หลังจากที่ Mazda ออกประกาศเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนารถกระบะรุ่นใหม่ กับอดีตพันธมิตรเก่าอย่าง Isuzu เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2016 ได้เป็นเวลา 4 ปีเต็ม All NEW Mazda BT-50 ซึ่งเป็นผลผลิตใหม่ ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์ม Isuzu Dynamic Drive / Symmetric Mobility Platform รวมถึงงานวิศวกรรมร่วมกันกับ Isuzu D-Max และ MU-X รุ่นปัจจุบัน ก็ถูกเผยโฉมออกสู่สายตาสาธารณชน ประเดิมด้วยรุ่น Double Cab 3.0 4×4 ครั้งแรกในโลก ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020

ส่วนบ้านเรา Mazda Sales Thailand จัดกิจกรรมให้สื่อมวลชนสายยานยนต์ชาวไทยได้ทดสอบ Mazda BT-50 ใหม่ กันที่สนามทดสอบย่านสระบุรี เพื่อเป็นการชิมลาง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2020 ก่อนที่ข้อมูลต่างๆ ของตัวรถ รวมถึงราคาจำหน่าย จะถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ พร้อมกันกับการจัดงานเปิดตัว ซึ่งถูกจัดขึ้นที่ Center Point Studio ย่านบางนา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

Mazda BT-50 ใหม่ ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “Built for DRESS & JEANS” เพื่อตอบสนองการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ดีไซน์ภายนอก โดยเฉพาะด้านหน้ารถนั้น สลัดคราบความเป็นหุ่นยนต์กันดัมใน D-Max จนหายเกลี้ยง แทนที่ด้วยกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า และเส้นสายการออกแบบ KODO Design เจเนอเรชัน 2 อันเป็นเอกลักษณ์ของ Mazda แต่ยังแฝงความดุดันตามแบบฉบับรถกระบะเอาไว้อยู่

เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง

Mazda BT-50 เวอร์ชันไทย มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ ได้แก่

ดีเซล 1.9 ลิตร Turbo

เครื่องยนต์รหัส RZ4E-TC ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว  ขนาด 1.9 ลิตร 1,898 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 80.0 x 94.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger (VGS Turbo) พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/ต่อนาที  แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.69 ก.ก.-ม.) ที่ 1,800 – 2,600 รอบ/นาที

ดีเซล 3.0 ลิตร Turbo (เฉพาะรุ่น Double Cab ยกสูง ขับเคลื่อน 4 ล้อ)

เครื่องยนต์รหัส 4JJ3-TCX ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 3.0 ลิตร 2,999 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 95.4 x 104.9 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.3 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ผ่านราง Common-Rail พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger (VGS Turbo) พร้อม Intercooler กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 3,600 รอบ/ต่อนาที  แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร (45.88 ก.ก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,600 รอบ/นาที

ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ (AW TB60-LS พร้อมกับโหมด +/- Rev Tronic ที่สามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง รวมถึงระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ ISS (Idling Start/Stop System) และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ (Aisin AE6) พร้อมกับฟังก์ชัน Genius Sport Shift แจ้งเตือนการเปลี่ยนเกียร์ในรอบเครื่องยนต์ และความเร็วที่เหมาะสม

ระบบบังคับเลี้ยว 

พวงมาลัยของ Mazda BT-50 เวอร์ชันออสเตรเลีย จะเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Steering System) แต่เวอร์ชันไทยนั้น ยังคงใช้ระบบช่วยผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก แกนพวงมาลัยสามารถยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง ทั้งสูง – ต่ำ และ เข้า – ออก (Telescopic) รัศมีวงเลี้ยวของรุ่นยกสูง อยู่ที่ 6.1 เมตร ในขณะที่รุ่นตัวเตี้ยจะแคบลง อยู่ที่ 6.0 เมตร

ระบบกันสะเทือน 

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง และช็อกอัพแก๊ส ในขณะที่ด้านหลังเป็นแหนบแผ่นซ้อน รุ่นตัวเตี้ยวางแหนบใต้เพลา รุ่นยกสูงวางแหนบเหนือเพลา พร้อมช็อกอัพแก๊สวางเฉียงไปทางด้านหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง

ระบบห้ามล้อ 

ระบบห้ามล้อ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก ขนาด 320 มิลลิเมตร (เฉพาะรุ่นยกสูง) แบบมีครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก ทุกรุ่นเสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) ระบบไฟกระพริบฉุกเฉินเมื่อเบรกกระทันหัน ESS (Emergency Stop Signal) รวมถึงระบบลดกำลังเครื่องยนต์เมื่อเหยียบเบรกและคันเร่งในเวลาเดียวกัน BOS (Brake Override System)

นอกจากนี้ ยังมีระบบควบคุมเสถียรภาพ การทรงตัว DSC (Dynamic Stability Control) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (Traction Control System) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist) ระบบควบคุมความเร็วลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) มาให้ในหลายรุ่นย่อย หากเป็นตัวถัง Freestyle Cab จะติดตั้งมาให้ตั้งแต่รุ่น C ยกสูง เกียร์อัตโนมัติ ขึ้นไป ในขณะที่ตัวถัง Double Cab จะติดตั้งมาให้ตั้งแต่รุ่น S ตัวเตี้ย กันเลยทีเดียว

ระบบความปลอดภัย

  • ถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ตำแหน่ง (สำหรับรุ่น C และรุ่น S)
  • ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
  • ถุงลมนิรภัยด้านข้าง ม่านถุงลมนิรภัย (เฉพาะรุ่น SP)
  • ระบบเตือนจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM (Advanced Blind Spot Monitoring) เฉพาะรุ่น S และ SP ตัวถัง Double Cab
  • ระบบเตือนจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert) เฉพาะรุ่น S และ SP ตัวถัง Double Cab
  • ระบบปลดล็อคประตูอัตโนมัติเมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน
  • เซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้า 4 จุด (เฉพาะรุ่น SP)
  • เซ็นเซอร์กะระยะด้านหลัง 4 จุด (เฉพาะรุ่น S ยกสูง ขึ้นไป)

การจับมือพัฒนารถกระบะรุ่นใหม่กับอดีตพันธมิตรในครั้งนี้ จะทำให้ Mazda BT-50 มีบุคลิกการขับขี่ออกมาเป็นอย่างไร จะรักษาคุณงามความดีของการเป็นรถกระบะที่มีการขับขี่ภาพรวมดีเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มได้หรือไม่ นอกเหนือจากรูปร่างหน้าตาแล้ว มีอะไรบ้างที่ต่างจากคู่แฝด Isuzu D-Max ไปชมพร้อมกันในคลิปนี้ครับ