หากพูดถึง Nissan SUNNY เชื่อว่า หลายคนคงจะนึกถึง รถยนต์นั่ง Sedan รุ่นสำคัญของ ยักษ์อันดับ 2 จากญี่ปุ่น ที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นขวัญใจมหาชนคนไทย อยู่นานหลายปี
อันที่จริง ชื่อของ SUNNY โด่งดังขึ้นในบ้านเรา ในช่วงที่ บริษัท สยามกลการ จำกัด (Siam Motors Co.,ltd.) ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Datsun / Nissan ในบ้านเรา นำ Sunny B310 เข้ามาประกอบขายในประเทศไทย เมื่อช่วงปี 1978 ต่อเนื่องจาก Sunny ตระกูล 120Y เป็นต้นมา มีทั้ง Datsun Sunny Rainy Boy ก่อนจะตามด้วย รุ่นปรับโฉม Minorchange กระจังหน้าเฉียง ไฟหน้าสี่เหลี่ยม ในชื่อรุ่น City Boy ช่วงปี 1980 – 1981
SUNNY โด่งดัในบ้านเราถึงขีดสุด ในยุคสมัยที่ สยามกลการ นำ Nissan SUNNY FF ซึ่งเปิดตัวในญี่ปุ่นเมื่อปี 1981 เข้ามาประกอบขายในบ้านเรา ช่วงปี 1983 ทั้งรุ่น Sedan 4 ประตู และ Coupe 2 ประตู จนโด่งดัง และกลายเป็นใบเบิกทางให้ Nissan รุ่นอื่นๆ เริ่มทะยอยเข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็น March K10 รุ่นแรก , Stanza FX T11 , Bluebird U11 , Skyline R30 Sedan และ Cedric V6 30 Brogham รุ่น Y30 Sedan รวมทั้งรถกระบะ Professional D (ที่ต่อมากลายเป็น BigM) รถตู้ Urvan และ Vannette ทำให้ ชื่อของ Nissan ในฐานะ เพื่อนที่แสนดี ก้าวเข้ามาอยู่ในใจของผู้บริโภคชาวไทย ได้ในช่วงเวลานั้นเอง
แต่…จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า นอกเหนือจาก Nissan SUNNY ที่เราคุ้นเคยกัน ในตัวถัง Sedan 4 ประตู และ Coupe 2 ประตู แล้ว ในตลาดต่างประเทศ SUNNY ยังมีตัวถังอื่นให้เลือกอีก ไม่ว่าจะเป็น SUNNY VAN 3 หรือ 5 ประตู ตัวถัง Station Wagon ที่เรียกว่า SUNNY CALIFORNIA และตัวถังที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเคยมีการผลิตออกขายจริงๆ นั่นคือSUNNY TRUCK เวอร์ชันกระบะ แถมยังได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ลากขายจนกลายเป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นที่ จัดอยู่ในกลุ่ม “แซยิด” ของ Nissan เพราะลากขายกันในบ้านเกิดตัวเอง ยาวนาน มาตั้งแต่ ปี 1967 จนถึง 1994 และทุกวันนี้ ก็ยังมีผู้คน ซื้อหา SUNNY TRUCK ไปตกแต่ง Modify เป็นรถขับเล่น เท่ๆ ชิลๆ ในวันหยุดพักผ่อน กันอยู่
ความเป็นมาของ SUNNY TRUCK เป็นอย่างไร…ไปดูกัน!

ย้อนกลับไปยัง ทศวรรษที่ 1950 – 1960 เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มมองเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญ ในการพลิกฟื้นประเทศ หลังจากเป็นฝ่ายปราชัย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น พวกเขาจึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกราย มีสถานภาพที่เข้มแข็ง และเตรียมพร้อมกับการบุกเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ชาวตะวันตก
ช่วงทศวรรษ 1960 นั้น ความนิยมในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามสภาพเศรฐกิจ จนเมื่อเข้าสู่ปี 1964 ญี่ปุ่น ก็พร้อมแล้วสำหรับการเป็นเจ้าภาพกีฬา Olympics ฤดูร้อน ปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นพลิกโฉมประเทศไปไกลมาก ทั้งการเปิดให้บริการของรถไฟ Shinkansen ไปจนถึง ทางด่วน Tomei อันเป็นทางด่วนสายแรกของญี่ปุ่น ผู้คนเริ่มเดินทางข้ามจังหวัดกันมากขึ้น และความต้องการรถยนต์ ก็เพิ่มสูงขึ้น จนญี่ปุ่น ก้าวเข้าสู่ยุค Motorization หรือที่เราเรียกว่า “ประชายนต์นิยม”
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีและวิธีคิดในการสร้างรถยนต์ของชาวญี่ปุ่น ในขณะนั้น ยังไม่หลากหลายมากนัก การทำรถยนต์ออกมา 1 รุ่น แต่มีทางเลือกตัวถังมากมาย ให้ครอบคลุมทุกความต้องการใช้งานของลูกค้า คือสิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์แดนอาทิตย์อุทัย แทบทุกค่าย เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
ยุคสมัยนั้น Toyota ซึ่งทำตลาดรถยนต์นั่ง ในชื่อ Toyopet โดยมี Toyopet CROWN เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่รุ่นหลัก มีตัวถังให้เลือก ทั้งแบบ Sedan 4 ประตู Coupe 2 ประตู Station Wagon 5 ประตู ไม่เว้นแม้แต่ CROWN Pickup เวอร์ชัน กระบะ 2 ประตู แนวคิดดังกล่าว ถูกถ่ายทอดลงมายังรถยนต์ขนาดเล็กลงมา ไม่ว่าจะเป็น Toyopet CORONA รหัสรุ่น RT40 Series ซึ่งถือเป็นรถญี่ปุ่นยุคแรกที่ออกแบบด้านหน้าให้เฉียง เพื่อเพิ่มความลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamic) มากยิ่งขึ้น นอกจากจะมีตัวถัง Sedan 4 ประตู Coupe 2 ประตู Station Wagon 5 ประตู รวมทั้ง Liftback 5 ประตู ก็ยังมีตัวถัง กระบะ มาให้เลือก หรือแม้แต่ น้องนุชสุดท้อง อย่าง Toyota Publica ที่มีตัวถัง Sedan 2 ประตู กับ Van 3 ประตู ก็ยังมี เวอร์ชันกระบะ มาให้เลือกกับเขาด้วย
พูดกันตามตรง นี่เป็นวิธีการเดียวกับที่ ผู้ผลิตรถยนต์ชาวอเมริกัน ทั้ง General Motors (GM) และ Ford Motor Company ต่างก็ใช้ในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดก็คือ Chevrolet El Camino กับ ตระกูล Holden และ Ford Falcon สำหรับตลาด Australia / New Zealand
อย่าว่าแต่อื่นใดเลย ขนาด Toyo Kokyo ผู้ผลิตรถยนต์ Mazda ในขณะนั้น ก็ยังทำ Familia กระบะ 1,000 และ 1,300 ซีซี ออกมาขาย ควบคู่กับ รถเก๋ง Familia ต้นตระกูลของ Mazda 323 และ Mazda 3 ตามปกติ แม้กระทั่ง Daihatsu ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดกระทัดรัด ก็ยังมี Daihatsu Compagno (คอมปาญโญ) Pickup ออกขายควบคู่กับรุ่น Sedan 2 ประตู กับเขาด้วย!
คิดเหรอว่า Nissan จะไม่ทำรถกระบะคันเล็ก บนพื้นฐานจากรถเก๋งกับเขาบ้าง?
ปี 1966 Nissan Motor ในฐานะ ผู้ผลิตรถยนต์ อันดับ 1 ของญี่ปุ่น กำลังเตรียมเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ อย่าง Datsun SUNNY ที่ถูกหมายมั่นปั้นมือว่า จะเป็นรถยนต์สำหรับครอบครัวยุคใหม่ ซึ่งมองว่า รถยนต์ K-Car (Kei Jidosha) พิกัด 360 ซีซี (ในยุคนั้น) อย่าง Mitsubishi Minica , Mazda Carol และ SuzuLight รวมทั้ง รถเล็กอย่าง Toyota PUBLICA 700 ซีซี ยังเล็กเกินไป ขณะที่ Toyopet CORONA และ Nissan BLUEBIRD 1,500 ซีซี ก็ใหญ่และแพงเกินกว่าจะเป็นเจ้าของได้ไหว
เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลาย นอกเหนือจากตัวถัง Sedan 2 ประตู Sedan 4 ประตู Coupe 2 ประตู และ VAN 2 ประตู แล้ว Nissan ย้งเพิ่มน้องใหม่ให้กับตระกูล Sunny นั่นคือ Datsun SUNNY TRUCK สำหรับเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถกระบะคันเล็ก ใช้ในกิจการค้าขาย ส่งของในระยะทางไม่ไกลนัก จัดเป็นกลุ่มรถกระบะประเภท Bonnet Truck หรือ รถกระบะ แบบมีหัวรถ ร่วมกับ รถเก๋ง
————————————————-

1st Generation (B20)
February 9th, 1967 – January 19th, 1971
SUNNY TRUCK รุ่นแรก รหัสรุ่น B20 ออกอวดโฉม ครั้งแรก ในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1966 หลังจากนั้นอีกราวๆ 4 เดือนครึ่ง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1967 Nissan จึงประกาศราคาขาย SUNNY TRUCK อยู่ที่เพียง 365,000 Yen เท่านั้น! พร้อมกับทำตารางเปรียบเทียบคู่แข่งร่วมพิกัดในยุคสมัยเดียวกัน เช่น Toyota Publica Truck , Mazda Familia Truck , Daihatsu Compango Truck และ Honda P800 (ถ้าสนใจอยากดูเอกสารต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น Click Here) และเริ่มทำตลาดจริง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 ผ่านเครือข่ายจำหน่าย ที่ตั้งขึ้นใหม่ ในชื่อ “SUNNY” เพื่อทำตลาดรถยนต์ตระกูล Sunny โดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อรถ DATSUN SUNNY TRUCK








มิติตัวถังของ SUNNY TRUCK มีขนาด แตกต่างจาก รุ่น Sedan และ VAN เล็กน้อย ด้วยความยาว 3,815 มิลลิเมตร กว้าง 1,450 มิลลิเมตร สูง 1,385 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,280 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ 615 กิโลกรัม กระบะยาว 1,535 มิลลิเมตร กว้าง 1,230 มิลลิเมตร นอกนั้น รายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ ยกมาจาก รุ่น Sedan และ VAN ทุกประการ
อุปกรณ์ในสมัยนั้น ให้มาค่อนข้างครบถ้วนเท่าที่จำเป็น และไม่น้อยหน้า SUNNY Sedan หรือ VAN เลยด้วยซ้ำ เช่น ภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งแบบปรับขึ้นหน้า – ถอยหลัง ได้อย่างเดียว หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ Vinyl สีแดง สอดรับกับแผงหน้าปัด Dashboard สีแดง พรมปูพื้นรถสีแดง คันเร่ง แบบ Organ Type คันเกียร์ อยู่ที่คอพวงมาลัย (คนรุ่นปู่เราเรียกว่า “เกียร์มือ”) พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้านธรรมดา สีดำ มือจับค่อนข้างบาง ตามสมัยนิยม มีอุปกรณ์สั่งติดตั้งเสริม เป็น Option พิเศษ ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย 2 จุด คาดเอว ทั้ง ฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร นาฬิกา Analog วิทยุ AM ตัวจุดบุหรี่ และ Heater สำหรับฤดูหนาว เป็นต้น











เครื่องยนต์ เป็น รหัส A10 เบนซิน 4 สูบ OHV 988 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 59 มิลลิเมตร กำลังอัด 8.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อตู่ดูดลงล่าง กำลังสูงสุด 56 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 7.7 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที ยกมาจาก Sunny 1000 Sedan 2 ประตู 4 ประตู และ VAN ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ Full Synchromesh พวงมาลัยแบบ ลูกปืนหมุนวน ช่วงล่างด้านหน้าแบบแหนบ Lateral leaf (independent) ด้านหลังแบบ แหนบ Parallel leaf ระบบห้ามล้อ เป็น ดรัมเบรก ทั้ง 4 ล้อ
ความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นที่ได้สัมผัสกับรถคันนี้ หลายคนมองว่า การที่ตัวรถมีน้ำหนักเบามากแค่ 670 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่า บรรดารถยนต์ K-Car (Kei-Jidosha) พิกัดไม่เกิน 660 ซีซี แถมยังมีการทดเฟืองท้าย เอาไว้ที่ 4.111 : 1 ทำให้อัตราเร่ง ตอนออกตัวของ SUNNY TRUCK จะฉับไว และเฉียบคมกว่ารุ่น Sedan 2 และ 4 ประตู อยู่พอสมควร






นับตั้งแต่ออกสู่ตลาด Nissan ปรับปรุงตัวรถ ตลอดอายุตลาด น้อยครั้งมากๆ ดังนี้
– 31 มีนาคม 1967 ประกาศ ขยายระยะเวลารับประกันคุณภาพ จาก 1 ปี 20,000 กิโลเมตร เป็น 2 ปี 50,000 กิโลเมตร
– 25 กันยายน 1967 มีการปรับปรุง สัญลักษณ์ บนกระจังหน้า โคมไฟข้าง และไฟจอดรถ รวมทั้งรายละเอียดการตกแต่งภายในเล็กน้อย เพิ่มเบาะนั่งสีขาว ตัดสลับสีฟ้า มาให้เป็นครั้งแรก








– 8 สิงหาคม 1969 เพิ่มรุ่นย่อย Deluxe เปลี่ยนกระจังหน้าแบบใหม่ ทำจากสแตนเลส ส่วนขอบไฟหน้า กันชน และฝาครอบล้อถูกชุบโครเมียม ช่วยให้ตัวรถ ดูใกล้เคียงกับ Sunny ตัวถังอื่นๆมากขึ้น นอกจากนี้ ยังติดตั้งวิทยุ เครื่องทำความร้อน (Heater) หัวฉีดน้ำล้างกระจกหน้า และยางรถขอบสีขาว (White wall Tyre) เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
Datsun SUNNY TRUCK ได้รับความนิยมอย่างมาก ในหมู่ชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า กลุ่มตลาด Bonnet Van / Bonnet Truck หรือรถตู้ กับรถกระบะ แบบมีฝากระโปรงหน้าแบบรถเก๋งส่วนบุคคล
————————————————-

2nd Generation (B120)
January 20th,1971 – July 2008
20 มกราคม 1971 Datsun SUNNY TRUCK รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change รหัสรุ่น B120 เปิดตัวออกสู่ตลาดญี่ปุ่น พร้อมกันกับ บรรดา ตระกูล SUNNY ทั้งตัวถัง Sedan 2 ประตู Sedan 4 ประตู Coupe 2 ประตู Van 3 ประตู
รายละเอียดงานวิศวกรรม ยกชุดมาจาก SUNNY 1200 VAN ทั้งยวง แต่มีตัวเลขต่างกันเล็กน้อย SUNNY TRUCK มิติตัวถังยาว 3,865 มิลลิเมตร กว้าง 1,495 มิลลิเมตร สูง 1,405 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถึงใต้ท้องรถ Ground Clearance 160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 670 กิโลกรัม
ขุมพลังเป็น เครื่องยนต์ รหัส A12 เบนซิน 4 สูบ OHV 1,171 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73 x 70 มิลลิเมตร กำลังอัด 9.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อตู่ดูดลงล่าง กำลังสูงสุด 68 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบ/นาที ตัวเลขจากโรงงาน Top Speed อยู่ที่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ Full Synchromesh ติดตั้งคันเกียร์ บนคอพวงมาลัย แบบ Column Shift (หรือที่คนรุ่นก่อน เรียกว่า “เกียร์มือ”) หรือ เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ติดตั้งคันเกียร์บนพื้นรถ Floor Shift ตามมาตรฐาน (คนรุ่นก่อนเรียกว่า “เกียร์กระปุก”) พวงมาลัยแบบ ลูกปืนหมุนวน ช่วงล่างด้านหน้าแบบแหนบ Lateral leaf (independent) ด้านหลังแบบ แหนบ Parallel leaf ระบบห้ามล้อ เป็น ดรัมเบรก ทั้ง 4 ล้อ
ราคาจำหน่าย มีดังนี้
- Standard เกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ Column Shift 389,000 Yen
- Standard เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ Floor Shift 394,000 Yen
- Deluxe เกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ Column Shift 425,000 Yen
- Deluxe เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ Floor Shift 435,000 Yen




เดือนพฤษภาคม 1973 การผลิต SUNNY รหัสรุ่น B110 ทุกตัวถัง สิ้นสุดลง และมีการเปลี่ยนโฉมใหม่ Full Modelchange เป็นรุ่น B210 หรือที่ตลาดโลก และเมืองไทย เรียกว่า 120Y ถึงกระนั้น Nissan ก็ยังคงเดินหน้า ผลิตและจำหน่าย Datsun SUNNY TRUCK ในญี่ปุ่น กันต่อเนื่องไป โดยมีการปรับโฉม Minorchange ตลอดอายุการทำตลาดนั้น มีขึ้นเป็นระยะๆ ไม่บ่อยนัก
– 1 พฤษภาคม 1973 เพิ่มทางเลือกตัวถังใหม่ รุ่น Long Body ฐานล้อยาว กระบะยาว (รหัสรุ่น GB120) ด้วยมิติตัวถังยาวขึ้นจากเดิม 3,865 มิลลิเมตร เป็น 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,495 มิลลิเมตร ลดความสูงลงมาจาก 1,405 มิลลิเมตร เหลือ 1,395 มิลลิเมตร ส่วน ระยะฐานล้อ เพิ่มขึ้นจาก 2,300 มิลลิเมตร เป็น 2,530 มิลลิเมตร ส่วน ระยะห่างจากพื้นถึงใต้ท้องรถ Ground Clearance 160 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถเพิ่มขึ้นจาก 670 กิโลกรัม เป็น 705 กิโลกรัม ส่วน น้ำหนักบรรทุก อยู่ในพิกัด 500 กิโลกรัม ตามเดิม รัศมีวงเลี้ยว เพิ่มขึ้น จาก 4.1 เป็น 4.6 เมตร
โดยมีเพียงรุ่นย่อย Deluxe เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น แต่เลือกได้ ทั้งรุ่น เกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ Column Shift หรือ เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ Floor Shift





– 27 ตุลาคม 1975 มีการปรับปรุงมลพิษจากเครื่องยนต์ ให้สอดรับกับกฎหมายมาตรฐานไอเสีย ปี โชวะที่ 50 (ค.ศ.1975) ของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยติดตั้ง ระบบ NAPS (Nissan Anti Pollution System) ซึ่งเป็นการนำ ระบบวาล์ว หมุนเวียนไอเสีย EGR (Exuast Gas Re-circulation) Valve และตัวเร่งปฏิกริยาฟอกไอเสีย Catalytic Converter เพื่อช่วยลดมลพิษ ให้กับเครื่องยนต์ A12 แบบ คาร์บิวเรเตอร์ ดังนั้น Datsun SUNNY TRUCK จึงถูกเปลี่ยนรหัสรุ่นใหม่ เป็น H-B120
- รุ่นตัวถังมาตรฐาน ราคา 614,000 Yen
- รุ่นตัวถังยาว Long Body ราคา 647,000 Yen




-17 เมษายน 1978 มีการปรับปรุงอุปกรณ์ รวมทั้งสิ้น 6 รายการ
- เพิ่ม ชิ้นพลาสติก สีดำ กันกระแทก บริเวณมุมกระบะหลัง และมุมกันชนหน้าแบบโลหะ ทั้ง ฝั่งซ้าย และขวา
- เบาะนั่ง โทนสีใหม่ น้ำตาลเบจ ตัดสลับกับลายผ้า พนักศีรษะ แบบชิ้นเดียวกับพนักพิงหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง
- ปรับปรุงใบปัดน้ำฝนแบบใหม่
- เปลี่ยนมาใช้เข็มขัดนิรภัย แบบใหม่
- ปรับปรุงระบบล็อกพวงมาลัย ใหม่







– 23 สิงหาคม 1979 : มีการปรับปรุงมลพิษจากเครื่องยนต์ และเปลี่ยนรหัสรุ่น เป็น J-B121 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับก๊าซไอเสีย ปี โชวะ ที่ 54 (ค.ศ.1979) ส่วนการตกแต่งภายนอกนั้น มีการปรับปรุงเพียงเรื่องเดียว คือ เลิกผลิต ฝาครอบล้อแบบครึ่งวง และเปลี่ยนงานออกแบบ แขนยึดใบปัดน้ำฝนขึ้นใหม่ ส่วนภายใน เปลี่ยนลวดลายเบาะ จากที่เคยตัดสลับกับผ้า มาเป็น หนังสังเคราะห์ Vinyl สีน้ำตาลเบจล้วนๆ แทน โดยยังมีให้เลือก ทั้งรุ่น มาตรฐาน และ Long Body ตามเดิม
– 1 ตุลาคม 1981 : มีการปรับปรุงมลพิษจากเครื่องยนต์ และเปลี่ยนรหัสรุ่น เป็น L-B122 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับก๊าซไอเสีย ปีโชวะที่ 56 (ค.ศ.1981)
– เมษายน 1984 สายการผลิต SUNNY TRUCK ถูกย้ายไปอยู่ที่โรงงาน บริษัท Aichi Machine Industries จำกัด






– มกราคม 1985 ปรับปรุงเครื่องยนต์อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับเสียงรบกวน 1984 พร้อมกันนี้ ชื่อของรถ ถูกเปลี่ยนเป็น “Nissan SUNNY TRUCK” เนื่องจากในช่วงปี 1981 – 1986 เป็นช่วงเวลาที่ Nissan Motors กำลังทะยอยเลิกใช้ชื่อ แบรนด์ Datsun และปรับเปลี่ยนให้รถยนต์ทุกคันที่ผลิตออกมา สวมแบรนด์ Nissan ให้เหมือนกันหมด เพียงแบรนด์เดียว เท่านั้น
– 17 พฤศจิกายน 1986 มีการปรับปรุงการตกแต่ง โดยถอดไฟจอดรถออกพร้อมๆ กับการนำกระจกหน้า Laminate มาใช้ และเปลี่ยนมาใช้เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านซ้าย
Nissan ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 700 คัน/เดือน โดยแต่ละรุ่นย่อย มีราคา ดังนี้
- รุ่นช่วงสั้น Short Body Deluxe ราคา ใน Tokyo 657,000 Yen เขตอื่น 690,000 Yen
- รุ่นช่วงยาว Long Body Deluxe ราคา ใน Tokyo,Nagoya,Osaka 690,000 Yen เขตอื่น 769,000 Yen










– 23 ตุลาคม 1989 มีการปรับโฉม Big Minorchange ครั้งใหญ่ เปลี่ยนรหัสรุ่นใหม่ เป็น R-B122 สำหรับตัวถังมาตรฐาน และ R-GB122 สำหรับตัวถัง Long Body
รูปลักษณ์ภายนอก ดูแปลกตาไปจากเดิม ทั้งการเปลี่ยนกระจังหน้าแบบใหม่ ลายซี่นอน สีดำ พร้อมชุดไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยม เพิ่มสีตัวถังใหม่ Grayish Blue Metallic ภายในบุด้วยผ้า Tricot บางส่วน และมีสีภายในที่เป็นโทนสีเทา
ส่วนเครื่องยนต์ A12S เบนซิน 4 สูบ 1,200 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยว ท่อคู่ดูดลงล่าง ได้รับการปรับปรุง โดยติดตั้ง ตัวเร่งปฏิกิริยาสามทาง Catalytic Converter ให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับก๊าซไอเสียและ NOx ของญี่ปุ่น ประจำปีโชวะที่ 63 (ค.ศ. 1988) และสอดคล้องกับกฎหมาย NOx/PM ฉบับแก้ไขที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันอีกด้วย ส่วนระบบส่งกำลัง มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ Floor Shift เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบห้ามล้อ โดยเปลี่ยนมาใช้ ดิสก์เบรกคู่หน้า และเพิ่มระบบ Load-Sensing Valve ส่วนล้อยังคงเป็น กระทะล้อเหล็ก ขนาด 12 นิัว สวมด้วยยาง Radial ขนาด 155 R12
Nissan ตั้งเป้ายอดขายในญี่ปุ่นไว้แค่ 400 คัน/เดือน โดยมีรุ่นย่อย และราคาจำหน่าย ดังนี้
- รุ่นช่วงสั้น Short Body Deluxe ราคา ใน Tokyo,Nagoya,Osaka 713,000 Yen เขตอื่น 736,000 Yen
- รุ่นช่วงยาว Long Body Deluxe ราคา ใน Tokyo,Nagoya,Osaka 746,000 Yen เขตอื่น 769,000 Yen
SUNNY TRUCK เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของอายุตลาด และ ถูกยกเลิกการผลิต ถอดออกจาก Catalog ของ Nissan ในญี่ปุ่น เมื่อ เดือนมีนาคม 1994 เพราะมีการทำตลาดที่ซ้ำซ้อนกับ Nissan VANNETTE TRUCK อันเป็นเวอร์ชันกระบะ ของรถตู้รุ่นเล็กในตระกูล Nissan นั่นเอง
กระนั้น ยังมีลูกค้าชาวญี่ปุ่น ผู้ให้ความสนใจ ซื้อหามือสองมาตกแต่ง โมดิฟาย ขับเล่น กันอยู่จนถึงทุกวันนี้
แม้ Nissan จะยุติการผลิต และการทำตลาด SUNNY TRUCK ในตลาดญี่ปุ่น ไปแล้ว แต่ พวกเขาก็ยังคงลากทำตลาด กระบะแซยิดคันน้อยนี้ ใน South Africa ต่อเนื่องอีกหลายปี


********** Export & South Africa Version **********
ระหว่างที่ กระบะคันน้อยรุ่นนี้ ทำตลาดอยู่ในญี่ปุ่น Nissan เอง ก็เคยส่ง Datsun SUNNY TRUCK ออกไปทำตลาดใน Australia ภายใต้ชื่อ Datsun 1200 Ute เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ในจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกที่สำคัญสุด ของรถรุ่นนี้ อยู่ที่ South Africa
อันที่จริง SUNNY TRUCK ถูกผลิตและจำหน่ายใน South Africa ในชื่อ Datsun 1200 Pickup มาตั้งแต่ปี 1971 โดยวางเครื่องยนต์ รหัส A12 เบนซิน 4 สูบ OHV 1,200 ซีซี เหมือนกับเวอร์ชันญี่ปุ่น
ปี 1976 มีการเปลี่ยนชื่อ เป็น Datsun 120Y Bakkie เพื่อให้สอดรับกับการทำตลาด Datsun Sunny 120Y รุ่นปี 1973 – 1977 นั่นเอง ยอดขายสะสม จนถึงปี 1979 รวมแล้ว อยู่ที่ 40,000 คัน
จนกระทั่ง เวลาล่วงเลยมาถึงปี 1980 จึงมีการยกระดับ เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ A14 เบนซิน 4 สูบ OHV 1,400 ซีซี ที่แรงขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Nissan 1400 ตามด้วยการเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ทั้ง Sport และ Deluxe ในปี 1986 โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างดีมาตลอด เพราะ ราคาไม่แพง บำรุงรักษาง่าย และทนทาน รองรับทุกการใช้งาน








ปี 1990 จึงมีการปรับโฉม Minorchange ด้วยกระจังหน้าลายซี่นอนสีดำ และไฟหน้าสี่เหลี่ยม รวมทั้งเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง มาเป็น Nissan 1400 Standard Bakkie ตามด้วยการเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Nissan 1400 Bakkie CHAMP ในปี 1993 หลังจากนั้น อีก 2 ปี ยอดขายสะสมของ Bakkie ก็ผ่านหลัก 150,000 คัน ได้สำเร็จในปี 1995 แต่กว่าที่ Nissan 1400 Bakkie สามารถทำยอดขายสะสม ผ่านหลัก 250,000 คัน ต้องรอกันจนถึงปี 2004 หรือในอีก 9 ปีถัดมา จนกระทั่ง ผ่านหลัก 275,000 คัน ได้ในปี 2008

ท้ายที่สุด งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา Nissan South Africa ประกาศ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2008 ว่าจะยกเลิกสายการผลิต และการทำตลาด Nissan 1400 Bakkie ในเดือน พฤศจิกายน 2007 โดยในโอกาสนี้ มีการ เปิดตัวรุ่นตกแต่งพิเศษ ฉลองส่งท้าย ในชื่อ Nissan 1400 Bakkie Heritage Edition จำนวนจำกัด 150 คัน เป็นการสั่งลา เหตุผล ที่ต้องยุติการผลิต เนื่องจาก เครื่องยนต์รุ่นเก่า ไม่ผ่านข้อกฎหมายด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้น

สำหรับตลาด South Africa รถกระบะคันเล็ก ที่เข้ามาทำตลาดในฐานะ ตัวตายตัวแทน ของ SUNNY TRUCK นั่นคือ Nissan NP200 LDV ซึ่งก็คือ การนำผลผลิต จากพันธมิตรในเครือ Renault Nissan อย่าง Dacia Logan Bakkie อันเป็๋นเวอร์ชันกระบะ ของ Dacia Logan Sedan (หรือ Nissan Aprio) มาเปิดตัวทำตลาดภายใต้แบรนด์ Nissan เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2008
ตัวรถมีความยาว 4,499 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,554 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,904 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ รหัส K7M เบนซิน แบบ 4 สูบ 8 วาล์ว ขนาด 1,598 ซีซี กำลังสูงสุด 87 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 128 นิวตันเมตร (13.04 กก-ม.) ที่ 3,000 รอบ/นาที จับคู่เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า สำหรับราคาจำหน่ายเริ่มต้นในแอฟริกาใต้อยู่ที่ 234,000 แรนด์ (ราว 439,000 บาท) และมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย
NP200 LDV ถูกยกเลิกการผลิตไป เมื่อ เดือน มีนาคม 2024 และถือเป็น รถยนต์กระบะขนาดเล็กรุ่นสุดท้าย ภายใต้แบรนด์ Nissan ที่ทำตลาดในระดับสากล
————————————————————-

หลายคนที่ได้เห็น SUNNY TRUCK แล้ว ก็คงอดคิดถึง Nissan NV-B ที่เคยเข้ามาประกอบขายในเมืองไทย ช่วงปี 1994 กันอยู่บ้าง แม้ว่า SUNNY TRUCK จะไม่เคยมีบทบาทในประเทศไทยมาก่อนเลยก็ตาม แต่ในความเป็นจริง แนวคิดของ NV-B ตัวถังกระบะ ก็คือ การนำ SUNNY TRUCK มาขบคิดต่อยอดว่า หากจะต้องผลิตรุ่นเปลี่ยนโฉมให้กับรถกระบะคันเล็ก บนพื้นฐานโครงสร้างงานวิศวกรรมของ Nissan Sunny/Sentra รหัสรุ่น B13 (1990 – 1995) ก็คงจะหนีไม่พ้น NV-B นั่นเอง
น่าเสียดายว่า ต่อให้ NV-B จะมียอดขายที่พอประคับประคองไปได้ แต่เมื่อดูภาพรวมแล้ว NV-B ต้องมีอายุตลาดยาวนาน ต่อเนื่อง มาจนถึงราวๆ ปี 2006 หรือเกือบ 10 ปี ก่อนจะเลิกผลิตไป จึงจะพอให้ไม่ขาดทุนสาหัสมากนัก
ถ้าจะถามว่า ในอนาคต เราจะได้เห็นรถกระบะคันเล็กๆ บนพื้นฐานรถเก๋ง Nissan แบบนี้อีก หรือไม่? คำตอบที่ผมยืนยันได้ก็คือ คงไม่มีทางอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้ สถานการณ์ของ Nissan ในตลาดโลก ค่อนข้างน่าเป็นห่วง การพัฒนารถยนต์ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับตลาดที่มีปริมาณลูกค้ารองรับ ไม่มากนัก อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเหมือนในอดีต
————————–///——————————-
Special Thanks to :
Khun Panat Rodsetthasak
สำหรับภาพจาก โบรชัวร์ Nissan NV-B
Source : Catalog จากผู้ผลิต และ http://www.datsun1200.com
————————————————————-
J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นของ Nissan Motor Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
13 พฤษภาคม 2025
Copyright (c) 2025 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 13th, 2025
—————————————————-