็ตเตอรี Lithium-ion 10.7 kWh รวมทั้งระบบ 231 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร (39.23 กก.-ม.) (Chinese market only ตั้งแต่ 2 กันยายน 2016)
  • xDrive25e (4WD) เครื่องยนต์รหัส B38A15 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 94.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1 : 1 ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟท์ Double VANOS และ พ่วง Turbocharger 125 แรงม้า (HP) ที่ 5,000 – 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร (22.48 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 3,800 รอบ/นาที พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า 95 แรงม้า (HP) ที่ 8,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 165 นิวตันเมตร (16.81 กก.-ม.) ที่ 100 – 3,000 รอบ/นาที แบ็ตเตอรี Lithium-ion 8.8 kWh (Net) ได้กำลังรวมทั้งระบบ 220 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร (39.23 กก.-ม.) เปิดตัว 25 เดือนกันยายน 2019

Thai version

สำหรับเวอร์ชันไทยนั้น ช่วงแรกที่เปิดตัว เป็นรุ่น sDrive18d ประกอบนอก นำเข้าทั้งคัน วางเครื่องยนต์ B38B15 เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร Turbo 140 แรงม้า (PS) เวอร์ชันเดียวกับตลาดโลก และถูกยกเลิกการทำตลาดไป เมื่อรุ่นประกอบในประเทศ เปิดตัวตามออกมา และจำหน่ายกันจนถึงปัจจุบัน

– sDrive18i วางเครื่องยนต์ รหัส B38A15A  เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 82.0 x 94.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.1 : 1 TwinPower Turbo กำลังสูงสุด 140 แรงม้า (PS) ที่ 4,400 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตันเมตร (22.41 กก.-ม.) ที่ 1,250 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Steptronic ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อยมลพิษ CO2 146 กรัม/กิโลเมตร รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงถึง Gasohol E20 (ยกเลิกทำตลาดไปแล้ว)

– sDrive18d วางเครื่องยนต์ รหัส B47C20A Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 TwinPower Turbo กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 330 นิวตันเมตร (33.62 กก.-ม.) ที่ 1,750 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Steptronic Sport ขับเคลื่อนล้อหน้า ปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 128 กรัม/กิโลเมตร (ยกเลิกการทำตลาดไปแล้ว)

– sDrive20d ปัจจุบัน ช่วงปลายอายุตลาด ขุมพลังของ X1 เวอร์ชันไทย ถูกลดลง เหลือเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์ รหัส B47D20 Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 84.0 x 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 เสื้อสูบและฝาสูบทำจาก Aluminium Alloy หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อม ระบบแปรผันวาล์ว VALVETRONIC ระบบแปรผันหัวแคมชาฟต์ Double VANOS และระบบอัดอากาศ Twin Power Turbocharger

กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 2,500 รอบ/นาที ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 137 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐานการวัด ECO Sticker ของรัฐบาลไทย

เครื่องยนต์ดังกล่าว ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift มาให้บริเวณด้านหลังพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้

เกียร์ 1……………………5.519
เกียร์ 2…………………..3.184
เกียร์ 3…………………..2.050
เกียร์ 4…………………..1.492
เกียร์ 5…………………..1.235
เกียร์ 6…………………..1.000
เกียร์ 7…………………..0.801
เกียร์ 8…………………..0.673
เกียร์ถอยหลัง……………4.221
อัตราทดเฟืองท้าย…….…2.851

X1 sDrive20d มาพร้อมโปรแกรมการขับขี่ DYNAMIC Select สามารถเลือกเปลี่ยนได้ที่สวิตช์ข้างคันเกียร์ โดยมีให้เลือก 3 โปรแกรม ดังนี้

  • ECO PRO – เน้นขับประหยัด เกียร์เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงเร็วขึ้น ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำ คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • COMFORT – สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป คันเร่งไฟฟ้าหน่วงช้า
  • SPORT – พวงมาลัยหนักขึ้น คันเร่งไวขึ้น เน้นการใช้เกียร์ต่ำเพื่อรักษารอบเครื่องยนต์ให้สูง ใกล้ช่วง Max Power เสียงเครื่องยนต์กระฮึ่มเร้าใจขึ้นนิดหน่อย แถมมีมาตรวัด แรงม้า แรงบิด ให้ดูเล่นอีกด้วย

ตัวเลขสมรรถนะจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองจับเวลากันในยามค่ำคืน ด้วยมาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่ 102 กิโลกรัม และสักขีพยาน น้อง Mark Pongswang ทีมเว็บของเรา 60 กิโลกรัม รวมกัน 2 คน ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม ตัวเลขที่ออกมา มีดังนี้

ความเร็วบนมาตรวัดเทียบกับความเร็วบน GPS มีดังนี้

  • ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 96.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • ความเร็วบนมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง > GPS ขึ้น 106.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ตัวเลขที่ออกมา ทำให้เราได้รู้ว่า การที่ X1 เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ Diesel Turbo ที่แรงขึ้น จาก 150 เป็น 190 แรงม้า จะช่วยให้อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวขึ้นประมาณ 1.3 วินาที ส่วนช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวขึ้นประมาณ 1.5 วินาที ช่วยดึงให้ X1 ขึ้นมาอยู่ในช่วงกลางตารางอัตราเร่ง กลุ่ม Premium Compact Crossover SUV ได้ไม่ยากเย็น และแน่นอนว่า ยังเป็น รถยนต์กลุ่มนี้ที่ใช้ขุมพลัง Diesel Turbo แล้วทำอัตราเร่งดีสุด (แหงสิ ในตารางนี้ มีรถยนต์ Diesel Turbo แค่ 3 คันนี่หว่า)

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน Comfort Mode x1 sDrive20d ทำตัวเลขออกมา พอๆกันกับ 220i Gran Coupe เลยด้วยซ้ำ (6.17 และ 6.15 วินาที) แม้ว่า ใน Sport Mode นั้น X1 จะด้อยกว่า 220i Gran Coupe อยู่ราวๆ 0.5 วินาที ก็ตาม

ย้ำกันเหมือนเช่นเคย ว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง ผมรู้สึกประหลาดใจว่า ทีมวิศวกร BMW ทำได้อย่างไร ที่จะให้ขุมพลัง Diesel 2.0 Turbo ของตน มีบุคลิกการตอบสนอง แถมยังให้อัตราเร่งได้ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 Turbo ใน 220i Gran Coupe ถึงเพียงนี้

แน่นอนละครับว่า ตัวเลขของ X1 sDrive20d จะด้อยกว่า 220i Gran Coupe แต่ก็ด้อยกว่าแค่หลักเศษส่วนวินาทีเท่านั้น ต้องยอมรับว่า ช่วงออกตัวจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น มีล้อฟรีทิ้งด้วยนิดๆ (ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็มาจากแรงบิดมหาศาล สมตัวรถ แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็มาจาก ยางติดรถ GoodYear Eagle F1 ซึ่งมี Traction ยึดเกาะถนน ไม่ได้เรื่องเท่าไหร่

อัตราเร่งตอนออกตัวนั้น อาจต้องรอรอบกันนิดนึง นิดเดียวจริงๆ หลังจากนั้น พละกำลังจากเครื่องยนต์บล็อกนี้ ก็พาคุณทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ในระดับ ไหลมาเทมา (ตามขนาดพิกัดของมัน) ขณะเดียวกัน คุณยังสามารถเรียกพละกำลังในช่วงเร่งแซง ออกมาได้ค่อนข้างดี ในช่วง 2,000 – 3,500 รอบ/นาที

พอเข้าช่วงปลาย แถวๆ 180 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้พละกำลังจะเริ่มเหี่ยวนิดๆ ตามประสาเครื่องยนต์ Diesel แต่ก็ไม่ได้เหี่ยวแห้งแล้งแรงบิดกันอย่างที่คิด ตรงกันข้าม ช่วงปลายของขุมพลังบล็อกนี้ ยังถือว่าค่อนข้างลื่นไหลดีพอสมควรอีกด้วย น่าแปลกว่ากลับไม่เหี่ยวเท่า 520d ที่ใช้เครื่องยนต์ตระกูลเดียวกัน เสียอย่างนั้น การไต่ความเร็วขึ้นไปที่ระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเรื่องง่ายดาย ไม่แพ้ 220i Gran Coupe เลยด้วยซ้ำ ด้อยกว่ากันนิดหน่อย แต่หลัง 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ไม่ต้องสืบครับ Viagra หมดโรงงาน ก็เข็นไม่ขึ้น อัตราเร่งช่วงปลายแก่ๆนั้นจะเหี่ยวห้อยยานคางมากๆ ใช้เวลานานพอประมาณ กว่าจะขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุด ช่วง 200 – 210 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นก็เหนื่อยแล้ว แต่ช่วง 210 – 233 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นเหนื่อยยิ่งกว่า

คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนอง Lack เป็นปกติ ในโหมด ECO Pro แต่ผมว่า ช้าไปหน่อยในโหมด Comfort ส่วน โหมด Sport ขึ้นอยู่กับวิธีการเหยียบคันเร่ง ถ้าแค่เติมคันเร่งเบาๆ แน่นอนครับ การตอบสนองจะไวตามใจคุณ แต่ถ้ากดป้าก! ลงไปเต็มตีน จนสวิตช์คันเร่ง คลิก! สมองกลของระบบก็คงต้องขอเวลาสื่อสารกันเสี้ยววินาทีว่า คุณกำลังต้องการพละกำลังเต็มที่แล้วนะ เอาจริงแล้วนะ เมื่อนั้น สมองกลจึงจะสั่งลิ้นปีกผีเสื้อให้เปิดเต็มสุด สั่งหัวฉีดให้พ่นเชื้อเพลิงเข้าเต็มสูบ ตามใจคุณ

การทำงานของเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ราบรื่นดี เปลี่ยนเกียร์ได้ต่อเนื่อง และฉลาดใช้ได้ เลือกเกียร์ได้ดีในภาวะที่ผู้ขับขี่กระแทกคันเร่ง Kick Down ส่วนใหญ่ จะตบลงไปให้เป็นเกียร์ 3 เลย อย่างไรก็ตาม อาการ “กระฉึกกระฉักยึกยัก ช่วงความเร็วต่ำ” ก็ยังพอมีหลงเหลือให้เห็น เหมือนรุ่น sDrive18d คันเดิม ไม่มีผิดเพี้ยน อาการดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้น เมื่อคุณกำลังจะเดิมคันเร่ง แต่มีเหตุให้ต้องถอนเท้าออกมา หรือกดคันเร่งบ้างถอนบ้างแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ อาการดังกล่าว เกิดขึ้นบ่อยจนชวนให้เผลอคิดไปว่า นี่เป็นเกียร์ Dual Clutch หรือเปล่าหว่า? ทั้งที่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

***** การเก็บเสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน *****
*******
NVH Noise Vibration and Harshness *******

การเก็บเสียง ในช่วงครึ่งบนของตัวรถ (Upper body) ค่อนข้างดีใช้ได้ อาจมีเสียงลมไหลผ่านกระจกมองข้าง หลังความเร็ว 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาให้ได้ยินจางๆอยู่บ้าง กระนั้น เสียงจากพื้นถนน โดยเฉพาะเสียงจากยางติดรถ GoodYear Eagle F1 ดังขึ้นมาค่อนข้างชัดเจน ยิ่งสภาพพื้นผิวเส้นทางที่คุณแล่นอยู่ เปลี่ยนไป เสียงก็ยิ่งดังขึ้นมาก

***** ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheel *****

พวงมาลัยของ X1 เป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมระบบ Power ผ่อนแรงแบบ ไฟฟ้า (EPS) Servotronic อัตราทดเฟืองพวงมาลัยปรับแก้จาก 15.7 : 1 มาเป็น 15.9 : 1

อันที่จริง ในภาพรวม พวงมาลัยยังคงให้การตอบสนองเหมือน X1 รุ่นก่อนปรับโฉม นั่นคือ มีน้ำหนัก และความหนืดกำลังดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ตามสไตล์ BMW ขนาดเล็กขับเคลื่อนล้อหน้า ในแบบที่เคยเป็นและควรเป็น ช่วยให้การหมุนพวงมาลัยถอยจอดรถและที่ความเร็วต่ำ ทำได้ดีพอสมควร ผู้หญิงสายแม่บ้านก็ไม่บ่นว่าหนักไป ผู้ชายสายนักขับรถก็ไม่บ่นว่าเบาไป

เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น ตามปกติแล้ว น้ำหนักหน่วงกลางช่วงถือพวงมาลัยตรงจะหนักและหนืดขึ้น นิดนึง ทำให้ไม่ต้องเกร็งข้อมือประคองพวงมาลัยมากนัก ความไวของพวงมาลัยเวลาเลี้ยวก็อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว อยูในเกณฑ์ดีตามปกติเหมือน BMW รุ่นอื่นๆ กระนั้น เวลาใช้ความเร็วเดินทางขึ้นไป อย่าเผลอหักพวงมาลัยเยอะ เพราะเมื่อหมุนออกจากจุด Center เกิน 3 นิ้วมือ พวงมาลัยมันจะแอบไวขึ้นมาทันที

ทว่า รถคันที่เรารับมาทดลองขับในคราวนี้ มีอาการแปลกๆบางอย่าง ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในรถยนต์ BMW นั่นคือ ช่วงที่ลองแกว่งเพื่อหาระยะฟรีนั้น พวงมาลัยมีอาการ สะดุด “กุกกึกๆ” แปลกๆ ซึ่งอาการดังกล่าว บั่นทอนความมั่นใจในการถือพวงมาลัยช่วงความเร็วสูงลงไปประมาณหนึ่ง คาดว่า สาเหตุอาจจะมาจาก ยอย หรือ Joint พวงมาลัย อาจมีปัญหา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมาเกิดกับรถยนต์ป้ายแดง อายุการใช้งานแค่ 1.800 – 2.500 กิโลเมตร แบบรถคันนี้

***** ระบบกันสะเทือน / Suspension *****

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระ Single-joint spring strut ปีกนกทำจากอะลูมิเนียม ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-arm axle (Multi-Link) แยกสปริงออกเป็นคนละเบ้ากับโช้คอัพ ซึ่งเป็นโช้คอัพแบบธรรมดา ไม่มีระบบปรับความแข็งอ่อนใดๆทั้งสิ้น

อุปนิสัยของช่วงล่างนั้น เป็นประเภทแข็ง เฟิร์ม หนึบ เอาใจวัยรุ่น ซึ่งมาแนวทางเดียวกับ MINI Countryman รุ่นใหม่ เพียงแต่ปรับลดความกระด้างลงเพื่อให้รองรับเจ้าของรถที่เป็นผู้ใหญ่วัย 45-55 ได้บ้าง เมื่อหักเลี้ยวหลบแบบกระทันหัน ช่วงล่างสามารถควบคุมอาการยวบตัวได้อย่างดีเยี่ยม บาลานซ์ของตัวรถเวลาเข้าโค้งก็ทำได้ดีกว่าที่คาด เพราะบนโค้งแบบพื้นแห้ง เมื่อสาดเข้าไปแรงๆ นึกว่าจะเกิดอาการหน้าดื้อ แต่กลับได้อาการท้ายปัดแบบนิดๆกำลังสวยมาแทน

ช่วงล่างยังคงเหมือนรุ่นเดิม คือ เซ็ตมาในแนว “แข็ง” จะซับแรงสะเทือนจากหลุมบ่อ และเนินสะดุดลูกระนาด ได้ดีในช่วงความเร็วไม่เกิน 10-20 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังจากนั้น คุณจะพบอาการสะเทือนตึงตังเลื่อนลัน จนร้องอุทานว่า “มึงไม่ต้องทำช่วงล่างให้แข็งใกล้เคียงกับ MINI ขนาดนี้ก็ได้มั้ง!!”

กระนั้น การเซ็ตช่วงล่างให้แข็งแบบนี้ มีข้อดีก็คือ มันให้ความมั่นใจในขณะเข้าโค้งได้ดีกว่าคู่แข่งบางคันเสียอีก ทั้งที่ตัวรถมันคือ SUV ชัดๆ

บนทางด่วนเฉลิมมหานครนั้น ณ โค้งขวารูปเคียว ย่านมักกะสัน X1 sDrive20d M Sport พาผมเข้าโค้งขวาแรกที่ความเร็ว 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ถึง 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) เช่นเดียวกัน อันที่จริง เราควรเข้าโค้งทั้ง 2 ด้วยความเร็วมากกว่านี้ แต่ ปัญหาก็คือ ยาง GoodYear Eagle F1 นั้น สภาพเริ่มไม่ดีแล้ว แถมยังลื่นมากเอาเรื่อง และแก้มยางให้ตัวพอสมควร ทำให้หน้ารถมีอาการลื่นไถลไปข้างหน้า ขณะอยู่ในโค้ง ผมจำเป็นต้องเบารถลงมาเล็กน้อย เพื่อประคองให้ผ่านโค้งออกไปได้ด้วยดี

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา X1 sDrive20d เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายน้อยลงกว่า นิดเดียว ส่วนโค้งซ้ายยาวๆ ที่มีลอนคลื่นบนพื้นผิวโค้งนั้น ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 117 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางรับมือไม่ไหวอีกต่อไป ปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)

แต่พอควบรวมเข้ากับการบังคับพวงมาลัยด้วยแล้ว แม้ภาพรวม จะถือว่า ค่อนข้างดี ทว่า เมื่อเจอกับระยะฟรี กึกๆ ประหลาดๆ เข้าให้ ผมถึงกับเซ็งเลย เพราะความมั่นใจโดยรวม มันถูกบั่นทอนลงไปชัดเจน

***** ระบบห้ามล้อ / Brake *****

X1 sDrive20d ติดตั้ง ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรคคู่หน้า เส้นผ่าศูนย์กลาง 330 x 22.4 มิลลิเมตร พร้อมครีบระบายความร้อน และคาลิเปอร์แบบ 1 pod ส่วนด้านหลังเป็นดิสก์เบรก เส้นผ่าศูนย์กลาง 300 x 20 มิลลิเมตร พร้อมครีบระบายความร้อน และคาลิเปอร์แบบ 1 Pod เสริมด้วยระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ ดังนี้

• ระบบป้องกันล้อล็อค ABS (Anti-Lock Braking System)
• ระบบช่วยเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
• ระบบควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ DSC (Dynamic Stability Control)
• ระบบควบคุมการยึดเกาะถนนน DTC (Dynamic Traction Control)
• ระบบควบคุมการกระจายแรงเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control)
• ระบบควบคุมแรงดันเบรกแบบแปรผัน DBC (Dynamic Brake Control)

แป้นเบรก มีน้ำหนักปานกลาง หนืดเท้าพอสมควร มีระยะเหยียบ ปานกลางค่อนข้างสั้น พอๆกันกับ 220i Gran Coupe เพียงแต่ว่า ให้ประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการหน่วงตัวรถจากความเร็วสูงระดับ 180 ลงมาได้อย่างมั่นใจ และอาจต้องทำซ้ำ 2 รอบแบบติดๆกันจึงจะเห็นอาการเฟดชัดเจน ส่วนการตอบสนองและน้ำหนักของแป้นเบรกนั้น ผมนึกว่าจะเหมือนกับ Countryman โฉมใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักต้านเท้าของ BMW หนักกว่านิดๆ

ปัญหาประจำรุ่นของ X1 F48 ที่ยังคงอยู่ และไม่หายไปไหน นั่นคือ ในจังหวะแรกที่คุณเหยียบเบรกลงไป 10 – 20% จริงอยู่ว่า คาลิเปอร์ก็จะดันผ้าเบรกให้เลียจานเบรกเบาๆ พอให้สัมผัสได้ว่า รถเริ่มชะลอลงมานิดๆ ไม่เยอะนัก แต่ถ้าคุณเติมน้ำหนักลงไปบนแป้นเบรก อีกเพียงนิดเดียวหลังจากนั้น คาลิเปอร์จะหนีบจานแบบพรวดพราดทันที ทำให้รถเกิดอาการ หน้าทิ่มเป็นไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่งเลยทีเดียว พี่จะจิกไปไหนฮะ? แม้จะเป็นเรื่องที่ปรับเท้าปรับความชินกันได้ แต่การพยายามปรับตัวเข้ากับแป้นเบรกของรถคันนี้ ก็ค่อนข้างยากอยู่

เท่านั้นไม่พอ จากการทดลองเบรกกระทันหัน บนพื้นที่โล่งๆ ปราศจากยานพาหนะใดๆทั้งสิ้น หากมีเหตุให้ต้องกระทืบเบรกจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาจนหยุดนิ่ง รถจะมีอาการหน้าทิ่มมากกว่า BMW รุ่นอื่นๆ ไฟฉุกเฉิน เปิดเองอัตโนมัติ เพื่อแจ้งเตือนยานพาหนะที่แล่นตามมา แต่ตัวรถก็จะมีอาการส่ายเบาๆนิดๆ เหมือนกับการกระจายแรงเบรกไม่ถึงขั้นสมดุลในทั้ง 4 ล้อ

อาการดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น ถ้าคุณเบรกกระทันหันจากความเร็ว 230 กิโลเมตร/ชั่วโมงลงมา รถจะมีอาการเป๋ไปทางขวา ถึงขนาดคร่อมเลนข้างๆ ไปนิดๆ อยู่เหมือนกัน คาดว่า มาจากการกระจายแรงเบรก ที่อาจยังสมดุลไม่พอ หรืออาจเป็นเรื่องการสึกหรอของยางติดรถ Goodyear Eagle F1 ที่ผมอยากจะเปลี่ยนชื่อให้เป็น Goodyear E-here F1 เสียให้รู้แล้วรู้แรดกันไปเลย! ขยันลื่นดีนัก!

สิ่งที่ผมหวังอยากเห็นการปรับปรุงใน X1 รุ่นต่อไป ในประเด็นนี้ คือการปรับปรุงการตอบสนองของแป้นเบรกให้ Smooth กว่านี้ Linear กว่านี้ ควรมีลักษณะ “เหยียบน้อยหน่วงน้อยเหยียบมากหน่วงมาก” แบบที่ BMW รุ่นอื่นๆเขาทำกัน รวมทั้ง ปรับปรุงการกระจายแรงเบรก ให้ดีกว่านี้ เพื่อให้ตัวรถยังคงอยู่ในเลนถนนเดิม หลังจากมีเหตุให้ต้องเบรกจนถึงขั้นหยุดกระทันหัน ไม่ใช่เป๋ออกขวาไปกินเลนอื่นนิดๆแบบนี้

***** ระบบความปลอดภัยและระบบช่วยเหลือการขับขี่ *****
******** Active Safety , & Passive Safety *******

เนื่องจาก X1 sDrive20d อยู่ในช่วงปลายอายุตลาด ดังนั้น บรรดาอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ จึงมีติดตั้งมาให้ ในระดับ เท่าที่จำเป็น และยังไม่ได้มีการ Upgrade ระบบ ตัวช่วย ADAS ใดๆทั้งสิ้น รายละเอียดมีดังนี้

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า รวม 2 ใบ
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง คนขับและผู้โดยสารด้านหน้า รวม 2 ใบ
  • ม่านถุงลมนิรภัย รวม 2 ใบ
  • เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง เฉพาะคู่หน้าเป็นแบบ Pretensioner & Load Limiter ปรับระดับสูง-ต่ำไม่ได้
  • จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX บนเบาะหลังทั้งฝั่งซ้ายและขวา
  • กล้องมองภาพขณะถอยหลังเข้าจอด มีเฉพาะกล้องหลังเท่านั้น
  • Sensor กะระยะช่วยจอด ด้านหน้า – ด้านหลัง
  • ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ Attentiveness Assistant
  • ระบบ Teleservice แจ้งเตือนนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คที่ศูนย์บริการ
  • ปุ่มโทรออกฉุกเฉิน S.O.S. (Intelligent Emergency Call) กรณีเกิดอุบัติเหตุ ให้กดปุ่มที่อยู่ด้านบนเพดานหลังคา ระบบจะแจ้งหน่วยกู้ภัยเข้ามาให้การช่วยเหลือทันที
  • ระบบช่วยถอยรถเข้าจอดอัตโนมัติ Parking Assistant

X1 ผ่านมาตรฐานทดสอบการชน EuroNCAP ในระดับ 5 ดาว เมื่อปี 2015 (รุ่นที่ทดสอบคือ sDrive18d พวงมาลัยซ้าย ซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย) โดยปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ได้ 90% ผู้โดยสารเด็ก 87% คนเดินถนน 74% การช่วยเหลือของระบบตัวช่วย 77%  รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
******************* Fuel Consumption Test *******************

อันที่จริง เครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbo ของ BMW นั้น ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความประหยัดน้ำมัน มาเป็นสิบๆปีแล้ว ถึงกระนั้น ความประหยัดน้ำมัน ก็จะผกผันแปรไป ขึ้นอยู่กับว่า เครื่องยนต์ดังกล่าว จะถูกนำไปวางอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้าของรถยนต์รุ่นใด ขนาดตัวถังใหญ่โตมากน้อยแค่ไหน

สำหรับ X1 sDrive20d แล้ว ต่อให้เรารู้ดีว่า ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน่าจะอยู่ในช่วงเท่าไหร่ แต่เพื่อความแน่ใจ เราจึงยังคง ทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน โดยเติมเต็มถัง หัวจ่ายตัด

สักขีพยาน และผู้ช่วยในการทดลอง ตามมาตรฐาน ขับเปิดแอร์ นั่ง 2 คน คือ น้อง Mark Pongswang ทีมเว็บของเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน 102 กิโลกรัม รวมแล้ว 162 กิโลกรัม ยังอยู่ในเกณฑ์ ไม่เกิน 170 – 180 กิโลกรัม

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถัง เราก็เริ่มต้นการทดลอง โดยเปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิปานกลางพัดลมเบอร์ 1-2 อุณหภูมิ 22-23 องศาเซลเศียส (รถยุโรป ยังคงเปิดไว้ที่ 25 องศาไม่ได้ครับ เพราะอากาศภายนอกรถ กับภายในรถจะใกล้เคียงกันเกินไป จนไม่รู้สึกว่าเครื่องปรับอากาศทำงานเลย ไม่เหมือนรถญี่ปุ่น ที่เย็นแบบหลอกๆเปิด 25 องศา แต่ความจริง อยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส)

เราออกจากปั๊ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบรักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เนื่องจาก X1 ไม่มีระบบ Cruise Control เราจึงต้องทดสอบโดยใช้วิธีเลี้ยงความเร็วให้ได้ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงแบบปกติ ด้วยการเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอย่างที่คิด เพราะคันเร่งของ X1 หนืดกำลังดี ไม่เบาเกินไป คุณแค่วางน้ำหนักเท้าขวาเอาไว้ให้เหมาะสม เพียงเท่านั้น

จากนั้น เราย้อนกลับมาลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธินอีกครั้ง ไปเลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม เบน์ราชครู ตรงสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายกลับเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พงษ์สวัสดิ์บริการ ไปที่ตู้เดิมเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ที่หัวจ่ายเดิม แค่หัวจ่ายตัดพอเช่นเดิม

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 93.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 4.92 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.69 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขที่ออกมา โคตรประหยัดขนาดนี้ ECO Car 1.2 ลิตร ทั้งหลาย มีเหลียวหลังค้อนขวับกันเป็นแถวๆ

แล้วถ้าถามว่า น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ถัง สามารถแล่นได้ไกลแค่ไหน ถ้าดูจากมาตรวัด จะพบว่า แม้จะแล่นไปแล้ว เกือบๆ 100 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ตลอด สม่ำเสมอแล้วละก็ น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณไปได้ไกลราวๆ 700 กิโลเมตร!! แต่ถ้า คุณขับแบบโหดๆหน่อย น้ำมัน 1 ถัง อาจจะพาคุณแล่นได้ราวๆ ไม่น่าเกินไปกว่า 500 กิโลเมตร ซึ่งก็ยังถือว่าประหยัดใช้ได้อยู่ดี

********** สรุป / Conclusion **********
SUV ยุโรป คันแรก ของคนที่ชอบความแรง ประหยัดน้ำมัน
และความโปร่ง แต่ช่วงล่างแข็งไป ไม่มี Cruise Control
Option ก็น้อยไป แถมปลายอายุตลาดแล้ว

การได้กลับมาขับ X1 อีกครั้ง มันเป็นเหมือนการกลับมา Re-check ดูว่า สิ่งที่เราเคยแสดงความคิดเห็นกันไป ในบทความ Full Review ของ X1 รุ่น F48 เมื่อหลายปีก่อนนั้น ณ วันนี้ ตัวรถถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

คำตอบที่ผมได้ ก็คงต้องบอกว่า การเปลี่ยนมาวางขุมพลัง Diesel 4 สูบ 2.0 ลิตร Turbo รวมทั้งเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับ X1 ขึ้นมาได้มาก เพราะตัวขุมพลังบล็อกนี้ ก็ให้ความแรง เหลือเฟือเพียงพอกับเท้าขวาของลูกค้าทั่วไปกันอยู่แล้ว แถมยังได้การตอบสนองของเกียร์ ที่ราบรื่น และฉลาด ยิ่งช่วยทำให้ X1 xDrive20d ประหยัดน้ำมันมาก เท่าๆ ECO Car ถ้าคุณไม่ได้ขับรถโหดร้ายมากนัก เติมน้ำมันครั้งเดียว น่าจะลากใช้งานไปได้ถึงสัปดาห์นึงเต็มๆ

การบังคับควบคุม อันที่จริง ก็ยังมีคุณงามความดีที่รักษาเอาไว้ได้ อยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย ซึ่งถูกความหนืดกำลังดี ในแบบที่ใกล้เคียงกับ 220i Gran Coupe เอาใจคนชอบขับรถอยู่แล้ว แถมยังมีช่วงล่างที่ นิ่งในความเร็วสูง และมั่นใจได้ในขณะเข้าโค้ง

เมื่อรวมเข้ากับความอเนกประสงค์ในการพับเบาะ และพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระที่มีความจุเยอะพอตัว รวมทั้งข้าวของและลูกเล่นมาตรฐาน ต่างๆ ทั้งระบบ Head Up Display และระบบช่วยถอยเข้าจอดอัตโนมัติ Parking Assist ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ยังคงทำให้ X1 xDrive20d มีจุดขายมากพอที่จะทำให้ลูกค้าชาวไทย เก็บเอาไว้เป็นตัวเลือกในวันที่พวกเขาคิดจะยกระดับ Upgrade รถยนต์คันที่บ้าน จากรถญี่ปุ่น มาเป็น SUV แบรนด์ยุโรป คันแรกในชีวิตของตน ด้วยจุดเด่นในฐานะของ SUV รุ่นเล็ก ที่เน้นความสนุกในการขับขี่และการบังคับควบคุม ตามสไตล์ของ BMW

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ควรปรับปรุง ของ X1 รุ่น F48 และคาดหวังเห็นความเปลี่ยนแปลง ใน X1 รุ่นใหม่ มันก็ยังคงมีอยู่ ในหลายๆจุด ซึ่งเราก็คงต้องรอดูการแก้ไขต่อไปใน X1 รุ่นใหม่ บางเรื่อง พอจะแก้ไขปรับปรุงได้ แต่บางเรื่อง อาจจะต้องรอปรับปรุงกับรถรุ่นต่อไป ในภายภาคหน้า

– ไม่มี ระบบ ADAS อย่าง Blind Spot และ RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ประเด็นนี้ ผมมองว่า 2 Option ดังกล่าว น่าจะถูกติดตั้งมาให้กับรถยุโรป แทบทุกรุ่นได้แล้ว ยิ่งถ้ากลับมามองว่า หากคุณต้องจ่ายเงิน 2 ล้านบาท ต้นๆ เพื่อรถยนต์ยุโรประดับนี้ คุณก็สมควรได้ Option ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัย ทั้งขณะขับขี่ เปลี่ยนเลน หรือถอยหลังออกจากช่องจอดรถ กันเสียที

– ไม่มีระบบ Cruise Control มาให้เลย อันทีจริง การไม่มีระบบ ADAS กับรถยนต์ระดับราคานี้ ก็ยังพอจะเป็นเรื่องทำใจยอมรับได้บ้าง แต่การที่ X1 ไม่มี Cruise Control ไม่ว่าจะเป็นแบบมาตรฐาน หรือแบบ แปรผันตามความเร็วรถคันข้างหน้า (Adaptive) มาให้เลย ตั้งแต่เริ่มออกจำหน่ายในเมืองไทย จนกระทั่งช่วงปลายอายุตลาดขนาดนี้ ผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะยอมรับได้ ดังนั้น ไม่ว่ายังไงก็ตาม X1 รุ่นต่อไป จะต้องมีระบบควบคุมความเร็วคงที่ มาให้ได้แล้ว

– แร็คพวงมาลัย กับอาการ “กึกๆ” ช่วงระยะฟรี พูดกันตามตรง ต้้งแต่ทำเว็บ Headlightmag มา ผมไม่เคยเจอพวงมาลัยที่มีระยะฟรี มาพร้อมอาการแปลกๆแบบนี้ เป็นเหมือนอาการของ Joint พวงมาลัยมีปัญหา ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นกับรถใหม่ป้ายแดง อายุการใชงานแค่ 2,000 กว่ากิโลเมตร แบบนี้ ได้แต่หวังว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงไม่ให้เกิดอาการแบบนี้ขึ้นอีก ใน X1 รุ่นต่อไป

– ช่วงล่างที่แข็งเอาเรื่องขนาดนี้ ควรจะนุ่มและซับแรงสะเทือนดีขึ้นกว่านี้ จริงอยู่ว่า บุคลิกการขับขี่ของรถยนต์ BMW ในอดีตที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเน้นความแข็ง เอาใจคนชอบขับรถเป็นหลัก แต่เมื่อ BMW จำเป็นต้องจับกลุ่มลูกค้าในวงกว้างขึ้น ด้วยการทำ SUV ออกมาขาย ถ้าในเมื่อ BMW ยังทำ X5 ออกมาให้นุ่มนวลกำลังดีได้ หรือ ทำ X3 ออกมาให้ สมดุลกับคนชอบขับรถ และผู้โดยสารที่ชอบความนุ่มได้ ผมว่าการทำ X1 ให้นุ่มขึ้น ซับแรงสะเทือนดีขึ้นกว่านี้ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง และเราได้แต่คาดหวังว่า X1 รุ่นต่อไป จะมีช่วงล่างที่นุ่มขึ้นกว่านี้ อีกสักหน่อย แต่ยังคงไว้ซึ่ง Driving Dynamic แบบ BMW ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งทำมาได้ค่อนข้างดีพอสมควรแล้ว

– ระบบห้ามล้อ ควรตอบสนองดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการหน้าทิ่มมากไป ขณะเบรกกระทันหัน หรือการกระจายแรงเบรกซึ่งยังไม่ค่อยสมดุลเท่าที่คว และทำให้รถ มีอาการเป๋ออกไปทางเลนด้านข้างได้ สิ่งเหล่านี้ อยากขอฝากให้ปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความดีงามของ X1 ให้มากขึ้นกว่านี้อีก

– เบาะนั่ง แข็งไป ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เรื่องเบาะนั่ง เป็นปัญหามาตั้งแต่ X3 รุ่นแรก จนถึงรุ่นปัจจุบัน ยิ่งพอเป็น X1 ดูเหมือนว่า ผ่านไปกี่ปีๆ ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ สิ่งที่ผมคาดหวังคือ อย่างน้อย ขอเบาะนั่งคู่หน้า และด้านหลัง ให้นุ่มขึ้น กว่านี้ ในระดับที่ใกล้เคียงกับเบาะของ Audi Q3 ก็ได้ ไม่ต้องไปนิ่มถึงขนาดเขาหรอก อีกทั้งยังคาดหวังให้การออกแบบเบาะนั่ง มีการคำนึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่นลักษณะของการเดินตะเข็บด้ายต่างๆ ที่จะไม่ทิ่มตำผิวหนังของผู้โดยสาร โดยไม่จำเป็

– การจัด Option ควร ออกมาดูคุ้มราคากว่านี้ แต่ไหนแต่ไรมา BMW Thailand ขึ้นชื่อในหมู่ลูกค้า ในประเด็นการกั๊ก Option ซึ่งผมเข้าใจดีว่า การเลือก Option ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในบ้านเรา ให้สัมพันธ์และสมดุลกับราคาขายที่จะต้องแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ รวมทั้งต้องไม่ให้มีผลกระทบจากปัญหา Chip หาย (หรือ Chip Shortage ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งโลกต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้) เป็นเรื่องยากมากๆ แต่มาถึงวันนี้ ผู้บริโภค ยินดีจ่ายเงินเพิ่มอีกสักหน่อย เพื่อที่จะได้รับประสบการณ์ในการใช้งานรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาที่ดีขึ้น ดังนั้น หากทำได้ เราก็คาดหวังจะเห็น X1 รุ่นต่อไป มี Option เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ในราคาที่สมเหตุสมผลกว่าที่เป็นอยู่

คู่แข่งในตลาด / Competitors

ตลาดกลุ่ม Premium Compact SUV ในระดับราคา ไม่เกิน 3 ล้านบาท ณ ตอนนี้ เหลือผู้เล่นที่ยังพอจะเปรียบเทียบกับ X1 ได้ เพียงแค่ 3-4 รุ่นเท่านั้น นั่นคือ Audi Q3 , Mercedes-Benz GLA & GLB , Volvo XC40 และ Lexus UX

Audi Q3

Q3 เปิดตัวในเมืองไทย มาได้สักพักแล้ว และพอจะมีลูกค้าอุดหนุนกันไปมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นตัวถังปกติ หรือ Sportback ข้อดีของ Q3 ก็คือ การติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Quattro มาให้ มีเบาะนั่ง นุ่มสบายที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหมดของกลุ่ม มันนิ่มจนต้องถามว่า นี่เบาะรถยุโรป หรือเบาะ Suzuki Swift? แถมเบาะหลังยังเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้ด้วย ภายในห้องโดยสาร มี Option มาให้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เครื่องเสียง เก็บไว้ฟังข่าวกรมประชาสัมพันธ์อย่างเดียวเถอะ

ขณะเดียวกัน บุคลิกเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง พิลึกสักหน่อย มาในสไตล์ “แข็งต้น เหี่ยวปลาย” ออกตัวกระโจนทะยาน แต่ไม่นาน แรงก็เหี่ยวปลายหายเกลี้ยง ไปตั้งแต่ช่วงเกียร์ 2 จนไม่เหลือความตื่นเต้นให้ลุ้นอีกเลย เหมือนสาวไฮโซวัยรุ่น ร้องทักเพื่อนดังลั่นร้านเหล้า จนคนหันมามอง แต่สุดท้าย ก็ไม่มีใครสนใจนางอีก คันเร่ง ต้องเซ็ตให้เป็นโหมด Dynamic เท่านั้น ถึงจะไวขึ้นมาบ้าง น้ำหนักพวงมาลัย ตั้งได้ 3 ระดับ แต่ เบากว่า Audi A4 ช่วงล่าง แนวกระชับ ตึงตังย่านความเร็วต่ำ แต่ไว้ใจได้ในย่านความเร็วสูง หรือทางโค้ง Q3 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ถ้าค่าตัวถูกกว่านี้ลงมาสักหน่อย เพราะผมมองว่า ราคาแพงไปนิด เมื่อเทียบกับ Option ที่ให้มา

Mercedes-Benz GLA & GLB

การเปลี่ยนโฉมใหม่ ของ GLA ให้ดูเป็น SUV มากขึ้น ช่วยลบคำสบประมาท ว่าเป็นแค่ Hatchback ยกสูง จากรุ่นเดิมหายไปจนหมดสิ้น จุดเด่นอยู่ที่

การขับขี่ไม่มีด้านที่โดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ไม่มีด้านที่แย่จนถึงขั้นรับไม่ได้ เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร Turbo มีแรงบิดรอบกลางดึงดี แต่พอกดคันเร่งเต็มตีนไม่แรงสะใจเท่า เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร Turbo ใน GLA 250 รุ่นก่อนหน้านี้ พวงมาลัยอัตราทดไว ดีดกลับเป็นธรรมชาติ ที่ความเร็วต่ำน้ำหนักเบาสาวมือเดียวง่าย ความเร็วสูงหนืดหนักขึ้นกำลังดี ช่วงล่างไม่แข็งเท่ารุ่นเดิม และไม่เฟิร์มกระชับเท่าคู่แข่งอย่าง BMW X1 และ Volvo XC40 แต่ได้ความนุ่ม ติดเฟิร์มปลายนวม พอให้นึกถึง Mercedes-Benz อยู่บ้าง แป้นเบรกตอบสนองค่อยเป็นค่อยไปเท่ากันทุกช่วง ระยะแป้นเบรกสั้น แต่ระยะทางหยุดไม่สั้น ระเบรกทำได้ดี แต่ยางติดรถที่มีไม่เอาอ่าว เสียงรบกวนจากครึ่งท่อนล่างของตัวที่เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารดังเกินงาม

นอกจากนี้ Option หรือ อุปกรณ์ หลายรายการยังขาดตกบกพร่องอยู่ บางอย่างเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การใช้งานรถประเภทนี้สะดวกสะบายมากยิ่งขึ้น และบางอย่างก็เคยเป็นสิ่งที่เคยมีในรถรุ่นที่แล้ว แต่กลับหายไปในรถรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น…ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง หรือหลังคากระจก Panoramic Glass Roof เป็นต้น แต่ User Interface ของระบบ MBUX แม้จะมีความวุ่นวายซับซ้อน การค้นหาเมนูบางอย่างๆ มีความยากลำบากในช่วงแรก แต่พอเรียนรู้การใช้งานไปซักระยะก็จะเริ่มคุ้นชิ้น ภาพรวมแล้ว GLA ยังคงเป็น SUV ที่น่าสนใจ แม้ว่า สมรรถนะจะด้อยกว่า X1 อย่างชัดเจนก็ตาม

ส่วน GLB อาจจะมีราคาแพงไปสักหน่อย เพราะมีตัวถังยาวขึ้น เป็นรถยนต์แบบ 7 ที่นั่ง แต่ให้คุณสมบัติการขับขี่ ที่คล้ายคลึงกันกับ GLA ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ยกเว้น อาการของบั่นท้ายรถขณะเข้าโค้ง เพียงเท่านั้น

Volvo XC40

วันนี้ XC40 มีแต่ทางเลือกขุมพลัง PHEV และ ไฟฟ้าล้วน EV ให้เลือกใช้กัน ดังนั้น หากมองในแง่เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน ก็คงจะเทียบกันได้ไม่เต็มที่นัก เพราะ X1 ยังใช้เครื่องยนต์สันดาปล้วนๆอยู่ แม้จะให้ประสิทธิภาพดีเยี่ยมอยู่ในระดับแถวห้าของบรรดารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ด้วยกันก็ตาม สามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าเพียวๆ ได้ เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานในเมืองเป็นหลัง ขับไป-กลับ ระหว่างบ้านถึงที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้น้ำมัน

แต่ถ้าต้องเทียบเรื่องห้องโดยสารแล้ว XC40 อาจมีหลังคาที่สูงโปร่งกว่า และมีเบาะคู่หน้าที่นุ่มและนั่งสบายกว่านิดหน่อย กระนั้น เบาะหลัง แม้จะนุ่ม แต่กลับเตี้ยและตั้งชัน นั่งไม่สบายเอาเสียเลย พื้นที่ห้องโดยสารตอนหลังคับแคบ อีกทั้งแผงประตูด้านข้าง ก็ทำจากวัสดุพรมที่ดู Look cheap ซึ่งน่าจะรออีกนานกว่าที่ Volvo จะปรับปรุงให้ดีขึ้น

ในแง่การขับขี่ น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วสูงในโหมดที่หนักที่สุดก็ยังรู้สึกว่าเบาไปอยู่ดี เป็นปกติของรถ Volvo หลายรุ่นในยุคนี้ พวงมาลัยของ XC40 ในโหมด Sport ยังเบากว่า X1 นิดหน่อย อีกทั้งช่วงล่าง ก็ค่อนข้างนุ่มและโยนนิดๆ จนดูเหมือนว่า ช่วงล่าง ไม่สมดุลกับพละกำลังของรถที่แรงเอาเรื่อง ยิ่งระบบห้ามล้อด้วยแล้ว ยังถือว่าทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แป้นเบรกห่างไกลจากคำว่าเป็นธรรมชาติมาก กระนั้น XC40 Recharge EV ก็เหมาะกับใครก็ตามที่อยากลองเริ่มต้นใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นครั้งแรก

Lexus UX

เทียบกันเฉพาะรุ่น UX 250h ขุมพลังเบนซิน Hybrid เบาะนั่งสบายทั้งคู่หน้าและคู่หลัง อัตราเร่งไม่แรง แต่ก็ไม่ถึงกับอืด และได้ความประหยัด ช่วงล่างนุ่นหนึบใกล้เคียง GLA 200 มากจนน่าฉงน แต่ยางติดรถของ UX มีส่วนช่วยให้ Premium Hatchback กึ่ง Crossover จากแดนาทิตย์อุทัยคันนี้ทำความเร็วโค้งได้มากกว่า GLA 200 เล็กน้อย ส่วนอ็อพชันที่จัดมาให้ในรุ่น F-Sport AWD ก็ครบ ไม่ได้น้อยหน้า Volvo เลย

ในภารรวมถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว ทั้งตัวรถ การจัดอ็อพชัน และสมรรถนะการขับขี่ ทว่ากลยุทธ์การตั้งราคาที่น่าเซ็งจิตของ Lexus เอง ทำให้ราคาค่าตัวของรถยนต์หลายรุ่น รวมทั้ง UX กระโดดไปไกลกว่าคู่แข่งมาก จนต้องยอมตัดใจ แถมตัวรถ ยังออกแบบมาให้เป็น Hatchback ยกสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ GLA หนีออกมาสำเร็จแล้ว ทำให้พื้นที่ในห้องโดยสาร ไม่โปร่งสบายเท่าที่ควร

ถ้าต้องเลือก X1 ควรเลือกรุ่นย่อยไหน?

ณ วันปิดต้นฉบับ 31 กรกฎาคม 2022 BMW Thailand ยังมี X1 ให้คุณเลือกอยู่เพียง 2 รุ่นย่อย เท่านั้น ดังนี้

  • X1 sDrive20d X Line  ราคา 2,359,000 บาท
  • X1 sDrive20d M Sport ราคา 2,559,000 บาท

ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมโปรแกรม BSI (BMW Service Inclusive) Standard รับประกันตัวรถ 3 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ฟรีค่าบำรุงรักษา BSI นาน 3 ปี หรือ 60,000 กิโลเมตร แต่ถ้าคิดว่า ยังไม่พอ สามารถเลือกซื้อ Package การบำรุงรักษาเพิ่มได้ บวกจากราคาข้างต้น ดังนี้

  • BSI Plus : เพิ่ม BSI ฟรีค่าบำรุงรักษาเป็น 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร + 30,000 บาท
  • Warranty Plus : เพิ่ม การรับประกันตัวรถเป็น 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง + 40,000 บาท
  • BSI Ultimate : เพิ่ม ทั้ง 2 อย่าง (BSI ฟรีค่าบำรุงรักษา และ การรับประกันตัวรถ) + 70,000 บาท

เมื่อมองกันเฉพาะ Option แล้ว อันที่จริง รุ่น X Line ก็เพียงพอกับการใข้งานในชีวิตประจำวันแล้ว เพียงแต่ว่า สิ่งที่คุณจะได้รับเพิ่มเติมจากรุ่น M Sport มีทั้ง เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ แบบ Sport Steptronic ชุดแต่ง M Aerodynamic รอบคัน ภายนอก และราวหลังคาตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา เบาะคู่หน้าแบบ Sport พวงมาลัยหุ้มหนัง M Sport เพดานหลังคาสี Anthracite ภายในตกแต่งด้วยอะลูมีเนียม ลาย Finely brushed lengthwise พร้อมแถบโครเมียม ถ้าหากคุณมองว่า Option ชุดแต่ง M Sport เหล่านี้ โดนใจคุณมากกว่า ก็ควรจะ ขึ้นไปเล่นรุ่น M Sport ไปเลย

อย่างไรก็ตาม ช่วงส่งท้ายก่อนจะมีการเปลี่ยนโฉมเป็นรุ่นใหม่ บางโชว์รูม ทำราคาส่วนลด ให้กับรุ่น X Line เหลือเพียง 1,989,000 บาท ทำให้รุ่น X Line เริ่มกลับมาน่าสนใจขึ้นทันที ด้วยค่าตัวที่ถูกกว่ากันชัดเจน

ถ้าคุณแม่บ้านท่านใด ยังคงยืนกรานอยากได้ X1 รุ่นปัจจุบัน นี่คือช่วงเวลา ที่เหมาะสมมาก สำหรับการเป็นเจ้าของ เพราะ ณ วันนี้ X1 รุ่น F48 มาถึงช่วงปลายอายุตลาดในเมืองไทยแล้ว และน่าจะเหลือให้ทำตลาดอยู่อีกไม่นานนัก ไปอ้อนๆ ตะกุยๆ ตะแง๊วๆ คุณสามีที่รักกันได้ตามอัธยาศัย

แต่ถ้าใครที่ไม่รีบร้อน และรอได้ BMW เพิ่งเผยโฉม X1 ใหม่ รหัสรุ่น U11 ออกมาแล้ว เมื่อ 1 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา (รายละเอียด และภาพคันจริง Click Here) จากการคาดการณ์ ของผู้เขียน มีความเป็นไปได้สูงว่า น่าจะพ้อมเปิดตัวออกสู่ตลาดเมืองไทย อย่างเร็วที่สุด คือช่วงปลายปี 2022 ถึง กลางปี 2023 ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการชิ้นส่วน ภายใต้สภาวะ การขาดแคลน Chip Microprocessor (ปัญหา Chip หาย นั่นเอง)

ถ้าถามผม พูดกันตามตรงว่า หากต้องการรีบใช้รถ X1 รุ่น F48 ก็ยังพอจะมีเหลืออยู่ในสต็อกของผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ อยู่บ้าง ในบางโชว์รูม แต่ถ้าจะให้ดี การรอรุ่นใหม่ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขในจุดด้อยต่างๆ ให้ดีขึ้นแล้ว ดูน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมคุ้มค่ากว่า พียงแต่ก็ต้องทำใจว่า ราคาในช่วงเปิดตัว ก็น่าจะแรง และแพงขึ้นไปมากโขอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมคาดหวังว่า ทีม Product Planning ของ BMW Thailand น่าจะหาทาง ปรับปรุง Option ของ X1 รุ่น U11 ออกมาให้ดี ไม่น่าเกลียด เหมือนอย่างรุ่นปัจจุบัน สิ่งที่ควรใส่มาให้อย่าง Adaptive Cruise Control ก็ควรจะใส่มาให้เสียที ส่วนอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่จำเป็น จะตัดออกไปบ้าง ลูกค้าก็น่าจะยอมรับได้

หวังว่าจะได้เห็น X1 รหัสรุ่น U11 เวอร์ชันไทย มี Option สมราคากว่านี้นะครับ

———————–///————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท BMW (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

เตรียมข้อมูลโดย Navarat Panutat (KANVITZ)

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
BMW AG.

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
1 สิงหาคม 2022

Copyright (c) 2022 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 1st,2022