Headlightmag Clip รีวิว ทดลองขับ Mitsubishi Outlander PHEV : คุณลุงสาย chill … เจ๋งฝังใน … แต่มาช้าไป

ในที่สุดความพยายามของ Mitsubishi Motors (ประเทศไทย) ในการโน้มน้าวให้ production planning ของบริษัทแม่ฝั่งญี่ปุ่น ยอมอนุมัติแผนนำ Mitsubishi Outlander PHEV เข้ามาประกอบขายในประเทศไทยก็เป็นอันสำเร็จเสียที กว่าที่ทุกอย่างจะเรียบร้อยจนกระทั่งรถยนต์คันจริงจะออกจากสายพานการผลิต ณ โรงงานแหลมฉบังได้ ถือว่าใช้เวลายาวนานพอสมควร การเปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเรา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2020 ล่าช้ากว่าเวอร์ชันตลาดโลกกว่า 8 ปี เลยทีเดียว

กระนั้น ความน่าปวดหัวของพวกเขาก็มิได้มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ เพราะหลังจากที่ Outlander PHEV เวอร์ชันไทยเปิดตัวได้เพียง 2 เดือน เศษๆ เท่านั้น โฉมใหม่ Full Modelchange เจเนอเรชันที่  4 รุ่นเครื่องยนต์สันดาปปกติ ที่มีดีไซน์ทั้งภายนอกและภายในห้องโดยสารสวยทันสมัยกว่าเจเนอเรชันที่ 3 ราวฟ้ากับพื้นดิน (ยังไม่ถึงกับเหว) ก็ถูกเผยภาพและเปิดผ้าคลุมเผยสู่สายตาคนทั่วโลกตามมาติดๆ เป็นการตอกย้ำความเก่ากึ๊กของรถยนต์รุ่นปัจจุบันเข้าไปอีก

Mitsubishi Outlander PHEV รุ่นปัจจุบันที่ออกจำหน่ายในบ้านเรานั้น เป็นรุ่นปรับโฉม Minorchange ปี 2018 มีการปรับปรุงงานออกแบบภายนอกเล็กน้อย เปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าแบบ Dynamic Shield เวอร์ชันแรก อันเป็น Design Language ใหม่ของค่ายในยุคนั้น ตลอดจนอัพเดทอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้กับตัวรถ โดยมีรุ่นย่อยให้เลือก 2 รุ่น ได้แก่

  • Outlander PHEV 2.4 GT 4WD ราคา 1,640,000 บาท
  • Outlander PHEV 2.4 GT-Premium 4WD ราคา 1,749,000 บาท

ขุมพลังของ Outlander PHEV เวอร์ชันต่างประเทศ จะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ทำงานผสานกับเครื่องยนต์เบนซิน ไร้ระบบอัดอากาศ มีทั้งขนาด 2.0 ลิตร และ 2.4 ลิตร  แต่สำหรับประเทศไทย จะมีเพียงแบบเดียวคือ เบนซิน 2.4 Plug-in Hybrid

เป็นเครื่องยนต์รหัส 4B12 เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.4 ลิตร 2,360 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 86.0 x 97.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 12.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronically Controlled Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์วฝั่งไอดี MIVEC (Mitsubishi Innovative Valve timing Electronic Control system) กำลังสูงสุด 128 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตร (20.3 ก.ก.-ม.) ที่ 4,500 รอบ/นาที รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดได้ถึงระดับ Gasohol E20

ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous Permanent Magnetic Motor 2 ตัว มอเตอร์ด้านหน้า กำลังสูงสุด 82 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร มอเตอร์ด้านหลัง กำลังสูงสุด 95 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร พละกำลังรวมสูงสุดทั้งระบบ 305 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 531 นิวตันเมตร

ระบบสำรองไฟหรือแบตเตอรี่เป็นแบบลิเธียมไอออน (Lithium-ion) แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 300 volts ความจุแบตเตอรี่ 13.8 kWh รองรับการชาร์จไฟฟ้าทั้งแบบปกติ และแบบ Quick Charge จาก 0 – 80% ใช้เวลา 25 นาที โดยประมาณ ส่วน Socket หรือเต้ารับปกติเป็นแบบ Type 1 และ CHAdeMO สำหรับ Quick Charge

พละกำลังทั้งหมด ถูกลงสู่ล้อด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ S-AWC (Super All-Wheel Control) ควบคุมการถ่ายทอดกำลังไปยังแต่ละล้ออย่างอิสระ พร้อมระบบ (AYC) Active Yaw Control ควบคุมการกระจายกำลัง และการเบรกระหว่างล้อซ้าย – ขวา เพื่อรักษาสมดุล ลักษณะการทำงานของระบบขับเคลื่อนเป็นแบบเดียวกันกับ Mitsubishi Evolution แต่มีความต่างตรงที่ล้อคู่หลังจะหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีข้อดีในแง่ความรวดเร็วในการตัดต่อกำลัง

ครั้งก่อนเรามีโอกาสได้ลองขับ Mitsubishi Outlander PHEV สั้นๆ ที่สนามริมทะเลสาป เมืองทองธานี ซึ่งไม่มากพอที่จะยังบอกอะไรได้ไม่เต็มที่นัก นอกจากอัตราเร่งช่วงต้น และการเข้าโค้งในสถานี Skid Pad แต่คราวนี้ Mitsusubishi Motors (ประเทศไทย) ส่งรถมาอยู่กับเรานานกว่า 1 สัปดาห์ มาดูกันว่าแนวคิดในการผสมผสาน DNA ความเป็น Mitsubishi ไม่ว่าจะเป็น ความแข็งแกร่งที่มีใน Pajero และเทคโนโลยีขับเคลื่อน 4 ล้อ S-AWC (Super All-Wheel Control) ใน Lancer Evolution หลายคนคงรู้กิตติศัพท์ว่าดีขนาดไหน ตลอดจนเทคโนโลยีที่มีในรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง MiEV Evolution III รวมเข้าไว้ด้วยกัน จะทำรถยนต์คันนี้มีสมรรถนะการขับขี่แต่ละด้านเป็นอย่างไร ? มีดีมากพอจะทำให้ยอมควักเงินในกระเป๋าระดับ 1.64 – 1.749 ล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าของมันหรือไม่ ?

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของรถยนต์คันนี้ นั่นคือ ขุมพลังเบนซิน 2.4 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่มีตัวเลขพละกำลังรวมสูงสุดจากโรงงาน สูงถึง 305 แรงม้า (PS) จะมอบแรงในระดับที่ลูกค้าหลายคนคาดหวังเอาไว้หรือเปล่า ? ลองมาชมกันครับ


แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ >> https://community.headlightmag.com/79187.0