(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอคลิปทดลองขับของรถคันนี้ อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้)

———————————————–

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2004 – 2009 ตอนนั้น ตลาด Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ใน Indonesia กำลังเติบโตและเบ่งบานสุดขีด Toyota Avanza / Daihatsu Xenia ในฐานะผู้เปิดตลาด รถยนต์ 7 ที่นั่ง ราคาถูก มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2004 กำลังเก็บกวาดกอบโกยยอดขายกันสนุกสนาน จนบรรดาคู่แข่งทั้งหลาย ต่างเริ่มอิจฉา และมองเห็นศักยภาพของตลาดกลุ่มนี้

Honda เฝ้ารอดูความเปลี่ยนแปลงในตลาดกลุ่มนี้มาตลอด เริ่มทนดูอยู่ฝ่ายเดียวไม่ไหว หลังจากพวกเขาเคยนำ Minivan รุ่น Stream ไปลองเปิดตลาดที่นั่น แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาด้านคุณภาพการประกอบ และตัวรถยังมีราคาสูง ต่อมา Honda ถึงขั้น ตัดสินใจ ชิมลาง ด้วยการส่ง Honda Freed รถตู้ประตู Slide ขายดีในญี่ปุ่นกว่า 113,005 คัน (พฤษภาคม 2008 – ตุลาคม 2009) ไปขึ้นสายการประกอบที่โรงงานในแดนอิเหนา ชูจัดขายหลักคือ เป็น Minivan ขนาดเล็กรุ่นแรกในตลาดที่มี บานประตู Slide ไฟฟ้า

แน่นอนว่า การนำรถยนต์รุ่นใดไปขึ้นสายการผลิต ณ ประเทศแห่งใด ในทุกวันนี้ ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก การเตรียมขึ้นสายการผลิตรถยนต์รุ่นหนึ่งๆ อย่างน้อยๆ ต้องมีงบลงทุนระดับประมาณ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน จำเป็นต้องหาตลาดรองรับกับยอดผลิตที่พวกเขาตั้งเป้า Forecast เอาไว้

Honda ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคิดจะยก Freed ไปประกอบขายที่ Indonesia อย่างเดียว มันก็มีความเสี่ยงว่าอาจจะขายไม่ออก เพราะ Honda R&D คิดต้นทุน ประตูไฟฟ้าค่อนข้างแพงเอาเรื่อง ดังนั้น จึงต้องมองหาตลาดอื่นๆ เพื่อช่วยสั่งซื้อรถให้มากพอกับยอดผลิต ที่ประเมินกันไว้ Honda Automobile Thailand ก็เลยมองว่า น่าจะมีลูกค้าชาวไทยจำนวนหนึ่ง อยากได้ความอเนกประสงค์ในรูปแบบของ Freed บ้าง เลยสั่งนำเข้าจาก Indonesia มาเปิดตัวในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2009

ทว่า ด้วยปัญหาของการตั้งราคาขายปลีก ที่แพงมากไปในยุคนั้น ผู้บริโภคมองว่า Minivan เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่ราคาคันละ 894,000 – 1,074,500 บาท ทำให้ยอดขาย ไม่เดินเลยในช่วงแรก ต้องรอจนถึงช่วงหลังวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ตุลาคม 2011 ผ่านพ้นไปก่อน Honda จึงจำเป็นต้องแก้เกม ด้วยการ ลดราคา Freed ในฐานะรถยนต์เพียงรุ่นเดียวที่พวกเขาพอจะทำตลาดได้ ในช่วงเดือน ตุลาคม 2011 – มีนาคม 2012 และนั่นพอจะช่วยระบายสต็อก รวมทั้งพอจะต่อลมหายใจของ Honda ในเมืองไทย ไปได้ในช่วงสั้นๆ และหลังจากทำตลาดไปได้อีกพักใหญ่ Honda ก็ยุติการสั่งนำเข้า Freed มาขายเป็นการถาวร ไม่มีรุ่นใหม่จากญี่ปุ่น มาสานต่อ จนถึงปัจจุบัน

นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2009 – 2013 ผมเองก็เข้าใจว่า Honda น่าจะมีบทเรียนที่ดีในเรื่องของการตั้งราคารถยนต์ของพวกเขากันแล้ว เรื่องแบบนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอย…

แต่…

ใครจะไปคิดละว่า สถานการณ์ในตอนนั้น จะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2022 นี้!!

ทันทีที่ Honda Automobile Thailand ประกาศเปิดรับจอง BR-V ใหม่ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ด้วยราคาประมาณการ รุ่น 1.5 E อยู่ที่ 930,000 บาท และรุ่น 1.5 EL ราคา 980,000 บาท กลายเป็นว่า ลูกค้าและผู้บริโภค พากันก่นด่าใน Social Media หนักมาก

แหงละครับ ด้วยค่าตัวที่สูงขนาดนี้ คู่แข่งอย่าง Mitsubishi Xpander และ Xpander Cross ที่ถือว่ามีราคาแพงที่สุดในกลุ่ม Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ถึงกับนั่งยิ้มหวานบนโชว์รูมเลย ถ้ารถมันพูดได้ คงคิดในใจว่า “ไชโย กูไม่โดนด่าเรื่องราคาแพงแล้ว เพราะมีคนแพงกว่ากูแล้ว ฮ่าๆๆๆ”

ต่อให้มีการประกาศราคาจริง ในวันเปิดตัว ณ งาน BIG Motor Sales เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2022 ซึ่งก็ถูกลงมากว่า ราคาประมาณการ นิดหน่อย แค่หลัก ไม่กี่หมื่นบาท นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้กระแสของ BR-V ที่ เหือดแห้งหายไปแล้ว ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ฟื้นคืนกลับมาได้เลย

ยิ่งพอลูกค้า ได้มาลองนั่งรถคันจริงในงาน แล้วพบว่า เบาะนั่งคู่หน้า ไม่สบายเอาเสียเลย กยิ่งทำให้การพูดถึง BR-V ใน โลก Social Media ในเมืองไทย แทบจะเบาบาง และสงบลงจนเข้าสู่ระดับเงียบกริบ พอๆกับ Nissan Terra!!

สารภาพเลยว่า ตอนแรก ผมถอดใจ และแทบไม่เห็นว่า BR-V จะมีจุดเด่นอะไรมาเอาชนะคู่แข่งเขาได้เลย จนกระทั่งหลังการเปิดตัวในเมืองไทย ผมเริ่มฉุกคิดมาว่า สิ่งเดียวที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับรถคันนี้ ก็คือ สมรรถนะจากการทดลองขับ จะเป็นอย่างไร

ผมยังเชื่ออยู่ว่า ณ ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน รถยนต์ Honda หลายๆรุ่น มีบุคลิกในการขับขี่ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Civic ใหม่ ที่ก้าวขึ้นมา ทาบรัศมี Mazda 3 ได้ในระดับใกล้เคียงกัน แถมยังดีกว่า ในเรื่องตำแหน่งเบาะนั่ง และการบังคับควบคุมรถในภาพรวม ที่คล่องแคล่ว แต่แม่นยำและนิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน Accord รุนปัจจุบัน ที่มีงานออกแบบไม่โดนใจชาวเอเซีย เอาเสียเลยนั้น กลับมีบุคลิกการขับขี่ ที่แอบติดสปอร์ตมากกว่า Toyota Camry อยู่นิดนึง ทั้งที่การเซ็ตพวงมาลัย ทำออกมาได้ใกล้เคียงกันสุดๆ

ไม่เว้นแม้กระทั่ง City 1.0 Turbo และ Hybrid e:HEV ที่มีพวงมาลัย น้ำหนักดีสุดในกลุ่ม แถมยังมีช่วงล่าง ซับแรงสะเทือนในย่านความเร็วต่ำ ได้นุ่มนวลมากที่สุด ในบรรดารถยนต์ทุกประเภท ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท! มันนุ่มยิ่งกว่า Mercedes-Benz E-Class รุ่นล่าสุด ในช่วงความเร็วเดียวกัน เสียด้วยซ้ำ! (แต่หลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ก็มีอาการตรงกันข้าม คือนิ่มโยนไม่น่ามั่นใจมากที่สุดในกลุ่ม B-Segment Sedan ไปแทน)

ความคิดของผม ถูกยืนยันจากน้องคิว QCXLoft น้องในทีมเว็บของเรา ซึ่งได้ไปลองขับ BR-V มาก่อนผม เจ้าตัวยืนยันมาสั้นๆ คำเดียวว่า

“รถขับดีขึ้น พี่น่าจะชอบ!”

หืม? BR-V เนี่ยนะ…ขับดีขึ้น?

จริงครับ ผมยืนยันอีกเสียง หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับรถคันนี้ นาน 1 สัปดาห์เต็ม ผมก็พบว่า BR-V อาจมีพละกำลังพอกันกับรถรุ่นเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ คุณภาพการขับขี่ ที่ดีขึ้น อาจไม่ถึงกับน่าอัศจรรย์ หรือประหลาดใจ…เอาเป็นว่า ผมรู้สึกว่า มันเป็นการยกระดับการขับขี่ “อย่างน่าสนใจเอาเรื่อง” (แม้ว่าเบาะคู่หน้าจะไม่สบายเอาเสียเลยก็ตาม)

คำถามก็คือ BR-V ใหม่ มันดีขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน บุคลิกการขับขี่จะเป็นอย่างไร มันยังเหมาะกับกลุ่มลูกค้าเดิมหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ แล้วสมควรไหมที่คุณจะยอมกัดฟันจ่ายแพงกว่าชาวบ้าน เพื่อให้ BR-V ได้กลายมาเป็นรถคันใหม่ในบ้านของคุณ และครอบครัว?

คำตอบ อยู่ข้างล่างนี้ เพียงแต่ว่า ก่อนอื่น ผมคงต้องพาคุณย้อนประวัติศาสตร์ ไปสักเล็กน้อย ว่า BR-V มีกำเนิดมาอย่างไร เป็นมาอย่างไร และสถานการณ์ตลอดอายุตลาด ของรถรุ่นแรกนั้น เป็นอย่างไร

เลื่อนลงไปรับชมกันเลย!

BR-V ย่อมาจาก Bold Runabout Vehicle เป็นรถยนต์ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ยกสูง ดัดแปลงจาก Honda Mobilio ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า หลักๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Out of Frame (คิดนอกกรอบ) กลุ่ม Adventure (ผู้รักการผจญภัย) และกลุ่ม Family (ครอบครัว) ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการรถยนต์ที่มีบุคลิกแตกต่าง (Outstanding) มีความกระฉับกระเฉง (Active) เหมาะกับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ด้านความอเนกประสงค์ (Utility)

BR-V ถูกเปิดตัวครั้งแรกในโลก ณ งานแสดงรถยนต์ Gaikindo Indonesian International Auto Show (GIIAS) ที่ Indonesia เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2015 ในฐานะรถยนต์ต้นแบบ พวกเขาตั้งเป้ายอดสั่งจอง Pre-order Booking เอาไว้ 1,000 คัน แต่เพียงระยะเวลา 1 เดือนผ่านไป ปรากฎว่า ลูกค้าชาวตากาล็อก ให้การตอบรับกับ BR-V อย่างดีใช้ได้ ด้วยยอดจองกว่า 2,500 คัน (ตลอดเดือนกันยายน 2015) แต่กว่าจะเริ่มขายจริง ต้องรอข้ามปี จนถึง 23 มกราคม 2016

สำหรับเมืองไทย Honda Automobile (Thailand) เริ่มเผยโฉม BR-V ครั้งแรกโดยนำสื่อมวลชนจากเมืองไทย ไปทดลองขับ ณ สนาม Twin Ring Motegi ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2015 ก่อนจะนำมาเผยโฉมในเมืองไทยครั้งแรก ณ งาน Motor Expo เมื่อ 1 ธันวาคม 2015 แต่กว่าจะพร้อมทำตลาดจริง ต้องรอกันข้ามปี ไปเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2016 วางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็น Active Sport Crossover
โดยเล่นคำในการตลาด “How BRaVe are we ? BR-V ให้ความกล้า พาชีวิตไปให้สุด” ตั้งราคารุ่น 1.5 V 5 ที่นั่งไว้เพียง 750,000 บาท และ รุ่น 1.5 SV 7 ที่นั่ง 820,000 บาท

BR-V รุ่นแรก มีขนาดตัวถังยาว 4,453 มิลลิเมตร (รุ่น 5 ที่นั่ง) และ 4,456 มิลลิเมตร (7 ที่นั่ง) กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง (Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,500 และ 1,500 มิลลิเมตร ระยะห่างจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance) อยู่ที่ 201 มิลลิเมตร

เวอร์ชัน Indonesia วางเครื่องยนต์ รหัส L15A1 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุด 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิด 145 นิวตันเมตร (14.8 กก.-ม.) ที่ 4,800 รอบ/นาที ซึ่งเป็นขุมพลังเดียวกับที่วางอยู่ใน Honda Jazz และ City รุ่นปี 2008 – 2014 ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT

ส่วนเวอร์ชันไทย จะเปลี่ยนมาวางเครื่องยนต์ รหัส L15Z1 เบนซิน 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,496 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI ใช้ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire (DBW) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC กำลังสูงสุดลดลงเหลือ 117 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 146 นิวตันเมตร (14.9 กก.-ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที เพราะถูกปรับจูน ให้สามารถรองรับกับน้ำมันเชื้อเพลิง Gasohol E85 เรียบร้อยแล้ว ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT

ทุกเวอร์ชัน ใช้พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS (Electronics Power Steering) ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบ McPherson Strut ด้านหลัง แบบ Torsion Beam H-Shape ระบบห้ามล้อเป็น ดิสก์เบรกคู่หน้า ดรัมเบรกคู่หลัง มีตัวช่วยพื้นฐาน (ของรถยนต์สมัยนี้) มาให้เพียง 2 รายการ นั่นคือระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และ ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ส่วนถุงลมนิรภัย มีแค่คู่หน้า 2 ใบ เท่านั้น

รายละเอียดในการทดลองขับต่างๆ คลิกอ่านได้ในบทความ Full Review 2016 Honda BR-V ที่นี่ Click Here

หลังการเปิดตัวในเมืองไทย BR-V ก็เริ่มทะยอย ออกสู่ตลาดในประเทศต่างๆ เริ่มจาก India เมื่อ 5 พฤษภาคม 2016 ซึ่งนอกจากเครื่องยนต์เบนซินแล้ว India จะเป็นประเทศเดียวที่มีเครื่องยนต์พิเศษ N15A1 Diesel 4 สูบ 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 76 x 82.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.0:1 พ่วงระบบ i-DTEC และ Turbocharger พร้อม DPF (Diesel Particular Filter) และระบบ EGR (Exhaust Gas Re-circulation) 101 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตันเมตร (20.38 กก.-ม.) ที่ 1,750 รอบ/นาที (ยุติการทำตลาด ในเดือนเมษายน 2020 เพราะไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษ BS6 ของรัฐบาล India)

Philippines เป็นประเทศลำดับถัดมา BR-V เผยโฉมในงาน Philippines International Motor Show เมื่อ 15 กันยายน 2016 ก่อนจะเริ่มส่งมอบจริง วันที่ 9 ธันวาคม 2016 ขณะที่ South Africa เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2016 แม้จะมีแป้น Paddle Shift มาให้ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT แต่ไม่มีการติดตั้งระบบ EBD มาให้เลยแม้แต่คันเดียว

Malaysia เปิดตัว เมื่อ 5 มกราคม 2017 ช้ากว่าไทย 1 ปี แต่ถูกแก้ไขเรื่องวัสดุซับเสียงแล้ว เพียงแค่ 6 เดือนหลังเปิดตัว BR-V ทำยอดขายใน Malaysia มากกว่า 12,000 คัน ส่วนใน Pakistan ทาง Honda Atlas ตัวแทนจำหน่ายที่นั่น เปิดรับจอง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ก่อนเริ่มจำหน่ายจริง 21 เมษายน 2017 โดยมีรุ่น i-VTEC เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ตามออกมา เมื่อ

กลับมายังเมืองไทย หลังการเปิดตัวออกสู่ตลาด ยอดขายถือว่าไปได้ดีประมาณหนึ่ง Honda ในบ้านเรา มีการปรับปรุง รุ่น 5 ที่นั่ง ด้วยการเพิ่ม กระจกมองข้าง ปรับและพับด้วยไฟฟ้า ชุดเครื่องเสียง หน้าจอระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 6.1 นิ้ว และกล้องมองภาพขณะถอยจอด เรียกชื่อรุ่นใหม่ว่า 1.5 V+ เพิ่มราคาขึ้นอีก 5,000 บาท เป็น 755,000 บาท ออกสู่ตลาด ในงาน Bangkok International Motor Show เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2018 รายละเอียดต่างๆ คลิกอ่านได้ที่นี่ Click Here

หลังจากนั้น อีกประมาณ 1 ปี กับ 3 เดือน Honda BR-V ถูกปรับโฉม Minorchange เริ่มต้นที่ Indonesia ก่อน เปิดตัวในงาน 27th Indonesia International Motor Show เมื่อ 25 เมษายน 2019 ส่วนตลาดเมืองไทยนั้น เปิดตัวตามมาติดๆ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2019 มีการปรับเปลี่ยนงานออกแบบด้านหน้าและด้านท้ายใหม่ ติดป้ายราคาใหม่ รุ่น 1.5 V 5 ที่นั่ง 765,000 บาท ส่วนรุ่น 1.5 SV 7 ที่นั่ง 835,000 บาท รายละเอียดการปรับโฉม คลิกอ่านได้ ที่นี่ Click Here

ตลอดอายุตลาด 5 ปี กับอีก 8 เดือน Honda BR-V ทำยอดขายสะสมใน Indonesia ตั้งแต่ปี 2016 – 2021 ได้มากถึง 78,229 คัน ขณะที่ยอดขายสะสมของตลาดอื่นๆ อย่าง Philippines นั้น มียอดขายรวมปี 2016 – 2021 อยู่ที่ 20,668 คัน ขณะที่ India มียอดขายในปี 2016 – เดือนเมษายน 2020 ที่ต้องยกเลิกจำหน่ายไป รวมอยู่ที่ 39,152 คัน นอกนั้น ยอดขายใน Pakistan 2 ปี (2017 – 2018) รวมกันได้ 26,337 คัน หรือใน Mexico ช่วงปี 2019 – 2021 ทำได้รวม 13,731 คัน

ส่วนตลาดเมืองไทยนั้น ยอดขายสะสมในแต่ละปี ของ BR-V มีดังนี้

  • 2016 ขายได้ 10,153 คัน
  • 2017 ขายได้ 6,087 คัน
  • 2018 ขายได้ 5,143 คัน
  • 2019 ขายได้ 4,540 คัน
  • 2020 ขายได้ 2,364 คัน
  • 2021 ขายได้ 1,589 คัน
  • 2022 (มกราคม – สิงหาคม) ขายได้ 432 คัน

ยอดขายสะสมทั้งหมด ของ BR-V รุ่นแรกในเมืองไทย รวมแล้ว อยู่ที่ 30,308 คัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ซึ่งเคยถูกนำมาทำตลาดในบ้านเรา ตัวเลขระดับนี้ ถือว่าไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย ทุกวันนี้ ตัวเลขยอดขายครบทุกประเทศ ตลอดอายุตลาดของรถรุ่นแรก ยังถูกรวบรวมไม่ครบ แต่ถ้าจะให้คาดการณ์ ก็พอจะมองเห็นว่า Honda ผลิต BR-V ออกจำหน่ายไปแล้ว เกินกว่า 208,425 คัน แน่ๆ

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์แล้ว การไต่ไปถึงตัวเลข 200,000 คัน ตลอดอายุตลาด ถือได้ว่า ผ่านเป้าหมายยอดขายขั้นต่ำที่จะสร้างความคุ้มทุน และพอมีกำไรได้อย่างเฉียดฉิว ดังนั้น โครงการพัฒนา BR-V รุ่นต่อไป จึงถูกอนุมัติ เปิดไฟเขียวให้เดินหน้าต่อไปได้ในที่สุด

เพียงแต่ว่า คราวนี้ หัวหน้าวิศวกรในการพัฒนา BR-V ใหม่ หาใช่คนญี่ปุ่นไม่ หากแต่เป็น “คนไทยเราเองนี่แหละ” !!

ย้อนกลับไปยังช่วงปี 2013 – 2015 งานพัฒนา BR-V รุ่นแรก อยู่ในการควบคุมของทีมงาน Honda R&D Asia Pacific ในประเทศไทย โดยมี Mr.Atsushi Arisaka :

Large Project Leader (LPL) ผู้ซึ่งเคยดูแลโครงการพัฒนาทั้ง Brio , Brio Amaze หัวหน้าวิศวกรโครงการพัฒนา BR-V รุ่นแรก

ทว่า คราวนี้ เมื่อ Mr.Arisaka บินกลับไปรับตำแหน่งใหญ่ขึ้นในญี่ปุ่น ทาง Honda R&D จึงมอบหมายให้ วิศวกรชาวไทย คือ คุณปริญญา ตั้งเวียงวัง มาเป็น หัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนา Honda BR-V ใหม่ ของบริษัท Honda R&D Asia Pacific จำกัด ซึ่งถือเป็นความไว้วางใจของคนญี่ปุ่น ที่ยินยอมให้วิศวกรในท้องถิ่น เป็นหัวหน้าทีมหลักในการพัฒนารถยนต์ เพื่อตลาดภูมิภาค ASEAN

คุณปริญญา เล่าว่า ” BR-V ใหม่ ถูกสร้างขึ้น ภายใต้แนวคิด Jetliner Cross ซึ่งผสานคุณค่า 3 ด้านหลักได้แก่

  • SUV Value : รูปลักษณ์ใหม่ แข็งแกร่ง บึกบึน แต่ยังมาพร้อมความ Premium ในสไตล์ SUV
  • MPV Value : ห้องโดยสารที่กว้างขวาง สะดวกสบายทุกที่นั่ง พร้อมความอเนกประสงค์ ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย สไตล์ MPV
  • Driving Pleasure : การขับขี่ที่สนุกสนาน เร้าใจ อันเป็นเอกลักษณ์ของ Honda ทุกรุ่น และเน้นความประหยัด

การผสมผสาน 3 คุณลักษณะนี้ ทีมพัฒนามุ่งมั่นทำให้ BR-V ใหม่ มีความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัว ราวกับนั่งอยู่ในเครื่องบินส่วนตัวแบบ Private Jet อีกทั้ง งานออกแบบสไตล์ Sport สอดรับกันกับสมรรถนะของตัวรถ ถูกยกระดับขึ้นเพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็น SUV รุ่นใหม่อย่างแท้จริง

การออกแบบ จัดวาง Packaging ยึดแนวคิดที่ว่า “Joy of traveling” โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับความสะดวกสบายในการขับขี่รถยนต์ SUV ที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ความคาดหวัง และความต้องการของลูกค้า ที่มี Lifestyle ที่หลากหลาย ตัวรถมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังง่ายต่อการควบคุม และมีความคล่องตัวในการขับขี่ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับเพิ่มความสูงของระยะ Ground Clearance สูงขึ้น 8 มิลลิเมตร และยกเพิ่มตำแหน่งสายตาขณะนั่งขับขี่ให้สูงขึ้น 44 มิลลิเมตร ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการทรงตัวที่มั่นคงขึ้น ทำให้ผู้ขับขี่ สามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่บนทุกสภาพถนน สะท้อนให้เห็นถึง คุณค่าในด้าน SUV Value อย่างชัดเจน

รูปลักษณ์ภายนอก ของ BR-V ใหม่ ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Sleekness Cross Motion สะท้อนความ Premium ที่ดูเรียบง่าย ด้วยเส้นสะเอวด้านข้างตัวรถ ที่เปลี่ยนจากแบบ เล่นระดับ ในรถรุ่นเดิม มาเป็นเส้นตรง ลากยาวต่อเนื่อง เสริมด้วยล้อและยางขาดใหญ่ เพื่อเสริมภาพลักษณ์ SUV ให้ชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ภายในห้องโดยสาร ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด Pride & Confidence (ความภาคภูมิใจ และความมั่นใจ ในการเป็นเจ้าของ) โดยยังคงยึดคุณค่า 3 ด้าน คือ

  • Driver Focus การสร้างประสบการณ์อันเพลิดเพลินให้กับผู้ขับขี่ ด้วยการปรับพื้นที่คนขับให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สะดวกสบายในการควบคุม และให้สัมผัสแบบรถยนต์ Premium
  • Premium Quality การใส่ใจในรายละเอียดวัสดุการตกแต่ง และคุณค่าในแบบ SUV ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ สะท้อนความรู้สึกที่ หรู Premium ลุ่มลึก ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความทะมัดทะแมงในแบบ SUV
  • Smart Utility  การสะท้อนคุณค่าของรถยนต์ MPV ผ่านการผสมผสานระหว่าง ความกว้างขวางของห้องโดยสาร และการจัดการพื้นที่ใช้สอย ให้เหมาะกับการใช้งานของครอบครัว

Honda Indonesia เริ่มเปิดเผยความเคลื่อนไหวในการพัฒนา BR-V รุ่นที่ 2 เป็นครั้งแรก ในรูปแบบของ ภาพ Official Teaser เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา ผ่านช่องทาง Digital Platform มีภาพ Teaser ในเงาแบบด้านหน้ารถ เพื่อจะเผยโฉมภาพเต็มคัน ในอีก 2 วันถัดมา

วันที่ 3 พฤษภาคม 2021 เวลา 15.00 น.ตามเวลา Indonesia สาธารณชนได้เห็นภาพรถต้นแบบ ของ BR-V ใหม่ เต็มคัน ในชื่อ Honda N7X Concept โดยเป็นการปล่อยภาพถ่าย ด้านหน้าและด้านหลัง อย่างละภาพ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นใดออกมา ก่อนจะนำไปจัดแสดงที่ Honda Dream Cafe ในกรุง Jakarta ในวันรุ่งขึ้น

กว่าที่ Honda จะพร้อมเปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริง ของ N7X ในชื่อ BR-V ใหม่ ต้องรอกันจนถึง วันที่ 21 กันยายน 2021 ที่ประเทศ Indonesia ทว่า คราวนี้ BR-V ไม่ได้เป็นฝาแฝดของ Moblio อีกต่อไปแล้ว เพราะในตลาดอินโดนีเซีย Mobilio รุ่นเดิมยังคงถูกลากขายอยู่โดยไร้วี่แววการเปลี่ยนโฉม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากโดน BR-V แย่งซีนใน Generation แล้วไปเต็ม ๆ การพัฒนา BR-V ที่ขายดีกว่าออกมาก่อนจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า

สำหรับประเทศไทยนั้น กว่าที่ลูกค้าในบ้านเรา จะได้มีโอกาสยลโฉมคันจริงของ BR-V ใหม่ ก็ต้องรอกันนานร่วม 1 ปี ค่อนข้างล่วงเลยไปกว่าแผนเดิมที่ควรเป็น ซึ่งเหตุผลของความล่าช้านั้น มีทั้งประเด็นความไม่แน่นอน ในการตั้งราคาที่ Indonesia เนื่องจาก ทางรัฐบาลที่นั่น มีการประกาศอัตราภาษีแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ BR-V ในช่วงแรก ขณะเดียวกัน อีกเหตุผลหนึ่ง ก็มาจากการประสบปัญหาขาดแคลน Microprocessor หรือ Chip สำหรับการผลิตอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า ในรถยนต์ (ปัญหา “ชิพ หาย” หรือ Chip Shortage) เหมือนเช่นผู้ผลิตรถยนต์ รายอื่นๆ รวมทั้ง ต้องผลิตรถเวอร์ชัน Indonesia ออกมา รองรับความต้องการ และเคลียร์ยอดสั่งจองในประเทศเป้าหมายหลักกันเสียก่อน จึงจะเริ่มผลิตเพื่อการส่งออกได้เต็มที่มากขึ้น

กว่าที่ Honda Automobile Thailand จะนำเข้า BR-V รุ่นที่ 2 มาเปิดตัวในประเทศไทย บนเวทีในงาน BIG Motor Sales เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา โดย BR-V เวอร์ชันไทย มีให้เลือกด้วยกัน 2 รุ่นย่อยได้แก่ รุ่น E ราคา 915,000 บาท และรุ่น EL ราคา 973,000 บาท ทั้งนี้ ราคาขายจริง จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสีตัวถังที่คุณเลือกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเปิดราคาขายจริงของ BR-V ใหม่ ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากบรรดาผู้บริโภค ในโลก Social Media อย่างหนักหน่วง เนื่องจากราคาขายที่สูงขึ้นจากรุ่นก่อนถึงแสนกว่าบาทเลยทีเดียว ทำให้ราคาแรงแซงหน้า Toyota Veloz รวมถึง Mitsubishi Xpander Cross ไปพอสมควร

เหตุที่ Honda กล้าตั้งราคาขายที่สูงกว่าคู่แข็ง เพราะ พวกเขามองว่า การติดตั้ง ระบบความปลอดภัย ADAS ในชื่อ Honda Sensing มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน คือจุดขายสำคัญที่สามารถ เพิ่มมูลค่า Up ราคา ขึ้นได้ ซึ่งเมื่อหันไปมองดูคู่แข่งแล้ว ก็ดูเหมือนจะมีแค่ Toyota Veloz ที่ติดตั้งระบบ ADAS ในชื่อ Toyota Safety Sense เท่านั้น เพราะ Mitsubishi Xpander กับ Xpander Cross รวมทั้ง Suzuki Ertiga และ XL-7 ยังไม่มีมาให้

มิติตัวถัง / Dimension

Honda BR-V ใหม่ มีความยาวของตัวรถอยู่ที่ 4,490 มิลลิเมตร กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,651 มิลลิเมตร สำหรับรุ่น E และ 1,685 มิลลิเมตร สำหรับรุ่น EL ระยะฐานล้อ 2,695 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง (Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,548/1,540 มิลลิเมตร ระยะห่างจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance) อยู่ที่ 209 มิลลิเมตร ถังน้ำมันมีความจุ 42 ลิตร

หากเปรียบเทียบกับ BR-V รุ่นแรก ที่มีความยาว 4,456 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,735 มิลลิเมตร ความสูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง (Front & Rear Track) อยู่ที่ 1,500 มิลลิเมตร เท่ากัน และระยะห่างจากจุดต่ำสุดของรถถึงพื้นถนน (Ground Clearance) อยู่ที่ 201 มิลลิเมตร จะพบว่า BR-V ใหม่ รุ่น EL มีขนาดใหญ่กว่าทุกมิติ ด้วยความยาวเพิ่มขึ้นถึง 34 มิลลิเมตร กว้างกว่าเดิม 45 มิลลิเมตร สูงขึ้น 35 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวขึ้นกว่าเดิม 35 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า /หลัง เพิ่มขึ้น 48 มิลลิเมตร และมีระยะ Ground Clearance เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Toyota Veloz ที่มีความยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง 1,515 / 1,510 มิลลิเมตร (รุ่น Premium) ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 205 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 43 ลิตร จะพบว่า BR-V รุ่น EL มีความยาวมากกว่า Veloz 15 มิลลิเมตร กว้างกว่า Veloz 30 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า Veloz 15 มิลลิเมตร แถมมีระยะฐานล้อสั้นกว่า ถึง 55 มิลลิเมตร แต่ก็มีระยะห่าง Ground Clearance มากกว่า Veloz 4 มิลลิเมตร

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Xpander ซึ่งมีความยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดถึงพื้น Ground Clearance สูงถึง 205 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ 1,290 กิโลกรัม ถังน้ำมันมีความจุ 45 ลิตร จะพบว่า BR-V รุ่น EL ยาวกว่า Xpander 15 มิลลิเมตร กว้างกว่าถึง 30 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า Xpander 15 มิลลิเมตร แถมระยะฐานล้อก็สั้นกว่า Xpander ถึง 75 มิลลิเมตร กระนั้น ระยะห่าง Ground Clearance ยังมากกว่า Xpander 4 มิลลิเมตร

หรือหากลองเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Xpander Cross ที่มีความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นรถ Ground Clearance 225 มิลลิเมตรจะพบว่า BR-V รุ่น EL สั้นกว่าอยู่ 10 มิลลิเมตร แคบกว่า 20 มิลลิเมตร สูงกว่าอยู่ 30 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า 75 มิลลิเมตร และระยะห่างจ Ground Clearance น้อยกว่า Xpander Cross ถึง 16 มิลลิเมตร

ถ้าเปรียบเทียบกับ Suzuki Ertiga รุ่นปกติ ซึ่งมีความยาว 4,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 180 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า (Kerb Weight) มีตั้งแต่ 1,125 – 1,135 กิโลกรัม ความจุถังน้ำมัน 45 ลิตร จะพบว่า BR-V รุ่น EL ยาวกว่า Ertiga มากถึง 95 มิลลิเมตร กว้างกว่า Ertiga 45 มิลลิเมตร แต่แอบเตี้ยกว่า Ertiga 5 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่า Ertiga 40 มิลลิเมตร และระยะ Ground Clearance มากกว่า Ertiga ถึง 29 มิลลิเมตร

ท้ายสุด เมื่อเปรียบเทียบกับ Suzuki XL 7 ที่มีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร (ไม่รวมความสูงของราวหลังคา) ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 200 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเปล่า 1,175 กิโลกรัม จะพบว่า BR-V รุ่น EL ยาวกว่า XL7 ถึง 40 มิลลิเมตร กว้างกว่า XL7 แค่ 5 มิลลิเมตร แต่แอบเตี้ยกว่าอยู่ 25 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อสั้นกว่าอยู่ 40 มิลลิเมตร และระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถมากกว่า XL7 เพียง 9 มิลลิเมตร

ภายนอก / Exterior

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นความพยายามที่จะผสมผสาน เส้นสายของพี่ใหญ่อย่าง CR-V รุ่นที่ 5 (2017 – 2022) ลงบนเรือนร่างและเส้นสายของ BR-V รุ่นเดิม เพื่อยกระดับให้ Sub-Compact Minivan ยกสูง คันนี้ แปลงร่างกลายเป็น Sub-Compact SUV ที่ดูหรูหราขึ้นทัดเทียมกับญาติพี่น้องร่วมตระกูลรถยนต์อเนกประสงค์ของ Honda รุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน

BR-V ทั้งสองรุ่นย่อยติดตั้งชุดไฟหน้าแบบ Multi-reflector แบบ LED พร้อมระบบเปิด – ปิด ไฟหน้า อัตโนมัติ ถัดลงมาเป็นไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวัน (DRL) แบบ LED อยู่ในโคมไฟหน้าชุดเดียวกัน ชุดไฟหน้าทั้งสองข้าง ถูกเชื่อมติดกันด้วยกระจังหน้าขนาดใหญ่ในสไตล์ Solid Wing อันเป็นเอกลักษณ์งานออกแบบของ Honda ในช่วง 10 ปีมานี้ เพื่อให้ดูบึกบึน สมกับเป็นรถยนต์สไตล์ Crossover โดยกระจังหน้าของรุ่น E จะเป็นแบบโครเมียมผสมสีดำด้าน ส่วนรุ่น EL กระจังหน้าจะเป็นแบบโครเมียมผสมสีดำเงา Piano Black

ถัดลงมาด้านล่างที่มุมด้านซ้าย และด้านขวาของเปลือกกันชนหน้า เป็นที่อยู่ของช่องติดตั้งไฟตัดหมอก สำหรับรุ่น E ช่องดังกล่าวจะถูกปิดเอาไว้ เพราะไฟตัดหมอกแบบ LED ถูกสงวนไว้สำหรับรุ่น EL เท่านั้น จากประสบการณ์ ในการใช้งานจริง ไฟตัดหมอกที่มีเส้น Cut-off คม และปรับองศาให้ฉายลงไปที่พื้นถนนข้างล่าง อย่างนี้ จะช่วยลดแยงสายตายานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ได้อย่างดี ขณะเดียวกัน ชายล่างของเปลือกกันชนหน้า ถูกตกแต่งด้วยสีดำ เชื่อมต่อไปยังคิ้วเหนือซุ้มล้อคู่หน้า เพื่อเสริมบุคลิกตัวรถ ให้ดูทะมัดทะแมง ตามสไตล์ รถยนต์ Crossover ยกสูง โดยบริเวณตรงกลางด้านล่างสุด จะตกแต่งด้วยพลาสติกซึ่งดูคล้ายว่าจะเป็น Diffuser (แต่ไม่ใช่) สีเงินกึ่งเงาเพื่อความสวยงาม

เส้นสายด้านข้าง มีความละม้ายคล้ายการนำ BR-V รุ่นเดิม มาปรับประยุกต์ เส้นสาย และรายละเอียดตามจุดต่างๆ เพื่อให้ดูมีกลิ่นอายของญาติผู้พี่อย่าง CR-V รุ่นที่ 5 มากขึ้น เสากรอบประตู บริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B – Pillar และเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ถูกตกแต่งด้วยวัสดุเทปสีดำเอาไว้ แนวเส้นสะเอว ใต้กระจกหน้าต่าง ถูกปรับปรุงให้ยาวต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกัน ไม่ใช้วิธีเล่นระดับ 2 เส้นซ้อนกัน เหมือนอย่างเช่น BR-V รุ่นที่แล้วเคยเป็นมา

กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวที่ ที่ปรับ และพับด้วยไฟฟ้า มีมาให้ทุกรุ่นย่อย โดยในรุ่น EL จะมาพร้อมระบบพับไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อล็อครถ แน่นอนว่าตามธรรมเนียมของรถยนต์ Honda ซึ่งวางขายในประเทศไทย ที่กระจกมองข้างฝั่งผู้โดยสารตอนหน้าจะต้องมีกล้องสำหรับระบบ Honda Lanewatch สำหรับลดมุมอับสายตาเมื่อเปลี่ยนเลน บริเวณชายล่าง ตกแต่งด้วยวัสดุสีดำด้าน พร้อม Skirt ข้าง สีเงินกึ่งเงา เอาไว้ที่ชายล่างในทำนองเดียวกันกับด้านหน้ารถ ส่วนมือจับเปิดประตู เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ทั้ง 4 บาน

ด้านท้ายรถ ติดตั้งสปอยเลอร์หลัง อยู่ด้านบนของฝาประตูท้าย ถัดลงมาเป็นไฟเบรกดวงที่สามแบบ LED ซ่อนอยู่ด้านในของกระจกบังลมหลัง ซึ่งมีใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ครบถ้วน

ชุดไฟท้ายออกแบบกรอบนอกขึ้นใหม่ ให้ดู Clean และเรียบง่าย แต่ยังมีเส้นสายชวนให้นึกถึง BR-V รุ่นเดิม แต่จะให้เรียกว่าเป็นชุดไฟท้าย LED ทั้งโคม ก็เรียกได้ไม่เต็มปก เพราะมีเพียงชุดไฟเบรกและไฟหรี่ท้าย จะใช้หลอด LED ส่วนไฟถอย และไฟเลี้ยวยังคงใช้หลอดไส้แบบอนุรักษ์นิยมอยู่ดังเดิม

ฝากระโปรงท้ายมีขนาดใหญ่กินพื้นที่ลงมาจนเกือบจะถึงชายล่างของเปลือกกันชนหลัง คล้ายกับรถรุ่นเดิม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการยกสัมภาระขึ้น – ลง ช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม คืออยู่ด้านล่างของฝากระโปรงท้าย

ชายล่างของเปลือกกันชนหลัง เป็นพลาสติกสีดำด้าน เชื่อมต่อกับขอบประดับเหนือซุ้มล้อคู่หลัง โดยมีแผ่นที่ดูละม้ายคล้ายกับ Diffuser ตรงกลางจะตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินกึ่งเงา ขนาบข้างด้วยแผงทับทิมสะท้อนแสงสีแดง ติดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายและขวาของมุมเปลือกกันชนหลัง บริเวณบั้นท้ายรถ คือจุดที่รุ่น E และ EL มีความเหมือนกันมากที่สุด

ล้อและยางของ BR-V รุ่นที่ 2 นั้น รุ่น E จะมาพร้อมกับล้ออัลลอย 5 ก้าน ขนาด 16 x 7J นิ้ว ซึ่งหน้าตาแอบคล้ายกับล้อของ HR-V รุ่นที่แล้ว สวมด้วยยางขนาด 215/60/R16 สำหรับรุ่น EL จะมาพร้อมกับล้ออัลลอย 10 ก้าน สีทูโทนปัดเงา ขนาด 17 นิ้ว รัดด้วยยาง Bridgestone Turanza T005A ขนาด 215/55/R17 ทั้งนี้ BR-V ใหม่ ทั้งรุ่น E และ EL มาพร้อมกับยางไหล่ขนาด 16 นิ้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ในยุคสมัยที่ผู้ผลิตเลือกจะลดต้นทุน ด้วยการถอดล้ออะไหล่ แล้วติดตั้งชุดปะยางมาให้แทน แต่ Honda ยังคงเลือกติดตั้งยางอะไหล่มาให้

ภายใน / Interior

ระบบล็อกประตูของ BR-V ใหม่ ยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม Honda ติดตั้งระบบกุญแจ Remote Control ในชื่อ Honda Smart Key System เชื่อมการทำงานกับระบบกันขโมย Immobilizer โดยคุณยังคงสามารถติดเครื่องยนต์ ด้วยการกดปุ่ม Push Start (One Push Ignition System) ตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม คุณยังต้องกดปุ่มสีดำบนมือจับประตูพลาสติกชุบโครเมียม คู่หน้า เพื่อสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตู กันเสียก่อน ตามเดิม

สิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่งก็คือ Honda นำระบบ Remote Start Engine ที่มีอยู่ใน Civic และรถยนต์อีกหลายรุ่นของตน มาติดตั้งให้กับ BR-V ด้วย วิธีการใช้งานก็คือ เมื่อคุณเดินกลับมาที่รถ แล้วอยากให้เครื่องปรับอากาศ ทำงานล่วงหน้าก่อน โดยที่รถยังล็อกอยู่ ให้กดปุ่มล่างสุด HOLD ที่เพิ่มเข้ามา ค้างไว้ 2.3 วินาที เครื่องยนต์ และเครื่องปรับอากาศ จะติดขึ้นมาเอง ถึงกระนั้น คุณก็ยังต้องเดินไปปลดล็อกรถ เพื่อเปิดประตู และต้องกดปุ่มติดเครื่องยนต์อีกครั้ง เพื่อขับออกไปตามปกติ อยู่ดี

นอกจากนี้ Honda ยังเพิ่มระบบ Walk away Door Lock มาให้ กล่าวคือ เมื่อคุณลงจากรถ ถ้าคุณพกรีโมทกุญแจ แล้วเดินออกห่างจากรถ ไปพร้อมๆกัน ได้สักระยะหนึ่ง ระบบจะสั่งล็อกประตูให้ทั้ง 4 บาน ทันที คุณสามารถตั้งค่าการทำงานของระบบนี้ ได้จากหน้าจอของรถ

การเข้า – ออก จากช่องประตูคู่หน้า ก็ยังคงคล้ายคลึงกับรุ่นเดิม นั่นคือ ต่อให้คุณจะปรับเบาะนั่งคนขับ ลงมาอยู่ในตำแหน่งเตี้ยสุดแล้ว คุณก็ควรจะก้มศีรษะลงมาเยอะสักหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะ ไปโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar (ผมโดนมา 2-3 ครั้ง ด้วยความไม่ระวังของผมเอง)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการก้าวเข้า – ออก จากรถ ก็ยังคงมีอยู่ เหมือนรุ่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือ ระยะห่างจาก เบาะรองนั่ง จนถึง ขอบด้านนอกสุดของธรณีประตู ค่อนข้างกว้างไป อีกทั้ง ชายล่างขอบบานประตู ไม่ได้ออกแบบซ่อนธรณีประตู และชายล่างของรถ เหมือนเช่น SUV รุ่นใหม่ๆ ดังนั้น การขึ้น – ลงจากรถ อาจยังคงประสบปัญหา ขากางเกง หรือ ชายกระโปรง เปรอะเปื้อนฝุ่นโคลน ที่ติดอยู่บริเวณชายล่างของตัวรถได้ เหมือนรุ่นเดิม ไม่มีผิดเพี้ยน

แผงประตูคู่หน้าด้านบน ยังคงขึ้นรูปด้วยพลาสติกแข็ง แบบเดียวกับ Honda City Gen.3 รุ่นปี 2008 – 2014 ตกแต่งด้วยแผง Trim สีเงินกึ่งเงา สอดรับเข้ากันกับ แผง Trim ตกแต่ง แผงหน้าปัด และแผงคอนโซลหน้า มือเปิดประตูรถ ของทุกรุ่นย่อย เป็นพลาสติกชุบโครเมียม

ถัดลงมาบริเวณ พนักวางแขนบนแผงประตู จะพบกับวัสดุตกแต่งแบบบุนุ่มหุ้มหนัง เดินตะเข็บด้ายสีขาว พร้อมช่องเก็บของขนาดเล็ก สามารถวางท่อนแขนได้สบายในตำแหน่งพอดี ตั้งแต่ข้อศอกจรดปลายนิ้ว รวมถึงสวิตช์กระจกไฟฟ้า ซึ่งมีเพียงบานหน้าฝั่งคนขับเท่านั้นที่เป็นแบบ One – Touch ส่วนบานที่เหลือล้วนเป็นแบบธรรมดาทั้งสิ้น ถัดลงมาจะพบกับช่องเก็บของ ขนาดปานกลาง และช่องวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ฝั่งละ 1 ช่อง

ภายในห้องโดยสารของ BR-V นั้น หากเป็นรุ่นย่อย E จะใช้สี Two-Tone สีดำ ผสมกับสำน้ำตาลเข้ม Mocha Grey โดยที่ส่วนบนของคอนโซลหน้ารถ รวมถึงส่วนบนของแผงประตู และเบาะนั่งภายในจะเป็นสีดำ ในขณะที่ส่วนล่างของคอนโซลหน้า และแผงประตูเป็นสีน้ำตาลเข้ม Mocha Grey ส่วนรุ่นท็อป EL จะมาพร้อมกับภายในสีดำล้วน ทั้งนี้ผ้าหลังคาของทั้งสองรุ่นย่อยจะเป็นสี Beige (สีเบจ) เพื่อเพิ่มรู้สึกความโปร่งสบายของการโดยสาร

เบาะนั่งคู่หน้า ของทุกรุ่นย่อย ทั้งรุ่น E และ EL เหมือนกันทั้งหมด คือหุ้มด้วยหนังแท้ ผสมกับหนังสังเคราะห์ ซึ่งให้ผิวสัมผัสที่ดีกว่าเบาะนั่งคู่ของคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ เดินตะเข็บเย็บด้วยด้ายสีเงินทั้งสิ้น สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับเอน และตั้งชัน รวม 4 ทิศทาง ด้วยคันโยก ทั้งที่ใต้เบาะรองนั่ง และด้านข้างพนักพิงหลัง เฉพาะเบาะคนขับ จะเพิ่ม ก้านคันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ มาให้ รวมเป็นปรับได้ 6 ทิศทาง นอกจากนี้ บริเวณกลางแผ่นหลัง และกลางเบาะรองนั่งของเบาะคู่หน้า ยังถูกเสริมวัสดุซับแรงสะเทือนซึ่งเกิดขึ้นจากพื้นผิวถนน บริเวณเบาะรองนั่ง มาให้เป็นพิเศษ

อีกข้อแตกต่าง อยู่ตรงที่รุ่น EL จะมีช่องใส่หนังสือ ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า ครบทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนรุ่น E จะมีช่องใส่หนังสือ เฉพาะแค่ด้านหลังเบาะฝั่งคนขับเท่านั้น

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบนิ่ม เสริมและสัมผัสได้ว่า โครงสร้างด้านใน ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ เพราะผมลองเอาแผ่นหลัง ดันไปดันมา เหมือนกับว่า โครงสร้างข้างในมันขยับยืดหยุ่นได้ ทั้งที่ล็อกตำแหน่งพนักพิงหลังไว้แล้ว รูปทรงเปลี่ยนการออกแบบจากเดิม ซึ่งเป็นแบบ ตัว U คว่ำ มาเป็นการปาดช่วงไหล่ของเบาะออกไป ให้เหลือแค่พอรองรับช่วงสะบักได้แบบไม่เต็มที่นัก เหมือน เบาะคู่หน้าของ City รุ่นปัจจุบัน ไม่ผิดเพี้ยน ยังดีว่า การรองรับช่วงกลางหลัง พอเหลือความนุ่มออกจะติดนิ่มนิดๆ ให้แผ่นหลังได้สัมผัสอยู่บ้าง

พนักศีรษะ ออกแบบได้แย่ลง มีขนาดเล็ก เหมือนก้อนซูชิแท่ง EZYGO ที่ขายกันใน 7-11 เลย นอกจากจะถูกออกแบบให้มีมุมองศา งุ้มมาข้างหน้ามากไปแล้ว ตัวพนักศีรษะเอง ก็ใช้ฟองน้ำแบบ “แน่น เกือบแข็ง” พิงศีรษะไม่ได้เรื่องเลย ยังดีว่าปรับระดับสูง – ต่ำได้

เบาะรองนั่ง คืออีกปัญหาสำคัญของ BR-V ใหม่ ถ้าคุณคิดว่า เบาะคู่หน้าของรุ่นเดิม สั้นแล้ว รุ่นใหม่ ก็ยังคงสั้นตามเดิมนั่นแหละ แถมคราวนี้ ยังนั่งไม่สบายด้วย เพราะแทบไม่มีการรองรับส่วนต้นขาที่ดีเอาเสียเลย อีกทั้ง ขอบเบาะก็ถูกปาดลงไปเป็นหุบเหว แบบรถยุโรปบางรุ่นในอดีต ซึ่งทำให้นั่งไม่สบาย และกลายเป็นว่า เบาะรองนั่ง รองรับแค่เฉพาะส่วนบั้นท้ายเพียงอย่างเดียว ถือว่า ทำได้น่าผิดหวังอย่างยิ่ง

ภาพรวมของเบาะคู่หน้า BR-V ใหม่ ผมถือว่า เป็นพัฒนาการที่แย่ลงจากเดิม มันกลายเป็นเบาะคู่หน้า ที่มีขนาดเล็กลง และนั่งไม่สบายมากสุดในกลุ่ม ชนิดที่เรียกว่า ดีกว่า Chevrolet Spin ซึ่งถือเป็นรถยนต์นั่งที่ผมเคยบอกว่า มีเบาะคู่หน้าย่ำแย่มากสุดรุ่นหนึ่งในบ้านเรา ไปนิดเดียวเท่านั้น ยิ่งถ้าต้องนั่งขับทางไกลนานๆ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่ปวดหลัง แต่ยังรวมถึงน้องๆในทีมเว็บ เกือบทุกคน ทั้ง พี่ Champ Producer ของเรา น้อง QCXLOFT ที่ไปร่วมลองขับกับทริปของทาง Honda ก่อนหน้านี้ ไปจนถึง Mark และน้อง Sank ช่างภาพ ทั้ง 4 คน พร้อมใจกันบอกว่า เบาะคู่หน้า ห่วยแตกมาก นั่งขับยาวๆแล้ว ปวดหลัง และปวดช่วงต้นขา เอาเรื่อง

ขอร้องเถอะครับ ทีมออกแบบ Honda R&D ช่วย เปลี่ยนงานออกแบบเบาะคู่หน้า ให้มันดีกว่านี้หน่อยเถอะ ยกเอาเบาะชุดนี้โยนเขวี้ยงทิ้งไปเลยจะดีกว่า หรือถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เอาเบาะของ Civic FC กับ FK รุ่นปี 2016 หรือ CR-V รุ่น 4 กับ รุ่น 5 (ที่กำลังจะตกรุ่น) เอามาใส่ให้แทน ยังจะดีเสียกว่า

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมคงต้องถามไถ่กันตรงๆ นั่นคือ เข็มขัดนิรภัย สำหรับเบาะคู่หน้า ก็ยังคงปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้อยู่ดี เหมือนรุ่นเดิมไม่มีผิด ไม่เข้าใจเลยว่า บริษัทรถยนต์แทบทุกค่าย จะงกต้นทุนในส่วนนี้อะไรกันนักกันหนาก็ไม่รู้ ขนาดถุงลมนิรภัย 6 ใบ กับระบบตัวช่วย ADAS ยังใส่กันมาได้ กะอีแค่ หัวเข็มขัดปรับสูง-ต่ำได้ ทำไมไม่ใส่มาให้?

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลังนั้น ยังคงทำได้สะดวกสบายดี แม้ว่า บานประตูอาจจะไม่ได้กว้างมากสุดในกลุ่ม ก็ตาม แต่ผู้โดยสารแถวกลาง ก็แทบไม่ต้องก้มศีรษะลงไปมากเท่ากับ การเข้าไปนั่งบนเบาะคู่หน้า กระนั้น ระยะห่างของธรณีประตู กับเบาะนั่งด้านหลัง ก็ยังคงมีอยู่ประมาณหนึ่ง อีกทั้ง ชายล่างของบานประตูคู่หลัง ก็ไม่ได้ออกแบบให้คลุมทับซ่อนโครงสร้างด้านล่างเอาไว้เลย เหมือนด้านหน้าไมมีผิด ทำให้การก้าวลงจากรถนั้น ยังไงๆ ก็อาจเจอปัญหา ขาเกางเกงหรือชายกระโปรง เปื้อนเศษดินโคลน ที่ล้อตะกุยขึ้นมาบริเวณชายล่างของตัวรถได้

กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่กลาง เลื่อนลงมาได้ไม่สุดขอบราง ส่วนแผงประตูคู่หลังนั้น หน้าตาก็แทบจะเหมือนกับแผงประตูคู่หน้าทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ พลาสติก Recycle แต่ทนต่ออากาศร้อนของบ้านเราได้ดี ตำแหน่งของพนักวางแขน บุน่มหุ้มหนัง และยังคงวางได้สบายตั้งแต่ข้อศอก จรดปลายนิ้ว รวมทั้งตำแหน่งช่องวางขวดน้ำดื่ม ขนาด 7 บาท ก็ถูกออกแบบให้เหมือนกับแผงประตูคู่หน้าไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันตรงที่ วัสดุตกแต่ง Trim สีเงินที่ล้อมกรอบ พื้นที่ ส่วนบนของแผงประตูนั้น หายไป

เบาะนั่งแถวกลาง ยังคงมีโครงสร้างหลักเหมือนเดิม คือเป็นแบบ แยกอิสระ ในอัตราส่วน 60 : 40 สามารถแยกปรับเอน และตั้งชัน ได้ 3 ระดับ ด้วยคันโยกด้านข้างพนักพิงหลังทั้งฝั่งซ้ายและขวา ถ้าต้องการเข้าไปนั่งบนเบาะแถว 3 ก็ดึงคันโยกชุดเดียวกัน เพื่อยกชุดเบาะพับแบบ One-Motion Flip เพื่อเปิดช่องทางเข้า – ออก เบาะแถว 3 ได้ ทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้ ด้วยคันโยกใต้เบาะรองนั่งทั้ง 2 ฝั่ง ตามที่เห็นในภาพถ่ายข้างบนนี้

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่มแอบแน่น” แผ่นหลังของผู้โดยสารจะสัมผัสได้ถึงความราบเรียบ เหมือนไม่มีมิติใดๆเพิ่มเติม คล้ายกับเบาะแถว 2 ของ BR-V รุ่นที่แล้ว

พนักวางแขน แบบพับเก็บได้ นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งเสริมเข้ามาให้ใน BR-V ใหม่ เป็นครั้งแรก แต่ไม่มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง มาให้ กระนั้น การออกแบบที่ดี ทำให้ผู้โดยสาร สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอก

พนักศีรษะ ทั้ง 3 ชิ้น ปรับระดับสูง – ต่ำได้ 1 ตำแหน่ง แม้จะยังมีรูปทรงคล้ายๆกับรุ่นเดิม และไม่ได้ออกแบบให้เป็นรูปตัว L คว่ำ แต่การใช้ฟองน้ำแบบ “แน่นแอบแข็ง” พอกันกับพนักศีรษะของเบาะนั่งคู่หน้า ถือว่าเป็นพัฒนาการที่แย่ลง เพราะตัวพนักศีรษะแอบแข็งใกล้เคียงกับพนักศีรษะคู่หน้าเลย เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ซึ่งสบายศีรษะมากกว่า

เบาะรองนั่ง ยังคงมีขนาดสั้น ใช้ฟองน้ำแบบ “นุ่มเกือบนิ่ม” มีมุมเงยไม่เยอะนัก ค่อนข้างเกือบจะแบนราบ การนั่งโดยสาร ยังคงต้องนั่งชันขา ไม่แตกต่างจาก BR-V รุ่นแรก

พื้นที่เหนือศีรษะ (Headroom) สำหรับผู้โดยสารแถวกลาง หากคุณตัวสูง 170 เซนติเมตร จะเหลือพื้นที่ด้านบนมากถึง 1 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือ ในแนวนอนส่วนพื้นที่วางขา (Legroom) นั้น หากปรับเบาะถอยหลังจนสุด จะเหลือพื้นที่วางขาเยอะระดับนั่งไขว่ห้างได้ แต่ถ้าเลื่อนขึ้นมาข้างหน้าจนสุด จะเหลือพื้นที่แค่พอให้างขาได้ โดยที่หัวเข่า ไม่ชนกับช่องวางหนังสือด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า เท่านั้น

ภาพรวมของเบาะแถวกลางนั้น ถือว่า ยังพอจะนั่งสบายอยู่บ้าง แต่ยังไม่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ถือว่าอยู่ตรงกลางของกลุ่ม เพราะเบาะแถวกลางของ Xpander กับ XL7 ยังคงนั่งสบายกว่า ขณะที่เบาะแถวกลางของ Veloz นั้น แม้จะรองรับสรีระช่วงแผ่นหลังได้ดีกว่า BR-V แต่ พนักศีรษะแบบตัว L คว่ำ นั้น ก็ต้องยกขึ้นใช้งาน มิเช่นนั้น ก็จะทิ่มตำช่วงต้นคอได้

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาแถว 2 ยังคงเป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ฝั่งซ้าย – ฝั่งขวา และผู้โดยสารตรงกลาง ซึ่งจะเก็บซ่อนสายเข็มขัดไว้บนเพดาน นอกจากนี้ยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยของเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้ ที่ฐษนพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง

เบาะนั่งแถว 3 นั้น แยกฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 50 : 50 เหมือนรุ่นเดิม สามารถปรับเอนลงได้ 1 ตำแหน่ง และแบ่งพับให้แบนราบเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง ได้ทั้ง 2 ฝั่ง ดูจากรูปร่างหน้าตาและโครงสร้างแล้ว เห็นได้ชัดว่า ชุดเบาะนั่งแถว 3 ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีรายละเอียดที่แตกต่างจากเบาะนั่งแถว 3 ในรถรุ่นเดิม โดยเฉพาะแกนกลางจุดหมุนของพนักพิงเบาะหลัง

พนักพิงหลัง ใช้ฟองน้ำแบบ “นิ่มแอบแน่น” แม้จะออกแบบให้มีร่องสำหรับยุบตัวแตกต่างจากรุ่นเดิม แต่ยังคงให้สัมผัสของแผ่นหลัง ไม่แตกต่างจากพนักพิงเบาะนั่งแถวกลางมากนัก คือ แบน ตรงๆ ไม่มีมิติ เหมือนนั่งพิงหลัง บนม้านั่งในส่วน แต่แอบนุ่มกว่ากันนิดนึง

พนักศีรษะสำหรับเบาะนั่งแถว 3 ยังคงใช้โครงร้างรูปตัว L เหมือนเดิม เพียงแต่ว่า มีการออกแบบให้ส่วนขอบล่าง มีช่วงปลาย ยาวลงมามากขึ้นกว่าเดิม กระนั้น ก็ยังคงให้ประสบการณ์กับผู้โดยสารคล้ายรุ่นเดิม นั่นคือ ถ้าคุณไม่ยกมันขึ้นมาใช้งาน มันก็จะทิ่มตำต้นคอคุณ จนน่ารำคาญ แต่ถ้ายกขึ้นมา ก็มีตัวเกี่ยวยึดล็อกมาให้แค่ 1 ตำแหน่ง เกือบสุดก้านเหล็ก ด้านบน แค่นั้น แถมตัวพนักศีรษะ ก็ยังใช้ฟองน้ำ “แน่นเกือบแข็ง” เหมือนพนักศีรษะของเบาะนั่งแถวกลาง ดังนั้น การพิงศีรษะ จึงทำได้ตามสมควร ไม่ถึงกับแตกต่างจากเบาะแถว 3 ของ BR-V รุ่นเดิมมากอย่างที่คาดหวัง

เบาะรองนั่ง ออกแบบขึ้นใหม่ ให้แยกชิ้นกันชัดเจนทั้งฝั่งซ้ายและขวา ต่างจากรุ่นเดิมซึ่งเป็นเบาะรองนั่งแบบยาวชิ้นเดียว คราวนี้ตัวเบาะรองนั่ง ใช้ฟองน้ำแบบ “นิ่มแอบแน่น” ติดตั้งมาให้ค่อนข้างราบ มีมุมเงย ไม่เยอะ พอกันกับ เบาะรองนั่ง แถวกลาง นั่นหมายความว่า ยังไงๆ ผู้โดยสารบนเบาะแถว 3 ก็ต้องนั่งชันขา อยู่ดี

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร นั้น ยังพอจะเหลือพื้นที่ราวๆ 2 นิ้วมือในแนวนอน ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนนิดนึง ส่วนพื้นที่ วางขา Legroom จะมีเยอะหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความกรุณา ของผู้โดยสารบนเบาะแถวกลาง ว่าจะยอมเลื่อนเบาะแถว 2 ขึ้นไปข้างหน้าให้คุณมากน้อยแค่ไหน

เบาะนั่งแถว 3 ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนแผงพลาสติกบุผังด้านข้าง บริเวณซุ้มล้อคู่หลัง ยังคงออกแบบให้เป็นพนักวางแขนแบบพลาสติก Recycle ได้ ตามเดิม การวางท่อนแขน ถือว่า ยังคงวางได้สบาย ตั้งแต่ข้อศอก จรดปลายนิ้ว เหมือนรุ่นเดิม เพียงแต่ว่า นอกจากช่องวางแก้ว ซึ่งมีมาให้ทั้ง 2 ฝั่งแล้ว ยังเพิ่มช่องวางโทรศัพท์มือถือเป็นหลุมลึกแนวยาวทั้ง 2 ฝั่ง และปลั๊กชาร์จไฟ Power Outlet 12V มาให้

ฝาประตูท้าย สามารถเปิดได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งไว้ ในแนวเดียวกัน ไฟส่องสว่างป้ายทะเบียนหลัง ใช้ช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้นค้ำยัน และไม่มีระบบเปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้า หรือระบบเตะเปิดใดๆมาให้ทั้งสิ้น

พื้นที่วางสัมภาระด้านหลัง ถูกเพิ่มขนาดให้ใหญ่โตขึ้น ความกว้าง จากผนังฝั่งซ้าย – ขวา อยู่ที่ 1,325 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 76 มิลลิเมตร ขณะที่ความสูง อยู่ที่ 979 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 5 มิลลิเมตร ส่วนความจุ ของพื้นที่ด้านหลังเบาะแถว 3 นั้น ก็เพิ่มขึ้น 21 ลิตร จาก 223 เป็น 244 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี แต่ถ้าพับเบาะแถว 3 ลงไป พื้นที่ห้องเก็บของ จะเพิ่มขึ้นเป็น 530 ลิตร VDA

พื้นห้องเก็บของด้านหลัง สามารถยกขึ้นมา เป็นแผงพลาสติก แบ่งกั้นพื้นที่วางของ หรือถอดยกไป เพื่อให้กลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ สำหรับข้าวของที่มีความสูงมากกว่าปกติ ส่วนผนังรถฝั่งขวา จะมีช่องฝาพลาสติก อันเป็นสถานที่สิงสถิตของเครื่องมือประจำรถ

ถ้าถามว่า พื้นที่ด้านหลังของ BR-V ใหม่ กว้างขวางพอจะ สามารถจะนอนในรถ หรือ ตั้งแคมป์ เปลี่ยนสถานที่นอนตอนกลางคืนได้หรือไม่ ยืนยันโดย Mark Pongswang ผู้ที่มีความสูง 180 เซ็นติเมตร ว่า ความยาวหนะ ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่า อาจต้องหา ข้าวของ มาวางบริเวณด้านหลังเบาะแถว 3 ให้สูงจนเป็นระนาบเดียวกัน จึงจะนอนยาวๆ ต่อเนื่อง ได้ ส่วนความสูงนั้น ถ้ายังสามารถนั่งขัดสมาธิบนเบาะอย่างนี้ได้ การจัดพื้นที่เพื่อการไปกางเต๊นท์ นอนค้างอ้างแรม ก็น่าจะทำได้สะดวกโยธินพอสมควร

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีกลิ่นอาย ของรุ่นพี่ร่วมตระกูล อย่าง Honda CR-V รุ่นที่ 5 โดยเฉพาะ ช่องแอร์คู่กลาง ทรงสี่เหลี่ยมคางหมูคว่ำ ตัดขอบด้วยสีเงินซึ่งมีหน้าตาเหมือนยกมาจาก CR-V ไม่ผิดเพี้ยน มีการใช้วัสดุบุนุ่ม หุ้มหนัง พร้อมเย็บตะเข็บด้ายจริง เพียงแค่จุดเดียว คือบริเวณ หน้ากากฝั่งซ้าย ของแผงหน้าปัด และใช้วัสดุพลาสติก สีเงิน Silver ในการประดับตกแต่งตามจุดต่างๆ ของทั้งแผงหน้าปัด ช่องแอร์ แผงคอนโซลกลาง และแผงประตู รวมทั้งมีการตกแต่ง Trim สีดำ Piano Black ล้อมกรอบ ช่องติดตั้งชุดเครื่องเสียง บนแผงควบคุมกลาง

ดูจากในรูปหนะ สวยดี แต่พอสัมผัสของจริง จะพบว่า พลาสติก Recycle ได้ ที่ใช้ในแผงหน้าปัดของ BR-V ใหม่ ยังคงเป็นแบบเดียวกับที่คุณจะเคยเห็นใน Honda City รุ่นที่ 3 (2008 – 2014) ไม่มีผิดเพี้ยน จริงอยู่ว่า มันให้สัมผัสที่ดูแล้วก๊องแก๊ง ดูไม่สมราคารถ แต่จากประสบการณ์ของผม พลาสติกแบบนี้ มีข้อดีคือ แม้คุณจะจอดรถตากแดดเป็นเวลานานหลายปี มันจะไม่แตกหักหรือละลายง่าย อีกทั้งยังมี กลิ่นไอระเหย Thermoplastic ออกมาค่อนข้างน้อย มันเป็นพลาสติกที่เหมาะสมกับการใช้ในรถยนต์สำหรับประเทศเมืองร้อนจริงๆ

มองขึ้นไปบนเพดานหลังคา จะพบ แผงบังแดด ที่มีกระจกแต่งหน้า ไฟแต่งหน้า และฝาปิด ให้มาครบทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนไฟอ่านแผนที่ ยังคงใช้วิธีกดลงไปที่ตัวโคมได้เลย เหมือนเช่น City รุ่นปี 2008 – 2014 ซึ่งให้ความสะดวกในการใช้งานยามค่ำคืนอย่างมาก ส่วนกระจกมองหลังของ BR-V ทุกรุ่นเป็นแบบตัดแสง ปรับด้วยมือ แบบบ้านๆ

จากฝั่งขวา มาทางฝั่งซ้าย

แผงควบคุมสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน รวมทั้ง สวิตช์กดแบบ One Touch กดสวิตช์ลง หรือยกสวิตช์ขึ้น เพียงจังหวะเดียว หน้าต่าง เฉพาะฝั่งคนขับ จะเลื่อนขึ้น – ลง จนสุด โดยอัตโนมัติ กับสวิตช์ล็อกกันเปิดหน้าต่างผู้โดยสาร ติดตั้ง ร่วมกับ สวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า และสวิตช์ระบบ Central Lock หน้าตาคุ้นเคยเหมือนยกมาจากบรรดา Honda ยุคใหม่ๆ เกือบทุกรุ่น

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ เป็นสวิตช์ ติดเครื่องยนต์ สีแดง Push Start ถัดลงมาเป็น สวิตช์ เปิด – ปิด ระบบตัวช่วย Honda SENSING และสวิตช์ เปิด-ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSA กับ TCS ส่วนบริเวณฐานเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา เป็นคันโยกดึงเปิดฝาถังน้ำมัน และคันโยกดึงเปิดฝากระโปรงหน้า ติดตั้งในตำแหน่งเดียวกัน

พวงมาลัย 3 ก้าน หุ้มด้วยหนัง ประดับก้านด้วย Trim สี Silver มีขนาดเหมาะสมกับตัวรถ จับกระชับมือกำลังดี ปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ แต่ปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ไม่ได้ ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย เป็นแผงสวิตช์ควบคุม ชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์มือถือ ส่วนสวิตช์ควบคุมหน้าจอมาตรวัด ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ รวมถึงระบบ Cruise Control แบบ Adaptive จะอยู่บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวาสำหรับรุ่น EL จะมาพร้อมกับแป้น Paddle Shift ด้านหลังพวงมาลัย

ก้านสวิตช์ บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝนด้านหน้า ใบปัดน้ำฝนด้านหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมทั้งหน้า-หลัง ปรับระดับได้ 2 ความแรง แต่ไม่มีระบบตั้งหน่วงเวลามาให้ ส่วนก้านสวิตช์ บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้ควบคุมไการเปิด-ปิดไฟหน้า ไฟตัดหมอก ไฟเลี้ยว รวมถึงปุ่มเปิดระบบ Honda Lane Watch กรณีผู้ขับขี่ต้องการจะให้กล้องที่กระจกมองข้างทำงานแม้ไม่เปิดไฟเลี้ยว

ชุดมาตรวัด เปลี่ยนจากแบบ 3 วงกลม มาเป็น 2 วงกลม ที่ดูละม้าย คล้ายกับชุดมาตรวัดของ Honda City 1.0 Turbo ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ พร้อมไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว ล้อมกรอบทั้ง 2 วงกลม ด้วยวงแหวนพลาสติกชุบโครเมียม รายล้อมไปด้วยไฟเตือนนานาชนิด ตัวเลขสีขาว อยู่บนพื้นหลังสีดำ

บริเวณตรงกลางชุดมาตรวัด เป็นจอแสดงข้อมูลแบบ สี  TFT Multi Information Display ขนาด 4.2 นิ้ว ซึ่งจะแจ้งข้อมูลทั้ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ เฉลี่ย และ Real Time ระยะทางที่น้ำมันในถังจะพาให้รถแล่นต่อไปได้ Trip Meter A & B อุณหภูมิภายนอกรถ มาตรวัดระยะทางรถ Odometer มาตรวัดน้ำมันในถัง ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ นาฬืกา ฯลฯ

ชุดมาตรวัด อาจดูไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับจอ Graphic ของ Toyota Veloz แต่การแสดงข้อมูลต่างๆ อ่านง่าย รับรู้ได้รวดเร็ว ระยะห่างของตัวเลขในแต่ละตำแหน่ง อยู่ในระดับเหมาะสม Font ตัวเลข มีรูปแบบและขนาดกำลังเหมาะ ซึ่งผมมองว่า นี่ก็เพียงพอแล้วสำหรับรถยนต์พิกัดนี้

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย

กล่องเก็บของ พร้อมฝาปิด Glove Compartment มีความลึกเท่ากับรุ่นเดิม แต่มีความกว้างลดลงเล็กน้อย จากผลของการออกแบบแผงหน้าปัดทั้งชุด แต่ยังใหญ่พอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถ แล้วยังมีพื้นที่เหลือพอให้ใส่ข้าวของจุกจิกอีกมากพอสมควร

ด้านความบันเทิง BR-V รุ่น EL ติดตั้ง ชุดเครื่องเสียง ควบคุมผ่านจอ Monitor สีขนาด 7 นิ้ว Touch Screen แบบ Advanced Touch รองรับการใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ทั้ง Apple Carplay และ Android Auto รวมทั้งรองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย Bluetooth มีระบบสั่งงานด้วยเสียงควบคุมได้จากสวิตช์บนก้านพวงมาลัย รุ่น E ให้ลำโพงมา 4 ชิ้น ส่วนรุ่น EL เพิ่มลำโพง Tweeter มาให้ อีก 2 ชิ้น รวมเป็น 6 ชิ้น

คุณภาพเครื่องเสียง ถือว่า ใช้ได้ ไม่แย่อย่างที่คิด แต่ก็ไม่ได้ดีมากจนโดดเด่น สิ่งที่ผมชื่นชอบคือ ช่วงติดเครื่องยนต์ เปิดใช้งาน หน้าจอจะเล่นภาพ Graphic คำว่า BR-V พร้อมเสียงประกอบ ซึ่งชวนให้นึกถึงช่วงเวลาที่เรากำลังจะเปิด เครื่องเล่นเกมส์ Sony Playstation มากๆ ถือเป็น ลูกเล่นของสินค้า AV (Audio Visual นะ ไม่ใช่ Adult Video) ฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็น สิ่งละอันพันละน้อย ที่ช่วยเพิ่มความรื่นรมณ์ก่อนเริ่มขับรถออกไปใช้งาน ในแต่ละวัน

ถัดลงมาด้านล่างเป็นชุดสวิทช์ควบคุมเรื่องปรับอากาศ แบบ Digital ไม่ได้เป็นแบบแยกซ้าย – ขวา แบบ Dual zone แต่อย่างใด โดยปุ่มลูกศรขึ้น – ลง ฝั่งซ้ายสุดใช้ในการควบคุมระดับความแรงพัดลม ส่วนด้านขวาสุดใช้สำหรับปรับอุณหภูมิ ส่วนปุ่มอื่น ๆ ที่เหลือไล่จากซ้ายไปทางขวาตามลำดับก็ได้แก่ ปุ่มเปิด – ปิดระบบหมุนเวียนอากาศ ปุ่มเปิด – ปิดไล่ฝ้าที่กระจกหลัง ปุ่มปรับโหมด ปุ่มเปิด – ปิด A/C ปุ่มเปิดระบบเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ และปุ่มเปิดปิดเครื่องปรับอากาศ

ถัดลงมาเป็นแผงคอนโซลเกียร์ ระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า ประกอบด้วยช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง วางอยู่หน้าคันเกียร์ที่มีหน้าตาคุ้นเคย  ใต้แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ เป็นที่อยู่ของช่องจ่ายไฟ 3 จุด ซึ่งประกอบไปด้วยช่องจ่ายไฟ Power Outlet 12V 180W 1 ช่อง ทางฝั่งซ้าย และช่อง USB A 2 ช่องทางด้านขวา (เสียบชาร์จไฟ พร้อมต่อเชื่อมระบบโทรศัพท์มือถือ ได้ 1 จุด)

บริเวณฐานคันเกียร์ ตกแต่งด้วยวัสดุ Piano Black ล้อมกรอบด้วยสีเงิน ถัดมาทางข้างหลังเป็นก้านเบรกมือแบบมาตรฐาน หน้าตาเหมือนยกมาจาก Honda Civic Dimension ปี 2000 เปี๊ยบ! ใต้เบรกมือ มีช่องวางของจุกจิกเล็กน้อย

ประเด็นนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้ลูกค้าพากันส่ายศีรษะ เพราะคู่แข่งรุ่นใหม่ๆ ทั้ง Toyota Veloz และ Mitsubishi Xpander เขาให้เบรกมือแบบไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold กันหมดแล้ว แต่ Honda ยังคงเลือกที่จะติดตั้งเบรกมือแบบดั้งเดิมมาให้อยู่เลย ส่วนตัวผม ไม่ซีเรียส กับเรืองเบรกมือไฟฟ้า แต่ในเมื่อคู่แข่งรุ่นใหม่ เขาให้กันมาหมดแล้ว ไฉนเลย Honda จะไม่ติดตั้งมาให้กับ BR-V บ้างละ?

ถัดมาเป็นพนักพักแขน บุนุ่มหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ ซึ่งพอวางข้อศอกได้ประมาณหนึ่ง เมื่อเปิดขึ้นมาก็จะพบกับกล่องคอนโซลสำหรับเก็บของ ขนาดปานกลาง พอให้ใส่ข้าวของจุกจิกได้นิดหน่อย ส่วนด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง เป็นปลั๊กไฟ Power Outlet 12 V อีก 1 ตำแหน่ง

มองขึ้นไปบนหลังคา จะพบ ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ 3 โดยมี พัดลมแอร์ Blower ที่เลือกปรับระดับความแรงได้ 3 ระดับ เพื่อช่วยกระจายแรงลม พร้อมไอเย็น ไปให้ทั่วถึงพื้นที่โดยสารแถวกลางและหลังสุด ตัวหน้ากากแอร์ มี 3 ช่อง เป็นสีดำเหมือนวัสดุบุฝ้าเพดาน พัดลมนั้นมีลมออกมาค่อนข้างแรง แต่ความเย็นนั้นไม่ถึงกับฉ่ำ หากปรับอุณหภูมิด้านหน้าที่ 25 องศาเซลเซียส เหมือนรถทั่วไป จะไม่ค่อยเย็น ต้องลดอุณหภูมิ ที่หน้าจอเครื่องปรับอากาศด้านหน้า ลงมา ประมาณ 23 องศาเซลเซียส ถึงจะโอเค

ส่วนมือจับเนือช่องประตู และช่องหน้าต่าง หรือที่เว็บของเรา เรียกเล่นๆว่า เป็น “มือจับศาสดา” สำหรับให้ผู้โดยสาร ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาผู้ขับขี่เกิดอยากจะซิ่งขึ้นมานั้น Honda ใจป้ำ จัดมาให้ทั้งหมด ถึง 6 ตำแหน่ง ทั้งคู่หน้า แถวกลาง และคู่หลัง ถือว่าดีแล้วที่ติดตั้งมาให้ครบถ้วนตั้งแต่แรก นอกจากนี้ ไฟส่องสว่างในเก๋ง หลัก ถูกติดตั้งบริเวณตอนกลางของเพดานหลังคา เพื่อเพิ่มความสว่างในยามค่ำคืน

ทัศนวิสัยด้านหน้า เพราะมีการปรับยกระดับตำแหน่งสายตาคนขับให้สูงขึ้น 44 มิลลิเมตร เพื่อให้มองเห็นถนนข้างหน้าชัดเจนยิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม ไม่เพียงแค่นั้น การออกแบบให้ด้านหน้ารถ ตั้งชันขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย จนดูเป็น SUV มีผลช่วยให้ผู้ขับขี่ ซึ่งคุ้นชินกับการใช้ฝากระโปรงหน้า ในการกะระยะมุมรถ มองเห็นฝากระโปรงหน้ารถชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทั้งฝั่งซ้าย และขวา มีขนาด ความหนา เท่ากันกับรถรุ่นเดิม ดังนั้น การบดบังยานพาหนะ ที่แล่นสวนทางมาบนทางโค้งขวา แบบสวนกันสองเลน ค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังไม่ค่อยบดบังการมองเห็นยานพาหนะที่แล่นสวนทางมา ระหว่างรอเลี้ยวกลับรถ เท่าใดนัก เพียงแต่ว่า พื้นที่การมองเห็นในกระจกมองข้าง แอบน้อยลงนิดนึง จากด้านข้าง และด้านบน ซึ่งถ้าไม่ได้เปรียบเทียบกับรูปถ่ายของรถรุ่นเก่าแล้ว ก็จะไม่รู้เลย

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง เมื่อมองจากมุมของผู้ขับขี่นั้น ยังคงคล้ายคลึงกับ BR-V รุ่นเดิม ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่กระจกหน้าต่างด้านข้างขนาดใหญ่โต ช่วยทำให้บรรยากาศและการมองเห็นด้านข้างรถ โปร่งตามาก เหมือนเดิม การมองเห็นเสาหลังคาคู่หลัง D-Pillar นั้น โดนขอบของพนักศีรษะเบาะแถวกลางเบียดบังนิดนึง เช่นเดียวกับรุ่นเดิม ถ้าอยากมองเห็นให้ชัดเจน ก็แค่ปรับพนักพิงเบาะแถวกลาง เอนลงไป 1 จังหวะ ส่วนการมองเห็นยานพาหนะที่แล่นตามหลังมา บนกระจกบังลมหลังนั้น ปลอดโปร่งดี แต่เมื่อใดที่ยกพนักศีรษะของเบาะแถวหลังสุดขึ้นใช้งาน ยังไงๆ ก็บดบังการมองเห็นของกระจกบังลมหลังอยู่ดี

นอกจากนี้ เพื่อเสริมให้ทัศนวิสัยด้านข้างดีขึ้น BR-V ใหม่ เวอร์ชันไทย ทุกคัน มาพร้อมกับระบบ Honda Lane Watch ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยกันมานานแล้ว เพราะมันเริ่มถูกนำมาใช้ในบ้านเราครั้งแรก กับ Accord G9 เมื่อปี 2013 ระบบนี้ ใช้กล้องใต้กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ทำงานเมื่อเปิดไฟเลี้ยวซ้าย ฉายภาพขึ้นจอ Monitor สี ตรงกลาง หรือไม่ก็กดปุ่มบนหัวก้านสวิตช์ไฟเลี้ยว เพื่อตัดภาพกล้องเข้ามาในรถ หากยังใช้ความเร็วต่ำอยู่ หวังช่วยเพิ่มการมองเห็นยานพาหนะที่แล่นมาขนาบข้างทางฝั่งซ้ายของรถ

ความน่ารำคาญของระบบ Lane Watch ใน Honda หลายๆรุ่น ก็ยังคงตามติดมาหลอกหลอน ใน BR-V ด้วย นั่นคือ เวลาขับขี่ไปด้วย แล้วเชื่อมต่อแผนที่ กับ Google Map ไปด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ก่อนถึงทางแยกข้างหน้า คุณกำลังสับสนว่า จะเลี้ยวเข้าซอยไหนกันแน่ เมื่อคุณเปิดไฟเลี้ยวปุ๊บ จอมอนิเตอร์ จะตัดเข้ากล้อง ของระบบ Lane Watch ทันที ทำให้เกิดความสับสน และเลี้ยวเข้าซอยผิด ก็มีมาแล้ว

ปัญหานี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้า Honda รุ่นนั้น มีจอ Monitor กลาง 2 จอ แบบ Accord Gen.9 ปี 2013 – 2019 คือแยกจอของระบบนำทางไว้ด้านบน ส่วนจอที่รับภาพจากกล้อง ก็แยกออกมาอยู่ข้างล่างแทน แต่ในความเป็นจริง การแยก 2 จอ แบบ Accord G9 นั้น ลายเป็นภาระต้ทุนที่เพิ่มขึ้นของ Honda โดยไม่จำเป็น จึงต้องยุบรวมเหลือจอเดียว ซึ่งปัญหา ตัดภาพสลับกันแบบนี้ จึงกลับมาให้ลูกค้าได้พบเจอกันอีกครั้ง

พูดกันตรงๆก็คือ ไม่เข้าใจว่า ทำไม Honda ยังทนทู่ซี้ ติดตั้งระบบ Lane Watch มาให้กับรถยนต์ Honda เวอร์ชันไทยทุกรุ่น กันอยู่ได้ ทั้งที่ในสหรัฐอเมริกา CR-V รุ่นใหม่ เขาเปลี่ยนไปใช้ระบบ Blind Spot แจ้งเตือนรถที่แล่นมาทางด้านข้าง ณ กระจกมองข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง กันแล้ว อยากให้ Honda ถอดระบบ Lane Watch ออก แล้วติดตั้ง ระบบ Blind Spot เข้าไปแทนเสียที มันช่วยแก้ปัญหาข้างต้น ของผู้ขับขี่ ได้ดีกว่าแบบไม่ต้องสงสัยเลย

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
************* Technical Information & Test Drive ************

Honda ยังคงยืนหยัด ในการใช้ทรัพยากรเก่าที่มีอยู่แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เว้นแม้กระทั่ง การปรับปรุงเครื่องยนต์เดิมของ BR-V บนพื้นฐาน บล็อก L15 ที่ใช้กันมาตั้งแต่ ปี 2001 ให้มีระบบขับวาล์วใหม่ จาก SOHC มาเป็น DOHC (Twin Cam) ซึ่งไม่ว่าใครจะคิดเห็นเช่นใดก็ตาม ผมกลับมองว่า ผลลัพธ์ที่ได้ เครื่องยนต์บล็อก L15 นี้ มันก็ยังคงให้สมรรถนะที่เหมาะสมกับตัวรถ โดยยังคงทำให้ต้นทุนในการพัฒนาตัวรถทั้งคัน ไม่สูงจนเกินไปนัก

เครื่องยนต์ ของ BR-V ใหม่ เป็นรหัส L15ZF เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร 1,498 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.6 : 1 ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า Drive-By-Wire (DBW) จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC

กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 117 เป็น 121 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ยังคงพอกันกับรุ่นเดิม คือ 145 นิวตันเมตร (14.8 กก.-ม.) มาในรอบเครื่องยนต์ต่ำลงเหลือ 4,300 รอบ/นาที ถ้าสังเกตดีๆ จากกราฟแรงม้า แรงบิดข้างบนนี้ จะเห็นได้ว่า มีการปรับจูนสมองกล ECU (Engine Control Unit) ให้เหมาะสมกับขนาดตัวรถ ซึ่งช่วยเพิ่มการตอบสนองของเครื่องยนต์ เรียกแรงบิดออกมา ในช่วงตั้งแต่ 1,000 – 4,000 รอบ/นาที ได้ดีขึ้น 5% เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิม

ขุมพลังรุ่นนี้ ปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 148 กรัม/กิโลเมตร ตามข้อมูลจาก ECO Sticker ของรัฐบาลไทย และสามารถเติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ทั้งเบนซิน 95 ,เบนซิน 91 , Gasohol E10 , E20 ไปจนถึง Gasohol E85

ขุมพลังดังกล่าว ยังคงถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT (Continuous Variable Transmission) รุ่นเดิม แต่มีการปรับปรุงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพ และความประหยัดน้ำมัน ดีขึ้น 4% เมื่อเทียบกับ BR-V รุ่นเดิม รวมทั้ง การเพิ่มระบบ Step Up shift Control of Cornering Gravity & G Design Shift

หลักการทำงาน ของระบบดังกล่าว เข้าใจง่ายมากครับ หากคุณค่อยๆเหยียบคันเร่งไต่ความเร็วขึ้นไป เกียร์ก็จะยังคงทำหน้าที่ในแบบ เกียร์ CVT คือจะค่อยๆไล่ขึ้นไปยังเกียร์สูง (อัตราทดลดลง) อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อคุณกดคันเร่งเต็ม หรือเกือบเต็มตีน เพื่อจงใจลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปสูงๆ เกียร์จะเปลี่ยนการตอบสนองจาก CVT ปกติ เป็นแบบขั้นบันได Step Up เหมือนเกียร์อัตโนมัติแบบปกติทั่วไป เช่น เมื่อลากรอบไปถึง 6,000 รอบ/นาที เกียร์ จะถูกสั่งให้เปลี่ยนขึ้นไปเป็นรอบ

แต่ในขณะที่เหยียบเบรกเต็มที่ เครื่องยนต์จะรักษารอบเครื่องยนต์เอาไว้ระดับนึ่ง และค่อยๆลดความเร็วลงมา โดยเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้ เมื่อความเร็วของรถ ลดลง อัตราทดเกียร์ ก็จะลดลงตามด้วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ Engine Brake ขณะลงทางลาดชันได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เฉพาะรุ่น EL จะเพิ่ม แป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้เป็นพิเศษ ฝั่งซ้าย ตบเพื่อเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ และฝั่งขวา ตบเพื่อเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูง

อัตราทดเกียร์ มีการปรับปรุงใหม่ดังนี้

  • เกียร์เดินหน้า  รุ่นเดิม อยู่ในช่วง 3.484 – 0.562 : 1  ส่วนรุ่นใหม่ อยู่ในช่วง 2.525 – 0.408 : 1
  • เกียร์ถอยหลัง  รุ่นเดิม อยู่ในช่วง 3.733 – 1.906 : 1 ส่วนรุ่นใหม่ อยู่ในช่วง 1.489 – 2,706 : 1
  • อัตราทดเฟืองท้าย รุ่นเดิมอยู่ที่ 3.941 : 1 ส่วนรุ่นใหม่ อยู่ที่ 5.436 : 1

สมรรถนะจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองจับเวลา หาอัตราเร่งกันเหมือนเดิม นั่นคือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ (103 กิโลกรัม) และผู้โดยสาร สักขีพยาน (Mark Pongswang น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม) รวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

เห็นตัวเลขแล้ว ผมนั่งขำกับตัวเอง มันมีไม่บ่อยครั้งนักหรอกครับ ที่ตัวเลขการจับเวลา ของรถยนต์รุ่นเดียวกัน แต่คนละ Generation ผ่านไป 6 ปี ก็ยังออกมาได้เท่าเดิมเป๊ะขนาดนี้ ฮ่าๆๆๆ

ก็คงต้องบอกว่า ต่อให้มีการเพิ่มพละกำลังเครื่องยนต์ ให้มีแรงม้า เพิ่มขึ้น 4 ตัว และเซ็ตให้แรงบิดสูงสุด เท่าเดิม แต่มาถึงในรอบเครื่องยนต์สูงสุดที่ต่ำลง ทว่า เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเลขอัตราเร่ง ของ BR-V ใหม่ ไม่ได้แตกต่างไปจากรถรุ่นเดิมเลย ดูราวกับว่า มีความจงใจที่จะทำให้ตัวเลขอัตราเร่งยังคงออกมาอยู่เท่ากันกับรถรุ่นเดิม ซึ่งทำให้ BR-V และยังคงรักษา ตำแหน่งจ่าฝูง ด้านอัตราเร่ง ในกลุ่ม B-Segment Minivan / Crossover Low Cost จาก Indonesia ไว้ได้ตามเดิม (ถ้าไม่นับ Mobilio ญาติผู้น้อง) เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แอบเร็วขึ้นเล็กน้อย ในหลักจุดทศนิยม ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ถือว่า ต่างกันกระจึ๋งนึง

การไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น ในช่วงออกตัว 0 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังคงให้เรี่ยวแรงที่ดี เหมือนเดิม ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ความเร็วของรถทะยานขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้นไป จึงจะเริ่มค่อยๆไต่ความเร็วขึ้นไปช้าลง แต่ยังไม่มากนัก จะมาชัดเจนก็ช่วงหลังจาก 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เข็มความเร็วจะไต่ช้าลงไปอีกหน่อย แต่ เอาเข้าจริงแล้ว BR-V สามารถไต่ขึ้นไปถึงความเร็ว Top Speed 168 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,100 รอบ/นาที ได้ไวกว่า คู่แข่งในกลุ่มพิกัดเดียวกัน ทุกรุ่นทุกคัน เหมือนเช่นเคยอยู่ดี

ย้ำกันเหมือนเช่นเคย ว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง การตอบสนองของเครื่องยนต์นั้น เหมือนรุ่นเดิม ไม่แตกต่างใดๆ เลย อัตราเร่งที่มีมาให้ถือว่า “แรงกว่าคู๋แข่งในตลาดกลุ่มเดียวกันทุกคัน” และแค่นี้ ก็พอเพียงต่อการใช้งานทั่วไปแล้ว แรงดึงจากจุดหยุดนิ่ง หรือ ในจังหวะเร่งแซง การตอบสนอง จะมาในรูปแบบเหมือนๆกัน หรือสไตล์เดียวกันกับ BR-V รุ่นเดิม คันเร่งก็ตอบสนองได้ค่อนข้างทันใจ ทันท่วงที ไม่ต้องรอนานจนเกินไป คิดจะเร่งแซงเมื่อไหร่ เหยียบคันเร่งลงไปได้ตามที่ใจต้องการ รถก็จะทะยนขึ้นไปตามนั้น

ตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มแรงม้า และรักษาแรงบิดสูงสุดไว้ที่ระดับเดิม แต่ลดรอบเครื่องยนต์ลงมานั้น หวังผลเพื่อดึงแรงบิดสูงสุด ออกมาในรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำลง ดูเหมือนจะเป็นการชดเชยกับการเปลี่ยนมาใช้ล้ออัลลอยขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 17 นิ้ว ซึ่งมักจะมีน้ำหนักของล้อ (Wheel mass) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ตามไปด้วย ซึ่งก็ต้องใช้แรงในการหมุนล้อเพิ่มขึ้น หากเครื่องยนต์ มีแรงเท่าเดิม ตัวเลขอัตราเร่งก็จะลดลงมานิดนึง แต่ถ้าเซ็ตเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นนิดนึง ก็จะได้กำลังชดเชยกับน้ำหนักล้อที่เพิ่มขึ้น นั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจาก รถรุ่นเดิมอย่างชัดเจน นั่นคือ การเซ็ตโปรแกรมสมองกลเกียร์ ให้สามารถทำตัวเหมือนเกียร์อัตโนมัติแบบ Step ตามปกติ ได้ เมื่อคุณเหยียบคันเร่งจมมิด เกียร์จะสั่งลากรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปถึงช่วงประมาณ 6,400 – 6,600 รอบ/นาที ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเกียร์ที่สูงขึ้น หรือถ้าจะพูดให้ตรงจุดกว่าก็คือ เปลี่ยนตำแหน่งล็อกพูเลย์ขับเคลื่อน ให้มีอัตราทดต่อรอบเครื่องยนต์ลดลงเรื่อยๆ ตามตำแหน่งที่โปรแกรมล็อกเอาไว้

การเซ็ตสมองกลเกียร์ ในลักษณะนี้ เป็นวิธี ที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่น ทุกราย กำลังนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการขับขี่ ให้คล้ายคลึงกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ มากขึ้น หลังจากโดนผู้บริโภคทั่วโลก พากันก่นด่า ว่า ไม่ชอบนิสัยเกียร์ CVT ดั้งเดิม ที่เอาแต่ดึงรอบเครื่องยนต์ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด แล้วคาทิ้งไว้แบบนั้น ให้เสียงเครื่องดังต่อเนื่องในระดับสูงๆ

ภาพรวมแล้ว อัตราเร่งของ BR-V ที่ถือว่า แรงสุดในกลุ่มนั้น ถ้าถามว่าแรงพอไหม ก็ตอบได้เลยว่า เพียงพอต่อการใช้งานของครัวเรือนทั่วไป ถ้าคุณรับได้กับอัตราเร่งของ Honda City 1.5 ลิตร ทั้ง Gen 3 ปี 2008 – 2014 และ Gen 4 กัปตันมาวิน ปี 2014 – 2019 หรือ Toyota Vios 1.5 ลิตร ผมเชื่อว่า คุณจะใช้ชีวิตอยู่กับ BR-V ใหม่ได้สบายๆ เหมือนอย่างที่หลายครอบครัว ซึ่งเป็นเจ้าของ BR-V รุ่นเดิม เขาก็มองว่า อัตราเร่ง ยอมรับได้ แรงพอประมาณ ไม่ได้แรงมาก แต่ก็ไม่อืดอาดยืดยาด เหมือนอย่าง Veloz และ Xpander

***** การเก็บเสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน *****
*********
NVH Noise Vibration and Harshness *********

ทีมวิศวกรของ Honda R&D Asia Pacific มุ่งเน้นการปรับปรุงเรื่องเสียง และการสั่นสะเทือนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงฝาครอบเครื่องยนต์ และฝา ยูรีเทน เพื่อลดเสียงของเครื่องยนต์ขณะทำงานลง มีการติดตั้ง Dynamic Module ที่ยางรองแท่นเครื่องยนต์ด้านข้าง การปรับปรุงฐานยึดเครื่องยนต์แนวขวาง และตัวจับก้านบิด Torque Rod Holder ทั้งหมดนี้ ช่วยลดการสั่นสะเทือนให้น้อยลง

ขณะเดียวกัน ยังมีการติดตั้งวัสดุซับเสียงตามจุดต่างๆ ของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็น ด้านในของบังโคลนรถด้านหลัง แผ่นรองด้านล่างเครื่องยนต์ รวมทั้งใต้ฝากระโปรงหน้า นอกจากนี้ ยังมีการใช้ สเปรย์โฟม ตามจุดต่างๆของตัวถัง เพื่อเพิ่มความเงียบ ช่วยป้องกันฝุ่น และกลิ่นรบกวนจากภายนอก ไม่ให้เล็ดรอดเข้าไปในห้องโดยสาร ลงได้มากถึง 60%

ในการขับขี่จริง การเก็บเสียง นั้น หากมองในประเด็น เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถครึ่งท่อนบน เสียงเครื่องยนต์ขณะจอดเดินเบา เสียงดังจากกระจกบังลมหน้า เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสาคู่กลาง B-Pillar หรือเสียงลมที่ไหลเล็ดรอดเข้ามาตามยางขอบประตูหน้าต่างแล้ว ก็ถือว่า BR-V ใหม่ ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย ยังพอมีเสียงลมอยู่บ้างเบาๆ ที่ยางขอบประตูด้านบน นิดๆ หลังความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป และจะค่อยๆ ดังขึ้นนิดๆ เรื่อยๆ ตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น ภาพรวมในประเด็นนี้ ยังถือว่าดีกว่า Suzuki XL-7 และ Toyota Veloz นิดนึง แต่ยังไม่เท่า Mitsubishi Xpander ซึ่งเก็บงานครึ่งท่อนบนของตัวรถได้เงียบกว่า

อย่างไรก็ตาม ในด้านการเก็บเสียงจากพื้นถนน เสียงยางติดรถ เสียงกระแสลมหมุนวนในซุ้มล้อคู่หลัง แม้จะดีขึ้นกว่า BR-V รุ่นเดิม ชัดเจน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ยังทำได้แค่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่งรุ่นใหม่ๆอย่าง Xpander คือยังไม่ได้เงียบสนิทเท่าที่ควร ซึ่งก็ต้องทำใจ เพราะรถยนต์ในกลุ่มนี้ การควบคุมต้นทุน เพื่อให้ยังสามารถตั้งราคาขายได้ โดยมีกำไรต่อคันเยอะๆ ยังเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นทุกราย คำนึงถึงเป็นสำคัญ แต่ถ้าทำได้ การใส่ Insulator หรือฉีดโฟมซับเสียง เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย น่าจะช่วยลดเสียงลมลงไปได้อีก

ขณะเดียวกัน อาการสะเทือน ขณะขับผ่านพื้นถนนปูนซีเมนต์ ในระบบทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงพ้นจากด่านเก็บเงิน ม.ธรรมศาสตร์รังสิต มาเล็กน้อย ซึงเป็นช่วงพื้นผิวขรุขระมากสุดในระบบทางด่วนของ กรุงเทพมหานคร พบว่า อาการสะเทือนจากล้อ ยังพอมีขึ้นมาให้ผู้ขับขี่สัมผัสได้ ผ่านทางพื้นรถ และคอพวงมาลัย แม้ว่า ตัวเบาะรองนั่ง กับพนักพิงหลัง จะมีแผ่นช่วยซับแรงไว้นิดหน่อยแล้วก็ตาม

ส่วนปัญหาเรื่องกลิ่นจากภายนอก ที่เล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสาร ซึ่งเคยเป็นประเด็นใน BR-V รุ่นเดิมนั้น การแก้ไขปรับรุงคราวนี้ ทำให้ปัญหาดังกล่าว หายไป อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ผมได้กลิ่นเหม็นจากภายนอกรถหลุดเข้ามา จากช่องแอร์ ทั้งที่ยังเปิดระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถเอาไว้อยู่ แต่ถือว่า ไม่มากนัก และเป็นปัญหาเฉพาะในจังหวะเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงเวลาที่เหลือ ผมยังไม่เจออาการดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) ด้วยมอเตอร์แบบไร้แปรงถ่าน ควบคุมด้วยกล่องสมองกลอยู่ที่คอพวงมาลัย อัตราทดเฟืองพวงมาลัย ปรับปรุงจาก 16.9 มาเป็น 16.4 : 1 หมุนจาก ซ้ายสุดไปขวาสุด ลดลงจาก 3.42 รอบ เหลือ 3.36 รอบ รัศมีวงเลี้ยว ยังคงอยู่ที่ 5.3 เมตร ตามเดิม

ถ้าผมจะบอกว่า นีคือพวงมาลัยที่ให้การตอบสนอง ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดา Sub-Compact Minivan จาก Indonesia ทุกรุ่น คุณจะเชื่อไหม? อันที่จริง BR-V รุ่นเดิม ก็ชนะคู่แข่งอยู่แล้วในประเด็นนี้ แต่สำหรับรุ่นใหม่นี้ พวงมาลัยยิ่งตอบสนองดีขึ้นกว่าเดิม แบบชัดเจน จนสัมผัสได้

ฟังดูแล้วอาจจะแปลกใจได้ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูรถยนต์ Honda รุ่นใหม่ๆ ในช่วง 2 ปีมานี้ คุณจะสังเกตได้ว่า City มีพวงมาลัยที่ให้น้ำหนักหนืดกำลังดีแบบรถเก๋งขนาดใหญ่ ขณะที่ Civic มีพวงมาลัยที่คล่องแคล่ว แม่นยำขึ้น และให้ความต่อเนื่อง (Linear) ดีขึ้น ส่วน Accord ก็มีพวงมาลัยที่ตอบสนองได้ดี ไม่เนือยมาก และไม่ไวมากจนเกินไป

เชื่อไหมครับว่า BR-V ก็ถูกปรับเซ็ตให้มีน้ำหนักพวงมาลัย ไปในทิศทางนั้น…ถ้าเทียบกับญาติพี่น้องร่วมตระกูลแล้ว ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยของ BR-V ใหม่ จะอยู่ตรงกลางระหว่าง City รุ่นล่าสุด ซึ่งหนืดพอสมควร และ Civic ใหม่ ที่เบาแต่อยู่ในเกณฑ์กำลังดี โดยที่ น้ำหนักพวงมาลัย BR-V จะกระเดียดไปทาง Civic มากกว่าสักหน่อย

ดังนั้น การหมุนพวงมาลัยบังคับเลี้ยวในเมือง ทั้งในขณะถอยเข้าจอด หรือลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ จึงมีทั้งความคล่องแคล่ว แม่นยำพอประมาณ ในระดับที่รถยนต์ประเภทนี้ควรเป็น คือไม่คมเป็นรถสปอร์ตจนเกินไป และไวพอประมาณ กำลังดี และไม่เนือยเกินไปจนเหมือนตอบสนองช้า และไม่ทื่อแบบพวงมาลัยไฟฟ้ายุคเก่าๆของคู่แข่ง อย่าง Xpander ผมมองว่า น้ำหนักในช่วงความเร็วต่ำ ถือว่า เบากำลังดี ไม่เบาหวิวแบบ Veloz หรือเบาโหวงแบบ Nissan Sylphy 1.6 แต่มีแรงขืนที่มีนิดหน่อย ดีมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง หักเลี้ยวแล้ว มีการคืนกลับค่อนข้างเป็นธรรมชาติ กลุ่มลูกค้าสุภาพสตรี จะชอบพวงมาลัยแบบนี้แน่ๆ

ส่วนการตอบสนอง ในย่านความเร็วเดินทาง และย่านความเร็วสูงนั้น พวงมาลัยนิ่งขึ้น แม้จะมีน้ำหนักเบาอยู่ แต่การถือตรง On Center feeling ดีขึ้น เป็นธรรมชาติขึ้น และมั่นใจในการถือตรงช่วงความเร็วสูงๆมากขึ้นกว่าเดิมชัดเจน ผมสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย ที่ความเร็วระดับ 168 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้นานถึง 9 วินาที กว่าที่รถจะเริ่มเบี่ยงออกไปทางเลนซ้าย ซึ่งจุดนี้ ผมว่า นักขับสุภาพบุรุษส่วนใหญ่ น่าจะชื่นชอบกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน

สิ่งที่แตกต่างจากรุ่นเดิมชัดเจนที่สุด คือการปรับปรุงบุคลิกพวงมาลัย ขณะเลี้ยวเข้าโค้ง ให้มีการตอบสนองที่เป็นธรรมชาติขึ้น จังหวะแรกที่เลี้ยว พวงมาลัยจะเริ่มเลี้ยวกำลังดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป แต่หลังจากนั้น ก็เป็นไปตามรูป Linear Curve ข้างล่างนี้ พวงมาลัยก็มีแรงขืนที่มือ กำลังดี แม้น้ำหนักจะเบาก็ตาม แต่ถือว่า หนืดขึ้นกว่ารุ่นเดิม นิดหน่อย บังคับเลี้ยวได้แม่นยำตามเท่าที่ผมคาดหวังให้รถประเภทนี้เป็นกัน

สรุปว่า พวงมาลัย มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น น้ำหนักยังคงเบาอยู่ แต่เบาน้อยลง และมีแรงขืนที่มือเพิ่มขึ้นนิดนึง ในช่วงความเร็วต่ำ และอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ในย่านความเร็วสูง กลายเป็นพวงมาลัยที่ตอบสนองได้เป็นธรรมชาติ และทำให้ผมชื่นชอบมากสุดในบรรดาคู่แข่งจากกลุ่มตลาด Sub-Compact 7 Seater จาก Indonesia ถ้าทำได้ อยากขอน้ำหนักในย่านความเร็วสูงเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นอีกนิดเดียว แต่ถ้าจะไม่เพิ่ม ผมว่าก็ไม่ใช่ปัญหา

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างด้านหน้า ยังคงเป็นแบบอิสระ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ถูกปรับจูนเป็นพิเศษให้แข็งแรงขึ้นกว่ารุ่นเดิม ส่วนด้านหลัง ยังคงเป็นแบบ คานบิดกึ่งอิสระ Torsion Beam แบบ H-shape แยกชุดสปริง กับช็อกอัพหลัง ออกจากกัน มีการปรับเอียงมุมเรขาคณิตของช่สงล่างด้านหลัง มุมเอียงองศาของช็อกอัพคู่หลัง ให้เอียงไปทางด้านหลังเล็กน้อย และการปรับจูน Damper ให้ดูดซับแรงสะเทือนดีขึ้น (แต่ไม่มีเหล็กกันโคลงมาให้)

นอกจากนี้ เพลาล้อหน้าและหลัง มีการออกแบบเพื่อลดแรงเสียดทานในลูกปืนเพลาลง 20% จาก BR-V รุ่นเดิม รวมทั้งการเปลี่ยนมาใช้ยางติดรถ ที่มีค่าแรงเสียดทานการหมุนต่ำ Low Rolling Resistance ลดลง 20^ จากรุ่นเดิมด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ วิศวกร Honda R&D Asia Pacific ตั้งใจปรับจูน เพื่อรองรับการใช้งานบนถนนทั้งเมืองไทย และ Indonesia ให้โดนใจลูกค้าในภูมิภาค ASEAN มากขึ้น

ขณะขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ลัดเลาะไปตามตรอก ซอกซอย ต่างๆ สัมผัสได้ว่า ช่วงล่าง Firm ขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การเก็บแรงสะเทือนจากพื้นผิวขรุขระ หลุมบ่อ หรือฝาท่อ ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย อาจยังไม่ถึงขั้นวิ่งผ่านได้อย่างเนียนกริ๊ป เหมือน City แต่มันมีความเป็น HR-V อยู่ ช่วงความเร็วต่ำ อาจไม่ดีนัก

ช่วงความเร็วสูง คุณจะพบว่า ความพยายามของทีมวิศวกร ในการปรับเซ็ตช่วงล่าง รวมทั้งการปรับปรุงเรื่องโครงสร้างตัวถัง แชสซีส์ ทั้งหมด และความพยายามที่จะ Balance ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน ช่วยให้ Vehicle Dynamic ของ BR-V เอาใจคนชอบขับรถทางไกลมากขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน

ความน่าประหลาดใจก็คือ BR-V ใหม่ ให้การตอบสนองที่ยอดเยี่ยมมากที่สุด ขณะเดินทางด้วยความเร็วสูง ตัวรถนิ่งสนิท นิ่งมากกกกกก เกินความคาดหมาย นิ่งในระดับที่ดีกว่า City ใหม่ และขยับเข้าไปใกล้เคียงกับ Civic ใหม่เสียด้วยซ้ำ (ถ้าไม่ติดว่า BR-V เป็นรถยกสูง Ground Clearance สูงกว่ารถเก๋งปกตินะ)  ต่อให้คุณจะต้องเปลี่ยนเลน มุดไปมา ที่ความเร็วระดับ 140 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง BR-V ใหม่ ก็ให้ความมั่นใจ นิ่งขึ้น Firm ขึ้น มั่นใจขึ้นอย่างชัดเจน แต่มุดได้คล่องแคล่ว ในระดับเท่าที่คุณคาดหวังได้จาก รถยนต์ 7 ที่นั่งในกลุ่มนี้

ส่วนการเข้าโค้งนั้น อาการย้วย น้อยกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาด ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก ยางติดรถ Bridgestone Turanza T005a ด้วย ยิ่งช่วยให้การเข้าโค้ง ทำได้ดีงามมากขึ้น ความเร็วบนทางโค้งมาตรฐานทั้ง 5 จุด บนระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร นั้น เริ่มต้นจาก โค้งขวารูปเคียว ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ควรเข้าโค้งนี้ได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Veloz ทำได้ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ในระดับเดียวกันคือ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดที่ตัวรถพร้อมยางเดิมจากโรงงาน (Bridgestone Turanza T005a) จะรับมือไหว เพราะถ้าเกินกว่านี้ ตัวรถจะเริ่มมีอาการท้ายออกชัดเจนกว่า Veloz จนกระทั่งระบบ VSA จะเข้ามาทำงาน เพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวในโค้ง

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี BR-V เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางด้านข้าง แต่ไม่ถึงกับมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถัดมา โค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Veloz เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งแม้ว่าตัวเลขจะพอกันกับคู่แข่ง แต่ BR-V แอบสนุกในโค้งนิดๆ แม้จะไม่ถึงกับมั่นใจมากขนาดนั้นก็ตาม

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วยกันแล้ว ช่วงล่างของ Mitsubishi Xpander จะให้ความ นุ่ม กว่า BR-V ซึ่งนุ่มนอยกว่า แต่ถ้าในแง่ความ Firm นั้น BR-V จะให้ความนิ่งและความมั่นใจ ขณะขับขี่ย่านความเร็วสูงได้ดีกว่า Xpander ต่อให้เทียบกับ Suzuki XL-7 ซึ่งให้ความนุ่มในเมืองที่ดีกว่า ก็จะให้ความนิ่งในระดับ ไว้ใจได้ แต่พวงมาลัยเบากว่า BR-V อยู่ตรงกลางของตลาด ส่วน Toyota Veloz นั้น มันถูกพัฒนาให้ยกระดับขึ้นมาจาก Toyota Avanza แน่นอนกว่า Veloz ใหม่ ย่อมเหนือกว่า Avanza ทุกด้าน แต่เมื่อมาเทียบกับคู่แข่งในปัจจุบัน ก็ต้องถือว่า อยู่ในระดับแค่ปานกลาง ตามมาเกาะกลุ่มกับ XL-7 ได้เสียที ถือว่า Veloz ดี แต่แค่เทียบเท่ากับคู่แข่ง และยังห่างชั้นกับ BR-V อยู่พอสมควร

นี่คือ ผลลัพธ์ จากความพยายามในการเซ็ตรถให้มีบุคลิกการขับขี่ ที่ Honda เรียกว่า “Drive as Intend” ทำให้ภาพรวมของการบังคับควบคุมรถ มีความคล่องแคล่ว คล่องตัว มั่นใจ แม้ช่วงล่างจะเซ็ตในแนวนุ่ม แต่ก็เน้นความ Firm เป็นหลัก Firm และมั่นใจกว่าชาวบ้านเขา ทำออกมาได้ขนาดนี้ ด้วยต้นทุนที่มีอยู่ ถือว่า เริ่ดสุดในกลุ่ม!

ระบบห้ามล้อ / Brake

ระบบเบรกนั้น ด้านหน้า เป็นดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลัง ยังคงเป็นดรัมเบรก เหมือนเช่นรุ่นก่อน เพียงแต่ว่าคราวนี้ Honda ปรับปรุง ความแข็งแรงของแม่ปั้มเบรก และการเปลี่ยนมาใช้ Caliper เบรกคู่หน้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเบรกมากขึ้น นอกจากนี้ BR-V ทั้ง 2 รุ่นย่อย ทุกคัน ยังถูกติดตั้งระบบตัวช่วย เสริมมาให้ เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ดังนี้

  • ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
  • ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
  • ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA (Vehicle Stbility Assist)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist)
  • สัญญาณไฟฉุกเฉิน กระพริบเองอัตโนมัติ เมื่อเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Signal System)

แป้นเบรก มีระยะเหยียบลึกปานกลาง แต่สั้นกว่า Honda รุ่นอื่นๆ นิดหน่อย ระยะฟรีของแป้นเบรกค่อนข้างน้อย ระยะแรกที่เริ่มเหยียบ มีน้ำหนักแป้นเบา ต้านเท้าไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ และให้ความหนืดระดับปานกลาง แต่ไม่ไวจนเกินไป ให้ Feeling คล้ายกับแป้นเบรกของรถยุโรป (แต่ยังไม่เท่า) ในขณะขับขี่ไปตามถนนหนทางในเมือง ช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำ ถ้าต้องการเบรกชะลอรถให้ นุ่มนวล ก็สามารถเลี้ยงแป้นเบรกให้เนียนได้ตามต้องการ แต่ถ้าต้องการให้เบรกมากขึ้น ก็ต้องเติมน้ำหนักเท้าขวาลงบนแป้นเบรกเพิ่มขึ้น หน่วงความเร็วได้ดี

ส่วนการชะลอรถจากย่านความเร็วสูงนั้น ทำได้ดี และให้ความมั่นใจได้ในระดับที่พอกันกับรถยนต์ทั่วไป เบรกกระทันหัน จากย่านความเร็วสูงนั้น เราทดลอง 2 รูปแบบ

– เบรกกระทันหัน เหยียบลงไปจนสุด จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง การถ่ายน้ำหนักลงมา หน้ารถกดจึก แต่ท้ายไม่ได้ลอยขนาดนั้น เบรกไดุ้่มนวล การกระจายแรงเบรกจัดว่าทำได้ดี แต่ถ้าเบรกซ้ำอีกสัก 1-2 ที เบรกก็จะ Fade

– เหยียบเบรกลงไป 50 – 60 % ของระยะเหยียบทั้งหมด พบว่า จากความเร็ว Top Speed 168 กิโลเมตร/ชั่วโมง หน้ารถถ่ายน้ำหนักไปข้างหน้าเยอะ ตัวรถพยายามรักษาอาการ ให้พุ่งไปตรงๆ ข้างหน้า โดยแทบไม่ค่อยมีอาการเป๋ซ้ายขวา ใดๆ  แรงหน่วงที่เกิดขึ้น อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างมาก ถือว่า ให้ความไว้ใจได้ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณถอนเท้าจากแป้นเบรกแล้ว ถ้าในอีกไม่นานหลังจากนั้น มีเหตุให้ต้องเริ่มเหยียบเบรกอีกครั้ง คุณจะพบว่า เบรกจะมีอาการ Fade ได้ค่อนข้างง่าย ซึ่งเป็นอาการปกติ ของรถยนต์ Honda

ขณะเปลี่ยนเลนกระทันหันที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น ตัวรถมีอาการท้ายออกค่อนข้างไว ไม่ว่าคุณจะ Input พวงมาลัยเข้าไปเท่าไหร่ อันเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่มีบั้นท้ายยาวแบบนี้ แต่อาการดังกล่าวหยุดสงบลงได้รวดเร็ว ด้วยการทำงานของระบบ VSA ที่ไวกำลังดี แต่ถ้า Input พวงมาลัยมากไป ก็มีโอกาสเสี่ยงพลิกคว่ำได้ตามปกติองรถยนต์ประเภทนี้ ควรใช้ความระมัดระวังตอนเจอสถานการณ์คับขัน ไม่หักเลี้ยวรถเยอะไป แค่เบี่ยงพวงมาลัยนิดเดียว รถก็สามารถพาคุณหลบสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้แล้ว

ภาพรวมของระยะเบรก ถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม และเพียงพอตอการใช้งานของคนทั่วไป สิ่งที่ผมอยากเห็นเพิ่มเติมก็คือ แม้ว่าระบบเบรกจะถูกปรับปรุงด้วยการเพิ่มขนาด Caliper ให้ใหญ่ขึ้น และพยายามเซ็ตมาให้เพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาใช้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพสูงกว่านี้อีกสักหน่อย รวมทั้งเปลี่ยนมาใช้ดิสก์เบรกที่ล้อคู่หลัง เหมือนกับคู่แข่งเขาเสียที น่าจะช่วยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกให้ดีขึ้น ลดระยะเบรกให้สั้นลงอีกนิดหน่อย รวมทั้ง รองรับการทำงานของระบบเบรก ในขณะที่ผู้ขับขี่ พาครอบครัว แล่นลงจากเส้นทางภูเขาภาคเหนืออันคดเคี้ยว ซึ่งผมมองว่า เบรกเดิมๆ อาจเกิดความร้อนจัดได้ง่ายจนควบคุมรถไม่อยู่

อุปกรณ์ ด้านความปลอดภัย / Safety

จุดขายสำคัญของ BR-V อยู่ที่ การนำระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS (Adaptive Driver Assist System) ที่ Honda เรียกว่า เทคโนโลยี Honda SENSING ติดตั้งมาให้กับ BR-V เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน โดยระบบ SENSING ใน BR-V จะประกอบไปด้วย…

  • ระบบเตือนการชนรถ และ คนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก CMBS (Collision Mitigation Braking System)
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS (Lane Keeping Assist System)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมปรับความเร็วตามคันหน้า ACC (Adaptive Cruise Control)
  • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Auto High-Beam
  • ระบบเตือน และ ช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LDM (Road Departure Mitigation System & Lane Departure Warning)
  • ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ LCDN (Lead Car Departure Notification System)

นอกจากนี้ BR-V เวอร์ชันไทย ทุกรุ่นย่อย ทุกคัน ยังติดตั้งระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ Passive Safety  มาให้ครบถ้วน ดังนี้

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า Dual SRS (Supplemental Resistance System)
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง Dual Side SRS
  • ม่านถุงลมนิรภัย Curtain SRS (เพิ่มเฉพาะรุ่น EL เท่านั้น)
  • เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด ดึงกลับอัตโนมัติ (Load Limiter)
  • ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
  • เข็มขัดนิรภัย สำหรับผู้โดยสารแถวกลางและแถว 3 แบบ ELR 3 จุด รวม 5 ตำแหน่ง
  • จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก (Child Seat) มาตรฐาน ISOFIX ที่ด้านล่างของพนักพิงเบาะแถวกลางทั้ง 2 ฝั่ง

อุปกรณ์ความปลอดภัยข้างต้นทั้งหมด ถูกติดตั้งลงในโครงสร้างตัวถัง ของ BR-V ใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้น บน Platform ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ โดยเอาพื้นตัวถังของ BR-V รุ่นเดิม เป็นพื้นฐานในการพัฒนา ให้มีน้ำหนักเบาลง แต่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งยังถูกปรับปรุงด้านความปลอดภัยจากการชนให้ดีขึ้น ด้วยโครงสร้างใหม่นี้ ทำให้มีระยะฐานล้อยาวขึ้นกว่ารุ่น 40 มิลลิเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เหล็กที่มีความทนต่อการยืดตัวสูง High-Tensile Steel ตั้งแต่ 590 – 980 MPa (Mega Pascal) ในอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิม ที่ใช้เพียงแค่ 28% ให้มากขึ้นเป็น 52% จากโครงสร้างตัวถังทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 24% ส่งผลให้ตัวถังรถโดยรวม ทนทานมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ความแข็งแกร่งของตัวถังทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถูกปรับปรุงให้สมดุลมากขึ้น ด้วยการใช้โครงหน้าตัดที่มีลักษณะเป็นวงขนาดใหญ่ (Big Circular Frame) ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar และ D-Pillar บริเวณท้ายรถอย่างดี ส่งผลให้การควบคุมพวงมาลัย และการทรงตัวในย่านความเร็วสูงที่ดีขึ้น สร้างประสบการณ์ในการขับขี่ ให้มั่นคง ยิ่งขึ้น พร้อมกับการรักษาความนุ่มนวลด้วยกันไปในตัว

ผลจากการปรับปรุงด้านความปลอดภัยของตัวรถ ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา ASEAN NCAP หน่วยงานประเมินความปลอดภัยจากการชน ของรถยนต์ที่จำหน่ายในตลาดภูมิภาค South Ease ASIA ของ MIROS ใน Malaysia ได้ประกาศ ผลทดสอบการชนของ BR-V ใหม่ ว่าได้คะแนน รวม 77.02 คะแนน ผ่านมาตรฐานในระดับ 5 ดาว โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อ ดังนี้

  • การปกป้องผู้ใหญ่ 33.72 คะแนน (ผ่านการตัดเกรดแล้ว)
    • การปกป้องด้านหน้า 14.98 คะแนน
    • การปกป้องด้านข้าง 8 คะแนน
    • การปกป้องส่วนหัว 4 คะแนน
  • การปกป้องเด็ก 17.81 คะแนน (ผ่านการตัดเกรดแล้ว)
    • การทดสอบขณะขับขี่ (Dynamics Test) 24 คะแนน
    • ความคงทน 9 คะแนน
    • ความง่ายในการติดตั้ง 10.78 คะแนน
    • การยึดตัวเด็ก 0.75 คะแนน
  • ระบบช่วยเหลือการขับขี่ 18.57 คะแนน (ผ่านการตัดเกรดแล้ว)
    • การทำงานของระบบควบคุมเสถียรภพ ในการหักหลบสิ่งกีดขวาง (ABS + ESP) 6 คะแนน
    • ระบบช่วยเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย 3 คะแนน
    • ระบบเตือนการชนด้านหน้า 4.51 คะแนน
    • ระบบช่วยเหลือการชับขี่ขั้นสูง ADAS 3 คะแนน
  • การปกป้องผูัขับขี่มอเตอร์ไซค์ 10 คะแนน (ผ่านการตัดเกรดแล้ว)
    • ระบบเตือนมุมอับด้านข้าง 2.6 คะแนน
    • การมองเห็นผู้โดยสารด้านหลัง 0 คะแนน
    • ไฟหน้า 1.5 คะแนน
    • คนข้ามถนน 2 คะแนน
    • ระบบเตือนมุมอับด้านข้างขณะขับขี่ 2 คะแนน

รายละเอียดเพิ่มเติม สามรถคลิกเข้าไปอ่านต่อได้ที่ https://aseancap.org/v2/?p=5692

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
******************Fuel Consumption Test *************

สำหรับ BR-V แล้ว การปรับปรุงเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังในครั้งนี้ แม้จะให้อัตราเร่งเท่ารุ่นเดิม แต่ถ้าในแง่ความประหยัดน้ำมันแล้ว หลายคนก็ยังคงน่าจะอยากรู้ว่า BR-V ใหม่ จะทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ดีขึ้นมากกว่ารุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน และเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว อัตราสิ้นเปลืองของ BR-V ใหม่ จะเป็นอย่างไร

เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับทดลองในเวลากลางคืน โดยนำ BR-V ไปที่ ปั้มน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์  เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถัง แบบหัวจ่ายตัด

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยานของเรา คราวนี้คือ น้อง Mark Pongswang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน/ผู้ขับขี่ 107 กิโลกรัม จะทำให้มีน้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกัน 167 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถัง ขนาด 42 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter A และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะเปลี่ยนเป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ แล่นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน และเปิดระบบ Adaptive Cruise Control ซึ่งปรับประยะห่างได้ 4 ระดับ ปรับระยะห่างตามความเร็ว แต่ไม่ถึงขั้น Stop & Go เพื่อรักษาความเร็วไว้ให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อถึงทางชัน ขึ้นเนิน ตัวระบบก็จะสั่งเร่งรอบเครื่องยนต์เพื่อชดเชยกับกำลังที่ลดลง เพื่อรักษาความเร็วไว้ให้เท่ากับค่าที่เราตั้งไว้ เหมือนเช่น Honda รุ่นอื่นๆ และเพื่อไม่ให้ ระบบเข้ามารบกวนมากจนเกินไป เราจึงเลือกปรับระยะห่างจากรถคันข้างหน้า ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อที่ระบบจะได้ไม่ต้องไปชะลอความเร็วตามรถคันข้างหน้า ไวจนเกินไปนัก

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด Trip Meter A 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.81 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 16.00 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่า ประหยัดขึ้นกว่า BR-V รุ่นเดิม ชัดเจน แถมคราวนี้ นอกจากจะทำอัตราเร่ง ได้แรงที่สุดในกลุ่มแล้ว BR-V ใหม่ ยังได้ตำแหน่ง ประยัดน้ำมันที่สุดในกลุ่ม Minivan 7 ที่นั่ง จาก Indonesia อีกด้วย  นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ในการปรับปรุงเครื่องยนต์ และการเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และลดการสูญเสียกลังในระบบขับเคลื่อน ได้ดีกว่า ไปพร้อมๆกัน

คำถามต่อมา แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะพาให้รถแล่นไปได้ไกลแค่ไหน? จากการใช้งานจริง ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์เต็ม พบว่า ถ้าคุณขับแบบปกติ เร่งบ้าง ช้าบ้าง เน้นการขับขี่ในเมือง และบนทางด่วน น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณไปได้ไกลประมาณ 390 – 420 กิโลเมตร แต่สำหรับใครก็ตามที่เท้าขวาหนักกว่าคนทั่วไป ชอบขับรถเร็วเป็นชีวิตจิตใจ น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ราวๆ 350 – 400 กิโลเมตร หรือถ้าคุณเน้นขับประหยัดน้ำมันจริงๆ ระยะทางจะเพิ่มขึ้นเป็นราวๆ 420 – 450 กิโลเมตร และเมื่อไฟเตือนน้ำมันหมด ติดสว่างขึ้นมา คุณจะยังเหลือระยะทางให้แล่นต่อไปได้อีกราวๆ 50 กิโลเมตร อันเป็นมาตรฐานเดียวกับรถยนต์ Honda ทุกรุ่น ทุกคัน

********** สรุป / Conclusion **********
ขับดีขึ้น น่าใช้ขึ้นทั้งคัน แต่ตกม้าตายที่เบาะคู่หน้า และราคาที่แพงเกิน

นับตั้งแต่เปิดตัวในเมืองไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2022 จนถึง 30 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา Honda BR-V ใหม่ มียอดขาย ซึ่งก็คือยอดส่งมอบนั่นแหละ รวมทั้งสิ้น 248 คัน…

ยอดขายโคตรน้อยเลย แทบจะเรียกได้ว่า เปิดตัวมา เงียบกริบจริงๆ ! ก็ช่วยไมได้ละครับ ตั้งราคาขาย กันแบบไม่ได้ถามไถ่ใครเขาเลย คนทั่วไป พอเห็นป้ายราคา ก็พากันเบือนหน้าหนีหมดแหละ

ถ้าเราลองตัดเรื่องราคาออกไป ผมมองว่า คราวนี้ Honda ใช้ความพยายามอยู่ประมาณหนึ่ง ที่จะยกระดับ BR-V ใหม่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เปลี่ยน Looks งานออกแบบ จาก Sub-Compact Minivan ยกสูง ให้กลายเป็น Sub-Compact SUV ที่ถ่ายทอดเส้นสายมาจากญาติผู้พี่ อย่าง CR-V จนน่าซื้อหามาใช้งานมากกว่ารุ่นเดิม เกือบทุกด้าน เปลี่ยนงานออกแบบภายใน ให้ดูร่วมสมัย ลงตัวขึ้น แต่ยังคงความอเนกประสงค์ของเบาะนั่งแถว 2 และ 3 ไว้ตามเดิม เพิ่มตัวช่วยด้านความปลอดภัยอย่างระบบ ADAS ในชื่อ Honda SENSING เพิ่ม ระบบ Adaptive Cruise Control และอีกสารพัดตัวช่วย จนทัดเทียมกับ Toyota Veloz และเหนือกว่ Mitsubishi Xpander กันเสียที

เหนือสิ่งอื่นใด BR-V ให้การขับขี่ในทุกด้านที่ดีขึ้นมาก และยังครองตำแหน่ง “ดีที่สุดในกลุ่ม” ตามเดิม เอาง่ายๆครับขณะใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมยังปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ นานถึง 9 วินาที ลองคิดดูว่า รถยนต์ที่ผลิตจาก Indonesia ซึ่งนิ่งเสียจนผมกล้าปล่อยมือจากพวงมาลัย ในความเร็วสูงแบบนี้ มันหาแทบไม่ได้เลย ตัวรถเองต้องให้ความมั่นใจกับผม ประมาณนึงเลยนะ ผมถึงจะกล้าทำแบบนี้ได้ เพราะปกติ ผมจะไม่ซี้ซั้วทำแบบนี้กับรถยนต์ทุกคันที่นำมาทดลองขับเสมอไป!

เครื่องยนต์ อัพแรงม้า เกียร์ CVT ปรับอัตราทดใหม่ ช่วยให้ อัตราเร่ง ยังคงแรงที่สุดในรุ่น เท่ากันกับรุ่นเดิม แต่จูนให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น นิดหน่อย พวงมาลัย เซ็ตมาดีที่สุดในกลุ่ม ช่วงล่าง เอาใจทั้งนักขับ และคนชอบขับรถเร็ว แต่ยังพอหลงเหลือความสบายนิดหน่อย ขณะคลานๆในเมือง เบรก ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม ตัวรถนิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ ผมขอยกเครดิตและคุณงามความดี ให้กับทีมวิศวกรชาวไทย ของ Honda R&D Asia Pacific ซึ่งทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการพัฒนา BR-V ใหม่ ให้มีบุคลิกการขับขี่ ออกมาดี จนเกินหน้าเกินตาคู่แข่งทุกรุ่นในตลาด และกลายเป็น จุดเด่นสำคัญ ที่ทำให้ BR-V ยังคงพอมีที่ยืนเหลืออยู่ ท่ามกลางสมรภูมิ Sub-Compact 7 Seaters อันดุเดือดทั้งใน Indonesia และเมืองไทย

สิ่งที่ควรปรับปรุง / Whats need to improve?

ต่อให้ BR-V ใหม่ จะมีจุดเด่น ด้านคุณภาพการขับขี่ ที่ดีเลิศ เกินหน้าคู่แข่งทุกคันในตลาดไปขนาดไหน ทว่า ความจริงที่เราต้องยอมรับก็คือ BR-V ยังมีหลายสิ่งที่ สมควรถูกนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อความสมบูรณ์มากขึ้นกว่านี้ และข้างล่างนี้ คือสิ่งที่ผมอยากเห็น Honda นำไปแก้ไขเพิ่มเติม ในรุ่น Minorchange ซึ่งก็น่าจะมาถึงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

– เบาะนั่งคู่หน้า ควรถูกออกแบบใหม่ ให้นั่งสบายในการเดินทางไกลได้ดีกว่านี้

ในอดีต Honda ได้ชื่อว่า เป็นบริษัทรถยนต์ ที่ออกแบบเบาะนั่งให้รองรับความสบาย และถูกหลักสรีระศาสตร์ ได้ดี ไม่ว่ารถคันนั้น จะมีราคาถูกหรือแพง แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา กลับกลายเป็นว่า หากคุณต้องการเบาะนั่งที่สบายจริงๆ จาก Honda คุณต้องปีนขึ้นไปอุดหนุน รถยนต์ตั้งแต่ Civic ขึ้นไป จนถึง Accord และ CR-V ซึ่งแต่ละรุ่นมีเบาะนั่งที่ ดีที่สุดในกลุ่มตลาดของตนเอง ส่วนรถยนต์ราคาย่อมเยาลงมา อย่าง City กลายเป็นว่า เบาะนั่งถูกออกแบบให้มีลักษณ์ะคล้ายขวดซอสปรุงรส Maggi ลดขนาดปีกข้างเบาะ เพื่อเน้นการลดต้นทุน จนทำให้ภาพรวมในการนั่ง ลดทอนคามสบายลงไปมาก ทว่า พอมาถึง BR-V ใหม่ เบาะนั่ง ทั้ง ตัวพนักพิงหลัง พนักศีรษะ และเบาะรองนั่ง กลับถูกออกแบบ จนนั่งไม่สบายเอาเสียเลย อย่างที่ได้อธิบายไว้ในช่วงต้นของบทความนี้ ถ้าไม่รู้ว่าจะหาทางลดต้นทุนอย่างไร ให้ตัวเบาะยังคงนั่งสบาย และยังผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากการชน ขอแนะนำว่า ยกเบาะนั่งของ City Gen 3 ปี 2008 – 2014 หรือ Civic รุ่นล่าสุด มาเป็นต้นแบบ นั่นละ ง่ายสุด!

– ถ้าคิดจะขายในราคานี้ วัสดุตกแต่งห้องโดยสาร ควรจะดู Premium กว่านี้

การบุนุ่มหุ้มหนัง กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ลูกค้าชาวไทยเริ่มถามหามากขึ้น ซึ่งก็เป็นเพราะคู่แข่งอย่าง Mazda สร้างมาตรฐานใหม่ในการออกแบบภายในห้องโดยสาร จนดูหรูหรากว่ารถญี่ปุ่นด้วยกันเองแทบทุกค่าย Honda เองก็รับรู้ในเรื่องนี้ดี เพียงแต่ว่า ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะทำชิ้นส่วนให้มีวัสดุบุนุ่มหุ้มหนังเยอะกว่านี้ ก็อาจจะทำให้สัดส่วนกำไรต่อคันในภาพรวม ลดลงอย่างไม่ควรเป็น แต่ถ้า Honda คิดจะขาย BR-V ในราคานี้ ผมขอยืนยันว่า วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร ควรดูหรูหราสราคมากกว่านี้ ถ้านึกไม่ออกว่าควรทำอย่างไร ไปดู Nissan Kicks e-Power Model Year 2022 เป็นตัวอย่างในการปรับปรุง

-พวงมาลัย ควรเพิ่มการปรับระยะใกล้ – ห่าง จากตัว มาได้เสียที

ขณะที่คูแข่งอย่าง Toyota Veloz และ Mitsubishi Xpander ใหม่ เริ่มีพวงมาลัยแบบปรับระยะใกล้ – ห่างจากตัวได้แล้ว แต่ BR-V ใหม่ ก็น่าจะติดตั้งมาให้กับเขาเสียทีเช่นเดียวกัน ไม่แน่ใจว่า เคยมีการทดลองแปลงชิ้นส่วนอะไหล่ของ Honda รุ่นก่อนๆ ซึ่งน่าจะมีต้นทุนที่ถูกลงแล้ว มาใส่ใน BR-V บ้างแล้วหรือเปล่า?

– ควรมี กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา ในรุ่น EL

จริงอยูว่า กล้องมองหลังของ BR-V มองภาพได้ชัดเจนกว่า Civic e:HEV แต่สำหรับลูกค้าในกลุ่มนี้แล้ว กล้องรอบคัน 360 องศา กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ควรจะติดตั้งมาให้ได้แล้วเสียที พอเข้าใจว่า การไม่ติดตั้งมาให้ อาจเกิดจากปัญหาด้านต้นทุน รวมทั้ง การขาดแคลน Chip Semiconductor (ปัญหา ชิพ-หาย) ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วทุกภาคอุตสาหกรรมในตอนนี้ แต่ถ้าเมื่อใดที่สถานการณ์ดีขึ้น ผมก็หวังจะเห็นรุ่นปรับอุปกรณ์ของ BR-V ใหม่ ติดตั้งกล้องรอบคัน 360 องศา มาให้ในรุ่น EL ก็ยังดี

– เข็มขัดนิรภัย ปรับระดับสูง – ต่ำได้ ควรใส่มาให้ได้แล้วเสียที

ผู้ผลิตทุกค่ายรู้แหละว่า สรีระของมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน ย่อมต้องการความสูงของหัวเข็มขัดที่มีระดับไม่เหมือนกัน แต่ผมไม่เข้าใจว่า ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งญี่ปุ่น เป็นโรคติดต่ออะไรกัน พอทำรถยนต์สำหรับ Indonesia และประเทศแถบ ASEAN ทีไร ก็มักนิยมลดต้นทุนที่หัวเข็มขัดปรับสูง-ต่ำได้ นี่ทุกที ล่าสุด Ford Ranger กับ Everest ใหม่ ก็เอากับเขาด้วย ไม่ต้องมาอ้างหรอกว่า ผู้ผลิตฝั่งยุโรป เขาไม่เห็นจำเป็นต้องมีหัวเข็มขัดแบบนี้เลย เพราะถ้าไปดูดีๆ หลายรุ่นเขาก็ติดตั้งมาให้ เรื่องพื้นฐนความปลอดภัยแบบนี้ ไม่อยากให้ผู้ผลิตฝั่งญี่ปุ่นทุกค่าย ละเลยกันแบบนี้เลย

– ระบบห้ามล้อ ควรเปลี่ยนมาใช้ ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ ได้แล้ว

จริงอยูว่า ระบบเบรก ถูกปรับปรุงให้ตอบสนองดีขึ้น เบรกได้ระยะทางสั้นลง และการใช้ดรัมเบรก ก็ช่วยให้การชะลอรถซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเยอะ ลดปัญหาเรืองความร้อนสะสมลงไปได้พอสมควร ทว่า ณ วันนี้ ในเมื่อคู่แข่ง เขาเริ่มติดตั้ง ดิส์กเบรก 4 ล้อมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานกันแล้ว ก็น่าจะถึงเวลาที่ BR-V ในรุ่นปีถัดๆไป ควรจะมีมาให้ทัดเทยมชาวบ้านชาวช่องเขาบ้าง

– ราคาขายปลีก แพงไป

ปัญหาสำคัญของรถคันนี้ อยู่ที่การตั้งราคาขายปลีก ข้อนี้ แม้แต่คนใน Honda ด้วยกันเอง ก็ยังแอบบ่น ไม่รู้ว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคา ไม่เคยเรียนรู้จากประสบการณ์ในสมัยตอนเปิดตัว Honda Freed หรืออย่างไรกัน? เข้าใจดีว่า ต้นทุนแพงขึ้น ค่าขนส่งทางเรือก็แพงขึ้น และยังต้องรักษา Margin กำไรต่อคัน ให้ได้ในระดับเดิม แต่ต้องไม่ลืมว่า ลูกค้าชาวไทยนั้น อ่อนไหว กับราคาเปิดตัวมากๆ (Price sensitive) ดังนั้น ช่วงเปิดตัว ราคาที่เย้ายวนใจกว่านี้ น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

***** คู่แข่งในตลาด / Competitors *****

การเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของรถ จาก Minivan ให้กลายมาเป็น SUV นั้น ทำให้ BR-V ดูโดดเด่นและแตกต่างออกมาจากคู่แข่งทุกรุ่น ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น ยังคงจำเป็นต้องยืนอยู่กับภาพลักษณ์ของ ASEAN Sub-Compact (B-Segment) Minivan 7 ที่นั่ง กันต่อไปอีกนานพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลด้านราคาขาย และตำแหน่งการตลาด ที่ยังไม่เปลี่ยนไปจากรุ่นเดิม ทำให้เรายังคงต้องจำใจจัด BR-V ไปประกบกับคู่แข่งเดิมๆ ที่เคยสู้รบปรบมือกันมา ทั้งที่ Indonesia และในประเทศไทย ซึ่งก็มีอยู่เพียงแค่ 3 รุ่น เท่านั้น

– Mitsubishi Xpander / Xpander Cross

ในที่สุด Xpander Cross ก็ได้ฤกษ์ยกมงกุฎ Sub-Compact 7 Seaters ที่แพงสุดในตลาด สวมให้กับ Honda BR-V ไปจนได้ ถึงแม้ว่า ตัวรถจะดูสวยที่สุด ใหญ่ที่สุด และมีห้องโดยสารโอ่โถงมากสุดก็ตาม ความสวยแบบโฉบเฉี่ยว Futuristic และความใหญ่โตของพื้นที่ภายในนี่แหละคือ 2 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Xpander Cross ยังคงขายได้ แม้ราคาจะแพงสุดถึง 939,000 บาท

สองศรีพี่น้องจากค่ายสามเพชร อาจสู้ BR-V ได้ ในเรื่องบรรยากาศภายในห้องโดยสาร และความสบายของเบาะนั่งคู่หน้า กับแถวกลาง แต่นอกนั้นแล้ว อัตราเร่ง ของ Mitsubishi ทั้ง 2 รุ่น จะอืดสุดในกลุ่ม พวงมาลัยตอบสนองได้ทื่อสุดในกลุ่ม เบรกก็ทำได้ปานกลาง แถมยังไม่มีระบบ ADAS หรือระบบ Blind Spot ต่างๆมาให้ครบถ้วนเท่า BR-V ทั้งที่ขายในราคาสูงอยู่  ประเด็นเหล่านี้ ก็ยังคงเป็นจุดด้อยของ Xpander Cross ตามเดิม กระนั้น ช่วงล่างของ Xpander Cross ยังคงให้การตอบสนองในภาวะปกติได้นุ่มนวลและพอไว้วางใจได้ แถมยังซับแรงสะเทือนได้ดีสุดในกลุ่ม

ด้านศูนย์บริการ ถึงจะมีโชว์รูมผู้จำหน่ายหน้าใหม่ เปิดตัวขึ้นมาเยอะมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การบริการหลังการขายภาพรวมทั้งแบรนด์ จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ถ้าเจอดีลเลอร์ไหน ดูแลลูกค้าดี ก็ถือว่าทำบุญมาดี แต่ดีลเลอร์ที่อยู่มานาน ก็มักจะเก๋าเกมเกินเหตุกับลูกค้าอยู่ไม่น้อยตามเดิม

Suzuki Ertiga / XL-7

ความจริงแล้ว Ertiga และ XL-7 ไม่ได้เป็นรถที่แย่สักหน่อย ตรงกันข้าม มันมีบุคลิกจากการรวมเอา Suzuki Swift รุ่นล่าสุด มาทำเป็น Minivan แล้วเอางานออกแบบของ Suzuki Ciaz ใส่เข้าไปแต่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งคัน แรงขึ้น คล่องขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น พวงมาลัยดีเป็นอันดับต้นๆของตลาด เพิ่มพื้นที่เบาะแถว 3 ให้นั่งสบายขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การเซ็ตช่วงล่างให้ดี ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับ Suzuki จนกระทั่ง XL-7 ออกสู่ตลาด

ส่วน XL-7 เหมาะกับคนที่มีงบ เหลือพอจะเจียดเงินจ่ายเพิ่มจาก Ertiga รุ่นปกติ เพื่อแลกกับความทะมัดทะแมงจากภาพลักษณ์ภายนอกของตัวรถ ที่ถูกเสริมแต่งด้วยอุปกรณ์ประดับยนต์จากโรงงาน มารอบคัน ข้อดีก็คือ ช่วงล่าง ที่นอกจากจะยกสูงให้เสร็จสรรพมาจากโรงงานแล้ว ยังตอบสนองได้ดีขึ้นด้วย ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา ตัวรถก็ทำมาจบ และลงตัวในทุกด้าน เพียงแต่ว่า จุดด้อยของทั้ง Ertiga และ XL-7 ที่สำคัญนั่นคือ ไม่มีระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยกลุ่ม ADAS มาให้นอกเหนือจากอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเลย

อีกข้อดีหนึ่งที่ทุกคนอาจนึกไม่ถึงคือ ศูนย์บริการ Suzuki ยังคงมีจุดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาถูกกว่าเพื่อนฝูงนิดหน่อย แต่ คุณภาพงานบริการ ก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันกับ Mitsubishi Motors นั่นคือ ถ้าเจอดีลเลอร์ที่ดี ก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอดีลเลอร์ไม่ดี ก็ชวนให้กลุ้มใจกันยาวๆ

Toyota Veloz

Toyota คาดหวังจะกลับมาเอาชนะ Mitsubishi Xpander  และ Xpander Cross ทั้งที่ Indonesia และในไทย ถึงขั้น ยอมเปลี่ยนโฉม Avanza คันเดิมใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้พื้นตัวถัง DNGA (Daihatsu New Global Architecture) รวมทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (เสียที) ปรับปรุงตัวรถให้ใหญ่ขึ้น แล้วก็ยกชื่อ เวอร์ชัน Sport ใน Indonesia อย่าง Veloz มาสวมแทน เพื่อทำตลาดในเมืองไทยกันไปเลย

Veloz ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสุดในกลุ่ม เพราะสารพัด Option มากมาย ที่อัดแน่นมาให้เต็มคันรถ รวมทั้งชุดมาตรวัดเปลี่ยน Theme ได้ 4 แบบ และระบบความปลอดภัย ADAS ในชื่อ Toyota Safety Sense มาเต็มพิกัด แถมยังมีเบรกมือไฟฟ้ามาให้ ทำเอาพี่ใหญ่ร่วมแบรนด์อย่าง Corolla Cross ถึงกับค้อนขวับ!

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่นับเรื่องเบาะนั่งคู่หน้าของ BR-V ที่ด้อยกว่า Veloz แล้วมองกันแต่ประเด็นด้านสมรรถนะ ก็ต้องยอมรับว่า อัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง การตอบสนองของพวงมาลัย ช่วงล่าง เบรก ของ BR-V ก็เหนือกว่า Veloz แทบทุกด้าน ชื่อเสียงด้านความทนทาน และศูนย์บริการของ Toyota ก็มีเยอะสุดในสยาม แถมคราวนี้ ราคาขายหน้าโชว์รูมของ Veloz ดันถูกกว่า BR-V จนเห็นได้ชัด ทำให้ Veloz ทำคะแนนด้านความคุ้มค่าในสายตาผู้บริโภคไปอย่างง่ายดาย ชนิดที่ Honda ได้แต่ยืนมองตาปริบๆ

ถ้าต้องเลือก BR-V ควรเลือกรุ่นย่อยไหน? / Which models to choose?

Honda BR-V มีรุ่นย่อยแค่ 2 รุ่น แต่กลับมีราคามากถึง 4 ระดับให้เลือก ตามความแตกต่างของรุ่นย่อย และสีตัวถังดังนี้

  • 1.5 E CVT สีขาว Taffeta : 915,000 บาท
  • 1.5 E CVT สีดำ Cyrstal (มุก) : 921,000 บาท
  • 1.5 EL CVT สีดำ Cyrstal (มุก) : 973,000 บาท
  • 1.5 EL CVT สีขาว Premium Sunlight (มุก) : 977,000 บาท

จากรายการ Option ที่แตกต่างกันน้อยมากๆ ดูเหมือนว่า Honda อยากจะขายรุ่น 1.5 EL สีขาวน้ำยาล้างจาน มากกว่า เพราะเป็นรุ่นที่ จัด Option มาเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมยังมีสีตัวถังที่พอจะสวยในระดับที่ ลูกค้าน่าจะชื่นชอบ แม้อาจต้องควัก แป๊ะฮวยอิ๊ว ขึ้นมาดม ไปพร้อมๆกับการควักกระเป๋าสตางค์ ขึ้นมาจ่ายเงินค่าจองรถก็ตาม ส่วนรุ่น E สีขาว เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบ Fleet หรือรถยนต์ประจำบริษัท ห้างร้าน องค์กร หรือ SME ขนาดเล็กมากกว่า

Honda BR-V ใหม่ เป็นอีกหนึ่งบทเรียน ของ Honda ในเมืองไทย ซึ่งทำให้เราทุกคนได้เรียนรู้ว่า ถึงแม้ผลจากการประเมิน ของบริษัทจัดลำดับต่างๆ หลายสำนัก จะระบุตรงกันว่า ภาพลักษณ์ของ Brand ของ Honda ในใจผู้บริโภคชาวไทย จะยังอยู่ในอันดับ T0p 3 เกาะกลุ่มเดียวกับ Toyota และ Isuzu รวมทั้งยังเป็น 1 ใน 5 Brand รถยนต์ ที่คนไทยจำได้เป็นชื่อแรกๆ (นอกจาก Toyota กับ Isuzu แล้ว อีก 2 รายที่เหลือ คือ Mercedes-Benz และ BMW) ก็ตาม

ทว่า ผลวิจัยตลาดเหล่านั้น ไม่ได้แปลว่า Honda จะสามารถนำมูลค่าของ Brand ในใจผู้บริโภค ไปเป็นข้อได้เปรียบ และเชื่อมโยงกับ การตั้งราคาขายรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อหวังช่วยให้ยังคงขายดีและเก็บเกี่ยวผลกำไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเสมอไป พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ไม่ใช่ว่า Honda จะตั้งราคารถเอากำไรได้ตามอำเภอใจ โดยไม่ดูสภาพตลาดที่แท้จริง เหมือนอย่างแต่ก่อน

อันที่จริง Honda ก็เคยมีบทเรียนในกรณีแบบนี้มาแล้ว กับ Honda Freed อย่างที่ได้กล่าวไปช่วงต้นบทความ แต่กลับกลายเป็นว่า เวลาผ่านไป ผู้คนที่เคยทำงานกันมาในช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว คงจะเปลี่ยนโฉมหน้ากันไปเยอะแล้ว ทำให้หลายๆคน น่าจะลืมไปแล้วว่า Honda เคยมีกรณีศึกษาแบบนี้อยู่

กลายเป็นว่า รถรุ่นใหม่ ที่ขับดีที่สุดในตลาด อย่าง BR-V ต้องมาพลาดท่า ตกม้าตาย เพียงเพราะปัญหาการตั้งราคาขายที่แพงเกินไป แบบนี้ มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ เมื่อมานั่งนึกถึง ความตั้งใจในการทำงาน การแก้ปัญหา ของทีมวิศวกร Honda R&D Asia Pacific ซึ่งทุ่มแรงกายแรงใจ ทำงานหนัก ตลอดช่วงเวลาในการพัฒนารถรุ่นนี้

ผมรู้แหละครับว่า ท้ายที่สุด ทุกวันนี้ ผู้บริโภคชาวไทย ให้ความสำคัญกับ Option และอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาในรถ มากกว่าคุณภาพการขับขี่ ไม่เช่นนั้น รถยนต์อย่าง MG ZS ที่ให้อัตราเร่งอืดอาดยืดยาดสุด ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน คงไม่ขายดิบขายดี มีที่ยืนอยู่ได้ในบ้านเรากันอย่างนี้หรอก

แต่ก่อนจะเดินเข้าโชว์รูมไปเลือก Toyota Veloz ด้วยเห็นแก่ความคุ้มค่า จาก Option และราคา หรือ เดินเข้าโชว์รูม Mitsubishi Motors ไปเลือก Xpander ที่สวยกว่า นั่งสบายกว่า ช่วงล่างนุ่มแน่น หรือเดินเข้าโชว์รูม Suzuki  ไปเลือก XL-7 เพราะความสบายของห้องโดยสาร ช่วงล่างนุ่ม คล่องตัว และราคาขายพร้อมแคมเปญที่ช่วยให้ออกรถง่ายกว่า ผมอยากให้คุณ ได้มีโอกาสลองขับ BR-V กันเสียก่อน เพราะผมไม่อยากให้คุณ พลาดรถที่ขับขี่ดีที่สุดในตลาดคันนี้ไป คุณควรได้มีประสบการณ์กับรถยนต์ในประเภทเดียวกัน ให้ครบทุกรุ่น ทำการบ้านให้ดี ก่อนจะจ่ายเงินเก็บก้อนใหญ่ในชีวิต ตัดสินใจสั่งจองรถที่คุณเลือกไว้ ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็ตาม

อ่านมาถึงตรงนี้ จะมีโชว์รูม Honda รายไหน ใจดี ให้ลูกค้าได้ทดลองขับ กันยาวๆ มากกว่า หมุนรถในศูนย์บริการ หรือวิ่งออกไป กลับรถ 2 U-Turn กันบ้างละนั่น? เพราะในความเป็นจริง การขอทดลองขับรถยนต์ กับโชว์รูม Honda เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก ชนิดที่ว่า ถูกหวยรางวัลที่ 1 ยังจะง่ายกว่า! ต่อให้ สำนักงานใหญ่ จะอำนวยความสะดวกให้ ผ่าน Website Official แต่ถ้า เจ้าของโชว์รูม ผู้จัดการโชว์รูม เขี้ยวๆ หน่อย ก็อย่าหวังว่า เซลส์จะยอมปล่อยรถให้ทดลองขับ ถ้าคุณไม่เซ็นใบจองเสียก่อน!

นี่ไม่นับกับเรื่องงานบริการหลังการขาย ซึ่งต้องยอมรับว่า ถ้าแค่เช็คระยะตามปกติ ศูนย์บริการทุกแห่ง ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเจองานซ่อมใหญ่ ซ่อมหนัก ซ่อมตัวถัง ทำสี ในภาพรวม ยังถือว่า คุณภาพ อยู่ในเกณฑ์ แค่พอยอมรับได้ และไม่ใช่ทุกศูนย์ที่จะมีช่างเก่งๆ แก้ปัญหาจบ

ส่วนใครที่กังวลกับเรื่องสนิม ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ Honda ประกอบในไทย ไปแล้วนั้น ผมว่า BR-V ไม่น่าห่วง เพราะถูกประกอบขึ้นที่โรงงาน ใน Indonesia ดังนั้น อาจต้องรอดูผลงานของพวกเขาในระยะยาวกันอีกที เมื่อเวลาผ่านไปสักพักใหญ่ๆ

ณ วันนี้ รถยนต์ Honda มีคุณภาพการขับขี่ ที่ดีขึ้นมาก แต่ด้วยเรื่องราวองค์ประกอบรอบข้างต่างๆ นั้น มันกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ ความนิยมใน Honda ไม่ Strong ในใจของผู้บริโภค เหมือนสมัยก่อน ผมได้แต่หวังจะเห็นการปรับปรุงในด้านต่างๆ ภายในองค์กรของ Honda เอง เพื่อที่ ผลงานระดับตั้งใจทำ ของทีมงานคนไทย อย่าง BR-V จะไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในอาคารลานจอดรถ Stock ของแต่ละโชว์รูม

เพียงเพราะ ราคาที่แพงไป และเบาะนั่งที่ไม่สบาย แค่นั้น…

——————-///—————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

เตรียมข้อมูล โดย Navarat Panutat (KANVITZ)

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม
– กลุ่มบทความทดลองขับ รถยนต์ Sub-Compact Minivan และ SUV 7 ที่นั่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด
เป็นผลงานของผู้เขียน และ Honda Automobile Thailand Co.,ltd.
รวมทั้ง Honda R&D Asia Pacific Co.,ltd.
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
6 ตุลาคม 2022

Copyright (c) 2022 Text and Pictures 
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 6th,2022

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!

—————————-

Headlightmag Clip on Youtube

Clip ของ BR-V จะมี 2 Clip ขอแนะนำให้ดู ทั้ง 2 Clip เพื่อความครบถ้วน และอรรถรส

Honda BR-V First Impression By QCXLOFT

Honda BR-V Full Review By J!MMY & Mark Pongswang