ตลาดรถยนต์ในเมืองไทย ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เลือกกระเสือกกระสนดิ้นรนหนีตายจากสภาพวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศตนเองที่ย่ำแย่ จากผลของวิกฤติการณ์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 3 ราย รวมทั้งสถาบันการเงินรายหลักๆ ต้องล้มละลายไป พวกเขาเห็นประเทศไทย เปรียบเสมือนน้ำบ่อหน้า ที่จะต้องรีบเข้ามากอบโกย เพื่อพยุงกิจการของตนให้อยู่รอดต่อไปได้ จึงต้องทำทุกวิถีทาง ที่จะนำรถยนต์พลังไฟฟ้า ราคาถูก ขึ้นมางัดข้อ กับผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม เสียจนตลาดปั่นป่วนไปหมด ยอดขายรถยนต์ในเมืองไทย เริ่มลดน้อยถอยลง ผู้บริโภคเริ่มผ่อนส่งไม่ไหว ปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดกันไปเพียบ ยิ่งทำให้การปล่อยไฟแนนซ์กับลูกค้ารายใหม่ๆ ยากลำบากขึ้น เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นสวนทางกับยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าที่โตวันโตคืน แต่ก็เริ่มเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นอยู่รายนึง ซึ่งยังยืนหยัดประคับประคองตัวอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วง ดุเดือด และยากต่อการคาดเดาทิศทางในอนาคต นั่นคือ Mitsubishi Motors บริษัทรถยนต์เชื้อชาติและสัญชาติญี่ปุ่นจากเมือง Okazaki และรถยนต์รุ่นที่ แทบไม่น่าเชื่อว่าจะช่วยให้ค่ายสามเพชร เอาตัวรอดจากวิกฤติในครั้งนี้ คือ รถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตลาดภูมิภาค ASEAN อย่าง Mitsubishi Xpander!

นับตั้งแต่ Mitsubishi Motors เผยโฉม Minivan สำหรับตลาด ASEAN รุ่นนี้ เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 10 – 20 สิงหาคม 2017 ณ งาน Gaikindo Indonesia International Auto Show (GIIAS) ต้องยอมรับว่า Mitsubishi Xpander ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ให้เกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์ Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง อันเป็นกลุ่มตลาดใหญ่ที่สุดของแดนอิเหนา ถึงขั้นทำให้เจ้าตลาดเก่าอย่าง Toyota Avanza / Daihatsu Xenia ค้อนขวับ เพราะโดนโค่นแชมป์ยอดขายมาได้เรียบร้อย แถมยังทำให้คูแข่งจากเกาหลีใต้ อย่าง Hyundai ตาร้อนผ่าว ถึงขั้น นำ Xpander มาเป็น Benchmark ระหว่างการพัฒนา Minivan รุ่น Stargazer

Xpander ถูกนำมาเปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 17 – 26 สิงหาคม 2018 ณ งาน Big Motor Sale 2018 ที่ BITEC บางนา แม้จะตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่ง คือ เริ่มต้นด้วยรุ่น GLS-Ltd ราคา 779,000 บาท และรุ่น GT ราคา 849,000 บาท Xpander ก็ยังได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวไทย สั่งจองเป็นเจ้าของกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และค่อยๆขึ้นนำในกลุ่มตลาด Sub-Compact Minivan 7 ที่นั่ง ของบ้านเราไปในที่สุด

ถ้าคุณอยากรู้ว่า เหตุใด ลูกค้าชาวไทย จึงพากันอุดหนุน Xpander และ Xpander Cross กันมากขนาดนี้ ทั้งที่งานวิศวกรรมของ Xpander รุ่นเดิม เป็นเพียงการนำเครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร จาก Mitsubishi Colt ช่วงปี 2002 – 2008 มาชนกับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และระบบขับเคลื่อนล้อหน้า คำตอบนั้น ง่ายดายมากครับ ลองไปถามเจ้าของรถที่อุดหนุนไปก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ จะตอบพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า

“รถมันสวยจบทั้งคัน ยังไงละ!!”

ครับ เส้นสายที่โฉบเฉี่ยว เกินกว่าการเป็น Minivan ในแบบปกติ ที่หลายบ้านคุ้นเคยอย่างดี รวมทั้งขนาดของตัวรถที่ใหญ่สุดในกลุ่ม ห้องโดยสาร ที่โอ่โถ่งมากสุดในกลุ่ม แถมยังมีเบาะนั่งที่สบายสุดในกลุ่มไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่บนเบาะแถวไหนก็ตาม คือเหตุผลที่ดึงตาดูดใจให้ลูกค้าพากันเดินพาเหรดเข้าโชว์รูม Mitsubishi Motors แหงละ ใครๆก็อยากได้รถที่สวย และอุปกรณ์คุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาจ่ายไปกันทั้งนั้นแหละ จริงไหม?

สำหรับผู้บริโภคชาวไทย ความสวยชนะทุกสิ่ง ต่อให้รถคันนั้น ราคาแพงกว่าคู่แข่งขนาดไหน หรือมีปัญหา Defect ประการใด ถ้าเส้นสายมันดูสวย เข้าตา ลงตัว ผู้บริโภคย่อมรู้สึกอยากได้ และเมื่อซื้อหามาขับขี่ใช้งานแล้ว ความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ ก็จะเกิดขึ้นตามมา จนผู้คนพากันแห่อุดหนุนเรื่อยๆ กลายเป็นคลื่นใต้น้ำทีเติบโตขึ้นเงียบๆ แต่หนักแน่น และมั่นคง ทุกวันนี้ ยอมรับเถอะครับว่า เมื่อใดที่คุณออกจากบ้าน อย่างน้อย คุณต้องได้เห็น Xpander 3 คัน ในแต่ละวัน อยู่เสมอ

หลังจากมีการปรับโฉม Minorchange ให้กับ Xpander รุ่นปกติ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2022 ทิ้งช่วงมาอีก 1 ปีเต็ม Mitsubishi Motors ก็ส่ง Xpander Cross รุ่นปรับโฉม Minorchange ออกมา เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2023 สร้างความงงงวยให้กับทั้งลูกค้าที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ ลูกค้าที่อุดหนุนไปแล้ว หรือแม้แต่สื่อมวลชนสายยานยนต์ อย่างผม ว่า การเพิ่มค่าตัวอีก 7,000 บาท เป็น 946,000 บาท แต่รายละเอียดข้าวของที่เพิ่มเข้ามา ก็ยังทำให้ชวนกังขาว่า เหตุใด เราถึงควรจะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อแลกกับความดุดันทะมัดทะแมง ที่เพิ่มขึ้นจาก Xpander รุ่นปกติ ทั้งที่เมื่อดูตัวเลขกันจริงๆ ราคาของ Xpander Cross Minorchange ก็ถือว่า ค่อนข้างสูงโดด ไปกว่าคู่แข่งคันอื่นอยู่

คำถามคือ ในเมื่อวันนี้ (2024) Xpander และ Xpander Cross ขุมพลังใหม่ Hybrid 1.6 ลิตร ประกอบในประเทศไทย เพิ่งจะเปิดตัวออกมา แล้วรุ่นเครื่องยนต์ปกติธรรมดา ประกอบจาก Indonesia ซึ่งยังคงจะทำตลาดควบคู่ต่อเนื่องกันไป ยังมีคุณงามความดีอะไรที่เพียงพอให้คุณยังคงอุดหนุนต่อไปได้?

ถ้าอยากรู้คำตอบ ก็เลื่อนลงไปอ่านต่อข้างล่างกันได้เลย!

ขนาดตัวรถ / Dimensions

Xpander Cross Minorchange มีขนาดตัวถังยาว 4,595 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 220 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ รถรุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,750 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อซ้ายขวา (Track width) คู่หน้า 1,520 มิลลิเมตร คู่หลัง 1,510 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 220 มิลลิเมตร

คุณจะพบว่า Xpander Cross Minorchange ยาวขึ้นถึง 95 มิลลิเมตร แคบลง 10 มิลลิเมตร สูงเท่าเดิม นอกนั้น ตัวเลขเท่ากับรุ่น Cross เดิม ก่อนหน้านี้  ส่วน ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) เท่ากับรุ่นก่อนปรับโฉม และเท่ากับ Xpander Minorchange รุ่นปกติ

ภายนอก / Exterior

รูปลักษณ์ภายนอกของ Xpander Cross Minorchange ยังคงเป็นการนำ งานออกแบบของ Xpander รุ่นปกติ มาปรับปรุง เสริมความทะมัดทะแมงขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น

แต่สำหรับรุ่น Cross แล้ว เพื่อเพิ่มความแตกต่าง และสร้างภาพลักษณ์ของตัวรถให้ดูทะมัดทะแมง กระฉับกระเฉงขึ้น ทีมออกแบบจึง เริ่มงาน Design ชิ้นส่วนต่างๆรอบตัวรถขึ้นมาใหม่ ได้รับการปรับปรุงใหม่ ให้มีความแตกต่างจาก Xpander Cross รุ่นเดิม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • เปลี่ยนดีไซน์ด้านหน้าใหม่ กระจังหน้า และเปลือกกันชนหน้า สไตล์ Dynamic Shield ถูกออกแบบด้วยการตีความใหม่ เพิ่มความดุดันมากขึ้นจาก Xpander ทั้งรุ่นปกติ และ Xpander Cross เดิม จน
  • ด้านหลัง มีการเปลี่ยนชุดไฟท้าย ลวดลายใหม่ แต่ใช้กรอบนอกแบบเดิม รวมทั้ง เปลี่ยนงานออกแบบของเปลือกกันชนหลัง บริเวณแผงทับทิมสะท้อนแสงสีแดง จากแนวตั้ง มาเป็นแบบ สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กในแนวนอน รวมทั้ง เปลี่ยนงานออกแบบของ Defuser ด้านหลัง เพื่อสร้างมิติทางสายตาให้ตัวรถดูกว้างขึ้นเล็กน้อย
  • เปลี่ยนไฟหน้า LED ดีไซน์ใหม่
  • เปลี่ยนงานออกแบบ คิ้วพลาสติกสีดำผิวสาก เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ใหม่
  • เปลี่ยนล้ออัลลาย ขนาด 17 นิ้ว ลายใหม่ พร้อมยาง ขนาด 225/50 R17
  • เปลี่ยน ไฟหน้า เป็นแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ LED
  • เปลี่ยน ไฟตัดหมอกคู่หน้า เป็นแบบ LED
  • เปลี่ยน กระจังหน้า เป็นแบบ Cross Design ใหม่
  • เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหน้า สีดำ
  • เพิ่ม การ์ดกันชนล่าง ด้านหลัง สีดำ
  • การ์ดกันกระแทกประตูด้านข้าง ทั้ง 4 บาน สีดำผิวสาก ถูกเสริมด้วยแถบสีเงินขนาดใหญ่
  • ราวหลังคา Rack Roof ถูกเปลี่ยนจากสีเงิน มาเป็นโทนสีเข้มขึ้น
  • เปลี่ยน คิ้วเหนือป้ายทะเบียน สีดำเงา Black Gloss
  • เสาอากาศ ยังคงเป็นแบบครีบฉลาม Shark Fin ตามเดิม
  • เปลี่ยน ล้ออะไหล่ เป็น ล้ออัลลอย พร้อมยาง Full Size

ภาพรวมแล้ว การปรับปรุงภายนอกคราวนี้ เน้นไปที่การแต่งหน้าทาปาก ให้ดูสดใหม่ขึ้น ดุขึ้น และสอดรับกับงานออกแบบของพี่ๆน้องๆ ร่วมตระกูล Mitsubishi Motors รุ่นใหม่ ๆที่กำลังจะทะอยคลอดตามออกมาหลังจากนี รวมทั้ง รถกระบะ Triton ใหม่ล่าสุด นั่นเอง

ภายใน / Interior

ระบบกลอนประตู ยังคงเหมือนรุ่นเดิม เป็น กุญแจ Remote Control แบบ KOS (Keyless Operation System) แค่พกรีโมทกุญแจนี้ไว้กับตัว ถ้าต้องการจะขึ้นรถ ก็ให้เดินเข้าใกล้บานประตูคนขับ หรือ ฝาประตูของห้องเก็บของด้านหลังรถ ในระยะรัศมี 70 เซนติเมตร แล้วกดปุ่มสีดำเพื่อสั่งปลดล็อก แล้วดึงมือจับเปิดประตูบานใดก็ตาม ขึ้นรถได้เลย หรือถ้าจะล็อกรถ เมื่อปิดประตูแล้ว ก็กดปุ่มล็อก ที่บานประตูทั้งคู่ บานใด บานหนึ่ง ได้เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่แบ็ตเตอรีของรีโมทหมด ยังสามารถ ถอดลูกกุญแจในตัวรีโมท ออกมาไขเปิดประตูฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ได้ หมุนซ้ายครั้งขวาครั้ง เป็นอันปลดล็อก เมื่อเข้าไปนั่งในรถได้แล้ว ก็ควรจะเอารีโมท KOS เสียบไว้ในช่องเสียบ ใต้แผงหน้าปัด เหนือช่องวางแก้วตรงกลาง และถ้าลืมกุญแจในรถ เมื่อปิดประตู รถจะส่งเสียงเตือนออกมาเอง

การเข้า – ออกจากบานประตู ทั้งคู่หน้า นั้น ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับ Xpander Cross รุ่นเดิม หรือ Xpander Minorchange รุ่นล่าสุด บอกได้เลยครับว่า “ไม่แตกต่างกัน” เนื่องจาก ช่วงล่างของ Xpander Cross ไม่ได้มีการปรับปรุงใดๆ ถ้าเทียบกับรุ่น Xpander Cross เดิม และ Xpander Minorchange 2022

กระนั้น ด้วยเหตุที่ ช่วงล่างของรุ่น Cross ถูกยกสูงเพิ่มขึ้นจาก Xpander 2018 – 2021 ถึง 20 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า ผู้โดยสาร และผู้ขับขี่ ที่มีลำตัวสูง หรือขายาว อาจไม่ค่อยพบปัญหาใดๆเท่าใด การก้าวเข้า – ออก ยังคงทำได้สะดวกโยธินตามเดิม คุณไม่จำเป็นต้องหย่อนก้นลงนั่ง แต่สามารถก้าวขาเข้าไป แล้วค่อยเคลื่อนตัวเข้าไปนั่งได้เลย ถ้าต้องการลงจากรถ ก็หันตัว หมุนลงมา แล้วเอาขา วางไว้บนพื้นถนน ลุกขืนขึ้นง่ายดาย

แต่สำหรับคนที่มีสรีระไม่สูงนัก ผู้สูงอายุ เ็ก และ สตรีมีครรภ์ อาจต้องก้าวขา ออกแรงยกตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ขณะเข้าไปนั่งบนเบาะคู่หน้า รวมทั้งตอนลุกออกจากรถด้วย

แผงประตูคู่หน้า ยังคงเป็นพลาสติกสีดำ แต่มีวัสดุบุนุ่มหุ้มหนัง สีน้ำตาล พรอมลายตะเข็บคาดผ่ากลาง เพิ่มเข้ามาให้บางๆ บริเวณ ด้านข้างของพนักวางแขน ซึ่งสามารถวางท่อนแขนได้สบาย แต่กัดขึ้นรูปด้วยลวดลายที่ดูคล้ายกับเบาะหนังในรถยนต์ราคาแพงกว่านี้ ด้านล่างของแผงประตู ยังคงมีช่องใส่ของอเนกประสงค์ สามารถวางขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ 7 บาท ได้ถึง 2 ขวด และยังมีพ้นที่เหลือพอสำหรับเอกสารและข้าวของจุกจิกต่างๆอีกนิดหน่อย

เบาะนั่งคู่หน้า มีรูปทรงเหมือนเดิม แต่เพิ่มลายตะเข็บคู่ตรงกลาง ทั้งบริเวณท่อนบนและท่อนล่างของพนักพิงหลัง รวมทั้งเบาะรองนั่ง แค่นั้น! สัมผัสจากแผ่นหลัง และเบาะรองนั่ง จึงยังเหมือนเดิม ไม่มีผิดเพี้ยน

พนักพิงหลัง ยังคงให้สัมผัสคล้ายกับเบาะนั่งของ รถกระบะรุ่น Triton รุ่นที่แล้ว แต่ รูปทรงของเบาะนั้น ไม่เหมือนกันไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะปีกด้านข้างที่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย (ปีกของเบาะ Triton ยื่นออกมานิดเดียว) แต่การรองรับแผ่นหลังทำได้ดีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะช่วงไหล่ที่ ตัวเบาะ ซัพพอร์ตได้ดีพอประมาณ การออกแบบพื้นที่รองรับด้านหลัง ทำได้ดีพอสมควร กระนั้น ผมก็แอบรู้สึกเมื่อยขณะนั่งขับขี่ในระยะทางไกลๆ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงอยู่เล็กน้อย ถ้าได้ตัวดันหลังมาช่วยเพิ่มอีกนิดก็คงจะดี

พนักศีรษะ ออกแบบให้มีฟองน้ำเสริมข้างใน แบบ “แน่นเกือบแข็ง” แต่ไม่ดันกบาล ขณะที่ เบาะรองนั่งค่อนข้างหนา ติดตั้งมาให้สูงจากพื้นตัวถังรถพอสมควร มีความยาว ปานกลาง รองรับท้องน่องพอใช้ได้ แต่ยาวไม่ถึงขาพับ ตัวฟองน้ำด้านใน ให้สัมผัส แน่นแต่นุ่ม Firm กำลังดี ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป ขับขี่ทางไกลไม่ค่อยเมื่อยบั้นท้ายมากนัก ทว่า เบาะนั่งฝั่งคนขับนั้น แม้จะมีมือหมุนปรับระดับเบาะรองนั่งสูง – ต่ำ มาให้ แต่ระยะการปรับก็น้อยมากๆ และเป็นเพียงการเลื่อน + ยกเบาะรองนั่งขึ้นไปข้างหน้าเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้ยกเบาะทั้งตัวขึ้นไปแต่อย่างใด

ใต้เบาะนั่งด้านหน้าฝั่งซ้าย ยังคงมีถาดวางรองเท้า ซ่อนตัวอยู่ ซึ่งเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่ถูกออกแบบขึ้นตามความต้องการของลูกค้า ผ่านผลวิจัยตลาด เนื่องจาก สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสุภาพสตรี อยากได้พื้นที่สำหรับใส่รองเท้า เผื่อนำมาเปลี่ยนให้เข้ากับชุดและกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน นี่เป็น อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ผมมองว่า ไม่ควรถอดออกในอนาคตเลย มันกลายเป็นอีกจุดขายสำคัญที่สร้างความสะดวกสบายในการใช้งานให้กับลูกค้าได้อย่างดี

เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบ ELR 3 จุด แบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Force Limiter) ทั้งฝั่งคนขับและฝั่งคนนั่ง แต่ไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้เลย ตามเดิม ไม่เข้าใจว่า จะงกใประเด็นนี้กันทำไมนักหนา ราคาขายก็สูงขนาดนี้ ควรใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้มาให้ได้แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ใครที่เรียกร้องมองหา พนักวางแขนตรงกลาง แบบพับเก็บได้ ติดตั้งไว้ด้านข้างพนักพิงหลังมาให้เลย มาถึงรุ่น Cross ก็แล้ว โรงงาน Indonesia เขาก็ยังคงไม่ได้ติดตั้งมาให้ อยู่ดี

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง สำหรับผู้โดยสารเบาะแถวกลาง (แถว 2) ยังคงสะดวกสบายตามเดิม คุณไม่ต้องก้มหัวลงมากนักในขณะก้าวขึ้น – ลง จากรถ และยังคงจุดขายสำคัญในฐานะ Sub-Compact Minivan ที่สามารถก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 2 ได้สบายที่สุดในตลาดเมืองไทยเวลานี้ ไปตามเดิม

แผงประตูด้านข้าง ของบานประตูคู่หลัง ตกแต่งในแนวทางเดียวกับ แผงประตูด้านข้างคู่หน้า คือใช้พลาสติกสีดำ แต่เปลี่ยนวัสดุบริเวณด้านข้าง ท่จะต้องสัมผัสกับทอนแขน ให้เป็นแบบ”บุนุ่มหุ้มหนัง” ดูดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย ขึ้นรูปตะเข็บ ประดับด้วยแถบ Graphic สีเงิน และ มือจับเปิดประตู พลาสติกชุบโครเมียม พนักวางแขน สามารถวางท่อนแขนได้สบาย จนถึงข้อศอก ด้านล่าง มีช่องวางของจุกจิกขนาดใหญ่พอๆกับแผงประตูคู่หน้า ใส่ขวดนำดื่ม 7 บาท มาให้ ฝั่งละ 2 ตำแหน่ง เหมือนกัน แต่น่าเสียดายว่า กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ไม่สามารถเลื่อนลงมาได้สุดขอบรางตามเดิม

เบาะนั่งด้านหลัง ยังคงเป็นชุดเดียวกับ Xpander Cross รุ่นเดิม แตกต่างกันแค่ลวดลายตะเข็บบนเบาะรองนั่งนิดหน่อยเท่านั้น ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ฝัง ซ้าย – ขวา สามารถแบ่งปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ 10 ตำแหน่งล็อก ปรับพนักพิงหลังเอนลงได้ไม่มากนัก เพียง 9 ตำแหน่งล็อก รวมทั้งแบ่งพับพนักพิงหลังได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของด้านหลัง

พนักศีรษะ มาในสไตล์ แน่นเกือบแข็ง เหมือนกับคู่หน้า แต่ เป็นรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงอย่างมหาศาลในการยกขึ้นใช้งาน ดุจยกเหล็กใน Fitness เลยทีเดียว แค่เพียงเพื่อไม่ให้ขอบด้านล่าง ทิ่มตำบริเวณช่วงต้นคอและกางแผ่นหลังเท่านั้นเลย แถมยังล็อกไว้ได้แค่ ตำแหน่งเดียวเท่านั้นอีกต่างหาก

พนักพิงหลัง ออกแบบให้มีฟองน้ำในลักษณะ “แน่นแต่แอบนุ่มนิดๆ” รองรับแผ่นหลังใช้ได้ แต่ตรงกลางจะบุ๋มลงไปนิดนึง ตัวพนักพิงหลัง ปรับเอนลงได้ประมาณหนึ่ง พอสบาย แต่อาจปรับเอนนอนราบกว่านี้ไม่ได้ ส่วน เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น แต่บุฟองน้ำมาให้ค่อนข้าง “แน่นแต่แอบนุ่มพอสมควร” เหมือนกับเบาะรองนั่งฝั่งคนขับ นั่งพอสบายได้อยู่

พนักวางแขน ซ่อนรูปกลืนไปกับพนักพิงเบาะหลังไปเลย ดึงเชือกเพื่อปลดลงมาใช้งาน พอวางแขนได้ แต่การวางข้อศอกทำได้ไม่ดีนัก

พื้นที่เหนือศีรษะในตำแหน่งนั่งหลังค่อนข้างชันสูงสุด สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผู้เขียน จะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือในแนวนอน พอดีๆ ส่วนพื้นที่วางขานั้น ถ้าปรับถอยหลังจนสุด คุณจะเหลือพื้นที่มากถึง 2 ฝ่ามือ กับอีก 3 นิ้วมือในแนวนอน และต่อให้คุณปรับเลื่อนเบาะขึ้นไปข้างหน้าจนสุด คุณก็จะยังเหลือพื้นที่ว่าง ระหว่างหัวเข่ากับด้านหลังของเบาะคนขับอีก 1 ฝ่ามือพอดีๆ

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง สายเข็มขัดจะถูกมัดเก็บซ่อนไว้ที่ช่องเก็บบริเวณเพดานข้างบน (ดูได้จากภาพข้างล่าง) หากผู้โดยสารเป็นเด็กน้อยตัวเล็ก หรือทารก สายเข็มขัดอาจต้องพาดผ่านบริเวณคอเล็กน้อย ควรหาเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก Child Seat ติดตั้งร่วมไปกับจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ใต้ฐานเบาะรองนั่งทั้ง 2 ฝั่งไปเลยจะปลอดภัยต่อการเดินทางของคุณหนูๆ มากกว่า

ส่วนการลุกเข้า – ออกจากเบาะแถวที่ 3 ใช้วิธีการเดียวกับบรรดา B-Segment Minivan หลายๆรุ่นในตลาด คือต้องดึงคันโยกด้านข้างเบาะแถว 2 (บริเวณใกล้ๆสะโพก) ชุดเบาะนั่ง จะพับพนักพิงให้แบนราบ และจะปลดล็อกขายึดเบาะกับพื้นรถ เพื่อให้ตัวเบาะดีดตัวโน้มขึ้นมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วแบบ One Motion การก้าวขึ้น – ลงจากเบาะแถว 3 ยังคงทำได้สบายๆ มากๆ เช่นเดิม

เบาะนั่งแถว 3 ยังคงเป็นชุดเดียวกับ Xpander และ Xpander Cross รุ่นเดิม พนักพิงเบาะแถว 3 สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 50 : 50 แถมยังปรับตั้ง-เอนลงไปได้ 10 ตำแหน่ง ใช้พนักศีรษะรูปตัว L คว่ำ ซึ่งต้องออกแรงยกขึ้นจนสุดเพื่อใช้งาน ด้วยตัวล็อกเพียงตำแหน่งเดียว มิเช่นนั้น ขอบล่างของพนักศีรษะ จะทิ่มตำต้นคอด้านหลังจนไม่สบายเอาเสียเลย ตัวพนักศีรษะเองยังคงค่อนข้างแข็ง เมื่อเจอกับพนักพิงหลังที่ไม่ได้หนามากนัก บุด้วยฟองน้ำค่อนข้างบาง จึงทำให้รู้สึกเหมือนนั่งพิงแผ่นกระดาน ที่มีฟองน้ำค่อนข้างแน่นซัพพอร์ตแผ่นหลังเราไว้อย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

เบาะรองนั่งแถว 3 นั้น มีขนาดสั้น และนั่งไม่สบายเท่า Suzuki Ertiga แต่อย่างน้อย มุมเงย ก็ยังพอจะเหมาะสมกับผู้โดยสาร ซึ่งมีความสูงไม่เกิน 170 เซ็นติเมตร อยู่แล้ว ขณะที่พื้นที่วางขานั้น ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารแถวกลาง ว่าจะปรับเลื่อนขึ้นหน้าไปให้คุณมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเลื่อนเบาะแถว 2 ลงมาจนสุด คุณจะแทบไม่เหลือพื้นที่วางขาให้ผู้โดยสารแถว 3 เลย

เข็มขัดนิรภัยด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ผนังด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ตกแต่งด้วยแผงพลาสติก ตีขึ้นรูปเป็นพนักวางแขน (ซึ่งสามารถวางแขนได้สบายพอดีเป๊ะ) พร้อมช่องใส่ของจุกจิกเล็กๆน้อยๆ 2 ตำแหน่ง และกิ๊ปหนีบยึดสายเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารแถวกลาง แต่เฉพาะฝั่งขวาเท่านั้น ที่จะเพิ่มปลั๊กไฟ 12V มาให้เพียง 1 ตำแหน่ง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงยกมาจากรุ่นเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเปิด – ปิดได้ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น กระจกบังลมหลัง มีไล่ฝ้าไฟฟ้า และใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกมาให้ แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติใดๆมาให้ในรถ Minivan ระดับราคานี้

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดเท่ากันกับรถรุ่นเดิม มีความกว้าง 0.9 เมตร และยาว 1.7 เมตร เมื่อพับเบาะแถว 2 กับ 3 ลงให้ราบเป็นแนวเดียวกัน แน่นอนว่า ในเมื่อความสูงจากพื้นถนนจนถึงพื้นห้องเก็บของ ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าจะต้องแบกจักรยานละก็ คุณอาจต้องออกแรงยกเฟรมรถมากขึ้นอีกนิด จึงจะวางลงบนพื้นห้องเก็บของได้

พื้นห้องเก็บสัมภาระ เป็นแบบฝาปิด เมื่อยกขึ้นแล้ว จะเจอกล่องเก็บของแบบ 3 ช่องในตัว สำหรับเก็บซ่อนข้าวของไม่พึงประสงค์จากสายตาบุคคลภายนอกได้ ฝาผนังด้านข้างฝั่งขวา เป็นช่องพร้อมฝาปิดสำหรับเก็บเครื่องมือประจำรถ พร้อมแม่แรง สำหรับถอดล้อ ส่วนยางอะไหล่นั้น ยังคงติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ เหมือนเช่น Xpander รุ่นปกติ ในตำแหน่งเดียวกับรถกระบะนั่นแหละ

นอกเหนือจากการปรับปรุงงานออกแบบภายนอกแล้ว ทีมออกแบบของ Mitsubishi Motors ยังตัดสินใจ ปรับปรุงภายในห้องโดยสาร ให้สดใหม่ หรูขึ้น และน่าใช้งานมากขึ้น โดยมีทั้งชิ้นส่วนที่ยกมาจาก Xpander Minorchange รุ่นปกติ และชิ้นส่วน ที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่และนำมาใช้กับ Xpander Cross Minorchange โดยเฉพาะ

เริ่มจากแผงหน้าปัด จากเดิมที่แผงหน้าปัดเคยมีเส้นสายแนวโค้ง  คราวนี้ ทีมออกแบบตัดสินใจเปลี่ยนงานออกแบบใหม่ โดยใช้วิธี ยกชุดแผงหน้าปัด แบบล่าสุด สไตล์ Horizontal Axis ของ Xpander Minorchange รุ่นปกติ มาติดตั้งให้กับ Xpander Cross Minorchange ทั้งยวง รวมทั้งการเลือกใช้โทนสีน้ำตาล มาตัดกับสีดำ และสีเงิน บริเวณกรอบช่องแอร์ทั้ง 3 ตำแหน่ง และ Trim ประดับด้านข้างแผงควบคุมกลาง เพื่อช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับภายในรถ ไม่เพียงเท่านั้น ทีมออกแบบ ยังเพิ่มวัสดุบุนุ่ม หุ้มหนัง ให้กับแผงหน้าปัดท่อนบนอีกด้วย โดยใช้ด้ายจริงตะเข็บจริง มาช่วยยกระดับบรรยากาศความหรู จนทำให้ แผงหน้าปัดของ Xpander Minorchange ดูสวย หรู มากที่สุดในบรรดาคู่แข่งร่วมพิกัดเดียวกัน

มองขึ้นไปด้านบน ทุกอย่างยังคงเหมือนรถรุ่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแผงหลังคา เป็นสีเบจ ทำจากวัสดุ Recycle เหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆทั่วไป แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดมาให้ แต่ยังคงไม่ยอมแถมไฟแต่งหน้ามาเลย ส่วนไฟส่องสว่างกลางเก๋ง มี 2 ตำแหน่ง คือ กลางเพดาน เหนือผู้โดยสารแถวกลาง และ ไฟอ่านแผ่นที่ เหนือกระจกมองหลัง ซึ่งไม่สามารถแยกฝั่งเปิด-ปิด ซ้าย-ขวา ได้เลย ไม่เข้าใจว่า จะงกต้นทุนส่วนนี้ทำไมกันนะ?

จากด้านขวาฝั่งคนขับ มาทางซ้าย

กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เลื่อนขึ้น – ลง ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า และเช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป เฉพาะฝั่งคนขับ จะมาพร้อมกับระบบ One-Touch เลื่อนหน้าต่างขึ้น – ลง ได้ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว รวมทั้งระบบ Jam Protection ดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวาของชุดมาตรวัด ติดตั้งทั้ง สวิตช์ปรับและพับกระจกหน้ามองข้างแบบไฟฟ้า รวมทั้งปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start ถัดลงไปข้างล่าง ยังมีสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC และ Traction Control และเมื่อมองลงไปข้างล่างสุด บริเวณซุ้มล้อหน้าฝั่งขวา จะพบคันโยก เพื่อเปิดฝากระโปรงหน้า

พวงมาลัย เปลี่ยนใหม่ ยกชุดมาจาก Pajero Sport และ Xpander Minorchange เป็นแบบ 4 ก้าน จับกระชับมือมากขึ้น หุ้มวงพวงมาลัยด้วยหนังสังเคราะห์ (ซึ่งให้สัมผัสเหมือน ยูรีเทน) ประดับครึ่งท่อนล่าง ช่วงก้านพวงมาลัยทั้ง 3 ด้วยพลาสติกเงาสีดำ Piano Black คอพวงมาลัย สามารถ ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้ในระดับหนึ่ง สำหรับคนตัวสูง ขอแนะนำว่า ปรับพวงมาลัยไว้ในตำแหน่งสูงสด และดึงออกมามากที่สุด จะลดการเมื่อยล้าขณะขับขี่ทางไกลได้

แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุม หน้าจอชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไร้สาย ส่วนแผงสวิตช์บนด้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นชุดสวิตช์ของระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ซึ่งอาจให้ความสบายในการไม่ต้องใช้เท้าขวาเหยียบคันเร่งตลอดเวลา ขณะขับขี่ทางไกล แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันทำงานได้น่าปวดกบาลเอาเรื่อง เนื่องจาก ตัวระบบ สนใจแต่จะคุมแค่ความเร็วของรถ จึงพยายามจะดึงเกียร์ลงมา ลากรอบเครื่องยนต์ ให้แปรผันขึ้น-ลงๆ เพื่อดึงให้รถมีกำลังต่อเนื่อง ส่งผลให้กินน้ำมันเยอะกว่าเลี้ยงคันเร่งด้วยเท้าขวาของคุณเอง

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝนคู่หน้า ละด้านหลัง พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้ควบคุมไฟเลี้ยว ไฟหน้า (ไม่มีไฟหน้า Auto มาให้) ไฟหรี่ ไฟสูง ไฟตัดหมอก ไฟกระพริบ (ซึ่งเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรถยนต์ Mitsubishi ทุกรุ่น นั่นคือ ไฟกระพริบและไฟสูง มีวิธีเปิดใช้เหมือนกัน คือจะต้องดึงก้านสวิตช์ฝั่งขวาเข้าหาตัว 1 ครั้ง เพื่อเปิด และเมื่อปล่อยก้านสวิตช์คืนกลับตำแหน่งเดิมแล้ว ไฟสูงมักจะค้าง หลายๆคน มักจะลืมปิดมัน ทำให้คนขับรถที่อยู่ข้างหน้า บรรดา รถยนต์ Mitsubishi ทุกคัน อาจเข้าใจผิดได้ว่า คุณกำลังเปิดไฟสูงด่าเขา ทั้งที่จริงๆแล้ว คุณลืมปิดไฟสูงนันเอง!)

ความแตกต่างสำคัญ ที่ทำให้ Xpander Cross Minorchange ดูเหนือกว่า Xpander Minorchange รุ่นปกติ อยู่ที่การเปลี่ยนมาใช้ชุดมาตรวัด แบบใหม่ เป็นจอ LCD สี ขนาด 8 นิ้ว สามารถเปลี่ยนรูปแบบ Graphic บนหน้าจอ ได้มากถึง 3 รูปแบบ โดยมีเค้าโครงงาน Graphic มาจาก มาตรวัดของ Mitsubishi Pajero Sport Minorchange รุ่นปัจจุบัน

แบบแรก มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ เป็นแบบวงกลมใหญ่ มาตรวัดความเร็ว เป็นตัวเลข Digital แถบข้างฝั่งขวา เป็นมาตรวัดอัตราสิ้นเปลองเชื้อเพลิง แบบที่ 2 เพิ่มมาตรวัดความเร็วแบบเข็ม แสดงพร้อมตัวเลข Digital แถบขวา จะกลายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ แทน และแบบที่ 3 เป็นวงแหวนทั้ง 2 ฝั่ง โดยด้านซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวาเป็นมาตรวัดความเร็ว แต่ทั้ง 3 แบบ จะวางตำแหน่ง มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นไว้ริมซ้ายสุด และ มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง ไว้ทางขวาสุด

ภาพรถ Animation 3 มิติ ตรงกลาง มาในสไตล์คล้าย Honda Civic รุ่นปัจจุบัน ถ้าเหยียบเบรก จะมีไฟเบรกติดให้ดูด้วย หน้าจอตรงกลาง แสดงข้อมูล  อัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิง รวมทั้ง แสดงระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้รถแล่นต่อได้ มี Odo Meter , Trip Meter ทั้ง A กับ B ค่าความประหยัดน้ำมัน รวมทั้งเป็นจอตั้งค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในตัวรถ โดยมีเมนูภาษาไทย ให้เลือก นอกจากนี้ ยังเลือกเสียงไฟเลี้ยวได้ 2 แบบ และเพิ่มมาตรวัดความเร็วแบบ Mile per Hour มาให้อีกด้วย ในหน้าจอแบบที่ 2

จากซ้าย ไปขวา

รายละเอียดบนแผงหน้าปัดต่างๆ ยกชุดมาจาก Xpander Minorchange รุ่นปกติ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กล่องลิ้นชักเก็บของ Glove Compartment รวมทั้ง ช่องวางของอเนกประสงค์ ตามแนวยาว ด้านบน ซึ่งยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม อยู่ในตำแหน่งเดิม กล่องเก็บของ มีขนาดใหญ่กำลังดี แม้จะใส่ซองเอกสารคู่มือประจำรถและประกันภัยแล้ว ยังเหลือพื้นที่ให้วางข้าวของต่างๆอีกมากพอสมควร ช่องด้านซ้ายที่เว้าลงมา หากมองเข้าไป จะพบตำแหน่งของแผง Fuse ระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ ติดตั้งซ่อนอยู่ ลึกๆ ตามเดิม

แผงควบคุมตรงกลาง และ หน้าจอชุดเครื่องเสียง ถูกติดตั้งในรูปแบบ Floating ลอยตัว ตามสมัยนิยม เหมือน Xpander Minorchange ชุดเครื่องเสียง แบบหน้าจอ Monitor สี Touch Screen ขนาด 9 นิ้ว รองรับการทำงานของ วิทยุ AM/FM เครื่องเล่นไฟล์เพลง รวมทั้งรองรับการเชื่อมต่อทั้ง Bluetooth , Apple Car Play และ Andriod Auto

แม้ว่าหน้าจอจะใช้งานแบบทั่วไป ได้ดีประมาณหนึ่ง ทว่า จุดที่ยังต้องปรับปรุงนั้น มีตั้งแต่คุณภาพเสียง ซึ่งต่อให้มี หน้าจอ Equalizer มาให้ช่วยปรับ ก็ยังให้เสียงที่บี้แบน และเหมาะแค่เพียงเอาไว้ฟังข่าวต้นชั่วโมงกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น! ขณะเดียวกัน การจะปรับเปลี่ยน ตั้งค่าเครื่องเสียง หรือระดับเสียง ทุ้ม กลาง แหลม ขณะขับรถ กลับทำไม่ได้ ต้องจอดรถเสียก่อน ลดทอนความสะดวกลงไปอย่างน่าตำหนิยิ่ง อีกทั้ง การเชื่อมต่อ บางครั้งก็ยังไม่ค่อยเสถียรนัก

ถัดลงมา เป็นเครื่องปรับอากาศแบบ Digital พร้อมหน้าจอ และสวิตช์ แบบใหม่ ที่ชวนให้นึกถึงรถยุโรปชั้นดีบางรุ่น อันที่จริง สวิตช์ แบบใหม่ ใช้งานง่ายขึ้น เพียงแต่หน้าจออาจดูสับสนในตอนแรก พอใช้งานไปสักพัก ก็เริ่มคุ้นชินมากขึ้น แถมยังมาพร้อม Function ใหม่ Max Cool เหมาะสำหรับเร่งการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ในวันที่คุณเพิ่งจะขึ้นรถที่จอดอยู่กลางแดดตอนเที่ยงวัน ณ ลานจอดรถกลางแจ้ง

สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง แถว 2 และ 3 นั้น บนเพดาน จะมีพัดลม Blower ช่วยกระจายความเย็นเพิ่มขึ้น เหมือนรุ่นเดิม ทว่า คุณสามารถเลือกได้แค่ระดับความแรงของพัดลม 1-4 ตำแหน่งเท่านั้น เพราะส่วนสวิตช์ปรับน้ำยาแอร์ มีเฉพาะด้านหน้ารถเพียงอย่างเดียว

พื้นที่ตรงกลาง ระหว่างผู้ขับขี่ กับผู้โดยสารด้านหน้า ทีมออกแบบ ตัดสินใจยกชุดคอนโซลกลาง จาก Xpander Minorchange มาติดตั้งให้ทั้งยวงเสร็จสรรพ นั่นหมายความว่า คุณจะเห็นความแตกต่างจาก Xpander Cross รุ่นเดิม ในลักษณะเดียวกับ Xpander Minorchange ไม่ผิดเพี้ยน ดังนี้

– ใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ เป็นช่องวางโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับปลั๊กไฟ DC 12V รวมทั้ง ช่องเสียบ USB A 2 ตำแหน่ง ช่องที่ชาร์จไฟเข้ามือถือได้ คือช่องล่าง

– สวิตช์เบรกมือไฟฟ้า EPB (Electric Auto Parking Brake) พร้อมระบบ Auto Brake Hold & Release ถ้าเข้าเกียร์ D และคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว คุณสามารถเหยียบคันเร่งออกรถได้ทันที แต่ถ้ายังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ระบบจะร้องเตือนให้คุณคาดเข็มขัดเสียก่อนที่จะเคลื่อนรถออกไป ส่วนในโหมด Auto Hold & Release น้้น เมื่อผู้ขับขี่ จอดรถเรียบร้อยขณะติดไฟแดง ระบบจะเข้าเบรกมือให้อัตโนมัติ และเมื่อเหยียบคันเร่งออกรถ ระบบจะปลดเบรกมือลงให้อัตโนมัติเช่นกัน

– เมื่อไม่ต้องมีก้านเบรกมือขนาดใหญ่อีกต่อไป ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ก็ถูกจัดวางเรียงตำแหน่งใหม่ จากแนวยาว มาเป็นแนวขวางแทน

– กล่องคอนโซลกลาง มีฝาปิด ด้านบน บุนุ่มด้วยฟองน้ำแบบนิ่ม หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ เหมือนแผงประตู และแผงหน้าปัด วางท่อนแขนได้สบาย ในตำแหน่งกำลังดี ส่วนฝาด้านในนั้น ถูกออกแบบให้เป็นช่องสำหรับ ใส่กระดาษทิชชู แบบซองแพ็ค เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน

– ส่วนด้านหลังกล่องคอนโซลกลาง มีช่องเสียบ USB ชาร์จไฟให้กับโทรศัพท์มือถือ และบรรดา Gadget ต่างๆ มีครบทั้ง Type C และ Type A อย่างละ 1 ตำแหน่ง รวม 2 ตำแหน่ง

– ไม่เพียงเท่านั้น ด้านหลังของเบาะคู่หน้า ยังถูกออกแบบให้มี ช่องใส่หนังสือ และช่องใส่ข้าวของจุกจิก ไปจนถึง รีโมทคอนโทรลต่างๆ รวมฝั่งละ 3 ช่อง ซึ่งเป็นความต้องการของลูกค้าในภูมิภาค ASEAN ที่อยากได้ช่องเก็บของภายในรถให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้านทัศนวิสัยรอบคันนั้น จะเหมือนกับ Xpander รุ่นปกติ แต่ยกสูงขึ้นจากเดิม อีก 20 มิลลิเมตร ดังนั้น คุณสามารถชมภาพถ่ายทัศนวิสัยจากตำแหน่งเบาะคนขับ ของ Xpander รุ่นเดิม ได้ ที่นี่ Click Here

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
******* Technical Information & Test Drive Session *******

ขุมพลัง ของรุ่นเบนซิน ผลิตจาก Indonesia ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะขายในประเทศ Indonesia , Philippines หรือ ไทย ก็ยังคงให้มาเหมือนกันหมดเพียงแบบเดียว เป็นเครื่องยนต์ รหัสรุ่น 4A91 เบนซิน 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,499 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก เท่ากับ 75.0 x 84.8 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system) แม้จะเป็นเครื่องยนต์บล็อกเดิม แต่ Mitsubishi Motors บอกว่า มีการปรับจูนให้เหมาะสมกับน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าปรับจูนตรงไหน คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นที่โปรแกรม ของ ECU (Engine Control Unit) มากกว่า

กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร (14.36 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E20 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ที่ระดับ 161 กรัม/กิโลเมตร

ข้อมูลการบำรุงรักษา
– น้ำมันเครื่อง ใช้ SAE 0W-20 , 0W-30 , 5W-30 ,5W-40 ตามมาตรฐาน ACEA A3/B3 , A4/B4 ,A5/B5 หรือ API SG หรือสูงกว่า
– ปริมาณ น้ำมันเครื่องที่ต้องใช้ 3.8 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่องด้วย บวกเพิ่มอีก 0.2 ลิตร
– น้ำหล่อเย็น 5 ลิตร (เพิ่มอีก 0.65 ลิตร ในถังพักสำรอง)
– หัวเทียน NGK LZFR5B1-11
– แบ็ตเตอรี 34B19L แรงดันไฟฟ้า 12 V ความจุกระแสไฟฟ้าสลับ 95 A

ถึงแม้เครื่องยนต์จะยังเหมือนเดิม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคราวนี้ ก็คือ การปลดเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ลูกเดิมออกไป แล้วแทนที่ด้วย เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT (Continuous Variable Transmission) ไม่มี Mode +/- ไม่มีแป้น Paddle Shift ใดๆแถมมาให้ทั้งสิ้น แต่มาพร้อมระบบ INC (Idle Neutral Control) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเกียร์ว่างโดยอัตโนมัติ เมื่อรถจอดสนิทนิ่ง และติดเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเกียร์ N

เหตุผลในการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT ชัดเจนว่า ต้องการจะเพิ่มความประหยัดน้ำมัน ทั้งจากการขับขี่ในเมือง หรือนอกเมือง รวมทั้งหวังจะช่วยลดค่าการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย ให้ลดลงจาก 161 กรัม/กิโลเมตร เหลือ 141 กรัม/กิโลเมตร นั่นเอง

เกียร์ลูกนี้ ถูกปรับปรุงให้ มี Range ของอัตราทดเกียร์ กว้างขึ้น เพื่อให้ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำลง ช่วงความเร็วเดินทาง เพิ่มความประหยัดน้ำมันรวมทั้งความราบรื่น (Smooth) ในการขับขี่ และการเปลี่ยนเกียร์มากขึ้น

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ CVT ลูกใหม่นี้ มีดังนี้

  • เกียร์เดินหน้า……..2.480 – 0.396
  • เกียร์ถอยหลัง…………..2.604
  • อัตราทดเฟืองท้าย…….5.698

ตามปกติแล้ว หากรถยนต์รุ่นปรับโฉม Minorchange รุ่นใดก็ตาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านวิศวกรรมใดๆ เราก็จะไม่นำมาทำบทความรีวิวทดลองขับ ซ้ำให้เสียเวลา ทว่า กรณีของ Xpander Cross Minorchange นั้น มีการเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่ ดังนั้น ตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป

เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เราคิดไว้นั้น ไม่ผิดเพี้ยน เราจึงทำการทดลองจับอัตราเร่ง ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ใช้เวลากลางดึก เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวผู้ขับขี่ 102 กิโลกรัม และผู้โดยสาร สักขีพยาน และผู้ร่วมทดสอบ (Mark Pongswang น้ำหนัก 60 กิโลกรัม) รวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

แม้จะครองตำแหน่งรั้งท้ายของตาราง ในฐานะ Minivan แดนอิเหนา ที่มีอัตราเร่งอืดสุดในตลาด สำหรับปี 2023 – 2024 ตามเดิมอยู่ดีก็จริง แต่ การเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบโซ่สายพาน CVT ทำให้ Xpander Minorchange ไวขึ้น ความอืดมันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด อัตราเร่งเร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจนมาก ไต่ขึ้นมาจนพ้นจากเส้นแบ่ง 14 วินาที จนได้

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Xpander Minorchange 2022 ช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไวขึ้นกว่าเดิมประมาณ 0.3 วินาที แต่มีตัวเลขช่วงเรงแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่าเดิม

ต่อให้หลายๆคน ไปลองขับกันมา แล้วพอเจอบุคลิกการตอบสนองของเครื่องยนต์ลูกเดิมเข้าไป ก็พาให้เข้าใจผิดว่า อัตราเร่งน่าจะออกมาอืดอาดพอๆกันกับรุ่นเดิม แต่เอาเข้าจริง ตัวเลขจากนาฬิกาจับเวลา มันไม่โกหกครับ การเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ย่อมช่วยให้อัตราเร่งช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิม ประมาณ 0.6 – 0.7 วินาที ขณะเดียวกัน ตัวเลขช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับไวยิ่งขึ้นกว่าเดิม ถึง 1.1 วินาที โดยประมาณ

หากเราไม่นับ Honda Mobilio กับ BR-V ที่ทำตัวเลขออกมาไวสุดในกลุ่ม ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว แม้ว่า Xpander จะยังทำอัตราเร่งช่วงออกตัว 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช้ากว่า คู่แข่งอย่าง Veloz แต่พอเป็นช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Xpander ใหม่ กลับไวกว่ากันถึง 1.1 วินาที

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง การตอบสนองของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ดีขึ้นกว่า Xpander Cross เดิม แต่ ไม่แตกต่างจาก Xpander Minorchange รุ่นปกติ นั่นแปลว่า หากคุณคาดหวังว่า การเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT ลูกใหม่ จะช่วยให้อัตราเร่งของ Xpander กระฉับกระเฉงขึ้นแล้วละก็ มันก็ช่วยได้นิดนึงแหละครับ เพียงแต่ว่า จากจุดหยุดนิ่ง จนถึงความเร็วแถวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าไม่ได้จับเวลาอย่างจริงจัง คุณก็แทบไม่ค่อยเห็นความแตกต่างจากรถรุ่นเดิมเท่าใดนัก

เพียงแต่ว่า เมื่อคุณกระทืบคันเร่งออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง คุณจะสัมผัสได้อย่าง “เจือจางบางๆเบาๆ” ว่า Xpander ออกตัวไวขึ้นนิดๆ จนถึงความเร็วแถวๆ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้น อาจต้องใช้เวลา ไล่เลี่ยกัน ในการไล่ความเร็ว ไต่ขึ้นไป ยิ่งถ้าพ้นจากช่วง 130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปแล้ว อัตราเร่ง ก็ขึ้นเหมือนกันครับ แต่เป็น “ขึ้นอืด” เฉกเช่นเดียวกับ Minivan จากแดนอิเหนา แทบทุกรุ่น กว่าจะไต่ขึ้นไปถึงความเร็ว 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต้องใช้เวลาและระยะทางยาวมาก ยิ่งถ้าคุณอยากดันให้รถขึ้นไปแตะตัวเลข Top Speed ที่ 175 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ต้องใช้เนินส่งช่วย มิเช่นนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะได้เห็นตัวเลขดังกล่าว

กระนั้น สิ่งที่ผมเจอจาการขับขี่จริงก็คือ ถ้าคุณต้องการเร่งแซงบรรดารถขับช้าบนทางด่วน หรือจำเป็นต้องมุดลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรที่เคลื่อนตัวไปด้วยกัน ณ ความเร็ว 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง Xpander ใหม่ จะให้อัตราเร่งที่ ไวขึ้นนิดนึง จนแอบสัมผัสได้ เพียงแต่ว่า คุณควรจะเหยียบคันเร่งลงไปจนเกือบ หรือจนจมมิดไปเลย เพื่อเรียกแรงบิดออกมาใช้งานให้ทันเวลา ตามที่คุณต้องการ เพียงเท่านี้ Xpander Minorchange ก็พร้อมจะพาคุณทะยานซอกแซกไปข้างหน้าได้แล้ว

คันเร่ง เลี้ยงยากเอาเรื่อง มีอาการเหมือนกับรถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT ทั่วไป คือ ต่อให้พยายามเลี้ยงคันเร่งนิ่งๆ ความเร็วก็จะค่อยๆลดลง เรื่อยๆ ต้องคอยเติมคันเร่งส่งขึ้นไป ซึ่งจะกลายเป็นว่า สมองกลของเครื่องยนต์ ก็จะส่งข้อมูลไปยังสมองกลของเกียร์ ว่า คนขับอยากเร่งความเร็วเพิ่มขึ้น เยอะเกินกว่าที่คนขับต้องการจริงๆ กลายเป็นว่า เกียร์จึงพยายามจะทำตัวแสนรู้แบบไม่เข้าท่า พยายามจะฉลาด และทำแต่หน้าที่ของตนเอง คือ การรักษาความเร็วไว้ให้เหมาะสมกับรอบเครื่องยนต์ แค่นั้น

การเก็บเสียง แรงสะเทือน อาการสะท้าน
Noise Vibration & Harshness

แม้ว่า Xpander รุ่นปกติ จะมีการเก็บเสียงที่ดีใช้ได้ และให้ความเงียบกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาด ทว่า เนื่องจาก ทีมวิศวกร พยายามพอมาเป็น Xpander Cross กลับกลายเป็นว่า เสียงรบกวนจากท่อนล่างของรถ ยังคงน้อยเหมือนเดิม แต่เสียงของกระแสลมไหลผ่านตัวรถ ในบริเวณเดียวกับ Xpander รุ่นเดิม นั่นคือ ช่องว่าง ระหว่าง กระจกมองข้าง และหน้าต่าง Opera หูช้างคู่หน้าจะเริ่มดังขึ้น หลังจากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป แต่ถือว่า ลดลงไปมากแล้ว  ส่วนเสียงเครื่องยนต์นั้น ทำใจเลยครับ ไม่ได้ไพเราะใดๆเลย เวลากดลงไป ตอนครางนี่ สงสารเครื่องยนต์มาก เสียงนี่ครางจนต้องตั้งคำถามว่า “หนูไหวไหมลูก”?

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุดเพียง 5.2 เมตร ช่วยให้การเลี้ยวกลับรถจริงๆ หรือเลี้ยวออกมาจากปากซอย ทำได้อย่างคล่องแคล่ว จนคุณจะแอบประหลาดใจว่า วงเลี้ยวมันแคบได้ขนาดนี้จริงๆเหรอ!?

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ การปรับจูน Software พวงมาลัยใหม่ ให้ตอบสนองเป็นธรรมชาติมากขึ้น บังคับเลี้ยวคมขึ้นนิดๆ ลดทอนความแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์ ลงไปจนหายเกือบจะหมด อาจจะหลงเหลือเจือปนอยู่บ้างนิดๆหน่อย แต่ก็ถือว่า แก้ไขปรับปรุงมาได้ดีมากขึ้น ยิ่งเจอเข้ากับวงพวงมาลัยที่มี Grip หนาขึ้น ยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ขับขี่มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการปรับจังหวะดีดกลับของพวงมาลัยให้ดีขึ้น โดยปรับปรุงโปรแกรมควบคุม ให้มีน้ำหนักช่วงถือตรงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ปรับแต่งมุมของล้อใดๆทั้งสิ้น นั่นทำให้การบังคับเลี้ยวกลับรถ พวงมาลัยคืนกลับมาในตำแหน่งตั้งตรงให้เร็วขึ้น หรือต่อให้เบนพวงมาลัยไปทางซ้าย หรือขวา ก็ยังมีอาการคืนกลับของล้อให้นิดๆ ไม่ได้เบี่ยงซ้ายปุ๊บ แล้วค้างเติ่งไว้ตำแหน่งนั้นเลย เหมือนเช่นรถรุ่นก่อน แถมยังช่วยให้ On center feeling ขณะถือตรง ในย่านความเร็วสูง ดีขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ระยะฟรีพวงมาลัย ถือว่าใกล้เคียงเดิม น้ำหนักและความหนืดของพวงมาลัยเพิ่มมากขึ้นนิดหน่อย จากล้ออัลลอยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยให้การตอบสนองของพวงมาลัยในภาพรวม ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม บังคับเลี้ยวคล่องแคล่วตามเดิม แต่มั่นใจขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย (แต่รุ่น Hybrid ใหม่ ถูกปรับปรุบไปอีกขั้น จนตอบสนองเป็นธรรมชาติกว่าชัดเจน)

อย่างไรก็ตาม หากคุณหมุนพวงมาลัยจนสุด ในบางจังหวะ พวงมาลัยอาจจะไม่คืนกลับตั้งตรงให้ และคุณต้องช่วยดึงมันกลับด้วยตัวเองอยู่ดี

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต (MacPherson Strut) ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ อยู่ที่การเปลี่ยนมาใช้ช็อกอัพคู่หลังใหม่ ในล็อตแรก เป็นยี่ห้อเดียวกันกับ และเส้นผ่าศูนย์กลางให้ใหญ่ขึ้น 32 มิลลิเมตร เท่ากับ ช็อกอัพของ Pajero Sport รุ่น Minorchange (แต่เป็นคนละ Part Number กัน และค่า K ไม่เท่ากัน มีเฉพาะวาล์วข้างในเท่านั้น) รวมทั้งเพิ่มขนาดของระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ 15 มิลลิเมตร จาก 205 เป็น 220 มิลลิเมตร (หลักๆ มาจาก ล้อที่ใหญ่ขึ้น และช็อกอัพใหญ่ขึ้น)

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ในเมือง ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ถึงกับแตกต่างจากรุ่นเดิมมากนัก เพียงแต่ว่า ผมสัมผัสได้ถึงความตึงขึ้นนิดนึง มีอาการกระเด้งจากด้านหลังเพิ่มขึ้นนิดๆ โดยเฉพาะเมื่อเจอคอสะพาน หากเป็นรถเปล่า จะเจออาการตึงขึ้นเล็กๆ ซึ่งเป็นผลมาจากขนาดของช็อกอัพ ที่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น เพื่อลดความย้วย และเพิ่มความนุ่มนวล รองรับกับการบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระให้ดีขึ้น กลายเป็นว่า อาการ Rebound ลดลงนิดนึง

ส่วนการขับขี่ด้วยความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง ยังคงให้ความไว้ใจ ได้ดีพอกันกับรุ่นเดิม แม้จะใช้ความเร็วถึง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถก็จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างนิ่งๆ ไว้ใจให้พอจะลองปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ราวๆ 3-4 วินาที แต่ถ้ามีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วอยู่บนทางยกระดับบูรพาวิถี ตัวรถก็จะมีอาการเป๋ ไปตามลม หน่อยๆ มีอาการวูบวาบเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่พอจะคุมพวงมาลัยได้อยู่ ประเด็นนี้ ยังถือว่า ตอบสนองได้ดีกว่า Veloz นิดนึง

ส่วนการเข้าโค้งต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง บน 5 ทางโค้ง ของระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ในตอนกลางดึก นั้น Xpander Cross Minorchange ทำผลงานได้พอๆกับรุ่นเดิม แม้ความมั่นใจอาจลดลงไปนิดนึง แต่ยังมีมากกว่า Veloz นิดหน่อย

เริ่มจากโค้งขวารูปเคียว เหนือระบบทางด่วนกรุงเทพมหานคร ย่านมักกะสัน รถยนต์ทั่วไป ทำได้ในช่วง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ Xpander Cross ทำได้ลดลงจาก 100 เหลือ 98 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ความเร็วลดลงจาก 100 เหลือ 98 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่นเดียวกัน เมื่อถึงจังหวะนั้น ยาง Bridgestone Ecopia EP 150 จะเริ่มสงเสียงร้องครวญครางขึ้นมานิดๆ ตัวรถจะมีอาการหน้าดื้อ (Understeer)เป็นหลัก แต่บั้นท้ายจะค่อยๆเริ่มออกเบาๆ ให้พอเดาอาการได้ว่าต้องรีบแก้คืน เพราะถ้าปล่อยให้ท้ายปัดถึงขั้นกวาดออกข้างขึ้นมา ก็แทบไม่ต้องคิดไปแก้ไขอาการของตัวรถกันเลย (แต่ในวันฝนตก ด้วยความเร็วแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนพื้นโค้งที่ลื่น ตัวรถก็จะเริ่มไถลไปข้างหน้าแล้ว การถอนเท้าจากคันเร่ง ช่วยถ่ายน้ำหนักกดลงด้านหน้ารถ ทำให้ความเร็วลดลง หน้ายางเกาะกับพื้นถนนดีขึ้น อาการลื่นไถลก็ยุติลง ทั้งหมดนี้เกิดในเสี้ยววินาที)

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Xpander เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็วถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างเยอะ เช่นเดิม  ส่วนโค้งซ้ายยาวๆ ผมไต่ขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็เกือบจะถึง Limit ที่ยางติดรถจะรับมือไหวแล้ว ก่อนจะปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Xpander เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)

ผมมองว่า ช่วงล่างของ Xpander Cross Minorchange นั้น จะเห็นความแตกต่างจากรุ่นเดิม แค่เพียงช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำ หรือต้องบรรทุกน้ำหนักเยอะๆ เท่านั้น ส่วนย่านความเร็วสูง การทรงตัว และการเข้าโค้ง ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ที่แน่ๆ ช่วงล่างของ XL-7 กับ Veloz อาจจะซับแรงสะเทือนได้นุ่มสบายกว่าในขณะขับคลานๆในเมือง แต่พอเดินทางไกล ด้วยความเร็วสูง ช่วงล่างของ Xpander ก็ยังไว้ใจได้ดีกว่าคู่แข่งอย่าง Veloz ชัดเจน

ความแตกต่างสำคัญที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใน Xpander Cross ขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร นั่นคือ ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพในขณะเข้าโค้ง AYC (Active Yaw Control)

ในอดีต Mitsubishi Motors คิดค้นระบบ AYC ได้เป็นรายแรกๆในโลก และมันถูกเริ่มติดตั้งเป็นครั้งแรก ในรูปของ ชุดเพลาท้าย สำหรับ Mitsubishi Lancer Evolution IV ในปี 1996 ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่อง และสงวนเอาไว้สำหรับ ใช้ในตระกูล Lancer Evolution เรื่อยมาจนถึงรุ่น สุดท้าย ในรุ่น Final Edition Model เมื่อปี 2015

หลักการทำงานของระบบนี้ คือ ตัวเพลา จะช่วยกระจายแรงบิดไปยังล้อหลังฝั่งซ้าย และฝั่งขวา เพื่อช่วยให้การเข้าโค้งนั้น แคบลง ไม่ตีวงออกกว้างจนเกินไป เหมาะกับการเข้าโค้งบนพื้นผิวถนนลื่นๆ สภาพเส้นทางแบบฝุ่น ลูกรัง เต็มไปด้วยก้อนกรวด หรือ พื้นถนนที่เต็มไปด้วยหิมะ และลานน้ำแข็ง เป็นต้น

ต่อมา Mitsubishi Motors มองว่า พวกเขาสามารถพัฒนาระบบ AYC ในรูปแบบ Software Program ให้สอดรับกับการติดตั้งในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าได้ โดยไม่ต้องทำชุดเพลาขับล้อหน้าขึ้นมาใหม่ ดังนั้น พวกเขาจึงพัฒนาระบบนี้ในรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องใช้ท่อนเพลาแบบเดิม และถูกนำมาติดตั้งใน Mitsubishi Outlander PHEV ทั้งรุ่นเดิมที่ยังทำตลาดในเมืองไทยอยู่อย่างเงียบๆ และรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มีกำหนดเข้ามาขายในบ้านเราเลย หลังจากนั้น Mitsubishi Motors จึงนำระบบ AYC มาติดตั้งให้กับ Xpander Cross เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมานี่เอง

ส่วนหลักการทำงานของระบบ AYC ใน Xpander Cross นั้น ถ้าคุณขับรถเข้าโค้งด้วยความเร็วที่มากเกินไป ระบบ AYC จะใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับความเร็วของล้อ ร่วมกับชุด ABS TCL (Traction Control) และ ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASC (Active Stability Control) เพื่อหมุนล้อในโค้งให้เยอะขึ้น ลดการหมุนล้อฝั่งนอกโค้งให้ช้าลง ช่วยลดอาการหน้าบานเลี้ยวไม่เข้า (Understeer) ให้น้อยลง ทำให้ตัวรถเข้าโค้งได้แคบขึ้น ในระดับที่มันควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ระบบ AYC เวอร์ชันนี้ อาจจะปรากฎตัวให้คุณเห็นค่อนข้างยากสักหน่อย ต้องใช้การจับสังเกตมากๆ จึงจะสัมผัสได้ว่าระบบกำลังทำงานช่วยคุณอยู่ มันมักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์คับขันเพียงเสี้ยววินาทีมากกว่า และถ้าระบบ AYC เริ่มเอาไม่อยู่แล้ว ระบบ ASC จะรับช่วงควบคุมการทำงานของลิ้นคันเร่ง และระบบห้ามล้อแทนทันที ดังนั้น ช่วงเวลาที่ AYC ทำงาน จะค่อนข้างสั้นจนคุณไม่ทันสังเกต

ระบบห้ามล้อ / Brakes

ระบบเบรก ยังคงเหมือนเดิม ด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) และระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) เสริมด้วยระบบควคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ASC (Active Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCL (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) และระบบกระพริบไฟฉุกเฉินเมื่อผู้ขับขี่ เหยียบเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal) ส่วนน้ำมันเบรก ยังคงใช้ได้ทั้งแบบ DOT3 หรือ DOT4

แป้นเบรก เบา นิ่ม ระยะเหยียบยาวปานกลาง แรงต้านเท้าไม่เยอะ เหยียบไป 20-30% แรก เบรกยังทำงานไม่มากนัก ต้องเหยียบลึกลงไปเกินกว่านั้น จึงจะพบแรงต้านเท้าที่มากขึ้น หนืดขึ้น เหมาะกับคุณสุภาพสตรี ในการบังคับควบคุมแรงเบรกจากเท้าขวาได้ตามใจชอบ เบรกให้รถชะลอหยุดนุ่มๆในขณะขับคลานๆไปตามการจราจรติดขัดในเมืองได้ง่ายอยู่ ไม่ยากเย็น

ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูง ทำได้ดีในระดับสอบผ่าน คือให้ความไว้ใจได้ สำหรับผู้ขับขี่แบบทั่วๆไป แต่ในมุมมองของผู้ขับขี่ที่ชอบขับรถเร็ว ยังไม่ถึงขั้นน่าประทับใจ หรือชวนให้มั่นใจนัก เพราะเมื่อต้องเบรกด้วยความเร็วสูง จากความเร็วสูงๆ การเหยียบครั้งแรกสุด ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องเหยียบซ้ำลงไปอีกครั้ง โอกาสที่เบรกจะ Fade ค่อนข้างง่ายอยู่

ไม่เพียงเท่านั้น จากเท่าที่เราทดลอง เหยียบเบรกกระทันหัน จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดนิ่งสนิท รถจะเบรกจนหัวทิ่ม ถ่ายน้ำหนักอย่างแรง ดูเหมือนระยะหยุดจะสั้น ทว่า ท้ายรถมีอาการแถออกทางซ้ายนิดๆ หน้ารถจะเบี่ยงออกขวาหน่อยๆ เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ระบบเบรกของ Xpander Cross Minorchange ก็ยังให้การตอบสนองที่เหมือนทั้ง Xpander Minorchange รวมทั้ง Xpander Cross รุ่นเดิม ไม่แตกต่างกันเลย

ความปลอดภัย / Safety

ด้านความปลอดภัย ยังคงเหมือนเดิม โครงสร้างตัวถังของ Xpander Cross Minorchange สร้างขึ้นบนเทคโนโลยี RISE (Reinforced Impact Safety Evolution) ที่ถูกเสริมความแข็งแกร่งบริเวณคานหน้า ใกล้ผนังห้องเครื่องยนต์ และช่วงคานขวาง เหนือซุ้มล้อคู่หลัง โดยใช้เหล็กรีดร้อนแบบทนแรงอัดสูง High Tensile Steel ตามจุดต่างๆ เริ่มจากเหล็กแบบทนแรงอัด 440 Mpa (เมกกะปาสคาล) ที่บริเวณ พืนที่สีเขียว อันประกอบไปด้วย เฟรมห้องเครื่องยนต์ด้านหน้า เสากรอบประตูห้องเก็บของด้านหลัง และโครงสร้างแนวยาวบริเวณพื้นรถด้านข้างกับ แผ่นเหล็กบริเวณกรอบหน้าต่างคู่หลัง รวมทั้ง เหล็กรีดร้อนทนแรงอัด 590 Mpa บริเวณพื้นที่สีน้ำเงิน เช่น เสากรอบประตู เสาหลังคา คู่หน้า A-Pllar กับคู่กลาง B-Pillar โครงสร้างห้องเครื่องยนต์ครึ่งท่อนบน และโครงพื้นตัวถังด้านล่าง รวมทั้งใช้เหล็กรีดร้อน ทนแรงอัด 980 Mpa กับแผ่นเหล็กสำหรับด้านในของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และธรณีประตูทั้ง 4 ตำแหน่ง เสริมด้วยคานกันกระแทกที่ประตูทั้ง 4 บาน

กระนั้น น่าเสียดายว่า Mitsubishi Motors ติดตั้ง อุปกรณ์ความปลอดภัย มาให้ แค่ในระดับพื้นฐาน ทั้ง ถุงลมนิรภัย SRS-Airbag ที่จนถึงป่านนี้ ก็ยังคงให้มาเพียงแค่ 2 ใบ เท่านั้น (คนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย) เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง (โดยเข็มขัดคู่หน้า ยังคงปรับระดับสูง – ต่ำไม่ได้เลย ตามเดิม) และจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX ใต้พนักพิงเบาะแถวกลาง ทั้งฝั่งซ้ายและขวา โดยยังคงมีระบบไฟนำทางหลังดับเครื่องยนต์ ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ เมื่อปลดล็อกรถ และระบบไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS มาให้เหมือนเดิม ถือว่าน้อยไปแล้วสำหรับรถยนต์ในปี 2023 – 2024 ที่วางขายในระดับราคาแพงขนาดนี้

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
**************Fuel Consumption Test ***************

สิ่งที่หลายคนน่าจะอยากรู้ก็คือ การเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT จะช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันให้กับ Xpander Cross Minorchange ได้มากน้อยแค่ไหน และตัวเลขที่ออกมา จะดีขึ้นเท่าไหร่

เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ขับทดลองในเวลากลางคืน โดยนำ Xpander Cross Minorchange ไปที่ ปั้มน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์  เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron จนเต็มถัง แบบหัวจ่ายตัด

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยานของเรา คราวนี้คือ น้อง Mark Pongswang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน/ผู้ขับขี่ 98 กิโลกรัม (ปี 2023) จะทำให้มีน้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกัน 158 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมันลงไปจนเต็มถังความจุ 45 ลิตร (ไม่รวมคอถัง อีกประมาณ 14 ลิตร) เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย กดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter A และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะเปลี่ยนเป็นค่าเริ่มต้น ทั้งหมด โดยกดปุ่ม INFO ข้างช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม โดยใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ แล่นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

ความน่าปวดกบาลของ Xpander Cross Minorchange ประการหนึ่งก็คือ ระบบ Cruise Control นั้น มีนิสัย เหมือนกับ Xpander Minorchange ไม่มีผิด กล่าวคือ ตัวระบบ สนใจแต่จะรักษาความเร็วของตัวรถ ทำให้สมองกล ต้องสั่งลากรอบเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นให้เอง โดยไม่จำเป็น จากปกติ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ควรจะอยู่ที่ระดับ 2,000 รอบ/นาที แต่ในความเป็นจริง สมองกลสั่งเร่งเครื่องขึ้นไป บางจังหวะ ก็เกิน 3,000 รอบ/นาที ทั้งที่ รถก็ยังคงแล่นอยู่บนพื้นราบ ไม่ได้ขึ้นทางชันเลยด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าขึ้นเนินหรือสะพาน รอบเครื่องยนต์จะดีขึ้นไปสูงกว่านี้อีก ทำให้ตัวเลขความประหยัดน้ำมันในการทดลองครั้งแรก ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ต่อให้ปิดระบบ Cruise Control ทิ้งไปเลย เพื่อเลือกควบคุมคันเร่งด้วยเท้าขวาของผมเอง ซึ่งจะนิ่ง และไว้ใจได้มากขึ้น คันเร่ง ก็ยังคงเลี้ยงยาก เหมือน Xpander Minorchange รุ่นปกติ ไม่มีผิด คือค่อนข้างเบา รอบเครื่องยนต์ กับตัวเลขความเร็ว ไม่ค่อยอยู่นิ่งเลย ดังนั้น การจะเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งได้ เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับรถคันนี้ กระนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ คู่แข่งคันอื่น อย่าง Toyota Veloz แล้ว รายนั้น ก็เลี้ยงคันเร่งให้นิ่งๆ ยากพอๆกัน

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Techron เบนซิน 95 ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด Trip Meter 92.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.01 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.40 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขออกมา เท่ากันกับ Xpander Minorchange ขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร แบบเท่าๆกันพอดี อย่างไม่น่าแปลกใจ และต่อให้ยังไม่ใช่รุ่น Hybrid กลายเป็นว่า Xpander Cross Minorchange ยังพอให้ความประหยัดน้ำมันในระดับกลางๆ ของกลุ่มได้ตามเดิมอยู่ดี ทำตัวเลขเกาะกันไปกับ Xpander 2022 ไม่ผิดเพี้ยน

คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ไกลแค่ไหน?

จากการใช้งานจริง ในระยะเวลา 6 วัน ค้นพบว่า ถ้าคุณขับรถแบบที่วิศวกรเขาคาดหวังและเข้าใจว่า ลูกค้าส่วนใหญ๋ของรถยนต์ประเภทนี้เขาขับกัน คือ เดินทางไปเรื่อยๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ ไม่รีบไม่ร้อน (บางทีถึงขั้นทองไม่รู้ร้อน) หรือขับออกต่างจังหวัด เดินทางไกลๆ ไม่เร็ว ไม่รีบ ไม่ได้ไปแข่งกับใคร น้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณแล่นไปได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร ก็น่าจะพอไหว และแอบต้องลุ้นนิดๆให้ถึงระดับดังกล่าว

แต่ถ้าคุณเป็นพวกตีนผีบ้าพลัง ชอบมุด เหยียบคันเร่งราวกับไปโกรธแค้นใครมา คันเร่งแทบจะติดพื้นรถเกือบตลอดเวลา (เพราะเร่งไม่ค่อยทันใจ) หรือแล่นใช้งานในเมืองเป็นหลัก บอกได้เลยว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้เพียงราวๆ 350 – 400 กิโลเมตร เท่านั้น! ไฟเตือนน้ำมันใกล้หมด ก็จะติดสว่างวาบขึ้นมาให้เสียวอุราเล่นๆ

********** สรุป / Conclusion **********
แม้จะเป็นตัวเลือกที่หลายคนชื่นชอบ แต่ Option กับราคา มันไม่สอดคล้องกันอยู่ดี

Xpander Cross Minorchange ขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ CVT มีการเปลี่ยนแปลงจาก Xpander Cross รุ่นดั้งเดิม ดังนี้

  • เปลี่ยนดีไซน์ด้านหน้าใหม่
  • เปลี่ยนดีไซน์ด้านหลังใหม่
  • เปลี่ยนไฟหน้า LED ดีไซน์ใหม่
  • เปลี่ยนล้ออัลลาย ขนาด 17 นิ้ว ลายใหม่
  • เปลี่ยนแผงแดชบอร์ดด้านหน้าดีไซน์ใหม่
  • เปลี่ยนพวงมาลัยดีไซน์ใหม่
  • เปลี่ยนชุดมาตรวัดเป็นแบบ LCD ขนาด 8 นิ้ว
  • เปลี่ยนหน้าจอเครื่องเสียง เป็นขนาด 9 นิ้ว พร้อมระบบสัมผัส Touchscreen
  • เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ พร้อมหน้าจอแสดงผลดิจิตอล และฟังก์ชั่น Max Cool
  • เพิ่ม Wireless Charger
  • ปรับการตอบสนองของพวงมาลัยใหม่
  • เปลี่ยนช็อกอัพใหม่
  • เพิ่มระบบ Active Yaw Control (AYC)

แค่นี้ครับ!

หมายความว่า ถ้าจะถามหาความแตกต่างจาก Xpander Minorchange รุ่น เบนซิน 1.5 ลิตร ปี 2022 – 2023 นั้น ในแง่งานวิศวกรรม ความสูงของใต้ท้องรถ ฯลฯ มันแทบไม่ต่างกันเลย ดังนั้น บุคลิกการขับขี่ของรุ่น Cross จึงแทบไม่แตกต่างไปจาก Xpander Minorchange รุ่นปี 2022 – 2023 ไม่ผิดเพี้ยน แม้กระทั่งอัตราเร่ง การตอบสนองของพวงมาลัย ช่วงล่าง เบรก และความประหยัดน้ำมัน

กระนั้น Xpander Cross Minorchange ขุมพลังเบนซิน ก็ยังเหมาะกับลูกค้า ที่กังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงรักษาระบบ Hybrid อันประกอบด้วยมอเตอร์และแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนในระยะยาว ด้วยเหตุที่ งานวิศวกรรมยังไม่มีอะไรซับซ้อน การดูแลจึงง่ายดายและไม่ต้องห่วงกระเป๋าสตางค์มากนักหากต้องใช้รถไปนานกว่า 7-8 ปี ขึ้นไป

ข้อที่ควรปรับปรุง ของ Xpander Cross Minorchange?

อันที่จริง ข้อที่ควรปรับปรุงต่างๆของ Xpander Cross Minorchange เบนซิน 1.5 ลิตร ถูกนำไปปรับปรุงแก้ไขแล้วใน รุ่น เบนซิน 1.6 ลิตร Hybrid HEV ดังนั้น สิ่งที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คงมีเหลือแค่ 3 ข้อดังนี้

1. Option ยังคงน้อยเหมือนเดิม เมื่อเทียบกับราคาขายที่แพงเอาเรื่อง

Mitsubishi Motors ยังคงสงวนท่าทีในการเพิ่ม Option ลงใน Minivan ตระกูล Xpander แทบทุกรุ่นย่อยอยู่ดี ทำให้กลายเป็นจุดด้อยของรถยนต์รุ่นนี้ ที่จะว่าไปแล้ว ก็แทบจะไม่แตกต่างจากคู่แข่งเท่าใดนัก ข่าวร้ายก็คือ ไม่ใช่แค่รุ่นเบนซินที่เป็นเช่นนี้ หากแต่เมื่อรุ่น Hybrid HEV ออกมา ประเด็นนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที ไม่รู้ว่าจะเอากำไรต่อคันอะไรกันนักกันหนา

2. การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยปรับสูง – ต่ำได้ และการเพิ่มระบบ ADAS

เข้าใจดีว่า รถคันนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาว Indonesia เป็นหลัก แต่คำถามก็คือ ในขณะที่ Mirage กับ Attrage หรือแม้แต่คู่แข่งอย่าง Toyota Veloz ยังติดตั้งอุปกรณ์ ADAS ยุคใหม่ มาให้บ้างแล้ว บางรายการ ทว่า สำหรับ Xpander นั้น ทำไมถึงกลับยังไม่มีมาให้เลย ถึงเวลาหรือยัง ที่ Mitsubishi Motors จะเริ่มติดตั้ง ระบบ RMS ตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อคนขับเผลอเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) รวมทั้งระบบ FCM – LS เตือนการชนด้านหน้าตรง พร้อมช่วยชะลอความเร็ว ในช่วงไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมทั้ง ระบบ Blind Spot Monitoring เตือนรถที่แล่นมาจากด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ที่กระจกมองข้าง และ ระบบ RCTA เตือนขณะถอยหลัง ก็น่าจะช่วยเพิ่มจุดขาย และเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าที่มองรุ่นเบนซิน 1.5 ลิตร ขึ้นไปได้อีก หรือจะต้องผลักดันไปเล่นรุ่น Hybrid 1.6 ลิตรกันเลย?

3. เครื่องเสียงติดรถยนต์ ห่วยเหมือนเดิม

แม้จะมีการเปลี่ยนหน้าจอชุดเครื่องเสียงเป็นแบบใหม่ ให้สัมผัสหน้าจอที่ไหลลื่นขึ้นแล้ว แต่คุณภาพเสียง ก็ยังห่วยแตกเหมือนเดิมอยู่ดี ขนาดปรับ Equalizer แล้ว ก็ไม่ช่วยให้เสียงดีขึ้นเลย พูดกันตรงๆว่า ควรจะ Upgrade ลำโพง หรือสายลำโพงสักหน่อย น่าจะไม่กระทบถึงต้นทุนจนเกินไปนัก หากจะขายรถคันละ 9 แสนบาท แต่ให้เครื่องเสียงคุณภาพห่วยพอๆกับ Mitsubishi Attrage รุ่นล่างๆ มันคงไม่เหมาะสม ควรจะต้องคิดและกลับไปพิจารณาเสียใหม่ จะดีกว่า แถมยังรองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ Andriod บางรุ่น เช่น Sony Xperia ได้ไม่สมบูรณ์พออีกต่างหาก

คู่แข่งในตลาด / Competitors

กลุ่มรถยนต์ Sub-Compact Minivan ในวันนี้นั้น มีตัวเลือกมากมายหลายหลาก ทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทว่า แทบทั้งหมด ถูกผลิตและนำเข้ามาจาก Indonesia ดินแดนที่ยังคงให้ความสำคัญกับรถยนต์ 7 ที่นั่งขนาดเล็ก เป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่ดี Xpander Cross ต้องต่อกรกับคู่แข่งที่มีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไปดังนี้

Honda BR-V

ความตั้งใจของ Honda ในการเซ็ตรถให้ให้อัตราเร่ง ช่วงล่าง และการควบคุมพวงมาลัย ดีกว่าคู่แข่ง จนขับดีที่สุดในกลุ่มตลาดนี้ กลับต้องมาพังเพียงเพราะลูกค้าต้องเจอกับเบาะนั่งคู่หน้าที่ ออกแบบได้แย่มาก นั่งไม่สบายเอาเสียเลย แถมราคายังแพงโดดกว่าเพื่อนไปอีก แม้จะให้ระบบ ตัวช่วยด้านความปลอดภัยอย่างระบบ ADAS ในชื่อ Honda SENSING เพิ่ม ระบบ Adaptive Cruise Control จนเหนือกว่า Xpander Cross ขุมพลังเบนซินธรรมดาไปแล้วก็ตาม

Hyundai Stargazer X

น้องใหม่จากเกาหลีใต้ ที่มาพร้อมเส้นสายภายนอกสไตล์ Futuristic ซึ่งเป็นการนำ หม้อทอดติดล้อ Staria มาย่อส่วนแล้วปรับขนาดกับเส้นสายให้ดูลงตัวมากขึ้น จนหลายคนเริ่มปันใจจากค่ายญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านั้น จุดเด่นสำคัญก็คือ มันเป็นรถยนต์ที่ขับดีสุดในตลาด ทาบรัศมี BR-V ไปได้สบายๆ ทั้งในด้านอัตราเร่ง ช่วงล่าง พวงมาลัย และระบบเบรก แถมเบาะแถว 3 ก็ยังนั่งใช้งานได้จริงๆๆ อย่างไรก็ตาม ความกังวลของผู้บริโภคดัานบริการหลังการขาย และจำนวนของดีลเลอร์ที่เริ่มน้อยไปหน่อย คือสิ่งที่ Hyundai Motor Thailand จะต้องหาทางสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าชาวไทย ให้มากกว่านี้ อุตส่าห์มีรถดีๆในมือ ก็ต้องทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในระยะยาวด้วยสิ!

Suzuki Ertiga / XL-7

ความจริงแล้ว Ertiga และ XL-7 ไม่ได้เป็นรถที่แย่สักหน่อย ตรงกันข้าม อัตราเร่งที่ใช้การได้ ความประหยัดระดับปานกลาง พวงมาลัยดีเป็นอันดับต้นๆของตลาด เป็นรองแค่ BR-V และ Stargazer ส่วนพื้นที่เบาะแถว 3 ก็นั่งสบายขึ้นกว่าเดิม ศูนย์บริการ Suzuki ยังคงมีจุดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาถูกกว่าเพื่อนฝูงนิดหน่อย แต่ คุณภาพงานบริการ ก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันกับ Mitsubishi Motors นั่นคือ ถ้าเจอดีลเลอร์ที่ดี ก็โชคดีไป แต่ถ้าเจอดีลเลอร์ไม่ดี ก็ชวนให้กลุ้มใจกันยาวๆ

ทว่า Ertiga / XL7 ขุมพลัง Mild Hybrid รุ่นล่าสุด ยังเป็นแค่การรติดตั้งมอเตอร์ขนาดจิ๋ว และแบ็ตเตอรีลูกกระเปี๊ยก ISG มาใส่ไว้ เพื่อให้รู้ว่าเป็นขุมพลัง Mild Hybrid ดังนั้น อย่าคาดหวังว่า อัตราเร่ง หรือความประหยัดน้ำมัน จะดีขึ้นไปกว่าเดิมเลย เพราะมันไม่เป็นเช่นนั้น แถมไม่มีระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยกลุ่ม ADAS มาให้นอกเหนือจากอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเลย มามุขเดียวกับ Xpander Cross ไม่ผิดเพี้ยนราวกับนัดกันไว้

Toyota Veloz

ถ้าคุณมองแต่ความคุ้มค่า โดยเอา Option ติดรถ กับราคามาตั้งธงไว้ แน่นอนว่า Veloz จะดูคุ้มค่ากว่าใคร เพราะToyota คาดหวังให้ Veloz เป็น Xpander’s Killer ด้วยการอัดสารพัด Option มากมาย รวมทั้งชุดมาตรวัดเปลี่ยน Theme ได้ 4 แบบ และระบบความปลอดภัย ADAS ในชื่อ Toyota Safety Sense มาเต็มพิกัด แถมยังมีเบรกมือไฟฟ้ามาให้!

อย่างไรก็ตาม สมรรถนะของ Veloz ก็มีบางด้านเหนือกว่า บางด้านอยู่ตรงกลาง และบางด้านก็ด้อยกว่า Xpander กับ Xpander Cross เบนซินล้วน อยู่ดี แถมการขับขี่ยังทื่อกว่า ระบบ ADAS ที่แถมมา โง่กว่าญาติพี่น้อง Toyota รุ่นอื่นชัดเจน และทั้งหมดนี้ ติดตั้งในโครงสร้างพื้นตัวถัง DNGA ที่พัฒนาโดย TDEM (Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing) แถมยังมีปัญหาในการประกอบจาก Indonesia ให้เห็นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหา “หอยเชอรี่” ที่คุณควรลองเสริชในกลุ่มผู้ใช้รถรุ่นนี้ดูจึงจะเข้าใจ แปลว่า ถ้าคุณคาดหวังพึ่งพาชื่อเสียงด้านความทนทาน และศูนย์บริการของ Toyota ก็มีเยอะสุดในสยามแล้ว สำหรับ Veloz มันอาจไม่เป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ Xpander Cross ขุมพลังเบนซินเอง นอกจากจะตั้งต่อกรกับบรรดาคู่แข่งจากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ด้วยแล้ว มันยังต้องแข่งกันเองกับน้องใหม่ Xpander Cross ขุมพลัง เบนซิน 1.6 ลิตร Hybrid อีกด้วย

หากเป็นเช่นนี้ คุณควรจะซื้อรุ่นไหนดี ระหว่าง เบนซิน 1.5 ลิตร หรือ เบนซิน 1.6 ลิตร Hybrid รุ่นใหม่?

จากการประเมินดูแล้ว คาดว่า Mtsubishi Motors Thailand น่าจะยังมี Xpander Cross ขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร จาก Indonesia อยู่ใน Stock มากพอที่จะทำตลาดไปได้ เพียงแค่ก่อนถึงสิ้นปี 2024 นี้ เท่านั้น และการนำเข้ารถยนต์รุ่นนี้จาก Indonesia อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจาก โรงงานในแดนอิเหนา น่าจะรับหน้าที่ผลิตรุ่นขุมพลังเบนซินล้วน เพื่อป้อนตลาดภูมิภาค ASEAN และอีกหลายประเทศ ที่พวกเขามองว่า ยังไม่พร้อมในการจะนำเคื่องยนต์ เบนซิน 1.6 ลิตร Hybrid เข้าไปเปิดตลาด ทั้งจากคุณภาพน้ำมัน รสนิยมการใช้รถยนต์ของลูกค้าในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ขุมพลัง Hybrid ใหม่ จะให้การตอบสนองที่ดีกว่า ทั้งอัตราเร่งที่แรงกว่า และประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นนิดนึง แถมการประกอบในเมืองไทย ยังเนี้ยบกว่า Indonesia พอสมควร กระนั้น หลายคนก็น่าจะยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระยะยาว รวมทั้งความเร็วช่วงหลัง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ก็อืดอาดหนักกว่ารุ่นเบนซิน 1.5 เดิมเสียอีก

ข้อสรุปของผมก็คือ

ถ้าคุณห่วงค่าซ่อมบำรุง และคิดจะใช้รถยาวๆ เกิน 7-8 ปี นี่คือโอกาสช่วงสุดท้ายสำหรับการตัดสินใจอุดหนุน Xpander Cross Minorchange แต่ก็ต้องทำใจว่า คุณจะได้รถยนต์ Made in Indonesia ที่มาพร้อมอัตราเร่งอืดกว่า กินน้ำมันมากกว่า แต่ค่าบำรุงรักษาในระยะยาวถูกกว่าแน่ๆ เพราะเครื่องยนต์กับเกียร์ CVT ลูกนี้ ไมมีอะไรซับซ้อนเลย

ในทางกลับกัน ถ้าคุณให้ความสำคัญกับความสดใหม่ ของรถยนต์ประกอบในประเทศไทย จากโรงงานแหลมฉบัง ซึ่งมีพวงมาลัยที่ดีขึ้นจนรถขับคล่องขึ้นผิดหูผิดตา อัตราเร่ง ที่ดีขึ้นในช่วงไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง (หลังจากนั้น โคตรอืด) และความประหยัดน้ำมันที่ดึขึ้นนิดหน่อย เป็นเรื่องสำคัญกว่า ค่าซ่อมบำรุงและความซับซ้อนของเทคโนโลยี Hybrid ที่เพิ่มเข้ามา แล้วละก็ ขอเรียนเชิญ ไปที่รุ่น Xpander Cross HEV ทั้ง GT และ Cross เถอะครับ!

จ่ายเท่ากัน ได้เทคโนโลยีสดใหม่กว่า ลูกค้าคนไทย ชอบอยู่แล้วนี่!?

————————-///————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:

ฝ่ายประชาสัมพันธ์   
บริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

เตรียมข้อมูลโดย Yutthapichai Pantumas (QCXLOFT)

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม ประกอบไปด้วย
รวมบทความทดลองขับ รถยนต์กลุ่ม B-Segment Sub-Compact Minivan

———————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
13 เมษายน 2024

Copyright (c) 2024 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 13th, 2024

แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE

———————-///———————-