ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2016 หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ครอบครัวผม รับมอบ รถกระบะ Isuzu D-MAX SPARK 1.9 Ddi Blue Power มา 1 คัน ซึ่งนอกจากจะใช้ในกิจการ ออฟฟิศ ค้าขาย เล็กๆ ของคุณพ่อ เมื่อครั้งเจ้าตัวยังมีชีวิตอยู่ แล้ว เหตุผลรองลงมา ก็คือ เพื่อที่จะนำมาทำบทความ Full Review ให้คุณๆ ได้อ่านกันอย่างไรละ! เรียกว่า เป็นการลงทุนซื้อรถมาทำรีวิว รายการแรกของ Headlightmag.com เราเลยนะนั่น!

ผมยังจำเสียงของ พี่เล็ก และคุณเก่ง ทีมงานของ Tripetch Isuzu Sales ได้เลยว่า

“ขอให้มีความสุขกับรถสปอร์ต 2 ประตู คันใหม่ นะครับ”

ฟังแล้วก็อึ้ง แล้วก็ฮา แต่เมื่อมานั่งนึกดูอีกที ก็จริงของพี่ๆเขานั่นแหละ

แหงละ สำหรับลูกค้าชาวไทยแล้ว รถกระบะหัวเดี่ยว ตอนเดี่ยว / Single Cab ในประวัติศาสตร์ ชาติไทยนั้น ถูกมองว่า เป็นรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งของ ส่งสินค้า ไปพร้อมๆกับ ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือ ที่ผู้บริโภค กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว ขายแรงงาน หาเช้ากินค่ำ ฝันอยากจะซื้อหามาครอบครองสักคัน เพื่อหวัง รับงานส่งพัสดุ ส่งพืชผักผลหมากรากไม้ หารายได้ไปจุนเจือครอบครัว

บางรายก็เริ่มคิดไกลกว่านั้น อยากแปลงร่างรถกระบะคันน้อยของตัวเอง ให้กลายเป็น “รถสปอร์ต เพื่อการพาณิชย์” จับไป Modify ดันราง จูนกล่องสมองกลของเครื่องยนต์ (ECU : ย่อมาจาก Engine Control Unit) ดัดแปลงช่วงล่างด้านหลัง เพื่อรองรับงานบรรทุกคราวละเยอะมากๆ เกินกว่าที่รถจะรับมือไหว และเกินไปไกลกว่ากฎหมายกำหนด หวังบรรทุกให้ได้มากที่สุด ต่อรอบวิ่ง 1 เที่ยว เน้นความคุ้มค่า และผลกำไรเล็กๆน้อยๆ มาหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตในบ้านได้เดินทางกันต่อไป

สำหรับเรา ในฐานะสื่อมวลชน เรารู้ดีว่า รถกระบะ คือ หนึ่งในเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าปีไหน ช่วงไหน ผลผลิตทางการเกษตรออกมาเยอะ หรือราคาดี เกษตรกรก็จะออกรถใหม่กันเยอะ เพื่อมาใช้บรรทุกผลผลิตจากเรือสวน ไร่นา ฟาร์มปศุสัตว์ และประมง ขนส่งไปยังตลาด หรือถ้าช่วงไหน ที่เป็นฤดูเลือกตั้ง ทั้งระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ นักการเมือง กับหัวคะแนน ก็จะต่อสายตรงไปหาดีลเลอร์ ขอซื้อ หรือเช่าซื้อ รถกระบะ เพื่อใช้ในการหาเสียง

แน่นอนครับ ปี 2024 ต่อเนื่องจนถึง 2025 นี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยเรา มันไม่ดีจริงๆแหละ ดังนั้น ยอดขายรถกระบะก็เลยไม่หวือหวา บรรดาผู้ผลิตทุกรายต่างก็พยายามหาทางเอาตัวรอดด้วยสารพัดกลวิธีการ และคราวนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาเริ่มค้นพบช่องว่างทางการตลาดที่หายไป และยังหาใครมาเติมเต็มกันอยู่ ….

ระยะหลังๆมานี้ ประชากรคนไทย ที่เติบโตมาในช่วงตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2025 ที่เริ่มหัดขับรถกัน หากเป็นกลุ่มลูกค้าในภูธรอันห่างไกล อาจยังเริ่มต้นกับการเรียนขับรถด้วย เกียร์ธรรมดากันอยู่ก็จริง แต่สำหรับคนที่เติบโตมาในตัวเมือง หรือหัวเมืองใหญ่ๆ อาจจะรู้สึกว่า รถเกียร์ธรรมดามันขับยาก ต้องเลี้ยงคลัตช์ตอนออกตัว เลี้ยงไม่ดี เครื่องก็ดับ ต้องติดเครื่องใหม่ แล้วถ้าตอนที่เครื่องดับนั้น เรากำลังเลี้ยวกลับรถ หรือขึ้นทางชัน บนอาคารจอดรถ ในจังหวะหน้าสิ่วหน้าขวานละ? รถจะไหลไปชนรถคันข้างหลังไหม หรือจะโดนรถที่แล่นในเลนตรงกลาม ชนกลางลำหรือเปล่า? นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ ลูกค้าในบ้านเรา เริ่มเรียกร้อง มองหา รถกระบะ “หัวเดี่ยว ตัวเตี้ย เกียร์ออโต้” กันมากขึ้นเรื่อยๆ

เสียงเรียกร้องของลูกค้าที่อยากได้รถกระบะเพื่อการพาณิชย์ แต่เป็นเกียร์อัตโนมัติ เริ่มดังขึ้น แต่ผู้ผลิตรถกระบะในบ้านเรา ยังอาจจะไม่พร้อมที่จะสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าวได้ครบทุกราย แม้ว่าทุกค่ายจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะเพื่อป้อนออกสู่ตลาดโลกก็ตาม เนื่องจากความเสี่ยงทางธุรกิจ ของแต่ละบริษัทที่ต้องเผชิญนั้น มันแตกต่างกัน โดยสิ้นเชิง

หากเป็นบริษัทที่มียอดขายเยอะๆ เป็นผู้นำในตลาด ทั้ง Isuzu และ Toyota ต่างก็พร้อมที่จะเปิดตลาดทางเลือกรุ่นย่อยใหม่ๆ ให้กับรถกระบะของตนเองกันอยู่แล้ว ดังนั้น การนำเกียร์อัตโนมัติ มาติดตั้งให้รถกระบะ Single Cab จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เกินจะทำได้ เพราะแนวโน้มความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนผู้ผลิตรายเล็กลงมา อย่าง Ford Mazda Mitsubishi Motors และ Nissan เอง ต่างก็เล็งเห็นความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ ทว่า ปัญหาก็คือ รถกระบะ Single Cab หัวเดี่ยวนั้น ในบ้านเรา ช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ ยอดขายหลักๆ จะกระจุกตัวอยู่ที่แค่ Isuzu กับ Toyota เนื่องจาก ความทนทานสำหรับงานบรรทุก ความประหยัดน้ำมัน การซอมบำรุงง่ายระดับที่ช่างท้องถื่น ซ่อมเองแก้เองได้  ต้นทุนการดูแลรักษา และราคาขายต่อ เป็นจุดเด่นที่ทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ปากต่อปากกระจายกันไป ในหมู่ลูกค้าและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ มาตลอด

ดังนั้น ผู้ผลิตแบรนด์รอง อย่าง Mitsubishi Motors จึงเลือกมองไปที่ตลาด หัวเดี่ยว Single Cab 4×4 ซึ่งพวกเขาทำยอดขายได้ดี ในตลาดภาคใต้ บางจังหวัด เป็นหลัก และยังไม่คิดจะมีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ให้กับตัวถัง Single Cab ขณะที่ Nissan ซึ่งเคยต่อสู้ในสังเวียนนี้ เริ่มทะยอยถอดใจ กับยอดขายของรถกระบะหัวเดี่ยว จนเหลือรุ่นย่อยให้เลือกน้อยลง เพียงรุ่นเดียว และไม่มีเกียร์อัตโนมัติ ขณะที่ Ford ก็มีปัญหาว่า Ranger Single Cab มีตันทุนสูง ค่าตัวก็เลยแพง และลูกค้ายังกังวลกับค่าบำรุงรักษาในระยะยาว กลุ่มลูกค้าที่รักจริง ไม่สนใจจุดด้อยดังกล่าว ก็เหลือทางเลือกแค่เพียงรุ่น Single Cab XL 2.0 Bi-Tubo 4×4 เท่านั้น ไม่มีเกียร์อัตโนมัติมาให้เลือกด้วย ท้ายที่สุดคือ Mazda นั้น ก็ถอดใจกับตลาดรถกระบะ Single Cab ในบ้านเราไปหมดแล้ว แม้ว่าจะเคยขายดีเหนือเจ้าตลาดในบางจังหวัดของภาคใต้มาช้านานหลายทศวรรษก็ตาม

สำหรับ Isuzu แล้ว อันที่จริง SPARK ไม่ใช่ชื่อใหม่ ไม่ใช่แค่เคยเป็นยี่ห้อยากำจัดวัชพืช ของ Monsanto บริษัทเคมีภัณฑ์อันตราย แต่พวกเขาทำตลาดรถกระบะ หัวเดี่ยว Single Cab มาตลอด ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยเริ่มตั้งชื่อรุ่นย่อยว่า SPARK แยกออกมาจากรุ่น Space Cab ให้ชัดเจน ตั้งแต่ปี Isuzu TFR New 2500Di ในเดือนมีนาคม 1990 และต่อให้มีการเปลี่ยนโฉมมาเป็น ตระกูล D-MAX เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2002 TriPetch Isuzu Sales ก็ยังคงรักษาชื่อ SPARK ไว้ให้กับรถกระบะหัวเดี่ยว Single Cab ของตน ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ D-MAX รุ่นตัวถังปัจจุบันนั้น เป็น Generation ที่ 3 เปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2019 ณ Impact Challenger Hall ด้วย สโลแกน “พลานุภาพ พลิกโลก” ถือเป็นการเริ่มต้นพลิกแนวคิดการทำรถ และการทำตลาดของ กลุ่ม Isuzu ในประเทศไทย ไปอีกก้าวใหญ่ๆ

28 สิงหาคม 2020 : คืออีกจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ Isuzu ตัดสินใจ เพิ่มทางเลือกรุ่นย่อย เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ให้กับรุ่น Single Cab หัวเดี่ยว ตัวเตี้ย ทั้งแบบกระบะมาตรฐาน และ Cab Chassis โดยออกมาพร้อมกับรุ่น Space Cab ตัวเตี้ย เกียร์อัตโนมัติ ในวันเดียวกัน รายละเอียด ของรุ่น 1.9 Ddi Spark 6AT ย้อนกลับไปอ่านได้ Click Here  ส่วนรุ่น Space Cab และ Cab 4 Click Here

9 ตุลาคม 2021 : Isuzu D-Max รุ่นปี 2022 ออกสู่ตลาด ไฮไลต์อยู่ที่การเพิ่มทางเลือกใหม่ เฉพาะรุ่น V-Cross ด้วยสีเทาใหม่ และเบาะนั่งแบบ Cool Max รายละเอียด Click Here

5 พฤษภาคม 2022 : เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Isuzu D-Max Cab 4 Hi-Lander 1.9 M Smart และ 3.0 M Smart ตัดระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง Blind Spot Monotoring และระบบเตือนเมื่อมีรถวิ่งมาทางด้านหลังขณะถอย Rear Cross Traffic Alert เนื่องจากปัญหาขาดแคลน Micro Processor Chip ชั่วคราว รายละเอียด Click Here

4 ตุลาคม 2022 : Isuzu D-Max รุ่นปี 2023 ออกสู่ตลาด เพิ่มอุปกรณ์ใหม่ ชูจุดขายด้วยการเพิ่มระบบความปลอดภัย ADAS ภายในชื่อ MAGIC EYE รายละเอียดเพิ่มเติม Click Here

5 ธันวาคม 2022 : เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Isuzu D-Max Space Cab SE / Spark SE ทั้ง 1.9 ลิตร และ 3.0 ลิตร ตัดระบบ ABS , EBD และ Brake Assist ลดราคาลง 10,000 บาท รายละเอียดรุ่น Spark SE Click Here ส่วนรุ่น Space Cab SE Click Here

6 ตุลาคม 2023 : รุ่นปรับโฉม Minorchange ของ Isuzu D-Max Gen.3 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ The ICONSIAM โดยรายละเอียดของรุ่น Spark Click Here

19 มีนาคม 2024 : Isuzu เปิดเผย สารพัดโครงการพัฒนา ขุมพลังเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้ง เผยโฉม รถยนต์ต้นแบบ Isuzu D-MAX EV และ Isuzu D-MAX MHEV (Mild-Hybrid) Prototype รายละเอียด Click Here

29 มีนาคม 2024 : TriPetch Isuzu Sales ประกาศปรับราคาขาย D-Max รุ่น 1.9 Ddi คันละ 15,000 บาท และ รุ่น 3.0 ลิตร คันละ 20,000 บาท จากต้นทุนการปรับปรุงเครื่องยนต์ให้รองรับมาตรฐานมลพิษ Euro 5 ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025 รายละเอียด Click Here

11 ตุลาคม 2024 : Isuzu D-MAX MHEV ถูกเปิดตัวในประเทศไทย พร้อมขายจริงทันทีครั้งแรกในโลก อย่าง เงียบเชียบ ผิดวิสัยของ TriPetch Isuzu Sales อย่างมาก เหตุผลก็เพราะ ทางบริาัท ไม่ได้เน้นทำตลาดมากนัก เนื่องจากตั้งใจให้เป็นแค่ตัวเลือก สำหรับองค์กรที่ต้องใช้รถกระบะจำนวนมาก และซีเรียสกับเรื่อง Carbon Credit มากๆ Isuzu จึงอยากจะลองส่งรถรุ่นย่อยใหม่ ออกมาให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติม ไม่ได้เน้นยอดขายแต่อย่างใด รายละเอียดเพิ่มเติม Click here

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ใหม่ Diesel 2.2 Ddi Max Force เปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2024 ณ สนาม Buriram International Circuit เพียงเดือนเดียว หลังจากปล่อยรุ่น MHEV ออกมา รายละเอียดของการปรับปรุงนั้น นับตั้งแต่วันเปิดตัว จนถึงวันที่บทความรีวิวนี้ ออกเผยแพร่ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเพิ่มเติม

แถมให้อีกเล็กน้อยว่า Isuzu D-MAX EV เพิ่งเผยโฉมเวอร์ชันเตรียมจำหน่ายจริงครั้งแรก ในงาน Commercial Vehicle Show 2025 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา โดยตัวรถจะถูกประกอบที่ โรงงาน Isuzu Motors ในประเทศไทย ก่อนจะส่งไปที่ Norway ก่อน เป็นประเทศแรก ภายในปีนี้ รายละเอียด Click Here

ดังนั้น ใครจะมาบอกว่า ค่ายญี่ปุน ปรับตัวช้า เต่าล้านปี สู้รถจีนไม่ได้ อาจจะต้องถอนคำพูดกันบางส่วนนะครับ!

———————————————-

จะว่าไปแล้ว เวลาผ่านไปนาน 9 ปีแล้วที่ผม ไม่ได้มีโอกาส ลองขับรถกระบะ หัวเดี่ยว ตัวเตี้ย กันเลย ผมเองก็อยากรู้ว่า 9 ปีที่ผ่านไป รถกระบะคันเดิมที่ผมเคยลองขับนั้น เมื่อเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคันไปแล้ว จะให้สัมผัสการขับขี่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร มันจะคุ้มค่าพอที่บรรดาวัยรุ่นสร้างตัว หรือเจ้าของกิจการทั้งหลาย จะซื้อหามาใช้งานเพื่อยกระดับธุรกิจ อัพเกรดชีวิต กันหรือไม่

มาลองดูกันเลยดีกว่า!

มิติตัวถัง / Dimension

D-MAX Spark รุ่นปัจจุบัน แบบกระบะมาตรฐาน มีความยาวตัวรถ 5,245 มิลลิเมตร กว้าง 1,810 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,125 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง อยู่ที่ 1,555 มิลลิเมตร เท่ากัน ระยะห่างจากพื้นจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 190 มิลลิเมตร ในรุ่น 4×2 ตัวเตี้ย และ 220 มิลลิเมตร ในรุ่น 4×4

แอบเสริมข้อมูลให้เล็กน้อยว่า D-MAX Spark รุ่น 4×4 ยกสูง ซึ่งจะมีแต่ขุมพลัง 3.0 ลิตร นั้น ความยาว และความกว้างเท่ากัน แต่เพิ่มความสูง เป็น 1,770 มิลลิเมตร และสำหรับรุ่น Flat Deck กระบะแบน ซึ่งนิยมใช้ใน Australia / New Zealand ตัวรถจะสั้นลง เหลือ 4,930 มิลลิเมตร ขณะที่ความสูง จะยกขึ้น เล็กน้อย ไปอยู่ตรงกลางระหว่าง รุ่นกระบะมาตรฐาน และรุ่น 4×4 คือ 1,705 มิลลิเมตร

ถ้าเปรียบเทียบกับ D-MAX Spark รุ่น 1.9 Ddi คันเก่าของครอบครัวผม ที่มีความยาว 5,215 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,095 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 195 มิลลิเมตร ในรุ่น 4×2 ตัวเตี้ยจะพบว่า รถรุ่นใหม่ ยาวขึ้นกว่าเดิม 30 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 35 มิลลิเมตร ความสูงเท่าเดิม แต่มีระยะฐานล้อยาวขึ้น 30 มิลลิเมตร Ground Clearance เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร

หากเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ที่ชัดเจนมากสุด ตรงสายที่สุด ซึ่งมีอยู่เพียงรุ่นเดียว อย่าง Toyota Hilux Revo Standard Cab (2.4 Entry 6AT) ซึ่งมีความยาว 5,265 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,690 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,085 มิลลิเมตร จะพบว่า D-MAX Spark ใหม่ สั้นกว่า 20 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่า 10 มิลลิเมตร มีความสูงเท่ากัน แถมยังมีระยะฐานล้อยาวกว่าถึง 40 มิลลิเมตร

ภายนอก / Exterior

เส้นสายภายนอกในภาพรวม ดูโฉบเฉี่ยว แต่ลงตัว และได้ Proportion มากกว่ารถรุ่นเดิม แอบเสียดายเล็กน้อยว่า เสากรอบประตูด้านข้าง น่าจะได้ แถบสีดำมาเชื่อมต่อจากกระจกหน้าต่างคู่หน้าอีกนิด เพื่อเพิ่มรายละเอียด และมิติให้ตัวรถดูดีขึ้นไปอีก ชุดไฟหน้า Halogen ออกแบบให้มีเส้นสาย ล้อไปกับกระจังหน้าลายใหม่ พ่นสีดำ ลดการสะท้อนแสงแดดในตอนกลางวัน โดยมีไฟเลี้ยว ติดตั้งซ่อนอยู่ตรงกลาง ระหว่าง โคมไฟหลัก กับกระจังหน้า

เปลือกกันชนหน้า ของรุ่น 2.2 Ddi B ทั้งหมด จะเป็นสีดำ แต่สำหรับรุ่น 2.2 Ddi S ขึ้นไป รวมทั้ง รุ่น 3.0 ลิตร 4×4 จะพ่นสีเดียวกับตัวถัง ไม่มีไฟตัดหมอกมาให้ ส่วนกรอบด้านนอกของกระจกมองข้าง พ่นสีเดียวกับตัวถัง ขณะที่ มือจับประตู ถูกพ่นสีดำ มีไฟเลี้ยวด้านข้างตัวถัง บริเวณ เหนือซุ้มล้อคู่หน้า มาให้ทุกรุ่นย่อย

เส้นคาดข้างตัวถัง จะมีด้วยกัน 2 เส้น คือ บริเวณแนวระนาบเดียวกับมือจับประตู ซึ่งจะจับจีบเป็นเส้นตรงแนวเฉียง ต่อเนื่องจรดชุดไฟท้าย ช่วยแบ่งครึ่งพื้นที่ด้านข้างตัวรถให้ดูได้สัดส่วนขึ้น

ส่วนอีกเส้นหนึ่ง จะลากต่อเนื่องจาก ฐานโป่งซุ้มล้อคู่หน้า  ยิงเฉียงขึ้นมาก่อนจะค่อยๆเลือนหายไป เมื่อถึงซุ้มล้อคู่หลัง นอกจากเพิ่มความโฉบเฉี่ยวให้ตัวรถแล้ว เมื่อดูพร้อมกัน ทั้ง 2 เส้นแบ่งดังกล่าว จะช่วยเพิ่ม มิติให้กับพื้นผิวด้านข้างตัวรถ เหมือนมีการเล่นระดับ

ชิ้นส่วนตัวถัง เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ถูกขึ้นรูปให้มีลวดลายโค้งมน และดูหนา เพื่อเพิ่มมัดกล้ามให้ตัวรถดูทะมัดทะแมงยิ่งขึ้น ส่วนชุดไฟท้าย แบ่งพื้นที่ออกชัดเจน คือไฟเบรกอยู่ด้านบน ไฟเลี้ยวอยู่ตรงกลาง น่าแปลกใจที่มีขนาดเล็กกว่าไฟถอยหลังด้านล่าง

กระบะด้านหลัง มีตะขอเกี่ยวเชือกมาให้ฝั่งละ 5 ตำแหน่ง ส่วนฝาท้าย มีการเล่นลวดลาย Graphic แนวตั้งเล็กน้อย ต่อเนื่องจากรุ่นเดิม แต่ไม่มีสปริงเหล็กก้านยาว เพื่อช่วยซัพพอร์ตผ่อนแรงเวลายกลงมา หรือยกขึ้นปิดใดๆทั้งสิ้น ยังคงใช้ตัวล็อกแบบคันโยกตามมาตรฐานดั้งเดิม ทั้งฝั่งซ้ายและขวา แน่นอนว่า รถกระบะหัวเดี่ยว ตัวเปล่าแบบนี้ ถ้าอยากได้บันไดหลัง มักต้องสั่งซื้อติดตั้งเพิ่มเติมเอง ในฐานะ อุปกรณ์สั่งพิเศษ (Option)

กระทะล้อ ทั้ง 4 ล้อ รวมทั้ง ล้ออะไหล่ เป็น ล้อเหล็ก ขนาด 15″ x 6.5JJ สวมด้วยยาง Bridgestone ขนาด215/70R15

สีตัวถัง สำหรับรุ่น Spark มีไม่เยอะครับ โดยรุ่น 2.2 S 8AT คันนี้ จะมี 3 เฉดสีให้เลือก นั่นคือ สีขาว Siberian White , สีเงิน Bohemian Silver Metallic (เพิ่มเงิน 7,000 บาท) และ สีเทา Elbrus Opec Grey (อ่านว่า เอลบรุส โอเพค เพิ่มเงินอีก 7,000บาท)  

ภายในห้องโดยสาร / Interior

มือจับเปิดประตูของ D-MAX SPARK ทุกรุ่น เป็นสีดำ ส่วนระบบกลอนประตูของ D-MAX SPARK เมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้น หากเป็นรุ่น B จะมีเฉพาะ กุญแจบ้านธรรมดามาให้ และถ้าอยากได้ กุญแจแบบมี Central Lock ก็ต้องอุดหนุน รุ่น SPARK 1.9 S และ 3.0 S ทั้ง 4×2 และ 4×4

ทว่า สำหรับ D-MAX SPARK รุ่นปี 2025 นั้น หากเป็นรุ่น 2.2 Flat Deck , 2.2 Cab Chassis ทั้งเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ รวมทั้ง 2.2 B รุ่นพื้นฐาน จะยังคงใช้ ดอกกุญแจไขล็อก-ปลดล็อก แบบพื้นฐาน

ส่วนรุ่น 2.2 S ทั้งเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ รวมทั้งรุ่น 3.0 S ทั้ง 4×2 และ 4×4 จะ Upgrade มาใช้ดอกกุญแจรุ่นใหม่ Integrated Key ซึ่งมีสวิตช์ Central Lock กดปุ่ม ล็อก หรือปลดล็อก ในตัว สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น พร้อมระบบล็อกอัตโนมัติ เมื่อรถเคลื่อนตัว แต่ไม่มีระบบกันขโมย Immobilizer มาให้

การเข้า – ออกจากช่องประคู ทั้ง 2 ฝั่ง ทำได้ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ D-MAX SPARK รุ่นก่อนที่ผมมีอยู่ในบ้าน เนื่องจาก เสาหลังคาคู่หน้า ออกแบบให้มีแนวโค้งที่เหมาะสมขึ้น ช่วยลดโอกาสที่ศีรษะจะไปโขกกับขอบหลังคาด้านบนลงไปได้เยอะ พื้นรถค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับ รถรุ่นเดิม การก้าวขึ้นไปนั่ง ใช้วิธีการดั้งเดิม คุณอาจต้องยกขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อก้าวเข้าไปนั่งบนเบาะ แต่ตอนออกจากรถ คุณสามารถหมุนตัว ออกมาแล้วยืนลงจากรถได้ทันที

แผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง ยกชุดมาจาก D-MAX รุ่นพี่ๆ เพียงแต่ว่า วัสดุทั้งหมดจะขึ้นรูปด้วย พลาสติกสีดำ ทั้งหมด ไปจนถึงมือจับเปิดประตู โดยจะมีวัสดุบุนุ่ม หุ้มหนังสังเคราะห์มาให้ เฉพาะบริเวณพนักวางแขน พร้อมมือจับดึงปิดประตู เท่านั้น บริเวณด้านล่างของแผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท ได้ ฝั่งละ 1 ขวด พร้อมช่องใส่เอกสาร ขนาดปานกลาง ส่วนมือจับศาสดา (สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ) มีมาให้เฉพาะเหนือช่องประตูฝั่งว้ายของตัวรถเท่านั้น

เบาะนั่ง ของรุ่น SPARK ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจาก D-MAX ตัวถังอื่นๆ โดยรุ่นเกียร์ธรรมดา ทุกขุมพลัง ยังคงเป็นแบบ 3 ที่นั่ง แบ่งปรับตำแหน่งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอนพนักพิงหลังได้นิดๆ ด้วยคันโยก ทั้งฝั่งซ้ายและขวา

ทว่า สำหรับรุ่นเกียร์อัตโนมัติ คราวนี้ ตัวเบาะนั่ง จะถูกออกแบบให้แตกต่างจากรุ่นเกียร์ธรรมดา โดยแบ่งออกเป็น 2 ชิ้น 2 ฝั่ง แยกอิสระจากกัน คั่นกลางด้วย แผงคอนโซล พร้อมช่องติดตั้ง คันเกียร์ ช่องวางแก้ว และกล่องเก็บของพร้อมฝาปิด ไม่เพียงเท่านั้น พนักศีรษะ ซึ่งเคยปรับระดับสูง – ต่ำได้ ถูกจับหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวพนักพิงหลัง

พนักพิงหลัง ให้สัมผัสที่เรียบง่าย Simplify กว่า D-MAX รุ่นพี่ๆ เขาทั้งหมด เพราะตัวพนักพิงหลังนั้น ให้สัมผัสค่อนข้างราบเรียบไปกับแผ่นหลัง แทบไม่สัมผัสถึงโค้งเว้านูนใดๆของตัวพนักพิงเท่าใดเลย เพียงแต่ว่า ฟองน้ำที่ใช้ เป็นแบบนุ่มแอบบางนิดๆ จึงให้ความสบายกับแผ่นหลัง ตลอดการนั่งขับขี่เป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง โดยไม่ปวดเมื่อยกลางแผ่นหลังเท่าใดนัก

พนักศีรษะ ใช้ฟองน้ำแบบนุ่มแอบแน่น ความหนาปานกลาง ไม่ดันกบาล แต่ปรับระดับสูง-ต่ำไม่ได้ แน่นอนว่า เป็นอีกรูปแบบของการลดต้นทุน แต่ยังคงได้อรรถประโยชน์ครบถ้วนเหมือนเดิม

เบาะรองนั่ง มีความยาวมาตรฐาน คือ ไม่สั้น แต่ไม่ยาว ขอบเบาะรองนั่ง ยาวจนเกือบจะถึงขาพับ ใช้ฟองน้ำแบบนุ่ม แอบบางหน่อยๆ มีมุมเงยเหมาะสมกำลังดี แต่สำหรับบางคน อาจจะเตี้ยไปนิดนึง ส่วนเข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับได้ พร้อมระบบ ดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner with Load Limiter) มาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ครบทุกรุ่นย่อย! ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผู้ผลิตอย่าง Isuzu ไม่งกต้นทุนในจุดนี้ (รุ่นต่อไป ห้ามเอาออกเด็ดขาดนะ!!)

กระบะหลัง มีความยาว 2,330 มิลลิเมตร กว้าง 1,590 มิลลิเมตร สูง 465 มิลลิเมตร โดยมีหมายเหตุเอาไว้เล็กน้อยว่า พื้นปูกระบะหลังนั้น เป็นอุปกรณ์สั่งติดตั้งพิเศษ ซึ่งต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือจะไป Deal ขอเป็นของแถมกับพนักงานขาย ก็ต้องไปคุยกันเอาเอง

เมื่อเปรียบเทียบกับ กระบะหลังของ Toyota Hilux Revo Standard Cab ที่มีความยาว 2,315 มิลลิเมตร กว้าง 1,575 มิลลิเมตร สูง 480 มิลลิเมตร จะพบว่า กระบะหลังของ D-MAX Spark ยาวกว่า Revo 15 มิลลิเมตร กว้างกว่า 15 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า 15 มิลลิเมตร พอดี

แผงหน้าปัด ยกชุดมาจาก D-MAX รุ่นอื่นๆ แต่ การตกแต่งภาพรวม เน้นใช้พลาสติก Recycle แบบพื้นฐาน ไม่ได้มีการตกแต่ง Trim ต่างๆ ใดๆทั้งสิ้น ซึ่งก็เหมาะสมกับการใช้งานของรถกระบะส่งของ ซึ่งไม่ได้ต้องการความหรูหราใดๆ แต่ต้องการ Function พื้นฐาน ที่ใช้งานได้ดี และไว้เนื้อเชื่อใจได้เป็นหลัก

มองขึ้นไปด้านบนเพดาน จะพบแผงบังแดดขนาดใหญ่ ทั้ง 2 ฝั่ง แต่กลับไม่มีกระจกแต่งหน้าใดๆมาให้ ทั้งสิ้น ไฟอ่านแผนที่ขนาดใหญ่ กดเปิด-ปิด ได้ที่ตัวโคมไฟแยกดฝั่งซ้าย-ขวา โดยตรง รวมทั้งยังมีช่องใส่แว่นกันแดดแบบพับเก็บได้ เหมือนญาติรุ่นพี่ร่วมตระกูลรุ่นย่อยอื่นๆ ส่วนกระจกมองหลัง ติดตั้งไว้บนกระจกบังลมหน้า แต่ไม่มีก้านโยกปรับตัดแสงไฟจากรถคันข้างหลังในยามค่ำคืนมาให้ สิ่งละอันพันละน้อยที่หายไปเหล่านี้ น่าจะนำกลับมาใส่เอาไว้สักหน่อย อย่างน้อย ก็ควรมีมาให้ในรุ่น 2.2 Ddi S และ 3.0 ลิตร ทุก Grade ซะที

จากขวา มาทางซ้าย

กระจกหน้าต่าง ของรุ่น 2.2 B ไม่ว่าจะเป็นแบบ Flat Deck , Cab Chassis หรือรุ่นกระบะมาตรฐาน จะยังคงเป็นคันโยกหมุน ตามปกติ ส่วนรุ่น 2.2 S และ 3.0 ลิตร ทุกรุ่นย่อย จะถูก Upgrade เป็นกระจกหน้าต่างไฟฟ้า พร้อมระบบเลื่อนขึ้น – ลงอัตโนมัติ และระบบป้องกันการหนีบ เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ มีลิ้นชักวางแก้ว เลื่อนเปิด – ปิดได้ นี่คือ สิ่งที่ลูกค้าชาวไทย อยากได้จากผู้ผลิตรถกระบะทุกราย มันคือ สิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่คนที่ใช้งานจริง จะพบว่า มันมีประโยชน์สุดๆ และเป็นเรื่องดีที่ D-MAX ไม่ลืมความต้องการของลูกค้าในประเด็นนี้ แม้แต่ในรุ่นกระบะส่งของหัวเดี่ยวแบบนี้

ถัดลงมาเป็นสวิตช์ เปิด-ปิด ระบบ Auto Start Stop สวิตช์สั่งการทำงาน ของระบบเผาเขม่า ตามมาตรฐานมลพิษ Euro 5 และสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ TCS ถัดลงไปเป็น ช่องเก็บของแบบมีฝาปิด คันโยกเปิดฝากระโปรงหน้ารถ และคันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน

การติดเครื่องยนต์ ยังคงต้องใช้ดอกกุญแจเสียบไปที่สวิตช์ บริเวณคอพวงมาลัย แล้วหมุนบิดไปทางขวา เหมือนรถยนต์ทั่วไป ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ไว้ใช้ควบคุมไฟเลี้ยว ไฟหน้า และไฟสูง ตามปกติ ขณะที่ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งซ้าย ไว้ควบคุมใบปัดน้ำฝนและหัวฉีดน้ำล้างกระจกบังลมหน้า โดยรุ่น 2.2 B ทั้งแบบกระบะมาตรฐาน กระบะ Flat Deck หรือ หัวเก๋ง Cab Chassis จะเป็นแบบมาตรฐานธรรมดา ขณะที่รุ่น 2.2 S และ 3.0 ลิตรขึ้นไป จะเป็นแบบหน่วงเวลา มาให้

พวงมาลัยของทุกรุ่น เหมือนกันหมด ยกระดับจากเดิม มาเป็นแบบ เป็นแบบ 3 ก้าน ยูรีเธน ทรง Sport ยกมาจาก D-Max รุ่นอื่นๆ ไม่มีสวิตช์ควบคุมบนก้านพวงมาลัยอื่นใด ทั้งสิ้น แต่คราวนี้ นอกจากจะปรับระดับสูง – ต่ำได้แล้ว ยังเพิ่มการปรับระยะ ใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic มาให้อีกด้วย! แกนพวงมาลัยยุบตัวได้ เมื่อ เกิดอุบัติเหตุ

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ Analog มาตรฐาน 2 วงกลม ฝั่งซ้ายเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวา เป็นมาตรวัดความเร็ว ตรงกลาง ด้านบน เป็นหน้าจอ Multi Information Display แสดงมาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็น มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถังเชื้อเพลิง และมาตรวัดความเร็วตัวเลข เป็นแบบ Digital ไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ไฟเตือนต่างๆ รวมทั้ง Odo Meter วัดระยะทางทั้งหมด Trip Meter A และ B รวมทั้้ง มาตรวัดคำนวนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย และ Real Time บอกวันที่ และเป็นนาฬิกา Digital ในตัว ถัดลงมาเป็น สัญญาณไฟเตือนต่างๆในระบบของตัวรถทั้งหมด

มาตรวัด อ่านง่ายในระดับหนึ่ง แต่ด้วยแถบ Graphic 4 ขีด ที่ซ่อนอยู่รอบในของวงกลม ทำให้อ่านรอบเครื่องยนต์ หรือความเร็ว ในช่วงกลางคืน ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องการความละเอียดเพิ่มขึ้น อาจยังไม่ชัดเจนมากนัก

จากซ้าย มาทาง ขวา

แม้ว่า ลิ้นชักช่องวางแก้ว ใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายสุด จะยังคงมีอยู่ ต่อเนื่องมาจากรถรุ่นก่อน แต่ ช่องเก็บของด้านบน ที่เคยมีฝาปิดนั้น ถูกตัดออกไปเหลือแค่ช่องโล่งๆ ขณะที่ลิ้นชัก Glove Compartment ยังคงมีขนาดใหญ่พอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถต่างๆ ได้เช่นเดิม แต่ไม่มีตัวล็อกฝาลิ้นชักมาให้

ตัวล็อกลิ้นชัก คือสิ่งที่ผมมองว่า ควรใส่มาให้ในรถกลุ่มนี้ เนื่องจาก พฤติกรรมการใช้รถของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย พวกขนส่งสินค้า หรือผักผลไม้ ที่ต้องใช้ชีวิต กินนอน อยู่ในรถ บางราย ถึงขั้น เอาทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และเอกสารสำคัญ มาใส่ในรถเอาไว้เลย เพราะพวกเขาไม่มีเวลาแม้แต่จะกลับไปเยี่ยมแวะพักที่บ้านของตนเองด้วยซ้ำ ดังนั้น ของเล็กๆน้อยๆพวกนี้ ถ้าใส่เข้ามาได้ และกลายเป็นจุดขายเพิ่มเติมได้ เชื่อหรือไม่ว่า มันจะช่วยดึงยอดขายให้ได้ในระยะยาว!

เหนือแผงควบคุมกลาง เป็นถาดหลุม สำหรับวางพระเครื่อง รวมทั้งสวิตช์ไฟฉุกเฉิน ซึ่งติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่สะดวกมากๆต่อการใช้งาน

ด้านอุปกรณ์ความบันเทิงนั้น หากเป็นรุ่นพื้นฐาน B Flat Deck Short Wheelbase ฐานล้อสั้น กับรุ่น Cab Chassis จะไม่มีชุดเครื่องเสียงใดๆมาให้เลย แต่มีลำโพงมาให้ 2 ชิ้น รองรับการต่อชุดเครื่องเสียงกันเอาเอง ขณะที่รุ่น B จะเป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่šองเล่น CD แบบ 1-DIN ลำโพง 2 ชิ้น แบบมาตรฐาน พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB/AUX 1 ช่อง

ส่วนรุ่น S ขึ้นไป ทุกขุมพลัง ทุกระบบขับเคลื่อน จะติดตั้ง หน้าจอ Monitor สี แบบ Touch Screen ขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อกับระบบ Wireless Android Auto และ Wireless Apple CarPlay Bluetooth รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบ WiFi Mirroring และช่องต่ออุปกรณ์ USB-C เรียกได่ว่า หน้าจอเป็นชุดเดียวกับ D-MAX รุ่นหรูๆ ไปจนถึง V-Cross เลยทีเดียว!!

คุณภาพเสียง? เป็นธรรมดาที่ต้องทำใจ ว่า มันไม่ได้ดีเท่ากับ D-MAX รุ่นอื่นๆ ร่วมตระกูลแน่ๆ แต่อย่างน้อย ยืนยันว่า เสียงที่ออกมาจาก ลำโพงทั้ง 2 ชิ้น ยังใส และพอมีรายละเอียดใเครื่องดนตรีให้พอได้ยินจางๆบ้าง ซึ่งดีกว่า วิทยุ ของ Triton Single Cab และ Mega Cab ตัวเตี้ย แน่นอน!

เครื่องปรับอากาศ ของทุกรุ่นย่อย เป็นแบบ สวิตช์ มือหมุน พร้อม แผ่นกรองระบบปรับอากาศ PM 2.5 จากโรงงาน

ใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ มีถาดวางโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับเป็นที่อยู่ของ ปลั๊กไฟ 220 V และไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย

ช่องวางแก้วน้ำ ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านซ้าย มีมาให้ 2 ตำแหน่ง ติดกันคือ เบรกมือ เป็นคันเบรก กลไกขยายตัวด้านใน ติดตั้งร่วมกับ ดรัมเบรกล้อหลัง แบบรถยนต์ทั่วไป ระยะตึงมือของเบรกมือ อยู่ที่ 6-9 แกร็ก ส่วนแผงสวิตช์รอบฐานคันเกียร์ นั้น จะมีมาให้แค่สวิตช์ เปิด-ปิด ระบบ ช่วยลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) เท่านั้น ไม่มีสวิตช์อื่นใดมาให้เหมือน D-MAX รุ่นอื่นๆเลย

ส่วนกล่องคอนโซลตรงกลาง มีฝาปิด พอให้พักท่อนแขนได้บางส่วนเท่านั้น ไม่ถึงกับสบายอะไรนัก ตัวกล่องมีขนาดใหญ่ ระดับใส่กล้องถ่ายรูป Digital ขนาดเล็ก ได้สบายๆ พอดีๆ

******* รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ *******
******** Technical Information & Test Drive *********

D-MAX SPARK ตัวถัง Single Cab หัวเดี่ยว รุ่นปี 2025 มีขุมพลังให้เลือก ด้วยกัน 2 แบบ โดยรุ่นที่แรงสุดคือ เครื่องยนต์ Diesel 3.0 ลิตร Ddi Turbo พ่วงด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แต่สำหรับรุ่นที่เรานำมาทดลองขับกันในคราวนี้ แน่นอนว่า เราเน้นไปที่ขุมพลังใหม่ล่าสุด Diesel 2.2 ลิตร Ddi Max Force

เครื่องยนต์ รหัส RZ4F-TC Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.2 ลิตร 2,164 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 83 x 100 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 15.9 : 1 จุดระเบิดเรียงลำดับกระบอกสูบ 1-3-4-2 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแรงดันสูง 250 MPa ผ่านราง Commonrail พร้อม Intercooler พ่วงระบบอัดอากาศแบบมีครีบแปรผัน E-VGS Turbocharger รอบเดินเบา ตั้งแต่ 725 – 775 รอบ/นาที

กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.76 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,600 รอบ/นาที รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด Biodiesel B20

ขุมพลัง 2.2 ลิตร จะมีเฉพาะระบบ ขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD) โดยในรุ่น 2.2 S คันนี้ จะติดตั้ง เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ รุ่น L-B500  พร้อม Lock – up Torque converter โหมด +/- REV Tronic อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

  • เกียร์ 1 …………… 4.903
  • เกียร์ 2 …………… 3.120
  • เกียร์ 3 …………… 2.166
  • เกียร์ 4 …………… 1.597
  • เกียร์ 5 …………… 1.312
  • เกียร์ 6 …………… 1.000
  • เกียร์ 7 …………… 0.776
  • เกียร์ 8 …………… 0.651
  • เกียร์ถอยหลัง…… 4.050
  • เฟืองท้าย ………… h3.230 (ตัวเตี้ย) / 3.583 (ยกสูง)

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วงกลางดึก เหมือนเช่นเคย อุณหภูมิภายนอกรถยังอยู่ที่ 29 องศาเซลเซียส โดยยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวคนขับ 110 กิโลกรัม และผู้ร่วมทดลองขับ 60 กิโลกรัม รวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้

เห็นตัวเลขแล้ว สังเกตความเปลี่ยนแปลงไหมครับ? การเพิ่มความจุกระบอกสูบ และอัพเกรดชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ ส่งผลให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนเลยว่า มันแรงขึ้นและแตกต่างจาก ขุมพลัง 1.9 Ddi เดิม ก็จริง แต่มีตัวเลขที่น่าสนใจให้คุณได้เห็นกัน

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขุมพลัง 2.2 Ddi เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ เร็วกว่า 1.9 Ddi เดิม เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ประมาณ 0.5 – 0.6 วินาที แต่พอเป็นช่วงเร่งแซง ทั้งคู่ กลับทำได้เท่ากัน คือราวๆ 7.8 วินาที ทั้งที่เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ด้วยนะ

เอาอย่างนี้ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ลองดูในตาราง Pickup Cab ที่แถมมาให้นี่ครับ ให้ดูตัวเลขของ รุ่น Space Cab Low Floor เปรียบเทียบกันระหว่าง 1.9 Ddi X-Series และ 2.2 Ddi Max Force รุ่นมาตรฐาน และใช้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ทั้งคู่จะพบว่า ช่วงอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่น 1.9 Ddi ทำได้แค่ 12.25 วินาที แต่ 2.2 Ddi Max Force ไวขึ้นมาถึง 10.65 วินาที ต่างกันถึง 1.6 วินาทีเลยทีเดียว ขณะที่ช่วงเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น รุ่น 1.9 Ddi ใช้เวลานาน 8.13 วินาที แต่รุ่น 2.2 Ddi Max Force กลับไวขึ้นเป็น 6.96 วินาที! ต่างกันถึง 1.17 วินาที

ส่วนความเร็วสูงสุด 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,400 รอบ/นาที เกิดขึ้น ณ เกียร์ 7 มันอาจจะ Drop ลงมาจากเดิม ที่ 1.9 Ddi เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ทำเอาไว้ ที่ 191 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,300 รอบ/นาที ณ เกียร์ 6 แต่เอาเข้าจริง เพียงแค่นี้ก็พอแล้วครับ รถกระบะส่งของ ไม่ต้องซิ่งมากขนาดนั้นเลย

(เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี)

สัมผัสจากการขับขี่จริง บอกเลยว่า “มันแรงขึ้นชัดเจน” โดยมีวงเล็บต่อท้ายว่า ตัวรถเปล่าๆ ไม่มีน้ำหนักบรรทุกใดๆที่กระบะท้าย

ต้องยอมรับกันว่า เมื่อครั้งที่ผมลองขับ D-MAX ขุมพลัง 2.2 ลิตร MaxForce ในตอนแรก บนรูปแบบของรถกระบะ 4 ประตู ยกสูง ก็พอจะสัมผัสได้ว่า มันแรงขึ้นแตกต่างจาก รุ่น 1.9 ลิตร อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ผมไม่นึกว่า เมื่อลดทอนน้ำหนักส่วนเกินออก ทั้งคัน เหลือแต่ตัวรถกระบะตอนเดียว หัวเดี่ยวเปล่าๆ ขุมพลัง 2.2 ลิตร MaxForce จะพาให้รถพุ่งทะยานไปได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คิดถึงเพียงนี้

ในจังหวะเร่งแซงเอง ตัวรถก็ทะยานขึ้นไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง แทบจะเรียกได้ว่า พาให้ผมไต่ความเร็วขึ้นไปถึง Top Speed 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้บ่อยเท่าที่ต้องการกันเลยละ!

คันเร่งไฟฟ้า ทำงานได้ดี ทันใจ ไม่ค่อยหน่วงเท่าไหร่ ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ นั้น แม้การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ จะราบรื่นดีในการขับขี่ปกติ

อย่างไรก็ตาม ในบางจังหวะ ที่ใช้ความเร็วต่ำ ระดับคลานๆไปตามสภาพการจราจรในเมือง เกียร์จะเหมือนหน่วงๆรถ และเหมือนจะยังงงๆ ่า คนขับจะเอายังไงต่อ จะเร่ง หรือจะถอนคันเร่ง ก็เลยทำตัวงงๆ พอจังหวะเติมคันเร่งส่งเพียงเบาๆ รถอาจมีอาการ กระชาก แล้วก็มีเสียงดัง “ตึง” เหมือน เกียร์ยอมเข้าตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้วเดินหน้าให้ต่อ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้น ไม่บ่อยครั้งนัก ทราบมาว่า ปัญหานี้ ทาง Tripetch Isuzu Sales ได้แจ้งให้ลูกค้า นำรถเข้าไป Update Firmware ของสมองกลเกียร์แล้ว หวังว่า อาการดังกล่าว ควรจะหายไป ในระยะหลังจากนี้

การเก็บเสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน
*********** Noise Vibration & Harshness **********

อย่าคาดหวังว่า รถกระบะเพื่อการพาณิชย์ จะเก็บเสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสารได้ดีนักเลย ด้วยเหตุที่ตัวรถจำเป็นต้องถูกกดต้นทุนให้ลดต่ำลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้การลดเสียงรบกวน กลายเป็นประเด็นรองสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ไปแทน

กระนััน ช่วงเดินเบา หรือย่านความเร็วต่ำ เสียงเครื่องยนต์ ยังพอจะดัง หลงเหลือเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารอยู่บ้าง ในช่วงตั้งแต่จอดติดไฟแดงด้วยรอบเดินเบา จนถึงความเร็วช่วง ไม่เกิน 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงในห้องโดยสารจะยังค่อนข้างเงียบพอประมาณ ช่วงความเร็วไม่เกิน 60 -70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทุกอย่าง ยังดูปกติ เปิดวิทยุ ฟังเพลงพอได้

แต่เมื่อไหร่ที่คุณใช้ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป อาจต้องทำใจกับเสียงของกระแสลมที่เล็ดรอดเข้ามาทางยางขอบประตูหน้าต่าง และเสียงกระแสลมจาก Under floor ช่วงซุ้มล้อ ซึ่งจะเริ่มดังขึ้นในจังหวะนี้ และจะเริ่มดังขึ้นไปตามความเร็วรถที่เพิ่มขึ้น คุณอาจต้องเร่งเสียงวิทยุ รอได้เลย ยิ่งหลัง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถจะดังเอาเรื่อง เป็นธรรมดาของรถกระบะประเภทนี้

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering Wheels

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบ Hydraulic แกนพวงมาลัย สามารถยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ แถมคราวนี้ ยังปรับระยะใกล้ – ห่างจากคนขับได้อีกด้วย รัศมีวงเลี้ยว ของแทบทุกรุ่นย่อย ทั้ง 2.2 B Cab Chassis เกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ รวมทั้ง รุ่น 2.2 B และ 2.2 S ที่เรานำมาทดลองขับกัน และ 3.0 Ddi 4×2 อยู่ที่ 6.0 เมตร แต่หากเป็นรุ่น 2.2 B Flat Deck อยู่ที่ 5.6 เมตร และรุ่น 3.0 Ddi 4×4 อยู่ที่ 6.1 เมตร

ถ้าตัวเลขข้างต้น ยังไม่พอ ผมขอแถมเพิ่มเติมให้ว่า ระยะฟรีพวงมาลัย 10-30 มิลลิเมตร ค่า Toe-in 0 มิลลิเมตร มุม Camber 0 องศา มุม Caster ของรุ่น หัวเก๋ง และ Cab Chassis อยู่ที่ 2 องศา 55 ลิปดา ส่วนรุ่นกระบะมาตรฐาน จะเหมือนกับรุ่นย่อยอื่นๆ อยู่ที่ 3 องศา 15 ลิปดา มุมเอียงสลักคอม้า 12 องศา 30 ลิปดา ความจุน้ำมันพวงมาลัย Power อยู่ที่ 1.0 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ รุ่น Spark เดิม แล้ว ชัดเจนว่า น้ำหนักพวงมาลัย ในช่วงความเร็วต่ำ เบาขึ้นกว่าเดิม เล็กน้อย ช่วยลดความเหนื่อยขณะออกแรงหมุนพวงมาลัย ลงไปได้พอสมควร หมุนได้คล่องแคล่วขึ้น กระนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดา D-MAX รุ่นปี 2024 – 2025 ทุกรุ่นแล้ว จะพบว่า พวงมาลัย ของ รุ่น SPARK 2.2 D เกียร์อัตโนมัติ คันนี้ แอบหนืดกว่า D-MAX รุ่นอื่นๆ ขึ้นไปอีกเล็กน้อย โดยที่มีระยะฟรีของพวงมาลัย พอๆกัน

ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ทั้งในตรอกซอกซอย หรือขณะเข้าโค้ง ถือว่า ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย แต่ภาพรวมแล้ว ยังอยู่ในระดับกลางๆของตลาด มีความหนืด และหน่วงมือกำลังดี ไม่หนักมาก แต่ไม่ก็เบา เท่ากับ รุ่น Space Cab ทั้งแบบตัวเตี้ย Low Floor และยกสูง

ช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูง ระดับ 170 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัยตัวรถจะยังคงนิ่งพอประมาณ  โดยมีอาการดิ้นไปตามพื้นถนนนิดๆ ไม่มากเท่ารุ่นก่อน น้ำหนักพวงมาลัย ในช่วงความเร็วสูง ยังคงไม่เบาและไม่หนักจนเกินไป On Center feeling ถือว่า นิ่งในระดับพอยอมรับได้ แม้จะมีแรงต้านจากพื้นผิวถนนที่ไม่สม่ำเสมอกัน ขณะใช้ความเร็วสูง แต่ก็ไม่มาก และคุมพวงมาลัย เหนื่อยลดลงจากรุ่นก่อนนิดหน่อย

พวงมาลัย ภาพรวม ดีขึ้นกว่า SPARK รุ่นที่แล้ว แต่ก็ยังพอจะเห็นช่องทางทียังสามารถปรับปรุงให้แม่นยำในการเข้าโค้งเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และการหมุนที่ Linear เพิ่มขึ้นจากนี้ได้อีก โดยที่อยากให้รักษาน้ำหนักของพวงมาลัยในรุ่น SPARK เอาไว้ในระดับที่เป็นอยู่นี้ คือกำลังดี เพียงพอแล้ว

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ อิสระ ปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง เหล็กกันโคลง ช็อกอัพแก็ส ส่วนด้านหลัง ก็ยังคงเป็นแหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี พร้อมช็อกอัพแก็ส

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจก่อนว่า อย่าคาดหวังความนุ่มนวลจากรถกระบะส่งของ Single Cab เพราะผู้ผลิตแทบ
ทุกราย จะต้องเซ็ตช่วงล่างของรถแบบนี้ ให้แข็งกว่า พี่น้องร่วมตระกูลรุ่นและ ตัวถังแบบอื่นๆ เพื่อรองรับงานบรรทุกหนักเป็นหลัก

อย่า่งไรก็ตาม เมื่อลองขับ ในระยะทางยาวๆแล้ว ผมสังเกตว่า ทีมวิศวกรของ Isuzu ยังคงพยายามเซ็ตให้ช่วงล่าง
ด้านหน้า มีความแข็งขึ้น และหนึบขึ้น ในระดับใกล้เคียงกับความแข็งของแหนบด้านหลังรถ เพื่อให้เกิดความสมดุล ขณะแล่นตัวเปล่า ไร้น้ำหนักบรรทุกด้วย และการ Balance ช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังในคราวนี้ ช่วยทำให้ช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลัง ตอบสนองใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นจากรถรุ่นเดิมนิดนึง

ช่วงที่ต้องคลานไปตามสภาพถนนขรุขระ ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงสะเทือน และเด้งอยู่เอาการ แต่อย่างน้อย การเป็นเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปตามความเร็วรถได้นุ่มนวล ก็ช่วยลดอาการกระชากในช่วงความเร็วต่ำจากรุ่นเกียร์ธรรมดาลงไปได้พอสมควร

การทรงตัวในย่านความเร็วสูงนั้น ถ้าไม่มีกระแสลมมาปะทะด้านข้าง ตัวรถจะนิ่งขึ้นกว่ารถรุ่นเดิมเล็กน้อย เพียงแต่ อาการเด้งในแนว ขึ้น-ลง ไปตามสภาพพื้นถนน ยังคงมีอยู่เยอะ ต่อให้ช่วงล่างด้านหน้าจะ Firm ขึ้น และเหมือนจะมั่นใจขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ อาการสะเทือน ก็ยังเกิดขึ้นค่อนข้างมากอยู่ดี ตามปกติของรถกระบะหัวเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์

การเข้าโค้งบนทางด่วน ดูเหมือนจะทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย บนทางโค้งขวารูปเคียว เหนือย่านมักกะสัน ต่อด้วยโค้งซ้าย เชื่อมเข้าทางด่วนขั้นที่ 1 ตรงเพลินจิต ฝั่งตรงข้าม โรงแรม Eastin ผมพา D-Max SPARK 2.2 Ddi MaxForce เข้าโค้งด้วยความเร็วบนมาตรวัด ได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้ง 2 โค้ง ซึ่งก็ถึงจุด Limit ของตัวรถและยางติดรถกันแล้ว

ขณะเดียวกัน บนทางโค้งขวา , ซ้ายยาว และโค้งขวาต่อเนื่อง ขึ้นจากทางด่วนขั้นที่ 1 เชื่อมขึ้นไปถึงทางยกระดับบูรพาวิถี ผมพา D-Max SPARK 2.2  Ddi MaxForce เข้าโค้งไปด้วย ความเร็ว 95, 106 และ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถเอียงข้างเยอะอยู่ ถ้าดูจากตัวเลขบนมาตรวัดความเร็วแล้ว จะพบว่า ตัวรถรุ่น SPARK เข้าโค้งได้ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิม นิดนึง

ภาพรวมของช่วงล่าง ในรุ่น SPARK นั้น ถูกเซ็ตมาให้ด้านหน้า นุ่ม แต่ Firm กว่ารุ่นก่อน ส่วน ด้านหลังยังคงต้องแข็งและสะเทือนเด้ง พอกันกับรุ่นก่อน แต่ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเป็นรถตัวเปล่าไม่รวมน้ำหนักบรรทุกแล้ว การ Balance ช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังนั้น กลับทำได้ใกล้เคียงกันกว่ารุ่นก่อนชัดเจน

ระบบห้ามล้อ / Brakes

ระบบเบรก ยังคงเป็นแบบ หน้าดิสก์เบรก – หลังดรัมเบรก ตามมาตรฐานของรถกระบะในเมืองไทย ระยะฟรีของแป้นเบรก ถูกเซ็ตเอาไว้ที่ 6-10 มิลลิเมตร ความแตกต่างที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ ด้วยข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศไทย ทำให้รถยนต์ทุกคันที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องติดตั้งตัวช่วยด้านความปลอดภัย มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และนี่จึงเป็นเหตุผลให้ D-MAX SPARK มีอุปกรณ์ตัวช่วยดังกล่าวมาให้ ครบถ้วน ในทุกรุ่นย่อย ได้แก่

ACTIVE SAFETY ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน การเกิดอุบัติเหตุ

  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS (Anti-Lock Braking System) ชนิด 4-Channel 4-Sensor
  • ระบบกระจายแรงเบรกให้สัมพันธ์กับน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
  • ระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)
  • ระบบลดกําลังเครื˜องยนต์ เพื่˜อช่วยเบรก BOS

ส่วนอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งเพิ่มมาให้ สำหรับรุ่น 2.2 Ddi B Cab Chassis (ห้องเย็น) , 2.2 Ddi S เกียร์อัตโนมัติ คันที่เรานำมาทดลองขับ และรุ่น 3.0 Ddi 4×4 ทั้งเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ รวม 4 รุ่นย่อย มีดังนี้

  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESC (Electronics Stability Control)
  • ระบบป้องกันการลื่นไถล ป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TCS (Traction Control)
  • ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist)
  • ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control)
  • ระบบไฟฉุกเฉิน กะพริบอัตโนมัติ เมื่อเหยียบเบรกกะทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)

แป้นเบรก ถูกเซ็ตมาให้มีระยะเหยียบไม่ลึก และไม่ตื้นมาก อยู่ในระดับกลางๆ กระนั้น ยังคงต้องเหยียบลงไปราวๆ 25% จึงจะเริ่มสัมผัสได้ว่าระบบเบรกเริ่มทำงาน การหน่วงความเร็วของรถลงมาอย่างนุ่มนวล ไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง โอกาส Fade ยากขึ้นกว่ารถรุ่นเดิมนิดหน่อย

จากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดสนิทนิ่ง หากเป็นรถเปล่า ไม่มีน้ำหนักบรรทุก เช่นที่เราทำการทดลองกันนี้ ตัวรถจะใช้ระยะเบรกไม่เยอะนัก ABS ทำงานตามหน้าที่ แต่ไม่ถึงขั้นถวายชีวิตจนคนขับตกใจแต่อย่างใด ไฟ ESS ทำงานในทุกย่านความเร็วที่คุณเหยียบเบรกกระทันหัน

สิ่งที่ผมอยากลองดูมานานแล้ว แต่ยังแอบรู้สึกว่า เสี่ยงเกินไปมาตลอดก็คือ ถ้าจะลองเบรกกระทันหัน จากความเร็ว Top Speed 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมา อาการของรถกระบะ D-MAX Spark ตัวเปล่าๆ จะเป็นอย่างไร

คำตอบก็คือ ผมพบว่า ระยะเบรก ถือว่า พอๆกันกับ Hilux Revo แต่ตัวรถจะเป๋ออกจากเลนซ้ายสุด เบี่ยงไปเลนขวาประมาณครึ่งคันรถ เมื่อหยุดสนิทนิ่ง อาการดีดกลับ Rebound น้อย ด้านหน้าจิกน้อย เพราะท้ายส่งมาไม่เยอะ

ภาพรวม ของระบบเบรก ใน D-MAX Spark ถือว่า ไว้ใจได้ในช่วงความเร็วเดินทางปกติ ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ความเร็วเกินกว่านี้ หรือมีน้ำหนักบรรทุกด้านหลัง เยอะมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเผื่อระยะเบรกไว้ให้เยอะมากขึ้น ตามปกติของรถกระบะส่งของทั่วไป

อุปกรณ์ความปลอดภัย เชิงปกป้อง / PASSIVE SAFETY

นอกเหนือจาก อุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) ข้างต้นแล้ว Isuzu ติดตั้ง อุปกรณ์ความปลอดภัยมาให้กับ D-MAX Spark ในระดับที่ เพียงพอกับความจำเป็นเท่าที่รถยนต์ในสมัยนี้ควรมีกันได้แล้วเสียที ดังนี้

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า (ฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านซ้าย)
  • เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ปรับระดับสูง-ต่ำได้ + ดึงกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter
  • ระบบปลดล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อ ถุงลมนิรภัยทำงาน!! (ไม่คิดว่าจะมีในรถกระบะรุ่นพื้นฐานอย่างนี้!)
  • ระบบปลดล็อกประตู One Motion Unlock เฉพาะฝั่งคนขับ

******การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย******
*************Fuel Consumption Test *************

จุดขายสำคัญตลอดมาของ Isuzu คือ ความประหยัดน้ำมัน ซึ่งยากที่คู่แข่งจะพยายามตีตื้นขึ้นมาให้ได้ดีทัดเทียมเท่า อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทางโลหะวัสดุ และความก้าวหน้าด้าน Software ต่างๆ คำถามก็คือ D-Max Spark กับขุมพลังใหม่ 2.2 Ddi MAXForce และเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะลูกใหม่ จะทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาได้ดีกว่าขุมพลัง 1.9 ลิตร Ddi Blue Power เดิม มากน้อยแค่ไหน ?

เราจึงยังคงทำการทดลองด้วยมาตรฐานดั้งเดิมของเว็บเรา ด้วยการนำรถไปเติมน้ำมัน Diesel Techron Power-D ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน โดยเติมเต็มถัง หัวจ่ายตัด

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยานของเรา คราวนี้คือ น้อง Mark Pongsawang ทีมงานของเว็บเรา น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม รวมกับผู้เขียน/ผู้ขับขี่ 110 กิโลกรัม จะทำให้มีน้ำหนักตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวมกัน 160 กิโลกรัม

เมื่อเติมน้ำมัน จนเต็มถัง ความจุ 76 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็ขึ้นรถ คาดเข็มขัดนิรภัย บิดกุญแจ เพื่อติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ พัดลมเบอร์ 1 กดปุ่ม Set 0 บน Trip Meter ด้วยก้านสวิตช์ บนหน้าจอมาตรวัด เพื่อยืนยันการ Reset ค่าเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

เราเริ่มเดินทาง จากปั้ม Caltex ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปสุดปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับขึ้นทางด่วน ย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม โดยทั้ง 2 คัน จะใช้มาตรฐานการทดลองดั้งเดิม คือ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน โดยพยายามเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย กลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron Power D ณ หัวจ่ายเดิม และใช้วิธีเติมแบบหัวจ่ายตัด เหมือนช่วงที่เติมครั้งแรกทุกประการ

มาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.86 ลิตร
หารออกมา ได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.75 กิโลเมตร/ลิตร

ชัดเจนว่า ประหยัดน้ำมันขึ้น และทำตัวเลขได้ดีกว่า รุ่น 1.9 Ddi Blue Power เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

คำถามต่อมา น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้ไกลแค่ไหน?

หากใช้งานธรรมดา ในเมืองเป้นหลัก เป็นไปได้ว่า D-Max Spark 2.2 Ddi Max Force 8AT จะแล่นได้ไกลราวๆ 600 กิโลเมตร ต่อการเติมน้ำมันเต็มถัง 1 ครั้ง แต่ถ้าใช้ความเร็วทางไกล ในระดับไม่เกินกฎหมายกำหนด ระยะทางต่อน้ำมัน 1 ถัง อาจเพิ่มขึ้นไปได้ไกลถึง 800 – 850  กิโลเมตร ได้สบายๆ แต่ถ้าใช้ความเร็วเกินกว่านั้น หรือมีน้ำหนักบรรทุกเยอะมากๆ ระยะทางที่แล่นได้ อาจลดลงมาเหลือราวๆ 700 กิโลเมตร

********** สรุป / Conclusion **********
แรงกว่า 1.9 เดิม เพิ่มเติมคือขับสบายขึ้น ประหยัดขึ้น แต่ยังต้องดูกันต่อไปยาวๆ 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เรายังมี Isuzu D-MAX Spark 1.9 Ddi Blue Power ใช้ในกิจการเล็กๆของครอบครัว สิ่งที่เราพบก็คือ เมื่อนำมาใช้งานจริง อัตราเร่ง ที่ขุมพลังบล็อกนั้นมีมาให้ อาจจะเหลือเฟือ สำหรับงานบรรทุกแบบเบาๆ แต่ถ้าวันไหนที่ เรามีสินค้าต้องส่งถึงมือบริษัทห้างร้านผู้เป็นลูกค้าเราจำนวนมากๆ ในระยะทางไกลๆ เช่น จากอุดมสุข ไปจนถึง นิคมอุตสาหกรรม Amata , Welgrow หรือ ไปถึงโรงเรียนนานาชาติแถวพัทยา บรรทุกกันจนหลังแอ่น เมื่อนั้น พละกำลังของขุมพลัง 1.9 Ddi อาจมีกำลังสำหรับการฉุดลากได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าต้องเจอทางชัน หรือภาระการบรรทุกหนักสุดๆ เรี่ยวแรงอาจไม่เพียงพอ เค้นแรงบิดกันสุดๆแล้ว รถก็ยังไม่ค่อยจะไปไหนเท่าใดนัก ต้องรอให้ความเร็วเข้าสู่จุดลอยตัวก่อน จึงจะพอถูไถไปได้

การที่ Isuzu ออกขุมพลังใหม่ 2.2 Ddi Max Force ถือว่า เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และปิดจุดอ่อน เรื่องพละกำลังสำหรับการฉุดลากไปได้พอสมควร ยิ่งพอมีเกียร์อัตโนมัติเข้ามาให้เลือก ก็ช่วยเป็นอีกจุดขายที่ดี สำหรับเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ที่เจ้าของ อาจมีเหตุให้ต้องขับรถเองบ้าง ลุยพื้นที่หน้างานด้วยตนเองบ้าง

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความสบาย และอุปกรณ์ ที่ ใกล้เคียงกับ รถเก๋ง หรือ D-MAX รุ่นพี่ๆ เขาเลย แอบตกใจนิดหน่อยว่า เดี๋ยวนี้ Isuzu ยอมแถม ชุดเครื่องเสียง แบบหน้าจอ Touch Screen มาให้กับ รถกระบะส่งของหัวเดี่ยว กันแล้วเหรอ ทำไมยุคสมัยบ้านเราซื้อ D-Max เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ไม่เห็นได้แบบนี้บ้างเลย?

ไม่เพียงเท่านั้น เบาะคนขับ แยกฝั่ง นั่งขับยาวๆ เป็นชั่วโมง ก็ไม่เมื่อยอย่างที่คิด  พวงมาลัย ปรับสูง – ต่ำได้ แล้ว ยังปรับระยะใกล้ – ห่าง ได้อีกด้วย เข็มขัดนิรภัยก็ปรับสูง – ต่ำได้ กระจกหน้าต่างก็กดลง ยกขึ้นด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แม้แต่สวิตช์ปรับกระจกมองข้าง ก็เป็นแบบไฟฟ้า แถมมีตัวช่วยด้านความปลอดภัย ตามมาตรฐานร่วมยุคสมัยที่พึงมี ทั้ง ABS EBD Brake Assist ข้อสำคัญคือ รถกระบะส่งของ มีการติดตั้ง ESC และ Traction Control มาให้แล้วเสียที หลังจากที่เราเคยเรียกร้องไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว (กว่าจะมาได้ รอนานเกินไปเนาะ)

ภาพรวมแล้ว ตัวรถ ขับง่ายขึ้น สบายขึ้น มีเรี่ยวแรงดีขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น เมื่อเทียบกับ รุ่น 1.9 Ddi เดิม ที่เรามีอยู่ในบ้าน ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น เสียที ขับง่าย แทบไม่ต่างจากรถเก๋ง แต่ยังมีอาการเด้งดึ๋งดั๋งให้พอระวังความคิดเอาไว้ว่า นี่คือรถกระบะส่งของนะ ไม่ใช่รถสปอร์ต เพื่อการพาณิชย์ อย่าคิดเอาไปซิ่งกันเลย ถ้ายังไม่แต่งซิ่ง โมดิฟาย ทำช่วงล่าง เบรก ยางล้อ ให้มันดีๆ เสียก่อน

********** ข้อที่ควรปรับปรุง / Whats need to be fix? **********

อาการกระตุก ของเกียร์อัตโนมัติ ในช่วงความเร็วต่ำ แม้ว่าในรถคันที่เรานำมาทดลองขับกันนั้น อาการจะเกิดขึ้นไม่มาก แต่ ในรถรุ่น 2.2 Ddi เกียร์อัตโนมัติ หลายๆคันที่ปล่อยออกไปสู่มือลูกค้า (รวมทั้ง Mazda BT-50 Minorchange) ก็มีอาการนี้ปรากฎชัดเจน กรณีนี้ ดูเหมือนว่า ทาง TriPetch Isuzu Sales ทราบเรื่องแล้ว และมีการ เรียกรถจากลูกค้าเข้าไป Update Software สมองกลของเกียร์ แล้ว คิดว่า หลังจากนี้ ปัญหาดังกล่าวน่าจะดีขึ้น ต้องติดตามกันต่อไป

สิ่งละอันพันละน้อย ในห้องโดยสาร เช่น กระจกแต่งหน้า ได้โปรดช่วยแถมมาให้สำหรับฝั่งคนขับสักหน่อย ก็ดี ให้มีพร้อมกับ คลิป หนีบบัตร ซ่อนอยู่ในแผงบังแดดเลย (Item นี้ สำหรับเรา มันถูกใช้งานจริงนะ) หรือแม้กระทั่ง ก้านโยกปรับตัดแสงไฟจากรถคันข้างหลังในยามค่ำคืน สิ่งละอันพันละน้อยที่หายไปเหล่านี้ น่าจะนำกลับมาใส่เอาไว้สักหน่อย อย่างน้อย ก็ควรมีมาให้ในรุ่น 2.2 Ddi S และ 3.0 ลิตร ทุก Grade ก็ยังดี

อีก item หนึ่ง ที่น่าจะนำกลับมาอยู่ในรถกระบะ รุ่น Spark คือ ตัวล็อก ลิ้นชัก Glove Compartment เพราะลูกค้า ที่นำรถไปใช้ขนส่งผักผลไม้ จากเรือกสวนไร่นา ลงมาที่ตลาดไทย หรือตลาดกลางแห่งอื่นๆ มักจะไม่ค่อยมีเวลาได้กลับบ้าน และต้องใช้ชีวิต กินนอนอยู่กับรถ ตลอด 24 ชั่วโมง คนกลุ่มนี้ จะพกพา ทะเบียนบ้าน เอกสารราชการต่างๆ หรือสมุดบัญชีเงินฝาก เอาไว้ในลิ้นชัก รถรุ่นใหม่สมัยนี้ ไม่ค่อยมีใคร ให้กุญแจล็อกลิ้นชักกันสักเท่าใดนัก ถ้ามีใครนำกลับมาแถมให้ลูกค้าได้สักหน่อย อาจได้ใช้เป็นจุดขายใหม่ ในอนาคตก็เป็นได้

การตกแต่งภายนอก อาจมีเวอร์ชัน Premium กว่านี้ หรือ Sport กว่านี้ ในรูปของชุดแต่ง หรือรุ่นย่อยพิเศษ ตามวาระ เฉลิมฉลองอะไรสักอย่าง เพื่อให้ดูเป็นกระบะส่งของ ไฮโซ ยิ่งขึ้น พอดีไปเห็น Idea ที่ Daihatsu เขานำ รถกระบะเล็ก Kei-Truck Hi-Jet เพิ่มสีพิเศษ อย่างเขียวทหาร หรือส้ม Metallic แล้วมีโครเมียมคาดเพิ่มในบางจุด คิดว่า Idea นี้ น่าจะสามารถนำไปปรับประยุกต์ เป็นแผนกระตุ้นตลาด เช่นพวก Limited Edition ตกแต่งด้วย ลาย Carbon หรือ สติกเกอร์ ที่ ไม่ต้องเยอะ แต่ดูดีมีรสนิยม ทำออกมาสัก 300 คัน หมดแล้วหมดเลย ก็น่าจะกระตุ้นตลาดกันได้บ้าง

ทดลองนำเทคโนโลยี Mimamori ที่มีให้กับลูกค้ากลุ่มรถบรรทุกในญี่ปุ่น ลองมาทำเป็น Application สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SME รายย่อย ที่เป็นเจ้าของ D-MAX ดูบ้าง ขอไม่เขียนมากกว่านี้ ใครอยากรู้ว่า ผมหมายถึงอะไร ลอง Click ตาม Link นี้ ไปนั่งดู แต่เป็นภ่าษาญี่ปุ่นทั้งหมดนะ

********** คู่แข่งในตลาด **********
********** Competitors **********

จากการสำรวจล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2025 ผมพบว่า รถกระบะ “หัวเดี่ยว ตัวเตี้ย เกียร์ออโต้” ในบ้านเรานั้น มีทางเลือกหลักๆ เพียงไม่กี่รุ่น

Ford RANGER มีตัวถัง Single Cab ให้เลือก เพียงรุ่นย่อยเดียว คือ XL 2.0 Bi-Turbo เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ (6MT) แถมยังมีแต่รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อยกสูง (4×4) เท่านั้น เท่ากับว่า ต้องตัด Ford ออกจากตัวเลือก

Mazda BT-50 Minorchange แม้จะเพิ่งเปิดตัวออกมาหมาดๆ เมื่องาน Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน 2024 แถมยังเป็นฝาแฝดกับ D-MAX แต่Mazda ไม่ได้เน้นทำตลาดรถกระบะ Single Cab ในประเทศไทย จึงไม่มี รถกระบะหัวเดี่ยว อยู่ในทางเลือก Lineup สำหรับลูกค้าเลย มีแต่ส่งออกไป Australia และ New Zealand เท่านั้น ก็ต้องตัด Mazda ออกจากตัวเลือกไป

Mitsubishi TRITON มีให้เลือกเพียงแค่รุ่นย่อยเดียว คือรุ่น PRO 6AT เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 6AT แถมยังต้องเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น ไว้ตบตีกับ Ranger D-Max และ Revo เกียร์อัตโนมัติ 4×4 เท่ากับว่า ใครจะซื้อรุ่นตัวเตี้ย 4×2 หมดสิทธิ์! ตัด Mitsubishi ออกจากตัวเลือก

Nissan NAVARA ไม่มีเกียร์อัตโนมัติ ให้เลือกในตัวถัง Single Cab เลย ดังนั้น จบ! ตัด Nissan ออกจากตัวเลือก

เท่ากับว่า เราจะเหลือแค่ Toyota HILUX REVO ที่ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ D-MAX มากสุด เพราะ Isuzu มีรุ่นย่อยแบบไหน REVO ก็เปิดทางเลือกรุ่นย่อย มาชนกับ Isuzu เต็มๆ โดยอยู่บนพื้นฐานเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ทั้งรุ่น 2.4 Cab Chassis 6AT ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง 4×2 , 2.4 Entry 6AT ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง 4×2 และ 2.8 Entry 6AT 4×4 ขับเคลื่อน 4 ล้อ (รุ่นที่ชนกันตรงๆ กับ D-MAX Spark 2.2 S 8AT คันนี้ คือ รุ่น 2.4 Entry 6AT) 

ถ้าตกลงใจว่า จะเอา D-Max SPARK คำถามคือ ควรเล่นรุ่นย่อยไหน?

Isuzu D-Max SPARK รุ่นปี 2025 มีให้เลือกทั้งหมด 2 ขุมพลัง คือ 2.2 ลิตร 3 รุ่นย่อย และ 3.0 ลิตร อีก 3 รุ่นย่อย รวม 6 รุ่นย่อย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน เรียงตามระดับราคา ถูกสุด – แพงสุด ดังนี้

– Spark 2.2 Ddi B 6MT Cab Chassis…………………………..558,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi B 6MT Cab Chassis (Refrigerator) ……..563,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi B 6MT …………………………………………….595,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi B 6AT Cab Chassis (Refrigerator)………602,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi S 6MT……………………………………………..628,000 บาท
– Spark 3.0 Ddi S 6MT……………………………………………..648,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi S 8AT………………………………………………672,000 บาท
– Spark 2.2 Ddi B 6MT Flat Deck………………………………692,000 บาท
– Spark 3.0 Ddi S 4×4 6MT……………………………………….740,000 บาท
– Spark 3.0 Ddi S 4×4 8AT………………………………………..780,000 บาท

ถ้าใจของคุณ ยืนกรานว่า ต้องเป็นเกียร์อัตโนมัติ เผื่อไว้ในวันที่ลูกน้องเกิด ลาป่วย ลากิจ แล้วคุณอาจต้องขับรถส่งของเอง แล้วคุณขับรถเกียร์ธรรมดาไม่เป็น หรืออยากได้ความสบายเพิ่มเติมให้ลูกน้อง แน่นอนว่า รุ่น Spark 2.2 Ddi S 8AT 672,000 บาท คือทางเลือกของคุณ

ยกเว้นเสียแต่ว่า อยากจะเอาไปใช้ในกิจการขนส่งสินค้าจำพวกอาหารทะเลแช่แข็ง Isuzu จะมีเวอร์ชัน Cab Chassis พร้อมดัดแปลงเป็นรถตู้ห้องเย็นสำเร็จรูป มาให้ ในรุ่น Spark 2.2 Ddi B 6AT Cab Chassis (Refrigerator) ราคา 602,000 บาท มิเช่นนั้น สำหรับกิจการพาณิชย์ทั่วไป เอารุ่นเกียร์ธรรมดา ก็เพียงพอแล้ว

สำหรับลูกค้าที่ต้องการ รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ Part Time 4×4 เพื่อเอาไปใช้งานหนัก ลากจูง เอาไปลุยเข้าป่า หรือ ใช้ในสวน กิจการเหมืองแร่ ฯลฯ คงต้องยอมเลือกเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร แบบเดิม พร้อมเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือ อัตโนมัติ 6 จังหวะ กันไป เพราะเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร สงวนเอาไว้ให้กับรุ่น Low Floor ตัวเตี้ย เท่านั้น

ท้ายที่สุดนี้ มีเรื่องราวเบื้องหลังในวงการรถยนต์เมืองไทย มาเล่าให้ฟังกันเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ เมธี เตชะชัยวงษ์ ทีมงานของเว็บ Headlightmag เรา เคยเล่าให้ผมฟังไว้

ย้อนกลับไป เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน รายหนึ่ง ตั้งใจอย่างมากที่จะนำรถกระบะของตน เข้ามาขายในเมืองไทย จากการซุ่มเตรียมงานอย่างลับๆ…อันที่จริงก็ไม่ค่อยจะลับเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะเยื้องย่างเคลื่อนไหวไปทางไหน ก็มีข่าวเล็ดรอดรั่วไหลรู้ไปโดยทั่วกันหมดทั้งวงการ

ช่วงที่รถใกล้จะเปิดตัว ผู้บริหารชาวจีน ก็เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งทีมการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไปจนถึง เอเจนซี โฆษณา นอกบริษัท มาประชุมกัน ตามปกติ คนกลุ่มนี้ จะเป็นคนกลุ่มท้ายๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในแผนการเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เป็นเหมือนกันเช่นนี้ แทบทุกค่ายรถยนต์

เพียงแต่ว่า การประชุมในครั้งนั้น ชาวจีนคนหนึ่ง….(ซึ่งอันที่จริง ผมก็รู้จักเจ้าตัวเขาด้วยแหละ) ดันเกิด “มั่นหน้า” ประกาศลั่นว่า “เรามั่นใจว่า รถของเรา จะทำให้ยอดขายของบริษัทเรา ขึ้นมาเป็นที่ 1 แซงหน้าค่ายญี่ปุ่น ทั้ง Isuzu กับ Toyota ให้ได้!”

ทุกคนที่ได้ฟัง ต่างพากัน Shock! นั่งตกตะลึง อ้าปากค้าง ชนิดไม่ได้คิดว่า แมลงวันจะบินเข้าปากตอนไหน สิ่งที่อยู่ในหัวของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนในวันนั้น สรุปออกมาเป็นประโยค 2 บรรทัดข้างล่างนี้….

“จะเอาชนะ Isuzu กับ Toyota ในตลาดรถกระบะเมืองไทย เนี่ยนะ?? มึงบ้าหรือเปล่า? คิดอะไรของมึง?? มึงเพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้ไม่เท่าไหร่ มึงไม่รู้เรื่องราวตลาดรถกระบะในไทย มากพอ ก็คิดอะไรเพ้อเจ้อขนาดนี้เลยเหรอ?”

คนจีน มาใหม่ มาถึงไม่รู้อะไร สักแต่ว่า จะต้องมาเปิดตัวให้ยิ่งใหญ่ เอาภาพลักษณ์ เอาหน้า จากบริษัทแม่ ว่าข้าทำผลงานได้ แต่สุดท้าย รถกระบะรุ่นนั้น ก็ล้มเหลว และต้องปิดฉากในตลาดเมืองไทย ไปในท้ายที่สุด ส่วนคนจีนที่เกี่ยวข้องในตอนนั้น คนหนึ่ง กลับประเทศตัวเองไปแล้ว หายไปไหนไม่รู้ อีกคนหนึ่ง ก็ลาออก ไปๆ มาๆ ก็ ไม่ได้ไปอยู่บริษัทไหนไกลอื่นใดจากเดิมเลย

เหตุผลง่ายๆคือ…ตลาดรถกระบะเมืองไทย ไม่หมู มีเรื่องที่คนจีนยังไม่รู้ อีกเป็นจำนวนมาก!!

เรื่องอะไรบ้างหนะเหรอ?

อ่ะ จะบอกให้เอาบุญนะ…เอาแค่ น้ำจิ้ม Seafood เบาๆ ก็พอ ถ้าเล่าหมด เดี๋ยวจะหาว่า เผยไต๋ สอนจระเข้ว่ายน้ำ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ในฐานะที่ครอบครัว ของเรา มีธุรกิจ เล็กๆ ซื้อของมา ขายของไป ซึ่งต้องพึ่งพาการขนส่ง ผมพบว่า การตัดสินใจซื้อรถกระบะ ของกลุ่มลูกค้า ประเภท เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการขนส่ง จะมีวิธีคิดแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถกระบะ Double Cab 4 ประตู หรือ Extended Cab อย่างชัดเจน

ขณะที่ ลูกค้ากลุ่มที่ซื้อ รถกระบะ แบบอื่นๆ จะเน้นความถูกใจ ทั้งรูปลักษณ์ สมรรถนะ ความสบายในการขับขี่ ความปลอดภัย รวมทั้ง ราคาขายต่อ และเงื่อนไขในการชำระเงิน แต่กลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถกระบะ Single Cab หัวเดี่ยวตัวเตี้ย น้ั้น จะมองถึงความคุ้มค่า ในการขนส่งเป็นหลัก ค่าบำรุงรักษาต้องต่ำ และราคาขายต่อต้องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยที่ จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ หรือความสวยงามใดๆเลย เพราะถือว่า ซื้อรถกระบะ มาเข้า Fleet ให้ลูกน้องขับ ไม่ได้ไว้ขับเองสักหน่อย

บางรายหนักกว่านั้น ถ้าในฝูงรถกระบะของกิจการตนเอง ใช้ยี่ห้ออะไรอยู่ ก็จะผูกสัมพันธ์ไมตรี ไว้กับ ผู้จัดการโชว์รูม หรือสาขา ของตัวแทนจำหน่ายรายนั้นๆ ไปเลยยาวๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนแบรนด์ง่ายๆ จึงกลายเป็นความท้าทายให้ผู้ผลิต หาช่องทางเจาะกลุ่มเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าใหม่ๆ ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยอุดหนุนแบรนด์ของตนเลยมาก่อน หรือกลุ่มที่เคยอุดหนุนแบรนด์ของตน แต่หนีไปหารถของคู่แข่ง

สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ถ้าศูนย์บริการ ดูแลดี ฝ่ายขายเข้าหาลูกค้าอย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ฝ่ายบริการหลังการขาย ก็ดูแลลูกค้าอย่างดี ค่าอะไหล่ ค่าบริการ ราคาเหมาะสม ช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ลูกค้าก็จะจดจำและผูกสัมพันธ์กับคุณไว้ได้ยาวๆ

แต่สำหรับลูกค้า บุคคลธรรมดา ที่มองหารถกระบะไว้ใช้งานขนส่ง ณ พื้นที่ห่างไกล คนกลุ่มนี้ เขาไม่แคร์ว่า ประกันคุณภาพจะขาด ไม่อาจเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ แต่เขากังวลว่า ต้องเอารถเข้าศูนย์บริการที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่การเกษตร ของเขาหลายสิบหลายร้อยกิโลเมตร ไม่สะดวกที่จะไปหา เพราะต้องเสียเวลาทำมาหากิน ดังนั้น การออกแบบตัวรถ ให้ทนทานมากๆ สมบุกสมบัน แต่ต้อง เปลี่ยนชิ้นส่วนได้สะดวก และซ่อมบำรุงง่าย ด้วยช่างข้างนอก หรือแม้แต่ทำได้ด้วยตนเอง คือสิ่งสำคัญมากๆ ดังนั้น นอกเหนือจากการออกแบบรถให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว การส่งทีมช่าง Mobile Service เข้าไปดูแลลูกค้า ถึงบ้าน หรือสถานที่ของลูกค้า รวมทั้ง การเปิดคอร์ส ฝึกอบรมช่างซ่อมรถอิสระ ให้มีความรู้ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ คือสิ่งที่ควรจะทำ เพื่อให้ลูกค้าสบายใจ และใช้งานรถกระบะเพื่อกิจการของตนอย่างมีความสุข

ทั้งหมดที่เล่าให้อ่านข้างต้นนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ของการทำตลาดรถกระบะในประเทศไทย ซึ่งผู้นำตลาดอย่าง Isuzu รู้อย่างลึกซึ่งดี จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957) หรือ กว่า  65 ปี ที่อยู่ในตลาดเมืองไทย 

เป็นสิ่งที่ ผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน ไม่มีวันใส่ใจ หรือให้ความสนใจ ที่จะเรียนรู้ เพื่อให้ได้ความสำเร็จแบบเดียวกัน อย่างที่ตนต้องการ 

ส่วนหนึ่งที่ค่ายรถยนต์ชาวจีน อยากจะมาเมืองไทยใจจะขาด ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ก็เพราะเห็นตลาดรถกระบะบ้านเรา มันโตเยอะขนาดนี้ไงละ! และเพราะเขาเห็น Isuzu ขายได้เยอะขนาดนี้ เขาเลยอยากเข้ามาแย่งไงละ!

คราวนี้ ก็เหลือแค่เพียงว่า Isuzu จะต้องมองและเตรียมการสำหรับอนาคตไว้อย่างไร แม้ว่า ตอนนี้ Isuzu ในญี่ปุ่น กำลังตื่นจากหลับไหลเต็มที่ และเริ่มมีสารพัดแนวคิดล้ำสมัย โผล่ออกมาให้เราเห็นเต็มไปหมด ตามแผน Isuzu Transformation to 2030 ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ พันธมิตรกลุ่ม CJPT แล้วก็ตามเถอะ เพราะการแข่งขันอันดุเดือดนี้ ยังอีกยาวไกล และสักวันหนึ่ง อีกไม่นาน ชาวจีน ต้องหาทางโค่น Isuzu ให้ได้สักวัน

ต่อให้เราจะมองว่า มันยากที่จะเกิดขึ้นก็เถอะ แต่โลกนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน การรับมือด้วยความไม่ประมาท ค้นหาแนวคิดใหม่ ทั้งในการพัฒนาตัวรถ การทำธุรกิจ ที่ต้องฉีกนอกกรอบยิ่งกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการรักษาจุดแข็งทั้งหมด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ช่วยพัฒนาธุรกิจของลูกค้า และเครือข่ายซัพพลายเออร์ ทั้งองคาพยพ เหนือสิ่งอื่นใด อยากฝากไว้ว่า “คนญี่ปุ่น ต้องฟังคนไทย ให้มากกว่านี้ และ Lineup ของรถกระบะ กับ SUV ต้องหลากหลายกว่านี้” คือหนทางที่ดีที่สุดในการอยู่รอดในอนาคต

คนญี่ปุ่น ต้องเลิกมองตัวเองว่า “เป็นแค่ผู้ผลิตรถบรรทุกชั้นนำของญี่ปุ่น”
แต่ได้เวลาแล้ว ที่จะยกระดับตัวเอง ให้เป็น “ผู้ผลิตรถกระบะ SUV
และ รถบรรทุก ชั้นนำ สุดไฮเทค ของโลก” ไม่ใช่แค่ชั้นนำของญี่ปุ่น กันเสียที

อ้าว! แล้วทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นที่ Isuzu ใน Fujisawa เขาไม่ได้มองตัวเองเป็นแบบนั้นเหรอ?

อืมมม ก็ถ้ามองแบบนั้น ฉันจะจบบทความนี้ กันแบบนี้ ทำไมละ??

—————————–////—————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Tripetch Isuzu Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

J!MMY 

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพ Graphic เป็นของ บริษัท TriPetch Isuzu Sales (Thailand) จำกัด

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
30 มิถุนายน 2025

Copyright (c) 2025 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 30th, 2025

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here